หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 53 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ค้นหา "ความหมายชีวิต" ผ่านโรคซึมเศร้า : สัมภาษณ์นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล พิมพ์
Wednesday, 26 September 2018

Image

วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ ๑๐๗ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๑

 

ค้นหา "ความหมายชีวิต" ผ่านโรคซึมเศร้า

วรพจน์  สิงหา สัมภาษณ์ 



หลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยรับรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข่าวของดารา นักร้อง บุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับโลกและในประเทศไทยที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและจบชีวิตตนเองด้วยการฆ่าตัวตาย และมีอีกหลายท่านได้ออกมาให้ข้อมูลความเจ็บป่วยของตนเองเพื่อแบ่งปันประสบการณ์สู่สังคม

โรคซึมเศร้านับเป็นปัญหาระดับโลก โดยในปี ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกประกาศคำขวัญว่า "Depression : Let's Talk หรือซึมเศร้า เราคุยกันได้" เพื่อให้โลกตระหนักถึงความสำคัญของโรคซึมเศร้า โดยในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา จากประมาณการขององค์การอนามัยโลก มีประชากรมากกว่า ๓๐๐ ล้านคน ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า โดยในประเทศไทย มีจำนวนประมาณ ๑.๕ ล้านคน

ที่สำคัญผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีความเสี่ยงสูงที่จะจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายมากกว่าคนทั่วไปถึง ๒๐ เท่า โดยเฉพาะผู้ป่วยซึมเศร้ากลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มวัยสูงอายุ เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากที่สุด

 

โลกซึมเศร้า โรคซึมเศร้า

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า โรคซึมเศร้าพบได้บ่อยในประชาชนทุกกลุ่มทุกวัย ถือเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยเหลือดูแล และเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดความบกพร่องทางสุขภาพในประชากรทั่วโลก

นายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลไทยนครินทร์ อดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต และอดีตผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิต สสส. เป็นผู้หนึ่งที่รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ทั้งการบรรยาย การให้สัมภาษณ์ การจัดกิจกรรมในแบบต่างๆ รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อสื่อสารให้ความรู้กับสังคมในวงกว้าง โดยสิ่งที่สำคัญคือการปรับวิธีคิด การใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมปัจจุบัน

คุณหมอประเวช กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้คนเราเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า มีหลายปัจจัย เช่น กรรมพันธุ์ ประสบการณ์ในวัยเด็ก เหตุการณ์ในชีวิตที่เกิดขึ้น วิธีคิด และวิถีชีวิตของเรา

"โรคซึมเศร้าเกิดจากปัจจัยทางชีวภาพ กระบวนการภายในจิตใจ และสังคม สิ่งแวดล้อม การที่เราพูดถึงโรคซึมเศร้า เราต้องแยกระหว่างอาการ หรืออารมณ์เศร้าที่เกิดจากความเสียใจ ความสูญเสีย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชีวิตคนเรา ทุกคนต้องมีต้องเจอ เช่น อกหัก ตกงาน เราอาจจะรู้สึกไม่ค่อยดีกับสถานการณ์ รู้สึกไม่ค่อยดีกับตัวเองได้บ้าง แต่เวลาผ่านไป อารมณ์เหล่านี้จะคลี่คลาย และเรามักจะเข้าใจชีวิตมากขึ้นจากเหตุการณ์นั้นๆ"

คุณหมอประเวชอธิบายว่า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักจะมีลักษณะเฉพาะ กระทั่งไม่สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ เช่น กินไม่ได้จนน้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว นอนไม่หลับ ตื่นมาก็เศร้าโดยไม่มีสาเหตุ หรือไม่มีสมาธิในการทำงานหรือเรียนหนังสือ

"เหล่านี้เป็นตัวบอกว่าอาการรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินชีวิตให้เป็นปกติ และเป็นระยะเวลานานกว่าปกติ คือนานเกินกว่า ๒ สัปดาห์ อันนี้เป็นความแตกต่างระหว่างความเศร้าทั่วๆ ไป กับการเกิดเป็นโรคซึมเศร้า"

          ส่วนผลกระทบจากโรคซึมเศร้าในขั้นรุนแรง สามารถสร้างความรุนแรงในครอบครัวและสังคมได้ "ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดเป็นเรื่องของความรู้สึกว่าชีวิตจะอยู่ไปทำไม และจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย ในการฆ่าตัวตาย บางคนฆ่าตัวเองคนเดียว แต่ในบางกรณี โดยเฉพาะแม่ที่มีลูกยังเล็ก เขารู้สึกว่าโลกนี้อยู่ไม่ได้ เขาฆ่าลูกด้วย เพราะกลัวว่าลูกจะอยู่ลำบาก หรือผู้ชายบางคนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาฆ่าทั้งบ้าน เนื่องมาจากเขาไม่ได้รับการช่วยเหลือ คุมอารมณ์ไม่อยู่ และผสมปนกันระหว่างอารมณ์เศร้า หมดหวัง และความก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งมีอยู่ในสัญชาตญาณของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง"

 

ฐานของโรคซึมเศร้าคือ "ทัศนะต่อชีวิต"

คุณหมอประเวชกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่ากลไกอย่างหนึ่งของการเป็นโรคซึมเศร้าคือ ความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ คนที่ถูกคาดหวังสูงและเติบโตมา โดยไม่รู้ตัว เขาจะหยิบความคาดหวังของพ่อแม่มาใส่เป็นความคาดหวังที่เขามีต่อตัวเอง แม้พ่อแม่จะเลิกพูดเรื่องพวกนี้ไปแล้ว แต่เขาก็ยังคาดหวังกับตัวเองต่อไป

"คนที่คาดหวังกับตัวเองสูง ไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จอะไรก็ตาม ก็ไม่เคยดีพอ เมื่อไม่ดีพอ เขาก็เริ่มไม่ชอบตัวเอง ก็สามารถเกิดเป็นอาการซึมเศร้าขึ้นมาได้ กระบวนการตรงนี้จะเห็นว่าการแก้ไขหรือการรักษาที่สำคัญไม่ใช่เรื่องยาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผสมกับหลายปัจจัยมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ทำอย่างไรให้เขาสามารถที่จะยอมรับตัวเอง เห็นข้อดีและยอมรับข้อจำกัด และมีแผนในการพัฒนาตัวเองที่ดี"

คุณหมอประเวชกล่าวว่า ปัจจุบันคนเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น และฐานของโรคซึมเศร้าคือ ทัศนะต่อชีวิต "ฐานในที่นี้ไม่ได้ชี้ไปที่จุดใดจุดหนึ่ง เพราะว่าแต่ละคนจะมีปัจจัยแวดล้อมไม่เหมือนกัน แต่ก็มีรูปแบบของมัน ซึ่งหมายถึงคนที่เกิดการเจ็บป่วยขึ้นแล้ว เราสามารถค่อยๆ ค้นหาว่ามีปัจจัยอะไรในชีวิตของเขาที่เป็นตัวนำไปสู่โรคซึมเศร้า และปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยเดียวกันกับที่เราต้องจัดการให้ดี ถ้าเราต้องการให้เขาหายแบบยั่งยืน คือเสี่ยงน้อยลงต่อการกลับมาเป็นซ้ำ"

"ทางการแพทย์มีข้อมูลว่าถ้าเราใช้ยาอย่างเดียว เราสามารถทำให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าหายดีขึ้นได้ แต่ถ้าเราหยุดยา คนที่เคยป่วยมาแล้วจะเสี่ยงกับการป่วยซ้ำ ซึ่งถ้าเรามองในเชิงปัจจัยที่คุยกัน ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะต้นทางของมันไม่ได้รับการจัดการ ในงานวิจัยทางคลินิกพบว่า ถ้าเราปรับทักษะในการจัดการความคิดให้ดีขึ้น แก้ความคิดที่บิดเบี้ยว ที่มีอคติภายในออกจากใจ โอกาสกลับมาเป็นซ้ำก็จะลดลง หรือถ้าเรามีความสามารถในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีขึ้น ซึ่งการมีสัมพันธภาพที่ดีขึ้นเป็นการเกื้อหนุนความรู้สึกดีให้ตัวเองได้ด้วย กลับทำให้รู้สึกชีวิตมีความหมายได้ด้วย ทักษะชุดนี้จะลดความเสี่ยงในการกลับมาเป็นซ้ำ"

 

จุดเปลี่ยนสู่การค้นหา "ความหมายชีวิต"

คุณหมอประเวชกล่าวว่า โรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่มีแต่แง่ลบเพียงอย่างเดียว โรคซึมเศร้าสามารถกลายเป็นจุดทำให้เกิดปัญญาและเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้หลายคนค้นหาความหมายของชีวิตได้ดีขึ้น

"งานวิจัยทางคลินิกสนับสนุนว่าปัจจัยทางสังคม กระบวนการทางจิตใจ มีความสำคัญมากกับการก่อให้เกิดโรค กับการดีขึ้นจากโรค และกับการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ หรือรวมถึงอาจจะทำให้โรคซึมเศร้าครั้งหนึ่งที่เราป่วย กลายเป็นจุดที่ทำให้เราค้นหาความหมายของชีวิตได้ดีขึ้น คือกลับมาทบทวนระบบคุณค่า ทบทวนชีวิต เรียกได้ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคที่มีแต่แง่ลบเพียงอย่างเดียว ถ้าใช้ให้ดี ก็เป็นจุดให้เกิดปัญญาได้ เพราะว่าความทุกข์ของชีวิตเป็นตัวกระตุ้นให้เขาค้นหาคำตอบ"

"คนที่เป็นโรคซึมเศร้า จังหวะในการใช้กระบวนการทางจิตใจหรือสังคม ต้องดูความรุนแรง แต่ทุกๆ คน ผมจะสอนวิธีการพักใจให้สงบ จัดระบบชีวิต อันนี้คือพื้นฐานที่ทุกคนควรจะมี และนั่นเป็นเหตุที่ผมตั้งกลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มปิด‘แก้ซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา' เพราะว่าผมไม่ได้ต่อต้านการใช้ยา แต่ผมต้องการให้เห็นถึงแง่มุมของการดูแลตัวเองที่ไม่ใช้ยา"

คุณหมอประเวชกล่าวว่า อาการซึมเศร้าที่เป็นโรค ถ้าเรามองแต่โรค ก็จะติดอยู่ที่การเป็นโรค "แต่ถ้าเรามองว่าอยู่ที่ชีวิตคน เราต้องเติมปัจจัยที่เป็นเรื่องของความเข้มแข็งด้านใน ค่อยๆ เติมไปเรื่อยๆ จะสะสมจนกระทั่งเขาสามารถที่จะเปลี่ยนระบบความคิดได้ดีขึ้น"

 

คนในปัจจุบันวิ่งหาความสุข

มุมกลับของโรคซึมเศร้า

ปัจจุบัน สื่อมวลชนเรียกยุคนี้ไปต่างๆ กัน เช่น สังคมดิจิทัล ประเทศ ๔.๐ ทุกชีวิตเชื่อมต่อด้วยเครือข่ายไร้สาย สมาร์ทโฟนในมือเราทำให้มีอิสระทางการสื่อสารมากขึ้นเมื่อเทียบกับคนในยุคก่อน โซเชียลมีเดีย หรือโลกออนไลน์ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเรามีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่ดีที่สุด เนื่องจากรอบกายเต็มไปด้วยความพรั่งพร้อมทางวัตถุและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ท่ามกลางภาพความสวยงามของโลกปัจจุบันและความรวดเร็วเร่าร้อนของสังคมเทคโนโลยี เรากลับพบว่าผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความเจ็บป่วยทางจิตใจและอารมณ์ ความเครียดเรื้อรัง ความวิตกกังวล ปัญหาโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป

คุณหมอประเวชใช้ช่องทางสื่อสารให้ความรู้แก่สังคมในหลายช่องทาง เช่น เฟซบุ๊กเพจชื่อ "หมอประเวช ตันติพิวัฒนสกุล" ยูทูบช่อง "ปลดล๊อกกับหมอเวช" โดยมีผู้สนใจติดตามจำนวนมาก รวมถึงมีแอพพลิเคชั่น ๖ แอพพลิเคชั่น ให้ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ โดยแต่ละแอพพลิเคชั่นจะแตกต่างกันไปตามจุดประสงค์ในการใช้งาน เช่น "Sook คลายเศร้า", "Sook หลับดี", "Sook คลายกังวล", "Sook เส้นทางรัก", "Sook ลดน้ำหนัก" และ "Sook คำปรึกษา" ซึ่งการทำงานของคุณหมอประเวชเป็นการให้ความรู้ไม่เฉพาะโรคซึมเศร้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของเราทุกคน คือการค้นพบความสุขในการดำเนินชีวิต

คุณหมอประเวชให้ข้อสังเกตในการใช้โซเชียลมีเดีย โดยมีหลักฐานยืนยันว่าคนที่มีปัญหาเสพติดโซเชียลมีเดีย มักจะเป็นคนที่เหงาและมีความเศร้าลึกๆ และขาดจุดหมายในชีวิต

"ติดในที่นี้หมายถึงว่าเขาต้องใช้เวลามากขึ้น อยู่กับมันโดยรู้สึกว่าถ้าไม่ได้ดูจะรู้สึกว่ามันพลุ่งพล่านภายใน มันขาดอะไรบางอย่าง แต่จริงๆ แล้วเกิดจากว่าเขามีต้นทุนบางอย่างภายในใจ ภายในชีวิตของเขาที่ขาดความลงตัว เพราะฉะนั้นเวลาจะแก้ไข ไม่ใช่แก้ที่การหยุดพฤติกรรมนั้น แต่ต้องแก้ที่ว่าจุดหมายชีวิตคืออะไร เราต้องการอะไร เราจะดูแลตัวเองอย่างไร และค่อยๆ ไล่ไปทีละขั้นๆ การฟื้นฟูตรงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาเติบโตและหลุดออกจากความรู้สึกเบื่อเหงาด้วย และขึ้นอยู่กับว่าคนๆ นั้นตระหนักและยอมรับไหม เพราะบางคนก็เหมือนกับไม่มีอย่างอื่นจริงๆ ถ้าเขามีเพื่อนมีกลุ่มที่ดี ผมเชื่อว่าพลังของเพื่อนจะช่วย

แต่ถ้าจะไปหาหมอเดือนละครั้ง ครั้งละ ๒๐ นาที ครึ่งชั่วโมง อย่างนี้จะได้ผลยาก ผมคิดว่ากระบวนการเยียวยาผ่านการเข้าถึงทางจิตวิญญาณ หรือการเรียนรู้เป็นกลุ่มที่สม่ำเสมอ เช่น ทุกอาทิตย์ ก็จะเป็นตัวให้คนที่มีปัญหาเสพติดโซเชียลมีเดียกลับมามีจุดหมาย และใช้เวลาของตัวเองได้ดีขึ้น"

"การฝึกฝนสิ่งที่อยู่ข้างใน สามารถทำให้เราเข้าถึงตัวเรา เข้าถึงศักยภาพ และในทางศาสนาอาจจะหมายถึงช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับพระเจ้า สิ่งเหล่านี้เป็นตัวที่เชื่อมถึงกันที่มีผลต่อความสุขภายใน"

นอกจากนี้ หนึ่งในแนวโน้มทางความคิดของคนเราคือการเปรียบเทียบ ซึ่งคุณหมอประเวชอธิบายว่า การเปรียบเทียบเป็นหนึ่งในกลไกใหญ่มาก ที่ทำให้คนเราในปัจจุบันมีความสุขน้อยกว่าที่ควร

"ในยุคนี้ คนเราจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นโดยผ่านการโพสต์ทางเฟซบุ๊ก ทางอินสตาแกรม ซึ่งคนส่วนใหญ่จะโพสต์ในสิ่งที่ดีที่สุดของตัวเองมาโชว์กัน คนก็เกิดความพอใจในตัวเองน้อยลง กลไกนี้สอนเราอย่างหนึ่งว่าให้ระวังความคิดเปรียบเทียบ ซึ่งทำให้เรามีความสุขน้อยลง ทำให้เกิดความไม่พอใจในชีวิตตัวเอง"

คุณหมอประเวชให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่าโดยทั่วไปคนเราต้องการหาคำตอบให้ชีวิตตนเอง เพราะฉะนั้น มีอะไรเขาก็วิ่งไปคว้าเอาไว้ ซึ่งคนในปัจจุบันวิ่งหาความสุข เป็นเหมือนมุมกลับของโรคซึมเศร้า

"เช่นวัยเกษียณ ซึ่งเป็นวัยที่ความรู้สึกมีคุณค่าจากการงานหายไปแล้ว สายสัมพันธ์ลดน้อยลง มีปัญหาสุขภาพมากขึ้น มีความกังวลเรื่องการเงิน เพราะต้องใช้จ่ายเรื่องสุขภาพ เสร็จแล้วก็ยังอยู่กับตัวเองไม่เป็น เพราะว่าเปรียบเทียบ หมายถึงว่าคนจำนวนมากอยู่เฉยๆ จะรู้สึกว่ามันอยู่ไม่ได้ ก็เกิดความไม่พอใจ ยังเหงา เพราะว่าสายสัมพันธ์ในละแวกบ้านไม่มีเหมือนเดิม ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่ถ้าเขาเรียนรู้ที่จะมีชีวิตอย่างมีความสุข เช่น เรียนรู้ที่จะมีความสุขอย่างง่ายๆ ทำสิ่งเล็กๆ และพอใจกับสิ่งนั้น สามารถใช้ชีวิตเชื่อมโยงกับธรรมชาติหรืออยู่กับคำสอนทางศาสนา มีจุดหมายที่ชัดเจนทางจิตวิญญาณ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เขาซึมเศร้าได้ ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักระหว่างปัจจัยบวกปัจจัยลบในชีวิตว่าเป็นอย่างไร"

"ฉะนั้น ในมุมกลับ การที่คนไม่ค่อยมีความสุข ก็เป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการที่คนเราจะซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น"

คุณหมอประเวชระบุว่า "มีข้อสรุปชัดเจนว่าการที่โรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ปัจจัยจากยีนที่เปลี่ยนไป เพราะยีนไม่เปลี่ยนเร็วขนาดร้อยปีสิบปี แต่โรคซึมเศร้าเกิดจากสภาพจิตใจและสังคมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นเหตุที่ผมอธิบายว่าจุดเริ่มต้นของการเกิดเป็นโรคประกอบไปด้วยปัจจัยทางชีวภาพ จิตใจ และสังคม"

 

ไม่หลงตามค่านิยมบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยม

โรคซึมเศร้าสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกอาชีพ ทุกสถานะ และสามารถรักษาให้หายหรือบรรเทาได้ หากทุกคนรู้จักวิธีดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้ ซึ่งคนรอบข้างต้องให้ความเข้าใจ ความใกล้ชิด รวมถึงปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางแก้ไข โดยจะเป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดอัตราผู้ป่วยโรคซึมเศร้าให้น้อยลง

คุณหมอประเวชสรุปวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยาไว้หลายประการในยูทูบในตอนที่ชื่อว่า "แก้ซึมเศร้าแบบไม่ใช้ยา" คือ "เพิ่มพลังชีวิต ปรับวิธีคิดให้ยืดหยุ่นและเมตตา เผชิญหน้าทุกอารมณ์ เปิดสังคมคนรู้ใจ สติรู้อยู่กับปัจจุบัน และสุขได้ง่ายเมื่ออยู่กับตัวเอง" ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนมีประโยชน์ต่อคนทั่วไปทุกคน ไม่เฉพาะกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งถ้าเราทำตามนี้ได้ เราก็สามารถลดความเสี่ยงกับการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าและมีความสุขได้ง่ายในชีวิตประจำวัน

คุณหมอประเวชกล่าวว่าโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มที่คนต้องเป็นมากขึ้น ซึ่งดูจากปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้า คือปัจจัยทางจิตวิทยาสังคม

"ถามว่าเราจะดูแลและป้องกันตัวเองได้อย่างไร ยังคงเป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมชาติของความสุขทุกข์ และเรียนรู้ที่จะจัดการตัวเอง โดยไม่หลงวิ่งไปตามค่านิยมบริโภคนิยมหรือวัตถุนิยมมากเกิน เพราะมีงานวิจัยเรื่องความสุขชัดเจนมากที่บอกว่ายิ่งมีทัศนะทางวัตถุนิยมมากเท่าไหร่ ความพอใจในชีวิตและความสุขน้อยลง"

โรคซึมเศร้ามีหลายมิติให้เราทุกคนต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ ซึ่งในแง่หนึ่งโรคซึมเศร้าที่ปรากฏออกมามากขึ้นในทุกวันนี้ เหมือนกำลังบอกเราให้หันกลับมาทบทวนระบบค่านิยมและค้นให้พบความหมายชีวิตที่แท้จริงของเราแต่ละคน


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >