หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 79 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


จีเอ็มโอ : จุดยืน และบรรทัดฐานของพระศาสนจักรในการพิจารณาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ พิมพ์
Wednesday, 11 May 2016

จีเอ็มโอ : จุดยืน และบรรทัดฐานของพระศาสนจักร

ในการพิจารณาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

  อัจฉรา สมแสงสรวง
ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องด้านสังคม 

Image
              ภาพจาก www.consumerthai.org                 


บทความนี้  จัดทำขึ้นในโอกาสประชุมของกลุ่มศึกษาเทวศาสตร์ในงานพัฒนา (Social  Action Theology Study Group / SAT) วันที่ 19-21 พฤษภาคม 2547  ที่ได้นำเอาประเด็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับประชาชนภาคเกษตร จากนโยบายพัฒนาของประเทศ  ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสเศรษฐกิจโลก มาทำการศึกษา และพิจารณาไตร่ตรองจากมุมมองของคริสตชน  เพื่อการเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้น โดยอาศัยพระคัมภีร์และคำสอนด้านสังคม เป็นบรรทัดฐานในการอ่าน "สัญญาณ" ทางสังคม ในปัจจุบันนี้  

 

จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms / GMOs) คืออะไร 


จีเอ็มโอ คือ "สิ่งมีชีวิตที่ได้จากการดัดแปลงหรือตัดต่อสารพันธุกรรม (DNA)"   โดยการใช้เทคนิควิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่เรียกว่าเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering)
[1]  มาใช้ตัดต่อสารพันธุกรรม หรือ DNA [2] ที่เป็นหน่วยเล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต (Gene)  ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์สายพันธุ์เดียวกัน  หรือต่างสายพันธุ์ หรือระหว่างพืชกับสัตว์ให้กลายเป็นพืชสัตว์ที่มีคุณลักษณะใหม่  ตามที่นักวิทยาศาสตร์ หรือ บริษัทธุรกิจการเกษตรต้องการ  และมีการผูกขาดพันธุ์พืชหรือสัตว์ที่ได้จากตัดต่อยีน  โดยจดทะเบียนเป็นของบริษัท หรือนักวิทยาศาสตร์เพียงผู้เดียว  ตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นคือ การนำยีนของปลาไปใส่ในมะเขือเทศ   การกระทำเช่นนี้เพื่อชะลอการสุกของมะเขือเทศ และเก็บไว้ได้นาน   หรือ มะละกอที่มีความต้านทานโรคจุดวงแหวนที่เกิดจากไวรัส  และข้าวโพดที่สร้างสารต้านแมลงศัตรูพืชได้ด้วยตนเอง

วิวัฒนาการการคัดเลือกสายพันธุ์ หรือผสมข้ามสายพันธุ์พืชและสัตว์ มีมาตั้งแต่เริ่มต้นอารยธรรมของมนุษย์  อันเป็นวิธีตามธรรมชาติ  ที่ได้มาซึ่งสายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะดี   หรือให้ผลผลิตมีคุณภาพ  และกำจัดสายพันธุ์อ่อนแอ   แต่วิธีการตัดต่อพันธุกรรมในปัจจุบัน  นอกจากจะควบคุมให้ได้ยีนที่ต้องการจากห้องทดลองแล้ว อุปสรรคที่ไม่ได้พูดถึงมากนักก็คือ เกิดยีนที่ไม่ต้องการจำนวนมากติดมาด้วย  และขั้นตอนของการได้มาซึ่งยีนที่ปกติและกำจัดยีนที่ผิดปกติออกไปนั้นใช้เวลานานและไม่แน่นอน  เมื่อมีการนำพันธุ์พืชและสัตว์ที่ตัดต่อพันธุกรรมนี้  ไปเผยแพร่ในวงจรการผลิตตามธรรมชาติ สิ่งที่เป็นอันตรายในภาคเกษตรคือ พืชและสัตว์จีเอ็มโอ มีคุณสมบัติที่ข่ม และแปรพืชและสัตว์ประเภทเดียวกันในท้องถิ่นหรือตามธรรมชาติ ให้กลายเป็นพืชและสัตว์จีเอ็มโออย่างที่มนุษย์ไม่อาจหยุดยั้งได้ เช่น ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กเลย์ ได้เก็บตัวอย่างข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองคริออลโล  ในเขตภูเขา บริเวณ Oaxaca ของเม็กซิโก มาตรวจและพบข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองนี้  มี DNA ของข้าวโพดตัดต่อยีนปนเปื้อนอยู่ 4 ใน 6 ตัวอย่างที่นักวิจัยเก็บมา  ในการปนเปื้อนของข้าวโพดจีเอ็มโอสู่ข้าวโพดธรรมชาติพันธุ์พื้นเมือง ปรากฏว่ามีตัวอย่างหนึ่งที่เป็นการปนเปื้อน DNA ของข้าวโพดตัดต่อยีนที่มีฤทธิ์ฆ่าหนอนเจาะลำต้นข้าวโพด  ที่บริษัทธุรกิจการเกษตรคิดค้นขึ้น   ข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุของการปนเปื้อนนี้มาจากเกษตรกรนำเอาข้าวโพดจีเอ็มโอที่รัฐบาลนำเข้าจากสหรัฐไปแจกเพื่อเป็นอาหาร  ไปเพาะปลูกในบริเวณใกล้เคียงกับข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง  ความวิตกของนักวิทยาศาสตร์จากการค้นพบดังกล่าวคือ มีความเป็นไปได้ที่พืชจีเอ็มโอจะขยายพันธุ์มากขึ้น ทำให้พันธุ์ดั้งเดิมลดลง  ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางพันธุกรรมตามธรรมชาติ  ทั้งที่จริงแล้ว การที่โลกมีความหลายหลากของพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ดีต่อดุลยภาพทางธรรมชาติ  พืชชนิดหนึ่ง อาจจะมีบางพันธุ์ที่ไม่ทนทานต่อโรคและแมลงบางอย่าง  แต่ก็จะมีอีกพันธุ์หนึ่งที่มีภูมิต้านทานโรค และแมลงชนิดเดียวกันนั้น  ผลก็คือ การดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ก็สืบต่อไปได้

สำหรับคริสตชน  แม้ว่าจะไม่มีคำสอนโดยตรงต่อเรื่องนี้ก็ตาม   แต่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมโดยอาศัยกรณีพืชจีเอ็มโอนี้  เรียกร้องให้เราไตร่ตรองด้วยมุมมองพระคัมภีร์ และคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักรว่ากำลังสวนทางกับพระประสงค์ของพระผู้สร้างอย่างไร  ทั้งนี้พันธะหน้าที่ในการเลี้ยงดูโลก เป็นความสำคัญที่คริสตชนได้รับมอบ และต้องปฏิบัตินับตั้งแต่การสร้างโลก   พระศาสนจักรถือว่าเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม  เป็นประเด็นท้าทายที่พระศาสนจักรต้องติดตาม   เพราะ (1) สังคมเรามักจะไม่ตรวจสอบอย่างใกล้ชิดว่า เทคโนโลยีดังกล่าว ที่ได้รับการส่งเสริมทั้งจากระดับบุคคล และสาธารณะ มิใช่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขาดแคลน อดอยากของโลก แต่ถูกใช้โดยระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่จะนำไปสู่ปัญหาความอดอยากในอนาคต (2) พันธุวิศวกรรมเป็นเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์แนวใหม่ ที่เพิ่มประสิทธิภาพสำหรับมนุษย์ในการเปลี่ยนโลกธรรมชาติ และรากฐานของชีวิต ด้วยการก้าวข้ามความแตกต่างที่เป็นอุปสรรคตามธรรมชาติ ของพืช สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  จากการใช้วิธีการฝืนธรรมชาติ   นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ใช้สติปัญญา ซึ่งเป็นพระพรของพระเจ้ามาทำลายสังคม และอ้างสิทธิว่าความคิด ความสามารถนั้นเป็นของตนเอง 

พระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2  ทรงเตือนผู้เกี่ยวข้องให้ใช้วิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องและมีจรรยาบรรณ ทั้งในภาคเกษตรจากกรณีพืชจีเอ็มโอ  และสาธารณสุข  โดยเฉพาะการปลูกถ่ายตัวอ่อนของมนุษย์และสัตว์ จากการโคลนนิ่ง  หรือในทางการแพทย์  ที่นำเรือนร่างของมนุษย์ ที่สมองตายแล้ว  มาใช้ประโยชน์ทางการทดลอง ไปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า  ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องทางศีลธรรม  เพราะมนุษย์กำลังใช้พระพรด้านสติปัญญาที่พระเจ้าประทานมาให้นั้น ไปเปลี่ยนแปลง "ต้นไม้แห่งชีวิต" (ปฐก.2, 9) เสียใหม่ ซึ่งขัดแย้งกับพระประสงค์ของพระเจ้า ที่ให้ชีวิตมนุษย์เป็น"ของประทานจากพระเจ้า"  มิใช่เป็นสมบัติส่วนตัวที่มนุษย์ (นักวิทยาศาสตร์) จะประดิษฐ์ใหม่อย่างไรก็ได้ 

เช่นเดียวกับอาหารที่ได้จากจีเอ็มโอ   ได้สะท้อนถึงเรื่องผลประโยชน์ทางการค้าของโลกสมัยใหม่  ที่ท้าทายต่อจุดยืนทางจริยธรรม    ทั้งนี้ อาหารมิใช่สินค้าทางตลาดอย่างเดียว  แต่สำคัญกว่าอื่นหมด  อาหารเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการเจริญชีวิตของมนุษยชาติ   การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ และการผลิตอาหารจีเอ็มโอ ต้องคำนึงถึงเรื่องที่สำคัญที่สุด คือ ชีวิตมนุษย์เป็นชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งสร้างมีไว้เพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกสิ่งที่มีชีวิต (Common Good)  การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ต้องรับผิดชอบต่อความยุติธรรมทางสังคม โดยไม่เลือกว่าจะมีความแตกต่างทาง วัฒนธรรม ศาสนา เชื้อชาติ ตำแหน่งทางสังคม และอื่นๆ

 

ปรากฏการณ์จีเอ็มโอในมุมมองพระธรรมเก่า

ความห่วงใยต่อผู้ขัดสน


ในสมัยของโมเสส พระเจ้าได้แสดงความห่วงใยและช่วยเหลือต่อผู้ขัดสน  เมื่อครั้งที่ประชากรของพระเจ้า  ต้องอพยพออกจากอียิปต์  และอยู่ในสภาพที่หิวโหยขณะที่เร่ร่อนอยู่ในถิ่นทุรกันดาร "พระเจ้าได้ประทานมานนา และนกกระทา ให้พวกเขาได้อิ่ม"    การให้อาหารผู้หิวโหยในพระธรรมเก่า ถือเป็นการกระทำที่นำมาซึ่งความชื่นชมยินดี  เช่นเดียวกับการประกาศเรื่องการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในฐานะพระแมสซิยาห์  ในบทสรรเสริญพระเจ้าของพระนางมารีย์ ขณะที่พบกับนางเอลิซาเบธ ว่า "พระองค์ทรงยกผู้น้อยขึ้น  และโปรดให้คนอดอยากอิ่มด้วยสิ่งดี (ลก. 1, 53)  และเกณฑ์ในการพิพากษามนุษย์ของพระเจ้า  ก็พิจารณาจากสิ่งที่มนุษย์ปฏิบัติต่อกัน   เพราะว่า "เมื่อเราหิว ท่านก็ให้อาหารเรากิน  เรากระหาย ท่านก็ให้น้ำเราดื่ม เราเป็นแขกแปลกหน้า ท่านก็ต้อนรับเรา" (มธ. 25, 35)

บรรดาผู้ที่สนับสนุนพืช หรือสัตว์ตัดต่อยีน ก็เห็นว่าการผลิตพันธุ์พืชที่มีคุณภาพดี  ทนทานต่อโรคต่างๆ  และสามารถเติบโตในดินแดนที่ไม่สมบูรณ์ได้ เช่น แห้งแล้ง  มีสภาพดินเค็ม    จะช่วยเพิ่มจำนวนผลผลิตแก่โลก เพื่อรองรับการขยายจำนวนประชากรจาก 6 พันล้านคน เป็น 8 พันล้านคน ในอีก 2 ทศวรรษข้างหน้า   ดังนั้น ความหิวโหยดูจะเป็นเรื่องที่หนักหน่วง   การปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว เท่ากับกำลังลงโทษคนจำนวนมากที่กำลังอดอยาก และต้องพึ่งพาการช่วยเหลืออยู่   และหากไม่มีอาหารจากพืชจีเอ็มโอ  โลกก็อาจเผชิญกับการท้าทายจากภาวะการขาดอาหารในอนาคต    แต่สำหรับผู้ที่คัดค้านอาหารจีเอ็มโอ  เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม  ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของประชาชน  จากการปันส่วนที่ไม่ยุติธรรม และความไม่เท่าเทียมกันในการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ  ปัจจุบันนี้  วิกฤติที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรกรรมมาจากกลุ่มพ่อค้าของบริษัทธุรกิจการเกษตรยักษ์ใหญ่ ร่วมกันสร้างกลไกการค้าเสรีด้านการเกษตรขึ้นมา  ซึ่งกำหนดข้อตกลงในหมู่ประเทศสมาชิก  ให้ลดการจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกร  อาทิ ยกเลิกการพยุงราคา การแทรกแซงราคาพืชผล และช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิต   แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่กลับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนั้น  ยังคงให้การช่วยเหลืออุดหนุนแก่ภาคเกษตรของตน  ทำให้เกิดการล้นเกินของผลผลิต  และจากระบบตลาดเสรี ทำให้สินค้าเกษตรจากประเทศหนึ่ง สามารถส่งเข้ามาขายในอีกประเทศหนึ่งได้  ซึ่งหากสินค้านำเข้าชนิดนั้นมีราคาต่ำกว่า  ก็จะส่งผลกระทบให้สินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตขึ้นภายในประเทศมีราคาตกลง  (เช่น กรณีถั่วเหลืองนำเข้าจากอเมริกา มีราคาต่ำกว่าถั่วเหลืองที่ผลิตขึ้นในไทย)   ทำให้เกษตรกรไม่สามารถขายผลผลิตในราคาที่ยุติธรรมเพื่อค้ำจุนการอยู่รอดของครอบครัวได้   กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายของชาวไร่ชาวนาในประเทศที่กำลังพัฒนา   ดังนั้น ไม่ใช่เพราะว่าโลกขาดอาหาร  แต่เป็นเพราะคนขาดปัจจัยที่จะซื้ออาหาร ที่ถูกอ้างว่าผลิตเพื่อผู้หิวโหย    และนี่เป็นสาเหตุแท้จริงของความยากจน และความไม่มั่นคงทางอาหาร

 

ความยุติธรรมสำหรับคนยากจน : การปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ

สถานการณ์ความยากจนและคนที่ถูกกดขี่      เป็นประเด็นที่ท้าทายความยุติธรรม   ในบทเทศน์บนภูเขา เรื่องผู้เป็นสุข   ได้กล่าวถึงคนยากจนฝ่ายจิตวิญญาณ (คนที่รู้ว่าจิตใจของตนอ่อนแอ และต้องการการช่วยเหลือจากพระเจ้า) ที่สมควรได้รับพระพร  มิใช่คนยากจนที่ไม่มีอะไรในกระเป๋า    เมื่อพระเยซูเจ้าเริ่มภารกิจของพระองค์ในศาลาธรรม  ที่นาซาเร็ธ  พระองค์ประกาศว่า " พระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้า เพื่อให้นำข่าวดีมาสู่คนยากจน ...ให้ประกาศอิสรภาพแก่บรรดาเชลย"  ปรากฏการณ์จีเอ็มโอ เป็นตัวสะท้อนถึงบรรดาบริษัทธุรกิจการเกษตร ที่พยายามนำเสนอเทคโนโลยีตัดต่อยีน ต่อชุมชนภาคเกษตรที่ไม่มีกำลังพอที่จะซื้อเทคโนโลยีนั้นๆ  พฤติกรรมเช่นนี้ มาจากความใจบุญสุนทาน หรือต้องการเพิ่มมาตรฐานการครองชีพ เพื่อว่าในอนาคต บรรษัทข้ามชาติต่างๆ  จะได้มีตลาดสำหรับผลผลิตเกษตรของตน   

นอกจากนี้ ในการพัฒนาพืชจีเอ็มโอ ให้ทนทานต่อโรค แมลง และศัตรูพืชอื่นๆ   ก็เป็นไปเพื่อสนองบริษัทธุรกิจการเกษตรที่ผลิตเมล็ดพันธุ์  ยาต้านทานโรคและแมลง ยากำจัดวัชพืช  และอุปกรณ์การเกษตรต่างๆ  ทำให้เกษตรกรต้องขึ้นตรงต่อบริษัทผู้ค้าขายดังกล่าวอยู่ตลอด [3]   หากเป็นเช่นนี้  เราไม่สามารถปลดปล่อยเกษตรกรให้เป็นอิสระได้เลย    บริษัทธุรกิจการเกษตรที่ส่งเสริมพืชจีเอ็มโอ ยังใช้วิธีการจดทะเบียนขั้นตอนของการปลูกถ่ายยีนจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปสู่อีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง (ลิขสิทธิ์ทางปัญญา)   ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่กระทบต่อองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับพันธุกรรม โดยเฉพาะการพัฒนา และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ  ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น สืบทอดจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนา  รวมไปถึง  การริดรอนสิทธิของเกษตรกรด้วยการผูกมัดชาวไร่ชาวนาให้ต้องพึ่งพาบริษัทการเกษตร  ด้วยการซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกๆ  ปี  เนื่องจากผลผลิตจากภาคเกษตร ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้  เพราะเมล็ดพันธุ์ที่เป็นหมัน   ตัวอย่างที่พบเห็นคือ เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และถั่วเหลือง เป็นต้น   นี่เป็นคำถามที่สำคัญสำหรับศาสนจักรว่า   เราจะมีส่วนในกระบวนการปลดปล่อยพันธการนี้ออกจากเกษตรกรอย่างไร

 

แนวคิดพื้นฐานและหลักเกณฑ์คำสอนด้านสังคม


ปรากฏการณ์ของจีเอ็มโอ  ได้ส่งสัญญาณต่อพระศาสนจักรให้ระมัดระวัง และศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตมนุษย์ และสิ่งสร้างอื่นๆ โดยมีแนวคิดพื้นฐานของศาสนา  และหลักเกณฑ์คำสอนด้านสังคมที่สำคัญในการพิจารณา คือ

1.       ศักดิ์ศรีของบุคคลมนุษย์ และความศักดิ์สิทธิของชีวิต   หลักการพื้นฐานของคำสอนด้านสังคม  ถือว่ามนุษย์ทุกคนเป็นฉายาของพระเจ้า  มนุษย์จะพัฒนาถึงสภาพสมบูรณ์แห่งความเป็นมนุษย์ ก็ต่อเมื่อทุกคนมีอาหารพอเพียงสำหรับชีวิตและสุขภาพ  พร้อมๆ กับ การคำนึงและเคารพในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของแต่ละคน  หากมนุษย์ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตอาหารสำหรับสังคมโลก  ถูกกระทำให้ตกอยู่ในสภาพไร้ศักดิ์ศรี   จากบรรษัทธุรกิจการเกษตร  เราคงต้องกลับไปสู่บทบัญญัติของพระเจ้า ที่สอนให้เรารักกันและกัน (เพราะ"ฉายา" ที่ทุกคนได้รับมา ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน) และดำรงชีวิตอย่างสมบูรณ์ในความสัมพันธ์กับสิ่งสร้างทั้งมวล    จุดมุ่งหมายของการใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  ต้องสมดุลกับผลประโยชน์ทางสังคม ที่ประชาชนได้รับ  มิใช่ทำให้กลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์มากกว่า และกีดกันกลุ่มอื่นๆ ออกไป

นอกจากนี้  มนุษย์จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าด้วยการมีงานทำ การมีโอกาสเข้าถึงการรักษาพยาบาล หรือมีระบบสุขภาพอนามัยที่ดี  มีการศึกษาที่รองรับ  มีอิสระในการตัดสินใจต่อวิถีชีวิตของตนเอง  รวมทั้งเป็นผู้อนุรักษ์มรดกร่วมที่สืบทอดกันมา  ดังนั้น  ในโลกที่วิทยาศาสตร์กำลังถูกใช้ไปเพื่อผลประโยชน์ของทุนนิยม  หลักเกณฑ์พิจารณาที่สำคัญคือ  เทคโนโลยี  เครื่องมือหรือวิธีการใด ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้  ได้ส่งเสริมหรือคุกคามคุณค่าชีวิตมนุษย์  ทั้งนี้เพราะชีวิตมนุษย์ศักดิ์สิทธิ์ สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ  และถูกล่วงละเมิดไม่ได้

2.       การเคารพสิทธิมนุษยชน คำสอนด้านสังคมสอนยืนยันอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจมีไว้เพื่อบุคคลมนุษย์ (ซึ่งปรัชญาพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ก็กล่าวไว้เช่นเดียวกัน) มิใช่บุคคลมนุษย์มีไว้เพื่อรับใช้เศรษฐกิจ  หากเศรษฐกิจใช้พืชจีเอ็มโอมาเป็นเครื่องมือแทรกแซงสังคม และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลที่อยู่ในชุมชน ก็เท่ากับเป็นการกระทำที่ไม่เคารพต่อสิทธิของบุคคลมนุษย์

3.       การเคารพต่อโลกธรรมชาติ   สิ่งสร้างที่พระเป็นเจ้าประทานให้แก่มนุษย์    ถือเป็นความจำเป็นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์   พระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 ได้กล่าวไว้ในสมณสาสน์เรื่องความห่วงใยเรื่องสังคม ว่า มนุษย์ไม่สามารถใช้สรรพสิ่งในโลก ทั้งที่มีชีวิต หรือไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ พืช และธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้ตามใจชอบ หรือเพื่อความต้องการทางเศรษฐกิจของตน  (ข้อ 34,1987)  ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่จีเอ็มโอ ได้สร้างปัญหาต่อองค์ประกอบของธรรมชาติที่เป็นส่วนหนึ่งในระเบียบของสิ่งสร้างแล้ว   เป็นหน้าที่ของสมาชิกพระศาสนจักร  ที่จะต้องกระทำการใดๆ ที่แสดงถึงการยืนยันจุดยืนในความเชื่อคริสตชน

4.       ความยุติธรรมด้านสังคม  สถานการณ์จีเอ็มโอ  กำลังทำให้สิ่งที่เราได้รับการประทานมา ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากร  หรือโอกาสต่างๆ  ถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  ดังนั้น ถ้าการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ  ไปทำลายผืนดินและธรรมชาติ หรือการบังคับให้ภาคเกษตรต้องยอมจำนนผลิตพืชตัดต่อพันธุกรรม  เป็นการสร้างกับดักให้คนจนต้องพึ่งพาคนรวยมากขึ้น  ถือว่าเป็นเกณฑ์ตัดสินสำคัญต่อปัญหาความยุติธรรม 

5.       ผลประโยชน์ส่วนรวม    เนื่องจากสรรพสิ่ง ถูกสร้างมาสำหรับทุกๆ คน  เพื่อทุกคนจะได้เจริญชีวิตอย่างสมบูรณ์ [4] และร่วมกันปฏิบัติต่อสิ่งสร้างด้วยความเคารพ เพื่อแบ่งปันประโยชน์ของสิ่งสร้างนั้นแก่ทุกๆ คน  ดังนั้น คำสอนด้านสังคม  ต้องเรียกร้องให้มีการประเมินผลการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อยู่เสมอว่า ผลิตผลที่ได้จากจีเอ็มโอ ได้ให้ประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนจนอย่างแท้จริงหรือไม่  หาไม่แล้ว คำตอบแบบตรรกะ ที่ถือเงินเป็นผลตอบแทน จะบดบังเรื่องจริยธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

การวิเคราะห์สถานการณ์พืชจีเอ็มโอ  สะท้อนถึงเรื่องอุปมาอุปมัย "ต้นไม้ดี ย่อมบังเกิดผลดี" (มธ.7:17)  หากเราเชื่อว่า ต้นไม้ที่ดีย่อมมาจากรากที่เต็มไปด้วยชีวิต และสมบูรณ์    เราก็ต้องเอาใจใส่พืชจีเอ็มโอ ที่เป็นผลของลำต้น "เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม" ซึ่งมีราก "บรรษัทที่ทำธุรกิจการเกษตร" (ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง) ซ่อนลึกอยู่ใต้ดิน  ซึ่งไม่ใช่รากเดียวกันที่คำสอนด้านสังคมเรียกร้อง นั่นคือ รากแห่งประโยชน์เพื่อส่วนรวม

6.       การเป็นผู้ดูแลรักษา  มนุษย์ถูกสร้างมาและได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ใช้และดูแลรักษาสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิต  โดยไม่ทำลายธรรมชาติแวดล้อมและระบบสังคม ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง   คำสอนด้านสังคมเรียกร้องให้มนุษย์ทุกคนมีความระมัดระวังและการเคารพเป็นพื้นฐาน  ในการศึกษาและการเปลี่ยนแปลงโลกที่เราได้รับประทานมา    บทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้ดูแลรักษา ที่สืบทอดมาชั่วนานตาปีปรากฏในวัฏจักรชีวิตของเกษตรกร  ที่ใช้ผืนดินเพื่อการเพาะปลูก  เก็บเกี่ยว  ปลูกซ้ำ  และนำผลผลิตจากผืนดินของตน ไปเป็นเครื่องมือสร้างความสมบูรณ์ของสังคม  ด้วยการแบ่งปันผลผลิต และ เมล็ดพันธุ์  แลกเปลี่ยนความรู้การปรับปรุงพันธุ์พืชที่เหมาะสมในสภาพแวดล้อมของตน  องค์ความรู้ที่ถูกถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งนี้  เป็นไปเพื่อการดำรงอยู่ของชีวิต ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ    ภาคเศรษฐกิจที่ใช้ระบบตลาดเป็นตัวกำหนด และใช้กลไกการคุ้มครองลิขสิทธิ์ทางปัญญาแก่นักปรับปรุงพันธุ์พืช และพันธุ์พืชใหม่ ๆ  เพื่อเอื้อประโยชน์บรรษัทธุรกิจข้ามชาติ     กำลังทำลายสิทธิเกษตรกรในฐานะที่เป็นผู้ดูแลรักษาและ ผู้ร่วมสร้างลงไป

7.       ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วม  เราทุกคนต้องมีความรับผิดชอบและมีความโปร่งใสในการดูแลรักษาสิ่งพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต  ซึ่งการกระทำที่แสดงถึงความรับผิดชอบ และโปร่งใสนี้  ต้องเปิดโอกาสให้กับทุกคนได้มีส่วนร่วม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อการใช้วิทยาการที่ก้าวหน้าแนวใหม่นี้  อาทิ เกษตรกรที่ต้องเผชิญกับการบังคับให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ และผู้บริโภคที่ต้องบริโภคผลผลิตจากจีเอ็มโอ ควรมีโอกาสรับรู้และร่วมในกระบวนการตัดสินใจของประเทศ [5] พระศาสนจักรเองก็ต้องกระทำสิ่งใดที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมกับประชาชนในเรื่องนี้ด้วย 


ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ในการตัดต่อพันธุกรรมของพืชและสัตว์  เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกร้องการกระทำจากพระศาสนจักรทุกระดับ ให้ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งเป็นสถานที่ที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิด สามารถดำรงอยู่ด้วยกันอย่างสันติ  ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาข้อมูล  ติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน  และยืนยันถึงจุดยืนของพระศาสนจักร ตามหลักการของคำสอนด้านสังคม ว่าเราต้องใช้เทคโนโลยีที่มาจากความพยายามของมนุษย์ ไปเป็นเครื่องมือทำงานเพื่อพระอาณาจักรของพระเจ้า   โดยที่มีกฎทางศีลธรรมเป็นมาตรการในการตรวจสอบว่า การประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใหม่ๆ  จะถูกใช้เพื่อให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า และเพื่อความดีงามของสังคม  หรือเพื่อสนองความพอใจและผลประโยชน์ของมนุษย์เท่านั้น  ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางความถูกต้องและยุติธรรมของสังคม  อันเป็นการปฏิเสธ พันธกิจร่วมใน"งานสร้าง" ที่ทุกคนได้รับมอบหมายมา


-------------------------------------------------------- 

เอกสารอ้างอิง

ประชาทรรศน์. ปีที่ 9 ฉบับที่ 83 - 84, เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2545

พิเชียร คุระทอง. ผ่าพืชแปลงพันธุ์, สำนักพิมพ์มติชน, พฤษภาคม 2546

ผู้จัดการรายวัน, 28 เมษายน 2546,หน้า 6

Lesseps Roland  SJ, Henriot Peter SJ, Church's Social Teaching and the Ethics GMOs, November 2003.

Kroger Daniel. Genetically Modified Crops : An Assessment from a Christian Ethical Perspective,De La Salle University, Manila, Philippines.

 


[1] การตัดต่อยีน โดยเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)  ซึ่งใช้วิธีการคัดเลือกสายพันธุ์โดยการเจาะจงไปยังยีนที่ต้องการโดยตรง  (แทนที่วิธีการผสมพันธุ์แล้วคัดเลือกลูกผสมที่มีคุณลักษณะตามต้องการ  ซึ่งใช้เวลานาน ) ทั้งด้วยการค้นหายีนตัวใหม่ หรือใช้ยีนที่ทราบอยู่แล้วว่ามีคุณลักษณะ (Traits) ตามต้องการ จากพืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ก็ได้  เมื่อได้ยีนมาแล้ว ก็นำยีนดังกล่าวใส่เข้าไปอยู่ในโครโมโซม (ที่รวมยีน) ภายในเซลล์ของพืช หรือสัตว์อีกชนิดหนึ่งแล้ว  ผลที่ได้คือ สิ่งมีชีวิตที่มีคุณสมบัติเพิ่มเติมหรือต่างไปจากเดิม  หรือ GMOs นั่นเอง

[2] DNA (Deoxyribonucleic acid) เป็นตัวกำหนดลักษณะเฉพาะประจำตัว เช่น ผมสีดำ นัยน์ตาสีฟ้า  ดอกสีม่วงของกล้วยไม้  เป็นต้น DNA อยู่ในลักษณะเกาะตัวกันเป็นสาย เรียกว่า โครโมโซม (Chromosome) บรรจุอยู่ในเซลล์

[3] ปัจจุบันนี้  ร้อยละ 91 ของพืชจีเอ็มโอ ที่ปลูกในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นของบริษัทมอนซานโต้ ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านสารเคมีการเกษตรและจีเอ็มโอ  เกษตรกรที่ปลูกพืชต่างๆ อาทิ ถั่วเหลืองจีเอ็มโอราวด์อัพเรดี้ คาโนล่าจีเอ็มโอ  ฝ้าย BT และข้าวโพด BT ซึ่งเป็นพืชถูดตัดต่อยีนให้ทนทานยาปราบวัชพืชยี่ห้อราวด์อัพของบริษัทมอนซานโต ต้องเซ็นสัญญาซื้อทั้งเมล็ดพันธุ์ราวด์อัพ และยาปราบวัชพืชราวด์อัพ  การผลิตพืชจีเอ็มโอราวด์อัพ ช่วยขยายธุรกิจขายสารเคมีการเกษตรของมอนซานโตมากขึ้น

[4] พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ ข้อ 26

[5] กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศฉบับที่ 251 พ.ศ. 2545 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2545 เรื่องการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากการตัดต่อพันธุกรรม  เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลอาหารที่ได้จากการตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งอาหารที่ได้จากเทคนิคตัดต่อพันธุกรรมต้องมีการแสดงฉลากอาหาร มีดังนี้ ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองสุก ถั่วเหลืองคั่ว  ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือกระป๋อง ถั่วหมัก เต้าเจี้ยว เต้าหู้ (เต้าหู้ทอดน้ำมัน) เต้าหู้แช่แข็ง นมถั่วเหลือง แป้งถั่วเหลือง อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อนเป็นส่วนประกอบ  อาหารต่างๆ ที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง  ข้าวโพด  ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง  ป๊อปคอร์น ข้าวโพดบรรจุขวดหรือกระป๋อง แป้งข้าวโพด  ขนบขบเคี้ยวที่ผลิตจากข้าวโพด และอาหารที่มีข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก  

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >