หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 42 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ถาม-ตอบ กับ พระไพศาล วิสาโล : คุณค่าศาสนาในการเยียวยาจิตใจ... พิมพ์
Wednesday, 08 September 2021

Imageวารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๖ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๔


ถาม-ตอบ กับ พระไพศาล วิสาโล :
คุณค่าศาสนาในการเยียวยาจิตใจ
กระบวนการดูแลเยียวยาจิตใจ ผู้คน สังคม และผู้ป่วยโควิด-๑๙
และ Peaceful Death ชั่วขณะสุดท้ายของชีวิต

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์


 Image

ภาพของน้าค่อม ชวนชื่น ศิลปินตลกชื่อดังขวัญใจคนไทยทั่วประเทศ ถือกระเป๋าเสื้อผ้าขึ้นรถพยาบาล พร้อมโบกมือให้ภรรยาและสมาชิกในครอบครัวที่เดินมาส่งและให้กำลังใจน้าค่อมที่เตรียมเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากติดเชื้อโควิด-๑๙  ...ไม่มีใครคาดคิดว่านี่จะเป็นภาพสุดท้ายในความทรงจำของเราที่ได้เห็นน้าค่อม

เช่นเดียวกับครอบครัวอีกมากมายที่ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัว หัวหน้าครอบครัว พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา จากการติดเชื้อโควิด-๑๙ ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วมีอาการทรุดหนัก และเสียชีวิต โดยไม่ได้มีโอกาสร่ำลากันเป็นครั้งสุดท้าย

จากการแถลงสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-๑๙ รายวันที่มีผู้ติดเชื้อฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากหลักสิบกลายเป็นหลักร้อย หลักพัน และหลักหมื่น กระทั่งเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔ มียอดผู้ติดเชื้อฯ รวมหลักแสนคน และจากผู้ติดเชื้อฯ ที่ไม่แสดงอาการ กลายเป็นผู้ป่วยหนัก และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมากขึ้น กระทั่งสุดท้ายต้องเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวภายในห้องไอซียูของโรงพยาบาล

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-๑๙ ได้สร้างบาดแผลในใจแก่เราทุกคน จะมากหรือน้อยย่อมต่างกันไปตามเหตุปัจจัยที่มาที่ไปของเราแต่ละคน เมื่อสถานการณ์โควิด-๑๙ ยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน ย่อมส่งผลต่อสุขภาพจิตของเรา ส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว การกักตัว การถูกจำกัดการทำกิจกรรมตามปกติที่อาจทำให้รู้สึกเครียดและกังวลมากขึ้น อาจเกิดความรู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว ซึมเศร้า รวมไปถึงความนึกคิด ความกลัว ความวิตกกังวลต่อการแพร่เชื้อที่อาจทำให้เราตัดสินผู้อื่น หรือปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไม่เหมาะสม

การสร้างเกราะ ‘ภูมิคุ้มกันทางใจ' การมีสติเพื่อรับมือกับวิกฤติโควิด-๑๙ การทำความเข้าใจในธรรมชาติของภาวะความเครียดและวิตกกังวลที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด-๑๙ และการสร้างสุขภาพจิตให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับจิตใจ กับการตระหนักถึงคุณค่าที่ทำให้เราอยู่ได้ เช่น ความมั่นคงทางจิตใจ ความเข้มแข็งทางจิตใจ ที่จะอยู่ได้ในทุกสภาวะ แม้ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด โดยไม่เสียสุขภาพจิต ไม่กลายเป็นโรคซึมเศร้า และเลือกจบชีวิตตัวเอง จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

"ผู้ไถ่" ฉบับนี้ ขอนำข้อคิดคำสอนของ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่ามหาวัน และวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มาเป็นแนวทางให้เราได้มีโอกาสไตร่ตรองต่อชีวิต กลับมาตระหนักถึงคุณค่าทางศาสนา ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ...ภายใต้สถานการณ์โควิด-๑๙ ที่จะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน  

 

คนจำนวนมากที่ต้องกักตัว ต้องทำงานที่บ้าน (work from home) ออกไปไหนไม่ได้เป็นเวลานานๆ ไม่สามารถออกไปทำงาน ทำสิ่งที่เคยทำเป็นกิจวัตร  การอยู่กับตัวเองตลอดวันตลอดคืน แต่กลับไม่มีสมาธิทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อ่านหนังสือได้แป๊บเดียวก็ไม่มีสมาธิแล้ว กระทั่งรู้สึกว่า ตนไม่มีคุณค่า มีคำแนะนำอย่างไร

คงเป็นเพราะจิตใจมีความกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ หลายคนจึงไม่มีสมาธิกับสิ่งที่ทำ ไม่สามารถทำอะไรได้ต่อเนื่องนานๆ ขอให้สังเกตว่าเรื่องที่กังวลนั้น ไม่ว่าเรื่องงานการ สุขภาพ คนรอบตัว ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น คือเป็นเรื่องอนาคตทั้งนั้น คำแนะนำก็คือ ให้รู้ทันความกังวลเหล่านี้ เตือนตัวเองว่ามันเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นอย่าไปหมกมุ่นหรือจริงจังกับมันมาก เพราะมันอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ หรือถึงจะเกิดขึ้น ก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เรานึก ประสบการณ์ในอดีตของเราก็ชี้ให้เห็นไม่ใช่หรือว่า สิ่งที่เรากังวลหรือคิดไปในทางลบทางร้าย บ่อยครั้งมันไม่ได้เกิดขึ้นจริง เรากังวลเกินเหตุไปเอง

อีกอย่างที่อยากแนะนำก็คือ หลายอย่างที่เราทำในตอนนี้ เรารู้สึกจำเจกับมัน เพราะทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เลยรู้สึกเบื่อ ไม่ค่อยมีสมาธิ ทางออกคือ หาอะไรใหม่ๆ ทำบ้าง ไม่ว่าทำคนเดียว หรือทำกับคนในบ้าน เช่น จัดบ้าน ปลูกต้นไม้ การมีอะไรใหม่ๆ ทำ ช่วยให้เกิดความรู้สึกตื่นตัว หรือมีชีวิตชีวา

อย่างไรก็ตามแม้จะทำงานเดิม แต่เราก็สามารถทำด้วยความรู้สึกหรือจิตใจที่ใหม่กว่าเดิมได้ เช่น รู้สึกขอบคุณที่เรายังมีโอกาสได้ทำสิ่งเหล่านี้ เพราะนั่นแสดงว่าเรายังมีสุขภาพดี ร่างกายปกติ หรือมีคนรักอยู่ใกล้ตัว  ลองคิดดู หากเราเจ็บป่วยเราคงทำสิ่งเหล่านั้นไม่ได้  ชีวิตแต่ละวันแม้จะจำเจอย่างไร เราก็ยังโชคดีที่มีคนรักอยู่กับเรา  ลองนึกถึงคนที่ป่วยโควิด แล้วเราจะรู้สึกว่าตัวเองโชคดีที่ยังมีโอกาสได้ทำอะไรต่ออะไรมากมายที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้  เมื่อมองแบบนี้ ชีวิตแต่ละชั่วโมงแต่ละวันจะไม่ใช่ความน่าเบื่อจำเจอีกต่อไป แต่เป็นความโชคดีที่เราอยากขอบคุณ

 

โควิดทำให้เราอยู่ในภาวะของความไม่ไว้วางใจกัน แล้วกลายเป็นความกลัว ที่สุดกลายเป็นความรังเกียจได้ เช่น มุมของความรับผิดชอบของหัวหน้า ให้น้องๆ ทำงานที่บ้าน (wfh)  ผู้รับผิดชอบสูงสุดจะกังวล น้องที่เข้ามาออฟฟิศนั่งรถอะไรมา เขาจะนั่งตรงไหน เขาจะปลอดภัยไหม เขาจะนำพาเชื้อมาหรือเปล่า? จากความห่วงใย ในที่สุดสามารถแปรเปลี่ยนเป็นความกลัวและรังเกียจได้ถ้าโควิดมันยังอยู่ไปอีกนานอย่างนี้  เราจะผ่อนคลาย ช่วยเขาบรรเทาใจได้อย่างไรบ้าง

ควรตระหนักว่าโควิดไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวโควิด หลายคนแม้ไม่ติดโควิด แต่ก็ทุกข์จนกินไม่ได้นอนไม่หลับเพราะความกลัวโควิด บางคนถึงกับป่วยไปเลยเพราะความเครียดเนื่องจากกลัวโควิดมากไป ยังไม่ต้องพูดถึงการทะเลาะเบาะแว้งหรือกระทบกระทั่งเพราะระแวงหรือหวาดกลัวว่าเขาจะเอาโควิดมาติดเรา ความกลัวถ้ามีพอประมาณก็ช่วยให้เราตื่นตัว ไม่ประมาท และขยันตั้งการ์ด แต่ถ้ากลัวมากไปก็อาจกลายเป็นประสาทได้ ทั้งประมาทและประสาทล้วนไม่ดีทั้งนั้นเราจะปลอดภัยจากโควิดหรือไม่ อยู่ที่ตัวเราเอง ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น ถ้าเราระมัดระวังตัวเองให้ดี มีสติอยู่เสมอ เช่น สวมหน้ากากอนามัย หรือวางระยะห่างจากผู้คน  คนอื่นแม้จะติดโควิด ก็ไม่สามารถทำให้เราติดโควิดได้  แต่ถ้าเรามัวระแวงคนอื่น หรือเพ่งโทษคนรอบตัว เราก็คงจะไม่มีความสุขเลย แถมอาจมีเรื่องมีราวกับคนรอบตัวได้เพราะความประสาทในใจเรา

 

จากความกลัว กลัวโควิด กลัวเศรษฐกิจ กลัวจะติด กลัวจะตาย ทำอย่างไรจะทำให้เราอยู่กับภาวะกดดันจากวิกฤติโควิด ได้อย่างสงบขึ้น ที่จะรับมือได้ดีขึ้น

อย่างที่ได้พูดไปแล้ว หลายอย่างที่เรากลัวอยู่ตอนนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอนาคต ยังไม่เกิดขึ้นจริง จึงไม่ควรหมกมุ่นกับมัน จริงอยู่ปัญหาบางอย่างเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่รอบตัว แต่มันยังไม่ได้เกิดขึ้นกับเราตอนนี้ ระวังตัวเอาไว้บ้างเป็นเรื่องดี แต่อย่าปล่อยใจให้จมอยู่กับความกลัวมาก ชีวิตทุกวันนี้ไม่ได้มีแต่สิ่งแย่ๆ อย่างเดียว สิ่งดีๆ ที่น่าชื่นชม หรือให้ความสุขแก่เรา ก็มีอยู่มากมาย ควรเปิดใจรับหรือเก็บเกี่ยวสิ่งเหล่านี้บ้าง

สิ่งหนึ่งที่อยากแนะนำคือ เสพข้อมูลข่าวสารให้น้อยลงบ้าง เพราะยิ่งเสพข้อมูลข่าวสารมากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเครียด ตื่นตระหนก และจมอยู่ในความกลัวมากเท่านั้น วันหนึ่งๆ ถ้าเราวางโทรศัพท์มือถือให้บ่อยขึ้น ใช้เวลากับมันน้อยลง จิตใจเราจะเครียดน้อยลงด้วย และจะดียิ่งกว่านี้หากมีเวลาพักใจด้วยการอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก วันละ ๕-๑๐ นาที จะช่วยให้จิตใจสงบขึ้น เครียดน้อยลง

 

คนติดเชื้อโควิด-๑๙ เมื่อมีความเครียดในการต้องกักตัว ความวิตกกังวลต่ออาการว่าตนจะต้องทรุดหนัก จะต้องตาย เป็นห่วงกังวลต่อครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง จะมีวิธีคลายความเครียด ความวิตกกังวลได้อย่างไร 

อย่างแรกที่ควรทำคือ ตั้งสติให้ดีแล้วยอมรับความจริง อย่าปฏิเสธผลักไส ตีโพยตีพาย หรือโทษคนนั้นคนนี้ เพราะยิ่งปฏิเสธผลักไส ใจก็จะยิ่งเป็นทุกข์ ไม่ใช่แค่ทุกข์กายอย่างเดียว

ประการต่อมาคือ พยายามอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งคิดถึงอนาคต เพราะมีโอกาสที่จะปรุงแต่งไปในทางลบทางร้าย ทำให้กลัว ตื่นตระหนก และเครียดมากขึ้น ซึ่งมีแต่จะทำให้อาการหนักขึ้น
ประการที่สาม อย่าอยู่นิ่งเฉย ควรหาอะไรทำ เพราะถ้าอยู่เฉยๆ เมื่อไหร่ ใจจะปรุงแต่งหรือคิดไปต่างๆ นานา ในทางลบทางร้าย ซึ่งมีแต่จะทำให้เครียด หรือเสียขวัญมากขึ้น ถ้าสามารถนั่งสมาธิหรือเจริญสติได้ ก็ควรทำ ในยามนี้สติและสมาธิเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยให้เราอยู่กับตัวเองได้อย่างไม่ทุกข์ทรมาน 
อย่าลืมว่าจิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว หากวางใจได้ดี แม้กายจะป่วย ก็จะป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย  อีกทั้งความป่วยก็จะทุเลาลงเพราะใจช่วยพยุงเอาไว้ไม่ให้ย่ำแย่

 

คนที่เป็นผู้แพร่เชื้อไปสู่พ่อแม่, ญาติพี่น้อง ต้องติดโรคโควิด-๑๙ แล้วพ่อแม่เสียชีวิต ความรู้สึกผิดที่ตัวเองเป็นสาเหตุ โทษตัวเอง ควรได้รับการเยียวยาจิตใจอย่างไร

ไม่มีลูกหรือหลานคนไหนต้องการให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ถ้าย้อนเวลาไปได้ ก็จะไม่ทำอย่างที่ได้ทำไปแล้วเด็ดขาด ตรงกันข้าม จะทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น  แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เป็นธรรมดาที่ความรู้สึกผิดย่อมเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่เราทำได้เพื่อเยียวยาความรู้สึกผิดดังกล่าว ก็คือ ขอโทษท่าน หลายคนใช้วิธีนี้คือ จินตนาการว่าท่านมาหาเขา นั่งอยู่ต่อหน้าเขา จากนั้นเจ้าตัวก็พูดทุกอย่างที่อยากพูด รวมทั้งขอโทษท่าน หลายคนพบว่า การมีโอกาสพูดความในใจจากส่วนลึกที่เจ็บปวด ช่วยเยียวยาบาดแผลในใจได้ บางคนก็ใช้วิธีเขียนจดหมายเพื่อขอขมาท่าน

ที่ควรทำควบคู่ไปด้วยก็คือ ทำบุญอุทิศให้ท่าน หรือทำความดีในนามของท่าน หรืออาศัยความตายของท่านเป็นแรงผลักดันในการทำความดีเพื่อผู้อื่น นี้เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้การตายของท่านมีคุณค่า มีความหมาย 

 

ความเจ็บปวดหนึ่งที่คนไข้โควิดที่ใกล้เสียชีวิต และญาติคนไข้ต้องเจอ คือ ความโดดเดี่ยว ในช่วงที่กำลังจะจากไป...จริงๆ เราทำอะไรได้บ้าง

มีสิ่งหนึ่งที่เราทำได้คือ ส่งกำลังใจไปให้ผู้ป่วย แผ่เมตตาหรือพลังกุศลในใจของเราให้เขา หรือสวดมนต์ให้เขา ขอให้เชื่อมั่นว่าเขาสามารถรับรู้ถึงความปรารถนาดี ความห่วงใย หรือเมตตากรุณาของเราได้  พลังกุศลเหล่านี้สามารถสื่อไปถึงเขา หรือส่งผลต่อจิตใจของเขาได้  ช่วยให้เขาไม่รู้สึกโดดเดี่ยว

เรายังสามารถช่วยเขาได้ ด้วยการเปิดใจรับความทุกข์ของเขา โดยการน้อมนึกในใจว่า ไม่ว่าเขาจะทุกข์อย่างไร ขอเปิดใจแบ่งเบาความทุกข์ของเขามาไว้ที่ตัวเรา 
ทั้งหมดนี้หากมีโอกาสสื่อสารให้เขารับรู้ เช่น ผ่านโทรศัพท์มือถือ จะมีความหมายต่อเขามาก

 

ผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ หากต้องป่วยหนักอยู่ในโรงพยาบาล จะมีอะไรเป็นหลักยึดทางใจ  

ขอให้น้อมนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ ถ้าเป็นชาวพุทธ ก็คือพระรัตนตรัย ถ้าเป็นชาวคริสต์ ก็คือพระเจ้า อย่างไรก็ตาม มีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้มากคือ สติ พยายามตั้งสติให้ได้ พยายามรักษาใจอย่าให้ตื่นตระหนก เพราะความตื่นตระหนกจะทำให้ร่างกายทรุดหนักลง โดยเฉพาะส่งผลต่อการหายใจหรือการทำงานของปอด ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วยโควิดที่อาการหนัก มีทางใดที่จะเรียกสติกลับมา ก็ขอให้ทำ ในแง่นี้การนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือ จะช่วยให้เรากลับมามีสติได้ง่ายขึ้น

 

ลูกหรือญาติพี่น้องที่มีพ่อแม่, ญาติผู้ใหญ่ป่วยหนัก สามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ท่านจากไปอย่างสงบในวาระสุดท้าย

น้อมใจท่านให้ระลึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านนับถือ รวมทั้งความดีที่ได้ทำ หรือบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญ ตลอดจนการกระทำที่ท่านภาคภูมิใจ แม้จะดูเล็กน้อยในสายตาของเรา เมื่อท่านระลึกได้เช่นนั้น ก็จะเกิดกำลังใจ เกิดความภาคภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา ทำให้ไม่กลัวตาย เพราะเชื่อว่าตายแล้วจะไปดีหรือไปสุคติ 

ขณะเดียวกันก็น้อมใจท่านหรือช่วยให้ท่านปล่อยวางสิ่งต่างๆ ไม่ว่าลูกหลาน ทรัพย์สมบัติ งานการ รวมทั้งปล่อยวางความรู้สึกที่ไม่ดี เช่น ความโกรธ ความรู้สึกผิด ทั้งหมดนี้ สรุปสั้นๆ ด้วยสองวลีคือ "นึกถึงพระ ละทุกสิ่ง"


Peaceful Death - เราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า - เราต้องตาย - คนที่เรารักต้องตาย - จะอยู่อย่างไรให้มีความหมาย แล้วตายอย่างไรให้สงบสุข

ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า ด้วยการหมั่นทำความดี สร้างกุศลอยู่เนืองนิตย์ และรู้จักปล่อยวาง จะทำเช่นนั้นได้ต้องเตือนตนอยู่เสมอว่า สักวันหนึ่งเราต้องตาย ทุกอย่างที่แสวงหามาทั้งชีวิต ล้วนเอาไปไม่ได้สักอย่าง นอกจากความดี การเตือนตนเช่นนี้ ช่วยให้ไม่ประมาท และไม่หลงใหลเพลิดเพลินในความสุข หรือการทำมาหาเงิน จนลืมนึกถึงการทำความดีและทำหน้าที่ที่พึงมี ไม่ว่ากับคนใกล้ตัว สังคม ประเทศชาติ 

ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ ควรฝึกใจให้รู้จักปล่อยวางด้วย เพราะเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หากยังหวงแหน ติดยึดไม่ว่าอะไรก็ตาม ย่อมยากที่จะตายสงบได้ มีแต่ใจที่ปล่อยวางแล้วเท่านั้น จึงจะไปสงบ


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >