หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 216 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สังฆมณฑลเชียงใหม่ กับการมีส่วนร่วมพยุงค้ำจุนสังคม ท่ามกลางวิกฤติการณ์โควิด-๑๙ พิมพ์
Thursday, 17 September 2020

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑๑๓ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๓

 


สังฆมณฑลเชียงใหม่ กับการมีส่วนร่วมพยุงค้ำจุนสังคม
ท่ามกลางวิกฤติการณ์โควิด-๑๙

องอาจ เดชา เรียบเรียง/สัมภาษณ์

 


เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-๑๙ นั้น ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมของผู้คนไปทั่วโลกและทั่วทุกภาคในประเทศไทย จนทำให้วิถีชุมชน ผู้คน ปรับตัว ตั้งรับไม่ทัน จนเกิดวิกฤติการขาดแคลนอาหาร ตกงาน และไร้ที่พึ่ง เป็นจำนวนมาก

ซึ่งทางศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ สังฆมณฑลเชียงใหม่ หรือมิสซังเชียงใหม่ เป็นอีกองค์กรหนึ่ง ที่ได้รับมือกับสถานการณ์โควิดโดยให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นขั้นเป็นตอน กลายเป็นศูนย์รวมน้ำใจจากคนบนดอยสู่คนเมืองเชียงใหม่ และแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในเชียงใหม่ เมื่อประชาชนอดอยากหิวโหย ชาวบ้านชาติพันธุ์บนดอยได้ช่วยกันระดมของบริจาค ข้าวสาร พืชผัก และผลไม้ ลงมาที่มิสซังเชียงใหม่ เพื่อกระจายไปช่วยเหลือผู้เดือดร้อนลำบากตามที่ต่างๆ โดยผ่านองค์กรในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เครดิตยูเนียน, IMPEC, พุทธสถาน เชียงใหม่ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีการลงพื้นที่แจกจ่ายเองด้วย เช่น ซิสเตอร์จากแม่ปอนที่ต่อรถสามล้อเพื่อขนข้าวสารและอาหารต่างๆ ไปแจกจ่ายตามซอกซอยต่างๆ ตามบ้านผู้เดือดร้อน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก มีแรงงานข้ามชาติชาวพม่าที่ทำงานในปางช้างแม่แตง แม่ตะมาน ป่าไม้แดง ผู้ได้รับผลกระทบมีทั้งเด็ก แม่บ้าน คนเลี้ยงช้าง ต่างก็ตกงาน ขาดรายได้ ไม่มีอาหารประทังชีวิต สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติชาวพม่านี้ ได้รับความช่วยเหลือจากคุณพ่อ วัดคาทอลิก เขตแม่แตง ได้ระดมข้าวสาร และอาหารต่างๆ นำไปช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติชาวพม่าและชาติพันธุ์อื่นๆ

คุณพ่ออนุชิต สมบูรณ์พูลเพิ่ม ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ศูนย์คาทอลิกแม่แตง ต.สันมหาพน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งนอกจากเป็นศูนย์หอพักเด็ก ที่รับดูแลเด็กๆ ชาติพันธุ์จากชุมชนบนพื้นที่สูง มาพักกินนอน และเรียนหนังสือระดับมัธยมฯ ที่ตัวอำเภอแล้ว ในช่วงโควิดนั้น ยังได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ที่ปางช้างแม่แตง และปางช้างแม่ตะมานอีกด้วย

"พี่น้องแรงงานข้ามชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นปกาเกอะญอที่มาจากพม่า และมีพี่น้องกะยัน หรือกะเหรี่ยงคอยาว มารับจ้างทำงานที่ปางช้าง  แล้วพอเกิดวิกฤติโควิด พวกเขากลับบ้านไม่ได้ ซึ่งมีประมาณ ๖๐-๗๐ คน เราได้นำข้าวสาร อาหารแห้งไปแจกจ่ายให้ ซึ่งข้าวสารที่เราเอาไปแจกนั้น ก็มาจากกองบุญข้าวนั่นเอง ซึ่งปกติ ทางเจ้าของปางช้างเขาก็ดูแลคนงานได้ดีระดับหนึ่งแล้ว คือ คนงานผู้ชาย เจ้าของปางช้างเขายังให้ทำงานเลี้ยงช้างอยู่ เพียงแต่ขอลดค่าแรง ให้ค่าแรงงานวันละ ๑๐๐ บาท เพราะว่าช่วงนี้ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีรายได้เลย ส่วนผู้หญิงนั้นจะไม่มีรายได้ใดๆ เลย ซึ่งถ้าหากวิกฤติโควิดยืดเยื้อไปนานๆ ก็อาจกระทบต่อพวกเขา ทำให้ไม่มีข้าวกินได้ เราก็เข้าไปช่วยเหลือได้ตามความจำเป็นที่เขาต้องการ โดยนำข้าวสารและอาหารแห้งไปให้เขา  ต่อมา เราก็นำข้าวสาร อาหารแห้ง ไปส่งมอบผ่านทางสังฆมณฑลเชียงใหม่ เพื่อไปแจกจ่ายกับผู้ยากไร้กลุ่มนี้ด้วย"

คุณพ่ออนุชิต บอกว่า วิกฤติโควิดในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นถึงน้ำใจของคนไทย ที่ร่วมด้วยช่วยกันอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่ายังมีผู้คนจำนวนมาก ที่คอยหยิบยื่นสิ่งที่มีให้กับผู้ที่ไม่มี ยังมีการเห็นอกเห็นใจกัน เห็นความทุกข์ยากของผู้คน และสามารถหยิบยื่นให้ผู้คนที่ลำบาก โดยไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติใดๆ ซึ่งการแบ่งปันแบบนี้ ก็จะทำให้ประเทศเราอยู่ได้ต่อไป

สถานการณ์โควิดในครั้งนี้ มันให้บทเรียนสอนเตือนคนเราอย่างไรบ้าง

"มันทำให้เราได้หันกลับมามองว่า ที่สุดแล้ว อะไรเป็นความจำเป็นของชีวิตคนเรา  อย่างเมื่อก่อน เราอาจมองเรื่องท่องเที่ยว ทำให้เศรษฐกิจดี ได้เงินเยอะ แต่บางครั้งมันก็ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่พอเกิดวิกฤติโควิด ทำให้เรารู้ว่า แท้จริงแล้ว อาหาร คือสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ดังนั้น เราจะเห็นชัดเลยว่า เกษตรกรจะอยู่รอด โดยเฉพาะเกษตรอินทรีย์ ซึ่งสามารถอยู่ได้ แบบพอมี พอกิน พอใช้ แต่ที่ผ่านมา เรามักมุ่งเน้นไปที่เงินกันมาก การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ที่หรูหรา จะต้องมีบ้าน รถยนต์  ซึ่งเงินทองนั้นก็สำคัญ แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะพอเอาเข้าจริงๆ คนเราต้องการคือความสุข คือการอยู่กับครอบครัว พออยู่พอกินพอใช้ และมีสุขภาพดี"  คุณพ่ออนุชิต บอก

เช่นเดียวกับ คุณพ่อธรรมนูญ จินดาดุจสายชล เจ้าอาวาสวัดพระแม่มารีหนองแห้ง ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ก็ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์โควิดให้ฟังว่า ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ติดเชื้อโควิด เพียงแค่ ๔ รายเท่านั้น คือมีพี่น้องมุสลิม ที่ อำเภอปาย แม่ฮ่องสอน ไปแสวงบุญที่มาเลเซียแล้วกลับมา เป็นกลุ่มที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง แต่เมื่อหันมามองชุมชนบนดอย ในหลายๆ พื้นที่นั้น ได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยมาก

"ถ้าพูดถึงผลกระทบในหมู่บ้านบนดอย จะไม่มีผลกระทบเลยก็ว่าได้ พี่น้องชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะไปทำงานปกติ ไปทำไร่ทำสวนกันปกติ และเรื่องอาหารการกินก็ไม่ได้เดือดร้อนกันอยู่แล้ว แต่จะเริ่มมีปัญหาบ้างก็ตรงที่ว่า หลังจากรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ทำให้การออกไปจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ หรือเข้าไปในเมือง เข้าไปในอำเภอ หรือโรงพยาบาล จะไม่สะดวก นอกจากนั้น ทางชุมชนก็ยังมีกฎหมู่บ้าน ห้ามคนในชุมชนออกนอกหมู่บ้าน และห้ามคนนอกเข้าหมู่บ้านอีก พอมีความเคร่งครัดตรงนี้ขึ้น ก็ทำให้ชาวบ้านมีความยุ่งยากลำบากในการใช้ชีวิตกันบ้าง อย่างเช่น ชาวบ้านที่ค้าขาย ก็ไม่สามารถออกไปซื้อสินค้ามาบริการคนในชุมชนได้ แต่ก็ยังถือว่าดี ที่ชาวบ้านยังมีผักในไร่ มีปลาในลำห้วย ซึ่งคุณพ่อก็ได้ลงไปหาปลาร่วมกับชาวบ้านด้วย"

คุณพ่อธรรมนูญ บอกว่า อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัดพระแม่มารีหนองแห้ง ซึ่งมีพื้นที่รับผิดชอบดูแล ๑๐ กว่าชุมชน ก็พยายามหาวิธีการป้องกันดูแลกัน หาวิธีการให้ความรู้ และสร้างความมั่นใจ สร้างขวัญกำลังใจให้พี่น้องชาวบ้านแบบคริสต์  มีการนำไม้กางเขน ไปตั้งไว้ตรงถนน ก่อนทางเข้าหมู่บ้าน เวลาเกิดภัยพิบัติแบบนี้ จะมีการทำมิสซา ให้คุณพ่อไปอวยพร มีน้ำเสก ไปพรมตามหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านชื่นใจ อุ่นใจ รวมทั้งให้ข้อมูลข่าวสาร หาหน้ากากอนามัย เจลล้างมือให้ชาวบ้านด้วย

เมื่อชุมชนบนดอยมีความมั่นคงทางอาหาร  มีเหลือ จึงแบ่งปัน

เจ้าอาวาสวัดพระแม่มารีหนองแห้ง บอกว่า หลังเกิดวิกฤติโควิด ทางฝ่ายสังคม สังฆมณฑลเชียงใหม่ ได้แจ้งประชาสัมพันธ์มาว่า ขณะนี้ พี่น้องที่อยู่ข้างล่างเขากำลังลำบาก เดือดร้อนเรื่องข้าวปลาอาหารกันมาก   ชาวบ้านหนองแห้ง จึงได้มีการระดมช่วยเหลือกัน มีอะไรก็เอามารวมกัน มีทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง พืชผักต่างๆ เช่น ข้าวสาร กระเทียม ผักกาด กะหล่ำ มะเขือ พริกแห้ง ขนลงมาที่สังฆมณฑลเชียงใหม่ จากนั้นจึงได้ช่วยกัน แบ่ง จัดสรรปันส่วน ใส่ถุงเพื่อนำไปแจกจ่าย โดยจะมีคุณพ่อ ซิสเตอร์ และเจ้าหน้าที่ นำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับมิสซัง

"และอีกส่วนหนึ่ง เรายังได้นำไปร่วมกับทางกลุ่มศาสนสัมพันธ์ นำไปแจกร่วมกับ ๕ ศาสนา มารวมกัน ที่พุทธสถาน เชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่ง เราได้นำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แถวปางช้าง แม่แตง ที่เข้ามาทำงาน แล้วไม่มีอาหารกิน ชาวบ้านบนดอย ในฐานะผู้ให้ เขารู้ว่าพี่น้องข้างล่าง กำลังเดือดร้อน จึงพร้อมยินดีที่จะช่วยเหลือแบ่งปันกัน"

สรุปบทเรียนวิกฤติโควิด นั้นสอนเตือนคนเราอย่างไรบ้าง

คุณพ่อธรรมนูญ บอกว่า ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่เคยเจอกับวิกฤติแบบนี้มาก่อน ซึ่งพยายามศึกษาหาข้อเท็จจริงเหมือนกัน ว่าสาเหตุที่ทำให้คนทั่วโลกประสบกับปัญหาไวรัสโควิด-๑๙ ในครั้งนี้ มันเกิดจากอะไรกันแน่ มันเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์ หรือว่านี่เป็นการลงโทษของพระเจ้า?

"พ่อก็มานั่งคิดๆ ดูว่า บางที ต่อไปนี้ สงครามการสู้รบด้วยอาวุธ อาจถูกเปลี่ยนไปกลายเป็นอาวุธเชื้อโรค แล้วทำให้คิดไปต่อว่า แล้วมันมาจากไหน มาจากอเมริกา หรือจีน แต่ว่าก็เจอเหมือนกันหมด อย่างไรก็ตาม ถ้ามันเกิดจากเงื้อมมือของมนุษย์จริงๆ พ่อถือว่านี่เป็นการเห็นแก่ตัวอย่างมาก เพราะมันได้ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง ทำให้คนทั้งโลกเดือดร้อน เพียงเพราะความโลภของมนุษย์ที่อยากเป็นใหญ่ ต้องการมีอำนาจ แต่ถ้าเรามองโลกในแง่ดี มันก็เป็นบทเรียนที่ดีมาก ทำให้เราหันมามองกลับมาว่า ทุกวันนี้ เราในฐานะมนุษย์ได้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมมากเกินไปหรือเปล่า เหมือนกับว่าเราได้ใช้ทรัพยากรของลูกหลานของเราล่วงหน้าไปเยอะหลายสิบปีแล้ว ดังนั้น พอเกิดวิกฤติโควิด ทำให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมันฟื้นตัว ได้พักฟื้น ไม่ว่าจะเป็นทะเล หรืออากาศ ทำให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด"

และแน่นอน เป็นปกติอยู่แล้ว เมื่อเจอปัญหาวิกฤติอะไร  ชาวบ้านก็มักจะเชื่อมสัมพันธ์กับพระเจ้า และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกครั้งถ้าเกิดปัญหาอะไร ชาวบ้านก็จะอาศัยความเชื่อ ติดสนิทกับพระเจ้ากันมากขึ้นด้วย

"ตอนนี้ พ่อก็ย้ำกับชาวบ้านว่า ต่อไปการใช้ชีวิตของเรา ต้องดำเนินชีวิตให้มีสติ และปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติและช่วยกันรักษาฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันให้มากขึ้น ตอนนี้ โควิดก็ยังมีอยู่ ไม่ได้หายไป  ดังนั้น เราจะต้องดำเนินชีวิตกันอย่างมีสติ เราจะกลับมาใช้ชีวิตหรือทำธุรกิจแบบเดิมก็คงไม่ได้ และจะใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือยอย่างเดิมคงไม่ได้อีกแล้ว หรือต่อไปเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ถ้าไปกระทบกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่ควรจะไปเบียดเบียนธรรมชาติ ซึ่งนโยบายของรัฐที่มุ่งเน้นให้เกิดเศรษฐกิจขยายตัวอย่างเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงว่ามันจะกระทบกับตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้สารเคมี หรือการเกิดภัยแล้ง น้ำแห้ง ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ อยากให้พี่น้องชาติพันธุ์เราหันกลับมาใช้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม แบบพอเพียง ทำเกษตรปลอดภัย น่าจะดีกว่า ซึ่งเมื่อก่อน วิถีปกาเกอะญอ บ้านไม่มีรั้ว มีแต่ความรัก เกื้อกูลแบ่งปันกัน ตอนนี้ ในพื้นที่ชุมชนหนองแห้ง คุณพ่อก็ได้เน้นกิจกรรมส่งเสริมในหลายๆ ด้าน เกี่ยวกับการอนุรักษ์ดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการบวชปลา รวมทั้งรณรงค์การเก็บขยะในชุมชนด้วย"

ทางด้าน บิชอป ฟรังซิส เซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์ สมณประมุขเขตศาสนปกครองเขตเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงการรับมือในสถานการณ์โควิด และในฐานะผู้นำในการกระตุ้นเตือนให้ศาสนิกตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม Laudato Si' เอาไว้ว่า ในช่วง ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ถึงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๓ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ทำให้เราต้องงดพิธีกรรม ร่วมมือกับคำสั่งของรัฐบาลไทย และฝ่ายปกครองท้องถิ่น จนในที่สุดเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เราจึงสามารถเปิดวัด กลับมาร่วมพิธีกรรมได้ ตั้งแต่วันอาทิตย์สมโภชพระจิตเจ้า วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ และแนวทางภาคปฏิบัติ ที่สภาประมุขบาดหลวงฯ ได้ประกาศ ทั้งนี้ให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าอาวาส

            "ประสบการณ์ของการต้องกักตัว อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ และเคอร์ฟิว ทำให้หลายคนศรัทธามากขึ้น คือ ร่วมพิธีสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เทศกาลปัสกา เพราะได้ร่วมมิสซาออนไลน์ สวดสายประคำตลอดเดือนพฤษภาคม ตามคำเชิญชวนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เพื่อขอให้เราพ้นวิกฤติครั้งนี้และกลับมาสู่วิถีชีวิตปกติใหม่"

สมณประมุขเขตศาสนปกครองเขตเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า สถานการณ์โควิด ช่วยทำให้ธรรมชาติสะอาดขึ้น เพราะไม่มีนักท่องเที่ยว และงดการเดินทาง ทำให้อากาศสะอาด บริสุทธิ์ หาดทรายทะเลสวยสดงดงาม

"ในสัปดาห์เลาดาโตซี ๑๖-๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๓ โอกาสครบ ๕ ปี ของสมณสาสน์ ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า (Laudato Si') เกี่ยวกับการดูแลรักษาโลก บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน สังฆมณฑลของเราร่วมมือเต็มที่ แม้จะเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่เราก็ทวีขนมปัง ปันความช่วยเหลือกันและกัน บ้านของเราเป็นวัดน้อยมากขึ้น อย่างไรก็ดี บัดนี้ขอเชิญพี่น้องกลับมาเข้าวัดสู่วิถีชีวิตปกติใหม่..เพราะคิดถึงกันครับ"

Image

เช่นเดียวกัน ดร.สุนทร วงศ์จอมพร ผู้อำนวยการศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ ฝ่ายสังคม สังฆมณฑลเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้นำเสนอ ‘ยุทธศาสตร์รับมือกับโควิด' ในครั้งนี้ ก็ได้บอกเล่าถึงการทำงานของสังฆมณฑลเชียงใหม่ในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-๑๙ เอาไว้ว่า  ‘ยุทธศาสตร์รับมือกับโควิด'  ที่ได้ดำเนินการนั้นมีทั้งหมด ๕ ขั้นตอน คือ

๑. ให้ความรู้เรื่องโควิด-๑๙  ตั้งแต่ในไทยเริ่มมีการระบาดของโควิด เจ้าหน้าที่ของมิสซังเชียงใหม่ซึ่งทำงานกับชาวบ้านทั้งชาวไทยและกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงในเขตภาคเหนือ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโควิด ให้แก่ชาวบ้าน ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม โดยมีการประกาศไม่ให้คนจากที่อื่นเข้าในพื้นที่ของหมู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอ ซึ่งมีจารีตประเพณี ได้ทำพิธีกรรมปิดหมู่บ้าน หรือ เกราะหยี่ เพื่อป้องกันเชื้อโควิดที่จะเข้าสู่หมู่บ้าน

๒. ได้ผลิตหน้ากากผ้า แจกจ่ายไปตามหมู่บ้านต่างๆ และส่งให้โรงพยาบาลที่มีใช้ไม่เพียงพอ ซึ่งมีผู้บริจาคมามากกว่า ๑,๐๐๐ ชิ้น และเราได้ร่วมกันผลิตเองด้วย โดยพระคุณเจ้า ซิสเตอร์ และเจ้าหน้าที่ทุกแผนกในสำนักมิสซัง ช่วยกันทำ มีทั้งหมด ๑,๑๔๐ ชิ้น หน้ากากเหล่านี้ ได้นำไปแจกจ่ายตามเขตวัดและโรงพยาบาลตำบลต่างๆ ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน

๓. ได้ระดมความช่วยเหลือด้านอาหาร ทั้งข้าวสาร และพืชผัก ผลไม้ แจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อนตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะข้าวสาร ที่มาจากเครือข่ายกองบุญข้าวของชาวปกาเกอะญอ ได้ระดมข้าวเพื่อบริจาค จำนวนกว่า ๕ ตัน รวมทั้งยังมีกะหล่ำปลี และพืชผักต่างๆ อีกจำนวน ๓,๒๒๔ กิโลกรัม มะเขือเทศ จำนวน ๕๗๐ กิโลกรัม กระเทียม พริก ฟักทอง ฟักเขียวอีกจำนวน ๔๒๕ กิโลกรัม รวมทั้งอาหารแห้ง จำพวก ปลากระป๋อง และบะหมี่สำเร็จรูปอีกด้วย

๔. การรับมือหลังโควิด-๑๙  เราอยากส่งเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อการพึ่งตนเองของชุมชนและต้องเป็นอาหารที่ปลอดภัย จากสถานการณ์โควิด ทำให้เห็นได้ว่า ชาวปกาเกอะญอที่ยังมีวิถีการผลิตอาหาร มีการปลูกข้าวไว้กินเอง ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แม้ว่าจะไม่มีรายได้จากการตกงาน ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยเหลือพี่น้องที่อยู่ในเมืองด้วยการระดมข้าวสาร พืชผักและสิ่งของจำเป็นให้กับพี่น้องผู้กำลังประสบวิกฤติโควิดได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล

หลังโควิด-๑๙ ทางมิสซังเชียงใหม่ ได้มีแผนปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้ชุมชนได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารในอนาคตให้กับชุมชนของตนเอง ดังคำสอนของพระเยซูที่ตรัสว่า "เมื่อเราหิว เจ้าให้เรากิน" (มธ.๒๕:๓๕) เพื่อก้าวสู่ขั้นตอนที่ ๕ คือ เกิดชุมชนแห่งการแบ่งปันเอื้ออาทรในความเป็นหนึ่งเดียวกัน เหมือนกับชีวิตคริสตชนรุ่นแรกนั่นเอง

๕. สร้างตลาดเพื่อการแบ่งปันและเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน  ด้วยเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหาร และการเก็บเมล็ดพันธุ์ เพื่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตอีก ๑๐-๑๕ ปีข้างหน้าได้

สอดคล้องกับ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรือ ‘ชิ สุวิชาน' ที่ใครหลายคนรู้จักกันในนามศิลปินปกาเกอะญอ ก็ได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องศาสนาคริสต์กับข้าว เอาไว้อย่างน่าสนใจด้วยว่า แต่เดิมประวัติศาสตร์ของการกำเนิดของศาสนาหลายศาสนา อาทิ คริสต์ อิสลาม ยูดาห์ ฯลฯ นั้น ล้วนมาจากแถบดินแดนตะวันออกกลาง ซึ่งวัฒนธรรมแถบนั้นนิยมกินขนมปัง และน้ำองุ่น ไม่ได้กินข้าว หรือน้ำข้าว แต่ครั้นมีการเผยแพร่ศาสนามาทางตะวันออก ซึ่งมีวัฒนธรรมการกินข้าวเป็นหลัก ผู้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ ก็พยายามยึดตามแนวคำสอนเหมือนที่พระเยซู กล่าวว่า "เราไม่ได้มาเพื่อลบล้างบัญญัติเดิม แต่เรามาเพื่อจะเติมเต็มให้มันสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป" ดังนั้น ศาสนาคริสต์ในตะวันออก จึงเชื่อมโยงผูกพันกับวัฒนธรรมข้าวของตะวันออก อย่างแยกจากกันไม่ออก จนกลายมาเป็น ‘กองบุญข้าว' เหมือนที่ทางสังฆมณฑล เชียงใหม่ ได้จัดกันมาอย่างต่อเนื่อง

"คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร เคยบอกเล่าไว้ว่า ก่อนหน้านั้น ได้เริ่มต้นด้วยกองทุนสวัสดิการ ในรูปแบบของการออมเงิน กู้เงิน จนกระทั่งได้หยิบหลักคำสอนของพระเจ้า เรื่องการช่วยเหลือหญิงหม้ายและเด็กกำพร้า  จึงมารู้ว่า สิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายที่สุดนั้นคือ ข้าว และเข้าใจแล้วว่า ในโลกนี้ สิ่งที่จะช่วยให้รอดนั้นคือ ข้าว และข้าวจึงเป็นเสมือนตัวแทนของพระเยซู ตัวแทนของพระเจ้า การแบ่งปันเมล็ดข้าว เป็นการแบ่งปันความรอด จนนำมาสู่การจัดตั้งกองบุญข้าวนี้ขึ้นมา"

ชิ สุวิชาน ยังบอกอีกว่า คุณพ่อนิพจน์ ได้เปรียบเปรยด้วยว่า พระเยซูตาย ๓ ครั้ง  ข้าวก็ตาย ๓ ครั้งเช่นเดียวกัน

"คุณพ่อนิพจน์ บอกว่า ตายครั้งแรก คือ ข้าวเปลือก ตายจากร่างเดิม เพื่อจะเป็นต้นข้าว  ตายครั้งที่ ๒ หมายถึง ถูกเกี่ยวข้าว ตัดรวงข้าวออกจากต้น เพื่อจะเป็นข้าวเปลือก, และตายครั้งที่ ๓ นั่นคือ จากข้าวเปลือก ได้กลายเป็นข้าวสาร เพื่อให้คน ให้สัตว์ได้กินกัน  ซึ่งทำให้เราเข้าใจได้ว่า นี่เป็นคติธรรม และเป็นการขับเคลื่อนมิติชุมชนกับศาสนาที่เชื่อมโยงหากัน ดังนั้น การแบ่งปันให้แก่ผู้ยากไร้ ก็หมายถึงการเผยแพร่ หยิบยื่นความรอดให้กับผู้อื่น ทำตามอุดมคติของพระเจ้า ซึ่งตรงกับพระคัมภีร์ที่ว่า จงรักเพื่อนบ้าน ให้เหมือนรักตนเอง นั่นเอง"

มาถึงตรงนี้ เราจึงพูดได้ว่า ศาสนจักรนั้นยังเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อน และมีส่วนร่วมในการพยุงค้ำจุนสังคมท่ามกลางวิกฤติการณ์โควิด-๑๙ ได้ เพื่อขอให้ประชาชนทุกคนได้ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้และกลับมาสู่วิถีชีวิตปกติใหม่ อีกครั้ง

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >