หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 94 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

รากฐานเทววิทยาแห่งความ(อ)ยุติธรรมในสังคม : อัจฉรา สมแสงสรวง (แปลและเรียบเรียง) พิมพ์
Wednesday, 04 May 2016

รากฐานเทววิทยาแห่งความ(อ)ยุติธรรมในสังคม

โดย อัจฉรา  สมแสงสรวง  แปลและเรียบเรียง

 Image

(1)

บทความนี้ ผู้เขียนคือคุณพ่อ Tissa Balasuriya ซึ่งเป็นนักเทวศาสตร์ชาวศรีลังกา ตั้งใจที่จะนำเสนอบทวิจารณ์ เพื่อตรวจสอบปัญหาของสถานการณ์ความอยุติธรรมด้วยมุมมองทางเทววิทยาของคริสตชน เนื่องจากเป็นทัศนะที่น่าสนใจ จึงขอนำเสนอผ่าน "ผู้ไถ่" ฉบับนี้

เมื่อมองเห็นหัวข้อรากฐานเทววิทยาแห่งความอยุติธรรมในสังคม ในตอนแรกนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นการนำเสนอเรื่องที่ขัดแย้งกันในตัวเอง เพราะว่าเทววิทยาซึ่งเป็นการศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ จำเป็นต้องส่งเสริมความยุติธรรม และเอาใจใส่ต่อทุกๆ คน ด้วยความรักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังที่พระเจ้าทรงเป็นองค์ความรัก กระนั้นก็ดี จากการศึกษาประวัติศาสตร์ ก็ได้พบถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาที่ไม่มีคุณธรรมและสังคมที่อยุติธรรมปรากฏอยู่เช่นกัน

พระเยซูผู้ทรงพระทัยดีสูงสุด ทรงเป็นองค์ความรักและเป็นประกาศก ผู้ทรงยอมตายบนไม้กางเขนเพื่อยืนยันถึงความจริง ความยุติธรรม และการเคารพต่อบุคคลมนุษย์ แล้วเราในฐานะคริสตชนที่อ้างตนว่าเป็นศิษย์ติดตามและเผยแพร่ข่าวดีของพระองค์ยังตกอยู่ท่ามกลางจิตใจที่คับแคบ แก่งแย่งชิงดี เต็มไปด้วยความอยุติธรรมและเหี้ยมโหด ตลอดช่วงประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติจะเป็นเช่นไร

กว่า 500 ปี ที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียและแอฟริกาต่างได้เห็นถึงการถูกกดขี่ข่มเหงจากคริสตชนชาวยุโรปและอเมริกาเหนือ ที่เข้ายึดครองด้วยกำลังอาวุธ และปกครองด้วยอำนาจเด็ดขาด ความสมบูรณ์มั่งคั่งของประเทศเหล่านี้ถูกปล้นไปโดยคริสตชนที่กำชัยชนะ เศรษฐกิจถูกยักย้ายถ่ายมือไปเพื่อสร้างความร่ำรวยให้แก่ผู้ครอบครอง ศาสนาที่พลเมืองของชาตินับถือถูกเหยียดหยาม สถานที่สักการะถูกทำลายลง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกกระทำลงไปด้วยความรู้สึกของผู้มีชัยว่า เป็นการกระทำที่ถูกต้องยุติธรรมแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้มโนธรรมสำนึกแห่งความถูกต้องชอบด้วยเหตุผลของตนเองและภารกิจแห่งการประกาศข่าวดีจะเกิดขึ้นอย่างไร มันขึ้นอยู่กับพลังชีวิตภายในที่ก่อเกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยอาศัยเทววิทยาที่แพร่หลายในยุคสมัยต่างๆ หลังจากศตวรรษที่ 4 นักมานุษยวิทยาที่เป็นนักบวชคณะออกัสติเนียนได้สอนว่า มนุษย์ทุกคนตกต่ำลง เพราะบาปกำเนิดจากบิดามารดาคู่แรก บาปของเขาทั้งสองได้ส่งทอดต่อมนุษยชาติรุ่นแล้วรุ่นเล่า และเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ประตูสวรรค์ ยกเว้นผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปเท่านั้น การไถ่กู้ขององค์พระเป็นเจ้า สามารถเป็นไปได้โดยผ่านทางพระคริสต์และโดยบรรดาสมาชิกของศาสนจักรเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ภารกิจของคริสตชนจึงถูกตีความไปว่าเป็นการช่วยกอบกู้ดวงวิญญาณที่ตกต่ำของมนุษยชาติ ดังนั้น คริสตชน (โดยเฉพาะชาวตะวันตก) จึงมีหน้าที่อันทรงเกียรติในการออกไปทั่วทุกมุมโลกและช่วยให้เกิดการกลับใจเป็นคริสตชน ด้วยวัตถุประสงค์และการรับใช้ที่ยิ่งใหญ่นี้ จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมว่า พวกนอกศาสนาต้องถูกปกครองโดยคริสตชนและถ้าหากจำเป็นก็ต้องปราบเอาชัยชนะ ดังนี้ สงครามศักดิ์สิทธิ์ในที่ต่างๆ จึงเกิดขึ้น อาทิ สงครามครูเสด ส่วนศาสนาอื่นๆ ก็ถูกมองว่า เป็นศาสนาจอมปลอมและไม่มีสิทธิ สถานที่สักการบูชาต่างๆ ถูกทำลายลง เช่นนี้ การก่อเกิดทางเทววิทยาและความชอบธรรมตามกฎหมายจึงเกิดขึ้น จากทัศนคติที่คับแคบทางศาสนานั่นเอง

 

(2)

ชีวิตภายในที่ค้ำจุนความอยุติธรรม

      Image 
      ภาพจาก www.lavigerie.nl   

ในขณะที่การไถ่กู้วิญญาณเป็นเป้าหมายสูงสุดของศาสนจักร สิ่งที่เป็นความสำคัญในชีวิตภายใน ก็คือการเผยแพร่ข่าวดี ถึงแม้ว่าความอยุติธรรมทางสังคมนี้สามารถเป็นที่ยอมรับได้ และแม้แต่บางครั้งก็ได้รับประโยชน์จากความอยุติธรรมนี้ เพราะว่าคริสตชนที่มีอำนาจคือพวกขาว จึงหมายความว่าการครอบงำของพวกขาวต่อชนชาติอื่น เป็นเรื่องที่ถูกทำนองคลองธรรมและในการกดขี่เผ่าพันธุ์อื่นๆ นั้น ก็หมายรวมไปถึงการเลือกปฏิบัติทางสังคมและทางเพศอีกด้วย ชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ คือ ชีวิตที่เชื่อฟังต่อผู้มีอำนาจทางศาสนาและกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ ศักดินานิยมและการค้าทาสจึงเป็นที่ยอมรับกันในช่วงเวลายาวนาน ความไม่เป็นธรรมของระบบทุนนิยมและลัทธิล่าอาณานิคมก็ไม่ได้ถูกคัดค้านอย่างจริงจังจากบรรดานักเทวศาสตร์และผู้นำทางศาสนาเป็นเวลาหลายๆ ศตวรรษทีเดียว

และโดยความเป็นจริงเพราะว่าเพศชายเป็นผู้ปกครองในสังคม เขาได้ยืนยันและตอกย้ำความเป็นผู้นำในทางศาสนา เทววิทยาได้รับการพัฒนาไปในด้านที่ถือว่าเพศชายเป็นผู้ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากกว่าเพศหญิง ผู้หญิงถูกกำหนดว่าเป็นผู้อ่อนแอกว่า เต็มไปด้วยเสน่ห์ล่อลวงและต่ำต้อยกว่าผู้ชาย ลัทธิที่ถือเพศชายเป็นใหญ่และถือว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่ง มีทัศนะว่าจักรวาลได้ละเลยธรรมชาติที่ค้ำจุนการดำรงอยู่ของมนุษย์ในพิภพนี้

นี่เป็นตัวอย่างของเทววิทยาว่าด้วยการครอบครองและชีวิตฝ่ายจิตที่มีอิทธิพลครอบงำและใช้บังคับในโบสถ์ของคริสตชนตามที่ต่างๆ จนถึงยุคสมัยของเรานับตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ที่มีการกลับใจของกษัตริย์คอนสแตนตินในอาณาจักรโรมัน (ค.ศ.272 - 337) แม้แต่ในยุคสมัยใหม่นี้ บรรดานักคิดผู้พยายามทบทวนถึงบทบาทความเป็นคริสตชนขึ้นใหม่ที่สัมพันธ์กับข่าวดีดั้งเดิมของพระเยซูเจ้า ก็ถูกควบคุมโดยข้อกำหนดทางเทววิทยาของศาสนจักรคาทอลิก ดังนั้น บรรดานักเทวศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงใหม่ของศาสนจักรในยุควาติกัน ที่ 2 ต่างได้รับการขัดขวางหรือการนิ่งเงียบจากผู้นำระดับสูงในศาสนจักรโรมันคาทอลิก

 

(3)

การเปลี่ยนแปลงใหม่

นับเป็นโชคดีที่พระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ผู้มีความริเริ่มตั้งใจดีในสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 (1962 - 1965) ได้พยายามก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและการปฏิบัติในศาสนจักรคาทอลิกให้เปิดกว้าง มีการยอมรับและมีส่วนร่วมในกลุ่มสถาบันและชุมชนมากขึ้น มีการทบทวนใหม่ถึงภารกิจของศาสนจักรว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสังคมมนุษย์ ให้มีความเคร่งครัดซื่อสัตย์มากขึ้นต่อคุณค่าทางศาสนาที่พระเยซูได้ทรงสั่งสอนไว้ มีการตีความเป้าหมายของศาสนจักรว่านำมาซึ่งอาณาจักรของพระเจ้าในโลกนี้ ด้วยกฎแห่งความชอบธรรมและความยุติธรรมในสังคมก็ถือเป็นส่วนที่ครบครันในข่าวดีของพระเยซูเจ้า และในภารกิจของพระศาสนจักร

ในช่วงระหว่างทศวรรษที่ 60 ถึง 70 มีความพยายามมากมายเกิดขึ้นทั่วโลกที่จะให้พระศาสนจักรมีความเปลี่ยนแปลงในความเข้าใจถึงข่าวดีของพระเยซูเจ้าเสียใหม่ คริสตชนจำนวนมากได้เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสังคมหลายครั้งหลายคราทั่วทุกทวีป ในยุโรปและอเมริกาเหนือก็ได้พัฒนาแนวคิดเทววิทยาด้วยความใจกว้างยอมรับซึ่งเสรีภาพและความยุติธรรมมากขึ้น

เทววิทยาว่าด้วยการไถ่กู้หลายฉบับ ก็ได้รับการพัฒนาก้าวหน้าไป เฉพาะอย่างยิ่งทวีปที่อยู่ทางใต้ เช่น พวกผิวดำ (ในยุคแรกๆ ของทวีปอเมริกาเหนือ) ก็ได้สะท้อนถึง "ข่าวดี" เรื่องอิสรภาพของคนผิวดำจากการถูกกดขี่โดยคนขาว ขบวนการผู้หญิงหลายๆ แห่งได้เกิดขึ้นเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งศักดิ์ศรีและสิทธิที่เท่าเทียมกันในบริบทของเทววิทยาด้วยเช่นกัน เทววิทยาแบบเอเชียก็ได้แสวงหาลึกลงไปถึงความเข้าใจในเรื่องศาสนสัมพันธ์และความยุติธรรมสากล

ได้มีการตั้งคำถามจากบรรดากลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ถึงรูปแบบของเทววิทยาที่มีอิทธิพลในยุคต้นๆ และสมมติฐาน รวมทั้งเงื่อนไขที่มีมาก่อนอยู่แล้วของเทววิทยานั้น และผลที่บังเกิดขึ้น พวกเขาได้สรุปรวบยอดความคิดของคริสตชนเสียใหม่ว่าควรจะมีการเปิดตนเองไปสู่การเสวนากับศาสนิกชนในศาสนาอื่นๆ และร่วมในการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะประเด็นความสัมพันธ์ของบทบาทชายหญิงและความยุติธรรมในสังคม ดังจะเห็นได้จากคริสตชนที่มีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นในขบวนการไถ่กู้ เช่น ในนิคารากัว แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ รวมทั้งขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของคนผิวดำและผู้หญิงในอีกหลายๆ ประเทศ

การแพร่หลายของทฤษฎีและภาคปฏิบัติของขบวนการไถ่กู้ ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอันตรายต่อการสร้างระบบกฎเกณฑ์ของสังคมและในศาสนจักร หากนับย้อนหลังไปราวๆ ช่วงกลางของทศวรรษ 1970 ได้มีความพยายามต่อต้านเพื่อป้องกันการแพร่หลายของแนวโน้มดังกล่าว และได้เกิดความพยายามเพื่อการฟื้นฟูขึ้นมาในช่วงหลังๆ ของสมัยพระสันตะปาปาปอล ที่ 6 (1963 - 1978)  ซึ่งกระแสนี้ได้ขยายอิทธิพลไปในศาสนจักรคาทอลิกหลายๆ แห่งในสมัยของพระสันตะปาปาองค์ปัจจุบัน (พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2)  ซึ่งพระองค์ได้ทรงประกาศจุดยืนอย่างแน่ชัด ในการต่อต้านระบบคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโปแลนด์ประเทศบ้านเกิดของพระองค์เอง และทรงสนับสนุนส่งเสริมความยุติธรรมและสันติภาพดังปรากฏในสารฉบับต่างๆ ของพระองค์ อย่างไรก็ตาม ยังมีการยืนยันของแนวคิดอนุรักษ์ที่เรียกร้องให้มีการกลับใจโลกทั้งหมดให้เป็นคริสตชน มีผู้มีอำนาจในวาติกันบางคนได้พยายามที่จะปิดกั้นกระแสการปฏิรูปใหม่ที่ขึ้นมาในศาสนจักร ซึ่งท่านเหล่านั้นมีความได้เปรียบเนื่องจากเป็นผู้มีส่วนแต่งตั้งพระสังฆราชทั่วโลก

 

(4)

การเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของคริสตชน

  Image    
  ภาพจาก www.picgifs.com    

ในประเทศตะวันตกหลายๆ ประเทศ การขยายตัวของลัทธิปฏิเสธศาสนากำลังนำไปสู่จำนวนที่เพิ่มทวีของประชาชนที่อยู่นอกศาสนา จำนวนคริสตชนที่ไปวัดสม่ำเสมอในทวีปยุโรป โดยส่วนมากจะมีไม่เกิน 10% ของจำนวนประชากรที่คิดว่าตนเองยังเป็นคริสตชน พระสงฆ์มีอายุมากขึ้น จำนวนพระสงฆ์ก็ลดลงอย่างรวดเร็ว สถาบันบ้านเณรหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงของการปิดตัวเองหรือต้องรวมกันเป็นกลุ่ม เนื่องจากกระแสเรียกลดลงอย่างรุนแรง โบสถ์สำคัญๆ หลายๆ แห่งต่างก็มีจำนวนมิชชันนารีต่างชาติใหม่ๆ ที่มาจากประเทศทางตะวันตกน้อยลง แม่แต่ศาสนจักรคาทอลิกดั้งเดิมในโปแลนด์และในไอร์แลนด์ก็กำลังประจักษ์ในความจริงว่า พวกเขาไม่สามารถใช้กุศโลบายทางการเมืองและบรรทัดฐานทางศีลธรรมจากการปกครองของศาสนจักรได้อีกต่อไป ดังเช่นกระแสการเลือกตั้งและผลการแสดงประชามติที่ผ่านมา

ในอีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโบสถ์หลายๆ แห่ง และในกลุ่มคริสตชนต่างๆ ในหลายๆ ประเทศของเอเชียและแอฟริกาก็เต็มไปด้วยชีวิตชีวา มีการพัฒนาเทววิทยาในเรื่องของการเคารพต่อศาสนาอื่นๆ มากขึ้น เพื่อก่อให้เกิดความยุติธรรมในสังคมและความเท่าเทียมกันในความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง รวมทั้งการคำนึงและห่วงใยในธรรมชาติ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ได้ทำงานร่วมกับขบวนการประชาชนต่างๆ ที่ต้องการทางเลือกใหม่ในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจที่ปัจจุบันนี้ถูกครอบงำโดยบรรษัทข้ามชาติและองค์กรนานาชาติอื่นๆ เช่น องค์กรเงินทุนระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และองค์การค้าโลก (WTO)

การเสวนาของคริสตชนในเอเชียกับศาสนิกชนอื่นๆ กำลังนำไปสู่การพิจารณาทบทวนมูลฐานของสมมติฐานที่มีมาก่อนแห่งเทววิทยาของคริสตชนที่มีอิทธิพลในยุคแรก พวกเขากำลังค้นหาที่มาของตนเอง โดยการกลับไปสู่ต้นกำเนิดในองค์พระเยซูจากพระวรสาร และคำสอนดั้งเดิมของศาสนาที่สืบทอดมา และกำลังประเมินถึงสาระสำคัญๆ ของเทววิทยาว่าด้วยการครอบครอง อาทิ ความยากลำบากของมนุษย์ และบาปต้นกำเนิด, การไถ่กู้, บุคคลภาพ, เอกลักษณ์, ประเมินถึงสาระสำคัญๆ ของบทบาทของพระเยซูผู้ทรงเป็นพระคริสต์ และบทบาทของศาสนจักรในการช่วยกอบกู้ นอกจากนี้ พวกเขายังยืนยันอีกครั้งถึงศูนย์รวมแห่งความรักและความยุติธรรมว่าเป็นเรื่องที่อยู่เหนือกฎหมาย และการนับถือศาสนาเพียงภายนอก หลายๆ ประเทศในเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดียและศรีลังกาที่ถูกศาสนจักรแนวอนุรักษ์มองว่าเป็นศูนย์กลางของกระแสดังกล่าวนี้

 

 (5)

ความขัดแย้งภายใน

      Image 
    ภาพจาก www.pkncapelle.nl   

จากปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องเทววิทยาอย่างเอาจริงเอาจังภายในศาสนจักรคาทอลิก และยิ่งกว่านั้น ยังเกิดความขัดแย้งกันขึ้นในศาสนจักรบางแห่ง ผู้ที่มีอำนาจในศาสนจักรบางครั้งก็ใช้การคว่ำบาตรทางศาสนาเข้าควบคุมผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งสร้างความไม่พึงพอใจตามมา การเปลี่ยนแปลงใหม่นี้อาจถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการไม่ซื่อสัตย์จงรักภักดี และบางครั้งการใช้มาตรการคว่ำบาตรทางศาสนาก็เพื่อปราบปรามผู้ที่มีความคิดยืนหยัดเหนียวแน่นในสิ่งที่ศาสนจักรมองว่าเป็นเรื่องที่ผิดพลาด

มีการอ้างเหตุผลว่าคริสตชนทั้งหลายควรยอมรับเทววิทยาด้วยการครอบครองนี้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะมันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมของศาสนจักร และหากมีการตั้งคำถามถึงความเชื่อขั้นพื้นฐาน ก็จะถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอัปยศอย่างยิ่ง มีการโต้เถียงกันว่าคริสตชนต้องสุภาพ อ่อนน้อม ต้องเชื่อฟังต่อผู้ปกครอง ต้องดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกภาพและกรรมสิทธิ์รวมของพระศาสนจักร และไม่ให้โอกาสแก่กลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะพวกที่เรียกว่าพวกคลั่งศาสนาที่จะมาชี้หน้ากล่าวหา

บรรดานักปฏิรูปด้านคริสตศาสนามีความคิดว่า ในชีวิตภายในของพวกเขาจำเป็นต้องให้ความภักดีต่อความจริง, ความซื่อสัตย์ต่อการแสวงหาสัจธรรมในสถานการณ์ปัจจุบัน และแม้แต่การอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากที่เกิดขึ้น ความสัตย์ซื่อต่อมโนธรรมเป็นความปรารถนาที่แท้จริง แต่สำหรับนักจารีตประเพณีนิยมแล้ว พวกเขาเห็นว่า การสนับสนุนผู้ที่มีความเชื่อมั่นดังกล่าว ดูเหมือนว่าเป็นพวกดื้อดึงหัวแข็ง พวกที่ถูกหลอกลวงและผู้ที่ทำให้เกิดการแตกแยกในชุมชน ส่วนผู้ที่พิทักษ์ศาสนาดั้งเดิมถือว่าความคิดดังกล่าวเป็นความคิดที่ผิดพลาดและควรที่จะทำให้ความคิดนี้หมดไปด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งให้จงได้

กระนั้นก็ดี ในบางครั้ง แม้แต่การใช้อำนาจกฎหมายของพระศาสนจักรก็ยังปราศจากกระบวนการทางกฎหมายที่เหมาะสม และการแสดงให้เห็นหรือการบังคับใช้ประโยชน์จากบทลงโทษของศาสนา อาจจะไม่ก่อให้เกิดผลต่อความเชื่อและเจตจำนงที่ดีได้ การเสวนาภายในพระศาสนจักรดูเหมือนจะมีความสำคัญพอๆ กับการเสวนาระหว่างศาสนาอื่นๆ ทีเดียว  ซึ่งในส่วนหลังนี้ดูเหมือนจะไม่ก้าวหน้าไปไกลหากปราศจากส่วนแรก หรือการเสวนาระหว่างศาสนา หรือศาสนสัมพันธ์ อาจจะก่อให้เกิดประเด็นต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการเสวนาภายในศาสนจักรด้วยกันเอง

ผู้ที่ห่วงใยต่อความยุติธรรมในสังคมต้องตระนักถึงสภาพปัญหาต่างๆ นี้ และช่วยให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการของการอุทิศตนเพื่อความยุติธรรมในสังคม และความก้าวหน้าของเทววิทยาและชีวิตภายในของคริสตชน ทั้งนี้ภายในศาสนจักรเองยังคงมีช่องว่างของความเชื่อระหว่างกลุ่มที่มีความคิดเห็นรุนแรงกับกลุ่มนิยมความเชื่อดั้งเดิมที่เพิ่มมากขึ้น บ้างเป็นพวกสุดขั้วทางสังคมและอนุรักษ์ไว้ซึ่งการแสดงออกทางความเชื่อและการเคารพบูชา ศาสนจักรในเอเชียปรารถนาเป็นอย่างยิ่งต่อการปรับเปลี่ยนเทววิทยาของคริสตชนขึ้นใหม่ให้เป็นแบบพระคริสต์มากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ก็อาจจะนำไปสู่สถานการณ์ที่ขัดแย้ง ตราบใดที่ความยุติธรรมในสังคมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อความยุติธรรม จำเป็นต้องมีการทบทวนใหม่ถึงพื้นฐานของความเชื่อทางศาสนาและการปฏิบัติที่มีส่วนช่วยให้สังคมมีความยุติธรรม ความสงบสันติและความเสมอภาคเท่าเทียมกันมากขึ้น ดังตัวอย่างของประเทศศรีลังกา ที่ประสบการณ์ของพลังศาสนาที่มีชีวิตชีวา มีความตื่นตัวเรื่องสังคมและเต็มไปด้วยมโนธรรมสำนึกในความสัมพันธ์ของบทบาทชายหญิง ก็เป็นส่วนผลักดันให้เกิดความยุติธรรมในสังคม ความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ คือการปรึกษาหารือหรือการเสวนาถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งภายในศาสนาเดียวกันเอง และระหว่างศาสนาอื่นๆ ด้วย

Tissa  Balasuriya

 

------------------------------

จาก ผู้ไถ่ ฉบับที่ 40
  พฤษภาคม - สิงหาคม 2539
การพัฒนาคน



เว็บ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >