หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 55 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ความสุขของนักสื่อสารธรรมชาติ ที่ชื่อ วิชัย นาพัว พิมพ์
Wednesday, 12 April 2017

 

จากวารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 102 (กันยายน - ธันวาคม 2559)

 

 

ความสุขของนักสื่อสารธรรมชาติ

ที่ชื่อ วิชัย นาพัว

ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม ยส.

 



จากเด็กชายของหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจังหวัดชัยภูมิ ผู้รักการดูนกเป็นชีวิตจิตใจ อดีตหนึ่งในสมาชิก"ชมรมเด็กรักนก บ้านท่ามะไฟหวาน" ของวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ โดยการริเริ่มของหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ที่ให้ความสำคัญในเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับทางวัดได้เปิดศูนย์ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียนเพื่อช่วยดูแลเด็กๆ ในชุมชนระหว่างที่พ่อแม่ออกไปทำไร่ทำนา เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นยังมีความผูกพันกับวัดและพระจึงมักเข้ามาเล่นในวัดเป็นประจำ หลวงพ่อจึงดำริให้ตั้งชมรมเด็กรักนกเพื่อปลูกฝังบ่มเพาะจิตวิญญาณความรักในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและธรรมะโดยใช้นกเป็นสื่อให้แก่เด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน 

เด็กชายตัวเล็กๆ คนนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเข้าร่วมกิจกรรมเข้าป่าดูนก เขาซึมซับทั้งธรรมะและธรรมชาติเข้าไปในตัวตน และมีหัวใจของนักอนุรักษ์อย่างเต็มเปี่ยม เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มน้อยผู้มีความเชื่อมั่นในสิ่งที่รัก เขาตัดสินใจออกเดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากผืนป่าไกลบ้าน  แล้วการทำงานที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในป่าใหญ่ก็ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เขาเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ต่อมาชายหนุ่มหัวใจนักอนุรักษ์คนนี้ก็กลับสู่บ้านเกิดเพื่อสานต่องานของชมรมเด็กรักนก ส่งต่อความรักนี้ไปยังเด็กๆ และเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป เช่นที่เขาเคยได้รับ จากกิจกรรมดูนกได้ขยายต่อไปเป็นการดูแลผืนป่าภูแลนคา เขาชักชวนผู้คนที่มีใจรักธรรมชาติเหมือนกันมาร่วมกันปลูกต้นไม้ให้กลายเป็นผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ ปีแล้วปีเล่าที่เขาเฝ้าจินตนาการถึงป่าที่จะเต็มไปด้วยไม้หลากชนิดนานาพันธุ์เพื่อเป็นที่อยู่ที่กินที่อาศัยพักพิงของสัตว์น้อยใหญ่ในผืนป่าแห่งนี้ แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ไฟป่าทำลายผืนป่าที่เขาร่วมปลูกและดูแลมา แม้จะเศร้าใจแต่เขาก็ไม่ย่อท้อ ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำให้ป่าแห่งนี้กลับมาสมบูรณ์เช่นเดิม

นี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของชายคนนี้ เขาชื่อ วิชัย นาพัว ประธานชมรมเด็กรักนก จ.ชัยภูมิ ผู้จะเปิดประตูนำเราไปสู่ห้องเรียนธรรมชาติ ให้เราได้เข้าใจความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

 

กิจกรรมดูนก ประตูบานแรกที่เปิดโลกแห่งการเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

คุณวิชัย นาพัว ย้อนเล่าอดีตตั้งแต่ยังเยาว์วัยถึงจุดเริ่มต้นที่บ่มเพาะจิตวิญญาณรักธรรมชาติซึ่งนำทางให้เขาค้นพบความสุขในชีวิตและการงานเช่นทุกวันนี้

"เด็กรักนกเป็นกลุ่มที่ทางพระทำอยู่แล้ว สมัยนั้นปี ๒๕๓๓-๒๕๓๕ มีพระรูปหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อคำเขียน คือหลวงพี่อิศรา ขณะนั้นท่านเป็นพระหนุ่มและเป็นคนจัดกิจกรรมเรื่องเด็ก ได้ตั้งกลุ่มเด็กรักนกขึ้นมาและชวนเด็กๆ ไปจัดกิจกรรมในวัด เช่น ไปดูนก ไปเที่ยวป่า ผมก็เป็นเด็กในหมู่บ้าน สมัยก่อนก็ไม่ค่อยมีที่เล่นมากนัก นอกจากวัด ก็เข้าไปอยู่ที่วัดกัน ตอนนั้นยังเป็นเด็ก ป.๕ - ป.๖ ก็มีหลวงพ่อคำเขียน พระอาจารย์ไพศาลเป็นที่ปรึกษา และหลวงพี่อิศราเป็นคนจัดกิจกรรม ผมก็ร่วมกิจกรรมและสนใจเรื่องป่าขึ้นมา"

"จริงๆ เรื่องป่า เราเป็นเด็กก็เป็นความรู้สึกชอบลึกๆ อยู่แล้ว พ่อแม่พาไปในป่า ไปทำไร่ ชอบบรรยากาศแนวๆ นั้น พอได้ดูได้ทำกิจกรรมเรื่องป่า เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องนก ก็ทำให้เราประทับใจขึ้นอีก หลังจากนั้นก็ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเรื่อยมา จนกระทั่งผมจบ ป.๖ ไม่ได้เรียนต่อ ชอบเดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย ก็ไปทำงานเป็นอาสาสมัครให้กับโครงการวิจัยนกเงือกของอาจารย์พิไล (ดร.พิไล พูลสวัสดิ์[๑]) ที่เขาใหญ่ แต่ไม่นานเป็นครั้งคราว หลังจากนั้นไปเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามให้มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ไปเดินในป่าเก็บข้อมูลเรื่องช้างป่า ช่วงปี ๒๕๓๙ กระทั่งปี ๒๕๔๑ จึงได้กลับมาทำงานที่บ้าน"

จากความประทับใจของเด็กชายคนหนึ่งเมื่อได้เรียนรู้โลกของนกหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นดั่งประตูที่เปิดโลกทัศน์ให้เขาก้าวออกไปทำความรู้จักกับคนที่ทำงานเรื่องสัตว์ป่าอย่างทุ่มเทชีวิตและจิตใจลงไปในการงานนั้น

"นก คือ ความงาม สีสัน สิ่งแรกที่เราเห็น นกมีสีนู่นสีนี่ แล้วลักษณะทางกายภาพ ชนิดนั้นชนิดนี้ เป็นแบบนี้ๆ เราก็ชอบ แล้วพอดูลึกถึงพฤติกรรมก็ทำให้เราสนใจมากขึ้นไปอีก เช่น นกเงือก สาเหตุที่เราไปเป็นอาสาสมัครโครงการวิจัยนกเงือก ก็เพราะเรารับรู้เรื่องราวของนกเงือกมาว่า อยู่ในป่าลึก เลี้ยงลูกในโพรง เป็นผัวเดียวเมียเดียว ก็สนใจขอเขาไปช่วยงานเพื่อจะได้รู้มากขึ้น แล้วยิ่งเห็นเราก็ยิ่งรู้สึกเกิดความประทับใจในชีวิตของสัตว์พวกนี้

อีกทั้งประสบการณ์ที่ได้ผ่านการศึกษาเรียนรู้จากชีวิตจริง ยิ่งทำให้เขาเข้าใจถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันของธรรมชาติ ทั้งต้นไม้น้อยใหญ่ พืชพันธุ์ในป่า และสัตว์ป่าที่ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นั่นเองที่ทำให้เขาเข้าใจธรรมชาติและเข้าใจสัตว์ป่าอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

คือตอนแรก เราก็แค่เห็นคร่าวๆ พอเราได้ไปนั่งเฝ้านกเงือกชนิดนี้เลี้ยงลูกแบบนี้ หาอะไรมาให้ลูก พฤติกรรมที่ไม่ได้ถูกถ่ายทอดมาในตัวหนังสือ เป็นประสบการณ์ที่เราได้เห็นเอง ก็สร้างความผูกพันเกี่ยวกับป่าเกี่ยวกับนกให้เรา เพราะตอนนั้นเขาทำเรื่องไทรด้วย วิจัยไทรแยกออกมาเพราะไทรเป็นพืชอาหารหลักของนก แล้วทางอาจารย์อยากจะรู้วงจรของชีวิตไทรว่าเป็นอย่างไร ก็ทำเฉพาะเรื่องไทรออกมา เช่น ไทรมีกี่ชนิด เมื่อสุกแล้วมีใครมาใช้ประโยชน์จากต้นไทรบ้าง เราก็ต้องเอาไปปลูกในป่า นอนดูต้นไทร ใครเข้ามาทำอะไร เช่น มีลิงเข้ามา มาทำอะไร อยู่นานแค่ไหน ชะนีเข้ามา มาทำอะไร กินอะไร ทั้งลิง ค่าง บ่าง ชะนี"

"เราสังเกตทุกอย่างก็ยิ่งเห็นพฤติกรรมของสัตว์ ยิ่งเห็นความเชื่อมโยงของสัตว์ว่า อย่างต้นไทรก็ไม่ได้อยู่โดดๆ ลิงก็ไม่ได้อยู่โดดๆ พฤติกรรมบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ พอเราเฝ้าสังเกตเราถึงจะรู้ว่า อ๋อ! ทำไม เช่น ทำไมลิงต้องโวยวาย มาถึงต้องขย่มต้นไม้ ลูกไม้ยังไม่สุกก็หักทิ้งเรี่ยราดข้างล่าง เราก็รู้สึกว่า โอ้โห ทำลายน่ะ พอเราได้เฝ้าดูจริงๆ หลังจากลิงจากไป เราก็ได้เห็นว่าข้างล่าง สัตว์ที่ปีนต้นไม้ไม่ได้ พวกกระจง เก้ง กวาง ก็ได้มากินลูกไทร ถ้าลิงไม่ทำแบบนี้ พวกเก้งกวางก็ไม่ได้ชิมลูกไทรที่กำลังสุกเต็มที่ ก็ได้กินตอนเน่า แล้วร่วง

เราก็ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วมันมีอะไรที่ซ่อนอยู่ แต่บางทีเราด่วนตัดสินไง เห็นพฤติกรรมแบบนี้ก็คิดว่าลิงนิสัยไม่ดี แต่พอดูลึกๆ แล้ว อ๋อ มันมีสิ่งที่รองรับกันอยู่ ทุกสิ่งในธรรมชาติไม่ได้ทำขึ้นมาลอยๆ ก็ทำให้เรารู้สึกยิ่งประทับใจและอยากรู้มากขึ้น ไปทำเรื่องช้างก็อยากรู้มากขึ้น มันเป็นภาพที่กว้างขึ้น ต้องเดิน อย่างนกเงือกอาจจะเดินแต่ก็เฝ้าตามจุดๆ พอถึงจุดหนึ่งเรื่องนกเงือก เราค่อนข้างจะรู้มากแล้ว ก็ขยับๆ ออกไป"

หลากหลายความประทับใจกับฉากความสวยงามที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้ อย่างที่น้อยคนจะมีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์เช่นที่เขาได้รับ

"ได้เห็นพฤติกรรมสัตว์ ได้เห็นป่า เห็นฉากความสวยงาม อย่างพอไปทำเรื่องช้าง ไม่รู้ว่าจะมีกี่คนที่ได้เห็นแบบเรา อย่างอากาศฝนตก นอนเปล อยู่กัน ๓ คน ตื่นเช้ามา ออกไปยืนฉี่ เห็นหมอกเป็นม่านสีขาวไปหมด พอหมอกหายไป เห็นกระทิงยืนเล็มหญ้าอยู่กลางทุ่งกับแสงเช้า เราก็คิดว่าจะมีคนเห็นฉากนี้ไหม ความประทับใจแบบนี้ อย่างเดินที่ทับลาน ตรงยอดเขาทับลานจะเป็นด่านกลางเขา มันเป็นป่าดิบเขา  แล้วเราเดินผ่าน เราจะเห็นเมฆพัดเรี่ยช่องเขา โอ้โหเหมือนสวรรค์เลย แล้วมีสีเขียวเข้มของมอสของอะไรอย่างนี้ ยิ่งเพลิดเพลินและรู้สึกประทับใจ ก็อยากถ่ายทอดความงามตรงนั้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเล่าให้เด็กๆ ฟังเวลาเราทำค่าย"

อีกทั้งเกร็ดความรู้จากผู้มีประสบการณ์ตรง อย่างที่ห้องเรียนในโรงเรียนใดก็คงไม่อาจให้เขาได้เช่นนี้ แต่ห้องเรียนธรรมชาติให้เขาได้เรียนรู้ ได้เพิ่มพูนทักษะและความรอบรู้ในเรื่องสัตว์ป่า พันธุ์พืช และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่อยู่ในป่าในธรรมชาติรอบตัวเขา

 "ความรู้ส่วนใหญ่ก็จะได้จากพรานที่เราให้เขาไปช่วย เพราะว่าเดินก็ต้องมีคนที่เขามีทักษะ คือช้างมันต้องการความปลอดภัยสูง งานวิจัยก็ต้องแม่นยำสูงด้วย ก็ต้องอาศัยคนที่เขามีทักษะเข้าไปช่วย หนึ่งก็คือ เส้นทาง จ้างชาวบ้านที่เขารู้เส้นทางและจะมีพรานประจำตัวเราที่เขารู้เรื่องสัตว์ป่า เขาก็จะถ่ายทอดให้เรา เราอยากรู้อะไร เขาก็จะให้เราสังเกต ให้เราเห็นมุมมองของสัตว์แต่ละชนิด ได้รายละเอียดมากขึ้น เช่น เขาบอกว่ากวางจะขี้สงสัยมาก มันอดใจไม่ไหวหรอก ไหนลองดูซิ เช่น เรารู้สึกว่าพุ่มไม้นี่มันโล่ง กลางวันนี่กวางชอบนอนแฮะ เราก็ลองเลย เอาดินก้อนหนึ่งโยนเข้าไปในพุ่มไม้ แล้วหลบแอบ สักพักหนึ่ง ถ้ามีกวางอยู่ มันจะทนไม่ได้ มันจะอยากรู้ว่า ใครโยนอะไรมาวะ มันจะลุกขึ้น แล้วกระทืบเท้า เออมันอยู่จริงๆ ด้วย

พรานเขาก็จะบอกอย่างนี้ เขาบอกว่าถ้าเขาจะยิง ไอ้นี่ก็ตาย เพราะเขาจะรู้พฤติกรรมสัตว์พวกนี้ แล้วเขาก็จะค่อยๆ ถ่ายทอดให้พวกเรา เช่น สัตว์มันกลัวตามนุษย์ เพราะตามนุษย์จะเหมือนตาลิง ตาค่าง โดยใบหน้าของเราที่ไม่ได้อยู่ด้านข้าง อยู่ตรงๆ เขาก็ทดลองเลย เรียกไก่มา ทำเสียงไก่ โป๊กๆๆ ไก่วิ่งมา เราก็ปิดตา ไก่ก็ชะเง้อมอง พอเราเปิดตาออกแค่นั้นละ โอ้โห กระเจิง บางทีเราปิดตาเลย นั่งอยู่ พอสัตว์มา อยากให้มันเข้ามาใกล้อีก ปิดตารอ มันเข้าใกล้เราได้ ก็จะมีเกร็ดพวกนี้ ก็เหมือนเราเรียน"

 

จากความรักในสิ่งที่ทำ ...สร้างเยาวชนรุ่นใหม่หัวใจนักอนุรักษ์ในชุมชนบ้านเกิด

หลังจากได้รับประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ คุณวิชัยกลับมารวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เยาวชนในหมู่บ้านที่เคยทำกิจกรรมร่วมกัน มาสานต่อภารกิจของชมรมเด็กรักนก โดยอาศัยความรู้จากประสบการณ์การทำงานในป่ามาสร้างกระบวนการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กๆ ในหมู่บ้าน ขยายสู่กิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติบนเทือกเขาภูแลนคา ในโครงการศึกษาและสำรวจนกบนเทือกเขาภูแลนคา พร้อมทั้งได้เข้าร่วมเป็นองค์กรเครือข่ายกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย

คุณวิชัยบอกถึงเหตุผลที่กลับมาทำงานที่บ้านเกิด "กิจกรรมเรื่องเด็กที่นี่ไม่มี เพราะพระท่านสึกออกไป คนที่จะมาต่อเรื่องกิจกรรมก็ไม่มี เราก็รู้สึกว่ามันเป็นกิจกรรมที่ดีที่ให้โอกาสเราได้เข้าสู่โลกของธรรมชาติ เราก็คิดว่าเด็กๆ ยุคหลังควรได้มีโอกาสบ้าง มองซ้ายมองขวาเห็นว่าไม่มีใคร ก็คงต้องเป็นเรา เลยลาออก ปี ๒๕๔๑ กลับมาบ้านก็รู้สึกว่าติดอารมณ์จากทางนู้นมาว่า จริงๆ เด็กบ้านเราก็ควรได้รับโอกาสบ้าง เพราะที่นั่นเขามีเงินจ้าง แต่ที่นี่ไม่มีใคร ก็เลยกลับมา ตอนนั้นเราได้เงินเดือนจากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืช ทำอยู่ที่นั่นเกือบ ๔ ปี (๒๕๓๘-๒๕๔๑) กลับมาที่นี่ด้วยเหตุผลว่าต้องให้โอกาสคนอื่นบ้างเพราะมันเป็นบ้านของเรา"

เมื่อต้องกลับมาเป็นผู้นำเยาวชนในกลุ่มเด็กรักนกที่ตัวเองเคยร่วมกิจกรรมมาแต่เด็ก ความรู้ต่างๆ ที่ได้มาจากประสบการณ์การทำงานในป่าจึงถูกนำมาต่อยอดและปรับเปลี่ยนให้เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับเยาวชน

"เราก็นึกถึงตอนเราเป็นเด็กเลย ย้อนกลับไปว่า เอ๊ะ ตอนเด็กเราทำอะไรบ้าง แล้วเรารู้สึกชอบแบบไหน ไม่ชอบแบบไหน เราก็หยิบมาใช้ ว่าเราควรทำอย่างไร เช่น การเข้าป่าดูนก กางเต้นท์นอน ทำให้เราประทับใจ เราก็รู้สึกว่าอารมณ์ของเด็กก็ไม่น่าจะต่างจากตอนนั้นมาก เราก็หยิบมาใช้ ก็พาเขาไปกางเต้นท์ดูนก ชวนดูนั่นดูนี่ ดูพฤติกรรมของสัตว์ว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  กลางคืนก็เล่าให้เขาฟังสิ่งที่เราเรียนรู้มาว่า รู้ไหม ช้างมันอย่างนี้ หรือสัตว์ชนิดนั้นมันเป็นแบบนี้ๆ หรือบางทีก็พาเขาไปดู ผมจะไม่เน้นเรื่องของความรู้แต่ทำอย่างไรให้เขารู้สึกรักประทับใจว่า โอ้โห มีแบบนี้ด้วยเหรอ เพราะความรู้เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนก่อน โลกมันสื่อสารได้ทั่ว เขาหาอ่านได้หมด แต่ทำอย่างไรจะทำให้เขารู้สึกอยากค้นหา สนใจว่านกเงือกมีจริงเหรอพี่ มันเป็นยังไง พี่เขาไม่อยู่แล้ว เสิร์ชหาเลยดีกว่า เขาก็ไปหาเพิ่มของเขา แต่อันแรกที่ทำให้เขาคิดจะค้นคว้าหามัน ต้องเกิดจากความรัก"

การทำอะไรก็ตามจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องมาจากความรักในสิ่งนั้นอย่างจริงใจ แล้วทำด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่น กิจกรรมการดูนกก็เช่นกัน

"เราไม่อยากสร้างให้การดูนกเป็นแฟชั่น อยากดูนกหายาก แต่ล่อด้วยหนอนด้วยแมลง หรืออะไรก็ตาม ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้เห็นแค่นั้น แล้วก็จากไป เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ความรัก แต่เป็นกิเลส เป็นความฉาบฉวย แต่ถ้าความรัก นกจะเป็นยังไง จะน้อยขนาดไหน นกจะธรรมดาขนาดไหน เราก็ยังรักน่ะ อย่างนกปรอด ใครๆ ก็ไม่อยากยกกล้องดู แต่ว่าพอเราดูแล้ว นกปรอดเป็นนกที่ปลูกต้นไม้ได้เยอะมาก พวกกลุ่มหว้า กลุ่มไทร กินได้หลากหลาย และขยายพันธุ์ได้เยอะ เพราะฉะนั้น นกพวกนี้มีคุณค่ามาก ถ้าเรามองในมิตินี้ก็จะเห็นความสัมพันธ์ และถ้าเฝ้าสังเกตอยู่ตลอดเวลาว่ามันกินอะไร วางไข่ยังไง มันดูได้นาน ถ้าดูแบบเช็คลิสต์ ผมก็ต้องไปต่างประเทศแล้ว เพราะในประเทศดูหมดแล้ว (หัวเราะ) ต้องตามหาดูนกที่อื่น เพราะนกบ้านเรามันซ้ำหมด แต่ว่าเราไม่อยากจะดูแบบนั้น"

สำหรับเขาแล้ว กิจกรรมการดูนกเปรียบเสมือนประตูที่เปิดไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความรู้มากมายให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้อย่างไม่จบสิ้น

"นกก็แค่เป็นประตูที่ให้ดูว่ามันสวย แต่พอก้าวข้ามไป เขาก็จะเห็นโลกอีกโลกหนึ่งผ่านนก ถ้าจะบอกว่าเด็กๆ รักธรรมชาติ มันกว้างนะ ไม่รู้จะรักยังไง นั่นก็ธรรมชาติ นี่ก็ธรรมชาติ แต่ถ้าบอกว่ารักนก สนใจนก ก็ต้องสนใจทุกอย่างเกี่ยวกับนก กินอะไร วางไข่ต้นไหน กินลูกไม้อะไร ทำไมต้นนี้ไม่มีลูก ทำไมต้นนี้ไม่กิน อยู่ป่าแบบไหน ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ความสูงแค่ไหน ต้องรู้เรื่องพวกนี้หมดไง ก็กลายเป็นว่า จากนกตัวเดียว อ้ะ นี่ฉันรู้เรื่องนี้ไปเมื่อไหร่นี่ ป่าดิบเขาเป็นยังไงน้อง อ้อ ป่าดิบหรือพี่ โล่งๆ ทำไมล่ะ ก็ช่วงนั้นผมไปดูนกกะราง ไม่มีอะไรเลย ข้างล่างน่ะ โล่ง มีต้นไม้ชั้นล่าง ชั้นบน ที่เหลือเป็นป่าเปาะ (ป่าไผ่เปาะ) กลายเป็นว่ารู้เรื่องป่าดิบเขาได้ไง ผมไม่รู้ ผมไปดูนกกะราง แปลว่าความรู้พวกนั้นมันเข้าไปเรียบร้อยแล้ว จำแม่นด้วย เดินผ่านปุ๊บ ชี้เลย อ๋อ นี่เป็นป่าดิบเขา ถัดไปอีกนิดนี่มันเป็นป่าเบญจพรรณ ห่างไปนิดเดียว รู้ได้ไง รู้ซิพี่ ถัดจากนี้ไปก็เป็นต้นไผ่ เพราะพวกนี้นกก็พาเขาเข้าไปให้ได้เรียนรู้"

และจากกิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติ พาเด็กและเยาวชนเข้าป่าดูนก เรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว เพื่อปลูกฝังบ่มเพาะจิตวิญญาณรักป่า รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อมาได้เพิ่มกิจกรรมค่ายครอบครัวที่ให้พ่อแม่และลูกได้ไปทัศนศึกษาทำกิจกรรมเดินป่าร่วมกัน เพื่อคลายข้อสงสัยและความห่วงกังวลของพ่อแม่ต่อลูกที่ไปทำกิจกรรมในป่า ให้พ่อแม่ได้เห็นและเข้าใจว่าลูกไปทำอะไรในป่า แล้วดึงความรู้บางส่วนของพ่อแม่ ให้เป็นครูถ่ายทอดความรู้นั้นแก่เด็กๆ เช่น รู้เรื่องเห็ด เรื่องผัก และเรื่องอื่นๆ

 

เดินธรรมยาตราฟื้นฟูผืนป่าภูหลง สร้างจิตสำนึกรักและร่วมกันดูแลดิน น้ำ ป่า  

ต่อจากนั้น คุณวิชัยได้ขยับมาสู่กิจกรรมในโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ลุ่มน้ำลำปะทาว หรือที่รู้จักกันในชื่อ ธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว เป็นการเดินรณรงค์เพื่อชีวิตและธรรมชาติแห่งลุ่มน้ำลำปะทาว ในรูปแบบของการเดินทางไกลด้วยเท้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ ตามลำน้ำปะทาวบนเทือกเขาภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ เป็นเวลา ๘ วัน ๗ คืน โดยมีจุดมุ่งหมายทั้งในด้านศาสนธรรม การอนุรักษ์ และวิถีเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงศักยภาพของตนที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นโดยเริ่มต้นจากตัวเราเอง

"หลวงพ่อคำเขียนอยากให้มาช่วยงานเรื่องสิ่งแวดล้อม เริ่มจากธรรมยาตรา ปี ๒๕๔๓ เราจัดสรุปงานประจำปีเด็กรักนก หลวงพ่อท่านก็บอกว่าอยากให้เด็กรักนกทำเรื่องของลำปะทาว ท่านบอกว่าแม่น้ำลำปะทาวเดี๋ยวนี้มันแย่ เคยเห็นคนเอาถังสารเคมีไปล้าง ท่านก็รู้สึกไม่สบายใจว่า ทำไมคนเดี๋ยวนี้ เคยใช้แล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ดูแลกันเลย เห็นทิ้งขยะด้วย ท่านก็บอกว่า มีไหม มีอะไรที่จะทำให้คนหันกลับมาเห็นลำปะทาวแล้วใส่ใจมากขึ้น คิดถึงบุญคุณที่เคยได้อยู่ได้กินหน่อย ท่านเคยไปเดินธรรมยาตราที่สงขลามา ท่านก็บอกว่า ทำธรรมยาตราไหม เราก็ไม่รู้เรื่องหรอก เราก็ทำเป็นไม่ค่อยได้ยินไป (หัวเราะ) แต่ท่านก็เอาจริง ท่านก็ไปถามพระอาจารย์ไพศาลว่า บอกเด็กรักนกให้ทำ เห็นเงียบไป พระอาจารย์ก็บอกว่า คุณไปดูงานมาซิว่าเขาทำยังไง เห็นหลวงพ่อท่านสนใจ ก็ต้องไปดูว่าเขาทำยังไง ก็เอากลับมา ถึงได้เริ่มทำ พอได้เริ่มทำ เนื้องานก็ขยับเป็นเรื่องของชุมชนธรรมยาตรา เดินอย่างเดียวได้ไหม หรือต้องทำอะไรมากกว่านั้น เช่น ธีมของการเดินคืออะไร ชุมชนที่เราเดินไปเขาทำอะไร แล้วจะนำไปทำอะไร ก็เรียนรู้และเสียเวลาไปเกือบ ๔ เดือน สำหรับเตรียมธรรมยาตรา ตั้งแต่สำรวจเส้นทาง วางกิจกรรม ลงทำงานชุมชน ก็ค่อนข้างหนัก"

จากนั้นเป็นต้นมา กิจกรรมธรรมยาตราลุ่มน้ำลำปะทาว ซึ่งเป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดความหวงแหนและตื่นตัวเรื่องธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำลำปะทาวตลอดสาย เพื่อให้ผู้เดินธรรมยาตราเกิดความรู้สึกรักป่า รักธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ก็ถือเป็นกิจกรรมประจำปีภายใต้การนำของพระไพศาล วิสาโล  สืบต่อมาถึงปีนี้เป็นปีที่ ๑๗ แล้ว

และไม่เพียงเท่านั้น ยังมีงานที่เกิดขึ้นตามมาอีก คือ โครงการ "ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำปะทาว"

"ปี ๒๕๔๗ ตอนนั้นไฟไหม้ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ เราก็ตกใจแล้วตอนนั้น เพราะเป็นป่าต้นน้ำ คือพูดเรื่องนก เราไม่ได้พูดว่านกมันลอยอยู่เฉยๆ นกมันก็ต้องเกี่ยวกับต้นไม้เกี่ยวกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันเป็นสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นรักนก คุณก็ต้องรักป่าต้นน้ำ รักต้นไม้ พอต้นไม้ถูกเผา ป่าถูกเผา คุณก็ต้องทำ เราไปคุยกับ ๒ บริษัท ตอนนั้นคือ แปลน กับบางจาก ไปชวนเขา ไปกับพระอาจารย์ตุ้ม (พระสันติพงษ์ เขมปญฺโญ) เอาสไลด์ไปฉายว่าภูหลงมีสถานการณ์เช่นนี้ เป็นป่าต้นน้ำอย่างนี้ ชวนเขามาร่วมปลูกและทำให้เป็นลักษณะโครงการชื่อ "ความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำปะทาว" ลักษณะเป็นกองทุน แต่ละปีก็จะจัดผ้าป่าระบุให้เป็นเรื่องของการฟื้นฟูป่าภูหลง ไม่สร้างโบสถ์สร้างศาลา ให้ใช้สำหรับกิจการนี้ และมีคณะกรรมการหมู่บ้านซึ่งเป็นคณะกรรมการผ้าป่า ดูแลร่วมกับวัด จะใช้เงินอะไรก็คุยกันว่าเกี่ยวกับป่าอย่างไร โครงการนี้ก็ดำเนินมา ๑๓ ปีแล้ว"

และเป็นที่ทราบกันดี ในช่วงเดือนเมษายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ได้เกิดไฟป่าบนภูหลงซึ่งทำลายผืนป่าไปมากกว่า ๒,๐๐๐ ไร่ หลังจากนั้นได้มีการระดมพลังจิตอาสาร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม สำหรับคุณวิชัยในฐานะเรี่ยวแรงหลักในโครงการปลูกป่าบนภูหลง เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์อันไม่คาดคิดเช่นนี้ หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้นไป เขามองเรื่องนี้ในมุมของการแปรวิกฤติให้เป็นโอกาส

"ก็ไม่ได้คาดคิด ส่วนหนึ่งเราก็มองว่าให้เป็นโอกาส หมายความว่าไหนๆ เราก็เสียพื้นที่ป่าไป แต่ว่าถ้ามันจะสร้างให้คนที่เก็บงำความรู้สึกเรื่องการดูแลป่าแต่ไม่ปฏิบัติ เออ ฉันก็ว่าอย่างนี้แหละ แต่ว่าไม่มีรูปธรรมไง พอเกิดสถานการณ์ไฟป่าภูหลง คุณจะทำอะไรให้เป็นรูปธรรมกับสิ่งที่คุณพูดว่า ฉันรักป่า ก็เปิดโอกาสให้คนได้ทำ เช่น ฉันซื้อกระติกดับไฟเข้าไป ฉันเอาน้ำเข้าไปส่ง หรือเอานู่นนี่ มันก็เกิดมิติพวกนี้ขึ้นมา ซึ่งเราก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างคนในอำเภอ คนในจังหวัด ไม่เคยที่จะแสดงออกเรื่องราวพวกนี้ เขาก็แสดงออก เช่น เอาน้ำมาให้ พวกร้านค้าเอาเสบียง เอาเอ็มร้อย เอาสปอนเซอร์มา ไม่ได้ช่วยดับแต่เป็นแรงหนุน ก็เป็นมิติที่ดีเปิดโอกาสให้คนได้แสดงออก

สถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้ทำให้เขาเห็นว่า สิ่งต่างๆ ที่ทางวัดป่าสุคะโต หลวงพ่อคำเขียน และพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ได้ริเริ่มไว้ โดยมีเขาเป็นผู้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างยาวนานนั้น ชาวบ้านและชุมชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ต่างก็เห็นถึงคุณค่าของกิจกรรมเหล่านั้น

โดยเฉพาะคนในจังหวัด คนในชุมชนเอง เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ได้เห็นว่าเขาได้แสดงออกกลับมา บางทีเราเดินธรรมยาตรา ก็ไม่มีโอกาสให้เขาได้แสดงว่าเขารู้สึกห่วงใย หรือรู้สึกเป็นแนวร่วม แต่พอมีเหตุการณ์นี้ก็ทำให้เห็นว่า เออ บางทีเราเดินธรรมยาตรามาหลายปี เราคิดว่าไม่มีผลอะไร มันก็เห็นผล คือมันยังไม่เกิดจังหวะที่เขาจะต้องออกมา พอเหตุการณ์นี้ เรื่องราวพวกนี้เขารับรู้ แต่เขาก็ไม่ได้บอกว่า ฉันรู้ ฉันเข้าใจแล้วนะ เขาเก็บมันไว้ พอถึงเวลา เราก็เห็นว่ามันเกิดเครือข่าย เกิดความร่วมมือแบบนี้ขึ้นมา"

 "คนที่ได้ลงมือทำอะไรเพื่อคนอื่น เขาก็รู้สึกเห็นคุณค่าตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองทำได้ จากที่ไม่กล้าทำ ไม่เคยลองทำ โอ๊ย หนูไม่ไหว แต่พอมาปลูกต้นไม้ ปลูกกล้วย ปลูกถั่ว แล้วเขาทำได้ เขาก็รู้สึกว่า เออจริงๆ ข้อจำกัดของเขามันไม่ได้มีอยู่แค่เขาคิด เขาสามารถข้ามมันไปได้ สิ่งที่เขาคิดว่าไม่ไหวๆ พอเขาได้มาทำจริง พอข้ามได้ เขาก็รู้สึกภูมิใจ รู้สึกว่าตัวเองมีบทบาทกับสถานการณ์นั้น"

ท้ายสุด เมื่อถามว่าธรรมชาติให้อะไรแก่เขา คุณวิชัยให้คำตอบอย่างคนที่รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งว่า "จริงๆ เราเป็นธรรมชาตินะ บางทีเราอาจจะใช้คำว่าเป็นมนุษย์เสียจนลืมว่าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ของอันเดียวกัน ใช้ลมหายใจเดียวกับต้นไม้ ใช้น้ำ ใช้ดิน ใช้เหมือนกันทุกอย่าง แต่ว่ามันแยกไม่ได้ เราต้องคิดเสมอว่าเรากับธรรมชาติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการดูแลต้นไม้หรือดูแลธรรมชาติที่ใดที่หนึ่งก็เป็นสิ่งที่เราได้ประโยชน์ทั้งนั้น บางทีคนคิดว่า โอ้โห ฉันอยู่กรุงเทพฯ ดั้นด้นมาปลูกตั้งชัยภูมิเพื่ออะไรเนี่ย ฉันไม่ได้เป็นคนที่นี่ ฉันไม่ได้หายใจจากที่นี่

แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะว่าลมหายใจมันเป็นมวลอากาศที่อยู่ในโลกนี้ ต้นไม้ก็ไม่ได้เลือกว่าคุณปลูกฉัน ฉันจะให้ประโยชน์ เราใช้ของสิ่งเดียวกัน ป่าอเมซอนเราก็ใช้อากาศแบบเขา แพลงตอนในท้องทะเลเราก็ใช้ ทุกอย่างเราใช้ มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นคุณจะปลูกต้นไม้ที่ไหนในมุมโลก มันก็ได้ทั้งนั้น ยกเว้นว่าคุณปลูกที่ดาวอังคาร คุณอาจจะไม่ได้ ถ้าคุณปลูกต้นไม้ในโลก ดูแลธรรมชาติในโลก เราได้ เพราะมันเป็นอันเดียวกัน เราแยกไม่ได้ ไม่เช่นนั้น ชาวแอฟริกาใต้เขาก็ไม่ให้เราหายใจจากป่าของเขาเลยใช่ไหม เพราะว่าเราไม่ได้ไปดูแลเลย แต่เขาก็ไม่ได้ปิดกั้น โลกหมุนไป ใช้มวลอากาศ วนอยู่นี่ เราก็หายใจ คนกรุงเทพฯ ใช้ต้นไม้จากกรุงเทพฯ หายใจก็ไม่พอใช่ไหมครับ เพราะต้นไม้ต้นหนึ่ง ต้นใหญ่ๆ ก็ให้คนได้ ๒๕ คน คนกรุงเทพฯ เท่าไหร่แล้ว ต้นไม้ของพวกคุณ ตัดออกจากข้างถนนซะหมด ก็ไม่พอ จำเป็นต้องใช้อากาศจากที่อื่น เพราะฉะนั้น ตรงไหนก็ได้ ขอให้ได้ทำ แต่อย่าคิดว่าทำแล้วตัวเองไม่ได้"

คงไม่ต้องสรุปอะไรมากไปกว่านี้ สำหรับชายหนุ่มนักสื่อสารธรรมชาติคนนี้.... วิชัย นาพัว

 


[๑] ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ เป็นนักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์ชาวไทยที่มีผลงานวิจัยดีเยี่ยมด้านปักษีวิทยา(Ornithology) นิเวศวิทยาสัตว์ป่า (Wildlife Ecology) และปรสิตวิทยา (Parasitology: Avian Diseases) เป็นผู้ที่มุ่งมั่นทำวิจัยระยะยาว เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ทำกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้ในการอนุรักษ์นกเงือกและทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มแข็ง จนได้รับการขนานนามว่า "มารดาแห่งนกเงือก" (Great Mother of the Hornbills) ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อการคุ้มครอง-อนุรักษ์นกเงือกและธรรมชาติ จนได้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลผู้ทรงเกียรติด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติระดับโลก 


ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >