หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 169 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


‘แสงไฟ' ของ ‘คนหลงทางชีวิต' พระศาสนจักรคาทอลิก กับ งานเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ พิมพ์
Friday, 21 May 2021

Imageวารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๑๑๕ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๖๔


‘แสงไฟ' ของ ‘คนหลงทางชีวิต'

พระศาสนจักรคาทอลิก กับ งานเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ


วรพจน์ สิงหา สัมภาษณ์

 


 

Image

"เมื่อเราหิว ท่านให้เรากิน เรากระหาย ท่านให้เราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับ
เราไม่มีเสื้อผ้า ท่านก็ให้เสื้อผ้าแก่เรา เราเจ็บป่วย ท่านก็มาเยี่ยม เราอยู่ในคุก ท่านก็มาหา"

(มัทธิว ๒๕:๓๕-๓๖)


สำหรับคนภายนอกเรือนจำที่ยังมีอิสระและเสรีภาพในการใช้ชีวิต คงไม่ค่อยได้รับรู้ว่าชีวิตภายในกำแพงเรือนจำนั้นเป็นอย่างไร และผู้คนจำนวนไม่น้อยตัดสินผู้ต้องขังว่าเป็นคนเลวร้าย น่ากลัว เป็นพวกทำผิด ไม่น่าให้อภัย และไม่ควรมีที่ยืนในสังคมอีกต่อไป

พระศาสนจักรคาทอลิกมีหน่วยงานและองค์กรที่ทำงานออกเยี่ยมและร่วมทำกิจกรรมกับผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ พยายามลบอคติของสังคมภายนอกที่มองผู้ต้องขังในแง่ลบ และให้โอกาสพวกเขากลับคืนสู่สังคม เพราะทุกคนคือ ‘ลูกของพระ' และเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกับเราทุกคน

 

เรือนจำ กำลังใจ และความเป็นมนุษย์

คุณพ่อองอาจ แคเซอ พระสงฆ์คณะธรรมทูตแห่งมารีนิรมล (O.M.I.) หัวหน้าแผนกผู้อพยพย้ายถิ่นและถูกคุมขัง สังฆมณฑลนครสวรรค์ ทำงานเยี่ยมผู้ต้องขังมายาวนานนับ ๑๐ ปี ตั้งแต่ทำงานอภิบาลอยู่ในกรุงเทพฯ ภายใต้คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการอภิบาลสังคม แผนกผู้อพยพย้ายถิ่นและผู้ถูกคุมขัง (National Catholic Commission on Migration - NCCM) กระทั่งย้ายไปสังฆมณฑลนครสวรรค์ก็ได้รับหน้าที่ดูแลออกเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง

"ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสนใจ และเป็นจิตตารมณ์ของพระวรสาร และเป็นจิตตารมณ์ที่สอดคล้องกับคณะ O.M.I. รู้สึกสนุกกับงาน และค้นพบเนื้อหาทางด้านความเชื่อ เข้าใจเนื้อหาของพระวรสารที่กล่าวว่า "เราอยู่ในคุก ท่านได้มาเยี่ยม" อันนี้ถือเป็นไฮไลท์ของพ่อโดยส่วนตัว"

คุณพ่อองอาจอธิบายว่าในพระคัมภีร์พบว่ามีนักบุญหลายท่านต้องถูกจับกุมคุมขัง เช่น ในพันธสัญญาเดิม โยเซฟ บุตรยาโคบ ถูกจับกุมคุมขังอยู่ในคุก หรือในพันธสัญญาใหม่ นักบุญยอห์น บัปติสต์ พูดถึงเรื่องที่ถูกต้อง แต่ถูกจับกุมคุมขัง นักบุญเปโตรก็ถูกคุมขังในคุก ส่วนนักบุญเปาโลพูดถึงเรื่องที่ถูกต้อง ก็ถูกจำคุกเช่นเดียวกัน กระทั่งปัจจุบันยังมีกลุ่มที่ถูกเบียดเบียนอยู่จำนวนไม่น้อย

"สำหรับพ่อค้นพบว่าในเรือนจำมีอะไรที่น่าตื่นเต้น ทำให้เราได้ค้นพบมุมมองอีกมุมมองหนึ่งที่พระเจ้าต้องการให้เราเห็นและเติบโตในความรัก โดยเฉพาะความเข้าใจเรื่องเสรีภาพ อิสรภาพ และกลับมาสู่กุญแจที่ว่าพระเป็นเจ้าทรงเป็นความรัก"

สำหรับคุณพ่อองอาจ ในบทพระวรสารที่กล่าวว่า "เมื่อเราอยู่ในคุก ท่านมาเยี่ยม" การมาเยี่ยมคือการให้กำลังใจ ให้ความเป็นมนุษย์ต่อกัน ความเข้าอกเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และรับฟังเรื่องราวต่างๆ

 "จึงเป็นภาพบรรยากาศที่ว่าในเรือนจำ ไม่ใช่เฉพาะการออกแบบที่ทำให้ถูกต้องเท่านั้น แต่ยังเป็นอาณาจักรของพระเจ้าด้วย ที่เราเห็นบรรยากาศเหล่านี้ ทั้งคนที่ให้และคนที่ได้รับ เราเข้าเยี่ยม ให้กำลังใจ รวมถึงมอบสิ่งของที่จำเป็นสำหรับพวกเขา"

โดยปัจจุบันคุณพ่อองอาจออกเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ต้องขังในเรือนจำ ๓ แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เรือนจำหล่มสัก และเรือนจำจังหวัดพิษณุโลก

"ทุกครั้งที่เราจะเข้าเยี่ยม แจ้งทางเรือนจำว่าเราจะเข้าไปเยี่ยมและทำกิจกรรมกับผู้ต้องขัง ครั้งหนึ่งจำกัดอยู่ที่ประมาณ ๓๐ คนต่อวัน ทางเจ้าหน้าที่อยากให้เราไปทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ความจริงก็ยาก เพราะเป็นงานที่มีความหลากหลาย ถ้าเป็นไปได้ เขาอยากให้ไปทุกวัน คือเราจะอยู่ในโครงสร้างของเรือนจำในส่วนของฝ่ายฟื้นฟู หรือฝ่ายการศึกษา เพราะในเรือนจำจะแบ่งชัดเจน เป็นฝ่ายควบคุม ฝ่ายการศึกษา เราอยู่ในส่วนของฝ่ายของการศึกษา เรื่องการฟื้นฟู ซึ่งคุณค่าทางด้านศาสนาจะช่วยได้"

ในระยะการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ เมื่อปีก่อนและต้นปีนี้ ทำให้การเยี่ยมผู้ต้องขังต้องหยุดลง แต่คุณพ่อองอาจไม่ได้หยุดการทำงานเพื่อผู้ต้องขัง

"ช่วงที่เจอการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ปีที่แล้ว ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ติดตามงานของกลุ่มผู้ต้องขัง ตอนนี้เราก็ติดตามด้านอื่น ไปเยี่ยมพ่อแม่ลูกหลานของผู้ต้องขัง เขาให้ที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ ซึ่งแม้แต่ตอนนี้ก็ถือว่าพระอวยพรในกิจการนี้มาก เราทำงานร่วมกับทางราชการ เข้ากิจกรรมพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีหลายโครงการที่ช่วยเหลือและให้โอกาสแก่ผู้ต้องขัง แก่ผู้ที่เริ่มต้นชีวิตใหม่ และกลับตัวกลับใจ"

คุณพ่อองอาจอธิบายว่า กิจกรรมในแต่ละครั้ง พยายามเน้นกิจกรรมที่หลากหลายและมีข้อคิดสอนใจ เช่น ดนตรีบำบัด คำสอนต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการให้ทุนในการสร้างชีวิตใหม่ ติดตามชีวิตหลังพ้นโทษ

"กิจกรรมที่ทำกับผู้ต้องขัง พยายามดึงประสบการณ์ชีวิตของพวกเขา หรือนำแง่คิดจากความผิดพลาดในชีวิตมาเชื่อมโยงกับคำสอนของทางศาสนา ซึ่งค้นพบว่าพวกเขาประทับใจ มีความคิดว่าทำไมไม่ได้เรียนรู้มาก่อน หรือเขาสนใจที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง บางคนเห็นว่าคำสอนเหล่านี้มีประโยชน์ ช่วยเขาระหว่างที่อยู่ในเรือนจำได้ บรรเทาใจเขาได้"

 

"กำลังใจ" บนเส้นทางที่ผิดพลาด

คุณพ่อองอาจเล่าว่า ผู้ต้องขังที่ไปเยี่ยมส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด และพบว่าเรื่องจริยธรรมในการใช้ชีวิตของพวกเขาขาดหายไป

"จริยธรรมของเขาไม่ได้ถูกใช้ หรือไม่ได้รับการอบรมหรือเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ บางครั้งเขาตัดสินใจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่มีทางเลือกอื่นๆ ให้เขา ไม่มีความรู้ที่จะช่วยเขาในการตัดสินใจแก้ปัญหาในชีวิต หรือมีแรงกดดันอื่นๆ เช่น เป็นหนี้นอกระบบ ลูกป่วยไม่สบาย รถใกล้จะถูกยึด แรงกดดันในชีวิตมากมายทำให้พวกเขาตัดสินใจที่ผิดพลาดไป"

คุณพ่อองอาจอธิบายว่า สำหรับผู้ต้องขัง พวกเขาต้องการทั้งด้านร่างกายและด้านจิตใจ ด้านร่างกายคือ มีของใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในเรือนจำ เช่น ผู้ต้องขังหญิงต้องการชุดชั้นใน ผ้าอนามัย ส่วนผู้ชายก็สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก หรือสิ่งจำเป็นที่พวกเขาต้องใช้ในเรือนจำ ซึ่งในเรือนจำมีระบบสหกรณ์ ระบบฝากเงิน หรือสวัสดิการ

แต่ก็มีผู้ต้องขังส่วนหนึ่งที่ไม่มีญาติมาเยี่ยมเลย บางคนอยู่ไกล และด้วยระบบของการดำเนินคดี คือตัดสินคดีที่ไหน ก็ต้องอยู่ในเรือนจำของพื้นที่นั้น ผู้ต้องขังบางคนก็ไม่บอกหรือไม่แจ้งกับใครเลยว่าตัวเองถูกจับ ก็ไม่มีใครรับรู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน นี่คือข้อจำกัดหลายอย่างที่เป็นจริงของบรรดาชีวิตผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังหลายคนอยากจะระบายความวิตกกังวล หรือห่วงลูกหลาน

"ส่วนสำคัญคือ ด้านจิตใจ การให้กำลังใจ ผู้ต้องขังหลายคนอยากระบายเส้นทางที่เขาเดินทางผิดพลาดไป ยกตัวอย่าง คนหนึ่งที่เคยพูดคุย เขาบอกว่าเขาโมโหและแทงคน ก็สะท้อนให้เห็นว่าในจิตใจของเขาไม่ได้รับการขัดเกลา มีคุณธรรมไม่เพียงพอ หรือกระบวนการฝึกฝน หรืออีกคนบอกว่าเขาขายยาเสพติด เพราะเพื่อนบ้านล้อเขาว่าไม่มีปัญญาสร้างบ้าน ทำให้เขาคิดหาวิธีในการพิสูจน์ตัวเองในแบบใดก็ได้ ทำให้ผลักดันให้เขาต้องตัดสินใจเดินไปบนเส้นทางหนึ่ง

นี่คือเหตุผลที่หลากหลายของแต่ละคน บางคนพื้นฐานชีวิตลำบากจริงๆ ไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่ มีลูกมีหลานเยอะต้องรับผิดชอบ ต้องหาอาหารให้ลูกหลาน ก็มีอยู่จริงๆ ซึ่งหลายคนอาจจะแย้งว่าคนอื่นยังแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่น หรือตัดสินใจแบบอื่นๆ ได้ แต่ในความเป็นจริงสำหรับชีวิตเขา ณ ตอนนั้น ขณะนั้น ทางเลือกมีไม่มากนักสำหรับบางชีวิต"

ความเฉพาะของชีวิตแต่ละคนทำให้เขาต้องเดินไปบนเส้นทางที่ผิดพลาด จึงเป็นเหตุผลที่บางครั้งคนอื่นๆ อาจจะมองเห็นหรือเสนอทางออกให้ แต่ชีวิตเขาเองที่มีแรงไม่พอ หรือไม่เห็นทางเลือกอื่นๆ สำหรับตัวเอง หรือมีความรู้ไม่พอ ความสามารถไม่เพียงพอ ทักษะชีวิตไม่ได้ ซึ่งหลายครั้งเราคนนอกที่มองชีวิตเขา อาจจะบอกว่ามีทางเลือกมากมาย แต่สำหรับเขามีทางเลือกไม่มาก

"คือเราใช้มาตรฐานของเราเองไปตัดสินชีวิตของพวกเขา ซึ่งเรายังถือเป็นคนนอกที่มองชีวิตเขา เราอาจจะมีทักษะชีวิตและมีทางเลือกมากกว่าพวกเขา มีพื้นฐานที่ดีกว่า มีทางเลือกที่มากกว่า"

 

ความรักของพระเจ้า ผ่านชีวิตในเรือนจำ

จากการทำกิจกรรมและออกเยี่ยมให้กำลังใจผู้ต้องขังมายาวนาน คุณพ่อองอาจระบุว่า "ศาสนาเป็นเครื่องป้องกันและทำให้คนเราสามารถยับยั้งชั่งใจในชีวิตได้มากขึ้น" ซึ่งคุณพ่อองอาจมองว่าปัจจุบันสังคมไทยยังมองผู้ต้องขังหรือคนที่ผ่านคุกตะรางในแง่ลบและยังไม่เปิดโอกาสแก่ผู้ต้องขังมากนัก

"ต้องยอมรับว่าสังคมยังไม่เปิดกว้างมากนัก สำหรับคนที่พ้นโทษ ผ่านเรือนจำ ผ่านคุกตะราง บางคนที่ใช้คำว่า เป็นคนมีประวัติ พอสอบประวัติแล้วพบว่าเคยผ่านคุกผ่านเรือนจำ ก็ถูกมองในแง่ไม่ดี มองในแง่ลบไว้ก่อน หรือบางคนเปิดกว้าง แต่เมื่อรับผู้ต้องขังไปแล้ว ทักษะชีวิต หรือความรู้ความสามารถของผู้ต้องขังเอง ไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็เป็นข้อจำกัดอีกข้อหนึ่ง ถึงแม้สังคมเปิดโอกาส แต่ตัวผู้ต้องขังเองยังไปไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดของเขาเอง"

"แต่มีหลายคนกลับตัวกลับใจได้จริงๆ บางคนขายยาเสพติด เพราะว่ามีแรงกดดันด้านครอบครัว สภาพแวดล้อม เมื่อเขาออกมา และก็วางแผนช่วยเหลือเขา หลังจากนั้นก็ติดตามชีวิตเขาว่าเป็นอย่างไร อะไรทำให้ตัดสินใจเข้าสู่วงจรแห่งความผิดพลาด นี่คือการเดินไปด้วยกัน เริ่มต้นชีวิตใหม่

ปัจจุบัน เขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง ทุกวันนี้ เราก็ยังติดตามชีวิตของเขาอยู่ บางครั้งเราก็ยอมรับว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไป เขาต้องเรียนรู้และปรับตัว ความรู้ต้องเพิ่มขึ้น บางครั้งก็ยากลำบากสำหรับเขา แต่ในฐานะพระสงฆ์ผู้อภิบาล เราก็หยิบยื่นโอกาสให้กับเขา เขาเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่ผิดพลาดไป กลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เป็นตัวอย่างที่ดีมาก มีจำนวนมาก แต่จำนวนผู้ต้องขังที่เวียนเข้าเวียนออกเรือนจำ ก็มีจำนวนเยอะเช่นกัน"

คุณพ่อองอาจกล่าวว่า เรือนจำไม่ใช่ที่ที่เราจะประณามว่าเป็นสถานที่ที่ไม่ดี เพราะมีความหลากหลายของเหตุผลของแต่ละชีวิต "สิ่งที่เราทำได้คือ เราจะมีส่วนร่วมให้เขามีโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตได้อย่างไร และในฐานะเราที่มีความเชื่อ ในความเป็นลูกของพระ เราต้องมองในสายตาของพระ ไม่อยากให้มองว่าเขาเป็นคนขี้คุก แต่เรามองเขาอยากจะได้ชีวิตที่ดีขึ้น หรือเขาอยากได้อะไรที่ช่วยเขาได้ตามสภาพของเขา เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่เป็นลูกของพระ เราเป็นลูกของพระ ก็ทำผิดได้เหมือนกัน แต่เราไม่ได้รับโทษในสภาพแบบนั้น หรือเราได้รับโทษในสภาพของเรา ไม่ว่าทางจิตใจหรือทางร่างกาย เพียงแต่ว่าเมื่อเขาผิดพลาด เราจะมีส่วนร่วมในกระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูกันและกันได้อย่างไร ซึ่งสำหรับพ่อได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของการเผยแสดงถึงความรักของพระ ผ่านชีวิตในเรือนจำ"

 

‘แสงไฟ' กำลังใจของ ‘คนหลงทางชีวิต'

หากใครเคยอ่านหนังสือ "กว่าจะฝ่าข้ามความตาย" ของหมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ อดีตนักโทษประหาร ซึ่งปัจจุบันได้รับการอภัยโทษและปล่อยตัวแล้ว โดยในหนังสือได้เขียนถึงแรงบันดาลใจที่ได้รับจาก "คุณพ่อโอลิเวียร์ มอแรง" พระสงฆ์คณะเยสุอิต ทำให้ผู้ต้องขังหลายคนสัมผัสได้ถึงความรักของพระเจ้าผ่านทางคุณพ่อมอแรง และอุทิศบทหนึ่งของหนังสือสำหรับคุณพ่อมอแรงโดยเฉพาะ ในบทที่ชื่อว่า "พ่อเฒ่าผู้งดงาม" โดยบางตอนจากหนังสือระบุไว้ว่า "แสงไฟเป็นกำลังใจให้คนหลงป่าฉันใด ความเมตตาปรานีจากคำพูดและข้อคิดของบาดหลวงและนักจิตวิทยาก็เป็นกำลังใจอย่างยิ่งให้ผู้ป่วยหลงทางชีวิตในยามนี้ฉันนั้น"

โดยในปัจจุบัน คุณขวัญชัย พิมเขตร ผู้ประสานงาน มูลนิธิคณะสงฆ์พระเยซูเจ้า (เยซูอิสต์) โครงการสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ได้พยายามเป็น ‘แสงไฟ' สำหรับ ‘ผู้หลงทางชีวิต' จำนวนมาก และดำเนินรอยตามเจตนารมณ์ของคุณพ่อโอลิเวียร์ มอแรง ที่ได้เริ่มต้นไว้

คุณขวัญชัยทำงานเยี่ยมให้กำลังใจผู้ต้องขังมายาวนานนับ ๑๐ ปี โดยมูลนิธิเยซูอิสต์เน้นเยี่ยมผู้ต้องขังต่างชาติ ที่เรือนจำกลางบางขวาง และเยี่ยมผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ โดยปัจจุบันที่เรือนจำกลางบางขวาง มีจำนวนผู้ต้องขังชาวต่างชาติ จำนวน ๖๘ คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา และมีชาวปากีสถานบ้าง แต่หลักๆ คือผู้ต้องขังจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผู้ต้องขังกลุ่มนี้ไม่ค่อยมีคนสนใจดูแลหรือรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีทำกิจกรรรมที่เรือนจำต่างจังหวัด ๓ แห่ง คือเรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี เรือนจำกลางคลองไผ่ จังหวัดนครราชสีมา และทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา

"เบื้องต้นคือมีหลายกลุ่มหลายองค์กรที่ช่วยเหลือผู้ต้องขังชาวไทย ส่วนผู้ต้องขังชาวต่างชาติ ด้วยข้อจำกัดทางภาษา วัฒนธรรม อาหารการกิน การใช้ชีวิต ทุกอย่าง ทำให้เขาอยู่อย่างลำบาก ผู้ต้องขังกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าช่วยเหลือและให้กำลังใจ กลุ่มนี้มีข้อจำกัดเยอะกว่า ซึ่งคุณพ่อโอลิเวียร์ มอแรง ผู้ทำงานช่วยเหลือผู้ต้องขังชาวต่างชาติ จึงเลือกช่วยผู้ต้องขังกลุ่มนี้ โดยเริ่มงานไว้ประมาณเกือบ ๓๐ ปีแล้ว"

 

ชีวิตผู้ต้องขังชาวต่างชาติ ไร้ญาติ และขาดกำลังใจ

ในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังแต่ละครั้ง ปกติจะมีทีมไปด้วยกัน โดยมีคุณขวัญชัยเป็นหลักในการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง "ที่เรือนจำบางขวาง จะใช้โทรศัพท์ในการติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขังแบบตัวต่อตัว คุยได้ทุกอย่าง ส่วนใหญ่จะไปอาทิตย์ละ ๓ วัน ซึ่งแบ่งตามแดน เช่น แดนนี้เยี่ยมได้เฉพาะวันจันทร์และวันพุธ  แดนนั้นเยี่ยมได้วันอังคารและวันพฤหัสบดี ส่วนแดนอื่นเยี่ยมได้วันศุกร์และวันจันทร์ ทางเรือนจำจะมีตารางการเข้าเยี่ยมที่ชัดเจน และดูสมาชิกที่เราเยี่ยมเขาอยู่แดนไหน ก็จะเข้าเยี่ยมตามกำหนดของแดนนั้นๆ ส่วนที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จะเยี่ยมตามเตียงของผู้ต้องขังที่เจ็บป่วย โดยเข้าเยี่ยมเดือนละครั้ง"

"ถ้าเป็นเรือนจำเขาบิน จังหวัดราชบุรี ผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะเป็นเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ และที่เรือนจำในจังหวัดนครราชสีมา, เรือนจำกลางคลองไผ่, ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา จะเป็นลาว ๙๕% อีก ๕% เป็นชาวกัมพูชา คดียาเสพติดเป็นส่วนใหญ่ นำเข้า ขาย โทษส่วนใหญ่อย่างต่ำ ๓๐ ปีขึ้นไป"

คุณขวัญชัยอธิบายว่า "เราไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ทนาย เพราะฉะนั้น เราจะไม่ทำให้เขาอึดอัดใจ เราไปเยี่ยมเขา เพราะเราอยากเป็นเพื่อนกับพวกเขา นี่คือเหตุผลหลักในการเยี่ยมผู้ต้องขัง เราไม่ได้ไปสอบสวน แต่เราไปให้เขารู้สึกว่ายังมีเพื่อน ยังมีคนคอยช่วยเหลือเขาอยู่ เหมือนเราไปเยี่ยมเพื่อนของเราคนหนึ่ง เหมือนเป็นคนในครอบครัว เป็นพี่น้องของเราคนหนึ่ง ชีวิตเป็นอย่างไร เขาอยากให้ช่วยเหลือเรื่องอะไร"

คุณขวัญชัยอธิบายว่า ผู้ต้องขังที่เป็นคนลาว เมียนมา กัมพูชา เหมือนเป็นอีกชนชั้นหนึ่งในเรือนจำ จะไม่ค่อยได้รับความสนใจในความช่วยเหลือต่างๆ แต่ถ้าเป็นผู้ต้องขังจากประเทศตะวันตก ทางสถานทูตจะดูแลดีกว่า และเรียกร้องอะไร ก็ได้ตามที่ขอ

"สมาชิกผู้ต้องขังส่วนใหญ่คือ กลุ่มคนลาว เมียนมา กัมพูชา เสียงของเขาค่อนข้างน้อย เวลาไม่สบายก็ต้องรอไปก่อนๆ อีกปัญหาหนึ่งคือติดต่อญาติไม่ได้ อยู่ในเรือนจำมานานมาก ส่วนใหญ่ผู้ต้องขังที่เข้าเยี่ยม ๘๐-๙๐% เป็นคดียาเสพติด และคดียาเสพติดในประเทศไทย โทษรุนแรงมาก เมื่อศาลตัดสินตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ไม่มีแสงอะไรเลยในชีวิต ความสูญเสียจะเกิดขึ้น ครอบครัวสูญเสียการติดต่อ ไม่สามารถติดต่อญาติพี่น้องได้ บางคนนับสิบๆ ปี ต้องติดอยู่ในคุก บางคนคือถูกจับ ญาติพี่น้องก็คิดว่าตายไปแล้ว เป็นคนสูญหาย ติดต่อญาติไม่ได้ก็มี"

ในชีวิตการเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังมีหลายกรณีที่น่าสนใจ "มีชาวเมียนมาคนหนึ่ง ตอนแรกเขาอพยพมาที่ศูนย์อพยพที่ อ.พบพระ จ.ตาก เข้ามาทำงานกรุงเทพฯ และฆ่าคนตาย ถูกจับ ตัดสินประหารชีวิต อยู่ในคุก ๑๖ ปี ศูนย์อพยพก็ไม่รู้ ครอบครัวก็หายไปแล้ว เหลือแต่เขาคนเดียว ปัญหาชีวิตในคุกก็ส่วนหนึ่ง แต่พอพ้นโทษก็อีกส่วนหนึ่ง คือพอพ้นโทษ เขาไม่รู้จะไปไหนดี ครอบครัวอยู่ไหนไม่รู้ ศูนย์อพยพยังอยู่ไหม สุดท้ายได้รับการปล่อยตัว และกลับไปที่ จ.ตาก ตามหาใครก็ไม่เจอแล้ว เหลือตัวคนเดียว ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ด้วยเวลามันนาน ความสูญเสียมีมาก ซึ่งแบบนี้มันสะเทือนใจมาก คือชีวิตไม่เหลือใครอีกแล้ว แต่สุดท้าย เขายังมีเราอยู่ ยังติดต่อเราได้ ตอนนี้เรายังคุยกันอยู่"

ในระยะการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้การเยี่ยมผู้ต้องขังของมูลนิธิฯ ต้องชะงักลง เพราะเรือนจำที่ออกเยี่ยมอยู่ในพื้นที่สีแดงทั้งหมด แต่คุณขวัญชัยไม่ได้หยุดถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับผู้ต้องขังที่เรือนจำ

"ตอนนี้เราติดต่อโดยทางจดหมาย ซึ่งเขาจะเขียนมาหาเราว่าเป็นยังไงบ้าง โควิด-๑๙ ถามข่าวคราวกันว่าเป็นยังไง หลังโควิด-๑๙ ค่อยกลับไปเจอกันใหม่ สื่อสารทางจดหมาย เราก็บอกฝากบอกทุกคนด้วยว่ารักษาสุขภาพ เหมือนเราคุยกับเพื่อน ทุกคนก็จะทราบสถานการณ์ดีว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น"

"ผู้ต้องขังบางคนส่งใบสั่งยามาให้เราไปซื้อยาให้ ไปตัดแว่น วัดสายตา เราช่วยซื้อยา ตัดแว่นตาให้ตามความต้องการของผู้ต้องขัง เขาอยากได้อะไร ขาดอะไร เพราะคนกลุ่มนี้คือต่างชาติ แน่นอนว่ายากจน ไม่มีเงินในบัญชีเลย สิ่งที่เราสามารถช่วยเหลือให้เขาดำเนินชีวิตในเรือนจำได้ เราก็จะช่วยเหลือ เรามีงบประมาณในส่วนนี้ ค่ายา แว่นตา ถ้าเข้าไปเยี่ยม ก็ไปซื้อของให้ เช่น ของจำเป็นต้องใช้ สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ใช้ภายใน ๑ เดือน ครอบคลุม ๑ เดือน และเดือนต่อไปค่อยซื้อให้ใหม่"

 

คุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง

สำหรับคุณขวัญชัย ช่วงเวลาที่ทำงานเยี่ยมผู้ต้องขังมายาวนานนับสิบปี ได้เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์มากมายนับไม่ถ้วน

"สังคมมองผู้ต้องขังเป็นคนโหดร้าย แต่อีกมุมหนึ่งเขาน่าสงสาร ถูกคุมขังมานาน สูญเสียทุกอย่าง พ้นโทษออกมายังเจอกับการประณามของสังคม มุมที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็น คือความน่าสงสารของผู้ต้องขัง ที่น้อยคนจะเห็นความเป็นมนุษย์ของพวกเขา เขาไม่ได้ถูกให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์"

คุณขวัญชัยเล่าว่า ครั้งหนึ่งคุณพ่อโอลิเวียร์เคยยกตัวอย่างกับผู้ต้องขังว่า สมมุติมีเงิน ๒๐ บาท เวลาขยำๆ และคลี่ออกมา ยังมีค่า ๒๐ บาทหรือไม่ เท่ากับตอนที่แบงค์ใหม่ๆ ราคา ๒๐ บาทหรือเปล่า

"เขาบอกประโยคนี้ทำให้เขาจำไปตลอดว่าเขาเป็นคนที่มีคุณค่า แม้จะผ่านการถูกขยำยับยู่ยี่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคุณค่าในตัวเอง เขาชอบมาก เป็นกำลังใจให้เขาที่รู้สึกว่าไม่มีคุณค่าแล้ว หรือคิดว่าทำไมชีวิตคนคุกเป็นอย่างนี้ ให้เอาเรื่องนี้เยียวยาจิตใจของเขาทุกครั้งที่รู้สึกหมดกำลังใจ ทำให้เขามีกำลังใจในชีวิต"

คุณขวัญชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า "อยากให้ทุกคนรู้สึกว่าผู้ต้องขังไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด อยากให้มองว่าเขาเป็นคนเหมือนกัน เราทุกคนเคยทำผิดพลาดในชีวิต มากบ้างน้อยบ้าง ด้วยเหตุและปัจจัยที่แตกต่าง เงื่อนไขของแต่ละชีวิตที่ต่างกัน เราทำผิดแล้วไม่มีใครสบายใจ เราอยากได้รับการให้อภัย อยากกลับตัว แน่นอนเขาทำผิด ได้รับโทษคือจำคุกแล้ว อยากให้มองในความเป็นมนุษย์ว่าชีวิตหนึ่งมีค่าเหมือนกัน เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

พูดแบบคริสต์ก็คือ ทุกคนเป็นฉายาของพระเป็นเจ้า ทุกคนเป็นภาพลักษณ์ของพระเป็นเจ้า เรามองเห็นพระเยซูในตัวของพวกเขาไหม อยากให้ทุกคนมองเห็นพระเยซูในตัวพวกเขา และเราก็ต้องทำให้เขาเห็นพระเยซูในตัวเราด้วย"

ท่ามกลางการสูญสิ้นอิสรภาพและเสรีภาพ มีชีวิตในพันธนาการและการคุมขัง รวมถึงการถูกประณามจากผู้คนในสังคมว่าเป็นคนเลวร้ายและน่าหวาดกลัว ผู้ต้องขังหลายคนมืดมนและมองไม่เห็นแสงสว่างใดๆ ในชีวิต แต่อย่างน้อยสิ่งที่ผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยได้รับรู้คือพวกเขายังมี ‘เพื่อน' ที่พยายามเป็น ‘แสงไฟ' ให้พวกเขาได้มองเห็นทิศทางที่จะก้าวต่อไปในอนาคต

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >