หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 63 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ความขัดแย้งและความรุนแรง ลดได้ ด้วย "การสื่อสารอย่างสันติ" พิมพ์
Wednesday, 24 May 2017

จากวารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 103 (มกราคม - เมษายน 2560)

 

ความขัดแย้งและความรุนแรง

ลดได้ ด้วย "การสื่อสารอย่างสันติ"

(NVC: Non Violence Communication)

 
ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี 

 



นับวันปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคมไทย ดูเหมือนจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านคลิปต่างๆ ในโลกโซเชียล มีให้เราเห็นไม่เว้นแต่ละวัน อาทิ กรณีวิศวกรวัยกลางคนยิงวัยรุ่นอายุ ๑๗ ปี เสียชีวิต สาเหตุจากไม่พอใจแล้วพูดจาต่อว่ากลุ่มวัยรุ่นที่นั่งมาในรถตู้ที่จอดขวางทางออกรถของตนขณะลงไปซื้อของฝากแถวสะพานปลา จังหวัดชลบุรี กระทั่งนำไปสู่เรื่องราวร้ายแรงที่ไม่มีใครคาดคิด หรือกรณีชายขาพิการร้านขายขนมปังถูกกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายในซอยโชคชัยสี่จนเสียชีวิต เพียงไม่พอใจที่โดนด่า

หรือกรณีที่เกิดขึ้นกับครูและนักเรียนในสถาบันการศึกษาก็มีอีกมาก เช่น ครูฝึกหัดใช้ไม้พลองตีเด็ก ๙๙ ที จนร่างกายเด็กเต็มไปด้วยรอยฟกช้ำลายพร้อยไปทั้งตัว  ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว กับพ่อแม่ลูก สามีภรรยา ก็มีอยู่มากมาย เช่น ลูกชายเล่นกับเพื่อนแล้วทะเลาะต่อยตีกันประสาเด็ก แต่เมื่อพ่อเห็นเข้ากลับใช้อารมณ์เข้าไปเตะและกระทืบเพื่อนลูก  กรณีพี่เลี้ยงทำร้ายเด็กที่พ่อแม่นำมาฝากที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กจนอาการสาหัสและเสียชีวิต หรือกรณีพ่อเลี้ยงทำร้ายลูกเลี้ยงวัยไม่กี่ขวบจนเสียชีวิต แม้แต่กรณีหนุ่มถูกแฟนสาวบอกเลิก ขอคืนดีด้วย สาวไม่ยอมคืนดี จึงโกรธ ไปซื้อน้ำมันมาสาดใส่แฟนสาวแล้วจุดไฟเผา นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายต่อหลายกรณีที่ล้วนมาจากความเครียด ความโกรธ และขาดสติ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนได้เมื่อถูกกระทบจากผู้อื่นและสิ่งรอบข้าง

แต่หากมองไปถึงสาเหตุของปัญหาเหล่านี้จะเห็นได้ว่าล้วนมาจากปัญหาในการสื่อสารของเราแต่ละคนและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ในระดับครอบครัว เพื่อนฝูง ที่ทำงาน ไปจนถึงระดับสังคม และระดับประเทศ เมื่อเราคิดเห็นต่างกัน ยิ่งคุยยิ่งทะเลาะกัน หรือสื่อสารกลับไปด้วยถ้อยคำตำหนิ บ่น ด่า นินทา ยิ่งทำให้เราปิดกั้นช่องทางในการสื่อสารต่อคู่กรณีไปโดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ยังขาดทักษะในการสื่อสารและจัดการกับความคิดเห็นที่แตกต่างเหล่านั้น ความขัดแย้งจากเรื่องเล็กๆ จึงสามารถขยายเป็นความรุนแรงที่ใหญ่โตและลุกลามบานปลายได้ ดังที่เราเห็นจากข่าวที่ยกมากล่าวถึงในเบื้องต้น

ในมุมมองของนักสันติวิธีอย่าง ดร.ไพรินทร์  โชติสกุลรัตน์ (หลิน) กระบวนกรการสื่อสารอย่างสันติ นักอบรมด้านสันติวิธี ผู้จัดแปลและพิมพ์หนังสือ ‘การสื่อสารอย่างสันติ'  มองถึงรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย โดยพุ่งเป้าไปที่ระบบการศึกษาของไทย เธอให้ความเห็นว่า

"ตั้งแต่ระบบการศึกษาลงมาเลย มันไม่ค่อยช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ปัญหาความขัดแย้งเท่าไหร่ ระบบการศึกษาเราก็ยังเป็นระบบแข่งขันอยู่ คือว่า ถ้าคุณสามารถทำคะแนนได้ดี คุณก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ หลินว่ามันเป็นระบบที่มันรุนแรง มันเปิดช่องทางให้เฉพาะคนบางคนเท่านั้น แล้วคนอื่นๆ ที่เหลือก็ถูกทิ้งเอาไว้ ซึ่งพอเด็กเรียนรู้ว่าเขาต้องแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด เพื่อมีที่มีทาง เพื่อได้เกรดดีๆ ได้ทำงานที่ดีๆ ความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ก็จะน้อยลง  ถ้าเราสอนเด็ก สร้างเด็กให้เขามีแนวคิดอย่างนี้ มันก็เป็นอย่างนี้แหละ"

ในฐานะที่สนใจในแนวทางสันติวิธีและทำงานด้านนี้มายาวนาน หลายต่อหลายครั้งที่เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย อย่างการชุมนุมทางการเมืองทั้งฝ่าย นปช. คนเสื้อแดง (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) และฝ่ายเสื้อเหลือง (พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย) ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ดร.ไพรินทร์ ได้เข้าไปเฝ้าสังเกตการณ์ในการชุมนุม ร่วมรับฟังความรู้สึกของคู่ขัดแย้งทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ได้แก่ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายผู้ชุมนุม โดยเฉพาะการได้เข้าไปเป็นคนกลางช่วยรับฟังเสียงจากทั้งสองฝ่ายและช่วยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งไม่ให้บานปลาย  ดร.ไพรินทร์ จึงมองถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยว่า

"ต้องทำตั้งแต่ระบบการศึกษา สอนเด็กให้รู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ระบบที่เรามีอยู่มันเป็นระบบ power over คือการใช้อำนาจเหนือกว่า คนที่มีอำนาจก็ต้องปีนขึ้นสู่ฐานอำนาจที่มันสูงขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ใช้อำนาจนั้นกดคนข้างล่าง เป็นหมดตั้งแต่ระบบการศึกษา ระบบทหาร ระบบการบริหารประเทศ ซึ่งถ้าเราเชื่อมั่นในการเคารพคุณค่า เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มันต้องเป็นระบบที่ไม่ใช่ระบบ power over แต่เป็นระบบ power sharing"

"มีคำพูดของเฟมินิสต์คนผิวสีที่เป็นชาวอเมริกัน ชื่อ ออเดรย์ ลอร์ด (Audre Lorde) เขาบอกว่า ‘the master's tools will never dismantle the master's house'  คือ  เครื่องมือของเจ้านายไม่สามารถทำลายบ้านของเจ้านายได้ หมายความว่า เครื่องมือของอำนาจ ถ้ามันเป็นเครื่องมือแบบอำนาจเหนือกว่า มันก็ไม่สามารถนำมาสร้างสรรค์สังคมที่จะมีความเคารพทุกคนได้ เพราะฉะนั้นเครื่องมือที่เราใช้แต่ละอย่างจะต้องเป็นเครื่องมือที่เป็น power sharing กระจายอำนาจและให้ความเคารพในทุกเสียง ไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อย หรือใครก็ตาม"

สำหรับปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยทุกวันนี้ ยังคงมีกลุ่มนักสันติวิธีในไทยที่ยึดหลักคิดและแนวทางสันติวิธี พยายามคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยลดและแก้ไขปัญหานี้ในหลากหลายแนวทาง รวมทั้งตัวเธอเองก็เช่นกัน

"หลินคิดว่ามีคนที่พัฒนาเครื่องมือแบบนี้ขึ้นมาเยอะนะ ในแวดวงสันติวิธีเองก็คุยๆ  กันอยู่เรื่องการปรองดอง การเยียวยาความแตกแยกทางสังคม มีการพูดถึงหลายเครื่องมือ เช่น การสานเสวนา เครื่องมือ world café ให้คนที่คิดเห็นแตกต่างกันได้มีโอกาสพูด ได้มีโอกาสรับฟังกัน หรือใช้เครื่องมือ process work ที่มีคนทำกัน หรือเครื่องมือที่หลินใช้คือ NVC : Non Violence Communication หรือการสื่อสารอย่างสันติ อันนี้เป็นเครื่องมือที่เอามาใช้ได้ ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ก็เพื่อให้คนกลับมาสู่การเคารพในความเป็นมนุษย์ของคนอย่างจริงๆ"

 

เปลี่ยนความขัดแย้ง เป็นความรักและกรุณา ด้วย ‘การสื่อสารอย่างสันติ'

NVC : Non Violence Communication

"ตั้งแต่หลินเข้าอบรม NVC ครั้งแรก หลินรู้สึกว่ามันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองเหมือนเข้าใจคนอื่น แล้วมันโยงเข้าสู่หลักคำสอนของศาสนาคริสต์ คือ รักผู้อื่นเหมือนรักตัวเอง พระเยซูให้คำสอนนี้มา หลินรู้สึกว่า NVC นี่เหมือนเป็นบันไดไปสู่การทำตามคำสอนของพระเยซูได้ เหมือนมีขั้นตอนง่ายๆ ที่เราตามมันไป ทำมัน และนำไปสู่ที่ๆ เดียวกับที่พระเยซูทรงสอนเราว่า จะรักผู้อื่นหรือรักตัวเองได้อย่างไร หลินว่ามันเป็นเครื่องมือที่มีความลึกซึ้งในระดับจิตวิญญาณ มีพลัง มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงจิตใจของผู้คนได้ คนที่ใช้เองก็เปลี่ยนจิตใจตัวเองได้ แล้วเวลาไปใช้กับคนอื่นก็จะส่งผลกระทบไปสู่คนอื่นได้ คือเหมือนเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเปิดความเมตตากรุณาในใจของกันและกันออกมา"

ดร.ไพรินทร์ เล่าถึงความสนใจเป็นพิเศษต่อเครื่องมือสันติวิธีในแนวทาง "การสื่อสารอย่างสันติ" หรือ NVC ที่คิดค้นโดย ดร.มาร์แชล  โรเซนเบิร์ก นักจิตวิทยาผู้อุทิศตนให้แก่การสร้างสันติและความเข้าใจกันในระดับโลกมานานกว่า ๔๐ ปี ผู้ค้นพบว่าภาษาที่เราใช้นั้นเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้คนใช้ความรุนแรงต่อกันหรือนำมาใช้ให้คนมีความกรุณาต่อกัน เขาจึงพัฒนาวิธีการสื่อสารที่ช่วยให้เราพูดและฟังกันอย่างลึกซึ้ง และนำมาเป็นเครื่องมือสร้างทักษะสันติวิธีให้แก่ผู้คนทั่วโลก โดยออกเดินทางสอนการสื่อสารที่เขาคิดค้นขึ้นถึง ๖๐ ประเทศ และยังทำหน้าที่เป็นคนกลางในความขัดแย้งหลากหลายบริบท

สำหรับเทคนิคการสื่อสารอย่างสันติ หรือ NVC นั้น ดร.มาร์แชล  โรเซนเบิร์ก กล่าวว่า "เมื่อเราได้ยินถึงความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น เราจะรับรู้ความเป็นมนุษย์ที่เรามีร่วมกัน" 

หลักการพื้นฐานของการสื่อสารอย่างสันติ ก็คือ "มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน และมีความสุขจากการให้และการทำประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่นเดียวกับที่ศาสนาต่างๆ สอนว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความดีงามภายใน มนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า หรือมีเมล็ดพันธุ์ของความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน"  ดร.มาร์แชล โรเซนเบิร์ก ยืนยันในความเชื่อนี้

และเป็นที่แน่ชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าเรื่องความเมตตากรุณามากขึ้นเรื่อยๆ มีผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่าเด็กทารกอายุ ๖ เดือน มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการมองภาพสิ่งมีชีวิตที่อ่อนโยน ใจดี อบอุ่น มากกว่าภาพสิ่งมีชีวิตที่ก้าวร้าว รุนแรง แม้จะยังไม่โตพอที่จะเรียนรู้เรื่องความเมตตากรุณาจากผู้ใหญ่ แต่ผลการทดลองนี้ก็บ่งชี้ให้เห็นได้ว่า ความเมตตากรุณาเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด แม้แต่คนที่ทำสิ่งเลวร้าย แต่ภายในตัวเขาก็มีเมล็ดพันธุ์แห่งความกรุณาซุกซ่อนอยู่

 

หัวใจสำคัญของการสื่อสารอย่างสันติ และเทคนิคการนำไปใช้

ดร.ไพรินทร์ ได้ฝึกอบรมหลักสูตรการสื่อสารอย่างสันติ หรือ NVC กระทั่งสามารถนำความรู้ความเข้าใจต่อเครื่องมือนี้ ทั้งเทคนิคและวิธีการมาใช้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เธอเป็นกระบวนกรจัดอบรมและพัฒนาหลักสูตรการสื่อสารอย่างสันติให้แก่ผู้ที่สนใจทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ยังแปลและเรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับการสื่อสารอย่างสันติออกมาหลายเล่ม รวมทั้งเล่มล่าสุด "สื่อสารสร้างสันติ" เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นพลังสร้างสรรค์[๑] หนังสือที่เธอหวังว่าจะเป็นคู่มือและเคล็ดลับการเปลี่ยนคนธรรมดาให้เป็นผู้สร้างความเข้าใจในครอบครัว ที่ทำงาน และทุกสถานการณ์ความขัดแย้ง

สำหรับเทคนิค การสื่อสารอย่างสันติ หรือ NVC นี้ ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่าหัวใจสำคัญของการสื่อสารอย่างสันติก็คือ  "ความเมตตากรุณา ก็จะคล้ายๆ กับเรื่องที่ทางจิตวิญญาณทั้งหลายสอน ในเรื่องหลักความเมตตากรุณา  จะทำอย่างไรให้เราสามารถเข้าไปสัมผัสกับความกรุณาในใจและสื่อสารออกมาอย่างเมตตากรุณาต่อคนอื่น และสามารถเข้าใจคนอื่นได้ด้วย พอมีหลักตัวนี้แล้ว มีเทคนิคอีกตัวหนึ่งซึ่งช่วยให้เราเดินเป็นขั้นๆ เข้าไปสู่ความเมตตากรุณานี้ได้"

เทคนิคที่ ดร.ไพรินทร์ กล่าวถึงในการสื่อสารอย่างสันติ (NVC) ประกอบด้วย ๔ ขั้นตอน ตั้งแต่ ๑.สังเกต   ๒.ความรู้สึก  ๓.ความต้องการ  ๔.การขอร้อง

เธออธิบายการใช้เทคนิคการสื่อสารอย่างสันติ (NVC) พร้อมยกตัวอย่างให้เข้าใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่า  "เวลาที่เราใช้เริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจตนเอง โดยใช้ ๔ ขั้นตอนนี้ก่อน เพราะคนส่วนใหญ่เวลาไม่พอใจอะไร เกิดเรื่องอะไรขึ้นปุ๊บก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบโต้อัตโนมัติทันที ซึ่งพอตอบโต้ไปแล้วก็มักทำให้เรื่องแย่ลง แต่ NVC เหมือนให้เราหยุดก่อน อย่าเพิ่งตอบโต้ แต่กลับเข้ามาดูก่อนว่า

ขั้นตอนที่หนึ่ง การสังเกต (Observation) คือ เกิดอะไรขึ้นจริงๆ สิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เราได้ยิน ที่มันมากระทบใจเราคืออะไร ซึ่งอันนี้ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าเรากำลังถูกกระทบด้วยอะไร เรากำลังไม่พอใจอะไรอยู่ ซึ่งตั้งแต่ขั้นตอนแรก ถ้าเราไม่มีเครื่องมือนี้ เราก็จะเต็มไปด้วยคำตัดสิน ตีความ ต่อว่า วิพากษ์วิจารณ์คนอื่น คนที่มาทำอะไรแล้วเราไม่ชอบ เราจะพุ่งกลับไปด้วยคำตัดสิน ตีความ ต่อว่าเขา หรือไม่ก็ตัดสิน ตีความ ต่อว่าตัวเอง ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีทั้งสองอย่าง แต่เราสามารถเปลี่ยนคำตัดสิน ตีความ ต่อว่า ได้ด้วยการทำให้มันชัดเจนด้วยการสังเกต มองให้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น อาจทำความเข้าใจให้มันกระจ่างชัด พอเราเห็นแล้วว่า อ๋อ! ที่เราไม่พอใจเพราะเพื่อนของเราคนนี้ หรือคนในครอบครัวของเราเขาพูดว่า เช่น เราไม่พอใจเพราะว่าเมื่อเช้านี้เราได้ยินแม่พูดว่า ‘ทำไมขี้เกียจอย่างนี้ ไม่ยอมช่วยงานบ้านกันบ้างเลย' เอาให้ชัดว่าได้ยินอะไรมา แทนที่จะตัดสิน ตีความ ต่อว่า ว่า ‘แม่เป็นคนขี้บ่น  แม่ไม่เข้าใจลูกเลย'  ขั้นตอนแรกก็เอาให้ชัดก่อนว่า อะไร

หลังจากนั้น ขั้นตอนที่สองคือ ดูความรู้สึก (Feeling) ดูว่าความรู้สึกของเราคืออะไร การดูความรู้สึกจะทำให้เรารับผิดชอบกับความรู้สึกของเราเอง การสื่อสารอย่างสันติ ที่คุณมาร์แชล โรเซนเบิร์ก เป็นคนคิดค้นสร้างสรรค์ขึ้นมา เขาจะบอกว่า ความรู้สึกมันเกิดจากความต้องการลึกๆ ข้างในของเราเอง จริงๆ มันไม่ได้เกิดจากคนข้างนอกหรอก คนข้างนอกสิ่งที่เขาทำมันเป็นแค่ตัวกระตุ้นอะไรบางอย่างเท่านั้นแหละ แต่จริงๆ ลึกๆ มันเป็นความต้องการของเราที่ได้รับการตอบสนอง หรือไม่ได้รับการตอบสนอง ที่มันอยู่ข้างในตัวเรา เพราะฉะนั้นเราจะรับผิดชอบความรู้สึกที่เกิดขึ้นของเราเอง เราจะไม่ไปโทษผู้อื่นว่าเขาเป็นสาเหตุ เขาต้องเปลี่ยน เราถึงจะรู้สึกดี ไม่ใช่ แต่ว่าเรากลับเข้ามาดูข้างใน พอได้ยินแม่พูดอย่างนั้น เรารู้สึกหงุดหงิด รู้สึกอึดอัด รู้สึกน้อยใจ เสียใจ อะไรก็ว่าไป

 แล้วจากความรู้สึกนี้แหละที่มันจะโยงลึกเข้าไปสู่ระดับความต้องการ (Need) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สาม เพราะความรู้สึกมันเกิดขึ้นจากความต้องการได้รับการตอบสนอง หรือว่าไม่ได้รับการตอบสนอง ความต้องการได้รับการตอบสนองก็จะเป็นความรู้สึกในแง่ที่เราชอบ ด้านบวกๆ ถ้าไม่ได้รับการตอบสนองก็จะเป็นความรู้สึกในแง่ที่เราไม่ชอบเท่าไหร่ เช่น น้อยใจ หงุดหงิด โมโห เสียใจ เบื่อ แค้น ซึ่งส่วนใหญ่ในความขัดแย้ง คนจะมีความรู้สึกด้านลบๆ เยอะ เพราะฉะนั้นเราก็จะมาดูซิว่าเป็นเพราะเราต้องการอะไร ความต้องการในที่นี้หมายถึงความต้องการร่วมของมนุษย์ทุกคน ไม่ใช่ความต้องการผิวเผิน อย่างเช่น บ้าน รถ เงินทอง หรืออะไร

แต่ในที่นี้เราใช้คำว่า need  คือสิ่งจำเป็นในชีวิตมนุษย์ ซึ่งไม่ใช่ความต้องการที่เป็นกิเลสหรืออะไร ความต้องการนี้คือสิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่ทุกคนมี อาจจะเป็นความต้องการด้านร่างกาย เช่น ต้องการความปลอดภัย ต้องการการสัมผัส ต้องการการสนับสนุน ต้องการน้ำ อาหาร อากาศ หรือความต้องการด้านจิตใจที่เป็นคุณค่าทั้งหลายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ ความรัก ความเมตตากรุณา การยอมรับ การรับฟัง ความเข้าใจกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือว่าความต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการความเคารพ ความต้องการในศักดิ์ศรี คุณค่าความเป็นมนุษย์ ซึ่งอันนี้ถ้าเราค่อยๆ ลงมาสัมผัสกับความต้องการลึกๆ ข้างในตัวเราได้ แค่เข้าไปเจอมันข้างในปุ๊บ ข้างในจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว อันนี้มันเป็นอะไรที่ต้องผ่านประสบการณ์ถึงจะรู้ พอเกิดการเปลี่ยนข้างในปุ๊บ พอสัมผัสกับความต้องการ มันเปลี่ยนเพราะเราให้ความเข้าใจตัวเอง เราได้รับความรัก ความเข้าใจ ความเมตตาจากตัวเรา เพราะฉะนั้นข้างในเรามันเปลี่ยน

ตอนนี้พอสัมผัสเสร็จ เราจะมีความสามารถที่จะเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ หรือว่าหาวิธีการที่ดีที่สุดที่จะตอบสนองความต้องการนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่พอใจแม่ที่แม่พูดว่า ‘ทำไมขี้เกียจอย่างนี้ ไม่ยอมช่วยกันบ้างเลย' เรารู้สึกหงุดหงิด รู้สึกน้อยใจ ลองมาดูซิว่า เราต้องการอะไร อ๋อ! ต้องการความเข้าใจว่าเราเหนื่อย เราอยากจะพัก ไม่ใช่ว่าเราไม่อยากจะช่วย แต่เราเหนื่อย แล้วอยากจะพัก ให้เราเข้าใจความต้องการ

 ขั้นตอนที่สี่คือ การขอร้อง (Request) หรือวิธีการที่จะเติมเต็มความต้องการ เราสามารถขอร้องได้ทั้งตัวเราเอง เรื่องบางเรื่องเราอาจต้องเติมเต็มด้วยตัวเราเอง แต่เรื่องบางเรื่องเราก็ต้องขอร้องคนอื่นเพื่อให้เขาช่วยเราบ้าง มันเป็นเทคนิคพื้นฐานวิธีการต่างๆ ที่คิดว่าจะเติมเต็มความต้องการของเรา เช่น เราอาจจะพูดกับแม่ว่า ‘เออ แม่ หลินได้ยินที่แม่พูด ตอนนี้ก็อยากจะให้แม่เข้าใจว่าหลินเหนื่อยนะ อยากจะใช้เวลานี้พักน่ะ ไม่ใช่ว่าไม่อยากจะช่วย แต่อยากจะพักก่อน ขอพักสักชั่วโมงหนึ่งแล้วค่อยลุกมาช่วยแม่ได้ไหม'  ก็จะหาวิธีที่สามารถตอบสนองความต้องการของเรา หรือดูแลทั้งเราและดูแลทั้งแม่ได้ ถ้าเราไม่ได้กลับมาหาความต้องการลึกๆ แบบนี้ ส่วนใหญ่แล้วเราก็จะบ่นแม่กลับไป ‘โอ๊ย ยุ่งอะไรเนี่ย คนจะนอน ไม่เคยเข้าใจเราเลย'

เทคนิคพื้นฐานที่เราจะทำความเข้าใจตัวเองก็ใช้ทั้ง ๔ ขั้นตอนนี้ และทั้ง ๔ ขั้นตอนก็ใช้ทำความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วย มันมีสองข้าง ทั้งสื่อสารตัวเราให้คนอื่นรู้ และรับฟังคนอื่นด้วย พอแม่พูดมาอย่างนี้ปุ๊บ เราก็อาจจะจับความรู้สึกของแม่ได้ ว่าแม่กำลังหงุดหงิดอยู่นะ ลองดูซิว่าลึกๆ แม่ต้องการอะไร อ๋อ แม่ต้องการความช่วยเหลือ แม่อยากให้ไปช่วยทำกับข้าว และแม่ก็คงเหนื่อยด้วยแหละ เราก็จะมองลึกลงไปจากเสียงบ่นเสียงว่า ว่าเขาต้องการความช่วยเหลือนะ พอมันเข้าไปเจอความต้องการ เพราะว่าความต้องการนี้เป็นความต้องการร่วมของมนุษย์ทุกคนน่ะ เพราะฉะนั้นเราจะสามารถเข้าใจเขาได้เพราะเราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน เราก็มีความต้องการ ต้องการความช่วยเหลือเหมือนกัน วิธีการเราอาจจะแตกต่างกัน แต่ความต้องการเราเหมือนกัน

เพราะฉะนั้นจุดนี้แหละที่เป็นตัวเชื่อมทำให้คนสามารถเข้าใจกันได้ในความแตกต่าง ข้างบนวิธีการผิวเผิน มันแตกต่างกันมากนะ แต่พอลงมาลึกๆ ถ้าเราดำดิ่งลงมาลึกๆ อ๋อ ตรงนี้เรามีอะไรที่เหมือนกันอยู่ แล้ว NVC เสนอให้เราทำความเข้าใจคนอื่นในระดับความต้องการ เพราะไม่ว่าเขาจะพูดอะไร เขาจะทำอะไร มีความต้องการลึกๆ เสมอ มันก็จะช่วยให้เราละวางการตัดสินคนอื่นเพราะว่าข้างบน สิ่งที่เขาทำออกมา เราอาจจะตัดสิน เราอาจจะไม่ชอบ แต่พอเรามองลึกไปถึงความต้องการได้เสมอ แล้วในระดับนั้นเราจะมองเห็นความเป็นมนุษย์ของเขา และของเราด้วย วิธีนี้เป็นวิธีที่มีพลังมากในการที่จะช่วยให้คนเข้าอกเข้าใจ เกิดความกรุณากันได้ แม้ว่าจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน"

 

‘สื่อสารสร้างสันติ'  ใช้ NVC ดูแลความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

เทคนิคการสื่อสารอย่างสันติ หรือ NVC ใช่จะถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับครอบครัวที่จะนำมาใช้สื่อสารกัน เพราะ NVC ไม่ใช่แค่คำพูดแต่เป็นสิ่งที่สื่อถึงความเมตตากรุณาภายในใจของเรา ถ้าพ่อแม่ได้เรียนรู้เรื่องนี้ก็จะสื่อสารกันด้วยความเข้าใจมากขึ้น และลูกๆ ก็ได้เรียนรู้ที่จะพูดภาษาแห่งความกรุณาตั้งแต่ยังเด็ก ปัญหาความไม่เข้าใจกันในครอบครัว ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งหลายก็จะสามารถคลี่คลายลงได้ 

ดร.ไพรินทร์ เปรียบว่า NVC นั้นเป็นดั่งเครื่องมือทางเลือกเพื่อทำให้ครอบครัวเป็นที่พักใจให้แก่เด็กๆ ยามเมื่อพวกเขาต้องเผชิญปัญหาชีวิตในวันใดวันหนึ่ง  "NVC ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้พ่อแม่ได้สื่อออกมาให้ลูกรู้ได้ หลินเห็นหลายเคสที่พ่อแม่เอาไปใช้กับลูกแล้วช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกได้ ซึ่งหลินรู้สึกว่ามันเป็นความงดงามของ NVC ที่ช่วยให้ครอบครัวได้รับฟังกันและกัน ได้พูดคุยกัน แล้วลูกจะได้โตมาโดยที่เขามีที่พักใจเพราะว่าพ่อแม่สามารถเป็นที่พักใจให้แก่ลูกได้ เวลาลูกโตขึ้นมาไม่ว่าจะระดับไหน โดยเฉพาะเวลาที่เขาเป็นวัยรุ่นแล้วเขาต้องออกไปสู่สังคมเพื่อนฝูง เขามีเรื่องทุกข์ร้อนทุกข์ใจยังไง เขาก็สามารถกลับมาสู่ที่พักใจที่ครอบครัวได้เสมอ อันนี้แหละที่จะช่วยให้สังคมลดความรุนแรงได้เยอะ

คิดดูว่าถ้าเด็กวัยรุ่นโตขึ้นมามีปัญหาชีวิตแล้วไม่มีที่พักใจที่บ้านให้เขากลับมา เขาก็อาจจะเลือกไปใช้ยาเสพติดหรือใช้แอลกอฮอล์ เขาเลือกได้ จะซื้อเหล้าซื้ออะไรได้ง่ายมาก เพื่อคลี่คลายปัญหาในใจเขา หรือเลือกที่จะทำอะไรที่รุนแรงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของกลุ่ม ซึ่งเครื่องมือแห่งความรุนแรงเหล่านั้นมันมีอยู่เยอะมาก แต่ถ้าเรามีเครื่องมืออีกเครื่องมือหนึ่งให้เป็นทางเลือกสำหรับครอบครัว ให้เด็กมีที่พักใจ เด็กก็จะสามารถเติบโตได้อย่างมีความมั่นคงจากภายใน เขาก็ไม่ต้องไปแสวงหาอะไรภายนอกตัวที่มาทำร้ายตัวเขา"  

 


[๑] หนังสือ "สื่อสารสร้างสันติ เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นพลังสร้างสรรค์"  โดย ดร.ไพรินทร์  โชติสกุลรัตน์  และนริศ มณีขาว

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >