หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 101 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ต้นแบบชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อม : วรพจน์ สิงหา พิมพ์
Wednesday, 17 February 2016

ตลาดน้ำคลองลัดมะยม

ต้นแบบชุมชนรักษาสิ่งแวดล้อม

วรพจน์  สิงหา สัมภาษณ์

 

Image            "ตอนแรกมีคนว่าผมบ้า เรียกผมว่าชายแก่บ้าริมคลอง เพราะผมพายเรือเก็บขยะในคลองอยู่คนเดียว ตลาดน้ำจะอยู่กับคลองที่สกปรกไม่ได้ แต่ไม่มีใครคิดเก็บขยะ ขยะเก็บทำไม ใครๆ เขาก็ทิ้ง กลายเป็นว่าทุกคนทิ้งขยะหมดเลย แต่ไม่มีคนเก็บ ผมเก็บขยะคนเดียว กลายเป็นคนบ้า"

            นี่คือคำบอกเล่าของ ลุงชวน ชูจันทร์ วัย ๖๒ ปี ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตลาดน้ำคลองลัดมะยม และสมาชิกสภาเกษตรกร กรุงเทพมหานคร ลุงชวนคือผู้คิดริเริ่มและเป็นผู้พลิกฟื้นตลาดน้ำคลองลัดมะยมให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ และได้รับรางวัลชุมชนท่องเที่ยวดีเด่นจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อปี ๒๕๕๐

          กระทั่งวันนี้ "ตลาดน้ำคลองลัดมะยม" เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในใจของผู้คนจำนวนมาก ทั้งความร่มรื่นของสถานที่ เป็นที่พบปะระหว่างผู้บริโภคและพ่อค้าแม่ค้า ผักผลไม้ไร้สารพิษจากสวนของชาวบ้าน รวมถึงเป็นชุมชนต้นแบบในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชน

           

สายน้ำคือชีวิต

Image            ในยุคที่การคมนาคมทางบกยังไม่เจริญเหมือนปัจจุบัน คนไทยโดยเฉพาะในภาคกลาง มีชีวิตผูกพันกับแม่น้ำลำคลองมาอย่างยาวนาน สายน้ำคือวิถีชีวิต หล่อเลี้ยงชุมชน ผู้คนใช้เรือไปมาหาสู่และค้าขายระหว่างกัน แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป รถยนต์เข้ามาแทนที่ ถนนคือความเจริญ การสัญจรทางน้ำเริ่มเสื่อมคลายความสำคัญ ชีวิตคนไทยส่วนใหญ่ห่างเหินจากสายน้ำ แต่เรื่องราวของแม่น้ำลำคลองและตลาดน้ำในกาลก่อนยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนจำนวนไม่น้อย

            ลุงชวนอธิบายให้ฟังว่า ตลาดบ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในชุมชน ชุมชนใดมีการติดต่อสัญจรทางน้ำเป็นหลักก็จะเรียกตลาดในชุมชนว่าตลาดน้ำ ดังเช่นที่คลองลัดมะยมแห่งนี้ ในปี ๒๕๔๗ ลุงชวนพลิกฟื้นตลาดน้ำให้คืนกลับมาสู่ชุมชนคลองลัดมะยม เพราะเห็นว่าคนจำนวนมากเริ่มทิ้งคลอง เริ่มทิ้งสายน้ำ หันไปใช้รถยนต์ ใช้ถนนมากกว่าจะสนใจแม่น้ำลำคลอง

  "ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษของผมอยู่ที่นี่ ครอบครัวผมเป็นเกษตรกร ทำสวนทำไร่ ขณะเดียวกันผมก็ได้เรียนหนังสือด้วย คือ ทั้งทำสวนและเรียนหนังสือ คนทั่วไปเรียนจะไม่ทำงานหนัก ถึงแม้จะเป็นลูกเกษตรกรก็ตาม เรียนแล้วไถนาไม่ได้ เป็นแบบนี้ ผมเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็ทำงานเกี่ยวข้าว ไถนา นวดข้าว ได้ความคิด ได้ความอ่าน อยู่กับชาวบ้านตลอดมา นี่คือพื้นฐาน"

Image"คือคนต้องเข้าใจปัญหาก่อน ถึงจะหาทางแก้ไข เช่น ขยะเยอะ คนทิ้งขยะ คนไม่ใช้เรือ หันไปใช้รถ คลองเน่าเสีย ทุกคลองน้ำเสียหมด ผมเลยหันมาทำตลาดน้ำ คนจะได้หันกลับมาสนใจคลอง แล้วนโยบายของประเทศไทย ทิ้งคลองแน่ๆ นโยบายของรัฐบาลทุกรัฐบาล รถยนต์มา ทุกคนก็ไปลูบๆ คลำๆ รถกันหมด ถนนเป็นสิ่งสำคัญ รถยนต์คือปัจจัยที่ ๕ นี่คือความไม่เข้าใจความจริง และเราก็ให้คุณค่าผิด ผมให้รถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง แต่บางคนให้คุณค่าว่ารถยนต์คือเครื่องยกระดับฐานะในสังคม หรือคิดว่าทำให้เราเหนือคนอื่น"

            ลุงชวนบอกว่า "พอเราหันไปใช้รถ เราก็ทิ้งแม่น้ำลำคลอง จริงๆ แล้วน้ำคือชีวิต ถ้าเราใส่ตรงนี้ตั้งแต่เด็ก เราเกิดมา เราอยู่กับอะไร ต้นไม้ ดิน น้ำ ลม แดด ฝน อาหาร สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ไหม นี่คือความจริงของชีวิต เราไม่ได้ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง ผมไม่ปฏิเสธรถยนต์ แต่เราต้องให้คุณค่าให้ถูกว่าอะไรคืออะไร หลักตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ"

 

เขาเรียกผมว่า "ชายแก่บ้าริมคลอง"

Image            หลายครั้งในสังคมไทยบ้านเรา คนที่กล้าทำดี ทำเพื่อชุมชนและสังคมส่วนรวมกลายเป็นคนบ้า  คนเพี้ยน คนแปลกประหลาดในสายตาของสังคม หลายคนได้รับคำเสียดสีเย้ยหยันและนินทาในด้านลบ ทำให้หมดกำลังใจในการทำความดี ขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะทำดี ไม่กล้าคิดแตกต่าง เพราะหวาดกลัวสังคมจะมองว่าเป็นคนบ้า

ช่วงเริ่มต้นพลิกฟื้นตลาดน้ำคลองลัดมะยม ลุงชวนเจอถ้อยคำสบประมาทมากมาย ถูกหาว่าบ้า เพี้ยน ในการลุกขึ้นมาเก็บขยะและดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองอยู่คนเดียว ซึ่งลุงชวนเล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี ด้วยเข้าใจชีวิตและสังคมไทย

 "ตอนแรกมีคนว่าผมบ้า เรียกผมว่าชายแก่บ้าริมคลอง เพราะผมพายเรือเก็บขยะในคลองอยู่คนเดียว ตลาดน้ำจะอยู่กับคลองที่สกปรกไม่ได้ แต่ไม่มีใครคิดเก็บขยะ ขยะเก็บทำไม ใครๆ เขาก็ทิ้ง กลายเป็นว่าทุกคนทิ้งขยะหมดเลย แต่ไม่มีคนเก็บ ผมเก็บขยะคนเดียว กลายเป็นคนบ้า แต่ลองคิดใหม่ ถ้าร้อยคนไม่ทิ้ง แต่คนเดียวทิ้ง นั่นแหละคือคนบ้า"

"พอตลาดอยู่ได้ ทุกคนก็หันมาเก็บขยะ รักษาความสะอาดในคลอง แต่ถ้าตลาดเจ๊ง ก็มีคนสมน้ำหน้า ถ้าทำแล้วสำเร็จ หลายคนยอมรับ เข้าร่วม แต่ถ้าทำแล้วเจ๊ง หลายคนก็ซ้ำเติม คนไทยเป็นอย่างนี้ คิดไว้แล้วต้องเจ๊ง แบบนี้ เราต้องทำใจหลายอย่าง"

Imageลุงชวนบอกว่าที่ทำตลาดน้ำเพื่อให้ชาวบ้านมีที่ขายของ และให้คนมาช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง  "ตอนแรกเริ่มที่ผมคิดทำตลาดน้ำ ขยะลอยเต็มคลองไปหมด คิดง่ายๆ คือ คลองไม่ได้ใช้ รัฐก็ไม่เคยพูดถึงคลอง ตัดถนนก็ตัดถนน ไม่ยกสะพานแล้ว เขาเรียกสะพานเสมอถนน เมื่อก่อนยกถนนเพื่อให้เรือผ่าน แต่ตอนนี้ไม่ยกสะพานแล้ว อย่างนี้คือเอาใจรถยนต์ให้แล่นผ่านได้อย่างสะดวก คนเริ่มทิ้งแม่น้ำลำคลอง คนทิ้งเรือ คนทิ้งชุมชน ตัวอย่างมีเยอะแยะ คลองเน่าหมด คลองใช้ไม่ได้ ก็เลยคิดทำตลาดน้ำ โดยเริ่มแรกใช้เงินส่วนตัว ใช้พื้นที่ตัวเองริมคลอง บอกญาติๆ คนใกล้ตัวว่าจะเปิดตลาดน้ำ ตอนเปิดก็มีคนมาขาย ๔๐ - ๕๐ คน ก็เป็นคนใกล้ตัว"

ลุงชวน ชูจันทร์ คือผู้ที่มีความรู้ความสามารถและได้รับรางวัลต่างๆ มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรียนจบปริญญาตรีนิติศาสตร์ และปริญญาโทรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลบริหารชุมชนด้วยความซื่อสัตย์และยุติธรรม ของมูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา รางวัลบริหารจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ อาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติ ปี ๒๕๕๗ ศิษย์เก่าดีเด่นคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สำคัญคือรางวัล ILGA ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับบุคคลที่พัฒนาท้องถิ่นจากประเทศเกาหลีใต้ ในปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

ลุงชวนบอกว่า หลายอย่างไม่มีใครกล้าเริ่มต้นคิด ไม่กล้าทำแตกต่างจากคนอื่น กลัวคนอื่นว่าบ้าหรือเพี้ยน ทั้งๆ ที่หลายเรื่องเป็นสิ่งที่ดีกับชีวิตคนและชุมชน กว่าที่คนจะเริ่มยอมรับและเข้าใจในสิ่งที่ลุงชวนทำต้องใช้เวลาถึง ๓ ปี

"คือเราต้องทำให้เขาเห็น เก็บขยะให้เห็น ไม่เรียกใคร ไม่ใช้ใคร ใช้คนอื่นเขาก็ไม่เต็มใจมา ทำตลาดก็ลงทุนทำเอง เงินของตัวเอง ที่ของตัวเอง เราต้องทำด้วยตัวเอง ใครจะเอาเงินมาให้คนบ้า ใช่ไหม"  ลุงชวนหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

 

ตลาดน้ำเป็นของชาวบ้าน

Image            ก่อนและหลังการพูดคุยกับลุงชวน เดินดูบริเวณรอบๆ ตลาดน้ำคลองลัดมะยม พบเห็นสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ภาพหนึ่งที่น่ารัก มองแล้วอบอุ่น คือภาพคุณยายสองคนหยุดพายเรือเพื่อพูดคุยกัน ชีวิตไม่ต้องเร่งรีบแข่งขัน พืชผักในเรือของยายนำมาขาย ลูกค้าอยากซื้อก็มายืนต่อรองราคาได้อย่างสบายใจ คุยไปขายไป มองดูแล้ว ใช่ไหมว่า...ภาพแบบนี้เลือนหายไปนานแล้วในสังคมไทยบ้านเรา

          จุดเด่นของตลาดน้ำคลองลัดมะยม คือผักผลไม้สดจากสวนของชาวบ้าน อาหารคาวหวานนานาชนิด ในส่วนของตลาดน้ำมีเรือของชาวบ้านพายมาขาย และตลาดบกติดริมคลองมีเนื้อที่กว้างให้เดินเลือกซื้อของตามที่ต้องการ แต่สิ่งที่สะดุดใจมากที่สุด คือ เรื่องการรักษาความสะอาดของพื้นที่ ตลาดน้ำคลองลัดมะยมจะมีขยะให้เห็นน้อยที่สุด หากถังขยะใบไหนเริ่มเต็ม จะมีคนคอยเก็บไม่ให้ขยะล้นถัง ทั่วตลาดจะมีป้ายและข้อความต่างๆ ที่ให้ผู้คนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม

แนวคิดในการทำตลาดน้ำเพื่อให้ผู้บริโภคกับชาวสวนมาพบปะกัน ปลูก กิน ขาย ไม่ผ่านใคร และตลาดน้ำคลองลัดมะยมมีข้อแม้ ๒ เรื่อง คือ ช่วยกันรักษาดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะลงคลอง และห้ามขายเบียร์ขายเหล้า

ลุงชวนอธิบายว่า "ตลาดน้ำ หลักคิดคือ ตลาดเป็นของชาวบ้าน เป็นของชุมชน ต้องมีตลาดให้ชาวบ้าน เป็นเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ตลาดของชาวบ้านหายหมดแล้ว เดิมเคยมี แต่ตอนนี้เป็นของร้านสะดวกซื้อในยุคทุนนิยม เราปฏิเสธไม่ได้เหมือนกัน ผมทำให้เห็นว่าเราต้องเอาพื้นฐานของตลาดของเราคืนมา เราปฏิเสธเขาไม่ได้ แต่เราทำมาคู่กับเขาได้ ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก"

"ผมไม่ได้ต่อต้านห้างสะดวกซื้อ ถ้าเราจำเป็นต้องใช้ ต้องซื้อ ก็ซื้อ เราซื้อที่เราจำเป็น ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบสุดขั้ว เพราะเป็นไปไม่ได้ อย่างตลาดน้ำ เรามาซื้อ เรารู้จักคนขาย รู้ที่ไปที่มา ไม่มีสารพิษปนเปื้อน ผักใหม่ๆ ยิ่งสดและอร่อย"

 "วันนี้ตลาดน้ำตอบคำถามได้มากมาย ผักขายได้ หัวปลีขายได้ กล้วยวันหนึ่งขายได้ ๕๐๐ กว่าหวี คนกินเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสินค้าที่มีประโยชน์มาก กล้วยเป็นอาหารคนจน กล้วยราคา ๒๐ บาท กินทั้งครอบครัว ไม่มีสารพิษ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ผมเป็นเหมือนหน่วยกล้าตาย เป็นแนวหน้า พอตลาดอยู่ได้ ก็มีคนเข้าร่วมมากมาย จากตอนแรกเริ่ม๒๐ - ๓๐ ร้าน ตอนนี้ประมาณเกือบ ๗๐๐ - ๘๐๐ ร้านค้า พื้นที่ขยายขึ้น แม่ค้าพ่อค้าทำกันเอง ตกลงกับเจ้าของพื้นที่ ค่าตอบแทนคุยกันเอง ร้านค้าเยอะมาก คนที่มาขายของไม่ใช่คนรวย ได้ก็ไม่ได้มากมาย"

 

สวนเจียมตน ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ชุมชน

Image            ตลาดน้ำคลองลัดมะยมไม่ใช่เป็นเพียงตลาดที่มีไว้แลกเปลี่ยนซื้อหาผักสด ผลไม้ อาหารคาวหวานเท่านั้น แต่ยังมีหลายอย่างที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของชุมชน แม้หลายอย่างจะยังไม่สมบูรณ์แบบมากนักก็ตาม

            มองเห็นป้าย "สวนเจียมตน" ด้านข้างตลาด เพียงชื่อก็น่าสนใจ ลุงชวนอธิบายที่มาที่ไปของชื่อนี้ว่า "ก่อนทำตลาด ผมทำสวน จำได้ว่ามีสวนสาธารณะแห่งหนึ่งเป็นภาษาจีน เขาแปลว่า เป็นการเจียมเนื้อเจียมตัว รู้สึกว่าชื่อนี้เตือนตัวเองดี ไม่หยิ่งผยอง ใช้ชีวิตมัธยัสถ์ เริ่มต้นการพัฒนาตนเอง เข้ากับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจยั่งยืน คนจะพึ่งตนเองได้ ต้องขยัน ประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม"

          "ส่วนห้องสมุดชุมชน หลักคิดของเราคือ ห้องสมุดต้องมีในชุมชน ผมชอบอ่านหนังสือ ใครมีหนังสือก็เอามารวมกัน หนังสือหรือห้องสมุดคือคลังสมองของชุมชน แยกเป็นหมวดๆ เกษตร วิทยาศาสตร์ สุขภาพ ท่องเที่ยว ใครอยากหาความรู้ก็มา ฝึกให้คนได้คิดเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องพัฒนาตนเองด้วยสติปัญญา อยากรู้เรื่องอะไรก็ต้องอ่าน แม้ว่าในวันนี้ ห้องสมุดยังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องเริ่มต้นไว้ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น เป็นเรื่องการเรียนรู้ แม้ทุกวันนี้จะมีอินเตอร์เน็ตอะไรต่างๆ ก็ยังไม่เหมือนหนังสือ อินเตอร์เน็ตเป็นตัวเพิ่ม ไม่ใช่เป็นตัวแทน แต่ละอย่างก็มีส่วนดีของมัน ใครนึกถึงอะไรก็มาดูได้"

          "ส่วนพิพิธภัณฑ์ชุมชนก็เหมือนห้องสมุด แต่เป็นห้องสมุดที่ใช้สิ่งของ เป็นประวัติศาสตร์ชุมชน รู้ที่มาที่ไปของชุมชน เราอยู่กับน้ำ ก็มีเรือ มีเครื่องมือจับปลา เช่น ทำไมชาวบ้านถึงคิดเครื่องมือจับปลาแบบนี้ ที่ภาคกลางใช้ไม้ไผ่ ทั้งลอบ เบ็ด หรืออย่างขนมนมเนย ใครเป็นคนคิดนำยอดมะพร้าวอ่อนๆ มาห่อลูกโยน ใครเป็นคนคิดนำใบตองมาห่อข้าวเหนียวและเอากล้วยใส่เข้าไป เอาถั่วดำใส่ไป มัดเป็นข้าวต้มมัด เวลาเรากิน เราแกะทิ้งขว้างทิ้ง แต่ไม่ได้คิดว่ากว่าจะคิดทำได้เป็นอย่างไร"

Image            เรานั่งคุยกันที่ศาลาปลายคลองลัดมะยม สายน้ำและสายลมต้อนรับผู้มาเยือน มีโรงเรียนวิถีถิ่นสร้างเป็นอาคารไม้เพื่อใช้บรรยายให้แก่คนที่เข้ามาศึกษาดูงาน ได้ศึกษาเรื่องน้ำ เรื่องปลา ใช้โซล่าเซลล์บำบัดน้ำ เรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ช่วงที่พูดคุยกับลุงชวน มีหลายกลุ่มเข้ามาศึกษาดูงาน ทั้งเด็กเล็กระดับประถม กลุ่มนักศึกษา และบางกลุ่มมาเก็บข้อมูลทำวิจัยเรื่องตลาดน้ำ ทำให้การพูดคุยหยุดชะงักลงหลายครั้ง เพราะลุงชวนต้องบรรยาย ต้อนรับ และมอบข้อคิดก่อนอำลาให้น้องๆ ซึ่งถือเป็นลูกหลานได้นำไปคิดและปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

            ลุงชวนบอกนักศึกษาที่มาเยี่ยมชมงานว่า "คนมีการศึกษาไม่ใช่คนจบที่ไหนมา หรือมีปริญญาหลายใบ แต่คนมีการศึกษาคือ เป็นคนที่มีหลักคิด หรือเป็นคนอย่างไรต่างหาก ผมไม่ได้มองว่าคุณรวย หรือจบอะไรมา ที่สำคัญคือเราเป็นคนอย่างไร เป็นคนใช้ความรุนแรง คดในข้องอในกระดูกหรือเปล่า เรียนจบสูงแต่ไม่คิดถึงคนอื่น ทำมาหากินอย่างเดียว คนมีการศึกษา กับคนที่จบการศึกษา อาจจะไม่เหมือนกัน คนหนึ่งอาจจะไม่จบการศึกษาอะไรเลย แต่มีจิตใจโอบอ้อมอารี รู้บาปบุญคุณโทษ ขยันขันแข็ง คือเราไปคาดหวังว่าคนผ่านระบบการศึกษามามากๆ จะเป็นคนที่ดีกว่า จบการศึกษาที่ไหน ได้ปริญญากี่ใบ อย่างท่านพุทธทาสบอกว่า "การศึกษาแบบหมาหางด้วน" คือ วนอยู่อย่างนั้น  และบอกอีกว่า "ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ" ไม่ใช่เพียงแค่ประเทศไทย แต่เป็นโลกที่จะพินาศ"

            ลุงชวนบอกว่าเราเรียนหนังสือ เรามีความรู้ เราต้องเอาปัญหามาอยู่กับเราด้วย "ตอนนี้ปัญหาไม่ได้เข้าไปในระบบการศึกษา ถามนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายคนถึงปัญหาของประเทศไทย หลายคนไม่รู้เรื่องเลย คือไม่ได้เรียนตามความเป็นจริง ปัญหาประเทศไทยตอนนี้คืออะไร ทั้งๆ ที่คุณคือนักศึกษามหาวิทยาลัย ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องเลย ปัญหาหลายอย่างต้องนำมาถกเถียงหาทางแก้ไข เช่น ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้น"

          "มีคนมาดูงานมากมาย กำลังคิดว่าได้อะไรไหม อย่างเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คุยแล้วคุยอีก คิดว่าพูดกันพอแล้วเรื่องนี้ พูดมานานแล้ว ต้องลงมือทำได้แล้ว ไม่ต้องอธิบายอีกแล้ว คือต้องเข้าใจว่าชุมชนคือต้นแบบ เป็นรูปธรรม ถ้าไม่เติบโต ไม่แข็งแรง ประเทศก็ไม่มีทางเข้มแข็ง คนมีที่ก็ขายร่ำรวยไป คนที่ไม่มีก็ไม่รู้จะหากินอย่างไร"

          ลุงชวนบอกไว้น่าสนใจว่า ประเทศไทยเรามีปัญหาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมหาวิทยาลัย  "อันนี้ฟันธงได้เลย หลักคิดเราผิด เราต้องปลูกฝังเด็กตั้งแต่เล็กๆ ตั้งแต่อยู่ในท้อง อายุตั้งแต่ ๐-๓ ปี สำคัญมาก เราจะมายัดเยียดเด็กตอนโต เป็นไปไม่ได้ ผมถามว่าคนตั้งครรภ์ขาดสารอาหารในชุมชนมีกี่คน มีคนดูแลสนใจไหม ไม่เห็นมีใครพูดถึง สมมุติเรียนจบดอกเตอร์มา สอนอนุบาลได้ ๓,๐๐๐ บาท แต่ไปสอนระดับมหาวิทยาลัยได้ ๓ หมื่น ทำไมไม่สอนระดับอนุบาลได้ ๓ หมื่นบาท หลักคิดคือ เด็กมีความสำคัญ ถ้าสอนตอนเด็กๆ ไม่ดี ตอนโตจะมีประโยชน์อะไร ถ้าเราทำคนให้เป็นคนตั้งแต่วัยเด็ก เราก็ไม่ต้องห่วงในตอนโต ถ้าเราหวังให้ประเทศเจริญไปข้างหน้า อะไรที่ไม่สร้างศักยภาพคนต้องหยุดไว้ก่อน อะไรที่สร้างศักยภาพของคนต้องใส่ไว้ ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรม"

"ที่ผ่านมามันแยกส่วน คือบ้านเราขาดการนำวิชามาเป็นรูปธรรม ศักยภาพ คุณภาพคนต้องสูงขึ้น ไม่มีประเทศไหนที่จะก้าวหน้า ถ้าไม่สนใจเรื่องคุณภาพของคน"

 

ชุมชนต้นแบบคลองลัดมะยม

Image             กว่า ๑๐ ปี นับตั้งแต่เริ่มต้นตลาดน้ำคลองลัดมะยม ถือได้ว่าทุกวันนี้ ตลาดน้ำสามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดน้ำคลองลัดมะยมกลายเป็น "ชุมชนต้นแบบ" คือเรื่องการบริหารจัดการตนเองในชุมชน ซึ่งลุงชวนอธิบายว่าเรื่องตลาดน้ำสามารถอยู่ได้แล้ว โจทย์สำคัญคือ การจัดการของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เรื่องการเงินของชุมชน ให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก ไม่ต้องกู้เงินนอกระบบ

ชุมชนที่เข้มแข็งจึงมีภารกิจหลายอย่าง เรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้าน การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้เศษอาหารมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ทำน้ำยาล้างจานใช้เอง นอกจากนี้ ยังเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับชุมชนต่างๆ เพื่อให้ชุมชนได้ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

"ทุกอย่างเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ขยายออกไปในระดับชุมชน ระดับประเทศ ประเทศจะเข้มแข็ง ชุมชนต้องเข้มแข็ง ชุมชนต้องสร้างศีลธรรมให้เกิดขึ้น ต้องสร้างสิ่งเหล่านี้ อาจต้องใช้เวลายาวนาน ต้องสร้างจิตสำนึกให้เกิดขึ้น คิดถึงส่วนรวมทั้งตอนนี้และวันข้างหน้า"

ลุงชวนอธิบายให้ฟังว่า "ตลาดคลองลัดมะยม ผมก็คิดเริ่มจากเรื่องสิ่งแวดล้อมนี่แหละ ผมไม่ได้เริ่มว่าจะได้กำไรเท่าไหร่ เป้าหมายแรกคือทำอย่างไรให้คลองมันดีขึ้น เงินที่มีใช้ไปให้คลองมันดี แม่ค้ามาขายแรกๆ ไม่มีการเก็บเงิน เพราะขายไม่ได้ ถ้าผมคิดแค่เรื่องกำไร ก็คงคิดแต่เรื่องเงิน ก็เป็นตัวอย่างจากสิ่งที่ทำ เติบโตมาเรื่อยๆ กิจกรรมมากขึ้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ถามว่าจะจบตรงไหน เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่มีวันจบ แต่วันหนึ่งเราคงไม่ต้องมาบอกกันอีกแล้วว่าเราต้องมาช่วยกันดูแลคลอง หรือสิ่งแวดล้อม ให้ทุกคนรู้สึกเหมือนกับว่าตื่นมาก็ต้องกินข้าว ถ้าเรามีหลักคิดอย่างนี้เมื่อไหร่ เรื่องสิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น"

 

ธรรมชาติ คือชีวิตของเรา

Image          เกือบหนึ่งวันเต็มที่เดินวนไปวนมาในตลาดน้ำคลองลัดมะยม วิถีชีวิตของผู้คนเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งเหมือนสายน้ำ แม้ทุกวันนี้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนก่อน แต่ที่สุดแล้วคนเราย่อมโหยหาธรรมชาติในส่วนลึก ซึ่งลุงชวนบอกว่าเราต้องพยายามฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราเท่าที่จะทำได้

ลุงชวนบอกว่า "โลกในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ใครไม่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมถือว่าตกขบวน เพราะทั่วโลกก็ประจักษ์แล้วว่าสิ่งแวดล้อมวิกฤติจริงๆ เราทำผิดต่อโลก สมัยก่อนไม่มีใครสนใจ ตอนนี้ทุกคนต้องทำสัญญาร่วมกัน โลกมีใบเดียว โลกเราต้องดูแล สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็เริ่มจากตัวเรา เริ่มจากจุดเล็กๆ เหมือนอย่างที่ผมบอกกับนักศึกษาบ่อยๆ ว่าโรงงานกำจัดขยะที่ดีที่สุดคือมือของเรา นั่นคือเราทำอะไรบ้างในแต่ละวัน เก็บไหม รักษาไหม สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็น  วิกฤติ ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ หิมะละลาย อุณหภูมิสูงขึ้น น้ำทะเลสูงขึ้น มีหลายคนบอกว่าถ้าเราอยู่กันอย่างนี้ ต้องมีโลกอีกหลายใบเพื่อจะให้มนุษย์เราถลุง เพราะวิถีชีวิตเป็นแบบนี้ ยกตัวอย่างสินค้าอุตสาหกรรมทุกวันนี้มันล้นโลกแล้ว เสื้อผ้าที่ผลิตวันนี้ ใช้อีกสิบปีก็ไม่หมด ในโลกนี้ สิ่งมีชีวิตเป็นสิ่งที่อ่อนแอที่สุด เชื้อโรคระบาดก็ตายหมดแล้ว ต้องคำนึงไว้ว่าสิ่งแวดล้อมจะกลับมาทำลายชีวิต เพราะฉะนั้นเราต้องใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ใส่ใจ จุดจบของเราก็อยู่ไม่ไกล มากน้อยเริ่มง่ายๆ จากตัวเราก่อน อย่าคิดว่าเราไม่เกี่ยว"

          "กินอะไร ขยะกี่ชิ้น ถุงพลาสติก เห็นเลยว่าในชีวิตประจำวันของเราใช้อะไรบ้าง ซื้อเสื้อผ้าไม่หยุด นั่นคือส่งเสริมการใช้พลังงาน เมื่อก่อนอาจจะใช่ที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก อย่างตอนเด็กๆ ผมทิ้งใบตอง ไม่ต้องคิดอะไรมาก ทิ้งเม็ดมะม่วง แต่วันนี้ถุงพลาสติกหนึ่งใบ เราต้องคิดแล้ว เราต้องเสริมตั้งแต่เด็กๆ"

            ลุงชวนสอนเด็กๆ ทุกกลุ่มที่มาเยี่ยมชมตลาดน้ำถึงอันตรายของการใช้โฟมซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง  "เราเป็นมะเร็งมากมายทุกวันนี้ แล้วเด็กไม่สมบูรณ์เยอะมากขึ้น เพราะเกี่ยวกับเรื่องการใช้ยาฆ่าแมลงกันมากในการปลูกอะไรต่างๆ มีผลตั้งแต่ในครรภ์มารดา ของพวกนี้เราไม่เห็นผลทันตา แต่สืบเนื่องไปถึงลูกหลาน เด็กไม่สมประกอบ อุตสาหกรรมพวกนี้เหมือนอุตสาหกรรมอาวุธ ถ้าไม่มีคนฆ่ากัน เขาขายอาวุธไม่ได้ ถ้าไม่โฆษณาชวนเชื่อก็ขายยาฆ่าแมลงพวกนี้ไม่ได้ ถ้าไม่มีแฟชั่น โรงงานเสื้อผ้าก็ต้องปิด มันก็วนอยู่อย่างนี้"

          "เราถูกกระตุ้นกิเลสทุกวัน ให้เราซื้อ ให้เราอยากได้ ผมบอกเกษตรกรว่า การใช้ยาฆ่าแมลง จุดจบคือโลงศพ อนาคตไม่มีทางจะร่าเริงหรืออบอุ่น แต่ถ้าเราหันมาใช้ของธรรมชาติ วันหนึ่งข้างหน้าก็คือ ป่าจะกลับมา ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติจะคืนกลับมา การใช้ยาฆ่าแมลงวันนี้ตอนนี้ ปีหน้าใช้ตัวใหม่ มีโฆษณายี่ห้อใหม่ๆ ออกมา ใช้ตัวนี้ไม่พอ ไม่ได้ผล ก็ใช้ตัวใหม่ๆ อีก ก็วนเวียนต่อไป จบลงตรงไหน จะจบลงตอนที่คนป่วยแล้ว ส่วนคนที่ยังไม่ป่วยมีอีกจำนวนไม่รู้เท่าไหร่ คือมันถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง"

          "วิถีชีวิตสมัยใหม่ ต้องเข้าใจหลักให้ได้ว่านั่นไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่จะอยู่กับมัน เมืองไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิตที่จะอยู่อย่างมีความสุข หรือยั่งยืน หรือสงบ ดิน น้ำ ลม ไฟ คือชีวิตของเรา ธรรมชาติคือชีวิตของเรา การประกอบอาชีพต้องแยกให้ออกว่า อะไรคือเทียม อะไรคือแท้ อย่าอยู่กับของปลอม แล้วคิดว่าเป็นของจริง ต้องแยกให้ออก อย่าไปหลง ทางพุทธศาสนาบอกไว้ว่า การหลง หรือการไม่เข้าใจสรรพสิ่งคืออันตราย หลายประเทศในปัจจุบันหันกลับมาสู่วิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ตอนนี้เรื่องเกษตรอินทรีย์ก้าวกระโดดอย่างยิ่ง ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้รับการตอบรับสูงมาก ทุกคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมากขึ้น ผู้บริโภคตื่นแล้ว โลกกำลังตื่น ยาฆ่าแมลงจะต้องน้อยลง พิษภัยที่เข้าร่างกายจะต้องน้อยลง สิ่งแวดล้อมจะต้องดีขึ้น โลกหมุนมาทิศทางนี้แล้ว"

ลุงชวนบอกทิ้งท้ายไว้ว่า เรามีชีวิตอยู่เพื่อสร้างสิ่งดีให้เกิดขึ้นกับโลกใบนี้และคนรุ่นหลัง "มนุษย์ต่างจากสัตว์คือ มีการส่งต่อวัฒนธรรม ปรีชาญาณ ปรัชญา ให้แก่คนรุ่นต่อไปได้คิดได้พัฒนา ไม่อย่างนั้นเราคงจะสูญพันธุ์ เรื่องสิ่งแวดล้อม เราต้องเข้าใจ ต้องลงมือทำ ความล้มเหลวอยู่ที่การไม่ลงมือทำ"

          นานมากแล้วที่สังคมไทยเชื่อกันว่า "ถนนคอนกรีต" อันสวยงามจะนำพาความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศของเรา โดยทอดทิ้งแม่น้ำลำคลองให้สกปรกไว้ข้างหลัง เราตกแต่งถนนหลายสายด้วยแสงสว่างและความวิจิตรตระการตา แต่ปล่อยปละละเลยให้แม่น้ำลำคลองทุกสายมืดมนและสกปรกปราศจากการดูแล ...แต่ใช่ไหมว่าต่อจากนี้ไป ถ้าเราจะก้าวหน้าอย่างยั่งยืน เราคงต้อง "ถอยหลังเข้าคลอง" กันบ้าง เพื่อความเจริญที่แท้จริงของสังคมไทยบ้านเรา

 

------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙๙
วัฒนธรรม ทิ้งขว้าง : Throwaway Culture

เว็บ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >