หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ไล่รื้อหมู่บ้านชาติพันธุ์เอาคนออกจากป่า...กฎหมายบนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย?!: องอาจ เดชา สัมภาษณ์
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 95 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ไล่รื้อหมู่บ้านชาติพันธุ์เอาคนออกจากป่า...กฎหมายบนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย?!: องอาจ เดชา สัมภาษณ์ พิมพ์
Wednesday, 19 September 2018

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ ๑๐๗ พ.ค. - ส.ค. ๒๕๖๑

 

ไล่รื้อหมู่บ้านชาติพันธุ์ เอาคนออกจากป่า
...สร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ
กฎหมาย บนความเหลื่อมล้ำ ในสังคมไทย?!

องอาจ เดชา สัมภาษณ์/เรียบเรียง



หลายคนคงจำภาพเหตุการณ์เหล่านี้ได้ดี
...

ภาพเจ้าหน้าที่อุทยานกำลังเผากระท่อมชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีเป็นการเผาทำลายทั้งเพิงพัก ยุ้งฉาง และข้าวของเครื่องใช้ ไปต่อหน้าต่อตา โดยเจ้าหน้าที่ อ้างว่าชาวบ้านกลุ่มนี้บุกรุกป่า มีสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ แล้วผลักดันให้ชาวบ้านกลุ่มนี้ลงมาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานซึ่งเจ้าหน้าที่กันพื้นที่ไว้ให้อยู่อาศัย

ทั้งๆ ที่ชาวบ้านพยายามบอกว่า บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยอยู่บนแผ่นดินผืนนี้กันมานานหลายชั่วอายุคน

"ตอนบ้านลุงโดนเผา เจ้าหน้าที่เข้ามาบอกว่า ลุงลงมาข้างล่างหน่อย ลงมาพ้นบันไดปุ๊บ เขาเผาเลย เรายืนดู ร้องไห้ แต่เขาไม่หยุด เขาไม่ได้ให้เวลาเก็บของเลย ลุงปลูกต้นไม้ ผลไม้ไว้ มีต้นทุเรียนอายุราว ๓๐ ปี ต้นหมากเป็นของพ่อแม่ อายุราว ๖๐ กว่าปี พ่อบอกว่าปลูกไว้กิน แต่เราบอกเขา เขาก็ไม่ฟัง คิดว่าเราถางป่าใหม่ พยายามบุกรุก แต่มันไม่จริง..."  นายดูอู้ ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย บอกเล่าให้สื่อมวลชนฟัง

เช่นเดียวกับ นายโคอิ หรือ ปู่คออี้ มีมิ วัย ๑๐๖ ปี ซึ่งเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ได้ยืนยันว่าตนเองเกิดที่บางกลอย หรือใจแผ่นดิน  และอาศัยอยู่ที่บ้านที่ถูกเผาหลังนี้  โดยหลายฝ่ายพยายามหาหลักฐานการยืนยันว่าเป็นความจริง ทั้งภาพถ่าย เหรียญ รวมทั้งภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี ๒๕๑๕ จะเห็นว่าบันทึกร่องรอยคล้ายกับ "บางกลอยบน หรือ "ใจแผ่นดิน" เคยเป็นที่อาศัยทำกินของชาวกะเหรี่ยงมาก่อน นี่เป็นหนึ่งในหลักฐานใหม่ พร้อมกับภาพถ่ายทางอากาศที่เก่ากว่านั้น ซึ่งทีมทนายยื่นต่อศาลปกครองว่า กะเหรี่ยงแก่งกระจานอยู่มาก่อนประกาศเป็นเขตอุทยานปี ๒๕๒๔

จนนำไปสู่การเรียกร้องต่อสู้ เพื่อรักษาสิทธิ เพื่อปกป้องผืนดินถิ่นเกิดขึ้นมา

โดยหนึ่งในผู้เรียกร้องสิทธินั้นก็คือ "พอละจี รักจงเจริญ" หรือ "บิลลี่"

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗ บิลลี่ได้หายตัวไปที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังถูกควบคุมตัวในวันเดียวกัน โดยเจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งระบุว่าพวกเขาควบคุมตัวบิลลี่ไว้เนื่องจาก "การมีไว้ในครอบครองซึ่งน้ำผึ้งป่าอย่างผิดกฎหมาย" แต่ได้ปล่อยตัวเขาไปในวันนั้น แล้วก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

จนกระทั่ง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีการออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ ๔ ปีการหายตัวไปของบิลลี่ โดยระบุว่า มีพยานหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานที่ว่า บิลลี่ตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหายและการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ซึ่งนับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ต่อมา ปู่คออี้ และตัวแทนชาวบ้าน จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย

​โดยศาลได้พิจารณาคดีสรุปความได้ว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ นั้นเป็นไปตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ซึ่งสามารถกระทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่สร้างในเขตป่าดงดิบและอุทยานฯ ได้ และถือได้ว่าผู้ฟ้องเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ กรณีนี้ไม่ถือว่าละเมิดสิทธิของผู้ฟ้อง สำหรับกรณีการอ้างการอยู่อาศัยตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี ๒๕๕๓ เรื่องฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงที่ผู้ฟ้องอ้างว่าอยู่ในชุมชนดั้งเดิมนั้น ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะชุมชนที่ผู้ฟ้องอาศัยอยู่ (บางกลอยบน) เป็นการบุกรุกแผ้วถางป่าดงดิบ และผู้ฟ้องไม่ยอมอาศัยอยู่และทำกินในพื้นที่ซึ่งรัฐกำหนดให้ การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่หรือผู้ถูกฟ้องจึงไม่ถือเป็นการทำเกินกฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าการเผาและทำลายทรัพย์สิน ของใช้ประจำวัน (เช่น หม้อข้าวและอุปกรณ์หากินอื่นๆ) รวมทั้งเผาของใช้ส่วนตัว ถือว่าทำเกินกว่ากฎหมายกำหนด และกรมอุทยานฯ ผิดข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ เนื่องจากการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้น สามารถเก็บทรัพย์สินของใช้ส่วนตัวไว้ก่อนแล้วค่อยประกาศคืนแต่เจ้าหน้าที่ไม่ทำ ศาลจึงได้ประเมินทรัพย์สินแล้วให้ผู้ถูกฟ้องจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เสียหายเป็นรายละ ๑๐,๐๐๐ บาท แบ่งเป็นค่าชดเชยทรัพย์สินส่วนตัว ๕,๐๐๐ บาท และค่าชดเชยอุปกรณ์ทำกินและของใช้ในชีวิตประจำวัน ๕,๐๐๐ บาท ทั้งนี้สำหรับผู้ถูกฟ้องที่ ๒ คือกระทรวงทรัพยากรฯ นั้นไม่ถือเป็นความผิดใดที่ต้องรับผิดชอบ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการของกรมอุทยานฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดเท่านั้น จึงให้กรมอุทยานฯ รับผิดชอบค่าชดเชยแก่ผู้ฟ้องภายใน ๓๐ วัน ​

นายสุรพงษ์ กองจันทึก หัวหน้าคณะทำงานช่วยเหลือคดีความกะเหรี่ยงบางกลอย กล่าวว่า การตัดสินของศาลชั้นต้นในวันนี้ชี้ชัดว่า ศาลไม่ได้มองว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยอาศัยอยู่ที่บางกลอยบนมาก่อน แต่เป็นการบุกรุกป่าดงดิบทีหลัง ซึ่งหลังจากนี้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะมีการยื่นอุทธรณ์ก็ต้องดำเนินการต่อไปในศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ชาวบางกลอยย้ายไปอยู่ชุมชนเดิมไม่ได้ ยังถือว่าโชคดีที่ศาลพิจารณาข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ซึ่งจะต้องคุยกับชาวบ้านถึงกระบวนการและขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ต่อไป

ปู่คออี้ กล่าวภายหลังศาลพิพากษาแล้วว่า ในเมื่อศาลตัดสินมาแล้วต้องยอมรับคำพิพากษา เมื่อไม่ให้กลับไปอยู่บ้านเดิม ตนยอมรับคำสั่ง เพราะเคารพศาล แต่สาบานว่า บางกลอยบน เป็นบ้านเดิม ไม่ได้บุกรุกใหม่ จะให้ไปสาบานที่ไหน ยินดีจะไปทำ แต่ไม่คิดละเมิดคำสั่งศาล ทั้งนี้ ยืนยันว่าบ้านที่ถูกเผาคือบ้านเกิด ไม่ใช่แค่ที่พัก เพราะตอนเกิดมา จำความได้ก็อยู่กับแม่กับพ่อ ที่นั่นคือที่ๆ เดิม ที่แรกที่ดื่มนมแม่

 

อำนาจนิยมของราชการที่ผูกขาด

ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นภายหลังรัฐประหาร

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เขียนบทความเผยแพร่ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อกรณีคำพิพากษาศาลปกครองกลางดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้

"เมื่อหลายปีก่อน ดิฉันได้มีโอกาสไปเป็นพยานให้การในชั้นศาล ในคดีที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ฟ้องชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่อมกิ จังหวัดตาก ในข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อตัดไม้ทำลายป่า ข้อต่อสู้ของทนายฝ่ายชาวบ้านจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การยืนยันว่า ชาวบ้านทำกินในบริเวณนั้นมาก่อนที่จะประกาศเขตป่าสงวน และด้วยหลักการของสิทธิชุมชน ชาวบ้านควรมีสิทธิที่จะได้ทำกินในพื้นที่ที่ตนได้ทำมาหากินมานับแต่บรรพบุรุษ

ในคดีนั้น นอกจากดิฉันซึ่งเป็นนักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องไร่หมุนเวียนแล้ว ยังมีนายอำเภออีกท่านหนึ่ง ซึ่งได้ยืนยันเช่นกันว่า การทำไร่ของชาวบ้าน ไม่ใช่การบุกเบิกที่ทำกินใหม่ อย่างที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้กล่าวอ้าง

ข้อที่น่าสังเกตคือ ความรู้/การรับรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรในเขตป่าของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ และบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมนั้น กล่าวได้ว่า ไม่มีเลย แม้ว่าจะได้มีการยกกรณีงานวิจัยที่เป็นรูปธรรม มีวิดีทัศน์ประกอบที่แสดงให้เห็นการหมุนเวียนใช้ที่ดินในเขตป่าของระบบเกษตรดังกล่าว ระบบสิทธิที่มีมาก่อนกฎหมายของรัฐ ฯลฯ อัยการก็ยังคงยืนยันว่า ไร่ของชาวบ้านนั้น เป็นการทำลายป่า ในขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้นั้นไม่ต้องพูดถึง หน้าที่ของข้าราชการเหล่านี้ คือการกีดกันสิทธิของชาวบ้านออกจากทรัพยากรโดยสิ้นเชิง

ในคดีแม่อมกิ ศาลชั้นต้น ได้ตัดสินยกฟ้อง แต่ไม่ได้ให้เหตุผลที่ยึดโยงกับหลักเรื่องสิทธิชุมชน ศาลให้เหตุผลว่า ชาวบ้านกระทำผิด แต่เป็นเรื่องของการขาดเจตนา สิทธิในป่าไม้ ยังคงเป็นของรัฐเช่นเดิม แต่ในศาลอุทธรณ์ ได้กลับคำพิพากษา ตัดสินว่าชาวบ้านผิด แต่ให้รอลงอาญาไว้"

"ดิฉันคิดว่า อำนาจนิยมของราชการที่ผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นภายหลังรัฐประหาร การไม่มีแม้แต่หลักเรื่องสิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะประกาศออกใช้ น่าจะผลักให้สถานการณ์การคุกคามสิทธิในการทำมาหากินในเขตป่าของชาวบ้านต้องตกอยู่ในขอบเหวที่แย่หนักกว่าที่เป็นอยู่หลายเท่าตัวนัก กรณีแก่งกระจาน เป็นเพียงตัวอย่างแรก ในระลอกคลื่นแห่งการใช้กำลังกดบังคับเพื่อขับไล่ชุมชนออกจากที่ทำกิน ที่สาหัสสากรรจ์กว่าเดิม อาจจะหนักกว่าทศวรรษความขัดแย้งในทรัพยากรในยุค ๒๕๔๐ อย่างน้อยในยุคนั้น สิทธิในการโต้แย้ง และชุมนุมประท้วง ยังเป็นเรื่องที่ทำได้"

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว บอกอีกว่า การปราศจากอำนาจ การถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการกำหนดชะตากรรมของชีวิตและทรัพยากร เป็นมูลฐานสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด น่าเสียดายที่บรรดาเอ็นจีโอ องค์กรอนุรักษ์ และกลุ่มสิ่งแวดล้อมต่างๆ มองไม่เห็นภาพในเชิงโครงสร้างนี้ กลับเลือกที่จะประนีประนอมกับอำนาจ ลดทอนปัญหาลงเหลือเพียงเทคนิคทางเลือกเฉพาะกรณี หรือไม่ก็มุ่งเพียงแต่จะแก้ปัญหา ‘โครงการของตน' ให้ลุล่วงไปได้ โดยไม่สนใจคำถามที่ใหญ่ไปกว่านั้นว่า ระบอบอำนาจแบบไหน ที่เอื้ออำนวยให้การบดขยี้ผู้คนลงเหลือเพียงเศษธุลีที่อาศัยแผ่นดินคนอื่นเขาอยู่ ทำงานได้อย่างตามอำเภอใจ

"หนักไปกว่านั้น บางกลุ่ม บางองค์กร ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐที่มีบทบาทในการลิดรอนและคุกคามสิทธิของชาวบ้านได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย และนี่เป็นเหตุผลที่เหตุใดการต่อสู้ของบรรดากลุ่มชาติพันธุ์จนๆ ในเขตป่าเหล่านั้น จึงโดดเดี่ยวและวังเวงยิ่งนัก"

 

กฎหมายมักรับใช้คนในสังคมเมือง?!

ปฏิเสธวิถีชีวิต ตัวตน ข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ท้องถิ่น

เช่นเดียวกับ พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ซึ่งลงพื้นที่ทำงานคลุกคลีกับพี่น้องกะเหรี่ยงบางกลอย มานาน ก็กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า มันเลยไปไกลกว่าขั้นตอนการบังคับใช้กฎหมาย แต่ล่วงเลยถึงแนวคิดในการออกกฎหมายที่ปฏิเสธวิถีชีวิต ตัวตน ข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ท้องถิ่น คือไม่ได้มีการพิจารณาสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่การเขียนกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ที่ดินต่างๆ แล้ว ในขณะที่มีช่องทางต่างๆ เปิดไว้ไม่ว่าจะกว้างหรือแคบให้ผู้มีอำนาจรวมถึงผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจสามารถได้ประโยชน์จากที่ดินและทรัพยากรป่าไม้โดยถูกต้องตามกฎหมายเสมอ

"กรณีบางกลอย ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้การกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานในการเข้าไปทำลายทรัพย์สินเพื่อขับไล่เป็นการกระทำผิดที่ต้องชดใช้ อีกทั้งในคำพิพากษาก็ชี้ได้ว่าศาลเชื่อว่าชาวบ้านอยู่ตรงนั้นมาก่อน สามารถใช้มติ ครม. ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ครอบคลุมได้ แต่ศาลก็ไม่มีคำสั่งให้ชาวบ้านกลับถิ่นฐานเดิมที่บางกลอยบน หรือใจแผ่นดิน เพราะชาวบ้านไม่มีเอกสารหลักฐานในการครอบครอง ตรงนี้ทนายที่รับผิดชอบอธิบายว่า มันอาจจะต้องก้าวไปถึงกระบวนการที่จะตั้งคณะกรรมการพิสูจน์ว่าคนกลุ่มนี้อยู่มาก่อนการประกาศอุทยานจริงหรือไม่"

พรสุข ย้ำอีกว่า ตรงนี้ก็คือ เห็นได้ชัดว่ามันติดขัดมาตั้งแต่การเขียนกฎหมายที่รับใช้คนในสังคมเมือง ซึ่งเป็นคนที่เข้าถึงบริการและอำนาจรัฐ แล้วมันก็ติดขัดที่คนในเมืองไม่สามารถเข้าใจ ไม่พยายามจะเข้าใจ และไม่ได้รับการอธิบายหรือปลูกฝังมาแต่เด็กให้เข้าใจคนอื่นที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบตัวเองเลยจริงๆ ดูในโลกออนไลน์ คนทั่วไปก็วิพากษ์วิจารณ์กันว่า แหม อะไร แค่จนแล้วทำไมต้องได้ที่ดิน แค่อยู่มาทำไมต้องได้ ทีเรายังต้องซื้อที่ดิน  คือเราไม่ได้คิดไกลกันเลยว่า ไอ้ที่ดินที่เราซื้อมานั้น ก่อนมันจะเป็นที่ดินที่เป็นโฉนดได้ มันมาจากไหน และมาได้อย่างไร แล้วทำไมบางที่ถึงมีโฉนดได้และบางที่ไม่มี

อยากเสนอแนะ ทางออกของปัญหา หรือแก้ไขกระบวนการยุติธรรมอย่างไรบ้าง?

พรสุข บอกว่า ขอไม่เสนอแนะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง แต่เสนอแนะเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจของสังคมในประเด็นต่างๆ เหล่านี้มากกว่า คือ สังคมเราจะต้องเข้าใจมากกว่าสงสาร ต้องเข้าใจว่าทำไมปู่คออี้มีสิทธิและศักดิ์ศรีที่จะอยู่และต้องได้รับความเคารพ ไม่ใช่แค่สงสารว่าปู่อายุร้อยกว่าปีแล้วยังต้องลำบากมาสู้ ซึ่งเชื่อว่าเราน่าจะสามารถเริ่มสื่อสารกับคนที่เห็นอกเห็นใจปู่ ให้เพิ่มระดับจากความสงสารเห็นใจ มาเป็นความเข้าใจได้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ถ้าไม่มีใครทำ มันก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น ก็ย่อมไม่มีอะไรเปลี่ยน       

 

พฤ โอ่โดเชา ย้ำ "ชาติพันธุ์อยู่กับป่ามานาน จริงๆ รัฐนั้นมาบุกรุกเรามากกว่า"

เช่นเดียวกับ พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ ที่ผ่านมาได้พยายามชี้แจง ทำความเข้าใจให้คนในสังคมอยู่ตลอดเวลาว่า จริงๆ เมื่อพูดชาติพันธุ์นั้น ไม่ใช่มีแค่ภาคเหนือ แต่มีทุกภาคของประเทศ ที่อีสาน กลาง ใต้ ก็มีชาติพันธุ์ และมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ทำกินเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์นั้นๆ เกิดมาก่อนที่จะมาเป็นเมืองไทย รัฐไทย ชาติพันธุ์เขาอยู่กับป่ากันมานานแล้วหลายรุ่นตั้งแต่ปู่ย่าตายายมาแล้ว

"แต่รัฐไทย กลับมาบอกว่า พวกเราบุกรุกป่า ทั้งที่ผมอยากบอกว่า จริงๆ รัฐนั้นมาบุกรุกเรามากกว่า"

พฤ บอกว่า เพราะตั้งแต่ผมเกิดมา ก็รู้ว่ามันมีกฎหมายมาทับพื้นที่หมู่บ้านของเราแล้ว ทั้งที่สมัยรุ่นปู่ผม พ่อผม ก็อยู่ตรงนี้ อยู่กับป่า เลี้ยงช้าง อยู่ตรงนี้มานานก่อนจะมีการประกาศเป็นเขตป่าไม้ ซึ่งตั้งแต่มีกรมป่าไม้มาร้อยกว่าปี ทำให้ชีวิตของพี่น้องชนเผ่า ชาติพันธุ์นั้นยากลำบากมาโดยตลอด เพราะกฎหมายมันออกมาปิดกั้น ไม่ให้ความเป็นธรรม จึงทำให้ชนบทต้องล่มสลาย มันผิดปกติมานานแล้ว ยกตัวอย่าง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๗๐% นั้นชาวบ้านเกือบทุกหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าเกือบทั้งหมด และจังหวัดเชียงใหม่ มีคนอยู่ในเขตป่าเกือบ ๔๕%

"ซึ่งที่ผ่านมา ผมก็ออกมาเรียกร้องทุกรัฐบาล ต่อสู้คัดค้านการอพยพเอาคนออกจากป่า การไล่คนออกจากป่า อย่างกรณีกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่ถูกเจ้าหน้าที่เผารื้อหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อก่อนเราออกไปคัดค้านที่หน้าทำเนียบรัฐบาลได้ แต่มาถึงรัฐบาลชุดนี้ เราออกไปคัดค้านที่ทำเนียบก็ไม่ได้ มันมีกลุ่มข้าราชการและทหารร่วมกัน โดยยึดเอาแต่แผนแม่บท แล้วมาบอกว่าจะยึดคืนพื้นที่ทำกิน ยึดคืนผืนป่า ซึ่งผมเห็นว่า มันได้ละเมิดชุมชน ละเมิดวัฒนธรรม ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่เลย"

เมื่อพูดถึงแผนแม่บท  พฤ บอกว่า ตอนแรกเรามี พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งหมายความว่า มีป่าและชุมชน สนับสนุนให้ชุมชนที่ทำดี ช่วยกันดูแลป่า แต่พอมาถึงกรรมาธิการในรัฐบาลชุดนี้ที่มีทหารปุ๊บ กลับไปสนับสนุนความคิดเดิมคือ ไล่จับคน เอาคนออกจากป่า กลายเป็นว่า ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ แม่น้ำ ซึ่งเป็นของชุมชนเป็นของประชาชน กลับกลายเป็นของรัฐ แล้วเอาไปแบ่งให้นายทุนแทน ซึ่งทำให้เราออกมาคัดค้าน ไม่เอา พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้ เพราะมันมีเจตนาเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ มีการแก้ไขเนื้อหา ถ้าเราเอา ก็เหมือนเราเอาเชือกมาผูกคอของตนเอง แล้วเราจะทำอย่างไร จะชุมนุม เรียกร้อง จะไปยื่นหนังสือเหรอ ก็โดนล็อคโดนจับตั้งแต่หมู่บ้านแล้วละ แล้วเราจะทำอย่างไร 

"ยกตัวอย่าง แม่เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านปกาเกอะญอที่แม่ฮ่องสอน พอทำไร่หมุนเวียนไม่ได้  ก็ต้องอยู่ในพื้นที่เดิม พอสร้างบ้านถาวร ก็โดนจับ ถูกกล่าวหาว่ามีไม้ครอบครอง ทั้งที่แม่เฒ่ากว่าจะปลูกบ้าน ได้นั้น ต้องสะสมไม้แต่ละแผ่น มานานเป็นสิบๆ ปี กว่าจะได้หลังหนึ่ง แต่ก็ถูกจับ ศาลติดสินว่าผิด ถูกจำคุก แม่เฒ่าจะร้องไห้ยังไงก็ไม่มีใครช่วยได้ พอผมไปยื่นหนังสือเจรจา เรื่องนโยบาย กับ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ  เขาก็อ้างกฎหมาย อ้าง ม.๔๔  ทำให้เรารู้สึกว่า สถานการณ์ทุกวันนี้ ชุมชน ชาวบ้านนั้นอยู่อย่างไม่สิทธิอะไรเลย" พฤ กล่าวทิ้งท้าย

เช่นเดียวกับในพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ก็มีเหตุการณ์คล้ายๆ กันเกิดขึ้น

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนของอำเภอเชียงดาว สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานศรีลานนา ได้เข้ายึดพื้นที่ทำกินของชุมชนชาติพันธุ์เผ่าดาราอาง บ้านแม่จอน หมู่ที่ ๑๑ ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จำนวน ๒๘ ครัวเรือน เป็นพื้นที่ทั้งหมด ๑๑๖ ไร่ ๒ งาน มี ๘ ครอบครัวที่ไม่เหลือพื้นที่และบางส่วนก็เหลือพื้นที่เพียงเล็กน้อยซึ่งไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว

ว่ากันว่า ในการยึดพื้นที่ดังกล่าว เจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมบังคับและข่มขู่ให้ชาวบ้านลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารซึ่งชาวบ้านไม่ได้รับรู้เนื้อหาและรายละเอียดของเอกสารดังกล่าว และเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมมอบสำเนาเอกสารดังกล่าวให้กับชาวบ้านทั้งที่มีการร้องขอจากชาวบ้าน จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนและส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสมาชิกในครอบครัวเป็นอย่างมากเนื่องจากชาวบ้านได้มีการกู้ยืมเงินทั้งในระบบและนอกระบบ เพื่อเตรียมพื้นที่ที่จะเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร

ชาวบ้านเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และขัดกับคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๖๖/๒๕๕๗ จึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สุดท้ายก็เงียบหายไป

วันที่ ๗-๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารที่ ๑๖ เชียงใหม่, ฝ่ายปกครองและทหาร รวมกว่า ๑๐๐ นาย เข้ารื้อโฮมสเตย์ที่บ้านนาเลาใหม่ หมู่ ๑๐ ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ทั้งนี้ ในตอนเย็น ทางเจ้าหน้าที่ได้จัดทำเอกสารเซ็นยินยอมการรื้อถอนของชาวบ้าน โดยกำหนดให้แต่ละรายรื้อถอนครึ่งหนึ่ง และหลังจากวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ให้เหลือเพียง ๒ หลังและจัดที่กางเต็นท์ให้รายละ ๔ หลัง หากใครไม่ยอมเซ็นก็จะแจ้งความดำเนินคดี หากจะสู้ก็ไปสู้ในศาล ซึ่งชาวบ้านจำต้องเซ็น ทั้งเข้าใจ และไม่เข้าใจ บวกกับความกลัวที่เกิดขึ้น จึงเซ็นกันหมด

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจพญาเสือ ระบุว่า การจัดระเบียบครั้งนี้เป็นการป้องปรามเพื่อไม่ให้เกิดการขยายตัวไปมากกว่านี้

อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ ยังบอกอีกว่า หวั่นเกรงว่าจะกลายเป็นภูทับเบิก ๒ ที่มีกลุ่มนายทุนบุกรุกเข้าไป

ด้าน อาซาผะ เลาหมี่ เจ้าของโฮมสเตย์รายหนึ่งก็ออกมายืนยันว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านพยายามรักษาจารีตประเพณีวัฒนธรรมชนเผ่าลีซูเอาไว้ และไม่ยอมให้มีนายทุนเข้ามาบุกรุกหรือซื้อขายที่ดินในชุมชนของเรา ไม่เหมือนที่ภูทับเบิกอย่างแน่นอน อีกอย่างโฮมสเตย์ที่เราทำก็ใช้เพียงแค่ไม้ไผ่แบบเรียบง่าย ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตาม การจัดระเบียบครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้รื้อโฮมสเตย์ จำนวน ๖๙ หลัง จากเดิม ๑๐๗ หลัง ให้เหลือเพียง ๓๘ หลัง ซึ่งมีเจ้าของ ๑๙ ราย รายละ ๒ หลัง

การรื้อโฮมสเตย์ชาวบ้านนาเลาใหม่ในครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ เศรษฐกิจของชาวบ้านเท่านั้น แต่ว่าได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ของหลายครอบครัวเป็นอย่างมาก

อาหมี่มะ เลาหมู่ เจ้าของโฮมสเตย์อีกรายหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านั้น เธอเคยเรียนหนังสือระดับประถม แต่เรียนไม่จบ ความรู้น้อย จึงต้องลงไปทำงานรับจ้างในเมืองอยู่หลายปี จนเก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง กลับมาบ้านเกิดที่นาเลา แล้วได้ชวนพ่อแม่และน้อง สร้างโฮมสเตย์ไม้ไผ่เอาไว้ ๒ หลัง หวังจะช่วยสร้างรายได้ ดูแลครอบครัว อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นและมีความสุข แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ขึ้นมารื้อโฮมสเตย์ทั้งสองหลัง ทำให้เธอหมดเนื้อหมดตัว

เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เธอได้พาครอบครัว ทั้งพ่อแม่และน้อง อพยพลงมาอยู่ในตัวอำเภอเชียงดาว และทำงานร้านคาราโอเกะ

ซึ่งทำให้เราเห็นว่า นโยบายทวงคืนผืนป่า หรือ ม.๔๔ นั้น ได้ทำให้หลายครอบครัวชาติพันธุ์ คนอยู่กับป่า นั้นล่มสลาย เปลี่ยนแปลง ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

 

สร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ

บนความย้อนแย้ง ลักลั่น ของนโยบายรัฐ

ในขณะที่รัฐยังมีมาตรการเร่งไล่รื้อหมู่บ้านชาติพันธุ์ เอาคนออกจากป่า ตามนโยบายทวงคืนผืนป่า

แต่ในอีกมุมหนึ่งของเชียงใหม่ กลับมีการสร้างบ้านพักตุลาการในเขตพื้นที่ป่าดอยสุเทพ  จนกลายเป็นที่มาของชื่อ "หมู่บ้านป่าแหว่ง" จนเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วประเทศ

ย้อนกลับไปเมื่อปี ๒๕๕๙ ช่วงระหว่างการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ที่ผ่านมา กลุ่มนักอนุรักษ์ และภาคประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ ได้พยายามคัดค้านการก่อสร้างมาโดยตลอด เพราะมองว่าการก่อสร้างบ้านพักบริเวณเชิงเขา ท่ามกลางป่าเต็งรังที่ค่อนข้างสมบูรณ์นั้นเป็นความไม่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ป่าเหลือน้อย

หากทางศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ยังยืนยันว่า ได้ขอใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามขั้นตอนของกรมธนารักษ์ ในฐานะหน่วยงานดูแลที่ราชพัสดุ

กระทั่งเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เพจเฟซบุ๊ก "ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน" ได้โพสต์เกี่ยวกับที่มาของที่ดินบริเวณเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ที่เป็นสถานที่ก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ตลอดจนระยะเวลาการดำเนินงาน และจำนวนเงินที่ใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนถึงปัจจุบัน จนเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย และได้รับความสนใจจากประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก

จากนั้นในช่วงต้นเดือนเมษายน ๒๕๖๑ ตัวแทนภาคประชาสังคม พร้อมด้วยประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมเดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขอให้แก้ปัญหากรณีข้อพิพาทเรื่องการสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ ภาค ๕ ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ เพื่อให้รื้อบ้านพักทั้งหมดออก เพราะเป็นการรุกพื้นที่ป่าสมบูรณ์ แม้จะมีการออกมายืนยันว่าเป็นการขอใช้พื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม

จนกระทั่ง การเรียกร้องให้คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ จากโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการ ศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ดูเหมือนว่าจะมีข้อยุติแล้ว หลังจากเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตัวแทนรัฐบาล เข้าหารือร่วมกับภาคประชาชนเชียงใหม่ ซึ่งในการหารือครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางในการหารือมาด้วย ๓ ประเด็น คือ ๑.จะไม่มีผู้อยู่อาศัยในแนวเขตป่าดั้งเดิม ๒.การฟื้นฟูให้เป็นพื้นที่ป่า และ ๓.อะไรที่ยังหาข้อตกลงไม่ได้ ให้มาคุยกับเครือข่ายในวันนี้ให้เกิดความชัดเจน

หลังจากการหารือเสร็จสิ้น นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะคืนพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค ๕ เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูป่า โดยมีข้อสรุปว่า จะไม่มีผู้อยู่อาศัย ในแนวเขตป่าดั้งเดิม

โดยได้ให้กรมธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่เข้าไปรังวัดพื้นที่ให้เกิดความชัดเจน โดยยึดแนวที่ภาคประชาชนเสนอ เพื่อให้ทราบว่าพื้นที่ใด คือแนวที่จะฟื้นฟู พื้นที่ใดคือส่วนที่ศาลยังคงใช้ประโยชน์ได้ เช่น ส่วนของสำนักงาน จากนั้นส่วนของพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป รัฐจะรับภาระในการหาพื้นที่ใหม่และงบประมาณจัดสร้างใหม่ให้ทางศาล มีการจัดทำแผนการฟื้นฟู ปลูกป่า และปลูกต้นไม้ การดำเนินงานให้ประชาชนร่วมหารือและดูแลร่วมได้ โดยให้มีกรรมการระดับจังหวัดเข้ามาดูแล

ในส่วนของข้อเสนอจากเครือข่ายที่ต้องการให้มีแผนดูแลที่ป่าดอยสุเทพที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงผืนเดียวกัน จะรับเอาเรื่องนี้มาพิจารณา เช่น การทำให้เป็นเขตอุทยานป่าสมบูรณ์ หรือทำอะไรกับสิ่งปลูกสร้าง โดยการตั้งกรรมการมาดำเนินการ เพื่อให้เป็นป่าสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์ต่อไป เบื้องต้น จะต้องก่อสร้างบ้านพักให้แล้วเสร็จ ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างส่งมอบงานให้แล้วเสร็จ

ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ออกมากล่าวว่า ได้นำผลการพูดคุยระหว่างตัวแทนชาวบ้านที่คัดค้านการก่อสร้างอาคารสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค ๕ และบ้านพักตุลาการ เชิงดอยสุเทพ รวมถึงคำชี้แจงของศาลยุติธรรม เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พร้อมระบุว่า พื้นที่อาคารสำนักงาน สามารถตกลงกันได้ แต่ยังมีปัญหาพื้นที่บ้านพักที่ใช้งบประมาณรัฐดำเนินการ จนใกล้เสร็จ หากรื้อทิ้งก็เสียดาย และอาจเสี่ยงถูกผู้รับเหมาฟ้องร้องดำเนินคดี จึงสั่งให้หาแนวทางเปิดพื้นที่ให้ประชาชน เข้าใช้ประโยชน์อื่น เช่น เป็นสถานที่จัดอบรม เพราะเชื่อว่าศาลคงเข้าใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะประชาชนคัดค้าน

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า  โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานศาลอุทธรณ์ภาค ๕ และบ้านพักตุลาการ เชิงดอยสุเทพ หรือ "หมู่บ้านป่าแหว่ง" นั้นมีความย้อนแย้ง ลักลั่นกันอย่างมาก กับนโยบายทวงคืนผืนป่า คสช. ที่กำลังดำเนินการอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

ธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ บอกว่า ท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลดูย้อนแย้งกับนโยบายทวงคืนผืนป่าที่ คสช. ประกาศไว้เมื่อก้าวสู่อำนาจในปี ๒๕๕๗ ซึ่งกำหนดว่าจะคืนผืนป่าให้ได้ ๔๐% ตามแผนแม่บท ทั้งนี้ นายธีระศักดิ์ ยืนยันว่า โครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการเป็นการรุกพื้นที่ป่าดั้งเดิม ซึ่งเป็นแนวเขตแดนที่ภาคประชาสังคมและกองทัพซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้ทำสัญญาร่วมกันไว้เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว

 

โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เผย..

อยากเห็นความเหลื่อมล้ำ ให้มาดูที่ป่าแหว่ง

เช่นเดียวกับ บัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ล่าสุดว่า "พอคลุกและสัมผัสเรื่องราวของบ้านป่าแหว่ง ผมก็พบว่า ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยที่เราพูดๆ กันมาตลอดนี่ ไม่ต้องหาที่ไหนไกลหรอก มาดูที่ป่าแหว่งเชียงใหม่นี่แหละ ชัดเจนดี  ประเทศเราปกครองด้วยกฎหมาย บอกว่าเป็นนิติรัฐ แต่เราก็พบว่า การที่หน่วยราชการจะบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป กับ หน่วยราชการด้วยกันเอง ก็แตกต่างกันแล้ว ถ้าประชาชนหรือเอกชนจะสร้างอาคาร ไม่แจ้งขออนุญาต ไม่ส่งแบบแปลน ลองสร้างดูสิ จะถูกคำสั่งให้ระงับไว้ก่อน เพื่อให้ทำให้เรียบร้อยก่อน  แต่สำหรับโครงการของราชการด้วยกัน เขาได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต อันนี้ไม่เป็นไร เข้าใจได้...แต่กฎหมายก็กำหนดให้หน่วยราชการนั้นต้อง ‘แจ้ง' ว่าจะก่อสร้างอะไรแบบไหน ไปยัง อปท.ท้องที่ รวมถึงให้ส่งแบบแปลนก่อสร้างให้ อปท. เพื่อจะได้ดูว่ากระทบกับถนนหนทางและอะไรที่เป็นส่วนรวมบ้าง ปรากฏว่า จนบัดนี้ ๕ ปีผ่านไป อปท.ท้องที่ยังไม่ได้แปลนและได้รับการแจ้งใดๆ เลย...เห็นไหม นี่แหละคือ ความเหลื่อมล้ำ เพราะระดับความเข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เท่ากันแล้ว"

บัณรส บอกอีกว่า ตอนที่เรื่องนี้เป็นที่สนใจ เป็นข่าวพาดหัวใหญ่ ทางโฆษกสำนักงานศาลได้ออกมาบอกว่า คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ จะทำสิ่งแวดล้อมใหม่ จะปลูกป่าให้กลมกลืน ถูกผิดไม่รู้หรอก แต่มันเป็น ‘วาทกรรม' ที่น่าสนใจมาก ราชการบอกว่า คนอยู่ร่วมป่าได้ แต่ภาพที่เห็นก็คือ การไถทำลายป่าสมบูรณ์เชิงดอยออกไป ปูทับด้วยคอนกรีต และต้นไม้ประหลาดต่างถิ่น เช่น ต้นลีลาวดี  แต่ในอีกฟากหนึ่งของประเทศ เราก็พบว่า ระบบราชการก็มีวาทกรรม "คนต้องแยกจากป่า" หากป่าดังกล่าวนั้น ได้รับนิยามให้เป็นป่าอนุรักษ์ เขตป่าสงวน ป่าอุทยานฯ ทั้งๆ ที่คนซึ่งถูกไล่จากป่า เขากลมกลืนกับชีวิตในป่ามายาวนาน            "สองเหตุการณ์ และสองวาทกรรมนี้ ทำให้เราสับสนมาก กับคำว่า ‘ป่า' และ ‘การสามารถอยู่ร่วมป่า'  ที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง"

บัณรส บอกว่า นโยบายการอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรของเรา มันก็ลักลั่นแบบนี้มานานแล้ว ต่อให้มีวาทกรรมหรือนโยบายอะไรออกมา วันดีคืนดี ท่านก็ตัดพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเป็นพันไร่ มาลงทุนหมื่นล้านทำไนท์ซาฟารี พืชสวนโลก วันดีคืนดี ท่านก็ประกาศเพิ่มพื้นที่อุทยาน เพิ่มพื้นที่ป่าอย่างจริงจัง ไปไล่จับทีละ ๕ ไร่ ๑๐ ไร่ เพื่อจะขยายเขตป่าให้ได้ตามเป้า

แต่รัฐก็พยายามจะบอกว่า กรณีป่าแหว่ง มันเป็นที่ราชพัสดุ?! มันคนละอย่างกัน

"กรณีป่าแหว่งนี่ก็เหมือนกัน ...แม้ว่าตามที่ราชการประกาศว่ามันเป็นที่ราชพัสดุ ไม่ใช่เขตป่าอนุรักษ์ หรือป่าสงวนอะไร แต่สภาพที่แท้จริงมันก็คือป่าสมบูรณ์ เป็นทรัพยากรล้ำค่าต่อส่วนรวม แต่ท่านก็ไม่สนสภาพข้อเท็จจริงนั่น ท่านยึดเอาคำนิยามที่รัฐชี้ว่าเป็นที่ราชพัสดุเป็นสำคัญ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไปในแผ่นดิน มาจากการนิยาม และชี้เอาของรัฐนี่แหละครับ"  โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวทิ้งท้าย

 

นักกฎหมายศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ชี้ให้เห็นความย้อนแย้งของกฎหมายและนโยบายรัฐ

ในขณะที่ สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ก็ได้เสนอมุมมองความเห็นต่อกรณีความย้อนแย้งนี้ว่า ถ้าดูตามกฎหมายนั้นแตกต่างกันด้วยสถานะตามกฎหมาย กรณีบ้านพักตุลาการมีสถานะตามกฎหมายเป็นที่ราชพัสดุ ที่ทหารเคยขอใช้แล้วส่งคืนกระทรวงการคลัง แต่สภาพพื้นที่ฟื้นตัวเป็นป่าตามธรรมชาติ ส่วนกรณีทวงคืนผืนป่าดำเนินการในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตป่าตามกฎหมาย แม้จะไม่มีสภาพป่าแล้วเนื่องจากมีชุมชนตั้งอยู่ก่อน หรือประชาชนทำกินสืบต่อกันมา แต่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิตามกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีสภาพป่าแล้ว เมื่อรัฐมีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ ๔๐% จากที่มีอยู่ ๓๒% ก็เกิดการทวงคืนหรือนำที่ทำกินของชาวบ้านไปปลูกป่า อย่างที่ทราบกัน

"ถ้ามองด้วยเหตุผลธรรมดาๆ เมื่อรัฐประสงค์จะเพิ่มพื้นที่ป่า ดังนั้น ก็ไม่ควรอนุญาตให้มีการใช้ที่ของรัฐ (ไม่ว่าประเภทไหน) ที่มีสภาพเป็นป่า (ตามความเป็นจริง) จนทำให้ป่าธรรมชาติที่ฟื้นตัวขึ้นมาเสียหายหรือสูญเสียพื้นที่ส่วนนี้ไป เพราะมันสวนทางนโยบายของรัฐเอง แม้ว่าตามกฎหมายจะอนุญาตให้ทำได้ก็ตาม และที่มันย้อนแย้งจนเกิดความไม่พอใจ ก็คือ ศาลตัดสินเอาคนไปติดคุกข้อหาบุกรุกป่าทุกวัน  ทำให้เกิดความรู้สึกว่าชาวบ้านที่ทำมาหากินเลี้ยงตนเองและครอบครัวและอาศัยอยู่ในป่ามานาน กลับถูกตีตราว่าเป็นอาชญากรทำลายทรัพยากรของชาติ เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ สมควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา"

เมื่อเราถามว่า กรณีหมู่บ้านป่าแหว่ง ถ้าเขายังดึงดันเข้าไปพักอาศัยอยู่ ประชาชนสามารถเรียกร้อง ฟ้องร้องเอาผิด ได้หรือไม่?!

สุมิตรชัย กล่าวว่า ในทางกฎหมาย หมู่บ้านนี้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานศาลยุติธรรม เพราะเป็นผู้ขอใช้พื้นที่ ที่ผ่านมา ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรหรือยัง ว่าจะไม่ให้มีการย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ มีแต่คำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ถ้ามีคำสั่งห้ามแล้วยังดึงดันเข้าไปอยู่ ประชาชนก็น่าจะเรียกร้องเอาผิดได้

เมื่อเราถามว่า มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต่อกรณีนี้ไหม?!

"ไม่มีข้อเสนอแนะอะไรในทางกฎหมาย เพราะเป็นสปิริตของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน"

ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวสั้นๆ ทิ้งท้าย.

  

ข้อมูลประกอบ

- สัมภาษณ์ "บัณรส บัวคลี่" โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ, ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๑

- สัมภาษณ์ "พรสุข เกิดสว่าง" มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน, ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๑

- สัมภาษณ์ "สุมิตรชัย หัตถสาร" ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น, ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๑

- "ปู่คออี้" เตือนสติลูกหลานไม่เบียดเบียนคนอื่น ยันบ้านบางกลอยที่ถูกเผาคือบ้านเกิด แม้ศาลปกครองตัดสินยกฟ้อง เตรียมยื่นอุทธรณ์สู้ต่อ, สำนักข่าวชายขอบ ๗ กันยายน ๒๕๕๙

- คำพิพากษา 'ปู่คออี้' สะท้อนอำนาจราชการผูกขาดทรัพยากรทวีความรุนแรง, ประชาไท, ๘ กันยายน ๒๕๕๙

- ยุติแล้ว หมู่บ้านป่าแหว่ง เตรียมคืนพื้นที่ให้ธนารักษ์ ฟื้นฟูกลับเป็นป่า ห้ามใครใช้พื้นที่, The Standard, ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๑

- พฤ โอ่โดเชา, เวทีเสวนาโต๊ะกลม นำเสนอกรณีปัญหาการมีส่วนร่วมและการละเมิดสิทธิชุมชน "การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชนในสถานการณ์ปัจจุบัน" ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

- "บ้านศาลในป่าแหว่ง" บทสะท้อนความย้อนแย้งนโยบายทวงคืนผืนป่า คสช. บีบีซีไทย, ๒๐ เมษายน ๒๕๖๑

- บทสรุป "หมู่บ้านป่าแหว่ง" ลุยสร้างต่อแต่ศาลห้ามอยู่, พีพีทีวี, ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๑

- จัดระเบียบ "ดอยหลวงเชียงดาว" หลังโฮมสเตย์-รีสอร์ท รุกที่ป่าเพิ่มหวั่นซ้ำรอยภูทับเบิก, มติชน, ๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >