หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 93 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


"พ่อโซ่"แบบอย่างชีวิตผู้สูงวัย "ทำงานไม่มีวันเกษียณ" : วรพจน์ สิงหา พิมพ์
Wednesday, 09 March 2016

"พ่อโซ่" แบบอย่างชีวิตผู้สูงวัย

"ทำงานไม่มีวันเกษียณ"

          วรพจน์  สิงหา สัมภาษณ์

 

Imageตัวเลขอายุที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีของคนเรา ไม่ได้บ่งบอกถึงพลังสร้างสรรค์ที่ลดน้อยถอยลง แม้ความเสื่อมทางร่างกายอาจจะทำให้ชีวิตมีข้อจำกัดมากขึ้น แต่จิตใจและความคิดในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสยังคงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม

ย่อหน้าข้างต้นคือสิ่งที่ผมคิดใคร่ครวญไปมาทั้งระหว่างและหลังการพูดคุยกับ "พ่อโซ่" บาทหลวงอัลฟอนโซ แด ยวง พระสงฆ์คณะเยสุอิตชาวสเปน วัย ๗๔ ปี

ตอนโทรศัพท์นัดสัมภาษณ์พ่อโซ่ ผมชี้แจงวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ว่าจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง "ผู้สูงอายุ" พ่อโซ่รีบตอบรับการนัด โดยบอกพร้อมหัวเราะว่า "เหมาะสมแล้ว เหมาะแล้ว เพราะพ่อแก่แล้ว"

ชื่อของ "พ่อโซ่" ในพระศาสนจักรคาทอลิกไทย ทุกคนคงรู้จักกันดีว่าเป็นพระสงฆ์ "ฝรั่ง" คนหนึ่งที่ทำงานด้านสังคมมาหลากหลายและยาวนาน มาเมืองไทยตอนอายุ ๒๔ ปี ในปี ค.ศ.๑๙๖๔ อยู่ที่บ้านเซเวียร์มาตั้งแต่วันนั้นกระทั่งปัจจุบัน แม้จะมีหลายปีที่ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ชีวิตส่วนใหญ่เกือบ ๕๐ ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองไทย

พ่อโซ่ทำงานมาหลายอย่าง ทั้งงานดูแลนักศึกษา งานช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัย งานช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา และตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.๒๐๐๐ พ่อโซ่ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม บ้านเซเวียร์ ได้ทำงานหลายอย่างที่เป็นงานช่วยเหลือเด็กกำพร้าที่พ่อหรือแม่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา รวมถึงทำงานกับชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ โดยมีหนังสือภาษาปกาเกอะญอออกมาในหลายรูปแบบ โดยทุกวันนี้พ่อโซ่ยังคงเดินทางไปเยี่ยมเด็กๆ ที่พ่อโซ่ช่วยเหลือใน ๕๕ จังหวัดทั่วประเทศไทย และพ่อโซ่จะมีความสุขทุกครั้งเมื่อพูดถึงงานที่ทำ โดยเฉพาะการได้ช่วยเหลือเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษา

คนที่รู้จักพ่อโซ่จะทราบดีว่าท่านเป็นคนใจดี มีเมตตา และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ยากไร้ยากจนอย่างแท้จริง โครงการมากมายเกิดขึ้นเพราะความคิดของท่าน ยิ่งได้คุยกับพ่อโซ่ ผมสามารถบอกได้ว่า "พ่อโซ่" คือแบบอย่างชีวิตสงฆ์และเป็นแบบอย่างของผู้สูงวัยอย่างแท้จริง ...ความสูงวัยของพ่อโซ่ หมายถึงประสบการณ์และความลึกซึ้งของชีวิต มีมุมต่อโลกและสังคมอย่างเฉียบคมตรงไปตรงมา

...แม้ในปัจจุบัน เป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปีที่ "สายตา" ของพ่อโซ่จะมองไม่เห็น แม้จะไม่บอดสนิทก็ตาม แต่ท่าน "ชัดเจน" ในการใช้ชีวิต ปรับตัว ปรับความคิดให้ทันสมัยอยู่เสมอ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ความเป็นไปในทุกด้าน ทั้งในเรื่องสังคมและชีวิตภายใน สำหรับพ่อโซ่ ข้อจำกัดในการ "มองเห็น" แม้จะเป็นอุปสรรคอยู่บ้างในการดำเนินชีวิตในวัยสูงอายุ แต่ความรู้สึกนึกคิดของพ่อโซ่ยังคงแจ่มชัดมากกว่าคนอายุน้อยและ "สายตาดี" อย่างผมหลายร้อยเท่า

ใช่ไหมว่า ในชีวิตจริง หลายครั้งที่คนเรา "มองเห็น" แต่ไม่เคยรู้สึก อีกหลายหนที่คนเรา "เห็นชัด" แต่ความคิดกลับคลุมเครือและสับสน ขณะที่คุยกับพ่อโซ่ ผมรู้สึกว่า ...บางที "สายตาดี" ก็ไม่ได้ช่วยอะไรคนเราสักเท่าไหร่ เพราะสติปัญญาและจิตใจของเรามืดบอดจน "มองไม่เห็น" ว่าอะไรสำคัญสำหรับชีวิตและสังคม...ชีวิตที่ดีจึงไม่ได้หมายถึงการ "มองเห็น" เพียงอย่างเดียว แต่ต้อง "แจ่มชัด" ในการดำเนินชีวิตเพื่อสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมด้วย

พ่อโซ่บอกว่า "คนที่อายุมากแล้ว การดำเนินชีวิตของเรา เราก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน เพราะมีข้อจำกัดมากขึ้น ทั้งทางร่างกาย ทั้งหู ตา การเดิน แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องจำกัดตัวเองทางด้านความคิด ความรู้สึก ความรัก การยอมรับ อันนี้คนละอย่าง เป็นเรื่องที่เราสามารถทำได้"

"สังคมไม่อยู่นิ่ง สังคมเหมือนน้ำในทะเล น้ำในทะเลอยู่นิ่งไหม ไม่นิ่ง ตลอดเวลามีการเคลื่อนไหว ตลอดเวลามีปฏิกิริยา มนุษย์เราในโลกนี้ก็เคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด แต่ที่ยากหน่อยก็คือการเข้าใจและตีความหมาย เพราะฉะนั้นคนที่มีอายุมากขึ้นก็ต้องปรับตัว ครอบครัวต้องปรับตัว พระศาสนจักรก็ต้องปรับตัว ทุกคนต้องปรับตัว แต่ว่ามนุษย์เราก็ปรับตัวยาก สังคมปรับตัวช้ามากในทุกเรื่อง เหมือนสังคมไทยกำลังปรับตัว แต่ช้ากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด บางครั้งไม่ได้ปรับตัวดีเท่าที่ควร"

 

"มอง" เห็นเลือนราง  แต่ "ความคิด" ชัดเจน

ผมถามพ่อโซ่เกี่ยวกับสุขภาพในปัจจุบัน พ่อโซ่บอกว่า "ตอนนี้มีปัญหาเรื่องสายตา มองไม่เห็น มีปัญหาเรื่องสายตาประมาณ ๗-๘ ปี มองไม่ชัด แทบจะไม่เห็น" โดยปัจจุบันเวลาอ่านหนังสือหรืออีเมล์ พ่อโซ่ต้องใช้เครื่องช่วยอ่านที่หามาด้วยตัวเอง ตั้งอยู่ด้านขวาติดกับโทรทัศน์จอกว้างในห้องทำงาน หากอยากอ่านสิ่งที่เล็กมากๆ พ่อโซ่จะใช้แว่นขยายเพื่อจะได้อ่านสิ่งที่เล็กเกินกว่าความจำกัดของสายตาจะมองเห็น

"พ่อขึ้นมาทำงานที่ห้องนี้เป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้มีเครื่องอ่าน ดูทีวีก็ดูได้ มีอะไรก็อ่านได้ ขยายตัวอักษรให้ใหญ่ขึ้น ปรับได้ ต้องการอย่างไรก็ได้" พ่อโซ่อ่านหนังสือให้ผมฟังโดยใช้เครื่องช่วยอ่านที่อยู่ข้างๆ โดยพ่อโซ่บอกว่า "เพราะเครื่องนี้พ่อโซ่ทำงานได้ ถ้าไม่มีเครื่องนี้พ่อทำงานไม่ได้"

พ่อโซ่ให้ผมลองปิดไฟในห้อง ทุกสิ่งทุกอย่างมืดลง สายตาปกติอย่างผม มองเห็นทุกอย่างเพียงเลือนราง แต่ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า "สิ่งที่เห็นคืออะไร"

"ก็เป็นลักษณะนั้น พ่ออ่านไม่ได้แล้ว บางอย่างก็รู้ว่าอะไร แต่บางอย่างก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ไม่สามารถที่บอกได้ว่าเป็นอะไร ต้องมาใกล้ๆ ที่พ่อโซ่ใส่แว่น แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรหรอก อาจจะช่วยป้องกันลม ป้องกันฝุ่น เวลาเดินต้องระมัดระวัง ข้ามถนนไม่ได้ รถมาไม่เห็น ตอนนี้พ่อช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ต้องอยู่ในสถานที่ที่รู้จัก เพราะรู้ว่าบันไดอยู่ที่ไหน แต่ไว้ใจตัวเองไม่ได้ เชื่อตัวเองไม่ได้ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ เขาอาจขุดอะไรตรงไหนเมื่อไหร่ก็ได้ อันนี้เป็นความเสี่ยงของคนที่ตาไม่ดี เพราะว่าอาจจะไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น เช่น ไปเดินถนน เราคิดว่าไม่มีสลิง แต่มีสลิง แล้วไปโดนสลิง"

ชีวิตของพ่อโซ่ส่วนใหญ่อยู่ที่บ้านเซเวียร์ และเดินมาที่ห้องทำงาน ซึ่งห้องทำงานห้องนี้พ่อโซ่ทำงานมายาวนานหลายสิบปี ผมมาก่อนเวลานัดสัมภาษณ์นิดหน่อย ขณะที่ยืนคอยอยู่หน้าห้อง มองเห็นพ่อโซ่เดินมา ถ้าไม่รู้มาก่อน คงไม่มีใครรู้ว่าพ่อโซ่สายตามองไม่ค่อยเห็น เพราะเดินเป็นปกติเหมือนคนทั่วไป

"พ่อโซ่ก็ไม่สนใจ เพราะว่าเมื่อมองไม่เห็น เราก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน นี่เป็นวิธีอย่างหนึ่งของผู้สูงอายุ ต้องปรับตัว ปรับสภาพจิตใจและสภาพร่างกายของตัวเอง เหมือนคนที่เดินไม่ค่อยได้ต้องปรับตัว คนที่อ่านไม่ค่อยได้ ต้องปรับตัว คนที่ไม่ค่อยได้ยิน ก็ต้องปรับตัว การปรับตัวเป็นกระบวนการที่ต้องเริ่มกันตั้งแต่เราเริ่มมีอาการบางอย่างในตัวเรา ว่าต้องเริ่มปรับตัว อันนี้คือคนที่อายุมากขึ้น"

"บางคนพออายุมากขึ้นอาจจะจู้จี้ขี้บ่น หนุ่มสาวลูกหลานก็รำคาญมาก ต้องปรับตัว เพราะว่าถ้าไม่ปรับตัว ตัวเองก็มีความทุกข์ เพราะเห็นอะไรก็บ่น ลูกหลานก็รำคาญ ลูกหลานก็อาจจะว่าแม่ว่ายาย แล้วเป็นไง ก็มีความทุกข์ ทั้งสองฝ่ายมีความทุกข์ ซึ่งการปรับตัวก็ไม่ใช่ง่าย"

พ่อโซ่บอกว่าช่องว่างระหว่างวัยระหว่างคนแก่กับลูกหลานมีอยู่ทุกยุคสมัย ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจลูกหลาน ลูกหลานก็บอกผู้ใหญ่ไม่เข้าใจพวกเขา "ช่องว่างระหว่างวัยทุกยุคทุกสมัยก็มีเหมือนกัน แต่ปัจจุบันนี้ อย่าลืมนะว่าบางอย่างก็เร็วขึ้น มีปัจจัยมากขึ้น ทุกอย่างในสังคม เหมือนกับร่างกายมนุษย์ ทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ใช่ที่มีช่องว่างระหว่างวัย ระหว่างหนุ่มสาวและคนสูงอายุ ทั่วโลกเป็นเหมือนกัน ทุกวันนี้ สังคมของเราเปลี่ยนเร็วขึ้นมาก เด็กมักบอกว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็ก ผู้ใหญ่ก็คิดว่าเด็กไม่เข้าใจผู้ใหญ่ คือบางทีอาจจะเข้าใจ แต่ปรับตัวไม่ได้ทั้งสองฝ่าย เราก็ต้องมาดูที่ผู้ใหญ่ พ่อโซ่จะโทษผู้ใหญ่มากกว่า เด็กก็คือเด็ก เยาวชนก็คือเยาวชน เขาก็ต้องใช้เวลาของเขา ต้องค่อยๆ รับภารกิจ อิสรภาพ เสรีภาพของเขามากขึ้น แต่ว่าต้องใช้เวลา ก็ต้องช่วยเขา เราสามารถที่จะเข้าใจเขาไหม แน่นอนเด็กก็ต้องมีความอดทนกับผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็ก เยาวชนไม่ได้มีอคติกับผู้ใหญ่"

 

ความคิด "ทันสมัย" แม้จะอยู่ในวัยชรา

ไม่ตกเป็น "ทาสของยุคสมัย"

          ผมรู้สึกดีใจทุกครั้งที่ได้คุยกับผู้สูงอายุหลายท่านที่มีประสบการณ์และภูมิปัญญา พ่อโซ่เป็นอีกหนึ่งท่านที่ผมใช้เวลาพูดคุยยาวนานกว่าปกติ ซักถามหลายอย่างในเรื่องประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์พระศาสนจักร รวมไปถึงชีวิตมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ซึ่งพ่อโซ่ก็ตอบทุกคำถามด้วยความเมตตา รอบรู้และแตกฉานจากการอ่านและศึกษาค้นคว้ามาตลอดชีวิต

พ่อโซ่พูดไว้น่าสนใจว่า "คนหนุ่มสาวบางคนเราสามารถบอกได้ว่า คนนี้อีกไม่นานล้าสมัยแล้ว เห็นชัด เพราะว่าปัญหาอยู่ที่ตัวเอง เป็นคนที่ไม่ได้ปรับตัวอยู่ตลอด ตอนนี้คุณอาจจะยังทันสมัย แต่อีกห้าปีต่อไป เวลาผ่านไปแล้ว แต่คุณยังอยู่สมัยนั้น คุณช้าแล้ว แก่แล้ว แม้คุณจะอายุยังน้อย บางคนเริ่มชราแล้วทางด้านความคิด แม้จะอายุยังน้อย พ่อโซ่สัญญากับตัวเองว่า พ่อโซ่ต้องปรับตัวเองอยู่ตลอด ถ้าอย่างนั้นเราอาจจะแก่ชราตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มสาว บางคนอายุมาก แต่ความคิดยังหนุ่ม หนุ่มกว่าคนหนุ่มสาว เพราะเขาไม่เป็นทาสของยุคสมัย"

"มนุษย์เราต้องปรับตัวอยู่ตลอด ทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจ ซึ่งมนุษย์เราก็ไม่ได้มีเรื่องร่างกายอย่างเดียว มีความคิด จิตใจ วิญญาณ ความรู้สึก บางคนปรับยาก บางคนปรับง่าย อยากเรียน อยากรู้ บางคนไม่อยากปรับตัว คิดว่าตัวเองรู้หมดแล้ว ไม่ปรับตัว ไม่สนใจ"

สิ่งที่พ่อโซ่พูดทำให้คิดได้ว่า ทุกวันนี้ สิ่งที่ทำให้คนเราเชื่อว่าตัวเอง "ทันสมัย" กลายเป็นเรื่องของวัตถุภายนอก เทคโนโลยี หรือเสื้อผ้าตามแฟชั่น แต่จริงๆ แล้วสิ่งที่จะทำให้คนเรา "ทันสมัย" ได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่อง "ภายนอก" แต่เป็นเรื่อง "ภายใน" ของเราที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

นอกจากความคิดที่ต้องทันสมัย พ่อโซ่บอกว่าสิ่งที่สำคัญคือการภาวนาหรือ "ชีวิตด้านใน" ของเราแต่ละคน "คำภาวนามีผลต่อจิตใจของเรา สุดท้ายมนุษย์เราก็เป็นสิ่งที่เป็นพลัง คือจิตใจ พ่อเชื่อมากๆ เรื่องนี้ พ่อเชื่อว่ามนุษย์มีพระเจ้าอยู่ในตัวเรา เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต ไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะอย่างไร วิทยาศาสตร์ก็ต้องมาถึงที่นี่ มนุษย์เราก็มีพระจิตเจ้า มีพระเจ้าในตัวเราทุกคน ไม่ใช่การเปรียบเทียบ เป็นข้อเท็จจริง และเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตของมนุษย์"

"เราต้องเลี้ยงสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณของเรา มนุษย์เราซึ่งเป็นกายและจิตให้อยู่ด้วยกัน เข้ากันได้ ไปพร้อมกัน ไม่ขัดแย้งกัน ถ้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งไม่เข้ากัน ต้องหาวิธีให้ปรับให้เข้ากัน คำภาวนามีผลมากในชีวิตมนุษย์ เพราะว่าจะช่วยได้ ให้เราสงบ ให้เรามีความหวัง ให้เรารับความทุกข์ได้โดยสบายใจ โดยยอมรับว่าก็เป็นอย่างนี้ เพื่อที่จะรับความทุกข์ สิ่งที่ลำบาก ความเจ็บป่วย ความชราภาพ รับความทุกข์ได้ในลักษณะที่ว่าเป็นมนุษย์ที่มีค่า"

ทุกครั้งหลังจากได้คุยกับผู้สูงอายุที่เต็มไปความรู้ ความคิด และประสบการณ์ ผมมักจะได้รับความรู้มากมายติดกลับมาด้วยทุกครั้ง การพูดคุยกับ "พ่อโซ่" ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ...ชีวิตและความคิดของพ่อโซ่บอกสอนเป็นแบบอย่าง ต้องเรียนรู้ที่จะเตือนตัวเองให้ทันสมัยทางด้านความคิด ไม่ตกเป็นทาสของยุคสมัย พร้อมเผชิญข้อจำกัดของวันเวลาที่ไม่มีใครหนีพ้น ยอมรับความเสื่อมของร่างกายที่สักวันหนึ่งเราทุกคนต้องเป็นเช่นนั้น

"พ่อโซ่" เน้นถึง "การปรับตัว" อยู่ตลอดเวลาในการพูดคุยกับผมครั้งนี้ ซึ่งการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญทั้งในชีวิตส่วนบุคคลและในระดับของสังคม...ลึกๆ ผมไม่แน่ใจนักว่าคนส่วนใหญ่และสังคมไทย "พร้อม" จะปรับตัวปรับความคิดของตัวเองหรือไม่ ซึ่งหากเรา "ไม่ปรับตัว" ปรับความคิดและจิตใจ "ความเสื่อม" ย่อมเกิดขึ้นทั้งในชีวิตและสังคมของเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ ...แต่ใช่หรือไม่ที่ทุกวันนี้สังคมไทยของเรานับวันยิ่ง "เสื่อม" ลงทุกขณะ


------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๙๒
แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีความสุข



เว็บ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >