หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 37 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


จิตวิญญาณผู้หญิง : ตำนาน ความเชื่อ และเรื่องเล่า พิมพ์
Wednesday, 27 April 2016

จิตวิญญาณผู้หญิง :

ตำนาน ความเชื่อ และเรื่องเล่า

จากการบรรยายจิตวิญญาณผู้หญิง เรื่องเล่าและตำนาน-
ก่อนยุคประวัติศาสตร์ : ไพรินทร์  โชติสกุลรัตน์

ถอดความโดย อัจฉรา สมแสงสรวง

                                                                                                           

ทำไมจึงมีการศึกษาเรื่องจิตวิญญาณผู้หญิง 

คำถามเบื้องต้นสำหรับเราๆ ท่านๆ  นี้ไม่ใช่คำถามที่แปลก   เพราะในวงการศาสนา หรือการศึกษาจิตวิญญาณทั้งหลาย ในยุคประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา   อยู่ในการตีความหรือการบันทึก หรือการสอนโดยผู้ชาย เป็นหลัก (history) จนสังคมยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ  ดังนั้นเมื่อมีกลุ่มผู้ศึกษาริเริ่มทำความเข้าใจในเรื่องของผู้หญิงและจิตวิญญาณที่เป็นแก่นแท้ในตัวเธอ (herstory)  ก็เริ่มปรากฏความสงสัย ไม่เห็นด้วย   ด้วยเกรงว่าจะนำไปสู่ความแปลกแยก  แต่ที่สุดแล้ว  การศึกษาจิตวิญญาณผู้หญิงควรนำไปสู่ความเข้าใจสังคมมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น  

จากหลักฐานทางโบราณคดี ในยุคก่อนประวัติศาสตร์  (ประมาณกว่า 25,000 ปีมาแล้ว) จากเทือกเขาไพเรนีสในยุโรปตอนใต้ ไปจรดไซบีเรีย  จากเมดิเตอร์เรเนียน  สู่เมโสโปเตเมีย   ที่ผู้หญิงได้รับการยกย่องผ่านตำนานเรื่องเล่า ในฐานะของเทพสตรี  กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ที่ค้นพบจากรูปปั้น  รูปแกะสลักหิน  กระดูกสัตว์  งาช้าง หรือภาพวาดบนผนังหิน  เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงเช่น นกกระเรียน เป็ด ห่าน นกพิราบ นกเค้าแมว  หมี ผีเสื้อ และ ผึ้ง เป็นต้น   ต่อมามีการแกะสลักรูปร่างของผู้หญิง   มีทั้งรูปร่างที่ยาว  หรือร่างอ้วนกลมคล้ายกับการตั้งครรภ์  บนส่วนที่เป็นร่างกายจะมีภาพลายเส้น รูปทรงสามเหลี่ยม  ซิกแซก วงกลม ก้นหอย  ภาพใบไม้   และมักจะปรากฎสีเหลืองอ่อน หรือส้มแดงอยู่บนรูปแกะสลัก และภาพวาดเหล่านั้น ซึ่งมีการอธิบายว่า  สีดังกล่าว หมายถึงเลือด การให้ชีวิต หรือการถือกำเนิดใหม่   และตำแหน่งที่ค้นพบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้าน  บริเวณเตาอบขนมปัง  ตามลุ่มน้ำ ถ้ำ และแหล่งกสิกรรม  หลักฐานเหล่านี้ดำรงอยู่ ผ่านยุคประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ  โดยปราศจากการบันทึกใดๆ   ดังนั้น  ยุคก่อนประวัติศาสตร์  จึงมีอะไรบางอย่าง ซึ่งยุคประวัติศาสตร์มองไม่เห็น  เป็นประสบการณ์ที่สำคัญของมนุษยชาติ  แต่กลับยากที่จะศึกษา  เพราะไม่มีลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้  การศึกษาของนักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา  และผู้สนใจศึกษาจิตวิญญาณผู้หญิง  โดยผ่านรูปแกะสลัก รูปปั้น รวมไปถึงคติความเชื่อที่สืบทอดกันมา   เพื่อเข้าใจว่ายุคดังกล่าวพยายามตีความสังคมเป็นอย่างไร  ต่างก็พบว่า  ในยุคที่ปราศจากการบันทึกนั้น เป็นยุคที่ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของสังคมเป็นส่วนใหญ่  บรรพชนทั้งชายและหญิงต่างเคารพบูชาเทพสตรีว่าเป็นพระแม่ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เป็นมารดาของเหล่าเทพทั้งชายหญิง   ในช่วงที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ ทัศนคติเกี่ยวกับชีวิต  สะท้อนออกมาอย่างเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล  ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง  มีพลัง  และไม่อาจล่วงละเมิดได้    มนุษย์  โลก และสรรพชีวิต ต่างถักทอร้อยรัดเข้าด้วยกันเป็นโครงข่ายของจักรภพ

จนถึงเมื่อ 4,000 ปีก่อน  ที่บทบาทของเทพเจ้า (บุรุษ) เริ่มปรากฏขึ้น  ในฐานะของผู้พิชิต และใช้บทบาทของผู้นำในการออกกฎเกณฑ์ เพื่อจัดระเบียบความวุ่นวายของสังคม      ซึ่งทำให้โลกฝ่ายจิตวิญญาณ  และกายภาพ แยกออกจากกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ จิตใจแยกออกจากวัตถุ  วิญญาณแยกออกจากร่างกาย   ความคิดออกจากความรู้สึก  เหตุผลออกจากสัญชาติญาณ  สติปัญญาออกจากการหยั่งรู้   ซึ่งหากตีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น คือ บรรดาเทพสตรีทั้งหลายถูกกลบลบหายไปจากความเชื่อ และความคิดคำนึงของผู้คน โดยเฉพาะในยุคกลาง      มีการใช้ความรุนแรงในการกวาดล้างผู้หญิงที่เลื่อมใสในเทพสตรี   โดยกล่าวหาว่าพวกเธอเป็นแม่มด คนเลื่อมใสปีศาจ    ซึ่งผลของความแตกแยกนี้  นำไปสู่การแข่งขันมากกว่าการร่วมมือ ความเป็นเอกเทศมากกว่าความสมบูรณ์ครบครัน  และเป็นปัจจัยต่อการวางรากฐานโลกทางวิทยาศาสตร์   โลกที่ให้ความสำคัญแก่มนุษย์มากกว่าพระเจ้า  โลกที่ละเลยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งสร้างและสิ่งสูงสุด  

ดังนั้น  การศึกษาจิตวิญญาณของผู้หญิงจากเรื่องเล่าของเธอในอดีต (herstory)  จะช่วยให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่อย่างผสานกลมกลืนกับส่วนอื่นๆ ของสิ่งสร้าง   เรื่องเล่าผ่านรูปแกะสลัก และตำนานต่าง บ่งบอกว่า  ผู้หญิงเป็นเพศที่มีความอ่อนไหว และผสมผสาน ผู้หญิงเข้าใจถึงชีวิตและความตายทางฝ่ายเนื้อหนังดีกว่าผู้ชาย แม้ว่าเพศชายถูกสร้างมาในความสมบูรณ์กว่าเพศหญิง   ผู้หญิงในอดีตดำเนินชีวิตที่เป็นวัฏจักรสัมพันธ์กับธรรมชาติ  สืบเนื่องมาจากการมีประจำเดือน   ผู้หญิงมีสรีระที่เล็กกว่า บอบบางกว่าผู้ชาย จึงอ่อนแอกว่าผู้ชาย  หากได้รับอุบัติเหตุ หรือบาดเจ็บ  ดังนั้น เธอจึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับความอ่อนไหว และเปราะบางของชีวิตได้ดีกว่าผู้ชาย  โดยเฉพาะการเป็นแม่ผู้ทะนุถนอมฟูมฟัก  และปกป้องลูกๆ  จากภยันตรายและความทุกข์ยาก

 

เทพสตรีแห่งงานสร้างสรรค์และความอุดมสมบูรณ์ในแอฟริกา

 Image
รูป: เทพสตรีแห่งเขาสัตว์ (Horned Goddess), แอลจีเรีย  
(จากเว็บ : heartgoddess.net) 

ในงานศึกษาของ Dr. Lucia Chiavola Birnbaum  และนักวิชาการท่านอื่นๆ  ได้ศึกษาถึงเทพสตรีในทวีปแอฟริกายุคหินเก่า (50,000 ปี ก่อนคริสตกาล)  พบว่า บรรพบุรุษในอดีตนั้น  มีการสืบทอดชีวิต และจิตวิญญาณอย่างแนบแน่น  รูปแกะสลักและภาพวาดเทพสตรีแอฟริกัน  ถูกค้นพบมากมายตั้งแต่ตอนเหนือ คืออียิปต์ เรื่อยไปจนถึงทางใต้ คือ ซิมบับเว  อาทิ เทพสตรีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ในแอลจีเรีย (หรือเทพสตรีแห่งเขาสัตว์)   ที่เต้นรำในทุ่งข้าว บนศีรษะมีเขาสัตว์ ที่ปรากฎรูปของเมล็ดพืช และสายฝนที่กำลังโปรยปราย  แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์

ในอียิปต์ ก่อนยุคราชวงศ์  ก็มีรูปเทพสตรีในท่ายืนเหมือนกำลังจะบิน  มีศีรษะเป็นนก มีหน้าอกอย่างมนุษย์ และสองมือที่ถืออาวุธยื่นออกไป   การอธิบายเรื่องพลังอำนาจตามความเชื่อยุคก่อนบุพกาล ถือว่านกเป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณมนุษย์ ซึ่งการอธิบายเช่นนั้น   ได้ช่วยปกป้องการลดจำนวนของนก ในปัจจุบัน ด้วยเช่นกัน

 

 Image
รูป: เทพสตรีแห่งท้องฟ้ายามค่ำคืน (Nut), อียิปต์  
(จากเว็บ : www.crystalinks.com) 



เทพสตรีที่น่าสนใจอีกองค์หนึ่ง คือ Nut (อ่านว่า Noot  แปลว่า night)  เป็นเทพสตรีของท้องฟ้ายามค่ำคืน  เป็นราชินีแห่งสรวงสวรรค์  ผู้ให้กำเนิดดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์  และที่หน้าอก มีหยดน้ำนมที่ไหลลงมาเสมือนสายฝน ที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต

   

 

 Image
รูป: เทพสตรี Isis,  อียิปต์ 
(จากเว็บ : www.todocoleccion.net)
  

นอกจากนี้ ยังมี เทพสตรี Isis (ลูกสาวของ Nut)   ผู้ที่ชาวอียิปต์นับถือว่าเป็นแม่ที่ยิ่งใหญ่  ผู้ให้ชีวิต  เธอมีคู่ชีวิตนามว่า Osiris   ซึ่งเป็นพี่น้องกันและรักกันตั้งแต่อยู่ในท้อง   เมื่อเติบโตขึ้นเป็นสามีภรรยากัน และปกครองอียิปต์   Osiris  เป็นผู้แนะนำด้านเกษตรและเคารพเทพเจ้า  ส่วน Isis มีหน้าที่สอนเรื่องการทอผ้า  ผู้ถูกน้องชายชื่อ Seth ฆ่าตาย  เทพ Isis ดั้นด้นค้นหาผู้เป็นที่รักทุกหนแห่งเป็นเวลาหลายปี  และในที่สุดได้รวบรวมชิ้นส่วนร่างกายของสามีที่ถูกตัดออกเป็นชิ้นๆ  และช่วยฟื้นชีวิตขึ้นใหม่  หลังจากนั้นก็ให้กำเนิดบุตรนามว่า Horus   เทพสตรี Isis เป็นต้นตำนานของพระแม่มารีย์ฉวีดำ ( Black Madonna )  ทั้งเธอและ Osiris เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำไนล์   ชาวอียิปต์มีความเชื่อว่าอำนาจของเทพสตรี เป็นที่มาของราชินีในยุคประวัติศาสตร์   เทพสตรี Isis เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ซื่อสัตย์ และแม่ที่มีความเชื่อมั่นและสร้างสรรค์ ผู้อยู่เบื้องหลังและให้อำนาจต่อความสำเร็จของฟาโรห์ Horus   เรื่องราวของเธอบอกเล่าถึงความเป็นเพศหญิง คือคุณลักษณะอันล้ำเลิศที่ผู้หญิงได้เข้าถึงรหัสธรรมของการมีชีวิตอยู่  นั่นคือการให้ชีวิตใหม่ และความตาย 

 

ในตำนานของชาวแอฟริกัน ยังมีตัวอย่างของ  Makeda ราชินีแห่ง Sheba ซึ่งเป็นสตรีผู้ผสานสติปัญญาเข้ากับพลังเวทมนตร์ในตำนานของราชินีแห่งอาฟริกัน ดังบทกลอนที่สะท้อนถึงสติปัญญาอันชาญฉลาดของเธอว่า หวานล้ำกว่ามธุรสใดๆ    อิ่มใจ กว่าเหล้าองุ่น  สว่างไสวยิ่งกว่าพระอาทิตย์ ---หล่อหลอมดวงจิตสู่ความเข้าใจ   ซึ่งสะท้อนถึงราชินีและเทพสตรีของแอฟริกา ในฐานะผู้เลี้ยงดูมนุษย์  ผู้เอาใจใส่ทะนุถนอมลูกหลานด้วยความรัก  ผู้ยกย่องเอกภาพของความเป็นสามีภรรยา  ผู้สนับสนุนให้แต่ละคนใช้พรสวรรค์และความคิดสร้างสรรค์   แต่ในปัจจุบันนี้ เรายังสามารถนำเอาคุณลักษณะและคุณค่าที่เทพสตรีในอดีตมีอยู่ มาเป็นพลังกระตุ้นให้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงดำเนินชีวิตในคุณค่าที่ปรากฎในตัวผู้หญิงของอดีตได้หรือไม่

 

เทพสตรีในตะวันออกกลาง สัญลักษณ์ของชีวิตสมรสที่ศักดิ์สิทธิและเสรีภาพ

ตำนานชีวิตรักอันศักดิ์สิทธิของเทพสตรี Inanna  กับ Damuzi ชายผู้เป็นที่รัก เป็นรากฐานสำคัญของศาสนาในอารยธรรมเมโสโปเตเมียโบราณ  ดังเช่นในอียิปต์ ที่ยังรื้อฟื้นถึงความเชื่อถึงเทพเจ้าแห่งความรักที่สัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินเช่นนี้ ทุกปี  

ในยุคของเทพสตรี Inanna  (5,000 ปีก่อนคริสตกาล) เริ่มปรากฎอารยธรรมซูเมอเรียน (ถือเป็นอารยธรรมแรกที่มีการประดิษฐ์อักษร)   ที่ผู้ชายเป็นใหญ่   จารึกเรื่องราวของเธอถูกค้บพบในวิหารบูชา Inanna   จากการที่เธอลงจากโลกสววรค์ ไปสู่โลกใต้บาดาล 3 วัน [1] เพื่อเยี่ยมพี่สาว Eriskigal  ผู้ปกครองโลกใต้บาดาล  ชีวิตของ  Eriskigal นั้น  ถูกสามีข่มขืนหลายครั้ง   ในการเดินทางสู่โลกใต้บาดาลนั้น Inanna ต้องผ่านด่าน  7 ชั้น  ซึ่งแต่ละชั้นนั้นเธอถูกลดเกียรติ และถูกบังคับให้ถอดอาภรณ์ของราชินีออกแต่ละชิ้นจนเปลือยกาย   ทำให้คุณลักษณะและสัญลักษณ์ของอำนาจ ที่เธอครอบครองอยู่ถูกทำลายจนหมด [2] ในที่สุดเมื่อ เธอถึงโลกใต้บาดาล  พี่สาวได้มองเธอด้วยสายตาแห่งความตาย   Inanna ตายและร่างของเธอถูกแขวนไว้จนเน่า  ซึ่งต่อมามีสาวใช้ที่ซื่อสัตย์มาช่วยเธอ  และเป็นเพราะ Damuzi ผู้เป็นสามีไม่ต้องการสละชีวิตเพื่อรักษาชีวิต Inanna ไว้  เขาจึงต้องคำสาปให้มีชีวิตอยู่ในโลกใต้บาดาลทุกๆ ครึ่งปี   เรื่องราวชีวิตแสนรันทดเช่นนี้ ถูกตีความไปต่างๆ นานา   ชีวิตของ Eriskigal  สะท้อนถึงสังคมที่ชายเป็นใหญ่  ถ้าผู้หญิงถูกล่อลวง และถูกข่มขืนแล้ว  ไม่มีผู้หญิงคนใดจะดำรงชีวิตอย่างเสรี เหมือนกับไม่มีอะไรเสียหายได้อีก  ในขณะที่  Inanna เลือกที่ลงไปโลกใต้บาดาล เพื่อฟื้นฟูเอกภาพของชีวิตภายในและสังคม  ซึ่งโลกใต้บาดาลในความหมายเชิงสังคม หมายถึงชีวิตภายใน  ที่สัมพันธ์กับความรู้สึกนึกคิด และสัญชาติญาณของมนุษย์  

ต่อมา  4,300 ปี ก่อนคริสตกาล ในตำนานพื้นเมืองของชาวยิว มีเรื่องเล่าของ Lilith  ซึ่งเป็นนกฮูก  (หมายถึง สติปัญญา) ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่พระเจ้าสร้างมา พร้อมกับอาดัม  แต่ lilith เป็นผู้หญิงที่ต้องการความเสมอภาคจากอาดัม  เธอไม่ต้องการถูกปฏิบัติเพศที่ "สอง"  - ไม่ต้องการอยู่ภายใต้เรือนร่างของอาดัม ระหว่างมีเพศสัมพันธ์  ไม่ต้องการให้อาดัมควบคุมทั้งหมดชีวิตของเธอ     เธอจึงบินหนีจากสวนเอเดนไปสู่ทะเลแดง  พระเจ้าส่งเทวดาไปตาม แต่ Lilith ปฏิเสธคำขอร้องของ Adam ที่จะกลับมา   ในความเชื่อของบุพชนนั้น  เขาเชื่อว่า Lilith เป็นผู้คุ้มครองการให้กำเนิดลูก  แต่ด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่  คำปฏิเสธของเธอ  " I will not serve"   ทำให้เธอถูกมองว่าเป็นปีศาจที่จะขโมยเด็กแรกเกิด   และหลังจากนั้น  พระเจ้าก็สร้างผู้หญิงขึ้นมาจากซี่โครงของอาดัม  คือเอวา   ตำนาน Lilith  ในฐานะเป็นหญิงที่ไม่เชื่อฟังสามี   และกลายเป็นภูติร้ายเหมือน Lucifer ถูกเล่าขานในความเชื่อชาวยิว ไปจนถึง ค.ศ. ที่ 16 และเลือนหายไปในที่สุด    แต่นักจิตวิญญาณผู้หญิง หันมาศึกษาความหมายที่ซ่อนเร้นในการกระทำของ Lilith ว่าเป็นบทเรียนที่ยังมีปรากฎในสังคมปัจจุบัน  โดยเฉพาะกรณีที่สามีใช้กำลังข่มขืนภรรยา ถือเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงและลดเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้หญิง

นอกจากนี้   เมื่อผู้ชายมีบทบาททางสังคมมากขึ้น  ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย เรื่องเล่าของผู้ชาย   ค่อยๆ ปรากฎขึ้น ในฐานะบุตร หรือคู่รักของเทพสตรี   เช่น ในตำนานเรื่องเทพเจ้าหนุ่ม ชื่อ Marduk ที่ทำลาย  Tiamat มารดา ผู้เป็นเทพสตรีแห่งทะเล  และสร้างจักรวาลจากร่างของเธอ   แล้วก็ใช้มนุษย์เป็นเสมือนทาส  ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำศัพท์ของชาวซูมาเรียนถึงเรื่องเสรีภาพ (Freedom) คือ amargi ซึ่งหมายถึง การกลับไปสู่มารดา

 

เทพสตรีในตะวันออกใกล้ สัญลักษณ์ของสากลจักรวาล และวัฒนธรรม

ในอารยธรรมอนาโตเลียโบราณ  ที่เป็นประเทศตุรกีในปัจจุบัน  เป็นสถานที่มีตำนานเทพสตรี ผู้มีบทบาททางสังคมมาไม่น้อยกว่า 7,000 ปี  ก่อนคริสตกาล   ไม่ว่าจะเป็น Anna แม่ และ Hannah ยายของแม่พระ  Arrinna เทพสตรีแห่งดวงอาทิตย์  และเทพสตรี Cybele, Aphrodite, Artemis  ที่เมือง Ephesus ชาวบ้านได้สร้างวิหารขนาดใหญ่เพื่อระลึกถึง Cybele - Artemis สตรีผู้ได้รับการกล่าวขานในฐานะผู้ช่วยให้รอด  ผู้นำกองทัพ  ราชินี  ผู้ให้คำแนะนำ ผู้ยิ่งใหญ่   วิหารดังกล่าวถูกทำลายไปเมื่อศาสนาคริสต์ขยายตัว    แต่อย่างไรก็ตาม กรุง Ephesus ได้รับการประกาศให้สถานที่เกิดของพระนางมารีย์  และยกย่องพระนางเป็นราชินีแห่งสวรรค์   ซึ่งมีการสร้างโบสถ์ในที่ดังกล่าว  เพื่อระลึกถึงพระนางในฐานะแม่ของพระเยซูเจ้า (ผู้ยินดีน้อมรับตามพระประสงค์ของพระเป็นเจ้า)  ผู้ตั้งครรภ์ ให้กำเนิด เลี้ยงดู (ผู้เสียสละ และให้ความรัก)  และ ยืนอยู่แทบไม้กางเขนพระเยซูเจ้า (ผู้ร่วมในความทุกข์โศก)   อันเป็นคุณสมบัติหลักที่สตรีทุกคนควรตระหนัก        ส่วน Anna แม่ของแม่พระ ยายของพระเยซู ก็ได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ Anne  นี่คือความสำคัญที่ศาสนาได้ยกย่องแม่  ลูกสาว ยายเช่นเดียวกับ พ่อ ลูกชาย และตา

 

ไซปรัส และครีต เทพสตรีแห่งมิตรภาพ สันติ และศิลปะ

 Image
รูป: Snake Priestess,  เกาะครีต  
(จากเว็บ : heartgoddess.net) 

ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล นักปราชญ์นาม Empedocles ได้เขียนถึงชีวิตของผู้คนชาวไซปรัส ในสังคมก่อนยุคผู้ชายเป็นใหญ่ ว่า ไม่มีการเชิดชู Ares เทพเจ้าแห่งสงครามนาม  ไม่มีเสียงร่ำไห้จากสงครามและการต่อสู้  ไม่มีเทพเจ้า Zeus, Kronos หรือ Poseidon มีแต่ราชินี Cypris เทพสตรีแห่งความรัก  ผู้คนในเมืองต่างใช้พรสวรรค์ทางศิลปะของตน สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ถวายต่อเทพสตรี  ไม่มีการฆ่าสัตว์เพื่อบูชายัญ  และดำรงชีวิตด้วยการไม่กินเนื้อสัตว์ 


อารยธรรมครีต (6,000 - 1,450 ปี ก่อนคริสตกาล)  ซึ่งผู้หญิงมีบทบาทเป็นผู้นำทางสังคม  เป็นอารยธรรมที่เต็มไปด้วยการผสมผสานทางศิลปะ ผู้คนจากอนาโตเลีย  ตะวันออกกลาง  แอฟริกาเหนือ และยุโรปเก่า   การเคารพบูชาต่อเทพสตรี ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างเปิดเผยในวิถีดำรงชีวิต   ผ่านงานศิลปะที่งดงาม และงานเขียนลึกซึ้งความกลมกลืนกันในความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมชาวครีต  เห็นได้จากหลักฐานสำคัญ คือ วิหารที่ปราศจากป้อมปราการ   ซากบ้านเมืองที่ไร้ร่องรอยของสงครามใดๆ   บทสวดภาวนาในสมัยนั้น ก็เต็มไปด้วยเนื้อหาของความสงบสันติและยุติธรรม และความรักในธรรมชาติ ดังเช่น บรรดาสรรพสิ่งต่างมีชีวิตอยู่ด้วยความผาสุกในความรัก  


อารยธรรมอันงดงามของยุคเทพสตรี  เริ่มถูกครอบครองโดยบรรดานักรบจากแผ่นดินใหญ่กรีก  ในช่วง 1,450 ปีก่อนคริสตกาล  เป็นต้นมา   โดยเฉพาะ 1,100 ปี ก่อนคริสตกาล  วัฒนธรรมในเกาะครีต และกรีกล่มสลายไปหมด และเข้าสู่ยุคมืด ซึ่งกินเวลาถึง 300 ปี  หลังจากนั้น  ก็มีการทำสงครามย่ำยีผู้คนและระบบนิเวศไปทั่วทั้งยุโรป  จนตกอยู่ภายใต้ยุคมืดที่ยาวนานถึงพันปี   ที่ผู้ชายเป็นใหญ่  และมีการสร้างป้อมปราการอันเป็นผลของการทำสงคราม   และเริ่มรับนำเอาภาษาอินโดยูโรเปียน เข้ามาจนแพร่หลายไปทั่วยุโรป

 

เทพสตรีในยุโรป  ผู้มีบทบาทต่อความเชื่อเรื่องการกำเนิด  เพศ ความตาย และการเกิดใหม่

 Image
รูป: เทพสตรี Demeter & Persephone, กรีก 
(จากเว็บ : heartgoddess.net) 

ในอารยธรรมกรีกดั้งเดิม ถือว่าผู้หญิงเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง  แต่ชาวกรีซยังมีความเชื่อเรื่องเทพสตรีในฐานะผู้เป็นจ้าวแห่งวัฎจักรชีวิต การให้กำเนิด  การตาย และสืบทอดชีวิต  เทพสตรียังได้รับการเคารพว่าเป็นผู้สร้างสรรจักรวาล   เป็นแม่แห่งแผ่นดิน  เป็นแม่ของบรรดาเทพเจ้า  เป็นเทพสตรีแห่งบ้าน (ครอบครัว)  แห่งความรัก ความยุติธรรมในสังคม ศิลปะและหัตถกรรม  พืชและสัตว์  พระจันทร์ ฯลฯ   ในยุคกรีกโบราณ วัฒนธรรมของเทพสตรีในยุดแรกๆ  ถูกครอบครองโดยเทพเจ้า Zeus  ผู้นำที่ประสบความสำเร็จในการทำสงคราม  และเทพ Zeus นี้ที่ทำให้เรื่องข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดาของเพศสัมพันธ์   เทพสตรีที่มีชื่อเสียงของชาวกรีซ คือ Demeter ผู้ได้รับการเคารพในฐานะแม่ของผืนแผ่นดิน พระนางเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบต่างๆ  เพื่อสังคมของชาวกรีซในยุคดังกล่าวดำรงอยู่อย่างผาสุก   แต่ลูกสาวของพระนาง คือ Kore-Persephone กลับถูกล่อลวงและถูกข่มขืน ซึ่งสร้างความทุกข์ใจแก่พระนางเป็นอย่างยิ่ง  อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นจุดเปลี่ยนผ่านจากความเชื่อสู่ความจริงของชีวิตมนุษย์ ในเรื่องของการให้กำเนิด  การสมสู่เพื่อสืบทอดชีวิต และความตาย 


ในอิตาลี ก่อนยุคสังคมที่ชายเป็นใหญ่  เทพสตรีที่มีชื่อเสียงคือ Turin องค์แห่งความรัก   ในกรุงโรมมีเทพสตรี Magna Mater, Ceres, Juno, Diana และ Venus ในเกาะซิซีลี ก็มีตำนานความเชื่อของรูปวาดพระแม่ฉวีดำ (Black Madonna) ที่เล่าขานถึงพระแม่ของคนผิวดำ จากแอฟริกาที่แพร่ขยายสู่ยุโรป

 

เทพสตรีในตะวันออกไกล สัญลักษณ์แห่งความอ่อนโยนและดุร้าย

อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ  เริ่มจาก 4,600 - 3,900 ปี ก่อน  นับจากปากีสถาน อินเดียตะวันตก เป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรือง  สงบสันติ  ก่อนที่อารยธรรมอารยันจะเข้ามารุกราน เมื่อ 3,800 ปีก่อน (เหมือนในยุโรป ที่นำการสู้รบเข้าไปทำลาย  และเริ่มต้นการนับถือเทพเจ้า) ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเทพสตรี ผู้อ่อนโยน และดุร้าย

Image 
 รูป: พระลักษมี, อินเดีย
(จากเว็บ : eviluriko.wordpress.com)
  

ในคัมภีร์ตันตระ  ได้กล่าวไว้ว่าศูนย์กลางแห่งจักรวาลอยู่ในร่างของผู้หญิง    ในอินเดียปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้นับถือศาสนาฮินดู   ก็มีชื่อของเทพสตรีปรากฎอยู่มากมาย  โดยถือว่าผู้หญิงเป็นศักติ  คือพลังขับเคลื่อนและความเข้มแข็ง เป็นพลังแห่งความสร้างสรรค์  ที่ทำให้เทพเจ้าสามารถดำรงอยู่และทำกิจกรรมต่อๆ ไปได้  เช่น พระศิวะได้รับพลังจากศักติ (ของผู้หญิง) จึงเป็นผู้ที่เข้มแข็ง    พระลักษมี เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง   เป็นเทพสตรีที่พ่อค้าวาณิชย์ ชาวอินเดียนับถือมาก   พระแม่คงคาผู้หลั่งน้ำจากภูเขาหิมาลัย  พระสรัสวดี  เทพแห่งศิลปะวิทยาการ  และการดนตรี   พระนางทุรคา แม่แห่งแผ่นดิน และลูกสาว คือเจ้าแม่กาลี ผู้ใช้กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนจากอสูร และพลังชั่วร้ายต่างๆ    ทุกวันนี้ พระนางทุรคาและเจ้าแม่กาลี  ยังเป็นที่พึ่งทางจิตใจแก่ผู้คน  เมื่อต้องการความกล้าหาญ  ความเข้มแข็ง  เมื่อต้องแก้ไขปัญหาข่มขืน  ปัญหาเพศสัมพันธ์ของคนที่มีพ่อแม่เดียวกัน  ปัญหาค้าผู้หญิง   การทำลายป่าไม้และแม่น้ำ  รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่มนุษย์ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม  

 

 

 Image
รูป: พระนางปรัชญาปารมิตา, อินเดีย 
(จากเว็บ : www.buddhamuseum.com)
   

ในพุทธศาสนานิกายมหายาน และวชิรยานของธิเบต  ก็มีความเชื่อเกี่ยวกับพระนางปรัชญาปรมิตา  ว่าเป็นพระแม่ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์  เป็นองค์แห่งปัญญา  ซึ่งพุทธศาสนานิกายมหายาน  ได้ถือมหาปรัชญาปรมิตาสูตร  โดยเฉพาะหฤทัยสูตรว่าเป็นพระสูตรหลัก  ที่นำไปสู่ความว่างเปล่าของทุกสรรพสิ่ง  คือการพ้นจากการยึดติดทั้งปวง   ชาวธิเบตยังนับถือพระโพธิสัตว์ พระนางตาราเขียว ซึ่งเป็นเทพสตรีภาคกลางคืน ผู้มีความกรุณาปรานี  ตรงกันข้ามกับพระนางตาราแดง ตัวแทนความเกรี้ยวกราด   ชาวธิเบตยังเชื่อว่า การทำสมาธิ  คือการกลับไปสู่ครรภ์เทพสตรีผู้เป็นแม่ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งหมายถึงภาวะเอกภาพของมนุษย์กับพระเจ้า 

สำหรับประเทศจีน  ตามการศึกษาของนักโบราณคดี ก็พบว่า คนจีนในสมัยก่อน มีการสืบสายตระกูลก็ผ่านทางผู้หญิง   และเชื่อในเทพสตรี  คำว่า แซ่ ของภาษาจีน ก็มีอักษรที่หมายถึงผู้หญิงอยู่ในคำเรียกแซ่นี้   แต่ถึงแม้มิได้ถูกรุกรานโดยอารยธรรมอารยัน   วัฒนธรรมจีนก็มีความเปลี่ยนแปลงมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง การสืบสายตระกูลทางผู้ชายเป็นที่ยอมรับ และชัดเจนมากในหลังยุคขงจื๊อเป็นต้นมา

 

 Image
รูป: เจ้าแม่กวนอิม, จีน 
(จากเว็บ : www.pinterest.com)
   


คนจีนยังมีความเชื่อในเจ้าแม่กวนอิม ผู้เป็นเจ้าแม่แห่งธรรมชาติ  ผู้ทรงเมตตาและกรุณา  เธอได้ใช้พลังอำนาจอย่างชาญฉลาดและความเมตตา ในการขจัดศัตรูชั่วร้ายทั้งปวง   เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่น  พุทธศาสนิกที่นั่นนับถือเทพสตรี Kannon  องค์แห่งความความรักและกรุณา   ในศาสนาชินโต ก็ความเชื่อในดวงวิญญาณคามิ ซึ่งเป็นพลังอันน่าเกรงขามของธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งปวง   นับตั้งแต่ ค.ศ. ที่ 7  จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ 20  ชาวญี่ปุ่นได้นับถือ เทพสตรี Amaterasu  เทพแห่งพระอาทิตย์  ว่าเป็นผู้นำแห่งดวงวิญญาณคามิ   และองค์จักรพรรดิญี่ปุ่นก็สืบสายราชวงศ์ความเป็นเทพจากพระนาง   เมื่อไม่นานมานี้ มีการกล่าวขานกันว่า  ในระหว่างพิธีเฉลิมฉลอง พระจักรพรรดิต้องเข้าร่วมในพิธีสมรสกับเทพสตรีแห่งดวงอาทิตย์   ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงได้สืบทอดอำนาจในการปกครอง 

 

 

บรรพสตรีและเทพสตรีในทวีปอเมริกา

ในทวีปอเมริกา ซึ่งชนเผ่าพื้นเมืองเป็นผู้อยู่มาก่อน  สังคมของชนเผ่า เป็นสังคมที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสูงสุด  และสิ่งสร้าง / ธรรมชาติอย่างชัดเจน   ตามวัฒนธรรมความเชื่อ  มีพระเจ้าทั้งชายและหญิงเป็นองค์อุปถัมภ์ในเรื่องต่างๆ  และถือได้ว่าเป็นรหัสนัยอันทรงพลัง ที่ช่วยให้สังคมดำรงอยู่ 

 Image
รูป: พระแม่ Guadalupe,  เม็กซิโก
(จากเว็บ : www.obispoenmisiones.com)  
 

ในประเทศเม็กซิโก   ชนเผ่า Aztec ได้ผสานคุณค่าในเทพสตรีที่ชนพื้นเมืองนับถือ  เข้ากับพระนางมารีย์ตามความเชื่อของชาวสเปนที่เข้าไปยึดครอง และรู้จักกันในนามของ Guadalupe   ซึ่งชาวเม็กซิกันต่างเลื่อมใสในฐานะเป็นองค์อุปถัมภ์ ที่มีความสำคัญทางจิตใจของพวกเขามาจนถึงทุกวันนี้   โดยเฉพาะผู้ที่ชาวบ้านผู้ถูกกดขี่ข่มเหง ถูกรังแกจากความขัดแย้งทางการเมืองในลาตินอเมริกา  มักจะภาวนาอ้อนวอนพระแม่ Gaudalupe ให้ช่วยค้อมครองญาติพี่น้องที่สูญหาย

ทางด้านอเมริกาเหนือ   ชาวเอสกิโม ก็นับถือเทพสตรี Sedna  ผู้ดูแลทะเล และสรรพสัตว์     พวก Hopi ชนเผ่าผู้รักสงบ  ในสังคมที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ มีวัฒนธรรมสืบสายตระกูลทางมารดา  และทำการเกษตรอย่างร่วมมือกัน   ก็เคารพเทพสตรี Hopi  ว่าเป็นจ้าวแห่งเอกภพ  เป็นพระแม่ธรณี   และมารดาแห่งข้าวโพด     จนมีคำกล่าวถึงการดำรงวิถีชีวิตของเผ่าโฮปีว่า หากใครต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าเวลาใด  เราทุกคนต่างช่วยเหลือกัน  ไม่มีการใช้กำลัง  ไม่มีการทำร้ายชีวิตสัตว์   ยกเว้นเมื่อต้องการนำมาเป็นอาหาร    ความเชื่อของชนเผ่าที่สืบต่อกันมานี้ สะท้อนถึง ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  ซึ่งเป็นเสมือนยาที่ทรงคุณค่ามหาศาลต่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์สรรพสิ่งจนถึงปัจจุบัน  

 

----------------------------------------------- 

บทสรุป

การศึกษาจิตวิญญาณผู้หญิงผ่านตำนานเทพสตรี   เป็นเสมือนการที่ผู้หญิงได้กลับไปดูกระจกเงาที่สะท้อนตัวเอง  ควบคู่ไปกับการเข้าใจถึงวิวัฒนาการของมนุษย์   ในมิติศาสนาและวัฒนธรรม ที่มีส่วนสำคัญในการกำหนด  การเปลี่ยนแปลง และการดำรงอยู่ของสังคม ที่สัมพันธ์กับห้วงเวลา   เทพสตรีเป็นสัญลักษณ์ของการเจริญชีวิต  และอนาคตที่ยั่งยืน   เป็นผู้ถ่วงดุลระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม  และพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคนรุ่นหลัง  เป็นตัวละครที่เป็นเสมือนยาต้านพิษในเรื่องความไม่สมดุลที่เป็นโรคร้ายของโลกอดีต  อาทิ ความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องระหว่างเพศ มนุษย์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ  ระหว่างคนรวยและคนจน ระหว่างเชื้อชาติ วัฒนธรรม และศาสนา สงครามและสันติภาพ   เป็นตัวแทนของความศักดิ์สิทธิของเพศหญิง ผู้สืบทอดสัจธรรมและสติปัญญา  ความสุขและความยินดี  คุณธรรม และศีลธรรมทางสังคมอันเป็นรากฐานของสังคมมนุษย์   แม้ว่า ในประวัติศาสตร์แห่งความรอดของมนุษย์ที่ดำเนินมาภายหลัง  โครงสร้างและบทบาทของศาสนาที่ถูกกำหนดโดยผู้ชายเป็นหลักสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องพระเจ้าองค์เดียว (เทวนิยม) ค่อยๆ เปลี่ยนความเชื่อดั้งเดิมที่มีต่อบรรพสตรี  จากสถานะพระเจ้า(ผู้หญิง) ไปเป็นเพียงแม่ของพระเจ้า(ผู้ชาย) หรือภรรยา และลบเลือนไปในที่สุดก็ตาม  

----------------------------------------------------------------------- 

เอกสารอ้างอิง

Denise Lardner Carmody, Mythological Woman, New York: Crossroad,1992

Diane Rae Schulz, Discovering Goddess Spirituality, Awakened Woman e-magazine.

Mara Lynn Keller,  Goddess Spirituality, California Institute of Integral Studies, San Francisco.

ไพรินทร์  โชติสกุลรัตน์,  การบรรยายจิตวิญญาณผู้หญิง เรื่องเล่าและตำนาน ก่อนยุคประวัติศาสตร์, ศูนย์พัฒนาบุคลากรอัสสัมชัญ  กรุงเทพ, 21 สิงหาคม 2547



[1] นัยของเวลา 3 วันในโลกใต้บาดาล จากผู้ศึกษาจิตวิญญาณผู้หญิง คือ เวลา 3 วันที่พระเยซูเจ้าสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพขึ้นมา

[2] Carl Jung นักจิตวิทยา อธิบายว่า การเปลือยกายของ Inanna หลังจากผ่านด่านที่ 7  คือการที่มนุษย์ตัวเองอีกครั้งเมื่อแรกเกิด  นอกจากนี้ Eriskigal เปรียบเหมือนจิตสำนึกในส่วนที่ถูกซ่อนเร้น  และถูกปฏิเสธจากอัตตะภาวะ  การกลับไปสู่โลกใต้บาดาล คือการค้นหาส่วนที่เป็นเงามืดภายในจิตใจ  เพื่อค้นพบความเป็นตัวตนของตนเอง

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >