หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 64 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ชีวิต การงาน และความสุข ของผู้เฒ่าปกาเกอะญอ พิมพ์
Wednesday, 26 April 2017


จากวารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 102 (กันยายน - ธันวาคม 2559)



ชีวิต การงาน และความสุข

ของผู้เฒ่าปกาเกอะญอ


ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์/เรียบเรียง

 



คุณเคยมีช่วงเวลาที่ครุ่นคิดคำนึงถึงชีวิตของตนเอง ตั้งแต่เกิดและเติบโตมา ผ่านวัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว กระทั่งเตรียมเข้าสู่วัยกลางคน และวัยชราภาพ ในบั้นปลายชีวิตก่อนจะลาจากโลกนี้ไป บ้างหรือไม่?      

การจะเป็นคนแก่ที่ดีและมีความสุขในบั้นปลายชีวิตควรเป็นอย่างไร  คงไม่มีคำตอบตายตัว หรือมีหนังสือสูตรสำเร็จ หรือฮาวทู (How To) เล่มใดเล่มหนึ่งมาให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติได้ นั่นเพราะทุกชีวิตย่อมมีความแตกต่าง ด้วยโลกทัศน์ในการใช้ชีวิต มโนคติ อุดมการณ์ และประสบการณ์ที่เข้ามาในชีวิตของแต่ละผู้คนที่หล่อหลอมกระทั่งกลายเป็นตัวตนของคนผู้นั้น นี่ยังไม่รวมไปถึงเหตุปัจจัยอื่นใดที่เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของบุคคลนั้นอีกเล่า

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "ฉันจะเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข" โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี[๑] ท่านได้บอกแนวคิดและวิธีการใช้ชีวิตเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้สูงวัย รวมถึงเป็นผู้สูงวัยเอง ให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ท่านบอกว่า ผู้สูงอายุที่มีความสุขจะต้องมี ดังนี้ ๑.ต้องมีสุขภาพดีเสมอทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต  ๒.ต้องมีความพึงพอใจในตนเอง งานประจำ งานอดิเรก ฐานะ และชีวิตความเป็นอยู่ของตน มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจ มีอารมณ์ขัน   ๓.ต้องมีความประมาณตน รู้ตนเอง ไม่ละทิ้งความรู้ ความสามารถของตน ทำตนเป็นคนมีค่ามีประโยชน์ต่อผู้อื่น   ๔.ต้องมีการคบหาสมาคมกับผู้อื่น เข้าสังคม มีเพื่อนมากๆ ไม่อยู่อย่างว้าเหว่ เหงาหงอย ภายในเล่ม ยังมีข้อคิดดีๆ ที่ ศ.นพ.เสนอได้บอกเล่าถึงสิ่งที่ท่านจะประพฤติปฏิบัติเพื่อความสุขในวัยสูงอายุไว้อีกหลายข้อที่น่าสนใจและสามารถนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง

เมื่อได้อ่านข้อคิดดังกล่าวแล้ว ทำให้นึกถึงผู้สูงวัยบนดอยสูงแห่งเมืองเชียงใหม่ ที่มีโอกาสได้เดินทางไปเยี่ยมเยียน และได้รับฟังเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตและการทำงานของผู้เฒ่าชาวปกาเกอะญอ ๒ ท่านนี้ คือ ลุงชัย สร้างกุศลในพสุธา อายุ ๗๓ ปี จากบ้านแม่แสะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และพะตีปุหลุ บุญลือ วัย ๗๓ ปีจากบ้านห้วยตอง อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ที่แม้จะมากด้วยวัยและสุขภาพที่ไม่แข็งแรงเหมือนเมื่อครั้งยังหนุ่มแน่น แต่ผู้เฒ่าทั้งสองท่านนี้ก็ยังคงมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อต่อการเดินทางไปตามเส้นทางทุรกันดารตามป่าเขาดงดอยต่างๆ เพื่อร่วมรณรงค์ปลุกเรื่อง Laudato Si'[๒] ผ่านกิจกรรมต่างๆ ของสังฆมณฑลเชียงใหม่ โดยเฉพาะการสอดแทรกเรื่อง Laudato Si' เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในงานรณรงค์กองบุญข้าวประจำปีตามเขตวัดต่างๆ[๓] ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางเพื่อเข้าถึงพื้นที่หลายต่อหลายชั่วโมง

ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่เราต้องอยู่ร่วมกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทั้งเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ คงเป็นการดีไม่น้อยที่เราจะได้ทำความรู้จักกับผู้เฒ่าทั้งสองท่านนี้ เพื่อเรียนรู้ถึงความเป็นชาติพันธุ์ปกาเกอะญอที่น้อยคนจะมีโอกาสได้รู้จัก หรือได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของพวกเขาที่น่าสนใจไม่แพ้บุคคลสำคัญมากมายในสังคมไทยที่เราคุ้นหูคุ้นตากัน  "ผู้ไถ่" ขอเปิดพื้นที่นี้ให้แก่ผู้เฒ่าปกาเกอะญอ ชาติพันธุ์แห่งขุนเขา ผืนป่า และดงดอยอันไกลโพ้น...

 

ลุงชัย สร้างกุศลในพสุธา อดีตผู้นำชนเผ่าหัวก้าวหน้า

ผู้นำความยุติธรรมและสันติ สู่ชุมชนปกาเกอะญอ

ลุงชัย ผู้เฒ่าวัย ๗๓ ปีผู้นี้ เป็นบิดาของคุณพ่อบุญเลิศ สร้างกุศลในพสุธา เลขาธิการ สังฆมณฑลเชียงใหม่ เลขานุการของพระสังฆราชวีระ อาภรณ์รัตน์ มุขนายกสังฆมณฑลเชียงใหม่

ลุงชัยเล่าถึงอดีตให้ฟังว่า "ตอนอายุ ๙ ขวบ เข้ามาเป็นคาทอลิก พอ ๑๐ ขวบก็ไปเรียนอยู่ที่ศูนย์แม่ปอนอำเภอจอมทอง ประมาณ ๓ ปี แล้วก็ไปเรียนต่อและทำงานอยู่ที่เชียงใหม่ ๔ - ๕ ปี ไปฝึกงานช่างไม้ ทำงานก่อสร้าง พออายุ ๒๐ ปี จึงกลับบ้านมาแต่งงาน หลังจากแต่งงานแล้วสองอาทิตย์ ชาวบ้านก็เลือกให้เป็นหัวหน้าคริสตัง ทำงานกับชุมชนกับชาวบ้านมาตลอด"

ลุงชัยบอกว่า เหตุที่ท่านได้เป็นหัวหน้าคริสตังก็เพราะท่านมีประสบการณ์จากการเข้าไปทำงานในเมือง  "ตอนนั้นต้องมีผู้นำที่พอจะเข้าใจในเหตุการณ์ข้างนอกบ้าง ถ้าเราไม่เข้าใจเหตุการณ์ข้างนอก เราก็ไม่สามารถดูแลชาวบ้านได้ ลุงก็พอที่จะมีประสบการณ์ข้างนอกบ้าง" 

ลุงชัยทำหน้าที่ทั้งในด้านศาสนาและงานเพื่อสังคมมาได้ประมาณ ๑๐ ปี กระทั่งปี ๒๕๑๘ จึงได้พบกับคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร พระสงฆ์ที่รับผิดชอบงานแพร่ธรรมของสังฆมณฑลเชียงใหม่ในขณะนั้น คุณพ่อนิพจน์และศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ได้เข้ามาบุกเบิกงานพัฒนา ช่วยแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวปกาเกอะญอ

ลุงชัย พูดถึงการทำงานพัฒนาหมู่บ้าน ตั้งแต่สมัยหนุ่มๆ ที่ทำงานร่วมกับคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร และพะตีปุหลุ รวมถึงพะตีจอนิ ที่แม้จะอยู่คนละหมู่บ้าน แต่มีปัญหาร่วมเรื่องเดียวกัน คือ เรื่องข้าวไม่เพียงพอในหมู่บ้าน และปัญหาการถูกนายทุนเอารัดเอาเปรียบ

"ได้ศึกษาปัญหากับพ่อนิพจน์ ได้คุยเรื่องข้าวไม่พอกินสาเหตุมาจากไหน เมื่อมีหลายๆ สาเหตุที่ทำให้ข้าวไม่พอกิน สาเหตุที่หนึ่ง คือ การทำไร่ทำนาแบบไม่คิดว่าเราจะต้องแก้ไขตรงไหน จะใช้วิธีไหน ไม่ได้คิด ทำแล้วก็แล้ว ผลเสียหายมาจากไหน เราต้องป้องกันยังไง เราไม่ได้คิด เราปลูกเสร็จแล้ว บางครั้งเราไม่ได้ดูแลว่ามีศัตรูของข้าวที่เราต้องแก้  สอง ปัญหาเอารัดเอาเปรียบ มีคนนอกหมู่บ้านมาค้าขายในหมู่บ้าน เมื่อก่อน อย่างซื้อปลาทูกิโลละแค่ ๒ - ๓ บาท ต้องเอาข้าวไปแลกเป็นถัง โดนเอาเปรียบเยอะ แล้วข้าวเป็นถังเขาก็ไม่เอา เราเอาข้าวมาต้มเหล้า ข้าวถังหนึ่งก็ได้สิบกว่าขวด ขายขวดละ ๖-๗ บาท เขาก็ได้มากกว่าเอาข้าวเป็นถังอีก ก็ไม่รู้จะแก้ยังไง คนที่ไม่มีนาได้ข้าวเยอะกว่าคนที่มีนา เราก็มาร่วมกันคิดร่วมกันทำ"

การทำงานเป็นผู้นำชาวบ้านนั้น จำเป็นต้องมีความรู้มีข้อมูลสถานการณ์ของโลกภายนอกเพื่อจะได้เข้าใจและสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วนำมาบอกต่อให้ชาวบ้านได้รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่อาจเข้ามาส่งผลกระทบต่อชุมชน และสามารถแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ ลุงชัยบอกว่าข้อมูลความรู้ต่างๆ นั้นก็ได้มาจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยกับคุณพ่อนิพจน์และเจ้าหน้าที่ของสังฆมณฑลเชียงใหม่ในยุคนั้น

"แลกเปลี่ยนกับพ่อตลอด เดือนสองเดือนต้องมาเจอกัน แลกเปลี่ยนปัญหาที่ชาวบ้านเจอว่าเป็นยังไง เวลาลงมาคุยกับพ่อ พ่อจะให้ความรู้เรื่องสถานการณ์ใหญ่ในสังคมว่าเป็นยังไง มันไปถึงเรายังไง ไม่ใช่เฉพาะสังคมปกาเกอะญอของเราอย่างเดียว มันโยงกันไปทั่ว เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย แล้วมาเชื่อมโยงกัน"

 

ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชนได้

ต่อมา ลุงชัยย้ายมาอยู่ที่บ้านแม่แสะ เขตอำเภอแม่วาง เพื่อให้การเดินทางเข้าเมืองไปทำงานกับคุณพ่อนิพจน์ที่ศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ได้สะดวกขึ้น ที่นี่ ลุงชัยได้รับเด็กๆ ลูกหลานชาวปกาเกอะญอซึ่งบ้านอยู่ห่างไกลเข้ามาพักอาศัยด้วยเพื่อไปโรงเรียนได้ง่ายขึ้น และที่นี่เอง ลุงชัยได้ทำงานช่วยชาวบ้านที่ตกสำรวจ ไม่มีทะเบียนบ้านเพราะบ้านแม่แสะในขณะนั้นอยู่ห่างไกลจากเมือง ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สนใจปัญหา ลุงชัยจึงขอคำปรึกษาจากศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ และสามารถช่วยให้ชาวบ้านได้มีทะเบียนบ้านได้สำเร็จ

 "เมื่อก่อนลุงมาอยู่ที่นี่ชาวบ้านไม่มีสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่มีชื่อในทะเบียน เมื่อก่อนเขาบอกว่าต้องไปไกล ไปแจ้งเกิดต้องเดินไปที่ป่าแป๋ แล้วเจ้าหน้าที่ทางการก็เข้ามาไม่ถึงหมู่บ้าน ไม่เคยเข้ามาในหมู่บ้านเลย เวลาชาวบ้านไปแจ้ง เจ้าหน้าที่ก็บอกชาวบ้านอย่างง่ายๆ ว่า เป็นผู้หญิงไม่จำเป็นจะต้องไปแจ้งเกิด ไม่ได้ไปไหน อยู่แต่กับป่า สุดท้ายก็ไม่ได้ แม้แต่ผู้ชายบางคนเขาก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน ว่าไม่จำเป็นต้องไปแจ้งเกิด

ลุงก็คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของชาวบ้าน ลุงสนใจ ลุงก็ทำ ไปวิ่งทางอำเภอไม่ได้ เราก็ไปปรึกษาที่ศูนย์สังคมพัฒนา ว่าจะช่วยประสานอะไรได้บ้าง เมื่อก่อนประวิทย์ทำงานที่ศูนย์สังคมพัฒนา ก็ช่วยมาดู ช่วยมาทำเอกสารสำรวจประชากรในหมู่บ้านว่ามีกี่คนที่ไม่มีชื่อในสำเนา สำรวจเสร็จแล้ว ครอบครัวนี้มีพ่อ แม่ ลูกกี่คน แล้วถ่ายรูปแล้วไปยื่นเสนอทางอำเภอ สุดท้ายก็ได้ทะเบียนบ้านมา"

 

ร่วมแก้ไขปัญหาทัวร์ป่าที่ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์

เนื่องจากพื้นที่ที่ลุงชัยย้ายมาตั้งหลักปักฐานนั้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทั้งทิวทัศน์ธรรมชาติป่าเขา แม่น้ำ และน้ำตกที่สวยงาม อีกทั้งมีกิจกรรมที่เพิ่มความสนุกสนานอย่างการทัวร์ป่า ที่นักท่องเที่ยวได้ขี่ช้าง ล่องแพ พักแรมในหมู่บ้านกลางป่า แวดล้อมด้วยชาติพันธุ์ชนเผ่าที่แปลกไปจากความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในเมือง ประกอบกับกระแสการท่องเที่ยวในยุคนั้นเบ่งบานมาก ชาวต่างชาติจึงนิยมมาทัวร์ป่าที่นี่ แต่ทัวร์ป่าที่นำพานักท่องเที่ยวเข้ามากลับสร้างผลกระทบต่อวัฒนธรรมประเพณีของปกาเกอะญอ เช่น ไกด์ชวนสูบฝิ่นกระทั่งชาวบ้านติดฝิ่น นักท่องเที่ยวฝรั่งไม่เคารพประเพณีวัฒนธรรมปกาเกอะญอ นุ่งบิกินี หรือเปลือยกายเล่นน้ำ ลุงชัยจึงได้ร่วมกับคุณพ่อนิพจน์ นำเรื่องร้องเรียนไปที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และบริษัททัวร์ เพื่อให้แก้ไขปัญหานี้โดยใช้เวลานานถึง ๓ - ๔ ปี จึงสำเร็จลุล่วง

ลุงชัยเล่าถึงเรื่องนี้ว่า "ก่อนนี้ถนนเข้าไม่ถึง การท่องเที่ยวเข้ามาแบบทัวร์ป่า นักท่องเที่ยวไปนอนค้างที่บ้านของชาวบ้าน ที่แสดงออกมาอย่างเปิดเผยคือ เมื่อก่อนปกาเกอะญอเวลาอาบน้ำ ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ปกาเกอะญอจะใช้ผ้าถุงลงน้ำ อาบเสร็จแล้วหยิบผ้าถุงมาใส่ แต่นักท่องเที่ยวฝรั่งไม่เป็นอย่างนี้ เดินแก้ผ้า ไม่ใส่อะไร หรือมีกางเกงในตัวเดียว เวลาอาบผู้หญิงผู้ชายก็อาบด้วยกัน เปลือยหมดเลย เหมือนไม่ได้เคารพ ทำแบบนี้ทำให้เด็ก ทำให้คนในหมู่บ้านสูญเสียความดี พูดถึงว่า ปกาเกอะญอ รักษาความบริสุทธิ์ ผัวเดียวเมียเดียวอยู่แล้ว เมื่อมาทำอย่างนี้ทำให้ปกาเกอะญอเห็นตัวอย่างที่ไม่ดี และอีกอย่างหนึ่งคือ ไม่เคารพชาวบ้านเลย ไม่เคารพศักดิ์ศรีของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่เห็นด้วย และตอนนั้นมียาเสพติดพวกฝิ่น เฮโรอีน เวลาพวกไกด์เข้าหมู่บ้านชวนชาวบ้านสูบฝิ่น เฮโรอีน จึงเป็นปัญหา แขกมาครั้งเดียวก็ไม่ติด แต่ชาวบ้านที่เอาไปให้แขกกลับติดเอง ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีปัญหา"

ลุงชัยบอกว่า ความเจริญและกระแสการท่องเที่ยวที่เข้ามาถึงหมู่บ้านปกาเกอะญอที่ห่างไกลความเจริญ ได้สร้างปัญหาให้แก่คนชนเผ่ามากมาย

 "ตอนหลังปกาเกอะญอแก่งแย่งชิงดีกัน ความเห็นแก่ตัว ทำแพ คนไม่มีเงินต้องไปรับจ้าง หนักที่สุดคือคนที่ไปตัดไม้ไผ่ ต้องไปเอาไม้ไผ่ในป่า กลับมาขายให้เขาอีกทอด เป็นคนที่ลำบากที่สุด ได้กินน้อยที่สุด ส่วนคนที่สบายที่สุดได้กินเยอะที่สุด กลายเป็นความขัดแย้ง"

 

พิธีกรรม ความเชื่อปกาเกอะญอ กับการประยุกต์เข้ากับศาสนาคริสต์

ลุงชัยเป็นผู้สูงวัยท่านหนึ่งที่มีแนวความคิดในการมองโลกอย่างรอบด้าน  แม้ท่านจะดำเนินชีวิตมาตามวิถีแบบปกาเกอะญอที่ยึดถือและเคารพในวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธสิ่งใหม่ๆ หรือความทันสมัยที่เข้ามาในชุมชนปกาเกอะญอ ท่านกลับมองว่าเราสามารถเลือกรับในสิ่งที่ดีมีประโยชน์ต่อลูกหลานนำมาปรับใช้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาวัฒนธรรมที่ดีของชนเผ่าไว้ด้วย

"มันจะมีสองลักษณะ ถ้าคิดอยู่แบบดั้งเดิม สังคมปัจจุบันมันอยู่ไม่ได้แล้ว  ถึงเราจะอยู่ได้ แต่ลูกหลานอยู่ไม่ได้ จำเป็นต้องเปิดตัว อีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะทำก็ต้องคิดถึงวัฒนธรรมชนเผ่า ชนเผ่าจะได้รับอะไรบ้างในส่วนดี และส่วนไหนชนเผ่าจะต้องเจอปัญหา แล้วจะต้องแก้ไขยังไง สองส่วนนี้ต้องคิดร่วมกัน ถ้าคิดแต่ได้ แต่ไม่คิดถึงการสูญเสียวัฒนธรรม การสูญเสียความดีของชนเผ่า คิดว่ามันไม่คุ้ม ได้มาไม่คุ้ม"

สิ่งที่มาช่วยเสริมความเชื่อมั่นให้ลุงชัยมีหลักคิดที่มั่นคงมากขึ้นในเรื่องความเชื่อด้านศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีของปกาเกอะญอ จากการนับถือศาสนาแบบดั้งเดิมที่นับถือในสิ่งเหนือธรรมชาติ เมื่อเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้ไม่สามารถนำความเชื่อในพิธีกรรมปกาเกอะญอมาพูดคุยหรือนำมาใช้ได้อีก  เช่น การมัดมือให้ศีลให้พรลูกหลานในเทศกาลต่างๆ หรือการทำพิธีในไร่นา  เมื่อลุงชัยได้คุยแลกเปลี่ยนความคิดกับคุณพ่อนิพจน์ ซึ่งแม้ท่านจะเป็นพระสงฆ์หัวก้าวหน้าแต่ก็มีความสนใจศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีแบบชนเผ่าจึงได้นำพิธีกรรมต่างๆ มารื้อฟื้นและประยุกต์ให้เข้ากับศาสนาคริสต์

"ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ดีใจมากที่ได้เจอกับพ่อนิพจน์ เพราะลุงเป็นคาทอลิกตอนอายุ ๙ ขวบ ตอนนั้นรู้สึกว่าทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนเมื่อเข้าเป็นคาทอลิก วัฒนธรรมปกาเกอะญอทุกอย่างต้องเปลี่ยน เช่น ความเชื่อที่เราบอกว่าผิดประเพณี ต้องทำพิธีขอขมา ที่บอกว่าเป็นผีเป็นปีศาจ ไม่ใช่ของพระเจ้า หรืออย่างเรื่องทา[๔] ซึ่งมีคำสอนต่างๆ อยู่ในทาหมดเลยที่ดีๆ แต่เขาไม่ให้ร้อง"

"เมื่อแต่งงานแล้ว กลับมาอยู่บ้าน ก็ได้เห็นว่าหลายๆ อย่างก็ดี ไปร่วมงานประเพณีเดิม เวลาเขาแต่งงาน มีพิธีกรรมต่างๆ เราก็ร่วมมือกัน หรือว่าหลายๆ อย่างที่เป็นสิ่งผิด เช่น เวลาทำพิธีที่ไร่ที่นาต่างๆ เขาบอกว่ามันไม่ดี หลายอย่างก็สูญหาย สิ่งดีๆ ต่างๆ ก็หายไป เมื่อได้เจอกับพ่อนิพจน์ เราก็ได้คุยกันเรื่องวัฒนธรรม เรื่องพิธีกรรมต่างๆ อันไหนเป็นของผี อันไหนเป็นของพระ อันไหนเป็นของปกาเกอะญอ อันไหนเป็นของฝรั่ง อันไหนเป็นของคนไทย เวลาคุยจะแยกแยะออกมาได้เลย

อย่างเช่น ประเพณีปีใหม่ ปกาเกอะญอก็มีถึง ๑ - ๒ วัน เขาจะมัดมือเวลาปีใหม่ ตามหมู่บ้านใหญ่ จะมีกินเหล้า มีซอ มีอื่อทา แล้วผู้เฒ่าผู้แก่เรียกลูกหลานมาอยู่พร้อมเพรียง มัดมือให้ศีลให้พรกับลูกกับหลาน เมื่อก่อนทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ทำได้ เป็นการอวยพร ไม่ใช่ขอจากผี ขอจากสิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่ แต่ขอจากสิ่งสูงสุดเพื่อจะปกปักษ์รักษา ปีใหม่นี้ให้สุขสบายให้ลูกหลานไปดีมาดี ตอนนี้กลายเป็นปีใหม่เมือง ปีใหม่ปกาเกอะญอไม่มีแล้ว เมื่อก่อนว่าไม่ดี มันผิดผี  

ปัญหาเรื่องนี้ก็คุยกับพ่อ มาศึกษามาวิเคราะห์แล้วแยกแยะแต่ละอย่างๆ ส่วนไหนดี ส่วนไหนไม่ดี ส่วนไหนขัดกับหลักของศาสนา ส่วนไหนไม่ขัดกับหลักศาสนาก็นำมาใช้มาปฏิบัติ แต่เรื่องนี้รู้สึกว่าจะหายไปแล้ว พอที่จะเข้าใจว่าเป็นสิ่งที่ดีแม้ว่าเราไม่ได้ทำ เราสามารถไปร่วมกับคนอื่นได้ เมื่อก่อนทำไม่ได้ ร่วมไม่ได้"

ลุงชัยยังยกตัวอย่างบางพิธีกรรมของปกาเกอะญอที่นำมาประยุกต์ใช้กับคาทอลิกได้

"มีหลายอย่าง เช่น การทำนา เวลาจะปลูกข้าว ต้องขอจากสิ่งสูงสุด ขอจากเจ้าที่เจ้าทางเพื่อช่วยปกปักษ์รักษาดูแล ก่อนนี้จะทำพิธีขอจากสิ่งสูงสุดให้มาปกปักษ์รักษาดูแล ทำเป็นหิ้งไม้ แล้วมีหมู มีไก่ มาเซ่นไหว้ แต่คาทอลิกทำแบบนั้นไม่ได้ แต่เราขอได้ เอาสัญลักษณ์ของกางเขนมาปักที่นา แล้วขอจากพระเจ้าช่วยปกปักษ์รักษาดูแลสิ่งต่างๆ ที่เราปลูกเราทำในสวนในไร่ในนาให้ได้ผลที่ดี ไม่มีสัตว์ต่างๆ มารบกวนทำลาย เราใช้สัญลักษณ์กางเขนอันเดียว ที่ทำเรื่องหมูเรื่องไก่ต้องให้กินข้าวกินน้ำ เราไม่ทำแล้ว เราขอจากพระเยซูอย่างเดียว ขอจากสิ่งที่เราเชื่อว่าพระเยซูลงมาเพื่อมาช่วยเหลือเรา ในสิ่งแวดล้อมต่างๆ ขอจากพระเยซูเพื่อปกปักษ์รักษาสิ่งที่เราไม่สามารถจะป้องกันได้ ไม่สามารถไล่ไปได้"

 

รวมกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อรื้อฟื้นและอนุรักษ์

พิธีกรรม วัฒนธรรม นิทาน และ "บททา" คำสอนของปกาเกอะญอที่กำลังจะสูญหายไป

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นภูมิปัญญาของปกาเกอะญอที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษแล้ว แต่ดูเหมือนจะถูกลดความสำคัญลงเรื่อยๆ นั่นก็คือ บททา และการอื่อทา ทา เป็นบทกวี เป็นลำนำเพลง เป็นภาษิตคำสอน และเป็นวรรณกรรมของชาวปกาเกอะญอ เนื้อหาของอื่อทาคือทุกสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติ เป็นต้น อื่อทาเป็นวรรณกรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ  ชาวปกาเกอะญอพบเห็นสิ่งใดผ่านตา ก็นำมากล่าวเป็นบทอื่อทาได้ทุกอย่าง

ลุงชัยบอกว่า เมื่อก่อนนี้ถ้าพูดถึงเรื่องทา หรือบทสอนปกาเกอะญอ จะถูกใช้ในพิธีกรรม ๓ งาน คือ งานแต่งงาน ปีใหม่ และงานศพ  "ปกาเกอะญอจะไปเป็นกลุ่มไปร้องทุกหลังคาเรือน เวลาแต่งงานก็ไปร้องตามบ้าน ไม่ใช่เฉพาะบ้านเจ้าบ่าวเจ้าสาวนะ แต่ไปทุกหลังคาเรือน ไปร้อง แล้วก็กินเหล้า ส่วนงานศพ ไปร้องเฉพาะบ้านทำศพ"

ลุงชัยบอกว่า ผู้ใหญ่จะสอนเด็กจากทาและนิทาน "ร้องทาให้ฟังเป็นคำสอนคำเตือน มันจำง่าย ไม่ต้องสอนเยอะ แค่คำสองคำก็กินใจแล้ว อย่างเช่น เมื่อก่อนปกาเกอะญอเตือนลูกเตือนหลานเกี่ยวกับของกินใหม่ๆ ที่ไม่มีประโยชน์ เช่น บอกว่า "โคเซเตอรือซามอเกล โพซาโฮลูออเตอเง"  คล้ายๆ คำเปรียบเทียบกล่าวเตือนลูกหลานรุ่นใหม่ว่า "ทุกวันนี้ชาวบ้านถูกคนมีความรู้หรือมีเงินทองมาชักจูงหลอกลวงได้ง่าย แต่เราต้องไม่หลงกล"

ลุงชัยอธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจมากขึ้นถึงคำสอนนี้ว่า "เหมือนอย่างเวลาเห็นมะขาม เห็นแล้วเปรี้ยวปาก น้ำลายสอ เขาเตือนลูกหลานว่า เวลาจะถูกหลอกด้วยของกินด้วยขนม เราไม่ต้องเชื่อเขา แต่ทุกวันนี้มันหลอกกันง่าย สารพัดรูปแบบ เขาจึงเตือนลูกเตือนหลาน อยู่ในบททาไม่กี่คำ แต่กินใจ แต่ตอนนี้เด็กเฮาไม่สนใจไม่รู้เรื่อง ตอนหลังเมื่ออื่อทาไม่เป็นแล้ว นิทานก็ไม่ได้แล้ว ไม่รู้จะสอนลูกสอนหลานยังไง"

ความห่วงกังวลของผู้เฒ่าปกาเกอะญอท่านนี้ว่าบททาที่เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าของชาวปกาเกอะญอจะสูญหายลบเลือนไปจากความทรงจำของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ จึงนำมาซึ่งการรวมกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อร่วมกันรื้อฟื้นบททา นิทาน รวมถึงวัฒนธรรม และพิธีกรรมต่างๆ ของปกาเกอะญอ ให้เป็นองค์ความรู้ของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเพื่อเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เด็กปกาเกอะญอรุ่นใหม่หรือผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเรียนรู้ได้

"ตอนนี้ถ้าพูดถึงเรื่องทา คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยเอาแล้ว เราคุยกันว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เราก็ต้องค้นหา ตอนนี้ถ้าพูดถึงว่ามันจะสายไปแล้วไหม ก็ยังไม่สาย ยังทันอยู่ ผู้เฒ่าผู้แก่ยังมีอยู่ ยังเล่นได้อยู่ หลังจากช่วงลุงผู้เฒ่าผู้แก่ถ้าหมดไปแล้ว เด็กๆ เขาไม่รู้ ตอนนี้ก็เลยคิดจะเรียกผู้เฒ่าผู้แก่มา คุยกับพ่อนิพจน์ไว้ ตอนนี้เราอายุ ๗๐ กว่าแล้ว ก็รุ่นเดียวกับผู้เฒ่าผู้แก่ อีกหน่อยถ้าเราไม่อยู่แล้ว เรื่องนี้อาจไม่มีแล้ว เราก็จะเรียกผู้เฒ่าผู้แก่รุ่น ๗๐ กว่ามารวมกันอีกทีหนึ่งเพื่อฟื้นเรื่องทา เรื่องวัฒนธรรม พิธีกรรมต่างๆ ของปกาเกอะญอ เวลาทำไร่ทำนา เวลาจะแต่งงานมีพิธีกรรมอะไรบ้าง จะเอามาศึกษาเรียนรู้ที่เป็นปกาเกอะญอแท้ๆ ว่าเป็นยังไง แล้วตอนนี้เราเป็นอย่างนี้ มันสอดคล้องกับความเชื่อใหม่ของเรายังไง มันต่างกันยังไง เพื่อเด็กรุ่นใหม่จะได้รู้ว่า สิ่งดีๆ ของเรามี ไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด ความดีมันมี แต่เราไม่รู้ว่าจะแยกแยะเอามายังไง"

ทุกวันนี้ ผู้เฒ่าปกาเกอะญอวัย ๗๓ ปีผู้นี้ใช้ชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย อยู่กับภรรยาคู่ชีวิต และลูกๆ  ท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์จากการร่วมไม้ร่วมมือกันอนุรักษ์โดยชาวบ้านทั้งชุมชนมาเป็นเวลายาวนาน ท่านยังคงมีภารกิจการงานอีกมากมายเพื่อชุมชนหมู่บ้านและเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม นั่นเพราะท่านมีบททาที่ยึดถือปฏิบัติสืบมาว่า

 "ปกาเกอะญอบอกว่า มาแพเกรอ เอาะแพบะ มาเสอะกี่เอาะเสอะกอ เอาะเตอกาเอาะเตอหวิ โอะเตอกาโอะเตอหมึ มาเจอเหลาะซะ เอาะเจอเหลาะซะ  หมายความว่า ทำให้พอดี กินให้พออิ่ม ทำด้วยกัน กินด้วยกัน กินคนเดียวไม่อร่อย อยู่คนเดียวไม่มีความสุข อยู่กันเป็นกลุ่ม อยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยกันกินช่วยกันทำ"

 

พะตีปุหลุ บุญลือ ผู้นำนักพัฒนา และศิลปินนักอื่อทา

พะตีปุหลุ บุญลือ ผู้เฒ่าปกาเกอะญอวัย ๗๓ ปี จากบ้านห้วยตอง จ.เชียงใหม่ พะตีปุหลุก็คือบิดาของคุณพ่อวินัย บุญลือ พระสงฆ์ อธิการคณะเยสุอิต สวนเจ็ดริน จ.เชียงใหม่

ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่มแน่น ด้วยมีภาวะผู้นำตามธรรมชาติ ประกอบกับมีใจรักในการช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก และต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาชุมชนหมู่บ้านที่ตนอยู่ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  ชาวบ้านจึงยกตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านให้แก่พะตีปุหลุ ขณะเดียวกัน พะตีปุหลุก็ทำงานเป็นแกนนำให้กับศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ โดยมีคุณพ่อนิพจน์  เทียนวิหาร พระสงฆ์หนุ่มผู้นำแนวคิดเทวศาสตร์และคำสอนด้านสังคมมาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอทางภาคเหนือ

พะตีปุหลุเล่าว่า "ตอนนั้นอายุ ๒๕ - ๒๖ ปี ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านขณะนั้นค่อนข้างลำบากเรื่องอาหารการกิน เรื่องข้าวไม่พอกินจะเป็นปัญหามาก ช่วงนั้นมีนายทุนมาซื้อที่ดิน มาตกเขียวข้าว ข้าวชาวบ้านก็ไปกองรวมกันอยู่ที่นายทุน คุณพ่อเซกิน็อตเป็นมิชชันนารีคณะเบธาราม เห็นว่าชาวบ้านขาดแคลนข้าว พ่อจึงพยายามเข้ามาตั้งธนาคารข้าว ให้กองทุน พ่อเซกิน็อตเข้ามาแก้ปัญหานี้"   

 ต่อมามีเจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาเชียงใหม่ ได้เข้ามาที่หมู่บ้านเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ชาวปกาเกอะญอ ทั้งเรื่องธนาคารควาย ประปาภูเขา และการจัดตั้งกองบุญข้าว ให้แต่ละหมู่บ้านมีธนาคารข้าว และมีคณะกรรมการดูแลจากอดีตมาถึงปัจจุบัน

พะตีปุหลุเล่าถึงเหตุการณ์ในขณะนั้นว่า "คุณประเสริฐ ตระการศุภกร, คุณจงดี วงศ์จอมพร และคุณพ่อสมพงษ์ กัมพลกูล ตอนนั้นเป็นครูอยู่ ยังไม่ได้เป็นพระสงฆ์ เข้ามาหาพะตีแล้วบอกว่าจะทำงานร่วมกันกับคุณพ่อนิพจน์ ตอนนั้นพ่อนิพจน์ดูแลเรื่องแพร่ธรรม ท่านพยายามให้ชาวบ้านมาสัมมนามาพูดคุยกัน พยายามให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ เทวศาสตร์ เกี่ยวกับคำสอนด้านสังคม พ่อจะพาไปกรุงเทพฯ พาไปทุกที่ ช่วงนั้นชาวบ้านจะกลัวเพราะมีตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เข้ามาอยู่ พ่อนิพจน์จึงพาผู้นำเข้าไปในค่าย ตชด. เลย แล้วถามชาวบ้านว่ามีความรู้สึกยังไง ยังกลัวอยู่ไหม" 

"ช่วงนั้นทำงานกันยากลำบากเพราะเรื่องคอมมิวนิสต์ เวลาประชุมก็ต้องประชุมลับๆ จะประชุมในที่เปิดเผยไม่ได้ ช่วงนั้นมีการเตรียมคนโดยเฉพาะชนเผ่าตัวเอง ต้องวิเคราะห์สถานการณ์ ต้องอ่านสถานการณ์ ต้องรู้ว่าสังคมภายนอกเป็นยังไง ในชุมชนของเราเป็นยังไง ต้องเตรียมให้พร้อม"

ภายใต้การนำของคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร พระสงฆ์หนุ่มหัวก้าวหน้าผู้เปลี่ยนนิยามของการให้ความช่วยเหลือแบบสังคมสงเคราะห์มาเป็นการพัฒนาคนให้มีศักยภาพ โดยให้การศึกษาแก่ผู้นำชาวบ้านให้มีความรู้ มีข้อมูล เพื่อสามารถนำมาวิเคราะห์เชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถนำมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชนหมู่บ้านของตนเองได้  อันจะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสามารถทัดทานกับกระแสทุนและความเจริญต่างๆ ที่เข้ามาในหมู่บ้านได้

พะตีปุหลุเป็นผู้นำชาวบ้านคนหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณพ่อนิพจน์ พะตีปุหลุบอกว่าสิ่งที่ท่านได้ก็คือ "ในส่วนลึกๆ ในใจ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากพ่อ โดยเฉพาะการมาช่วยกัน ดูแลกันในชุมชน เรื่องหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องความยุติธรรม การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน"

"และที่ทิ้งไม่ได้เลยคือเครือข่ายกองบุญข้าว การรณรงค์ในแต่ละปี และคิดถึงคนที่ด้อยโอกาส คนที่ไม่มี เพราะเครือข่ายที่รณรงค์เป็นของแต่ละเขตวัด เกือบ ๒๐ หมู่บ้าน แต่ละหย่อมบ้านยังมีผู้ด้อยโอกาสอยู่ โดยเฉพาะแม่ม่ายและลูกกำพร้า คนพิการ จริงๆ แล้ววิถีชีวิตของปกาเกอะญอกับพระคัมภีร์มันสอดคล้องกันมาก อย่างที่พระเยซูให้อาหารกับฝูงชนที่ติดตามพระเยซู ให้ความเมตตากรุณากับคนตาบอด คนที่เดินไม่ได้ จริงๆ แล้วปกาเกอะญอไม่ได้แบ่งว่าเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ ชนเผ่านั้นชนเผ่านี้ เวลาเห็นใครมาเยี่ยมบ้าน ก็ต้องต้อนรับเลี้ยงดู ข้าวสำคัญมาก คือแขกมาบ้าน อันดับแรกต้องได้กินข้าวก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวไม่มีแรงคุย ถ้าแขกไม่ได้กินข้าว จะมีความรู้สึกไม่สบายใจ"

ความเข้มแข็งของชุมชนปกาเกอะญอบ้านห้วยตองในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นจุดเด่นและจุดแข็งที่ชาวบ้านยังคงดูแลรักษาผืนป่าตามธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้อย่างดียิ่ง นั่นย่อมมาจากการสร้างกฎ ระเบียบ กติกาต่างๆ ที่ผู้นำชาวบ้านรุ่นผู้อาวุโสทั้งหลายได้ริเริ่มไว้ร่วมกับชาวบ้านตั้งแต่อดีตและยังดำเนินสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน

พะตีปุหลุ มีตัวอย่างเล่าให้ฟังว่า "สมัยนั้นรัฐบาลพยายามส่งเสริมการปลูกต้นสนให้เป็นไม้เศรษฐกิจ แต่ชาวบ้านต่อต้าน เพราะชาวบ้านเห็นว่าต้นสนในชุมชนก็พอมีอยู่แล้ว และป่าก็รักษากันอยู่แล้ว หลังจากนั้น ลูกหลานของชาวบ้านมีการศึกษาก็กลับมาช่วยๆ กัน เรื่องไม้จึงไม่มีคนทำขาย จะสร้างบ้านสร้างเรือนได้ เอาไม้มาทำได้ แต่ไม่มีการขาย เพราะเป็นกฎของชุมชน คนที่อยู่มาก่อนก็พยายามควบคุม ถ้าเป็นต้นน้ำจริงๆ จะไม่ให้ตัดต้นไม้ ไม่ให้ทำไร่ทำนา แต่รอบๆ หมู่บ้านทำได้ ถ้าเป็นต้นน้ำ สันดอยป่า ไม่ให้ทำ"

ในขณะที่ผืนป่าและพื้นที่เกษตรกรรมหลายต่อหลายแห่งถูกแทนที่ด้วยการปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดที่รุกขยายสร้างปัญหาทำลายความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน และรุกล้ำเข้าไปถึงผืนป่าตามธรรมชาติในหลายพื้นที่ แต่ที่บ้านห้วยตองกลับปฏิเสธการเข้ามาของพืชเศรษฐกิจตัวนี้ เรื่องนี้พะตีปุหลุบอกว่า

"ทางชาวบ้านพยายามต่อต้านอยู่แล้ว คุยกับนายทุนที่จะมาลงว่าชาวบ้านไม่ต้องการ เพราะรู้แล้วว่าถ้าข้าวโพดมา ป่าจะถูกทำลาย ถ้าถึงไหล่ดอยทางนั้นก็มีม้งทำอยู่ มีล้ำลงมาที่ไหล่หมู่บ้าน แต่ชาวบ้านก็ไปคุย ไปบอกว่าเป็นเขตของทางนี้ ให้ช่วยดูแลรักษา ก็ยุติไปไม่ทำเพราะเห็นตัวอย่างจากหลายๆ ที่ ทั้งเชียงราย แม่กระจาน แม่สอด ก็มีความคิดว่า ถ้าบ้านเราเป็นอย่างนั้น แล้วต่อไปลูกหลานเราจะอยู่กันอย่างไร ชาวบ้านจึงพยายามหาพืชอื่น เช่น ผักสลัด หอมใหญ่ เสาวรส สาลี่ เพราะพืชพวกนี้ใช้ที่น้อย ไม่ถึง ๕ ไร่ แต่ถ้าเป็นข้าวโพดใช้ทั้งลูกดอยสุดตาเลย ใช้พื้นที่เยอะ"

นอกเหนือจากมีความเป็นผู้นำนักพัฒนาแล้ว พะตีปุหลุยังมีความเป็นศิลปินนักอื่อทาอีกด้วย ผู้เฒ่าท่านนี้มีความสนใจและเชี่ยวชาญเรื่องสุภาษิต บททา ซึ่งเป็นบทขับลำนำของปกาเกอะญอ พะตีปุหลุ บอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในทา เกี่ยวข้องกับทาเป็นส่วนใหญ่ และทา ๑ บท สามารถแปลได้ ๗ ความหมาย แล้วแต่ว่าจะแปลในบริบทไหน เช่น ไปจีบสาวก็ต้องมีทาขึ้นก่อน

ยามเมื่อพะตีปุหลุพูดถึงบททานั้น ใบหน้าของพะตีมีรอยยิ้มกระจ่างขึ้น ดวงตาดูมีประกายแจ่มใสเหมือนกับว่าได้ย้อนกลับไปเป็นหนุ่มขึ้นอีกครั้ง แล้วพะตีปุหลุก็อื่อทาด้วยเสียงไพเราะดังกังวาน....กับอื่อทาบทหนุ่มจีบสาว

"ปกาพอเฮอ เนอเมะกลอเลอมือชา ปกาเมะโอบริโอซา โอบริแจะแนเตอะปู หร่าลอจ่าเนอโคซู เนอเกอะจ่าคุยเตอเง เมอเนอะปื่อคุนเอะนา เนอะเกอะจ่าเยอบะยา นอแคกลอลออะซะ เนอะเมะเตอะเยอบะยา นอแคทอเกทอเก"

ซึ่งทาบทนี้มีความหมายเป็นการฝากไว้ให้คิดถึงกันของหนุ่มสาวที่จะจากกัน แปลความได้ว่า

เธอเอ๋ย เมื่อเจ้าดายหญ้าตอนกลางวัน หากคนอื่นเขานั่งพักเหนื่อย ให้เธอนั่งพักเหนื่อยแยกต่างหากอีกที่ สยายผมเธอลงมา แต่เธอไม่ต้องหวีเองนะ ให้น้องเธอคอยหวีให้ ส่วนเธอให้คิดคะนึงหาพี่ หากทำเช่นนี้หญ้าจะดายตัวมันเอง แต่หากเธอไม่คิดคะนึงหาพี่ หญ้าจะกลับรกมากขึ้น

พะตีปุหลุ ยังเล่าอีกว่า บททาที่มีคำสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นก็มีอยู่หลายบท เช่น

"ที เง โอ เลอ ปกา เซอ เร โน เง โอ เลอ ปกา เซอ เร คู ซี แพ ซี เซ เตอ เง แพ ซี คู ซี วา เตอ เง เซ เม ลอ อู วา ลอ เพ เปอ บา กอ วี บา กอ เจ"

น้ำท่าอุดมสมบูรณ์จะอยู่ในผืนป่า น้ำท่าจะไหลหลากจะอยู่ในผืนป่า ห้ามตัดห้ามถางต้นไม้หมดป่าทั้งผืน ห้ามถางห้ามตัดต้นไผ่หมดป่าทั้งผืน หากต้นไม้ต้นไผ่หมดจากไปแล้ว เราจะอดอยากขาดแคลนอาหารแล

"โม โอ ฮี เลอ ตา ลู ลอ ปา โช คอ เลอ ตา ลู ลอ เซ โค เกอ ซี ออ เกอ ตอ วา โค เกอ ซี ออ เกอ ตอ ซู ลอ ตี เดอ เคลอ โจ กวอ โท โพ ยือ โพ โม บา ออ"

แม่ตั้งหมู่บ้านอาศัยอยู่ที่หางดอย พ่อตั้งหมู่บ้านอยู่อาศัยที่หางดอย ต้นไม้จะตายแม่คอยปลูกรักษา ต้นไผ่จะตายพ่อคอยปลูกรักษา ปลูกต้นโพธิ์ต้นไทรควบคู่ลงไปด้วย เหล่านกเหล่าหนูมาพักพิงอาศัย

"โม โอ ฮี ซู ลอ วา ซือ ปา โช คอ ซู ลอ วา ซือ เตอ บู ปือ แว โอ เตอ มือ เตอ บู แว ปือ โอ เตอ มือ โอ บู เด เก โท ลุย บือ อา ปือ โอ มือ แว โอ มือ"

แม่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านคอยปลูกไผ่บง พ่ออาศัยอยู่ในหมู่บ้านคอยปลูกไผ่บง หากไม่อยู่ใกล้น้องพี่ก็ไม่มีความสุข หากไม่อยู่ใกล้กับพี่น้องก็ไม่มีความสุข อยู่ใกล้กันพี่น้องดังนกเขาคู่กันนี้แหละ น้องก็มีความสุขพี่ก็มีความสุขด้วยแล

          เห็นได้ว่า ทา เป็นวรรณกรรมที่มีชีวิตของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เพราะเนื้อหาของอื่อทาคือทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชาวปกาเกอะญอ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม หรือธรรมชาติ ชาวปกาเกอะญอพบเห็นสิ่งใดผ่านตาก็นำมากล่าวเป็นบทอื่อทาได้ทุกอย่าง

          นอกจากนี้ บ้านของพะตีปุหลุ ยังเป็นเสมือนโรงเรียนที่ให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมปกาเกอะญอ และการอนุรักษ์ดูแลรักษาป่า รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้แก่คนทุกวัยและทุกเชื้อชาติ บ้านของพะตีปุหลุ จึงไม่เคยเงียบเหงาเพราะมีเยาวชนต่างชาติและเยาวชนไทยมาเรียนรู้อยู่เสมอ

ทุกวันนี้ พะตีปุหลุยังคงเป็นที่ปรึกษาของหมู่บ้าน ยังคงไปร่วมประชุมให้คำปรึกษาแก่ลูกๆ หลานๆ  และยังคงทำหน้าที่ที่ปรึกษาเครือข่ายกองบุญข้าว กิจกรรมหลักที่พะตีให้ความสำคัญ ด้วยเหตุผลว่า "ปกาเกอะญอให้ความสำคัญแก่ข้าว ต้องปลูกข้าวกิน"

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตและการทำงานเพื่อสังคมและชุมชนของผู้เฒ่าปกาเกอะญอทั้งสองท่านนี้ ที่ควรค่าแก่การเป็นแบบอย่างของผู้สูงวัยที่มีความสุขในการดำเนินชีวิต ด้วยมีศรัทธาในศาสนา มีความรักต่อผู้อื่น ผู้มีความสุขกับการทำหน้าที่เพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง

 

ปล. บทความนี้คงสำเร็จลุล่วงไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือและความมีน้ำใจจากเจ้าหน้าที่ศูนย์สังฆมณฑลเชียงใหม่  คุณบุญสี ส่าวินาเว และคุณพงษ์พันธ์ เพริศไพรงาม ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการเดินทางไปเยือนผู้เฒ่าปกาเกอะญอ และคุณถาวร กัมพลกูล ช่วยตรวจทานและแก้ไขคำปกาเกอะญอให้ถูกต้อง  จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้



[๑] ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี อาจารย์หมอด้านกุมารศัลยศาสตร์ของไทย ท่านเป็นนักเขียนรางวัลนราธิป เจ้าของวรรณกรรม "เพื่อนเก่า" (๒ เล่มจบ) ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม(เรื่อง)ที่คนไทยควรอ่าน

[๒] คืนความศักดิ์สิทธิ์ให้ธรรมชาติร่วมดูแลโลก บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน สาสน์จากพระสันตะปาปา ฟรังซิส ที่ได้ปลุกบรรดาคริสตชนทั่วโลก ให้ตื่นขึ้นมาตระหนักถึงปัญหาเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมของโลก

[๓] การรณรงค์กองบุญข้าว เป็นการสืบสานแนวคิดการจัดงานกองบุญข้าวที่มาจากฐานวัฒนธรรมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือผู้ยากไร้ในหมู่บ้าน ชุมชน หรือสังคม ซึ่งได้แก่ แม่ม่าย เด็กกำพร้า และคนพิการ  

[๔] ทา เป็นบทขับลำนำของปกาเกอะญอ

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >