หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 39 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


วิชา เรียนรู้และเคารพธรรมชาติ : กับครูปราชญ์พะตีจอนิ โอ่โดเชา พิมพ์
Wednesday, 03 May 2017

 

 จากวารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 103 (มกราคม - เมษายน 2560)

 

การศึกษานอกห้องเรียน

วิชา เรียนรู้และเคารพธรรมชาติ

กับครูปราชญ์ปกาเกอะญอ พะตีจอนิ โอ่โดเชา


ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์/เรียบเรียง

 



เพราะการเรียนรู้จากชีวิตและความคิดของผู้คนย่อมเป็นครูชั้นดีที่จะทำให้เราได้เข้าใจสิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ มีผู้เฒ่าปกาเกอะญอท่านหนึ่งผู้ซึ่งชีวิต การงาน และความคิดของท่าน ควรค่าแก่การศึกษาเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง ผู้เฒ่าท่านนี้ก็คือ พะตี[๑]จอนิ โอ่โดเชา หรือ พ่อหลวงจอนิ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ นักอนุรักษ์แห่งลุ่มน้ำวาง บ้านหนองเต่า อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

ผู้เฒ่าวัย ๗๑ ปี ผู้นี้เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในนาม "ปราชญ์แห่งขุนเขา" ท่านเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องสิทธิในที่ทำกินและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่และดูแลรักษาป่ามาตั้งแต่ท่านยังเป็นหนุ่ม กระทั่งเป็นผู้สูงวัยแล้วก็ยังคงเป็นแนวหน้าเรียกร้องสิทธิเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ให้คงอยู่ถึงรุ่นลูกหลาน นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ และเป็นคนชนเผ่าปกาเกอะญอเพียงคนเดียวที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยุคแรก หลังจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ประกาศใช้

และเมื่อปี ๒๕๕๔ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการบริหารงานภาครัฐและเอกชน ให้ท่าน ด้วยเหตุผลที่ว่า พะตีจอนิ เป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการบริหารจัดการป่า รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งตามวิถีทางของบรรพบุรุษชาวปกาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนจนเป็นที่ประจักษ์ ควบคู่กับการสร้างกิจกรรมพัฒนารวบรวมเครือข่ายชาวไทยภูเขา ๑๓ เผ่า ร่วมจัดทำแผนพัฒนาเพื่อดูแลรักษาป่าไม้และทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ จัดตั้งธนาคารข้าวร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ๑๐๐ องค์กร ร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำวาง ๔๐ หมู่บ้าน[๒]

การมอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่พะตีจอนิในครั้งนี้ ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยกล่าวว่า เพื่อให้เด็กๆ เยาวชนลูกหลานของพี่น้องชนเผ่าได้รับรู้ เรียนรู้ และเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาชนเผ่า ว่าสิ่งที่พะตีจอนิกำลังทำอยู่นั้นคือส่วนหนึ่งที่มีคุณค่าต่อการศึกษา อันจะทำให้ลูกหลานชนเผ่าได้รู้และภูมิใจว่าจริงๆ แล้วการศึกษานั้นอยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในรากเหง้าของตัวเราเอง

ปราชญ์ปกาเกอะญอท่านนี้จะนำเราไปเรียนรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญออันลุ่มลึกที่บอกเล่าสอนสั่งสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษสู่รุ่นลูกรุ่นหลานให้เคารพและรู้คุณต่อธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ภาพปรากฏที่เป็นประจักษ์พยานก็คือความเป็นชนเผ่านักอนุรักษ์ป่าที่สามารถดำรงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในทุกพื้นที่ที่พวกเขาอยู่อาศัย ...มีหลากหลายเรื่องราวที่พะตีจอนิจะมาบอกเล่าให้ลูกๆ หลานๆ ได้รับรู้ ...จึงขอเปิดห้องเรียนเพื่อเราจะได้เรียนรู้ร่วมกัน ณ บัดนี้...

 

คาบที่ ๑ ว่าด้วยเรื่อง โลกทัศน์ปกาเกอะญอ: ชีวิต...มีความศักดิ์สิทธิ์

เคยมีคนให้คำนิยามถึง พะตีจอนิ ว่า เป็นนักปรัชญานิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecologist) คือผู้ที่มองว่าโลกนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ และสรรพสิ่งในโลกล้วนเชื่อมโยงเป็นข่ายใยชีวิต ทุกชีวิตมีที่มาที่ไป มีความงามและมีคุณค่าในตัวเอง สำหรับพะตีจอนิแล้ว มนุษย์จะเข้าใจธรรมชาติ ต้องเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงและผูกพันกันอยู่ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

พะตีจอนิ บอกว่า บรรพบุรุษปกาเกอะญอนับถือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมา และมีศรัทธาในสิ่งเหนือธรรมชาติ ปกาเกอะญอจึงเชื่อในความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และสิ่งสูงสุดเหนือธรรมชาติ มีความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมี ๕ สิ่งอยู่ในตัวตั้งแต่เกิด คือ ขวัญ (เกอะลา - ภาษาปกาเกอะญอ) ร่างกาย (หน่อโค) วิญญาณในไฟชำระ (ปลือปู)  ขุมนรก (ดูรอหร่า) และสวรรค์สูงสุด (ดูเตอวอ) ที่ต้องให้ความสำคัญและให้คุณค่า

"ปกติแล้วคนเรานี่มันมีวิญญาณ มีร่างกาย มีเมืองผี เมืองนรก เมืองสวรรค์ อยู่ในตัวคนทุกคน ร่างกาย คือคนที่อยู่ในโลกนี้ ส่วนเมืองผี คือ ครึ่งผีครึ่งคน นรก ก็คือคนที่ทำบาปเยอะๆ ที่เรียกว่าตกนรกใหญ่ ถ้าขึ้นสวรรค์ ก็คือ ดูเตอวอ แต่ละคนมี ๕ เรื่องอย่างนี้ทุกคน แต่คนที่เข้าใจจิตวิญญาณนี่ เห็นคนจะผิวสีอะไร คิดอะไร คนโง่ คนฉลาด คนรวย คนจน เห็นปุ๊บก็จะเข้าใจว่าคนนั้นมี ๕ เรื่องเหมือนเรา อันนี้แหละเข้าใจเรื่องจิตวิญญาณ"

ด้วยเหตุนี้ วัฒนธรรมปกาเกอะญอจึงให้ความเคารพคนทุกคนไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ หรือสีผิวใดก็ตาม เมื่อมีแขกไปใครมาที่บ้านจึงต้องเลี้ยงข้าวให้เขาอิ่ม และมีอะไรต้องแบ่งปันผู้อื่น เพราะเชื่อว่าก่อนที่เราจะมาเกิดหรือเมื่อตายไปแล้วจะต้องไปพบกับวิญญาณบรรพชน (มือฆา) ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินการกระทำของเราในขณะที่มีชีวิตอยู่ ว่าเราทำดีหรือทำชั่ว มือฆาจะเป็นผู้ตัดสินว่าเราจะได้ไปสวรรค์หรือลงนรก

"มือฆาจะถามว่า คุณจะไปเกิดเป็นลูกไผ พ่อแม่อย่างใด ต้องผ่านมือฆา ผีบรรพบุรุษ ถ้าคุณไปอยู่ในโลก คุณได้กินข้าว คุณกินอิ่มคนเดียว แต่คนอื่นไม่ได้กินข้าว คุณต้องให้เหมือนกัน ถ้าไม่ให้ น้ำตาของมือฆาตก มือฆาเขาจะบอกอย่างนี้ นอกนั้นจะไปอยู่สั้นหรือยาว จะเห็นแก่ตัว หรือเห็นแก่อะไร มือฆาก็เขียนไว้เท่านั้น ถึงเวลาไปอยู่ในโลก เวลาจะตายก็กลับมาหามือฆาอีก มือฆาก็ต้องถามว่า คุณไปทำอะไร มือฆาจะตัดสินว่า คุณจะตกนรกใหญ่ หรือจะขึ้นสวรรค์ ผลที่ตัดสินใจ มือฆาก็เอาผลนั้นแหละไปเป็นรางวัลของเรา"

พะตีจอนิ ยังเล่าถึงหลักความเชื่อของปกาเกอะญอที่เชื่อในความเกี่ยวข้องกันของสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ "ปกาเกอะญอเชื่อว่าจิตวิญญาณของเฮาอาจจะเป็นเกสร อาจจะเป็นดอกไม้ เกสรดอกไม้ในโลกนี้เกี่ยวข้องกับฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้น  คำว่า ฟ้า ๗ ซ้อน ซ้อน หมายถึง มันซ้อนกันอยู่ เป็นเมฆ หมอก ลม ไฟ เดือน ดาว พระอาทิตย์ ส่วนดิน ๗ ชั้น ก็มี ดิน ทราย หิน ลม ไฟ น้ำ และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย"

"คนเราเกี่ยวพันกันอยู่อย่างนี้ ทำไมถึงเกี่ยวพันกับฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้นล่ะ  ก็แกนตาของคุณน่ะ แกนข้างใน แกนตามันกลมๆ ใช่ไหม นกบินบนฟ้า แกนตามันก็กลมๆ ปลาอยู่ในน้ำ แกนตามันก็กลม สิ่งมีชีวิตทั้งหลายในโลกนี้ แกนตากลมหมดเลย หมายความว่า โลกก็กลม ลมก็กลม เมฆก็กลม หมอกก็กลม น้ำก็กลม ผลไม้ก็กลม ดอกไม้ ทุกสิ่งทุกอย่างกลมหมดเลย เพราะฉะนั้นเขาเรียกว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ลูกไม้พอตกลงมา มันกลม ออกลูกมา ลูกมันก็กลม

 เพราะฉะนั้น นี่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ถ้าจะอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ต้องเข้าใจเรื่องฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้นด้วย มันผูกพันกัน มันเป็นองค์รวมผูกพันกันอย่างนี้หมด ผูกพันกันตั้งแต่ชีวิต ๕ อย่างที่พูดไปแล้ว และไปผูกพันกับ ฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้น ทั้งหมด พอมาเป็นสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ เป็นหมื่นๆ ล้านๆ และเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น"

 "ต้องเข้าใจความสัมพันธ์นี้ให้ได้ ต้องให้คุณค่า สร้างความภูมิใจในตัวเอง สร้างความภูมิใจในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ปกาเกอะญอบอกว่า กินน้ำต้องรักษาน้ำ กินสรรพสิ่งต้องรักษาสรรพสิ่ง เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งในนั้น  เราสัมพันธ์กับลม สัมพันธ์กับเมฆ สัมพันธ์กับหมอก ขณะเดียวกัน เราก็สัมพันธ์กับควายด้วย สัมพันธ์กับน้ำด้วย เพราะคนเราต้องมีน้ำ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปถึงจะสมบูรณ์ ถ้ามีน้ำ ๒๐-๓๐% ก็จะป่วยแล้ว มันสัมพันธ์กันหมด น้ำนี่มีหมื่นๆ พันๆ ชนิด แต่หลักการใหญ่มีแค่ ๗ เมฆมีหลายเมฆ มีหลายหมอก แต่หลักการใหญ่ก็คือ เป็นเมฆ ทำไมถึงสัมพันธ์กันอย่างนี้  ถ้า เมฆ หมอก ออกอย่างนี้ ปลาจะขึ้นมาเวลาใด จะไข่เวลาไหน เดือนไหน ถ้าเมฆเป็นอย่างนี้ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจะเคลื่อนไหวไป ถ้าหมอกมีอย่างนี้ เห็ดเผาะจะออก เห็ดลมจะออก เห็ดลมก็เกี่ยวข้องกับลมด้วย เกี่ยวข้องกับดินด้วย เกี่ยวข้องกับปลวกด้วย เกี่ยวข้องกันหลายส่วน อันนี้มันผูกพันกันในชีวิตแต่ละชีวิต"

ตามที่พะตีจอนิอธิบายมา ทุกสิ่งในโลกล้วนสัมพันธ์กัน กระทำสิ่งหนึ่งย่อมมีผลต่ออีกสิ่งหนึ่งเสมอ

"ขนาดพระจันทร์ไปอย่างนั้น ทะเลอยู่ในโลกนี้ ยังตอแยพระจันทร์ด้วยเลย ทะเลขึ้น ทะเลลง เพราะมันสัมพันธ์กันหมด มีหลายๆ ครั้ง อุกาบาตมาชนโลก อย่างอื่นก็พังทลายด้วย แล้วบางอย่างก็งอกใหม่หรือเปลี่ยนใหม่ มันสัมพันธ์กับฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้น เขาเรียกว่า เด็ดดอกไม้ที่บนโลก สะเทือนถึงดวงดาว อันนั้นมันชี้ถึงปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง แต่ความเชื่อปกาเกอะญอชี้เป็นองค์รวมไปเลย"

เพราะชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ และเมื่อให้คุณค่าและเคารพ ปกาเกอะญอจึงต้องมีพิธีกรรมต่างๆ ในการดูแลดิน น้ำ ป่า ที่แสดงถึงความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งสูงสุดนั้น ด้วยเหตุนี้วิถีปกาเกอะญอแต่เดิมมาจึงแฝงแนวคิดอนุรักษ์ป่าไว้ในทุกช่วงชีวิต

"มีเลี้ยงผีเหมือง ผีฝาย เลี้ยงผีควาย เลี้ยงผีน้ำปีละครั้ง เลี้ยงผีไฟปีละครั้ง เลี้ยงผีไฟเพื่อขอขมาไฟ เวลาจะเผาไร่ที่เราจะปลูกข้าว พอถึงเวลาข้าวงอก เขาจะเลี้ยงผีไฟ  และมีเลี้ยงผีข้าว เลี้ยงผีป่าด้วย อันนี้เป็นการคืนดีกับธรรมชาติ คืนดีกับผี ผีเนี่ย คนอื่นว่า บ่ดี สิ่งสูงสุดน่ะ อาจจะเป็นพระเจ้า ที่คาทอลิกเรียกว่าพระเจ้า ปกาเกอะญอจะเรียกว่า เกอจ่ายวา บางคนบอกว่าเกี่ยวข้องกับป่า ก็เจ้าป่าเจ้าเขาแหละ  แท้ๆ แล้ว ฟ้า ๗ ซ้อนดิน ๗ ชั้น เพราะฉะนั้นจะแยกบ่ได้ เพราะมันสัมพันธ์กันด้วย"

พะตีจอนิบอกว่า ความเชื่อเหล่านี้สืบทอดต่อๆ กันมาแต่ดั้งเดิมจากรุ่นสู่รุ่น มีเหตุผลทางความเชื่อด้วย มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ด้วย แต่พอมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในยุคปัจจุบันที่ชอบความสำเร็จรูป ชอบความรวดเร็ว ต้องการความสำเร็จมาโดยง่าย ความเชื่อเหล่านี้จึงถูกความรู้แบบสมัยใหม่ที่เป็นการศึกษาแค่ผิวเปลือกนอกโดยไม่ได้เอาเรื่องของจิตวิญญาณที่ลึกซึ้งใส่เข้าไปด้วย กลายเป็นความรู้ที่แยกออกเป็นส่วนๆ ไป

 

คาบที่ ๒ ว่าด้วยเรื่อง ขวัญ

พะตีจอนิบอกว่า ปกาเกอะญอเชื่อว่าชนเผ่าจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นอยู่ร่วมกัน เพราะคนเรามีขวัญอยู่ในร่างกาย ๓๗ ขวัญ  ขวัญในตัวเรามีอยู่ ๕ ขวัญ อีก ๓๒ ขวัญอยู่รอบตัวเรา เป็นขวัญจากสรรพสิ่งในธรรมชาติ ทุกสรรพสิ่งมีวิญญาณ มีขวัญของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ หรือสรรพสัตว์ทั้งหลาย

"ความเชื่อเรื่องขวัญ ที่ว่าคนเรามีขวัญ ขวัญ เสมือน ปัญญา (เกอะลาโคที) เด็กๆ น้อยๆ ลองจับดูที่หัว เรียกว่า โคทีเบาะ คือ เหมือนบ่อน้ำ ถ้าใครโผล่มาจากท้องแม่ จริงๆ โคทีเบาะ ต้องโผล่มาก่อน แล้วลูกถึงโผล่มา เขาก็มีน้ำที่หัว ที่อ่อนๆ มีรู ถ้าเอามือจิ้มก็ทะลุแล้ว อันนี้แหละ โคทีเบาะ เกอะลาโคที เขาเรียกว่า ขวัญ (กระหม่อม)

สอง. ขวัญหัวใจ (เกอะลาซานะ) ทุกคนมีใจ ใจมันกลวงๆ ใครๆ ก็รู้ ทุกคนรู้ ทั่วโลกรู้ ทุกคนก็มีหัวใจด้วยกันทั้งนั้น  สาม. ขวัญมือซ้าย (เกอะลาจือเจะ) หมายถึง ซ้ายมือก็มีขวัญ สี่.ขวัญมือขวา (เกอะลาจือ ชอย)   ห้า. ขวัญเท้า (เกอะลาข่อ) หมายความว่าเท้าทุกคนเหยียบดิน   ทุกคนมีทิศเหนือ มีทิศใต้ มีญาติพี่น้อง มีอื่นๆ  ถ้าเรายืนหันหน้าหาดวงอาทิตย์ ทางใต้มีใคร มือขวาของเรามีใคร มือซ้ายของเรามีใคร ทางหัวของเรามีอะไร ถ้าเข้าใจฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้น อันนี้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์"

ด้วยมีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณและเรื่องขวัญ ปกาเกอะญอจึงมีการเรียกขวัญ มีพิธีผูกข้อมือปีละ ๒ ครั้ง คือ ต้นปีและกลางปี หรือในยามที่เจ็บไข้ได้ป่วย และโอกาสพิเศษที่ลูกหลานกลับมาเยี่ยมบ้าน

"เหตุผลทางความเชื่อปกาเกอะญอ ปกาเกอะญอผูกมือเรียกขวัญ การผูกมือเรียกขวัญมีอยู่ ๕ รูปแบบ มีผูกมือบุคคล ผูกมือครอบครัว ผูกมือเครือญาติ ผูกมือทั้งชุมชน ผูกมือให้แขกทั่วๆ ไป  การผูกมือ จะผูกมือขวา หรือผูกทั้งสองมือก็ได้ หรือผูกที่เท้าก็ได้ โรคบางอย่างต้องผูกที่เท้า โรคบางอย่างผูกแค่มือ โรคไม่สบายบางอย่างต้องผูกทั้งหมด แล้วต้องเอาเศษไฟหยอดที่ขวัญ (กระหม่อม) นี่เป็นรายละเอียดที่ปกาเกอะญอปฏิบัติเป็นพิธีกรรมทุกปี ปีละ ๒ ครั้ง"

อีกหนึ่งความเชื่อเรื่อง ต้นไม้สะดือ หรือ เดปอทู ตามความเชื่อเดิม ตั้งแต่เกิด ปกาเกอะญอต้องนำรกสะดือของเด็กแรกเกิดไปฝังหรือไปแขวนไว้ที่ต้นไม้ เมื่อเด็กลืมตาดูโลก พ่อแม่ปกาเกอะญอจะนำสายสะดือใส่กระบอกไม้ไผ่ผูกไว้กับต้นไม้ที่สมบูรณ์แข็งแรงในบริเวณที่เรียกว่า ป่าเดปอ เพื่อให้ผีผู้พิทักษ์หมู่บ้านดูแลคุ้มครองให้เจ้าของสะดืออยู่เย็นเป็นสุข ซึ่งต้นไม้สายสะดือและต้นไม้ทุกต้นนั้นห้ามตัดโดยเด็ดขาด 

"เฮาถือว่ามีวิญญาณ ฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้น มาเกิดเป็นวิญญาณ แล้วไปหาผีปู่ย่าผีปู่ย่าก็เลี้ยงมือฆา เขาว่ามันอยู่บนต้นไม้ ต้นโพธิ์ ต้นไทร หรืออะไรสักอย่าง เป็นต้นไม้แห่งความเป็นความตาย ต้นไม้ต้นนั้นน่ะ เพราะเอามาจากที่นั่น ก็มาหาผีปู่ย่าที่นี่ มาเป็นคน แล้วได้ครบ ๕ อย่าง และเมื่อมาเป็นอย่างนี้ เวลาเฮาโผล่มา สะดือที่ตากไว้ที่เหลืออยู่หน่อยหนึ่งเอาเก็บไว้ แต่อีกส่วนหนึ่งเฮาก็ต้องไปคืนที่ต้นไม้ เพราะเฮามาจากอย่างนี้ เฮาก็ต้องคืนเขา พอมาจากเกสรดอกไม้หรืออะไรสักอย่าง หรือฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้น มาเป็นวิญญาณของเฮา เฮาเกิดมา โผล่มา เฮามีส่วนที่เหลือ เฮาก็ต้องคืนที่ต้นไม้"

ด้วยความเชื่อว่าเรามาจากธรรมชาติ เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราก็ต้องคืนให้ธรรมชาติ จากที่ฝากไว้กับต้นไม้ เมื่อดูแลต้นไม้เราจึงไม่ไปทำลายต้นไม้ ต้องดูแลธรรมชาติ ก็เลยเป็นการอนุรักษ์ไปโดยปริยาย แต่ปัจจุบันความเชื่อเรื่องป่าสะดือลดน้อยลงตามวิธีคิดแบบสมัยใหม่ จึงไม่ค่อยเหลือสภาพความเป็นป่าเดปอตามความเชื่อของบรรพบุรุษอีกต่อไป

พะตีจอนิยังบอกอีกว่า วิถีการเกษตรสมัยใหม่ก็เช่นกัน การทำไร่สมัยใหม่ ปลูกพืชชนิดเดียว หวังว่าทำได้มาก ขายได้มาก จะได้เงินมาก มองเงินตราเป็นพระเจ้า ไม่เข้าใจสิ่งมีชีวิตอื่นรอบตัว เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ จึงใช้สารเคมีมากตามไปด้วย ซึ่งการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงมากๆ เท่ากับว่าฆ่าวิญญาณของแมลง นก และหนูให้ตายไป ธรรมชาติจะอยู่ได้ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ถ้าทำลายสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็กระทบกระเทือนส่วนอื่นด้วย

"ตั้งแต่ ขวัญนก ขวัญหนู ขวัญปลา สิ่งมีชีวิตน้อยๆ ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตใหญ่ๆ มันเป็นขวัญของเฮาหมด อย่างเวลาเห็นมดตัวนี้ไม่สบาย ทำไมมันไม่สบาย มันสละชีวิตให้คนอื่นกิน หรือมันไม่สบายที่มนุษย์ทำลาย สมมุติเฮาเอายาฆ่าพวกมัน ปกาเกอะญอ ลึกๆ แล้วต้องเข้าใจว่า โฮ้ ขวัญเฮาไม่สบาย ขวัญวิญญาณมด วิญญาณแมลง วิญญาณสิ่งมีชีวิตตาย เฮาก็ต้องเสียใจ ในที่สุดเฮาก็ต้องตายไปเพราะขวัญเฮาตาย ขวัญรอบนอก สัตว์สองตัวนี้ตาย เพราะฉะนั้นในที่สุดคนเราก็จะตายเหมือนกัน อันนี้ต้องสำนึกเสมอ สมมุติเอาน้ำไม่ดีเทใส่ในน้ำ ปลาตายน่ะ ในที่สุดปลาตายหมด ปลาไม่มีในโลกนี้ มนุษย์ก็ไม่ได้กินปลาแล้ว ทำลายเกลือที่ทะเล ทะเลเป็นพิษไปหมด ตัวเองก็กิน ก็เป็นพิษเป็นภัย เป็นง่อยหมด มันก็เท่ากับว่าขวัญของเราตาย ขวัญของเราป่วย ในที่สุดป่วยแน่ๆ แต่จะป่วยสั้นหรือป่วยยาว" 

นั่นย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า เป็นเพราะมนุษย์ทำลายขวัญของเราเอง ด้วยเหตุนี้ ภาวะวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งโรคภัย หรือภัยธรรมชาติ ก็ล้วนเกิดจากการทำลายขวัญของมนุษย์เราเอง

 

คาบที่ ๓  เล่านิทานปกาเกอะญอ สะท้อนปัญหาแบบโลกย์ๆ

นิทาน เป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สืบทอดมาจากบรรพชนผ่านการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นต่อๆ กันมา สำหรับชาวปกาเกอะญอแล้วพวกเขาเชื่อว่า นิทานและบทกวีของปกาเกอะญอมีมากพอๆ กับใบไม้ในป่า ความผูกพันกับธรรมชาติที่ปลูกฝังผ่านนิทานจึงกลายเป็นวิถีที่ชาวปกาเกอะญอแต่เดิมมายึดถือปฏิบัติในการดำเนินชีวิต

พะตีจอนิ เป็นนักเล่านิทานตัวกลั่นที่เล่านิทานสนุก แฝงสาระแง่มุมให้ขบคิดด้วยปรัชญาที่แหลมคม และการมองโลกอย่างผู้ผ่านประสบการณ์ ผ่านกาลเวลาด้วยวัยที่ตกผลึกทางความคิดแล้ว กระทั่งมีผู้นำไปรวบรวมทำเป็นหนังสือชุดนิทานปกาเกอะญอออกมาหลายต่อหลายเล่ม

พะตีจอนิบอกว่า "บางครั้งนิทานก็เป็นเรื่องความสนุก บันเทิง บางครั้งก็เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ บางครั้งก็เป็นภูมิปัญญา บางครั้งก็เป็นการจินตนาการถึงอนาคต บางครั้งก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาด้วย ลุงได้วิชาต่างๆ  ก็ได้จากนิทานทั้งนั้น จากปู่ย่าตายายเล่า ตอนเด็กๆ ลุงเลี้ยงควาย ก็ไปหายายให้เล่าจนนิทานเขาหมด ไปหาเขาให้เล่าๆ  จนนิทานมันซ้ำกัน

นิทานปกาเกอะญอที่นำมารวมเล่มนั้น พะตีจอนิบอกว่า ต้องการบอกให้รู้ว่าเรื่องราวแบบนี้มันมีจริงในสังคมปัจจุบัน เช่น เรื่องกำพร้าขนนก มีเด็กกำพร้าที่ซิสเตอร์เลี้ยงดูเยอะแยะ นิทานเล่ามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ นิทานสืบทอดกันมา ๕,๐๐๐ ปีแล้ว ยังมีอยู่และยังจะมีต่อไป

แล้วพะตีจอนิก็เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ฟัง เรื่องมีอยู่ว่า...

"โลกนี้ ครั้งแรก เสือปกครอง เสือเป็นเจ้าเมืองครองโลก เสือปกครองก็คือ ปกครองแบบเสือ คุยแบบเผด็จการ หรือเจ้าทาส เมืองทาส แบบเจ้ากับทาส ครั้งที่สอง ยุงปกครอง ยุงที่มากัดคนน่ะ ปกครองโลก  ยุงนี่ปกครองแบบกองโจรต่างๆ นานา ยุงไม่กลัวเสือ เสือจะนอนอย่างนี้ มันไต่ตอมหูเสือ เสือเลยยอมแพ้  ครั้งที่สาม นกกก นกเงือก ปกครองโลก ถ้าปกครองแบบนกกก ต้องบินสูง ใครๆ ก็ได้กินจากขี้ทั้งนั้น นกอย่างอื่น สิ่งมีชีวิตอย่างอื่นได้กิน เลยเดือดร้อน นกกกจะลงก็ไม่ยอมลง  ครั้งที่สี่ นกพญาไฟ เป็นเจ้าเมืองปกครองโลก นกพญาไฟเอาหอกเอาดาบไปฆ่านกกกตาย แล้วเข้ามาเป็นกษัตริย์แทน เพราะมันมีหอกมีดาบ เมื่อปกครองประเทศ ต้องแต่งตัวสวยๆ งามๆ เหมือนทั่วโลกเลย

ครั้งที่ห้า นกฮูก ปกครองโลก ในที่สุดสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นทำอย่างเขาไม่ได้ เลยล้มเจ้าเมืองนี้ไป แล้วเอานกฮูกมาปกครองต่อ ชาวบ้านทั่วไปถามว่านกฮูกทำไมถึงตาโต ตาโตนี่กล้าหาญเหรอ ทำไมกล้าหาญแล้วถึงนอนบนคบไม้ อ๋อ กลัว อ๋อ ถึงว่า ทำไมมันหลบๆ ซ่อนๆ อย่างนี้  ครั้งที่หก นกเขาเขียว ปกครองโลก ช่วงที่มันปกครองบอกว่าวันนี้มาประชุมเน้อ เขาก็อ้างนี้อ้างโน้น อ้างว่าติดธุระ บ่ไปสักกำ มีแต่ลูกน้องมา อีกวันมันก็นัดประชุม มีแต่ลูกน้อง มันก็ไม่อยู่ มันหลบไปหลบมา ครั้งที่เจ็ด นกแซงแซว ปกครองโลก นกแซงแซวที่หางยาวๆ นกแซงแซว คุยได้ทุกภาษาเลย แต่กลัว กลัวว่าเสือจะมากิน นกฮูกจะมากิน กลัวไปเรื่อย ตะโกนไปเรื่อย ตอนนี้ถึงยุคที่ตะโกนไปเรื่อย นี่เป็นแต่ละยุค ครบ ๗ ยุคละ"

นิทานเรื่องเดียวแต่สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างลุ่มลึกและไม่ล้าสมัย ยังมีความเท่าทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ทั่วทุกมุมโลกในทุกวันนี้

"ตอนนี้เป็นยุคปัจจุบัน สื่อปกครองโลกแล้ว ไผจะไม่กลัวไผแล้ว ใครจะไม่เชื่อใครแล้ว เพราะเสือก็มีในยุคนี้ ยุงก็มีในยุคนี้ นกกกก็มี นกอินทรี คนที่บินได้ เครื่องบินไร้คนขับ หรือจะทิ้งระเบิดที่ไหนก็ได้น่ะ นกกก มันบินสูงมันจะขี้หล่นที่ไหนก็ได้ นี่เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มันจะทิ้งระเบิดที่ไหน เมืองไหน ประเทศไหนก็ได้ บรรพบุรุษสอนว่า มันครบจริงๆ แล้ว ตอนนี้มันปกครองยุคที่ ๗ แล้ว ตอนนี้มันซับซ้อนถึงเจ็ดชั้นแล้วเหมือนกัน ปกครองด้วยสื่อ ปกครองด้วยเทคโนโลยีไปแล้ว ต้องยาวไปอีกสองพันปี กว่ามนุษย์จะรู้เรื่อง มันยังบ่ยาว มันยังไม่ได้เอาดาวมาเป็นเครื่องบิน ยังไปขุดเอาดาวมายังไม่ได้ กำลังคิดว่าจะเอาดาวดวงไหนมาทำเป็นเทคโนโลยี ทำเป็นเครื่องบิน ทำเป็นมือถือ ทำเป็นเครื่องมือ"

 เมื่อนิทานยังต้องมีตอนจบ มีบทสรุปที่เป็นคำตอบของปัญหาทุกอย่างที่ต้องมีการคลี่คลาย แล้วนิทานเรื่องที่พะตีเล่าจะมีตอนจบอย่างไร พะตีจอนิบอกว่า "ยุคต่อไปจะเป็นอย่างนี้ไปอีกถึงสองพันปี เพราะโลกมันปกครองแบบนี้มาห้าพันปีแล้ว สื่อความหมายตอนนี้ จะต้องรออีกสองพันปี ถ้ารออีกสองพันปีมันทะเลาะกันไม่รู้เรื่องแล้ว มันบอกว่าน่าจะพอตั้งแต่วันนั้นแล้ว เพิ่งรู้ตัวเอง นี่เราต้องเกิดตาย เกิดตาย อีกสองพันครั้ง

ช่วงนี้มันก็จะเป็นไปแบบนี้เรื่อยๆ ดีบ้าง แย่บ้าง ที่นี่ดี ที่นั่นแย่ ที่นี่แย่ ที่นั่นดี หมุนไปหมุนมาอย่างนี้ ไปตลอด พระพุทธเจ้าอยู่ที่อินเดียสองพันกว่าปีแล้ว ก็อย่างนี้แหละ พระเยซูเกิดที่ตะวันออกกลางสองพันกว่าปีแล้วเหมือนกัน ก็อย่างนี้แหละ"

 

คาบสุดท้าย ว่าด้วยเรื่องปัญหาความขัดแย้งของมนุษย์และทางออกของปัญหา

พะตีจอนิบอกว่า ต้นเหตุของปัญหาความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ล้วนมาจากความเห็นแก่ตัวของมนุษย์  "ในพระคัมภีร์ อาดัมกับเอวาแค่ ๒ คน พระเจ้าบอกว่าต้นไม้ต้นนี้เน้อ บ่ต้องกินนะ พระเจ้าหลบไปแป๊บเดียว ยังกินจนได้น่ะ อันนั้นแหละ แค่สองคนยังเห็นแก่ตัว ตอนนี้คนมี ๗,๐๐๐ กว่าล้านคน พอเห็นแก่ตัวมันก็ซับซ้อน แต่จะซับซ้อนจะได หลักการใหญ่มันก็มีแค่ ๕ เรื่อง

มนุษย์ขัดแย้งกันด้วย ๕ เรื่อง เรื่องที่ ๑ ขัดแย้งเรื่องเชื่อและคิดไม่เหมือนกัน  ๒.ขัดแย้งเรื่องดิน น้ำ ป่า และทรัพยากรธรรมชาติทั้งหลาย  ๓.ขัดแย้งกันเรื่องอำนาจ กูมีอำนาจ มึงไม่มีอำนาจ กูใหญ่กว่า ขัดแย้งกันเรื่องอำนาจทั้งหลาย  ๔.ขัดแย้งกันเรื่องสิทธิ สิทธิของเผ่าพันธุ์ในโลก สิทธิสิ่งมีชีวิต ไม่มีชีวิต สิทธิทั้งหลายนั่นแหละ  ๕.ขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์หรือเงินตรา  หลักการใหญ่มันแค่นี้ มนุษย์ที่ฆ่ากันทุกวันนี้ แค่นั้นแหละ ลุงคุยมาเป็นสิบปีแล้ว ปัญหายังต้องวนไปอย่างนี้อีก ๒,๐๐๐ พันปี ลุงทายได้เลย เพราะที่ผ่านมามันขัดแย้งกันด้วย ๕ เรื่องมา ๕,๐๐๐ ปีแล้ว"

สำหรับทางออกของปัญหาความขัดแย้ง ๕ เรื่องนี้ในความคิดเห็นของพะตีจอนิก็คือ

"ต้องเข้าใจว่าโลกนี้มีความเชื่อความคิดหลายแบบ อ๋อ มันทะเลาะเรื่องดิน น้ำ ป่า ทรัพยากร ก็ต้องแบ่งกันสิ ไม่ใช่แก้ปัญหาไม่ได้ แต่เพราะไม่อยากจะแบ่งนั่นแหละ  จะเข้าใจเรื่องอำนาจก็ต้องกระจายอำนาจสิ  ถ้าเรื่องสิทธิ ก็ต้องเข้าใจสิทธิ ต้องให้สิทธิ  คุณทะเลาะกันเรื่องผลประโยชน์เงินตรา ก็ต้องกระจายผลประโยชน์เงินตรา อันนี้เป็นวิธีที่ลุงคิด แต่ลุงทำไม่ได้ มนุษย์ห้าพันปีแล้วมันทำไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจตัวเอง เข้าใจฟ้า ๗ ซ้อน ดิน ๗ ชั้น สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งหมด ถึงจะสละตรงนี้ได้"

 

พะตีจอนิยังมีเรื่องราว เรื่องเล่า นิทาน และเกร็ดความรู้ภูมิปัญญาปกาเกอะญออีกมากมายมาเล่าให้ฟังได้ไม่รู้จบ ทั้งเรื่องของการทำนายสภาพอากาศในขณะนั้นโดยสังเกตจากปฏิกิริยาของสัตว์และธรรมชาติรอบตัว การเลือกเพศของลูกที่ต้องการให้เกิดโดยการกินอาหารรสเปรี้ยวหรือรสหวาน เรื่องต้นกำเนิดชาติพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลกที่ล้วนแล้วแต่เป็นญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น เรื่องราวเหล่านี้ล้วนน่าสนใจน่าศึกษาเรียนรู้ และสมควรถูกบันทึกไว้เป็นองค์ความรู้ของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอผ่านคำบอกเล่าของผู้เฒ่าทั้งหลายก่อนที่จะสูญหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน

 

แม้การศึกษานอกห้องเรียน วิชา เรียนรู้และเคารพธรรมชาติ สอนโดย พะตีจอนิ โอ่โดเชา ครูปราชญ์ ปกาเกอะญอ จะหมดชั่วโมงจบหลักสูตรลงเพียงเท่านี้ แต่ความรู้นอกห้องเรียนยังมีวิชาอื่นๆ อีกมากมายเปิดกว้างให้นักเรียนผู้ใฝ่รู้ได้เลือกสรรในสิ่งที่สนใจเสมอ เพียงเปิดใจ เปิดสมอง ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตนเอง ไปเรียนรู้โลก เรียนรู้สรรพชีวิตอื่นๆ ในโลกนี้ เพราะโลกคือห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดที่ให้เราได้เรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด!

 

ปล. บทความนี้คงสำเร็จลุล่วงไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือและความมีน้ำใจจากเจ้าหน้าที่ศูนย์สังฆมณฑลเชียงใหม่  คุณบุญสี ส่าวินาเว และคุณพงษ์พันธ์ เพริศไพรงาม ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการเดินทางไปเยือนผู้เฒ่าปกาเกอะญอ และคุณถาวร กัมพลกูล ช่วยตรวจทานและแก้ไขคำปกาเกอะญอให้ถูกต้อง  จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้



[๑] พะตี ภาษาปกาเกอะญอ หมายถึง ลุง

[๒] http://www.sakulthaionline.com   จอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าบนดอยสูง โดย ภู เชียงดาว

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >