หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 38 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

คนหลายวัยกับโลกใบเดียวกัน : น้ำค้าง คำแดง พิมพ์
Monday, 18 January 2021

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑๑๔ ก.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๓

 


คนหลายวัยกับโลกใบเดียวกัน

น้ำค้าง คำแดง


    

เคยไหมคะ ที่เราเปิดหน้าเฟซบุ๊กมาแล้วอยากจะโพสต์อะไรสักอย่าง แต่พิมพ์ไปก็ลบไป พิมพ์อีกก็ลบอีก เป็นแบบนี้อยู่หลายครั้ง ในยุคสมัยนี้และสถานการณ์ ณ ตอนนี้ ฉันเหมือนคนย้ำคิดย้ำทำ พิมพ์แล้วลบข้อความอยู่หลายรอบ ไม่ใช่เพราะกลัวคำวิจารณ์ที่จะตอบกลับมาจากข้อความที่โพสต์ แต่เพราะกลัวความคิดและอารมณ์ของตัวเองจะไปกระทบความรู้สึกของใคร หรือเผลอตัดสินใครโดยไม่ได้เจตนา สุดท้ายฉันเลือกที่จะไม่โพสต์ใดๆ แล้วกลับมานั่งนิ่งๆ ฟังความคิด มองการแสดงออกต่างๆ ของทุกฝ่าย แม้จะเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง เห็นด้วยบ้าง ไม่เห็นด้วยบ้าง เก็บข้อความที่จะบอกคนบนโลกโซเชียลมาบอกตัวเองแทน

"น้ำค้างเอ๋ย! ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว มองมันอย่างที่มันเป็น อย่ามองอย่างที่อยากให้เป็น ทัศนคติของเธอไม่ใช่สิ่งที่เหมาะกับทุกคน อย่าได้พยายามยัดเยียดสิ่งนั้นให้ใคร แม้แต่ตัวเธอเอง" เป็นประโยคเรียกสติของตัวฉันเอง ก่อนจะเข้าไปคลุกวงไหนสักวง ฉันต้องปรับความคิดตัวเองให้ได้เสียก่อน มองไปข้างหน้า นั่นก็พี่ น้อง เพื่อนพ้อง ลูกหลาน มองไปข้างหลัง นั่นก็ พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ใช่ค่ะ เราทั้งหมดล้วนคือคนในครอบครัวเดียวกัน

ตั้งแต่เริ่มมีการออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ฉันเป็นคนหนึ่งที่ไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ ในเรื่องนี้เลย แต่เฝ้ามองอย่างเป็นห่วง มีคำถามมากมายที่ต้องการหาคำตอบ เราจะอยู่บนความแตกต่างอย่างเข้าใจในครั้งนี้ได้อย่างไร? เราควรวางใจไว้ตรงไหน? ฉันพยายามนึกถึงสมัยก่อนจะมีสื่อโซเชียล เราใช้ชีวิตแบบไหนกันนะ! อย่ากระนั้นเลย คงต้องหาโอกาสพูดคุยกับใครสักคนเผื่อจะมีแนวทางให้ฉันได้หาจุดที่จะเอาหัวใจไปวาง ฉันมีโอกาสได้คุยกับพี่แก้ว พี่สาวที่น่ารักคนหนึ่ง พี่แก้วมีประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กและเยาวชนมากว่า ๑๖ ปี


Image   

คุณกรองแก้ว ปัญจมหาพร พี่แก้ว ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ

เราคิดว่าสิ่งที่เยาวชนสมัยเรากับสมัยนี้มีเหมือนๆ กัน คือการมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่า แต่คำจำกัดความของคำว่า "สร้างสังคมที่ดีกว่า" แต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะไม่เหมือนกัน อย่างสมัยพี่เป็นนักกิจกรรม นักศึกษา สถานการณ์การบ้านเมืองก็จะไม่ได้มีประเด็นร้อนเหมือนสมัยนี้ สมัยพี่แก้วก็จะเห็นว่าคนที่มีแนวคิดแตกต่างมากๆ มีไม่เยอะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประเด็นเรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำของคนในเมืองกับคนชนบท ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมในยุคนั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนที่คนกลุ่มหนึ่งมีโอกาสทางการศึกษาที่ดี ในขณะที่คนอีกกลุ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในทุกยุคทุกสมัยเรามีความปรารถนาดีกับสังคมเหมือนๆ กัน เพียงแต่ต่างกันตรงที่ในสมัยนี้ เด็กยุคใหม่มีสื่ออยู่ในมือ เด็กและเยาวชนสามารถแสดงไอเดียต่างๆ ผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ จากเมื่อก่อนที่ต้องนัดประชุมลงพื้นที่ กว่าจะนัดรวมตัวกันได้ก็ใช้เวลานานมาก กระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เร็วและแรง และสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้เหมือนอย่างสมัยนี้

พูดถึงกระบวนการขับเคลื่อนของนักศึกษาสมัยนี้ โดยส่วนตัวพี่แก้วรู้สึกชอบ ชอบที่เค้ามีความปรารถนาดีกับประเทศนี้ อยากจะเห็นสิ่งที่มันดีกว่าสำหรับเขา ปรากฏการณ์นี้คือการมีส่วนร่วมของเด็กในการออกแบบอนาคตในอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้าที่พวกเขาหรือเธอต้องการจะอยู่ ตอนพี่เป็นนักกิจกรรมช่วงที่เป็นนักศึกษา พี่ก็คิดเหมือนกันว่าสังคมแบบไหนที่เราอยากเห็นในอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีถัดไป เราบอกว่าเราอยากเห็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เราก็ขับเคลื่อนในประเด็นนั้น เด็กสมัยนี้ก็เช่นกันพวกเขาก็ปรารถนาดีกับประเทศ เขาก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในประเด็นต่างๆ เพียงแต่ประเด็นที่เขาสนใจ มันคือโลกใหม่ที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ อาจจะไม่คุ้นเคย วันนี้เราเห็นเด็กและเยาวชนลุกขึ้นมาทวงถามอำนาจนิยมในโรงเรียน ลุกขึ้นมาทวงถามความเสมอภาคระหว่างเพศ ลุกขึ้นมาทวงถามความเป็นธรรมในสังคมปิตาธิปไตย (สังคมชายเป็นใหญ่) ลุกขึ้นมาทวงถามประเด็นที่จับต้องหรือพูดถึงไม่ได้อย่างเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์

ในยุคของพี่แก้วเอง หรือเพื่อนๆ ที่เติบโตมากับขบวนการกิจกรรมนักศึกษามาด้วยกัน เราคุ้นชินกับการที่มีคนมาสั่งมาบอกให้เราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ส่วนเด็กยุคนี้เขาเติบโตมาในเจนเนอเรชั่น (Generation) ที่ไม่คุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ แต่ผู้ใหญ่กลับใช้อำนาจเหนือเขา จึงไม่แปลกที่จะมีการปะทะหรือเห็นไม่ตรงกันระหว่างคนสองรุ่น คนรุ่นใหม่เค้าเติบโตมาพร้อมกับความเชื่อว่าตัวเองมีอำนาจในการจัดการชีวิตตัวเอง กับ คนอีกรุ่นที่คิดว่าฉันรู้ดีกว่า ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน การปะทะกันของคนสองรุ่น มันก็เป็นเรื่องธรรมดานะ เพราะย้อนกลับไปสมัยเราเป็นแกนนำเยาวชน เราก็เคยปะทะกับผู้ใหญ่รุ่นก่อน การปะทะกันของชุดความคิด มันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย

ดังนั้นสิ่งที่พี่บอกกับคนอายุประมาณพี่คือ เยาวชนควรมีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตของประเทศในแบบที่พวกเขาอยากอยู่ในอีก ๑๐ หรือ ๒๐ ปีข้างหน้า สิ่งที่เราทำได้ในฐานะผู้ใหญ่คือ การเปิดพื้นที่พูดคุยกันอย่างสมเหตุสมผล เราไม่จำเป็นต้องสนับสนุนทั้งหมด หรือเห็นด้วยกับทุกประเด็น แต่ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรโดยที่เราไม่ใช้อภิสิทธิ์ความเป็นผู้ใหญ่ของเรา กดทับชุดความคิดของเยาวชน

ตอนนี้เรารู้สึกตะขิดตะขวงใจ เมื่อได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า "ฉันจะต้องทำอะไรสักอย่างกับเด็กกลุ่มนี้เพราะฉันทนไม่ได้แล้ว" อันนี้คือการใช้อำนาจในรูปแบบหนึ่งกับเด็กและเยาวชน เราอยากเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในวันนี้ไม่ใช้ชุดความคิดเดิมตัดสินการเคลื่อนไหวทางสังคมของเด็กและเยาวชน อันนี้มันจะช่วยเด็กได้เยอะแล้ว เราอยากบอกว่า เมื่อพวกเราเติบโตมากับชุดความคิดคนละชุดกัน เราจึงไม่สามารถใช้ชุดความคิดเดิมเมื่อ ๑๐-๒๐ ปีที่แล้วไปอธิบายปรากฏการณ์ความคิดในวันนี้ของเด็กได้อีกแล้ว

ถ้าถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้ใช้ชีวิตร่วมกันได้ พี่ต้องบอกว่า...ยากมากนะ (หัวเราะ) แต่มันทำได้ อันดับแรก การเคารพความเห็นต่างสำคัญมาก  อันดับที่สอง เราไม่สามารถใช้นิยามศัพท์เดิมกับเด็กยุคใหม่ได้อีกแล้ว เช่น ความสุภาพเรียบร้อยของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือเจนเอ็กซ์ (Gen-X) ไม่เหมือนและไม่สามารถนำมาใช้กับคนยุคมิลเลนเนียลส์ (Millennials) และเจนซี (Gen-Z) ได้

พี่คุยกับผู้ใหญ่บางคน เขาก็จะบอกว่า "ม็อบนี้ไม่สุภาพ" คำว่าสุภาพนี่คนในแต่ละยุคก็ให้ความหมายที่ไม่เหมือนกัน พฤติกรรมบางอย่างที่อาจดูไม่สุภาพในสายตาเรา จริงๆ มันก็ดูเป็นสีสันด้วยซ้ำ เป็นการแสดงออกของคนรุ่นใหม่ในวันนี้ ดังนั้นพี่จึงคิดว่าชุดความคิดแบบเดิมๆ ผู้ใหญ่อย่างเราไม่สามารถใช้ครอบเด็กได้อีกแล้ว เราต้องยกกรอบความคิดของเราออก เพราะถ้าเราใช้ชุดความคิดนี้ ยังไงเด็กก็หยาบคาย เป็นคนดื้อ คนรั้น ไม่ฟังเสียงคนอื่น ซึ่งพี่เห็นใจ ผู้ใหญ่อย่างเราก็ปรับตัวยากนะเพราะเราถูกสอนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรว่าเด็กต้องเคารพผู้ใหญ่ เป็นเด็กไม่ควรเถียงผู้ใหญ่ มันจึงหาจุดที่ลงตัวกันลำบาก

สิ่งสุดท้ายที่พี่คิดว่ามันจำเป็น เมื่อไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ ไม่สามารถที่จะเข้าใจศัพท์ของเด็กได้ เราในฐานะผู้ใหญ่ต้องไม่สนับสนุนให้ใช้ความรุนแรงกับเด็ก ไม่ว่าจะมีจุดยืนแบบไหน เราต้องคิดให้ได้ว่าความรุนแรงกับเด็กมันไม่ใช่เรื่องปกติ ไม่ควรสนับสนุนให้เกิดการใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้นกับเด็ก ไม่ว่าจะในกรณีไหนก็ตาม

 

ถามถึงเรื่องงานของพี่แก้ว

พี่แก้ว เป็นผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ เราจะมีชุดความคิดและชุดความเชื่ออยู่ชุดหนึ่งว่า "ความเป็นธรรมในสังคมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อความเป็นธรรมทางเพศมันถูกพูดถึง"  งานของพี่คือ การบอกเด็กว่า เขาเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร มีอัตลักษณ์แบบไหน เชื้อชาติแบบไหน เขาจะมีอัตลักษณ์ที่ทับซ้อนแบบใดก็ได้ แต่เขาต้องเชื่อมั่นว่าเขามีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคมนี้ นี่คือสิ่งที่เราเชื่อ สิ่งที่เราบอกเด็กและเยาวชน ตลอดระยะเวลา ๑๖ ปีที่เราทำงานมา

พี่ทำงานกับเด็กกลุ่มชายเปราะบางหลากหลายกลุ่ม (กลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและสวัสดิการของสังคมได้) สิ่งที่เราเห็นในสมัยเพิ่งเริ่มทำงานคือ เด็กในเมืองและเด็กต่างจังหวัดอาจจะมีชุดความคิดที่แตกต่างกัน แต่เมื่อเวลาค่อยๆ เปลี่ยนไป ใน ๑๖ ปีนี้ สื่อ เทคโนโลยี มันทำให้ช่องว่างระหว่างความคิด ความเชื่อที่ต่างกันของเด็กในตัวเมืองกับต่างจังหวัดถูกทอนให้แคบลง ส่วนหนึ่งเด็กก็อาจจะแบกรับการถาโถมเหล่านี้ไม่ทัน แต่ในขณะเดียวกันพี่ก็เห็นว่ามีเครื่องมือหลากหลายชนิดที่เด็กสามารถใช้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เราเห็นเด็กแต่ละยุคหยิบมันขึ้นมาปรับใช้ตามบริบทของตัวเอง เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็นที่พวกเขาต้องการ

เราเชื่อว่าเด็กและเยาวชนมีพลังของตัวเอง พวกเขาสามารถลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ ถ้าผู้ใหญ่อย่างเราๆ ให้โอกาสพวกเขาได้ออกเสียงเพื่อออกแบบสังคมที่ดีกว่าในนิยามของพวกเขา ด้วยความรู้ ทักษะและความสามารถที่เด็กและเยาวชนรุ่นนี้มี พวกเขาจะสร้างสรรค์สังคมที่ดีกว่าเดิมได้แน่นอน

 

ถ้าถามว่าทำไมครั้งนี้ฉันถึงเลือกที่จะคุยกับพี่แก้ว ก็น่าจะเพราะมุมมองที่ตรงไปตรงมา กับประสบการณ์การทำงานกับเด็กและเยาวชน การที่เห็นการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยอย่างเข้าใจ และด้วยประเด็นทางสังคมที่ละเอียดอ่อน เราต่างมีคำถามมากมาย อย่างเช่น ถ้าลูก หรือ น้อง ของเราขอไปร่วมม็อบ เราจะทำอย่างไร?

ในช่วง ๑-๒ เดือนมานี้ ฉันเห็นหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เพื่อให้เป็นประโยชน์กับคุณผู้อ่านมากที่สุด หนึ่งในบทความที่น่าสนใจมากจากเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน ' เขียนโดย ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร (คุณหมอโอ๋) [๑] เป็นบทความที่คุณผู้อ่านรวมทั้งตัวฉันด้วยน่าจะนำไปใช้ได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ

 

เมื่อลูกขอไปม็อบ... มันคงเป็นเรื่องน่าหนักใจของพ่อแม่ โดยเฉพาะกับคนที่ความคิดและความเชื่อช่างแตกต่าง

หมอมีคำแนะนำพ่อแม่ที่อยากแลกเปลี่ยนดังนี้ นะคะ

๑. กลับมาทำงานกับตัวเองก่อน ตอบตัวเองให้ได้ ว่าอะไรสำคัญกับชีวิต

๒. ถ้าคำตอบคือ ‘ลูก' หายใจเข้าออกให้ลึกๆ และสงบตัวเองให้พร้อม ‘ฟัง'

๓. อันดับแรก "ขอบคุณลูก" ที่เข้ามาขออนุญาตแม่ ขอบคุณที่เห็นความสำคัญของความเห็นพ่อแม่ และขอบคุณที่ไม่โกหกปกปิดกัน (ทั้งๆ ที่ลูกก็อาจจะทำมันได้)

๔. อย่ารีบห้าม "ไม่ให้ไป" "ไปไม่ได้" สิ่งเหล่านี้หลายครั้ง ‘ห้ามลูกจริงๆ ไม่ได้' แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นคนสุดท้าย ที่ได้รับรู้ความเป็นไปในชีวิตลูก

๕. ‘ไม่รีบตัดสิน' เช่น ไปม็อบคือล้มเจ้า ไปม็อบเท่ากับถูกล้างสมอง ไปม็อบเท่ากับอกตัญญูแผ่นดิน การตัดสิน ทำให้ปิดกั้นทุกช่องทางแห่ง ‘ความเข้าใจ'

๖. ฟัง ‘ความรู้สึกและความต้องการ' ของลูก ลูกรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร ลูกให้คุณค่ากับอะไร การไปม็อบมีความหมายอย่างไร มันตอบสนองความต้องการอะไร ฟังแบบ ไม่ตัดสิน ไม่แทรกถาม ไม่สั่งสอน ไม่รีบสรุปความ และไม่แย่งซีน (เช่น "โอ๊ย สมัยแม่ก็เคย.." ??)

๗. ถ้าฟังจบแล้ว มีอะไรสงสัย ให้ ‘ตั้งคำถาม' แทนการสอน "ลูกคิดว่าวัตถุประสงค์ของม็อบคืออะไร" "แล้วลูกคิดอย่างไร ที่..." ชวนลูกมองไปให้ไกลถึงผลที่จะตามมาจากการตัดสินใจ

๘. บอกความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของเรา "แม่เป็นห่วงหนูมาก" "แม่อยากให้ลูกปลอดภัย" "แม่รักลูก" บอกโดยใช้ ‘I message'

๙. หลีกเลี่ยงการพูดสิ่งที่จริงๆ ไม่ได้รู้สึก หรือต้องการ "ถ้าไปก็ไม่ต้องกลับบ้าน" "ตัดพ่อตัดลูกกันไปเลย" คำพูดเหล่านี้ ไม่ได้ช่วยให้เราสร้าง "ความปลอดภัยในชีวิตลูก" ได้จริงๆ

๑๐. ชวนลูกคิด ว่าความต้องการของพ่อแม่ เช่น อยากให้ลูกปลอดภัย ไม่อยากให้ลูกก้าวร้าวกับคนที่พ่อแม่เคารพ สิ่งเหล่านี้ ลูกจะช่วยให้มันถูกตอบสนองได้อย่างไร

๑๑. สร้างข้อตกลง หาทางออกร่วมกัน ที่จะทำให้ทั้ง ๒ ฝ่าย ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ "ไม่ไปได้ไหม?"  "จะไปบ่อยแค่ไหน?"  "แม่จะติดต่อยังไงได้บ้าง?"  "ทำยังไงให้รู้ว่าปลอดภัย?"  "จะเอาตัวรอดยังไงในภาวะคับขัน? ถ้าถูกจับจะทำอย่างไร?"  ฯลฯ

๑๒. ไม่มีใครควรได้อะไรไปทุกอย่าง และไม่มีใครควรต้องเสียความต้องการไปทั้งหมด

๑๓. ‘ความสัมพันธ์ที่ดี' คือ สิ่งที่จะทำให้ลูกรับฟังและทำให้เกิดการต่อรอง

๑๔. พื้นที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่เราสามารถเห็นต่างได้ แสดงความรู้สึกและความต้องการได้ โดยไม่ทำร้ายหรือละเมิดสิทธิกัน บ้านควรเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย'

๑๕. พูด เฉพาะเมื่อเห็นว่าลูกพร้อมจะฟัง

๑๖. อย่าตั้งเป้าที่จะทำให้ลูกเชื่อหรือศรัทธาในสิ่งเดียวกัน "ความรักความศรัทธาเป็นเรื่องที่บังคับกันไม่ได้" เราแต่ละคนมีประสบการณ์และให้คุณค่าในเรื่องที่แตกต่าง พูดให้ลูกฟัง ด้วยความคาดหวังที่เหมาะสม

๑๗. ถ้าห้ามไม่ฟัง และเราก็ห่วงเรื่องความปลอดภัย ทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ ‘ไปกับลูก' ไป เพื่อแน่ใจว่ามีอะไร เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ลูกปลอดภัย (เอาที่อุดหูไปได้ ถ้าไม่อยากได้ยินอะไรที่ไม่ชอบ)

๑๘. บอกลูกได้ถึงสิ่งที่กำลังเป็นปัญหา การใช้คำหยาบคาย การบูลลี่ การอาฆาตมาดร้าย การเหยียบย่ำสิ่งที่คนอื่นศรัทธา อาจไม่นำมาซึ่งความเข้าใจของคนที่เห็นต่าง

๑๙. เน้นย้ำลูกว่า ประชาธิปไตย คือการอยู่ร่วมได้ แม้คิดไม่เหมือนกัน

๒๐. สอนลูกว่า ไม่มีใครที่มีแต่ความไม่ดี และไม่มีใครที่เลวร้ายไปทั้งหมด คนทุกคนควรได้รับความเคารพในความเป็นมนุษย์ "จงอ่อนโยนต่อบุคคล แต่หนักแน่นในหลักการ"

สุดท้ายอยากบอกว่า ในความเป็นจริง เราล่ามโซ่ลูกไม่ได้ สิ่งเดียวที่จะดึงรั้งลูกไว้ได้ คือ ‘สายสัมพันธ์' อย่าทำอะไรที่ ‘ทำลายความสัมพันธ์' และอย่าให้ความเชื่อใดๆ มาทำให้คุณต้องทำลาย สิ่งที่เรียกว่า ‘ครอบครัว' เพราะถ้าถึงวันนั้น มันอาจไม่มีอะไรมาทดแทนสิ่งที่สูญเสียไป... ได้จริงๆ

นอกจากนี้คุณหมอโอ๋ยังได้เขียนไว้อีกหลายบทความที่เป็นประโยชน์และเหมาะกับช่วงเวลานี้ หากใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านเพิ่มได้ที่ facebook fan page : เลี้ยงลูกนอกบ้าน

 

ฉันในฐานะเด็กกิจกรรมคนหนึ่งที่เคยขับเคลื่อนทางการเมืองมาบ้าง ครั้งหนึ่งที่ฉันได้รับโอกาสให้แสดงความคิดเห็น มีผู้ใหญ่คนหนึ่ง (ผู้ใหญ่คนที่ ๑) กระซิบบอกฉันว่า "วันหนึ่งเมื่อเธอโตขึ้น แล้วมีตัวแปรคือความอยู่รอด เธอจะเปลี่ยนความคิดไปเอง" ตัวฉันเมื่อ ๑๗ ปีที่แล้ว กับอายุ ๑๖ ปี ฟังผู้ใหญ่ท่านนี้ทั้งน้ำตา รู้สึกโกรธที่เขาไม่เข้าข้างฉัน รู้สึกเคว้งคว้างและตัวชา แต่ในช่วงเวลาเดียวกัน มีผู้ใหญ่อีกคน (ผู้ใหญ่คนที่ ๒) ที่ได้ยินคำพูดนั้น เดินเข้ามาแล้วโอบกอดฉันอย่างเข้าใจ

เมื่อมองย้อนกลับไป ฉันนึกขอบคุณผู้ใหญ่ทั้ง ๒ คน ขอบคุณผู้ใหญ่คนที่๑ ที่เตือนสติให้ฉันอยู่กับความเป็นจริง เตือนว่าโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่แน่นอน แม้กระทั่งความคิดและใจตัวเอง โลกนี้อาจไม่ได้สวยงาม ไม่ได้มีเพียงแค่คนที่ชื่นชมยินดีหรือเห็นด้วยกับความคิดของเด็กหญิงคนนั้น พูดแบบตรงไปตรงมาสิ่งที่ผู้ใหญ่คนที่ ๑ พูดก็ไม่ได้ผิดไปเสียทั้งหมด ถึงฉันจะไม่ได้เปลี่ยนความคิดไปทั้งหมด แต่ก็มีหลายอย่างที่ถูกปรับไปตามตัวแปรที่เรียกว่า ‘ความอยู่รอด' ขอบคุณที่ทำให้ฉันแข็งแกร่งและกล้าที่จะยอมรับความต่าง มองโลกบนความเป็นจริงอย่างเข้าใจ ขอบคุณผู้ใหญ่คนที่ ๒ ที่โอบกอดในช่วงเวลาที่แสนทรมานนั้น ให้ฉันยังรู้สึกปลอดภัย ทำให้เด็กคนนั้นพอจะมีแรงเดินต่อไปได้ ขอบคุณที่มอบความอ่อนโยนนั้นให้กับฉัน และมันยังคงอยู่ถึงวันนี้

ฉันคิดว่าในสังคมของเราควรมีผู้ใหญ่ทั้งสองแบบ เพราะนี่คือการปรับสมดุล แต่สิ่งที่ต้องปรับคือ วิธีการที่จะทำให้เกิดความสมดุลนั้น วันนั้นฉันโชคดีที่มีคนเตือนและคนปลอบ ฉันเองก็อยากให้น้องๆ ในวันนี้ได้รับความโชคดีเหมือนที่ฉันเคยได้ เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยทั้งหมด และเราก็ไม่จำเป็นต้องเห็นต่างในทุกเรื่อง เรายืนคนละจุด มองกันคนละมุม แต่สุดท้ายให้รู้ไว้ว่า นั่นคือลูก คือหลาน คือครอบครัว เปิดใจ เข้าใจ รับฟัง แลกเปลี่ยนในฐานะคนที่รักกัน เป็นผู้ใหญ่ที่สง่างามให้เด็กหันมาตรงนี้แล้วรู้สึกปลอดภัยนะคะ

บทความของฉันมักจะชวนคุณวิ่งเล่นในทุ่งลาเวนเดอร์เสมอๆ ฉันไม่ได้ชวนคุณเพ้อฝัน เพราะทุ่งลาเวนเดอร์ของฉันมันอยู่ในใจ และรอการปลูกดอกลาเวนเดอร์ด้วยสองมือของคุณผู้อ่าน จะมีประโยชน์อะไรที่เราต้องใช้อารมณ์ไปกับเรื่องราวข่าวสาร มาค่ะ มาปรับที่วางใจ และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน



[๑] ที่มา : เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน วันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๖๓


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >