หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 184 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


วิถีปกาเกอะญอ ‘เกราะหยี่' ปิดหมู่บ้าน ต้านโควิด การให้และแบ่งปัน ในยามวิกฤติโควิด-๑๙ พิมพ์
Wednesday, 09 September 2020

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๑๑๓ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๓

 

วิถีปกาเกอะญอ
‘เกราะหยี่' ปิดหมู่บ้าน ต้านโควิด
การให้และแบ่งปัน ในยามวิกฤติโควิด-๑๙

องอาจ เดชา เรียบเรียง/สัมภาษณ์

 

ครั้งแรกในรอบ ๗๐ ปี ชาวกะเหรี่ยงฟื้นพิธีโบราณ ‘เกราะหยี่ - ปิดหมู่บ้าน' สู้โควิด-๑๙

หลายสื่อต่างพากันพาดหัวข่าวกันเช่นนี้

หลายคนคงงุนงงสงสัยกันว่า พิธี ‘เกราะ-หยี่' นั้นคืออะไร

ดร.ประเสริฐ ตระการศุภกร และ อ.วุฒิ บุญเลิศ สองนักวิชาการชาวกะเหรี่ยง ได้อธิบายความหมายและที่มาของพิธีกรรมสำคัญนี้ผ่านเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า คำว่า ‘เกราะ' แปลว่า "ปิด - กั้น - หรือ ปกป้อง" ส่วนคำว่า ‘หยี่' แปลว่า หมู่บ้าน บางแห่งเรียก ‘เกราะแกล๊ะ' หมายถึง "ปิดถนน" เพราะส่วนใหญ่จะทำพิธีบริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน การประกอบพิธีลักษณะนี้มีขึ้นใน ๒ กรณี คือเป็นพิธีประจำปี เรียกอีกอย่างว่า ‘บัวหยี่ บัวฆอ' เป็นการสะเดาะเคราะห์หมู่บ้าน โดยกำหนดปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออกเป็นระยะเวลา ๓ วัน ๗ วัน หรือ ๙ วัน หรือขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้นำแต่ละชุมชน ปัจจุบันยังมีให้เห็นอยู่บ้างที่ชุมชนกะเหรี่ยงทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน  ส่วนใหญ่จะทำพิธีในช่วงเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติ ระหว่างที่ปิดหมู่บ้าน หากมีคนนอกเผลอเข้าไป ก็จะต้องอยู่ในชุมชนจนกว่าจะครบกำหนด

ส่วนพิธีปิดหมู่บ้านที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงนี้ เป็นพิธีใหญ่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  มักใช้ในกรณีที่มีเหตุการณ์ร้ายแรง เช่น  มีคนเสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุติดต่อกันหลายคน เกิดโรคระบาดที่รักษาไม่ได้ แต่ละชุมชนก็จะทำพิธีปิดหมู่บ้าน ห้ามไปมาหาสู่กัน พบว่าเคยมีการประกอบพิธีเช่นนี้เมื่อประมาณ ๗๐ ปีที่แล้ว สมัยที่มีการระบาดของอหิวาตกโรค หรือ โรคห่า ระดับความตึงเครียดของพิธีปิดหมู่บ้านจะสังเกตได้จากสัญลักษณ์ที่ติดไว้บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน หากติดแค่ ‘ตะแหลว' หรือไม่ไผ่สานหกเหลี่ยม ยังไม่ถือว่าเหตุการณ์รุนแรงเท่าไหร่นัก แต่กรณีที่มีหอก ดาบ หรือหลาวปลายแหลมประดับไว้ด้วย นั่นหมายถึงสถานการณ์อยู่ในขั้นรุนแรงสูงสุด เช่น การระบาดของโควิด -๑๙ ในขณะนี้

หมู่บ้านดอยช้างป่าแป๋ ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ก็เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้าน ที่มีการรื้อฟื้นพิธีกรรมเกราะหยี่ หรือการปิดหมู่บ้าน กันขึ้นมา

 Image

‘ดีปุนุ' หรือ บัญชา มุแฮ แกนนำคนรุ่นใหม่ของชุมชนปกาเกอะญอบ้านดอยช้างป่าแป๋ ได้บอกเล่าให้ฟังว่า พิธีกรรม เกราะหยี่ นั้นมีมานานแล้ว  ตามความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ เพื่อป้องกันและส่งสิ่งไม่ดีออกไป จะมีการนำไม้ไผ่ เศษกิ่งไม้มากั้นขวางทางเข้าออกของหมู่บ้าน พร้อมอาวุธของมีคมและปลายแหลม จำพวก มีด ดาบ หอก มาปักไว้ตรงนั้น

ดีปุนุ เล่าให้ฟังอีกว่า ยังมีอีกพิธีกรรมหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘หวี่โดะ' หรือพิธีปัดรังควาน และส่งสิ่งไม่ดีให้ออกไปจากหมู่บ้าน  โดยผู้นำชุมชน หรือเจ้าพิธี จะนำไม้ไผ่มาสานเป็นกระสวยใบใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยม จำนวน ๒ ชิ้น จากนั้น คนในหมู่บ้านจะรวบรวมผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ใส่พริก เกลือ ยาสูบ ส้มป่อย ขมิ้น ข้าวสาร แล้วบอกให้ชาวบ้าน สมาชิกในชุมชนช่วยกันตัดเศษเสื้อผ้าของตัวเองมาใส่รวมกัน พร้อมกับมีการถ่มน้ำลายลงไป  จากนั้น  ผู้นำพิธีกรรม จะนำน้ำขมิ้น ส้มป่อย มาเป่าคาถาลงไป เมื่อเสร็จพิธีแล้ว จะให้ชาวบ้านนำกระสวยที่สานด้วยไม้ไผ่ ที่ใส่สิ่งของต่างๆ ไปวางไว้ทางทิศตะวันออก และทิศตะวันตก ของหมู่บ้าน ในช่วงเวลาค่ำๆ  จากนั้น จึงห้ามคนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า เป็นเวลา ๑ คืน ๑ วัน

"ก่อนที่ยังไม่มีการทำพิธีกรรมนี้ ชาวบ้านแต่ละคนจะมีความกังวลใจ ไม่สบายใจกันเลย ยิ่งพอมีโรคระบาดโควิดเกิดขึ้น คนเฒ่าคนแก่ก็จะมองแล้วว่า มันมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา ถ้าเราไม่ทำ ทุกคนก็จะไม่มีความสุข มีความกังวลอยู่อย่างนี้" 

ดีปุนุ มองว่า พิธีกรรมเกราะหยี่ นั้นเป็นสิ่งดี และถือเป็นการสืบทอดจารีตประเพณีที่บรรพบุรุษคนปกาเกอะญอของเรา ได้ทำกันมานานเมื่อ ๖๐-๗๐ ปีมาแล้ว แล้วก็เงียบหายไป

"การกลับมาทำในครั้งนี้ จึงเหมือนเป็นการรื้อฟื้นประเพณี และยังทำให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านอย่างเช่นผม ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ได้เรียนรู้ และร่วมกันสืบทอดกันต่อไป อีกมุมหนึ่งที่มองเห็น นั่นคือทำให้เกิดความรัก ความสามัคคีภายในชุมชน โดยจะเห็นได้ว่า ในพิธีกรรม ทุกคนจะนำผลไม้รสเปรี้ยว เศษเสื้อผ้า อาหารของตนเองมาวางกองรวมกัน แล้วถือว่าเป็นอีกช่องทางการสื่อสาร ให้ผู้คนและสังคมทั่วไปได้รับรู้ ว่าชุมชนของเรานั้นเป็นเขตวัฒนธรรมพิเศษ  ที่ชุมชนกะเหรี่ยงได้ร่วมกันรักษาและดำรงสืบทอดเอาไว้ไม่ให้สูญหาย"

เช่นเดียวกับ หมู่บ้านผาหมอน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีการทำพิธีเกราะหยี่ ปิดหมู่บ้านกัน ๑ คืน กับ ๒ วัน

‘จอแอะพอ' หรือ สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ ตัวแทนชาวบ้านบ้านผาหมอน บอกเล่าให้ฟังว่า บ้านผาหมอน ก็มีการทำพิธีเกราะหยี่ ปิดหมู่บ้านกัน ๑ คืน กับ ๒ วัน มีของเซ่นไหว้บูชา เช่น สะตวง ตะแหลว ข้าวเปลือก กล้วยดิบ รวมทั้งอาวุธ ของมีคม เช่น มีด หอก ดาบ ปืน เอามาวางตรงประตูที่ปิดกั้นทางเข้าหมู่บ้าน 

            วิกฤติโควิด ในครั้งนี้ได้สะกิดสอนเตือนใจเราอย่างไรกันบ้าง?

ดีปุนุ บอกเล่าให้ฟังอีกว่า วิกฤติโควิด ครั้งนี้ มันทำให้ตนนึกไปถึงคำสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เคยทำนายเอาไว้ว่า คนที่เป็นฝรั่ง จะล้มหายตายจากกันเยอะที่สุด คนในเมืองใหญ่จะลำบากขัดสนกัน ในขณะที่คนบนดอยนั้นจะอยู่รอดมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มพี่น้องปกาเกอะญอ ที่อาศัยอยู่กับธรรมชาติ  สอดคล้องกับคำสอนของบรรพบุรุษปกาเกอะญอที่บอกว่า

อ่อ ที กะต่อ ที อ่อ ก่อ กะต่อก่อ...

กินน้ำ ให้รักษาน้ำ อยู่ป่า ให้รักษาป่า

วิกฤติโควิด ยังทำให้เรารู้ว่า ระบบคิดแบบวิทยาศาสตร์ การศึกษาสมัยใหม่ การแพทย์สมัยใหม่ ที่มุ่งเน้นทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่มีความเชื่อ ไม่มีจิตวิญญาณ ไม่เคารพนบนอบกับธรรมชาติ จึงทำให้มีการทำลายล้างผลาญธรรมชาติ จนเกิดปรากฎการณ์โควิด ซึ่งทำให้เรารู้ว่า มนุษย์จำต้องอาศัยอยู่ด้วยความเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติ  แต่ถ้าไม่เคารพ ธรรมชาติก็จะกลับมาทำร้ายพวกเขานั่นเอง

"เพราะฉะนั้น พอเกิดวิกฤติโควิด เอาเข้าจริง โลกวิทยาศาสตร์ แบบฝรั่ง บางคนเป็นถึงด็อกเตอร์ เก่งมากๆ แต่พอเกิดโควิด ต่อให้คุณจะเก่งแค่ไหน หรือจะบินไปถึงดวงดาวดวงอื่น แต่ตราบใดที่คนเรายังโลภ และไม่สำนึกต่อผืนดิน ผืนโลก แม่น้ำ อากาศ ต่อให้คุณจะไปถึงดาวดวงใหม่ คุณก็จะไปทำลายดาวดวงอื่นเหมือนเดิม แต่ถ้าเราเคารพยำเกรงต่อธรรมชาติ ต่อผืนดินผืนนี้ ที่สุดแล้ว ธรรมชาติจะดูแลเราเอง เหมือนที่ผู้รู้เขาบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นดินเจ็ดชั้น ฟ้าเจ็ดชั้น ธรรมชาติจะเป็นสายใยปกป้อง โอบอุ้มเราไว้"  ดีปุนุ บอกย้ำให้เห็นภาพกันเลย

เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หรือ ‘ชิ สุวิชาน' ศิลปินปกาเกอะญอ ก็บอกเล่าให้เราฟังว่า เหตุการณ์วิกฤติโควิด-๑๙ ครั้งนี้ มันได้สื่อให้เรารู้ว่า ระบบการแพทย์สมัยใหม่ แพทย์แผนปัจจุบัน นั้นเอาไม่อยู่  พอเกิดโควิด มันจึงไม่ได้สร้างความมั่นคงปลอดภัย จนทำให้ชาวบ้านได้หันกลับไปเลือก ไปยึดมั่นแนวทางเดิม นั่นคือระบบการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีหลากหลายแนวทาง ไม่ว่าจะเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ ปัดพรมน้ำมนต์ สมุนไพร รวมไปถึงพิธีกรรมเกราะหยี่ หรือการปิดหมู่บ้าน การกักตัวของคนในชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นทางรอดดั้งเดิม

"เพราะคนปกาเกอะญอรู้กันดีว่า โรคระบาดนั้นไม่ได้เกิดในครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่มันเคยเกิดขึ้นนานมาแล้ว ตั้งแต่สมัยคนปกาเกอะญออาศัยอยู่ร่วมดินแดนเดียวกันกับคนลัวะ ก่อนคนโยน (คนเมือง) ด้วยซ้ำไป"

และนี่คือศาสตร์แห่งการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดของคนปกาเกอะญอ

ถ้าเราได้ยิน... ทำอย่างไรที่เราจะไม่ได้เห็น

ถ้าเราได้เห็น... ทำอย่างไรที่เราจะไม่ได้เจ็บ

ถ้าเราได้เจ็บ... ทำอย่างไรที่เราจะได้ไม่ตาย

"นี่คือวิธีคิด คือโลกทัศน์ในการป้องกันโรคระบาดของคนปกาเกอะญอ ที่สืบทอดกันมานานแล้ว ซึ่งถ้าความรุนแรงมันถึงระดับสี่ คือถึงตายกันเยอะๆ นั่นก็หมายถึงว่าต้องอพยพย้ายหมู่บ้านกันเลยทีเดียว เพราะปกติโรคระบาดนั้น มันไม่ได้มาจากคนเท่านั้น แต่มันมากับลม อากาศ แสง ไฟ น้ำ หรือที่รวมๆ กันเรียกว่า ‘สิ่งชั่วร้าย' เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีวิธีการสื่อสารและจัดการกับลมร้าย น้ำเป็นพิษ ไฟโหด หรือโรคระบาด"

ซึ่งถ้าย้อนดูประวัติศาสตร์ชุมชนในอดีต มักจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีลำห้วยไหลผ่าน แต่ถ้าหากเกิดโรคระบาดรุนแรง อย่างเช่น ฝีดาษ หรืออหิวาตกโรค ถึงขั้นล้มตายกันหลายชีวิต  คนปกาเกอะญอก็จะพากันย้ายหมู่บ้าน ทิ้งหมู่บ้าน ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ ในพื้นที่ที่มีลำห้วยสายใหม่ เพื่อป้องกัน ไม่ต้องรับเชื้อโรค จากลำห้วยสายเดิม

นอกจาก พิธีเกราะหยี่ และการอพยพย้ายหมู่บ้านแล้ว

การกักตัว ก็เป็นสิ่งที่คนปกาเกอะญอกระทำ เพื่อรักษาความสมดุลของชุมชน

"เพราะคนปกาเกอะญอเชื่อกันว่า ในทุกๆ ๗๐-๙๐ ปี โลกจะล้างตัวเอง แม่น้ำจะกลับมาสู่ร่องเดิมของตนเองอีกครั้ง เพราะฉะนั้น เราจะต้องเรียนรู้ เรื่องดิน น้ำ ป่า และคน  ซึ่งหมายถึงจริยธรรมของคนด้วย ว่าทำอย่างไรถึงจะให้ชุมชนมีความสมดุลตลอดเวลา

แต่เดิม คนปกาเกอะญอ จะต้องกักตัว ถูกกักไว้ที่กระท่อมในป่า ในเถียงนาที่ห่างไกลจากบ้าน โดยรอบๆ กระท่อม รอบๆ เถียงนา จะมีพืชผักต่างๆ ที่ปลูกไว้ สามารถหาผักหาอะไรกินกันได้ แต่ปัจจุบัน วิถีเริ่มเปลี่ยนไปตามยุคสมัย จึงมีการกักตัวภายในหมู่บ้าน ภายในโบสถ์แทน

ชิ สุวิชาน บอกอีกว่า กรณีที่มีคนหนุ่มสาวที่กลับเข้ามาในหมู่บ้าน จะถูกกักตัวเหมือนกัน  แต่ปัจจุบัน ในหลายชุมชนที่นับถือศาสนาคริสต์ ก็จะไม่มีการกักตัวตามกระท่อมในทุ่งนาหรือในไร่เหมือนสมัยก่อน แต่จะกักตัวที่โบสถ์แทน โดยมีญาติพี่น้องจะเตรียมข้าวสาร อาหาร พืชผักมาเตรียมไว้ให้ รวมทั้งหม้อหุงข้าวด้วย ซึ่งถือว่านี่เป็นสวัสดิการของสังคม ชุมชนที่สามารถจัดการตนเองได้เป็นอย่างดี และเป็นระบบ ดีกว่าระบบสมัยใหม่เสียอีก และไม่ใช่แค่เฝ้าระวังโรคระบาดเท่านั้น  อย่างเช่น คนทำผิดประเวณี สามีตาย หญิงหม้ายก็ต้องออกจากหมู่บ้าน กี่ปีๆ ถึงจะกลับเข้ามาใหม่ได้ นี่เป็นกุศโลบาย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และการจัดการเรื่องสุขภาพภายในชุมชนด้วย

เช่นเดียวกับ ดีปุนุ จากบ้านดอยช้างป่าแป๋ ลำพูน ก็เล่าให้ฟังว่า ที่บ้านมีหนุ่มสาวที่ออกจากหมู่บ้าน ลงไปทำงานรับจ้างในเมือง กลับมาบ้านดอย ในช่วงโควิด ก็จะมีการกักตัวเช่นกัน โดยชาวบ้านจะพาไปกักตัวในบ้านหลังหนึ่ง ซึ่งร้าง ไม่มีคนอยู่นานแล้ว ไม่ได้ออกไปอยู่ตามกระท่อมกลางป่าเหมือนแต่ก่อน บ้านที่กักตัวนั้นจะอยู่ในชุมชน ห่างกันประมาณ ๑๐๐ เมตร  ทางญาติๆ ชาวบ้าน ก็นำข้าวสาร เอาน้ำ เอาพืชผัก ใส่ถุงมาแขวนไว้หน้าประตูบ้าน พอพวกเขาถูกกักตัวครบ ๑๔ วัน ปลอดภัยดีแล้ว ก็สามารถออกมาใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิมได้

 

มีเหลือ จึงแบ่งปัน ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากในเมืองใหญ่

ดีปุนุ บอกว่า พวกเขารวบรวมข้าวสารจากพี่น้องชาวบ้านได้ส่วนหนึ่ง เราก็จัดสรรแบ่งข้าวสารในกระสอบใหญ่ มาแบ่งใส่ถุงๆ ละ ๒ กิโลกรัม จากนั้น ก็นำไปแจกจ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบในเมืองข้างล่าง

            เช่นเดียวกับ จอแอะพอ ที่บอกเล่าให้ฟังว่า ที่หมู่บ้านผาหมอน เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชาวปกาเกอะญอ ถึงแม้ไม่มีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ แต่คนในชุมชนก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน อย่างเช่น กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวโฮมสเตย์ น่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เข้ามาเที่ยวและพักในชุมชนนั้น ล้วนมาจากยุโรป อเมริกา ซึ่งพอมีการปิดประเทศ ปิดหมู่บ้าน จากที่ชาวบ้านเคยมีรายได้วันละหลายร้อยบาท ก็กลายเป็น ๐ บาทกันเลย  นอกจากนั้น ก็จะมีกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ทำการค้าขายกับคนข้างล่าง ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

"แต่ถ้าพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารในยามวิกฤติแบบนี้ ชาวบ้านผาหมอนนั้น ไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะเรามีข้าวเต็มยุ้งฉาง มีพืชผักอาหารในสวนในไร่อยู่มากมายเพียงพอ จนเหลือแล้วมีการรวบรวมเอาไปแจกจ่ายแบ่งปันให้กับพี่น้องคนในเมืองที่กำลังได้รับผลกระทบกันอย่างหนัก ผลผลิตที่ชาวบ้านปลูกไว้แล้วนำมาแจกจ่ายให้คนข้างล่าง คนในเมืองกันนั้น มีทั้งกะหล่ำปลี มะเขือเทศ ผักกาดขาว รวมทั้งข้าวสาร เราได้รวบรวมเอาไปส่งให้พี่น้องชาวบ้านในเมืองกัน" จอแอะพอ บอกเล่าให้ฟัง

นอกจากนั้น ชุมชนบ้านผาหมอน ยังเข้าร่วมโครงการข้าวแลกปลา กับพี่น้องชาวเล  โดยในช่วงวิกฤติโควิด ชาวบ้านผาหมอน ยังได้ระดมข้าวสาร พืชผัก ส่งไปช่วยเหลือพี่น้องชาวเลอีกด้วย

 

การเก็บเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น คือวิถีภูมิปัญญา คือความมั่นคงทางอาหาร

จอแอะพอ หรือ สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ ชาวบ้านบ้านผาหมอน ถือว่าเป็นคนหนุ่มอีกคนหนึ่ง ที่พยายามสืบสานภูมิปัญญาเรื่องการเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ไม่ให้สูญหาย

ในยามวิกฤติโควิด เขาได้รวมกลุ่มเด็กเยาวชนในหมู่บ้านผาหมอน เพื่อทำกิจกรรมเรียนรู้ วิถีภูมิปัญญาเรื่องเมล็ดพันธ์ท้องถิ่นและความมั่นคงทางอาหาร

            จอแอะพอ บอกเล่าให้ฟังว่า ปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นหลัง เริ่มจะลืมวิถีปกาเกอะญอ ไม่ค่อยสนใจอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ ซึ่งไม่ใช่แค่ชุมชนบ้านผาหมอนที่เดียว แต่มันกระทบไปหมดแล้ว

"วิถีปกาเกอะญออาจหายไป ๔๐% แต่ยังเหลืออีก ๖๐% ที่ยังคงมีวิถีดั้งเดิมกันอยู่ ซึ่งครั้นพอเจอวิกฤติโควิด-๑๙ แบบนี้ พอโรงเรียนปิด เด็กๆ ไม่ได้ไปไหน จึงได้ชักชวนเด็กๆ เยาวชนปกาเกอะญอไปเรียนรู้วิถีภูมิปัญญาเรื่องเมล็ดพันธ์ท้องถิ่นและความมั่นคงทางอาหาร กันดีกว่า ผมจึงเริ่มมาศึกษาค้นคว้าภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนปกาเกอะญอว่า วิถีคนรุ่นเก่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง โดยผมจะให้เด็กๆ เยาวชนไปค้นหากันเองว่า อย่างเรื่องเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น ที่เขาปลูกกันในไร่ในสวนรอบๆ บ้านนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ ยกตัวอย่างเช่น ถั่ว มะเขือ นั้นมีกี่ประเภท มีกี่ชนิด รวมไปถึงเมล็ดพันธุ์ข้าวของพี่น้องปกาเกอะญอของเรานั้นมีกี่สายพันธุ์ รวมไปถึง ห่อวอ หรือเครื่องเทศประจำเผ่าของเรานั้นจะมีทุกครัวเรือน หรือในไร่ ซึ่งจะขาดไม่ได้เลย"

จอแอะพอ บอกว่า ตนเองพยายามจะบอกน้องๆ ว่า การดำเนินชีวิตของคนเรา ถ้าเรามีเป้าหมาย คือ เงิน ร่ำรวยด้วยเงินทองมากเกินไป เราก็จะนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่ถ้าเราเข้าใจวิถีปกาเกอะญอ  อยู่กับธรรมชาติอย่างไร ให้อยู่อย่างมีความสุข

"เราดูการปรับตัวในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา จะเห็นว่า คนปกาเกอะญอ จะมีการปิดหมู่บ้านได้เร็วที่สุด เพราะคนปกาเกอะญอ นั้นรู้ว่า โรคระบาดแบบนี้ จะเกิดขึ้นทุก ๘๐-๑๐๐ ปี ซึ่งชาวบ้านนั้นเตรียมพร้อม คือ มีข้าวเต็มยุ้งข้าว มีพืชผักในไร่ และสะสมเกลือ"

เช่นเดียวกับ ดีปุนุ ที่ทำให้เรารู้ว่า ‘การทำไร่หมุนเวียน' จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุดในวิกฤติโควิดในครั้งนี้

"จะเห็นได้ว่า ถ้าเรามีไร่หมุนเวียน มีข้าว มีพืชพันธุ์ มีเมล็ดพันธุ์ ฟักแฟง เผือกมัน ฯลฯ  ทำให้เราสามารถมีกินได้ และยังเหลือนำไปแบ่งปันกับพี่น้องที่อยู่ในเมือง อีกทางหนึ่งด้วย"

แน่นอน ทุกคนต่างมองเห็นถึงคุณค่าวัฒนธรรมของปกาเกอะญอ ในภาวะเกิดวิกฤติโควิด ว่า วิถีช่วยเหลือเกื้อกูลกันในวัฒนธรรมปกาเกอะญอ ที่ปลูกข้าวไว้กินเอง แล้วยังแบ่งปันเอาไว้ช่วยเหลือคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนจน เด็กกำพร้า แม่ม่าย คนพิการนั้น เป็นพื้นฐานของวัฒนธรรมปกาเกอะญอที่ทำเป็นเรื่องปกติ เมื่อเกิดวิกฤติโควิด มีการระดมความช่วยเหลือ ก็ยิ่งปรากฏชัดออกมาภายนอกด้วย เน้นคุณค่าการแบ่งปันมากกว่าการแจก เพราะการแบ่งปัน มีความห่วงใย การรับใช้กันมากกว่า

 

ข้าว คือขวัญ คือสิ่งสำคัญที่สุดของคนปกาเกอะญอ

"คนปกาเกอะญอนั้นให้ความสำคัญกับข้าวมาก ข้าวมีค่ามากกว่าทองคำ มีเรื่องเล่าบอกว่า ข้าวเปลือกนั้นมีสีเหมือนทองคำ ส่วนข้าวสารนั้น สีเหมือนกับเงิน ข้าวจึงไม่ใช่เพียงแค่สิ่งของ แต่ข้าวคือขวัญ เพราะฉะนั้น เราจะเห็นในทุกพิธีกรรมไม่ว่าการแต่งงาน การเกิด การป่วย การตายนั้น จะต้องมีข้าวเป็นองค์ประกอบในการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อนทุกครั้ง"  ชิ สุวิชาน บอกเล่า

ทำไมคนปกาเกอะญอจึงมักนำข้าวไปแจกจ่ายกับคนยากคนจน ผู้ยากไร้

ชิ สุวิชาน บอกว่า วิถีคนปกาเกอะญอนั้น ยึดถือคำสอนของบรรพชนสืบต่อกันมานานแล้วว่า คนปกาเกอะญอจะแบ่งข้าวเก็บไว้เป็น ๓ ส่วน คือ ๕๐% จะเก็บข้าวไว้เลี้ยงครอบครัว และเครือญาติของตัวเอง  อีก ๒๕% จะเก็บข้าวไว้เลี้ยงแขกผู้มาเยือนและสัตว์เลี้ยง เช่น ไก่ หมู สุนัข วัวควาย ช้าง ม้า รวมไปถึงสรรพสัตว์อื่นๆ อาทิ นก หนู แมลง ซึ่งเราจะเห็นว่าหลังฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านเขาจะหว่านเมล็ดข้าวให้สัตว์พวกนี้กินด้วย เพื่อเป็นการขอบคุณที่ได้ช่วยกันดูแลรักษาต้นข้าวในไร่เราไว้ ฯลฯ และอีก ๒๕% จะเก็บข้าวเอาไว้แบ่งปันให้ ‘หมื่อแม' หรือหญิงหม้าย และ ‘โผว่แคร์' หรือเด็กกำพร้า

"มีคำสอนของปกาเกอะญอ บอกว่า ถ้าเราเอาข้าวสาร หรืออาหารมอบให้แก่หญิงหม้าย เด็กกำพร้า เราจะมีความสุขใจยิ่งกว่าได้ยินได้ฟังเสียงดนตรีปี่เขาควายเสียอีก ซึ่งเรารวมไปถึง ผู้ยากไร้ ผู้ประสบภัยพิบัติ คนชายขอบ หรือคนผู้ถูกทอดทิ้งจากภาครัฐด้วย และนี่คือระบบคิด ระบบสวัสดิการของคนปกาเกอะญอที่สืบทอดกันมานานแล้ว และเป็นระบบสวัสดิการที่ดีที่สุดด้วย และไม่ได้เริ่มต้นด้วยกองทุนเงิน แต่เริ่มต้นด้วยกองทุนข้าว

 ซึ่งสอดคล้องกับที่คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร เคยบอกเล่าไว้ว่า ก่อนหน้านั้นได้เริ่มต้นด้วยกองทุนสวัสดิการ ในรูปแบบของการออมเงิน กู้เงิน จนกระทั่งได้หยิบหลักคำสอนเรื่องการให้ความช่วยเหลือหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าในพระคัมภีร์ จึงรู้ว่า สิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายที่สุดนั้นคือ ข้าว และเข้าใจแล้วว่า ในโลกนี้ สิ่งที่จะช่วยให้รอดนั้นคือ ข้าว และข้าวจึงเป็นเสมือนตัวแทนของพระเยซู ตัวแทนของพระเจ้า การแบ่งปันเมล็ดข้าว เป็นการแบ่งปันความรอด จนนำมาสู่การจัดตั้งกองบุญข้าวนี้ขึ้นมา"  ชิ สุวิชาน บอกย้ำคำสอน

ชิ สุวิชาน ยังได้วิพากษ์ถึงระบบคิดของรัฐในปัจจุบันด้วยว่า ที่ผ่านมา รัฐมีการพยายามตัดตอนระบบการแพทย์สมัยโบราณ ซึ่งเป็นวิถีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขององค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีคุณค่าและเรียนรู้สืบทอดกันมานาน แต่ก็ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน เพื่อจะบอกชาวบ้านว่าการแพทย์สมัยใหม่นั้นดีกว่า จนมายุคโควิด-๑๙ ในครั้งนี้  จึงเห็นชัดเลยว่าระบบคิดแบบรัฐนั้น ล้มเหลว ช้า ไม่ทันการณ์

"จะเห็นได้ว่า ในขณะที่เชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ยังไม่ระบาดมาก และรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศปิดประเทศ ปิดจังหวัด แต่พี่น้องปกาเกอะญอเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว จึงรีบปิดหมู่บ้านก่อนด้วยซ้ำ มีการทำพิธีกรรมเกราะหยี่ มีการกักตัว และมีการช่วยเหลือแบ่งปัน ข้าวสาร พืชผักให้แก่ผู้ที่ลำบากยากไร้ในหลายๆ พื้นที่ ดังนั้น จึงอยากให้รัฐได้หันมาปกป้อง สนับสนุน วิถีจารีต องค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้แต่ละชุมชน ได้ปรับใช้ จัดการตนเอง โดยรัฐอย่าไปกดทับ ปิดกั้น ภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้อีกเลย"  ชิ สุวิชาน ได้บอกย้ำให้ฟัง

ชิ สุวิชาน เขายังเป็นผู้ริเริ่ม ตัวตั้งตัวตี ที่ทำให้เกิดโครงการข้าวแลกปลา ระหว่างพี่น้องปกาเกอะญอกับพี่น้องชาวเล ชุมชนชาวเลราไวย์

ชิ สุวิชาน  หรือ ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้อธิบายถึงที่มาโครงการนี้เอาไว้ว่า จากสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-๑๙ หรือ Corona Virus ทำให้รัฐต้องใช้มาตรการต่างๆ ในการป้องกันและรับมือกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาระยะห่างทางร่างกาย (Physical Distance) การรักษาระยะห่างทางสังคม  (Social Distance) และการปิดประเทศ ปิดจังหวัด ปิดเมือง ตลอดจนการประกาศเคอร์ฟิว หรือ พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกอาชีพ ทุกระดับ อาจจะยกเว้นธุรกิจทุนผูกขาดอาหารบางเจ้าที่สามารถดำเนินกิจการสร้างกำไรในช่วงภาวะวิกฤติได้อย่างปกติหรือมากกว่าปกติ

ในระดับชุมชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีมากน้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านฐานทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนนั้นๆ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหาร กลายเป็นตัวชี้วัดการอยู่รอดของชุมชน อย่างเช่น ชุมชนปกาเกอะญอบางชุมชนปิดหมู่บ้านโดยใช้พิธีกรรม ‘เกราะหยี่' ซึ่งเป็นพิธีกรรมปิดหมู่บ้านแบบดั้งเดิม คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์ประเทศด้วยซ้ำ ทั้งนี้เพราะชุมชนปกาเกอะญอเหล่านี้มั่นใจว่าแม้ปิดหมู่บ้าน ชุมชนสามารถพึ่งตนเองอยู่รอดได้ด้วยการมีฐานทรัพยากรที่เป็นแหล่งอาหารเพียงพอสำหรับคนในชุมชน

ในขณะที่หลายชุมชนก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลเหมือนกัน เช่น ชุมชนชาวเลราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ที่ประชากรส่วนใหญ่ยังชีพด้วยการหาปลาสดมาขาย เพื่อนำเงินมาซื้อข้าวและสิ่งของจำเป็นในชีวิต เมื่อพื้นที่ถูกปิด และธุรกิจการท่องเที่ยวหยุดกิจการทั้งหมด ทำให้ชุมชนชาวเลหาปลาได้แต่ไม่สามารถขายปลาสดได้  จึงไม่มีรายได้ที่จะไปซื้อข้าวกิน ทำให้เริ่มขาดแคลนข้าว ประเด็นนี้กลายเป็นโจทย์ทางสังคมในการค้นหาแนวทาง กระบวนการ หรือเครื่องมือในการสร้างการอยู่ร่วมและอยู่รอด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชุมชนในสภาวะวิกฤติการณ์เช่นนี้  ยิ่งในสภาวะที่กลไกของรัฐไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งต้องมีการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาให้ได้อย่างรวดเร็วทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว

"จึงเกิดโครงการข้าวแลกปลาขึ้นมา ซึ่งมันได้สร้างระบบเศรษฐกิจทางเลือกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘เศรษฐวัฒนธรรม P2P Resolution' เปิดโอกาสให้คนกับคนมาเจอกัน เป็นโอกาสให้ผู้ผลิตกับผู้ผลิตซึ่งมีสายสัมพันธ์อุปสงค์อุปทานเดียวกันมาแลกเปลี่ยนอุปสงค์อุปทานกันให้มากที่สุด โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือที่เรียกกันว่านายทุนนั่นเอง"

และแน่นอน ในท่ามกลางวิกฤติโควิด ทำให้หลายคนมองเห็นศักยภาพของวิถีชุมชน คนชนบทนั้นมีพลัง และค้นหาหนทางความอยู่รอดได้ดีกว่าวิถีชุมชนในเมือง อย่างเห็นได้ชัด

"โควิดทำให้เห็นว่า ชนบทยังมีชีวิตอยู่และมีชีวิตอยู่พร้อมศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพียงแต่ที่ผ่านมาเรามักโฟกัสทุกอย่างไปที่จุดศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯ มองจุดศูนย์กลางเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ในขณะที่ท้องถิ่นไม่เคยถูกทำให้เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ไม่เคยถูกทำให้เป็นอัตลักษณ์ของชาติ แต่เมื่อเกิดวิกฤติ มันย้อนกลับไปหาความจริงว่า ท้องถิ่นยังทำหน้าที่ของมันอยู่ ท้องถิ่นยังมีศักยภาพของมันอยู่"  ชิ สุวิชาน บอกเล่า

ซึ่งเขากำลังบอกว่า วิกฤติโควิด กำลังล้มล้างทฤษฎีมากมาย โดยเฉพาะที่เคยกล่าวไว้ในอดีตว่า ชนบทตายแล้ว แต่มาถึง ณ เวลานี้ กลับกลายเป็นว่า เมืองกำลังตายแล้ว!

"เพราะตอนนี้ กลายเป็นเมืองที่พึ่งตัวเองไม่ได้ คนที่พึ่งตัวเองได้คือชนบท ไม่ว่าจะวิกฤติหรือไม่วิกฤติ เขาอยู่ได้อยู่แล้ว แต่ยิ่งวิกฤติมันจะยิ่งชัดขึ้น เพราะฉะนั้นโควิดทำให้รู้ว่าฐานการผลิตอยู่ที่ชนบท อยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น"  ผศ.ดร.สุวิชาน บอกย้ำ

นี่คือบทสะท้อน ให้เห็นถึง วิถีปกาเกอะญอ หลักความเชื่อทางวัฒนธรรม จารีตประเพณี ซึ่งสอดคล้องกับมิติทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการชี้ให้เห็นทางออก ท่ามกลางวิกฤติโควิด-๑๙ ที่คาดกันว่าจะยังยืดเยื้อต่อไปอีกยาวนาน.

 

 ------------------

ข้อมูลประกอบ

- ครั้งแรกในรอบ ๗๐ ปี ชาวกะเหรี่ยงฟื้นพิธีโบราณ ‘เกราะหยี่ - ปิดหมู่บ้าน' สู้โควิด-๑๙, เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง https://imnvoices.com,17/03/2020

- เศรษฐวัฒนธรรม P2P Resolution นวัตกรรมสังคมในสถานการณ์วิกฤต, ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สำนักข่าวชายขอบ https://transbordernews.in.th, ๒ พฤษภาคม, ๒๕๖๓

- ระบบเศรษฐกิจไวรัสจากที่ราบสูง สร้างกองกำลังอาหาร ตัดตอนเส้นทางผลิต, กาญจนา ปลอดกรรม, https://decode.plus, 29 MAY 2020

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >