หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ชีวิต แรงงาน ข้ามพรมแดน : ภู เชียงดาว
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 182 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ชีวิต แรงงาน ข้ามพรมแดน : ภู เชียงดาว พิมพ์
Wednesday, 20 June 2018

Image
วารสารผู้ไถ่

ปีที่ ๓๙ ฉบับที่ ๑๐๖ ม.ค. - เม.ย. ๒๕๖๑

ปลายทางเส้นนี้มีดอกไม้


ชีวิต แรงงาน ข้ามพรมแดน
ภู เชียงดาว

 


เมื่ออ่านข่าวเรื่องแรงงานข้ามชาติ ในยามนี้ครั้งใด  ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน เหตุการณ์เรื่องราวต่างๆ นั้นยังคงคล้ายๆ ไม่ต่างกันเท่าใดนัก สิ่งที่เผชิญอยู่นั้น ยังสะท้อนให้เราเห็นความจริงว่าเหตุใดที่ทำให้พวกเขาต้องระเหเร่ร่อน ลุยน้ำข้ามดอย มาเสี่ยงโชคชะตา มาใช้ชีวิต มาใช้แรงงานอยู่ในเมืองไทยของเรา

ทำให้นึกถึงใบหน้าแววตาของพี่น้องดาระอั้ง หรือปะหล่อง ที่บ้านปางแดง เชียงดาว ซึ่งปกติจะไม่ค่อยร่าเริง แจ่มใส สีหน้าแววตาของพวกเขานั้นเหมือนแฝงไปด้วยความเศร้าและความทุกข์มายาวนานในชีวิต

ในประวัติศาสตร์บันทึกเอาไว้ว่า บรรพบุรุษของชนเผ่าดาระอั้ง หรือปะหล่อง ต่างล้วนเป็นฝ่ายผู้ได้รับผลกระทบจากภัยสงคราม และเป็นฝ่ายที่ต้องหลบเลี่ยงหนีการรุกรานของชนเผ่าอื่นเรื่อยมา 

ว่ากันว่า ชนกลุ่มนี้ได้อาศัยอยู่มากในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ในบางส่วนของรัฐกะฉิ่น ประเทศพม่า ในแถบมณฑลยูนนาน ของประเทศจีน และกระจายอยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย ใน ๙ หมู่บ้านในแถบอำเภอฝาง แม่อาย และเชียงดาว ของจังหวัดเชียงใหม่

"แล้วทำไมปะหล่องถึงต้องระเหเร่ร่อนไปไกลมาถึงเมืองไทยได้เล่า..."  ใครคนหนึ่งเอ่ยถาม

"ก็เพราะสงครามที่ไม่รู้จักสุดสิ้นนั่นไง..."  

ว่ากันว่า ถิ่นฐานเดิมของปะหล่องนั้นอยู่ในเขตตะวันออกของรัฐฉาน ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางเดินของทหารกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าทหารพม่า ทหารว้า ทหารไทยใหญ่ รวมทั้งทหารป่าซึ่งเป็นทหารของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เป็นเส้นทางของการสู้รบ เส้นทางของความขัดแย้งจากดงสงคราม แน่นอน ย่อมทำให้ชนกลุ่มนี้ต้องกลายเป็นผู้ถูกกระทำ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อพูดถึงการถูกกดขี่ข่มเหง เมื่อครั้งอยู่ในฟากฝั่งแผ่นดินของพม่า ชาวดาระอั้ง หรือปะหล่อง นั้นถูกทหารพม่า ทหารป่า เข้ากดขี่ข่มเหงมาโดยตลอด บ้านเรือนถูกรื้อทำลาย ยุ้งฉางถูกเผา ทรัพย์สินเงินทองถูกปล้นจี้  ลูกชายถูกจับไปเป็นทหาร ลูกสาวถูกข่มขืน ผู้คนในหมู่บ้านต่างหวาดผวาภัยที่มากับสงคราม ต่างละทิ้งหมู่บ้านพากันหลบหนีเข้าป่าอาศัยเป็นที่ซุกซ่อนหลบภัย นอนกลางดิน กินกลางป่า ต่างอพยพกันไปคนละทิศละทาง

ชาวดาระอั้ง ที่อพยพหนีภัยสงครามกลุ่มที่อาศัยอยู่ทางตอนกลางและทางตอนเหนือของรัฐฉาน ต้องใช้เวลาเดินเท้า เดินทางไกลและนานถึง ๔-๕ เดือน กว่าจะเข้ามายังฝั่งไทย ในขณะที่กลุ่มที่อยู่บนดอยลาย นั้น บอกว่า บ้างเดินทางใช้ระยะเวลาประมาณ ๓ วัน ๓ คืนโดยไม่หยุดพัก บ้างต้องใช้เวลาเดินทางเกือบครึ่งเดือน เนื่องจากมากันเป็นกลุ่มใหญ่ มีทั้งคนแก่และเด็ก จำต้องหยุดพักมาตลอดทาง

บ้างเก็บแมลงทุกอย่างใส่ปาก บ้างเด็ดใบไม้กินแทนข้าว เพื่อประทังความหิวโหยและความอยู่รอด บางครั้งมีคนตายเพราะป่วยไข้ระหว่างทาง

"ตายก็บ่ได้ฝัง ทำศพอะไรก็ใช้ใบตองกล้วยปิดห่มเฉยๆ แล้วก็ต้องรีบเดินทางกันต่อ เพราะตอนนั้น ทหารพม่าสั่งว่า ถ้าไม่ออกจากดอยลายจะเข้ามาจัดการ..." ลุงคำ จองตาล บอกเล่าด้วยน้ำเสียงหม่นเศร้า

แหละนั่นคือเหตุผลที่คนดาระอั้ง หรือปะหล่องต้องอพยพมาอยู่ตามรอยตะเข็บชายแดนไทย

แน่นอน เพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงในชีวิต ย่อมทำให้พวกเขาดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตนั้นอยู่รอด และพากันลงไปใช้แรงงาน รับจ้างทำสวนชา สวนลิ้นจี่ เกี่ยวข้าว จึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน ไปในหลายๆ พื้นที่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ 

จากการสำรวจพบว่า ทุกวันนี้ มีชาวดาระอั้ง หรือปะหล่อง อาศัยอยู่ในประเทศไทยอยู่ทั้งหมด ๙ หมู่บ้าน ในพื้นที่ ๓ อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ 

หมู่บ้านห้วยหวายนอก และหมู่บ้านห้วยทรายขาว ในพื้นที่อำเภอแม่อาย

หมู่บ้านห้วยจะนุ  หมู่บ้านห้วยหมากเลี่ยม และหมู่บ้านนอแล ในเขตพื้นที่อำเภอฝาง

หมู่บ้านแม่จร  หมู่บ้านห้วยปง หมู่บ้านปางแดงนอก และหมู่บ้านไทยพัฒนาปางแดง(ปางแดงนอก) ในเขตพื้นที่อำเภอเชียงดาว

ว่ากันว่า ในปัจจุบัน มีจำนวนประชากรชาวดาระอั้ง หรือชาวปะหล่องที่อยู่ในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ ๕,๐๐๐-๘,๐๐๐ คน หรืออาจมากกว่านั้น

และทำให้ผมนึกไปถึงพี่น้องไทยใหญ่อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เดินเท้าข้ามรอยตะเข็บชายแดนไทย-พม่า ทางฝั่งอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เข้ามาขอพักนอนค้างคืนในศูนย์การเรียนฯ ที่ผมสอนหนังสืออยู่ เมื่อราวปี ๒๕๓๗ ที่ผ่านมา

ค่ำนั้น, ฝนยังคงโปรยปรายลงมาไม่ขาดสาย หลายวันมาแล้วที่ดวงตะวันไม่อาจสาดส่องถึง มีแต่เมฆหมอกและม่านฝน บรรยากาศในยามนี้ จึงดูซึมเซาและหงอยเหงาอย่างบอกไม่ถูก

ขณะที่ผมกำลังนั่งทำกับข้าวในครัวไฟอยู่นั้น อะเลมะ เด็กลีซูคนหนึ่งวิ่งหน้าตาตื่นมาบอกผมว่า มีใครไม่รู้ ไม่รู้จัก เดินเข้ามาในหมู่บ้านเยอะแยะเลย ....ผมรีบออกมายืนดูอยู่ตรงหน้าศูนย์การเรียน จดจ้องมองภาพความเคลื่อนไหวท่ามกลางสายฝนที่หล่นโปรย ผู้คนประมาณ ๓๐ กว่าชีวิต กำลังดุ่มเดินเรียงราย ไต่ขึ้นมาตามทางดินที่เละลื่นด้วยโคลนแฉะชื้น ผู้ชายเดินนำหน้า ผู้หญิงก้าวตามหลังพร้อมเด็กหญิงเด็กชาย บางคนหอบกระเตงลูกน้อยไว้แนบแน่นแผ่นอก เสื้อผ้าที่สวมใส่แต่ละคนล้วนเปียกปอนโทรมกาย

พวกเขาหยุดอยู่ตรงประตูรั้วหน้าศูนย์การเรียนพักหนึ่ง ก่อนย่างเข้ามาหาผมช้าๆ ด้วยสีหน้าที่ยังหวั่นหวาดขลาดกลัว เด็กน้อยคนหนึ่งร้องไห้ลั่น เนื้อตัวสั่นเทาเพราะความหนาวเย็นของฝอยฝน ลูกน้อยกอดคอแม่ไว้ แม่พยายามปลอบ อือๆ ออๆ พร้อมกอดกระชับลูกไว้แนบอกแน่น

"คู หมู่เฮาขอค้างนอนที่โฮงเฮียนนี้ซักคืนได้ก่อค่า..."  ชายวัยกลางคนผู้มีใบหน้ากร้าน เอ่ยกับผมเบาๆ เหมือนจะเกรงใจ 

ผมจ้องมองลึกลงไปในดวงตาของเขานั้นดูหม่นเศร้า ผมพยักหน้า พร้อมกับเรียกทุกคนเข้ามาข้างในห้องเรียน ซึ่งเป็นเพียงเพิงพักเก่าๆ ผมไม่ถามหรือพูดอะไรมาก เพราะจากที่ฟังสำเนียงภาษาที่พวกเขาพูดกัน และดูจากการแต่งกาย ก็พอรู้แล้วว่า เป็นพี่น้องไต หรือชาวไทยใหญ่นั้นแน่นอน

ฟ้ามืด ฝนหยุดตก พายุคงใกล้สงบแล้ว

ผมค้นหาเสื้อผ้าเก่าๆ เอาให้เด็กๆ เปลี่ยนใส่กันหนาว เด็กๆ วิ่งเล่นภายในเพิงพักและเริ่มมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่เมื่อหันไปมอง พ่อแม่ของเด็กๆ ไม่มีรอยยิ้ม ไม่มีเสียงหัวเราะ มีเพียงใบหน้าหมองกับดวงตาที่ไร้หวัง 

ในเตาไฟ พวกผู้หญิงกำลังง่วนอยู่กับการก่อกองไฟ หุงข้าว ตำน้ำพริก ผมจุดตะเกียงเจ้าพายุแขวนไว้กับเสากลาง เพียงครู่เดียวแสงไฟตะเกียงที่สว่างไสว ก็หลอกล่อให้เจ้าแมลงเม่าบินว่อนเข้ามาหาแสงไฟ พวกผู้ชายรีบเอาน้ำใส่ถังมาตั้งไว้ใต้ดวงตะเกียง ปล่อยให้หมู่แมลงเม่าหล่นร่วงลงในถังน้ำใบใหญ่นั้น

เด็กๆ ตื่นเต้นกับแสงไฟ ช่วยกันจับแมลงเม่ากันยกใหญ่
อาหารของค่ำคืนนี้ จึงดูเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ...
น้ำพริกถั่วเน่ากับแมลงเม่าคั่ว

ดึกมากแล้ว...
เด็กๆ ล้มตัวลงนอนอยู่ในอ้อมกอดของแม่อย่างอ่อนเพลีย ผมเข้าใจว่า ค่ำคืนนี้คงเป็นการพักผ่อนหลับนอนอย่างมีความสุขของพวกเขา

แต่ผมกับหนุ่มไทยใหญ่ ๔ คนยังไม่ยอมนอน เรานั่งคุยกันตรงแคร่ไม้ไผ่ ริมหน้าต่าง ลมหลังฝนพัดผ่านเข้ามาเย็นยะเยียบ ผมหยิบเหล้าป่ารินให้พวกเขายกดื่มเพื่อเรียกความอบอุ่นให้กับร่างกาย

ลมป่ายังคงครวญคร่ำ  คล้ายดั่งลมแห่งชะตากรรม ที่โหมพัดใส่ชีวิตหลายชีวิตที่พลัดถิ่น  หมอกหนาวคลี่คลุมไปทั่ว เงยหน้ามองฟ้า  ดาวหมองอ่อนแสงล้า  มองออกไปเบื้องหน้า  เทือกเขาที่สลับทับซ้อนคล้ายซุกซ่อนความเศร้า หม่นมืดทะมึนอยู่รายรอบ

"เหตุการณ์ฝั่งโน้นเป็นไงบ้าง..."  ผมเอ่ยถามทำลายความเงียบ

"ยังเหมือนเดิม ทหารม่าน [๑] มันร้าย บ้าน ยุ้งข้าวของเฮาถูกเผา คนโดนมันต้อนเหมือนงัวเหมือนควาย ผู้ชายถูกจับไปเป็นลูกหาบ จนบ่าหลังนั้นเต็มไปด้วยแผลเน่าเฟะ สงสารหมู่แม่หญิงและเด็กๆ ต่างถูกพวกมันทำร้าย บางครั้งพวกมันก็ลากเอาไปข่มขืนต่อหน้าต่อตาญาติพี่น้องของเรา..." เขาบอกเล่าด้วยน้ำเสียงสั่น กัดกรามแน่น...

บางอารมณ์ของความรันทดร้าวและโหยหาแผ่นดินที่จากมา  ชายไตคนหนึ่งร้องเพลง ‘ลิ่กห่มปางโหล๋ง' [๒] ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและเศร้าสะท้าน...

ในห้วงยามนั้น ผมมองเห็นน้ำใสๆ ในดวงตาของเขาหยาดหยดรดอาบแก้ม...

ขณะผมนั่งจมกับภาพเหตุการณ์เลวร้ายและรุนแรงอยู่นั้น หนุ่มไทยใหญ่ผมโล้นเกรียนที่นั่งอยู่ตรงหน้าผม ควักกระดาษสีขาวยับยู่ยี่แผ่นหนึ่งออกมาจากกระเป๋าเสื้อ เขาค่อยๆ คลี่ออกมา ก่อนยื่นให้ผมดู เป็นเอกสารของเรือนจำกลางเชียงใหม่ ที่ระบุบอกว่า เขาเพิ่งพ้นโทษออกจากคุกมาหมาดๆ ด้วยข้อหาลักลอบเข้าเมือง และเพิ่งถูกทางการส่งตัวออกไปนอกประเทศ 

ผมไม่จำเป็นต้องถามหรอกว่าทำไมถึงต้องหนีข้ามมาฝั่งไทยอีก...   

"เฮาขอยอมเสี่ยง ยอมตายที่เมืองไทย ยังดีกว่าถูกพวกทหารม่านมันฆ่า..."  เขาเอ่ยออกมาเบาๆ เหมือนจะร้องไห้

นึกไปถึง ลี แซ่เล่า หนุ่มม้งจากลาว ที่เดินเท้าข้ามน้ำข้ามดอยมาจากฝั่งลาว มาตั้งถิ่นฐานในฝั่งไทย เขตพื้นที่อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เพื่อตามหาแม่ซึ่งย้ายมาอยู่ก่อนหน้านานแล้ว 

"ช่วงที่อพยพมา ผมอายุได้ประมาณ ๑๕ ปี เดินเท้ามา ในตอนเช้า เดินมาถึงฝั่งไทย ก็ประมาณบ่ายสี่โมงเย็น ผมจำได้ว่าเป็นช่วงที่ชาวบ้านกำลังเดินทางกลับจากไร่ ระหว่างเดินทางมีเพียงเสื้อผ้า และเงินแท่งอีก ๒ แท่งที่ได้จากการขายนา และนำมาแลกเงินใช้เมื่อถึงที่แล้ว"

ลี บอกให้ฟังว่า สมัยนั้น ทหารลาวยังไม่เข้มงวดเรื่องการเดินทางหรือการอพยพ สามารถเดินทางหรือย้ายถิ่นได้โดยไม่ถูกจับกุม เมื่อเดินทางมาถึงฝั่งไทย ก็ยึดอาชีพรับจ้าง และทำการเกษตร คือทำไร่ข้าวสำหรับกินในครอบครัว และทำไร่ข้าวโพดสำหรับขาย เอาเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว

นี่เป็นบางกรณี บางเรื่องราวที่ผมประสบพบเจอ และรับฟังเรื่องราวชีวิตข้ามพรมแดนของผู้คนเหล่านี้

ใช่แล้ว เมื่ออ่านข่าวเรื่องแรงงานข้ามชาติ ในยามนี้ครั้งใด  ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เรื่องราวที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงคล้ายๆ ไม่ต่างกันเท่าใดนัก สิ่งที่เผชิญอยู่นั้น ยังสะท้อนให้เราเห็นความจริง ว่าเหตุใดที่ทำให้พวกเขาต้องระเหเร่ร่อน ลุยน้ำข้ามดอย มาเสี่ยงโชคชะตา มาใช้ชีวิต ใช้แรงงานอยู่ในเมืองไทยของเรา

ซึ่งผมคิดว่า ทุกคนก็เหมือนอีกหลายๆ ชีวิต เหมือนพี่น้องของเรา ที่เกิดมาแล้ว ก็ล้วนต้องการมีชีวิตที่ดีกว่า มีสันติสุข และมีความหวัง...

หากเราก้าวข้ามพรมแดนแห่งอคติทางชาติพันธุ์ได้แล้ว เราอาจค้นหาคุณค่า ความหมายของชีวิตผู้คนเหล่านี้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น.



[๑] ‘ทหารม่าน' คำที่ชาวบ้านเรียกทหารพม่า

[๒] ‘ลิ่กห่มปางโหล๋ง' เป็นภาษาไทยใหญ่ แปลว่า "สัญญาปางโหลง" สัญญาที่สมัยลงนามกันที่เมืองปางโหลง ว่า เมื่อครบสิบปี จะยกให้แต่ละเมืองแต่ละเผ่า แยกประเทศปกครองกันเอง แต่ก็ถูกทหารพม่าปิดล้อมสภา ฆ่าผู้นำตายหมด รวมถึงอูอองซาน พ่อของอองซานซูจี ตัวแทนพม่า ก็ถูกยิงตายในสภานี้ด้วย

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >