หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 68 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ปกาเกอะญอลอแอะ : สนธยา ตั้วสูงเนิน (เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยส.) พิมพ์
Wednesday, 27 June 2018

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ ๑๐๖ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๖๑



ปกาเกอะญอลอแอะ
[๑]

สนธยา ตั้วสูงเนิน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยส.
 



ฉันเคยทำความรู้จักชาติพันธุ์ปกาเกอะญอจากการเรียนรู้ผ่านตัวหนังสือ ผ่านเรื่องเล่า จนในที่สุดก็ได้ทำความรู้จักกับพี่ๆ ชาวปกาเกอะญอหลายท่าน ทำให้ฉันเห็นมิตรไมตรีที่ทุกคนหยิบยื่นให้ เห็นธรรมชาติของความอ่อนโยน อ่อนน้อม ซึ่งทำให้ฉันหลงรักในความเป็นปกาเกอะญอมากขึ้นเรื่อยๆ และครั้งนี้ฉันจะได้มีโอกาสไปทำความรู้จักกับความเป็นปกาเกอะญออีกครั้ง โดยการไปร่วมศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอ ผ่านโครงการสืบสาน อนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมกะเหรี่ยงและงานกองบุญข้าว ที่วัดนักบุญยอห์นอัครสาวกแม่เหาะ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ ๒๓-๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา เราเดินทางไปถึงวัดในช่วงเย็นวันที่ ๒๓ สถานที่จัดงานอยู่ในบริเวณวัดซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งกลางหุบเขา เมื่อเดินลงไปจะเห็นเป็นลานดินแดงกว้างๆ พื้นที่ในงานบางส่วนถูกจัดเตรียมไว้บ้างแล้ว บางส่วนชาวบ้านก็กำลังช่วยกันจัดเตรียม ฉันเห็นความขะมักเขม้น ความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้งานที่จะมีขึ้นออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้แก่เยาวชนปกาเกอะญอ เพื่อให้พวกเขาได้มีความตระหนักถึงคุณค่าที่ดีงามในวัฒนธรรมของตนเองที่มีมายาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา เพื่อการสืบสานและอนุรักษ์สืบต่อไป ด้วยข้อห่วงกังวลที่ว่าปัจจุบันภาษากำลังถูกคุกคาม จนอาจนำมาสู่การสูญเสีย ดังคำกล่าวที่ว่า "เมื่อภาษาพูดและภาษาเขียนหายไป ความเป็นอัตลักษณ์และความเป็นเผ่าพันธุ์จะหายตามไปด้วย เพราะภาษาก่อให้เกิดโลกทัศน์ จักรวาลทัศน์ วิสัยทัศน์ ที่เป็นองค์รวมและสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล และหากภาษาหายไปจะเป็นการสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่บรรพบุรุษรักษาไว้มาอย่างยาวนาน"

งานเริ่มต้นด้วยการแสดงดนตรีของศิลปินและการแสดงของเยาวชน เพื่อความรื่นเริงในช่วงค่ำของวันที่ ๒๓ นอกจากฉันจะได้รับชมการแสดงที่แปลกใหม่สำหรับฉันแล้ว ฉันยังได้รับการแบ่งปันเกร็ดความรู้ในเรื่องเครื่องดนตรีของชาวปกาเกอะญออีกด้วยว่า ชนเผ่าปกาเกอะญอจะมีเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "โกละ" เป็นเครื่องดนตรีประเภทกลองมโหระทึก เป็นสิ่งที่ชาวปกาเกอะญอให้ความเคารพเพราะเชื่อว่ามีการลงจิตวิญญาณไว้แล้ว โกละจึงถูกใช้เล่นเฉพาะในงานพิธีสำคัญๆ เท่านั้น เช่น ประเพณีขึ้นปีใหม่ พิธีศพ เป็นต้น เพราะการเล่นแต่ละครั้งต้องมีการทำพิธีก่อนเสมอ ที่ในภาษาไทยเรียกว่า "การลงผี" แต่ผีในที่นี้ในความหมายของปกาเกอะญอ ไม่ได้หมายถึงภูตผี แต่หมายถึงจิตวิญญาณของบรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เชื่อกันว่าหากหมู่บ้านใดมีโกละ หมู่บ้านนั้นจะมีความสงบสุขร่มเย็น หากลูกหลานคนใดได้รับโกละตกทอดเป็นมรดกจากบรรพบุรุษจะถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นมงคลสูงสุดในชีวิต โกละจะไม่ถูกเก็บไว้โดยทั่วไป แต่จะถูกเก็บไว้และดูแลรักษาโดย "ฮีโข่" ผู้ที่เป็นผู้นำพิธีการ จึงนับว่าเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสำคัญต่อชาวปกาเกอะญอเป็นอย่างมาก

และในปัจจุบันมีการปรับการใช้เครื่องดนตรีให้เข้ากับปัจจุบันมากขึ้น อย่างเช่น "แกว" เครื่องดนตรีที่มีลักษณะคล้ายกับเขาสัตว์ เมื่อก่อนจะใช้เป่าเพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจก่อนการออกรบ แต่ก็มีจะมีแกวบางลักษณะที่เป่าเพื่อใช้ในการจีบผู้หญิง ซึ่งแต่ละชิ้นก็จะมีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ในตัวเอง เวลาที่หญิงสาวได้ยินก็จะทราบทันทีว่าเป็นเสียงแกวที่มาจากชายหนุ่มที่เป็นคู่รักของตน

ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ ฉันเห็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ วัด และในหมู่บ้านใกล้เคียงทยอยเดินทางมาที่วัดด้วยใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มที่มอบให้แก่กัน ภาพพ่อแม่จูงลูกหลานตัวเล็กๆ มาที่วัด ผู้เฒ่าผู้แก่กำลังพูดคุยกันอย่างออกรสเสมือนว่าถือโอกาสมาพบปะเพื่อน เยาวชนเกาะกลุ่มกันเข้ามาที่วัดอย่างพร้อมเพรียง มันเป็นภาพที่เรียกรอยยิ้มได้ดีทีเดียว งานเริ่มต้นด้วยพิธีมิสซาในตอนเช้า ก่อนที่จะเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ ในงานมีการเปิดโอกาสให้เด็กๆ แยกย้ายกันไปศึกษาเรียนรู้ตามความสนใจของตัวเองด้วยความสมัครใจ ตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ ดังนี้

ฐานเรียนรู้วัฒนธรรมด้านประเพณี วิถีชีวิตและกองบุญข้าว เป็นฐานที่ถ่ายทอดให้เยาวชนได้เห็นถึงความสำคัญของข้าวผ่านเรื่องเล่า "แม่หม้ายลูกกำพร้า" ที่ข้าวมีต่อชีวิตตนเอง จนนำมาสู่การแบ่งปันเพื่อผู้อื่นจนเกิดเป็นงานกองบุญข้าวขึ้นมา โดยชาวบ้านจะนำข้าวที่ได้จากการทำนามารวมกันตามกำลังของตนเองเพื่อนำไปส่งต่อให้ผู้ที่กำลังประสบความเดือดร้อน เป็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้ชีวิตเพื่อตนเองและการใช้ชีวิตเพื่อคนอื่น โดยนำหลักของศาสนาและหลักคุณธรรมเข้ามาแทรกซึมในชีวิต ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของข้าว การนึกถึงและช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ ซึ่งกลายมาเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของปกาเกอะญอ

ฐานเรียนรู้วัฒนธรรมด้านอาหารและสมุนไพร เป็นฐานที่เน้นให้เห็นถึงความมั่นคงด้านทรัพยากรอาหารและสมุนไพรนานาชนิด ภายในฐานแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของสมุนไพรนานาชนิด รวมถึงสรรพคุณที่สามารถนำไปใช้ในการรักษาโรคโดยที่ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพายาปฏิชีวนะ พืชผักหลายชนิดถูกนำมาประกอบอาหารได้หลากหลาย การกินอาหารที่ได้มาจากวัตถุดิบที่มีอยู่ใกล้ตัว ไม่ผ่านการใช้สารเคมีช่วยให้ชาวบ้านเจ็บป่วยน้อยลง

ฐานเรียนรู้วัฒนธรรมด้านหัตถกรรมและจักสาน  เป็นฐานที่สอนให้รู้จักการทำเครื่องมือเครื่องใช้ไว้ใช้สอยเองภายในบ้าน เครื่องใช้ส่วนใหญ่ถูกสานขึ้นมาจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติ ฉันเห็นผู้เฒ่าอย่างน้อย ๒ คน ที่เดินหลังค่อมเป็นที่จดจำได้ง่ายเพราะไม่ว่าจะเดินไปทางที่แห่งใด ผู้เฒ่าก็จะถือไม้ไผ่สานที่รอการขึ้นรูปเพื่อสานเป็นภาชนะอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ผู้เฒ่าเริ่มสานไม้ไผ่ขึ้นมาอย่างง่ายด้วยความชำนาญก่อนจะค่อยๆ ก่อรูปเป็นกระด้ง ตะกร้าใส่ของ หรือเครื่องใช้อย่างอื่น ซึ่งหากฉันมีโอกาสได้ลองทำดูบ้างคงจะรู้สึกว่ามันไม่ง่ายเลย

ฐานเรียนรู้วัฒนธรรมด้านการแต่งกาย เครื่องแต่งกายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์ที่เด่นชัด เพราะเครื่องแต่งกายถือเป็นเครื่องหมายที่ทำให้รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นปกาเกอะญอหรือชาติพันธุ์อื่นๆ เมื่อสวมใส่ เสื้อผ้าจะถูกปักด้วยลวดลายที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละชาติพันธุ์ ในฐานการเรียนรู้จะมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุก คือ การทำผ้าเช็ดหน้ามัดย้อม และผ้าที่ทำออกมาก็จะกลายเป็นผลงานของเด็กๆ เอง ทำให้เด็กๆ ได้รับทั้งความรู้ ความสนุก และได้ผ้าเช็ดหน้ามัดย้อมลายสวยๆ จากฝีมือตัวเองกลับบ้านด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เด็กๆ เหล่านั้นเกิดความรู้สึกภูมิใจในผลงานของตัวเอง แม้มันจะเป็นเพียงชิ้นงานเล็กๆ ก็ตาม แต่พวกเขาก็ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่พวกเขาทำขึ้นมาเอง

ฐานเรียนรู้วัฒนธรรมด้านภาษา เป็นฐานที่สอนเด็กๆ ให้เข้าใจในการเทียบเคียงเสียงพยัญชนะระหว่างภาษาปกาเกอะญอและภาษาอังกฤษ ซึ่งภาษาก็เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกความเป็นปกาเกอะญอได้ดี ฉันได้รับฟังเรื่องราวมาว่า แต่เดิมชาวปกาเกอะญอจะใช้ "ภาษาหลี่วา" ซึ่งเป็นภาษาเดิมของชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ทางฝั่งพม่าที่มีความคล้ายกับภาษาคนเมือง แต่ภายหลังการเข้ามาของมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส คือ คุณพ่อเซกีน๊อต ได้นำเอาตัวอักษรภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ทับศัพท์ตัวอักษรปกาเกอะญอ หรือที่เรียกว่า "ภาษาโรเม่ะ" จึงทำให้มีคำศัพท์บางคำที่ออกเสียงคล้ายภาษาฝรั่งเศส  และกลายมาเป็นภาษาที่ใช้แพร่หลายในกลุ่มชาวปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และเป็นภาษาสากลที่ชาวปกาเกอะญอทั่วโลกนิยมใช้ เพราะสามารถอ่านได้ง่าย เรียนรู้ได้ง่าย ส่งผลให้ชาวปกาเกอะญอเรียนรู้ได้เร็ว และกระตุ้นกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เริ่มหันมาใช้ตัวหนังสือภาษาอังกฤษในการทับศัพท์ เพื่อการสื่อสารที่เป็นวงกว้างมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงคุณูปการในการเข้ามาให้ความช่วยเหลือของคณะมิชชันนารี ที่ช่วยให้ภาษาปกาเกอะญอกลายเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายและใช้ได้แบบสากล เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้แก่ชาวปกาเกอะญออย่างมาก และมีการเปิดศูนย์เรียนรู้ที่แม่ปอนเพื่อสอนภาษาปกาเกอะญอ ซึ่งเด็กๆ ที่ได้เข้าเรียนที่ศูนย์จะมีความรู้ความเข้าใจภาษาปกาเกอะญอมากกว่าเด็กที่เรียนในระบบที่จะไม่สามารถเขียนภาษาปกาเกอะญอได้ [๒]

ฐานกฎหมายในชีวิตประจำวัน ฉันมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในงานนี้โดยการร่วมเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านกฎหมายในชีวิตประจำวัน เช่น รัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง กฎหมายจราจร เป็นต้น ให้แก่เยาวชน แม้บางคนอาจจะยังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าใจ แต่ทุกคนก็มีความตั้งใจและสนใจที่จะเรียนรู้ และให้ความร่วมมือในทุกๆ กิจกรรมเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นความน่ารักของเด็กๆ ที่นี่มากยิ่งขึ้น

ตลอดช่วงเวลาที่ฉันได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับทุกคน ทุกอย่างช่วยเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตให้แก่ฉันเป็นอย่างมาก ฉันเห็นผู้ใหญ่ที่เปรียบเสมือนเป็นภูมิปัญญา เป็นองค์ความรู้ มีท่าทีที่ยินดีในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เยาวชน ที่จะเติบโตมาเป็นกำลังสำคัญในการเป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมอันดีงามเหล่านี้สืบไปในวันข้างหน้า และเยาวชนที่เปรียบเสมือนพลังใหม่ก็มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้เป็นอย่างดี บรรยากาศในแต่ละฐานการเรียนรู้เต็มไปด้วยความสนุกสนานที่สอดแทรกความรู้ เสียงพูดคุยตอบรับกันเจื้อยแจ้ว ทำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างคน ๒ วัย ฉันได้เห็นความร่วมมือของชาวบ้านทุกคนที่อยู่ในพื้นที่วัด แม้อากาศจะหนาวเย็น แต่ทุกคนก็เดินทางมาด้วยความศรัทธา บางคนจูงลูกจูงหลานตัวเล็กมาอยู่ร่วมในกระบวนการจนจบ แม้สภาพอากาศจะเป็นอุปสรรคแต่ก็ไม่อาจต้านทานพลังความสามัคคีของทุกคนได้

มากไปกว่านั้น สิ่งที่ฉันได้รับกลับมา คือ การเรียนรู้ชีวิตของผู้คนที่อยู่ที่นั่น ฉันได้รับมิตรภาพ ได้รับรอยยิ้ม กับบางคนที่ฉันมีโอกาสได้ใกล้ชิด ถึงเราจะสื่อสารกันไม่ได้ เพราะฉันไม่สามารถพูดและฟังภาษาปกาเกอะญอได้ แต่เราก็สามารถสื่อสารกันผ่านทางอวัจนภาษา ซึ่งทำให้ฉันสัมผัสได้ถึงความน่ารักของชาวปกาเกอะญออย่างแท้จริง ช่วงเวลาเพียงแค่ ๓ วัน ที่ฉันได้อยู่ที่นั่น อาจดูเป็นเวลาเพียงน้อยนิด แต่สิ่งที่ฉันได้รับกลับมามันมากมายจริงๆ



[๑] ลอแอะ เป็นคำภาษาปกาเกอะญอ มีความหมายว่า น่ารัก ผู้เขียนมีความชื่นชอบคำนี้เป็นการส่วนตัว เพราะการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสืบสาน อนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมกะเหรี่ยงและงานกองบุญข้าวของชาวปกาเกอะญอ ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสถึงความน่ารักของทุกคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง จึงขออนุญาตนำคำนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชื่อของบทความนี้

[๒] ข้อมูลในส่วนที่มาของภาษาปกาเกอะญอนี้ ผู้เขียนได้รับการบอกเล่ามาจากคุณจงดี วงศ์จอมพร เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานแพร่ธรรมสังฆมณฑลเชียงใหม่ ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจและแสดงให้เห็นถึงที่มาของภาษาปกาเกอะญอได้ในระดับหนึ่งจึงเป็นประเด็นที่ผู้เขียนอยากแบ่งปัน และมีการสอบถามถึงการเขียนและเรียกชื่อภาษา "ภาษาหลี่วา" และ "ภาษาโรเม่ะ" จากคุณสุนทร วงศ์จอมพร เจ้าหน้าที่ฝ่ายสังคมพัฒนาสังฆมณฑลเชียงใหม่ มาแล้วในเบื้องต้น ตัวผู้เขียนเองยังไม่มีความมั่นใจในความถูกต้องทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนยังต้องศึกษาต่อไป หากข้อมูลในส่วนใดมีความผิดพลาดผู้เขียนขอน้อมรับในความผิดพลาดทั้งหมด และขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย

 

 

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง : วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า : เอมมิกา คำทุม (เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชน ยส.)

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >