หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 24 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สิทธิมนุษยชนสากลตามหลักศาสนา มิติคริสต์ศาสนา : รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร พิมพ์
Wednesday, 12 October 2016
 
 
เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
 

 
สิทธิมนุษยชนสากลตามหลักศาสนา
มิติคริสต์ศาสนา

รศ.ดร.วไล ณ ป้อมเพชร



ประสบการณ์ในการอบรมสิทธิมนุษยชนแก่บรรดาครู อาจารย์ และผู้บริหารโรงเรียนมาเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี หลังจากเกษียณอายุแล้ว ทำให้สรุปได้ว่า ครู อาจารย์ ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนในแง่ของกฎหมาย (น่าจะเป็นเพราะผู้อบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมาย) และมักจะเน้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะพุทธศักราช ๒๕๔๐ (ในฐานะที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่บัญญัติเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้หลายมาตรา) รวมทั้งบรรดากฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำให้ดูราวกับว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมาย และต้องรับโทษทางกฎหมายเพียงเท่านั้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนมิได้เป็นการกระทำผิดต่อคุณธรรม จริยธรรม มิได้เป็นการกระทำผิดต่อมโนธรรม และมิได้เบียดเบียนทำร้ายและก่อทุกข์ให้พี่น้องหรือเพื่อนร่วมโลกของเรา

ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงสิทธิมนุษยชนในมิติของคุณธรรม ในมิติของ ศาสนธรรม เพราะถ้าเป็นดังนี้แล้ว เราก็คงจะเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้นและละเมิดสิทธิของผู้อื่นน้อยลง เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักรู้ และสามารถดำเนินชีวิตที่เห็นคุณค่าของมนุษย์ ความหมายของสิทธิมนุษยชนในเชิงกฎหมายเท่านั้นไม่เพียงพอ จำเป็นต้องศึกษาความหมายที่มีอยู่ในสังคม วัฒนธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลักธรรมของศาสนาด้วย

ถึงแม้ว่า "สิทธิมนุษยชน" เป็นแนวคิดที่ได้รับความสนใจทั่วไปในโลก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา (ค.ศ.๑๙๔๕) แต่สิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ อารยธรรม ศาสนา และปรัชญาทั้งหลายในโลกที่ให้คุณค่ากับมนุษย์ ได้มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งต่อมาในภายหลังได้ผ่านกระบวนการสร้างกฎเกณฑ์ของสังคมในการประกัน "สิทธิ" ของความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนจึงกลายเป็นสิทธิทางกฎหมายทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ แนวคิดสิทธิมนุษยชนจึงปรากฏอยู่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของชาติต่างๆ รวมทั้งในปฏิญญา กติกา สนธิสัญญา และอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องสิทธิของบุคคลหรือสิทธิความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคนในโลก

ถึงแม้ว่าคำ "สิทธิมนุษยชน" จะไม่ปรากฏอยู่ในภาษาของหลักธรรมในศาสนาต่างๆ เพราะเป็นคำที่มนุษย์บัญญัติขึ้นในภายหลัง แต่ความหมายอันลึกซึ้งของสิทธิมนุษยชนมีอยู่ในทุกศาสนาที่เห็นว่าชีวิตมนุษย์มีคุณค่า ศาสนาทั้งหลายเหล่านั้นจึงมีบัญญัติห้ามทำลายชีวิตมนุษย์ และต่างก็สอนถึงศักดิ์ศรีอันเท่าเทียมกันและศักยภาพในการพัฒนาตนเองของมนุษย์จนถึงระดับสูงสุด

ศาสนาสอนสัจธรรม สอนให้มนุษย์รู้ถึงความหมายและเป้าหมายของชีวิต และชี้ให้เห็นถึงหนทางที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น เพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายของชีวิต การดำรงชีวิตในปัจจุบันมีความสำคัญ การดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าคือการดำรงชีวิตอยู่กับผู้อื่นอย่างดี มีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แบ่งปันกัน ปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตากรุณาฉันพี่น้อง ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมมนุษย์ ตามอุดมการณ์ของสิทธิมนุษยชน ดังปรากฏในข้อ ๑ ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสรเสรี และเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผล และมโนธรรม และพึงปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณของความเป็นพี่น้อง (In the spirit of brotherhood)"

ถ้าพิจารณาสิทธิมนุษยชนในแง่ศาสนธรรม คำตอบสำหรับคำถามที่ว่า สิทธิมนุษยชนคืออะไร ก็คงจะเป็นไปในแนวนี้คือ สิทธิมนุษยชนคือคุณธรรมสากลที่เน้นคุณค่าของมนุษย์และยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนมีความเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและมีความเท่าเทียมกันในสิทธิ และเป็นคุณธรรมที่สะท้อนถึงความใฝ่ฝันของมนุษย์ ที่จะไปให้ถึงอุดมการณ์ของชีวิตในสังคม

ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ สิทธิมนุษยชนได้รับการอธิบายความหมายบนพื้นฐานของคุณธรรมที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เกี่ยวข้องกับเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นคุณธรรมสากล และถึงแม้จะมีรูปแบบที่หลากหลายตามความแตกต่างของวัฒนธรรมและสังคม แต่ความหลากหลายดังกล่าวก็ไม่กระทบต่อรากฐานของคุณธรรมที่เป็นสากล ที่ติดตัวมากับมนุษย์และไม่อาจถ่ายโอนได้ของสิทธิมนุษยชน


สิทธิมนุษยชนในมิติของคริสต์ศาสนา
(ค้นคว้าจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและภาคพันธสัญญาใหม่และจากประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร) ในที่นี้จะอธิบายความหมายของคำที่เป็นหลักคิดของสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ คือ ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และ ความยุติธรรม ในมิติของคริสต์ศาสนา


ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
: แก่นของคำสอนด้านสังคมของศาสนาคาทอลิก คือ เรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของหลักคิดอื่นๆ ศาสนาคริสต์สอนว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามพระฉายา (ภาพลักษณ์ : image) ของพระองค์ ซึ่งทำให้มนุษย์แตกต่างจากสิ่งสร้างอื่นๆ เนื่องจากมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาตามพระฉายาของพระเจ้า มนุษย์แต่ละคนจึงมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน หมายความว่ามิได้เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เป็นบุคคลหนึ่งที่มีมโนธรรมสำนึก เมื่อทรงมอบศักดิ์ศรีให้แก่มนุษย์แล้วก็ยังทรงมอบอำนาจให้ครอบครองบรรดาสิ่งที่ทรงสร้างอื่นๆ ด้วย เป็นการเน้นย้ำให้มนุษย์อยู่เหนือสิ่งสร้างอื่นๆ และการที่ทรงให้พระเยซู พระบุตรของพระเจ้าลงมาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นการเน้นย้ำถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่มีคุณลักษณะเหมือนกับพระเจ้า

กระบวนการร่างกฎเกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นับเป็นความพยายามที่จะตอบสนองต่อการเรียกร้องและให้ความสำคัญต่อศักดิ์ศรีของมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าในเมื่อมนุษย์มีศักดิ์ศรีแล้วก็จำเป็นจะต้องมีสิทธิแห่งมนุษยชน ดังนั้นรากฐานของสิทธิมนุษยชนมาจากศักดิ์ศรีที่เป็นของมนุษย์แต่ละคน ที่ติดตัวมากับชีวิตมนุษย์และเท่าเทียมกันในมนุษย์ทุกคน


เสรีภาพ :
เสรีภาพเป็นเครื่องหมายสูงสุดของมนุษย์ในฐานะที่ถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า ดังนั้นจึงนับว่าเป็นเครื่องหมายของศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน ตามคำสอนของศาสนาคริสต์ มนุษย์ซึ่งถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า มีสิทธิตามธรรมชาติที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีอิสรเสรีและรับผิดชอบ ทุกคนจึงมีหน้าที่ที่จะต้องเคารพซึ่งกันและกัน สิทธิที่จะมีเสรีภาพโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับศีลธรรมและศาสนานั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจถ่ายโอนให้แก่กันได้ของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ความหมายของเสรีภาพจะต้องไม่จำกัด โดยพิจารณาจากมุมมองของปัจเจกบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว และลดทอนลงให้เป็นเพียงการใช้ความเป็นอิสระส่วนตัวตามอำเภอใจ และไม่มีการควบคุม เสรีภาพดำรงอยู่ได้อย่างแท้จริง เมื่อมีความสัมพันธ์ร่วมกัน เชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันโดยเน้นความจริง และความยุติธรรม

คุณค่าของเสรีภาพในฐานะที่เป็นการแสดงออกของมนุษย์แต่ละคน ย่อมจะได้รับความเคารพ เมื่อสมาชิกทุกคนของสังคมได้รับการยินยอมให้ปฏิบัติตามกระแสเรียกของตน (Personal Vocation) : ในการแสวงหาความจริงและดำเนินตามความคิดทางศาสนา วัฒนธรรม และการเมืองของตน ในการแสดงความคิดเห็นของตน ในการเลือกการดำเนินชีวิต และแนวทางการทำงานเท่าที่จะทำได้ เพื่อดำเนินกิจการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง แต่จะต้องดำเนินการภายใน "กรอบของกฎหมาย" และจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและระเบียบสาธารณะ และในทุกกรณีจะต้องเป็นไปด้วยความรับผิดชอบ


ความเสมอภาค :
"พระเจ้าไม่เลือกที่รักมักที่ชัง" (God shows no Partiality) มนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะต่างก็มีศักดิ์ศรีเช่นเดียวกัน ในฐานะที่ถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้าและเหมือนกันกับพระเจ้า การที่พระเยซูพระบุตรของพระเจ้าลงมาเกิดเป็นมนุษย์ แสดงถึงความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของมวลมนุษย์ พระคัมภีร์ได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า : "ไม่มีชาวยิวหรือชาวกรีก ไม่มีทาสหรือเสรีชน ไม่มีชายหรือหญิง เพราะพวกท่านทั้งหลายเป็นหนึ่งเดียวกันในองค์พระเยซูคริสต์"

ความเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์ทุกคนเป็นรากฐานของความเสมอภาคและภราดรภาพ ของมวลมนุษย์โดยไม่คำนึงถึงเผ่าพันธุ์ สัญชาติ เพศ วัฒนธรรม หรือชนชั้น

การตระหนักและการยอมรับศักดิ์ศรีของมนุษย์ เป็นหนทางที่ทำให้มนุษย์สามารถเจริญเติบโต มีศักยภาพ และเพื่อทำให้มนุษย์เจริญเติบโตได้ จำเป็นจะต้องช่วยกันส่งเสริมความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง และพยายามให้มีกฎหมายรับรองความเสมอภาคระหว่างชนชั้นต่างๆ ในสังคม


ความยุติธรรม :
ตามความหมายดั้งเดิมที่สุดในพันธสัญญาเดิม ความยุติธรรม "ประกอบไปด้วยเจตจำนงที่สม่ำเสมอและแน่วแน่ที่จะมอบสิ่งที่เป็นของพระเจ้าให้แก่พระเจ้าและสิ่งที่เป็นของเพื่อนบ้านให้แก่เพื่อนบ้าน" ต่อมามีการแปลเจตนาของความยุติธรรมเป็นพฤติกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนเจตจำนงที่ยอมรับผู้อื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์

แม้ว่าคำสั่งสอนด้านสังคมของศาสนาจะยังเรียกร้องให้เคารพความยุติธรรมตามรูปแบบดั้งเดิมที่สุดอยู่เสมอ แต่ก็ได้เน้นความสำคัญของความยุติธรรมทางสังคมมากยิ่งขึ้น นับเป็นการก้าวข้ามความยุติธรรมแบบพันธสัญญาเดิม เพื่อเปิดทางให้กับความยุติธรรมและเมตตาธรรม ศาสนาสอนว่า : "พระเจ้าประทานโลกและทุกสิ่งที่อยู่ในโลกแก่มนุษย์ทุกคน เพื่อให้มนุษย์แบ่งปันสิ่งสร้างทั้งหลายในโลกแก่กันและกันอย่างเป็นธรรม" (การแบ่งปันต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนคือ ผู้ที่จำเป็นมากต้องได้รับมาก หรือความยุติธรรมที่ทำให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น)

ความยุติธรรมและเมตตาธรรมต้องมุ่งเน้นสู่คนยากจนและคนชายขอบ การเลือกอยู่เคียงข้างคนยากจนถือเป็นการปฏิบัติเมตตาธรรมของคริสตชน ผู้ดำรงชีวิตโดยเลียนแบบชีวิตของพระเยซูเจ้า และในขณะเดียวกันก็เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งเป็นแบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวคริสต์ ทุกวันนี้เมื่อมองปัญหาสังคมจากมิติระดับโลก การเลือกที่จะอยู่เคียงข้างคนยากจนจะต้องคำนึงถึงผู้หิวโหย ผู้มีความจำเป็น ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ไม่ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ และผู้ที่หมดหวังที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งมีอยู่จำนวนมหาศาล

พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า : "ท่านจะมีคนยากจนอยู่ร่วมกับท่านเสมอ แต่ท่านจะไม่มีเราอยู่กับท่านตลอดเวลา" หมายความว่าคริสตชนได้รับมอบหมายให้ดูแลคนยากจน และด้วยความรับผิดชอบนี้เอง พวกเขาจะได้รับการพิพากษาเมื่อเวลาสุดท้ายมาถึง พระเยซูเจ้าเตือนเราว่า เราจะถูกแยกจากพระองค์ หากเรามิได้ช่วยเหลือในความจำเป็นอย่างยิ่งยวดของคนยากคนจนและคนเล็กคนน้อย ผู้เป็นพี่น้องของพระองค์


ความรัก :
พระบัญญัติที่สำคัญที่สุดในคริสต์ศาสนา คือ ความรักที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม พระเยซูเจ้าได้ตรัสว่า : "พระบัญญัติของเราคือให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เราได้รักท่าน" ชาวคริสต์ที่ถือตามพระบัญญัติจึงต้องรักเพื่อนมนุษย์ตามแบบที่พระเยซูทรงรัก คือรักผู้ที่มีความทุกข์ ที่ยากจน ที่ขาดแคลน ตามคำสอนที่ว่า : "ทุกสิ่งที่ท่านทำแก่พี่น้องที่ต่ำต้อยของเรา ก็ได้ทำให้แก่เรา" ความรักที่เปี่ยมด้วยเมตตาจะเป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์เสียสละตนเอง และประสานความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าทางชีวิตฝ่ายจิต และความห่วงใยต่อความจำเป็นด้านวัตถุให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ในพระคัมภีร์ได้มีคำกล่าวว่า : "ชีวิตมนุษย์มีความหมายก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความจงรักภักดีต่อพระเจ้า จนถึงขั้นที่พร้อมจะคืนชีวิตแด่พระองค์ได้" พระเยซูเจ้าทรงมีความคิดว่า "การมอบคืนชีวิตแด่พระเจ้า ต้องเป็นไปในรูปของการมอบทุกอย่างแม้แต่ชีวิตของตน ให้แก่พี่น้องของตน"

กรณีที่เครื่องบินตกในแม่น้ำที่กรุงวอชิงตัน ผู้โดยสารที่ออกมาจากเครื่องได้ต่างลอยคออยู่ในน้ำ มีผู้คนโยนเชือกให้แก่ผู้โดยสารเหล่านั้น ชายผู้หนึ่งจับเชือกได้ แต่แทนที่จะรีบดึงตัวเองเข้ามาสู่ฝั่ง เขากลับว่ายน้ำนำเชือกไปให้ผู้หญิงคนหนึ่ง ครั้นต่อมาเขาจับได้เชือกอีกครั้งหนึ่ง และเขาก็นำไปให้ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง หลังจากนั้นเขาก็จมน้ำ ผู้หญิงทั้งสองที่รอดชีวิตมาได้ ยืนยันว่าไม่รู้จักชายผู้นั้น

ความรักที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา จนสละชีวิตเพื่อเพื่อนมนุษย์ได้เช่นนี้ ตรงกับเนื้อหาสาระของคำสอนของศาสนาคริสต์ และเป็นรากฐานของคุณธรรมสากลแห่งสิทธิมนุษยชน

ความรักต่อผู้ยากไร้ เป็นเรื่องที่คริสต์ศาสนาเน้นย้ำ หมายถึงทั้งความรักต่อผู้ยากจนทางวัตถุ และความยากจนทางวัฒนธรรมและศาสนาในรูปแบบต่างๆ ด้วยการแสดงความรัก ความเมตตา คือการให้ความช่วยเหลือต่างๆ แก่เพื่อนมนุษย์ที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับ คำสอนตามพันธสัญญาใหม่กล่าวว่า : "ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทนด้วย" การช่วยเหลือผู้ยากจน คือ การมีเมตตาธรรมต่อพี่น้อง นอกจากนั้นยังเป็นการปฏิบัติตามความยุติธรรมอีกด้วย คำสอนของศาสนาคริสต์มักจะเน้นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง ความรัก / ความเมตตา รวมกับความยุติธรรมเสมอ : "เมื่อเราตอบสนองความจำเป็น (Need) ของผู้ที่ยากไร้ เราก็ให้สิ่งที่เป็นของเขานั่นเอง ซึ่งสิ่งนั้นมิใช่ของเรา เรากำลังปฏิบัติความยุติธรรม ยิ่งกว่าการปฏิบัติเมตตาธรรม" นักบุญชาวกรีกคนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า : "สิ่งที่อยู่ในตู้กับข้าวของเรา เสื้อผ้า เครื่องใช้ ในตู้ของเรา มิได้เป็นของเรา แต่เป็นของเพื่อนผู้ยากไร้ของเรา" ดังนั้น "สิ่งใดที่เป็นเรื่องของความยุติธรรม ก็ไม่อาจนำไปเสนอในฐานะที่เป็นของขวัญแห่งความเมตตาธรรมได้"


สรุป :
คุณธรรมสากลแห่งสิทธิมนุษยชนที่บัญญัติไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สอดคล้องกับคุณธรรมและศาสนธรรมของศาสนาทุกศาสนาที่เน้นคุณค่าของมนุษย์ ในข้อ ๑ ของปฏิญญา : "มนุษย์ทั้งหลายเกิดมาอิสรเสรี และเท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิประสาทเหตุผล และมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณของความเป็นพี่น้อง (In the spirit of brotherhood)" การปฏิบัติต่อกันฉันพี่น้อง เป็นคุณธรรม เป็นสิ่งที่นักสิทธิมนุษยชน / ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ต้องตระหนักและปฏิบัติ หมายถึง การอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องของตน ด้วยความพร้อมที่จะ "เสียสละตนเอง" เพื่อผู้อื่น แทนการเอาเปรียบเขา และ "รับใช้เขา" แทนการกดขี่เขาเพื่อประโยชน์แห่งตน

 


 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >