หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow สันติวิธี (หรือความรุนแรง) เริ่มที่ครอบครัว?! : องอาจ เดชา :เรื่อง/สัมภาษณ์
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 264 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

สันติวิธี (หรือความรุนแรง) เริ่มที่ครอบครัว?! : องอาจ เดชา :เรื่อง/สัมภาษณ์ พิมพ์
Wednesday, 31 May 2017


จากวารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 103 (มกราคม - เมษายน 2560)

  


 
สันติวิธี (หรือความรุนแรง) เริ่มที่ครอบครัว
?!

องอาจ เดชา :เรื่อง/สัมภาษณ์

 


 

        "ครอบครัวคือความรัก"

        "ครอบครัวคือความอบอุ่น"

        "ความรัก ความเข้าใจ คือสายใยของครอบครัว"

        "สันติวิธี เริ่มที่ครอบครัว"

หลายประโยค หลายคำพูดเหล่านี้ ล้วนทำให้เรามองเห็นภาพของครอบครัวที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักความเข้าใจ แต่ในความเป็นจริง ที่หลายคนได้สัมผัสรับรู้กัน กลับพบว่า ปัจจุบัน ทุกวันนี้ หลายๆครอบครัวในสังคมไทยเรานั้นกำลังแตกร้าว  หลายครอบครัวอยู่ด้วยความเกลียดชัง หวาดระแวง ขัดแย้ง และทำร้ายซึ่งกันและกัน อยู่ทุกห้วงขณะ           

จากข้อมูลผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ในเว็บไซต์ www.violence.in.th ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ( ปี ๒๕๕๓ -๒๕๕๘ ) มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าผู้ชายเฉลี่ยร้อยละ ๘๖.๖๓ และข้อมูลการให้ความช่วยเหลือเด็กและสตรีที่มาขอรับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ความรุนแรงต่อเด็กเป็นความรุนแรงทางเพศมากที่สุด คือ ร้อยละ ๖๒.๕๕  รองลงมาคือความรุนแรงทางกาย ร้อยละ ๒๒.๙๒ ในขณะที่ความรุนแรงต่อสตรี เป็นความรุนแรงทางกายมากที่สุด คือ ร้อยละ ๖๗.๑๘  รองลงมาคือทางเพศ ร้อยละ ๒๒.๕๖

สถิติดังกล่าว สะท้อนให้เราเห็นว่า ครอบครัวไทยยังคงนิยมใช้ความรุนแรง

และความรุนแรงนั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ยังคงมีอิทธิพลหลงเหลืออยู่ในสังคมไทยค่อนข้างมาก

ดังจะเห็นว่ามีการใช้อำนาจและกระทำความรุนแรงในลักษณะต่างๆ กับสมาชิกในครอบครัวที่อ่อนแอกว่า ดังจะเห็นได้ว่าผู้ถูกกระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กและผู้หญิง ซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้กระทำส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชายและเป็นบุคคลใกล้ชิดในครอบครัว อาทิ สามี  พ่อ พ่อเลี้ยง หรือบุคคลในครอบครัวเดียวกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยในเรื่องของค่านิยม วัฒนธรรมดั้งเดิมที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวในปัจจุบันแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวอีกมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อมในชุมชน ปัญหาการใช้สุรา ยาเสพติด ปัญหาการพนัน ความหึงหวง ฯลฯ โดยเฉพาะสังคมไทยเราในขณะนี้ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวและชุมชนทั้งเขตเมืองและชนบทค่อนข้างมาก นำมาซึ่งปัญหาความเครียดสะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวชั้นดีเลยทีเดียว

ธีรเชนทร์ เดชา นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงราย เปิดเผยถึงปัญหาความรุนแรงในสังคมในขณะนี้ว่า จากการทำงานด้านความรุนแรง พบว่า ในระดับชุมชนนั้น  คนในสังคมมักมองว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัวบุคคลภายนอกไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ตีกันเดี๋ยวก็ดีกันเองได้ ยิ่งตีกันลูกยิ่งดก  ถ้าคนอื่นเข้าไปยุ่งมากๆ จะกลายเป็น "หมาหัวเน่า" หากคู่กรณีกลับมาคืนดีกัน ในขณะที่ผู้ถูกกระทำเองก็ไม่กล้าเปิดเผยเพราะอับอายที่จะให้ใครรู้ว่าครอบครัวตัวเองมีปัญหา

"ซึ่งทัศนคติดังกล่าวควรได้รับการปรับเปลี่ยนมุมมองว่า ความรุนแรงในครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่มันคือปัญหาสังคม ที่คนในชุมชนจะต้องร่วมกันแก้ไข เพื่อลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น  โดยวิธีการนั้น อาจมีทั้งการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่เกิดจากความรุนแรงในครอบครัวตนเอง และต่อสังคม รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.­๒๕๕๑  เพื่อให้ประชาชนในชุมชนรู้ช่องทางในการขอรับความช่วยเหลือคุ้มครองตามกระบวนการทางกฎหมาย สามารถมีที่พึ่งในการขอรับคำปรึกษาแนะนำช่วยเหลือต่างๆ และช่วยในการชี้เป้าเฝ้าระวังเมื่อพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวขึ้นในชุมชน"  

จากการทำงานลงพื้นที่ หลายเคส หลายกรณีศึกษานั้น สะท้อนให้เห็นภาพปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ในสังคมไทยเรานี้ได้เป็นอย่างดี  

"เคสที่ผมพบเจอส่วนใหญ่ มักจะเป็นเคสสามีทำร้ายร่างกายและจิตใจภรรยา และเคสบุคคลในครอบครัวทำร้ายร่างกายจิตใจกัน อาทิ บุตรทำร้ายบิดามารดา พี่ชายทำร้ายน้องสาว ลุงทำร้ายหลาน เป็นต้น รองลงมาก็จะเป็นรูปแบบของการใช้ความรุนแรงทางเพศ กับเด็กและสตรี โดยผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่ที่พบมักจะมีสาเหตุการใช้ความรุนแรงมาจากการบันดาลโทสะ มีการใช้สุรา และยาเสพติดเป็นประจำ และพฤติกรรมหึงหวง นอกใจคู่สมรส"  

ธีรเชนทร์ ยังได้หยิบยกปัญหาที่พบเจอ เมื่อครั้งเคยทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ ในเรือนจำแห่งหนึ่งให้ฟังอย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว ทำไมหลายคนต้องมาอยู่ในเรือนจำ  แล้วปัญหาความรุนแรงเหล่านี้ สาเหตุแท้จริงมาจากอะไร...   

"ผมมองว่า ปัญหาครอบครัวนั้นไม่ใช่ความผิดของใครคนเดียวนะ แต่ทุกคนในครอบครัวมีส่วนในการทำให้เกิดปัญหา เพราะอะไรฝ่ายหนึ่งจึงเริ่มทำ เพราะอะไรอีกฝ่ายจึงจำทน  ซึ่งสาเหตุของความรุนแรงในครอบครัวนั้นมีค่อนข้างหลากหลายดังที่กล่าวมาแล้ว ที่พบบ่อยๆ คือ จากความโกรธ เมาสุรา การใช้ยาเสพติด การพนัน ความหึงหวง การนอกใจ และจากความเครียดที่สะสมนี่แหละ  แต่สาเหตุที่แท้จริงนั้น เราต้องมองลงไปที่รากเหง้าของสภาพปัญหาของแต่ละเคสที่ต้องศึกษาในเชิงลึก ซึ่งแต่ละเคสจะมีปัจจัยที่นำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัวอีกมากมาย เหมือนกับที่เขาพูดกันว่า ‘อสูรร้ายไม่ได้ถูกสร้างในวันเดียว  แต่ถูกสร้างขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อยนานนับปี'"

ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ ทั้งในเรือนจำ และนักสังคมสงเคราะห์ของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ผ่านมาของเขา พบว่า มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ 

ธีรเชนทร์ บอกเล่าให้ฟังว่า ผู้ประสบปัญหาทางสังคมที่เราพบเจอ ตลอดจนนักโทษแต่ละคนที่เคยมีโอกาสสัมภาษณ์ถึงภูมิหลังของพวกเขาเหล่านั้น  จะพบว่าส่วนใหญ่มีเงื่อนปมเกี่ยวกับปัญหาชีวิตและครอบครัวที่ส่งผลต่อแนวคิดและการใช้ชีวิตของพวกเขา  อาทิ บางคนบ้านแตกสาแหรกขาด ไม่เคยเห็นหน้าพ่อแม่มานานหลายปีแล้ว บางคนอาศัยอยู่กับตายาย หรือปู่ย่าที่มีอายุมากแล้ว เกิดช่องว่างระหว่างวัยและความไม่เข้าใจกันขึ้นในครอบครัวจนต้องหนีออกมามั่วสุมอยู่กับเพื่อน  และบางคนเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีพ่อขี้เมาที่ชอบใช้ความรุนแรงกับแม่เป็นประจำ นำมาซึ่งพฤติกรรมเลียนแบบและซึมซับลักษณะนิสัยการใช้ความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว และนำพฤติกรรมใช้ความรุนแรงไปใช้กับผู้อื่นต่อในอนาคต เป็นต้น

"ซึ่งปัญหาเหล่านี้ มันเป็นสัญญาณที่ล่องหนในสายตาของคนในครอบครัวและสังคมที่ถูกมองข้ามไป และไม่ได้รับการแก้ไขในแนวทางที่ถูกต้อง จนกระทั่งเมื่อนำไปสู่คดีสะเทือนขวัญต่างๆ เกิดความรุนแรงกับผู้คนในสังคมขึ้นมาก่อน ถึงวันนั้นสังคมที่เกี่ยวข้องจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับผลผลิตทางสังคมที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันคือการสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และบางครั้งสิ่งนั้นมันสายเกินไปที่จะแก้ไขแล้ว"

และปัญหาความรุนแรงในครอบครัวนี้ ถ้าปล่อยไว้มากเข้า นานเข้า ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม ปัญหาในระดับชาติได้เลย 

"ใช่ครับ เพราะปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเท่าที่พบเจอนั้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบทางตรงต่อตัวผู้ถูกกระทำ ทั้งในเรื่องของการได้รับบาดเจ็บทางกาย ทางใจ ทำให้ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวที่ไม่ดี เกิดการหย่าร้าง ครอบครัวขาดความรักความอบอุ่น แล้วยังนำมาซึ่งปัญหาความรุนแรงทางอ้อมอื่นๆ ตามมาอีก เช่น ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ การทำแท้ง โรคติดต่อ สุขภาพจิตและการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงผลกระทบทางอารมณ์และพัฒนาการของเด็ก เป็นต้น ซึ่งถ้าหากมีปัญหาความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมไทย ย่อมสร้างปัญหาต่อสังคมและประเทศชาติตามมาอย่างแน่นอนในอนาคต ทั้งในเรื่องของคุณภาพของคนที่จะเป็นพลังผลักดันการพัฒนาประเทศ และปัญหาสังคมด้านอื่นๆ"  เขาบอกย้ำเช่นนั้น

เช่นเดียวกับ พรพรรณ  วรรณา นักเขียน นามปากกา ‘เปีย วรรณา' ปัจจุบัน เป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยปิดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ก็บอกเล่าให้ฟังถึงปัญหานี้ว่า สาเหตุหลักที่เกิดปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงในครอบครัวนั้นมาจากโครงสร้างสังคมที่ชนชั้นนำผูกขาดเกือบทุกอย่างมากกว่า  ซึ่งดูเหมือนว่า อยากทำให้ชนชั้นล่าง หรืออาจจะมีชั้นกลางบ้าง รู้สึกเครียด โดยเฉพาะชนชั้นล่างที่ต้องหาเช้ากินค่ำนี่ยิ่งเครียดหนัก ต้องทำมาหากิน ต้องเลี้ยงลูก สารพัด สวัสดิการการศึกษา และสวัสดิการอื่นๆ จากรัฐก็พอมีบ้าง แต่คนก็ต้องการสิ่งอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมมีกัน พอไม่ได้ ไม่มีเหมือนสิ่งที่เห็นผ่านสื่อ ผ่านการโฆษณาต่างๆ ก็ยิ่งเครียด

"ยิ่งในปัจจุบันนี้ ความเป็นธรรมในสังคมนี่มันไม่มีเลย ไม่ถูกนำมาใช้ และที่สำคัญ มันยังมีแต่การเลือกปฏิบัติอยู่มาก คนให้ความสำคัญกับหน้าตา ตำแหน่ง ฐานะ มากกว่าคุณงามความดี คนก็อยากสะสมสิ่งเหล่านี้โดยอัตโนมัติ  ทำให้สังคมผลักให้คนเล็ก ๆ ในครอบครัว เครียดและมีทางเลือกน้อย ความรุนแรงต่างๆ มันเลยดูจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทำงานหนักๆ เหนื่อยๆ แค่ไหน ก็ไม่ได้อย่างที่คนอื่นๆ ที่เป็นชนชั้นนำ ชนชั้นกลางได้"

เธอพยายามจะบอกว่า สังคมไหนมีชนชั้น ความไม่เป็นธรรมย่อมเกิดขึ้น และประเทศไหนไม่มีประชาธิปไตย ประเทศนั้นก็ยิ่งสะสมความเครียดและถูกกดดันมากขึ้น จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งรุนแรงตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสังคม ประเทศได้     

"ไม่อยากบอกเลยว่า ตอนนี้ เราคงต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด เพราะรัฐก็หวังพึ่งยาก ศาสนาก็ร้อนไหม้ คนห่มเหลืองหากินกันเยอะ รัฐก็ตัดสวัสดิการต่างๆ เท่าที่จะมีโอกาส เอาไปใช้ในสิ่งที่ไม่จำเป็น ถ้ารัฐเผด็จการยังอยู่ ไม่มีความหวังเลยละ ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้ เพราะทำอะไร ก็ตรวจสอบอะไรไม่ได้ ไล่เขาออกก็ไม่ได้ บางครั้งก็อดนึกไม่ได้ว่า หรือว่าความเดือดร้อน ความลำบาก ความรุนแรง และปัญหาต่างๆ ของชนชั้นล่างที่เกิดขึ้นนั้นดูเหมือนว่ามันถูกออกแบบให้เป็นแบบนี้หรือเปล่า ไม่ต้องมีประชาธิปไตย ยิ่งคิด ยิ่งเศร้า และไร้ความหวัง มองไม่เห็นเลยเรื่องสันติวิธี ทั้งศรีบูรพา, จิตร ภูมิศักดิ์, ไผ่ ดาวดิน หรือนักต่อสู้เรียกร้องคนอื่นๆ อีก ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ เขาก็จัดการ จะตายอีกกี่คน จะถูกจับอีกกี่คนไม่มีใครรู้ ก็น่าจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้ยาก ถ้ามันจะเปลี่ยนแปลง คงเป็นเพราะการกระทำที่พวกเขาได้ทำไว้ ทำให้ล้มครืนลงมาเองนั่นแหละ"  

ในขณะที่ สร้อยแก้ว คำมาลา นักเขียน คนทำงานเพื่อสังคม และคุณแม่ลูกหนึ่ง ก็บอกเล่าถึงเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ในสังคมไทยเราว่า กรณีการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ในมุมของตนเอง ส่วนมากมักเกิดจากอารมณ์โกรธ เจ็บแค้น มันคงไม่มีใครที่ไม่เคยมีเรื่องแล้วอยากทำร้ายคนอื่น ทีนี้หากจะมองว่า จะทำให้คนเราไม่ใช้ความรุนแรงได้อย่างไร มันคงยาก สัตว์เวลามันต้องการอะไรมันก็ต่อสู้แย่งชิงเป็นปกติ นักเลงสมัยก่อนดวลกันด้วยมีดเล่มเดียว มีบาดเจ็บ มีสาหัส แต่พอแพ้แล้ว เขาถอย เลิกแล้วต่อกัน ถามว่า แบบนี้คือความรุนแรงไหม สำหรับเรามันก็รุนแรง แต่เราโอเคนะ  

"แต่สิ่งที่เราว่ามันน่ากลัวกว่าคือ ความโหดเหี้ยมของมนุษย์ สิ่งที่เรียกว่าความเหี้ยม เพราะสัตว์นี่ถ้ามันอิ่มแล้วมันจบ มันแย่งคู่ได้แล้ว มันจบ แต่กับคน เราคงเคยเห็นว่า ขนาดตายไปแล้วมันยังไม่จบ มันยังมีความเจ็บแค้นไม่หาย ดังนั้น สิ่งที่เราคิดว่ามันน่ากลัวกว่าความรุนแรงคือรากเหง้าของอารมณ์เหล่านี้ ทำอย่างไรให้คนเรารู้จักความรักที่แท้จริง การให้ การให้อภัย การละ การปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น"  

แล้วเราจะเริ่มต้น สันติวิธี ที่ครอบครัว หรือที่ตัวเด็กก่อน ได้หรือไม่?

สร้อยแก้ว บอกว่า ถามว่าเราจะสอนเด็กๆ อย่างไรเรื่องสันติวิธี มันต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ปฏิบัติให้เห็นก่อนดีกว่า ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่พากันสร้างภาพตนเองเป็นคนดี แต่กลับปฏิบัติอีกอย่าง อย่างนี้ต่อให้เราสอนกันแทบตาย รณรงค์แค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์ เด็กๆ เรียนรู้เร็ว พวกเขาฉลาด รู้ว่าอะไรจริง ไม่จริง และเขาควรจะเชื่ออะไร ถ้าทุกคนมีลูกจะรู้ว่า ลูกๆ มีความคิดของเขา สิ่งที่เราเรียกว่า ดื้อ นั่นล่ะ เขาไม่ได้เชื่ออะไรง่ายๆ

"ดังนั้น เรื่องสันติวิธีถ้าอยากสอน ผู้ใหญ่ก็ทำให้เขาเห็นก่อน ทำให้เห็นว่าการเคารพคุณค่าความเป็นคนที่เท่าเทียมนั้นทำอย่างไร ให้เรารู้สึกจากใจที่แท้จริงก่อน ไม่ใช่แอบคิดว่า พวกนั้นโง่ พวกนั้นไม่สมควรได้รับสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะว่าได้ไปก็มองไม่เห็นค่า แล้วไปรู้สึกว่าตัวเองดีกว่า เหนือกว่า แค่นี้ก็ยากแล้ว เพราะถ้ารู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่า ก็จะกดขี่คนอื่นไปโดยไม่รู้ตัว  การสอนให้มีน้ำใจก็เช่นกัน การรักคนอื่น มีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่ต้องมากมายแบบไปสงเคราะห์คนอื่นตลอดเวลา เอาแค่สอนให้เขารู้ว่า เวลาที่เห็นคนลำบากเราจะสอนให้ลูกช่วยเหลือคนอย่างเหมาะสมถูกต้อง ช่วยอย่างให้เขามีศักดิ์ศรีด้วย ไม่ใช่ช่วยแล้วกดข่มจนเขาไม่เหลือศักดิ์ศรีอะไรเลย หรือเวลาที่คนอื่นทำผิดต่อเรา เราจะให้อภัยได้อย่างไร หรือถ้าคนอื่นกำลังจะเข้ามาทำร้ายเรา ถูกแล้วที่เราจะไม่ปล่อยให้เขาเข้ามาทำร้ายเราได้ แต่เรามีวิธีปกป้องตนเองอย่างไรที่ปลอดภัยทั้งเราทั้งเขา คือเรื่องนี้ถ้าลงรายละเอียดคงจะยาว แต่เอาคร่าวๆ ว่า ถ้าอยากสอนเด็ก ผู้ใหญ่ทำให้เห็นก่อนว่าสันติวิธีคืออะไร จะเป็นการดีที่สุด"  สร้อยแก้วบอกทิ้งท้าย 

รศ.ดร. มารค ตามไท  อดีตอาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตผู้อำนวยการสถาบันศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยพายัพ  และอดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้เคยพูดถึงเรื่องความขัดแย้งและเรื่องสันติวิธี เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว ทุกคนปรารถนาสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบและอยู่เย็นเป็นสุข การที่จะพัฒนาสังคมไทยให้เข้าใกล้สภาพดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ จะต้องคำนึงถึงจุดที่สังคมไทยเป็นอยู่ในขณะนี้  เพราะว่าเราไม่ได้กำลังเริ่มสร้างสังคมใหม่จากจุดศูนย์ คำถามที่สำคัญจึงต้องเป็นคำถามว่าจากสภาพปัจจุบันของสังคมไทย สังคมที่พึงปรารถนามีลักษณะอย่างไรได้บ้าง และควรจะดำเนินการอย่างไรเพื่อไปสู่สังคมเช่นนั้น

"สมมุติว่ามีการเสนอให้สังคมไทยกลับไปสู่สังคมเกษตรกรรม ๑๐๐% ก็จะต้องถามว่าจากสภาพปัจจุบันทำเช่นนี้ได้หรือไม่  โดยรักษาความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน นอกจากการคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันแล้ว การแสวงหาทิศทางการพัฒนาของสังคมไทยยังต้องยอมรับว่า คงมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ระหว่างคนต่างๆ ในสังคม ความเห็นต่างกันนี้อาจจะเป็นความเห็นต่างกันเฉพาะในวิธีการไปสู่สังคมที่พึงปรารถนา โดยที่ลักษณะสังคมที่พึงปรารถนาเป็นอย่างไรนั้นเห็นเหมือนกัน กรณีเช่นนี้ เหมือนกับการที่คนสองคนต้องการเดินทางไปที่เดียวกัน เพียงแต่มีความเห็นไม่ตรงกันว่าควรจะขึ้นรถเมล์สายไหน แต่อาจเกิดอีกกรณีหนึ่งขึ้นได้นั่นก็คือ การที่คนสองคนนั้น ต้องการเดินทางไปคนละที่หรือการที่กลุ่มคนในสังคมมีความเห็นต่างกันว่าสังคมไทยที่พึงปรารถนาเป็นอย่างไร ในเมื่ออาจเกิดความเห็นต่างทั้งสองแบบนี้ขึ้นได้ ประชาชนทั้งหลายต้องมีคุณค่าร่วมกันเกี่ยวกับวิธีจัดการกับความเห็นต่างเช่นนี้ ถ้ายังต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสงบ และอยู่เย็นเป็นสุข"

รศ.ดร.มารค บอกว่า คุณค่าร่วมกันนี้ มีชื่อเรียกกันต่างๆ นานา ชื่อหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายก็คือ ‘ประชาธิปไตย' เมื่อคนในสังคมมีความเห็นต่างกันและไม่สามารถหาจุดร่วมได้หลังจากพูดคุยเจรจากันพอสมควร ก็ดูเหมือนว่าเดินไปพบกำแพงและไม่รู้ว่าจะเดินต่ออย่างไร วิธีหนึ่งที่อาจใช้ก็คือเดินชนกำแพงไปเลย ฆ่าฟันกัน ฝ่ายใดมีกำลังมากกว่าก็ชนะ แต่วิธีนี้ (ซึ่งใช้กันมาในทุกสังคมเป็นเวลานาน) เป็นวิธีที่ให้ผลในระยะสั้นเท่านั้น และเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาสิ่งอื่นๆ ที่มนุษย์ปรารถนา

ดังนั้น จึงเกิดคุณค่าใหม่ซึ่งไม่ใช่คุณค่าของโลกตะวันตกหรือโลกตะวันออก คุณค่านั้นคือ  "การอยากอยู่ร่วมกัน โดยไม่ฆ่ากันตายเมื่อมีความเห็นต่าง"  คุณค่านี้คือ คุณค่าใหม่ของโลก แต่บังเอิญประเทศต่าง ๆ ในโลกเริ่มต้นส่งเสริมและพัฒนาคุณค่านี้ในเวลาที่ต่างกัน และด้วยความเร็วที่ต่างกัน บางคนชอบกล่าวว่าแนวความคิดประชาธิปไตยซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานคุณค่านี้เป็นความคิดแบบตะวันตก แต่แท้จริงแล้วแนวความคิดประชาธิปไตยเป็นของแปลกสำหรับทั้งคนตะวันตกและตะวันออกพอๆ กัน เพราะเป็นความพยายามของมนุษย์ที่จะใช้สติปัญญาเอาตัวออกจากเงื่อนไขที่เคยถูกธรรมชาติบังคับไว้เหมือนกับสัตว์อื่นๆ

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์จะเห็นว่า ทุกครั้งที่สังคมหนึ่งจะเริ่มพัฒนาคุณค่านี้ก็จะมีคนบางคนเยาะเย้ยว่าเป็นไปไม่ได้ ผิดธรรมชาติ แต่แนวความคิดประชาธิปไตยสะท้อนความฝันของมนุษย์ทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ชาวตะวันตกหรือตะวันออก เป็นความฝันของมนุษย์ที่ต้องการอยู่ร่วมกันโดยวิธีอื่น นอกจากการใช้กำลังฆ่าฟันกัน  ความฝันนี้ คือความฝันที่พยายามพัฒนาให้เกิดเป็นจริงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้อาจไม่มีวันที่จะถึงจุดนั้นในแต่ละสังคม เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือ ยุโรป ปัจจุบันก็ไม่มีประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในทุกส่วนของสังคม แต่ก็เป็นความฝันว่าจะไปให้ถึงสักวัน ถึงแม้ว่าทุกสังคมเข้าสู่ประชาธิปไตยด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน

"ปัญหาของสังคมไทยก็คือว่า ไม่มีโอกาสเหมือนสังคมตะวันตกบางแห่งที่สามารถใช้เวลา ๑๐๐-๒๐๐ ปี ในการปรับตัว สังคมไทยต้องเร่งการปรับตัวเพราะถ้าปรับช้าก็จะเผชิญกับปัญหาอื่นที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อน เช่น ปัญหาทางเศรษฐกิจและทางสังคม ขณะเดียวกันถ้าปรับตัวเร็วเกินไปก็จะไม่ยั่งยืน เพราะจะเป็นการปรับตัวอย่างผิวเผิน โดยแค่ทำให้เร็วเพื่อหลอกให้ได้เงินมาลงทุนโดยที่ฐานรองรับข้างใต้ยังไม่มีอะไร อาจสร้างภาพที่ดีโดยการมีองค์การต่างๆ มีรัฐธรรมนูญใหม่ แต่แนวความคิดของประชาชนยังไม่เปลี่ยน แนวคิดแบบประชาธิปไตยยังไม่เข้าไปอยู่ในใจ ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลา ดังนั้นสังคมไทยจึงต้องรวมสติปัญญาช่วยกันให้เกิดวิธีคิดเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันแบบนี้ แทนที่จะรอให้เกิดขึ้นเองตามเวลาการวิวัฒนาการของสังคม"

แต่ก็นั่นแหละ  อาจารย์มารค ตามไท  มองว่า ปัจจุบันสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ รวมทั้งพฤติกรรมของคน ในการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นธรรมดาที่จะเกิดความขัดแย้งต่างๆ มากกว่าปกติ เนื่องจากมีการปรับตัว ปรับทัศนคติ จากฝ่ายต่างๆ ทั้ง ประชาชน และหน่วยงานของรัฐในอัตราไม่เท่ากัน รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีคุณภาพก็ยากขึ้น ในเมื่อหลายปัญหาต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้นจึงเพิ่มความซับซ้อนของปัญหามากยิ่งขึ้น การอยู่ร่วมกันอย่างใหม่บนสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งท้าทายสังคมประชาธิปไตยในทศวรรษหน้าอย่างมาก

"แต่จากการทุ่มเท ช่วยกันศึกษาและพัฒนารูปแบบต่างๆ ของการจัดการกับความขัดแย้งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น สังคมไทยก็จะสามารถผ่านพ้นช่วงการเปลี่ยนแปลงใหญ่นี้ โดยไม่บอบช้ำ หรือเกิดความเจ็บปวดแก่สังคมมากจนเกินไปอย่างเช่นที่เคยเกิดกับสังคมอื่นที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ในอดีต หรือที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเรา มีบางคนที่มีทัศนะว่าคงยากที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรง หรือเชื่อว่าต้องมีความรุนแรงจึงจะมีการเปลี่ยนแปลงจริง แต่อาจไม่ต้องเป็นเช่นนี้ก็ได้ ถ้าสังคมไทยใช้ปัญญาให้มากขึ้น เมื่อเรามุ่งมั่นที่จะทำให้สันติวิธีเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การปรับหางเสือของสังคมไทย และนี่แหละที่จะเป็นหน้าเป็นตาของชาติ "หน้าตา" ของชาติไทย ไม่ใช่ตึกสูงงดงาม หรือเทคโนโลยีทันสมัยที่ใช้อยู่ "หน้าตา" ของชาติไทย คือ คนไทย สังคมไทย ที่เผชิญกับความขัดแย้งโดยที่คู่กรณีเริ่มต้นแก้ไขความขัดแย้งด้วยการเข้าใจซึ่งกันและกัน การที่จะปลูกฝังทัศนคติสันติวิธีให้ลงลึกนั้น สถาบันศึกษาทั้งพลเรือน ทหาร ต้องบรรจุเรื่องนี้ในหลักสูตร แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ การปรับหางเสือของสังคมไทย"

จะเห็นได้ว่า ความขัดแย้ง และความรุนแรงทั้งในระดับครอบครัว หรือในระดับประเทศ ที่ไทยเรากำลังเผชิญอยู่นี้ หลายฝ่ายยังมองว่า ‘สันติวิธี' ยังคงมีความจำเป็น มีความสำคัญต้องนำไปปรับใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะใช้ได้จริงและเกิดผล เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริงนั้น ประเทศไทยก็ต้องเป็นสังคมประชาธิปไตยให้ได้เสียก่อน ไม่ใช่ตกอยู่ในสภาพสถานการณ์สังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แบบที่เป็นอยู่ในขณะนี้.

............................................................

ข้อมูลประกอบ

(๑) มารค  ตามไท, "ปัจจัย และเงื่อนไขแห่งความสำเร็จของสันติวิธีในสังคมไทย",บรรยาย ณ ห้องประชาธิปก สถาบันพระปกเกล้า, ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗  อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/326323

(๒) สัมภาษณ์ ธีรเชนทร์ เดชา, นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย, กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

(๓) สัมภาษณ์ สร้อยแก้ว คำมาลา, นักเขียน, นักกิจกรรมสังคม, เคยทำงานขับเคลื่อนสื่อให้กับ พอช. ปัจจุบัน เขียนหนังสือและเลี้ยงลูก, กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

(๔) สัมภาษณ์ พรพรรณ วรรณา , นักเขียนนาม ‘เปีย วรรณา' เจ้าของหนังสือความเรียง "สาวเครือฟ้าศตวรรษที่ ๒๑" ได้รับรางวัลหนังสือแนะนำจากรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด  ประเภทสารคดี ปี ๒๕๕๘ ปัจจุบัน เป็นอาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยปิดแห่งหนึ่งในภาคเหนือ, กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >