หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 103 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เราจะสร้างพื้นที่สนทนาของคนต่างเจน(Gen) เพื่อสื่อสาร เข้าใจ และอยู่ร่วมกันได้อย่างไร พิมพ์
Monday, 23 September 2019

เราจะสร้างพื้นที่สนทนาของคนต่างเจน (Gen) ต่างวัย ต่างความคิด

เพื่อสื่อสาร เข้าใจ และอยู่ร่วมกันได้อย่างไร 

ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี สัมภาษณ์


         
"สังคมไทยกลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงระหว่างความคิด 2 กระแส โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีปัญหาเรื่อง 'กาละ' ส่วนฝ่ายก้าวหน้ามีปัญหาเรื่อง 'เทศะ' และทั้ง 2 ฝ่าย ต่างพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโลกของผู้อื่นให้ตรงกับความคิดของฝ่ายตน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องการนำความคิด ความเชื่อ และคุณค่าจากโลกสมัยเก่ากลับมาอยู่ในกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ขณะที่ฝ่ายก้าวหน้าพบว่าการนำแนวคิดจากโลกภายนอกมาไว้ในพื้นที่เดิมที่ไม่ใช่เนื้อดินถิ่นกำเนิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย"

ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล [1]

......


         
ระยะหลังๆ มานี้ เห็นได้ชัดว่าสังคมไทยมีความขัดแย้งทางด้านความคิดระหว่างคนต่างวัย หรือต่างเจเนอเรชั่นกัน (Generation) โดยเฉพาะสถานการณ์ทางสังคมและการเมือง จากเดิมที่เป็นความขัดแย้งระหว่างชนบทกับเมือง หรือชนชั้นทางเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เมื่อพื้นที่สนทนาหลักของสังคมไทยกลายเป็นการสื่อสารกันผ่านโลกออนไลน์ เราจึงเห็นการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียของผู้ใหญ่กับคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนว่าจะมีการแบ่งฝ่ายเลือกข้างกันอย่างชัดเจน

          เห็นได้จากสถานการณ์ที่คุกรุ่นขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา กระทั่งทุกวันนี้ มีตัวอย่างหลายๆ กรณี การแสดงความคิดเห็นของผู้คนในโซเชียลมีเดีย ต่อข่าว สถานการณ์ หรือโพสต์ต่างๆ เช่น ข่าวของพรรคอนาคตใหม่กับพลังประชารัฐ ถ้าเป็นข่าวเกี่ยวกับพรรคอนาคตใหม่ คนที่มาเล่นงาน มาถล่ม ก็จะเป็นผู้ใหญ่ ส่วนคนรุ่นใหม่จะแสดงความคิดเห็นในเชิงสนับสนุนมากกว่า อย่างกรณีที่ท่านใหม่ หรือหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล โพสต์วิพากษ์วิจารณ์ คุณไอติม หรือ พริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคประชาธิปัตย์ ว่า "...เด็กที่มี ไอ้...ยังไม่เจริญ"  แล้วคุณไอติม ทวีตตอบโต้ว่า "ไม่น่าเชื่อว่าคนที่มีประสบการณ์ชีวิตมายาวนานอย่างท่านจะคิดได้แค่นี้เวลาวิพากษ์วิจารณ์คนที่อายุน้อยกว่า" [2]

          หรืออย่างวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กรณีคุณหมอพรทิพย์ โรจนสุนันท์ โพสต์วิจารณ์เรื่องการแต่งกายของ คุณช่อ-พรรณิการ์ วานิช พรรคอนาคตใหม่ ว่า ไม่ตรงธรรมเนียมปฏิบัติ ด้านคุณช่อ-พรรณิการ์ ก็ยืนยันว่าเธอแต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ และไม่ติดใจโพสต์ตำหนิของคุณหญิงหมอ แต่ในโลกโซเชียลก็ดรามาต่อ โดยนำไปโยงชุดของคุณช่อกับทรงผมสีม่วงของคุณหญิงหมอ ฝ่ายคนรุ่นใหม่ก็แสดงความคิดเห็นถล่มคุณหญิงหมอกันขนานใหญ่

          กระทั่งมีการนำภาพเมื่อครั้งที่คุณช่อถ่ายกับเพื่อนๆ ในวันรับปริญญาบัตร แล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก แสดงถึงทัศนคติที่เป็นลบต่อสถาบันหลักของชาติ ทำให้คนไทยจำนวนมากรับไม่ได้ และตามมาด้วยการแสดงความคิดเห็นจากผู้ใหญ่ในสังคมถึงขั้นไล่ให้ออกนอกประเทศ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นของศิลปินดาราอีกหลายต่อหลายคนที่โพสต์สนับสนุน "#ดักตบช่อช่อง Arrival" [3] ที่ปลุกกระแสสร้างความเกลียดชังต่อคนที่คิดเห็นต่างไปจากพวกตน

          ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ ปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลกโซเชียลเช่นนี้ เราจะทำความเข้าใจมันอย่างไร โซเชียลมีเดียทำให้เรามองพื้นที่สนทนา (Dialoque) ระหว่างเจนอย่างไร มีเครื่องมือหรือวิธีคิดใดที่จะทำให้คนที่อยู่คนละวัย คนละเจน คนละความคิด เกิดการคุยกันได้ เข้าใจกันได้ ผู้ใหญ่จะเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนรุ่นใหม่ และเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่อย่างไร ส่วนคนรุ่นใหม่เองจะเข้าใจผู้ใหญ่และเรียนรู้จากผู้ใหญ่อย่างไร เพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายนี้

          "ผู้ไถ่" ขอเปิดพื้นที่สร้างความเข้าใจ ผ่านบทสัมภาษณ์บุคคลที่เป็นที่รู้จักของสังคมไทย เพื่อรับฟังทัศนะที่มีต่อปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้...

 

รศ.ดร.วิลาสินี  พิพิธกุล
ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (
Thai PBS)

            รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการคนใหม่ของไทยพีบีเอส หรือชื่อเต็มว่า องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จบการศึกษาระดับปริญญาเอกและปริญญาโทด้านสตรีศึกษา จาก University of Kent ประเทศอังกฤษ และปริญญาตรีและโทจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          รศ.ดร.วิลาสินี มีประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย ทั้งด้านวิชาการ อาทิ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ และรองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,   ผู้อำนวยการโครงการฝึกอบรม สถาบันพัฒนาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และบรรณาธิการ วารสารสื่อมวลชนปริทัศน์ 

          ด้านสังคม อาทิ กรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), อนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, กรรมการสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี, กรรมการส่งเสริมวาระการอ่านเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักนายกรัฐมนตรี, กรรมการการสื่อสารเพื่อการปฏิรูป ในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป, กรรมการศึกษาแนวทางการปฏิรูปสื่อภาครัฐ สำนักนายกรัฐมนตรี, ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส.

          และงานด้านสื่อ เคยเป็นคณะทำงานเตรียมการบริหารจัดการสถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษาสำหรับปวงชน กระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ.2548-2550), กรรมการประสานงานขับเคลื่อนวาระแห่งชาติสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (พ.ศ.2550-2552), กรรมการสรรหากรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2551-2557) เป็นต้น

 

เข้ามาที่นี่ (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส) จะเห็นเด็กรุ่นใหม่เยอะแยะเลย อาจารย์มีเทคนิคในการทำงานกับคนหลายเจนอย่างไรบ้าง

          ให้โอกาสเขาค่ะ ให้ตัวตน ให้พื้นที่ เด็กๆ เขาอาจจะอยากโชว์ คืออยากมีพื้นที่ในการโชว์ความคิด เราก็ต้องให้พื้นที่เขา พื้นที่เริ่มต้นเลยคือพื้นที่กายภาพ เขาจะไม่ได้ชอบนั่งโต๊ะทำงาน มีทุกอย่างที่มันแน่นอนตายตัว (Fix) มาก เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะต้องออกแบบพื้นที่ของการทำงานให้มันมีความยืดหยุ่น (Flexible) ให้มาก ให้เขารู้สึกมีสเปซ (Space) มีพื้นที่ให้เขาได้เจอกัน เรากำลังจะปรับข้างในอีกเยอะ นี่พูดถึงกายภาพก่อนนะคะ อย่างเช่น ในห้องข่าวเราก็พยายามจะให้มีสเปซแบบที่มันลื่นไหลปรับเปลี่ยนไปมาได้ และมีสเปซกลาง คือพื้นที่ร่วมกันที่เขาจะมาเจอะเจอกัน มาหลากหลายความคิดกัน นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะจัดให้มี อันที่สองก็คือ พยายามจะให้คนรุ่นใหม่ได้มีบทบาทหรือมีโอกาสที่จะได้แบ่งปันความคิดในการประชุมบ้าง เราก็อยากให้มีคนรุ่นใหม่เข้ามา อย่างการสร้างสรรค์ (Create) รายการใหม่ๆ งานที่ผ่านโซเชียลมีเดีย เราจะใช้คนรุ่นใหม่เยอะ และให้น้องๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น ได้พูดด้วย อันนี้คือพื้นที่ที่เราพยายามจะเปิดโอกาส

          ในเชิงของความคิด ค่านิยมต่างๆ ข้อดีของคนไทยพีบีเอสก็คือ ที่นี่ปลูกฝังเรื่องความเป็นอิสระอยู่แล้ว ตั้งแต่ตัว พ.ร.บ.ที่บอกว่าเราเป็นองค์กรที่อยู่บนฐานคิดเรื่องความเป็นอิสระ เพราะฉะนั้นที่นี่จะให้ความเคารพโดยที่ไม่ต้องพูดเรื่องเจน (Gen) ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร เขาไม่ได้ดูตรงนั้นเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่าเราให้อิสระแก่คนทำงานในการได้คิด ได้เสนอความเห็นอะไรให้เต็มที่ แล้วมันก็เป็นการยอมรับอยู่แล้วค่ะว่า ถ้าเราอยากจะไปสู่ดิจิทัล (Go Digital) ให้เร็วให้มากกว่านี้ เราก็ต้องมีคนรุ่นใหม่เข้ามา (Fill Up) ทำงานกับเรามากขึ้น คืออย่างพี่เอง พี่ก็ต้องยอมรับว่าวัยเรา เราก็จะตามเขาไม่ทันแล้ว ก็ยังต้องถามเลยว่า แอป (Application) ใหม่นี่มันทำอะไร หรือเครื่องมือใหม่ที่ไลน์ (Line) เขาเพิ่งจะเปิดออกมามันคืออะไร มันทำงานอย่างไร มันเหมาะที่เราควรจะเอามาใช้ไหม เราก็ต้องฟังน้องเขาวิเคราะห์ให้มาก

 

ด้วยความที่ไทยพีบีเอสเป็นองค์กรใหญ่มีคนทำงานต่างเจน มีทั้งเด็กรุ่นใหม่ เจนวาย และเจนเอกซ์ ย่อมมีความขัดแย้งกัน ในฐานะผู้นำองค์กรมีการประสานตรงนี้อย่างไร

          ยังไม่ค่อยได้ยินว่าเขาขัดแย้งอะไรกัน เราจะมีส่วนงานที่เรียกว่าค่อนข้างจะมีเด็กรุ่นใหม่เยอะหน่อย แต่ส่วนที่ยังเป็นสื่อวิทยุโทรทัศน์ (Broadcast) ซึ่งเราถือว่าเป็นสื่อดั้งเดิม ส่วนใหญ่จะเป็นคนวัย 40 ขึ้นไป มักจะอยู่กันตรงนี้ อย่างสำนักข่าว เพราะเราถือว่า ‘ข่าว' คุณจะผิดไม่ได้เลย ข่าวต้องสร้างความน่าเชื่อถืออย่างมาก เพราะฉะนั้นตรงกลุ่มข่าวกลุ่มของคนที่ดูแลการออกอากาศทางโทรทัศน์อะไรต่างๆ นี้ ก็จะค่อนข้างเป็นคนที่มีประสบการณ์ แต่กลุ่มงานแบบ New Media หรือสื่อใหม่ จะเป็นเด็กเจนใหม่ๆ เยอะเลย แล้วเรื่อง New Media มันต้องการความไว ความสด ความสร้างสรรค์ (Creativity) สูง ต้องการความเข้าใจคนที่อยู่ในสังคม (Community) เดียวกับเขา ว่าเขาอยากรู้อะไร เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะเข้ามาเติมด้วยเด็กรุ่นใหม่เยอะ

          อีกส่วนงานหนึ่งที่มีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ตรงนี้เยอะก็คือ กลุ่มงานนักข่าวพลเมือง (Citizen Journalist) ซึ่งเราก็มองว่านี่คือพื้นที่ของเขาที่เขาอาจจะได้เชิญชวนเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันกับเขา มาสร้างสรรค์งานมากขึ้น เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือ เราไม่ได้ถึงขนาดตีเส้นแบ่งแยกว่าคนรุ่นใหม่ห้ามเข้ามายุ่งกับงานข่าว ก็ไม่ใช่ แต่เราก็มีพื้นที่ที่เราคิดว่าเหมาะสมกับตัวตนของเขา ให้เขาได้ทำงาน ปล่อยของของเขาได้เต็มที่ เช่น งาน New Media งาน Citizen Journalism งานข่าวที่ใช้เครื่องมือ UGC : User Generated Content [4] กลุ่มงานแบบนี้คือกลุ่มงานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ เครื่องมือใหม่ๆ ที่เราสร้างยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน

          เพราะฉะนั้น ถามว่าในฐานะผู้บริหารเรามองเรื่องนี้อย่างไร ก็คือเราพยายามมีพื้นที่การทำงานรูปแบบใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน เรากำลังจะเปิดช่องทาง (Channel) ใหม่ เป็นแชนแนลออนไลน์โดยเฉพาะ ที่เขาเรียกว่า OTT [5] เราพัฒนาทุกอย่างเสร็จเกือบหมดแล้ว รอให้เรียบร้อยกว่านี้ แล้วจะเปิดเดือนกรกฎาคม เราเรียกว่า ‘ช่องวิภา' ก็คือถนนวิภาวดี เราก็เรียกว่า ‘วิภาแชนแนล' (Wipa Channel) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชื่อช่อง ไม่ว่าจะเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์ (Brand Identity) มาจากน้องๆ รุ่นใหม่คิดหมดเลย โดยที่เราเชิญเขามาคุย มาประชุม มาระดมความคิดกันต่างๆ ว่าเขามองว่ามันควรมีรูปแบบ (Character) เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นจะว่าไปแล้ว สัดส่วนของไทยพีบีเอส ต้องยอมรับว่า 10 ปีที่แล้วตอนเกิดไทยพีบีเอส มันเป็นองค์การที่เป็น Broadcast Oriented [6] มากๆ ซึ่งอาจจะดูเป็นผู้ใหญ่ แล้วคนที่อยู่กับสื่อวิทยุโทรทัศน์มาจนถึงตอนนี้ส่วนใหญ่ก็อยู่ในวัย 40 อัพ (Up)  เพราะฉะนั้นคนทำงานไทยพีบีเอสที่อยู่ฝั่งข่าวฝั่งโทรทัศน์ก็ต้องยอมรับว่าเป็นพวก 40 อัพจริงๆ

          แต่ฝั่งที่เป็นพื้นที่ใหม่ๆ ที่เราเปิดขึ้น เช่น New Media, UGC และช่องทางอื่นๆ ที่เรากำลังจะเปิดพื้นที่ออกมามากขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ แล้วเราก็ให้ทิศทางกับที่นี่ชัดเจนว่าเรากำลังจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเอง (Transfer) จากความเป็นสื่อวิทยุโทรทัศน์ไปสู่ Digital First [7] มากขึ้น คือเริ่มเป็น New Media แบบเต็มรูปแบบมากขึ้น คำว่า Digital First ก็คือคิดงานออกมาเป็นดิจิทัลเลย คือต้องบอกว่าคนที่มีวิธีทำงานแบบบรอดแคสท์ เวลาทำอะไรมันจะอยู่ในบรอดแคสท์เฟิร์สก่อน ที่เขาเรียกว่า TV First นึกออกไหมคะ เหมือนเวลาไปทำข่าวอะไรก็จะคิดว่ามุมกล้องจะเป็นอย่างไร คือจะคิดมาเป็นทีวีก่อน แล้วพอทำข่าวทีวีเสร็จแล้วค่อยตัดเป็นคลิปไปออกสื่อใหม่ อันนี้คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่เป็น ไทยพีบีเอสก็เป็น ตอนหลังๆ เราพยายามจะกระตุ้นและสนับสนุนคนข่าวว่า ไม่ต้อง TV First ให้ Online First ไปเลย คือสมมุติคุณออกไปทำข่าว ไม่ต้องไปคิดภาพทีวีในหัวเลยนะ ให้คิดเลยว่ามันจะดูผ่านโมบาย (Mobile) ได้อย่างไร แล้วพยายามจะเอาเครื่องมือการทำข่าวแบบโมโจ้ เจอนัลลิสซึ่ม (Mojo Journalism) [8] อะไรต่อมิอะไร เข้ามาอบรมมากขึ้น รวมทั้งพยายามจะกำหนดทิศทางว่า ต่อไปนี้ทีมข่าว พยายามออกไปคนเดียวพอ นักข่าว 1 คน เอากล้องออกไป 1 ตัว คุณต้องทำทุกอย่างได้หมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายในเรื่องของการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ เปิดแชนแนลใหม่ๆ เพื่อรองรับการให้ทิศทางว่าเราจะจำกัดทีมงานให้เล็กลงเวลาออกไปทำข่าว การทำให้เขาคิดแบบดิจิทัลเฟิร์ส การพัฒนาศักยภาพ มันไปในทิศทางนี้หมดแล้วไงคะ เพราะฉะนั้นคนทำงานเองก็ต้องรู้ตัวว่าเขาเองก็ต้องปรับตัวเองให้ได้ แต่เราก็ยังไม่ได้ทิ้งสื่อวิทยุโทรทัศน์ เพราะด้วย พ.ร.บ.ขององค์กรและพันธกิจที่เราก็ต้องทำงานอยู่ตรงส่วนนี้ด้วย

 

ทุกวันนี้จะเห็นว่าพื้นที่สนทนาหลักของเราจะอยู่ในโซเชียลมีเดียกันเป็นส่วนใหญ่ แล้วตอนนี้ก็มีการปะทะกัน มีความขัดแย้งกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก หรือจะเรียกว่าเป็นความแตกต่างระหว่างเจน (Gen) อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

          คิดว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องเจนอย่างเดียว เพียงแต่ว่าพอเป็นเรื่องวัยมันก็ถูกเน้นให้ชัด (bold) ขึ้นมา โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองอะไรต่างๆ จะบอกว่าเป็นความแตกต่างระหว่างเจนก็ได้ เพียงแต่ว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เรายิ่งเห็นว่ามันดูถ่างกันออกไปมากขึ้นคงไม่ใช่เจนเรื่องเดียว เพราะจะบอกว่าคนที่เชื่อถือ มีความสนใจเรื่องการเมืองต่างกัน บางทีวัยก็ไม่ได้เป็นตัวบอก เพราะฉะนั้นมันคงมีหลายปัจจัย ถ้าพูดถึงสถานการณ์ตอนนี้ก่อน มันมีทั้งเรื่องของวัย มีทั้งเรื่องของประสบการณ์ที่ผ่านมาในการมองสถานการณ์บ้านเมืองต่างๆ แล้วก็มีองค์ประกอบอื่นๆ แวดล้อมอยู่ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือสื่อสารแล้วไปทำให้วาทกรรมเรื่องความต่างกัน เรื่องเจน มันถูกใช้เป็นผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า คือพี่มองแบบนั้น มันอาจจะต้องแยกระหว่างการบอกว่าเป็นเรื่องความแตกต่างระหว่างเจนจริงๆ หรือเปล่า หรือว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างวาทกรรมขึ้นมา

          ทีนี้ถ้าพูดถึงความแตกต่างระหว่างเจน ก็เห็นอยู่ว่ามันใช่ แต่เราไม่ได้มองมันเป็นอุปสรรคหรือเป็นปัญหามากนัก เพราะสมัยก่อน ย้อนยุคไปอย่างพวกเรา อย่างตัวพี่เอง 30 ปีที่แล้ว เราก็คงรู้สึกเหมือนกันว่าทำไมผู้ใหญ่คิดแบบนี้ แต่ว่าเราก็ผ่านมันมาได้โดยที่ไม่ได้เกิดความขัดแย้งอะไรที่มันรุนแรง เราก็เหมือนกับบ่นของเรา หรืออยู่ในเจนของเรา พี่คิดว่าหลายคนก็มองแบบนี้ เคยฟังนักวิชาการหลายท่านก็พูดเรื่องประมาณนี้ค่ะ ว่าจริงๆ แล้ว เราทุกคนล้วนผ่านความแตกต่าง ความคิดที่มันแตกต่างระหว่างวัย ระหว่างเจนกันมาแล้ว เราก็ยังผ่านมันมาได้

          เพราะฉะนั้นถ้ามองแบบพวกมองโลกแง่บวกก็คือ มันก็จะผ่านไปได้ แต่ถ้ามองแบบแง่ลบนิดหน่อยก็อาจจะเห็นว่าในยุคนี้มันไม่ได้เหมือนที่ผ่านมา 30-40 ปีที่แล้ว เพราะว่ามันมีปัจจัยตัวเร้าก็คือสื่อโดยเฉพาะสื่อสมัยใหม่ที่อาจจะเป็นตัวเร้าทำให้ช่องว่างระหว่างวัยมันถูกโหมกลายเป็นประเด็นข้ออ้าง กลายเป็นวาทกรรมในการมาบอกว่า เราคิดไม่เหมือนเขา เพราะฉะนั้นเราคิดถูก เขาคิดผิด อะไรแบบนี้ เราต้องมองให้ออกว่าเราทุกคนล้วนก้าวผ่านช่องว่างระหว่างวัยหรือความแตกต่างระหว่างเจนกันมาแล้ว และเรายังผ่านกันมาได้ เพราะเราไม่ได้คิดว่ามันเป็นเงื่อนไขของการที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันไม่ได้

          แต่ในปัจจุบันนี้มันมีตัวเร่งตัวเร้าที่ทำให้สังคมไปมองเรื่องความแตกต่างระหว่างเจนกลายเป็นอุปสรรคหรือเงื่อนไขในการที่บอกว่าเราจะเกลียดใครหรือเราจะไม่ชอบใคร หรือเราจะดูถูกใคร โดยใช้เรื่องของเจนหรือเรื่องของวัยมาเป็นวาทกรรมในการสร้างความแตกต่าง ความเกลียดชัง ตรงนี้มากกว่าที่พี่มองว่าเราต้องวิเคราะห์ให้ออก แล้วเราต้องช่วยกันแก้ไขว่าอย่ามาสร้างวาทกรรม หรืออย่ามาใช้ช่องว่างและความแตกต่างตรงนี้ว่ามันคือสิ่งที่จะทำให้เรามีข้ออ้างในการบอกว่าเราจะไม่ยอมรับการอยู่ร่วมกัน อยากให้เข้าใจสิ่งที่พี่พยายามจะชี้ว่ามันไม่ได้มองความแตกต่างระหว่างเจนเป็นแค่เรื่องด้านๆ ว่า ขาว-ดำ หรือ หนึ่ง-สอง

 

พอเข้าไปดูความคิดเห็นต่างๆ ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้งเป็นต้นมา กระแสมันก็แรงขึ้นๆ ที่เราจะเห็นความคิดของเด็กกับผู้ใหญ่ ว่าผู้ใหญ่คิดแบบหนึ่ง คนรุ่นใหม่ก็คิดอีกแบบหนึ่ง แล้วได้ไปอ่านที่ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกว่า มันเป็นการช่วงชิงระหว่างฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายก้าวหน้า อาจารย์เห็นด้วยหรือเห็นแย้งอย่างไร

          ก็ไม่ปฏิเสธความคิดที่อาจารย์เสกสรรค์เสนอ เพราะหลายคนก็พูดเรื่องนี้ แล้วจริงๆ กลุ่มความคิด 2 กลุ่มนี้มันก็มีมาตลอดอยู่แล้ว อย่างที่บอก เจนอาจไม่ใช่ประเด็น แต่มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ เรื่องของความเชื่อมากกว่า คนที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ แต่อาจจะมีวิธีคิดแบบหัวอนุรักษ์ก็มี อาจารย์เสกสรรค์จะพูดถึงเรื่องอุดมการณ์ความคิดมากกว่า จริงๆ คนรุ่นอาจารย์ที่ปลูกฝังอุดมการณ์ความคิดแบบหัวก้าวหน้า (Progressive) ก็ไม่น้อย ถ้าจะบอกว่าสถานการณ์การเมืองที่อยู่ในช่วงนี้ดูแล้วเริ่มเห็นความขัดแย้ง ความเห็นต่าง พี่คิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องทัศนคติที่มีต่อการเมือง เรื่องกลุ่มอุดมการณ์ความคิดที่อาจารย์เสกสรรค์พูดอาจจะอธิบายได้ง่ายกว่าการบอกว่าเป็นเรื่องของเจน

          แต่ขณะเดียวกันถามว่าการมองความแตกต่างทางเจนมีผลต่อทัศนคติทางการเมืองไหม มันมีผล แต่มันไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด มีผลอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างก็คือ เนื่องจากคนรุ่นใหม่จะอยู่กับโซเชียลมีเดียเยอะ เพราะฉะนั้นโอกาสที่มันจะแพร่กระจายความคิดมันไปได้เร็วกว่า ความกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นในเชิงขัดแย้ง ในเชิงโต้เถียงในพื้นที่สาธารณะแบบโซเชียลมีเดียมันทำได้ง่ายกว่าเพราะมันไม่ต้องแสดงตัวตนจริงก็ได้ และการสร้างเพื่อนของคนที่คิดเหมือนกัน คือ โซเชียลมีเดียจะช่วยทำให้เรากรองหรือคัดแยก (Screen) คนที่คิดต่างจากเราออกไปจากสังคมของเราได้ง่ายกว่า เพราะฉะนั้นเครื่องมือตัวนี้เลยยิ่งทำให้ความคิดต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองหรือการสร้างชุดประสบการณ์ที่มีต่อการเมืองทั้งที่เราไม่ได้มีประสบการณ์นั้นจริง แต่เราสร้างชุดประสบการณ์ขึ้นมาโดยการที่เราเอาตัวเข้าไปในชุมชนสังคมของโลกออนไลน์แบบที่เราก็มีอคติ (Bias) เราก็เลือกอยากจะฟังสิ่งที่มันเหมือนเรา ที่เขาเรียกว่า Echo Chamber Effect [9] มันจึงไปได้เร็วกว่าถ้าเทียบกับยุคก่อน

 

ทำไมในขณะที่เรามีข้อมูลมากมายท่วมท้น แต่เรากลับมีอคติมากขึ้น หรือยึดอัตตาตัวตนมากขึ้น อาจารย์มองอย่างไร

          อันหนึ่งก็อย่างที่พี่พูดไปแล้วว่า กระแสของโลกโซเชียลมีเดียมันทำให้เราเลือกที่จะขีดวงตัวเองอยู่กับคนที่คิดเหมือนกัน จะเห็นว่าช่วงเลือกตั้งคนจำนวนมากออกมาเขียนว่า เราขออันเฟรนด์ (Unfriend) คุณแล้วนะ เต็มไปหมด แล้วพอคนหนึ่งกล้าทำมันก็กลายเป็นเอฟเฟกต์ให้คนอื่นกล้าทำ ถ้าเป็นก่อนหน้าช่วงเลือกตั้ง เราจะไม่ค่อยอันเฟรนด์ใครง่าย แต่พอช่วงเลือกตั้งนี่รู้สึกความอดทนของคนจะมีจำกัด ก็เพราะว่าทุกคนเริ่มอยากจะเลือกอยู่กับโลกที่คิดเหมือนตัวเองไงคะก็เลยอาจจะทำให้สถานการณ์มันดูเหมือนจะรุนแรง

 

การแสดงความคิดเห็นของผู้ใหญ่บางท่านอย่างที่เราเห็นในข่าว อย่างกรณีคุณหญิงหมอพรทิพย์กับคุณช่อ พรรณิการ์ หรือกรณีท่านใหม่ ที่วิจารณ์คุณไอติม เราเห็นพื้นที่สนทนาในโซเชียลของเด็กที่มีความสุขุมสุภาพมากกว่าผู้ใหญ่ที่ดูวู่วาม

          ไม่อยากบอกว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ น่าจะพูดถึงคนที่ใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นต่างกัน มันไม่ใช่วัยผู้ใหญ่หรือวัยเด็ก แต่มันเป็นเรื่องของการใช้เครื่องมือสื่อสาร คือการใช้อย่างมีกลยุทธ์มันอาจจะต่างกัน บางคนถ้าให้พูดด้วยตัวเอง (Personal) อาจจะพูดได้ดี แต่พอคุณเขียนหรือคุณสื่อสารผ่านโลกโซเชียลที่ไม่ได้เป็นการพูดออกมา หรือแม้แต่พูดเป็นคลิปก็แล้วแต่ พี่มีความรู้สึกว่าความเป็นโลกโซเชียลมันอาจจะทำให้เราลดทอนศักยภาพในการสื่อสารแบบมนุษย์กับมนุษย์ การสื่อสารแบบระมัดระวังมันต่างกัน เพราะฉะนั้นไม่ได้เป็นเรื่องเจนหรือเรื่องวัย แต่เป็นเรื่องของทักษะ ความสามารถ หรือกลยุทธ์ในการใช้เครื่องมือที่ต่างกัน อย่างกลุ่มอนาคตใหม่ เขาผ่านกระบวนการวางแผนของการใช้เครื่องมือสื่อสารแบบที่กลุ่มเป้าหมาย (Target) เป็นคนรุ่นใหม่ เขาใช้ตรงนี้ได้ดีกว่าเพราะเขาผ่านกระบวนการฝึกฝนตรงนี้มา ในขณะที่คนอื่นๆ อาจจะได้ฝึกฝนน้อย มันก็เหมือนใช้พูดกับเพื่อน ใช้พูดกับอะไรต่างๆ

          เพราะฉะนั้น ไม่อยากจะไปโทษเรื่องเจนอยู่ดี แต่เป็นเรื่องของศักยภาพ หรือการถูกฝึกฝนในการใช้เครื่องมือเหล่านี้มา นี่ประการที่หนึ่ง ประการที่สอง พี่คิดว่ามันเป็นเรื่องของ Empathy คือการพยายามที่จะเข้าใจคนอื่น ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องวัยอีกเช่นกัน แต่อาจจะเป็นเรื่องของความอดทนที่มันมีจำกัดของคนในยุคสมัยนี้ เรารู้สึกจะพยายามเข้าใจคนอื่นน้อยลงทุกที เพราะฉะนั้นอย่างที่เอ่ยชื่อผู้ใหญ่บางท่านที่อายุมากแล้วไปเขียนโต้ตอบแรงเช่นนั้น มันคงไม่ใช่เป็นเรื่องวัย แต่เป็นเรื่องของ Empathyless การพยายามที่จะเข้าใจคนอื่นมันมีจำกัด แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณช่อจะมีมากกว่า เพียงแค่บอกว่ากลุ่มอนาคตใหม่เขาให้ความสำคัญกับการใช้เครื่องมือสื่อสารนี้ เขาถูกเทรนมาให้ใช้มันได้อย่างเข้าอกเข้าใจและมีชั้นเชิง

 

อย่างคนรุ่นใหม่ทั่วๆ ไปเลย เห็นได้ว่าเขามีความตื่นตัวทางการเมือง การแสดงความคิดเห็น เช่น กระแสคุณธนาธร ผู้ใหญ่ก็บอกว่า เด็กโดนล้างสมอง ส่วนเด็กก็ไปเอาข้อมูลที่เขาไปหามาแบให้ผู้ใหญ่เห็นว่าฉันไม่ได้ถูกล้างสมองนะ ตรงนี้ล่ะคะ

          คนที่วิจารณ์เด็กๆ โดยใช้คำเหล่านี้ มันก็เป็นการตัดสินที่เร็วเกินไป คนที่วิจารณ์กลุ่มเด็กเหล่านั้นที่ชื่นชอบพรรคอนาคตใหม่ ผู้ใหญ่เหล่านี้ยังอยู่ในโลกของการมองทุกอย่างขาวดำ มองทุกอย่างแบ่งขั้ว คือโลกที่แบ่งทุกอย่างเป็นแค่สองขั้ว เพราะฉะนั้นเมื่อเด็กไม่ได้คิดแบบตัวเอง เด็กก็ถูกผลักออกไปอยู่อีกกลุ่มความคิดหนึ่ง แล้วเมื่อไปอยู่อีกกลุ่มความคิดหนึ่งก็จะถูกมองว่า ถูกใส่ความคิด หรือไม่ได้สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ของประเทศจริง รู้แค่เท่านี้ก็ตัดสินแล้ว ก็จะถูกวิจารณ์ด้วยชุดความคิดแบบนี้เกือบจะทั้งเซ็ทเลยเพื่อทำให้เห็นว่าเด็กที่เชียร์พรรคอนาคตใหม่เชียร์โดยที่ไม่ได้รู้จริง ไม่ได้อยู่บนฐานข้อมูลจริงๆ ไม่ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่จริง อะไรทำนองนั้น ทั้งๆ ที่พอเด็กบอกว่ามีข้อมูลทั้งหมดอยู่ในมือ ก็ไม่รู้อีกนะว่าเด็กเอาข้อมูลมาจากไหน คือทุกอย่างมันสู้กันด้วยข้อมูล

          พี่แค่อยากอธิบายในเชิงความคิดก่อนว่าการที่ผู้ใหญ่ตัดสินใจง่ายๆ แบบนั้นเพราะเขาก็มองทุกอย่างเป็นขาวดำ เป็นการแบ่งขั้วไปแล้ว อีกอย่างหนึ่งกลุ่มอนาคตใหม่ก็เป็นกลุ่มที่เขาจัดหา (Provide) ข้อมูลให้กับคนในกลุ่มในสังคม (Community) ของเขาเยอะ อันนั้นเราไม่พูดว่าข้อมูลถูกหรือผิด เราไม่วิจารณ์ แต่เราอยากจะบอกว่าเนื่องจากเขาอยู่ในโลกของการใช้เครื่องมือสื่อสารสมัยใหม่ในการทำงานกับกลุ่มผู้สนใจ เพราะฉะนั้นเขาก็จะมีทีมสนับสนุนและ Provide ข้อมูลออกมาตลอดเวลาเพราะว่าเขาเล่นกับเรื่องข้อมูล (Data) เยอะ ในขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่เหล่านั้นอาจจะไม่ได้อยู่กับชุดข้อมูลแบบนี้ แต่เขาอยู่กับชุดของประสบการณ์ที่เขาเห็นมา

 

Image

ชุดประสบการณ์ความเชื่อตั้งแต่อดีตมาที่ว่า "เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด" หรือ "ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน" ยังใช้ได้ดีในยุคนี้ไหม

          พี่คิดว่าคงไม่ใช่สิ่งที่จะเอามาเพื่อบอกว่า เชื่อผู้ใหญ่ถูกเสมอก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน แต่การไม่ปฏิเสธเสียงจากผู้ใหญ่ก็จะช่วยทำให้เราหัดที่จะฟังอะไรกว้างๆ หลากหลายมุม หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ปฏิเสธเสียงจากเด็ก คือคำกล่าวแบบนี้มันไม่ได้พิสูจน์ว่าผู้ใหญ่ถูกต้องเสมอไป แต่สำหรับพี่ พี่เอาไว้เป็นแนวว่าเราไม่ปฏิเสธการรับฟังมากกว่า คือที่สุดแล้ว พี่อยากใช้คำว่า เราฝึกฟังกันให้มากๆ โดยที่ยังไม่ต้องปฏิเสธว่าเขาผิดหรือถูก แต่ฝึกฟังกันให้มากๆ ก่อน แล้วมองคนอย่างเข้าใจหรือเห็นอกเห็นใจในวิธีคิดของคนอีกกลุ่มหนึ่ง โดยที่ยังไม่ต้องไปตัดสิน แต่ถ้าเรารู้ว่าข้อมูลที่ถูกใช้มันไปละเมิด (Abuse) ในทิศทางที่ไม่เป็นคุณหรือไม่เป็นประโยชน์กับสังคม อันนี้แหละคือสิ่งที่เราเองก็ต้องเอาข้อมูลอีกฝั่งหนึ่งออกมา ข้อมูลที่เราคิดว่าข้อมูลชุดนี้มันละเอียดกว่าหรือมีแง่มุมที่ดีกว่าออกมาเปิดให้คนพิจารณาด้วยตัวเองมากกว่า

 

คิดว่ามันเป็นเรื่องของชุดความคิดในการให้คุณค่าระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้ใหญ่ที่ต่างกัน อย่างผู้ใหญ่ต้องการความสงบ ความมั่นคง แต่คนรุ่นใหม่จะต้องการความอิสระ ความเท่าเทียม ความยุติธรรม ไหมคะ

          คนชอบวิเคราะห์แบบนั้น เจนนี้ชอบแบบนี้ เจนแบบเบบี้บูมก็จะต้องการความมั่นคง เจนเอกซ์ต้องการความอิสระ ต้องการความยุติธรรม ต้องการการต่อสู้ ใช่ไหมคะ คือมันถูกวิเคราะห์กันมา เราก็ยังไม่เคยคิดอยากจะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่นะ มันกลายเป็นการวิเคราะห์ไปแล้ว มันอาจจะมีส่วนก็ได้ ที่ทำให้การยึดโยงกับคุณค่าของวัยมันออกมาเป็นแบบนี้

 

ก็ไม่พ้นที่ต้องโยงมาเรื่องการเมือง อย่างผู้ใหญ่เลือกลุงตู่เพราะต้องการบ้านเมืองที่สงบ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่เท่าเทียม พัฒนา

          คือมันเป็นการรณรงค์ทางการเมืองมากกว่าแต่บังเอิญมันมาในช่วงที่คนกำลังไขว่คว้าอะไรหลายอย่าง มันก็เลยกลายเป็นแบบนั้น แต่มันไม่ถึงขั้นว่าเป็นเพราะผู้ใหญ่ต้องการความสงบก็เลยเชื่อลุงตู่ อย่างที่พี่บอก มันมีความซับซ้อนกว่านั้น สถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนั้น มันมีการที่ต้องตัดสินใจเลือกอะไรแบบนี้ แต่แคมเปญแบบนี้มันมาในช่วงนั้นพอดีไง เพราะพี่ก็เห็นอย่างที่บอก ผู้ใหญ่ตั้งหลายคนที่เขาก็ไม่ได้เชื่อแบบนั้น

 

แล้วที่ว่าคนรุ่นใหม่ ไม่เอาสถาบัน

          ตรงนี้ไม่เชื่ออีกแหละ คือมันเป็นการสร้างวาทกรรมขึ้นมาเพื่อจะรณรงค์และตีเส้นแบ่ง แยกขั้วแยกข้าง แยกกลุ่มมากกว่า คือการนิยามว่าเอาสถาบันหรือไม่เอาสถาบัน มันไม่ได้อยู่ตรงที่การแสดงออก พี่คิดว่าเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็ยังรักเคารพและยังมีความรู้สึกผูกพันกับบางสิ่งบางอย่าง แต่เขาไม่ได้อธิบายออกมาหรือเขาไม่ได้แสดงออก คือบางครั้งในทางปฏิบัติ (Practice) มันก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การให้คุณค่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทีนี้การเมืองซึ่งมันจะต้องตัดสิน คือมันจะเป็นเรื่องของการต่อสู้กัน เอาชนะกัน ก็เป็นการใช้วาทกรรมนี้ให้เป็นประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งพี่รู้สึกว่าวาทกรรมแบบรักสถาบัน วาทกรรมล้มเจ้าเนี่ย เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นในสมัยนี้นะ มันเป็นเครื่องมือที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคต้านคอมมิวนิสต์ ย้อนหลังไปเป็นสิบๆ ปี ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเจน แต่เป็นเรื่องของเครื่องมือของการต่อสู้กัน

 

อาจารย์มองว่า เราจะผ่านความขัดแย้งตรงนี้ไป มองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติไหม เดี๋ยวมันก็ผ่านไป

          มันไม่ธรรมชาติเพราะมันถูกปรุงแต่งและถูกใช้ประโยชน์ คือความคิดต่าง การให้คุณค่าต่าง มันอาจจะเป็นเรื่องของวัยได้ แต่พอมันถูกใช้ประโยชน์ทางการเมือง อย่างมีเป้าหมาย อันนี้คือสิ่งที่อันตราย เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ธรรมชาติ ไม่ใช่ว่ามันจะคืนตัวของมัน หรือจะคลี่คลายได้ด้วยตัวมันเอง มันก็ต้องมีการจัดการ และการจัดการนั้นก็คือ การเตือนสติกัน เปิดใจรับฟังกัน คือที่สุดแล้ว การเปิดใจรับฟัง การไม่ด่วนตัดสินนั่นแหละ จะเป็นสิ่งที่ช่วยได้เบื้องต้น การฝึกฟังกันให้มาก ซึ่งเมื่อก่อนคนไทยมีคุณสมบัติข้อนี้ แต่ตอนหลังๆ มันก็สูญเสียไปค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นพี่คิดว่ากระบวนการหรือกลไกใดๆ ก็ตามทางสังคมก็น่าจะต้องช่วยกันทำให้คนไทยฟังกันให้มากโดยไม่ต้องคำนึงถึงวัย

 

Image

แล้วสื่อสารมวลชนควรทำหน้าที่ตรงนี้อย่างไร ไทยพีบีเอสได้วางแนวทางทำเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างไร

          เราถือเป็นเรื่องใหญ่มากเลย ก่อนเลือกตั้งแล้ว นโยบายที่กำกับลงไปกับคนทำงานทุกคนก็คือ ประโยคที่พี่พูดกับทีมงานทุกคนเลยตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ก็คือว่า ให้พึงระวังเอาไว้ว่าบทบาทของเราคือ ไม่เป็นตัวจุดกระแสหรือขยายความเกลียดชังในสังคม เรามีหน้าที่จะต้องช่วยกันประคับประคองให้สังคมไทยก้าวผ่านช่วงนี้ไปให้ได้อย่างดีที่สุด พี่จะพูดคำนี้ตลอด และพี่จะบอกตลอดว่า เราไม่ได้มีภารกิจแค่ทำข่าวเลือกตั้งให้จบ แต่ภารกิจเราเยอะกว่านั้น ไปไกลกว่านั้น ก็คือ สังคมไทยไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องถูกจัดวางคนเข้ากล่อง ให้เหมือนกันหมด มันถึงจะสงบ ไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่ว่าสังคมไทยต้องฟังกันให้มาก ต้องอยู่กับความเห็นต่างให้ได้ แล้วต้องมองเรื่องเหล่านี้ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาเกลียดชังกัน แต่ใช้กลไกที่มีอยู่ในการแก้ปัญหาให้ได้ เช่น กลไกประชาธิปไตย กลไกรัฐธรรมนูญ กลไกทางกฎหมาย หรือแม้แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เรื่องของคุณค่า การให้คุณค่าแบบสังคมไทย พี่ว่าหลายๆ อย่างต้องยึดโยงกับตรงนี้

          ในกรณีของไทยพีบีเอส ช่วงก่อนเลือกตั้ง เราจะจัดเสวนาหรือจัดอบรมในเรื่องของ Hate speech [10] เยอะ ว่าแบบไหนที่เรียกว่าเฮทสปีช และแบบไหนที่เราต้องไม่ทำ แบบไหนเมื่อเราเห็นแล้วเราจะต้องเข้าไปมีส่วนแก้ไข เรื่องหลักการของ Peace Communication คือ การสื่อสารด้วยสันติวิธี เราจะใช้ตรงนี้เยอะ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อยู่บนฐานของการพัฒนาทีมข่าวของเราให้เป็นทีมข่าวแบบ Data Journalism คืออยู่บนข้อมูลให้มากๆ ข้อมูลต้องแน่น ต้องรอบด้าน เพราะนี่จะเป็นตัวช่วยทำให้เราลดการไปขยายความผิดๆ แล้วนำไปสู่เฮทสปีช

 

อาจารย์มองว่าผู้ใหญ่ควรจะเข้าใจเด็กรุ่นใหม่อย่างไร และเด็กควรจะเข้าใจผู้ใหญ่อย่างไร

          ก็มองเขาเหมือนเขาเป็นญาติเรา เป็นพ่อแม่เรา อันนี้พูดง่ายๆ แต่ว่าถ้าจะให้พูดแบบหลักการ ผู้ใหญ่เองก็ต้องเปิดใจ ให้พื้นที่กับเด็กด้วย และอย่าผลักเด็กไปติดข้างฝา คือให้พื้นที่ ให้โอกาสเขา แล้วฟังกันให้มากๆ เด็กเองก็อย่าผลักผู้ใหญ่ไปติดขั้วเหมือนกัน และอย่าตัดสิน คือทั้งสองฝ่ายต้องไม่ไปคว้าวาทกรรมที่มีคนพยายามจะสร้างขึ้นเพื่อแบ่งแยกระหว่างเจน ต้องไม่คว้าวาทกรรมเหล่านั้นมาใช้ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ น่าจะต้องรู้เท่าทันให้มากๆ รู้เท่าทันการเมือง รู้เท่าทันอำนาจที่อาจแทรกแซงเข้ามาจากที่อื่นๆ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก รู้เท่าทันสื่อ คืออาจจะต้องรู้เท่าทันไปหมด ทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องฝึกรู้เท่าทันให้มากและไม่ด่วนตัดสิน

 

..................................................................................................

Image

คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์

: คนรักหนัง คอลัมนิสต์ และผู้ก่อตั้ง Documentary Club  สตาร์ทอัพ [11] ด้านสื่อทางเลือกที่ทำให้คนไทยได้ดูหนังสารคดีดีๆ จากทั่วโลก

          คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ จบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความรักการดูหนังและชอบขีดเขียนจึงเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นกองบรรณาธิการนิตยสาร Cinemag นิตยสารรายเดือนเกี่ยวกับภาพยนตร์ ก่อนผันตัวมาก่อตั้ง Bioscope นิตยสารรายเดือนเกี่ยวกับหนังที่สร้างความแตกต่างจากนิตยสารเล่มอื่น โดยเน้นการนำเสนอข้อมูลหนังนอกกระแส มากกว่าหนังฮอลลีวู้ดที่เข้าฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วไป และที่พิเศษก็คือ มีคอลัมน์วิจารณ์หนังด้วยจิตวิทยาที่พูดถึงสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในหนัง ซึ่งถือเป็นการให้ความรู้แก่นักดูหนังที่ชอบเสพสาระนอกเหนือไปจากความบันเทิง และยังเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องหนังให้นิตยสารอีกหลายเล่ม

    คุณธิดาเป็นที่รู้จักมากขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษา และหนุ่มสาววัยทำงาน เมื่อเริ่มก่อตั้ง Documentary Club หรือ ด็อกคลับ (Doc Club) ที่เฟ้นหาและซื้อสิทธิ์หนังสารคดีดีๆ จากทั่วโลก มาจัดฉายให้กลุ่มคอหนังบ้านเราได้ดูกันอย่างต่อเนื่อง ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งโรงภาพยนตร์ หอศิลป์ แกลเลอรี โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ร้านหนังสือ ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมเสวนา สนทนา เพื่อขยายวงความรู้ในบรรยากาศเป็นกันเอง จนได้รับเสียงชื่นชมตามมา และสร้างกลุ่มคนดูหนังรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นอีกด้วย

          โดยเฉพาะ ‘ด็อกคลับเธียเตอร์' (Doc Club Theater) คอมมูนิตี้ (Community) หรือชุมชนของคนรักหนังสารคดี ด้วยพื้นที่เล็กๆ ขนาด 60 ที่นั่ง สำหรับฉายหนัง ที่ใช้โกดัง 7 ของโครงการแวร์เฮาส์ (Warehouse) 30 ถนนเจริญกรุง ซอย 30 เป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยน พูดคุย เสวนา และจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบที่มีหนังเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้และความบันเทิงสำหรับคนที่ชื่นชอบศิลปะภาพยนตร์ และสนใจใฝ่รู้ถึงความเป็นไปของโลก

          ล่าสุดคุณธิดามีโปรเจ็กต์ที่จะร่วมงานกับลิโด (LIDO) โรงภาพยนตร์ในดวงใจของคนรักหนังนอกกระแสซึ่งปิดตัวไปเมื่อปีที่ผ่านมา แล้วกำลังกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในชื่อ ‘ลิโด้คอนเน็ก' ที่เธอบอกว่า "จะเป็นพื้นที่ให้คนรักหนังได้มาแลกเปลี่ยนและพัฒนาก้อนความคิดในอากาศเหล่านั้นให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และอาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการสร้างสังคมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ได้" [12]

          ไปติดตามกันว่า เธอมีทัศนะอย่างไรต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยวันนี้ และเราควรจะทำความเข้าใจมันอย่างไร

 

การสื่อสารส่วนใหญ่ทุกวันนี้จะเป็นการสื่อสารบนพื้นที่โลกโซเชียล มองอย่างไรกับความเปลี่ยนแปลงจากโลกยุคอนาล็อกมาสู่โลกยุคดิจิทัลนี้

          คิดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดก็คือ มันเป็นการสื่อสารที่ไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวอีกต่อไป อย่างเช่น เมื่อก่อนทำสิ่งพิมพ์ในโลกอนาล็อก หน้าที่ของเราก็คิดในขอบเขตแค่การเขียน อาจจะจินตนาการหน้าตาคนอ่าน แต่มันก็คือการสื่อสารทางเดียว เพราะเราก็ตีพิมพ์บทความของเราไป ซึ่งเราจะไม่รู้ว่าคนที่อ่านมีปฏิกิริยาอย่างไรจนกว่าเขาจะมีแรงผลักดันที่จะสะท้อนความคิดของเขากลับ เช่น เขียนอีเมล์มา เขียนจดหมายมา อะไรแบบนี้ แต่ว่าโซเชียลมีเดียมันทำให้เรามีการสื่อสารแบบฉับพลัน คือโต้ตอบกันในเวลาทันที คิดว่านี่มันเปลี่ยนวิธีการสื่อสารของคนและมันก็เปลี่ยนวิธีการมีปฏิสัมพันธ์หรือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน ไม่ว่าจะเจนเดียวกันหรือต่างเจน

          แต่ส่วนใหญ่ก็จะสนใจเรื่องโซเชียลมีเดียในกลุ่มของเจนที่เขาโตมากับมัน คืออย่างเราไม่ได้โตมากับมัน เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แล้วเราเรียนรู้มันไป คือเราจะมีความรู้สึกว่า เวลาเราเห็นคนรุ่นเราหรือโตกว่าเราเล่นโซเชียลมีเดีย มันจะมีลักษณะการสื่อสารแบบหนึ่ง เช่น ถ้าสมมุติเรามีชุดความคิดที่เราต้องการนำเสนอกับคนอื่น เรามักจะมีท่าทีเหมือนคิดว่าตัวเองเป็นครูที่ยืนอยู่หน้าห้องน่ะ คือเรายังใช้วิธีการสื่อสารแบบอนาล็อกบนพื้นที่โซเชียลมีเดีย คือพูดออกไปแล้วคาดหวังว่าทุกคนจะฟัง แล้วก็จะมีปฏิกิริยาในแบบที่เราต้องการอะไรแบบนี้ แต่เราคิดว่าคนรุ่นเราจะเจอคัลเจอร์ช็อก [13] (Culture Shock) หรือคนที่แก่กว่าเราเข้าไปอีกก็จะมีคัลเจอร์ช็อกแบบนี้ คือเขียนไปแล้วปรากฏมีคนมาด่าโดยทันที หรือคนแชร์ออกไปแล้ววิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางต่างๆ เราก็จะตั้งรับกับปฏิกิริยาแบบนี้ไม่ถูก แม้แต่ตัวเราเองบางทีก็รับไม่ทันแล้วต้องป้องกันตัวเองด้วยการหนีออกมาเลยก็มีบ่อยๆ

          แต่สำหรับเด็กที่โตมาแล้วเขาคุ้นเคยกับการใช้โซเชียลมีเดีย เรามีความรู้สึกว่า เขามอง เขามีโลกทัศน์อีกแบบเลย ไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสาร แต่วิธีคิด เรื่องความสัมพันธ์ หรือเรื่องการปฏิสัมพันธ์กับโลกของเขามันเป็นอีกชุดความคิดหนึ่งเลย คืออย่างเรามีหลานที่ทำงานเรื่องคนรุ่นใหม่ อันหนึ่งที่เขาจะพูดอยู่บ่อยๆ ซึ่งบางครั้งก็มีคนเข้าใจ บางครั้งก็ไม่เข้าใจ เช่น เขาก็จะบอกว่า ในโลกของโซเชียลมีเดียมันไม่มีการกราบไหว้ คือถ้าคุณต้องการวิพากษ์วิจารณ์ (Comment) ผู้ใหญ่ คุณไม่จำเป็นต้องติดกับการที่ว่าเขาเป็นผู้ใหญ่หรือว่าเขาเป็นครู หรือว่าเขาเป็นผู้อาวุโส แล้วต้องมีระดับชั้นของความเกรงใจ คือเขารู้สึกว่าเด็กที่โตมากับโซเชียลมีเดียจะไม่มีโหมดความคิดนี้มากเท่าคนรุ่นเรา ซึ่งตอนที่เขาแสดงความเห็นแบบนี้ก็มีคนตีความไปในทางลบว่า เด็กรุ่นใหม่ก้าวร้าว ไม่มีสัมมาคารวะ แต่เราคิดว่ามันไม่ได้เกิดจากมุมมองที่ไม่มีสัมมาคารวะ แต่มันเกิดจากมุมมองที่เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่เราไม่คุ้นเคย

 

แล้วกลุ่มผู้อ่านมีความเปลี่ยนแปลงไหม จากอดีตสู่ปัจจุบัน

          คิดว่ากลุ่มคงเปลี่ยนแปลงไปตามปกติของสื่ออยู่แล้ว คือหมายถึงว่า สื่อแมกกาซีนตอนเราทำไบโอสโคป (Bioscope) เนี่ย มันก็เกิดขึ้นมาในยุคที่วงการบันเทิงมีกระแสทางเลือก เช่น มีแฟตเรดิโอ (Fat Radio [14]) เกิดขึ้น มี อะเดย์ (a day [15]) เกิดขึ้น มันก็เป็นกระแสคนกลุ่มหนึ่งในตอนนั้น แต่ว่าพอเวลามันผ่าน เราคิดว่าคนโตขึ้น คนรุ่นที่ติดตามมาแต่เด็กก็เลิกไป อาจจะเป็นเพราะว่าเนื้อหาของนิตยสารมันไม่ได้ครอบคลุมไลฟ์สไตล์ทุกวัยขนาดนั้น โดยเฉพาะมันเป็นหนังนอกกระแส ก็อาจจะตรงกับพฤติกรรมของคนในระดับประมาณหนึ่ง พอคนกลุ่มนี้โตขึ้น พฤติกรรมการดูหนังเปลี่ยน ก็หายไป คนกลุ่มใหม่ก็เข้ามา แต่ว่าพอมีโซเชียลมีเดียเข้ามา คิดว่าสิ่งที่เปลี่ยนก็คือ วิธีการสื่อสารของคนทำคอนเทนต์ [16] (Content) เอง ที่บางส่วนอาจจะยังหาจุดเหมาะสมระหว่างการนำเสนอแบบเดิมๆ กับแบบใหม่ๆ ไม่เจอ เราคิดว่าคนสื่อสารมากกว่าที่เปลี่ยน ต้องหาวิธีการพูดจากับกลุ่มคนใหม่ๆ ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้โซเชียลมีเดียและมีพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนไป มีระยะเวลาที่ให้กับการกลั่นกรองข้อมูลที่เปลี่ยนไป

 

การสื่อสารและการทำงานกับคนต่างเจน ได้เรียนรู้การทำงานกับคนต่างเจนอย่างไรบ้าง

          คือช่วงที่ทำนิตยสาร ช่วงที่ยังเป็นเจ้าของเองก่อนที่จะขายไปนะคะ คือช่วงสุดท้ายที่เราทำงานเป็นหัวหน้าแล้วมีกอง บ.ก.ซึ่งเป็นคนอีกรุ่นหนึ่งทั้งหมดเลย เราก็เจอว่ามันมีปัญหาเหมือนกัน ปัญหาในที่นี้อาจเป็นปัญหาการสื่อสารระหว่างรุ่นซึ่งก็เป็นความผิดพลาดของเราที่เราได้เรียนรู้หลังจากที่มันเกิดปัญหาขึ้นแล้วแหละ คือเราสื่อสารเหมือนคนรุ่นเก่าสื่อสาร คือ พูด สอน สั่ง (หัวเราะ) ในขณะที่เด็กเขามีลักษณะการสื่อสารอีกแบบและเขาอาจจะไม่โอเคกับวิธีของเราเลยโดยที่เราไม่รู้ตัว เป็นเหตุการณ์ที่รู้สึกได้ว่ามันมีช่องว่างของการสื่อสารจริงๆ แล้วเราไม่เท่าทันอันนี้ แล้วเขาก็ไม่สามารถสื่อสารกับเราในโหมดที่เราต้องการได้เหมือนกัน ทีนี้หลังจากนั้นก็เหมือนเราได้เรียนรู้แบบนี้มาเรื่อยๆ แล้วในปัจจุบันเนื่องจากก็ต้องทำงานกับเด็กรุ่นน้องลงไป ถ้าในแง่ส่วนตัวคือ เราก็ระมัดระวังมากขึ้น เหมือนเราเองก็เรียนรู้โซเชียลมีเดียว่ามันมีลักษณะธรรมชาติแบบนี้คือเราไม่ได้เป็นผู้สื่อสารทางเดียว เราคาดหวังว่าทุกคนจะมีปฏิกิริยาแบบที่เราต้องการ มันเหมือนเราก็เรียนรู้ที่จะ เอ๊ะ! เราต้องเซ็ท (Set) ท่าทีประมาณไหน หรือพูดกับรุ่นน้องแล้วเขามีโหมดการรับรู้อย่างไร เช่น เขาอาจจะรังเกียจผู้ใหญ่ที่มาวางท่าที เลียนแบบอะไรแบบนี้ คือเหมือนกับเราก็เรียนรู้เรื่องนี้มาเรื่อยๆ

 

ดูเหมือนว่าอยู่ที่ตัวเราเองต้องเปิดใจก่อนที่จะเรียนรู้ เพราะเห็นจากหลายๆ คนที่จะมีคำพูดว่า "ไอ้เด็กสมัยนี้" ซึ่งท่าทีเป็นไปในทางลบเสียมาก ตรงนี้มองอย่างไร

          คือเราค่อนข้างระวังที่จะไม่คิดแบบนั้นนะ น่ากลัวมากเลย (หัวเราะ) เพราะว่าในตอนที่เราเป็นวัยรุ่นเราก็เคยเจอผู้ใหญ่แบบนี้ แล้วเราก็จะมีความรู้สึก อย่างเช่น ตอนเราเรียนมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่สอนเราก็จะเป็นอาจารย์รุ่นพี่เหมือนอายุสองเท่าของเรา เราเรียนมหา'ลัยอายุ 20 อาจารย์อายุ 50 เขาก็จะมีคำพูดนี้อยู่ตลอด และเราคิดว่าคนทุกเจนก็จะเจอแบบนี้จากคนเจนที่แล้ว แต่ว่าเมื่อก่อนอาจไม่ซับซ้อนแบบนี้ไงเพราะว่าการสื่อสารมันไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้รวดเร็วแบบทุกวันนี้ แต่เราว่าพอมีโซเชียลมีเดียมันเหมือนผู้ใหญ่เองที่ต้องระวังว่าคุณเข้ามาสู่โลกที่จริงๆ มันอาจไม่ใช่พื้นที่ของคุณน่ะ แต่นี่มันเป็นพื้นที่ที่เด็กเขามีวิธีการพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อีกแบบหนึ่ง

          เรามีความรู้สึกว่าผู้ใหญ่เองน่ะต้องเป็นคนที่เรียนรู้เมื่อเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ จะมาเซ็ทตัวเองเป็นแบบผู้ใหญ่แล้วมาตีว่า ทุกคนเป็นเด็กเมื่อวานซืนอะไรแบบที่เราเคยโดนหรือเราเคยทำในช่วงเวลาหนึ่งมันอาจจะไม่ได้ค่ะ และเราก็มีความรู้สึกว่าพอมีโซเชียลมีเดีย แน่นอนข้อเสียมันก็มีเยอะแยะ แต่ว่าข้อดีคือเราก็ได้เห็นความคิดของคนรุ่นใหม่ หรือว่าวัยรุ่นที่ถ้าเทียบกันแล้วกับวัยตอนที่เราอายุเท่าเขาเนี่ย เราคิดว่าเราโลกแคบกว่าเขามาก คือการที่เขาโตมากับโซเชียลมีเดีย ข้อดีคือ ถ้าเขาเสาะหา โลกเขาจะกว้างกว่าเราเยอะ เผลอๆ กว้างกว่าเราในปัจจุบันในหลายๆ เรื่องด้วย ซึ่งพอเราเจอเด็กที่เป็นแบบนี้บ่อยๆ น่ะ มันก็เหมือนเราจะเรียนรู้ไปเองโดยอัตโนมัติว่าเรามันเล็กกว่าที่เราคิดเยอะ แล้วพอเราแสดงความเห็นอะไรและโดนตอบโต้แรงๆ บ่อยๆ มันก็จะสอนให้เรารู้จักค่อยๆ หุบปากไปเองโดยอัตโนมัติ (หัวเราะ)

 

อย่างกรณีพานไหว้ครู มองอย่างไร

          จริงๆ เราชอบนะ มันสนุกดี (หัวเราะ) เราก็คิดว่ามันเป็นช่องทางแสดงออกของเขา แล้วความจริงเราตื่นเต้นนะที่เด็กมีความสนใจเรื่องกระแสทางการเมือง เรื่องปัญหาสังคม คือไอ้ความสนใจนั้นจะลึกซึ้งหรือไม่มันก็เป็นเรื่องปกติที่คนเราก็เรียนรู้ไปตามวัย แต่เรามักจะนึกเทียบว่าตอนที่เราอายุเท่าเด็ก อยู่ ม.ปลาย หรืออยู่มหา'ลัย โห! เราโง่เรื่องการเมืองอย่างสุดๆ (หัวเราะ) ไม่ได้รู้เรื่องอะไรเลย เมื่อก่อนมันไม่มีช่องทางให้ติดตามมากไปกว่าสื่อกระแสหลักด้วยใช่ไหม แต่คิดว่าตอนนี้เด็กมีความเท่าทัน เราคิดว่ามันก็ใช้ความกล้าประมาณหนึ่งนะที่เขาจะแสดงสิ่งเหล่านี้ออกมาในทุกๆ ช่องทางที่เขาสามารถ แล้วการที่เด็กมาแสดงพาเหรดกีฬาสี หรือพานไหว้ครู ถึงแม้จะมีคนวิจารณ์ว่า "มันใช่ที่เหรอ" เราก็มองในมุมที่ว่า อ้าว! เราอาจจะต้องตั้งคำถามว่าโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษา หรือครู หรือสังคม เคยมีช่องทางอื่นให้เด็กได้แสดงออกซึ่งสิ่งเหล่านี้ไหม ตอนที่เรียนเคยมีวิชาไหนหรือว่ามีคาบไหนที่ครูชวนคุยเรื่องพวกนี้แล้วให้เด็กได้แสดงทัศนคติไหม มันอาจจะไม่มี เขาถึงได้แสดงออกมาในทุกๆ ช่องทางที่เขาจะสื่อสารกับโลกได้ ซึ่งเราว่ามันเป็นเรื่องที่ดี

 

ยังมีผู้ใหญ่ที่บอกว่า เด็กคิดเองหรือเปล่า?

          (หัวเราะ) คิดว่าเป็นปัญหาของผู้ใหญ่ที่ไม่เข้าใจว่าเด็กทุกวันนี้มีช่องทางเรียนรู้ เข้าถึงความรู้เยอะกว่าสมัยเราอย่างมากมาย คือ ถ้าเด็กใส่ใจ มีไม่รู้กี่คอนเทนต์เลยนะในโซเชียลมีเดีย ในเว็บไซต์ทั้งหลายที่เขาจะเรียนรู้เรื่องการเมืองไม่ว่าจะขั้วไหน แล้วเราคิดว่าเด็กเดี๋ยวนี้พอมีโซเชียลมีเดีย มันทำให้เขามีกลุ่มข้อมูลที่พ้นไปจากเพื่อนรอบตัว เขาสามารถข้ามไปคุยกับคนวัยอื่นได้ กรุ๊ปโน้น กรุ๊ปนี้ หรือเพจคนโน้นคนนี้ เราคิดว่าผู้ใหญ่ที่ยังไปคิดว่าเด็กนี่แบบสมองว่างและก็ถูกใส่เข้าไปอยู่ฝ่ายเดียว มันอาจจะมีก็ได้คนที่เป็นอย่างนั้น แต่ถ้าการเหมารวมว่าเด็กทั้งหมดเป็นอย่างนั้นแล้วถูกล้างสมองมา หรือถูกซื้อ มันเป็นวิธีคิดของคนที่ไม่เข้าใจโลกปัจจุบันมากๆ

 

ตอนนี้เรื่องการใช้โลกโซเชียล จะเห็นการแบ่งแยกแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ที่มีการขัดแย้งกันระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เด็กจะเลือกพรรคอนาคตใหม่ แต่ผู้ใหญ่จะให้เลือกพลังประชารัฐ ทะเลาะกันในบ้าน หรืออย่างกรณีท่านใหม่ (หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล) แสดงความคิดเห็นต่อคุณไอติมโดยใช้คำพูดที่ไม่ค่อยเพราะสักเท่าไหร่ ส่วนคุณไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) ก็โพสต์ตอบกลับอย่างสุภาพ มองกรณีนี้อย่างไรว่าผู้ใหญ่ใช้โซเชียลมีความวู่วามกว่าเด็กไหม

          คือจริงๆ อาจไม่ใช่ทั้งหมด หรืออาจจะสะท้อนบุคลิกของคนเอง อย่างกรณีท่านใหม่ คุณไอติมนี่อาจเป็นบุคลิกส่วนตัวที่เพาะบ่มพฤติกรรมอย่างนี้มา (หัวเราะ) แต่ก็เห็นด้วยในแง่ที่ว่า มันแสดงให้เห็นเหมือนกันว่า คือจะบอกว่าฝ่ายหนึ่งเล่นโซเชียลเก่งกว่าอีกฝ่ายก็อาจไม่ใช่ คือเขาอาจจะรู้ฐานแฟนของตัวเอง เขาอาจจะเป็นคนฉลาดสื่อสารทั้งสองคนก็ได้เพราะคนที่ติดตาม 2 คนนี้จะเป็นคนละแบบ หรือมีความต้องการคนละแบบ คือท่านใหม่ก็อาจจะรู้ว่าคนที่ติดตามเขาต้องการอะไรแบบนี้ โพสต์อะไรที่มันเกรี้ยวกราด เขาก็จะได้ไลก์ (like) เราไม่รู้เหมือนกันว่าเขาคิดแบบนี้ไหม เพียงแต่ว่าการที่ไอติมตอบโต้หรือเด็กๆ หลายๆ คนที่เวลาถูกบอกว่า เลือกอนาคตใหม่ถูกล้างสมอง หรือกระแสฟ้ารักพ่อ และมีใครออกมาด่าว่า โดนล้างสมอง เด็กบ้าผู้ชาย ไม่รู้จักคิด อะไรประเภทนี้ แล้วปรากฏว่าเด็กไปทวิตเตอร์ หาข้อมูลเรื่องนโยบายพรรคอนาคตใหม่มาลงเต็มไปหมด แล้วแสดงความรู้ว่าเขาศึกษานะเว้ย ไม่ใช่ว่าเขากรี๊ดคุณธนาธรอย่างเดียว

          คือเราว่าความสนใจอันนั้นมันอาจจะมีอยู่ในตัวเด็กหรือเป็นเพราะถูกท้าทายก็เลยกระตุ้นให้ค้นหาก็ตาม มันก็อาจจะมีหลายแบบ แต่เราคิดว่านี่มันคือพลังของโซเชียลมีเดียว่าเมื่อคุณเจอปฏิกิริยาที่คุณไม่ต้องการแล้วเด็กจำนวนมากเลือกโต้ตอบด้วยการใช้ความรู้หรือใช้ปัญญา ใช้ข้อมูลความรู้เข้ามาถกเถียงแทนการด่ากราดอย่างเดียว เราว่าการที่เด็กทำแบบนี้มันจะทำให้เห็นว่าเขาไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งเชื่อว่าเด็กถูกล้างสมอง โดนหลอก หรือบ้าผู้ชาย หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาไม่ได้เป็นแบบนั้น 

 

ส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ก็จะบอกด้วยความเป็นห่วงว่าเด็กเล่นโซเชียล โดนหลอก ใช้แบบไม่รู้เท่าทัน

          (หัวเราะ) คือบางทีเราเห็นผู้ใหญ่ที่แบบออกมากราดคนโน้นคนนี้แล้วก็สงสัยว่าใครโดนล้างสมองกันแน่ ใครกันที่ไม่รู้เท่าทัน ใครที่เล่นโซเชียลไม่เป็นกันแน่ มันไม่ใช่แค่เด็กหรอก ผู้ใหญ่จำนวนมากที่เล่นโซเชียลแล้วไม่เท่าทันก็เยอะ อย่างที่เขาพูดกันในกลุ่มไลน์นี่เห็นชัดใช่ไหมคะว่าเจอข่าวอะไรมาไม่ว่าจะเรื่องการเมือง เรื่องสุขภาพ เรื่องใดๆ ส่งต่อทันทีโดยที่ไม่ได้ตรวจทานข้อมูล อันนี้ก็สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าทันกับสื่อเหมือนกัน คุณเล่นโซเชียลในมือแต่คุณไม่สามารถใช้งานให้เกิดผลในทางสร้างสรรค์ได้ คือเราว่าเรื่องแบบนี้มันเกิดกับทุกวัย เพราะทุกคนใหม่กับโซเชียลหมด โดยเฉพาะคนรุ่นเราและแก่กว่าเราที่ไม่ได้โตมากับมัน แล้วกระโดดเข้ามาใช้มัน นี่คือกลุ่มคนที่ไม่เท่าทันยิ่งกว่าเด็กเสียอีก เพราะคุณไม่เข้าใจปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่าการที่คุณแชร์ข่าวที่ไม่จริงมันเกิดผลอย่างไร มันเป็นไวรัล [17] (Viral) ได้เพราะอะไร หรือคุณไม่ได้สนใจผลที่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ

          อย่างตัวเราเองก็เห็นได้ชัดว่าไม่เท่าทันเท่าไหร่นักเหมือนกัน หลายหนเราก็ได้เรียนรู้ว่า เออ! เราคิดอะไรตื้นๆ แล้วโพสต์ไป พอมีคนโต้ตอบเราก็ต้องเอามาคิดใหม่ว่าเราเข้าใจอะไรพลาดไปเสียแล้ว บ่อยครั้งโดนโต้ตอบแรงๆ หรือหยาบๆ เราก็จะรู้เลยว่าสภาพจิตใจและอารมณ์เราไม่ได้พร้อมสำหรับสิ่งนี้ เรายังต้องฝึกฝนการใช้งานมันอีกเยอะเลย

 

เรื่องความขัดแย้งระหว่างเจน ระหว่างวัย อย่าง อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกว่า ตอนนี้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมันเป็นการช่วงชิงกันระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายก้าวหน้าที่พยายามจะปรับเปลี่ยนโลกของผู้อื่นให้ตรงกับความคิดของฝ่ายตน เห็นอย่างไรต่อความคิดเห็นนี้ และมองความขัดแย้งในสังคมตอนนี้อย่างไร

          เราก็ค่อนข้างเห็นด้วย แต่เราไม่แน่ใจว่ามันนิยามว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์หรือว่าฝ่ายก้าวหน้าได้เลยอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า แต่โอเค ภาพที่ปรากฏมันเป็นอย่างนั้นซึ่งเราก็เห็นด้วยว่ามันขัดแย้ง มันไม่ใช่ขัดแย้งเพราะว่าเป็นคนๆ ละวัย หรือยึดถือการเมืองคนละแบบ เราคิดว่าความขัดแย้งในที่นี้มันไม่ใช่เพราะว่าฝ่ายหนึ่งเชียร์พรรคนี้ อีกฝ่ายหนึ่งเชียร์พรรคนี้ คือมันไม่ใช่เรื่องแค่นั้น แต่เราคิดว่าคนซึ่งอาจจะไม่ใช่แค่เด็ก หมายถึงคนฝ่ายหนึ่งที่ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มก้าวหน้า คือ คิดว่าเป็นเพราะว่าเขาเห็นภาพเปรียบเทียบของสังคมโลกซึ่งโดยมากก็ผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ คือเห็นภาพเปรียบเทียบของสังคมโลกว่านโยบาย หรือการพัฒนา หรือประเด็นสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องกฎหมายในหลายประเทศของโลก มันพัฒนาไปในทางหนึ่ง แล้วอาจจะมีความรู้สึกในเชิงเปรียบเทียบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเรามันเป็นอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นมันไม่แปลกถ้าเขาจะมีความรู้สึกว่าเขาอยากจะเป็นอย่างนี้ คืออยากได้ประเทศที่พัฒนาไปแบบนี้ อยากจะให้มีประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน มีกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน หรือนักการเมืองแบบนี้แบบนั้น ก็แน่นอนที่เขาจะต้องรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เราคิดว่าความขัดแย้งเป็นเพราะว่าเรามีจินตนาการต่อสังคมที่เราอยากจะอยู่ไม่เหมือนกัน

 

คุณธิดาโพสต์ คำพูดของ อ.เกษียณ เตชะพีระ ไว้ว่า "สังคมที่แสดงความดีด้วยความเกรี้ยวกราดรุนแรง แสดงความรักด้วยความเกลียด แสดงความกล้าหาญด้วยการรุมทำร้าย คนที่ตกเป็นเป้าจำนวนน้อย แสดงเอกลักษณ์ประจำสังคมด้วยด้านมืดมนที่สุดของมนุษย์ มันเศร้า ถ้าคิดว่าลูกหลานของเราฝากอนาคตไว้ในที่แห้งแล้ง ความรัก ความเมตตา ความเข้าใจ และการให้อภัยขนาดนี้"  อันนี้โพสต์ด้วยความรู้สึกอย่างไร

          ก็รู้สึกเห็นด้วย (หัวเราะ) เพราะตอนอ่านก็จะอดคิดถึงลูกเราไม่ได้เนอะ คือเราก็จะเห็นแบบ โอย! ตายแล้ว เรายังอยู่ในสังคมยุคที่พอมีฝ่ายหนึ่งที่พยายามเสนอแนวคิดในเชิงเปลี่ยนแปลงให้พ้นไปจากก้าวเดิมๆ ที่เราเป็น ก็ถูกเล่นงานทันทีด้วยข้อหารุนแรงที่สุดเท่าที่จะมีในสังคมนี้ได้ ซึ่งบางทีเราก็รู้สึกสลดแหละว่า โห! มันยากนะที่จะเปลี่ยนสังคมจารีตแบบของเราให้มันหลุดจากตรงนี้ ซึ่งถามจริงๆ ไอ้วิถีแบบนี้มันปกติมากๆ เลยใช่หรือเปล่า ในสังคมแบบที่เป็นปกติ คือเลือกตั้งแล้วก็ควรได้ตั้งรัฐบาลถ้าคุณชนะ เข้าไปแล้วคุณก็ควรจะได้ทำงานอย่างที่คุณต้องการ นโยบายที่คุณจะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ มันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีใครเสนออะไรที่มันผิดปกติเลย แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นถูกทำให้เป็นเรื่องผิดปกติอย่างร้ายแรงในบ้านเรา แล้วคนจำนวนมากทางหนึ่งก็ถูกล่าแม่มด ถูกปลุกกระแสความเกลียดชังอย่างที่อาจารย์เกษียณบอก คือ มันเป็นด้านที่มืดที่สุดของคน คือการที่เราจะมองแบบคนๆ นี้ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานความดีที่เราเชื่อ แล้วเขาสมควรติดคุก หรือตาย หรือโดนไล่ออกไป เราว่าอันนี้มันสะท้อนอย่างที่อาจารย์เกษียณพูดไม่มีผิดน่ะ ซึ่งพอเราอ่านเราก็รู้สึกสะเทือนใจตรงนี้แหละว่า เออนี่คือสังคมที่ลูกเราจะต้องโตมาหรือ หรืออนาคตอีกสักสิบปีพอลูกเราเป็นหนุ่มสาวเต็มตัวแล้วมันจะมีความเปลี่ยนแปลงบ้างไหม หรือตอนนั้นสังคมไทยจะเป็นอย่างไร

 

Image

โดยรวมแล้วคิดว่า ผู้ใหญ่ควรสื่อสาร ทำความเข้าใจกับคนต่างรุ่นต่างเจนอย่างไร เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูลกัน

          ก็ไม่รู้จะแนะนำได้ไหมเพราะตัวเราเองก็มีปัญหาเรื่องการสื่อสารอยู่เป็นประจำ (หัวเราะ) แต่ก็คิดว่า จริงๆ มันน่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเมตตาซึ่งกันและกัน สำหรับผู้ใหญ่ก็ไม่ควรลืมว่าเราก็เคยเป็นวัยรุ่นมาก่อน และวัยรุ่นย่อมมีความขบถในตัวเอง ความขบถในที่นี้คือการปฏิเสธทุกสิ่งที่มีมาก่อน ซึ่งนี่เป็นเรื่องธรรมชาติของวัยรุ่น ถ้าวัยรุ่นไม่ขบถ แล้วไม่ตั้งคำถาม แล้วจะเป็นวัยรุ่นทำไม ก็เป็นเด็กแล้วแก่เลยก็ได้ (หัวเราะ) ช่วงวัยหนุ่มสาวคือธรรมชาติของคน มันมีฮอร์โมนที่ขับให้คนมีพลัง แล้วพลังนั้นจำนวนหนึ่งก็ออกมาในเรื่องของการสร้างความเปลี่ยนแปลง แล้วจะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็เปลี่ยนแปลงสิ่งไม่ดีที่เขาเห็นที่มันมาก่อนเขา เราว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติ

          จริงๆ แล้วผู้ใหญ่ถ้ามีความคิดนี้ ซึ่งมันไม่ได้ยาก ทุกคนก็เคยผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมา ถ้าเรามีความคิดนี้อยู่ในใจ ก็อาจจะมองเด็กด้วยความเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่เห็นเด็กออกมาทำพานแล้วหงุดหงิด ขัดหูขัดตา นี่มันคือวิธีการแสดงความเป็นขบถของเด็ก ณ ช่วงเวลานี้ ซึ่งเราคิดว่ามันก็เป็นเรื่องปกติที่ควรจะเข้าใจได้ ขณะเดียวกันเราก็ยังเชื่อด้วยว่า ถ้าพูดถึงบริบทของสังคมปัจจุบันนี้ เราคิดว่าทั้งโลกมันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเรื่องความคิด เรื่องการพัฒนา เรื่องความเท่าเทียม อะไรต่างๆ มันก็เป็นชุดความคิดที่เปลี่ยนไปจากรุ่นเราตอนเราเป็นวัยรุ่น คือโลกมันเปลี่ยนไปอีกแบบ โดยส่วนตัวเราค่อนข้างเชื่อว่ามันเป็นโลกของคนรุ่นใหม่ แล้วคนรุ่นใหม่ที่โตมากับโซเชียลเขามีวิธีคิดต่อโลกอีกแบบ ดังนั้นโลกตอนนี้มันไม่ใช่โลกของเรา แล้วเราจะมาเป็นผู้นำ พัฒนานู่นนี่ตามใจเราได้อย่างไร มันไม่ใช่โลกของเราแล้ว เราจะรู้หรือว่าจะพัฒนาโลกไปทางไหน เราเข้าใจ AI [18] แค่ไหน มันทำอะไรได้ เรายังไม่รู้เลยตอนนี้ แต่เด็กเขารู้ จับเด็กไปเล่นคอมพิวเตอร์เขาเล่นเป็นภายในเวลาอันรวดเร็ว เรายังต้องนั่งงมอยู่เลย ดังนั้นมันไม่ใช่โลกของเราแล้ว

          เราก็เลยคิดว่า ผู้ใหญ่ สิ่งที่เป็นบทบาทที่ดีที่สุดคือ ถ้าเราคิดว่าประสบการณ์บางอย่างมันมีประโยชน์ เราก็แค่ถ่ายทอด ส่วนเด็กจะเห็นว่ามีประโยชน์หรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา นี่คือโลกที่เขาจะนำพาไป เราก็คอยเป็นแบ็คอัพที่ดี ถ้าเรามีโหมดนี้ว่า ส่งเสริมให้เด็กทำในสิ่งที่เป็นเรื่องดีและเป็นพลังเสริมให้เขา เราเป็นแค่พลังหนุนเสริม แล้วก็ไกด์นิดหน่อยในสิ่งที่เราพอจะไกด์ได้ สิ่งที่ไกด์ไม่ได้ก็ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา เราค่อนข้างเชื่อแบบนี้ แล้วผู้ใหญ่จะได้สงบๆ แล้วเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากคนเจนใหม่ดีกว่า

 

แต่ก็ยังมีผู้ใหญ่ที่บอกว่าก็เพราะฉันเป็นห่วงอนาคตของพวกเธอน่ะสิ ก็อย่าให้เร็วเกินไป อย่าเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไปนัก

          ไม่ต้องห่วงเขาหรอก ห่วงตัวเองเถอะ อยู่อีกไม่กี่ปีก็ตายกันหมดแล้ว (หัวเราะ) ไม่ต้องไปไกด์เขาหรอก เพราะโลกอนาคตคือโลกที่เขาต้องอยู่ คือโลกที่ใครต้องเป็นคนอยู่ก็ปล่อยให้เขาได้สร้างสรรค์ในสิ่งที่เขาต้องการ สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือ ถ้าคุณยังมีอำนาจบารมีใดๆ อยู่ ก็ทำสิ่งที่ปูทางให้เด็กเหล่านี้ได้มีพื้นที่ของเขา เขาจะได้มีระยะเวลาในการสั่งสมความรู้ประสบการณ์ อีกสิบปีข้างหน้าเขาอาจจะเป็นผู้นำที่สร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคมก็ได้ หรือถ้ามันจะนำสังคมไปสู่การแตกหัก ก็อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่มันจำเป็นต้องเกิดขึ้นก็ได้

 

อยากบอกอะไรทางฝั่งเด็กบ้างว่าควรจะเข้าใจผู้ใหญ่อย่างไร

          ต้องมีความเมตตาให้ผู้ใหญ่ (หัวเราะ) เราว่ามันคือชุดความคิดแบบเดียวกัน ถ้าเข้าใจเสียว่าคนที่มีความเห็นต่างจากเราโดยเฉพาะเกิดจากความต่างวัย คนๆ ละรุ่นที่โตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันเลย และอาจถูกเลี้ยงมาด้วยชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง มีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกันเลย และมีบริบททางสังคมก็ต่างกันมากๆ ดังนั้นการแสดงความเห็นในเรื่องต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องที่เด็กหรือไม่ต้องเด็ก แต่เราเองบางทีก็ชอบประชดประชัน เช่น ปู่ย่าตายายชอบส่ง "สวัสดีวันจันทร์" ที่ชอบว่ากันเนี่ย คือเรารู้สึกว่าถ้ามองด้วยความเมตตากันว่านั่นคือความสุขของคนแก่ที่เขาเล่นโซเชียล แล้วตื่นมาทุกวันเขาก็อยากจะแชร์อะไรกุ๊กกิ๊กแบ่งกัน เราก็ว่ามันเป็นความน่ารักในแบบของเขา คือเราต้องมีความเมตตาและเข้าใจกัน มันก็พออยู่กันได้ คิดต่างกันก็พอจะให้อภัยกันได้ พอจะเรียนรู้ปรับตัวกันไปได้ ไม่ต้องจบลงด้วยการด่ากราดใส่กันหรือมีแต่ความเกลียดชังรุ่มร้อนกันอยู่ตลอดเวลา

 

บนหน้าเฟซบุ๊กของคุณธิดาเป็นภาพจากหนังเรื่อง The Dreamers เลยอยากทราบว่าต้องการสะท้อนถึงอะไร หรืออยากบอกอะไรจากภาพ

          (หัวเราะ) จริงๆ คือเป็นช่วงที่เอาหนังเรื่องนี้มาฉาย แต่จังหวะมันก็พอดีด้วยแหละ หนังก็พูดถึงคนหนุ่มสาวในปารีสช่วงปี ค.ศ.1968 ซึ่งมันเป็นปีที่เกิดการปฏิวัติโดยนักศึกษา ตัวหนังไม่ได้พูดถึงเรื่องหนุ่มสาว ความสัมพันธ์ทางเพศ คนที่อยู่ในที่ปิดล้อมที่ผู้ใหญ่พยายามควบคุม แต่คุณควบคุมเขาไม่ได้หรอกเพราะว่าคนหนุ่มสาวมันต้องระเบิดพลังออกมาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ในหนังก็จะมีฉากที่แสดงให้เห็นความเป็นขบถของคนวัยนักศึกษาที่ว่าพอเกิดเหตุการณ์ในสังคมที่เขารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมโดยเฉพาะเมื่อมันถูกกระทำโดยรัฐ เขาก็ลุกขึ้นมามีส่วนร่วม หรือมีฉากที่ลูกทะเลาะกับพ่อ จะเห็นความไม่เข้าใจของคนๆ ละเจน แล้วมันก็เห็นความคิดอันนี้เลย คือพ่อพยายามควบคุมความคิดลูก พ่อเชื่อว่าตัวเองฉลาดกว่า ขณะที่ลูกก็จะมีคำถามว่า พ่อคิดว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่คิดถูกหรือไง แล้วความคิดของพวกเราไม่มีความหมายเลยเหรอ เราว่ามันสะท้อนสังคมในตอนนี้ค่อนข้างจะดี

 

ถ้าขอให้แนะนำหนังที่สะท้อนประเด็นที่เราคุยกันเรื่องการสื่อสารระหว่างเจน

          นึกถึงหนังปลายปีที่แล้ว เป็นหนังสารคดีเรื่อง Fahrenheit 11/9 ของไมเคิล มัวร์ มาฉาย คือไมเคิล มัวร์ เป็นคนทำสารคดีอเมริกันซึ่งมักจะวิพากษ์วิจารณ์ประเทศตัวเอง ในเรื่องการเมือง เรื่องสวัสดิการ เรื่องรัฐกับประชาชน และทุกครั้งเขาก็จะใช้ตัวเองเป็นผู้ดำเนินเรื่อง (Subject) แล้วก็เสนอความคิดของเขา แต่เรื่อง Fahrenheit 11/9 เป็นหนังที่ต่างจากเรื่องก่อนๆ หน้า เพราะสิ่งที่เขาพยายามสื่อสารกับคนรุ่นเขาก็คือ ประเทศนี้ไม่ใช่สมบัติของคนรุ่นเราอีกต่อไป ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ มันเกิดจากคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเรามีแต่จะสร้างปัญหาทิ้งไว้ เด็กๆ ตอนนี้คือเด็กที่โตขึ้นมาท่ามกลางปัญหาที่เราทิ้งเอาไว้ ดังนั้นคุณอย่าได้ไปบอกเขาเลยว่าเขาต้องทำอะไร เขาน่ะต้องการจะหนีไปให้พ้นจากปัญหาที่คนรุ่นก่อนทิ้งไว้ ดังนั้น สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ให้โอกาสเขา และให้เขาได้เปลี่ยนมัน ให้เขาได้ล้มล้างมัน เพราะคุณจงยอมรับเถอะว่าปัญหาเยอะแยะที่คุณทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ คุณไม่มีปัญญาจะแก้

          เราคิดว่าหนังเรื่องนี้มันพูดสิ่งที่เป็นคอนเซปต์ของสิ่งที่เราพูดคุยกันวันนี้ก็คือ ผู้ใหญ่ควรเข้าใจว่ามันไม่ใช่ยุคของคุณ มันไม่มีประโยชน์ที่คุณจะคิดว่าตัวเองมีอำนาจที่จะครอบงำใครแล้ว ต้องยอมรับว่าสิ่งที่คุณทำวันนี้มีเรื่องดี แต่มันก็มีเรื่องไม่ดีเยอะแยะ ถึงเวลาที่คุณต้องให้คนรุ่นต่อไปเป็นคนทำในสิ่งที่เขาต้องการ ทำสังคมให้เป็นอย่างที่เขาต้องการให้เป็น



[1] ปาฐกถาพิเศษ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 16" จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบ 102 ปี วันคล้ายวันเกิด ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาชิกขบวนการเสรีไทย 

[2] ‘ไอติม' ทวีตซัด ม.จ.จุลเจิม "ไม่น่าเชื่อคนที่มีประสบการณ์ชีวิตมายาวนาน...จะคิดได้แค่นี้" https://www.matichon.co.th/politics/news_1497999

[3] ไขปริศนานักธุรกิจ ประกาศดักตบช่อคือใคร ทำไม ทาทา-อีฟ-พีท แห่ไปคอมเมนต์ https://www.sanook.com/news/7829058/

[4] UGC หมายถึง การที่ผู้บริโภคหรือกลุ่มลูกค้ากลุ่มเป้าหมายผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเอง ซึ่งคอนเทนต์ที่ผลิตออกมานั้นจะมีการกล่าวถึง  แบรนด์นั้นๆ ที่ผู้บริโภคหรือลูกค้ากลุ่มนั้นมีความสนใจ โดยที่แบรนด์ไม่จำเป็นต้องเสียเงินจ้างผู้บริโภคกลุ่มนี้เลย หรือเรียกง่ายๆ ว่าลูกค้าเล่าถึงแบรนด์เองโดยที่แบรนด์ไม่ต้องเสียเงินจ้างเลยด้วยซ้ำ

[5] OTT ย่อมาจาก Over The Top เป็นบริการหนึ่งที่ทำให้เราสามารถรับชมภาพยนตร์ เนื้อหาต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องเสียค่าบริการให้ผู้บริการช่องทีวี หรือแบบจ่ายเงินรายเดือนเพื่อรับชมความบันเทิงผ่านทีวีดาวเทียม

[6] มุ่งเน้นทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์

[7] ‘Digital-First' เป็นแนวคิดที่เริ่มขึ้นในวงการสื่อ ที่กลุ่มผู้ผลิตต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับเทคโนโลยีและการบริโภคของผู้รับสาร ยกตัวอย่างเช่น การลงข่าวในหนังสือพิมพ์สู่การรายงานข่าวบน Social Media, อ้างอิงจาก http://www.cgdigitalacademy.com

[8] Mojo Journalism คือ Mobile Journalism การสื่อสารมวลชนบนมือถือ เป็นรูปแบบใหม่ของการเล่าเรื่องเกี่ยวกับสื่อใหม่ๆ ที่ผู้สื่อข่าวใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพาที่มีการเชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อรวบรวมแก้ไชและเผยแพร่ข่าวจากชุมชนของตน :  จาก วิกิพีเดีย

[9] Echo Chamber Effect คือ ผลลัพท์ที่ระบบแสดงออกมามักจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น คอมเมนท์เชิงบวกจาก Post Social ของเรา เราจะไม่ค่อยเห็นโพสต์หรือคอมเมนท์ที่แตกต่างหรือขัดแย้งไปจากความคิดของเรา

[10] จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ประทุษวาจา หรือ เฮทสปีช (Hate Speech) คือ ถ้อยคำโจมตีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือรสนิยมทางเพศ เป็นต้น

[11] สตาร์ทอัพ (Startup) : Steve Blank  ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งสตาร์ทอัพ ให้คำนิยาม startup ไว้ว่า "a startup is an organization formed to search for a repeatable and scalable business model" แปลได้ว่า "สตาร์ทอัพ คือ กิจการที่ตั้งขึ้นเพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจ (business model) ที่ทำซ้ำได้ (repeatable) และขยายตัวได้ (scalable)"  อ้างอิงจาก http://www.startup.su.ac.th/?p=84

[12] จาก a day BULLETIN

[13] คัลเจอร์ช็อก (Culture Shock) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว มักเกิดขึ้นเมื่อย้ายไปอยู่ในสังคมใหม่ๆ ทั้งวัฒนธรรม สิ่งที่เราเคยทำเป็นประจำในทุกๆ วัน ทัศนคติของคนรอบๆ ตัว ต่างก็กลายเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยไปเสียดื้อๆ

[14] Fat Radio 104.5 สถานีวิทยุเพลงอินดี้ ขวัญใจเด็กแนว ก่อตั้งโดย อดีตดีเจชื่อดัง ป๋าเต็ด หรือยุทธนา บุญอ้อม, ปัจจุบันเปลี่ยนมาออกอากาศทางอินเทอร์เน็ต เป็นสถานีวิทยุออนไลน์ Fat Radio

[15] a day อะเดย์ เป็นนิตยสารต้นแบบนิตยสารทางเลือกของวัยรุ่น ถึงขั้นวงการนิตยสารไทยยกให้นิตยสาร a day เป็นนิตยสาร ‘ขวัญใจเด็กแนว' ก่อตั้งโดย วงศ์ทนง  ชัยณรงค์สิงห์ นิติพัฒน์ สุขสวย และภาสกร ประมูลวงศ์ ด้วยความเชื่อว่า ‘ทำหนังสือเหมือนทำชีวิต'

[16] คอนเทนต์ (Content) คือ เนื้อหา เนื้อเรื่อง

[17] Viral คือการสื่อสารปากต่อไป ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรืออื่นๆ ที่มีการพูดถึงกันไปเป็นทอดๆ หากเรียกแบบภาษาชาวบ้านคือ พูดกันปากต่อปาก ที่หากเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นกระแสจะถูกพูดถึง แชร์ไปทุกๆ ที่อย่างรวดเร็ว 

[18] Artificial Intelligence (AI) ปัญญาประดิษฐ์  หมายถึง ความฉลาดเทียมที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ซึ่งก็คือ เครื่องจักร (Machine) ที่มีฟังก์ชันที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจ เรียนรู้องค์ความรู้ต่างๆ อาทิ การรับรู้  การเรียนรู้ การให้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่างๆ  เครื่องจักรที่มีความสามารถเหล่านี้ก็ถือว่าเป็น ปัญญาประดิษฐ์  (AI : Artificial Intelligence) นั่นเอง

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >