หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 30 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เหลียวหลัง แลหน้า งานด้านสังคมของพระศาสนจักรไทย ในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ยส. พิมพ์
Wednesday, 03 January 2018


เหลียวหลัง แลหน้า
งานด้านสังคมของพระศาสนจักรไทย
ในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ยส.

วงเสวนาจากคนคุ้นเคย

เรียบเรียงโดย ชื่นสุข  อาศัยธรรมกุล

และธัญลักษณ์  นวลักษณกวี


เนื่องในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี แห่งการก่อตั้งองค์กร ยส. คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกยุติธรรมและสันติ (ยส.) ได้จัดเสวนา "งานด้านสังคมของพระศาสนจักรไทยในโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี ยส." ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ อมรพันธ์วิลล่ารีสอร์ท จ.ระยอง เพื่อระดมความคิดเห็นจากกรรมการ ยส. ตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้ง และกรรมการ ยส. ชุดปัจจุบัน ได้ช่วยกันรวบรวมประวัติศาสตร์ของ ยส. และมองภาพอนาคตของพระศาสนจักรไทย โดย ยส. จะบันทึกและรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากการเสวนาครั้งนี้เพื่อจัดทำเป็นเอกสาร และนำไปมอบให้กับ Caritas Thailand และสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ กรรมการที่มาร่วมระดมความคิดเห็น ประกอบด้วย พระสังฆราชบรรจง ไชยรา มุขนายก ยส.และประธานกรรมการอำนวยการ ยส., รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร ประธานโครงการสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ยส., ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ผู้แทนประจำประเทศไทย องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN), คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต, คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน จ.เชียงใหม่, คุณพ่อวิชัย โภคทวี อดีตจิตตาธิการ ยส., คุณรุ่งโรจน์ ตั้งสุรกิจ กรรมการ ยส., คุณพ่อไพรัช ศรีประเสริฐ กรรมการ ยส. และเลขากรรมาธิการฝ่ายสังคม, ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ เซเวียร์ กรรมการ ยส. และผู้อำนวยการแผนกสตรี, คุณระกาวิน ลีชนะวานิชพันธ์ อดีตผู้ประสานงาน ยส. เจ้าหน้าที่ประสานงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO), คุณชื่นสุข อาศัยธรรมกุล กรรมการ ยส.และที่ปรึกษาวารสาร "ผู้ไถ่", คุณนริศ มณีขาว กรรมการ ยส. และที่ปรึกษาวารสาร "ผู้ไถ่", คุณพ่อเดชา อาภรณ์รัตน์ อนุกรรมการแผนงานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา ยส., คุณอัจฉรา สมแสงสรวง ผู้อำนวยการ ยส., คุณพ่อประสิทธิ์ รุจิรัตน์ กรรมการ ยส. และผู้อำนวยการแผนกชาติพันธุ์ , คุณพ่อสุวัฒน์ เหลืองสอาด ผู้อำนวยการศูนย์คาทอลิกสุราษฎร์ฯ และกรรมการ ยส., คุณพ่อบุญเลิศ พรหมเสนา อนุกรรมการแผนงานสิทธิมนุษยชนศึกษา ยส.

คุณอัจฉรา สมแสงสรวง ผู้อำนวยการแผนกยุติธรรมและสันติ (ยส.) คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม ได้กล่าวถึงที่มาของการสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อวางทิศทางงานด้านสังคมของพระ ศาสนจักรไทยในอนาคตว่า "พระศาสนจักรได้ให้ความไว้วางใจให้ฆราวาสเข้ามาดูแลงานนี้ ยส. เป็นองค์กรเดียวที่ฆราวาสเป็นผู้ดูแล ซึ่งพระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ได้มอบให้เราดูแล ยส.มาตั้งแต่แรกเริ่ม มาถึงวันนี้ ยส. มีอายุครบ ๔๐ ปี ขณะนี้ เราอยู่ในบ้านหลังนี้ เราจึงควรที่จะเป็นตัวแทนในการทำหน้าที่แทนพระศาสนจักรเพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์การทำงานของ ยส. เพราะสิ่งที่มีค่ามากที่สุด คือ การรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์การทำงานไว้ แม้งานของเราจะสำเร็จบ้างหรือไม่สำเร็จบ้าง และแม้ว่าเราจะมีอุปสรรค แต่เราก็ร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคมาจนถึงทุกวันนี้ 

และเราก็ได้เห็นว่า นี่คือสิ่งที่เราตั้งใจทำในฐานะที่พระศาสนจักรได้มอบความไว้วางใจให้กับเรา และเพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พระศาสนจักรเติบโตขึ้น  และวันนี้เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้ช่วยกันรวบรวมประวัติศาสตร์  ซึ่งการครบรอบ ๔๐ ปี ยส. ในครั้งนี้เป็นเพียง Entry Point แต่สิ่งที่เราจะต้องช่วยกันอีกคือ ช่วยกันมองภาพอนาคตของพระศาสนจักรไทย โดย ยส.จะบันทึกและรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นเหล่านี้ เพื่อทำเป็นเอกสารและจะนำไปมอบให้กับ Caritas Thailand และสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทยต่อไป"

         

สัญลักษณ์ ‘เต่า' และ ‘ไก่'

ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ หลังเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาฯ ไม่นานก็เกิด "ผู้ไถ่" ในรูปแบบของแผ่นพับบรรยายเหตุการณ์ที่ผู้มีอำนาจได้กระทำความรุนแรงต่อนิสิตนักศึกษา เพื่อแจกในกลุ่มคาทอลิกตามวัดต่างๆ ให้ได้ทราบสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการใช้ความรุนแรงดังกล่าว

พระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ผู้ก่อตั้ง ยส. เคยเล่าไว้ว่า "พ่อเคยไปฟิลิปปินส์เห็นคนวาดรูปเต่าโผล่หัวออกมา ซึ่งคนวาดอธิบายว่าถ้าเต่าหดหัวอยู่ในกระดองก็เดินไปข้างหน้าไม่ได้ ตราบใดที่เต่ายืดหัวออกจากกระดองก็จะเดินก้าวหน้าไปได้ เมื่อได้คนวาดภาพคือ คุณสมชาย ทองประดิษฐ์ บอกว่า กระดองเต่ากับหมวกทหารคล้ายกัน พ่อก็เห็นด้วยว่าหมวกทหารมันครอบประชาชนอยู่ ถ้าประชาชนไม่กล้ายื่นหัวออกจากอิทธิพลของทหารก็จะก้าวไปข้างหน้าไม่ได้"

ส่วน "ไก่" หมายถึง ไก่อยู่บนหอคอย เป็นไก่ที่บอกทิศทางลม และจะคอยขันบอกว่าเราควรไปทิศทางไหน ซึ่งเป็นบทบาทที่เกิดขึ้นในเวลานั้น แม้ปัจจุบันบทบาทนี้อาจจะลดลงบ้างแล้ว

 

ผู้ที่เราต้องขอบคุณ...

งานของ ยส. (รวมทั้งงานพัฒนาด้วย) ต้องขอบคุณกลุ่มและสถาบันพระศาสนจักรอย่างน้อย ๓ สถาบัน คือ 

๑. College General ที่ปีนัง ซึ่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ มีผู้ที่จบมาจากที่นี่ เช่น คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร, คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต, คุณประนอม ศรีอ่อน และคุณจำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ ซึ่งเคยไปทำงานในสลัมดินแดงห้วยขวางมาก่อน 

๒. คณะเยสุอิตในประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นของงานในสลัมดินแดงห้วยขวาง คุณพ่ออัลเฟรด บอนแนงก์ และคุณหมอชวลิต จิตรานุเคราะห์ เป็นบุคคลผู้ทรงคุณค่าของ ยส.

๓. คณะอุร์สุลินแห่งสหภาพโรมัน คณะนักบวชหญิงที่เรามักไม่ได้กล่าวถึง รวมถึงผู้ปฏิบัติงานรุ่นแรก ได้แก่ คุณชาญชัย พัฒนะอิ่ม, คุณศิริพงษ์ สุรชาติ, คุณนุจรินทร์ นาเมืองรักษ์, คุณประเสริฐ  นาเมืองรักษ์,  คุณวิบูลย์ แก้วแหวน และอีกหลายท่าน...ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่หล่อหลอมมาเป็นงาน ยส.

 

กำลังสนับสนุนจากองค์กรศาสนาหลายศาสนา

สิ่งที่โดดเด่นในยุคนั้น คือ ความร่วมมือระหว่างศาสนา งานของคนยากคนจนที่เกิดขึ้นมาในเวลานั้น ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากจาก OHD-Office for Human Development  และ ACPO หรือ Asian Committee for People's Organization ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างโปรเตสแตนท์กับคาทอลิก ที่ร่วมมือกันก่อตั้ง ACPO ขึ้นมา จนเกิดการร่วมแรงร่วมใจต่อสู้กับความอยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานในสลัม งานผู้ยากไร้ และงานแรงงาน

ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ เล่าว่า "งานของ ACPO ได้พระสงฆ์คณะเยสุอิตเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งในเวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างท่านลาบาเย็น [๑]  กับพระคุณเจ้าบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ มีความสัมพันธ์ที่ดีมาก ท่านได้ผลักดันให้เกิดงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาสังคม โดยมีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย"

และยังมีความร่วมมือระหว่าง OHD กับ CCA (Christian Conference of Asia)  รวมทั้งเรื่องของ ECOT (Ecumenical Coalition on Tourism) ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในเรื่องของเซ็กซ์ทัวร์ (Sex Tour) ที่ OHD เข้าไปเป็นกรรมการ ทำให้ ยส. ได้เข้าไปทำงานรณรงค์เรื่องการท่องเที่ยว (Tourism) ที่ละเมิดสิทธิความเป็นมนุษย์

ส่วนVOMPOT (Voluntary Movement for People's Organization in Thailand) เป็นการเคลื่อนไหวที่มีที่มาจากปีนัง คือกลุ่มอาสาสมัครจัดระบบชุมชนซึ่งทำงานส่งเสริมการรวมกลุ่มชาวบ้านโดยเฉพาะชาวสลัม งานแรกที่ได้ร่วมกับ VOMPOT คือ มีตัวแทนจากโปรเตสแตนต์มาร่วมด้วย พร้อมกับท่านบุญเลื่อน คุณพ่อจอห์น กิลวูต์ คุณพ่อบอนแนงก์ มาแมร์ทีโอดอร์ มาแมร์ฟรานซิสเซเวียร์  ซึ่งหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนคือคณะเยสุอิต 

"เราไม่ได้ทำงานกับสลัมอย่างเดียว เราทำงานกับชาวไร่ชาวนาและผู้ใช้แรงงานด้วย ได้ร่วมงานกับคุณสนั่น วงศ์สุธี นักวิชาการด้านแรงงานซึ่งเข้ามาเป็นผู้ประสานงานในเวลานั้น คนเหล่านี้ที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานของ ยส.รวมถึงจุดแข็งของศาสนสัมพันธ์ด้วย" ดร.จำเนียร กล่าว


คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร
"สหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (Federation of Asian Bishops' Conference/FABC ได้มีแนวทางการประกาศข่าวดี (Evangelization)ที่เคารพต่อประชาชนเอเชีย มันเป็นเรื่องของการเสวนา (Dialogue) ไม่ใช่เรื่อง agenda คิดว่าตรงนี้คือการเคารพ ศาสนา วัฒนธรรม พลังการพัฒนาของเอเชีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ OHD นำขึ้นมา และต้องค้นหา เพราะว่ากระบวนการในการพัฒนาที่ต้องเผชิญกับกระแสหลักต้องมาจากรากฐานประวัติศาสตร์ข้างใน มรดกคืออะไร ประวัติศาสตร์ของเอเชียคืออะไร ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก  ๑. FABC น่าจะเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ประเทศไทยได้เคลื่อนไป  ๒. ทิศทางของ Evangelization ในเอเชียต้องอิงการเสวนากับประชาชน ศาสนา วัฒนธรรม ซึ่งเราจะต้องอ้างสิ่งเหล่านี้ เพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กระทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ.๑๙๗๐ นั่นคือความร่วมมือระหว่างโปรแตสแตนท์
(World Council of Churches (WCC), Christian Conference of Asia (CCA) และพี่น้องพุทธศาสนิกชน เช่น อ.สุลักษณ์

FABC หรือ APHD (Asian Partnership for Human Development) ได้ร่วมกันสร้าง ACFOD (Asian Cultural Forum on Development) ด้วย ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ  APHD สนับสนุน ACFOD และคนที่ทำงานใน ACFOD ก็เป็นมุสลิมด้วย คือ คุณอับดุลซาบู ซึ่งหลังจากนั้นเขาก็ไปพัฒนาองค์กรมุสลิม ชื่อ AMAN - Asian Muslim Action Network  เอาเยาวชนรุ่นใหม่จากประเทศอิหร่าน และอินโดนีเซีย ให้ข้ามพรมแดนไป dialogue ระหว่างศาสนา ซึ่งท่านบุญเลื่อน, อ.สุลักษณ์,  คุณโกศล, อ.บัณฑร เคยเข้าร่วมด้วย ซึ่ง CCA ในเอเชีย อ.บัณฑร ก็เข้าไปทำงานอยู่ด้วย

ตอนนั้นคณะเยสุอิต จัดประชุมหัวข้อ SELA - Socio Economic Life in Asia ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีอาจารย์สุลักษณ์ และอาจารย์สมาน แสงมะลิ เข้าร่วมด้วย จึงทำให้ท่านบุญเลื่อนรู้จักกับอาจารย์สุลักษณ์ ดียิ่งขึ้น รวมทั้งอาจารย์สมาน และอาจารย์สิปปนนท์ เกตุทัต จึงทำให้เกิดการเสวนา แลกเปลี่ยน สานสัมพันธ์กันในกลุ่มดังกล่าวขึ้น

ต่อมาคุณพ่ออังเดร โกมาน พระสงฆ์คณะเยสุอิต ชาวฝรั่งเศส ได้นำเอาแนวคิดหลังสังคายนาวาติกันที่ ๒ มาสู่การปฏิบัติโดยเฉพาะเรื่อง Ecumenical โดยไปเสวนากับโปรเตสแตนต์ และสร้างกลุ่ม Ecumenical ขึ้นเป็นกลุ่มแรกในประเทศไทย และประชุมกันปีละครั้ง ที่สวนเจ็ดริน ทำให้คาทอลิกกับโปร เตสแตนท์เหมือนพี่น้องกันมาตั้งแต่หลังปี ค.ศ.๑๙๖๕ และจากนั้นจึงมีพุทธมาร่วมด้วย คือ หลวงพ่อพระเทพกวี จึงทำให้โปรเตสแตนท์ คาทอลิก และพุทธ ร่วมมือกันปกป้องสิทธิของชนเผ่า"


คุณรุ่งโรจน์ ตั้งสุรกิจ
เสริมว่า "ช่วงนั้นยังมี กศส. หรือกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม มีเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ เป็นประธาน มีอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มีพระสังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์  รวมทั้งคุณพ่อประสิทธิ์ สมานจิต, คุณอุไร ปทุมจันทรัตน์, คุณสมจิตร วรางคณางยุบล, อาจารย์โกศล ศรีสังข์ ทำงานด้วย ซึ่งเป็นตัวเชื่อมให้กับการทำงานด้านต่างๆ เช่น มีการอบรมเรื่องเครดิตยูเนี่ยน"

"และยังมีคุณพ่อเล้ง โคธิเสน, คุณพ่อล้วน นักพรรษา และคุณพ่อทวีศักดิ์ บุญสู่ ที่ไปนอนกับชาวบ้าน ต่อสู้เรื่องเขื่อนปากมูล บุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของ ยส."  พระสังฆราชบรรจง เสริมทิ้งท้าย

 

การทวนกระแส ย่อมเผชิญขวากหนาม

คุณรุ่งโรจน์  "ปี พ.ศ.๒๕๑๘ เกิดความตึงเครียด คือ สมาคมคาทอลิกเป็นผู้จัดและมีการเชิญพระสังฆราชทั้ง ๓ ท่านไปพูด ผมจึงเดินทางไปร่วมด้วยเพื่อเป็นกำลังใจให้ท่านบุญเลื่อน แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่า พระสังฆราชอีก ๒ ท่าน ไม่มา ท่านบุญเลื่อนก็พูดถึงงานพัฒนาต่างๆ พอเล่าเสร็จ ไม่มีคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ท่านบุญเลื่อนพูดเลย แต่เป็นคำถามในลักษณะที่เป็นการซักฟอกท่านบุญเลื่อน

และผู้ที่ตั้งคำถามรุนแรงกับท่านบุญเลื่อน ในภายหลังก็มีท่าทีที่เปลี่ยนไป เพราะได้รับหน้าที่ให้ไปทำงานกับคนที่ยากจน คนที่เดือดร้อน ทำให้เริ่มรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรม

มีเอกสาร "สังคมพัฒนา" และ "ผู้ไถ่" ซึ่งตอนนั้น "ผู้ไถ่" ยังไม่ได้มีรูปแบบที่เป็นวารสารฉบับ "ผู้ไถ่" สัญลักษณ์เต่าใส่หมวกทหาร ก็สร้างความขัดเคืองใจ เพราะมีบางรูปที่ค่อนข้างเป็นตัวแทนของบางคน ทำให้เกิดความรู้สึกในแง่ลบ ในสังคมพัฒนาฉบับหนึ่งมีเรื่องงานวิจัย โดลไทยแลนด์ ที่หน้าปกเป็นรูปหัวกะโหลกและมีดเฉือนกะโหลก เป็นเรื่องของบริษัทข้ามชาติจึงเกิดผลกระทบกับคณะมหาไถ่ ซึ่งมีมิชชันนารีที่เป็นอเมริกันเยอะ

จุดเริ่มต้นของบริษัทโดล คือ มิชชันนารีชาวอเมริกัน ๒ คน ที่ไปทำงานที่ฮาวายกับชนพื้นเมือง ไปส่งเสริมอาชีพเพื่อให้เกิดรายได้ คือ การปลูกสับปะรด เมื่อปลูกมากขึ้นก็มีการพัฒนาเป็นโรงงานเพื่อที่จะขายผลผลิตจนใหญ่โตและกลายเป็นบริษัทข้ามชาติ จุดเริ่มต้นจริงๆ คือ เริ่มมาจากความมีน้ำใจของมิชชันนารี เมื่อเรื่องนี้มีการลงตีพิมพ์ในสังคมพัฒนาจึงทำให้เกิดความขุ่นเคืองใจของหลายๆ คน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในศาสนจักร และเชื่อมโยงพัวพันกับเรื่องของท่านบุญเลื่อน ทำให้เราสูญเสียองค์กรสมาชิก ไม่มีใครอยากมาร่วมทำงานด้วย เพราะดูเหมือนเราเป็นพวกหัวรุนแรง สุดท้ายพวกลูกไร่ตามเกษตรพันธะสัญญาก็ได้รับความเดือดร้อนจากบริษัทข้ามชาติ" 


พระสังฆราชบรรจง
ไชยรา "สืบเนื่องจากอิทธิพลของคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์ มีความเข้าใจว่าในพระศาสนจักรก็มีการแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม ทำให้มองว่ากลุ่มที่ทำงานร่วมกับ ยส. เป็นกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลไปในตัว ทางศาสนจักรเองก็มีการร่วมกับทางพุทธในการให้ความช่วยเหลือพาคอมมิวนิสต์เข้าป่า"


คุณรุ่งโรจน์
"ในตอนนั้นเป็นช่วงรัฐบาลทหาร รัฐบาลพลเรือนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของทหาร เสรีภาพถูกจำกัด ทำให้การแสดงความคิดเห็นทำได้ยาก สิ่งที่ CCTD และ ยส. ทำ เราไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่เราเป็นศิษย์ของพระเจ้า เราทำตามคำสอน ทำงานกับคนยากจน จากการทำงานเราเห็นว่างานพัฒนาของภาครัฐเองจากที่จะช่วยเหลือก็ไม่ช่วย เหมือนที่เปรียบเราเป็นไก่ที่ขันบอกเรื่องราว แต่บางครั้งเราก็ขันผิดเวลา ความขัดแย้งตรงนี้มีข้อกล่าวหา คือ พวกหัวเอียงซ้าย วิพากษ์วิจารณ์มาก"

 

องค์กรพระศาสนจักรที่เข้มแข็งในยุคนั้น

คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต "แต่ก่อนเราถูกปฏิเสธเพราะคนอาจมองว่าเป็นความรุนแรงหรืออะไรต่างๆ ช่วงนั้น ยส. กับ CCTD เรามีนโยบายว่า หาเพื่อนร่วมงาน เริ่มต้นด้วยองค์กรและหน่วยงานต่างๆ ในตอนนั้นมี CCTD  ยส. งานเยาวชน และงานชีวิตครอบครัว เป็น ๔ หน่วยงานใหญ่ของพระศาสนจักรที่ทำงานไปด้วยกัน จึงเป็นการจุดประเด็นงานของฝ่ายสังคมในพระศาสนจักร"

อาจกล่าวได้ว่า ยส. และ CCTD  มีส่วนในการริเริ่มก่อตั้งหน่วยงานอื่นๆ ในพระศาสนจักร รวมถึงการจัดตั้งสภาเยาวชนคาทอลิก ซึ่ง CCTD เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยของคุณพ่อบัญชา ศรีประมง รวมทั้งคณะกรรมการฯ เพื่อการท่องเที่ยว คณะกรรมการฯ เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ และคณะกรรมการฯ เพื่อสตรี  ซึ่งล้วนเป็นหน่วยงานภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย

ในสมัยนั้น CCTD ไม่ได้เพียงแค่ทำงานกับสังฆมณฑลเท่านั้น แต่มีองค์กรต่างๆ ที่เป็นสมาชิก  มีสังฆมณฑล ๑๐ สังฆมณฑล องค์กรต่างๆ ที่เป็นองค์กรฆราวาส เช่น สมาคมครูคาทอลิก สมาคมวินเซนต์เดอปอล รวมทั้งคณะนักบวชอีกหลายคณะ เช่น คณะอุร์สุลิน คณะเซนต์คาเบรียล คณะซิสเตอร์จากอุบลราชธานี จันทบุรี คณะศรีชุมพาบาล  ซึ่งในขณะนั้นก็มีซิสเตอร์เป็นตัวแทนนักบวชหญิงเข้ามาร่วมด้วย เมื่อเข้ามาร่วมงานทำให้เกิดความเข้าใจลักษณะการทำงานของ CCTD มากขึ้น ต่อมาความร่วมมือระหว่างองค์กรในพระศาสนจักร การทำงานด้านสังคมกับ ยส. ได้รับการยอมรับมากขึ้น เพราะมีมิติศาสนาและวัฒนธรรมเข้ามาในการทำงาน


คุณรุ่งโรจน์ "ซึ่งนี่อาจจะเป็นบทเรียนให้เราเข้าใจว่าแม้องค์กรภายนอกยังไม่เข้าใจงานของเรา เพราะฉะนั้นการทำงานในรูปแบบของการมีเครือข่ายจะช่วยให้งานขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้"

 

เมื่อความอยุติธรรมไปถึงพี่น้องชนเผ่าบนดอย จึงเกิดคณะกรรมการฯ เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ (คชพ.)

คุณพ่อนิพจน์  "หลังจากปี พ.ศ.๒๕๑๖-๒๕๑๙ มีการประท้วงกันในกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลกระทบกับบนดอย ผู้นำส่วนใหญ่ที่ต่อสู้อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ไปทางอีสานบ้าง ทางพี่น้องชนเผ่าบ้าง จึงถูกเรียกว่าเป็นฝ่ายซ้าย มีอาจารย์และทีมของผมก็ได้ขึ้นไปบนดอยด้วย งานแพร่ธรรม งานพัฒนา งานเยาวชน ๓ งาน เป็นงานที่ไม่แยกจากกัน เราไปอบรมครูคำสอน หรือหัวหน้าคริสตัง และประชุมกับชาวบ้าน เพราะมีปัญหาด้านการลงทุน จุดสำคัญคือ มีชาวบ้านถามผมว่า เราจะไปทางไหนดี กลางวันทหารก็มาหาเรา กลางคืนน้องก็มาเกี่ยวข้าวด้วย (น้องหมายถึงผู้นำที่ขึ้นมาบนดอย) แล้วเราจะไปทางไหน ซึ่งคุณพ่อคณะเบธารามกับพวกเราต้องตอบคำถามชาวบ้าน ซึ่งนี่คือที่มาที่ยาก ที่มาของศาสนาและวัฒนธรรม เราจะต้องยืนบนขาของเรา และขาของเราเป็นประวัติศาสตร์ของเราที่ไม่ว่างเปล่า ไม่ว่างเปล่าคืออะไร จะต้องค้นหาต่อไป พอมากขึ้นๆ ชาวบ้านถูกกระทำจากทั้ง ๒ ฝ่าย โดยเฉพาะจากกรมป่าไม้และบริษัทป่าไม้ต่างๆ ชาวบ้านก็ประท้วง เช่น ที่แม่ลาน้อย แม่เตี๋ย

เหล่าครูคำสอนก็สู้กับกรมป่าไม้และนายทุน เมื่อเราสู้แล้ว ทางทหารก็คิดว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเราจึงพูดคุยกับคุณพ่อเบธารามเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เหล่านี้ที่ไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นปัญหาของชาวบ้าน เราจึงเสนอเรื่องนี้ให้สภาพระสังฆราชฯ ได้รับทราบปัญหา ผมเล่าให้ท่านบุญเลื่อนฟัง และท่านบุญเลื่อนก็ประสานงานต่อ  และพัฒนามาเป็นคณะกรรมการชาติพันธุ์ คุณประเสริฐ ตระการศุภกร ก็ทำงานนี้ พื้นที่บนดอยทั้งหมด ตั้งแต่ น่าน แม่ฮ่องสอน และแม่แจ่ม ฯลฯ เวลาที่เราจะไปสอนคำสอน มีสายสอดแนมเยอะมาก ฉะนั้น เวลาไปทำงานมีความยากลำบาก และนี่เป็นที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพื้นที่ทำงานตั้งแต่เชียงใหม่ ยาวไปจนถึงแม่สอด ถึงราชบุรีด้วย"

 

งานการประสานเครือข่ายภายในประเทศ

การทำงานของ ยส. สร้างคุณูปการ และมีส่วนในการริเริ่มเชื่อมเครือข่าย เช่น กปส. หรือ คณะกรรมการประสานงานองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย และในส่วนของ CCTD เป็นองค์กรที่ริเริ่มจัดงานประชุม NGOs ซึ่งตอนนั้นมีอยู่มากจึงเป็นที่มาของ "คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน"

 

ยส. กับเครือข่ายในระดับเอเชีย

การทำงานของ ยส. ในช่วงเวลานั้นมีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่อต้านผู้นำเผด็จการในเอเชีย ด้วย "สายใย" หรือ Network ของ ยส. มีการทำงานทั้งในไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรามีการแยกออกมาในลักษณะ PO (People's Organization) ทำงานควบคู่กันไป ช่วงเวลานั้น ยส.ไม่ได้โดดเดี่ยว แต่ยังมีองค์กรอื่นๆ ในเอเชียทำงานร่วมด้วย

ดร.จำเนียร "ในช่วงนั้นผมเป็นผู้ประสานงานกับ People's Organization การเชื่อมโยงของเราในการที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ว่า ใครเป็นผู้ก่อการร้าย ใครเป็นผู้บ่อนทำลายความมั่นคง ในเวลาเดียวกันพวกเราก็มีการแลกเปลี่ยนกันอยู่ในเครือข่ายที่ทำงานกับประชาชน ซึ่งตอนนั้นเรียกได้ว่าหนักหน่วงอยู่พอสมควร เพราะคนที่ทำหน้าที่อยู่กับพระศาสนจักรก็รู้สึกลำบากใจว่าตัวเองจะสนับสนุนใครดี และเป็นห่วงอยู่ว่าอาจจะทำให้พระศาสนจักรเดือดร้อน"

คุณรุ่งโรจน์ "ประเด็นต่างๆ ที่เราทำ ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในประเทศไทย ยังมีหลายประเทศในเอเชียที่มีประเด็นเหมือนๆ กันด้วย เช่น กรณีบริษัทโดล ที่ขยายจากประเทศฟิลิปปินส์ มาสู่ประเทศไทย ซึ่งการทำงานนั้นไม่ได้ทำเพียงการศึกษาสถานการณ์ปัญหาเท่านั้น แต่มีเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานกับชาวบ้าน ที่ไม่ใช่แบบเชิงวิชาการ  และมีประเด็น Tourism และประเด็น Sex Tour ด้วย

ในช่วงเวลานั้น พระศาสนจักรสากลได้ออกเอกสารสำคัญๆ คือ Gaudium Et Spes ออกมาปี ๑๙๖๕ และ Populorum Progressio ในปี ค.ศ.๑๙๖๗ ซึ่งพูดถึงการพัฒนาตามแนวทางของคาทอลิก ส่วนหนึ่งก็คือความยุติธรรม มีการก่อตั้งสมณกระทรวงว่าด้วยความยุติธรรมและสันติ (Pontifical Commission for Justice and Peace) และในปี ๑๙๖๘ เกิดปีสันติภาพสากล (World Day of Peace)  ครั้งแรก และในสารวันสันติภาพสากลได้พูดถึงความยุติธรรมและงานพัฒนา การพัฒนามนุษย์ และสันติภาพ เพราะฉะนั้น ๓ เรื่องนี้ คือเรื่องเดียวกัน ไม่ได้แยกจากกัน ซึ่งบทบาทของ ยส.ที่ผ่านมา เป็นบทบาทในการเป็นประกาศก"

 

ทบทวนทิศทางการทำงานด้วยการไตร่ตรอง : ยึดแนวทาง Positive Approach

 ช่วง ปี พ.ศ.๒๕๒๗ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ CCTD  ต้องปรับทิศทางการทำงานพัฒนา เนื่องจาก CCTD มองสังคมในเชิงวิพากษ์ มองว่าการทำงานพัฒนาต้องทำอยู่ในชนบท ต้องเป็นลักษณะของโครงการเศรษฐกิจ สังคม มองงานการศึกษาเป็นงานพัฒนามนุษย์ ทำให้ขาดเพื่อนร่วมงานภายในพระศาสนจักร ทิศทางการทำงานของ ยส.ขณะนั้นทำงานตาม CCTD จึงเน้นการปฏิรูป CCTD มากกว่า ยส.

คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต "เรามีกลุ่ม Think Tank มีกลุ่มแกนในการทำงาน ทั้งบรรดาพระสงฆ์และฆราวาส เช่น คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร คุณพ่อมนัส ศุภลักษณ์  อ.กาญจนา แก้วเทพ พูดคุยกันในโอกาสการปฏิรูป CCTD มีการเสวนาและวิพากษ์ว่าเราจะทำงานอย่างไร ในช่วงนั้นเราปรับทิศทางการทำงานของ CCTD เป็นช่วงเวลาที่เราต้องไตร่ตรองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการ Reflection-Action-Reflection มองทิศทางการทำงานพัฒนามนุษย์ของพระศาสนจักรไปสู่จุดเปลี่ยนอย่างแท้จริง"

"ประเด็นแรกที่ได้รับภารกิจจากกลุ่มแกน คือ ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน พระคุณเจ้าบุญเลื่อนเคยพูดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ เราจะยึดแนวทาง positive approach เป็นอันดับแรก ทำให้ความคิด กระบวนทัศน์ของเราเปลี่ยนไปในแง่ที่ว่า เราจะไม่วิพากษ์อย่างที่เคยทำมาก่อน เพราะการวิพากษ์เสร็จแล้วเราทิ้งประเด็นปัญหาไว้ จนในที่สุดเราก็ขาดเพื่อนร่วมงาน เราจึงต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนในแง่ที่ว่า เราต้องเข้าหาผู้ใหญ่ คนแรกที่เข้าไปพบ คือ นักบวชหญิง มาแมร์มีเรียม แห่งคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร, คณะพระหฤทัยคลองเตย ได้มีการเชื้อเชิญซิสเตอร์พเยาว์ ถาวรวงศ์  เจ้าคณะคนใหม่ของคณะรักกางเขนจันทบุรี ในขณะนั้นเข้ามาร่วมกิจกรรม PRISA IV (Priests and Religious' Institute for Social Action) ด้วย คณะนักบวชหญิงจึงมีบทบาทสำคัญในการทำงานในช่วงนั้น"

จุด Highlight คือ PRISA IV ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ ด้วยแนวทางมรดกทางศาสนาและวัฒนธรรมเป็นจุดเปลี่ยนการทำงานของ CCTD และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายภายในพระศาสนจักร ทั้งพระสงฆ์ นักบวช ทั้งคณะนักบวชหญิง คณะนักบวชชาย พระสงฆ์พื้นเมือง ในสมัยนั้น CCTD จึงเริ่มมีเพื่อนเพิ่มมากขึ้น มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ PRISA IV เป็นเครื่องมือที่ช่วยปฏิรูป จึงเป็นช่วงเวลาที่มีการทบทวน CCTD อย่างจริงจัง

คุณพ่อวัชรินทร์ "พอมาถึง ยส. เราก็ต้องใช้ Positive Approach ด้วย เราจะไม่ใช้วิธีการแบบวิพากษ์แบบที่ CCTD เคยทำเพราะเราจะหาผู้ร่วมงานไม่ได้ เราได้องค์กรเป้าหมายของ CCTD มาเป็นฐานของ ยส.เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ ยส.มีสมาชิก ซึ่งต้องมองไปถึงข้างหน้าอีก ๑๐ ปี ๑๕ ปี เพราะเป็นปีสันติภาพสากล เป็นช่วงที่มีปีเยาวชน จึงริเริ่มกันว่า CCTD กำลังทำงานร่วมกับสภาเยาวชนคาทอลิก กับคณะกรรมการส่งเสริมชีวิตครอบครัว โดยทาง ยส. จะต้องเข้าร่วมด้วย เพื่อให้ทั้ง ๔ องค์กรมีความเป็นปึกแผ่นในเนื้องาน งานเยาวชนเริ่มต้นจากการทำงานกับเด็กเร่ร่อนในกรุงเทพฯ เป็นจุดเริ่มต้นของงานเยาวชนในการทำงานกับเยาวชนนอกระบบ เยาวชนเร่ร่อน ไปจนถึงการหางานให้เยาวชนทำ"

ช่วงเวลานั้น คุณพ่อวัชรินทร์ ซึ่งทำงานกับเยาวชนจึงได้ชักชวนคุณระกาวิน (สายนักศึกษา) และคุณอัจฉรา (สาย Disac) เข้ามาทำงานใน ยส. นับแต่นั้นมา รวมถึงกลุ่มนักศึกษาที่เพิ่งเรียนจบ และตัวแทนจากบ้านเซเวียร์มาเข้าร่วมในฝ่ายเยาวชนด้วย

 

บุกเบิกงานด้านแรงงานนอกระบบ

ยส.เริ่มบุกเบิกทำงานเกี่ยวกับแรงงานนอกระบบ ช่วงเวลานั้นมีสถานการณ์ที่เกิดโรงงานขนาดเล็ก เป็นแรงงานตัดเย็บตามห้องแถว หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น "โรงงานทาส" มากมาย เด็กๆ ที่ทำงานในโรงงานเหล่านี้จบแค่ ป.๖ จากชนบท แล้วโยกย้ายจากต่างจังหวัดมาทำงานในโรงงานห้องแถว จึงเกิดอาการคิดถึงบ้านอย่างหนัก เพราะอยู่ในโรงงานขนาดเล็กและมีสภาพที่แย่มาก ขณะนั้นมีอาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ และอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร สนใจทำงานประเด็นนี้

คุณระกาวิน ลีชนะวานิชพันธุ์ "เราจัดกิจกรรมการศึกษานอกห้องเรียน โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์กลางเทวาจัดศูนย์การศึกษานอกห้องเรียนขึ้น ทำอยู่ ๕-๖ ปีได้  ซึ่งสมัยก่อนนั้น เราร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเข้ามาดู แต่เขาไม่มาเลย เขาบอกว่าเพราะโรงงานเหล่านี้เป็นโรงงานผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่ไม่เข้ามาดูแล เพราะเป็นโรงงานที่ไม่ได้อยู่ในการคุ้มครองของกฎหมายแรงงาน และอ้างว่าแรงงานในระบบยังดูแลไม่ไหว จะให้มาดูแลแรงงานนอกระบบอีกก็ไม่ไหวเช่นกัน แต่ปัจจุบันมีเครือข่ายแรงงานนอกระบบแล้ว ก็นำไปสู่การเข้าถึงหลักประกันสังคม

ในการทำงานเกี่ยวกับเรื่องแรงงานนอกระบบในขณะนั้นมีคนเข้าใจเรื่องนี้น้อยมาก หลังจากลาออกจาก ยส. แล้ว ช่วงนั้นได้ทำงานกับ CSO และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มทำงานด้าน HIV กลุ่มคนพิการ และอื่นๆ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เขาก็กำลังรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) และการให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า บัตร ๓๐ บาทรักษาทุกโรค

บทเรียนจาก ยส. ให้ประสบการณ์มากมาย ตอนนั้นได้เข้าพบ อ.จอน อึ้งภากรณ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นประธาน สามารถรวบรวมความร่วมมือได้ประมาณ ๑๐ กลุ่มใหญ่ๆ และได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์สู่กันฟัง เมื่อ อ.จอน เข้าไปเป็นวุฒิสมาชิก จึงได้รับช่วงเป็นประธานต่อจากท่าน และได้ร่วมกันรณรงค์ จนเกิดเป็นกฎหมายขึ้นมา"

 

งานรณรงค์ยุติการค้ามนุษย์

ยส. ทำงานรณรงค์ยุติการค้ามนุษย์ คือปัญหาโสเภณีเด็ก ซึ่งขณะนั้นมีการนำเด็กที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ มาเป็นหญิงบริการ ยส. ได้ไปช่วยงานของซิสเตอร์คณะศรีชุมพาบาลที่พัทยา

คุณพ่อวิชัย โภคทวี จิตตาธิการ ยส.ขณะนั้น "เราไปช่วยเด็ก ๒ คน อายุ ๑๓ ขวบ และอีกคนประมาณ ๘-๙ ขวบ ซึ่งทั้งสองถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศมาแล้วเป็นปี เราเห็นสภาพแวดล้อมที่พัทยามันเสื่อมมาก เราจึงรณรงค์เรื่องนี้ คนที่นำเด็กไปทำงาน เป็นนายทุนแทบทั้งสิ้น เขาทำเหมือนกับเป็นคนที่จะมาช่วยให้เด็กมีงานทำ แต่เด็กไม่รู้ว่าเขาจะพาไปทำอะไร จำได้ว่าพ่ออัลฟองโซ  แดยวง (คณะเยสุอิต) รณรงค์เรื่องนี้มาก จนได้รับรางวัลจากประเทศสเปน และเป็นที่สนใจของสื่อ จึงทำให้เรื่องนี้ค่อนข้างเป็นที่รับรู้มากขึ้น ปกติพระศาสนจักรค่อนข้างที่จะอายในเรื่องแบบนี้ พอได้คุยกับซิสเตอร์มิเชล โลเปซ คณะศรีชุมพาบาล เราก็ได้รณรงค์กันเป็นประเด็นใหญ่"

 

งานรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิดระดับเอเชีย

ที่ประเทศไทยมีกับระเบิดอยู่เป็นล้านลูกในแถบชายแดนจังหวัดสระแก้ว ซึ่งขณะนั้นมี JRS - Jesuit Refugee Services ที่ทำงานอยู่ในระดับระหว่างประเทศ JRS เป็นสมาชิกของคณะทำงานรณรงค์เพื่อยุติกับระเบิด

คุณพ่อวิชัย "ได้พูดคุยกับคุณเอมิลี่ เกตุทัต (JRS) ว่า อยากให้จัดแคมเปญที่เมืองไทย มีการพูดถึงอนุสัญญาออตตาวา ที่พูดถึงเรื่องการห้ามใช้กับระเบิด กับระเบิดเหล่านี้เมื่อถูกทิ้งลงไปในดินจะมีอายุประมาณ ๗๐-๑๐๐ ปี และสามารถเคลื่อนที่ได้ หากเกิดน้ำท่วมก็จะไหลไปตามกระแสน้ำ ทำให้ไม่มีพิกัดในการกำหนดจุดที่ชัดเจน มีเหตุการณ์ที่เด็กคนหนึ่งถูกกับระเบิดในน้ำขณะที่ไปจับปลา มีคนไทยโดนกับระเบิดเฉลี่ยเดือนละ ๑  ครั้ง

จึงบอกคุณเอมิลี่ว่า เราน่าจะมีการรณรงค์ เพราะในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีท่าทีว่าจะเข้าร่วมเป็นภาคีกับอนุสัญญาฯ หรือไม่ ในสมัยที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงมีการเข้าไปพูดคุยกับเหยื่อกับระเบิดแถวสระแก้ว และมีการจัดทำแคมเปญให้ผู้ที่รับผลกระทบ ปั่นจักรยานเข้ากรุงเทพฯ และเข้าพบ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ เพื่อขอให้พิจารณาการเข้าลงชื่อเป็นภาคีในอนุสัญญาฯ จนเป็นผลสำเร็จ เพราะรัฐบาลก็มีการคิดเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว โดยมีแคมเปญของเราเข้าไปเป็นตัวเสริม และมีการจัดแคมเปญนี้อีกครั้งในหลายปีต่อมา โดยปั่นจักรยานจากกรุงเทพไปลพบุรี เนื่องจากในขณะนั้นมีการจัดประชุมระดับนานาชาติ มีตัวแทนเข้าร่วมกว่าร้อยประเทศ และถือเป็นโอกาสในการทำลายระเบิดในคลังแสงในเมืองไทย มีการรณรงค์เรื่องนี้อยู่เป็นเวลานานพอสมควร

ตอนที่มีการจัดประชุมในระดับนานาชาติ คุณเอมิลี่เสนอว่า ควรให้มีการเริ่มต้นที่บ้านเซเวียร์โดยการภาวนา ทุกคนดีใจมาก เพราะไม่เคยมีการนำมิติด้านภาวนาเข้ามาใช้เลย จึงเล็งเห็นว่างานด้านสังคมก็มีมิติของด้านศาสนสัมพันธ์เข้ามาเกี่ยวข้องได้ เพื่อนชาวมุสลิมรู้สึกตื่นเต้น เราจึงบรรลุความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะการกู้กับระเบิดต้องใช้เวลาอีกเป็น ๑๐ ปี เนื่องจากกระบวนการในการเก็บกู้กับระเบิดมีความยุ่งยากซับซ้อนหลายขั้นตอน"

 

กรณีการแยกตัวของติมอร์ตะวันออก จากประเทศอินโดนีเซีย

คุณพ่อวิชัย "กรณีติมอร์แยกตัวออกมาจากอินโดนีเซีย ยส. ได้เข้าร่วมงานสัมมนาและมีโอกาสพูดคุยกับคุณนิติ ฮาซัน เลขาธิการของจุฬาราชมนตรี ในขณะนั้น มีการพูดคุยกันว่าน่าจะไปคุยกับสถานทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทยว่า ในประเทศไทย คาทอลิกกับมุสลิมเป็นมิตรกัน ได้ข่าวจากเพื่อนชาวอินโดนีเซียเห็นถึงความโหดร้ายทารุณเพราะมีการฆ่ากันทุกวัน จึงบอกกับคุณนิติว่าเราเขียนจดหมายร่วมกันขึ้นมาหนึ่งฉบับว่า เรามีการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ในเมืองไทยคาทอลิกกับมุสลิมเป็นเพื่อนกัน ได้เดินทางไปเยี่ยมสถานทูตอินโดนีเซีย และได้มีการยื่นจดหมายฉบับนี้"

 

สร้างเสริมความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนในกลุ่มฆราวาสและนักธุรกิจคาทอลิก

เนื่องจาก ยส. ถูกมองว่าค่อนข้างไปทางฝ่ายซ้าย ท่านบุญเลื่อนจึงมีความเป็นห่วงกังวลว่าจะสร้างความเข้าใจและสามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับทางกลุ่มนักธุรกิจคาทอลิกและผู้นำฆราวาสคาทอลิกได้อย่างไร จึงมอบหมายให้คุณพ่อวิชัยหาวิธีในการเชื่อมสัมพันธ์กับสภาการศึกษาคาทอลิก และนักธุรกิจคาทอลิก เมื่อสภาการศึกษาคาทอลิกมีการประชุม ยส. ได้เข้าร่วมประชุมมาโดยตลอด ทำให้เริ่มรู้จักผู้คนมากขึ้น จึงนำไปสู่การพูดคุย

"ท่านบุญเลื่อนเริ่มที่จะให้เราได้มองและสานต่อในเรื่องของสิทธิมนุษยชนกับกลุ่มต่างๆ เราได้เข้าไปอธิบายในเรื่องของการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนจากมุมมองของคาทอลิก จนได้รับเชิญให้เข้าไปพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในที่ประชุมใหญ่ของสมาคมนักธุรกิจคาทอลิก และมีการเชิญกลุ่มผู้อำนวยการโรงเรียนมาพูดคุย ว่าเราควรมีการจัดอบรมเรื่องนี้โดยตรงเพราะจะเป็นการขยายมิติเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ลึกขึ้น มีมนุษยธรรมมากขึ้น กับสมาคมนักธุรกิจคาทอลิก มีการพูดคุยว่า เรื่องความยุติธรรมและสันติภาพควรเป็นเรื่องที่มีอยู่ในใจของทุกๆ คน จะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้น และทำในภาคธุรกิจด้วย"

 

งานราตรีเพื่อสันติภาพ (Night of Peace)

เนื่องจากขณะนั้น ยส. ประสบปัญหาเรื่องเงินทุนเนื่องจากองค์กรที่ให้ทุนสนับสนุนได้ถอนตัวออกจากประเทศไทยจำนวนมาก จึงได้มีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออก ได้จัดอบรมเรื่องการระดมทุนที่มูลนิธิเซนต์คาเบรียล ซ.ทองหล่อ กรุงเทพฯ โดยเชิญผู้จัดการฝ่ายระดมทุนของ CCFD [๒] มาเป็นวิทยากร

คุณรุ่งโรจน์ "ตอนนั้นกำลังจะมีการเปลี่ยนสกุลเงินจากสกุลเงินฟรังก์มาใช้เป็นยูโร ซึ่งช่วงของการเปลี่ยนผ่านนี้จะมีเงินที่เป็นเศษซึ่งคนขี้เกียจนำไปแลกเป็นเงินยูโรได้นำมาบริจาคให้กับ CCFD จึงนำมาเป็นทุนให้กับ ยส. เนื่องจาก ยส. เขียนโครงการขอทุนลำบาก เพราะงานของ ยส. ในประเทศไทยยังไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับ สภาพระสังฆราสก็ไม่ได้ให้ทุนสนับสนุน จึงเกิดเป็นการสนับสนุนเงินตรงนี้ขึ้นมา

เราไม่ได้ใช้คำว่า "ฝ่ายระดมทุน" แต่เราใช้คำว่า "ฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วม" เราคิดว่าการทำงานหากไม่อยากช่วยเป็นเงิน ก็ให้ช่วยเป็นการทำงาน การทำงานเพื่อสันติ การทำงานเพื่อสร้างความยุติธรรม เป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ซึ่งถือว่าเป็นการระดมทุนอีกอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการระดมกำลังคนในการทำงาน"


คุณพ่อวิชัย
"สืบเนื่องจาก CCFD ให้ทุนกับ ยส. ในการจัดกิจกรรมฝึกทักษะเพิ่มศักยภาพในการระดมทุน มีการตกลงกันว่าจะหาจิตรกรที่เป็นศิลปินแห่งชาติให้ช่วยวาดภาพเพื่อทำการประมูล มีการเชิญท่านสมณทูตและทูตจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมงานด้วย"

 

การทำวิจัย "นโยบายการพัฒนากระแสหลักที่มีผลกระทบต่อชุมชน"

คุณพ่อวัชรินทร์ "มีประเด็นของรัฐบาลยุคทักษิณ ชินวัตร ในเรื่องของความเป็นชาตินิยมที่เข้าไปทำลายหมู่บ้านที่กำลังดำเนินกิจกรรมร่วมกันภายในหมู่บ้านต่างๆ มีการใช้เงินเป็นตัวตั้ง จึงได้ตั้งสมมุติฐานว่า เราน่าจะมีการศึกษางานพัฒนากระแสหลักที่เข้าไปทำลายภายในหมู่บ้านที่เคยอยู่อย่างสงบ มีกองทุนหมู่บ้านเข้าไป เป็นประเด็นที่มีความท้าทายอย่างมากว่าการพัฒนากระแสหลักเข้าไปทำลายหมู่บ้านอย่างไร"

 

การขยายงานอบรมสิทธิมนุษยชน

อบรมสิทธิในโรงเรียน /  โรงเรียนปรีชานุศาสน์ จ.ชลบุรี

คุณพ่อวัชรินทร์  "ปี ๒๕๔๖-๒๕๔๗ สภาการศึกษาคาทอลิกในขณะนั้น ประกาศสนับสนุนให้มีการเผยแพร่เรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในโรงเรียน โดยเฉพาะกับครูและนักเรียน หลายคนจะเข้าใจถึงเรื่องการเรียกร้องสิทธิ แต่เป็นประเด็นที่ว่าเราจะส่งเสริมและดำรงรักษาไว้ซึ่งคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อย่างไร มันเกี่ยวเนื่องเรื่องการอยู่ร่วมกัน การเคารพกัน ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดการเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เรื่องเพศศึกษา การเคารพความเป็นหญิงเป็นชาย ที่ต้องมีการปลูกฝังกันมาตั้งแต่เด็กๆ"

ปี ๒๕๔๘ ขณะที่คุณพ่อวัชรินทร์เป็นผู้รับใบอนุญาตดูแลโรงเรียนปรีชานุศาสน์ จ.ชลบุรี ได้เชิญทีมอบรมสิทธิมนุษยชนจาก ยส. ไปจัดอบรมให้แก่ครูของโรงเรียนทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจเรื่องสิทธิฯ และบูรณาการเรื่องสิทธิฯ สู่การเรียนการสอนในชั้นเรียน

 

งานอบรมสันติภาพและความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

คุณรุ่งโรจน์  "ได้ไปพบ อบต.ที่อำเภอหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส ได้พูดคุยกันแล้วเขาบอกว่ารู้จัก ยส. เพราะเคยเข้ารับการอบรมกับ ยส. ที่จังหวัดปัตตานี เรื่องการสร้างสันติ หลังจากอบรมแล้วมีการนำไปพูดคุยกับเยาวชนที่เข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายให้กลับมาได้มากถึงเกือบสองพันคน เนื่องจากปัญหาความรุนแรงทางภาคใต้ สื่อเขียนข่าวเกินความเป็นจริง เพราะชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังอยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุข สิ่งที่ ยส. ลงไปทำงานร่วมกับเด็ก และสตรี ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ก็ช่วยได้เยอะ"

 

*************************************

 

ไตร่ตรองและแบ่งปันประสบการณ์ ความคิดเห็น

คุณพ่อวัชรินทร์ สมานจิต

"การส่งเสริมเรื่องศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เป็นพันธกิจของการเป็นศาสนิกชนของพระศาสนจักร งานของ ยส. มีจุดยืนที่ชัดเจนในการทำงานส่งเสริมและปกป้องชีวิตมนุษย์ การส่งเสริมคุณค่าและศักดิ์ศรีมนุษย์ แต่เราจะทำในบริบทไหน หากอยู่ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีความรุนแรง เราต้องทำงานในแบบอ่อนโยนในบริบทที่เราสามารถพูดได้ แบ่งปันได้จุดยืนของ ยส. ชัดเจนแต่เราต้องมีการปรับวิธีการในบริบทใหม่ งานด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา สภาการศึกษาคาทอลิกฯ เคยมีการประกาศเป็นนโยบายแต่ไม่มีใครทำงาน เป็นงานป้องกันที่มองระยะยาวในการปลูกฝังเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตในอนาคตซึ่งเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลา

แนวทางการทำงานในอนาคตแบบที่ต้องพึ่งพาตนเอง ควรส่งเสริมการทำงานในระบบ Training of Trainer ควรทำออกมาเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้หลายๆ องค์กรต่อไป จุดสำคัญอยู่ที่การเข้าใจกระบวนทัศน์ในการทำงานพัฒนามนุษย์ กระบวนการจัดการศึกษาด้วยสิทธิอันชอบธรรม ปลูกฝังและบ่มเพาะเรื่องสิทธิด้วยความชอบธรรม"

 

คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร

ทิศทางของ Evangelization ในเอเชีย จะต้องอิง dialogue กับประชาชน ศาสนา วัฒนธรรมกระบวนการในการพัฒนาที่ต้องเผชิญกับกระแสหลัก ไม่ใช่ต้องมาจากมาร์กซิสต์ หรือมาจากเทวศาสตร์ แต่ต้องมาจากการเคารพศาสนา วัฒนธรรมของเอเชีย และค้นหารากฐานประวัติศาสตร์ข้างใน ค้นหาว่ามรดกคืออะไร ประวัติศาสตร์ของเอเชียคืออะไร ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่สำคัญมาก

ฉะนั้นหากงานของ ยส. ขาดตรงนี้ไป มันจะเหมือนขาดหัวใจหลัก เพราะไม่ได้พูดถึงรากเหง้าของประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากว่า ๕,๐๐๐ ปี ของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประชาชน กลุ่มชาติพันธุ์ หรือศาสนาก็ดี เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งจำเป็นจะต้องเอาเข้ามาเพราะเกี่ยวข้องกับศาสนสัมพันธ์ ซึ่งหัวใจหลักที่คนทำงานในพระศาสนจักรจะต้องมี Tripple Dialoque  คือ Walk humbly - Work justly -  Love kindly

คนทำงานใน local church จะต้องไปกิน ไปอยู่ กับเขา ไปเกิดอยู่ในประวัติศาสตร์ของประชาชน ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ศาสนจักรเป็นศาสนาฝรั่ง ต้องถอดศาสนาฝรั่งออกให้ได้

ฉะนั้นต้อง Incarnate - Inculturate - Indigenization ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานด้วยชีวิตกับประชาชน

 

คุณระกาวิน ลีชนะวานิชพันธ์

"จากการทำงานของ ยส. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พอมองเห็นแนวทางในอนาคตของ ยส. ได้ โดยเฉพาะในช่วง ๑๐ ปีหลัง การช่วยเหลือจากพระศาสนจักรเพียงพอหรือไม่ พระศาสนจักรให้การช่วยเหลือฆราวาสที่มีจิตใจในการทำงานอุทิศเพื่อศาสนจักรอย่างไรบ้าง และการสืบทอดบุคลากรในการทำงานในพื้นที่ต่างๆ ควรมองถึงการสืบทอดบุคลากรด้วยทั้งใน ยส. และในสังฆมณฑล เนื่องจากในหลายพื้นที่ขาดแคลนเจ้าหน้าที่"

 

คุณพ่อไพรัช ศรีประเสริฐ

"จากประสบการณ์ที่ผ่านมารวมถึงการบอกเล่าในวันนี้ มีเหตุการณ์ดีๆ เกิดขึ้น คือ การได้ตระหนักในเรื่องสิทธิมนุษยชน เห็นการเจริญเติบโตและความรับผิดชอบของสังฆมณฑล ซึ่ง ยส. เข้าไปเติมเต็มในแง่ของเนื้อหา ส่วนในเรื่องงบประมาณการทำงานต่างๆ เป็นหน้าที่ของแต่ละสังฆมณฑลที่ต้องรับผิดชอบในการจัดสรรงบประมาณ พระสังฆราชในแต่ละสังฆมณฑลต้องเป็นผู้ดูแลและให้ความสำคัญกับงานในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นงานด้านอภิบาล งานด้านการศึกษา และทุกอย่างต้องมีความสมดุล ต้องมีความตระหนักว่าภาระค่าใช้จ่ายในการทำงานเป็นเรื่องที่สังฆมณฑลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วน ยส.  ส่วนกลางให้เป็นผู้ช่วยในเรื่องของเนื้อหา นโยบาย ทิศทางว่าทำอย่างไรที่จะเป็นการช่วยผลักดัน"

 

คุณชื่นสุข อาศัยธรรมกุล

"การทำงานของ ยส. ที่ผ่านมา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รากฐานทางเทววิทยา ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ แล้วค่อยนำมาเชื่อมโยงกับบริบทของสังคมในขณะนั้น ต้องมีการเชื่อมโยงด้านเทววิทยากับการทำงานเข้าด้วยกันอย่างชัดเจน"

- ประเด็นเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่มีการเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาในระดับลึก การวิเคราะห์เชื่อมโยงเทววิทยากับบริบทสังคม ทำให้งานที่ทำออกมามีคุณภาพ และ ยส. สามารถยืนได้ด้วยตัวเองแม้จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายก็ตาม

- การประสานการทำงานด้วยท่าทีเชิงบวก ร่วมประสานการทำงาน แต่เราไม่ทิ้งประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคม การชี้ผิดชี้ถูกอย่างชัดเจน เมื่อเราเห็นว่าสิ่งใดไม่ถูกต้อง เราก็ประสานความร่วมมือกับคนอื่นในท่าทีเชิงบวก

- การจัดการความเสี่ยง งานที่ทำเป็นงานที่สัมผัสชีวิตทุกคนจริงๆ ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบาก เป็นงานที่มีความเสี่ยง แต่เราเรียนรู้การจัดการความเสี่ยงของตนเอง เพราะบางครั้งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงเรียนรู้วิธีการทำงานที่จะทำให้ตัวเราปลอดภัย ชาวบ้านปลอดภัย

การทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ ในสังคม และการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ

การระดมทุน กรรมการ ยส. ร่วมกันระดมทุนในกรณีที่มีความจำเป็น

 

คุณพ่อเดชา อาภรณ์รัตน์

การทำงานล้วนอยู่บนพื้นฐาน คืองานที่เราตัดสินใจทำคืองานอะไร อยู่ในบริบทไหน คำสอนของพระศาสนจักรจากสภาพงานที่เราเคยทำ คนของเรา รวมถึงงบประมาณ ต้องดูงานต่อไปว่าอีก ๑๐ ปีข้างหน้าเราจะเน้นงานด้านไหน

 

ข้อเสนอแนะต่อแนวทางงานด้านสังคมของพระศาสนจักรไทยในอนาคต

คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร

-   จำเป็นต้องเปลี่ยน ต้องคิดเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ และพ้นจาก Methodology เดิม ซึ่งต้องเข้าใจ Process ของมนุษย์ การออกจาก→ไปสู่  ยส. ต้องตระหนักจริงๆ ว่า เรากำลังจะอยู่ใน Process อะไร และเครื่องมือของเราจะทำให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น ซึ่ง ยส. เป็นเหมือนคอมมานโด (Commando) เป็นตัวเดินไปข้างหน้าต้องเผชิญกับหลายอย่าง เราต้อง Contextualize ทำความเข้าใจกับบริบทที่เป็นอยู่ปัจจุบันให้กระจ่าง ขณะนี้เรากำลังเดินทางออกจากพันปีที่สอง เข้าสู่พันปีใหม่ เราต้องทำ Process/Pedagogy สำหรับพันปีใหม่ ที่จะเกิด New Civilization ที่จำเป็นต้องคิดใหม่หมด เพราะโครงสร้างเดิมในกรีกเป็น Dominant Structure แต่การไปเป็นพันธสัญญากับพระเจ้า เป็นการสร้างบัญญัติใหม่ เป็นพันธสัญญาใหม่ที่หลุดออกจากบัญญัติเก่าในอียิปต์ ซึ่งอารยธรรมของพันปีที่สาม (ไม่ใช่ศตวรรษที่ ๒๑) ยส. ต้องเป็น Pioneer/Commando ที่ไม่มีภาระที่แบกหนักเกินไป และต้องคิดให้ละเอียดในเรื่อง Methodology การจะเปลี่ยนจากพันปีที่สองไปสู่พันปีที่สามเป็นความท้าทาย (Challenge) ที่ต้องการคนที่มีความเชื่อ

-  คอมมานโดเป็นหัวใจ เป็นคนที่ถูกส่งมาเป็นพิเศษ ที่สามารถสละชีวิตเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องไปในที่ๆ คนไม่อยากไป ต้องหลุดออกจากสถาบันที่ทำให้เราต้องแบกหนัก (ที่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องงบประมาณ, การก่อสร้างวัตถุ)  และการที่จะสร้างพระสงฆ์ให้หลุดออกจากสถาบันได้ต้องมีการเปลี่ยนบทบาทของคนที่จะทำงาน ซึ่งคณะเยสุอิตที่อินเดียได้ทำวิจัยว่าจะไม่สร้างพระสงฆ์ให้เป็นบุคลากรของสถาบัน (Institution) แต่จะให้เณรไปอยู่กับชาวบ้าน ให้คิด รู้สึก ให้มีความต้องการอันเดียวกันกับชาวบ้าน เป็น Organic Intellectual of the People เป็นนักคิดของชาวบ้าน ยส. เป็นคอมมานโด จะต้องลงไปทำอย่างนี้ ไปสร้าง Organic Intellectual และต้องมีการเปลี่ยนบทบาทของคนที่จะทำงาน Justice and Peace ซึ่งมีการทำวิจัย และได้ Implement แล้วทางภาคใต้

-  การทำงานต้องมีกายสำนึก (Incarnate) ไม่ใช่แค่จิตสำนึก ต้องทำการเปลี่ยนแปลง (Transform)  กรอบความคิดทั้งหมดของพระศาสนจักร (Church) ก่อน ไม่ใช่เป็นเพียง Office for Justice and Peace แต่ยส.เป็น Movement เป็นคอมมานโด

-  เราต้องฟื้นพระศาสนจักร ต้องดึงเอาแรงบันดาลใจ (Inspiration) ของแต่ละคนมารวมกันเป็น Partner ที่จะร่วมกันเดินไปเพื่อที่จะเป็นคอมมานโด ซึ่ง Justice and Peace เป็นคอมมานโด และแต่ละคนเป็น Specialist

- คำสอนทางสังคมของพระศาสนจักรในไทย บอกไว้ว่า มีปัญญาชนซึ่งเป็นประกาศก และคำพวกนี้ต้องกลับมา คำว่า Justice and Peace ต้องมีการ Define ความหมายให้ครบถ้วนในบริบทใหม่ คำว่า "ปัญญาชนคาทอลิกเป็นประกาศก" หมายถึง เรากำลังจะบอกให้ประชาชนรู้ว่า จะมีภัยเกิดขึ้น และพวกเขาอยู่รอดได้เพราะมีความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า

- เราต้องคิดจากฐานของประสบการณ์ ประวัติศาสตร์ของความเชื่อว่า เราจะต้องเป็นแบบนั้นในท่ามกลางของห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง (Transition)

- ยส.เป็นองค์กรที่จะทำให้เกิดพลังขับเคลื่อนไปในระดับสังฆมณฑล เป็นตัวที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า ต้องไม่ใช่คนไปทำแทนพระศาสนจักร แต่ไปทำให้เขาตื่น ต้องคิดถึงวิธีการทำงานตรงนี้ให้ได้ ซึ่งเป็นวิธีคิดสูงสุด และเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญมาก ต้อง Bold Revolution of Culture ต้องเปลี่ยน Culture ของศักดินา ซึ่งพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทำให้เห็นแล้วถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้นำที่ออกไปหาคนยากจน ไปฟังเสียงและได้กลิ่นแกะ

- ยส. ต้อง Define บทบาทใหม่และงานจะไม่หนัก บทบาทของเราต้องไม่กว้างเกินกว่าที่เราจะไปได้ แต่เราต้อง Focus Group ให้ได้ และเคลื่อนให้ชัด ให้ดูว่าใครที่จะเดินสายนี้บ้าง และขับเคลื่อนไปอย่างเป็นกระบวนการ ทำให้เขาลงไปสู่จิตวิญญาณของ Exodus อย่างแท้จริง และลงสมอในพระเยซูเจ้าด้วยชีวิตของการเป็นประกาศกที่ออกจากตนเอง

- ต้องกำหนดบทบาทของพระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆ (ไม่ใช่ของเรา) ถ้าพระศาสนจักรไม่เปลี่ยน การประกาศข่าวดีก็ไม่มีความหมาย เพราะวิกฤติ (Crisis) ครั้งนี้สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เรากำลังมาถึง the point of no return จะเป็น Extinction ครั้งที่ ๖ ถ้าเราไม่เป็น คอมมานโด ประกาศให้เขากลับใจ คือการไปอยู่ท่ามกลางคนยากจน

- เราต้องจำกัดบทบาทของเราให้มากขึ้น และ Focus เหมือนกับเอากระจกส่องดวงอาทิตย์เพื่อจุดไฟ นั่นแหละคือพลังของคอมมานโดที่หาพลังพระสงฆ์นักบวชในพื้นที่มาเป็นหัวหอกทำงานเพื่อประชาชน

 

กระบวนการสร้างแรงบันดาลใจและเปลี่ยนแปลงตนเองในการทำงานด้านสังคม [๓]

๑.      แรงดึง (Pulling Motivation) จากสถานการณ์ปัญหาภายนอก เป็นแรงจูงใจที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก หรือปัญหาต่างๆ ที่สะท้อนใจเรา ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะแก้ปัญหา 

๒.     แรงผลัก (Pushing Motivation) จากการแสวงหาความรู้ความเข้าใจความจริงที่เกิดขึ้นหมายถึง มีความรู้ความเข้าใจสังคมโลก เมื่อเห็นชุมชนหรือชาวบ้าน สังคม ร่วมกันดิ้นรนต่อสู้ที่จะแก้ไขปัญหา ทำให้ต้องศึกษาค้นคว้าหาความรู้ หาสาเหตุแห่งปัญหานั้น  

๓.     แรงจูงใจโดยตรง (Direct Motivation) ประสบการณ์ตรงโดยตัวเอง ในการร่วมดิ้นรนต่อสู้ในชีวิต ซึ่งก็เป็นปัญหาชีวิตของตัวเอง

๔.     แรงหนุน (Supportive Motivation) จากความเชื่อ ความศรัทธาในศาสนา หลักธรรมคำสอน และจากวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ของประชาชนในประวัติศาสตร์ เป็นแรงหนุน เป็นตัวอธิบายความหมายของชีวิตเรา

๕.     แรงบันดาลใจจากภายในด้านลึกของเรา (Inner Motivation) พลังภายใน สัมผัสกับสัจธรรมภายใน เป็นปัญญาญาณ เป็น Wisdom ภายใน เป็นความรู้แจ้งภายในตน

เมื่อเราผ่านกระบวนการทั้ง ๔ มาแล้ว เราจะใช้เวลารำพึงภาวนาด้านลึก เป็นกระบวนการไตร่ตรองที่เรียกว่า Contemplation จะก่อให้เกิดการสัมผัสความจริง และสิ่งที่พบก็จะเป็นแรงบันดาลใจจากภายในด้านลึกของเรา และมันจะเป็นพลังด้านในที่ทำให้เราออกไปข้างนอกอีกครั้งหนึ่งในการร่วมชีวิตกับชุมชน สังคม โลก เพื่อเปลี่ยนแปลงโลกจากภายใน  (Experience with God / Inner/Deep Contemplative) เข้าถึงขั้นในสุด 

๖.      เป็นกระบวนการเดินทางออกไปสู่ภายนอก (Outward Journey) ไปสู่กระบวนการทำงานเพื่อก่อเกิด การเปลี่ยนแปลงสังคมโลกที่เป็นอยู่ ที่ถูกกระบวนการกระแสหลักผลักดันในการพัฒนา และให้เรามี Conscious of Universe หรือจิตสำนึกแห่งสากลจักรวาล

 

กระบวนการจากขั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๕ Inner Journey ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเอง (เป็น Self-Transformation) ทั้ง ๕ องค์ประกอบ เป็นการเดินทางเข้าไปข้างใน และจากนั้นก็ต้องเดินทางออกสู่ภายนอก และกระบวนการทั้งเข้าในและออกนอกเป็นสิ่งที่จะต้องทำต่อเนื่องตลอดไปในชีวิตของเรา

 

คุณพ่อสุวัฒน์ เหลืองสะอาด

สรุปสิ่งที่คุณพ่อนิพจน์ได้แนะนำ คือเรื่องกระบวนการต้องคิดอย่างละเอียดอ่อน ต้องถอดบทเรียน ต้องหลุดจากกรอบโครงสร้าง และส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายมากกว่าสถาบัน สำหรับบทบาทของ ยส.ต้องทำงานเหมือนหน่วยคอมมานโดที่จะต้องทำงานจู่โจมอย่างรวดเร็ว และต้องทำให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ (Specialist) ด้านยุติธรรมและสันติ (Justice and Peace) จริงๆ

 

คุณรุ่งโรจน์ ตั้งสุรกิจ

-          ยส. ควรมีคณะกรรมการที่เป็นทีม  Think Tank  และ ยส.เป็น Commando ที่ยอมสละ พร้อม

ตาย ที่ไม่ได้หมายถึงต้องการไปตาย แต่พร้อมเสี่ยง เป็นหัวหอกที่จะบุก ลุย  เป็นหอกที่มีเครื่องมือในการลับให้หอกแหลมคมขึ้น มีทักษะที่จะปกป้องตัวเองให้พร้อมลุยไปข้างหน้า

งานของ ยส. ช่วง ๓ ปีหลัง ยส. เริ่มโฟกัสเรื่องบทบาทของ ยส. มากขึ้น ส่วนเรื่องพระสงฆ์ นักบวชเป็นเรื่องของการสืบทอดบุคลากรที่จะมาเป็นหัวหอกและช่วยเราทำงานในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งงาน ยส. ในแผน ๓ ปีหน้า จะมีการสืบทอดบุคลากรให้มีหัวหอกมากขึ้น โดยจะมีการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ กระบวนการ และวิธีการ

 

ซิสเตอร์ศรีพิมพ์ ซาเวียร์

งานของ ยส. บางอย่างต้องมีหน่วยงาน/พระสงฆ์ที่จะช่วยให้งานเคลื่อนด้วยนอกเหนือจากการทำงานกันเอง และจะทำอย่างไรที่จะมีพระสงฆ์ นักบวชที่ได้รับการอบรม ที่มาจากการเข้าไปสู่รากหญ้า/พื้นฐานที่ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ เราต้องมองไปข้างหน้าว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะเป็นประกาศกจริงๆ  ซึ่งเราอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องเป็นความเปลี่ยนแปลงนั้นเอง และการเปลี่ยนแปลงแบบ Bold Cultural Revolution ต้องมีแนวร่วมจากหลายฝ่ายช่วยกัน

 

คุณนริศ มณีขาว

ควรรวบรวมและเผยแพร่ผลงานต่างๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ยส. ทั้งเรื่องเทววิทยา (Theology), พลังชีวิตภายใน (Spiritual) กระบวนการ (Process) และวิธีการ (Methodology) เพื่อเป็นตัวอย่างและสืบทอดแก่คนทำงานรุ่นใหม่ๆ ต่อไป

 

คุณอัจฉรา สมแสงสรวง

ในแผน ๓ ปี หรือ ๖ ปีข้างหน้า ที่จะช่วยพระศาสนจักรในการมี Change Agent  เราต้องมีกิจกรรมรองรับ และใช้รูปแบบ Participation Action ที่ทำงานกับ Disac ต้องให้งานพัฒนามีมิติ Justice and Peace เข้าไป ซึ่งระยะหลัง ยส. กำลังทำให้ผู้ที่รับผิดชอบงานยุติธรรมและสันติของสังฆมณฑลท่าแร่ทำงานกับชาวบ้านและปัญหาในพื้นที่มากขึ้น และจากการที่ ยส. ไปให้กำลังใจผู้นำชุมชนที่อยู่ในภาวะของความเสี่ยง  พระสงฆ์ที่ดูแลยุติธรรมและสันติของท่าแร่ได้มาร่วมพูดคุยด้วย จึงเห็นว่าเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญที่ได้เห็นพระสงฆ์ที่ดูแลงานยุติธรรมและสันติมีความกระตือรือร้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามช่วงเวลาของมันจากความยุ่งยากของประชาชน

งานของ ยส. เกี่ยวข้องกับการสืบทอดบุคลากร หลักคิดต่างๆ ในการเปลี่ยนกระบวนทัศน์  และต้องคิดถึงกระบวนการ Methodology/Pedagogy ที่จะทำให้เกิดขึ้นมา เป็นการวางแผนงานในระยะ ๓ ปี ที่มีความต่อเนื่องของงาน เรื่องแนวคิดทางศาสนา เป็นกิจกรรมอย่างเป็นทางการ และการทำงานกับ Disac บนพื้นฐานของปัญหาประชาชน ก็ยังต้องทำอยู่ และงานประสานร่วมมือกันเพื่อพระศาสนจักรโดยรวม

 

 


[๑] ท่านลาบาเย็น หรือ Bishop Julio Labayen แห่งสังฆมณฑล Infanta, Phillippines, ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง Office for Human Development

[๒] CCFD ย่อมาจาก Comite' Catholique Contre la faim et pour le d'eveloppement  ชื่อหน่วยงานคาทอลิกเพื่อการพัฒนา ประเทศฝรั่งเศส

[๓] จาก รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์ ชุดโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น "การเสริมพลังสร้างสำนึกในการพัฒนาอาชีพและเศรษฐกิจเชิงจิตวิญญาณเพื่อการดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีบนแผ่นดินเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน โดย บาทหลวงนิพจน์ เทียนวิหาร และคณะ

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >