หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 270 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สังเขปพัฒนาการ ๔๐ ปี แห่งการทำงาน แผนกยุติธรรมและสันติ (๒๕๒๐-๒๕๖๐) พิมพ์
Wednesday, 24 January 2018



สังเขปพัฒนาการ ๔๐ ปี แห่งการทำงาน แผนกยุติธรรมและสันติ

(๒๕๒๐ - ๒๕๖๐)


กำเนิดองค์กรประจักษ์พยานต่อความจริงและเป็นมโนธรรมทางสังคม ปี ๒๕๑๖ - ๒๕๒๐

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่มีความสำคัญยิ่ง ด้วยการที่กลุ่มบุคคลกลุ่มเล็กๆ ประกอบด้วย พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ [๑] และฆราวาส จำนวน ๓ - ๔ คน [๒] ในฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ ของสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา (สคทพ. ในขณะนั้น) ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของศาสนจักรคาทอลิกต่อหน้าสังคม ด้วยการออกจดหมายเรียกร้อง และผลิตแผ่นปลิวโรเนียว ชื่อ "ผู้ไถ่" เป็นปากเสียงแทนนักศึกษา นักวิชาการ ผู้นำแรงงานและชาวนา ผู้ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่าเป็นนักโทษการเมือง จากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย เดือนตุลาคม ๒๕๑๖ - ตุลาคม ๒๕๑๙ รวมทั้งร่วมมือกับเครือข่ายศาสนิก ทำหน้าที่เป็นมโนธรรมของสังคมต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิฯ ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนในช่วงเวลานั้น จนถูกมองว่าเป็นงาน "เผือกร้อน" ที่อาจส่งผลกระทบต่อพระศาสนจักรโดยรวม 

เพื่อช่วยให้งานสงเคราะห์ และงานพัฒนาชาวบ้าน ของสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ซึ่งถือว่าเป็นงาน "เย็น" สามารถดำเนินไปตามพันธกิจแห่งการพัฒนามนุษย์ทั้งครบ สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย จึงมีมติให้แยกงานส่งเสริมความยุติธรรมและสันติ ออกจากฝ่ายส่งเสริมและเผยแพร่ และก่อตั้งเป็นคณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐ โดยมีพระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นมุขนายก [๓] ทั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่พระศาสนจักรคาทอลิกแห่งประเทศไทย ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของพระสันตะปาปาปอล ที่ ๖ ในสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติที่ประสงค์ให้ก่อตั้งหน่วยงานด้านความยุติธรรมและสันติขึ้น เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของสังคายนาวาติกันครั้งที่ ๒ "เมื่อคำนึงถึงความทุกข์ยากสาหัสที่กำลังเบียดเบียนมนุษยชาติส่วนใหญ่ในเวลานี้...เพื่อส่งเสริมความยุติธรรมในทุกหนแห่ง อีกทั้งเพื่อสืบทอดความรักของพระคริสต์ต่อคนยากจน...จึงเห็นเป็นการเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะตั้งองค์การของพระศาสนจักรสากล เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกประชาชน ให้ตระหนักถึงพันธกิจต่อผู้ยากไร้และร่วมกันทำงานส่งเสริมความยุติธรรมและสันติในสังคม"

การก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งประเทศไทย (ยส.) จึงเป็นโอกาสเหมาะสมพอดีในขณะนั้น เพื่อส่งเสริมศาสนิกให้ตื่นตัวต่อปัญหาอยุติธรรมต่างๆ ในสังคม ด้วยการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบของการศึกษาวิเคราะห์ต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคม และเผยแพร่ข้อมูลผลที่ได้รับออกไปสู่สาธารณชน  รวมทั้งประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาต่างๆ นั้น ด้วยสันติวิธี 

เมื่อมีความเป็นองค์กรที่ชัดเจน ยส. ก็ได้ขยายการทำงานโดยร่วมมือกับองค์กรศาสนาองค์กรอื่นๆ ในการร่วมกันทำกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรม ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น สหภาพแรงงาน กลุ่มชาวนาภาคเหนือ นิสิตนักศึกษา และร่วมกันจัดตั้งองค์กรที่เป็นมโนธรรมทางสังคม คือกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือของศาสนิกชนชาวพุทธ คาทอลิก และโปรแตสแตนท์ ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน

 

ทศวรรษที่ ๑

ปี ๒๕๒๑ - ๒๕๓๐

ศึกษาความเป็นจริงทางสังคม เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกทางสังคม

หลังจากได้รับการก่อตั้งอย่างเป็นทางการแล้ว ปี ๒๕๒๑ ยส. ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำ แต่สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ได้สนับสนุนเจ้าหน้าที่งานส่งเสริมและเผยแพร่ คือ คุณชาญชัย พัฒนะอิ่ม มาช่วยดำเนินกิจกรรม โดยร่วมมือกับองค์กรเอกชนอื่นๆ เช่น กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน องค์กรนิสิตนักศึกษา และสหภาพแรงงาน รณรงค์เรียกร้องความเป็นธรรมจากปัญหา ความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสังคม พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลผ่านวารสารสังคมพัฒนา ฉบับผู้ไถ่

ปี ๒๕๒๒ เมื่อมีสำนักปฏิบัติงานของตนเอง ยส. เริ่มเขียนโครงการเพื่อยื่นของบประมาณสนับสนุนจาก องค์การ Asian Partnership for Human Development (APHD)  และในปลายปีเดียวกัน ยส. ได้รับงบประมาณจาก APHD สำหรับดำเนินงานเป็นเวลา ๓ ปี มีแผนงาน และรูปแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกันคือ (๑) งานศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความอยุติธรรมในสังคม ด้วยรูปแบบของงานศึกษาเฉพาะกรณี ที่กำลังเป็นปัญหาในสังคม (๒) งานให้การศึกษาเพื่อความยุติธรรมและสันติ โดยจัดสัมมนา และผลิตสิ่งพิมพ์ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาเฉพาะกรณี (๓) ประสานงาน กับองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะองค์กรที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ในช่วงเวลานั้น (ปี ๒๕๒๓) สถานการณ์บ้านเมืองและสังคมไทย ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งกำลังปรับโฉมหน้าของประเทศเป็นเมืองล้อมป่า เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าป่าไปร่วมกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ จากเหตุการณ์เดือนตุลาคม ๒๕๑๙ ได้กลับเข้ามาสู่เมือง ภายใต้นโยบาย ๖๖/๒๓  ขณะที่ภาคเศรษฐกิจของประเทศ มีการเร่งพัฒนาเพื่อการส่งออก และส่งเสริมการผลิตพืชเกษตรเพื่อการส่งออก ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๕ ส่งผลต่อการเข้ามาลงทุนทำธุรกิจการเกษตรของบรรษัทข้ามชาติ และเปลี่ยนวิถีการเกษตรเพื่อยังชีพ ไปเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออก ขณะเดียวกัน ก็มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากภาคชนบทสู่เมือง แรงงานไทยออกไปทำงานต่างประเทศ ปัญหาการกล่าวหาว่าชาวเขาบุกรุกที่ดิน ตัดไม้ทำลายป่า และผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ปี ๒๕๒๒ - ๒๕๒๕ ยส. ได้ดำเนินงานศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความอยุติธรรมในสังคม ที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงาน บรรษัทข้ามชาติ การท่องเที่ยว และโครงการพัฒนาของรัฐ โดยปรากฏออกมาเป็นงานการศึกษาต่างๆ อาทิ งานศึกษาผลกระทบของบรรษัทข้ามชาติในสังคมไทย : กรณีบริษัทโดลไทยแลนด์ ใน จ. ประจวบคีรีขันธ์  และงานศึกษาปัญหาของชาวไร่อ้อย เป็นการศึกษาเปรียบเทียบถึงพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น นอกเหนือจากสับปะรด  งานศึกษาปัญหาแรงงานอพยพจากชนบทสู่เมือง ร่วมกับกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม และงานศึกษาปัญหาคนงานสตรีในโรงงานขนาดเล็ก ในเขตอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร ซึ่งสืบเนื่องจากงานศึกษาปัญหาแรงงานอพยพจากชนบทสู่เมือง งานศึกษาผลกระทบโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชนต่อประชาชนในหมู่บ้านโพนสูง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี  ศึกษาผลกระทบในชุมชนจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน งานศึกษาผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ของประชาชน ในพื้นที่ เชียงใหม่ พัทยา พัฒน์พงศ์ และภูเก็ต  และงานศึกษาปัญหาของชาวเขาในภาคเหนือ  ที่ถูกกล่าวหาจากนโยบายการพัฒนาของรัฐว่า เป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า และไม่มีสัญชาติ 

สำหรับงานให้การศึกษาเพื่อความยุติธรรมและสันติ ก็ปรากฏในรูปแบบของการจัดสัมมนาเพื่อนำเสนอผลจากงานศึกษาเฉพาะกรณี เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทั้งในศาสนจักร และผู้สนใจทั่วไป ได้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และร่วมรณรงค์ประเด็นความยุติธรรมและสันติ กับองค์กรเอกชน ด้านศาสนา และสิทธิมนุษยชน โดยใช้โอกาสวันต่างๆ อาทิ วันสันติสากล วันสตรีสากล วันระพี และวันสิทธิมนุษยชน 

ช่วงปี ๒๕๒๖ - ๒๕๒๗ ยส. ประสบปัญหาภายในองค์กร นำไปสู่การทบทวนตนเอง ทบทวนบทบาท วัตถุประสงค์ และกิจกรรมขององค์กร ผลจากการประชุมประเมินผล ยืนยันว่าการที่ ยส. เริ่มทำงานด้านการศึกษาเชิงลึกถึงต้นตอของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตมนุษย์ในสังคม และใช้ข้อมูลที่ได้จากผลการศึกษา เป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมและสันตินั้น ถือเป็นการเดินมาถูกทางแล้ว บทบาทที่สำคัญของ ยส. เป็นเสมือนกังหันไก่ที่อยู่บนหอคอย ที่คอยบอกทิศทางลม เป็นผู้กระตุ้นจิตสำนึกประชาชนให้ตื่นตัวและมีความเข้าใจต่อปัญหาความอยุติธรรมที่แฝงเร้นในโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง  ยส. เป็นผู้สนับสนุนด้านข้อมูลในเรื่องความยุติธรรม แก่หน่วยงานสังคมพัฒนาในสังฆมณฑลต่างๆ และองค์กรอื่นๆ ภายในพระศาสนจักร (รวมทั้งพันธมิตรในสังคม) เพื่อมิให้งานของพระศาสนจักรที่ทำงานกับประชาชนในฐานล่างของสังคมต้องสูญเสียมิติ หรือมองข้ามความยุติธรรมไป

การทบทวนองค์กรครั้งนี้ ทำให้ ยส. ได้พัฒนาแผนงานของตนต่อไป ทั้งในส่วนของงานศึกษาเฉพาะกรณี  และเฉพาะอย่างยิ่ง งานให้การศึกษา  ยส. ได้จัดสัมมนานำเสนอผลกรณีศึกษาของ ยส. และจัดสัมมนาเพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยมีกระบวนการ Exposure เรียนรู้และไตร่ตรองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม และถือเป็นเวทีสร้างความสัมพันธ์กับบุคลากรและองค์กรในพระศาสนจักร นับแต่นั้นเป็นต้นมา

ปลายปี ๒๕๓๐ ยส. เริ่มทำงานศึกษากรณีแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าห้องแถว ที่เป็นผลมาจากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และโรงงานทอผ้าต่างๆ ย่านพระประแดง รังสิต และอ้อมน้อย ปิดตัวลงและเลิกจ้างคนงาน ในย่านห้วยขวางที่สำนักงาน ยส.ตั้งอยู่ก็มีแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง รวมตัวกันรับเสื้อผ้าจากตลาดประตูน้ำ และตลาดโบ๊เบ๊มาเย็บในห้องแถวมากมาย ด้วยเหตุนี้ ยส. ได้ทำการศึกษาเจาะลึกกรณีแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าห้องแถว โดยมีอาสาสมัครเข้าไปเป็นแรงงานตัดเย็บร่วมกับคนงานอื่นๆ ในห้องแถว เป็นเวลา ๓ เดือน ทำให้ได้ข้อมูลในแง่ผลกระทบที่เกิดจากการรับเหมาช่วง ทั้งในแง่ค่าตอบแทน เวลาทำงาน ทักษะในการทำงาน ความสัมพันธ์เชิงสังคมและวัฒนธรรมระหว่างคนตัดเย็บเสื้อผ้า รวมทั้งผลกระทบด้านสุขภาพ และได้ประสานงานกับนักวิชาการด้านแรงงาน และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานและภาครัฐ เพื่อผลักดันให้ปัญหาของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในห้องแถว เป็นที่รับรู้ในสังคม เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางคุ้มครองสิทธิฯ ของกลุ่มคนเหล่านี้

 

ทศวรรษที่ ๒

ปี ๒๕๓๑ - ๒๕๔๐ 

สร้างแนวร่วมงานส่งเสริมความยุติธรรมในพระศาสนจักรและสังคม

แตกแขนงเป็น ๔ องค์กรใหม่

จากการทำงานศึกษาผลกระทบที่มีต่อชีวิตของชุมชนในช่วงที่หนึ่ง ควบคู่ไปกับการนำผลการศึกษามาสะท้อนแก่สมาชิกภายในพระศาสนจักรและสังคม มีงานศึกษากรณีต่างๆ ที่ถูกพัฒนาไปสู่การก่อตั้งเป็นองค์กรใหม่ เช่น โครงการชาวเขา ที่ ยส. ทำการศึกษาผลกระทบของชาวเขาจากนโยบายพัฒนาของรัฐ และ กรณีศึกษาผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อชุมชนในภาคเหนือ ภาคใต้ และตะวันออก ทั้ง ๒ กิจกรรมนี้ได้สร้างแนวร่วมเพื่อน ทั้งนักการศาสนา นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และหน่วยงานราชการ ผู้ห่วงใยต่อปัญหาดังกล่าว และร่วมกันขยายผลของการศึกษาไปสู่สาธารณชนวงกว้าง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาสังคมในขณะนั้น

ยิ่งกว่านั้น จากการที่ปัญหาทั้งสองเป็นผลกระทบมาจากนโยบายของภาครัฐ ยส. ตระหนักดีว่าควรจะมีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นทางการของพระศาสนจักร ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว (ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับที่พระศาสนจักรสากล โดยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ ๒ ได้ออกสารวันสันติสากลในปี ๒๕๓๒  เรื่อง เคารพสิทธิของชนกลุ่มน้อย) ที่สุด ผลจากการประชุมสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ ได้เห็นชอบก่อตั้ง คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาชนพื้นเมือง (จากโครงการชาวเขา) ปัจจุบันคือ แผนกชาติพันธุ์

เช่นเดียวกับงานศึกษากรณี ผลกระทบของการท่องเที่ยว พื้นที่ พัทยา พัฒน์พงษ์ ภูเก็ต และเชียงใหม่ รวมทั้งงานกรณีศึกษาทัวร์ป่า (Trekking Tour) ที่ ยส. ได้นำเสนอสภาพระสังฆราชฯ ให้ก่อตั้งหน่วยงานที่เข้ามารับผิดชอบด้านงานท่องเที่ยว ซึ่งสภาพระสังฆราชฯ ได้ก่อตั้งคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการท่องเที่ยว ขึ้นในปี ๒๕๓๓ 

นอกจากนี้ งานกรณีศึกษา แรงงานหญิงไทยอพยพไปเอเชียตะวันออก เมื่อ ยส. ได้ทำการรวบรวมข้อมูล และนำเสนอผลการศึกษาแก่ที่ประชุมกรรมาธิการฝ่ายสังคม สภาพระสังฆราชคาทอลิกฯ ในเดือนสิงหาคม ๒๕๓๗ พร้อมกับได้เสนอสภาพระสังฆราชคาทอลิกฯ ให้มีหน่วยงานรับผิดชอบงานด้านแรงงานอพยพ ที่สุด ที่ประชุมสภาพระสังฆราชฯ ได้ก่อตั้งหน่วยงานด้านแรงงานอพยพ โดยมีคณะนักบวชหญิงแมรี่โนลด์ เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหน่วยงานด้านแรงงานอพยพ ในปัจจุบันคือ แผนกผู้ท่องเที่ยวและผู้เดินทางทะเล

สำหรับงานศึกษากรณีแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าห้องแถว จากจุดเริ่มต้นปี ๒๕๓๐ ที่ศึกษาสภาพทางธุรกิจของผู้ประกอบการ สภาพการทำงาน เงื่อนไข และสวัสดิการของลูกจ้าง (ช่างตัดเย็บ) ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการและลูกจ้าง ไปจนถึงการรวมกลุ่มผู้ประกอบการร้านตัดเย็บเสื้อผ้าห้องแถว ประสานนักวิชาการสายแรงงาน เชื่อมเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นแนวร่วมในการทำงานเชิงนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิแก่แรงงานนอกระบบ นำไปสู่การก่อตั้งเครือข่ายพัฒนาแรงงานนอกระบบขององค์กรพัฒนาเอกชน และจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาและพัฒนาผู้รับงานไปทำที่บ้าน ในปี ๒๕๔๐ โดยเป็นอิสระจาก ยส. ซึ่งปัจจุบันคือ สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (Homenet Thailand Association) 

ในทศวรรษที่ ๒ ของการทำงาน สถานการณ์บ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ คือช่วงต้นของยุคนี้  การเมืองได้ค่อยๆ เปลี่ยนมือจากประชาธิปไตยภายใต้การปกครองโดยทหาร มาสู่ยุคพลเรือนที่นิยมเศรษฐกิจ  แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ยังมีความพยายามยึดอำนาจคืนโดยกลุ่มทหารบางกลุ่มในปี ๒๕๓๔  และกลายเป็นวิกฤตการเมืองที่สำคัญอีกครั้ง ที่เรียกว่า พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕  ซึ่งเป็นปฐมบทของการเมืองภาคประชาชนที่ร่วมกันผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี ๒๕๔๐ ขึ้นมา

ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕  ยส. ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน ด้วยการออกสารในนามสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เรียกร้องไปยังรัฐบาลทหารให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับประชาชน และยังส่งจดหมายรณรงค์ไปยังเครือข่าย ยส. ในต่างประเทศ เพื่อเรียกร้องรัฐบาลประเทศนั้นๆ ให้กดดันรัฐบาลไทย และได้ทราบว่ารัฐบาลประเทศออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ได้ระงับและยกเลิกการฝึกทหารร่วมระหว่างรัฐบาลไทย สหรัฐ และออสเตรเลีย ในปีนั้น

ดังที่กล่าวมาแล้วถึงผลการประเมินภายใน และทบทวนบทบาทองค์กร ยส. ในปี ๒๕๒๘ ที่เห็นว่า ยส.  ควรทำบทบาทให้การศึกษาเพื่อสร้างจิตสำนึกแก่กลุ่มเป้าหมายในพระศาสนจักร ดังนั้น ในช่วง ๑๐ ปีนี้ นอกเหนือจากงานผลักดันเพื่อให้เกิดเป็นหน่วยงานใหม่ๆ ขึ้นมา ยส. ยังคงดำเนินกิจกรรมให้การศึกษาเพื่อความยุติธรรมและสันติ ด้วยการจัดสัมมนาโดยเอาปัญหาในขณะนั้นมาทำการศึกษา ไตร่ตรอง เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกด้านสังคมแก่สมาชิกในศาสนจักร ในประเด็น แรงงาน การท่องเที่ยว สิทธิมนุษยชน การเลือกตั้ง ปัญหาการเอาเปรียบเด็กทางเพศและโสเภณีเด็ก สถานภาพสตรี กระแสโลกาภิวัตน์ ความเสมอภาคของบทบาทหญิงชาย สิทธิในการดูแลชุมชนและทรัพยากร รัฐธรรมนูญ และวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นต้น

ในสองเรื่องหลังคือ รัฐธรรมนูญ และวิกฤติเศรษฐกิจนั้น ยส. ถือเป็นตัวแทนคาทอลิกในเครือข่ายศาสนิกในการจัดเวทีระดมความคิดเห็นของศาสนิกชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี ๒๕๔๐ โดยเฉพาะหมวดสิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนา และเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ส่วนการจัดสัมมนาบทบาทคริสตชนไทยในวิกฤติเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ ถือเป็นการแสดงจุดยืนและการทบทวนตนเองของคริสตชนต่อการปฏิบัติช่วยเหลือกันในยามที่สังคมเผชิญความยุ่งยากทางเศรษฐกิจ 

 

ทศวรรษที่ ๓

๒๕๔๑ - ๒๕๕๐

ร่วมเป็นเครือข่ายในงานสร้างสันติในสังคม

และวางรากฐานปลูกฝังวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน

นับตั้งแต่ ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภาวะสั่นคลอนจากวิกฤติเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ จนนำไปสู่การเปิดประเทศให้ต่างชาติที่มีกำลังทางเศรษฐกิจเข้ามาดำเนินธุรกิจ และควบคุมเอาผลประโยชน์ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมกลับสู่ประเทศแม่ นอกจากนั้น การเปิดเสรีทางการค้าจากอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ ก็ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคประชาชน ซึ่งมิใช่เฉพาะกลุ่มคนในระดับล่างของฐานพีระมิดอีกต่อไป แต่ขยายไปถึงผู้ที่อยู่ในระดับกลาง หรือระดับสูงล่างอีกด้วย การที่ประเทศไทยไปทำสัญญาทางการค้ากับประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจดีกว่าก็ส่งผลต่อดุลการผลิตภายในประเทศ และเสียเปรียบทางการค้า ภาคประชาชนไม่มีเสรีภาพในการผลิตตามวิถีดั้งเดิมอีกต่อไป นอกจากนี้ สภาพสังคมโดยรวมก็ถูกชักจูงเข้าสู่บรรยากาศวัตถุนิยมอย่างไม่มีทางเลือก ทั้งในระดับความคิดที่คล้อยตามอุดมการณ์บริโภคนิยม และพฤติกรรมการดำเนินชีวิตทางสังคม 

ผลจากการปฏิรูปทางการเมืองที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างมาก และนำไปสู่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ กระแสสังคมไทยก็ตื่นตัวกับการเตรียมการเลือกตั้งระบบใหม่ในปี ๒๕๔๒ นอกจากนั้น ยังมีสถานการณ์ทางการเมืองที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค คือ ติมอร์ตะวันออกก่อตั้งเป็นประเทศ หลังจากได้รับเอกราชจากอินโดนีเซีย ในปี ๒๕๔๒ การเลือกตั้งระบบใหม่ ปี ๒๕๔๔ จนได้รัฐบาลพรรคเดียว นำโดย อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ปกครองประเทศ และกรณีวินาศกรรมที่ตึก World Trade Center ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔ เป็นต้น

สำหรับ ยส. เอง ในปี ๒๕๔๑ มีการจัดงานฉลองครบ ๒๐ ปี แห่งการก่อตั้งองค์กร พร้อมกับจัดเวทีสัมมนาซึ่งให้ข้อเสนอต่อทิศทางของ ยส. ในอนาคตว่า ควรเน้นงานการศึกษาสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมมากขึ้น และควรเป็นการศึกษาที่มุ่งปรับทัศนคติ เน้นกิจกรรมอบรมสันติวิธีให้เป็นแก่นแท้สำหรับทุกคนในสังคมที่ต้องปฏิบัติต่อกัน และเป็นตัวกลางช่วยพัฒนาองค์กรที่ทำงานส่งเสริมความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวถูกนำมาพัฒนาเป็นแผนงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาและสันติภาพ ที่มุ่งสร้างผู้ส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในบริบทต่างๆ นับตั้งแต่นั้นมา จนถึงปัจจุบัน ปี ๒๕๖๐


งานให้การศึกษาเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกทางสังคม

ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และด้วยแผนกิจกรรมที่กำหนดให้สอดคล้องกับบทบาทของ ยส. สำนักปฏิบัติงาน ยส. ในช่วงเวลาทศวรรษที่สามนี้ ยังให้ความสำคัญต่องานให้การศึกษาโดยใช้เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงในสังคม หรือสาระจากสารวันสันติสากลของทุกๆ ปี มาเป็นเนื้อหาในกิจกรรมสัมมนา เพื่อให้องค์กรในพระศาสนจักรได้เข้าใจถึงสัญญาณแห่งกาลเวลาในขณะนั้น โดยเริ่มในต้นปี ๒๕๔๑ จากงานสัมมนาผลกระทบของสภาพเศรษฐกิจ จัดกิจกรรมอบรมเรื่องการเลือกตั้งระบบใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐  แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาในสังฆมณฑลต่างๆ ในปี ๒๕๔๒  กรณีโศกนาฏกรรม ๑๑ กันยายน ๒๕๔๔  ยส.ได้จัดพิธีมิสซาภาวนาระลึกถึงผู้ที่เสียชีวิต และร่วมกับเครือข่ายศาสนิกชนชาวไทยเพื่อสันติภาพ รณรงค์เรียกร้องการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ และจากเหตุการณ์นั้น แนวร่วมศาสนิกจิตอาสาเพื่อสังคมก็ค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้น และกลายเป็นพลังมโนธรรมของภาคประชาสังคม ต่อเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้น ในปี ๒๕๔๕ - ๒๕๔๙ ช่วงรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

ปี ๒๕๔๗ - ๒๕๕๐ ความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและประชาชนรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะภาคใต้สุดของประเทศไทยที่เคยสงบ กลายเป็นพื้นที่เปราะบางต่อเรื่องสันติภาพ เหตุการณ์ความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี เดือนเมษายน ๒๕๔๗ และการสลายการชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เดือนตุลาคม ๒๕๔๗ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก นอกจากนี้ มีการคุกคามนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน กรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร ถูกทำให้หายสาบสูญ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นายเจริญ วัดอักษร รวมถึงพระสุพจน์ สุวโจ และคนอื่นๆ ถูกลอบสังหารชีวิต 

ปี ๒๕๔๘ ภาคประชาสังคม ทั้งองค์กรเอกชนด้านศาสนา องค์กรสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการต่างตื่นตัวต่อความรุนแรง และร่วมกันจัดเวทีสัมมนาเพื่อร่วมกันเรียกร้องต่อรัฐบาลของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ให้ยุติการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน และคุกคามชีวิตผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน สำหรับ ยส. เอง ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรศาสนิกต่างๆ เช่น กลุ่มเสขิยธรรม และสภาองค์กรมุสลิมแห่งประเทศไทย จัดเวทีสัมมนาวิเคราะห์สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรง รวมทั้ง ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ และสะท้อนถึงจุดยืนทางศาสนา เพื่อถ่วงดุลมิให้รัฐใช้อำนาจและความรุนแรงตามอำเภอใจ ในการแก้ไขความขัดแย้งและความรุนแรง  

เดือนตุลาคม ๒๕๔๘  ยส. ได้ร่วมกับสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี จัดสัมมนาเรียนรู้วิถีการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างทางด้านศาสนา วัฒนธรรม และเผ่าพันธุ์ เพื่อช่วยให้บุคลากรในพระศาสนจักรท้องถิ่นภาคใต้ได้เข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง และพร้อมกันนั้น ยังได้เชิญคุณพ่อ Ignatius Ismartono S.J. พระสงฆ์ชาวอินโดนีเซีย มาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานศาสนสัมพันธ์ ท่ามกลางความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาอิสลาม ผลจากการสัมมนาครั้งนั้น พระศาสนจักรท้องถิ่นมีความมั่นใจในการทำงานในมิติศาสนสัมพันธ์ต่อไป และเป็นความสำเร็จที่ ยส. พยายามช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ของพระศาสนจักรท้องถิ่น มีความตระหนักในเรื่องความยุติธรรมและสันติ

ประเทศไทยประสบความสั่นคลอนทางการเมืองอีกครั้ง จากรัฐประหารเดือนกันยายน ๒๕๔๙ และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ซึ่ง ยส. ได้ติดตามผลร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว และจัดสัมมนาศึกษาร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ อีกครั้ง เพื่อให้สมาชิกในพระศาสนจักรทำความเข้าใจถึงสาระของร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะบทบัญญัติในเรื่องการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน


งานร่วมสร้างเครือข่ายรณรงค์ยุติกับระเบิด

ปลายปี ๒๕๔๐ ยส. ได้ร่วมกับองค์กรคาทอลิกอีก ๔ องค์กร คือ คณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชน (กปส.), องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (INEB), สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย และสำนักงานเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย (JRS) ภายใต้ชื่อ คณะทำงานไทยรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด (Thailand Campaign to Ban Landmines / TCBL) เริ่มงานรณรงค์เพื่อยุติการใช้กับระเบิด ซึ่งเป็นงานผลักดันเชิงนโยบาย โดยดำเนินกิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงภัยอันตรายจากกับระเบิด รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเก็บกู้ ทำลายกับระเบิด ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากกับระเบิด ผลักดันให้รัฐบาลไทยลงนามในอนุสัญญา OTTAWA จัดทำหนังสือรายงานการปฏิบัติการกำจัดระเบิดสังหารในประเทศ ร่วมกับ Landmines Monitor  รวมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในการทำลายทุ่นระเบิดของศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ (TMAC) และผลสำเร็จจากการทำงานของคณะทำงานฯ ชุดนี้คือ รัฐบาลไทยได้ลงนามในอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิด เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๔๐ และให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ อนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดมีผลบังคับใช้ในไทยเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เป็นต้นมา ซึ่งมีสาระสำคัญคือ หยุดการสะสม การซื้อขาย การใช้กับระเบิด


ร่วมเป็นเครือข่ายรณรงค์ การก่อตั้งประเทศติมอร์ตะวันออก

ในปี ๒๕๔๒ ประชาชนในติมอร์ตะวันออก ลงมติแยกตนเป็นอิสระจากการปกครองของอินโดนีเซีย และจัดตั้งประเทศ แล้วถูกทหารอินโดนีเซียปราบปราม ถือเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่รุนแรงระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในประเทศไทย มีการเคลื่อนไหวช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งรัฐบาลและเอกชน

สำหรับ ยส. เอง นอกเหนือจากกิจกรรมพื้นฐานที่เป็นตัวแทนคาทอลิก จัดเสวนาทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ดังกล่าว จัดพิธีมิสซาภาวนาเพื่อสันติภาพและผู้เสียชีวิต และร่วมกับกลุ่มศาสนิกและองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ จัดกิจกรรมเรียกร้องต่อรัฐบาลอินโดนีเซียให้ยุติความรุนแรง ยส. ยังร่วมเป็นคณะกรรมการในโครงการไทยบรรเทาทุกข์ น้ำใจสู่ติมอร์ตะวันออก ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของภาคประชาสังคม ร่วมกับองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวติมอร์ตะวันออก ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อขณะนั้น  


เริ่มวางรากฐานโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา

ในปลายทศวรรษที่สองของการทำงาน (ปี ๒๕๓๘ - ๒๕๓๙)  ยส. ริเริ่มงานสิทธิมนุษยชนศึกษา ด้วยเหตุผลว่า แม้สังคมเจริญก้าวหน้ามาก แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนมิได้หมดไป หรือลดลง ในทางกลับกัน การละเมิดสิทธิฯ มีความซับซ้อนมากขึ้น และความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็มิใช่ความรุนแรงทางกายภาพ แต่เป็นความรุนแรงทางจิตใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำงานสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการปลูกฝังคุณธรรมสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการปฏิบัติสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษาคาทอลิก 

ด้วยเหตุนี้  ยส. ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษา นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน มาเป็นคณะทำงาน "โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา" และร่วมกันจัดทำ "คู่มือการศึกษาเพื่อสันติภาพและสิทธิมนุษยชน" ขึ้นมา เพื่อเตรียมใช้เป็นคู่มือประกอบการอบรมสิทธิมนุษยชนศึกษา

ต่อมาในปี ๒๕๔๒ ยส. ได้จัดสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิก เพื่อขอความร่วมมือต่องานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาในโรงเรียน  และเริ่มจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนศึกษา ตามโรงเรียนคาทอลิกหลักๆ ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อบรรดาครูที่รับการอบรมได้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งจากแนวคิดทางศาสนาและหลักการสากลของสิทธิมนุษยชน รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และออกแบบแผนการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชน ตามกลุ่มสาระต่างๆ แก่นักเรียนและเยาวชน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายผู้รับประโยชน์หลักปลายทาง อันเป็นการบ่มเพาะวิถีปฏิบัติวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนแก่อนุชนรุ่นใหม่ๆ

ระหว่าง ปี ๒๕๔๘ - ๒๕๔๙ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ ๑ ได้พยายามผลักดันการสอนสิทธิมนุษยชนในสถาบันการศึกษาของรัฐ และได้เชิญตัวแทนกรรมการ ยส. เข้าเป็นคณะอนุกรรมการงานสิทธิมนุษยชนศึกษา และร่วมเป็นวิทยากรในการอบรมสิทธิมนุษยชนศึกษา แก่ครูทั่วประเทศ ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการงานสิทธิมนุษยชนศึกษา ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


ร่วมทบทวนพันธกิจงานพัฒนามนุษย์

ในปี ๒๕๕๐ นี้ ยังเป็นปีที่ครบรอบ ๔๐ ปี ของสมณสาสน์การพัฒนาประชาชาติ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนา (คพน.) [๔] และ ยส. เห็นความสำคัญที่จะทำการศึกษาผลกระทบของการพัฒนาในกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีต่อประชาชน อีกคำรบหนึ่ง โดย ยส. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ศึกษาวิจัยหลัก ร่วมกับ ๔ ศูนย์สังคมพัฒนา คือ เชียงใหม่, ท่าแร่-หนองแสง, จันทบุรี และสุราษฎร์ธานี  ภายใต้หัวข้อ "นโยบายการพัฒนากระแสหลักที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาความเป็นมนุษย์"  ใช้เวลาดำเนินการ ๒ ปี (สิงหาคม ๒๕๔๙ - กรกฎาคม ๒๕๕๑) และนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมสมัชชาคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๑ ซึ่งผลที่ค้นพบจากการศึกษา คือ ชุมชนที่เคยพึ่งตนเองได้ และเข้มแข็งด้วยการปฏิบัติคุณธรรม และคุณค่าตามหลักคำสอนของศาสนา กลับมีความอ่อนแอ และตกอยู่ในหลุมพรางของการพัฒนากระแสหลักที่มีเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนด และสาละวนกับการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากกับดักหนี้สิน  แม้ว่าจะมีความเชื่อเป็นหลักยึดเหนี่ยว และคอยประคับประคองให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ 

นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยยังให้ข้อเสนอแนะต่อเรื่องการศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่อง การสืบทอดผู้นำการเปลี่ยนแปลง ต้องสรุปบทเรียนการทำงานเป็นระยะๆ และต้องมีกระบวนการเปลี่ยนทัศนคติของชาวบ้าน เพื่อหลุดพ้นจากทาสเศรษฐกิจ 

 

ทศวรรษที่ ๔

๒๕๕๑ - ปัจจุบัน

มุ่งสร้างผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

    หลังเหตุการณ์รัฐประหาร ปี ๒๕๔๙ เป็นต้นมา สังคมไทยติดกับดักความขัดแย้งทางการเมือง จาก ๒ ขั้วที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ฝ่ายรัฐบาลที่มีอำนาจ ประกอบด้วยกลุ่มอนุรักษ์นิยม และฝ่ายทหาร  ขณะฝ่ายทุนนิยมใหม่ (อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร) มีแนวร่วมประชาชนเพื่อขับไล่เผด็จการแห่งชาติ เป็นกลุ่มสนับสนุน ที่สุดแล้ว ความขัดแย้งของทั้ง ๒ ฝ่าย ลงเอยที่การเลือกตั้ง วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งฝ่ายตัวแทนของอดีตนายกฯ ทักษิณ ได้รับเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาล แต่ความขัดแย้งและความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน ยังคงปรากฏอยู่ทั่วไป การแสดงความคิดเห็นของผู้คนในสังคมถูกเหมารวมว่าเป็นพวกใคร หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือเหมารวมว่ากลุ่มคนภาคไหน สนับสนุนพรรคใด เป็นต้น 

ความแตกแยกทางความคิดในสังคมแบบ ๒ ขั้ว และความอ่อนไหวต่อการเหมารวมหรือจัดเข้าพวก ส่งผลกระทบต่องานให้การศึกษาโดยใช้ Issue Oriented ของ ยส. ด้วย  หลังจาก ยส. ได้พยายามจัดสัมมนาเพื่อแสดงจุดยืนถึงหลักคำสอนศาสนาต่อความขัดแย้งในสังคม แต่กลับได้รับความร่วมมือจากสมาชิกในศาสนจักรไม่มากดังที่เคยมีมา เพราะความขัดแย้งทางความคิดกระจายไปในหมู่ศาสนิกชน ขณะเดียวกัน สังคมเปลี่ยนแปลงเร็วมากเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีเครื่องมือสื่อสารทางสังคมที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเองอย่างรวดเร็ว งานสัมมนาเพื่อเข้าใจสถานการณ์สังคม ซึ่งในอดีตเคยเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเปิดหูเปิดตาแก่กลุ่มเป้าหมาย และต้องทุ่มเทเวลาพอสมควรต่อการเตรียมงาน การติดต่อประสานงานกลุ่มเป้าหมาย และเชิญวิทยากร แต่คำตอบรับจากผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมน้อยกว่าอดีต รวมทั้งแผนโครงการ ๓ ปี ๒ เทอมหลังนี้ ยส.   ได้ปรับวิธีการทำงาน มุ่งเน้นงานอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ และพัฒนาศักยภาพแก่สมาชิกกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ โดยใช้รูปแบบกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ ควบคู่กับกระบวนการ See Judge Act ในการถ่ายทอดความรู้แนวคิดสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ และเรียนรู้เชิงวิเคราะห์กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากบริบทที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาศักยภาพในการเป็นผู้ร่วมส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน 


งานพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
 

ต้นทศวรรษที่ ๔ ของการทำงาน ยส. พบความยุ่งยากอีกครั้งหนึ่ง เมื่อองค์กรทุน MISEREOR ลดการสนับสนุนงบประมาณ แต่วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับ ยส. เมื่อ Caritas Italiana อนุมัติงบประมาณ ๓ ปี (๒๕๕๑ - ๒๕๕๔) ให้ ยส. ดำเนินโครงการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ร่วมกับศูนย์สังคมพัฒนาสุราษฎร์ธานี โดยจัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านสันติวิธี แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านสังคม ศูนย์สังคมพัฒนาสุราษฎร์ธานี ตามพื้นที่ฝั่งอันดามัน คือ จ.ระนอง, พังงา, ภูเก็ต และสงขลา เพื่อสามารถนำทักษะคลี่คลายความขัดแย้ง ไปใช้ทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวบ้าน คนไทย และแรงงานข้ามชาติในภาคก่อสร้างและประมง

ต่อมา MISEREOR สนับสนุน ยส. ทำงานอบรมเรื่องสันติภาพอย่างเต็มที่ พร้อมกับจัดสรรงบประมาณให้เจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรมเรื่องสันติภาพและการแก้ไขความขัดแย้ง (Fundamentals for Peace and Conflict Work Course) ในปี ๒๕๕๔ ที่ประเทศกัมพูชา จากนั้น ยส. ก็เดินหน้าเรื่องการอบรมการเรียนรู้สันติภาพและแก้ไขความขัดแย้ง แก่เยาวชน และกลุ่มผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง กลุ่มผู้สูญเสีย และข้าราชการในระดับอำเภอและตำบล ของ จ.ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเครือข่ายศูนย์สังคมพัฒนาฯ สุราษฎร์ธานี 

สิ่งที่เป็นความประทับใจ ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้สันติภาพและแก้ไขความขัดแย้ง คือ ยส. ได้รับความไว้วางใจจากเยาวชนชายมุสลิมในพื้นที่ ๓ จังหวัดภาคใต้สุด ผู้ติดยาเสพติดระดับพื้นฐานเกือบทุกคน และขาดโอกาสทางการศึกษา ได้เข้าร่วมการอบรม แม้ต้องใช้เวลาอบรมนาน ด้วยข้อจำกัดด้านการสื่อสารภาษาไทย และขาดสมาธิเมื่อไม่ได้เสพยา หรือตื่นตัวเมื่อเสพยา แต่เมื่อถึงจุดสิ้นสุดการอบรม เยาวชนกล้าแสดงออก แม้พูดภาษาไทยไม่ได้ เขียนไม่ได้ ก็ขอให้คนอื่นพูดหรือเขียนในสิ่งที่ตนคิดเห็น สะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ หากเขาได้รับโอกาสและความเข้าใจ การปรับปรุงแก้ไขเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เพราะการตระหนักในศักดิ์ศรีของตน ภาวะแห่งสันติ ยังดำรงอยู่ในใจเยาวชนเสมอ และเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจเยาวชนแต่ละคนให้ประคองตนอยู่ให้ได้ ภายใต้การถูกกดดันจากคำตัดสินของสังคมภายนอก

งานอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และผสานวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชนและสันติ ระหว่างพี่น้องต่างความเชื่อและวัฒนธรรมในพื้นที่ สำหรับผู้ปฏิบัติงาน ยส. เองก็ได้ประสบการณ์แห่งการเป็น "คนใน" ด้วยการถอดกรอบต่างๆ เพื่อพูดคุยและเข้าใจสาระแห่งความจริงเดียวกัน ได้เข้าใจการต่อสู้ดิ้นรนของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิงและเยาวชนที่ต้องการมีพื้นที่ยืนในสังคมร่วมสมัย ขณะเดียวกันก็ไม่สูญเสียอัตลักษณ์ในฐานะสมาชิกของสังคมมุสลิม


ร่วมสร้างโรงเรียนต้นแบบส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

ปี ๒๕๕๒ คณะอนุกรรมการโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษาชุดใหม่ เห็นชอบเปลี่ยนชื่อ "โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา" เป็น "งานการศึกษาเพื่อสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ" พร้อมกับจัดทำแผนแม่บท และแผนงานอบรม ขณะเดียวกันได้ติดตามผลกับโรงเรียนต่างๆ ที่เคยรับการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ในช่วงเวลาเหล่านี้ โดยใช้วิธีการส่งแบบติดตามผล และไปพูดคุยกับตัวแทนครูที่โรงเรียนอีกด้วย

ในปี ๒๕๕๔ ถึงปี ๒๕๕๖ ยส. ได้รับความไว้วางใจจากบาทหลวงวัชรินทร์ สมานจิต ผู้บริหารโรงเรียนดาราสมุทร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้ไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนและสันติภาพแก่บุคลากรในโรงเรียน ด้วยความตระหนักต่อการปลูกฝังคุณธรรมสิทธิมนุษยชน และเน้นให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชน และถึงแม้เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ก็จัดสรรเวลาการอบรมอย่างเต็มกระบวนการเพื่อครูทุกคนได้มีโอกาสรับการอบรม โดยเริ่มต้นด้วยกิจกรรมอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชน และพัฒนาแผนการเรียนการสอนสิทธิมนุษยชนเพื่อนำไปสอนในชั้นเรียน และได้เพิ่มกิจกรรมอบรมเรื่องการสื่อสารอย่างสันติ เป็นการอบรมขั้นที่สอง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการปฏิบัติการเคารพสิทธิฯ ต่อกันและกัน แก่ครูทุกคน รวมทั้งบุคลากรสนับสนุน (พนักงานที่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่นักเรียน, พนักงานรักษาความปลอดภัย,  คนขับรถ, แม่บ้านดูแลความสะอาด) และขั้นสุดท้ายของแผนงานอบรมครูในเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาและสันติภาพ คือ จัดอบรม Training of Trainers เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาและการสื่อสารด้วยหัวใจแห่งสันติ แก่ครูแกนนำ เพื่อครูเหล่านี้มีบทบาทในการวางรากฐานเรื่องสิทธิมนุษยชนและสันติภาพในโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา และเป็นผู้อบรมขยายความรู้เรื่องดังกล่าว ไปยังโรงเรียนในเครือของสังฆมณฑล จันทบุรี ต่อไป

อนึ่ง ด้วยรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน และบูรณาการด้วยเนื้อหาและทักษะเกี่ยวกับสันติภาพ รวมทั้งสร้างครูแกนนำสิทธิมนุษยชนที่โรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา เป็นต้นแบบนั้น ในปี ๒๕๕๗ และ ๒๕๕๙ โรงเรียนอัสสัมชัญ จ.ลำปาง และโรงเรียนศรีหฤทัย ขลุง จ.จันทบุรี ก็ขอรับการอบรมในรูปแบบเดียวกัน คือทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ และการอบรมครูแกนนำ นอกจากนี้ โรงเรียนอัสสัมชัญ จ.ลำปาง ขยายผลสู่การสร้างครูแกนนำเฉพาะหมวดวิชาสังคมศึกษา ขณะที่โรงเรียนศรีหฤทัย ขลุง จ.จันทบุรี ขยายผลการอบรมไปสู่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในปีการศึกษา ๒๕๖๐

นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ จนถึงปัจจุบัน (ปี ๒๕๖๐) มีโรงเรียนที่ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสิทธิมนุษยชน จำนวน ๘๔  โรงเรียน และครูผ่านการอบรมทั้งสิ้น ๓,๘๒๔ คน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ยอมรับและชื่นชมการทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนศึกษาของยส.ว่า "เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรเดียว ที่สามารถทำงานส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในโรงเรียนเอกชนคาทอลิกได้อย่างต่อเนื่อง และมีผลสัมฤทธิ์ที่ปรากฏ" คือมีจำนวนโรงเรียน จำนวนครูที่รับการอบรม รวมทั้งมีพัฒนาการเรื่องการขยายผลไปยังเยาวชนและนักเรียนในโรงเรียน ในขณะที่สถานศึกษาของรัฐบาลยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะประกาศนโยบายให้มีการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๔ ก็ตาม


ปลูกฝังการปฏิบัติคุณธรรมสิทธิมนุษยชนสู่เยาวชน

การทุ่มเทในโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษามาเกือบ ๑๐ ปี (๒๕๔๒ - ๒๕๕๐) ยส. เริ่มตระหนักในทรัพยากรที่ตนเอง (องค์กร) มี ทั้งในเรื่องข้อมูลและทักษะของผู้ปฏิบัติงาน ขณะเดียวกัน ยส. ก็ได้รับการเรียกร้องจากครูที่เคยผ่านการอบรมสิทธิมนุษยชนศึกษาว่า แม้ครูบางคนได้บูรณาการการเรียนการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปในโรงเรียนแล้ว แต่หาก ยส. จัดอบรมสิทธิมนุษยชนแก่เยาวชนด้วย จะเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยปลูกฝังการปฏิบัติคุณธรรมสิทธิมนุษยชนแก่ชนรุ่นใหม่

ดังนั้น ยส.ได้ออกแบบหลักสูตรอบรมสิทธิมนุษยชนสำหรับเยาวชน และตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา ยส. เริ่มกิจกรรมค่ายยุวสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยใช้กระบวนการ See Judge Act จัดเป็นกิจกรรม ๒ ระดับ โดยระดับเบื้องต้น คือ ค่ายยุวสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่เปิดรับเยาวชนนักเรียนจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม และระดับก้าวหน้า คือค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชนผู้นำสิทธิมนุษยชน ต่อมาขยายกิจกรรมค่ายยุวสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ไปยังกลุ่มเยาวชนชาติพันธุ์ในภาคเหนือ และเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ โดยสรุปแล้ว กิจกรรมที่แตกหน่อออกไปก็เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เยาวชนและเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสุดท้ายในงานสร้างภูมิคุ้มกันเรื่องสิทธิมนุษยชน ต่อสังคมโดยรวม

ส่วนค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชนผู้นำสิทธิมนุษยชน เป็นการคัดเลือกเยาวชนที่ผ่านค่ายสิทธิฯ ขั้นพื้นฐาน มารับการอบรมขั้นเข้มข้น ครั้งละ ๑๐ - ๑๕ คน โดยใช้กระบวนการ Exposure-Immersion จัดกิจกรรมพักค้างคืนร่วมใช้ชีวิตกับชาวบ้านในชุมชน เป็นเวลา ๓ วัน ๒ คืน เรียนรู้และเข้าใจความเป็นจริงเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ชาวบ้านและชุมชนกำลังเผชิญอยู่ 


นำงานอบรมสิทธิมนุษยชนเยาวชนนักเรียนเข้าสู่โรงเรียน

ปี ๒๕๕๓ เริ่มมีผู้บริหารโรงเรียนคาทอลิกบางแห่ง สนับสนุนให้จัดอบรมสิทธิมนุษยชนศึกษาแก่เยาวชนนักเรียนภายในโรงเรียน ยส. จึงมีโอกาสเข้าไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาภายในโรงเรียนคาทอลิก ใน จ.ปัตตานี, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, ขอนแก่น และพะเยา ในช่วงปี ๒๕๕๓ - ๒๕๕๕

สำหรับนักเรียนในโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา จ.ชลบุรี นั้น ยส. ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริหารโรงเรียน ให้ไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แก่นักเรียนแกนนำระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชนสิทธิมนุษยชน แก่กลุ่มนักเรียนแกนนำที่ผ่านการอบรมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ถึงปัจจุบัน ซึ่งนักเรียนแกนนำสามารถจัดกิจกรรมเรียนรู้สิทธิมนุษยชนแก่นักเรียนระดับประถมศึกษาในโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา และจัดค่ายเรียนรู้สิทธิมนุษยชนแก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๒ ของโรงเรียนศรีหฤทัย อ.ขลุง จ.จันทบุรี รวมทั้ง ยส. ยังร่วมจัดฐานการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนในค่ายลูกเสือประจำปี ๒๕๕๖ - ๒๕๕๘ ซึ่งถือเป็นการให้ความรู้โดยเบื้องต้นถึงคุณค่าสิทธิมนุษยชนแก่เด็กนักเรียน อีกช่องทางหนึ่ง   

ประสบการณ์จากการทำงานอบรมสิทธิมนุษยชนแก่เยาวชนในโรงเรียน คือ เราต้องเชื่อมั่นว่าเยาวชนทุกคนมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ ถ้าหากเราสามารถเอื้ออำนวยให้พวกเขาได้สัมผัส / ถูกสะกิด หรือประสบความจริงจากความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของผู้คนได้อย่างเป็นรูปธรรม ภาวะแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สัมผัสได้ในระดับส่วนตัวของเยาวชนก็จะเป็นที่ปรากฏ เราเห็นความอ่อนโยน การยอมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และกล้าแสดงออก รวมทั้งเป็นแกนนำเยาวชนที่ทำกิจกรรมจิตอาสาในโรงเรียน มีเยาวชนหลายคนที่ ยส. ติดตามได้ กลายเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมในระดับมหาวิทยาลัย

ที่สุด เพื่อให้การเรียนรู้สิทธิมนุษยชนออกไปสู่เยาวชนอีกจำนวนมากในสังคม ยส. ได้จัดทำหนังสือคู่มือค่ายยุวสิทธิมนุษยชน ออกมาในปี ๒๕๕๗ เพื่อเผยแพร่แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และผู้สนใจ ได้นำไปใช้จัดกิจกรรมอบรมสิทธิมนุษยชนแก่เยาวชนต่อไป

 

เสริมความรู้สิทธิมนุษยชนและกฎหมายพื้นฐาน แก่เยาวชนครูคำสอน สังฆมณฑลเชียงใหม่

ปี ๒๕๕๑ - ๒๕๕๙  ยส. ได้รับความไว้วางใจจากสังฆมณฑลเชียงใหม่ ให้ไปถ่ายทอดความรู้สิทธิมนุษยชนและกฎหมายพื้นฐานแก่เยาวชนชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ, ม้ง, อาข่า และลาหู่ ผู้เตรียมตัวเป็นครูคำสอน ที่ศูนย์คำสอนแม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นการช่วยเตรียมเยาวชนชาติพันธุ์ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้มีความสนใจ ห่วงใยต่อเรื่องสิทธิของชาวบ้าน ทั้งนี้เพราะพี่น้องชาติพันธุ์ในพื้นที่ที่บรรดาครูคำสอนทำงานแพร่ธรรมอยู่ ต่างก็เป็นผู้ที่ถูกละเลยในเรื่องสิทธิต่างๆ และไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย ดังนั้น การบูรณาการความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน  และกฎหมายพื้นฐานต่างๆ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้, ที่ดิน, พ.ร.บ.ป่าชุมชน, กฎหมายปกครอง และวิธีพิจารณาความอาญา เข้าไปในพันธกิจของครูคำสอน ถือเป็นงานอภิบาลสังคมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งทางด้านจิตวิญญาณ และชีวิตทางสังคม และให้โอกาสแก่ลูกหลานชาติพันธุ์ได้พัฒนาศักยภาพด้านความรู้และทักษะพื้นฐาน เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของความเป็นมนุษย์ได้บ้างไม่มากก็น้อย  

บทบาทในการแบ่งปันความรู้สิทธิมนุษยชนและกฎหมายพื้นฐาน ของ ยส. สิ้นสุดลง เนื่องจากศูนย์คำสอนแม่ริม ปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนในปี ๒๕๖๐

 

สร้างนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มคนชายขอบในพื้นที่

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ จนถึง ๒๕๖๑ โครงการ ๓ ปี ๒ กรอบเวลา ของ ยส. มียุทธศาสตร์การทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตรระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางในพื้นที่ให้เป็นนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชน และขยายองค์กรที่ทำงานส่งเสริมสิทธิในพื้นที่ต่างๆ โดยมีข้อตกลง คือองค์กรในพื้นที่ เช่น ศูนย์สังคมพัฒนาสุราษฎร์ธานี (ภาคใต้), ศูนย์สังคมพัฒนาท่าแร่-หนองแสง (ภาคอีสาน), ศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) และเครือข่ายผู้หญิงและเยาวชนในสามจังหวัดภาคใต้สุด รับผิดชอบเรื่องประสานงานและกลุ่มเป้าหมาย ส่วน ยส.รับผิดชอบเรื่องกระบวนการอบรมและเนื้อหาสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ

ด้วยกิจกรรมพัฒนาศักยภาพด้านสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ แก่ คนชายขอบที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ จ.เชียงราย, กลุ่มแรงงานข้ามชาติ จ.ระนอง พังงา และภูเก็ต, กลุ่มเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล อ.โคกสะอาด และโครงการเหมืองแร่โปแตช อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และกลุ่มสตรีและเยาวชนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงพื้นที่ จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีการอบรม ๓ ขั้น คือ ขั้นแรก อบรมผู้นำชุมชนสิทธิมนุษยชนและสันติภาพระดับพื้นฐาน  ขั้นที่ อบรมผู้นำชุมชนภาคปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลง เน้นฝึกทักษะวิเคราะห์ความเสี่ยงในพื้นที่ และเรียนรู้มาตรการป้องกัน แผนช่วยเหลือ และพิทักษ์สิทธิของตนเอง และชุมชน ซึ่งเป็นความยั่งยืนของงานด้านสังคมของพระศาสนจักร และเครือข่ายในท้องถิ่น และสุดท้าย ทำการสรุปบทเรียนร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตัวแทนชาวบ้านผู้รับการอบรม และเจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนา

ด้วยการประเมินผลการทำงาน แบบ Chain of Causality ในระหว่างกลางของระยะการดำเนินโครงการ ๓ ปี  เราพบว่า มีผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มต่างๆ

กลุ่มแกนนำชาติพันธุ์ พื้นที่ภาคเหนือ เริ่มสร้างเครือข่าย มีกลุ่มไลน์รับ-ส่งข้อมูลข่าวสาร ให้คำปรึกษาและคำแนะนำในเรื่องสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์ และกลุ่มอาสาสมัครที่รับเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนในเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล การขึ้นทะเบียนเรื่องสถานะบุคคล การขึ้นทะเบียนแรงงาน ฯลฯ

กลุ่มผู้นำสตรี พื้นที่ภาคอีสาน ที่ตระหนักถึงผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.สกลนคร ได้สร้างเครือข่ายกับกลุ่มผู้ต่อสู้ในเรื่องสิทธิชุมชนในพื้นที่ จ.ใกล้เคียง และมีเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหา และแสวงหาแนวทางการต่อสู้ร่วมกันโดย ยส. เป็นผู้ประสานงาน และจัดทำข้อมูล

กลุ่มแรงงานพม่า พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีความเข้มแข็ง และรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่าย CBO สามารถเข้าหาหน่วยงานรัฐ สะท้อนปัญหาที่พวกเขาเผชิญจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนี้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ขององค์กรเครือข่ายในพื้นที่ก็ได้รับการยอมรับจากฝ่ายรัฐให้เข้าไปมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ อันเป็นผลพวงจากปัญหาแรงงานข้ามชาติ

กลุ่มผู้นำสตรี จ.ยะลา พื้นที่ภาคใต้สุด กำลังมีบทบาทในฐานะตัวแทนภาคประชาสังคม ในกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมสันติภาพ และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนต่างๆ ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน สำหรับกลุ่มเยาวชนก็เป็นเครือข่ายเยาวชนจิตอาสา ในการทำกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมสันติภาพ ร่วมกับกลุ่มผู้นำสตรี

นี่เป็นผลของความพยายามทำงานขององค์กรขนาดเล็ก เช่น ยส. ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งเรื่องบุคลากรและงบประมาณ งานที่ ยส. สามารถลงมือได้อย่างเต็มที่ คือ งานด้านการอบรมแก่ผู้ที่เป็นเหยื่อ หรือเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อ ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถใช้ศักยภาพของตนเอง ในการดูแลและปกป้องพิทักษ์สิทธิของตน ได้ทั้งระดับส่วนตัวและเป็นกลุ่มในระดับชุมชน

 

สืบทอดพันธกิจด้านสังคมของพระศาสนจักร

(๑)  ถ่ายทอดความรู้ "คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร"

ด้วยบทบาทองค์กรที่ถูกกำหนดให้เป็นตัวแทนของพระศาสนจักร ในการทำหน้าที่ส่งเสริมการปฏิบัติความยุติธรรมและสันติ ยส. จึงทำหน้าที่ในการเผยแพร่คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ตามโอกาสที่เหมาะสม ดังที่ปรากฏในยุคแรกๆ ที่ ยส. ได้แปลเอกสารด้านสังคมของพระศาสนจักรในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมและสันติ และจัดเวทีพูดคุยถึงสาระที่พระศาสนจักรสอนในเรื่องการปฏิบัติต่อกันและกันในสังคม 

ต่อมา ยส.ยังได้รับความไว้วางใจจากวิทยาลัยแสงธรรมให้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ "คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร" ในวิชาศาสนากับงานพัฒนา แก่นักศึกษาสาขาวิชาปรัชญาและศาสนา วิทยาลัยแสงธรรม ชั้นปีที่ ๔ หรือสามเณรใหญ่ชั้นปีที่ ๔ ซึ่งผู้อำนวยการ ยส. ได้ไปสอนวิชาดังกล่าวในทุกๆ ภาคเรียนแรกของปีการศึกษา ๒๕๔๙ จนถึง ๒๕๕๓ พร้อมกับรับผิดชอบกิจกรรมฝึกปฏิบัติด้านสังคม (Practicum) ของนักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ในช่วงปิดเทอมแรกเดือนตุลาคม โดยจัดลงชุมชนเพื่อศึกษาความจริงและร่วมชีวิต (Exposure- Immersion) ในพื้นที่งานพัฒนาของศูนย์สังคมพัฒนาของสังฆมณฑลต่างๆ ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ ยส. ได้เชื่อมให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ได้เข้าใจเชิงวิเคราะห์ต่อประเด็นความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในสนามงานด้านสังคมของพระศาสนจักร ซึ่งประสบการณ์ที่นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ ได้รับ สามารถเป็นพื้นฐานต่องานด้านอภิบาลสังคม เมื่อพวกเขาเป็นพระสงฆ์

การได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ เพื่อเข้าใจต่อคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ถือเป็นความภูมิใจไม่น้อย เพราะ ยส. เป็นองค์กรพระศาสนจักรที่ดำเนินการโดยฆราวาส และมีส่วนในกระบวนการหล่อหลอมบุคคลผู้นำด้านจิตวิญญาณ ให้บูรณาการงานด้านพัฒนาและสิทธิมนุษยชน เข้าสู่งานอภิบาลสังคม

ในช่วงทศวรรษนี้  ยส. ยังมีโอกาสแบ่งปันคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์และพัฒนาการของคำสอนด้านสังคม ไปจนถึงนำเสนอสาระของเอกสารด้านสังคมของพระศาสนจักรเฉพาะเรื่อง แก่กลุ่มเป้าหมายของพระศาสนจักรท้องถิ่น คณะนักบวช และหน่วยงานด้านสังคม ซึ่งเป็นการช่วยให้สมาชิกของพระศาสนจักรในงานด้านต่างๆ มีความเข้าใจคำสอนและจุดยืนของพระศาสนจักร และทำงานส่งเสริมความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และสันติ ตามบทบาทหน้าที่ต่างๆ ช่วยพระศาสนจักรในระดับท้องถิ่น มากขึ้น


(๒) สืบทอดบุคลากรพระสงฆ์ด้านงานพัฒนา และงานยุติธรรมและสันติ

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ในช่วงปี ๒๕๕๐ ที่ให้มีแผนกงานยุติธรรมและสันติ (ยส.) ในระดับสังฆมณฑล เมื่อเป็นเช่นนี้ ยส. ในฐานะองค์กรของพระศาสนจักรระดับชาติ ได้จัดประชุม "พันธกิจด้านพัฒนาและส่งเสริมความยุติธรรมและสันติของพระศาสนจักรไทย" ในปลายเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๕๓ เพื่อช่วยให้พระสงฆ์ผู้รับผิดชอบงานของแผนกยุติธรรมและสันติ ระดับสังฆมณฑล เข้าใจบทบาทของงานด้านยุติธรรมและสันติ และมีแนวทางในการบูรณาการงานยุติธรรมและสันติเข้าสู่งานด้านสังคมระดับสังฆมณฑล

ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ขณะที่แผนกพัฒนาสังคม (ชื่อเดิม คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนา) อยู่ในสภาพหยุดนิ่ง ไม่มีผู้ปฏิบัติงาน แต่ยังมีโครงการ "สืบทอดพระสงฆ์และนักบวชในงานด้านสังคมของพระศาสนจักร" (Priest and Religious in Social Action / PRISA) ยส. และ DISAC สุราษฎร์ธานี ได้ช่วยแผนกพัฒนาสังคม ในการจัดกระบวนการศึกษาความจริงและร่วมชีวิตของพระสงฆ์ นักบวช ครั้งที่ ๘ มีพระสงฆ์และนักบวชที่ทำงานด้านอภิบาลและด้านการศึกษาอบรม เข้าร่วม ๑๔ คน พวกเขาได้ลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตชาติพันธุ์มอแกน แลกเปลี่ยนศาสนาและวัฒนธรรมกับชุมชนมุสลิม และร่วมปฏิบัติถือศีลบวชช่วงเวลารอมฎอน เรียนรู้การจัดการสิ่งแวดล้อมและประมงชายฝั่ง และการดิ้นรนเพื่อดำรงอยู่ของแรงงานพม่า ในพื้นที่จังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต 

ต่อมาในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ ยส. และคาริตัส ไทยแลนด์ จัดสัมมนา "พัฒนาการของศาสนจักรต่อการทำงานพัฒนาสังคม และพระศาสนจักรของผู้อยู่ชายขอบ จากมุมมองพระสันตะปาปาฟรังซิส"  อีกครั้ง เพื่อพระสังฆราชผู้รับผิดชอบคาริตัส ไทยแลนด์ พระสงฆ์รุ่นใหม่ และฆราวาสที่รับผิดชอบงานด้านอภิบาลและพัฒนาของพระศาสนจักร ได้ทำความเข้าใจ มีทักษะ และเป็นเครือข่ายในการสืบทอดพันธกิจแห่งงานพัฒนามนุษย์ของพระศาสนจักรตามเจตนารมณ์ของพระสันตะปาปาฟรังซิส 

 

สื่อสิ่งพิมพ์ของ ยส.

: เครื่องมือให้การศึกษาความยุติธรรม สันติ และสิทธิมนุษยชน

(๑) วารสาร "ผู้ไถ่"

สื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นจุดก่อกำเนิดและอยู่คู่องค์กร ยส.มาจวบจนปัจจุบัน คือ วารสาร "ผู้ไถ่" จากกระดาษ โรเนียว [๕] ๒ คู่ ๘ หน้า ที่อัดแน่นด้วยตัวหนังสือ แทรกด้วยภาพการ์ตูนสะท้อนความจริงของสังคม และยืนยันถึงความถูกต้อง ความยุติธรรม ในช่วงวิกฤตทางการเมือง ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ มีการปรึกษาหารือกันระหว่างพระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ คุณประนอม ศรีอ่อน และคุณจำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ถึงชื่อของเอกสารโรเนียวนี้ ซึ่งคุณจำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ได้เสนอใช้คำว่า "ผู้ไถ่" เพื่อสะท้อนถึงสังคมที่ถูกเบียดเบียนด้วย   ความอยุติธรรม มีความพยายามเป็นกระบอกเสียงของผู้ที่ถูกกดขี่ เรียกร้องความถูกต้อง และร่วมมือกันกอบกู้สถานการณ์ เช่นเดียวกับที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำบทบาทของผู้ไถ่กู้ 

อย่างไรก็ดี ต้นฉบับ "ผู้ไถ่" ที่เป็นงานโรเนียวเอกสาร รายสะดวก ถูกเปลี่ยนเป็นฉบับพิมพ์ในปี ๒๕๒๑ ภายใต้ชื่อ วารสาร สังคมพัฒนา ฉบับ ผู้ไถ่  อันเป็นหลักฐานยืนยันสถานะความเป็นองค์กร ยส. แม้ยังไม่มีสำนักงานเป็นของตนเอง โดยมีคุณรุ่งโรจน์ ตั้งสุรกิจ เจ้าหน้าที่ของสภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยในขณะนั้น  เป็นผู้รับผิดชอบจัดทำขึ้น นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นความอยุติธรรม / สิทธิมนุษยชน ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น ขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชน เดือนตุลาคม ๒๕๑๖, รอยเลือดในกวางจู ซึ่งเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยในเกาหลีใต้

ต่อมาเมื่อมีสำนักงานปฏิบัติงาน ยส. อย่างเป็นทางการ มีการดำเนินโครงการ และกิจกรรมต่างๆ  วารสารสังคมพัฒนา ฉบับ ผู้ไถ่ ก็ทำหน้าที่นำเสนอผลการศึกษา และข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานที่ ยส. ได้ทำ หรือเป็นบทบาทที่ ยส. รับผิดชอบ รวมทั้งนำเสนอสารวันสันติสากล และประเด็นทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ที่ท้าทายต่อเรื่องความยุติธรรมและสันติ และสิทธิมนุษยชน และไตร่ตรองด้วยมุมมองทางศาสนา เพื่อกระตุ้นผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น

กลางปี ๒๕๕๖ แผนกชาติพันธุ์ ยุติงานผลิตจุลสารชนเผ่าพื้นเมือง และขอให้วารสาร "ผู้ไถ่" ช่วยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งทาง ยส. ได้ตอบรับ ขยายหน้ากระดาษเพื่อรองรับคอลัมน์สิทธิของพี่น้องชาติพันธุ์ ทั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งต่อกลุ่มสมาชิกวารสาร "ผู้ไถ่" ที่จะรับทราบและเข้าใจถึงเรื่องราวต่างๆ ของพี่น้องชาติพันธุ์ ขณะเดียวกัน พี่น้องชาติพันธุ์ที่เคยรับจุลสารชนเผ่าพื้นเมือง และกลายมาเป็นสมาชิกวารสาร "ผู้ไถ่" ก็ได้เข้าถึงประเด็นต่างๆ ทางสังคม การเมือง และสิทธิมนุษยชน มากขึ้น

แม้ว่าจุดมุ่งหมายการเป็นสื่อของวารสาร "ผู้ไถ่" ที่อ่านสัญญาณแห่งกาลเวลา นำเสนอข้อเท็จจริง และไตร่ตรองด้วยมุมมองและคุณค่าทางศาสนา เพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่ ยส. ก็ตระหนักว่า หลายๆ ครั้งที่วารสาร "ผู้ไถ่" ไม่สามารถทำบทบาทของการท้าทายหรือยืนยันด้วยหลักการคำสอน หรือคุณค่าทางศาสนาได้อย่างเข้มแข็ง เนื่องจากข้อจำกัดของผู้เขียน หรือไม่มีผู้เขียนในเรื่องนั้นๆ ซึ่งนี่เป็นความจริงที่งานผลิตสื่อเผชิญอยู่เสมอๆ 

นับตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน วารสาร "ผู้ไถ่" เดินทางมาถึงฉบับที่ ๑๐๕  ยังเป็นเครื่องมือที่ทำหน้าที่แทน ยส.ในการให้การศึกษาต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังยืนหยัดอยู่ต่อหน้าสังคมดิจิตัล  เรื่องราวต่างๆ ที่ถูกบันทึกลงบนแผ่นกระดาษ ยังสามารถทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ทุกๆ คนที่หยิบขึ้นมาอ่าน ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด สิ่งที่เป็นกำลังใจต่อทีมผลิตวารสาร "ผู้ไถ่" ในปัจจุบัน คือการได้รับความสนใจ การตอบรับจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายองค์กรเอกชน ที่ใช้ประโยชน์จากเนื้อหา และนำเนื้อหาไปเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และเผยแพร่ยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ 

 

(๒) สารวันสันติสากล

เมื่อสันตะสำนักประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำงานส่งเสริมความยุติธรรมและสันติ สนับสนุนการเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชน และก่อตั้งคณะกรรมการยุติธรรมและสันติขึ้นในสันตะสำนักเมื่อปี ๒๕๑๐ (ค.ศ.๑๙๖๗)  และในปี ๒๕๑๑ (ค.ศ.๑๙๖๘) พระสันตะปาปาปอล ที่ ๖ ทรงกำหนดให้วันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี เป็นวันสันติสากล พร้อมกับออกสารวันสันติสากล เพื่อเชื้อเชิญผู้นำประเทศต่างๆ บรรดาคริสตชนและผู้มีน้ำใจดีในสังคม ได้ไตร่ตรองถึงปัญหาความอยุติธรรมในสังคมโลก และเรียกร้องถึงการปฏิบัติความยุติธรรม เคารพสิทธิ เพื่อร่วมกันสร้างสันติ

สารวันสันติสากล เป็นเครื่องมือที่พระศาสนจักรสากลได้สะท้อนถึงปัญหาสำคัญๆ ของสังคมโลก ที่กำลังคุกคามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันก็วิเคราะห์ถึงโครงสร้างและลัทธิอุดมการณ์ที่เป็นต้นเหตุของปัญหานั้นๆ พร้อมๆ กับไตร่ตรองด้วยความเชื่อและคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร และท้ายสุดก็เชิญชวนทุกผู้คนในสังคมได้ร่วมกันปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องตามความสามารถของแต่ละคน และในบริบทต่างๆ เพื่อประโยชน์ผาสุกของส่วนรวม

ยส.ได้แปลสารวันสันติสากล ตั้งแต่ฉบับแรกของปี ๒๕๑๑ (ค.ศ.๑๙๖๘) จนถึงปัจจุบันนี้ ปี ๒๕๖๐ (ค.ศ.๒๐๑๗) และเผยแพร่ไปยังพระสงฆ์ตามโบสถ์คาทอลิกต่างๆ คณะนักบวชทุกแห่ง รวมทั้งสถาบันและองค์กรคาทอลิก สมาชิกวารสาร "ผู้ไถ่" และหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องจัดสัมมนาทุกปี เพื่อศึกษาสาระสำคัญของสารวันสันติสากล และไตร่ตรองประเด็นต่างๆ จากบริบทสังคมไทย และสังคมโลก

ตลอดเวลา ๕๐ ปี ของสารวันสันติสากล สรุปได้ว่า โลกเผชิญปัญหาที่ซ้ำซ้อน เวียนวกกลับมา หรือกล่าวได้ว่าปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกไม่เคยที่หมดสิ้นเด็ดขาดเลย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงาน ปัญหาสภาพแวดล้อม ความขัดแย้งลัทธิอุดมการณ์ ปัญหาเศรษฐกิจที่ควบคุมการเมือง ผลกระทบของสงครามต่อผู้หญิงเด็กและผู้อพยพ โลกาภิวัตน์และวัฒนธรรมสมัยใหม่ การศึกษา และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ครอบครัว  ศาสนสัมพันธ์ และสันติวิธี ซึ่งสาเหตุของปัญหาทั้งหมดมาจากความเห็นแก่ตัว หรือความเพิกเฉยของมนุษย์ ไม่เห็นมนุษย์อีกคนเป็นพี่น้องของตน ไม่รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง

 

(๓) สารรำลึกวันสิทธิมนุษยชนของพระศาสนจักรในประเทศไทย

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๓๔ โอกาสระลึกถึงพระนางมารีย์ราชินีแห่งสากลโลก สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ออกสารของสภาพระสังฆราชคาทอลิกฯ สนับสนุนเจตนารมณ์ขององค์การสหประชาชาติ และมีมติของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชียในการทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และได้ประกาศให้วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ ๓ ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันสิทธิมนุษยชน ถือเป็นการสนับสนุนทั้งการทำงานส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของ ยส. และเป็นการประกาศจุดยืนของพระศาสนจักรต่อหน้าในสังคมอีกบทบาทหนึ่ง

ตลอดเวลา ๒๖ ปี ยส. ได้รับผิดชอบการจัดทำสารรณรงค์วันสิทธิมนุษยชนในนามพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย โดยใช้สถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในแต่ละปี อาทิ ความขัดแย้งทางการเมือง การเลือกตั้ง กรณีฆ่าตัดตอนจากยาเสพติด ความเหลื่อมล้ำในสังคม ปัญหาหนี้สิน การค้ามนุษย์ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น มาเป็นพื้นฐานในการเขียนสารเพื่อเชิญชวนคริสตชนให้ร่วมไตร่ตรอง และเชิญชวนให้ทุกคนแสดงจุดยืนด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระคริสต์ และคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร

 

(๓) เอกสารคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร

ตลอดเวลา ๔๐ ปี ยส. ได้ผลิตเอกสารสำคัญๆ ด้านสังคมของพระศาสนจักรที่เกี่ยวกับเรื่องความยุติธรรมและสันติ และสิทธิมนุษยชนมาเป็นระยะๆ อาทิ พระศาสนจักรกับสิทธิมนุษยชน (The Church and Human Rights) พระศาสนจักรกับความยุติธรรม, ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน, สมณสาสน์ว่าด้วยการทำงาน (Laborem Exercens) สมณสาสน์ความรักในความจริง (Caritas in Veritate) และหนังสือประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร (Compendium of the Social Teachings of the Church) ซึ่งเป็นหนังสือที่ผลิตโดย สมณสภาว่าด้วยความยุติธรรมและสันติ (Pontifical Council for Justice and Peace) รวมทั้งเอกสารอื่นๆ อีกที่มิได้กล่าวในที่นี้

 

กรณีศึกษา การศึกษาของลูกแรงงานข้ามชาติ 

ในรอบ ๑๐ ปีหลังนี้ ยส. ได้ทำกรณีศึกษาเรื่องการศึกษาของลูกแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้น จากการที่ ยส.ทำงานร่วมกับศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี และลงพื้นที่เก็บข้อมูลในประเด็นสิทธิของแรงงานพม่าที่ จ.ระนอง แต่กลับพบปัญหาที่ซ่อนอยู่ คือการขาดโอกาสทางการศึกษาของเด็กลูกแรงงานพม่า ซึ่งโรงเรียนของรัฐไทยหลายแห่งไม่รับเด็กพม่าเข้าเรียน เนื่องจากอคติของผู้ปกครองเด็กไทย และแนวคิดเรื่องความมั่นคงของรัฐ ซึ่งขัดต่อสิทธิของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและกฎหมายภายในของไทยอีกหลายฉบับที่กำหนดให้เด็กทุกคนในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่มีสัญชาติ ต้องได้รับการศึกษา ยส.จึงคิดว่าโรงเรียนคาทอลิกซึ่งเป็นผู้นำเรื่องการจัดการศึกษาควรเป็นผู้นำในการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กๆ ลูกแรงงานข้ามชาติ หรือมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหานี้

ปี ๒๕๕๓ ยส. ได้จัดทำกรณีศึกษาเรื่องการศึกษาของลูกแรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร, อำเภอเมือง จังหวัดระนอง และอำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต    และได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่, รูปแบบต่างๆ ในการจัดการศึกษาให้แก่ลูกแรงงานข้ามชาติพม่าที่ดำเนินการโดยหน่วยงานเอกชน องค์กรศาสนา และโรงเรียนของรัฐ, ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน, ทัศนคติของผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งความช่วยเหลือที่ต้องการ และข้อเสนอที่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาในระยะยาว 

เดือนมีนาคม ๒๕๕๔  ยส. ได้จัดสัมมนาเผยแพร่ข้อมูลกรณีศึกษา การศึกษาของลูกแรงงานข้ามชาติ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่ทำงานด้านแรงงานของพระศาสนจักร ในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่ลูกแรงงานข้ามชาติ  ที่สุด ยส. ได้นำเสนอผลสรุปของกรณีศึกษาดังกล่าว ต่อที่ประชุม Caritas Thailand ปลายเดือนมิถุนายน ๒๕๕๔ และมีข้อเสนอจากที่ประชุม Caritas Thailand ให้แผนกผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน (NCCM) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานเครือข่ายที่ทำงานด้านการศึกษาของลูกแรงงานข้ามชาติต่อไป

 

ยุทธศาสตร์ขยายงานสิทธิมนุษยชน สู่ศูนย์สังคมพัฒนา ด้วยโครงสร้างกรรมการ ยส.

เมื่อแรกก่อตั้งองค์กร ยส. อย่างเป็นทางการ มีกลุ่มบุคคลที่เป็นพระสงฆ์ และฆราวาสผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการศึกษา ด้านแรงงาน และกฎหมาย ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการ และมีพระสังฆราชมีคาแอล บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นมุขนายก และนับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน มีบุคคลที่ได้รับการสรรหาและหมุนเวียนเข้ามาเป็นคณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วย นักวิชาการด้านการศึกษา กฎหมาย สิทธิมนุษยชน และเศรษฐศาสตร์ ตัวแทนจากคณะนักบวชหญิง ตัวแทนพระสงฆ์ และตัวแทนจากศูนย์สังคมพัฒนา ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการอำนวยการที่มาจากสาขาต่างๆ เป็นคุณูปการต่อการทำงานของ ยส. เพราะกรรมการมิได้มีบทบาทเฉพาะเสนอความคิดเห็น ข้อแนะนำ แต่ยังเป็นตัวกลางประสานงานหรือเป็นช่องทางช่วยให้การดำเนินกิจกรรมของสำนักปฏิบัติงานบรรลุผล

โดยเฉพาะเมื่อช่วงต้นของทศวรรษที่ ๔ แห่งการทำงานนี้ ยส. มีความตั้งใจในการผลักดันให้มีการบูรณาการแนวคิดด้านยุติธรรมและสันติ เข้าไปในงานด้านสังคมของศูนย์สังคมพัฒนาในพื้นที่ ด้วยเหตุนั้น มติที่ประชุมกรรมการอำนวยการ ยส. จึงได้เชิญตัวแทนจากศูนย์สังคมพัฒนาในพื้นที่เข้าร่วมเป็นกรรมการของ ยส. ทั้งผู้ที่เป็นพระสงฆ์ และฆราวาส ผลตามมาที่ปรากฏในปัจจุบันคือ งานพัฒนาของศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี, ราชบุรี, ท่าแร่-หนองแสง และเชียงใหม่ มีความชัดเจนในประเด็นสิทธิมนุษยชน และหันมาทำงานในแนวทางสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในทางสังคม สิทธิของชาติพันธุ์ สิทธิแรงงานข้ามชาติ และสิทธิของเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานพัฒนามนุษย์แบบบูรณาการที่ครบครันและยั่งยืน

 

ความสัมพันธ์กับองค์กรทุน ถูกประเมินภายนอก ยืนยันการทำงานพิทักษ์สิทธิต่อไป

นับตั้งแต่เริ่มการทำกิจกรรมเล็กๆ เป็นมโนธรรมต่อหน้าสังคม และได้รับการก่อตั้งอย่างเป็นทางการ มีโครงการและแผนกิจกรรมรองรับ องค์กร ยส. ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรทุน MISEREOR / KZE ประเทศเยอรมัน มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่ง ยส. ตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงน้ำใจไมตรีของพันธมิตรต่างประเทศองค์กรนี้  ที่สนับสนุน ‘เครื่องมือ' สำคัญ เพื่อเอื้อให้ ยส. สามารถทำงานไปตามเป้าหมายให้สำเร็จ และแม้บางครั้งอาจจะไม่ประสบความสำเร็จ ก็ตาม 

สี่ทศวรรษของความสัมพันธ์ ทั้ง MISEREOR / KZE และ ยส. ต่างต้องเรียนรู้ ปรับทัศนคติ และทำความเข้าใจระหว่างกันและกันเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในเรื่องทัศนคติ จากอดีตที่เคยเป็นไปในฐานะผู้ให้การสนับสนุนและผู้รับการสนับสนุน ปรับเปลี่ยนไปสู่ฐานะพันธมิตรที่พัฒนาไปด้วยกัน และยังคงเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่น เห็นได้จากเมื่อ MISEREOR / KZE ยุติการสนับสนุนองค์กรเอกชนอื่นๆ แต่ยังคงช่วยเหลือ ยส. ต่อไป แม้ต้องลดสัดส่วนงบประมาณสนับสนุนก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อเอื้อโอกาสให้ ยส. สามารถดำเนินพันธกิจต่อไปได้ ในขณะที่ ยส. ก็พยายามสรรหางบประมาณจากแหล่งทุนอื่นๆ หรือจากหน่วยงานหลักภายใน คือ พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย มาสมทบ

ตลอดเวลาที่ ยส. ได้รับทุนสนับสนุน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะการเขียนโครงการ ปรับปรุงการจัดทำบัญชีและรายงานการเงินอยู่ตลอดเวลา เพราะ MISEREOR / KZE  เป็นองค์กรทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมัน ต้องรายงานการปฏิบัติงานและรายงานการเงินต่อรัฐบาลด้วย สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อ ยส. โดยตรง แต่ ยส. เห็นว่าเป็นคุณูปการที่สำคัญต่อผู้ปฏิบัติงาน ยส. การเขียนโครงการให้ชัดเจน มีตัวชี้วัดได้ ทำรายงานการเงินที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งรายงานกิจกรรมตรงเวลา กลายเป็นสิ่งชี้วัดเรื่องความน่าเชื่อถือและความยั่งยืนขององค์กร ยส. อีกด้วย

ในปี ๒๕๕๗ ยส. ได้รับการประเมินภายนอกจาก MISEREOR / KZE เป็นครั้งแรก ผลจากการประเมินภายนอก ผู้ประเมินชาวเยอรมันซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนได้บันทึกข้อคิดเห็นส่วนตัวที่สนับสนุนงานของ ยส. ไว้ว่า (๑) ‘ต้องยอมประนีประนอมต่อการทำงานของ ยส. ที่เน้นงานอบรมด้านจริยธรรมและศีลธรรม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทักษะสันติวิธี เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติและสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน' (เพราะตามความคิดของผู้ประเมินคนดังกล่าวถือว่า สิทธิมนุษยชนตามแนวคิดของตะวันตก หมายถึง ธรรมาภิบาล ไม่สามารถเทียบเคียงกับการศึกษาด้านจริยธรรมและศีลธรรม) และ (๒) ยส. เป็นตัวแทนขยายแนวคิดสิทธิมนุษยชน และช่วยให้ศูนย์สังคมพัฒนาในพื้นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากงานสงเคราะห์มาเป็นงานสร้างจิตสำนึกเรื่องสิทธิฯ ขณะเดียวกัน (๓) ก็มีข้อเสนอว่างานของ ยส. ต้องช่วยให้งานของศูนย์สังคมพัฒนา  สร้างแกนนำผู้พิทักษ์สิทธิฯ ในชุมชน และ (๔) ขอให้ MISEREOR KZE ยังคงสนับสนุนการทำงานของ ยส.  ต่อไป ซึ่ง ยส. ก็ได้นำผลของการประเมินภายนอก มาพัฒนาเป็นโครงการในกรอบเวลาปัจจุบัน (๒๕๕๘ - ๒๕๖๑) ที่มุ่งสร้างนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยการทำงานร่วมกับศูนย์สังคมพัฒนา และเครือข่ายในพื้นที่

 

ความยั่งยืนจากผลของการทำงาน

ที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ ยส. ประเมินค่าความยั่งยืนจากผลของการทำงานตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมาว่า

(๑) เรายึดมั่นในวิสัยทัศน์ขององค์กรมาโดยตลอด

(๒) เราทำงานตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แม้ว่าประสบอุปสรรคในบางครั้ง แต่นั่นได้ท้าทายให้ ผู้ปฏิบัติงานต้องแสวงหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อวัตถุประสงค์ 

(๓) ความรับผิดชอบและความโปร่งใส เป็นเงื่อนไขสำคัญของการทำงาน ยส. ที่มีต่อหน้าพระศาสนจักร ต่อหน้ากลุ่มเป้าหมาย และต่อหน้าผู้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือด้านงบประมาณ

(๔) เรามีศักยภาพที่เหมาะสมในการบูรณาการแนวคิดด้านสิทธิและสันติภาพเข้าด้วยกัน และสามารถเปลี่ยนทัศนคติของผู้ร่วมมีส่วนได้ส่วนเสีย และกลุ่มเป้าหมายปลายทาง ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ และปรับรื้อฟื้นการปฏิบัติให้เป็นวิถีการดำเนินชีวิต 

(๕) ยส. ยังเป็นที่ยอมรับในฐานะเป็นองค์กรฆราวาสด้านสิทธิฯ ของพระศาสนจักร ที่มีความรู้และสามารถถ่ายทอดคำสอนด้านสังคมให้แก่ผู้สนใจต่างๆ

(๖) การทำงานแบบมีส่วนร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่ ส่งผลต่อการเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง ยส. และองค์กรในพื้นที่ แต่ที่สำคัญกว่าคือกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลกระทบได้ร่วมคิด วางแผน เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา และเป็นผู้ที่ออกมาปกป้องสิทธิฯ ของตนเองและชุมชน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การทำงานแบบห่วงสัมพันธ์แบบเหตุและผลที่ยั่งยืน

 

ระลึกถึงหน่วยงาน ที่ร่วมเดินทางในบ้าน ยส.

โอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ยส. นี้ ขอนำเสนองานที่เคยปรากฏตัวอยู่ในสำนักปฏิบัติงาน ยส. ใน ๒ ช่วงทศวรรษแรก ซึ่งสำหรับ ยส.แล้ว เราตระหนักในคุณูปการของงานเล็กๆ ที่ทรงพลังนี้ แม้ช่วงเวลาปัจจุบัน สังคมไม่มีข้อมูลเรื่องราวของหน่วยงานเล็กๆ ที่วางรากฐานต่องานขับเคลื่อนงานรณรงค์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อีกแล้ว นั่นคือ โครงการฮอทไลน์ ประเทศไทย (Hotline Thailand)

ปี ๒๕๒๒ สำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ (Office for Human Development / OHD) ของสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (Federation of Asian Bishops' Conference / FABC) ได้จัดประชุมคณะกรรมการยุติธรรมและสันติแห่งเอเชียขึ้นเป็นครั้งแรก ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และเห็นชอบให้มีหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อร่วมมือกันทำงานรณรงค์ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในเอเชีย โดยก่อตั้งโครงการฮอทไลน์ เอเชียแปซิฟิกขึ้นมา และอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ (OHD) และ Center for the Progress of People (CPP) ที่ฮ่องกง โดย CCP เป็นผู้บริหารโครงการ 

สำหรับประเทศไทย เริ่มมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการฮอทไลน์ ประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ โดยที่สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยในขณะนั้น เห็นว่างานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นงานที่อ่อนไหวและสัมพันธ์กับประเด็นการเมือง จึงขอให้โครงการฮอทไลน์ ประเทศไทย มีสถานะเป็นอิสระ มีการดำเนินงาน และรับงบประมาณสนับสนุนโดยตรงจากโครงการฮอทไลน์ เอเชียแปซิฟิก แต่ ยส. เอื้ออำนวยความสะดวก คือให้สถานที่ทำงาน และผู้บริหาร ยส. เป็นที่ปรึกษา ส่วนการทำงานรณรงค์กรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่โครงการฮอทไลน์ ประเทศไทย ส่งข้อมูลไปยังสำนักงานประสานงานที่ฮ่องกง เพื่อสำนักงานประสานงานที่ฮ่องกง จัดทำเป็นจดหมายเรียกร้อง และทำการรณรงค์ ส่งไปยังเครือข่ายในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศที่เป็นต้นเรื่องการละเมิดสิทธิฯ ด้วย

งานโครงการฮอทไลน์ ไทยแลนด์ ดำเนินงานมาจนถึงปี ๒๕๓๕ มีผู้ประสานงาน ๔ คน คือ คุณสมพจน์ สมบูรณ์ (กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ - มิถุนายน ๒๕๒๕) คุณมณีมัย ทองเศวต (สิงหาคม ๒๕๒๕ - เมษายน ๒๕๒๖) คุณวิภาดา กิตติโกวิท (มิถุนายน ๒๕๒๖-มกราคม ๒๕๒๙) และคุณสมศรี หาญอนันทสุข (มิถุนายน ๒๕๓๐ - ตุลาคม ๒๕๓๔) งานที่ได้ดำเนินการในช่วงเวลานั้น เป็นการช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิ หรือการเรียกร้องเพื่อช่วยให้นักกิจกรรม หรือผู้ถูกกล่าวหา พ้นจากการถูกจับกุมตัว ได้รับการลดโทษ ไม่ถูกตัดสินประหาร ทั้งในประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ รณรงค์เชิงนโยบาย แม้จะไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขทางกฎหมายได้มากนั้น ด้วยเงื่อนไขของระบบการปกครอง แต่ก็ถือว่า ทำให้สาธารณชนได้รับรู้ความไม่เป็นธรรมในสังคม และเป็นการกีดกันมิให้ผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง

เดือนมกราคม ๒๕๓๕ ที่ประชุมสมัชชายุติธรรมและสันติแห่งเอเชีย (Justice and Peace Coordinating Committee for Asia / JPCCA) ครั้งที่ ๔ ที่พัทยา ได้ทบทวนบทบาทของสำนักงานเพื่อการพัฒนามนุษย์ (OHD) ในงานอภิบาลด้านยุติธรรมและสันติ และเห็นว่าควรให้งานโครงการฮอทไลน์ เอเชียแปซิฟิก เป็นอิสระจาก OHD และอยู่ภายใต้การบริหารของ Asian Center for the Progress of Peoples /ACPP ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อโครงการฮอทไลน์ ไทยแลนด์ ด้วย ทั้งนี้ ACPP ไม่สามารถสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงานอีกต่อไป 

เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ การประชุมระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และที่ปรึกษา ยส. ถึงโครงสร้าง บทบาท และหน้าที่ของงานฮอทไลน์ ไทยแลนด์ ได้ข้อสรุปว่า ควรผนวกงานฮอทไลน์ ไทยแลนด์ เข้าเป็นงานสิทธิมนุษยชน และปรับรูปแบบการทำงาน เป็นการให้การศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันยังคงร่วมมือกับโครงการ ฮอทไลน์ เอเชียแปซิฟิก ด้วยการเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา และเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจของโครงการฮอทไลน์ เอเชียแปซิฟิก [๖]

ปลายปี ๒๕๓๖ ยส. ทบทวนกิจกรรมของตนเอง ที่สุด ได้นำไปสู่การพัฒนาแผนงานสิทธิมนุษยชนใหม่ขึ้นมา ด้วยเหตุผลว่า การที่สังคมมีความเจริญก้าวหน้ามาก แต่นั่นมิได้หมายความว่าปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะหมดไป หรือลดลง ในทางกลับกัน การละเมิดสิทธิกลับมีความซับซ้อนมากขึ้น และความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็มิใช่ความรุนแรงทางกายภาพ แต่เป็นความรุนแรงทางจิตใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำงานสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการปลูกฝังคุณธรรมสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมการปฏิบัติสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษาคาทอลิก ด้วยเหตุนี้ ความพยายามในการก่อรูปคณะทำงานเพื่อเตรียมโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา จึงเกิดขึ้นในปี ๒๕๓๘ สำนักปฏิบัติงาน ยส. ได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องในวงการศึกษา นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นคณะทำงาน เพื่อร่วมกันวางแผนริเริ่มโครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา จนกลายเป็นงานอบรมเชิงปฏิบัติสิทธิมนุษยชนศึกษาและสันติภาพ แก่ครูและเยาวชน จนถึงปัจจุบัน

 

ร่วมสร้างกลุ่มประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

จากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ - ๒๕๑๙ และนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงการใช้อำนาจโดยพลการและไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ นำไปสู่การละเมิดสิทธินักศึกษา ผู้นำแรงงาน และผู้นำเกษตรกร เป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดหน่วยงานเอกชนอื่นๆ เช่นเดียวกับ ยส. คือ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) และแต่ละหน่วยงานก็ทำงานช่วยเหลือและเรียกร้องกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ความรู้ทางกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน และประสานงานกับ ยส. รวมทั้งมีการประชุมเพื่อหนุนเสริมการทำงานระหว่างกันเรื่อยมาจนถึงปี ๒๕๒๕

วันที่ ๓ - ๕ มิถุนายน ๒๕๒๖ องค์กร ยส., สสส., กศส. และโครงการฮอทไลน์ ไทยแลนด์ ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่องปัญหาและทิศทางการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ที่หัวหิน และที่สุด ได้ก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย (กปส.) หรือ Coordinating Committee of Human Rights Organizations in Thailand / CCHROT หลังจากนั้น ชื่อของ กปส.ก็ปรากฏในนามองค์กรสิทธิมนุษยชน ทำกิจกรรมรณรงค์ปัญหาสิทธิมนุษยชนทั้งภายในและภายนอกประเทศ และในภายหลังมีอีกองค์กรสมาชิกเพิ่มขึ้น คือ ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กลุ่มเพื่อนหญิง และสภาพัฒนาวัฒนธรรมแห่งเอเชีย

กปส. ได้ร่วมกันทำงานรณรงค์เร่งด่วนในประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นสิทธิทางการเมืองและพลเรือน ทั้งในประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ฯลฯ งานฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ทำงานด้านสิทธิฯ งานเผยแพร่ปัญหาสิทธิมนุษยชนผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนขึ้นในสภาผู้แทนราษฎร และเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หนึ่งในองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๔๐ 

ต่อมา กปส. ได้ยุติบทบาทและความร่วมมือระหว่างกัน ด้วยปัญหาไม่มีทุนสนับสนุน ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ระดับสูง และผู้ปฏิบัติงานในองค์กรสิทธิฯ ถูกเชิญเข้าไปเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ อาทิ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และหน่วยงานอิสระอื่นๆ ที่ได้รับการก่อตั้งภายหลังรัฐธรรมนูญฉบับ ปี ๒๕๔๐ 



[๑] คุณพ่อบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ในขณะนั้น

[๒] คุณสมชาย ทองประดิษฐ์ (ผู้วาดภาพ), คุณรุ่งโรจน์ ตั้งสุรกิจ (ผู้จัดทำข้อมูลและผลิตแผ่นปลิว)

[๓] คณะกรรมการอำนวยการ ประกอบด้วย พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ เป็นประธาน บาทหลวงประสิทธิ์ สมานจิต เป็นรองประธาน และกรรมการ คือ บาทหลวงโมลิ่ง เอส.เจ, นายทิวา บุญยวนิช, นางวไล ณ ป้อมเพชร, นายสนั่น วงศ์สุธี, นายพีรพันธ์ พาลุสุข, นายจำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ และนายประนอม ศรีอ่อน เป็นเลขานุการ

[๔] ในอดีต คือ สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ปัจจุบัน คือ แผนกพัฒนา ในกรรมาธิการฝ่ายสังคม 

[๕] โรเนียว มีชื่อตามภาษาราชการว่า เครื่องอัดสำเนา  มาจากยี่ห้อ Roneo ของประเทศอังกฤษที่ผลิตออกจำหน่ายและแพร่หลาย คนไทยจึงเรียก โรเนียว

[๖] จัดกิจกรรมอบรม Justice and Peace workers แก่ผู้ทำงานสิทธิมนุษยชนในองค์กรพระศาสนจักรเอเชีย ทุกระยะ ๒ ปี (จนถึงปัจจุบัน ปี ๒๕๖๐)  เป็นการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานของพระศาสนจักรเอเชีย ให้มีทักษะในการทำงานด้านยุติธรรม สันติ และสิทธิมนุษยชน

 

...........................................................................

หมายเหตุ : สังเขปพัฒนาการ ๔๐ ปี ยส. ค่อนข้างยาว แต่ชาว ยส. เห็นว่า การบันทึกรายละเอียดที่เห็นว่าสำคัญลงในงานเขียนรวบรวม และบรรจุลงในวารสาร "ผู้ไถ่" ฉบับที่ ๑๐๕ ฉบับพิเศษนี้ เป็นการฝากฝังประวัติศาสตร์ที่สามารถดำรงอยู่บนหน้ากระดาษไปได้อีกนาน ตราบเท่าที่ผู้ได้รับวารสาร "ผู้ไถ่" ยังเก็บรักษาไว้ และจะสะท้อนเรื่องราวออกมาได้อีก เมื่อมีการมองย้อนกลับมาในอนาคต ถึงงานเล็กๆ งานหนึ่งของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย ที่เคยเป็นเวทีในการหล่อหลอมผู้คน ในงานส่งเสริมความยุติธรรมและสันติ

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >