หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 170 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร : ยุคคนเกิดน้อย ตายยาก แล้วจะสร้างพลังครอบครัวที่ยั่งยืนได้อย่างไร พิมพ์
Thursday, 17 August 2017


จากวารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ ๑๐๔ (พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐)

  


ไทยมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร :
ยุคคนเกิดน้อย ตายยาก
แล้วจะสร้างพลังครอบครัวที่ยั่งยืนได้อย่างไร

ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี เรียบเรียง/สัมภาษณ์ 

 



ในช่วงหลายปีมานี้ ในแวดวงการทำธุรกิจ การตลาด และผู้บริหารองค์กรชั้นนำ ต่างให้ความสำคัญกับการแบ่งกลุ่มคนออกเป็นเจนเนอเรชั่นต่างๆ ตามที่นักวิชาการชาติตะวันตกได้ศึกษาและแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็นรุ่นต่างๆ ตามช่วงอายุ เพื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การแสดงออกของคนในสังคมแต่ละรุ่นอย่างชัดเจน ซึ่งการจำแนกรุ่นเช่นนี้ส่งผลดีต่อการศึกษาในหลายๆ ด้าน ทั้งด้านสังคมศาสตร์ จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ต้องศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อวางแผนงานธุรกิจ การตลาด การขาย การประชาสัมพันธ์ รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เข้าใจผู้คนในวัยต่างๆ ได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ซึ่งการแบ่งคนออกเป็นแต่ละยุค แต่ละเจนเนอเรชั่นนั้น ก็มีตั้งแต่ รุ่นแรก คือ ลอสท์ เจนเนอเรชั่น (Lost Generation) ซึ่งเป็นคนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๖-๒๔๔๓ รุ่นที่ ๒ เกรทเทสต์ เจนเนอเรชั่น (Greatest Generation) คนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๔๔-๒๔๖๗  รุ่นที่ ๓ ไซเล้นท์ เจเนอเรชั่น (Silence Generation) คนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๘๘  รุ่นที่ ๔ เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) เจนเนอเรชั่นบี (Generation B) หรือคนเจนบี (Gen B) คนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙-๒๕๐๗  รุ่นที่ ๕ เจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X) หรือคนเจนเอ็กซ์ (Gen X) คนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๒๒   รุ่นที่ ๖ เจนเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือคนเจนวาย (Gen Y) คนที่เกิดตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓-๒๕๔๐ และรุ่นที่ ๗ เจนเนอเรชั่นซี (Generation Z) หรือคนเจนซี (Gen Z) คนที่เกิดหลังปี พ.ศ.๒๕๔๐ มาถึงปัจจุบัน

เราจะเริ่มจากการไปทำความรู้จักผู้คนในแต่ละเจนเนอเรชั่นกันก่อน ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะยุคเบบี้บูมเมอร์ หรือเจนเนอเรชั่นบี, เจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ และเจนเนอเรชั่นซี ทั้งนี้ก็เนื่องจากประชากรเหล่านี้ยังมีชีวิตอยู่และมีบทบาทสำคัญในฐานะแรงงานที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในยุคปัจจุบันนี้

เริ่มกันที่ ยุคเบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) เราเรียกคนที่เกิดในยุคนั้นว่า เจนเนอเรชั่นบี (Generation B)  หรือ คน Gen B เนื่องจากยุคนั้นเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ต้องมีการบูรณะฟื้นฟูประเทศกันขนานใหญ่ ประกอบกับผู้คนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก จึงขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนมีลูกกันหลายๆ คน เพื่อสร้างแรงงานขึ้นมาพัฒนาประเทศ จึงเป็นที่มาของคำว่า "เบบี้บูมเมอร์"

คนเจนบีมีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์กติกา มีความอดทนสูง ทุ่มเทให้กับการทำงานและองค์กรมาก ถูกครอบครัวสั่งสอนให้ประหยัดอดออมจึงใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและรอบคอบ คนเจนบีเป็นนักอนุรักษ์นิยม เคร่งครัดในธรรมเนียมประเพณี  

 คนเจนบีปัจจุบันคือ คนที่มีอายุตั้งแต่ ๕๓-๗๑ ปี ซึ่งเข้าสู่วัยเกษียณ และเป็นผู้สูงวัย ซึ่งจัดว่าเป็นวัยที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดในขณะนี้ ดังที่ข้อมูลล่าสุดพบว่า ประชากรสูงวัยที่อายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มีสัดส่วนถึง ๑๖ เปอร์เซ็นต์ และไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก ๔ ปีข้างหน้านี้ (ปี ๒๕๖๔)

ต่อมาเป็น ยุคเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ (Generation X) หรือ คน Gen X เกิดมาในช่วงที่โลกพัฒนาขึ้นในทุกด้าน ทั้งเรื่องเครื่องจักรอุตสาหกรรม และความทันสมัยด้านเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์ คนเกิดยุคนี้เป็นผลิตผลของนโยบายส่งเสริมให้มีลูกจำนวนมากๆ ส่งผลให้ประชากรล้นเกิน กลายเป็นกระแสตีกลับยุคเบบี้บูมเมอร์ มีการควบคุมอัตราการเกิดของประชากร รัฐบาลต้องออกนโยบายวางแผนครอบครัวโดยการคุมกำเนิด ใครที่เกิดทันยุคนั้นอาจยังพอจำเนื้อเพลงที่เปิดทางวิทยุเสียงตามสาย รณรงค์ให้คนไทยคุมกำเนิด มีลูกให้น้อยลง กรอกหูทุกวันว่า "มีลูกมากจะยากจน เลี้ยงดูแต่ละคนเหนื่อยอ่อนใจ กว่าลูกน้อยจะเติบใหญ่ หาได้เท่าไหร่ก็ใช้ไม่พอ" 

คนเจนเอ็กซ์ชอบอะไรง่ายๆ ไม่เป็นทางการ มีแนวคิดและลักษณะการทำงานแบบรู้ทุกอย่างและชอบทำทุกอย่างเพียงลำพัง เป็นตัวของตัวเองสูง มีความคิดเปิดกว้างและสร้างสรรค์ คนเจนเอ็กซ์ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลของงานกับครอบครัว ไม่ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีมากนัก มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป เช่น มองว่าการอยู่ก่อนแต่ง หรือการหย่าร้างเป็นเรื่องปกติ เช่นเดียวกับเรื่องเพศที่สาม

คนเจนเอ็กซ์ปัจจุบัน คือคนที่อายุ ๓๘ ปีขึ้นไปจนถึง ๕๒ ปี ซึ่งล้วนแต่อยู่ในวัยทำงานที่เป็นหัวหน้าสายงาน สร้างเนื้อสร้างตัวจนมีฐานะการงานที่มั่นคงแล้ว เริ่มสร้างครอบครัวของตนเอง เป็นพ่อแม่ที่ลูกอยู่ในวัยเรียนและวัยทำงาน คนเจนเอ็กซ์นิยมมีลูกเพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น  และมีอีกมากที่คู่สามีภรรยาเลือกที่จะไม่มีลูก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป ผู้คนต้องดิ้นรนทำมาหากิน ประกอบกับคนเจนเอ็กซ์ส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงขึ้น ผู้หญิงเจนเอ็กซ์จำนวนมากเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นผู้หารายได้หลักของบ้าน อยู่เป็นโสด ไม่แต่งงานมากขึ้น

มาถึงยุคเจนเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือ คน Gen Y ซึ่งเป็นผลผลิตของคน Gen B และคน Gen X   คน Gen Y เติบโตมาท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและค่านิยมที่แตกต่างกันระหว่างปู่ย่าตายาย Gen B และพ่อแม่ Gen X เด็กยุคนี้มักถูกตามใจตั้งแต่ยังเล็ก ได้ในสิ่งที่พ่อแม่ไม่ค่อยได้ เป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ชอบถูกบังคับให้อยู่ในกรอบ เนื่องจากอยู่ในยุคไอที คนยุคนี้จึงคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ต ชอบงานด้านการติดต่อสื่อสารและใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เนื่องจากเติบโตมาพร้อมกับการประชุม ถูกฝึกให้ระดมความคิดเห็น ต้องการความชัดเจนในการทำงานว่าสิ่งที่ทำมีผลต่อตนเองและต่อหน่วยงานอย่างไร จึงชอบทำงานเป็นทีมมากกว่าวันแมนโชว์แบบคนเจนเอ็กซ์

คนเจนวายให้คุณค่าในการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวแตกต่างไปจากคนยุคก่อนๆ เป้าหมายชีวิตของคนเจนวายมิใช่เพียงค่าตอบแทนที่เหมาะสมและการงานที่มั่นคง แต่ต้องมีความท้าทาย ตอบสนองความต้องการและความสนใจของพวกเขาด้วย ดังนั้นรูปแบบการทำงานที่ตายตัว เช่น เวลาเข้า-ออกงาน และสถานที่ทำงาน จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่คนเจนวายผู้รักอิสระจะตัดสินใจอยู่หรือไปจากองค์กร คนเจนวายจึงมีโอกาสเปลี่ยนงานง่ายกว่าคนเจนอื่น นี่จึงเป็นสัญญาณเตือนให้องค์กรต่างๆ เข้าใจคนทำงานเจนวายให้มากขึ้น เพื่อดึงประชากรรุ่นนี้ให้อยู่ในที่ทำงานอย่างเต็มใจและนานขึ้น

คนเจนวายปัจจุบัน คือคนที่มีอายุตั้งแต่ ๒๐-๓๗ ปี กำลังเติบโตอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายและวัยทำงาน จำนวนประชากรคนเจนวายมีอยู่ประมาณ ๑๙ ล้านคน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติอยู่ในขณะนี้ และจากการคาดประมาณประชากรไทยระหว่างปี ๒๕๕๓-๒๕๗๓ คนทำงานเจนวายจะมีสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ ๔๓-๔๖ ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมดของประเทศ โดยค่อยๆ ขึ้นมาทดแทนกำลังแรงงานเจนบี และเจนเอ็กซ์ที่จะเกษียณอายุออกไปจากตลาดแรงงาน

แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ คนไทยเจนวายมีความรู้ด้านการเงินในระดับที่ต่ำกว่าคนเจนวายทั่วโลก [๑]  ยังมีนิสัยใช้จ่ายโดยไม่เก็บออม ก่อหนี้สินเกินตัว เป็นหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งไม่เพียงจะสร้างปัญหาเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังอาจสร้างปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมต่อไปในอนาคตได้

ในขณะที่ยุคเจนเนอเรชั่นซี (Generation Z) หรือ คน Gen Z ก็เป็นผลผลิตของคนยุคเจนเอ็กซ์และคนเจนวาย พวกเขาคือเด็กๆ ตั้งแต่วัยแรกเกิด ไปจนถึงนักเรียนนักศึกษา วัยรุ่น เยาวชนคนรุ่นใหม่ เด็กเจนซีเติบโตมาพร้อมกับเครื่องมือสิ่งอำนวยความสะดวกนานัปการ จึงเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีได้เร็ว พวกเขาเกิดมาพร้อมกับของเล่นชิ้นเดียวนั่นก็คือ โทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ที่เชื่อมโลกทั้งใบให้มาอยู่ตรงหน้าได้ทุกอย่าง เพียงแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือไวไฟ (wifi) ทั้งสาระความรู้ และความบันเทิงในรูปแบบที่ต้องการ แต่จะเป็นประโยชน์หรือโทษนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เด็กเจนซีส่วนใหญ่เติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูจากพี่เลี้ยง หรือปู่ย่าตายาย เนื่องจากพ่อแม่ต้องดิ้นรนทำงานเพื่อความอยู่รอดของครอบครัว เด็กเจนซีจึงคุ้นเคยกับการที่พ่อแม่ออกไปทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ต่างจากคนรุ่นก่อนที่พ่อเป็นหัวหน้าครอบครัว แม่เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก หลายๆ ครอบครัวปล่อยลูกไว้กับเทคโนโลยี เด็กเจนซีถูกเลี้ยงมาด้วยเงิน และวัตถุสิ่งของ มากกว่าความอบอุ่นจากอ้อมกอดของพ่อแม่

เห็นได้ว่าการเข้าใจคนแต่ละเจนเนอเรชั่นนี้ นอกจากช่วยให้เราเข้าใจถึงพฤติกรรม และอิทธิพลแวดล้อมต่างๆ ที่มีผลต่อวิถีชีวิต การดำเนินชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนในบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว  ยังมีผลต่อทิศทางการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตเลยทีเดียว!

 

เกิดน้อย ตายยาก โครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนไป

จะเรียกว่าเป็นความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว?) ของนโยบายคุมกำเนิดที่ดำเนินมาในแต่ละยุคสมัย เมื่อภาพสะท้อนจากนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้เห็นได้จากจำนวนประชากรไทยหลังปี พ.ศ.๒๕๑๓ ที่รัฐบาลมีนโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติ [๒] แม้จำนวนประชากรยังคงเพิ่มขึ้น แต่กลับเป็นการเพิ่มในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ คือ ในปี ๒๕๑๗ มีประชากร ๔๑.๕ ล้านคน ปี ๒๕๒๓ มีประชากร ๔๖.๙ ล้านคน ปี ๒๕๓๒ มีประชากร ๕๕.๘ ล้านคน ปี ๒๕๔๓ มีประชากร ๖๐.๖๑ ล้านคน และปี ๒๕๕๒ มีประชากร ๖๓.๔ ล้านคน หรือหากดูจากสถิติการเกิด ช่วงปี ๒๕๐๖-๒๕๒๖ ที่เกินกว่าปีละ ๑ ล้านราย หรือจำนวนเด็กเกิดเฉลี่ยนาทีละ ๓ ราย แต่ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ เป็นต้นมา สถิติการเกิดค่อยๆ ลดลงต่ำกว่าปีละ ๑ ล้านราย [๓]

เมื่อมาดูข้อมูลสถิติปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย พบว่า ปัจจุบัน ไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละประมาณ ๗๗๐,๐๐๐ คน ในขณะที่มีคนตายเฉลี่ยปีละ ๔๐๐,๐๐๐ คน เท่ากับเกิดมากกว่าตายประมาณ ๓๗๐,๐๐๐ คนต่อปี หรือคิดเป็นอัตราเพิ่มตามธรรมชาติ (เกิดลบตาย ไม่รวมย้ายถิ่น) ราวๆ ๐.๖% ต่อปี และจากอัตราการเจริญพันธุ์ที่อยู่ในระดับต่ำลงเรื่อยๆ คือ ปี ๒๕๐๗ ค่าเฉลี่ยหญิงไทย ๑ คน มีลูก ๖ คน มาถึงปี ๒๕๕๗ หญิงไทย ๑ คน มีลูกเพียง ๑-๒ คนเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอที่จะทดแทนอัตราการเป็นพ่อและแม่ในอนาคตได้ รวมไปถึงอายุเฉลี่ยคนไทยที่มีอายุยืนยาวขึ้นโดยเฉพาะผู้หญิง นับจากปี ๒๕๐๗ อายุเฉลี่ยผู้ชายอยู่ที่ ๕๖ ปี ผู้หญิง ๖๒ ปี มาถึงปี ๒๕๕๗ อายุเฉลี่ยผู้ชาย ๗๒ ปี ผู้หญิง ๗๘ ปี และเมื่อคาดการณ์ต่อไปถึงปี ๒๕๘๓ ผู้ชายจะมีอายุเฉลี่ย ๗๕ ปี ส่วนผู้หญิงจะมีอายุยืนยาวถึง ๘๒ ปี

ปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัย โดยมีประชากรวัยเด็กลดลง ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนวัยแรงงานกลับมีแนวโน้มลดลงเช่นนี้ ย่อมส่งผลต่อศักยภาพการเจริญเติบโตของประเทศให้ถดถอยลง

ใช่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันนี้รูปแบบครอบครัวไทยก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากเดิมครอบครัวไทยเป็น ครอบครัวขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย พ่อแม่ ปู่ย่า/ตายาย และลูกหลานอยู่กันหลายๆ คน แต่ปัจจุบันครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง แต่มีความหลากหลายรูปแบบมากขึ้น

ดังที่กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand)  และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.๒๕๕๘ เรื่อง "โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน" ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลโดยอ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยผลสำรวจระบุว่า ปัจจุบันครอบครัวไทยมีความหลากหลายมากขึ้น และที่สำคัญ องค์ประกอบของครอบครัวตามแบบแผนเดิมๆ คือ ครอบครัวเดี่ยวซึ่งเคยเป็นรูปแบบครอบครัวไทย กลับไม่ใช่รูปแบบหลักของสังคมไทยอีกต่อไปแล้ว เห็นได้จากสถิติในช่วง ๒๖ ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.๒๕๓๐-๒๕๕๖) ลดลงจาก ๕๒.๔% เหลือ ๒๖.๖%

 กลายเป็นว่า รูปแบบ ‘ครอบครัว ๓ รุ่น' คือ ปู่ย่า/ตายาย-พ่อแม่-ลูก/หลาน มีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น ๓๓.๖%  อันดับสอง คือ ‘ครอบครัวพ่อแม่ลูก' อยู่ที่ ๒๖.๖%  อันดับสาม คือ ‘คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตร' ๑๖.๒%  เพิ่มขึ้นประมาณ ๓ เท่าจากการสำรวจครั้งก่อนอยู่ที่ ๕.๖%  อันดับสี่ คือ ‘ครัวเรือนอยู่คนเดียว' ๑๓.๙%  จากเดิม ๖.๑%  อันดับห้า คือ ‘ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว' ๗.๑%  หรือคิดเป็น ๑.๓๗ ล้านครัวเรือน จากเดิม ๙.๗ แสนครัวเรือน  และในจำนวนนี้มีถึง ๘๐% ที่เป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว  อันดับหก คือ ‘ครัวเรือนข้ามรุ่น' ซึ่งมีเพียงปู่ย่า/ตายายที่อยู่กับหลาน โดยพ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ๒.๑% และอันดับสุดท้ายคือ ‘ครัวเรือนที่ไม่ใช่ญาติ' ๐.๖%

ซึ่งรูปแบบครอบครัวที่หลากหลายนี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ การหย่าร้าง คู่สามีภรรยาที่ไม่ต้องการมีลูก ภาวะการมีบุตรยาก ความอิสระของความรักเพศเดียวกัน เหล่านี้ย่อมสะท้อนถึงทัศนคติ ค่านิยม รูปแบบการดำเนินชีวิต และปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมของผู้คนในยุคสมัยนี้

 

ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว - ครอบครัว ๓ รุ่น - ครอบครัวข้ามรุ่น

 : รูปแบบครอบครัวยุคใหม่ที่อ่อนแอและเปราะบางทางเศรษฐกิจ

จากงานวิจัย "พลังครอบครัว : อิทธิพลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของครัวเรือน" [๔] ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบครอบครัว รวมถึงปัจจัยที่สะท้อนถึง "พลังครอบครัว" ว่าส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของครอบครัวมากน้อยเพียงไร ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อนำผลการศึกษานี้มาใช้วางแนวทางในการกำหนดนโยบายเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีความเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรงเป้าหมาย และสอดคล้องกับความเป็นจริง โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Household Socio Economic Survey) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี ๒๕๔๙, ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๘ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา

จากการศึกษาวิจัยพบว่ารูปแบบครอบครัวที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ครอบครัวพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวซึ่งเป็นครอบครัวที่มีความเปราะบางมากที่สุด โดยเฉพาะครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า ๑๕ ปี) มากกว่า ๒ คนขึ้นไป และครอบครัว ๓ รูปแบบ คือ ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว, ครอบครัว ๓ รุ่น และครอบครัวข้ามรุ่น โดยเฉพาะถ้าครอบครัว ๓ รูปแบบนี้ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองก็จัดเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุด

ดร.สวรัย บุณยมานนท์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในผู้ทำการศึกษาวิจัย ให้รายละเอียดถึงผลการวิจัยนี้ว่า  "จากการศึกษาพบว่า ดัชนีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของครอบครัวในภาพรวมทั้งประเทศอยู่ระดับค่อนข้างต่ำ คืออยู่ที่ประมาณร้อยละ ๑๔ ถึง ๑๗ เท่านั้น จากเต็ม ๑๐๐ แต่แนวโน้มก็ดีขึ้นทุกๆ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ มา ๒๕๕๔ และ ๒๕๕๘ โดยพบว่ามีบางครอบครัวที่พบว่าคะแนนความยั่งยืนหรือความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของครอบครัวเขาอยู่ในระดับที่สูงมาก คือ มากกว่า ๙๐ ก็มี ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวต่ำหมด คือ ค่าพิสัย [๕] (range) มันกว้างมาก แสดงให้เห็นว่าครอบครัวไทยมีระดับความยั่งยืนทางเศรษฐกิจที่แตกต่างค่อนข้างมาก บางครอบครัวก็อ่อนแอมาก แต่บางครอบครัวก็มีความเข้มแข็งมาก"   

"หลังจากนั้นเราก็มาศึกษาดูว่า ลักษณะของครัวเรือนมีความเปลี่ยนแปลงไปไหม เราพบว่า โครงสร้างองค์ประกอบ และรูปแบบของครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ครอบครัวที่มีสัดส่วนมากที่สุดก็คือ ครอบครัวเดี่ยวที่ประกอบด้วย พ่อแม่และลูกเท่านั้น แต่สัดส่วนนี้เริ่มลดลงเรื่อยๆ จากปี ๒๕๔๙ มีประมาณ ๑ ใน ๓ ของครอบครัวทั้งหมด แต่พอปี ๒๕๕๘ พบว่า เหลืออยู่ ๑ ใน ๔ คือจากประมาณ ๓๓% ก็ลดลงเหลือประมาณ ๒๕%"

          "ครอบครัวที่มีแนวโน้มจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ครอบครัวที่มีเฉพาะสามีและภรรยา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอีกรูปแบบของครอบครัวที่น่าสนใจคือ ครัวเรือนที่มีสมาชิกเพียงคนเดียว มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่ประมาณร้อยละ ๑๙  นอกจากนี้เรายังพบว่า ครอบครัวที่มีสมาชิก ๓ รุ่นขึ้นไป คือ มี ๓ เจนเนอเรชั่น ทั้งปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ และรุ่นลูก มีสัดส่วนที่ลดลง"

"ผลการศึกษาส่วนถัดมา เราต้องการดูว่า พลังครอบครัวที่มี ๔ มิตินั้น แต่ละมิติส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง มิติแรก ที่เราพิจารณาเรื่องรูปแบบโครงสร้าง และองค์ประกอบของครัวเรือน  พบว่า รูปแบบครัวเรือนที่มีแนวโน้มความยั่งยืนทางเศรษฐกิจน้อยที่สุดคือ กลุ่มครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว คำว่า "ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว"  เราจะเน้นเฉพาะกลุ่มที่มีเพียงพ่อหรือแม่ที่อยู่กับลูกเท่านั้น ซึ่งพบว่า กลุ่มครอบครัวลักษณะนี้มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจมากที่สุด โดยเฉพาะครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกจำนวนมาก มีแนวโน้มที่จะมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจมากกว่า เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถทำงานหารายได้ และเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การศึกษา หรือเรื่องสุขภาพที่ส่งผลทำให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัวลดลง"

"มิติที่ ๒ ของพลังทางครอบครัว คือ ลักษณะทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคมของสมาชิกในครัวเรือน เราพบว่า ครอบครัวทางภาคอีสาน มีแนวโน้มว่าจะเป็นครอบครัวที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่ำกว่าภาคอื่นๆ ทั้งนี้อาจมาจากเรื่องรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เรื่องของความมั่งคั่งทางทรัพย์สิน การมีหนี้สินที่มากกว่าครอบครัวในภูมิภาคอื่นๆ

และอีกประการหนึ่งคือ เรื่องการศึกษา อันนี้แน่นอนว่ายิ่งครอบครัวที่มีระดับการศึกษาเฉลี่ยยิ่งสูง จะส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก และครอบครัวที่มีที่ดินหรือที่อยู่อาศัยที่ตัวเองเป็นเจ้าของ มีแนวโน้มว่าจะมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากกว่าครอบครัวที่ต้องไปเช่าที่ของคนอื่นเพื่ออยู่อาศัย อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ครอบครัวที่มีสมาชิกในครอบครัวที่สูบบุหรี่และดื่มเหล้าก็มีแนวโน้มที่จะมีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจมากกว่าครอบครัวอื่น"

"มิติที่ ๓ การดูแลเกื้อหนุนกันระหว่างสมาชิก มิติเรื่องความช่วยเหลือภายในครอบครัว เราไปดูเรื่องของตัวเงินที่เป็นการให้ระหว่างกัน เงินโอนภายในครอบครัวที่อาจมีญาติหรือบุคคลที่ย้ายออกจากครอบครัวไปแล้ว เขามีเงินส่งกลับมาให้มากน้อยแค่ไหน แล้วเงินส่งกลับตรงนี้ก่อให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจภายในครอบครัวหรือเปล่า ตรงนี้ความสำคัญของเงินส่งกลับนี้ลดน้อยลง คือ จากที่เราใช้ข้อมูล ๓ ปี เราพบว่า ในปี ๒๕๔๙ เงินโอนนี้มีความสำคัญ การโอนเงินให้กันระหว่างครอบครัว ถ้าได้รับมามากก็ทำให้ครอบครัวนี้มีความเข้มแข็งมาก แต่พอปี ๒๕๕๔ และปี ๒๕๕๘ มิตินี้เคยมีความสำคัญแต่มันลดลง อาจเนื่องจากมูลค่าของเงินโอนลดลงจนทำให้การให้หรือไม่ให้ ไม่ได้ส่งผลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของครอบครัว หรืออาจเป็นไปได้ว่า การช่วยเหลือจากภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากขึ้น จากเดิมเรื่องสวัสดิการของภาครัฐที่ไม่เคยให้ ตอนนี้ก็มาให้เพิ่มมากขึ้น ก็ช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัวไปได้ หรือครอบครัวอาจดิ้นรนด้วยตัวเอง ไม่ต้องไปคอยสมาชิกที่มาทำงานในกรุงเทพฯ ส่งเงินกลับไป แต่ตัวครอบครัวพยายามสร้างรายได้ด้วยตัวเอง

 ถ้าเรามองเชิงบวกก็คือ เนื่องจากเงินพึ่งพามันน้อยลง เขาจึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเองมากขึ้นด้วย แต่ถ้ามองอีกแง่ อาจเป็นเพราะสัมพันธภาพในครอบครัวไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเดิม ถ้าเราอยากส่งเสริมให้มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในครอบครัวมากขึ้น ก็อาจจะช่วยให้ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นก็ได้"

"มิติที่ ๔ คือ ความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกครัวเรือนและภาครัฐ  เราพบว่าถ้าเป็นสิทธิประโยชน์ หรือสวัสดิการที่ได้จากการทำงาน เช่น ประกันสุขภาพ มีแนวโน้มจะสร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวมากยิ่งขึ้น แต่หากเป็นครอบครัวที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงเงินทุนเพื่อการศึกษา หรือกองทุนกู้ยืมต่างๆ  จะมีแนวโน้มว่าเป็นครอบครัวที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจ

เรามองว่าสวัสดิการของภาครัฐน่าจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง แม้ตอนนี้ผู้รับประโยชน์กลุ่มนี้จะยังอ่อนแอ แต่หลังจากได้รับสวัสดิการเหล่านี้ไปแล้ว เราเชื่อว่าน่าจะส่งผลทำให้อนาคตของเขามีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจมากขึ้น"

 

พลังครอบครัวเข้มแข็ง ลดปัญหาสังคม

"ไม่ว่ารูปแบบครอบครัวจะเป็นลักษณะไหน ถ้าเขาสามารถสร้างความเข้มแข็งได้ด้วยตัวเองก็สามารถทำให้ปัญหาต่างๆ ลดลงได้ แต่สิ่งที่เราพบคือ ครอบครัวที่ดูเหมือนจะมีปัญหามาก อย่างครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เนื่องจากภาระที่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพัง ถ้าตัวเขาเองไม่มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แล้วต้องรับภาระโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภายนอกเลย ในระยะยาวก็จะส่งผลให้ความเข้มแข็งของครอบครัวลดลงเรื่อยๆ ลักษณะนี้น่าจะให้ความช่วยเหลือมากที่สุด"  ดร.สวรัย ให้ความเห็นต่อประเด็นพลังครอบครัวช่วยลดปัญหาสังคม

รูปแบบครอบครัวที่อ่อนแอเปราะบางจึงมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาสังคมได้ต่อไปในอนาคต จากประสบการณ์ที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร ดร.สวรัย ยกตัวอย่างที่เธอพบว่า  "เด็กกว่า ๙๐% มาจากครอบครัวที่แตกแยก พ่อหรือแม่ต้องแยกทางกันไปด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจหรือเหตุผลส่วนตัว สัมพันธภาพในครัวเรือน การให้ความอบอุ่นเด็กในครอบครัวก็คงจะน้อย ซึ่งส่งผลกับตัวเด็กค่อนข้างมาก มีหลายเคสมาก ได้คุยกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิที่ทำงานร่วมกับเด็กในชุมชน เขาบอกว่า ถึงแม้คนที่เลี้ยงเขาตอนนี้จะให้ความรักเขาเต็มที่อย่างไรก็ตาม แต่มันเป็นความรักที่ไม่ใช่จากคนที่เขาอยากจะได้ เขาใช้คำว่า "เติมอย่างไรก็ไม่เต็ม" แล้วเด็กเหล่านี้ก็จะมีปัญหามาก เวลาเราเข้าไปจะเห็นเลยว่า เขาต้องการความรัก ต้องการเวลา ต้องการความอบอุ่น ซึ่งตรงนี้คนที่ให้ความช่วยเหลือดูแลเขาก็ไม่มีเวลา เขาจึงมีปัญหาทางด้านจิตใจ แต่นี่ก็เป็นบริบทที่ครอบครัวมีความขาดแคลนทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว พอมาเป็นครอบครัวแตกแยก พ่อหรือแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต"

"นอกจากนี้เริ่มมีแนวโน้มของเด็กที่ไม่ยอมเรียนต่อ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน เพราะถ้าเขาเรียนต่อเขาก็จะได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐอยู่แล้ว แล้วลาออกมาก็ไม่ได้ทำอะไร แต่จับกลุ่มกับเพื่อนที่ไม่ยอมเรียนต่อซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ เลยเป็นแรงผลักให้เด็กๆ เข้ามาในกลุ่มนี้มากขึ้น ซึ่งดูแล้วก็ไม่พ้นว่ากลุ่มนี้จะต้องไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมผิดกฎหมายมากขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่เจ้าหน้าที่เขาดูอยู่เหมือนกันว่าทำไมอยู่ๆ มันถึงเป็นเทรนด์ กลายเป็นกลุ่มนี้ที่ลาออกมา เพราะไม่อยากเรียน แล้วพ่อแม่ก็ไม่ได้สนใจ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่า เริ่มไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด อนาคตอาจไปเป็นผู้ขายด้วยซ้ำ ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วงเหมือนกัน"

ดร.สวรัย ยังเล่าถึงบางเคสครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีเวลา การให้ความอบอุ่นในครอบครัวน้อย ลูกจึงมีปัญหาเชิงสัมพันธภาพ  "มีเคสที่ลูกไม่พูด จนอายุ ๔-๕ ขวบ ลูกก็ยังไม่พูด แล้วด้วยความที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ไปซื้อแท็บเล็ตให้ ก็ยิ่งไปกันใหญ่เลย"

กล่าวได้ว่า การดิ้นรนเพื่อปากท้องของครอบครัวที่ขาดแคลนทางเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้ครอบครัวนั้นเปราะบางทางเศรษฐกิจและอ่อนแอทางสังคมมากขึ้นไปอีก ส่วนครอบครัวที่เข้มแข็งก็ไม่ได้วัดจากจำนวนสมาชิกที่มีมากในครอบครัวนั้น ในทางกลับกันอาจส่งผลให้ครอบครัวนั้นเปราะบางทางเศรษฐกิจเสียมากกว่า หากสมาชิกจำนวนมากนั้น ไม่มีการศึกษา หรือไม่ได้ทำงานสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

ดังที่ ดร.สวรัย อธิบายว่า "ครอบครัวที่เข้มแข็งไม่ว่าจะอยู่กันกี่คน ที่สำคัญ คือ ต้องมีคนที่มีการศึกษา มีคนทำงานหารายได้ ยิ่งมากยิ่งดี ถ้าเขาอยู่ในครอบครัวที่มีคนจำนวนมาก แต่ถ้าสมาชิกไม่ได้ทำงานมีรายได้ ก็จะก่อให้เกิดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจมากกว่า แต่ถ้าอยู่ในครอบครัวใหญ่แล้วสมาชิกในครอบครัวนั้นทำงาน ก็จะยิ่งสร้างความเข้มแข็งมากขึ้น เราไม่สามารถบอกได้ว่าต้องเป็นครอบครัวแบบไหนจึงจะมีความเข้มแข็งมากที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับว่ามีองค์ประกอบใดบ้าง เท่าที่เห็น แนวโน้มครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว และครอบครัวข้ามรุ่นที่จำนวนผู้หารายได้ในครอบครัวมีน้อย ภาระที่มาก ก็น่าจะส่งผลให้ในอนาคตเกิดความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของครอบครัวและอาจส่งผลต่อสังคมมากขึ้น ซึ่งหากพ่อแม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางรัฐ ก็อาจทำให้สามารถดูแลลูกได้ดีขึ้น"

 

คุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ นโยบายรัฐควรเพิ่มสิทธิและสวัสดิการให้แม่และเด็กเกิดใหม่ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว

เป็นที่แน่ชัดว่าขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงขาลงของการเพิ่มจำนวนประชากร เนื่องจากอัตราเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลจากอัตราการเกิดที่ต่ำลงทำให้ขนาดของครอบครัวไทยโดยเฉลี่ยลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งยังมีรูปแบบครอบครัวที่หลากหลายและซับซ้อนกว่าเดิม อีกทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ที่จำนวนผู้สูงอายุมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้

การกำหนดทิศทางและออกแบบแรงจูงใจให้ประชาชนในประเทศเห็นความสำคัญของการเพิ่มจำนวนประชากร และการลงทุนกับสถาบันครอบครัว จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องมีมาตรการและนโยบายรองรับการอยู่ดีมีสุขของครอบครัว ประเด็นนี้ ดร.สวรัย มองว่ารัฐควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของประชากรเกิดใหม่มากกว่าเพียงการเพิ่มปริมาณเท่านั้น

"เรารู้ว่าต่อไปเด็กจะน้อยลงเรื่อยๆ แล้ววัยเด็กที่จะโตมาเป็นวัยทำงานต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ประเด็นคือ เราจำเป็นไหมที่จะต้องเพิ่มจำนวนเด็ก โดยส่วนตัวมองว่า เด็กเกิดน้อยไม่เป็นไร แต่ต้องเป็นเด็กที่มีคุณภาพ การที่เราไปสนับสนุนให้คนมีลูก แต่ถ้าเด็กที่เกิดมาแล้วไม่มีคุณภาพจะยิ่งเป็นภาระกับสังคมหรือไม่ ดิฉันอยากจะให้สนับสนุนให้เด็กที่เกิดมามีคุณภาพมากกว่า"

ส่วนการสนับสนุนจากภาครัฐ ในเรื่องสิทธิและสวัสดิการต่างๆ เช่น เงินช่วยเหลือสำหรับเด็กแรกเกิด โดยเฉพาะเรื่องสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ที่ให้แก่สตรีตั้งครรภ์และเด็กที่จะเกิดใหม่ รัฐควรพิจารณาเพิ่มให้ครอบคลุมมากกว่านี้ เพื่อรองรับการอยู่ดีมีสุขของครอบครัวสังคมไทยในอนาคต

"การให้เงินสนับสนุนแก่แม่ที่เพิ่งคลอดลูก เดือนละ ๖๐๐ บาท เรารู้ว่าค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กจะเยอะ เพราะฉะนั้นเพียงเท่านี้คงยังไม่เพียงพอ อาจจะต้องมีการเพิ่มเงินช่วยเหลือให้แก่แม่ และไม่ใช่เพียงเรื่องเงินอย่างเดียว การสนับสนุนต่างๆ เช่น ตัวแม่เองก็มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถลาคลอดตามที่ต้องการได้ ก็มองว่าการให้ความช่วยเหลือ เช่น เนิร์สเซอรี่ หรือศูนย์เด็กเล็ก มีความสำคัญ เพราะเรามองว่าเด็กช่วงอายุ ๐-๕ ปี มีความสำคัญมากที่สุด ถ้าพ่อแม่มีความจำเป็นต้องออกไปทำงาน ไม่มีใครมาช่วยสอนเด็กในวัยนี้ได้ เรื่องของศูนย์เด็กก่อนวัยเรียนจึงมีความจำเป็น เพราะมีงานศึกษาหลายอันเลย เช่น เรื่องของเด็กที่พ่อแม่มีเวลาให้ หรือเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี การเรียนรู้ศัพท์จะมากกว่าเด็กที่ครอบครัวทางเศรษฐกิจไม่ดี ต่างกันหลายเท่า จึงมองว่านอกจากให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจแล้ว การให้ความช่วยเหลือในเชิงการจัดตั้งศูนย์เด็กเล็กที่มีคุณภาพให้มีมากขึ้นก็จำเป็น

หรือแม้แต่เรื่องการให้สิทธิในการลา ประเทศไทยยังให้น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ดิฉันมองว่า เรื่องบทบาทในการเลี้ยงลูก สมัยนี้ก็ไม่เหมือนสมัยก่อน ถ้าเป็นสมัยก่อนบทบาทระหว่างผู้หญิงและผู้ชายอาจจะชัดเจน คือเป็นแม่บ้านก็ทำหน้าที่เลี้ยงลูก ผู้ชายก็เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นบทบาทจึงเท่าๆ กับผู้ชายในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าบทบาทในการเลี้ยงลูกก็ยังต้องเป็นผู้หญิงอยู่ดี ซึ่งตรงนี้น่าจะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องสิทธิที่ให้กับแม่ในการลาคลอดลูก จำเป็นที่จะต้องเพิ่มมากขึ้น หรือแม้แต่ตัวของพ่อเอง ถ้าเป็นข้าราชการก็ให้สิทธิลาได้แค่ ๑๕ วันเอง มันน่าจะเปลี่ยนแปลงตรงนี้หรือเปล่า ในต่างประเทศทั้งพ่อและแม่มีสิทธิในการลาเหมือนกัน"  

 

ลดวยาคติต่อผู้สูงอายุ สร้างเทรนด์ใหม่ ให้คุณค่า

‘ผู้สูงวัย คือ ปัจจัยสร้างครอบครัวเข้มแข็ง'

จากงานวิจัย "พลังครอบครัว : อิทธิพลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของครัวเรือน" ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ เดิมที่เราเคยมีความเชื่อว่า ผู้สูงอายุเมื่อแก่แล้วไม่สามารถทำงานได้ จะเป็นภาระทางเศรษฐกิจของครอบครัว และต่อสังคม แต่ผลการศึกษากลับพบในทางตรงกันข้าม คือ การที่เรามีผู้สูงอายุในครอบครัวมีแนวโน้มที่จะทำให้ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น การเป็นผู้สูงวัยที่อายุเกิน ๖๐ ปีขึ้นไป ตราบใดที่เขายังสามารถทำงานสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งขึ้น เรื่องของ ‘วยาคติ' คือ อคติเกี่ยวกับวัย จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ ควรมีการรณรงค์ลดวยาคติที่มีต่อผู้สูงอายุ และส่งเสริมว่าผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง มีการศึกษา สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัว จะเป็นปัจจัยที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ครอบครัวได้

ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ดร.สวรัย ยังมองประเด็นสังคมสูงวัยว่า "ในอนาคตประชากรจากวัยทำงานเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ เราจะหวังพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ถ้าเป็นสมัยก่อน คนอาจจะมองเรื่องเป็นหลักประกันของผู้สูงวัยว่าในอนาคตลูกหลานจะมาดูแลเรา ซึ่งไม่ใช่ทางเลือกที่ถูกต้องมากนัก ดิฉันมองว่าผู้สูงอายุต้องวางแผนในการเก็บออมด้วยตัวเอง โดยภาครัฐอาจให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่ง จึงต้องมีการวางแผนการออมด้วยตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงานเลย

สมมุติเราเริ่มทำงานเมื่ออายุ ๒๕ ปี ถ้าเป็นสมัยก่อน เงินออมที่สะสมไว้ใช้จ่ายจากการทำงานมา ๓๕ ปี ก็พอที่นำมาใช้จ่ายเพื่อชีวิตตัวเองที่เหลืออีกประมาณ ๕-๑๐ ปี แต่ปัจจุบันอายุเฉลี่ยเรายืนยาวไปอีกอย่างน้อย ๑๕-๒๐ ปีเลยน่ะ เราจะต้องเก็บออมอย่างไรเพื่อให้ชีวิตในวัยชราของเราเป็นไปอย่างมีคุณภาพ เรื่องของเงินออมจึงต้องรู้จักการออมในสินทรัพย์ที่มีการกระจายความเสี่ยง เรื่องการให้ความรู้ทางด้านการเงินจึงสำคัญมาก จะลงทุนอย่างไรให้ได้ผลตอบแทนที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายไปอีก ๒๐ ปี เมื่ออายุ ๖๐ ปี ไม่ให้เกิดความเสี่ยง

 สรุปแล้วก็คือ เชื่อในเรื่องตนเป็นที่พึ่งแห่งตน นอกจากเรื่องการเงินแล้ว เราจะดูแลตัวเองอย่างไรให้มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดี เราต้องไม่เป็นภาระ ทำอย่างไรเพื่อดูแลตัวเอง ถ้าเราไม่อยากเป็นผู้ป่วยติดเตียง เรื่องของสุขภาพ ต้องให้ความสำคัญ ส่วนด้านจิตใจ ถ้าผู้สูงอายุมองเห็นว่าตัวเองมีประโยชน์กับครอบครัว หรือแม้แต่สังคม ก็จะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นด้วย เท่าที่เห็นผู้สูงอายุที่มีความหดหู่ก็เพราะอาจมองว่าตัวเองไม่มีประโยชน์ ไร้ค่า เพราะฉะนั้น ถ้าเราทำให้ตัวเราเองแอคทีฟอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่เรายังเป็นคนสำคัญที่ยังสร้างประโยชน์ให้กับครอบครัวได้เพิ่มมากขึ้น ก็จะสร้างความภาคภูมิใจให้ตัวเอง ผลักดันให้เราเป็นผู้สูงอายุที่ยังมีความแอคทีฟต่อไป

ส่วนมาตรการต่อผู้สูงอายุที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญนั้น ดร.สวรัยให้ความเห็นว่า "เรื่องเงินช่วยเหลือซึ่งมีความจำเป็นอยู่แล้ว แต่เรื่องของการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning จะทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเป็นผู้สูงอายุที่แอคทีฟ การส่งเสริมการเรียนรู้ให้เขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ สามารถทำอะไรที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ ก็จะได้ทั้งผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและต่อตัวเขาเองด้วย

ดิฉันเคยศึกษาเรื่องการทำงานในผู้สูงอายุ อย่างของไทยภาครัฐกำหนดอายุเกษียณอยู่ที่ ๖๐ ปี ก็ควรจะเริ่มขยายช่วงอายุเกษียณออกไป คนอายุ ๖๐ ปี เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากๆ ในการเป็นแหล่งความรู้ อยากให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ แต่ให้เป็นไปโดยความสมัครใจ ใครที่ยังอยากทำงานอยู่ก็ทำได้ และไม่ใช่ว่าผู้สูงอายุทำงานลักษณะเดิม ประสบการณ์จากต่างประเทศพบว่า เขามีการปรับเปลี่ยนการทำงานของผู้สูงอายุ เช่น ถ้าเขามีเงื่อนไขทางร่างกายที่ไม่สามารถใช้แรงงานได้เท่าเดิม ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนภาระหน้าที่ไปเป็นการใช้ประสบการณ์ แนวคิด มากกว่าการใช้แรงกาย ก็น่าจะเป็นแนวทางที่น่าสนใจ

ในอนาคตภาครัฐต้องสนับสนุนเรื่องของค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากคนวัยทำงานที่ลดลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เนื่องจากภาระตรงนี้ค่อนข้างเยอะมาก ถ้าจะให้ปลอดภัย ประกันความเสี่ยงได้มากที่สุด ก็คือ การดูแลตัวเราเองทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเศรษฐกิจ ก็จะทำให้เราก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุได้อย่างมีคุณภาพ"

 

สนับสนุนด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างสัมพันธภาพในครอบครัว ลดวยาคติต่อผู้สูงวัย ออกมาตรการช่วยเหลือครอบครัวที่อ่อนแอ เพื่อสร้างพลังครอบครัวที่ยั่งยืน

โดยสรุปแล้ว ผลการศึกษาที่ค้นพบนี้ ทีมงานวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวที่มีความอ่อนแอ ดังที่ ดร.สวรัย หนึ่งในทีมวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะว่า

"หนึ่ง เราพบว่าเรื่องการศึกษามีความสำคัญมาก พอดูมิติที่เกี่ยวกับประชากร เศรษฐกิจ สังคม เราพบว่าเรื่องการศึกษามีความสำคัญ ยิ่งถ้าครอบครัวมีการศึกษาจำนวนเฉลี่ยมากขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งส่งผลให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งการศึกษาตรงนี้เรามองว่าแม้ระยะสั้นอาจเป็นภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว แต่การลงทุนกับทุนมนุษย์ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวจะให้ผลที่ทวีค่า เพราะฉะนั้นเป็นความจำเป็น โดยเฉพาะครอบครัวที่มีความเปราะบาง อย่างพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีภาระค่าเลี้ยงดูบุตรหลานในวัยเรียนที่มากนี้ ภาครัฐควรให้การสนับสนุนตรงนี้มากขึ้น เพราะเราพบว่ามันเป็นการลงทุนระยะยาวที่จะให้ผลตอบแทนเป็นทวีคูณ

สอง การเสริมสร้างสัมพันธภาพของสมาชิกภายในครัวเรือน ความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างสมาชิกในครัวเรือนซึ่งเคยมีความสำคัญแต่ตอนนี้ความสำคัญนี้หายไป ในอดีตเราพบว่าถ้าเคยได้รับเงินโอนจากคนที่เคยอยู่ในครอบครัวแล้วย้ายไปอยู่คนละที่กัน จะสร้างความเข้มแข็งให้ได้ แต่ในปัจจุบันความสำคัญนั้นลดลงแล้ว ครอบครัวก็ต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น หรือได้รับความช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐมากขึ้น ถ้าเราสามารถส่งเสริมสร้างสัมพันธภาพของคนในครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น ก็น่าจะช่วยให้ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของครอบครัวไทยในอนาคตเพิ่มขึ้นได้

สาม การลดวยาคติต่อประชากรสูงอายุ คือ ประชากรสูงอายุไม่ใช่ภาระ ตราบใดที่เรามั่นใจว่าเป็นประชากรสูงอายุที่มีคุณภาพ ไม่ว่าอายุจะเลย ๖๐ ปี หรือ ๖๕ ปี มีการศึกษาซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการศึกษาในระบบเพียงเท่านั้น การศึกษาสามารถทำได้ตลอดช่วงวัย ตราบใดที่เขามีความสนใจที่จะเรียนรู้  ถ้าสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ก็จะส่งผลให้มีความเข้มแข็งภายในครอบครัวมากขึ้น

และสี่ การให้มาตรการช่วยเหลือครอบครัวที่มีความเปราะบาง เพราะเรารู้แล้วว่าครอบครัวที่มีแนวโน้มจะมีความเปราะบางเป็นอย่างไร และเราเลือกแล้วว่าครอบครัวลักษณะที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือมากที่สุด คือ ครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกที่ยังอยู่ในวัยเด็กมากกว่า ๒ คนขึ้นไป หรือครอบครัว ๓ รุ่น และครอบครัวข้ามรุ่นที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางมากที่สุด ซึ่งภาครัฐควรให้ความสำคัญกับครอบครัวลักษณะนี้มากที่สุด โดยอาจมีมาตรการลดภาระรายจ่ายและหนี้สิน หรือส่งเสริมให้เขามีการออมมากขึ้น สะสมสินทรัพย์มากขึ้น หรือการให้ความรู้ในการบริหารจัดการด้านการเงิน จะช่วยให้เขามีความเข้มแข็งต่อไปในอนาคต"

จากข้อมูลที่ได้นำเสนอมาทั้งหมดนี้ คงเห็นแล้วว่าประเทศไทยมีภาระอันหนักหน่วงที่ต้องตั้งรับกับเทรนด์ของสังคมที่เปลี่ยนไป เป็น ‘ยุคคนเกิดน้อย แต่ตายยาก' ซึ่งประกอบไปด้วยรูปแบบครอบครัวที่หลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น แต่กลับเป็นครอบครัวที่มีความเปราะบางทางเศรษฐกิจและอ่อนแอทางสังคมมากขึ้นไปอีก ในขณะที่สังคมสูงวัยก็กำลังคืบคลานเข้ามาในระยะอันใกล้นี้ สังคมไทยจะเต็มไปด้วยประชากรคนสูงวัย Gen B และ Gen X  ที่ยังไม่มีความพร้อมทั้งด้านการเงิน การออม และสวัสดิการต่างๆ เพื่อเตรียมรับสังคมสูงวัย โดยมีคน Gen Y ผู้รักอิสระทั้งในวิถีชีวิตและการงาน แต่ต้องเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ส่วนคน Gen Z รุ่นเยาว์ที่มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่พวกเขาจะต้องเป็นกำลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เจริญรุดหน้า แต่กลับเป็นผู้ที่จะต้องมาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายและภาระทางสังคมในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นนับจากนี้ต่อไปในอนาคตเช่นนี้

พลังครอบครัวของสังคมไทยที่เข้มแข็งและยั่งยืนควรเป็นเช่นไร จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้มีอำนาจในการขับเคลื่อนประเทศจะต้องนำไปขบคิดเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมและตอบโจทย์ของคนทุกเจนเนอเรชั่น และทุกรูปแบบครอบครัว ก่อนที่สถาบันครอบครัวไทยจะถึงกาลล่มสลาย และสายจนเกินเยียวยา



[๑] รู้เรื่องการเงินต่ำ ใช้เก่ง ออมน้อย ธปท.หวั่นเจนวายก่อหนี้เกินตัว https://www.thairath.co.th/content/863597

[๒] นโยบายคุมกำเนิด โดย ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และจาก ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์. "เศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการวางแผนครอบครัวของไทย : ศึกษาจากกระบวนการนโยบาย" วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พ.ศ.๒๕๓๓

[๓] รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.๒๕๕๘ โฉมหน้าครอบครัวไทยยุคเกิดน้อย อายุยืน State of Thailand Population Report 2015

[๔] งานวิจัย "พลังครอบครัว : อิทธิพลต่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของครัวเรือน" โดย ดร.สวรัย บุณยมานนท์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ปภัศร ชัยวัฒน์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย การจัดการสำหรับเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

[๕] พิสัย(Range) คือค่าความแตกต่างระหว่างข้อมูลที่มีค่าสูงสุดกับข้อมูลที่มีค่าต่ำสุดหาค่าได้จากสูตร พิสัย = ค่าสูงสุด-ค่าต่ำสุด

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >