หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 178 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สัมภาษณ์ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ หนึ่งในทีมแก้ปัญหาแพร่ระบาดโควิด-๑๙ และ 5S ค่านิยม(ใหม่)ของสังคมไทย พิมพ์
Wednesday, 30 September 2020

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑๑๓ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๓


สัมภาษณ์ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์
หนึ่งในทีมแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙
และ 5S ค่านิยม (ใหม่) ของสังคมไทย

วรพจน์ สิงหา สัมภาษณ์

 



ช่วงเวลาที่ผ่านมา ทุกคนทราบดีว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ๒๐๑๙ หรือ โรคโควิด-๑๙ (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศทั่วทั้งโลกและกระทบต่อทุกมิติของสังคมมนุษย์ และเราทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต คือ เน้นสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และการล้างมือ โดยรวมคือการรับผิดชอบตัวเองโดยส่วนตัว เพื่อเป็นการรับผิดชอบสังคมโดยส่วนรวม

ท่ามกลางวิกฤติจากโรคโควิด-๑๙ ในครั้งนี้ นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ หนึ่งในที่ปรึกษาด้านวิชาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ และอดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้้ให้ข้อแนะนำที่สำคัญหลายประการในการใช้ผลกระทบจากวิกฤติโรคโควิด-๑๙ เพื่อผลประโยชน์ที่ยั่งยืนของสังคมไทย

 

ยุทธศาสตร์การควบคุมโรค

ช่วงเริ่มแรกที่มีข่าวการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ที่ประเทศจีน มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก คุณหมอคำนวณในฐานะนักระบาดวิทยาได้เฝ้าสังเกตการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างต่อเนื่อง โดยมีประสบการณ์จากครั้งการควบคุมโรคซาร์ส (SARS) โรคไข้หวัดนก และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

"ตอนนั้นก็สงสัยแล้วว่าทำไมถึงเกิดมีคนไข้ปอดบวม ๔๔ คนในพื้นที่เดียวกัน โดยที่นักระบาดวิทยา เวลาเห็นอะไรที่เรียกว่าการเกิดเป็นกลุ่มก้อนในพื้นที่เดียวกัน เราต้องสงสัยไว้ก่อนว่ามีอะไรผิดปกติ ขณะนั้นก็คิดว่าน่าจะเป็นเชื้อตัวใหม่ๆ และสุดท้าย พอช่วงปลายเดือนมกราคม ๒๕๖๓ ประเทศจีนก็ประกาศว่าเป็นเชื้อตัวใหม่ และบอกว่าติดต่อจากคนสู่คน"

คุณหมอคำนวณเล่าให้ฟังว่า หลังจากติดตามการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ เริ่มกังวลใจมากขึ้น เพราะมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และโรคแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

"ยอมรับว่าไม่คิดว่าจะกระจายไปได้รวดเร็วและรุนแรงขนาดนี้ เป็นเชื้อโรคตัวใหม่ ซึ่งทุกคนรู้จักน้อยมาก เพราะฉะนั้น เรามักจะฝังใจกับประสบการณ์ในเรื่องของโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ แต่พอเป็นโรคโควิด-๑๙ มีลักษณะที่แตกต่างหลายอย่างมาก ทำให้การควบคุมโรคลำบากมากกว่า"

คุณหมอคำนวณอธิบายว่า ความแตกต่างของโรคโควิด-๑๙ กับโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ คือเป็นโรคที่มีอัตราการตายไม่สูงพอควร มีการติดต่อได้รวดเร็ว และติดต่อได้โดยยังไม่มีอาการเต็มที่

"ถ้าเรามาดูเรื่องของโรคโควิด-๑๙ ตอนแรกทุกคนเข้าใจว่าคงจะเหมือนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แต่ความแตกต่างคือโรคโควิด-๑๙ ร้ายแรงกว่า และคนทั่วไปมักจะคิดว่าถ้าร้ายแรง มีการตายจำนวนมาก ไม่น่าจะแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว แต่โรคโควิด-๑๙ พิสูจน์แล้วว่าโรคนี้รุนแรง ทำให้คนเจ็บ คนตายเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญสามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วด้วย"

"เหตุผลที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อ แต่อาการน้อยมาก ไม่เหมือนหวัด คือถ้าเป็นพวกไข้หวัดใหญ่ คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ก็นอนซม มีไข้ ไอ ปวดเมื่อย แต่โรคโควิด-๑๙ เกือบจะไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่มีอาการปวดเมื่อย แต่พวกนี้ที่มีอาการน้อยๆ สามารถแพร่เชื้อได้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นความยากของมัน"

ช่วงแรกที่เริ่มมีการระบาด คุณหมอคำนวณเริ่มมีการประเมินความรุนแรง โดยศึกษาข้อมูล และจากทีมงานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มองแล้วว่าโรคโควิด-๑๙ ต้องระบาดเข้ามาในประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยว่ากันตามทฤษฎีว่าสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ ๑ คือ มีเฉพาะผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามา ระยะที่ ๒ คือ มีการติดเชื้อภายในประเทศ แต่ยังเป็นแบบประปราย ส่วนระยะที่ ๓ คือ มีการติดเชื้อแบบขยายวงกว้าง

พอถึงช่วงต้นเดือนมีนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา ประมาณ ๑๐ กว่าคน อาทิ อดีตปลัดกระทรวง อดีตอธิบดี และนักวิชาการ ซึ่งคุณหมอคำนวณเป็นหนึ่งในนั้น โดยในช่วงนั้น ประเทศไทยเริ่มพบผู้ป่วยนำเชื้อเข้ามาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และสถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

หน้ากาก การตีตรา

การรับผิดชอบตัวเองและสังคม

สิ่งหนึ่งที่ประเทศไทยถือเป็นความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ คือเรื่องการใส่หน้ากาก อย่างที่เราทุกคนในประเทศไทยได้เห็นในทุกวันนี้ ซึ่งคุณหมอคำนวณอธิบายว่า จริงๆ มีหลายประเทศที่ทำแบบนี้ และเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ซึ่งเราคงต้องพยายามปลูกฝังวัฒนธรรมความรับผิดชอบทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

"ผมยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีวัฒนธรรมในการสวมหน้ากาก คือสวมหน้ากากเฉพาะคนที่ไม่สบาย คนที่สบายดีไม่ต้องสวม แต่เขาไม่มีการตีตรา เขาถือว่าคุณทำสิ่งที่ถูกต้อง ตอนที่เรามีการโปรโมทให้มีการสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน ตอนที่เริ่มต้น ใครใส่หน้ากากก็จะรู้สึกว่าจะถูกคนรังเกียจ แต่พอคนเป็นกันมากๆ ทุกคนเริ่มกลัว และพอภาครัฐโปรโมทให้สวมหน้ากากอนามัยกันทุกคน ก็เกิดปัญหาหน้ากากขาดแคลน ขาดตลาด เพราะว่าเดิมมีคนไม่กี่หมื่นกี่แสนคนที่ต้องใช้ แต่ทันทีที่เราบอกให้คนทั้งประเทศสวมหน้ากากอนามัย ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมหาศาล ก็เกิดการขาดแคลนขึ้นมา จนกลายเป็นวิกฤติการเมืองขึ้นมาได้"

ในการระดมความคิดเห็นในการออกมาตรการต่างๆ ต้องร่วมกันคิดหาทางแก้ไขปัญหาจากหลายฝ่าย คุณหมอคำนวณอธิบายให้ฟังว่าหลักทฤษฎี อันที่หนึ่ง วางอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการว่า ถ้าทำเรื่องนี้แล้ว จะป้องกันโรคได้ อันที่สองคือ มาตรการนั้น ต้องเป็นมาตรการที่ไม่สิ้นเปลืองมาก ถ้าใช้เงินเยอะก็แบกรับไม่ไหว อันที่สาม มาตรการนั้นต้องเป็นมาตรการที่สังคมยอมรับได้ คือพอเสนอไป สังคมทำตาม ไม่ต้องเอากฎหมายมาบังคับใช้ และอันที่สี่ มาตรการนั้นต้องเป็นมาตรการที่ไม่ผิดในเรื่องของจริยธรรม

"เรื่องการใส่หน้ากากนั้นพอเหมาะพอเจาะ คือพอให้ใส่กันทุกคน คนก็ไม่รังเกียจ สังคมยอมรับได้ ก็เป็นมาตรการที่ได้ผลมาก ประหยัด แต่มาตรการที่เราต้องกักตัวคนไว้ ๑๔ วัน อันนี้คนต่างชาติไม่ยอมรับ เพราะเขาถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของเขา เพราะฉะนั้น แต่ละประเทศในการออกมาตรการ ขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคม ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ตัวหลักวิชาการไม่แตกต่างกันมากเท่าไหร่"


 Image

ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
กับ
5S ค่านิยม (ใหม่) ของสังคมไทย

หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทั่วทั้งสังคมไทยต่างได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองในการดำเนินชีวิต โดยมีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นและกลายเป็นคำที่คุ้นหูทุกคนในช่วงที่ผ่านมา คือคำว่า "ชีวิตวิถีใหม่" หรือ New Normal

ซึ่งในช่วงวิกฤติโรคโควิด-๑๙ คุณหมอคำนวณได้รับเชิญไปบรรยาย พูดคุย ให้ข้อคิดเห็นในหลายเวที และออกสื่อต่างๆ ทุกแขนง

"หลังจากเกิดการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ขึ้นมา ทุกคนอยากกลับไปใช้ชีวิตที่เป็นปกติสุขเหมือนเดิม แต่เรากลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว จึงเกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาคือคำว่า "New Normal" แต่เวลาเราพูดถึง New Normal เราไปเน้นเฉพาะการป้องกันโรคโควิด-๑๙ ผมรู้สึกเสียดายมาก คือถ้าเผื่อเราผ่านประสบการณ์เรื่องโรคโควิด-๑๙ มา เราลงทุนปิดประเทศ เกิดการสูญเสียมากมาย และสุดท้าย สิ่งที่คนไทยได้คือ มีพฤติกรรมสวมหน้ากาก พฤติกรรมเว้นระยะห่าง พฤติกรรมล้างมือ ซึ่งไม่น่าจะหยุดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่โรคโควิด-๑๙ หายไป พฤติกรรมแบบนี้ก็จะหายไปด้วย จะไม่มีคนใส่หน้ากากอีกแล้ว จะไม่มีคนเว้นระยะห่างอีกแล้ว เพราะฉะนั้น น่าจะใช้โอกาสนี้ ในการทำให้คนคิดถึงว่าถ้าเผื่อเราสามารถที่จะสร้างค่านิยมใหม่ให้กับสังคม ค่านิยมที่ผมใช้คำว่า "5S" น่าจะทำให้เราสามารถพัฒนาสังคมได้อย่างยั่งยืน และถึงแม้จะไปเผชิญวิกฤติอะไรก็ตาม เราจะสามารถฟันฝ่าวิกฤติต่างๆ เหล่านั้นไปได้"

คุณหมอคำนวณอธิบายขยายความตัวย่อ 5S ไว้อย่างน่าสนใจมาก และได้ให้แง่คิดมุมมองต่อค่านิยมของสังคมไทยที่ควรต้องปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ "ชีวิตวิถีใหม่" อย่างแท้จริง

. Safety คนคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยมาก แต่เราต้องบอกกับเขาว่าอย่าคิดถึงเฉพาะเรื่องความปลอดภัยจากโรคโควิด-๑๙ อย่างเดียว เพราะว่ามีอันตรายอย่างอื่นอีกมากที่อันตรายกว่าโรคโควิด-๑๙ เช่น เราเห็นคนขี่มอเตอร์ไซค์ สวมหน้ากากอนามัย แต่ไม่สวมหมวกกันน็อค ทั้งๆ ที่มีคนเสียชีวิตจากการขี่มอเตอร์ไซค์ โดยไม่สวมหมวกกันน็อค วันหนึ่ง ๓๐-๔๐ คน แต่เรามีคนเสียชีวิตจากโรคโควิด-๑๙ ตลอดมาประมาณ ๕๐ กว่าคน มีอะไรที่ผิดพลาดบางอย่างเกี่ยวกับการปลูกฝังค่านิยมในเรื่องนี้อย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้น ไหนๆ เราจะปลูกฝังค่านิยมเรื่องความปลอดภัยจากโรคโควิด-๑๙ แล้ว ก็อยากเชิญชวนให้ขยายไปถึงเรื่องของความปลอดภัยเรื่องอื่นๆ ในสังคมไทยด้วย เรามักจะเอาความสนุกมาก่อนความปลอดภัย อันนี้ตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้น ต้องรวมพลังสังคม ทำให้คน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนคำนึงถึงความปลอดภัยในทุกครั้งที่เขาทำอะไร ให้ถามตัวเองก่อนว่าสิ่งนี้ปลอดภัยไหม ถ้าไม่ปลอดภัยก็ไม่ทำ

.Small เล็กๆ สิ่งที่น่ากลัวกว่าโรคโควิด-๑๙ คือวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะโรคโควิด-๑๙ ทำให้เป็นเพียงตัวบุคคลที่บางคนติดเชื้อ บางคนป่วย บางคนเสียชีวิต แต่ผลพวงของการปิดเมือง ปิดประเทศ ขณะนี้ เราเจอภาวะคนว่างงาน หนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจเล็กๆ ต้องปิดตัวลง เพราะว่าบรรยากาศ ลูกค้าหายไปหมด เพราะฉะนั้น อยากจะให้ทั้งสังคมได้มองวิกฤตินี้ว่าตัวเองต้องรับมือกับวิกฤติเรื่องเศรษฐกิจ การคิดถึงความประหยัดน่าจะเป็นทางออก

ขยายนิดหนึ่งว่าตั้งแต่เด็กนักเรียน พอสอบเสร็จก็ฉลอง วันเกิดก็ฉลอง ทุกอย่างเป็นงานฉลองหมด เวลาจัดงานแต่งงาน เขาบอกหมดตัวเลยนะ หมายถึงว่าต้องลงทุนไปเช่าโรงแรม เชิญแขกเหรื่อมา ค่าดอกไม้ ค่าสถานที่ เราใช้งบประมาณไปทำสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ พอโรคโควิด-๑๙ มา เราต้องพยายามประหยัด การทำอะไรที่เล็กๆ จะดีกว่าทำอะไรที่ใหญ่ๆ ในเชิงของการป้องกันโรคด้วย ขณะนี้พยายามให้ไม่มีการรวมกลุ่ม พยายามทำให้เป็นกลุ่มเล็กๆ ถ้าเราทำกลุ่มเล็กๆ ก็เป็นการควบคุมโรคด้วย เป็นการประหยัดได้ด้วย

.Save Resources เรื่องนี้เป็นเหมือนการขยายความไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม คือเราไม่ใช่ประหยัดในเรื่องของเงินอย่างเดียว แต่เราจำเป็นต้อง Save ทรัพยากรธรรมชาติด้วย โรคโควิด-๑๙ ในมุมหนึ่ง ยกตัวอย่างที่เราได้คุยกันทาง Zoom ถ้าเรานัดเจอหน้ากัน ต้องเสียเวลาในการเดินทาง แต่พอมีโรคโควิด-๑๙ ทุกคนใช้ Zoom ก็ประหยัดเวลา และการที่เราให้คนทำงานอยู่กับบ้าน Work from Home ก็ประหยัดพลังงานได้เยอะมาก เรื่องฝุ่น PM 2.5 ก็น้อยลง เรื่องความแออัด รถติดขัด ก็น้อยลง

ทำอย่างไรที่เราจะต้องปกป้องธรรมชาติไว้ อันนี้ก็ตรงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมจากพระสมณสาสน์ Laudato Si' ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ท่านพยายามพูดถึง เพราะฉะนั้น โรคโควิด-๑๙ มา เราจึงไม่ควรหยุดแค่โรคโควิด-๑๙ ขอให้ขยายไปถึงเรื่องการอนุรักษ์ การประหยัดพลังงาน และปกป้องธรรมชาติด้วย

.Social Justice ประเทศไทยเรายังเห็นเรื่องนี้ไม่ชัดเจน เพราะมีผู้เสียชีวิตประมาณ ๕๐ กว่าคน มีผู้ติดเชื้อประมาณ ๓,๐๐๐ กว่าคน แต่ในต่างประเทศ เห็นชัดเจน อย่างที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ชัดเจนว่าคนที่ป่วย คนที่เสียชีวิต คือคนที่ด้อยโอกาสในสังคม คนผิวสี คนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ การเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

ของประเทศไทยยังมีเรื่องของหลักประกันสุขภาพต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม โรคโควิด-๑๙ ทำให้เราต้องนึกถึงว่าถ้าคนที่ด้อยโอกาสอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ลำบาก เพราะผมเชื่อว่าการติดเชื้อ สุดท้ายแล้ว คนที่มีฐานะดีๆ อาจจะมีโอกาสติดเชื้อน้อย แต่คนที่อยู่ในชุมชนแออัด คนที่อยู่ในเรือนจำ คนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ คนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงมาก ถ้าเกิดการระบาดในคนกลุ่มนี้ ก็สามารถส่งผลกระทบมาถึงคนที่มีฐานะดีด้วย เหมือนกรณีเรื่องที่เราก็ต้องถูกล็อกดาวน์ (Lock Down) ให้อยู่กับบ้าน เพราะฉะนั้น โรคโควิด-๑๙ ให้บทเรียนกับเราว่าเราต้องพยายามให้เกิดประโยชน์กับคนอื่นด้วย

ถ้าเราพิจารณาดูประชากรที่เป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น เรือนจำ ชุมชนแออัด ชุมชนแรงงานข้ามชาติ ฯลฯ เราจะเห็นเงื่อนไขบางอย่าง ซึ่งเราสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ถ้าเราปรับปรุงแก้ไขแล้ว สิ่งเหล่านั้นจะย้อนความดีกลับมาให้ คือว่ากลุ่มเหล่านั้นจะไม่เป็นปัญหาที่จะนำโรค หรือนำภัย หรืออะไรบางอย่างเข้ามาสู่สังคมไทย อันนี้เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ช่วงของโรคโควิด-๑๙ อาจจะเป็นโอกาส เพราะว่าทุกฝ่ายเห็นแล้วว่าถ้าคนอยู่กันแออัด ถ้าไม่มีหลักประกัน อาจจะนำความเสี่ยงมาให้คนอื่น

.Spiritual ที่เราพูดจาก S ตัวแรกถึง S ตัวที่สี่ ซึ่งพูดง่ายแต่ทำยาก ที่ทำยากเพราะว่าถ้าเราเอาเฉพาะเรื่องของสมองอย่างเดียว คนอาจจะบอกว่าเรามีฐานะพอ ไม่จำเป็นต้องประหยัด เหมือนจะไม่มีเหตุมีผล แต่ถ้าเราเน้นมิติทางจิตวิญญาณ มิติทางด้านศาสนา จะทำให้เรารู้สึกว่าเราควรจะทำอย่างนั้น เช่น พระวรสารบอกกับเราว่า ให้เราพยายามถือความยากจน ให้เราพยายามคิดถึงคนอื่น อย่าไปยึดติดกับทรัพย์สมบัติฝ่ายโลก เพราะฉะนั้น มิติทางด้านจิตวิญญาณสำคัญมาก ทำให้คนมีพลังที่จะพยายามทำแต่สิ่งที่ดี

คุณหมอคำนวณพูดไว้อย่างน่าสนใจว่า "ถ้ามีโอกาสที่จะสร้างชีวิตวิถีใหม่ อย่าหยุดแค่ "การเว้นระยะห่างทางกายภาพ" (Physical Distancing) ล้างมือ สวมหน้ากาก โหลดแอป ‘ไทยชนะ' แค่นั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่ผิวเผินมาก อยากให้เราไปไกลกว่านั้น และสังคมทั้งหมดจะได้ประโยชน์มากขึ้น"

 

เมื่อไหร่วิกฤติโรคโควิด-๑๙ จะจบลง?

คำแนะนำในการปฏิบัติตัว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้ เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักจะสงสัยและกังวลคือ เมื่อไหร่โรคโควิด-๑๙ จะหาย หรือหมดไป คุณหมอคำนวณได้ช่วยอธิบายและให้กำลังใจไว้ว่า

"ผมต้องประชุมคุยกับองค์การอนามัยโลก สัปดาห์ละ ๒ วัน ตอนเย็นวันอังคารและศุกร์ และติดตามข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุข ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน เขาบอกเลยว่าถ้าดูภาพรวมทั่วโลก โรคโควิด-๑๙ จะเขย่าประเทศต่างๆ ไปอีกประมาณปีครึ่ง ถึง ๒ ปี เหตุผลคือ ต้องเวลาผ่านไปจนกว่าจะมีเงื่อนไขอยู่ ๓ อย่าง เงื่อนไขแรกคือ มีวัคซีนออกมา พอมีวัคซีนออกมา คนก็นำวัคซีนมาฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เงื่อนไขที่สอง คือถ้าไม่มีวัคซีน ก็ต้องมียา ที่เวลาเจ็บป่วย ก็รักษาได้ ไม่อันตราย เงื่อนไขที่สาม คือถ้าไม่มียา ไม่มีวัคซีน คนจะต้องค่อยๆ ติดเชื้อไปเรื่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ จนกว่าถ้าเรามีคน ๑๐๐ คน มีคนติดเชื้อและมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ๖๐% ปัญหาโรคโควิด-๑๙ จะกลายเป็นเรื่องที่ไม่เขย่าขวัญผู้คนอีกต่อไป โดยเฉลี่ยเขาคำนวณแล้วว่ากว่าเราจะมีวัคซีน กว่าจะมียา กว่าจะมีการติดเชื้อตามธรรมชาติ ก็ใช้เวลาประมาณปีครึ่งถึง ๒ ปี อันนี้เป็นภาพรวมของทั่วโลก"

"สำหรับประเทศไทย ก็คล้ายกัน โรคโควิด-๑๙ จะไม่จบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายในเดือนนี้ จะเป็นเหมือนกับสิ่งที่เกิดเป็นครั้งเป็นคราวไปเรื่อยๆ จนกว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะค่อยๆ ดีขึ้น คงต้องใช้เวลาเป็นปีเพราะเหตุผลว่าถ้าเผื่อเราไม่สามารถเปิดประเทศเราเลย หรือปิดประเทศ ไม่ให้มีคนต่างชาติเดินทางเข้า-ออก ให้เฉพาะคนไทยเดินทางเท่านั้น วันหนึ่งไม่กี่ร้อยคน อย่างนี้เราสามารถอยู่ได้โดยที่ไม่มีการเกิดโรคโควิด-๑๙ แต่ว่ามันไม่สามารถเป็นอย่างนั้นได้ สักพักหนึ่ง เราต้องยอมให้คนเดินทางเข้ามา

สิ่งที่เราทำได้คือให้มีการติดเชื้อในระดับต่ำ อย่าให้มีการติดเชื้อในระดับที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งอันนี้เป็นอันตราย เพราะฉะนั้น โรคโควิด-๑๙ จะอยู่กับเรา อย่าเชื่อว่าโรคโควิด-๑๙ จะหมดไป และทุกคนจะทำตัวแบบสบายๆ เรายังจะต้องเจอกับโรคโควิด-๑๙ แต่ก็ไม่ถึงกับว่าเราจะต้องปิดบ้านปิดเมือง เราต้องเปิดธุรกิจ ให้สังคมต้องเดินหน้า ชีวิตต้องเดินหน้าไป ถึงแม้จะมีความยากลำบากอยู่บ้าง แต่เราจะข้ามไปได้"

สำหรับการปฏิบัติตัวของประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คุณหมอคำนวณชี้แจงว่า "มาตรการที่วางไว้ในขณะนี้ ถือเป็นมาตรการที่ดี ซึ่งจะมีการปรับมาตรการไปเรื่อยๆ การสวมหน้ากากมีประโยชน์มาก ขณะนี้ ประเทศไทยมีฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ การที่เราสวมหน้ากาก การล้างมือ ก็เป็นการป้องกันไข้หวัดใหญ่ไปในตัว มาตรการเรื่องการมีระยะห่าง อันนี้อาจจะตึงไปนิดหนึ่ง แต่ในช่วงผ่อนปรนใหม่ๆ ต้องตึงไว้ก่อน แต่ผมเชื่อว่าสักพักหนึ่งก็จะมีการผ่อนปรนให้"

"สำหรับคริสตชน ตอนนี้เวลาไปวัด เราจะรู้สึกแปลกๆ เพราะถูกบังคับให้มีระยะห่าง ก็ไม่เป็นไร คิดว่าอีกสักพักหนึ่ง ก็คงมีการผ่อนปรนให้ครอบครัวเดียวกันสามารถนั่งด้วยกันได้ ไม่ต้องทิ้งระยะห่างมาก มาตรการที่ผมพูดมาก็เป็นมาตรการพื้นฐาน เป็นมาตรการที่ช่วยป้องกันเราได้"

         

"โอกาส" ในวิกฤติโรคโควิด-๑๙

คุณหมอคำนวณมองว่า ช่วงของโรคโควิด-๑๙ ถือเป็นโอกาสในการทบทวนพฤติกรรมของตัวเราเองและค่านิยมของสังคมไทย

"โรคโควิด-๑๙ จะทำให้ชีวิตเราแข็งแกร่งขึ้น ทำให้สังคมของเราแข็งแกร่งขึ้น ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าจะตอบสนองอย่างไร ขณะนี้ เราอยู่ในฐานะที่ยากลำบาก เพราะว่าเศรษฐกิจเสียหายเยอะ แต่เศรษฐกิจจะกลับมาได้แน่นอน ถ้าเราตั้งหลักดีๆ เราไม่เน้นปริมาณ ไม่เน้นเรื่องของการได้รายได้อย่างรวดเร็ว แต่เน้นการจะกลับมาอย่างยั่งยืน

ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เราคิดถึงเรื่องของการเปิดกิจการต่างๆ รัฐบาลกำลังเปิดมาตรการผ่อนคลายในช่วงที่ ๔ และเหลือชุดใหญ่อยู่อีกหนึ่งชุดคือ สถานบันเทิง อาจจะเป็นหลังเฟส ๔ คืออาจจะเปิดในต้นเดือนกรกฎาคม สิ่งที่สังคมต้องตั้งคำถามและต้องพยายามที่จะกระตุกให้คนที่เกี่ยวข้องคิดก็คือว่า โรงเรียนต้องเปิดก่อน ถ้าเปิดสถานบันเทิงคู่กับโรงเรียน อาจจะเกิดปัญหาได้แน่นอน เพราะว่าสถานบันเทิงเป็นจุดที่จะแพร่เชื้อโรคโควิด-๑๙ ได้ง่าย เป็นที่รวมตัวสนุกสนาน ส่งเสียงร้องเพลงและดื่มแอลกอฮอล์ แถมยังตรวจสอบได้ยากว่าทำตามมาตรการความปลอดภัยจริงหรือไม่ ในขณะที่โรงเรียนไม่ใช่ เพราะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ความปลอดภัย ตรวจสอบได้ ถ้าเปิดสถานบันเทิงก่อนโรงเรียน หรือเปิดคู่ขนานกันไป เราอาจเจอเหตุการณ์แบบประเทศเกาหลีใต้"

คุณหมอคำนวณบอกว่า สังคมไทยต้องพยายามนำบทเรียนเก่าๆ มาคิดดูว่าเราจะย้อนกลับไปแบบเดิมหรือเปล่า "ผมคิดว่าโรคโควิด-๑๙  จะเหมือนกับเรื่องของการสร้างภูมิต้านทานให้กับสังคมไทย เราจะสามารถก้าวข้ามไปได้แน่นอน และเราต้องแข็งแกร่งกว่าเดิม เราต้องพัฒนาอย่างยั่งยืน จะต้องเดินไปข้างหน้า แม้จะช้าหน่อย แต่ว่าจะเป็นการก้าวไปอย่างมั่นคง"

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทั่วทั้งโลกและประเทศไทยต่างมีบทเรียนให้ได้เรียนรู้ ทั้งเรื่องชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง โดยชีวิตวิถีใหม่และค่านิยมใหม่หลังจากวิกฤติโรคโควิด-๑๙ ที่คุณหมอคำนวณได้นำเสนอต่อสังคมไทย จะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด คงอยู่ที่คนไทยจะยอมรับและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้มากน้อยแค่ไหน...

หรือสังคมไทยจะไม่เรียนรู้สิ่งใด และย้อนกลับไปใช้ชีวิตวิถีเก่าและค่านิยมแบบเก่าเหมือนที่เคยผ่านมา คำตอบคงขึ้นอยู่ที่เราแต่ละคน


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >