หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 69 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เสียงสะท้อนจากขุนเขา"ปกาเกอะญอ"บ้านป่าแป๋ จังหวัดลำพูน : วรพจน์ สิงหา พิมพ์
Wednesday, 19 October 2016

 

 

 

เสียงสะท้อนจากขุนเขา
"ปกาเกอะญอ" บ้านป่าแป๋ จังหวัดลำพูน


วรพจน์ สิงหา เรื่อง/สัมภาษณ์


 
"เมื่อก่อน เราก็อยู่อย่างนี้ ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ไม่มีผลกระทบอะไร ช่วงหลังๆ มีการผสมผสานจากหลายสิ่งหลายอย่างจากภายนอก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เหมือนสิ่งภายนอกเข้ามา ทำให้ชุมชนสั่นคลอน ไม่เป็นตัวของตัวเอง เกิดจากการที่คนข้างนอกเข้ามามีบทบาท การเข้ามาของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นักท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและชัดเจน"

(พือเดาะ บุญเป็ง ผู้เฒ่าปกาเกอะญอหมู่บ้านป่าแป๋ จังหวัดลำพูน)


แม้ระยะทางจะไม่ห่างไกลมากนักเมื่อเทียบกับทางพื้นราบ แต่ด้วยความคดเคี้ยวและสูงชันบนสันเขา ทำให้การเดินทางเข้าสู่ชุมชนปกาเกอะญอ หมู่บ้านป่าแป๋ ดอยจ๊ะโข่ จังหวัดลำพูน มีทั้งความท้าทายและยากลำบากในขณะเดียวกัน

สายฝนโปรยปรายเป็นระยะๆ ในฤดูฝน ทำให้ชุมชนปกาเกอะญอถูกปกคลุมด้วยความเย็นชื้นและเงียบสงบ มองไปรอบทิศทางบนทางป่า ไม่มีชนเผ่าใดที่จะอยู่ใกล้ท้องฟ้า และวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติมากเท่ากับชนเผ่าปกาเกอะญออีกแล้ว

...น้อยคนนักที่จะไปเยือนพวกเขาด้วยความเคารพ หลายคนมองพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอด้วยสายตาหวาดระแวงและสงสัย อีกจำนวนไม่น้อยเชื่อการนำเสนอของสื่อมวลชน มากกว่าที่จะหาเวลามาสัมผัสวิถีชีวิตอันลุ่มลึกของชนเผ่าปกาเกอะญอด้วยตัวเอง


คำสอนบรรพชนปกาเกอะญอ
เลือดเนื้อเชื้อไขแห่งชาติพันธุ์

ชุมชนปกาเกอะญอหมู่บ้านป่าแป๋ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไร้การเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร หากผู้ใดได้ขึ้นมาสัมผัสกับธรรมชาติของที่นี่ จะพบว่ายิ่งไร้การเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี จิตใจยิ่งสงบมากขึ้นและวุ่นวายน้อยลง

แต่วิถีชีวิตอันเรียบง่ายและธรรมชาติอันเงียบสงบของหมู่บ้านป่าแป๋ที่ได้เห็น กำลังถูกรุกล้ำล่วงเกินจากสิ่งภายนอกยิ่งทียิ่งมากขึ้น ชุมชนปกาเกอะญอแห่งนี้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านประเพณี วัฒนธรรม และความทันสมัยจากโลกภายนอก

พือเดาะ บุญเป็ง ผู้เฒ่าปกาเกอะญอหมู่บ้านป่าแป๋ วัย ๘๕ ปี มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านของตัวเองมาพักใหญ่ ผู้เฒ่ารู้ดีว่าโลกสมัยใหม่กำลังนำความวุ่นวายเข้ามาสู่ชุมชนที่เคยเงียบสงบ พือเดาะเล่าให้ฟังว่า ชนเผ่าปกาเกอะญอถูกเอาเปรียบจากสังคมภายนอก ถูกรังแกจากเจ้าหน้าที่และผู้มีอิทธิพล "ถ้าชาวบ้านไม่ลุกขึ้นมาดูแลตรงนี้ ลูกหลานจะอยู่อย่างไร" หลายครั้งที่ชนเผ่าปกาเกอะญอ กลายเป็นจำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นคนทำลายป่า ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเป็นผู้รักษาป่ามากกว่าคนภายนอกอีกมากมาย

จากที่พือเดาะได้เห็นได้สัมผัส เจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่ค่อยให้เกียรติชนเผ่าและให้ชาวบ้านปฏิบัติตามอย่างเดียว "เจ้าหน้าที่เขามีความรู้ ความสามารถ เขาร่ำเรียน เขาสื่อสาร ใช้อำนาจ โจมตี หรือโยนความผิดให้เราได้ แต่ทางเราไม่กล้าที่จะตอบโต้ เราไม่ได้เรียนหนังสือ เราไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร จะพูดอย่างไร เราได้แต่ยอมรับอย่างเดียวเวลาที่เราถูกกล่าวหาต่างๆ"

ขณะที่ชุมชนปกาเกอะญอต้องเผชิญกับความไม่เข้าใจจากบุคคลภายนอกชุมชน ปกาเกอะญอรุ่นใหม่ในชุมชนเองมีแนวโน้มที่จะละทิ้งวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง "คนรุ่นใหม่ไม่เข้าใจวัฒนธรรม เช่น พิธีกรรมต่างๆ การขอพรจากสิ่งสูงสุด การถือปฏิบัติ ธรรมเนียมตรงนี้ลดน้อยลง คนรุ่นใหม่หลายคนเริ่มสงสัยว่าความเชื่อแบบเก่าจะใช้ได้หรือ"

ผู้เฒ่าปกาเกอะญอบอกว่าอยากให้ทุกคนรักษาประเพณีต่างๆ จดจำไว้ และสืบทอดต่อไป "ถ้าสิ่งเหล่านี้ คนรุ่นใหม่ไม่ได้รักษาและสืบทอด ก็จะหายและตายไปพร้อมกับพือเดาะ"

"อยากให้ลูกหลานทำตรงนี้ ดูแลตรงนี้ อะไรที่เป็นสิ่งดีงาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของป่าไม้ ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ดูแลรักษาไว้ และรื้อฟื้นขึ้นมา เพื่อให้สิ่งเหล่านี้อยู่กับชุมชน จะทำให้ชุมชนเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เยาวชนหรือเด็กรุ่นใหม่จะได้เข้าใจและดูแลรักษา"

พือเดาะนึกถึงคำสอนของบรรพชนปกาเกอะญอที่บอกไว้ว่า "ไผ่แก่กับไผ่อ่อนต้องอยู่ร่วมกอเดียวกัน ถ้าอยู่แยกกัน ไผ่แก่พอแก่ก็ตายไป ส่วนไผ่อ่อนพอเจอลมพัดผ่านก็แตกหัก" ยิ่งในปัจจุบัน พอหน่อเติบโตขึ้นก็โอ้อวดตัวเองว่าสูงใหญ่กว่าไผ่แก่ แต่สุดท้าย... พอไผ่อ่อนแก่ตัวลง ก็โน้มตัวลงมาและตายไปเช่นเดียวกัน

พือเดาะบอกไว้ว่า ก่อนจะจากโลกนี้ไป อะไรที่เป็นสิ่งดีงามสิ่งที่บรรพชนทำไว้ ขอให้สืบทอดต่อไป ช่วยรักษาความสงบในชุมชน จะทำอะไรก็ตามให้รู้จักคำว่าพอ ทำให้เหมาะสม ให้ยุติธรรมและเสมอภาค

"คนรุ่นใหม่ต้องถือตามบรรพชนสมัยก่อน ถ้าเราไม่ทำ เราจะหมดซึ่งเลือดเนื้อเชื้อไขแห่งชาติพันธุ์ของเรา"

พือยุ แหล่ลิ วัย ๗๒ ปี ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนของตัวเอง "การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือ การทำมาหากินยากลำบาก การโจมตีจากทางภาครัฐ สิ่งที่ได้รับผลกระทบคือเมื่อก่อนเราก็ทำไร่หมุนเวียน ที่ชัดเจนคือ เขาห้ามไม่ให้เราทำไร่หมุนเวียนอีกแล้ว แม้แต่ไร่ที่เคยเป็นไร่หมุนเวียนเก่า เขาก็ห้าม และขึ้นมาบ่อยครั้ง จนไม่ให้เราทำ ในส่วนของชุมชน พิธีกรรมหลายอย่างที่ชุมชนทำ ไม่ถูกต้องตามระเบียบ เปลี่ยนแปลงไป ผิดจากเดิม"

ผู้เฒ่าพือยุบอกว่า ความทันสมัยมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของปกาเกอะญออยู่ไม่น้อย "มีการเห็นแก่ตัว ไม่ได้มองคนอื่น คิดจะเอาแต่ตัวเอง บางคนอาจจะมีฐานะดีกว่าคนอื่น แต่ก็ไขว่คว้าไปเรื่อยๆ แต่บางคนมีพอแค่นั้น ทำแล้วก็กิน หลายคนไม่ได้นึกถึงคนรุ่นหลังว่าจะอยู่อย่างไร กินอย่างไร"

ปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ยกบทลำนำของชนเผ่าปกาเกอะญอที่บอกไว้ว่า "เวลาที่เราล่าสัตว์ ได้สัตว์มาสักตัวหนึ่ง ก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้านกิน ไม่ขาย ห้ามขาย คนปัจจุบันกอบโกยและเห็นแก่ตัว มีแล้วอยากได้อีก ไม่เคยพอ"

นอกจากนี้ ในคำสอนของปกาเกอะญอมีบอกไว้ในลำนำว่า "กินสรรพสิ่ง ต้องรักษาสรรพสิ่ง กินน้ำ ใช้น้ำ ต้องรักษาน้ำ อย่างหมูป่าหรือสัตว์ป่า ถ้าเรากินเยอะหรือว่าเราล่าเยอะ เขาจะมารบกวนเรา ถ้าเราเบียดเบียนธรรมชาติ ธรรมชาติจะกลับมาเบียดเบียนเรา"

ลองสอบถามปราชญ์ผู้เฒ่าถึงคำสอนปกาเกอะญอที่เกี่ยวข้องกับการที่มนุษย์ล่วงเกินธรรมชาติ ซึ่งในคำสอนดั้งเดิมของชนเผ่าสามารถสอนใจมนุษย์ในปัจจุบันได้อย่างดี "ถ้าทำอะไรผิด ทำไม่ถูกต้อง เราต้องพิจารณาและแก้ไข ถ้าเราไม่แก้ไข จะเดือดร้อนมาถึง ดิน น้ำ ป่า สภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม"

ได้ฟังถ้อยคำจากปราชญ์พือยุบอกเล่า ทำให้นึกถึงวิถีชีวิตของคนเราในยุคปัจจุบัน... ใช่ไหมที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงทุกวันนี้ เกิดจากการที่คนเราทำผิด แต่ไม่มีการแก้ไข ทำให้สภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง คนในยุคปัจจุบันไม่เคยขอโทษในสิ่งที่ทำ ไม่สำนึกเสียใจในสิ่งที่เราล่วงเกินธรรมชาติ ไร้สำนึกขอบคุณในสิ่งที่เรากินดื่มในชีวิตประจำวัน

...คงไม่แปลกอะไร หากในอนาคตอันใกล้จะเป็นอย่างที่ปราชญ์ชาวบ้านท่านนี้ได้บอกเราไว้ "ถ้าเราเบียดเบียนธรรมชาติ ธรรมชาติจะกลับมาเบียดเบียนเรา"


คนชนเผ่าต้องปกป้องสิทธิของตัวเอง

การเดินทางไปยังหมู่บ้านป่าแป๋ครั้งนี้คงเป็นไปไม่ได้ หากขาดคนนำทางอย่าง "ดิปุ๊นุ" หรือ อติวิชญ์ มุแฮ ที่ปรึกษากลุ่มเยาวชนหมู่บ้านป่าแป๋

ดิปุ๊นุเป็นปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่พยายามสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพชนรุ่นเก่า จุดเด่นหลังจากได้พูดคุยกับดิปุ๊นุคือ ความกล้าหาญและตรงไปตรงมา เขาพยายามเรียกร้องสิทธิเพื่อพี่น้องชนเผ่ามาอย่างต่อเนื่อง

ดิปุ๊นุบอกว่า คนที่เข้าใจชนเผ่ามีเป็นส่วนน้อยถึงน้อยมากที่มองชาวบ้านในด้านบวก "สื่อที่ออกมาก็สื่อแต่ด้านลบ สื่อใหญ่พอสื่อออกไป คนก็เชื่อ และอคติของคนในสังคมก็เกิดกับชนเผ่า ชนเผ่าถูกภาครัฐกล่าวหาและโจมตีมาตลอด เพราะความไม่เข้าใจ และสื่อออกไปไม่ถูกต้อง"

"สิทธิของชนเผ่า เราต้องยืนขึ้นเรียกร้องสิทธิของเรา คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาในกรณีที่มีการกล่าวหา หรือว่ามีการทำให้หมู่บ้านหรือชาวบ้านเสื่อมเสีย คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องชุมชน ถ้าไม่ลุกขึ้นมาปกป้องชุมชน ชุมชนจะอยู่อย่างไร และชุมชนนั้นจะกลายเป็นชุมชนที่อ่อนแอ ถูกบุคคลภายนอกรุกล้ำเข้ามาหาผลประโยชน์ และจะไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง"

"ภาครัฐไม่เคยมาศึกษาว่าพิธีกรรมของชาวบ้านมีความหมายอย่างไร เขาไม่ศึกษาตรงนี้ บางทีมาเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของเขา และไม่มีการส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน การบริหารการพัฒนาหลายอย่างเกิดจากการมองแค่คิดทำโครงการขึ้นมา โดยไม่ได้มองผลระยะยาวว่าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้จะยั่งยืนหรือไม่ การที่ชาวบ้านจะใช้ชีวิตอย่างพอเพียง อยู่กับธรรมชาติ ก็ถูกกลุ่มนี้มาสร้างผลกระทบในรูปแบบของการท่องเที่ยว ในรูปแบบของการข่มขู่ชาวบ้าน"

ดิปุ๊นุและกลุ่มเยาวชนหมู่บ้านป่าแป๋พยายามรื้อฟื้นประเพณีดั้งเดิมและอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ โดยพวกเขาร่วมกันจัด "พิธีบวชป่า" เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการจัดงานบวชป่าอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ ๓ แล้ว ที่สำคัญในงานครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมมากมายหลายร้อยคนจากหลายภาคส่วน

ดิปุ๊นุอธิบายให้ฟังว่า "คนชนเผ่าปกาเกอะญอผูกพันกับธรรมชาติตั้งแต่วันแรกที่พวกเขาเกิดมา "เดปอทู" ต้นไม้สะดือ หรือต้นไม้ประจำตัวของเด็กทุกคน ในวันแรกที่เด็กเกิดมา คนเป็นพ่อจะตัดสายสะดือ ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ และเอาผ้าติดไว้ เอาเข้าไปในป่า ต้นไม้ต้นนั้นต้องเป็นต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์และแข็งแรง เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาแก่ธรรมชาติ ให้กับสัตว์ป่า และผู้เป็นพ่อจะเอา "เดปอ" นี้ติดไว้กับต้นไม้ต้นนั้น โดยมีความเชื่อว่าเด็กกับต้นไม้จะเติบโตไปพร้อมกัน และต้นไม้ต้นนั้นจะเป็นต้นไม้ประจำตัวของคนๆ นั้น และห้ามไม่ให้ใครมาตัด มาโค่น หรือทำลาย ซึ่งทุกคนในชุมชนจะให้ความเคารพนับถือ ถ้าในชุมชนมีคน ๑๐๐ คน ต้นไม้จะปลอดภัย ๑๐๐ ต้น

ถามว่าในปัจจุบันที่หมู่บ้านเราทำ ที่งานบวชป่า เราเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมทำด้วย ตรงนี้เป็นการรักษาธรรมชาติที่ไม่ต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐ และดูแลโดยชาวบ้าน เพราะมีความหมาย มีเรื่องราว มีสิ่งดีงามมากมายอยู่ตรงนั้น แต่ว่าภาครัฐไม่ได้มาส่งเสริมหรือให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้น ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาทำตรงนี้ ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของต้นไม้และธรรมชาติ"

"ทุกอย่างของชนเผ่าปกาเกอะญอมีปรัชญาและบทคำสอนที่ลึกซึ้ง เช่น การสานกระด้ง จะมีด้านในและด้านนอก ด้านใน เรียกว่า "ดูเต่อวอ" สังเกตจากการสานว่าจะเป็นคู่ มีการจัดเรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย ความหมายคือ ความรัก ความสามัคคี การเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน การไม่เอารัดเอาเปรียบ การเข้าใจกันและกัน การอยู่อย่างสงบสุข ส่วนความหมายของการสานกระด้งด้านนอกเรียกว่า "ดูลอละ" ลักษณะของการสานเป็นลักษณะที่ข้ามไปข้ามมา มีการไขว้กันไปมา หมายถึง การไม่มีความรัก ไม่มีความสามัคคี การกดขี่ข่มเหงรังแก การทำร้ายเอาเปรียบกัน การเหยียบย่ำศักดิ์ศรีกันและกัน มันเป็นสัจธรรมที่มองเห็นจากการสานกระด้ง"

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจคือ ดิปุ๊นุเป็นศิลปินปกาเกอะญอที่พยายามสื่อสารกับสังคมภายนอกโดยบอกเล่าผ่านบทเพลงที่เขาเป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง โดยมีมิวสิควีดีโอที่หลากหลาย เผยแพร่ผ่านช่องทางยูทูป ชื่อ "Deporthu Karen" เนื้อหาบทเพลงส่วนใหญ่มาจากภูมิปัญญาชนเผ่าแบบเก่าผสมผสานกับดนตรีสมัยใหม่ หรือหากใครรู้จักและติดต่อผ่านโทรศัพท์มือถือของเขา จะได้ยินเสียงเพลงรอสายเป็นภาษาปกาเกอะญอที่เขาเป็นผู้ร้อง และในปัจจุบัน ดิปุ๊นุกำลังพยายามพัฒนา "เตหน่ากู" ไฟฟ้า เครื่องดนตรีของชนเผ่าปกาเกอะญอ เพื่อที่จะนำมาเล่นเป็นวงแบบมาตรฐานสากล ซึ่งยังต้องใช้ความพยายามและการลงทุนลงแรงอีกสักระยะกว่าจะสำเร็จ

"การใช้บทเพลงเป็นสื่อ เพื่อให้ดนตรีเข้าถึงคนฟังได้ง่ายขึ้น บางทีเนื้อเพลงคำร้องเป็นภาษาไทย แต่ว่ามิวสิควีดีโอ จะเป็นภาพคนชนเผ่าและชุมชนปกาเกอะญอ เป็นการสร้างความเข้าใจให้สังคมได้เห็นว่าคนอยู่กับป่าเป็นอย่างไร กระตุ้นให้เกิดความรู้จักใกล้ชิดกับชนเผ่ามากขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ อยากรู้ อยากไปเที่ยว เขาจะได้เข้าใจว่าปกาเกอะญออยู่กับธรรมชาติจริงๆ ไม่ใช่เชื่อสื่อที่เสนอแต่ภาพด้านลบเพียงอย่างเดียว แล้วอคติในสังคมจะลดลง เป้าหมายก็คือ สันติภาพ"

ดิปุ๊นุบอกคำปฏิญาณส่วนตัวของเขาไว้ว่า "เราจะใช้ทรัพยากรที่อยู่บนโลกใบนี้ให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าที่สุด นั่นหมายถึงว่าเราไม่เบียดเบียนธรรมชาติ เราต้องใช้อย่างเคารพ ใช้อย่างรักษา สิ่งสำคัญคือใช้อย่างพอเพียงนั่นเอง"


สานต่อภูมิปัญญาบรรพชน
อนุรักษ์วัฒนธรรมชนเผ่า และธรรมชาติ

ชุมชนปกาเกอะญอบ้านป่าแป๋คงเหมือนกับอีกหลายชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังถูกรุกล้ำจากโลกภายนอก ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า แต่สิ่งที่ดีงามคือ คนในชุมชนทั้งผู้นำและกลุ่มเยาวชนไม่นิ่งดูดายกับปัญหาที่เกิดขึ้น พวกเขาร่วมมือกันเพื่อรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณี และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคนรุ่นต่อไป

พ่อหลวงนิรันดร์ บุญเป็ง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านป่าแป๋ บอกว่า "ชาวบ้านอยู่กับป่าต้องดูแลรักษาป่า ถ้าไม่ดูแลไม่รักษา น้ำไม่มี ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าป่าอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านก็มีกินมีใช้ อย่างปีนี้ผลกระทบเรื่องป่าก็มีบ้าง และเกี่ยวกับภัยแล้ง ฝนไม่ค่อยดี เริ่มมีปัญหาน้ำไม่เพียงพอ"

หมู่บ้านป่าแป๋เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการรักษาสิ่งแวดล้อม เริ่มจัดงานบวชป่าเพื่อให้ชาวบ้านตระหนักถึงการรักษาป่าต้นน้ำ โดยจะจัดงานบวชป่าปีละครั้ง เพื่อสร้างสำนึกให้ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ พ่อหลวงนิรันดร์บอกว่า "เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ เวลาประชุมชาวบ้านก็ต้องชี้แจงการรักษาป่าต้นน้ำ ถ้าไม่มีป่า ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ อย่างบ้านป่าแป๋ ถ้ารักษาป่าต้นน้ำ ไม่ใช่แค่บ้านป่าแป๋ที่ได้ประโยชน์ แต่ที่อื่นก็ได้รับประโยชน์เหมือนกัน อย่างหมู่บ้านด้านล่าง ถ้าป่าอุดมสมบูรณ์ น้ำดี น้ำจะไหลไปลงข้างล่าง ถ้าด้านบนแห้ง ด้านล่างก็ได้รับผลกระทบไปด้วย"

ในด้านวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า ผู้นำหมู่บ้านเน้นย้ำว่า "ประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่า ต้องรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ เพราะถ้าไม่รักษาไว้ คนรุ่นใหม่จะไม่รู้ว่าประเพณีวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะ ญอเป็นอย่างไร บางคนจะไม่เข้าใจ เช่น ประเพณีผูกข้อมือเรียกขวัญ หนึ่งปีอาจจะทำสองครั้ง สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ในเดือนห้ากับเดือนสิบเอ็ด ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เพราะเวลาทำพิธีผูกข้อมือ ลูกหลานพ่อแม่พี่น้องที่ไปทำงานที่อื่นจะกลับมาร่วมประเพณีของชนเผ่า ถ้าไม่ทำ ลูกหลานที่ไปทำงานที่อื่นจะไม่เห็นความสำคัญของพ่อแม่พี่น้อง"

อัครเดช หยกวิภัยกุล หรือ เดช อายุ ๒๑ ปี ประธานกลุ่มเยาวชนหมู่บ้านป่าแป๋ เป็นปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่พยายามสานต่อภูมิปัญญาและวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า "เมื่อก่อนรุ่นพ่อแม่เล่าให้ฟังว่าหมู่บ้านเรามีหมูป่า มีกวาง ถ้าเราไม่อนุรักษ์ธรรมชาติ รุ่นน้อง หรือรุ่นหลังจากเราจะไม่ได้เห็นธรรมชาติอย่างที่เราเห็น ผู้เฒ่าผู้แก่หวังจากรุ่นเราในการสืบต่อความคิด ไปปรึกษาผู้เฒ่าผู้แก่ก็เห็นด้วย ต้องฝากคนรุ่นหลังให้ดูแลต่อไป"

เดชบอกว่า ในด้านความเชื่อและประเพณีของชนเผ่าอาจจะจางไปบ้างในยุคปัจจุบัน "บางคนออกจากหมู่บ้านตั้งแต่เรียนจบ บางคนไม่ได้กลับบ้าน ภาษาปกาเกอะญอเขายังลืมบางคำ หรือการใส่เสื้อชนเผ่า หลายคนไม่กล้าใส่ เขาจะอาย เมื่อก่อนผมเองก็อายที่จะใส่เสื้อชนเผ่าเหมือนกัน จนมาวันนี้ เห็นว่าเสื้อชนเผ่าเป็นเอกลักษณ์ของเรา ตอนนั้นรู้สึกอาย ไม่ทันสมัย กลัวคนอื่นจะมองว่าเป็นกะเหรี่ยงไม่เท่ ตอนนี้ผมภูมิใจที่เป็นคนเผ่าปกาเกอะญอ"

ในฐานะประธานกลุ่มเยาวชน เดชบอกว่า "อยากฝากเพื่อนเยาวชนชนเผ่าทุกกลุ่ม ถึงแม้จะอยู่ที่ไหน ทำงานที่ไหน อย่าลืมหมู่บ้าน อย่าลืมวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า วัฒนธรรมชนเผ่าเป็นสิ่งที่สวยงามและลึกซึ้งมาก มีอะไรหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ ความพิเศษของชนเผ่า อยากให้กลับมามอง มาดูแลหมู่บ้าน ถ้าเรายังไม่หันกลับมามอง มีคนข้างนอกเข้ามา วัฒนธรรมชนเผ่าจะหายไป พวกเราต้องสืบทอดให้คงอยู่ต่อไป"

จุฑาทิพย์ ลาแก้ว หรือ ฟ้า อายุ ๑๗ ปี กรรมการกลุ่มเยาวชนของหมู่บ้านป่าแป๋ บอกว่า "อยากให้เยาวชนเห็นความสำคัญของธรรมชาติ และคนในครอบครัว ถ้าเราขาดสิ่งนี้ เราไม่สามารถอยู่ได้ ปัจจุบันเยาวชนสนใจแต่สิ่งภายนอกที่เป็นวัตถุ ไม่ค่อยได้สนใจธรรมชาติ อยากให้หันกลับมาสนใจตรงนี้ และสนใจพ่อกับแม่ด้วย"

ฟ้าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสานต่อความดีงามของวัฒนธรรมชนเผ่า โดยผลักดันกลุ่มเยาวชนให้เข้าไปเรียนรู้และปรึกษากับผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน "เยาวชนหลายคนลงไปเรียนในเมือง ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนจำลูกหลานไม่ได้ว่าเราเป็นลูกหลานใคร เราต้องเข้าหาผู้เฒ่าผู้แก่มากขึ้น เพื่อให้เขารู้ว่าเป็นลูกหลานของใคร และเรียนรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน"

ฟ้าและกลุ่มเยาวชนใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการสื่อสารกันระหว่างคนในกลุ่ม และเปิดเฟซบุ๊กในชื่อ "คนรักธรรมชาติ" โดยจะโพสต์เกี่ยวกับต้นไม้ ใบไม้ ธรรมชาติที่ควรอนุรักษ์ โดยจุดประสงค์ที่ตั้งเพจนี้ขึ้นมา ฟ้าบอกว่าอยากอนุรักษ์ต้นไม้หรือใบไม้ที่เริ่มสูญหายไป เช่น ต้นไม้ที่เป็นตอไม้เก่าๆ และมีพวกต้นหญ้าขึ้น ส่วนใหญ่ในเมืองจะไม่ได้เห็นแล้ว แต่ในป่ากลางดอยยังมีอยู่

"มีประเพณีหลายอย่างกำลังหายไป เช่น การแต่งตัว สมัยก่อนจะใส่ชุดขาวหรือชุดประจำเผ่า แต่ปัจจุบันแทบไม่มีแล้ว เมื่อก่อนเวลามีประเพณีเลี้ยงผี พิธีมัดมือ คนในครอบครัวจะกลับมาทั้งหมด แต่ปัจจุบันหายไป เหลือเพียงพ่อกับแม่ หรือปู่ย่าตายาย อยากรื้อฟื้นประเพณีที่ดีงามกลับมา เงินเราสามารถหาได้ตลอดเวลา แต่เรื่องครอบครัวคือสิ่งสำคัญที่สุด"

...แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้เยี่ยมเยือนหมู่บ้านป่าแป๋ แต่สิ่งที่ได้รับจากชุมชนปกาเกอะญอแห่งนี้กลับมีค่ามากมาย ทั้งคำสอนและภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สามารถนำมาใช้กับชีวิตและสังคมโดยรวม เห็นได้ว่าชุมชนที่มีชีวิตอย่างชุมชนปกาเกอะญอ หมู่บ้านป่าแป๋ ไม่ใช่ชุมชนที่ไร้ปัญหา แต่อยู่ที่คนในชุมชนจะจัดการกับปัญหาอย่างไรต่างหาก คือสิ่งสำคัญที่สุด !

 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >