หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 126 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

จากพระสมณสาสน์ Laudato Si'"ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" สู่ ...การคืนความศักดิ์สิทธิ์ให้ธรรมชาติ... พิมพ์
Wednesday, 05 October 2016
 

จาก พระสมณสาสน์ Laudato Si'
"ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า"

สู่ ...การคืนความศักดิ์สิทธิ์ให้ธรรมชาติ
เพื่อร่วมดูแลโลก : บ้านส่วนรวมของเรา


ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี สัมภาษณ์/เรียบเรียง

 

จากพระสมณสาสน์ Laudato Si' "ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" ที่สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงประกาศเมื่อปีที่ผ่านมา (๑๘ มิถุนายน ค.ศ.๒๐๑๕) เพื่อกระตุ้นเตือนให้บรรดาศาสนิกทั้งหลายได้ตระหนักถึงปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม ลัทธิบริโภคนิยม ความเสื่อมทรุดทางศีลธรรม และวัฒนธรรมทิ้งขว้างของคนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดังที่ทรงระบุว่า "ผลกระทบของการทำลายสิ่งแวดล้อมล้วนตกอยู่กับคนยากจน" จึงทรงเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคน "เปิดหูเพื่อฟังเสียงร้องของโลกและเสียงร้องของคนยากจน" และให้มวลมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาทั่วโลกช่วยกันดูแลปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญ ในพระสมณสาสน์นี้ พระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงเน้นย้ำว่า "วิกฤติต่างๆ ของโลกนั้นไม่ใช่ปัญหาเรื่องของเทคนิค แต่เป็นเรื่องของจริยธรรม ด้วยเหตุที่มนุษย์ขาดศีลธรรมจึงทำให้โลกเราเกิดวิกฤติ การจะแก้ปัญหานี้ได้ มนุษย์ต้อง "กลับใจ" โดยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเราเองก่อน" และพระองค์ยังท้าทายเราทั้งหลายว่า "เราจะส่งมอบโลกแบบไหนให้ลูกหลานของเราในอนาคต"

หลังจากพระสมณสาสน์นี้ออกไป ได้สร้างแรงกระเพื่อมไปยังบรรดาศาสนิกทั่วโลกให้หันมาให้ความสำคัญกับการหาทางออกต่อปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อมและปัญหาสภาวะโลกร้อนที่กำลังคุกคามและส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ยิ่งขึ้นทุกขณะ อย่างจริงจังมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ในแวดวงคาทอลิกเองก็มีความตื่นตัวต่อปัญหานี้ โดยพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยได้ร่วมกับสหพันธ์สภาพระสังฆราชแห่งเอเชีย (FABC-Climate Change Desk) ที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม จัดสัมมนาหัวข้อ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" (Climate Change) เมื่อวันที่ ๑๘ - ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘ ที่ศูนย์อภิบาลคามิลเลียน ลาดกระบัง กรุงเทพฯ และต่อมายังมีการสัมมนาในหัวข้อนี้จากหลายภาคส่วนในแวดวงพระศาสนจักรคาทอลิกตามมาอีกหลายครั้ง

แต่หากจะดูถึงความเข้มข้นจริงจังที่มีการนำไปสู่ภาคปฏิบัติแล้วนั้น คงต้องกล่าวถึงสังฆมณฑลเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลและสนับสนุนของพระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์ และคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่ถือเป็นภารกิจหลักอีกภารกิจหนึ่งที่จะร่วมมือกับพระสันตะปาปาร่วมแก้ไขเยียวยา "บ้านส่วนรวมของเรา" โดยมีทั้งกิจกรรมให้การศึกษา และการรณรงค์ตามเขตวัดต่างๆ ของสังฆมณฑลเชียงใหม่

คุณสุนทร วงศ์จอมพร ตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายสังคมสังฆมณฑลเชียงใหม่ และหนึ่งในเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมศาสนาและวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมรณรงค์สมณสาสน์ Laudato Si' "ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" ได้เล่าให้เรารู้ตั้งแต่แนวคิดในการจัดกิจกรรม และการรณรงค์ต่างๆ ในช่วง ๑ ปีที่ผ่านมาว่า

"เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๘-๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘ ที่ศูนย์คามิลเลียน มีการจัดประชุม FABC เรื่องสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ตอนนั้นที่เชียงใหม่ มี ๓ คน ไปร่วมคือ พระคุณเจ้าวีระ อาภรณ์รัตน์ คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร และผม ไปร่วมประชุม หลังจากที่ไปประชุมแล้ว เดือนตุลาคมเราก็จัดสัมมนากับครูคำสอน สังฆมณฑลเชียงใหม่ โดยมีคุณพ่อนิพจน์เป็นวิทยากร"

คุณสุนทร บอกว่า "ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นร่วมของทั้งโลก พระสันตะปาปาได้ออกสมณสาสน์ Laudato Si' เพื่อให้คนทั้งโลกโดยเฉพาะคริสตชนไม่นิ่งดูดายที่จะปล่อยให้สิ่งสร้างของพระเจ้าถูกทำลายไปมากกว่านี้ ครูคำสอนถือว่าเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่อยู่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน จึงได้เปิดโอกาสให้รับทราบและเรียนรู้เนื้อหานี้เพื่อไปแบ่งปันให้ชาวบ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบต่อไป"

กลุ่มต่อมาที่ไปให้การศึกษาคือ หัวหน้าคริสตชนตามเขตวัดต่างๆ ในโอกาสที่มีประชุมหัวหน้าเขตวัด และกลุ่มกรรมการเครือข่ายกองบุญข้าวในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน และในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และอีกกลุ่มเป็นกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ผ่านการอบรมจากศูนย์วิจัยฯ ของคุณพ่อนิพจน์ ซึ่งเรียนจบแล้วกลับไปอยู่ในชุมชนเพื่อทำเกษตรอินทรีย์ และทำงานวิจัยเพื่อปลุกสำนึกว่าเราเป็นครอบครัวเดียวกันกับโลกจักรวาล


คุณสุนทร ได้ให้รายละเอียดกิจกรรมการรณรงค์ในแต่ละพื้นที่ไว้ ดังนี้

เขตวัดห้วยตอง (บ้านหนองเต่า) เมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ทางศูนย์วิจัยฯ ได้ติดตามกลุ่มเกษตรอินทรีย์รุ่นที่ ๑ ที่กลับไปทำเกษตรอินทรีย์ในชุมชนของตน ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้เสริมแนวคิดเกี่ยวกับสมณสาสน์ laudato Si' ว่า การทำเกษตรอินทรีย์ของชาวบ้านนั้นสอดคล้องกับแนวคิด แก่นสารของสมณสาสน์ ดังนั้นสิ่งที่พวกเราปฏิบัตินี้จะเป็นแนวทางให้คนอื่นๆ ที่ยังไม่กลับใจ ได้หันมาทำเกษตรอินทรีย์ และได้ช่วยเสริมแรงจูงใจให้ชาวบ้าน โดยจัดให้มีการรำพึงภาวนากับสิ่งสร้าง (ในนาข้าว ในลานนวดข้าว) ช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของสิ่งสร้างมากขึ้น

เขตวัดแม่เหาะ (บ้านดอกแดง แม่ลิด อมลอง) เมื่อวันที่ ๒๔-๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับสมณสาสน์ Laudato Si' มีผู้นำชุมชนจากบ้านแม่ลิด บ้านแม่อมลอง และบ้านดอกแดงเข้าร่วมประมาณ ๕๐ คน ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมกันดูแลรักษา "บ้านเรือนส่วนรวมของเรา" ซึ่งชาวบ้านเองก็มีความภาคภูมิใจที่ประเพณีวัฒนธรรมของเขาได้รับการยอมรับว่า ได้ช่วยรักษาธรรมชาติและสอดคล้องกับเนื้อหาในสมณสาสน์ที่พูดถึงสิ่งแวดล้อมหรือสิ่งสร้างของพระเจ้า

คุณสุนทร เล่าว่า "เราเขียนป้ายโปสเตอร์ให้เขาอ่าน จากนั้นถามว่ารู้สึกอย่างไร สมสาสน์สอดคล้องกับความคิด โลกทัศน์ ความเชื่อของเรา เพราะฉะนั้นความเชื่อ โลกทัศน์ของเราเป็นสิ่งที่เราเดินมาถูกต้องแล้ว พระสันตะปาปายืนยันว่าสิ่งที่เราทำเป็นการรักษาโลก รักษาสิ่งสร้างของพระเป็นเจ้า แต่เราต้องลดเรื่องสารเคมีเพราะเราถูกชักจูงให้ไปทำเกษตรเคมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาทบทวนว่าเราจะสร้างมรดกที่เป็นพิษให้แก่ลูกหลานในอนาคตแบบนี้ หรือว่าเราจะสร้างมรดกที่มีคุณค่ามีความศักดิ์สิทธิ์ร่วมกับพระสันตะปาปาได้อย่างไร"

เขตวัดสะเมิง (บ้านขุนอมลอง บ้านกิ่วเสือ บ้านนากู่) เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๘ มีตัวแทนจาก ๓ หมู่บ้านได้มาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับสมณสาสน์ โดยเริ่มจากการพาเด็กและเยาวชนไปรำพึงภาวนาที่ไร่ข้าว ลานนวดข้าวกลางแดด รำพึงภาวนากับสิ่งสร้างรอบตัวเรา ใต้ต้นกล้วยที่มีร่มเงา คุณสุนทรเล่าว่า "เราให้เด็กนักเรียนและครูร่วมกันทำสมาธิในทุ่งนา ให้นั่งสมาธิ แล้วพ่อนิพจน์ตั้งคำถามว่าได้ยินเสียงอะไร เสียงนก เสียงแมลง เสียงน้ำไหล เสียงลม เรานั่งบนผืนดินรู้สึกอย่างไร ดินพูดกับเราอย่างไร

พวกเขาแบ่งปันว่า ตอนที่นั่งในลานนวดข้าวกลางแดดนั้น รู้สึกร้อนและจะเป็นลม พอย้ายมารำพึงภาวนาใต้ร่มเงาต้นกล้วย รู้สึกเย็นสบาย ยิ่งมีลมพัดมาเย็น ยิ่งสบายมากขึ้น บางคนก็บอกว่ามีเสียงนกร้อง นกบอกว่า ช่วยรักษาป่า ช่วยรักษาต้นไม้นะ เราจะได้มีที่อยู่อาศัย จะได้มีผลไม้กิน บางคนบอกว่า ได้ยินเสียงลมพัด ลมพัดทำให้เราเย็น เพราะนั่งกลางแดดแล้วเราร้อน เขาก็สะท้อนออกมา พวกเขาได้สรุปเป็นเสียงเดียวกันว่า "เราขาดธรรมชาติ"ไม่ได้ พวกเรารู้สึกและเข้าใจจริงว่า พระเจ้ารักเรา พระองค์จึงสร้างธรรมชาติให้พวกเรา ฉะนั้น เราต้องช่วยกันรักษาดุจชีวิต"

บ้านป่าแป๋ ตำบลป่าแป๋ เขตวัดแม่สะเรียง หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์ลัวะ ซึ่งทำเกษตรอินทรีย์มานานแล้ว แต่ที่เข้าไปเสริมในส่วนของเด็กนักเรียนและเยาวชนเพื่อกระตุ้นให้พวกเขารู้ว่า สิ่งที่เขาปฏิบัติมานั้นสอดคล้องกับสมณสาสน์ ดังนั้นควรที่จะภาคภูมิใจและปฏิบัติต่อไป และสืบทอดให้แก่ลูกหลานด้วย คุณสุนทร บอกว่า สำหรับที่นี่ ยังมีแผนจะสร้างหลักสูตรเพื่อถ่ายทอดให้แก่เด็กและเยาวชนในโรงเรียนต่อไปด้วย

เขตวัดห้วยตอง บ้านห้วยหอย เป็นการทำกองบุญข้าวพร้อมกับให้การศึกษาเกี่ยวกับสมณสาสน์เพราะชาวบ้านตระหนักว่าธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญ ซึ่งข้าวที่เราบริโภคทุกวันนี้มาจากดิน น้ำ และป่า หากปราศจากสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถปลูกข้าวได้ กรรมการเครือข่ายกองบุญข้าวพร้อมที่จะนำสมณสาสน์มาปฏิบัติในเครือข่ายและให้สมาชิกทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาบ้านเรือนส่วนรวมของเรา การรณรงค์ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ ๑๕๐ คน โดยมีเยาวชน และอาสาสมัครจากออสเตรเลียมาร่วมด้วย คุณสุนทร เล่าว่า "ทำป้ายไวนิลรูปพระสันตะปาปา แล้วถามว่าเราจะสู้ร่วมกับพระสันตะปาปาไหม ผู้อาวุโสก็บอกว่า สู้"

เขตวัดแม่ปอน ที่บ้านผาหมอน ได้ทำกองบุญข้าวและรณรงค์ประชาสัมพันธ์ถึงเนื้อหาสมณสาสน์ให้แก่ชาวบ้านในเขตวัดและหน่วยงานราชการ อาทิ เจ้าหน้าที่อุทยาน, เจ้าหน้าที่ป่าไม้, เทศบาล และเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมจังหวัด มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ คน

นอกจากนี้ทางโรงเรียนมงฟอร์ตยังขอให้คุณพ่อนิพจน์ไปพูดเรื่อง Laudato Si' และให้นักเรียนจำนวน ๗๐๐ คน ไปทำกิจกรรมสร้างบ้านดินและทำปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อเป็นการ "สัมผัสดิน สร้างสำนึก ดินคือแม่ธรณี" รวมถึงกิจกรรมรณรงค์ "คืนความศักดิ์สิทธิ์ให้สิ่งสร้างด้วยการร้อยรัดพลังความเชื่อและวัฒนธรรมเพื่อรักษาบ้านส่วนรวมของเรา" ที่บ้านดอกแดง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณสุนทร เอง เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาให้เด็กๆ ที่มาร่วมพิธีและร่วมทำกิจกรรม ซึ่งประกอบด้วย พิธีเลี้ยงป่าต้นน้ำ ปลูกต้นไม้บริเวณป่าต้นน้ำ ศึกษาตาน้ำออกรู และร่วมกันทำฝายชะลอน้ำ โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ครู, นักเรียน, นายอำเภอ, ปลัดอำเภอ, อบต. และชาวบ้าน

คุณสุนทร อธิบายเพิ่มเติมว่า "เป้าหมายของการทำพิธีนี้ก็คือ เพื่อช่วยกันรักษาแหล่งต้นน้ำ ดิน น้ำ ป่า ซึ่งความเชื่อนี้เป็นพลังที่สำคัญที่ทำให้การอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า อยู่ได้ จึงมีเป้าหมายว่าถ้าจะอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า ธรรมชาติ ให้อยู่ได้ก็ต้องมีพิธีกรรมเข้าไปด้วย เพราะถ้าใช้แต่กฎระเบียบ กฎหมาย กฎเกณฑ์อย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงใช้เรื่องความเชื่อ เป้าหมายที่สองคือ ทำให้ชาวบ้านชุมชนได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนและมาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แล้วเสริมความเชื่อให้มั่นคงผ่านการปฏิบัติ มีการช่วยเหลือแบ่งปันกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารต่างๆ ข้าว หมู หรือไก่ เขาก็นำมาช่วยกัน และเป้าหมายที่สามคือ เกิดเวทีศาสนสัมพันธ์ เพราะไม่ใช่แค่ประเพณีดั้งเดิม แต่มีทั้งพี่น้องที่เป็น คริสเตียน คาทอลิก และพุทธ มาร่วมกัน คือเป็นศาสนสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน นอกจากนี้ ยังไปสร้างเครือข่ายขยายความเชื่อความคิดสู่หน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ เป็น อบต. ทางอำเภอ ที่มาร่วมด้วย เวทีนี้แค่พิธีกรรมเดียวแต่มีเป้าหมาย มีผลที่ออกมาหลายอย่าง"

ส่วนเรื่องกองบุญข้าว กับสมณสาสน์ Laudato Si' มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างไร คุณสุนทร อธิบายว่า "กองบุญข้าวนั้นเรารณรงค์ไม่ใช่มีเป้าหมายเฉพาะได้เงิน ได้ข้าวอย่างเดียว แต่เป้าหมายที่มากกว่านั้นก็คือ กองบุญข้าวนำไปสู่เรื่องของการดูแลรักษาสิ่งสร้างของพระเป็นเจ้าได้อย่างไร เพราะดิน น้ำ ป่า ก็เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดการผลิตอาหาร การผลิตรายได้ เราและกรรมการเครือข่ายกองบุญข้าวจึงพยายามให้ชาวบ้านตระหนักว่าทรัพยากรพื้นฐานก็คือ ดิน น้ำ ป่า ถ้ามีแต่ดิน ไม่มีน้ำ เราก็ปลูกข้าวไม่ได้ และน้ำก็มาจากป่า เพราะฉะนั้น ๓ องค์ประกอบเชื่อมโยงกัน และก่อให้เกิดข้าว ซึ่งให้ชีวิต ทีนี้การเกิดภัยแล้งก่อให้เกิดผลกระทบต่อฐานทรัพยากร คือ ดิน น้ำ ป่า เมื่อฐานทรัพยากรถูกกระทบ ก็จะกระทบต่อระบบการผลิตอาหาร ที่เป็นข้าว เป็นผัก เป็นพืช ทั้งหมด"

คุณสุนทร บอกว่า กิจกรรมการรณรงค์ Laudato Si' นั้นได้นำทั้งเรื่องของเทวศาสตร์ เรื่องโลกทัศน์ของชนเผ่าพื้นเมือง และคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร มาเชื่อมโยงกัน เพราะ Laudato Si' จะต้องไปสู่ชีวิตจริง และต้องทำทั้งส่วนบุคคล เป็นกลุ่ม และเป็นเครือข่าย เพราะการจะแก้วิกฤติได้ต้องทำเป็นแบบเครือข่าย ไม่ใช่เป็นเรื่องของการพยายามหาความหลุดพ้นเฉพาะตัวเองคนเดียว แต่ต้องเป็นเรื่องของทั้งโลก เพราะวิกฤติเรื่องสภาวะแวดล้อม น้ำแล้ง น้ำท่วม อะไรต่างๆ ไม่ใช่แค่เพียงใครคนใดคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ แต่เป็นทั้งหมด

กับคำถามที่ว่า วิกฤติสิ่งแวดล้อมที่ทั้งโลกเผชิญอยู่นั้น ทำอย่างไร มนุษย์เราจึงจะตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในความคิดเห็นของคุณสุนทร ก็คือ "พระสันตะปาปาบอกว่า ต้องกลับใจ ในแง่ของระบบนิเวศ ต้องมองธรรมชาติว่ามีคุณค่ามีจิตวิญญาณ เป็นสิ่งสร้างของพระเป็นเจ้า ถ้าเราเปรียบเทียบเหมือนคนๆ หนึ่ง เป็นเจ้าของสวน มีต้นไม้ มีผลไม้อะไรต่างๆ ถ้ามีคนมาตัดต้นไม้ เอาผลไม้ของเราไป เราที่เป็นเจ้าของสวนก็จะรู้สึกว่าทำไมคนนี้ไม่เคารพในสิ่งที่เราปลูก ในสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา แต่ไปทำลาย เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับใจ เหมือน Laudato Si'

ถ้าเราไม่กลับใจ แต่มองธรรมชาติเป็นแค่วัตถุเป็นแค่สิ่งของที่จะต้องเอาไปใช้ และใช้แบบทิ้งขว้าง ก็จะไม่มีวันแก้ปัญหานี้ได้ มีนักวิทยาศาสตร์หรือนักเศรษฐศาสตร์มากมายที่กลับมาหามิติเรื่องของจิตวิญญาณ เรื่องของวิทยาศาสตร์แบบองค์รวม หรือวิทยาศาสตร์ที่ต้องศึกษาความรู้ที่เป็นเหตุเป็นผล ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องเป็นความเชื่อที่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ เป็นความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่อันใดอันหนึ่ง ต้องเสริมซึ่งกันและกัน"

แม้จะผ่าน ๑ ปีของพระสมณสาสน์ Laudato Si' ไปแล้วก็ตาม แต่สำหรับสังฆมณฑลเชียงใหม่ยังถือเป็นภารกิจที่ยังต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง ดังที่คุณสุนทร กล่าวย้ำว่า "จะต้องทำอย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง ไม่ใช่หมดปีนี้แล้วเราหยุด ไม่ใช่มาสรุปว่าเราทำอะไรในหนึ่งปีแล้วหยุด สิ่งที่ชัดใน Laudato Si' บอกว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ จะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีการเสริมแรงจูงใจ และกระบวนการศึกษาอบรมที่ต่อเนื่อง"

เมื่อผู้นำทางจิตวิญญาณของบรรดาคริสตชน ได้ทรงกระตุ้นเตือนมนุษย์ทั้งโลกให้กลับใจและมาร่วมกันดูแลรักษาโลกซึ่งเป็นบ้านส่วนรวมของเราทุกคนกันอย่างจริงจังแล้ว ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนว่าจะกลับตัวกลับใจเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อโลกใบนี้ หรือยังจะมุ่งไปสู่ทิศทางที่ไม่เหลือบ้านส่วนรวมไว้ให้ลูกหลานของเราในอนาคต... ขึ้นอยู่กับเราทุกคน !

 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >