หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 80 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


อำนาจนิยมในสังคมไทย กับคนรุ่นใหม่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ในมุมมองของ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร พิมพ์
Tuesday, 12 January 2021

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑๑๔ ก.ย. - ธ.ค. ๒๕๖๓


อำนาจนิยมในสังคมไทย
กับคนรุ่นใหม่ในยุคเปลี่ยนผ่าน
ในมุมมองของ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร 

วรพจน์ สิงหา สัมภาษณ์


 
ปรากฏการณ์การออกมาชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีหลายฝ่ายเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของพวกเขา แต่ทุกฝ่ายล้วนเห็นตรงกันว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้แตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทย ทั้งรุ่นวัยของผู้เข้าร่วม รูปแบบ วิธีการ และข้อเสนอของการชุมนุม

หนึ่งอาทิตย์ก่อนหน้าการชุมนุมของคนรุ่นใหม่จะขยายตัวออกไป มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นอำนาจนิยมในสังคมไทยและคาบเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่กำลังเคลื่อนไหว โดยอาจารย์ยุกติ มีมุมมองความคิดเห็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในหลายประเด็น ทั้งในฐานะครูอาจารย์ นักวิชาการ และผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มองปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ด้วยความเข้าใจและเปิดกว้างอย่างแท้จริง ซึ่งหลายความคิดสามารถนำมาไตร่ตรอง เพื่อสร้างพื้นที่ให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยในปัจจุบัน

  Image

อำนาจนิยมในสังคมไทย

ในความรับรู้ของคนไทยโดยทั่วไป เราอาจจะคิดว่าปัจจุบันระบบอำนาจนิยมได้สูญหายหรือเจือจางลงไป ซึ่งอาจารย์ยุกติอธิบายว่า ในความเป็นจริงอำนาจนิยมไม่ได้สูญหายไปไหน แต่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดมา ทั้งในระบบการเมือง สถานศึกษา หน่วยงานองค์กร และในครอบครัวของเราแต่ละคน

อาจารย์ยุกติสรุปนิยามความหมายของ ‘อำนาจนิยม' ไว้ว่า ๑.เป็นระบบที่รวมศูนย์อำนาจ รวบอำนาจการปกครอง รวบอำนาจการบริหารการจัดการ หรือการกำหนดทิศทางของชีวิตผู้คนไว้  ๒.มีการปิดกั้นการเข้าถึงอำนาจ จำกัดกลุ่มคนผู้มีอำนาจ อยู่แต่เฉพาะคณะบุคคล ครอบครัว หรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ใจกลางอำนาจ และ ๓.มีลักษณะของการปิดกั้นการตรวจสอบ ตรวจสอบไม่ได้ และไม่สามารถตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้

"ขณะที่ในสังคมสมัยใหม่ที่เราพูดถึง คืออยากให้คนหลายๆ คนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตนเอง หรือกำหนดทิศทางชีวิตของตนเอง ซึ่งระบบอำนาจนิยมจะเป็นในลักษณะตรงกันข้าม คือไม่ให้มีการมีส่วนร่วม ปิดกั้นการเข้าถึงอำนาจ รวมศูนย์อำนาจ ไม่ชอบการท้าทายอำนาจ หรือการแสดงความคิดความเห็น สิ่งเหล่านี้เราจะเห็นว่าอยู่ในสังคมไทยอย่างที่ซ้อนทับกับระบบอำนาจแบบใหม่ที่ เราอยากให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น สามารถตรวจสอบได้ สามารถเปลี่ยนบุคคลที่มีอำนาจได้"

อาจารย์ยุกติอธิบายว่าในสังคมไทย อำนาจนิยมสอดแทรกอยู่ในสถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สถานที่ทำงาน สถาบันการศึกษา และสถาบันทางการเมือง โดยทั้งหมดสอดประสานกันในการค้ำจุนระบบอำนาจนิยมไว้ "ตั้งแต่เกิดมา อยู่ในครอบครัว เด็กจะถูกสอนให้เคารพผู้ใหญ่ ใช้ระบบอาวุโส ผู้ใหญ่ผู้น้อย หรือใช้คำว่าพ่อแม่ผู้ปกครอง พี่น้อง รุ่นพี่รุ่นน้อง ตัวแบบลักษณะนี้ก็ส่งผ่านมาในระบบโรงเรียน ระบบโรงเรียนก็ใช้ตัวแบบในลักษณะระบบอาวุโส ครูอาจารย์ ลูกศิษย์ รุ่นพี่รุ่นน้อง และนำอุดมการณ์ที่พูดถึงเรื่องของความเป็นครู มีการไหว้ครู ซึ่งเป็นระบบของครูในยุคจารีต จริงๆ ครูในแบบยุคจารีต ความเป็นครูคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์"

"เราจะเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่สืบทอดกันมา คือการที่คนไม่สามารถท้าทาย โต้เถียง หรือเปลี่ยนแปลงความรู้ต่างๆ เหล่านั้นได้ และถูกนำไปยึดโยงกับอุดมการณ์อำนาจนิยมแบบเก่า คืออุดมคติเรื่องครู เป็นเรื่องอันตรายมาก ยิ่งในยุคสมัยที่เราต้องการความก้าวหน้าทางสติปัญญา สิ่งที่มาขัดแย้งคือเราจะเห็นอุดมการณ์ทางการศึกษาที่ยึดโยงกับอำนาจนิยม ปิดกั้นการท้าทาย ปิดกั้นการตั้งคำถาม ปิดกั้นการตรวจสอบ ถึงที่สุดคือการปิดกั้นการเรียนรู้ ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์"

อาจารย์ยุกติอธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า "สังคมไทยปลูกฝังให้คนอยู่กับระบบอำนาจนิยมมายาวนาน ทำให้สังคมเดินหน้าไปได้ช้า โดยเป็นระบบที่ปิดกั้นการเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์"

 

"กลุ่มคนแห่งยุคสมัย"

ถกเถียง ตั้งคำถาม การมีส่วนร่วม

หลายปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมากได้ออกมาตั้ง ‘คำถาม' กับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ซึ่งอาจารย์ยุกติบอกว่า "เยาวชนเป็นกลุ่มคนของยุคสมัย" สิ่งที่น่าสนใจคือสังคมต้องเกิดวิกฤติที่สำคัญแล้ว ถึงขนาดที่คนรุ่นใหม่ที่ควรจะอยู่อย่างสุขสบาย แต่พวกเขากลับต้องออกมาเรียกร้องในประเด็นต่างๆ ในสังคม

"แสดงว่าสังคมเกิดวิกฤติขนาดที่ทำให้พวกเขาต้องลุกขึ้นมาพูด ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็น ขณะที่ในเงื่อนไขอย่างสังคมไทยที่เราอยู่ ยังคงเป็นระบอบอำนาจนิยม เรามีการปลูกฝังทัศนคติเรื่องต่างๆ เช่น การเคารพผู้ใหญ่ หรือยอมรับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะในระดับไหน ตั้งแต่ในครอบครัวจนถึงระดับรัฐ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ห้ามถาม ห้ามสงสัย แต่เมื่อเกิดความสงสัยขึ้นมา ถ้าวิกฤติไม่เกิดในตัวของพวกเขาเอง วิกฤติก็ต้องมาจากผู้มีอำนาจเองด้วย"

อาจารย์ยุกติระบุว่า "วิกฤติตรงนี้ ผมคิดว่าสังคมไทยทั้งสังคมต้องมาช่วยกันคิด ช่วยเยียวยาแล้วว่า ถ้าจะอยู่กันแบบนี้ไปเรื่อยๆ คงลากไปไม่ได้ คือเกิดปัญหาจนกระทั่งคนที่ควรจะอยู่อย่างสุขสบาย กลับต้องลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสังคมว่านี่คืออะไร เกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง"

"มีคลิปนักศึกษาคนหนึ่งถามคำถามว่า คืออะไรกัน สอนอย่างแต่ทำอย่าง ทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่ควรเป็น เขาก็มีคำถามมาเรื่อยๆ มีคำถามมากขึ้นๆ ใช่ ที่เขาไม่ได้รู้ทุกอย่าง แต่ประเด็นคือเขาจะตั้งคำถามกับทุกอย่าง แล้วคนที่เป็นผู้ใหญ่เอง หรือคนที่เติบโตมาแล้ว คุณกล้าที่จะตอบทุกคำถามของเขาหรือไม่ และตอบแค่ไหน การที่เขาลุกขึ้นมาถามอะไรต่างๆ คือพื้นฐานของสังคมขยับไปแล้ว แต่ระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ ยังเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เอาไว้"

 

คำถามใหม่กับระบบเก่า

อาจารย์ยุกติตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยเวลาจัดการความขัดแย้งส่วนใหญ่ มักจะใช้ความรุนแรง และส่งผ่านการใช้ความรุนแรงไปเรื่อยๆ ทั้งในระดับครอบครัว สถานที่ทำงาน และสถาบันทางการเมือง "ผมคิดว่าสังคมโดยรวมทั้งหมด ผู้มีอำนาจในสังคมพยายามที่จะยื้อหรือเหนี่ยวรั้งให้ระบอบอำนาจนิยมคงอยู่ต่างหาก จึงพยายามบอกว่าในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ยังต้องใช้ระบอบอำนาจนิยม และปลูกฝังให้คนยอมรับอำนาจต่อไป"

"ผมคิดว่าเราต้องสอนผู้ใหญ่ เมื่อมีอำนาจ ควรรับฟัง เคารพความคิดเห็นของคนอื่น ยอมให้มีส่วนร่วมในอำนาจบ้าง ยอมให้ถูกตรวจสอบ พร้อมที่จะยอมเมื่อถึงเวลา สังคมไทยขาดการให้การศึกษากับผู้ใหญ่ เรื่องของการยอมรับอำนาจของคนที่ด้อยกว่า"

อาจารย์ยุกติเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ เป็นครูอาจารย์ที่เปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ซึ่งคงต้องยอมรับว่าในสังคมไทย ไม่ใช่ผู้ใหญ่ทุกคน หรือผู้มีอำนาจทุกฝ่ายจะใจกว้างหรือพร้อมที่จะยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งอาจารย์ยุกติบอกไว้ว่า "เมื่อใดก็ตามที่คนมีอำนาจอยู่ เมื่อมีการท้าทายเกิดขึ้น มักจะบอกว่าคุณยังไม่พร้อม มันเร็วเกินไป"

"คำถามของผมคือว่าใครกันแน่ที่ไม่พร้อม ประชาชนไม่พร้อม นักเรียนนักศึกษาไม่พร้อม หรือผู้ใหญ่ต่างหากที่ไม่พร้อม คือไม่พร้อมรับฟัง ไม่พร้อมที่จะเปิดกว้าง ไม่พร้อมที่จะยอมรับว่าสังคมต้องก้าวไปด้วยกัน ผู้ใหญ่มักจะบอกว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน มีประสบการณ์มาก่อน มีความรู้มากมาย แต่ผู้ใหญ่จะอยู่อย่างไรกับคำถามใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปทุกวัน"

"คำถามกลับกันคือ ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจรู้หรือไม่ว่าการที่กระจายอำนาจไปแล้ว ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างในระบอบเดิม หรือวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ พังทลายลงไป เขารู้หรือไม่ว่ามีหลายสังคมที่สามารถอยู่ได้ในแบบที่มีความคิดเสรี เท่าเทียม สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ให้กับความคิด ความเชื่อ ทั้งในเชิงศาสนาหรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ผมคิดว่าทั้งสังคมต้องได้รับการศึกษาในเรื่องพวกนี้"

"ผมคิดว่าสามารถทำได้ ถ้าเรารู้จักที่จะใช้ฐานทางประเพณี ไปพร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ หรือพ่อแม่ผู้ปกครอง คนที่เกิดก่อน อาวุโสกว่า ก็เคารพคนรุ่นใหม่ได้ เคารพความคิดเห็นของพวกเขา สังคมสร้างความสัมพันธ์ในแบบที่ทำให้ทุกคนต้องยอมรับฟังกัน ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน และสังคมจะก้าวไปด้วยกัน"

อาจารย์ยุกติบอกว่า "ทุกวันนี้ นักเรียนนักศึกษาออกมาตั้งคำถามเรื่องต่างๆ กลับกลายเป็นว่ามีผู้ใหญ่บางกลุ่มรู้สึกว่านี่เป็นคำถามที่ทำให้สังคมวุ่นวาย สร้างความวุ่นวาย แต่อย่างไรก็ตาม ผมเห็นกระแสสังคมเปิดกว้างมากขึ้น เรามีสื่อที่ยอมให้นักศึกษามาตั้งคำถามเรื่องต่างๆ กระทั่งตอนนี้สังคมไทยมีคำถามเต็มไปหมด ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกัน เราต้องพยายามทำให้สังคมมันเปิด ให้เขารู้สึกได้ว่าการตั้งคำถามของพวกเขา ทำให้สังคมดีขึ้น คำถามของเขาไม่ได้ทำให้สังคมเลวร้ายลง"

สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน อาจารย์ยุกติกล่าวว่าทั้งสองฝ่ายต้องอดทนอดกลั้น ต้องยอมรับความแตกต่างให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจ ต้องอดทนอดกลั้นมากกว่าคนรุ่นใหม่

"ขณะนี้ระบอบอำนาจนิยมถูกท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ การท้าทายของบรรดานักเรียนนักศึกษา การรวมตัวเป็นส่วนหนึ่งที่ผู้มีอำนาจอาจจะกลัว ผมคิดว่าระบบอำนาจนิยมต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงแน่นอน ผมก็หวังว่าจะลดน้อยลง หรือว่าค่อยๆ หมดพลังไปในที่สุด ถึงที่สุดแล้ว ระบบอำนาจนิยมจะค่อยๆ ผ่อนคลายตัวเองลงไป ครอบครัว พ่อแม่ มีลักษณะที่รับฟังมากขึ้น หรือในสถาบันการศึกษา ก็มีลักษณะที่เปิดกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผมหวังว่าจะไปจนถึงระดับการเมือง ระดับรัฐที่สามารถเปิดกว้างมากขึ้นและรับฟังประชาชนมากขึ้น"

 

การจัดการความขัดแย้ง

วุฒิภาวะของ "สังคมไทย"

หลังกลับจากสัมภาษณ์อาจารย์ยุกติเพียงไม่กี่วัน เกิดการปะทะกันของเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม และหลังจากนั้นได้เกิดการปะทะกันประปราย ระหว่างผู้ชุมนุมกับผู้ที่เห็นต่างในหลายที่ โดยสำหรับคนที่ผ่านเหตุการณ์บ้านเมืองได้แต่หวังว่า คงไม่ได้เห็นการบาดเจ็บและเสียชีวิตอีกต่อไป ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม จึงขอนัดสัมภาษณ์อาจารย์ยุกติเป็นครั้งที่สองในสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์ยุกติมองว่าการชุมนุมครั้งนี้มีความใหม่ของการเคลื่อนไหว คือการที่คนวัยเรียน วัยเริ่มต้นทำงาน ออกมาเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมาก และไม่ใช่แฟชั่นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ต่างจากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นเก่าๆ ค่อนข้างมาก ซึ่งการที่คนวัยนี้ออกมาเคลื่อนไหว แสดงถึงว่า "คนเหล่านี้ เขารู้สึกถึงอนาคตที่ไกลออกไป ไม่ใช่เพียงแค่ ๔-๕ ปีเท่านั้น"

อาจารย์ยุกติเป็นหนึ่งในอาจารย์หลายท่านที่ต้องไปช่วยเหลือนักศึกษาหลายคนที่ถูกควบคุมตัว โดยอธิบายว่า "นักเรียนนักศึกษาไม่ได้เป็นศัตรู ถ้าผู้ใหญ่คิดว่าตัวเองมีวุฒิภาวะมากพอ ควรที่จะรับฟังเขา และมองข้ามการใช้ถ้อยคำรุนแรง ล้อเลียน เสียดสี ถ้าเราบอกว่าเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ เราควรมองข้ามสิ่งเหล่านี้ และมองประเด็นที่พวกเขานำเสนอ ประเด็นปัญหาคือว่าผู้ใหญ่หลายคนรับไม่ได้ คือจะยอมรับได้อย่างไรที่จะอยู่กับสังคมที่มีความเห็นแตกต่างกันอย่างนี้ หรือจะหาจุดลงตัวอย่างไร แทนที่จะยึดกุมอำนาจและปิดปากเขาตลอดเวลา จะทำได้อีกแค่ไหน แทนที่จะหาทางว่าทำอย่างไรที่จะหากติกาที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ คือจริงๆ ก็เหมือนกับความขัดแย้งทางการเมืองทั่วโลกที่เมื่อคนรับไม่ได้กับกติกาแบบนี้ เราก็ต้องคิดร่วมกันใหม่"

"ผมคิดว่ากติการ่วมกัน อาจจะมีหลายระดับ คือสถานการณ์ปัจจุบันคิดว่ามันไม่ดีกับสังคมโดยรวม ทั้งสังคมอยู่ในความเครียด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือเกิดคำถามใหม่ให้สังคมไทยได้นำมาขบคิด ถกเถียง พูดคุย ตั้งคำถาม มีหลายฝ่ายออกมาถกเถียงกันมากขึ้น ให้สังคมได้ถกเถียงกันในประเด็นต่างๆ"

อาจารย์ยุกติบอกว่า "วิธีที่ดีที่สุดคือถอยกลับไป และถ้ายังคุยกับเขาไม่ได้ ยอมให้เขาพูดอย่างเดียวก็ได้ ซึ่งผู้มีอำนาจส่วนใหญ่ก็ทนรับฟังไม่ได้ ผู้มีอำนาจต้องมีวุฒิภาวะในการรับฟัง อดทนรับฟังในสิ่งที่ตัวเองไม่เห็นด้วย และให้สังคมถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน สุดท้ายจะค้นหาจุดร่วมกันได้ ให้มีการถกเถียงกันมากขึ้น คิดว่าจะมีทางแก้ปัญหามากกว่าอดีตที่ผ่านมา คือคุมอะไรไม่ได้ ฉีกรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจ เป็นวงจรที่เราได้เห็นมาโดยตลอด"

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยอยู่ในภาวะที่ไม่อยากแสดงความคิดเห็นเรื่องการเมือง ยิ่งในการชุมนุมครั้งนี้ มีเหตุการณ์จริงของหลายครอบครัวเกิดขึ้น คือพ่อแม่ลูกทะเลาะกันเรื่องการเมือง ไม่อยากให้ลูกเข้าร่วมการชุมนุม หรือแม้แต่ในกลุ่มไลน์ ในโลกโซเชียลต่างๆ กลายเป็นสมรภูมิย่อยๆ ในชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนไม่น้อยที่คิดเห็นแตกต่างกัน

อาจารย์ยุกติแนะนำว่าถ้าเป็นคนในครอบครัว พ่อแม่ลูกที่มีความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน "ลองชั่งน้ำหนักดูได้ไหมว่าความรักความผูกพันที่มีต่อกัน ระหว่างพ่อแม่ลูก มองจากทั้งสองฝั่ง นำความรักความผูกพันที่มีต่อกันมาถ่วงดู ทำอย่างไรที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ ขณะที่เห็นต่างทางการเมือง"

"บางทีคนที่ปะทะกันรุนแรงในครอบครัว กลับกลายเป็นว่าเรามองข้ามสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว สิ่งที่เป็นสายใยที่จะผูกพันกันไว้ หมายความว่ายิ่งเราสนิทกันมาก ความเกรงใจกลับน้อยลง ใช้คำพูดไม่ได้ระวัง ควรรักษาระยะห่างบ้าง ไม่ใช่สนิทกันแล้วจะพูดอย่างไรก็ได้ ไม่รักษาน้ำใจกัน เราควรเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ขณะที่ยังคงมีความรักความผูกพันต่อกัน ให้พื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน ไม่ต้องคาดคั้นว่าทุกคนต้องเห็นด้วยตรงกับเราทุกอย่าง"

กลับจากสัมภาษณ์อาจารย์ยุกติในครั้งที่สอง ได้แง่คิดว่าการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองทุกครั้งเป็นเหมือนการวัดระดับ ‘วุฒิภาวะทางสังคม' อีกรูปแบบหนึ่งว่าสังคมไทยจะมีทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในรูปแบบใด รวมถึงความขัดแย้งในระดับครอบครัวที่เห็นต่างทางการเมือง ซึ่งสังคมไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด หากบาดเจ็บหรือเสียชีวิตอีกแม้เพียงหนึ่ง ก็นับว่ามากเกินไปสำหรับประเทศของเรา

เสียงของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียกร้องและชุมนุมกันในวันนี้สะท้อนอะไรถึงผู้ใหญ่ได้บ้าง ซึ่งผู้ใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วยกับพวกเขาทั้งหมด ก็คงเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งในอีกมุมหนึ่งที่พวกเขาต้องออกมาส่ง ‘เสียง' ในทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะเป็นเพราะบรรดาผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย ต่าง ‘เงียบ' กับปัญหาต่างๆ ในสังคมไทยมาเนิ่นนาน และพวกเขาเห็นถึงความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาของผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อย พวกเขาเพียงอยากเห็นสังคมที่ดีกว่าในอนาคต และต้องการ ‘คำอธิบายและความจริงใจ' ของผู้ใหญ่ในสังคมทุกระดับ บางข้อเสนอที่ทำให้ผู้ใหญ่ไม่สบายใจ ก็ควรอธิบายให้เข้าใจมากกว่าการประณาม เสียดสี และด่าทอกันและกัน

ขณะที่เขียนต้นฉบับชิ้นนี้อยู่ สถานการณ์บ้านเมืองแม้จะดูเหมือนผ่อนคลายขึ้น หลังจากทุกฝ่ายต่างผ่อนปรนมาตรการ และลดเพดานการกดดันต่อกันมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาต่างๆ จะหมดไปในเร็ววัน และหลังจากนี้ เราจะได้เห็นถึง ‘ความจริงใจ' ในการแก้ปัญหาของแต่ละฝ่ายอย่างแท้จริง

คงจะใช่ตามที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า... ต่อจากนี้ไปบ้านเมืองของเราจะไม่เหมือนเดิม สำหรับคนรุ่นเก่าคือการปรับตัวปรับใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ส่วนคนรุ่นใหม่เองยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้อีกมากมายในอนาคต ซึ่งจะดีที่สุดสำหรับสังคมไทยคือคนแต่ละรุ่นควรได้เรียนรู้ข้อดีข้อด้อยจากประสบการณ์และความคิดจากกันและกัน


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >