หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 70 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร พิมพ์
Wednesday, 02 November 2016

Image

 

 

จาก วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 38
(กันยายน - ธันวาคม 2538)

 

สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากร

 


 

            ป่าชุมชนมีประวัติความเป็นมายาวนานและปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายในชุมชนชนบทภาคเหนือและภาคอีสาน ชาวบ้านอาจเรียกป่าชุมชนโดยใช้ชื่อที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค และตามประโยชน์ใช้สอยหรือลักษณะที่ตั้งของป่า เช่น ป่าต้นน้ำในภาคเหนือ หรือป่าโคก ป่าทามในภาคอีสาน เป็นต้น  แต่ความหมายโดยรวมก็คือ ป่าที่ชาวบ้านถือว่าเป็นของส่วนรวม หรือ "ป่าหน้าหมู่" ตามคำเรียกขานของชาวบ้านในภาคเหนือ  ป่าชุมชนเป็นรูปแบบหนึ่งของประเพณีการอนุรักษ์ป่าของชาวบ้าน ซึ่งเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับวัฒนธรรมการผลิตเพื่อยังชีพในภาคเกษตร โดยมีจารีตประเพณีและความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นฐานในการจัดระบบความสัมพันธ์ระหว่างคนและชุมชนกับทรัพยากรธรรมชาติ

            ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในป่าก่อให้เกิดประเพณีการใช้ป่าอย่างอ่อนน้อมยำเกรง และตระหนักในบุญคุณของป่าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ในป่า  ป่าที่ตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของป่า เป็นความเชื่อที่พบเห็นได้โดยทั่วไป เช่น ดอนปู่ตา ป่าช้า และความเชื่อเรื่องหินสี่ก้อนในภาคอีสาน หรือความเชื่อเรื่องผีขุนน้ำซึ่งสิงสถิตดูแลรักษาป่าต้นน้ำของทางภาคเหนือ เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้ได้ตกผลึกและพัฒนากลายเป็นพื้นฐานทางศีลธรรมเกี่ยวกับการจัดการและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรซึ่งเชื่อมโยงโดยตรงกับรูปแบบทางการผลิตในภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาสูง ที่ดินทำกินจึงจำกัดแต่เฉพาะในเขตที่ราบขนาดเล็กระหว่างภูเขา และเกษตรกรจำต้องพึ่งพิงการควบคุมจัดการทรัพยากรน้ำในการผลิตเพื่อให้ได้ผลดี ภายในบริบทของระบบนิเวศเช่นนี้ ทำให้ชุมชนภาคเหนือมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นเพื่อจัดการทรัพยากรน้ำที่เรียกว่ากลุ่มเหมืองฝาย องค์กรชุมชนนี้กลายเป็นสื่อกลางที่มีนัยสำคัญทางศีลธรรมระหว่างการพิทักษ์รักษาป่าต้นน้ำกับการสร้างความมั่นคงในการยังชีพของชุมชน ความสำคัญของป่าต้นน้ำต่อระบบการผลิตของชุมชน ทำให้เกิดอุดมการณ์อำนาจขึ้นเพื่อจัดการความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับป่าต้นน้ำ ในรูปของความเชื่อเรื่องผีขุนน้ำ ชุมชนจะทำพิธีบวงสรวงผีขุนน้ำเป็นประจำทุกปีเพื่อแสดงความกตัญญูต่อผีขุนน้ำที่ช่วยดูแลรักษาป่าต้นน้ำและให้น้ำในการผลิตของชุมชน ความสำคัญของป่าต้นน้ำยังทำให้กลุ่มเหมืองฝายซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำ กลายมาเป็นองค์กรชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองทางการเมืองภายในชุมชนสูง

            พิธีกรรมและความเชื่อเหล่านี้ได้ช่วยเสริมสร้างความผูกพันทางศีลธรรมและการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนกับป่ามาหลายชั่วอายุคน จนตกผลึกและแสดงออกในรูปของระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม เช่น ภาษิตของชาวปกาเกอะญอซึ่งแปลความได้ว่า "ป่าอยู่ คนอยู่ ป่าไม่อยู่ คนอยู่ไม่ได้" และ "นกเงือกตายหนึ่งตัว ไม้ไทรเจ็ดต้นเงียบเหงา ชะนีตายหนึ่งตัว เจ็ดป่าวังเวง" หรือในประเพณีของชาวปกาเกอะญอที่นำเอาสายสะดือเด็กไปห่อผ้าแล้วนำไปผูกกับต้นไม้ใหญ่บริเวณพื้นที่ชายขอบของป่าใกล้หมู่บ้าน โดยมีความเชื่อว่า "ขวัญ" ของเด็กจะอยู่กับต้นไม้ จึงไม่อนุญาตให้ผู้ใดตัดฟันต้นไม้ต้นนั้น ความเชื่อในลักษณะนี้นอกจากเป็นมาตรการในการอนุรักษ์ป่าอย่างได้ผลแล้ว ยังเป็นวิธีการอันแยบยลและชาญฉลาดในการปลูกฝังจิตสำนึกในการรักษาป่าและความผูกพันทางจิตวิญญาณระหว่างคนกับป่าไปยังลูกหลานรุ่นต่อไป

            จิตสำนึกในการรักษาป่าและความผูกพันทางศีลธรรมระหว่างชุมชนกับป่าคือข้อต่างที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ระหว่างป่าชุมชนบนฐานคิดของประเพณีและศีลธรรมกับหมู่บ้านป่าไม้หรือสวนป่าของทางราชการ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อการผลิตไม้และรายได้ ในขณะที่จุดมุ่งหมายของป่าชุมชน คือความเป็นธรรมและความยั่งยืนของระบบนิเวศและระบบการผลิตทางการเกษตรของชุมชน

            ความผูกพันทางศีลธรรมระหว่างชุมชนกับป่ายังเป็นพื้นฐานที่ชุมชนใช้ในการกำหนดสิทธิตามประเพณีในการควบคุม จัดการและปกป้องดูแลบ้านของตนป่าของตน ระบบศีลธรรมเป็นพื้นฐานของอำนาจในการออกกฎเกณฑ์ตามประเพณีเพื่อควบคุมการใช้และการอนุรักษ์ป่า โดยอนุญาตให้เพียงเฉพาะสมาชิกของชุมชนเท่านั้นที่จะมีสิทธิในการใช้และมีหน้าที่ในการดูแลป่าไปพร้อมกัน ตามหลักการที่ว่า ผู้ที่ปกป้องป่าเท่านั้นจึงจะมีสิทธิได้รับประโยชน์จากป่าที่ตนดูแลรักษา ชาวบ้านในป่าชุมชนหลายแห่ง โดยเฉพาะในภาคเหนือ อธิบายอุดมการณ์ดังกล่าวผ่านความเชื่อเรื่องผี โดยเชื่อว่าผีอารักษ์มีอำนาจในการคุ้มครองชาวบ้านเฉพาะในเขตบ้านของตนเท่านั้น หากผู้ใดล่วงล้ำเข้าไปในเขตของบ้านอื่นจะถือว่าผิดผีและต้องเสียค่าเซ่นผีสำหรับการละเมิด โดยนัยนี้ สิทธิชุมชนจึงมิได้หมายถึงการยึดเอากรรมสิทธิ์เหนือทรัพยากรโดยเด็ดขาด หากแต่หมายถึงการจำกัดสิทธิการใช้ทรัพยากรซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชาวบ้านทุกคน ให้ขึ้นอยู่กับอำนาจของชุมชนในการวางกฎเกณฑ์เพื่อรักษาและใช้ทรัพยากรเหล่านั้น

            "สิทธิชุมชน" หมายถึง "สิทธิร่วม" เหนือทรัพย์สินของชุมชน สมาชิกของชุมชนซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าเท่านั้น จึงจะมีสิทธิใช้และได้ประโยชน์จากป่า โดยนัยนี้ สิทธิชุมชนให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ดังนั้น แม้ว่าโดยทฤษฎีแล้วสมาชิกของชุมชนทุกคนจะมี "สิทธิตามธรรมชาติ" ในการใช้ทรัพยากรส่วนรวม แต่ชุมชนก็สามารถใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์โดยคำนึงถึง "ความเป็นธรรมทางสังคม" เป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่นชุมชนหลายแห่งมีกฎเกณฑ์อนุญาตให้แต่เฉพาะครัวเรือนที่แต่งงานใหม่และยากจนเท่านั้นจึงจะมีสิทธิตัดไม้เพื่อใช้ส่วนตัว ในขณะที่ครัวเรือนที่มีฐานะดีจะไม่ได้รับสิทธินั้นกฎระเบียบดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงหลักการทางศีลธรรมที่เน้นความเป็นธรรม และความมั่นคงในการยังชีพของชุมชนเหนือผลประโยชน์ส่วนตน นอกจากนั้น แม้ว่าสมาชิกทุกคนมีสิทธิใช้ทรัพยากรส่วนรวม แต่ "สิทธิการใช้" ยังถูกกำหนดด้วยความยั่งยืน หรือ "ความเป็นธรรมต่อระบบนิเวศ" ซึ่งเป็นหลักการสำคัญกำหนดให้สมาชิกใช้ประโยชน์จากป่าได้แต่เฉพาะในอาณาบริเวณจำกัด และไม่เป็นอันตรายต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ เช่น ไม่ตัดไม้ในเขตป่าต้นน้ำ เป็นต้น

            ในปัจจุบัน อุดมการณ์ป่าชุมชนในหลายๆ พื้นที่ เริ่มมีศักยภาพลดลงด้วยสาเหตุหลักอย่างน้อย 2 ประการ คือ ประการแรก สิทธิชุมชนของชาวบ้านไม่ได้รับการยอมรับตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อป่าที่ชาวบ้านรักษาไว้ถูกประกาศเป็น "ที่ดิน" ของรัฐในรูปของอุทยานหรือป่าสงวนแห่งชาติ หรือบางแห่งรัฐอนุญาตให้เอกชนภายนอกได้สัมปทานทำไม้ หรือมีการจัดตั้งสวนป่าเพื่อปลูกไม้โตเร็ว ชุมชนที่เคยดูแลป่ามาหลายชั่วอายุคนจึงมีความรู้สึกว่าตนไร้อำนาจ บางชุมชนเริ่มปล่อยให้สมาชิกของชุมชนและชาวบ้านจากที่อื่นบุกรุกป่าโดยปราศจากการควบคุมเข้มงวดเช่นเดิม และประการที่สอง แรงกดดันของระบบเศรษฐกิจแบบการค้าจากภายนอกมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการทำให้อุดมการณ์ป่าชุมชนในหลายๆ พื้นที่ถูกลดทอนความสำคัญลง ชาวบ้านในบางพื้นที่เริ่มบุกรุกพื้นที่ป่าที่เคยรักษาไว้เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชพาณิชย์ บางชุมชนเริ่มละเลิกจากประเพณีการเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในป่า เป็นต้น

            โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของภาคอีสาน การที่ป่าถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วด้วยสัมปทานทำไม้ การขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกพืชพาณิชย์เพื่อส่งออก การก่อตั้งชุมชนใหม่จากการอพยพเคลื่อนย้ายของประชากร เพื่อแสวงหาแหล่งทำกินใหม่บนที่ป่าซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง ตลอดจนการดำเนินงานของรัฐซึ่งไม่ให้ความเคารพต่อระบบการจัดการทรัพยากรของชุมชน เช่น โครงการปลูกสวนยูคาลิปตัสทับที่ป่าหรือที่ทำกินของชาวบ้านในหลายๆ พื้นที่ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้ระบบคิดและจารีตประเพณีของชุมชนไม่มีความต่อเนื่อง วัฒนธรรม ความเชื่อ พิธีกรรม และระบบคิดของชาวบ้านเกี่ยวกับการจัดการและการใช้ประโยชน์จากป่าได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก จนกระทั่งบางพื้นที่ระบบคิดดังกล่าวได้สูญหายไปจากชุมชน

            อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิจัยภาคสนามทำให้เราค้นพบว่ายังมีชุมชนอีกมากมายหลายแห่งที่ยังสามารถผลิตซ้ำ ปรับเปลี่ยน หรือสร้างเสริมอุดมการณ์ป่าชุมชนขึ้นใหม่ในบริบทของสังคมปัจจุบัน เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้อุดมการณ์ป่าชุมชนได้รับการผลิตซ้ำหรือสร้างเสริมขึ้นใหม่ คือ การแย่งชิงทรัพยากรจากภายนอกและความพยายามของชุมชนในการสงวนรักษาป่าไว้สำหรับสมาชิกของชุมชน ดังนั้น เมื่อเกิดการรุกรานจากภายนอก ชุมชนจึงมีการรวมตัวกันต่อต้านบุคคลภายนอกที่ต้องการมาใช้ประโยชน์จากไม้หรือที่ดินในป่าชุมชน โดยอาศัยหลักการพื้นฐานดั้งเดิมที่ว่า คนภายนอกมิได้เป็นผู้ดูแลรักษาป่า จึงไม่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์ ความรู้สึกดังกล่าวได้กลายเป็นพลังตอกย้ำอุดมการณ์ป่าชุมชนในหลายๆ พื้นที่ ดังเช่นกรณีการต่อสู้คัดค้านสัมปทานไม้ของป่าชุมชนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ในภาคเหนือ และการต่อต้านโครงการสวนยูคาลิปตัส และโครงการ คจก. ในภาคอีสาน เป็นต้น

            ความพยายามในการปกป้องสิทธิตามประเพณีของชาวบ้านในการควบคุมและจัดการป่าท่ามกลางสภาวการณ์ขัดแย้งในปัจจุบัน ชาวบ้านได้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนอุดมการณ์ดั้งเดิมจากจารีตปฏิบัติให้มีลักษณะเป็นทางการมากขึ้น เริ่มมีการจัดตั้งองค์กรอย่างเป็นทางการ เช่น คณะกรรมการป่าชุมชนของหมู่บ้านเพื่อทำหน้าที่ดูแลป่า รวมทั้งเริ่มมีการร่างกฎระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการและข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทางราชการเพิ่มมากขึ้น ในหลายๆ พื้นที่ของภาคอีสานมีการวางแผนการจัดการและการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อใช้เป็นเครื่องต่อรองกับรัฐในการต่อต้านโครงการ คจก. โดยชาวบ้านได้เสนอตัวเป็นผู้ฟื้นฟูสภาพป่าด้วยการลดพื้นที่เพาะปลูกลง เปิดโอกาสให้ป่าได้ฟื้นสภาพและปลูกป่าเพิ่มขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนกับการขออยู่ในพื้นที่เดิมต่อไป

            นอกจากนั้น การเผชิญหน้ากับสภาวะฝนแล้ง ฝนมาล่าช้า ไม่ตกต้องตามฤดูกาล และสภาพการขาดแคลนน้ำในหลายๆ พื้นที่ก็เป็นเงื่อนไขปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านเริ่มตระหนักถึงโทษภัยของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์มากขึ้น ความห่วงใยต่ออนาคต และการทำมาหากินของลูกหลานก็เป็นปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ผลักดันให้จิตสำนึกในการรักษาป่าเริ่มมีมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่คนหนุ่มสาวในหมู่บ้านเริ่มนิยมออกไปหารายได้นอกภาคเกษตร ด้วยการเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความกดดันต่อพื้นที่ป่าลดน้อยลง และทำให้ชาวบ้านหันกลับมารักษาป่าเพิ่มขึ้นด้วย

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >