หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 50 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


เสียงร่ำไห้ของสตรีและโลก : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 16 August 2017


จากวารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ ๑๐๔ (พฤษภาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐)

  



เสียงร่ำไห้ของสตรีและโลก

พระไพศาล วิสาโล

 


อาตมาพูดถึงธรรมชาติว่ากำลังถูกทำลาย เพื่อโยงมาสู่ประเด็นการเบียดเบียนผู้หญิง  ผู้หญิงกับธรรมชาติ แม้ดูเหมือนต่างกัน แต่ก็มีหลายอย่างคล้ายคลึงกัน มีจุดร่วมหลายอย่างที่เหมือนกัน คนสมัยก่อนจะมองว่าธรรมชาติเป็นเหมือนแม่ เราเรียกสายน้ำใหญ่ว่า แม่น้ำ  อีกทั้งคนไทยแต่ก่อนก็เชื่อว่าในน้ำมีแม่คงคา ผืนดินก็มีแม่ธรณี ในทุ่งนามีแม่โพสพ คนสมัยก่อนมองว่าธรรมชาติเป็นเหมือนแม่ เพศสตรีนั้นก็คือเพศแม่ แต่การที่ปัจจุบัน เพศแม่ถูกเบียดเบียน เลือกปฏิบัติ ถูกกระทำด้วยความรุนแรง ก็เพราะทัศนคติที่ถือเอาอำนาจเป็นใหญ่ อย่างเดียวกับที่เราปฏิบัติกับธรรมชาติ เราเบียดเบียนธรรมชาติเพราะเราคิดว่าเรามีอำนาจเหนือกว่าธรรมชาติ  มีเทคโนโลยีมากมายที่สามารถสยบธรรมชาติได้  เราจึงมองธรรมชาติว่าต่ำต้อย และรู้สึกเหิมเกริม ทำลายและเบียดเบียนธรรมชาติอย่างไม่ยั้งมือ ทัศนคติเชิงอำนาจแบบนี้ก็เป็นทัศนคติเดียวกันกับที่ผู้ชายมองผู้หญิง คือมองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ต่ำต้อย ที่ต้องอยู่ในการควบคุมกำกับของผู้ชาย ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่นำไปสู่การเบียดเบียนธรรมชาติ ก็เป็นความสัมพันธ์แบบเดียวกันที่นำไปสู่การเบียดเบียนสตรีเพศ ในขณะที่เราทำร้ายธรรมชาติ เราก็เบียดเบียนสตรีเพศ ใช้ความรุนแรงไม่น้อยไปกว่ากัน

          ข้อมูลทั้งทั่วโลกและในประเทศไทย ชี้ให้เห็นถึงความจริงที่น่าตกใจว่ามีการกระทำความรุนแรงกับผู้หญิงในเมืองไทย จากข้อมูลของคุณศิริพร สะโครบาเน็ค ประธานมูลนิธิผู้หญิง มีผู้หญิงและเด็กถูกกระทำความรุนแรง เฉลี่ย ๘๗ รายต่อวัน หรือว่า ๓๐,๐๐๐ คนต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๕ เมื่อเทียบกับปีก่อนนั้น คือปี ๒๕๕๕ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้นจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะจากสามี อันนี้เป็นความจริงที่ทุกคนต้องตระหนัก ร้อยละ ๘๐-๙๐ ของความรุนแรงทางเพศ เกิดจากสามีทำร้ายร่างกายภรรยา ส่วนที่เหลือเป็นความรุนแรงที่เกิดจากพ่อเลี้ยงทำร้ายลูกเลี้ยง

          การที่เพศชายมองเพศหญิงเป็นเพศที่มีอำนาจน้อยกว่า ดังนั้นจึงจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ นำไปสู่การเลือกปฏิบัติในลักษณะต่างๆ เช่น มองเพศหญิงว่ามีสติปัญญาน้อยกว่า เอาแต่ใจ ทำตามอารมณ์ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้ เป็นมุมมองที่ไม่ต่างจากการที่เรามองธรรมชาติ

          อาตมาคิดว่าความรุนแรงทางเพศไม่สามารถจะยุติได้ ถ้าเราไม่สามารถสาวลึกลงไปถึงรากเหง้าในเชิงทัศนคติ ซึ่งก่อเกิดจากวัฒนธรรมที่ส่งเสริม ยอมรับ สนับสนุนความรุนแรงทางเพศ หรือปล่อยให้ความรุนแรงก่อตัว เวลาผู้หญิงถูกทำร้ายริมถนน ป้ายรถเมล์ เพียงแค่ผู้ชายบอกว่านี่เป็นเรื่องครอบครัว ก็ไม่มีใครขวางกั้น ทั้งๆ ที่ความจริงเขาทั้งสองอาจไม่รู้จักกันเลย ผู้ชายก็ไม่รู้จักผู้หญิง แต่ว่าต้องการลักขโมยทรัพย์สินของผู้หญิง ฝ่ายหญิงต่อสู้ ผู้ชายก็บอกคนอื่นว่าอย่ายุ่ง นี่เป็นเรื่องครอบครัว เพียงเท่านี้ผู้หญิงคนนั้นก็ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงได้ต่อหน้าผู้คนมากมาย

          นี่เป็นทัศนคติที่เปิดโอกาสและสนับสนุนความรุนแรงทางเพศ ยังไม่ต้องกล่าวถึงการเลือกปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการบั่นทอนคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงหรือการเลือกปฏิบัติต่อสตรีเพศ ไม่ได้เกิดจากทัศนคติที่ถือเอาอำนาจเป็นใหญ่เท่านั้น  แต่เราควรจะมองให้กว้างไปถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ต่างสนับสนุนเอาเปรียบเบียดเบียนสตรีเพศ

มีการวิจัยในหมู่ประเทศที่ร่ำรวยทั่วโลก เขาพบว่า ประเทศไหนมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้มาก สถานะของสตรีในประเทศนั้นจะต่ำกว่าเพศชายมาก  ส่วนประเทศใดก็ตามที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อย ความเท่าเทียมระหว่างเพศจะมีมาก เช่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ประเทศเหล่านี้มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อย คือแตกต่างกันไม่มาก สถานะของเพศชายและเพศหญิงจะไม่แตกต่างกันมาก ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อย เมื่อเทียบกับอเมริกา สิงคโปร์ โปรตุเกส แต่ว่าสถานะของผู้หญิงด้อยกว่าผู้ชายมาก อันนี้เขาถือว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นข้อยกเว้น แต่ถ้าพิจารณาประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อย คนไม่แตกต่างกันมากทางรายได้ จะพบว่าผู้หญิงกับผู้ชายไม่แตกต่างกัน อันนี้เขาศึกษาเฉพาะประเทศที่ร่ำรวย ไม่ได้ศึกษาประเทศที่ปานกลางหรือยากจน

อาตมาคิดว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่สังคมไหนมีความแตกต่างทางด้านรายได้น้อย สถานะของผู้หญิงและผู้ชายก็จะแตกต่างกันน้อยด้วย เพราะว่าเมื่อมีความแตกต่างหรือความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้น้อย แสดงว่ามีการกระจายทรัพยากรหรือเปิดโอกาสให้หญิงและชายเข้าถึงทรัพยากรได้ใกล้เคียงกัน ไม่แตกต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และการเมือง  ประเทศใดที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีความรู้ เข้าถึงทรัพยากร มีอาชีพการงานที่ไม่แตกต่างจากผู้ชาย ผู้หญิงในประเทศนั้นย่อมมีสถานะดีกว่าผู้หญิงในประเทศที่มีความแตกต่างทางด้านรายได้มาก

หากว่าเราต้องการยกสถานะของผู้หญิงให้ดีขึ้น มีการเลือกปฏิบัติน้อยลง นอกจากการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนที่ส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางเพศแล้ว ยังจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อทำให้มีความเหลื่อมล้ำน้อยลง อย่างน้อยก็ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ซึ่งหมายถึงการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ การศึกษา และการเมืองมากขึ้น

ตอนนี้ ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นโดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว เป็นความรุนแรงที่สามีกระทำกับภรรยา หรือพ่อเลี้ยงกระทำกับลูกเลี้ยง สมัยก่อนอาตมาคิดว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นน้อยกว่า แม้จะไม่มีสถิติยืนยันก็ตาม ถามว่าทำไมน้อยกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ายังมีชุมชนที่คอยช่วยเฝ้าระวัง เช่น ในหมู่บ้าน ผู้คนในหมู่บ้านจำนวนมากเป็นเครือญาติกัน  หากสามีจะทำความรุนแรงต่อภรรยา ย่อมทำไม่ได้ง่ายๆ ยิ่งในชนบท ผู้ชายต้องย้ายไปอยู่บ้านภรรยา จึงแวดล้อมไปด้วยเครือญาติของผู้หญิง เพราะฉะนั้น จะทำรุนแรงต่อผู้หญิง ก็ทำได้ยาก เพราะว่าคนแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นชุมชน หมู่บ้าน รวมทั้งคนในบ้านเองก็จะไม่ยอม ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในชุมชนและครอบครัวซึ่งเป็นครอบครัวขยาย มีคนหลายวัยอยู่ในบ้านเดียวกัน ทำให้สามีกระทำรุนแรงต่อภรรยาได้น้อย

แต่ในปัจจุบันนี้ ครอบครัวแยกขาดจากชุมชน ขณะที่ชุมชนเองก็อ่อนแอ ครอบครัวก็เล็กลง ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยว อยู่กันแค่สามีภรรยาและลูก ไม่มีปู่ย่าตายาย ไม่มีลุงป้าน้าอา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องง่ายที่ผู้ชายจะก่อความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะสามีกระทำรุนแรงกับภรรยา

ตอนนี้แต่ละครอบครัวถูกกระทำจากสิ่งต่างๆ รอบตัวมากมาย ทำให้อ่อนแอ อาทิเช่น  สื่อมวลชนมีผลทำให้ครอบครัวอ่อนแอ เพราะต่างคนต่างอยู่ ดูโทรทัศน์คนละเครื่อง ดูหนังคนละเรื่อง คนละจอ โซเชียลมีเดียทำให้ต่างคนต่างไม่สนใจกัน พ่อก้มหน้าเล่นไลน์ แม่ก้มหน้าโพสต์เฟซบุ๊ค ส่วนลูกเล่นเกมส์ออนไลน์ ความสัมพันธ์ที่เหินห่างก็นำไปสู่ความรุนแรงทางเพศได้ง่าย เพราะว่าทำให้ต่างคนต่างอยู่  มีส่วนร่วมกันน้อยลง จึงมีความเข้าใจกันน้อยลง เกิดช่องว่างมากขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่าย นี่คือปัจจัยทางสังคมที่กดดันในครอบครัว ซึ่งนำไปสู่ความร้าวฉาน และความร้าวฉานก็เป็นบ่อเกิดให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น

เหล่านี้เป็นปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกที่นับวันความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการกระทำต่อผู้หญิงหรือเด็กจะมีมากขึ้น ยังไม่ต้องพูดถึงกฎหมาย (หรือการใช้กฎหมาย) ที่ไม่เป็นธรรม เวลาผู้หญิงทำร้ายสามี ถูกศาลลงโทษอย่างรุนแรง แต่เวลาผู้หญิงถูกสามีทำร้าย ศาลลงโทษสถานเบา หรือไม่เจ้าหน้าที่ก็พยายามโน้มน้าวให้ประนีประนอมยอมความ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องในครอบครัว

อาตมาอยากให้มองว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่าผู้ชายนิสัยไม่ดีโดยสันดาน แต่มีปัจจัยทางสังคมที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงไปทั่วทั้งสังคม ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดวัฒนธรรมบางอย่างที่ส่งเสริมความรุนแรง เพราะฉะนั้น เมื่อเราพิจารณาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีเพศ ในที่สุดก็จะพบว่ามันคือเรื่องเดียวกัน เกิดจากทัศนคติหรือแนวคิดที่ใกล้เคียงกัน โดยมีปัจจัยทางสังคมนานัปการเป็นตัวหล่อเลี้ยงและสนับสนุน รวมทั้งความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหา อาตมาคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการเปลี่ยนทัศนคติที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ และทัศนคติที่ผู้ชายมีต่อผู้หญิง นี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้  สมัยก่อนผู้หญิงไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเพราะผู้คนในยุคนั้นเชื่อว่าเพศหญิงไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา ขาดวิจารณญาณ  แต่บัดนี้ทัศนคติดังกล่าวลดน้อยถอยลง เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิลงคะแนนเสียงเกือบทั้งโลกแล้ว 

นอกจากการเปลี่ยนทัศนคติแล้ว สิ่งที่เราควรทำคือการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเรา  เช่น ปรับเปลี่ยนการบริโภค  รู้จักรีไซเคิล นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ไม่ใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย รู้จักเลือกเฟ้นในการบริโภค ทุกวันนี้น้ำบรรจุขวดที่เราบริโภค ถ้าเราลองคิดสักหน่อยว่ากว่าจะมาถึงเรา ต้องผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง เราจะพบว่าน้ำแต่ละแก้วที่เราดื่ม ก่อให้เกิดมลภาวะแทบทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การผลิตขวดพลาสติก ขนขวดพลาสติกไปบรรจุน้ำ จากนั้นขนน้ำบรรจุขวดไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อ เวลาซื้อเราก็ขนขวดน้ำขึ้นรถไปที่บ้าน มลภาวะที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการผลิตอย่างเดียว แต่เกิดจากการขนส่งหลายขั้นตอน  ครั้นดื่มน้ำเสร็จ ขวดที่บรรจุน้ำก็กลายเป็นขยะ ก็ต้องขนกลับไปที่โรงกำจัดขยะ ถ้าเราใช้ความคิดสักหน่อย เราจะพบว่าวิถีการบริโภคของเรากำลังทำร้ายสิ่งแวดล้อม ทำให้ทรัพยากรร่อยหรอ และก่อให้เกิดมลภาวะ

อาหารที่เรากิน กว่าจะมาถึงเรา เราทราบหรือเปล่าว่ามันเกิดการสูญเปล่าตามมามากมาย มีการศึกษาพบว่าอาหารที่เราผลิตนั้นสูญเปล่าเป็นจำนวนมหาศาล เช่น ถูกทิ้งโดยไร้ประโยชน์ ตั้งแต่เรือกสวนไร่นาจนถึงร้านค้า และเมื่อมาถึงเรา ก็สูญเปล่าไปอีกมากมาย เพราะว่าซื้อมาแล้วก็เก็บไว้จนหมดอายุ หรือเน่าเสีย  ส่วนที่เอามาปรุงเป็นอาหาร กินไม่หมด ก็ทิ้งอีก หรือกินน้ำเพียงครึ่งแก้ว แล้วน้ำอีกครึ่งหนึ่งไปไหน ก็ทิ้งอีก มีการประมาณว่าแต่ละปีอาหารถูกทิ้งหรือถูกปล่อยให้เน่าเสียทั้งโลกมีถึง ๓๐๐ ล้านตัน ปริมาณขนาดนี้สามารถเลี้ยงคนได้ถึง ๙๐๐ คน นี้คือความจริงที่เกิดขึ้นในขณะที่คนนับร้อยล้านขาดอาหาร

ถ้าเราลองพิจารณาการใช้ชีวิตของเรา เราจะพบว่าเรากำลังสร้างภาระให้กับธรรมชาติอย่างมาก เพราะฉะนั้น ถ้าเราใส่ใจธรรมชาติ จะต้องรู้จักเลือกเฟ้นในการบริโภค อย่างไรก็ตาม การที่คนเราจะเปลี่ยนไปใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังการมีจิตสำนึกรักธรรมชาติหรือตระหนักถึงวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้น ยังไม่พอ หลายคนรู้ แต่ทำไม่ได้ เพราะคุ้นเคยกับพฤติกรรมเดิมๆ แต่ถ้าเรารู้จักหาความสุขจากภายใน เข้าถึงความสุขในใจ เราจะพึ่งพาความสุขจากวัตถุน้อยลง ถ้าเรามีความสุขจากภายใน ความสันโดษ ความเรียบง่ายจะเกิดขึ้น เราจะไม่ขวนขวายความสุขจากภายนอก จากวัตถุสิ่งเสพ ไม่ปรารถนาความพรั่งพร้อมบริบูรณ์ทางวัตถุ เพราะเรามีความสุขจากภายในมาทดแทน

การหาความสุขจากภายในทำให้ชีวิตเราเรียบง่าย อ่อนโยน ความสุขภายในเกิดขึ้นจากการที่เราได้สัมผัสกับความสงบในจิตใจ ศาสนาทุกศาสนาสามารถช่วยให้คนเราพบความสงบภายในได้  สามารถเข้าถึงความสุขทางจิตวิญญาณ ทำให้เราไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเสพหรือการบริโภควัตถุ  ทำให้เราเกื้อกูลต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยให้ผู้คนใกล้ชิดกับธรรมชาติ นี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้วิถีชีวิตของเราไม่เป็นภัยต่อธรรมชาติ ทำให้การอนุรักษ์ธรรมชาติเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ส่วนในเรื่องผู้หญิง ดังที่อาตมาได้กล่าวไปแล้ว การปรับเปลี่ยนทัศนคติของเราเป็นสิ่งสำคัญ และที่ต้องทำควบคู่กันก็คือ ทำให้ปัจจัยทางสังคมที่ส่งเสริมความรุนแรงระหว่างเพศหรือในครอบครัว ลดน้อยถอยลง  อาตมาได้ใช้เวลาพอสมควรแล้ว ขอยุติการบรรยายเพียงเท่านี้

 --------------------------------------

(บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากการบรรยาย "เสียงร่ำไห้ของสตรีและโลก" ของพระไพศาล วิสาโล จากงานสัมมนา-สมัชชา คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกสตรี (คคส.) หัวข้อ  "สองขอบฟ้าที่สัมพันธ์กัน รักบ้าน รักษ์โลก" วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์อภิบาลคามิลเลียน ลาดกระบัง)

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >