หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 66 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ฟังคนเก่าเล่าเรื่องเยาวชน : คุณพ่อมิเกล กาไรซาบาล, S.J. พิมพ์
Wednesday, 13 January 2021

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑๑๔ ก.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๓


ฟังคนเก่าเล่าเรื่องเยาวชน

คุณพ่อมิเกล กาไรซาบาล, S.J.

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์


 
Image 

"สันติภาพไม่ใช่การยอมทุกอย่าง สันติภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม"

"เด็กและผู้ใหญ่ ควรสร้างหนทางเดินด้วยกันอย่างเป็นมิตร"


นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของแฟลชม็อบนักเรียนมัธยมฯ และนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตามมาด้วยการออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนนของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อต่อต้านรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมข้อเรียกร้องที่ทะลุเพดาน จนกระทั่งสร้างความวิตกกังวลไปทั้งสังคมไทยในห้วงยามนี้ ว่าจะนำไปสู่สถานการณ์ที่รุนแรงบานปลาย ทำให้หวนคิดถึงอดีตที่มีความคล้ายคลึงกันของเหตุการณ์ขบวนการนิสิตนักศึกษาในยุค ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา ๑๙ ที่อุดมการณ์ประชาธิปไตยได้เบ่งบานในหัวใจของเยาวชนคนหนุ่มสาวในยุคนั้น แต่ก็ต้องจบลงด้วยหยดเลือดและหยาดน้ำตาของคนไทยจำนวนมาก พร้อมทิ้งประวัติศาสตร์แห่งความบอบช้ำและบทเรียนมากมายไว้ให้สังคมไทยได้เรียนรู้และทบทวนอย่างมิรู้จบ

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมและยึดคืนพื้นที่ด้วยรถฉีดน้ำแรงดันสูงที่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๓ ...วันถัดมา ๑๗ ตุลาคม  "ผู้ไถ่" มีนัดกับคุณพ่อมิเกล ที่บ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยฯ คุณพ่อ มิเกล กาไรซาบาล, S.J. คณะเยสุอิต [๑] บาดหลวงชาวสเปน วัย ๗๘ ปี คุณพ่อต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยมานานเกินครึ่งศตวรรษ ผู้รักประเทศไทยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนไทยที่เกิดและโตบนแผ่นดินไทย

ในวันที่คุณพ่อเฝ้ามองสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นด้วยความกังวลและห่วงใย เราขอให้คุณพ่อช่วยให้มุมมองความคิดเห็นในฐานะที่ท่านเคยทำงานกับเยาวชน เคยเป็นจิตตาธิการของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาคาทอลิกในขณะนั้น เคยเดินร่วมทางกับเยาวชนคนเดือนตุลา เคยผ่านเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญในอดีตทั้ง ๑๔ ตุลา ๑๖ และ ๖ ตุลา ๑๙  มุมมองของผู้อาวุโสคนหนึ่งที่กล่าวด้วยความรู้สึกจากหัวใจว่า "ขณะนี้พ่อรู้สึกเหมือนอยู่ในคืนมืด พ่อรู้สึกว่าตัวเองเจ็บ (Suffer) เพราะเรื่องนี้ เพราะว่าพ่อรักประเทศไทย อยู่ในประเทศไทยมา ๕๐ กว่าปี"

ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่นว่าผู้อ่านย่อมเห็นถึงความรักและปรารถนาดีต่อคนไทยและประเทศไทยอย่างแท้จริง ในทุกตัวอักษรนับจากบรรทัดถัดจากนี้!

"ผู้ไถ่" เริ่มด้วยการให้คุณพ่อมิเกลเล่าถึงที่มาของคณะเยสุอิตที่เน้นการทำงานอบรมบ่มเพาะเยาวชนมายาวนานนับแต่เริ่มเข้ามาในประเทศไทยกระทั่งถึงปัจจุบัน และบ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานที่ที่เป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา และเป็นสถานที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความคิดของเยาวชนคนหนุ่มสาว และงานพัฒนา งานเพื่อสังคม ให้งอกงามและเติบโตมาหลายยุคหลายสมัย สืบมาถึงเยาวชนรุ่นทุกวันนี้

 

คณะเยสุอิต บ้านเซเวียร์ และภารกิจงานอภิบาลนิสิตนักศึกษาคาทอลิก

ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ (ค.ศ.๑๙๕๔) คณะเยสุอิตได้รับเชิญจากบิชอปหลุยส์ โชแรง แห่งสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ให้ส่งสมาชิกคณะเยสุอิตมาทำงานอภิบาลในประเทศไทย และงานหลักของคณะเยสุอิตก็คือ งานเทศน์การเข้าเงียบให้กับบาดหลวง นักบวช และงานอภิบาลนิสิตนักศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งการจัดประชุมเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๙ (ค.ศ.๑๙๕๖) ถือเป็นภารกิจแรกของคณะเยสุอิต โดยเชิญเยาวชนคาทอลิกที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน ๖๐ คน มาพบปะพูดคุยทำความรู้จักคุ้นเคยกัน และเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่ม ‘ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาคาทอลิก' [๒] (University Students' Catholic Center - USCC) โดยมีคุณพ่ออูแจน เดอนีย์ ชาวฝรั่งเศส เป็นจิตตาธิการคนแรก

กล่าวได้ว่า งานอภิบาลนิสิตนักศึกษาคาทอลิก เป็นงานที่คณะเยสุอิตให้ความใส่ใจมาโดยตลอดเพราะถือว่ากลุ่มเยาวชนเป็นกลุ่มที่สำคัญยิ่ง จึงติดตามและอบรมนักศึกษาคาทอลิก ให้คำปรึกษาด้านความเชื่อ และประเด็นทางศีลธรรม เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนคาทอลิกได้เติบโตในความเชื่อ ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การฝึกปฏิบัติจิต [๓] (Spiritual Exercises) การสัมมนาในหัวข้อที่เกี่ยวกับชีวิตและภาระหน้าที่ของเขาในสังคม การอบรมภาวะผู้นำ ทัศนศึกษาในสถานที่ต่างๆ และกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากนิสิตนักศึกษาทุกยุคสมัย ก็คือ ค่ายอาสาพัฒนา หรือค่ายสร้างร่วมกับชาวบ้านในชนบท ที่ยังคงอยู่คู่กับบ้านเซเวียร์มาจนถึงทุกวันนี้

คุณพ่อมิเกลเล่าว่า พ่อบวชในปี พ.ศ.๒๕๑๕ (ค.ศ.๑๙๗๒) และไปเรียนต่อแล้วกลับมาปี พ.ศ. ๒๕๑๖ (ค.ศ.๑๙๗๓) ตอนนั้นที่พ่อมาเป็นจิตตาธิการ นักศึกษาคาทอลิกยังไม่ตื่นตัวเรื่องสังคม ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง ยอมรับสภาพ ผู้ใหญ่ว่าอย่างไรก็อย่างนั้น ก่อน ๑๔ ตุลา นักศึกษาคาทอลิกเน้นศึกษาพระคัมภีร์ เรามีกลุ่มในมหาวิทยาลัย พ่อก็ไปที่นั่นเพื่อถวายมิสซา มีการศึกษาพระคัมภีร์บ้าง มีงานเข้าเงียบ ยังเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสังคม คล้ายๆ กับว่านักศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงบทบาทของนักศึกษาต่อสังคม

แต่แล้ว ๑๔ ตุลา เป็นหมุดหมายของประวัติศาสตร์ ตอนนั้นเป็นรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร ขณะนั้นเริ่มก่อตั้งกลุ่มศูนย์นักศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้นมา ศูนย์นักศึกษาก็เริ่มทดลองว่าจะทำอะไรได้บ้าง

ตอนนั้นมีกรณี ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันต์ เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง สอน ๒ แห่ง ซึ่งเป็นการผิด คือเป็นกรณีที่นักศึกษาทดลองว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง เขาเดินขบวนจาก ม.รามคำแหง ไป ม.ธรรมศาสตร์ ประท้วงว่าตำแหน่งอาจารย์จะทำเต็มเวลาทั้งสองแห่งไม่ได้ เป็นการคอร์รัปชัน ต้องเลือกที่ใดที่หนึ่ง ก็ปรากฏว่าสำเร็จ หลังจากนั้นนักศึกษาเริ่มเดินขบวนต่อต้านป้ายโฆษณาภาษาอังกฤษให้มีตัวหนังสือที่เล็กกว่าภาษาไทย ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเขาแสดงถึงความรักชาติ หลังจากนั้นก็เป็นประเด็นที่เฮลิคอปเตอร์ตกเพราะไปล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวร แต่รัฐบาลบอกว่าคอมมิวนิสต์ยิง มีคนตาย ปรากฏว่าพอคนไปสำรวจ เจอขวดเหล้า นักศึกษาก็ไปกระจายข่าว ทำให้รัฐบาลขายหน้า

ช่วงนั้นเริ่มที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เขามารวมกันเพื่อเรียกร้องอิสรภาพ เรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา ๑๓ คนที่ถูกจับ แล้วเริ่มพูดคุยกันมากขึ้น สุดท้ายก็บอกว่าต้องไล่รัฐบาล เรียกร้องให้มันดีขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ยอม สุดท้ายผู้นำก็ต้องลาออกแล้วไปต่างประเทศ ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ ๙ เข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ทุกคนยอมรับ ก็เป็นประชาธิปไตยเป็นเวลา ๓ ปี

นักศึกษาคาทอลิกเริ่มมีความร้อนรนมากยิ่งขึ้น เขาจึงเรียกประชุมนักศึกษาคาทอลิกจากประมาณ ๑๓ สถาบัน มาประชุมกันที่บ้านเซเวียร์ อนุสาวรีย์ชัยฯ ช่วงนั้นเยาวชนเริ่มสนใจเรื่องสังคมมากยิ่งขึ้น เป็นช่วง ๓ ปีที่ค่ายพัฒนาได้รับความสนใจมากขึ้น ค่ายพัฒนามีมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ (ค.ศ.๑๙๖๗) เป็นค่ายพัฒนาที่สองในประเทศไทย ค่ายแรกเป็นของคริสเตียนที่สะพานหัวช้าง เราเรียนรู้จากเขาช่วง ๑ ปีแรก ตอนนั้นพ่อยังไม่ทันเหตุการณ์ ยังไม่ค่อยรู้ว่าต้องทำอะไร แต่คำถามที่นักศึกษาถาม คือ พระศาสนจักรมีบทบาทอะไรในสังคม นอกจากสวดภาวนาอยู่ในวัดแล้วทำอะไรเพื่อสังคม สำหรับพ่อก็ได้อ่านหนังสือเทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย (Liberation Theology [๔]) บ้างเล็กน้อย เริ่มจัดสัมมนาสอนว่าพระศาสนจักรมีคำสอนที่น่าสนใจ ก็เริ่มตอบคำถามนักศึกษาได้บ้าง เขาก็โอเคว่าพระศาสนจักรก็มีบทบาทที่มีความหมาย เขาจึงไม่ทิ้งศาสนา ก็ทำงานร่วมกัน

ในช่วงเวลาแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย ๓ ปีนั้น (๒๕๑๖-๒๕๑๙) เริ่มมีกระบวนการลูกเสือชาวบ้านเป็นหูเป็นตา มีตำรวจตระเวนชายแดน และมีการอบรมนักศึกษาตามจิตตารมณ์คาทอลิก และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เวียดนามแตก เวียดนาม ลาว เขมร ก็ล้มเป็นโดมิโน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลา ซึ่งเขาห้ามรวมตัวเกิน ๕ คน ตอนนั้นเราจึงจัดแข่งขันปิงปองเพราะเล่นปิงปองไม่มีปัญหา ไม่ผิดกฎหมาย แต่เรามีประชุมพูดคุยกัน ตอนนั้นนักศึกษามีจิตสำนึกแล้ว สมัยนั้นเป็นช่วงที่สำนึกถึงบทบาทของคาทอลิกต่อสังคม เขารู้แล้วและมีความมั่นใจแล้ว เราจึงมีบทบาทพระศาสนจักรต่อสังคม ผู้นำนักศึกษาเหล่านั้นหลายๆ คนยังเป็นผู้ที่มีบทบาทในสังคมปัจจุบัน พ่อทำงานอยู่กับนักศึกษาประมาณ ๑๗ ปีที่กรุงเทพฯ จริงๆ พ่อไม่มีลักษณะพิเศษ เพียงแต่ว่าเป็นเพื่อนกับเขา อยู่กับเขา ฟังเขา ช่วยอบรมช่วงที่เขาอยากมีสัมมนา อบรมผู้นำ ค่ายพัฒนาที่มีประมาณ ๑๔ สถาบัน และมีมิสซาในที่ต่างๆ

หลังจากนั้นหลายปีถัดมา ก็มีจิตตาธิการคนใหม่มา ซึ่งมีแนวคิดอีกแบบหนึ่ง งานของศูนย์นิสิตนักศึกษาคาทอลิกจึงเปลี่ยนไป ประกอบกับระบบการศึกษาใหม่ที่เขาให้นักเรียนสามารถมีการแข่งขันมากขึ้น คนที่จบปริญญาตรีหางานยากกว่าคนจบปริญญาโท ได้เงินเดือนน้อยกว่า คนจึงต้องการปริญญาโท ต้องการเรียนซัมเมอร์ ต้องแข่งให้จบเร็วๆ นักศึกษาจึงไม่มีเวลา สมัยพ่อเป็นจิตตาธิการ ตอนนั้นมหาวิทยาลัยไม่มีซัมเมอร์ เรามีเวลาจัดเข้าเงียบ สัมมนา ค่ายพัฒนาไม่ต่ำกว่า ๓-๔ อาทิตย์ เดี๋ยวนี้ ๕ วันก็ถือว่ามากแล้ว เพราะนักศึกษาไม่มีเวลา

 

ถ้าย้อนไปถึงบรรยากาศ คนหนุ่มสาวเขามีความคิดเบ่งบาน ความคิดที่หัวก้าวหน้า คุณพ่อเองขณะนั้นเป็นจิตตาธิการ มองเห็นอะไรในตัวเยาวชนในรุ่นนั้นที่คุณพ่อประทับใจและมองว่าเป็นอนาคตของสังคม

คือเขาสอนพ่อด้วย ไม่ใช่ว่าพ่อเป็นคนให้ เขาให้ เขามีสำนึกเพื่อสังคม พ่อเองก็เรียนรู้จากเขามาก เรามีความเป็นเพื่อน ทำอะไรสารพัดด้วยกัน ทุกครั้งที่มีค่ายฯ มีสัมมนา เราก็มีการประเมินผล มาวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมา ก็ทำให้เขารู้สึกกล้าที่จะแสดงความคิดเห็น กล้าทดลอง มีความคิด เราทำงานร่วมกัน เรื่องสังคมตอนนั้นพ่อก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง เราเป็นพี่น้องกัน พ่อเองก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากเขา

เราจัดสัมมนาก็เริ่มมีการวิเคราะห์ระบบสังคม (Social Analysis) ว่าทำไมจึงมีความต่างกัน สินค้าส่งออกของประเทศเป็นอะไร คนที่ผลิตสินค้าพวกนี้ได้รับผลตอบแทนอย่างไร และทำไมไม่ยุติธรรม ทำไมยากจน มีคำถามสารพัด ซึ่งเราก็จัดสัมมนาระดับเอเชียอาคเนย์ โดยเราเป็นส่วนหนึ่งของ International Movement of Catholic Students (IMCS) ซึ่งเขาค่อนข้างเน้นเพื่อสังคมมากๆ อย่างสัมมนาทุกครั้งมักจะปลุกกระตุ้นให้เกิดความสำนึกต่อสังคม โดยมีระบบคือ ต้องทำ Social Analysis แล้วศึกษาคำสอนพระศาสนจักรด้านสังคม

ตอนแรกพ่อก็ไม่รู้เรื่องอะไร มีการจัดอบรมให้จิตตาธิการระดับเอเชียอาคเนย์ ทุกคนช่วยกัน ไม่มีใครเป็นผู้นำ ทุกคนคือผู้นำ ก็เรียนรู้ด้วยกัน ซึ่งเรื่อง Social Analysis นี้เป็นเรื่องที่พ่อไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้เราเห็นภาพชัด ว่าการทำงานเพื่อสังคม ไม่ใช่ว่าทำงานเพื่อคนจนอย่างเดียว ต้องเปลี่ยนระบบ ต้องเข้าใจระบบว่า มันมีฟังก์ชัน (Function) อย่างไร เกิดอะไรขึ้น อะไรเป็นกลไกทำให้ระบบนี้ยังคงอยู่ ต้องเปลี่ยนอย่างไร

พ่อประทับใจเยาวชน ประทับใจความเสียสละ ความสามารถ ในการสละตน พ่อจำได้เวลาไปค่ายฯ เราสร้างโรงเรียน เยาวชนก็สร้างโรงเรียนได้ คือเขาเองก็มีความคิดด้านสถาปนิก เขาปรึกษา วางแผน ทุกคนตอกตะปูเป็น สร้างโรงเรียนเป็น พ่องง สร้างสะพานได้ พ่อรู้สึกประทับใจ เขาเตรียมการดีมาก เขาปรึกษากับรุ่นพี่ที่รู้และวางแผน หาทุน แล้วก็ไปทำงาน เวลาที่ไปหมู่บ้านต่างๆ มักจะนอนที่โรงเรียน ไม่มีมุ้ง อาบน้ำที่ลำธารใกล้ๆ บางทีน้ำดื่มก็มาจากแม่น้ำ เรามีชีวิตแบบชาวบ้านธรรมดา ชาวบ้านก็ต้อนรับเราดีมาก ค่ายฯ เสร็จก็มีพิธีรับขวัญผูกเสี่ยว เรารู้สึกเป็นพี่น้องกัน ประทับใจมาก นักศึกษาส่วนใหญ่ก็เป็นคนในเมือง แต่ไม่มีใครบ่น ต้องนอนกับพื้น ไม่มีฟูก อาบน้ำที่แม่น้ำ ทำอาหารง่ายๆ หลายคนกลับมากลายเป็นคนละคน เปิดตาเห็นนิมิตใหม่

 

เห็นว่ามีนักศึกษาเยาวชนหลายคนที่ไปค่ายแล้วเหมือนเปิดดวงตาให้เขาเห็นสังคมในวงกว้าง เห็นความอยุติธรรมในสังคมต่างๆ

ใช่ ถูกต้อง จนบัดนี้ ค่ายพัฒนาบ้านเซเวียร์เป็นโครงการที่ยังคงอยู่ และมีคนชอบมากที่สุด และเปิดรับคนทุกศาสนา ทุกคนยอมรับกันและกัน คนต่างศาสนาเข้ามาที่นี่ เป็นพี่เป็นน้องกัน ยังทำอยู่จนปัจจุบัน

พ่อคิดว่าเคล็ดลับตามสมการสำหรับผู้ใหญ่คือ การวางตัวเป็นเพื่อน มีหลายครั้งที่มีคนมาพบ "สวัสดีพ่อ จำได้ไหม เราเคยออกค่ายด้วยกัน สัมมนาด้วยกัน" บางคนทำไม่ได้นะ กับคนเป็นพระ แล้วพ่อก็จำบางคนได้ หลายคนพูดว่า ชอบที่พ่อเป็นเหมือนเพื่อน ทำตัวสบายกับทุกคน ไม่ได้วางตัวพิเศษกว่าทุกคน พ่อชอบมาก ที่พูดอย่างนี้ พ่อรู้สึกว่าใช่เลย นักศึกษาต้องการแบบนี้ ผู้ที่ทำงานกับนักศึกษาจะต้องให้เกียรติเขา วางตัวให้เข้ากับเขา ขณะเดียวกันก็คุยกันรู้เรื่อง คุยกันได้ ไม่ใช่ว่า สั่ง กำหนด บังคับ ขู่ ต้องเป็นเพื่อนกับเขา และพ่อประทับใจที่เขาดูแลพ่อด้วย (หัวเราะ) คือว่า เขาทราบว่าพ่อชอบดื่มกาแฟ ถ้าไม่มีกาแฟรู้สึกอาหารเช้าไม่อร่อยก็จะมีนักศึกษาคอยเตรียมกาแฟให้เสมอ ทุกครั้งที่ไปสัมมนา ไปค่ายฯ พ่อก็ "ขอบคุณมาก" พ่อรู้สึกดีใจ ที่พ่อจำได้คือ ความเป็นกันเอง ขณะเดียวกัน ความไว้ใจกัน การช่วยกัน เป็นภาพที่ประทับใจ และแม้นักศึกษาเหล่านี้จะจบไปแล้ว พวกเขาก็จะมาบ้านเซเวียร์ เวลาเราเรียกมาประชุมในวันหยุด ที่เรายังสนิทเหมือนเดิม

 

จากที่คุณพ่อผ่านเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และ ๖ ตุลา มาแล้ว คุณพ่อมองว่าอะไรเป็นจุดที่เหมือนกันและต่างกันของเยาวชนยุคนั้นกับยุคนี้

คิดว่านักศึกษาสมัยนั้นเหมือนกับสมัยนี้ มีอุดมการณ์ เด็กกล้าคิดนอกกรอบ ทั้งสองยุค กล้าเรียกร้องรัฐบาลให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนทั่วไป และรัฐบาลไม่ได้คิด ไม่กล้าคิด แต่เด็กฉลาด กล้า และทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ สมัย ๖ ตุลา มีการประณามนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ตอนนั้นหลัง ๖ ตุลา มีนักศึกษาที่หนีไปลาว เข้าป่า เมื่อไปเจรจากับคอมมิวนิสต์ พวกม้งแดง เขาบอกว่า เขาต้องการแค่ทุ่งนา บ้านที่ปลอดภัย แค่นี้ แค่รัฐบาลให้ที่อยู่ คอมมิวนิสต์ก็มอบอาวุธทั้งหมดด้วยความไว้วางใจรัฐบาล ก็ไม่มีคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยแล้ว

ที่ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ตอนนั้นก็ยังมีคอมมิวนิสต์อยู่ ทั้งสองฝ่ายสู้กัน ไม่มีการคุยกันเลย แต่ประเทศไทยฉลาด มีการเจรจากันอันนี้เป็นปรีชาญาณของคนไทยที่รู้จักประนีประนอม และรับฟัง กอ.รมน. [๕] ปราบคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จโดยไม่ใช้อาวุธ ใช้การฟัง การเจรจา ให้สิ่งที่เขาขอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยุติธรรม แล้วเขา เลิกใช้ความรุนแรง นี่เป็นวิธีการ  ก็เช่นเดียวกันกับขณะนี้ ถ้าคุณส่งตำรวจไปก็จะมีปัญหา อาจจะมีความขัดแย้งมากขึ้น จะมีความเกลียดชัง ความแค้นมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา วิธีการแก้ปัญหาน่าจะเรียกนักศึกษามาคุยมาถามดู และประนีประนอมทั้งสองฝ่าย

 

คือไม่ใช่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้ทั้งหมด ต้องมีคนเสียบ้าง

ใช่ ถูกต้อง ต้องมีการประนีประนอม ความจริงเรื่องนี้คนไทยเก่ง ในประวัติศาสตร์ แต่ว่าเวลายึดจุดหนึ่งจะต้องเป็นแบบที่ฉันต้องการ ไม่ได้ รัฐบาลทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องมีการประนีประนอม ต้องมีไดอะล็อก มีการเสวนา

 

เรื่องการรับฟัง มีผู้กล่าวว่า "เด็กจะรับฟังเราได้ เราต้องเริ่มรับฟังเขาอย่างจริงใจก่อน"

ถูกต้องๆ นี่เป็นหลักจิตวิทยาที่ถูกต้อง มันต้องฟังทั้งสองฝ่าย ถ้าเราไม่ยอมฟังเด็กก่อน เขาจะไม่ฟังเราแน่

 

คุณพ่อมองปรากฏการณ์ที่เยาวชนยุคนี้ที่เขามีความคิดความอ่าน เขาได้อ่านได้เห็นข้อมูลมากมายในโลกโซเชียล แล้วเขาออกมาชุมนุมกันอย่างไร

พ่อห่างจากนักศึกษามานาน ก็รู้จากข่าว ตอนนี้ข่าวที่อ่านก็ต้องตั้งคำถามว่า ใครที่ออกข่าวนี้ มีอิสรภาพในการแสดงความเห็นไหม พ่อก็รู้สึกว่า นักศึกษาไม่มีเวทีในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เขาคิดว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้ไม่ค่อยสนับสนุนประชาธิปไตยเท่าไหร่ ดูจากรัฐธรรมนูญ การเลือกนายกฯ เป็นต้น ถ้าเป็นแบบนี้แล้วก็ไม่แปลกที่จะมีคนเริ่มกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ว่ามันไม่ใช่สังคมที่เขาต้องการ น่าจะฟังเขา นักศึกษาปัจจุบันฉลาด หาข้อมูลได้เยอะ ดังนั้นข้อมูลที่ไม่ได้เรียนในห้องเรียน เรื่องประวัติศาสตร์ เรื่องการมองสังคม เป็นต้น ก็ได้ข้อมูลที่ต่างจากอาจารย์สอนมา เพราะฉะนั้น นักศึกษาเขาฉลาด มีบางคนพูดว่า นักศึกษาเป็นเครื่องมือของนักการเมือง พ่อคิดว่านักศึกษาฉลาดกว่าที่เขาคิด

พ่อไม่ค่อยชอบเวลามีเฮทสปีช [๖] นักศึกษาเองก็น่าจะรอบคอบนิดหนึ่ง ฝ่ายรัฐบาลเองก็เช่นเดียวกัน  ไม่ใช่ว่าพ่อจะเห็นด้วยกับนักศึกษาทุกอย่าง พ่อคิดว่านักศึกษามีบางอย่างที่น่าฟัง เป็นเหมือนประกาศกที่มองล่วงหน้าสิ่งที่คนในปัจจุบันไม่มอง นักศึกษาคิดนอกกรอบ เขากล้าพูด ผู้ใหญ่น่าจะฟังเขา เพราะฉะนั้นควรต้องมีสะพานในการเจรจา

 

คุณพ่อคิดว่าอะไรจะเป็นจุดร่วมกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็กได้ ว่ามีสิ่งดีร่วมกันอยู่ แล้วเราสามารถเดินไปในทางนั้นได้

ถ้ารัฐบาลคิดว่านักศึกษาเกลียดชาติ ถ้าเริ่มต้นแบบนี้ไม่มีทางออก คุณสร้างศัตรูขึ้นมา ก็ต้องพูดคุยกันสิ ทั้งสองฝ่าย แต่ว่ารัฐบาลต้องเป็นคนที่เสียเปรียบโดยเบื้องต้นมากกว่าด้วยซ้ำ

 

คุณพ่อมองว่ามีความหวังไหม ที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองจะเปิดใจ ยอมรับฟัง

ขณะนี้พ่อรู้สึกว่าเหมือนอยู่ในคืนมืด คือพ่อรู้สึกว่าตัวเองเจ็บ (Suffer) เพราะว่าพ่อรักประเทศไทย อยู่ในประเทศไทย ๕๐ กว่าปี

 

แล้วผู้ใหญ่อย่างเรา เราจะทำอะไรเพื่อลูกหลานของเราได้บ้าง

ก็อยากบอกให้นักศึกษารอบคอบ ใจเย็น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นก็ต้องค่อยๆ ไป อย่ารีบ อย่าเรียกร้องมากเกินไป ค่อยๆ ลดความคาดหวัง เริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน แต่ว่าในขณะเดียวกันก็อย่าท้อแท้ ให้เปิดหูเปิดตา ยังไงก็ไม่มีทางอื่นนอกจากการเจรจากัน

 

คุณพ่อคิดว่าสิ่งที่คริสตชนและคนไทยทั้งหลายจะทำได้ในห้วงเวลานี้

สิ่งแรกจะต้องฟัง เข้าใจสถานการณ์ ซึ่งยากเพราะว่ามีสื่อมากมาย มีข่าว มีเฟคนิวส์ (Fake News)มากมาย มีการปล่อยข่าวต่างๆ ซึ่งอาจสร้างความวุ่นวายสับสนมากขึ้นก็ได้ ต้องพูดคุยด้วยใจกว้าง อีกอย่างคือ คริสตชนจะแยกตัวออกจากสังคมไม่ได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราก็ต้องร่วมมือกับทุกคนที่มีน้ำใจดี คุย เจรจา หาทางคืนสันติภาพ สันติภาพไม่ใช่ว่ายอมทุกอย่าง สันติภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม ถ้าไม่มีความยุติธรรม ถ้าไม่มีประชาธิปไตย ถ้าไม่มีการเคารพกันและกัน ถ้าไม่มีการเคารพสิทธิของทุกคนรวมทั้งเด็กและเยาวชน จะไม่เกิดสันติภาพ เป็นเพียงสันติภาพปลอม เป็นสันติภาพที่ใช้กำลังกดดัน ไม่ใช่สันติภาพที่เป็นการอยู่ด้วยกันฉันพี่น้อง คริสตชนควรจะสนใจสถานการณ์นี้ อย่างน้อยก็สวดภาวนาเพื่อให้สังคมได้หาทางก้าวหน้าอย่างสันติ ยุติธรรม และสร้างสรรค์ร่วมกัน

ถ้าดูพระวรสาร ก็เห็นว่าพระเยซูปกป้องเด็ก ปกป้องสิทธิของเด็ก รักเด็ก บอกว่าคนที่ทำตัวเป็นเด็กจะได้เข้าอาณาจักรสวรรค์ คือเหล่าคริสตชนก็ต้องวินิจฉัยตามน้ำพระทัยพระเจ้า ในสถานการณ์นี้เราควรทำอะไรด้วยใจที่รอบคอบและเมตตา อาจจะต้องสร้างหนทางเดินด้วยกัน อย่างเป็นมิตร ทุกฝ่ายจะต้องเดินด้วยกัน และค่อยๆ พบหนทางใหม่ที่เป็น

 


[๑] คุณพ่อมิเกล กาไรซาบาล, S.J. นักบวชคณะเยสุอิตชาวสเปน วัย ๗๘ ปี ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมานานกว่า ๕๐ ปีแล้ว ปัจจุบันคุณพ่อเป็นอาจารย์พิเศษวิทยาลัยแสงธรรม เป็นที่ปรึกษาชีวิตด้านจิตใจ ให้การอบรมแก่เณรที่วิทยาลัยแสงธรรม และคุณพ่อยังเป็นวิทยากรการฝึกด้านชีวิตจิตให้แก่คริสตชนที่ให้ความสำคัญกับชีวิตด้านจิตใจ

[๒] ปัจจุบัน คือ ศูนย์ประสานงานนิสิตนักศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย

[๓] การฝึกปฏิบัติจิต (Spiritual Exercises) หมายถึง การตระเตรียมและกำหนดจิตให้หลุดพ้นจากพันธนาการทั้งปวง เพื่อช่วยให้จิตนั้นแสวงหาและพบพระประสงค์ของพระเจ้า และมีความสุขในการดำเนินชีวิตตามพระประสงค์นั้น

[๔] หนังสือเทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย  มาจาก บาดหลวง Gustavo Gutierrez และเป็นนักเทวศาสตร์ชาวเปรูได้เป็นผู้จุดประกายแนวความคิดด้านเทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อยโดยการตีพิมพ์หนังสือชื่อ "Teologia de la liberacion (A Theology of Liberation - เทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย) ขึ้นเมื่อปี ค.ศ.๑๙๗๑ แนวความคิดนี้เชื่อมั่นว่าพระเจ้าทรงตรัสผ่านบรรดาคนยากจนเป็นกรณีพิเศษ และเชื่อมั่นว่ามนุษย์เรานี้จะสามารถเข้าใจในพระคัมภีร์ไบ-เบิ้ลได้อย่างถ่องแท้ก็ต่อเมื่อพวกเรามองพระคัมภีร์ผ่านมุมมองของคนยากจน โดยในขณะที่พระเยซูเจ้าทรงออกเทศนาสั่งสอนนั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ท่ามกลางคนยากจน พระองค์ทรงถือความยากจนและความสมถะ และไม่ทรงยอมก้มหัวให้กับบรรดาเศรษฐี, พวกฟารีสี และบรรดาผู้มีอำนาจทางการเมือง จนถูกพวกเขาเหล่านั้นจับพระองค์ไปทำการตรึงกางเขน

อ้างอิง จาก http://www.newmana.com/phpbb/viewtopic.php?f=2&t=16744

[๕] กอ.รมน. ย่อมาจาก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

[๖] Hate Speech คำพูดสร้างความเกลียดชัง


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >