หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 92 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


พัฒนา"คน" ด้วยหลักสูตร"พลเมืองศึกษา"Civic Education เพื่อแก้ปัญหา"ประชาธิปไตย" พิมพ์
Wednesday, 06 July 2016

วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 89 "วิชาพลเมืองศึกษา"
คอลัมน์ การศึกษา

 


พัฒนา "คน" ด้วยหลักสูตร
"พลเมืองศึกษา" Civic Education
เพื่อแก้ปัญหา "ประชาธิปไตย"

ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม ยส.

 
 

จากคำถามว่า ในประเทศไทย ทำไมประชาธิปไตยถึงไม่ประสบความสำเร็จ ทำไมเรายิ่งมีประชาธิปไตย ปัญหากลับยิ่งมากทั้งในสภาและนอกสภา ทำไมยิ่งมีสิทธิเสรีภาพมาก สังคมกลับยิ่งเสื่อมลง ทำไมสังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมที่ใครอยากทำอะไรก็ทำ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากอะไร?

"คำตอบคือ ที่ประชาธิปไตยมีปัญหาทั้งหมดก็เกิดจาก "คน" ตัวระบบหรือระบอบประชาธิปไตยเป็นของดี มันคือการปกครองตนเองของประชาชน แต่ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ เพราะกฎธรรมชาติคือ การใช้กำลังตัดสินปัญหา ปลาใหญ่กินปลาน้อย ผู้แข็งแรงเป็นผู้ชนะ ผู้อ่อนแอคือผู้พ่ายแพ้ ประชาธิปไตยบอกว่าคนเราเท่าเทียมกัน เสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย อย่าใช้กำลัง ให้มาใช้กติกา ทุกคนเสมอกันภายใต้กติกา จึงฝืนธรรมชาติ เพราะคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน มีแข็งแรงมากกว่า แข็งแรงน้อยกว่า มีชายมีหญิง รวยกว่าจนกว่า มีความไม่เท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ประชาธิปไตยจึงไม่ประสบความสำเร็จโดยตัวมันเอง ถ้าไม่สร้าง "คน" ให้มีความสามารถในการปกครองระบอบประชาธิปไตย"

ผศ.ดร.ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง กระทรวงศึกษาธิการ ผู้ผลักดันแนวคิด "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" หรือ Civic Education กระทั่งคณะกรรมการปฏิรูปนโยบายการศึกษาในทศวรรษที่สอง กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง พ.ศ.๒๕๕๓ - ๒๕๖๑

อ.ปริญญา ได้ยกตัวอย่างหลายประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ซึ่งล้วนแล้วแต่เคยล้มเหลวเคยประสบปัญหาถึงขั้นเข่นฆ่ากันเพราะประชาธิปไตยมาแล้ว

 "ประเทศที่นำระบอบประชาธิปไตยไปใช้ ล้วนแต่เกิดปัญหาทั้งสิ้น ประชาธิปไตยที่เกิดความแตกแยกถึงขนาดเกิดการเข่นฆ่ากันเป็นสงครามกลางเมือง หรืออย่างเบาคือแตกแยกกัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ สหรัฐอเมริกาเมื่อได้รับเอกราชจากอังกฤษ อเมริกาก็ต้องปกครองกันเอง ผลของการปกครองตนเองของชาวอเมริกันทำให้เกิดการแบ่งเป็นฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น  ต้องการเลิกทาส แต่รัฐทางฝ่ายใต้ไม่ยอม จึงแยกตัวไปตั้งประเทศใหม่ชื่อ Confederate States of America (C.S.A) มีธงชาติใหม่ มีประธานาธิบดีใหม่เลย สงครามกลางเมืองจึงเกิดขึ้นเพื่อรวมชาติอีกครั้งหนึ่ง ผลของสงครามคือ สู้กัน ๔ ปี ตายไป ๖๕๐,๐๐๐ คน แต่ถึงแม้ฝ่ายเหนือจะชนะสงคราม นำมาซึ่งการเลิกทาสในอเมริกาในเวลาต่อมา แต่กว่าที่คนผิวดำจะมีสิทธิเสมอกันกับคนผิวขาวก็อีกร้อยกว่าปีต่อมาคือ หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบไปสิบกว่าปี คนผิวดำถึงลืมตาอ้าปากมีสิทธิเสมอหน้าคนผิวขาว และกว่าที่คนผิวดำจะมีสิทธิขึ้นมาบริหารประเทศอเมริกาได้บ้างก็เพิ่งเมื่อ ๓ ปีที่แล้วนี่เอง"

"ฝรั่งเศสที่เราชอบพูดถึง เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ แต่หลังจากปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ค.ศ.๑๗๘๙ เป็นต้นมา ฝรั่งเศสก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์รุนแรง เหตุการณ์นองเลือด ซึ่งเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นที่ราชประสงค์ เมื่อคนเสื้อแดงยึดราชประสงค์เอาไว้ ๒ เดือนเต็มในเดือนเมษายนและพฤษภาคม (พ.ศ.๒๕๕๓) เหตุการณ์เดียวกันเคยเกิดขึ้นที่ปารีสเมื่อปี ค.ศ.๑๘๗๑ คือ ๑๔๐ ปีที่แล้ว คนเสื้อแดงฝรั่งเศสยึดกรุงปารีสไว้ ๒ เดือนเต็ม ในเดือนเมษาฯ พฤษภาฯ เหมือนกันเลย และจบลงด้วยเหตุการณ์นองเลือด รัฐบาลต้องตัดสินใจกระชับพื้นที่ ขอคืนพื้นที่ ผลคือตายไป ๓ หมื่นคน  ฝรั่งเศสก็ไม่ได้เกิดมาเป็นชนชาติประชาธิปไตย เขาก็ฆ่ากันตายยิ่งกว่าเราอีก"

"หรือเยอรมันก็มีฮิตเลอร์ซึ่งฆ่าคนยิวไป ๖ ล้านคน ก่อสงครามโลกครั้งที่สองที่มีคนตายไป ๗๐ ล้านคน ประเทศเยอรมันเกือบจะสิ้นชาติเพราะประชาธิปไตย เยอรมันเพิ่งมาตั้งหลักได้หลังสงครามโลกครั้งที่สอง  ส่วนอังกฤษใช้เวลา ๘๐๐ ปี แล้วในประวัติศาสตร์ของเขาก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์นองเลือด การโค่นล้ม การช่วงชิงบัลลังก์ ขบถ สงครามกลางเมือง คนอังกฤษก็ฆ่ากันตายเป็นล้านคนในเวลา ๘๐๐ ปี และถึงแม้ใช้เวลาตั้ง ๘๐๐ ปี เมื่อปลายปี ๒๕๕๓ นี่เองก็เกิดเหตุการณ์จลาจลเผาบ้านเผาเมืองในอังกฤษ นอกจากนี้ ในแอฟริกาเมื่อมีเอกราชจากฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมัน ก็เกิดสงครามกลางเมืองกันทุกประเทศ ประเทศในอเมริกาใต้ที่มีเอกราชจากโปรตุเกส หรือสเปน ก็เกิดสงครามกลางเมือง ฆ่ากันทุกประเทศ ในเอเชียก็เหมือนกัน เมื่อมีเอกราชจากฝรั่งเศส จากอังกฤษ ก็เกิดในทุกประเทศเพื่อนบ้านเรา"

"ประเทศไทยแม้ไม่เคยเป็นอาณานิคมใครก็จริง แต่เมื่อนำประชาธิปไตยมาใช้ ก็เห็นว่าเราเกิดเหตุการณ์นองเลือดมาแล้ว ๔ ครั้ง ปฏิวัติ ๑๒ ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ ๑๘ ฉบับ แต่ก็ยังล้มเหลวอยู่ ก็เพราะว่าเรายังไม่เคยทำในสิ่งที่เป็นการสร้างคนให้มีความสามารถในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราไม่เคยมีการสร้าง "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น บทเรียนประการแรกคือ ประชาธิปไตยไม่ได้เกิดเอง มีแค่ตัวระบอบไม่สำเร็จ จะเกิดการฆ่ากัน ประการที่สองคือเรื่องนี้แก้ไขได้ ด้วยการมีสิ่งที่เรียกว่า การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง (Civic Education)"

 

ความหมายของคำว่า "พลเมือง"

Žอ.สุลักษณ์  ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามผู้คร่ำหวอดในวงการนักคิดนักเขียน ได้อธิบายความหมายของพลเมืองว่า "พลเมือง แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Citizen คือ กำลังของเมือง ให้ประชาชนเป็นกำลังของเมือง ทีนี้อยู่ที่ระบอบการปกครอง ถ้าเป็นประชาธิปไตย พลเมืองก็คือพลังของเมืองอยู่ที่ราษฎรส่วนใหญ่ และอำนาจสูงสุดก็ต้องเป็นของพลเมือง เป็นของราษฎร ถ้าเป็นการปกครองในระบอบเผด็จการหรือสมบูรณาญาสิทธิราช พลเมืองก็คือ เป็นกำลัง แล้วแต่ผู้ปกครองจะบังคับใช้ ให้เป็นไพร่ ให้เป็นทาส เกณฑ์ไปรบทัพจับศึก เป็นทหาร และอำนาจสูงสุดอยู่ที่คนกุมอำนาจไว้ ประชาชนก็เป็นเพียงเครื่องมือที่เขาจะใช้"

อ.ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล ได้ขยายความ "พลเมือง" ว่า  "พลเมืองคือความเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่เราอยู่ เพราะเป็นพลเมืองของประเทศไทยจึงมีสิทธิในความเป็นคนไทย สิทธิของเจ้าของประเทศ และพร้อมๆ กันไปก็ต้องมีหน้าที่ด้วย หน้าที่คือความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศไทย ต่อผู้อื่นที่เป็นเจ้าของประเทศเช่นเดียวกับเรา พอพูดถึงคำว่าพลเมือง จะตามมาด้วยสิทธิและหน้าที่ แต่ปัญหาของเราคือ เราพูดถึงสิทธิ แต่หน้าที่เราไม่พูด ในเรื่องของหน้าที่พลเมือง เราไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร

แล้วคำว่า "พลเมือง" กับ "พลเมืองดี" ก็ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว จะเป็น "พลเมืองดี" ได้ก็ต้องเป็น "พลเมือง" เสียก่อน พลเมืองคือ คุณต้องเคารพกติกา เคารพสิทธิผู้อื่น และรับผิดชอบต่อสังคม นี่คือพลเมือง ในขั้นต้นของความเป็นพลเมืองคือ คุณเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม คุณต้องไม่สร้างปัญหาให้สังคม คุณต้องว่าตามกติกาของสังคม ถ้าทำได้ นี่คือเป็นพลเมือง และทำได้มากขึ้นกว่านี้โดยการไปเป็นจิตอาสา เช่น ช่วยเหลือคนอื่น นี่ถึงจะเป็นพลเมืองดี"


วิชา "หน้าที่พลเมือง" สอนอะไรเราบ้าง?

ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีหลักสูตร "วิชาหน้าที่พลเมือง" สำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่นักเรียนระดับประถมศึกษาตั้งแต่ ป.๕ ป.๖ และ ป.๗ ในสมัยนั้นต้องเรียนกัน ซึ่งเนื้อหาสาระของวิชาหน้าที่พลเมืองนั้นมีตั้งแต่เรื่อง เอกลักษณ์ของชาติไทยที่ควรทราบ,  การปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ, สิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่พลเมือง, การเลือกตั้ง, ความมั่นคงของประเทศ, การรักษาโบราณสถาน ศิลปวัตถุ และสาธารณสมบัติ, การปฏิบัติตนในทางที่ชอบต่อชุมนุมชน, พระมหากษัตริย์กับการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ, ความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองและการทำนุบำรุงบ้านเมือง, การปฏิบัติตนในทางที่ชอบต่อโรงเรียน, การประกอบอาชีพและการส่งเสริมอาชีพของคนไทย, การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์, การปกครองส่วนท้องถิ่น, จุดประสงค์และความจำเป็นของรัฐที่ต้องเก็บภาษีอากร เหล่านี้เป็นต้น

วิชาหน้าที่พลเมืองในอดีตถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นวิชาที่ปลูกฝังให้ประชาชนต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ โดยเฉพาะหน้าที่ต่อ "ชาติ" และเน้นความเป็น "ชาตินิยม" หลักสูตรนี้ถูกใช้มากระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๕๒๑ จึงได้มีการยุบวิชาหน้าที่พลเมืองให้ไปอยู่กับ "กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต" สำหรับหลักสูตรระดับประถมศึกษา และยุบให้ไปอยู่กับ "กลุ่มสังคมศึกษา" สำหรับหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา วิชาหน้าที่พลเมืองจึงถูกลดความสำคัญจากการเป็นวิชาเฉพาะ กลายเป็นสาระการเรียนรู้เพียงหนึ่งสาระมาจนถึงปัจจุบัน คือหลักสูตร พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งยังคงมุ่งเน้นที่ "ความรู้" ภาคทฤษฎีและวิธีการบรรยายมากกว่าภาคปฏิบัติ ขาดการพัฒนาให้เหมาะสมกับยุคสมัย การเรียนการสอนวิชานี้จึงไม่สามารถสร้างเด็กและเยาวชนให้เป็น "พลเมือง" ของประเทศไทยได้

 

สร้างพลัง "พลเมือง"  เสริม "หัวใจ" ให้ประชาธิปไตย

"พลเมือง คือประชาชนที่กระตือรือร้น ไม่เป็นแต่เพียงผู้รับนโยบาย หรือเป็นเพียงผู้หย่อนบัตร แต่ต้องเป็นคนที่สนใจบ้านเมือง ไม่ฝากบ้านเมืองไว้กับผู้นำเท่านั้น ต้องเลิกความคิดว่าเป็นผู้น้อย เป็นผู้ไม่รู้ ยากไร้ ไม่เคยทำ เป็นผู้อ่อนหัด เราต้องมีความคิดใหม่ที่จะบอกตัวเองว่า ในทางเศรษฐกิจเราอาจจะยังยากจน ในทางการศึกษา เรายังศึกษาระดับพื้นฐานอยู่ หัวใจของประชาธิปไตยคือต้องมีความเป็นพลเมือง  ประเทศไทยมีคนจนมาก มีประชาชนมาก แต่ขาด "พลเมือง" มากที่สุด ประชาธิปไตยระดับชุมชนจึงสำคัญที่สุด เป็นพื้นฐานที่สุดของประชาธิปไตยทั้งหมด เป็นโรงเรียนฝึกพลเมืองได้ดีที่สุด"

ดร.เอนก  เหล่าธรรมทัศน์ [๑]

 

"ไม่ว่าจะพัฒนาพลังอำนาจรัฐ อำนาจทุนให้ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าพลังอำนาจทางสังคมไม่เสมอกัน ไม่มีทางที่จะสร้างความเป็นธรรมได้ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างพลังอำนาจทางสังคมให้มีความเสมอกัน ให้เป็นสังคมสมานุภาพ มีอานุภาพเสมอกันทั้ง ๓ อย่างทั้งอำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจทางสังคม นอกจากนี้ต้องทำให้สังคมเกิดพลังด้วยการเพิ่ม "พลังพลเมือง" ซึ่งมีอย่างน้อย ๓ ประการด้วยกัน คือ ๑.เป็นประชาชนที่มีจิตสำนึกสาธารณะเพื่อส่วนรวม ๒.รู้ข้อมูลข่าวสารเพื่อส่วนรวม ๓.เป็นพลเมืองที่รวมตัว ร่วมคิดร่วมทำในเรื่องส่วนรวม ซึ่ง "พลังพลเมือง" จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติจริง ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับจังหวัด ให้เกิดชุมชนที่จัดการตนเอง ท้องถิ่นจัดการตนเอง ไปจนถึงจังหวัดจัดการตนเอง เพื่อทำให้เกิดการรวมตัวของพลเมืองที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น"

ศาสตราจารย์ประเวศ วะสี [๒] ประธานกรรมการสมัชชาปฏิรูป

 

"ชุมชนเข้มแข็ง สังคมเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็ง น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการเมืองไทยในระยะยาว เพราะเรามีแนวคิดเรื่องประชานิยมกับอนุรักษ์นิยมต่างกันค่อนข้างมาก ฉะนั้น การเติมสิ่งที่ขาดไปก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะสังคมไทยกำลังขาดเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอด ๑๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา เป็นเหตุผลที่ทำให้การพัฒนาการเมือง หรือเรื่องประชาธิปไตยในบ้านเราไม่บรรลุผล เพราะทุกวันนี้เราก้าวมาพอสมควรแล้ว ควรจะทำให้ถาวรและเป็นโครงสร้าง"

ดร.ธีรยุทธ  บุญมี [๓]

ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

"การสร้างความเป็นพลเมืองเป็นวาระสำคัญของการปฏิรูปการเมืองไทย... ประชาธิปไตยที่ขาดส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของพลเมือง จะเป็นประชาธิปไตยที่ขาดคุณภาพ จิตวิญญาณ และคำว่าอำนาจอธิปไตยสูงสุดเป็นของประชาชน จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง หากประชาชนขาดความเป็นพลเมืองที่จะใช้อำนาจนั้น ...การสร้างความเป็นพลเมือง และเปิดพื้นที่ให้การเมืองภาคพลเมืองเพิ่มขึ้นในการบริหารรัฐ ทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องจำเป็น เพราะเป็นการนำความชอบธรรม ความเชื่อมั่นกลับมาสู่ประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มคุณภาพ ประสิทธิภาพให้กับประชาธิปไตยอีกด้วย"

ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ [๔] เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

 

"สำนึกของความเป็นพลเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือสำนึกของความเป็นหุ้นส่วน เป็นเจ้าของร่วมของสังคม และต้องแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของนั้นโดยการมีส่วนร่วมทางการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่มาจากเสียงส่วนมากเท่านั้น แต่เป็นการปกครองที่ประชาชนมีสำนึกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วย ถ้าหากมองว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงการปกครองโดยคนส่วนมากแต่เพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีความเป็น "พลเมือง" ประชาธิปไตยก็จะกลายเป็นแค่ระบอบการปกครองที่คนจำนวนหนึ่งจูงใจคนส่วนมากให้เลือกตนขึ้นมาดำรงตำแหน่งเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องของตนเท่านั้น เปรียบเสมือนการปกครองแบบ "เจ้าพ่อ" ที่ได้รับเลือกมา"

ผศ.ดร.กิตติศักดิ์  ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 "การเรียนการสอนในสถาบันการศึกษานั้น เฉพาะการให้ความรู้อย่างเดียวยังถือว่าไม่เพียงพอ สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องให้บุคลิกลักษณะบางอย่างที่ดีแก่นักศึกษาด้วย ซึ่งบุคลิกลักษณะนิสัยที่ดีของคนปัจจุบัน อันหนึ่งก็คือ "ความเป็นพลเมือง" ความเป็นพลเมือง หมายถึง การเป็นคนที่รับผิดชอบได้ด้วยตัวเอง มีความสำนึกในสันติวิธี มีการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น และยอมรับความแตกต่าง ที่สำคัญคือ ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย"  

ศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

 

"พลเมือง" แบบไหนจึงจะเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

 "พลเมือง" ในระบอบประชาธิปไตย ประกอบด้วยลักษณะ ๖ ประการ คือ

๑. มีอิสรภาพที่ควบคู่กับความรับผิดชอบ เป็นเจ้าของชีวิตตนเอง ไม่อยู่ใต้การครอบงำหรือความอุปถัมภ์ของใคร และใช้สิทธิเสรีภาพโดยมีความรับผิดชอบ

๒. เคารพสิทธิผู้อื่น  ไม่ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปละเมิดสิทธิเสรีภาพผู้อื่น

๓. เคารพความแตกต่าง ยอมรับความแตกต่างและเคารพผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง

๔. เคารพหลักความเสมอภาค เห็นคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรีของความเป็นเจ้าของประเทศอย่างเสมอกัน

๕. เคารพกติกา เคารพกติกา เคารพกฎหมาย ไม่ใช้กำลังแก้ปัญหา และยอมรับผลของการละเมิดกติกา

. มีส่วนร่วมแก้ปัญหาโดยเริ่มต้นที่ตนเอง ตระหนักว่าตนเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาโดยไม่ก่อปัญหา และลงมือด้วยตนเอง

"ประชาธิปไตยคือการปกครองตนเองของประชาชน คือการอยู่ร่วมกันของเจ้าของประเทศที่เสมอภาคกัน ก็ต้องอยู่ด้วยกันโดยเคารพสิทธิของกันและกัน เพราะประชาธิปไตยที่คิดถึงแต่สิทธิของเราข้างเดียวนำมาซึ่งความวุ่นวาย ความแตกแยก และปัญหาต่างๆ นานาตามมามากมาย ถ้าไม่ฝึกให้เคารพสิทธิผู้อื่น และใช้กติกาเป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกัน รับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน สังคมจะดีหรือแย่อยู่ที่เราทุกคน ไม่ใช่คนอื่น คือต้องตระหนักว่าเราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของสังคม พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การทำตามคำสั่งผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจจริงๆ คือประชาชน ทุกคนคือผู้มีอำนาจที่แท้จริงของประเทศ ก็ต้องอยู่ด้วยกัน เคารพซึ่งกันและกัน มีความเท่าเทียมกัน ขัดแย้งกันก็ต้องเล่นกันตามกติกา เสมอภาคกันหมด อยู่กันด้วยกติกา"  อ.ปริญญา ขยายความถึงคุณสมบัติของพลเมืองที่ระบอบประชาธิปไตยต้องการ  ซึ่งประเทศไทยเองก็สามารถสร้างได้ ดังที่ประเทศเยอรมันและสหรัฐอเมริกาทำสำเร็จมาแล้ว

 

ตัวอย่างการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในประเทศต่างๆ [๕]

หลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เยอรมัน  อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์  สวีเดน ฮังการี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี และสิงคโปร์  ล้วนแต่มี "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาสำหรับนักเรียนในทุกช่วงอายุ บ้างกำหนดเป็นข้อบังคับ บ้างเปิดโอกาสให้โรงเรียนได้วางแนวทางของตนเอง วิธีการที่นิยมใช้มีทั้งการเรียนเป็นรายวิชา การศึกษาข้ามรายวิชาโดยสอดแทรกไว้ในทุกรายวิชาทั้งหลักสูตร หรืออาจใช้การผสมผสานและเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการระดับประถมศึกษาและเน้นการเรียนรายวิชาในระดับมัธยมศึกษา และขยายขอบเขตไปในวิชาต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ และกฎหมาย ส่วนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการศึกษาเกี่ยวกับศีลธรรมและจริยธรรมเป็นองค์ประกอบด้วย

แนวทางการเรียนการสอนเพื่อสร้างพลเมืองในประเทศส่วนใหญ่สอดแทรกในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการจัดให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากชีวิตจริงนอกเหนือจากการเรียนรู้ในชั้นเรียน ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โรงเรียนจะสอดแทรกกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนท้องถิ่น โดยกำหนดให้กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการสร้างพลเมืองในโรงเรียน ในประเทศฝรั่งเศสใช้กิจกรรม (Activity methods) เช่น การเรียนจากสิ่งแวดล้อมโดยมีครูเป็นที่ปรึกษา ประเทศสวีเดนใช้หลักการสอนแบบการทำงาน (Work Methods) เชื่อมโยงระหว่างชีวิตจริงกับการสอน และเชื่อมโยงสู่โครงการพัฒนาต่างๆ เช่น งานสหกรณ์ งานสื่อ หรือแม้แต่บริษัท ภายใต้คำปรึกษาของครูเช่นกัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียนรู้ผ่านงานบริการ (Service Learning) ด้วยหลักคิดว่าความสมดุลของประชาธิปไตยอยู่ที่สิทธิของพลเมืองกับภาระหน้าที่ต่อสังคม ประเทศเยอรมนีสอนด้วยตัวอย่าง กิจกรรม ปัญหาจากประสบการณ์ การถกปัญหา และการเสวนา โดยมีการติดตามประเมินผล และมีการเปรียบเทียบกับการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาพลเมืองในประเทศอื่นๆ ด้วย

 

การจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในประเทศไทย

กระทรวงศึกษาธิการ โดย คณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ได้กำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการสร้าง "พลเมืองไทย" ที่ดีในอนาคต ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับเด็กและเยาวชน ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ

ยุทธศาสตร์ที่สอง การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองสำหรับผู้ใหญ่ครอบครัว และชุมชน เน้นการสร้างหลักสูตร และการอบรม "พลเมืองและประชาธิปไตยในชุมชน" เพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่นและชุมชนด้วยการลงมือทำ    

 ยุทธศาสตร์ที่สาม การสร้างพลเมืองในวงกว้าง และการสร้างความตระหนักในสังคมโดยใช้สื่อมวลชน ร่วมสร้างสื่อในรูปแบบที่หลากหลาย ให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้ทั้งประเทศ 

ยุทธศาสตร์ที่สี่ การเชื่อมประสานเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สามารถทำงานเชื่อมประสานสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การสร้างความเป็นพลเมือง

 

ตัวอย่างการเรียนการสอนวิชา "พลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม"
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

 "ธรรมศาสตร์เริ่มทดลองทำวิชานี้เมื่อ ๓ ปีที่แล้ว และกลายเป็นวิชาบังคับวิชาใหม่ เมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีมาก ชื่อวิชา "ความเป็นพลเมืองกับความรับผิดชอบต่อสังคม" รหัสวิชาคือ TU ๑๐๐ ในปีการศึกษาที่ผ่านมา มีนักศึกษาลงทะเบียนทั้งหมด ๓,๐๐๐ คน เราจัดการเรียนการสอนโดยไม่มีการฟังบรรยาย ไม่มีเลคเชอร์ เป็นวิชาภาคปฏิบัติล้วนๆ เรียนรู้ที่จะเป็นพลเมืองที่เคารพสิทธิผู้อื่น เคารพกติกา และรับผิดชอบต่อสังคม ในทางปฏิบัติ"

 ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับการสอนวิชาความเป็นพลเมืองให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้เรียนกันเป็นแห่งแรก ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษา ๑๖๕ แห่ง บรรจุวิชาความเป็นพลเมือง เป็นวิชาบังคับในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปที่ทุกคนต้องเรียน และกำหนดให้วิชานี้เป็นตัวชี้วัดหนึ่งของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และกำหนดไว้ในกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ (TQF) เพื่อวัดความเป็นพลเมืองด้วย

อ.ปริญญา กล่าวว่า "การศึกษาของประเทศไทยเป็นการศึกษาแบบ Input Based Education คือ อยากให้นักศึกษารู้อะไรก็ใส่เข้าไป เน้นตำรา เน้นเนื้อหา เน้นอาจารย์ผู้สอน เน้นชั่วโมงเรียน ชั่วโมงสอบ การศึกษาแบบนี้เป็น Input ซึ่งวิธีการที่ใช้คือ Lecture - Based Learning เรียนรู้โดยการฟังบรรยาย ซึ่งได้ผลน้อยมาก เราต้องเปลี่ยนการศึกษาให้เป็น Outcome Based Education   Outcome คือเน้นที่ผลลัพธ์ที่ต้องการ ไม่ใช่คิดถึงสิ่งที่จะใส่เข้าไปในหัวนักศึกษา แต่คิดว่าผลลัพธ์ปลายทางเมื่อนักศึกษาจบวิชาเขาต้องเป็นอย่างไร และออกแบบวิธีการไปสู่ตรงนั้น ซึ่งสิ่งที่คู่กับ Outcome Based Education ก็คือ Activity - Based Learning เลคเชอร์มีได้ แต่ส่วนน้อย การศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองจึงเป็น Outcome Based Education เรียนโดยภาคปฏิบัติ การทำกิจกรรม แล้ว Outcome ที่ตั้งมา โดยสรุปมี ๓ ข้อ คือ  ๑. เคารพกติกา ๒.เคารพสิทธิผู้อื่น ๓.รับผิดชอบต่อสังคม ถ้าแบ่งย่อยโดยละเอียดมี ๖ ข้อ  คือ ๑.เคารพกติกา ๒.เคารพสิทธิผู้อื่น ๓.เคารพความแตกต่าง ๔.เคารพความเสมอภาค ๕.รับผิดชอบต่อสังคม ๖.การพึ่งตนเอง  ทั้ง ๖ ประการคือสิ่งที่นักศึกษาต้องได้เมื่อจบวิชานี้

Outcome Based Education ก็คือ Student - Centered มีหลักการคือ ผู้จะพัฒนาตนเองให้มีผลลัพธ์ตามที่เราอยากให้เป็นไม่ใช่ตัวอาจารย์ ยกตัวอย่างวิชาความเป็นพลเมือง ผู้ที่จะพัฒนานักศึกษาให้มีคุณสมบัติของพลเมืองทั้ง ๖ ประการ ไม่ใช่อาจารย์ แต่เป็นตัวนักศึกษาเอง อาจารย์เป็นเพียงแค่วิทยากรกระบวนการหรือผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง นี่คือความหมายของ Student - Centered สิ่งที่สำคัญมากคือจุดนี้ ดังนั้น เราไม่ได้เลคเชอร์ให้ฟัง แต่ต้องให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองจากกิจกรรม อาจารย์จึงเป็น Facilitator จัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษา ในการออกแบบ เช่น เทอมแรกมีคนลงทะเบียน ๑,๐๐๐ คน เทอมสองมี ๒,๐๐๐ คน ในปีการศึกษา ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา ใน ๑,๐๐๐ คน มันใหญ่เกินไป เราก็แบ่งให้เป็นห้องละ ๕๐ คน จำนวน ๒๐ ห้อง อาจารย์ห้องละ ๑ ท่าน อาจารย์ ๑ คน จะไปจัดกิจกรรมและซอยกลุ่มให้เป็นอีก ๔ กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีหัวหน้ากลุ่มและอาจารย์จะเป็นคนให้โจทย์ให้งาน นักศึกษาก็จะทำตามโจทย์และงานที่อาจารย์ให้ เราจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้เขา เขาก็ทำไปตามกระบวนการ" 

หลักการสำคัญของการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองจึงไม่ใช่การสอนด้วยการ "บรรยาย" แต่ผู้สอนต้องพัฒนาการสอนในรูป "กิจกรรม" และ "การลงมือปฏิบัติ" หรือการเรียนการสอนผ่าน "กระบวนการคิด วิเคราะห์ ฝึกปฏิบัติ" เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นความเชื่อมโยงที่มีนัยสำคัญมากขึ้น คือเราทุกคนต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและการคลี่คลายแก้ไขปัญหา สำหรับกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวผู้สอนจะเป็น "วิทยากรกระบวนการ" ที่มีหน้าที่เชื่อมโยงการเรียนรู้กับประสบการณ์จริงในวิถีชีวิตทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในความเป็นพลเมือง และการพัฒนาประชาธิปไตย จนก้าวลึกไปถึงการมีจิตสำนึก มีจิตวิญญาณประชาธิปไตย

อ.ปริญญา ได้ยกตัวอย่างกระบวนการเรียนการสอน กับกิจกรรมฝึกการเคารพกติกา

"เริ่มต้นให้ทุกคนเขียนกติกามาคนละ ๑ ข้อ อะไรคือสิ่งที่เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันตั้งแต่ชั่วโมงแรกจนกระทั่งชั่วโมงสุดท้าย เรื่องตรงเวลาจะว่าอย่างไร โทรศัพท์มือถือจะปิดหรือเปิด เรื่องการกินขนมในห้องได้ไหม คุยเสียงดังในห้องระหว่างการเรียนการสอนทำได้ไหม ทุกคนเขียนมาคนละข้อ แล้วมาตกลงเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกัน นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่เขาต้องเรียนรู้ แล้วก็เกิดกติกาขึ้นมา ๓-๔ ข้อ นี่คือการเรียนรู้ว่ากติกาไม่ได้ทำเพราะถูกบังคับให้ทำ แต่กติกาเป็นเครื่องมือในการอยู่ร่วมกัน คือการตกลงกันของเจ้าของประเทศว่าในการอยู่ร่วมกันต้องมีกติกาอะไร สังคมจึงจะสงบสุขและเกิดประโยชน์กับทุกคนอย่างแท้จริง

และกระบวนการในการตกลงกติกาก็ใช้กระบวนการเสียงข้างมากรับฟังเสียงข้างน้อย มีการให้เหตุให้ผลกัน ไม่ใช่ใช้มือโหวตแล้วจบ เพราะยกมือโหวตอย่างเดียวเป็นแค่เสียงข้างมากที่ไม่ได้ฟังเหตุผลกัน เราต้องหลีกเลี่ยงการโหวต โหวตเป็นขั้นสุดท้าย เพราะโหวตคือการใช้เสียงข้างมากบังคับให้เสียงข้างน้อยต้องทำ ดีที่สุดคือไม่ต้องโหวต แต่เป็นวิธีการแบบเห็นพ้องต้องกันให้ฟังเหตุฟังผล เสียงข้างมากต้องเคารพเสียงข้างน้อย  และเสียงข้างน้อยก็ต้องเคารพเสียงข้างมาก ถ้าแบบนี้ทำได้ก็ไม่ต้องโหวต เราก็เรียนรู้ความเป็นพลเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่เคารพกติกา"

เรื่องการละเมิดสิทธิผู้อื่น ก็เป็นอีกตัวอย่างของกิจกรรมการเรียนการสอน

"เราให้ทำบัตร "คุณกำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น" เอากระดาษแข็งขนาด A4 มาตัดให้ได้ ๘ ชิ้น แล้วเขียนว่า "คุณกำลังละเมิดสิทธิผู้อื่น" แล้วเซ็นชื่อ ถ้าใครละเมิดสิทธิ เช่น คุยเสียงดังในห้อง ก็แจกบัตรเลย แล้วในท้ายชั่วโมงให้คนที่ได้บัตรเยอะสุดออกมาพูดหน้าห้อง และปลายภาคก็มาสรุปอีกที นับอีกทีว่าใครได้บัตรเยอะที่สุด คือ แพ้ คนมีบัตรน้อยสุดคือชนะ นี่คือการฝึกให้ระมัดระวังว่าเรากำลังละเมิดสิทธิผู้อื่นอยู่ บางทีไม่รู้ตัว ไม่ระวัง นี่เป็นตัวอย่างการสร้างสังคมที่ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น

ส่วนการรับผิดชอบต่อสังคม เราพาลงพื้นที่ เทอมที่ผ่านมา เราพาไปลงชุมชนที่ถูกน้ำท่วมรอบธรรมศาสตร์ รังสิต ๑๗ ชุมชน เทอมที่สองมีนักศึกษาลงทะเบียน ๒,๐๐๐ คน เนื่องจากเกิดเหตุน้ำท่วมมาหมาดๆ ก็พาลงชุมชนเลย ไปคุยกับชาวบ้าน สุดท้ายก็ให้ไปทำโครงงานที่ช่วยฟื้นฟูชุมชนที่ประสบอุทกภัย ให้รับผิดชอบต่อสังคม สังคมดีได้ด้วยมือเราทุกคน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของกิจกรรมทั้งสิ้น อาจารย์เป็นเพียงผู้จัดกระบวนการ จัดกิจกรรมให้เขาเรียนรู้เพื่อจะพัฒนาตัวเองให้เป็นพลเมืองที่มีคุณสมบัติของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย"

อ.ปริญญา กล่าวว่า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของกระบวนการเรียนแบบ Activity Based Learning ของการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองก็คือ ต้องมีกระบวนการสรุปการเรียนรู้ หรือ สะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และสรุปได้ว่าแต่ละกิจกรรมนั้นนักศึกษาได้เรียนรู้อะไรบ้าง การไปลงพื้นที่ครั้งนี้นักศึกษาได้อะไร ทำโครงงานเสร็จ ไปช่วยชาวบ้านแล้วได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง

"หมายถึงว่านักศึกษาไม่ได้เรียนจากการบรรยายแต่เรียนจากการปฏิบัติจริง ต้องเน้นให้เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อให้คนที่คิดได้แล้วช่วยคนที่ยังคิดไม่ได้ คนที่มีความคิดกว้างขวางแล้วทำให้คนที่เหลือคิดตามได้  หนึ่งคนอาจยังคิดได้ไม่รอบด้าน แต่พอฟังเพื่อนๆ ทั้งกลุ่มคุยกันจะเกิดความคิดขึ้นมา"

และนี่คือตัวอย่างการจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ริเริ่มและประสบความสำเร็จ ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ ม.กรุงเทพ ม.มหิดล ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องมีวิชาความเป็นพลเมือง

"ถ้ามหาวิทยาลัยสร้างบัณฑิตที่เป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม ประชาธิปไตยจะประสบความสำเร็จ จะเกิดการใช้ความรู้อย่างรับผิดชอบต่อสังคม ปัญหาก็จะน้อยลง ประเทศไทยก็จะมีกำลังมากขึ้นในการแก้ปัญหา เพราะว่าพลเมือง มาจากคำว่า "พละ" คือ กำลัง ประเทศไหนที่มีพลเมืองมากเท่าไรก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้นเท่านั้น แต่ประเทศไทยมีภาระของเมืองเยอะ พละมีน้อย จึงเต็มไปด้วยปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ เพราะเรามีแต่ภาระของเมือง ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ช่วยกันทำให้ภาระของเมือง กลายเป็น พละของเมือง หรือพลเมือง ช่วยกันแก้ไข ช่วยกันสร้างสรรค์ ช่วยกันเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งที่เป็นเรื่องของพลเมืองที่เราทำแล้วได้ผล เห็นผลจริงๆ และคงต้องมีการขยายให้กว้างขวางต่อไป" อ.ปริญญาย้ำ

ท้ายสุด สำหรับผู้ที่มีความคิดว่าการรื้อฟื้นการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองครั้งใหม่นี้ เพื่อปลุกกระแสชาตินิยม อ.ปริญญา ตอบข้อกังขานี้ว่า  "พลเมืองไม่ใช่ชาตินิยม เราต้องสร้างพลเมืองโลกด้วย เราไม่ได้สร้างพลเมืองของประเทศไทยให้ไปรบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่ให้ไปรบกับกัมพูชาเพื่อไปเอาเขาพระวิหารคืนมา หรือไปรบกับพม่าเพื่อเอาทองที่เจดีย์ชเวดากองที่เคยเป็นของอยุธยากลับคืนมา ฆ่ากันอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ พลเมืองทุกคนต้องเป็นพลเมืองโลกด้วย การสร้างพลเมืองคือ เพื่อสร้างสันติภาพถาวรในโลกนี้ เคารพคนอื่นที่เป็นคนต่างประเทศด้วย ว่าเขาก็เสมอภาคกับเรา คนไทยปฏิบัติกับคนต่างประเทศเป็นสองมาตรฐาน คนต่างประเทศที่รวยกว่าเรา เราเรียกว่า นักท่องเที่ยว เรา Welcome to Thailand  ส่วนคนที่จนกว่าเรา คือประเทศเพื่อนบ้าน เราจะเรียกเขาว่า คนต่างด้าว และปฏิบัติกับเขาอีกแบบ ถ้าเป็นพลเมืองโลก ต้องเสมอภาคกัน ต้องปฏิบัติกับคนเขมร คนลาว คนพม่า เสมอกันกับคนอเมริกัน คนญี่ปุ่น คนเกาหลีใต้ คนเดนมาร์ก คนสวีเดน ฯลฯ

คนที่พูดแบบนี้แปลว่าเขาไม่เข้าใจว่าพลเมืองที่แท้จริงคืออะไร เขาไปคิดถึงพลเมืองแบบจอมพล ป. พลเมืองแบบคลั่งชาติ พลเมืองแบบชาตินิยม พลเมืองแบบนี้คือ ปลุกกระแสให้ไปรบกับคนอื่น นี่ไม่ใช่เป้าหมายของวิชานี้ วิชานี้คือความรับผิดชอบต่อสังคม แล้วแก้ปัญหาโดยสันติวิธีภายใต้กติกา ต้องเป็นพลเมืองในทุกจุดที่เราอยู่ อยู่ในครอบครัวก็เป็นพลเมืองของครอบครัว อยู่ในโรงเรียนก็เป็นพลเมืองของโรงเรียน อยู่ในมหาวิทยาลัยก็เป็นพลเมืองของมหาวิทยาลัย อยู่ในชุมชนก็เป็นพลเมืองของชุมชน อยู่ในประเทศไทยก็เป็นพลเมืองของประเทศไทย อยู่ในโลกก็เป็นพลเมืองของโลก อยู่ในอาเซียนก็เป็นพลเมืองของอาเซียน คือความรับผิดชอบต่อสังคมมีอยู่ในทุกระดับที่เราอยู่" และนี่คือบทสรุปที่    อ.ปริญญา ทิ้งท้ายไว้

ท่านพุทธทาสภิกขุเคยกล่าวถึง "การศึกษาแบบหมาหางด้วน" [๖] เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าการศึกษาของทั้งโลกมีเพียงสองอย่างคือ รู้หนังสือกับอาชีพ ที่มุ่งแข่งขันกันให้ความรู้ สร้างความรู้ แต่ไม่ได้สร้างปัญญา แต่ยังขาดการศึกษาที่ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" นี้เองเป็น "การศึกษาเพื่อความเป็นมนุษย์" ที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างมีสันติสุข จึงเป็นภาระหน้าที่ของบุคลากรในแวดวงการศึกษาที่จะต้องนำเอาพันธกิจ "การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง" สู่การปฏิบัติจริงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างสรรค์พลเมืองไทยให้มีความเป็นพลเมืองและพลโลกที่เคารพกติกา เคารพสิทธิผู้อื่น และรับผิดชอบต่อสังคม เมื่อนั้นสังคมจะมีสันติสุขและสันติภาพย่อมเกิดขึ้นได้ในโลกนี้

 

--------------------------------------------------

[๑] เจ้าของทฤษฎี "สองนคราประชาธิปไตย" ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "ประชาธิปไตย ๓ ระดับ ปฏิรูปชุมชน" ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ        ที่มา: มติชนออนไลน์ วันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔

[๒] งานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยระดับชาติ ครั้งที่ ๒  วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ

[๓] การประชุมเชิงวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ ๑๓ "ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย"  ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ วันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕   ที่มา: มติชนออนไลน์

[๔] ปาฐกถาปิดการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ ๑๓ "ความเป็นพลเมืองกับอนาคตประชาธิปไตยไทย" ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ

[๕] จาก การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง :ฐานรากของการเมืองภาคพลเมือง  โดย ศรัณยุ  หมั้นทรัพย์  นักวิชาการฝึกอบรม สำนักฝึกอบรม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สถาบันพระปกเกล้า

[๖] ที่มา : www.correct.go.th  ซึ่งหมายถึงการศึกษาที่ไม่ได้ทำให้คนหลุดพ้น แต่ตรงกันข้ามกลับสร้างกิเลส ทำตามๆ กัน แข่งขันกัน จนหมาหางด้วนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา หมามีหางกลายเป็นเรื่องประหลาด  (โดย ดร.เสรี  พงศ์พิศ  http://www.phongphit.com)

 


ข้อมูลอ้างอิง:

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง เขียนโดย ผศ.ดร.ปริญญา  เทวานฤมิตรกุล

การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง :ฐานรากของการเมืองภาคพลเมือง  โดย ศรัณยุ หมั้นทรัพย์  นักวิชาการฝึกอบรม สำนักฝึกอบรม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ สถาบันพระปกเกล้า

การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง  โดย ศ.ดร.วรากรณ์  สามโกเศศ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >