หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 78 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

พิธีกรรมกินข้าวใหม่ ความมั่นคงทางอาหารในวิถีไร่หมุนเวียน และมรดกโลก ของกะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจาน พิมพ์
Wednesday, 22 June 2016


พิธีกรรมกินข้าวใหม่ บูชาแม่โพสพ
ความมั่นคงทางอาหาร ใน วิถีไร่หมุนเวียน
และมรดกโลก ของกะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจาน

ธัญลักษณ์  นวลักษณกวี เรื่อง/สัมภาษณ์


จาก วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ ๑๐๐
๑๐๐ เล่ม วารสาร "ผู้ไถ่" กับการเปลี่ยนผ่าน


 

พิธีกรรมกินข้าวใหม่ บูชาแม่โพสพ ของชาวกะเหรี่ยง (โผล่ง)ภาคตะวันตก

ปีนี้เป็นปีแรกที่ชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระซู่หมู่ ๓ ตำบลยางน้ำกลัดเหนือ อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรีกลับมารื้อฟื้นพิธีกรรมกินข้าวใหม่ บูชาแม่โพสพ หรือที่ชาวกะเหรี่ยงเรียกว่า "อั้งบึ้งสั้ง" พิธีกรรมสำคัญของชาวกะเหรี่ยงเพื่อเป็นการขอบคุณแม่โพสพและขอขมาต่อแม่พระธรณี ขอบคุณที่ได้ใช้ประโยชน์ ได้กินข้าว และขอขมาที่มนุษย์ได้เบียดเบียนธรรมชาติ รวมถึงสรรพสัตว์น้อยใหญ่

ในงานนี้มีพี่น้องกะเหรี่ยงจากพื้นที่ใกล้เคียงในเขตจังหวัดเพชรบุรี อาทิ พี่น้องกะเหรี่ยงบ้านห้วยแห้ง ห้วยชุมชนสาลิกา บ้านโป่งกระทิง บ้านโป่งลึก-บางกลอย ยังมีที่มาไกลกว่านั้นจากอำเภอไทรโยคจังหวัดกาญจนบุรี และอุทัยธานี และที่สำคัญมีผู้เฒ่าผู้แก่อย่างปู่คออี้บ้านใจแผ่นดินแห่งผืนป่าแก่งกระจาน มาร่วมเป็นขวัญให้ลูกหลาน รวมถึงเยาวชน และคนหนุ่มสาวที่จะเป็นผู้สืบสานให้พิธีกรรมนี้ยังคงอยู่สืบต่อไป

พื้นที่สาธารณะของชุมชนห้วยกระซู่กลายเป็นป่าพิธีกรรมหลอมรวมดวงใจที่น้อมเคารพต่อแม่ธรรมชาติของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีอยู่กับป่าและเห็นคุณค่าของป่ามานานแสนนานแล้ว บริเวณลานพิธีจัดทำเป็นซุ้มทำด้วยไม้ไผ่เพื่อบูชาแม่โพสพมีภาพวาดแม่โพสพแต่งกายในชุดกะเหรี่ยงมีปีกนางฟ้า ฝีมือเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงภาพวาดแม่โพสพนี้ คุณรุ่ง  เสน่ห์ติบัง ประธานชุมชนจัดการตนเองพื้นที่ห้วยกระซู่  เล่าให้ฟังถึงที่มาว่า "มีตำนานแต่โบราณเล่าว่า "พิ้ย บื้อ โหย่" [๑] แม่โพสพรูปร่างคล้ายเหยี่ยวจะนำเมล็ดข้าวเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ มาที่ไร่หมุนเวียน พอกระพือปีก เมล็ดต่างๆ ก็ร่วงลงมา หมายถึงให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั้งเมล็ดข้าวและเมล็ดพืชพรรณต่างๆ เพื่อให้มีอาหารอุดมสมบูรณ์ในไร่หมุนเวียน เพราะมีตำนานว่ามีเด็กกำพร้าไม่มีข้าวกิน จึงมี "พิ้ย บื้อ โหย่"หรือแม่โพสพที่พระอินทร์ส่งลงมา ในขณะที่คนอื่นๆ ต่างปฏิเสธไม่เอา"พิ้ย บื้อ โหย่"แต่เด็กกำพร้าคนนี้มีความเมตตาสงสารเหยี่ยวตัวนี้ จึงนำมาเลี้ยงมาดูแลทำให้การทำมาหากินดีขึ้น ตะล่อมข้าวใหญ่ขึ้น"

การบูชาแม่โพสพนั้น มีรวงข้าวแสดงถึงความนอบน้อมต่อแม่ มีดอกหงอนไก่ซึ่งชาวกะเหรี่ยงถือว่าเป็นดอกไม้มงคลประดับประดาทั้งซ้ายและขวาของภาพวาด มีไม้ไผ่สานเป็นนกการเวกซึ่งเป็นนกที่อยู่คู่กับไร่หมุนเวียน มีต้นอ้อยที่ให้ความหวาน และมีอาหารที่นำมาบูชา ได้แก่ ข้าวเหนียวตำเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม หรือ "มิ สิ"  มีน้ำใส่กระบอกไม้ไผ่ มีแกงมันใส่หอย มี "เชอ ดู้ เซิ้ง" [๒] หรือ ตับแรด(อาหารที่ทำจากเถาวัลย์ชนิดหนึ่งที่ขึ้นในไร่หมุนเวียน เรียกหญ้าหมาน้อยนำมาตำให้ละเอียดมีลักษณะคล้ายวุ้นผสมเครื่องปรุง) มีน้ำตาล ข้าวหลาม อีกทั้งพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ ที่ล้วนนำมาจากไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระซู่ บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์

สำหรับพืชพันธุ์ต่างๆ ที่นำมาประกอบพิธี พี่รุ่งอธิบายว่า "มี ดงข้าวบังซ่า หรือมะเขือเทศกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงจะกินคู่กับพริกกะเหรี่ยง ตำให้แหลกและใส่กะปิ หอม กระเทียม  นอกจากนี้มี ข้าวลาย เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหมาะในการปลูกบนเขาเพราะต้นยืนมั่นคง ไม่ล้ม มีน้ำเต้า ซึ่งสมัยก่อนจะใช้น้ำเต้าที่แก่แล้ว เอาไส้ออก ตากให้แห้ง ใช้เก็บเมล็ดพันธุ์พืช มีมะเขือ เรียก "ยัง วะ" นำมาเผาจะมีรสหวาน และมีมันกะเหรี่ยงชนิดหนึ่ง เรียก "เน่ที"  มีมันเทศ บวบพื้นบ้าน มะเขือยาว แตงเปรี้ยว กล้วย มะเขือช่อ ฟักทองพื้นบ้านกะเหรี่ยง (ผลยาวๆ แตกต่างจากฟักทองที่เคยเห็น) ขนุน หอมแย้ ใบกะเพรา เผือกยาว ใช้ขูดผิวเป็นทางยาว เหมือนมะละกอ มีแฟง มีงาขาว งาดำ เมล็ดผักกาด เมล็ดฟักทอง เมล็ดมะเขือ หญ้าหมาน้อยและต้องมีเถาต้นนางไก่คู้พันพืชผักต่างๆ และพันมีด พร้า ที่ตักข้าว และอุปกรณ์ทำกิน เป็นความหมายสื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง"

ก่อนที่จะเริ่มพิธีกินข้าวใหม่บูชาแม่โพสพนั้น ทางฝ่ายพ่อครัวแม่ครัวจะนำเครื่องเซ่นไหว้ เรียกว่า "หมี่คุ๊"  มาบูชาเจ้าที่เตาไฟ เพื่อให้เจ้าที่เตาไฟได้กินข้าวก่อนที่คนจะกินพี่วิจิตตรา  ตอยนา แม่บ้านกะเหรี่ยงจากบ้านท่าเสลา พื้นที่ห้วยชุมชนสาริกา อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี  พี่ฉวีวรรณทองเปราะกะเหรี่ยงจากพื้นที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี  และสุฤทธิ์  มีบุญ หรือพี่ทอง ปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงเขตตะนาวศรี ต่างช่วยกันอธิบายให้ความกระจ่างว่า "ก่อนคนจะกินข้าวก็ต้องให้เจ้าที่เตาไฟกินก่อน  เพื่อนึกถึงแม่โพสพ และเตาไฟสำหรับชาวกะเหรี่ยงนั้นมีความสำคัญเพราะเตาไฟช่วยเลี้ยงชีวิต เตาสำคัญเพราะเหมือนเป็นป่าช้าใหญ่ เตาไฟเป็นที่ประกอบอาหารที่รวมสิ่งมีชีวิตที่มาตายตรงนี้หลายชีวิต เพื่อเป็นอาหารให้คนกิน"

การบูชาเตาไฟจะมีทั้งแบบที่ใช้ในปัจจุบันคือ เตาอั้งโล่ และเตาแบบโบราณที่ใช้ก้อนหินสามก้อน เรียงกันเป็นลักษณะรูปสามเหลี่ยม เรียกว่า เตา ๓ ขา หรือ ก้อนเส้าเตาไฟ ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า "โลว ซุ้ง คั้ง"  (โลว คือ หิน - ซุ้ง คือ สุมไฟ - คั้ง คือ ขา)โดยจะนำก้อนข้าวเหนียวพร้อมแกงมันใส่หอยวางที่สามมุมของเตาอั้งโล่ และก้อนเส้าเตาไฟ สำหรับอาหารที่นำมาใช้ในพิธีนั้นจะต้องมีแกงมันใส่หอย ใช้ "มันสีม่วง" ภาษากะเหรี่ยงเรียกว่า  "เน่ที"  เพราะว่าต้นมันนี้สามารถขึ้นได้ง่าย ปลูกที่ไหนก็ได้ หน้าแล้งก็ไม่ตาย พอหน้าฝนก็งอกขึ้นได้ ส่วนหอยเป็นสัตว์ที่เกิดในน้ำ หาได้ง่ายเช่นกัน  พืชและสัตว์ทั้งสองนี้จึงมีความหมาย แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์  และจะนำเถาของต้น "นางไก่คู้" มาพันรอบเตาอั้งโล่ และก้อนเส้าเตาไฟ

พี่ฉวีวรรณ ช่วยอธิบายว่า "ต้นนี้ก็สื่อถึงความเจริญงอกงาม เพราะในไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงนั้น จะพบต้นนางไก่คู้ขึ้นอยู่เสมอ เถาของต้นนี้ขึ้นง่าย หากขึ้นบนผืนดินก็จะเลื้อยกระจายไปตามความกว้างของผืนดิน หากขึ้นอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ก็จะเลื้อยขึ้นไปตามความสูงของต้นไม้ จึงสื่อถึงอุดมสมบูรณ์ ความผูกพัน ความยืนยาว ที่ไม่ใช้เถาวัลย์เพราะไม่ได้มีคุณค่าอะไร  แต่ต้นนางไก่คู้เป็นยามีสรรพคุณแก้ลมพิษผื่นคัน เวลาใครมีอาการนี้ก็จะนำต้นนางไก่คู้มาต้มกิน ชาวกะเหรี่ยงใช้ต้นนี้สืบทอดกันมานานแล้ว เป็นที่รู้กัน แต่ในทางวิชาการยังไม่มีการวิจัยออกมา"

นอกจากนี้ รอบเตาไฟจะนำอุปกรณ์ทำกิน เสียม มีด พร้า เคียว หินลับมีด นำมาวาง แต่เดิมพิธีกรรมนี้ที่สืบทอดกันมา แต่ละครอบครัวจะทำพิธีกันเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ภูตผีปีศาจต่างๆ มาทำอันตรายคนในครอบครัว โดยเฉพาะคนที่มีลูกอ่อนและเด็กเล็กได้ 

 

เสาหลักบ้านเสาหลักใจ สัญลักษณ์แสดงฐานที่มั่นพื้นที่ไร่หมุนเวียน "ห้วยกระซู่โมเดล"

เมื่อได้เวลา พิธีกรรมเริ่มขึ้นบรรดาผู้ชายช่วยกันแบกเสามงคล เพื่อนำมาลงในหลุมที่ขุดเตรียมไว้แล้ว โดยให้ผู้อาวุโสทำพิธีลงเสาหลักบ้านให้ปู่คออี้ซึ่งมีอาวุโสที่สุดอวยชัยให้พรและมีตัวแทนฝ่ายการเมือง ภาควิชาการ ภาคีเครือข่าย ปราชญ์ชาวบ้าน มาหลอมรวมใจกันในการลงเสาหลักบ้าน เพื่อขอให้เสาหลักนี้เป็นเสาหลักใจของทุกคน  แล้วจึงให้ผู้หญิงกะเหรี่ยงเป็นผู้ทำพิธีขอขมาและขอพร เริ่มต้นด้วยการนำขมิ้นและส้มป่อยซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างสิ่งไม่ดีงาม สิ่งที่เป็นมลทิน และดอกหงอนไก่ซึ่งเป็นดอกไม้มงคล เป็นการบอกกล่าวแม่พระธรณี "ขอบคุณที่ตลอดปีที่ผ่านมาเราได้เบียดเบียน เราได้ฆ่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย โดยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี หลายครั้งหลายหนเพื่อจะได้เพาะปลูก ได้ทำกิน วันนี้เราก็ต้องขอขมา"

หลังจากขอบคุณแม่โพสพที่ให้ข้าวแล้วจึงขอบคุณแม่พระธรณี โดยตบแผ่นดินเพื่อให้แม่พระธรณีได้รู้ตัว ได้รู้สึกถึงการบอกกล่าว และขออนุญาตแม่พระธรณีเพื่อจะปลูกต้นโพธิ์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา เป็นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาเป็นที่พึ่งพาอาศัยของบรรดาสรรพสัตว์ทั้งปวง และขอให้มีอายุยืนยาวเหมือนต้นโพธิ์ และมีชีวิตร่มเย็นเหมือนต้นโพธิ์

คุณสุรพงษ์  กองจันทึกผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา และประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ซึ่งมาร่วมงานวันนี้ด้วย ได้อธิบายถึงการสร้างเสาหลักบ้านว่า "เป็นพิธีที่สืบต่อกันมานานแล้ว ที่เราเรียกกันว่า ถือผี ถือบรรพบุรุษในยุคก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามา ชาวบ้านแถบนี้จะมีเสาหลักบ้านหลักเมือง สมัยก่อนเรานับถือต้นไม้ ชาวบ้านอยู่กับป่ากับต้นไม้ เป็นสิ่งที่ยั่งยืน จึงเคารพสิ่งนี้ ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเข้ามาถึง ชาวบ้านที่นี่จึงมีการปรับเข้ามารวมกัน ต้นโพธิ์คือตัวแทนศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ การปลูกต้นโพธิ์หลังจากการตั้งเสาหลักเพื่อแสดงถึงว่าศาสนาพุทธได้เข้ามาหลังจากที่ชาวบ้านมีเสาหลัก เป็นการปรับพิธีร่วมกัน"

ทางด้านอ.วุฒิ  บุญเลิศปราชญ์ชาวกะเหรี่ยง ประธานประชาคม อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ได้อธิบายถึงนัยยะของการตั้งเสาหลักบ้าน และปลูกต้นโพธิ์ ในบริเวณป่าพิธีกรรมของชุมชนห้วยกระซู่ว่า "ปกติจะไม่มีพิธีตรงนี้ บางที่อาจมี แต่ที่ตรงนี้ไม่เคยมี ดังนั้นพอเป็นปีเริ่มต้นเราก็อยากให้กิจกรรมนี้คงอยู่ เสาหลักนี้จึงเหมือนกับว่าตอนนี้เรากำลังช่วงชิงพื้นที่ไร่หมุนเวียน เป็นการอธิบายระบบไร่หมุนเวียน การตั้งเสาหลักตรงนี้แสดงว่าเรากำลังสร้างฐานที่มั่นของเราเพื่อจะประกาศถึงพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของเราโดยมีเสาหลักบ้านเป็นสัญลักษณ์ ถ้าเรามองนัยยะการประกาศพื้นที่ การช่วงชิงพื้นที่

 ส่วนต้นโพธิ์เป็นเรื่องของพุทธศาสนา เป็นตัวแทนของความเชื่อ พอเอาต้นโพธิ์มา เป็นความเชื่อแบบพุทธซึ่งเป็นความเชื่อสากลในสังคมไทย ทุกคนที่เป็นพุทธ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนกะเหรี่ยง พอคุณเป็นพุทธ เราร่วมกันได้ โดยอาศัยความเชื่อทางพุทธศาสนา ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานอยู่แล้ว เสาหลักบ้านหรือพิธีแม่โพสพเป็นความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นความเชื่อเฉพาะเผ่าพันธุ์ แต่พอพูดถึงต้นโพธิ์จึงเป็นการอธิบายถึงพื้นที่ร่วมกัน เป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีความเชื่อแบบพุทธที่เราโยงกิจกรรมเข้ามาพื้นที่ตรงนี้"

 

ข้าวยอมตายถึง ๓ ครั้ง เพื่อให้เรามีชีวิต

ต่อจากนั้นจึงเป็นพิธีกินข้าวใหม่ร่วมกัน เยาวชนกะเหรี่ยงทั้งชายและหญิงช่วยกันแจกข้าวหลามที่ตัดเป็นท่อนเล็กๆ และน้ำข้าวใส่กระบอกไม้ไผ่ให้แก่บรรดาผู้มาร่วมงาน ซึ่งนี่ถือเป็นพิธีสำคัญ  อ.วุฒิ  กล่าวว่า "โดยความเชื่อของกะเหรี่ยง แม่โพสพคือ เทวดาผู้หญิง มนุษย์จะมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะข้าว ก้อนข้าวนี้คือ เนื้อและหนังของแม่โพสพ น้ำข้าวคือเลือดของแม่โพสพ ข้าวนี้ตาย ๓ หนเพื่อให้เรามีชีวิต ที่เรามีชีวิตอยู่ได้เพราะมีความตายเข้าไปเกี่ยวข้อง ความตายของข้าวครั้งที่ ๑  เมื่อข้าวเป็นข้าวเปลือก ข้าวเปลือกถูกหว่านและถูกฝังในหลุม ยอมเน่า ไม่ยอมงอก ความตายของข้าว ของแม่โพสพเพื่อให้ข้าวงอกงาม เพื่อที่เราจะได้มีชีวิต ความตายของข้าวครั้งที่ ๒  คือ เมื่อข้าวถูกเกี่ยวเพื่อเราจะได้ข้าวมากิน ตอนที่เราเกี่ยวข้าว คมเคียวที่บาดจนข้าวขาดท่อน ถ้าข้าวไม่ถูกเกี่ยว ไม่ขาดท่อน เราไม่มีข้าวกิน และความตายครั้งที่ ๓ ของข้าวก็คือ ตอนที่เราเอาข้าวไปขัดไปสี กะเทาะล่อนจนข้าวเป็นสีขาว เป็นข้าวสารซึ่งถูกนำไปต้มด้วยความร้อน ความร้อนทำให้ข้าวตาย ความตายของข้าวทั้งสามครั้ง ทำให้เรามีชีวิตอยู่ทุกครั้งที่เรากินเท่ากับเราได้ประกาศว่า แม่โพสพได้ตายเพื่อเรา ข้าวกับคนแยกจากกันไม่ได้ ให้เรานึกถึงบุญคุณของข้าว"

แล้วทุกคนร่วมกันหยิบข้าวหลามและน้ำข้าว ซึ่งเปรียบเสมือนเนื้อและหนัง และเลือดของแม่โพสพ มาดื่มกินร่วมกันเท่ากับเราได้ประกาศว่า แม่โพสพได้ตายเพื่อเรา ข้าวกับคนแยกจากกันไม่ได้ ให้เรานึกถึงบุญคุณของข้าว

 

นัยยะที่ซ่อนอยู่ในพิธีกรรม

หลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นลงอ.วุฒิ  บุญเลิศได้อธิบายถึงความสำคัญของพิธีกรรมกินข้าวใหม่ และนัยยะที่ซ่อนอยู่ในสิ่งต่างๆ ที่ใช้บูชาในพิธีกรรมนี้ว่า"คนกะเหรี่ยงมีความเชื่อว่า สิ่งของทุกสิ่งมีชีวิตและมีขวัญ เตาไฟก็มีขวัญ หินสามเส้าที่ก่อข้าวก็มีขวัญ เพราะฉะนั้นเวลาเราทำพิธี เราก็ให้คุณค่ากับวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการที่เราจะได้ข้าวกิน เพราะทุกอย่างมีชีวิต ทุกอย่างมีขวัญคุณค่าของเตาไฟกับคนเสมอกัน เพราะมีขวัญ มีชีวิต"

สำหรับอาหารที่ใช้บูชาในพิธีกินข้าวใหม่ที่ต้องมีเผือกหรือมันและหอยนั้นก็มีความหมายว่า"ในพิธีกรรมจะมีการนำเผือก มัน ที่จะนำมากิน มีกุ้ง ปู หอย มีต้นไก่คู้ ยกตัวอย่างเผือกการที่เราทำไร่ข้าว เราจะมีเผือกด้วย ปีไหนที่เราไม่ได้ข้าวเพราะฝนแล้ง เราก็จะได้เผือก เผือกจะแทนข้าวได้ เราก็ยังมีเผือกกิน และทุกครั้งที่เรากินเผือกก็ให้รำลึกเสมอว่าโอกาสที่จะแล้งก็มี เผือกจึงแทนข้าวในยามวิกฤติ และจะมีปู กุ้ง หอย หมายถึง กินช้าๆ กินน้อยๆ ถ้ากินเร็ว เร่งกิน ข้าวก็จะหมดเร็ว เพราะฉะนั้น ปูก็ดี กุ้งก็ดี เป็นสัญลักษณ์เครื่องหมายว่า เรามีกิน ต้องค่อยๆ กิน กินช้าๆ ก็จะมีของกินไปเรื่อยๆ"

ส่วนพืชผักต่างๆ ที่นำมาประกอบพิธีด้วยก็สื่อความหมายว่า "เวลาทำพิธีจะมีพันธุ์ข้าวในไร่ข้าว ก็เป็นการบอกว่า ในไร่ข้าว นอกจากข้าวแล้ว ยังมีพืชพันธุ์อื่นๆ อีกด้วย เวลาทำบุญข้าวใหม่เราก็ต้องเอาพืชเหล่านั้นมาทำพิธีด้วยเพราะพืชเหล่านี้จะกินร่วมกับข้าว ปีไหนหรือพิธีกรรมไหนที่ยิ่งมีเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เยอะก็ยิ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ แสดงถึงว่าไร่หมุนเวียนยังคงอยู่ แต่ถ้าพิธีกรรมนั้นไม่ค่อยมีพืชพื้นบ้าน พันธุ์พืชพื้นเมืองต่างๆ ในพิธีกรรมนั้นแสดงว่าไร่หมุนเวียนเริ่มหายไปแล้ว และพันธุ์พืชดั้งเดิมไม่ค่อยมีแล้ว ดังนั้นเวลาเราทำตรงนี้เป็นการบอกถึงสถานการณ์ของไร่หมุนเวียนว่าปริมาณพันธุ์พืชดั้งเดิมยังคงอยู่มากน้อยแค่ไหน ถ้าเรามองในเรื่องการขยายพันธุ์ดั้งเดิม และการดูแลรักษา"

ส่วนพิธีกรรมที่ให้ผู้หญิงเป็นผู้เริ่มพิธีนั้น อ.วุฒิ อธิบายว่า "ผู้หญิงกะเหรี่ยงจะใช้เวลาในไร่ข้าวมากกว่าผู้ชาย เพราะตั้งแต่ดายหญ้า เก็บพันธุ์พืช รวบรวมพันธุ์พืชเพื่อจะปลูกในปีหน้า ผู้หญิงจะเป็นคนเก็บรักษารวบรวมพืชที่จะไปปลูกในปีหน้า หรือเก็บรักษาไว้เพื่อแลกเปลี่ยนกับอีกครอบครัวหนึ่ง ดังนั้นผู้หญิงจึงเหมือนกับเป็นผู้จัดการเมล็ดพันธุ์ พอผู้หญิงเป็นผู้จัดการ เป็นผู้รวบรวม ผู้หญิงจึงเป็นแม่พิธีเกี่ยวกับข้าว ผู้หญิงเป็นแม่โพสพ ผู้หญิงจึงต้องเป็นผู้เริ่มทำพิธีเป็นคนขอบคุณและขอขมา"

หลากหลายนัยยะที่แฝงอยู่ในพิธีกรรมล้วนแสดงให้เห็นถึงความลุ่มลึกในจิตวิญญาณของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีวิถีทำกินที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติและสรรพสิ่ง ด้วยเห็นถึงคุณค่าจึงต้องเคารพบูชาอีกทั้งดูแลรักษาไม่ให้สูญหาย แม้ห้วงขณะปัจจุบัน วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมที่ "เงิน" เข้ามาเป็นคำตอบของทุกสิ่งทุกอย่างแทนที่ภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษอย่างยากที่จะทัดทานกระแสนั้น

 

ไร่หมุนเวียน กับพื้นที่นำร่องห้วยกระซู่โมเดล บทเรียนจากไร่ข้าวโพด สู่ ความมั่นคงทางอาหาร

"สืบเนื่องจากการทำไร่หมุนเวียนซึ่งปัจจุบันเราไม่สามารถทำได้แล้วเพราะทางอุทยานมาทับซ้อนที่ทำกินของเรา เราจึงมีการรวมตัวกันเป็นชุมชนห้วยกระซู่ และทำเป็นแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเป็นโมเดลนำร่องให้อีกหลายหมู่บ้าน เช่น สาริกา ห้วยหินเพลิง ลิ้นช้าง เรารวมตัวกันเป็นกลุ่มชุมชน โดยนำพิธีกรรมกินข้าวใหม่ ซึ่งสามารถสื่อถึงวิถีชีวิตในการทำไร่หมุนเวียนของเราได้  ซึ่งพิธีกรรมนี้ แต่ก่อนในอดีตเราเคยทำ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำแล้ว"

จริยา  เสน่ห์ติบัง หรือ น้องจ๊ะ เยาวชนบ้านห้วยกระซู่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี จากเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อศิลปะและวัฒนธรรม และกลุ่มต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง (TKN) คนรุ่นใหม่ที่เห็นถึงคุณค่าภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพชน เล่าถึงการกลับมารื้อฟื้นจัดงาน "กินข้าวใหม่ บูชาแม่โพสพ ความมั่นคงทางอาหารในวิถีไร่หมุนเวียน"ของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านห้วยกระซู่ จากที่ห่างหายไม่ได้ทำพิธีกรรมมานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว

น้องจ๊ะ เล่าต่อว่า "วิถีเกษตรที่เปลี่ยนจากการทำไร่ข้าว มาทำไร่ข้าวโพดแทน พอข้าวหายไป เราได้รู้ถึงฤทธิ์ของข้าวโพดว่าทำให้เกิดหนี้สิน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเยอะไปหมด ได้เงินเป็นก้อน แต่เราก็ต้องคืนเขาเป็นก้อนเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน เครื่องตัดหญ้า ค่ายา ค่าสี ค่าคนที่มาหักข้าวโพด เราก็เลยหันกลับไปปลูกข้าว เพราะปลูกข้าว หนึ่ง เราไม่ต้องซื้อข้าวกิน เพราะปัจจุบันนี้ข้าวก็ราคาแพงเหมือนกัน สอง ในไร่เราไม่ได้ปลูกข้าวอย่างเดียว ยังมี แตงเปรี้ยว ดงข้าวบังซ่า หรือมะเขือเทศกะเหรี่ยง มีพวกมะเขือหลากหลายพันธุ์ จะปลูกพริกซ้ำลงไปก็ได้ ในขณะที่เราเกี่ยวข้าวเสร็จ ปลูกพริกในไร่ข้าว ไม่ค่อยมีแมลงมายุ่งเพราะข้าวจะคลุม ไม่เกิดเพลี้ย พริกถ้าปลูกแยก จะมีโรคเยอะ เพราะแถวนี้คนใช้ยา พวกแมลงที่ดื้อยา ก็ไปลงที่ไร่พริก ไร่ข้าวฟ่าง ซึ่งโดนกันระนาวเลยจึงเป็นการสรุปบทเรียนของชุมชน"

"ดูจากปีนี้ทุกคนตื่นตัวกันมาก แต่ละคนทำไร่ข้าวกันมากขึ้น ได้ข้าวกันเยอะ ๘๐-๙๐ ถัง แล้วปีนี้ข้าวงามมากเพราะเราเพิ่งกลับไปทำไร่ข้าวในป่าที่ฟื้นสภาพครั้งแรก เพราะเวลาไร่เก่าที่เราทำมันฟื้นสภาพขึ้นมา จากที่เราฟันแล้วเผามันก็กลายเป็นปุ๋ยอยู่ตรงนั้น ปลูกอะไรก็เลยงาม โดยเฉพาะพวกดงข้าวบังซ่าจะชอบเถ้าถ่าน  ไร่หมุนเวียนเราทำตรงนี้เสร็จทิ้งไว้ เราก็ไปทำอีกไร่หนึ่ง  แล้ววนกลับมาทำไร่เดิมหมุนเวียนไปรอบหนึ่ง ๓-๔ ปี เราทำในโซนไร่หมุนเวียนของชุมชนห้วยกระซู่ ใครจะมาปลูกทำอะไรก็ได้"

น้องจ๊ะบอกว่า "พื้นที่แต่ก่อนที่เราทำกันอยู่ เป็นพื้นที่ไกลกว่านั้น เนื่องจากที่นี่เมื่อก่อนเป็นพื้นที่คอมมิวนิสต์ เราก็โดนทางการไล่ให้อพยพลงมา เราก็เลยกลับไปทำในพื้นที่ไร่เก่าที่พักไว้ ถ้าดูตามแผนที่เก่าจะเห็นเป็นหย่อมๆ นั่นยืนยันได้ว่าเราอยู่ตรงนั้น แต่ปัจจุบันเราเลื่อนลงมาอยู่ข้างล่างที่เราทำไว้ แต่ตอนนี้เราก็ขึ้นไปไม่ถึง ก็ทำเฉพาะตรงที่เป็นป่าเสื่อมสภาพ จุดที่เรายืนอยู่ตรงนี้ซึ่งเป็นที่สาธารณะ เราเอาจุดตรงนี้เป็นป่าพิธีกรรม เราเอาตรงนี้เป็นรูปธรรมก่อน เพราะเป็นที่สาธารณะที่ชุมชนเอาไว้ทำกิจกรรมต่างๆ"

ห้วยกระซู่โมเดล หรือในชื่อที่เป็นทางการว่า  "แผนพัฒนาพื้นที่ชุมชนห้วยกระซู่ฟื้นฟูจัดการบริหารตนเองเพื่อความยั่งยืน ตามมติคณะรัฐมนตรี ๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ เพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง" มาจากการมีส่วนร่วมของชาวชุมชนห้วยกระซู่ทั้งหมดที่ทำกินในพื้นที่ห้วยกระซู่ จำนวน ๑๑๘ ราย กับเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ มีการจัดแบ่งโซนของพื้นที่ห้วยกระซู่โมเดลออกเป็น ๕ โซน คือ โซนพื้นที่ทำกินถาวร,  โซนพื้นที่ทำกินไร่หมุนเวียน, โซนพื้นที่ป่าใช้สอย, โซนพื้นที่ป่าพิธีกรรม และโซนพื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยชาวชุมชนได้ตั้งกฎระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติร่วมกันในพื้นที่แต่ละโซน เช่น โซนพื้นที่ทำไร่ถาวรนั้นห้ามซื้อขายหรือเปลี่ยนมือ, ห้ามล้าง หรือทิ้งถังหรือภาชนะบรรจุสารเคมี รวมถึงขยะประเภทต่างๆ ลงในลำห้วย ลำธาร หรือแม่น้ำ

สำหรับพื้นที่ไร่หมุนเวียนของชาวชุมชนห้วยกระซู่นั้นก็เขียนกฎเกณฑ์ไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ที่ดินเป็นของทุกคน และทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไร่หมุนเวียน เพื่อรักษาความสมดุลของธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ รักษาพืชพันธุ์และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนดั้งเดิมให้คงอยู่ เพื่อรักษาวิถีชีวิตและภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษสืบต่อไป เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ลดความเสี่ยงต่อโรคภัยในการใช้สารเคมี และการบริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ ให้ชุมชนมีความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และป้องกันการบุกรุกป่า

ส่วนกฎระเบียบข้อบังคับให้ทุกคนในชุมชนปฏิบัติตามก็มี เช่น ห้ามทำไร่ในพื้นที่ที่มีตาน้ำ ห้ามทำไร่ที่ลำห้วยมาบรรจบกัน หรือคร่อมกัน ห้ามทำไร่ติดลำห้วย ต้องเว้นป่าไว้ระยะห่างอย่างน้อย ๕-๑๐ เมตร ต้องเว้นระยะห่างในการทำไร่หมุนเวียนอย่างน้อย ๓-๔ ปี ทิ้งให้ผืนป่าได้พักฟื้นแล้วค่อยกลับมาทำใหม่ ห้ามใช้สารเคมีในไร่หมุนเวียน ห้ามปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว ห้ามใช้เครื่องจักรกลหนักในไร่หมุนเวียน ห้ามทำไร่ติดกัน ต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย ๕๐ เมตรต่อผืน  บุคคลใดจะเผาไร่ต้องแจ้งคณะกรรมการที่รับผิดชอบก่อนและต้องทำแนวกันไฟทุกครั้งก่อนเผาไร่ หากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับข้อใดข้อหนึ่งจะมีการกล่าวตักเตือนก่อน ๓ ครั้ง หากฝ่าฝืนต้องหยุดทำไร่หมุนเวียน ๓ ปี หากยังฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยไม่มีชาวชุมชนห้วยกระซู่ให้ความช่วยเหลือใดๆ

"ห้วยกระซู่โมเดลที่นี่จะเป็นที่แรกในจังหวัดเพชรบุรี ที่มีกฎข้อบังคับ ข้อปฏิบัติ เป็นเอกสาร มีแผนที่แน่นอน เห็นเป็นรูปร่าง ซึ่งได้ส่งไปให้ผู้ใหญ่บ้านทุกชุมชน กำนัน คสช. และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และมีประชุมใหญ่เรียกรวมผู้ใหญ่บ้านทุกชุมชนในเขตเราเราไปประชุมที่ห้วยทราย ที่เขาจัดประชุมมรดกโลก เขาก็เห็นด้วยที่เราจัดการตัวเองได้ มีแนวนโยบาย มีกฎระเบียบ มีแนวกันไฟ ที่ชุมชนจัดการกันเอง และเราคุยกันเรื่องหน่อไม้ ที่มีคนเข้ามาตัดกันเรื่อยๆ เพราะหน่อไม้ถ้าตัดกันไปเรื่อยๆ ก็ตาย ถ้าไม่มีหน่อใหม่เพิ่ม แล้วเดี๋ยวนี้เขาตัดเอาไปขายกันเจ้าหน้าที่เขารับรู้ ที่ผ่านมาเขาอนุโลมให้ เขาให้เราเก็บเกี่ยวได้"น้องจ๊ะยืนยันถึงการรับรู้และยอมรับของเจ้าหน้าที่รัฐต่อการจัดการห้วยกระซู่โมเดลของชุมชนกะเหรี่ยงที่นี่

 

วิถีคนกะเหรี่ยง วิถีไร่หมุนเวียนชาติพันธุ์ที่อยู่กับป่าอย่างยั่งยืน

ในอดีต ชาวเขา หรือกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ตกเป็นจำเลยของสังคมด้วยข้อกล่าวหาว่า ชาวเขาชาวดอยเป็นพวกทำไร่เลื่อนลอย ตัดไม้ทำลายป่า มาถึงปัจจุบันข้อกล่าวหานั้นก็ยังคงอยู่ ซ้ำยังมีข้อกล่าวหาใหม่เพิ่มเข้ามาอีกว่า ทำการเกษตรที่เป็นต้นเหตุเผาป่า ทำให้เกิดหมอกควันพิษปกคลุมเมือง เป็นผู้ทำลายระบบนิเวศ ทำให้โลกร้อนขึ้น กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐเองก็นำข้อกล่าวหานี้มาบีบบังคับ ใช้กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ทั้งฟ้องร้อง จับกุม และเรียกค่าเสียหายนับล้านบาทกับกลุ่มชาติพันธุ์และชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูง

ในมุมมองของปราชญ์ชาวกะเหรี่ยง ที่ปรึกษาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ซึ่งก็เป็นผู้หนึ่งที่ยังคงรักษาภูมิปัญญาในการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนด้วย อ.วุฒิ  บุญเลิศ ได้อธิบายให้เห็นถึงความสำคัญของไร่หมุนเวียนต่อชาวกะเหรี่ยงว่า

"ถ้าเรามองไร่หมุนเวียน ตัวหลักคือ ข้าว ข้าวเป็นพืชที่มีจิตวิญญาณและมีพิธีกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับแม่พระธรณีแม่พระโพสพตั้งแต่การเพาะ การปลูก การเก็บเกี่ยว การฟาด เรื่องข้าวจึงเป็นเรื่องของวัฒนธรรม แต่ถ้าเป็นข้าวโพด ข้าวโพดไม่มีแม่โพสพ ไม่มีความเชื่อเรื่องแม่พระธรณี มีแต่เรื่องดิน เรื่องปุ๋ย พิธีกรรมไม่มี ข้าวเป็นบ่อเกิดรากฐานของวัฒนธรรม ถ้าเราสามารถรักษาข้าวไว้ และรักษาไร่หมุนเวียนได้ แสดงว่าวัฒนธรรมของเราคงอยู่ ข้าวคือรากฐานของความเชื่อที่คนกะเหรี่ยงนอบน้อมต่อธรรมชาติ และข้าวคือบ่อเกิดความเชื่อพิธีกรรม นี่คือเรื่องของไร่ข้าว

และไร่ข้าวเป็นการผลิตที่พักหน้าดินไว้ ทำตรงนี้แปลงนี้ประมาณ ๓-๔ ไร่ พอกินกับครอบครัว แล้วนอกจากข้าว ยังมีผัก มะเขือ เผือก มัน และอื่นๆ พอเราได้ข้าวปีนี้แล้ว ปีหน้าเราทำแปลงใหม่ พืชผักที่อยู่ในไร่ซากหรือไร่ที่เราทำปีนี้ มันมี มะเขือ เผือก มัน พริก ที่จะเลี้ยงเราในปีหน้าในขณะที่ผลผลิตข้าวและผักในแปลงใหม่ยังไม่เกิด ดังนั้นพอทำไร่ข้าว ยังมีพืชผักอื่นๆ ตามมาด้วย แล้วปีต่อไปเราเปลี่ยนพื้นที่อีกที่หนึ่ง พืชผักในปีแรกจะหมดอายุไป แต่พืชผักที่เราทำข้าวในปีที่สองก็ยังมีพืชผักในไร่ไว้เลี้ยงในปีต่อไป ประมาณ ๓-๔ ปีถึงกลับมาในวงรอบ ป่าก็ฟื้น ดินก็ดี

นอกจากนี้พอทำข้าวไร่ จะไม่มียาฆ่าหญ้าและปุ๋ยเคมี เพราะว่าในไร่ข้าวมีทั้งพืชใบกว้างและพืชใบแคบ มีทั้งพริก มะเขือ ถ้าเราฉีดยาคุมหญ้า หรือยาฆ่าหญ้าซึ่งมันเหมาะกับหญ้าบางอย่าง แต่ในไร่ข้าวมีพืชใบกว้างที่เป็นผัก ถ้าเราใช้ยา ผักต่างๆ ก็จะตายหมดเลย เราก็ไม่ได้กิน ดังนั้นไร่หมุนเวียนเป็นระบบการผลิตที่ปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้ยาและปุ๋ยเข้าไปได้"

ภาพสังคมหรือภาครัฐที่มองว่าชาวเขาชาวกะเหรี่ยงตัดไม้ทำลายป่า ไม่เข้าใจถึงการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง กลับมองว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอยนั้น อ.วุฒิให้ความเห็นว่า"เป็นคำพูดหรือคำที่ถูกผลิตซ้ำบ่อยๆ เพราะรัฐเขาไม่เข้าใจระบบการผลิตหรือการทำไร่ของคนกะเหรี่ยง เขามองว่าเป็นการทำลายป่า แต่จริงๆ แล้วป่ามันฟื้นขึ้นมา เขามองว่ามันเป็นการทำไร่เลื่อนลอย แต่จริงๆ มันเป็นการหมุนเวียน ระหว่างไร่หมุนเวียนกับไร่ที่มันอยู่กับที่ เช่น สับปะรด อ้อย คือพืชเชิงเดี่ยวที่อยู่กับที่ พืชอย่างนี้มันฟื้นตัวไม่ได้ ต้องใช้ยาและอื่นๆ เข้ามาประกอบเยอะ แต่ไร่หมุนเวียน ป่ากลับคืนมาได้

เนื่องจากรัฐบอกว่าระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียนเป็นระบบการผลิตที่ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยวที่รัฐส่งเสริมที่จะมีรายได้ แต่มันเป็นระบบยังชีพ ไม่ใช่ระบบตลาดที่จะทำรายได้ให้ประเทศชาติ รัฐจึงบอกว่าตรงนี้ไม่ตอบสนองต่อแนวคิดระบบเศรษฐกิจ รัฐจึงไม่ส่งเสริมตรงนี้ พอเป็นอย่างนี้ก็ตอกย้ำเสมอ การที่เราทำพิธีกรรมเหล่านี้ก็เพื่อจะบอกว่า ระบบไร่หมุนเวียนมีความยั่งยืนเพราะพืชเชิงเดี่ยวที่รัฐส่งเสริมไม่มีแม่โพสพ เป็นการใช้ดินและระบบการผลิตที่มองแต่เรื่องตัวเงิน"

ทางด้านคุณสุรพงษ์  กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและการพัฒนา ให้ความเห็นว่า "ผมคิดว่าคนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าชาวเขาโดยเฉพาะกะเหรี่ยงกับไร่หมุนเวียนมีวิถีชีวิตที่รักษาธรรมชาติไว้ กระทรวงวัฒนธรรมมีการประกาศแล้วว่าไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงคือมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ประกาศมาปีกว่าแล้ว หลายๆ คนก็เริ่มเข้าใจ แม้กระทั่งซีพีเองก็เริ่มประกาศแล้วว่า ถ้าเขาจะรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร เขารับซื้อจากพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทุกคนเริ่มพูดถึงว่าการทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทุกคนต้องช่วยกันเลิกเรื่องเหล่านี้กันแล้ว"

กับคำถามที่ว่า ไร่หมุนเวียนเป็นตัวทำให้เกิดหมอกควันพิษที่เป็นปัญหาต่อสังคมไหมอ.วุฒิอบว่า"มันเป็นการตัดโค่น ไม่เหมือนการทำข้าวโพดซึ่งเป็นการพลิกหน้าดิน ตอไม้จะถูกฟันทิ้งหมดเลย แต่ไร่ข้าว เราไม่ได้พลิกหน้าดิน และยังมีตอไม้อยู่ และปีหน้าตอไม้ก็ฟื้น ถามว่ามีควันไหม ก็มีควัน แต่เรามีการทำแนวกันไฟ และมันก็ทดแทนด้วยพืชที่ขึ้นมาใหม่โตขึ้น ก็มีเสียบ้าง แต่มีการคืนสภาพ ส่วนการทำไร่มันไร่อ้อย เราไม่เห็นควัน แต่ดินเสื่อม เราก็ต้องหาพื้นที่ใหม่ ในขณะที่ไม่มีควันไฟ แต่ทุกคนไม่เห็นดินที่มันเสีย ดินที่มันจืด คุณค่าของดินตรงนั้น ไม่มีใครมองเห็น แต่ในไร่ข้าว ควันจำเป็น เพราะคือการเผาไหม้ เป็นการฆ่าวัชพืช และทำให้มีปุ๋ย  พอเราเผาแล้ว มันมีขี้เถ้า ปลูกข้าวก็งาม ปลูกพริกก็งาม ผมคิดว่ามันต้องเผา แต่การเผาอยู่ภายใต้ขอบเขตของพื้นที่ที่ควบคุมได้"

"ถ้าพูดถึงเรื่องโลกร้อน ควันไฟ ไร่ข้าว ไร่หมุนเวียนกับโลกร้อน มันมีผลกระทบกันอย่างไร ถ้าเรามอง โรงงานอุตสาหกรรมก็ดี พลังงาน รถยนต์ ก็ปล่อยควันตลอดทั้งปีเลย และใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากกว่า การทำไร่หมุนเวียน ถ้าเรามองภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน เป็นตัวทำให้เกิดปัญหาเรื่องโลกร้อนมากกว่าระบบไร่หมุนเวียน"

ส่วนคุณสุรพงษ์ให้ความเห็นว่า"ควันไฟที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากไร่หมุนเวียน แต่เป็นส่วนน้อย เราต้องแยกให้ออกว่า ไร่หมุนเวียนเขาทำกันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว ในพื้นที่ป่าบางที่ ไฟป่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ คำถามคือว่า ธรรมชาติ ถ้าเป็นการดัดแปลงธรรมชาติ เรากำลังทำอะไรกับธรรมชาติ ขณะเดียวกันต้องเข้าใจว่าไฟป่าที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์จำนวนมาก สิ่งที่เราต้องทำคือ การกระทำที่ไม่ถูกต้องของมนุษย์เราต้องไปควบคุม ไร่หมุนเวียนของชาวบ้านที่ต้องเผารอบๆ ไร่ ก็ต้องไปคุยว่าจะเผาอย่างไรให้เฉพาะจุดที่ชาวบ้านทำไร่หมุนเวียนเท่านั้นไม่ให้ลามไปจุดอื่น ไม่ใช่ไปห้ามเขา ไปควบคุมให้อยู่ในพื้นที่ที่ควบคุมได้ แต่การเผาป่าที่ไม่ได้เกิดประโยชน์เลยก็ต้องไปจัดการกับคนกลุ่มนั้น ต้องแยกออกจากกัน เพราะถ้าไปเหมารวมทั้งหมดก็จะเกิดปัญหาว่าทำให้ระบบนิเวศผิดไป การมีไฟบ้างในบางพื้นที่เป็นระบบนิเวศปกติ"

"คนกะเหรี่ยงกับป่า เขาสามารถรักษาป่าไว้ได้ ต้องบอกว่าไร่หมุนเวียน การปลูกข้าวแบบนี้เป็นการทำเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด มีตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วยว่า การทำเกษตรแบบนี้เป็นการรักษาป่า ป่าบริเวณแก่งกระจาน ห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่นเรศวร ป่าที่สำคัญทั้งหลายเป็นพื้นที่ที่ทำไร่หมุนเวียนทั้งนั้นเลย เป็นพื้นที่ที่กะเหรี่ยงอยู่และรักษาป่าไว้ให้เรา เขาอยู่กันมาเป็นพันๆ ปี จนต้องบอกว่าระบบไร่หมุนเวียนและระบบชีวิตของคนกะเหรี่ยงคือระบบนิเวศของป่า พื้นที่นี้ การดำรงอยู่ของชาวบ้านตรงนี้ การทำไร่หมุนเวียนนี้เป็นระบบนิเวศของป่าแก่งกระจาน หมายความว่าถ้าเอาระบบนี้ออกไป ระบบนิเวศเสียทันที เขาอยู่กันมานาน จนเขารู้ว่า ชาวบ้านอยู่ตรงนี้ เสืออยู่ตรงนี้ ช้างอยู่ตรงนี้ ช้างก็ไม่มาหาชาวบ้าน เสือก็ไม่มากวนชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไม่ไปกวนเสือกวนช้าง เขาอยู่กันมานานจนมีผลประโยชน์อิงกัน การที่ชาวบ้านกลับมาฟื้นฟูโดยเอาของดีๆ ของสมัยก่อนกลับมาเป็นเรื่องที่ดี ขณะเดียวกันการทำแบบนี้ก็เป็นการปกป้องไม่ให้มีการทำเกษตรแบบไร่เลื่อนลอย เกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยว ที่ทำลายล้าง"

ทั้งนี้ มีผลการศึกษาวิจัย[๓]ที่ยืนยันออกมาว่า ไร่หมุนเวียนเป็นระบบการผลิตที่มีการหมุนเวียนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาและดูดกลับโดยการพักฟื้นของดินและป่าตามธรรมชาติ ดังนั้นไร่หมุนเวียนจึงเป็นระบบการผลิตที่ไม่ทำลายสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม


ติดตามต่อฉบับหน้า ในประเด็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอชื่อกลุ่มป่าแก่งกระจาน
[๔] ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งใหม่ต่อศูนย์มรดกโลกขององค์การยูเนสโก



[๑]  ย่าข้าว หรือ แม่โพสพ

[๒]  เชอ ดู้ คือ แรด/กระซู่   เซิ้ง แปลว่า ตับ รวมความแปลว่า ตับของแรด

[๓] โครงการวิจัยวิถีการผลิตในระบบวนเกษตร ไร่หมุนเวียน และการจัดการป่าชุมชนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงทางอาหารของเกษตรกรรายย่อยบนพื้นที่สูง ภายใต้การสนับสนุนขององค์การอ๊อกแฟมเกรทบริเทน (โครงการประเทศไทย) และมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์

[๔] พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานประกอบด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำภาชี และอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จ.ราชบุรี, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมพื้นที่ป่าประมาณ ๔,๘๒๒ ตารางกิโลเมตร

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >