บทความล่าสุด |
---|
ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน
|

แนะนำวารสาร "ผู้ไถ่" เล่มล่าสุด |
![]() |
Tuesday, 11 April 2023 | ||||||||
วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๔๔ ฉบับที่ ๑๒๑ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๖๖ HOPE ชีวิตวิถีใหม่ อยู่รอดได้...ก้าวไปด้วยกัน
เปิดเล่ม
เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ได้เผยแพร่ รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี ๒๕๖๖ (Global Risks Report ๒๐๒๓) กล่าวถึง ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ และสงครามในยูเครนที่ยังส่งผลกระทบต่อโลก โดยเฉพาะเรื่อง "ค่าครองชีพ" ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในช่วง ๒ ปีข้างหน้า รวมถึงประเด็นความล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความซบเซาทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยี รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี ๒๕๖๖ นำเสนอผลจากการเก็บข้อมูลผ่านการสำรวจ Global Risks Perception Survey (GRPS) ล่าสุด โดยได้สำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนที่มีต่อความเสี่ยงโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น (๒ ปี) และความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในระยะยาว (๑๐ ปี) และเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงโลก World Economic Forum ได้วิเคราะห์แนวโน้มความเสี่ยงผ่าน ๕ มิติ ประกอบด้วย มิติเศรษฐกิจ (economic) มิติสังคม (societal) มิติสิ่งแวดล้อม (environmental) มิติภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical) และมิติเทคโนโลยี (technological)
ความเสี่ยงมิติสังคม "วิกฤตค่าครองชีพ" ติดอันดับ ๑ ของความเสี่ยงโลกมีโอกาสรุนแรงที่สุดในอีก ๒ ปีข้างหน้า ขณะที่ ความเสี่ยงมิติสิ่งแวดล้อม ติดอันดับความเสี่ยงที่มีแนวโน้มจะรุนแรงในระยะยาว ๑๐ ปี ถึง ๖ อันดับ จาก ๑๐ อันดับ ได้แก่ อันดับ ๑ ความล้มเหลวในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับ ๒ ความล้มเหลวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับ ๓ ภัยพิบัติทางธรรมชาติเหตุสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว อันดับ ๔ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศ อันดับ ๖ วิกฤตด้านทรัพยากรธรรมชาติ และ อันดับ ๑๐ เหตุความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-๑๙ และสงครามในยูเครน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลและธนาคารกลาง อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในอีก ๒ ปีข้างหน้า ขณะที่ การแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical tensions) และการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้สินอย่างเป็นวงกว้างในระยะยาว สงครามเศรษฐกิจ จะกลายเป็นเรื่องปกติ ใน ๒ ปีข้างหน้า การปะทะระหว่างมหาอำนาจโลกจะทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงการแทรกแซงตลาดโดยรัฐ ขณะที่ ผู้ตอบแบบสอบถาม GRPS คาดหวังว่าการปะทะกันระหว่างรัฐ จะคงอยู่ในลักษณะสงครามทางเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ในอีก ๑๐ ปีข้างหน้า เทคโนโลยี จะทำให้ความไม่เท่าเทียมรุนแรงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงจากความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล วิกฤตอาหาร เชื้อเพลิง และต้นทุน ทำให้ความเปราะบางทางสังคมรุนแรงขึ้น ขณะที่การลงทุนลดลง ด้านการพัฒนามนุษย์ทำให้ความสามารถตั้งรับปรับตัว (resilience) ในอนาคตลดลงตามไปด้วย จากรายงานดังกล่าว ความเสี่ยงในประเด็นต่าง ๆ ทั้งความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคม ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น โลกจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันและมองถึงวิธีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ในการสร้างเส้นทางสู่โลกที่ดีขึ้น ครอบคลุม และมั่นคงต่อไป
เมื่อหันมาดูประเทศไทย หลังวิกฤติโควิด ๑๙ ประเทศไทยและคนไทย จะก้าวเดินไปในทิศทางใด และเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบไหน? บทความเรื่อง เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-๑๙ : โรคปฏิวัติโลก ยกเครื่องสู่อนาคตวิถีชีวิตใหม่ ในเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้อธิบายว่า...เราต้องยอมรับกันว่า ประเทศไทยนั้นได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากสาเหตุหลักๆ คือ (๑) ไทยถือเป็นประเทศที่มีระดับการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศสูง มูลค่าความเสียหายในครั้งนี้จึงสูง โดยข้อมูลล่าสุด ณ เมษายน ๒๕๖๓ พบว่า ภาคส่งออกซึ่งมีขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ ๖๐ ของ GDP หดตัวสูงร้อยละ ๑๖ ขณะที่ภาคท่องเที่ยวซึ่งมีขนาดร้อยละ ๑๗ ของ GDP หดตัวร้อยละ ๑๐๐ นอกจากนี้ (๒) ปัจจัยพื้นฐานทางโครงสร้างเศรษฐกิจไทยก่อนเกิดวิกฤติโควิด-๑๙ มีความเปราะบางอยู่แล้ว ทั้งจากการลงทุนในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำยาวนาน ธุรกิจ SMEs และแรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถแข่งขันได้ และมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดสำคัญของการฟื้นตัวในระยะต่อไป ในมิติด้านแรงงาน การปิดสถานประกอบการทำให้แรงงานบางส่วนถูกเลิกจ้าง โดยแรงงานในเมืองใหญ่ที่ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร ปรับตัวโดยตัดสินใจกลับภูมิลำเนา ประกอบด้วยกลุ่มที่จำเป็นต้องกลับเพราะถูกเลิกจ้าง กลุ่มที่กลับดีกว่าไม่กลับเพราะสถานประกอบการปิดชั่วคราว และกลุ่มที่กลับเพื่อไปตั้งหลักหรือทำงานจากบ้านในต่างจังหวัด ขณะที่แรงงานกลุ่มตอนต้น (อายุ ๑๕ - ๒๙ ปี) อาจได้รับผลกระทบในระยะยาว เพราะหากเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวจะทำให้กลุ่มนี้หางานได้ยากขึ้น บทความนี้ ได้ทิ้งท้ายด้วยวลีที่รู้จักกันดีของ Dr. Viktor Frankl นักประสาทวิทยาและจิตแพทย์ที่มีชื่อเสียงชาวออสเตรียผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายของค่ายกักกันที่ว่า "When we are no longer able to change a situation, we are challenged to change ourselves." "เมื่อเราไม่สามารถเปลี่ยนสถานการณ์ได้ นั่นหมายถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนตัวเอง" ซึ่งคงจะใช้ได้ดีในสถานการณ์เวลานี้ สอดคล้องกับสารของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ในโอกาสเฉลิมฉลองวันสันติสากล ครั้งที่ ๕๖ ที่เน้นย้ำว่า "ไม่มีใครสามารถรอดโดยลำพังได้ การต่อสู้กับโควิด-๑๙ อย่างไม่หยุดยั้ง และก้าวเดินไปด้วยกันบนเส้นทางแห่งสันติภาพ" วารสาร "ผู้ไถ่" ฉบับนี้ จึงได้นำเสนอบอกเล่าเรื่องราวในบางพื้นที่ของสังคมไทย ว่าหลังวิกฤตโควิด-๑๙ ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ได้ปรับตัวตั้งรับกับชีวิตวิถีใหม่กันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะปัญหาความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียม ปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปัญหาแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงการค้นหาทางออกของชุมชน ด้วยการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน ซึ่งอาจจะเป็นหนทางแห่งความอยู่รอดได้ในอนาคต.
ข้อมูลอ้างอิง ๑. World Economic Forum เผยเเพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี ๒๕๖๖, Praewpan Sirilurt, https://www.sdgmove.com/2023/01/24/wef-global-risks-report-2023/ ๒. เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-๑๙ : โรคปฏิวัติโลก ยกเครื่องสู่อนาคตวิถีชีวิตใหม่, ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ และทศพล ต้องทุ้ย, ธนาคารแห่งประเทศไทย, https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256303_CoverStory.aspx +++++++++++++++++++++++++++++++
หากท่านมีความประสงค์จะสั่งซื้อ วารสารผู้ไถ่ / ร่วมสนับสนุนการจัดพิมพ์
คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกยุติธรรมและสันติ (ยส.)
Powered by AkoComment 2.0! |
< ก่อนหน้า | ถัดไป > |
---|