หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เมื่อเด็กถาม ผู้ใหญ่ควรตอบอย่างไร บทสนทนา ในห้วงยามแห่งความเปลี่ยนแปลง กับ รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 54 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เมื่อเด็กถาม ผู้ใหญ่ควรตอบอย่างไร บทสนทนา ในห้วงยามแห่งความเปลี่ยนแปลง กับ รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร พิมพ์
Tuesday, 19 January 2021

Imageวารสารผู้ไถ่
ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑๑๔ ก.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๓


เมื่อเด็กถาม ผู้ใหญ่ควรตอบอย่างไร
บทสนทนา ในห้วงยามแห่งความเปลี่ยนแปลง
กับ รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ องค์การยูเนสโก (UNESCO) 

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์ / เรียบเรียง


 
Image 

จากปรากฏการณ์ที่เด็กนักเรียนมัธยมฯ ออกมาทำแฟลชม็อบหน้าโรงเรียน เป่านกหวีดขับไล่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวง ชู ๓ นิ้วหน้าเสาธงตอนเคารพธงชาติ ผูกโบว์ขาวต้านเผด็จการและเรียกร้องประชาธิปไตย พร้อมวลีร่วมสมัย "ให้มันจบที่รุ่นเรา" ที่กระจายไปในหลายโรงเรียน กระทั่งเข้าร่วมชุมนุมใหญ่บนท้องถนนตั้งแต่ต้นปีกระทั่งจะเข้าสู่ปลายปี ๒๕๖๓  

พวกเขาตั้งคำถามถึงปัญหากฎระเบียบและกฎเกณฑ์ในโรงเรียนที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของนักเรียน และสะท้อนถึงระบบอำนาจนิยมที่ถูกผลิตซ้ำโดยผู้มีอำนาจเหนือกว่า จากครูอาจารย์ที่กระทำต่อนักเรียนเกินกว่าเหตุ อาทิ การใช้ความรุนแรง การทำโทษ ทำร้ายร่างกาย การล่วงละเมิด และกฎระเบียบเรื่องทรงผม ชุดนักเรียน ตัวอย่างเช่น กรณีที่ครูใช้กรรไกรตัดผมนักเรียนจนแหว่งขณะเข้าแถวเคารพธงชาติ ท่ามกลางสายตาของนักเรียนทุกชั้น กรณีครูตีนักเรียนสุดแรงเหวี่ยง สาเหตุเพียงแค่นักเรียนหญิงตัดผมรองทรงต่ำผิดกฎที่ตั้งไว้ หรือกรณีที่ครูดึงสายเสื้อชั้นในนักเรียนหญิง ฯลฯ

ในวันนี้ วันที่เด็กเยาวชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามมากมายต่อสังคมอำนาจนิยมแบบไทยๆ สังคมที่มีนิยามว่า เด็กดี คือเด็กที่เชื่อฟังและอยู่ในโอวาทของผู้ใหญ่เท่านั้น ครั้นเมื่อเด็กตั้งคำถามที่ผู้ใหญ่ตอบไม่ได้หรือใช้เหตุผลโต้แย้งกับเด็กไม่ได้ ก็ใช้อำนาจของผู้ใหญ่ตัดบทหรือข่มขู่ หรือเด็กที่ตั้งคำถามต่อขนบเดิมๆ ที่สังคมเคยเชื่อมั่นและยึดถือว่าถูกต้องดีงาม กลับถูกมองว่าเป็นเด็กก้าวร้าว เหล่านี้เป็นต้น

"ผู้ไถ่" ขอนำผู้อ่านร่วมเรียนรู้ประสบการณ์และมุมมองความคิดจากผู้อาวุโสผู้ที่มีดวงใจเปิดกว้าง ผู้ที่มองว่าสังคมที่มีความหวัง คือ สังคมที่ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจกว้าง รับฟัง พูดคุย ช่วยเหลือเกื้อกูล และมีเมตตาต่อเด็ก

แม้จะล่วงเข้าสู่วัย ๘๓ ปีแล้ว รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ องค์การยูเนสโก อดีตอาจารย์และหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านยังคงทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่ง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และแผนกยุติธรรมและสันติ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม

ที่สำคัญ ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิอันเป็นที่ยอมรับจากสังคม ไม่ได้ทำให้ท่านปิดกั้นการรับรู้หรือยึดติดกับความคิดจากประสบการณ์และความรู้ของท่านแต่อย่างใดเลย ในทางตรงกันข้าม อาจารย์วไลยังคงมีทัศนคติมุมมองที่เปิดกว้างและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชนซึ่งอาจารย์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนหนึ่งจากบทสนทนา อาจารย์วไลได้เล่าประสบการณ์ที่ไม่อาจลืมเลือน ท่านผ่านเหตุการณ์ยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ ที่มีการเข่นฆ่านักเรียนนิสิตนักศึกษา อาจารย์เล่าว่า มีเยาวชนถูกยิงเสียชีวิตหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้นท่านเป็นหัวหน้าภาคฯ ซึ่งกำลังคุมการสอบให้ลูกศิษย์อยู่ อาจารย์วไลสะเทือนใจและเข้าใจถึงหัวอกหัวใจของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ส่งบุตรหลานมาเรียน เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติขณะนั้น ย่อมห่วงใยและวิตกกังวลต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของบุตรหลานต่างพากันมารอรับลูกๆ หลานๆ ที่มหาวิทยาลัย

อาจารย์วไลถามลูกศิษย์ว่า "ลูกอยากกลับบ้านไหม ลูกคิดถึงพ่อแม่ไหม" เมื่อลูกศิษย์ตอบว่า "อยากกลับครับ/ค่ะ" เพราะไม่มีกะจิตกะใจจะนั่งทำข้อสอบแล้ว อาจารย์จึงยกเลิกการสอบและปล่อยให้ลูกศิษย์กลับบ้านเพื่อความปลอดภัย แม้จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของอาจารย์คนอื่นต่อการกระทำพลการเช่นนั้น และด้วยความรู้สึกที่ไม่อาจทนเห็นความโหดร้ายและความอยุติธรรมที่รัฐบาลเผด็จการยุคนั้นกระทำการละเมิดต่อชีวิตของประชาชนพลเมืองได้ อาจารย์วไลจึงลาออกจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย พร้อมบอกตัวเองว่า "อยู่ไม่ได้แล้วประเทศที่ฆ่าเด็ก" แล้วย้ายไปทำงานยังต่างประเทศ นี่เองจึงเป็นที่มาของการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประเทศฝรั่งเศส กระทั่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ กระทั่งทุกวันนี้

          

(คำถามเหล่านี้ นำมาจากคำพูดและคำถามของเยาวชนที่ออกมาร่วมชุมนุมทางการเมือง)

"ทำไมกฎกระทรวงถึงต้องพยายามจำกัดรูปแบบของคนด้วย ทำไมต้องจำกัดทรงผมให้เหมือนกัน จำกัดการแต่งกาย เอาชุดนักเรียนไปผูกกับความเป็นนักเรียน ทั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหน้าที่"

อาจารย์วไล :  นักเรียนของเราถูกละเมิดสิทธิของความเป็นเด็กหรือเปล่า จริงๆ แล้วอยากจะบอกว่ามันไม่ใช่แค่เดี๋ยวนี้ สิทธิมนุษยชนของเด็กถูกละเมิดมาตั้งแต่นานแล้วจนถึงปัจจุบันก็ไม่หยุดนะ อย่างตัวเองตอนเด็กๆ เรียนคณิตศาสตร์ไม่รู้เรื่อง เพราะว่าไม่เข้าใจ จึงถูกว่า เธอนี่มันโง่จริงๆ ครูสอนเท่าไหร่ เธอก็ไม่เข้าใจ เธอโง่ เราก็เลยมีความรู้สึกว่าเราเป็นคนโง่ ชั่วโมงนี้เราก็ไม่เรียนหนังสือ เราจะหนีไปข้างนอก วิชานี้เราทำไม่ได้ สอบตก นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง สิ่งนี้มันกระทบเด็กมาก แต่ว่าครูไม่เข้าใจ

หลังจากนั้น มารู้ว่าตัวเองเรียนเก่งเมื่อมาเรียนที่จุฬาฯ อาจารย์เขาสอนอีกอย่างหนึ่ง เขาไม่ดุ เขาให้ความรู้เรา เราก็แสวงหาอยากจะได้ความรู้ คนที่ถูกว่าโง่ ก็ได้รับคำชมว่าเด็กคนนี้ฉลาด เรียนได้ดี คือเด็กคนเดียวกันนี่แหละ เพียงแต่สิ่งแวดล้อมหรือคุณครูกระทำ เพราะฉะนั้น จะจำเรื่องของการที่ครูละเมิดสิทธิเด็ก เชื่อว่าเป็นการละเมิดสิทธิ แต่ว่าครูเขาจะเชื่ออย่างไรก็ตาม ดุเด็ก พูดไม่ดี ต้องการให้เด็กดีเลยดุ กลายเป็นทำร้ายเขามากกว่าจะทำให้เขาเป็นคนดี เพียงแต่ถ้าครูพูดดีๆ บอกว่า "ลูกตั้งใจเรียนจัง แต่ลูกพลาดไปนิดนะ มาเดี๋ยวครูจะอธิบายให้ฟัง" เพียงแค่ชมด้วยความจริงใจ มันก็จะดีขึ้น

พวกผู้ใหญ่ครูอาจารย์ต้องมีเมตตา ต้องเปิดใจรับความรู้สึกของเขา เพราะว่าเด็กเขาไม่ได้ถูกเลี้ยงดูมาเหมือนกัน บางคนก็ถูกเลี้ยงดูอย่างดี ทะนุถนอม บางคนก็ถูกเลี้ยงดูแบบพ่อแม่ดุ มีหลากหลาย เพราะฉะนั้นเราที่เป็นผู้ใหญ่ เป็นครูต้องใจกว้าง ต้องมองให้ทั่วและมีเมตตาต่อเขา ในการเป็นครู และทุกสิ่งทุกอย่างจะไปอยู่ในจิตใจของเขา

อาจารย์วไล ยังเล่าประสบการณ์เมื่อครั้งเริ่มสอนภาษาฝรั่งเศสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง

ครั้งแรกที่ได้ไปสอนภาษาฝรั่งเศสให้เด็ก ครูผู้หญิงคนหนึ่งกำลังบังคับให้เด็กคนหนึ่งวิดพื้น ให้เด็กทำ เราไปยืนดู เขาก็ยิ่งอวดความเป็นครูว่ามีอำนาจเหนือเด็ก เรากลัวเด็กจะเป็นลมตรงนั้น ซึ่งเป็นไปได้ จึงบอกว่า "พอแล้วล่ะ ครู" เขาก็ยิ่งแสดงว่าฉันมีอำนาจเหนือเธอ ไอ้สิ่งนี้มันอยู่กับครูหลายคนนะ ในที่สุดเด็กคนนั้นลุกขึ้นมาได้ น่าสงสารที่สุด ครูคนนั้นก็ยุติการทำโทษเพราะเกรงว่าจะถูกตำหนิ

หรือกรณีจับเด็กตัดผม เกิดขึ้นช่วงเวลาเปิดเทอม มีเด็กเพิ่งจบจากระดับประถมศึกษา ๒๐ คน มาเข้าเรียนชั้นมัธยมฯ ปีที่ ๑ คุณพ่อคุณแม่ยังไม่มีเวลาพาไปตัดผม แล้วครูไม่ได้เอาช่างตัดผมมานะ ครูจับกล้อนเลย ตัวเองยืนดูอยู่ที่หน้าต่างห้อง ไม่กล้าพูด แต่ในที่สุดก็บอก "ครูเมตตาเขาได้ไหม ไปเอาช่างมาสิ" เด็กนั่งร้องไห้กันเต็มเลย เด็กเล็กๆ นะ เด็กผู้ชายด้วย แล้วไอ้สิ่งนี้มันก็สั่งสม เวลาเด็กพวกนี้โตอยู่มหาวิทยาลัย อย่าคิดนะว่าเขาจะลืม มันเก็บกดเอาไว้ นี่คือสิ่งที่โดนทั่วๆ ไป ยังไม่ใช่เรื่องความคิด

 

"เขาไม่ได้ตัดผมแล้ว แต่เขาตัดเข้าไปในจิตวิญญาณของเรา"

อาจารย์วไล : การตัดผมมันทำร้ายหัวใจเด็ก คำว่าจิตวิญญาณ เราอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน แต่ที่เขาพูดอย่างนี้ เราเห็นด้วย เราเข้าใจเลยนะ ว่ามันทำร้ายในดวงใจของเขา ในหัวใจของเขา ในความคิดของเขา คุณมีสิทธิอะไรที่จะต้องมาตัด แล้ววิธีตัดของครู ก็อย่างที่เล่ามา ตัดแบบลงโทษ ไม่ได้ช่วยเล็มให้สวยงาม แต่ทำแบบประจานให้รู้ว่าเธอผิด การมีผมยาว การอยากสวยนี่ ผิดด้วยหรือ สำหรับตัวเองตอนเด็กแม้ไม่ได้เป็นเด็กสวยงาม มีผมสั้นๆ ปกติ แต่เข้าใจเรื่องนี้มากเลย เวลาเขาถูกกระทำ มันเป็นสิทธิของเขา เห็นด้วยเลย ครูทำร้ายจิตใจของเขา ไม่ได้แค่ตัดผม

 

"ครูอาจารย์เขาถือว่า เขามีสิทธิที่จะทำอะไรกับร่างกายนักเรียนก็ได้"

อาจารย์วไล : ไม่มีสิทธิเลย ครูมีสิทธิอย่างเดียว คือครูมีสิทธิที่จะสอนให้เด็กเป็นคนดี รักเด็ก สอนวิชาความรู้ และสอนทางด้านจิตใจ ทางด้านศีลธรรม นี่คือสิทธิที่ครูควรจะมี แต่ไม่มีสิทธิที่จะว่าจะด่าจะนินทา เราไม่รู้ว่าการอบรมครูสมัยนี้มีไหม อย่างสมัยก่อนมี ก่อนจะเป็นครู เราต้องเรียนนะ จะมีหลักสูตรเฉพาะสำหรับครู

        

"ทำไมกฎกระทรวงถึงต้องพยายามจำกัดรูปแบบของคนด้วย ทำไมต้องจำกัดทรงผมให้เหมือนกัน จำกัดการแต่งกาย เอาชุดนักเรียนไปผูกกับความเป็นนักเรียน ทั้งที่มันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหน้าที่"

อาจารย์วไล : ชุดนักเรียนยังมีความสำคัญ ถ้าเด็กไม่แต่งชุดนักเรียนเหมือนกัน เด็กบางคนเขายากจน บางคนร่ำรวย การแต่งตัวมาโรงเรียน บางคนอาจไม่มีด้วยซ้ำ ผู้หญิงบางคนอาจจะนุ่งกระโปรงซ้ำ แล้วเสื้อก็ไม่สวย มันจะมีการเปรียบเทียบ ไม่อยากให้เขาเปรียบเทียบว่า ฉันนี่ลูกเศรษฐี แต่งตัวอย่างโก้ ราคาแพง ขณะที่อีกคนไม่มี มันก็รู้สึกเปรียบเทียบ สำหรับชุดนักเรียน เห็นด้วย แต่ต้องเป็นชุดนักเรียนที่ปกติธรรมดา ให้เด็กเหมือนกัน คือเด็กจะได้ไม่ดูถูกกัน ซึ่งมันก็มีอยู่ในสังคมของเด็ก สำคัญที่สุดคือ เด็กมีความสุขไหม แต่งตัวอย่างไรก็ได้ ถ้าเขามีความสุข เล่นกับเพื่อนได้ รักกัน

ในปัจจุบันอาจจะไม่จำเป็นก็ได้ ถ้าชุดนักเรียนราคาแพง ไม่อยากให้เด็กรู้สึกว่าเขาแตกต่างกัน ความจนความรวยมันไม่ใช่สิ่งสำคัญ ที่จะต้องให้เด็กเรียนรู้ เด็กจะต้องเข้ามาเรียนหนังสือ ตั้งอกตั้งใจเรียน ไม่ต้องแข่งขันด้วยนะ ไม่ใช่ว่า เธอที่หนึ่ง ไม่ใช่ว่าเธอมีรถเก๋งมารับ ไม่ต้องแข่งขัน แต่มาเรียนด้วยกัน เรียนด้วยความเป็นเพื่อน รักกัน และช่วยกันและกัน


"โรงเรียนมีกฎเล็กๆ มากมายไว้ควบคุมเด็ก ไม่ได้ทำตามกฎกระทรวงที่ประกาศไว้ การสอนให้เด็กมีหลักการ แต่ผู้ใหญ่เองที่ไม่มีหลักการเลย"

อาจารย์วไล : ถูกต้องเลย คือครูเป็นคนสั่ง แต่ครูไม่เคยให้ลูกศิษย์เขาคิดว่า "ลูกต้องการให้ครูเป็นอย่างไร" ไม่มีนะ เคยสอนนักเรียนชั้น ม.๖ ให้เขาเขียน "ไหนลูกบอกสิ ว่าต้องการให้ครูเป็นอย่างไร" เขาก็เขียนมาให้ บอกว่า ครูต้องเป็นพ่อแม่ที่สอง ครูต้องมีเมตตา เราก็บอกว่า ใช่ เรารับได้ และเราก็เห็นด้วยเลย และเราก็จะเป็นอย่างนั้น ขอบใจเขา มีอีกอย่างหนึ่ง คือตอนนี้เรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปในโรงเรียน ก็มีตัวอย่างเช่น ครูไม่เข้าใจเรื่องสิทธิอย่างชัดเจน เวลาไปสอนเด็กอาจไม่ช่วยให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและอาจเกิดปัญหา

 ตัวอย่างโรงเรียนแห่งหนึ่ง วันหนึ่งครูที่สอนชั้น ป.๖ เขามาหา บอกว่า "อาจารย์ หนูมีปัญหามากเลย อาจารย์ช่วยได้ไหม"  "ได้ ให้ช่วยอะไร"  "การอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน หนูก็พยายามอบรมให้เด็ก ป.๖ เด็กของหนูก็รู้เรื่องนะ" แล้วยังไงลูก "เด็กคนหนึ่งมีปัญหา จนป่านนี้เขามีความคิด แล้วหนูแก้ไม่ได้ อาจารย์เข้าไปหาเขาสักวันได้ไหม"

เด็กเขามีความอ่อนไหว (Sensitive) มาก ยังไม่ทันแนะนำตัวว่าเราคือใคร แค่บอกเขาว่า "ครูคือ วไล นะ ครูจะมาตอบปัญหาพวกหนู" เด็กคนนี้ยืนขึ้นเลย เขาถามทันทีเลยว่า "ครูคะ พ่อหนูเขาจับหัวหนูกระแทกไปที่มุมโต๊ะ แล้วหัวหนูแตก พ่อหนูละเมิดสิทธิเด็กหรือเปล่าคะ" เข้าใจว่า เขาถามปัญหานี้กับคุณครูมา แล้วครูตอบไม่ได้ พอบอกเด็กไปว่า "ละเมิดสิลูก ละเมิดสิทธิเด็กแน่นอน" เชื่อไหม เด็กที่หน้ามุ่ยอยู่ หน้าเขาดูเป็นสุขเลย "ขอบคุณนะคะ หนูเข้าใจดีแล้ว" แล้วในที่สุดเข้าไปคุยกับเขา เขารู้เรื่องสิทธิเด็ก คือ พ่อกับแม่เขาทะเลาะกัน แม่เขาเป็นคนฟิลิปปินส์ แม่เขาจะกลับประเทศเพราะว่าพ่อเขาใจร้าย เขามีปู่ย่านั่งอยู่ แล้วเด็กก็ร้องไห้ บอก "พ่อ หนูจะไปกับแม่นะ" ร้องไห้เสียใจ พ่อเขาจับหัวโขกโต๊ะ ครูประจำชั้นไม่กล้าบอกว่าละเมิดสิทธิ

พอถามครู ทำไมครูไม่กล้าบอกเด็ก เขาบอก "เดี๋ยวพ่อเด็กเข้ามาหาครูใหญ่ แล้วหนูจะถูกต่อว่า" ปัญหาอยู่ที่โรงเรียน เด็กเขาบอก "หนูเข้าใจแล้วค่ะ"  คือสิทธิเด็ก จึงได้บอกเด็ก "คุณครูเขาอธิบาย หนูก็เอามาอ่านนะลูก" มีหนังสือของครูให้เขาอ่าน แล้วก็จบ คุณครูเขาก็แฮปปี้ คือเด็กเขาต้องการรู้และต้องการคนที่เข้าใจและให้กำลังใจแก่เขา

อีกประสบการณ์คือ วันหนึ่งเป็นวันที่บอกคะแนนสอบให้เด็ก ม.๖ ที่สอน ว่าใครได้คะแนนดี ใครได้คะแนนไม่ดี คือเด็กเขารู้ว่าครูเป็นคาทอลิก เขาก็ไม่ว่าอะไร เขาก็รัก มีครูเขาบอก อาจารย์วไลนี่เด็กรักทุกรุ่น ตอนบอกคะแนนก็มีเด็กเขาทำท่า (ทำเครื่องหมายกางเขน) ก็นึกในใจ เด็กคนนี้ยั่วเราหรือเปล่า เราก็คิดว่า เด็กคนนี้ทำอะไร ลองถามดีๆ สิ ลองดู แต่ถ้าเราดุเขานี่ จบเลยนะ จึงถามว่า "ลูกทำอะไรยิกๆ น่ะ"  เด็กบอก "ครูครับผมเป็นคริสตัง ผมขอบคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ช่วยให้ผมไม่ตก" เห็นไหมว่าถ้าครูทำอีกอย่าง เช่น "นี่ทำอะไรแย่จังเลย มาล้อครู" ทุกอย่างมันจะเป็นอีกอย่างเลย ซึ่งครูมักจะคิดอย่างนี้ พอบอก "ครูดีใจด้วยนะลูก ขอบคุณพระเจ้าที่หนูสอบได้ ต่อไปก็ต้องเรียนดีขึ้น" มันก็เป็นอีกอย่างของความสัมพันธ์ ฉะนั้น ครูไม่ควรคิดร้าย คิดแรง คิดก่อนล่วงหน้าเขา  

 

"โรงเรียนเป็นเหมือนโรงงานผลิตพลเมือง โตขึ้นมาโดยถูกปลูกฝังให้เชื่อฟังระบบอำนาจนิยม ความอาวุโสในโรงเรียนเกิดขึ้นเพื่อเวลาเราออกมาในสังคมใหญ่ เราจะได้ไม่ตั้งคำถาม โรงเรียนเป็นสังคมจำลองของสังคมข้างนอก เหมือนกันเป๊ะเลย คนที่เป็นผู้อาวุโสในสังคม กับครูที่เป็นผู้อาวุโสในโรงเรียนก็คล้ายๆ กัน เขาจะกำหนดบทบาทให้เราทำ แล้วถือสิทธิว่าถ้าเราทำนอกเหนือจากที่เขาสั่ง เขามีสิทธิทำอะไรกับเราก็ได้"

อาจารย์วไล : นี่คือความจริง สิ่งที่เขาพูด ถ้าเราเป็นครูแล้วมองเด็กเหมือนลูกเหมือนหลาน เราจะปฏิบัติต่อเขาอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเรามองว่า เราจะต้องสอนไอ้พวกนี้ ฉลาดบ้าง โง่บ้าง คือ ถ้าเรามองเขาในด้านไม่ดี เด็กเขาจะรู้สึก เพราะเราเองยังเคยรู้สึก ตอนที่อยู่โรงเรียนไม่มีความสุข เพราะคุณครู คุณครูสอนอย่างไม่สนใจ ไม่เต็มที่ ไม่น่าสนใจ หรือเป็นเพราะเราอายุน้อยจึงไม่เข้าใจ แต่แปลกใจ พอเราเข้ามหาวิทยาลัย เราเจอครูที่ดี เรามีความสุขมาก เรียนที่คณะอักษรศาสตร์ ๔ ปี เราเจอครูที่มีเมตตาทั้งนั้นเลย เขารักเรา เรารู้ว่าเขารักเรา แล้วเขาก็คอยชมเวลาเราทำอะไรดีๆ เมื่อเรารู้สึกอย่างนี้ เราก็รู้สึกว่าเราต้องรับผิดชอบเพื่อน เราเริ่มเปิดติวกัน เราเริ่มมีความรักที่จะติวให้เพื่อนที่เรียนไม่รู้เรื่อง

 

"เราเป็นคนอินวิชาสังคมมาก แต่เรารู้สึกว่าสังคมศึกษาเป็นเครื่องมือของรัฐที่พยายามจะหล่อหลอมให้เราเป็น ให้เราเชื่อตามสิ่งที่เขาต้องการ วิชาสังคมที่ควรจะเปิดให้มีการวิพากษ์ แสดงความเห็น ใช้คำถามแบบปลายเปิด แต่ในระบบการศึกษาไทย กลับเป็นวิชาที่ชี้นำ ท่องจำ ทำตาม ไม่ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนหรือผู้รับสารได้ลองตั้งคำถามต่อหลายๆ เรื่อง"

อาจารย์วไล : แน่นอน แต่ถ้าในมหาวิทยาลัย เด็กปีหนึ่งถึงปีสี่ ยกตัวอย่างหลานสาว ครูสอนอะไร แต่เขาก็ยังตั้งคำถามกับยายนะ "ยายอย่างนี้ถูกหรือเปล่า" เขายังมีคำถาม เพราะมียายที่รู้เรื่องสังคม ถ้าถูก โอเค จะจำ ถ้าไม่ถูก เขาบอก "ไม่ถูกนะยาย" เพราะอะไรไม่ถูก คือเขายังมีผู้ใหญ่ที่คอยช่วย ทีนี้เด็กที่เขาไม่มีผู้ใหญ่คอยช่วย ถ้าครูพูดเขาก็เชื่อ แล้วก็จะเป็นอย่างที่เด็กเขาพูด ยกตัวอย่างเช่น รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ ทุกคนเห็นว่าสมเด็จพระนารายณ์ดีเลิศใช่ไหม ไม่ได้ให้เด็กค้นเลย พอสมเด็จพระเพทราชานี่ แย่มาก เป็นคนไม่ดี คือมันอยู่ในหนังสือ อยู่ในปากครู มันก็เข้ามาอยู่ในความจำของเด็ก เพราะฉะนั้น พระเจ้าแผ่นดินองค์ไหนๆ ถ้าพูดว่าดีเลิศ ก็ต้องดีเลิศ จริงๆ สมเด็จพระนารายณ์ท่านอาจจะดีเลิศ แต่ทุกคนก็มีข้อบกพร่อง จริงๆ แล้วพระเพทราชาที่ไม่ดี เด็กก็ไม่ได้ศึกษาให้ลึกซึ้ง หรืออย่างเรื่องเขาพระวิหาร ทำไมเขมรเอาไป มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ โบราณคดีก็ไม่ได้ชัดเจน แทบจะทุกวิชา แล้วเด็กซักไม่ได้ ซึ่งความจริงเด็กควรจะซัก แล้วครูก็ต้องช่วยกันอธิบาย คิดว่าเป็นเพราะครูส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องนั้นมากพอ เพราะฉะนั้น พอไม่รู้จะตอบอย่างไร ก็ดุเอาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้เขากล้าถาม คิดว่าเป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่ที่ใช้ความโกรธแรงกับเด็กก่อน ก็เพราะว่าตัวเองตอบไม่ได้ ก็ปิดไว้ก่อน ปกปิด ประการที่สอง ถามมากทำไม ก็สอนไปแล้ว รู้เท่าที่สอนก็พอ ถามมากเดี๋ยวสอนไม่ทัน ถูกครูใหญ่ว่าอีก

 

"อะไรคือการตีกรอบว่า เป็นนักเรียนที่ดี หรือนักเรียนที่เลว เด็กที่ตั้งคำถามกลายเป็นนักเรียนเลว ส่วนเด็กที่ไม่ถาม ยอมรับตามอำนาจในโรงเรียน คือ นักเรียนดี  เด็กที่ตั้งคำถาม ถูกตีกรอบว่า เป็นเด็กก้าวร้าว"

อาจารย์วไล : ถ้ามองในแง่ความเป็นครูอาจารย์ เด็กที่ไม่ตั้งคำถามถึงจะเป็นนักเรียนดี ไม่จริง เด็กจะดีหรือจะเลวก็ตาม ต้องตั้งใจเรียน แล้วเมื่อมีคำถามเด็กต้องถาม แต่ต้องถามอย่างสุภาพ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน ต้องมีความเคารพต่อครูด้วย นักเรียนส่วนใหญ่เขาจะเคารพครูหรือไม่เคารพครู ขึ้นอยู่กับครู เด็กเขาไม่ได้ก้าวร้าวเลย มันอยู่ที่ผู้ใหญ่ อยู่ที่คนที่แสดงท่าทีต่อเขา ไม่ใช่ความผิดของเด็ก แต่ผู้ใหญ่เขาลืมตัว คิดว่าฉันใหญ่ ฉันเป็นอาจารย์ ครูไม่ดีมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ครูที่ว่าเด็ก ครูที่ด่าเด็กโดยไม่มีเหตุผล แล้วก็อ้างว่าเด็กเป็นคนไม่ดี มี เราต้องยอมรับ แล้วเด็กเขาจะเคารพได้อย่างไร เขาก็ต้องโกรธ  

เราต้องยอมรับว่าเด็กสมัยนี้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทั้งข่าวทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ แล้วยังมีสื่อออนไลน์ต่างๆ อีกมากมาย เด็กเขาจะรู้ เราก็ต้องเข้าใจเด็กด้วย เพราะว่าสื่อทำให้เขารู้ความจริง ความชั่วร้ายมากกว่าเด็กสมัยก่อน เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องแรงกว่าสมัยก่อน เทียบกันไม่ได้

 

"โรงเรียนไม่ชอบให้เราตั้งคำถามหรือวิจารณ์ เขาจะรู้สึกว่าทำไมเราสงสัย ทั้งๆ ที่เขาหวังดี แต่เราทุกคนมีสิทธิสงสัยและตั้งคำถามกับองค์กรที่เราอาศัยอยู่ เราตั้งคำถามเพราะอยากให้มันดีขึ้น"

อาจารย์วไล : แน่นอน เรามีสิทธิที่จะตั้งคำถาม แต่ในฐานะที่เราเป็นเด็ก เราก็ควรจะสุภาพ ทำด้วยความสุภาพ ไม่ได้หมายความว่า โครมคราม พูดด้วยความสุภาพ เป็นมิตรกัน ก็น่าจะตั้งคำถามได้ แล้วโรงเรียนมีหน้าที่ที่จะตอบด้วย

 

"ผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เข้ามาร่วมชุมนุม เพราะเห็นว่าเรื่องการศึกษา ทำไมไม่ทำให้การศึกษามีความเท่าเทียมกัน ผมจะได้ไม่ต้องเข้ามาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ คือแค่สิทธิขั้นพื้นฐานที่จะให้เราเท่ากัน ยังทำไม่ได้"

อาจารย์วไล : อันนี้เห็นด้วยกับเขาเลย เพราะว่าระบบการศึกษาทั่วประเทศมันไม่ยุติธรรม มันไม่เหมือนกัน เด็กต่างจังหวัดที่เขาอยู่ เขาลำบากกว่ามาก โอกาสที่จะได้รับการศึกษาก็น้อย ครูก็ไม่ดี โอกาสที่จะได้มีหนังสือหนังหาก็ไม่สมบูรณ์ ม้นไม่เท่าเทียมกัน เขาโกรธที่มันไม่เท่าเทียมกัน ถูกต้องแล้ว เห็นด้วยเลย ระบบการศึกษาไม่เท่ากัน

 

"เหตุที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราอยากให้ประเทศของเรามันดีขึ้นเพื่อให้คนที่เรารักและคนรอบๆ ตัวเรา รวมถึงคนที่มีจุดยืนทางการเมืองอีกฝั่งหนึ่งมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าเราชังชาติ แต่เรารักชาติด้วยซ้ำ"

อาจารย์วไล : ใช่ เราเชื่อว่าเขาคิดถูก แต่คนที่ว่าเขาชังชาติเพราะเขาไม่ต้องการอย่างนี้ เด็กช่างคิดนะ

 

"เราอยากให้ทุกคนตื่นได้แล้ว ตื่นตอนนี้เลย ทุกคนก็รู้ว่าอะไรถูกไม่ถูก เขาทำสิ่งไม่ถูกต้องกับเรา แต่เรากลับมองว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องปกติ มันควรจะเป็นการเคารพกันระหว่างสิทธิ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ที่เคารพกัน ไม่ใช่เด็กเคารพผู้ใหญ่ในสถานะที่แบบเราเป็นมดเขาเป็นเทวดา"

อาจารย์วไล : ใช่เลย นี่คือสิทธิมนุษยชนของเรา คือมนุษย์ต้องเคารพกันและกัน ไม่ใช่ว่าเด็กต้องเคารพผู้ใหญ่อย่างเดียว ผู้ใหญ่ต้องเคารพเด็ก อันนี้ชัดเลย ถ้าเราไปดูอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เด็กจะต้องได้รับความคุ้มครองปกป้องโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี เด็กต้องได้รับการพัฒนาและสามารถมีส่วนร่วม เด็กมีสิทธิที่จะพูด ที่จะแสดงออก และคุณไม่มีสิทธิจัดการหรือทำลายล้าง หรือทำไม่ดีกับเขา เป็นหน้าที่ของสังคมไทยที่จะต้องทนุถนอมและดูแลเด็ก เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการดูแล เป็นสิทธิของเด็กเลยนะ คุณจะต้องไปอ่านอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เป็นอนุสัญญาเดียวที่ประเทศทั้งโลกลงนามมากที่สุด (๑๙๕ ประเทศ) เราก็ลงนามนะ ยกเว้น ๒ ประเทศ คือ โซมาเลีย ที่บอกว่าทำไม่ได้จริงๆ ตามอนุสัญญา และสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าให้เกินอยู่แล้ว เด็กเขาพูดถูก ผู้ใหญ่ต้องตระหนักเรื่องนี้ ประเทศไทยต้องยึดถือตาม ไม่เช่นนั้นก็ทำผิด เด็กพูดถูก ห้ามละเมิดสิทธิเด็ก

           

"ครูครับ ช่วยสอนให้ผมเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ไหมครับ"

อาจารย์วไล ยังเล่าถึง คำถามของลูกศิษย์คนหนึ่ง ที่บอกว่า "ครูครับ ช่วยสอนให้ผมเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ไหมครับ" ว่า ไปสอนภาษาฝรั่งเศสให้เด็ก ม.๖ ปกติจะทักทายกันก่อนเริ่มเรียนหนังสือ วันนี้จะให้ครูอบรมลูกเรื่องอะไร จะต้องพูดกันก่อน ตัวหนังสือเอาไว้ก่อน "วันนี้ลูกมีความทุกข์ มีความสุข อยากเล่าให้ครูฟังไหม และอยากให้ครูสอนลูกเรื่องอะไร"  นอกเหนือไปจากการเรียนแกรมมา วันหนึ่งก็มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งพูดว่า "ครูครับ ครูช่วยสอนให้พวกผมเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ไหมครับ" เราก็โอ้โห "เอาขนาดนั้นเลยเหรอลูก ลูกอยากเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เหรอ ก็แสดงว่าลูกยังเป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ใช่ไหม"  "เอา เรามาดูกันสิว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นยังไง" เขาก็ค่อยๆ บอก จะต้องเป็นคนดี เป็นคนรักกัน เขาก็พูดออกมา เราก็บอก นี่แหละ เป็นตัวอย่าง แล้วเราจะปฏิบัติตัวเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราต้องเคารพคนอื่นด้วย ก็เป็นการสอนเรื่องจิตใจของพวกเขา หลังจากนั้นเราจึงสอนหนังสือ แล้วบางทีก็ "วันนี้ครูจะอบรมนะ ไหนลูกช่วยบอกสิ ครูที่ดีเป็นยังไง วิจารณ์ครูนะ ช่วยวิจารณ์ครูด้วย" เขาก็จะบอกว่า ครูที่ดีเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โอเค ถูกต้อง

 

(คำถามเสริม)

อยู่ที่เรามีหลักยึดทางศาสนาด้วยไหมที่กล่อมเกลาเรา

ใช่อาจจะเป็นได้ คือเราถูกสอนมาว่าเราต้องรักและเมตตาคน รักและเมตตานี่เป็นทั้งศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์นะ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เด็ก ไม่ว่าศาสนาใดก็ต้องรักกัน เราต้องรักกันนะลูก

 

อาจารย์มีคำสอนที่เป็นหลักยึดทางใจในช่วงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงเช่นนี้

ในฐานะที่เป็นคริสต์เชื่อในพระผู้เป็นเจ้าก็จะสวด ขอให้ช่วยทำให้ประเทศไทยของเรา โลกของเราผ่านพ้นอุปสรรคปัญหา

 

สังคมที่ต้องการอนาคตที่มีความหวัง ผู้ใหญ่ควรเป็นอย่างไร

ผู้ใหญ่ทุกคนควรจะมีเมตตาต่อคนอื่น มีเมตตาต่อเด็ก เราควรจะเปิดใจ ไม่ใช่ว่าแก่แล้วก็ยิ่งปิดใจ เพราะคนแก่จะปิดใจ ผู้ใหญ่ต้องเปิดใจ ยอมรับฟังความคิดเห็นของเด็กรุ่นใหม่ และถ้าช่วยเขาได้ก็ต้องช่วย มันเป็นหน้าที่นะ ถ้าช่วยเขาไม่ได้เราก็ต้องหาวิธี คือต้องเปิดใจให้เขามาคุยกับเรา อยากมาพบเรา อยากเข้าหาผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ก็ต้องช่วยเขาอย่างมีเมตตา  การมีเมตตาต่อเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >