หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 64 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


คุณพ่อพิเชฐ แสงเทียน, S.J. อ่านพระสมณสาสน์ Laudato Si' ไตร่ตรองชีวิต ย้อนมองสังคมไทย พิมพ์
Wednesday, 03 February 2016

คุณพ่อพิเชฐ แสงเทียน, S.J.

อ่านพระสมณสาสน์ Laudato Si'

ไตร่ตรองชีวิต ย้อนมองสังคมไทย

วรพจน์  สิงหา สัมภาษณ์/เรียบเรียง

 

 Image 
                                ภาพ: sadw.org                                   

            "มนุษย์ในยุคใหม่เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมากขึ้นๆ กระทั่งเห็นว่าสิ่งสร้างอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นด้อยกว่า และนำมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ พระสันตะปาปาฟรังซิสบอกว่าในยุคปัจจุบันนี้ กระแสนี้ยิ่งก่อปัญหาที่หยั่งรากลึกกว่าอีกในจิตใจมนุษย์"

(คุณพ่อพิเชฐ แสงเทียน, เอส.เจ.)

           

 Image 
                คุณพ่อพิเชฐ แสงเทียน                   

            พระสมณสาสน์ Laudato Si' "ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า" ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส นับเป็นพระสมณสาสน์ที่สำคัญมากที่สุดฉบับหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน อีกทั้งได้รับความสนใจจากบรรดาผู้นำประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งก่อนและหลังการตีพิมพ์

            "คุณพ่อพิเชฐ แสงเทียน" พระสงฆ์คณะเยสุอิต อาจารย์ประจำวิทยาลัยแสงธรรม จบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์บูรณาการและประยุกต์ เป็นผู้หนึ่งที่ได้อ่านพระสมณสาส์น Laudato Si' ก่อนการตีพิมพ์ และได้รับเชิญไปพูดคุยแบ่งปันในหลายเวทีถึงเนื้อหาและความสำคัญของพระสมณสาสน์ฉบับนี้ รวมถึงเป็นผู้ตรวจแก้และขัดเกลาภาษาให้ตรงกับต้นฉบับแรกที่เป็นภาษาสเปน

            การไตร่ตรองผ่านพระสมณสาสน์ Laudato Si' ของคุณพ่อพิเชฐมีหลายมุมมองที่น่าสนใจและสามารถทำให้เราแต่ละคนได้ย้อนมองชีวิตและสังคมไทยของเราว่าเราจะทำอะไรได้บ้างให้กับโลกซึ่งเป็น "บ้าน" ของเราทุกคน

 

"อย่าคิดว่าอะไรที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์จึงจะมีคุณค่า"

 Image 
            ภาพ: www.socialbkk.org              

พระสมณสาสน์ Laudato Si' ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ.๒๐๑๕ ซึ่งพระสันตะปาปาฟรังซิสลงพระนามตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๐๑๕ โดยเนื้อหาของพระสมณสาสน์ Laudato Si' กล่าวถึงปัญหาวิกฤติสิ่งแวดล้อม ลัทธิบริโภคนิยม ความเสื่อมทรุดทางศีลธรรมและวัฒนธรรมทิ้งขว้างของคนในยุคปัจจุบัน  ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสระบุไว้ว่าผลกระทบของการทำลายธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตกอยู่กับคนยากจน พระองค์เรียกร้องมนุษย์ทุกคนให้ "เปิดหูเพื่อฟังเสียงร้องของโลกและเสียงร้องของคนยากจน" และให้มวลมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาทั่วโลกช่วยกันดูแลปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

            คุณพ่อพิเชฐอธิบายให้ฟังว่า พระสมณสาสน์ Laudato Si' มีความพิเศษในหลายด้าน ทั้งในเรื่องวิธีการออกพระสมณสาสน์ที่ไม่เหมือนครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยพระศาสนจักรคาทอลิกได้แปลเป็นภาษาทางการและใช้ภาษากว้างๆ ถึง ๘ ภาษา เช่น สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส โปรตุเกส โปลิช อิตาเลียน ลาติน และภาษาอาหรับ ลงในเว็บไซต์ของวาติกัน ซึ่งคนเกือบทั่วโลกสามารถอ่านพระสมณสาสน์ฉบับนี้ได้ในภาษาใดภาษาหนึ่ง และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเมื่อไม่นานมานี้

            "พระสมณสาสน์ฉบับนี้หลายฝ่ายสนใจเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเรา อันดับแรกเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องอยู่รอบตัวเรา เราได้รับผลต่างๆ จากสิ่งแวดล้อม หลายคนก็รู้สึกแล้วถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องอุณหภูมิอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความแห้งแล้งต่างๆ อิทธิพลจากปัญหาสังคมในด้านต่างๆ เรื่องมลพิษต่างๆ พระสันตะปาปาเห็นความสำคัญของการมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจากด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ปรัชญา เทวศาสตร์ ทุกๆ ฝ่ายมาเสวนากัน"

 Image 
      ภาพ: sites.google.com/site/kritsadeesp/2-neuxha-bth-reiyn/neuxha-thi4    

คุณพ่อพิเชฐกล่าวว่าพระสมณสาสน์ฉบับนี้ออกมาในช่วงเวลาที่น่าสนใจ "คือในเดือนธันวาคมปีนี้ จะมีการประชุมสุดยอดในระดับโลกเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือก่อนหน้านี้ที่มีการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งพระสันตะปาปาได้เป็นวิทยากรท่านหนึ่งด้วย ซึ่งท่านออกพระสมณสาสน์ Laudato Si' ฉบับนี้ก่อน ๓ เดือน ก่อนการประชุมของสหประชาชาติ ถือเป็นโอกาสที่คนที่สนใจจะได้ศึกษาก่อน ๓ เดือน และช่วงนั้นผู้ที่สนใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงที่จะมีส่วนในการประชุมในเดือนธันวาคมนี้ มีเวลาถึง ๖ เดือน และช่วง ๖ เดือนนี้ หลายประเทศออกมาระบุนโยบายของประเทศของตน และเผยแพร่นโยบายว่าแต่ละประเทศตั้งใจจะทำอะไร เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ สร้างมลพิษอาจจะไม่ได้เป็นอันดับต้นๆ แต่เนื่องจากมีจำนวนประชากรมาก ก็ออกเอกสารมาเหมือนกัน ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังตื่นตัวมากขึ้นในประเด็นนี้"

สำหรับคุณพ่อพิเชฐ ความสำคัญของพระสมณสาสน์ฉบับนี้คือ ความกว้างและความเชื่อมโยง "ปกติเวลาเราพูดถึงสิ่งแวดล้อม หลายคนจะพูดถึงสิ่งที่อยู่นอกตัวเรา คือบางครั้ง เราใช้คำว่า "รอบตัวเรา" แต่จริงๆ ความหมายลึกๆ เราจะหมายถึง "นอก" ตัวเรา เป็นบริเวณที่เราอยู่อาศัย สิ่งที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับเราโดยตรง เป็นสิ่งที่อยู่รอบๆ เรา และพระสันตะปาปาใช้คำว่า "สิ่งแวดล้อม" ในความหมายพิเศษก็คือ มนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมด้วย เราอยู่ที่นั่น ถ้าเราจะเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง อากาศหรือสิ่งแวดล้อมก็จะมาแทนเราทันที คือเราไม่ได้ออกไปจากสิ่งแวดล้อมได้เลย"

"ส่วนความเชื่อมโยงของศาสตร์ต่างๆ ที่พระองค์ไม่อยากให้แยกออกมาเป็นส่วนๆ พระองค์ไม่อยากให้แยกออกมาว่าเป็นวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือนิเวศวิทยา เป็นบทหนึ่งของวิทยาศาสตร์ แล้วไม่ค่อยเกี่ยวกับชีวิตของเราโดยตรง และคนนอกวงการก็ไม่ได้เรียน หรือถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็คือ แง่ของศาสนา ปรัชญา เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เรื่องเหล่านี้เรามักจะมองมนุษย์เป็นหลัก เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับมนุษย์โดยตรง แต่จะไม่ค่อยนึกถึงสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ พระองค์อยากจะให้ขยาย บอกว่าเราอย่าเป็นห่วงแต่เฉพาะเรื่องของมนุษย์ อย่าคิดว่าอะไรที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์จึงจะมีคุณค่า หรือถ้าไม่มีประโยชน์กับมนุษย์ก็เป็นสิ่งไม่มีค่า พระองค์อยากให้ศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรงคิดถึงเรื่องสิ่งสร้างอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ด้วย"

 

โลกอ่อนแอและเปราะบาง คนยากจนก็อ่อนแอและเปราะบาง

 Image 
                   ภาพ: iouyouy.blogspot.com/2014/12/blog-post_4.html                  

            พระสมณสาสน์ Laudato Si' แบ่งออกเป็น ๖ บท โดยในประโยคแรกๆ ของบทนำ พระสันตะปาปาฟรังซิสอ้างอิงถึงคำของนักบุญฟรังซิส อัสซีซี ซึ่งเตือนเราว่า "บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันนี้ เป็นเสมือนพี่สาวคนหนึ่ง ซึ่งเราแบ่งปันชีวิตด้วยกัน และเป็นเสมือนมารดาผู้งดงาม" ซึ่งพระองค์ระบุไว้ว่า "บัดนี้ พี่สาวผู้นี้ส่งเสียงร้อง เพราะความเสียหายที่เราได้ก่อให้เกิดขึ้นกับเธอ ด้วยการใช้ทรัพย์สินที่พระเจ้าทรงมอบให้แก่เธออย่างไม่รับผิดชอบและฟุ่มเฟือย เราเติบโตขึ้นมาด้วยความคิดว่าเราเป็นเจ้าของ เป็นผู้ควบคุมโลก และเป็นผู้มีอำนาจที่จะใช้แผ่นดินนี้ ความรุนแรงในจิตใจมนุษย์ที่บาดเจ็บเพราะบาปนั้น เห็นได้จากอาการผิดปกติของผืนดิน น้ำ อากาศ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ แผ่นดินซึ่งถูกกดขี่และถูกทำร้าย "ร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดราวกับสตรีคลอดบุตร" (รม ๘:๒๒)"

            ในพระสมณสาสน์บทที่ ๑ ข้อ ๒๗ ระบุไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า "เราตระหนักดีว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะคงระดับการบริโภคอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว และในสังคมที่มั่งคั่งที่สุด ซึ่งเคยชินที่จะใช้จ่ายและทิ้งขว้างอย่างฟุ่มเฟือยในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การใช้ทรัพยากรของโลกนั้น เกินขีดจำกัดสูงสุดมามากแล้ว โดยที่เรายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องความยากจนได้เลย"

 Image 
                ภาพ: iouyouy.blogspot.com/2014/12/blog-post_4.html                

            คุณพ่อพิเชฐอธิบายว่า "ถ้าเรามองว่าปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งกับคนยากจนและกับโลกซึ่งเป็นที่ๆ เราอาศัยอยู่ร่วมกัน โลกเป็นทั้งมารดาและน้องสาว โลกอ่อนแอและเปราะบางเหมือนกัน คนยากจนก็อ่อนแอและเปราะบาง พระสันตะปาปาอยากให้เรามองปัญหาเหล่านี้ และวิธีการแก้ปัญหาให้ไปด้วยกัน เราแยกส่วนไม่ได้ว่าแก้ปัญหาความยากจนแต่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่เอาเปรียบคนจน ก็ไม่ได้ ต้องหาวิธีที่ดูแลรักษาสิ่งสร้างของพระเจ้าไปพร้อมกัน"

            คุณพ่อพิเชฐอธิบายเรื่องผลกระทบต่อคนยากจนว่าพระสันตะปาปานำเสนอทั้งสองด้าน ทั้งด้านที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากข้อมูลและเหตุผลต่างๆ และมองเรื่องนี้อีกแง่หนึ่งในมุมของเทววิทยา

"ตัวอย่างเช่น เมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลาย ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น คนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก คือคนยากจน คนกลุ่มนี้จะได้รับผลโดยตรงจากปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เรื่องน้ำ คนยากจนจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หรือเรื่องของมลพิษ ในบางสังคมที่มีมลพิษมากๆ ในบ้านของคนมีเงินซื้อเครื่องกรองอากาศ หรือปิดหน้าต่างทั้งหมดและเปิดแอร์ เขาอาจจะมีอากาศที่บริสุทธิ์ ขณะที่คนยากจนที่อยู่ข้างนอก ทำงานกลางแจ้ง เขาจะได้รับสารพิษหรือมลพิษต่างๆ มากกว่าคนที่มีเงินซื้อหลายเท่า แม้ไม่ต้องพูดในแง่ของศาสนาโดยตรง เราก็เห็นได้แล้วว่าคนที่ยากจนกว่าได้รับผลกระทบในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่า"

 

มนุษย์สมัยใหม่กับวัฒนธรรมทิ้งขว้าง

 Image 
        ภาพ: www.facebook.com/ScpPolicyThailand        

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตในยุคสมัยใหม่ มนุษย์เราได้ก่อมลพิษเพิ่มมากขึ้น สร้างกองขยะเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิด "สิ่งปฏิกูล" ให้แก่ชนรุ่นหลัง พระสมณสาสน์ Laudato Si' ทำให้เราย้อนมอง "อาการ" ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างชัดแจ้ง และบอกไว้อย่างชัดเจนว่า "ปัญหาสังคมมากมายล้วนเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ที่เห็นแก่ตัวในปัจจุบัน" (๑๖๒)

            คุณพ่อพิเชฐกล่าวว่า สิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาวิเคราะห์ในพระสมณสาสน์ฉบับนี้สามารถนำมาใช้ได้อย่างดีสำหรับสังคมไทย "ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเพราะพระองค์ท่านมาจากประเทศอาร์เจนติน่า ฐานะทางเศรษฐกิจสังคมอาจจะพัฒนาสูงกว่าไทยนิดๆ ไม่แตกต่างกันมาก มีหลายอย่างคล้ายกัน มีสังคมที่ใหญ่ สังคมชนบทที่ยังพัฒนาไม่ทั่วถึง ในสังคมเมืองก็มีย่านที่ยากจน มีปัญหาทางสังคมเมือง มีหลายอย่างที่คล้ายกับสังคมไทย พระองค์เคยเป็นพระอัครสังฆราชที่บัวโนสไอเรส เมืองหลวงของอาร์เจนติน่า ทีมงานที่พระองค์ขอให้ช่วยร่างพระสมณสาสน์หลายคน ได้ยินว่าเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่นั่น ในแง่หนึ่งการวิเคราะห์สังคม วิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อม และที่พระองค์ยกเป็นตัวอย่าง มีหลายๆ อย่างที่สอดคล้องกับบริบทของไทยจริงๆ อย่างเรื่องของน้ำ แหล่งน้ำจืดที่ขาดแคลน ที่พระองค์กล่าวถึงในพระสมณสาสน์บทที่ ๑ ตอนที่ ๒ ในประเทศไทยเราก็มีพอสมควร เฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือมีค่อนข้างมาก จากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามแหล่งใกล้ภูเขาหรือเชิงเขา ที่เมื่อก่อนนี้เคยตักน้ำจากแหล่งน้ำจืดต่างๆ แค่เอามาต้มหรือกรอง ฆ่าเชื้อโรค ก็สามารถดื่มได้แล้ว แต่เดี๋ยวนี้หลายหมู่บ้าน แค่ต้มหรือกรองน้ำไม่ได้แล้ว สมมุติว่าแหล่งน้ำนั้นไหลผ่านบริเวณที่ทำเกษตร ถ้าทำเกษตรโดยใช้ปุ๋ยเคมี ยากำจัดวัชพืช ยาปราบศัตรูพืช หรือยาฆ่าแมลงต่างๆ น้ำที่ไหลผ่านบริเวณเหล่านี้ ชาวบ้านตักขึ้นมา ถึงจะต้มหรือกรอง เชื้อโรคหมดไปได้ แต่ว่าสารเคมีหลายอย่างไม่สามารถกำจัดด้วยการต้มหรือการกรองได้ เพราะฉะนั้นจะมีหลายที่ที่ชาวบ้านจะต้องเข้าเมืองมาซื้อน้ำกลับเข้าไปหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อก่อนไม่ต้อง ยิ่งถ้าคนฐานะยากจน เขาไม่สามารถซื้อเครื่องบำบัดน้ำดื่มมาใช้ได้ ต้องซื้อน้ำมาดื่ม ก็ยิ่งทำให้พวกเขายากจนลงไปอีก"

 Image 
                           คุณพ่อพิเชฐ แสงเทียน                             

            ในพระสมณสาสน์ Laudato Si' พระสันตะปาปาฟรังซิสใช้คำว่า "วัฒนธรรมทิ้งขว้าง" (the throwaway culture) ซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยใหม่

"พระสันตะปาปาพยายามขยายความว่า "วัฒนธรรมทิ้งขว้าง" เป็นการแสดงออกถึงปัญหาที่ลึกกว่านั้นในจิตใจมนุษย์ เมื่อ ๒๐๐ - ๓๐๐ ปีก่อน มนุษย์ในยุคใหม่เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลมากขึ้นๆ กระทั่งเห็นว่าสิ่งสร้างอื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์นั้นด้อยกว่า และนำมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ พระสันตะปาปาบอกว่า ในยุคปัจจุบันนี้ กระแสนี้ก็ยิ่งก่อปัญหาที่หยั่งรากลึกกว่าอีกในจิตใจมนุษย์ กลายเป็นสัมพัทธนิยม (Relativism) ที่เอามาประยุกต์ปฏิบัติจริงๆ ในชีวิตประจำวัน คือมนุษย์จะทำอะไร แรงจูงใจหลายอย่างของเราคือ เพื่อความสุขหรือความพึงพอใจของตนเอง โดยไม่ค่อยคิดถึงสิ่งสร้างอื่นๆ ของพระเจ้า และหลายครั้งในยุคปัจจุบันไม่ค่อยคิดถึงคนอื่นๆ ด้วย ไม่ค่อยคิดถึงอนาคตเท่าไหร่ คือต้องการตอบสนองความต้องการในปัจจุบันของตน ไม่ค่อยคิดถึงชนรุ่นหลัง สิ่งนี้แสดงออกมาเป็นวัฒนธรรมทิ้งขว้าง หลายคนที่มีอำนาจที่จะซื้อสิ่งต่างๆ ก็จะซื้อเกิน ซื้อสิ่งที่ตนเองไม่ได้ต้องการจริงๆ และบางครั้งซื้อสิ่งที่ใช้แล้วทิ้ง บางครั้งที่พระองค์กล่าวถึงเรื่องการประกอบอาหาร บอกว่าหลายครั้งเราซื้ออาหารมาเกิน ประกอบอาหารเกินกว่าที่เราต้องการบริโภค แล้วก็ทิ้ง ซึ่งอาหารหลายอย่างสามารถเก็บได้ กินเหลือแล้วก็ทิ้ง ซึ่งพระสันตะปาปาเห็นว่าเป็นปัญหา แม้แต่การทิ้งอาหารก็เป็นสิ่งที่เราเห็นได้ชัดว่าเกิดจากจิตใจของมนุษย์ในปัจจุบัน"

          "วัฒนธรรมทิ้งขว้างรวมทั้งเรื่องอุปโภคและบริโภค เป็นเรื่องระดับโลก คือไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวของแต่ละคน แต่ว่าคนทำตามกันไปหมด กลายเป็นวัฒนธรรม รวมทั้งใช้ของที่ใช้แล้วทิ้งไปด้วย เช่น เรื่องของภาชนะบรรจุอาหาร เมื่อก่อนอาจจะใช้ใบตองและไม้กลัด ซึ่งถ้าเราใช้ปริมาณน้อยๆ ต้นกล้วยยังพอขึ้นมาทดแทนได้บ้าง และไม้ไผ่ที่ใช้ทำไม้กลัดยังพอที่จะโตขึ้นมาแทนได้ แต่เดี๋ยวนี้การห่อหุ้มอาหาร เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ยิ่งในสังคมเมืองที่ไม่ค่อยมีต้นกล้วยหรือต้นไผ่ เราใช้พลาสติก ใช้โฟม ใช้กระดาษมากขึ้น แล้วเรื่องการทำหีบห่อสวยงาม ยิ่งอาหารสำเร็จรูป อาหารที่ฉีกแล้วกินได้เลย หลายอย่างจะเป็นพลาสติกกับโฟม เราใช้สิ่งที่อยู่ภายในซึ่งบางครั้งแค่นิดเดียว แล้วเราก็ทิ้งสิ่งที่เหลือ ซึ่งเมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนั้น

เพราะฉะนั้น ตอนนี้กลายเป็นกระแสที่เป็นเรื่องธรรมดาแล้ว อย่างเช่น ถ้วยน้ำ บางที่ก็ใช้แบบพลาสติก ที่ใช้แล้วทิ้ง ซึ่งการใช้แล้วทิ้ง ภาษาอังกฤษมีคำชัดเจนเลยว่า Disposable กลายเป็นกระแสใหม่ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตัวอย่างคือ อย่างผมเคยอยู่ในวงการวิจัยวิทยาศาสตร์อยู่พักหนึ่ง เมื่อก่อนนี้ภาชนะที่ใช้ในห้องแลป หลายอย่างทำด้วยแก้ว หลอดทดลองหรือบีกเกอร์ต่างๆ เมื่อก่อนนี้หลายอย่างเป็นแก้ว พอเราใช้ของพวกนี้แล้ว ล้างแล้วคว่ำเก็บ ถ้าอยากให้สะอาดจริงๆ ในด้านเคมีหรือชีวเคมี บางทีจะมีผงซักฟอก พอล้างน้ำแล้วจะไม่เหลือคราบทิ้ง ล้างน้ำสุดท้ายด้วยน้ำกลั่นนิดหนึ่ง แล้วคว่ำไว้ แล้วใช้ได้อีก แต่พอช่วงที่ทำปริญญาเอก สังเกตว่าอุปกรณ์หลายอย่างในห้องแลปที่ชัดเจนว่าเป็นเรื่อง Disposable ก็คือ ออกแบบสำหรับใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาจจะเป็นพลาสติกแทนที่จะเป็นแก้ว ซึ่งเป็นพลาสติกแบบพิเศษที่จะไม่ทำปฏิกิริยาบางอย่างกับสารบางอย่าง หรือไม่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตที่จะเพาะเลี้ยงต่างๆ แต่พอใช้แล้ว มักจะทิ้งไปเลย เพราะถูกออกแบบมาอย่างนั้น ราคาถูกกว่าจริง แต่ก่อให้เกิดกองขยะ บางวันใช้ถังขยะขนาดกลางๆ ก็เต็มหมด"

          "หรือในแง่ของปริมาณขยะ รุ่นปู่ย่าตายายของเรา ในวันหนึ่งๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน มีขยะให้ทิ้งเท่าไหร่ บางคนอาจจะไม่ทิ้งอะไรเลยที่เป็นขยะ หรือปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่ปัจจุบันนี้ ชีวิตของคนเราตั้งแต่เช้าถึงเย็นในหนึ่งวัน เราทิ้งอะไรบ้าง ซึ่งคิดว่ามากกว่าเดิมพอสมควร หรืออย่างคุณย่าของผมพายเรือไปวัด คนรุ่นเราอาจจะพายเรือไม่เป็นแล้ว ต้องขับรถไปวัด วิธีการเดินทางไปวัดก็แตกต่างกัน กรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ถมคลอง หรือคลองกลายเป็นที่สำหรับระบายน้ำ เมื่อก่อนนี้คลองเป็นที่ไหลเวียนน้ำสะอาดจากที่อื่นมา เด็กๆ ว่ายน้ำในคลองได้ และในคลองยังมีปลา แต่ปัจจุบัน คลองต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หาปลาได้ยาก"

 

ทบทวนการใช้ "ชีวิตประจำวัน" ของเรา

 Image 
           ภาพ: www.cmdiocese.org             

            หลังจากได้อ่านพระสมณสาสน์ Laudato Si' คุณพ่อพิเชฐบอกว่า นึกทบทวนในชีวิตของตัวเอง "ชีวิตประจำวันของเรา เราทำอะไรบ้าง แค่ไหนที่ส่งผลไม่ดีต่อสิ่งสร้างของพระเจ้าโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่มนุษย์ และผมคิดว่าหลายอย่างที่ทำในชีวิต โดยเฉพาะทางเลือกต่างๆ บางทีไม่ค่อยได้คิดว่าเราเลือกแบบนี้ๆ แต่ว่าส่งผลต่อสิ่งสร้างของพระเจ้าจริงๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ ผมเข้าไปในห้องไหน แล้วรู้สึกร้อน ถ้ามีแอร์หรือพัดลม ก็จะเปิด ที่จริงแค่พัดลมเองก็มีผลแล้ว เพราะต้องใช้ไฟฟ้า ถ้าเปิดแอร์ก็ยิ่งหลายเท่า หรือในเรื่องการเดินทางไปยังที่ต่างๆ จะเดินทางอย่างไร บางทีเราอาจต้องตื่นเช้ามืด เพื่อจะเดินทางโดยรถประจำทาง ซึ่งการเดินทางของเราทุกวันนี้ ถ้าต้องไปหลายที่หลายแห่ง การเดินทางโดยรถสาธารณะอาจจะลำบาก แต่อย่างน้อยการคิดในเรื่องเหล่านี้ ผมคิดว่าพระสมณสาสน์ช่วยให้เราได้คิดได้ไตร่ตรองในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งเราอาจจะไม่ค่อยได้คิดเท่าไหร่"

          "แม้แต่เรื่องการเดินทาง ผมหรือคนอื่นๆ อาจจะคิดบ้าง แต่คิดด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจอย่างเดียว เช่น ค่ารถค่าเดินทางเท่าไหร่ เสียเวลาเท่าไหร่ แต่เดี๋ยวนี้คิดกว้างมากกว่านั้น คือนอกจากเรื่องนี้แล้ว เรื่องของผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง นอกจากเรื่องเงินแล้วยังมีอย่างอื่นอีกไหม คือคิดอย่างละเอียดมากขึ้นและกว้างขึ้น"

          "สำหรับคาทอลิก หรือสำหรับผู้ที่เชื่อในพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาทอลิก เราอาจจะนึกถึงแรงจูงใจในการกระทำต่างๆ ของเรา ในการเลือกว่าเราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติพระเจ้าก่อนหรือเปล่า เพราะถ้าเราทำเพื่อพระเจ้าแล้ว สิ่งต่างๆ จะสานต่อออกจากความสัมพันธ์นั้น เราจะทำสิ่งที่ดีกว่าสำหรับเพื่อนมนุษย์และตัวเราเองด้วย และสิ่งสร้างทั้งหมดของพระเจ้า เพราะเราเห็นว่าพระเจ้าเป็นผู้ที่สร้างและดูแลทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราเห็นถึงสถานภาพของเราตามหลักการเทววิทยาของคาทอลิก เราจะเห็นว่าพระเจ้าได้มอบสิ่งสร้างทั้งหมดไว้ให้มนุษย์ดูแล เราจะทำสิ่งที่ดีที่จะดูแลสิ่งสร้างของพระเจ้าเหล่านั้น เป็นแรงจูงใจเฉพาะของคริสตชน หรือพี่น้องต่างความเชื่อที่ได้อ่านพระสมณสาส์นฉบับนี้ ปฏิบัติตามคำแนะนำ ยอมรับเรื่องวิกฤติสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน หรือตระหนักถึงน้ำมือหรือบทบาทของมนุษย์ในการทำให้เกิดวิกฤติเหล่านั้น เห็นแนวทางการแก้ไขของสมเด็จพระสันตะปาปา และนำไปใช้จริงๆ แค่นี้ก็จะทำให้โลกซึ่งเป็นบ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันนั้นดีขึ้น"

 

เริ่มจาก "การกลับใจภายใน"

เราจะส่งมอบโลกแบบไหนให้ลูกหลานของเรา?

 Image 
          ภาพ: www.fatimacentremolkod.com             

            วิกฤติของสิ่งแวดล้อมภายนอกสะท้อนความวุ่นวายจาก "ภายใน" ของมนุษย์ และถ้าเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลง คงต้องเริ่มจากการกลับใจภายในของเราแต่ละคน

คุณพ่อพิเชฐบอกว่า พระสันตะปาปาฟรังซิสอยากให้เราเริ่มจากการกลับใจภายในของเราก่อน เริ่มจากตัวเราเอง "เริ่มมองเห็นน้ำมือของเราในการทำให้โลกนี้น่าอยู่น้อยลง และให้เราค่อยๆ คิดว่าเราจะเปลี่ยนอะไรได้บ้าง แล้วปรับจากทัศนคติภายใน และพระองค์พูดถึงเรื่องการทำงานร่วมกันเป็นชุมชน เป็นสังคม พูดถึงเรื่องโรงเรียน บ้านเณร ที่อบรมนักบวช เป็นที่ที่อบรมบ่มเพาะคนยุคใหม่ ซึ่งจะมีผลตลอดชีวิตของเขา และการทำร่วมกันเป็นชุมชน เป็นสังคม พระสันตะปาปาเสนอแนวทางของการเสวนาว่าจะเสวนากับใคร ระดับไหน อย่างไร ให้มีการเปิดใจต่อกัน พระองค์อยากให้คนจากศาสนาต่างๆ และจากสาขาวิชาต่างๆ มาเสวนากัน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นจากปัจเจกบุคคล คนใดคนหนึ่ง ถ้าสามารถให้ชุมชนมาร่วมกัน ก็ยิ่งดี ถ้าศาสนาสามารถมาช่วยกันพิจารณา ช่วยกันเปลี่ยนแปลง หรือคนจากวงการต่างๆ มาช่วยคิดพิจารณา ก็ยิ่งดี เพราะปัญหานี้จะแทรกไปอยู่ในสังคมทั้งหมด"

"จากพระสมณสาส์น พระสันตะปาปาเสนอให้เรา "กลับใจ" ในด้านวัฒนธรรม กลับใจไปหานิเวศวิทยาเชิงบูรณาการที่คิดถึงสิ่งสร้างทั้งหมดของพระเจ้า ทำอะไรให้มองถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงทั้งหมดว่าเรามีความสัมพันธ์อย่างไรกับพระเจ้า กับมนุษย์ และกับสิ่งสร้างอื่นๆ ที่เหมาะสม"

"มีบางคำที่พระสันตะปาปาได้ยกคำของนักบุญเทเรซาแห่งลีซีเออซ์ หรือเทเรซาแห่งพระกุมารเยซู พูดถึงเรื่องการกระทำเล็กๆ น้อยๆ ก็เป็นสิ่งที่มีผลกระทบแล้ว คือถ้าเรามองแต่ในภาพรวม แล้วเห็นการกลับใจเป็นเรื่องที่จะต้องหักวิถีชีวิตแบบสิ้นเชิง อาจจะทำให้คนหมดความหวังจริงๆ และไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะว่าคนที่พิจารณาอย่างจริงจังในชีวิตว่าตอนนี้ตนเองกำลังทำอะไรและส่งผลอะไรต่อสิ่งสร้างทั้งหมดของพระเจ้า คือถ้าคิดลึกซึ้งจริงๆ จะบอกว่าเกือบทุกอย่างที่เราทำมีผลกระทบ ซึ่งการกระทำเพียงเล็กๆ น้อยๆ จะมีผล แล้วให้เริ่มจากตรงนั้นมากกว่า และเรื่องความยุติธรรมทั้งต่อความสัมพันธ์ต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ กับพระเจ้า กับเพื่อนมนุษย์ และกับสิ่งสร้าง หรือเรื่องความยุติธรรมต่อชนรุ่นหลัง ว่าเราจะส่งมอบโลกแบบไหนให้แก่ลูกหลานของเรา"

 Image 
                             ภาพ: มูลนิธิโลกสีเขียว                             

"พระสันตะปาปาพูดเรื่องของ "ความสงบภายใน" มีประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างจะสอดคล้องกับหลักศาสนาพุทธด้วย เพราะว่าเรื่องความสมดุลในจิตใจซึ่งจะทำให้เราสงบนั้น พระสันตะปาปาเขียนถึงเรื่องการตัดหรือละทิ้งความปรารถนาในสิ่งที่เราไม่มี ซึ่งทางพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นในชีวิต นอกจากนั้น พระองค์ให้เราเสริมเรื่องของความกตัญญูรู้คุณ เห็นคุณค่าของสิ่งสร้างต่างๆ รอบตัวเรา ให้เราขอบคุณต่อพระเจ้าสำหรับสิ่งต่างๆ ที่เราได้รับจากพระองค์"

"เราต้องเปลี่ยนทัศนคติของเราใหม่ เราทำอะไร อย่าทำอะไรเพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย หรือความปรารถนา หรือความชื่นชอบของตนอย่างเดียว บางอย่างอาจเป็นแรงจูงใจบ้าง แต่ภาพรวมที่ใหญ่กว่านั้นคือ มองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าก่อนว่าถ้าเราทำอะไรในบริบท เรามีความสงบ พบการประทับของพระเจ้าอยู่ในชีวิตของเราเองและในสิ่งสร้างทั้งหมด เราจะทำอะไรต่างๆ ด้วยแรงจูงใจที่ไม่เหมือนกัน จะเป็นการกลับใจทีละเล็กละน้อย"

 Image 
                   ภาพ: ammarin-korab.blogspot.com                   

พ่อพิเชฐกล่าวไว้ว่าพระสันตะปาปาเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ย่อมมีผล

 "ผมอยากให้เรามองสิ่งที่ใกล้ตัว และเริ่มจากที่นั่น มองชีวิตของเราอย่างพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทางเลือกต่างๆ ของเรา บางครั้งเราคิด บางครั้งเราก็ไม่ค่อยได้คิด แต่สิ่งต่างๆ ที่เราเลือกในชีวิตประจำวัน มีผลต่อโลกและสิ่งแวดล้อม และคนยากจนอย่างไร เราได้เห็นความหวังและกำลังใจจากพระสันตะปาปา เมื่อเรากลับใจในชีวิตประจำวัน เราจะค่อยๆ เปลี่ยนโลกของเราได้ เริ่มจากตัวเราและขยายไปถึงผู้ที่อยู่รอบตัวเรา เราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมทั้งที เราต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน เปลี่ยนจากครอบครัว ชุมชน สังคมเล็กๆ ก่อน ค่อยๆ ขยายออกไป ซึ่งมีคนที่วิเคราะห์ไว้ว่าแม้แต่การเลือกที่จะซื้ออะไร หรือไม่ซื้ออะไร ก็มีผลกระทบต่อโลกและชีวิตของเราแล้ว จะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งชัดเจนว่าถ้าผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ๆ เลือกซื้ออย่างหนึ่ง และไม่เลือกอีกอย่างหนึ่ง เศรษฐกิจจะตอบสนองสิ่งนั้น เช่น เลือกผลิตภัณฑ์ที่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง แค่นี้ก็สามารถที่จะเปลี่ยนโลกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกที่จะไม่ใช้อะไรบางอย่างที่ไม่จำเป็น แค่นี้ก็มีผลมากที่สุดแล้ว เราจะต้องดูว่า เราเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตไม่ได้ เราจะเปลี่ยนสิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนได้ และค่อยๆ ทำไปทีละเล็กทีละน้อย ทำไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ แต่ต้องเริ่มทำ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น"

            คงปฏิเสธไม่ได้ว่าที่โลกของเราวิกฤติในปัจจุบันเป็นเพราะฝีมือของเรามนุษย์ทุกคน และการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าก็อยู่ที่มนุษย์เราเช่นเดียวกัน โดยเริ่มจากการกลับใจของเราแต่ละคน ดั่งที่คุณพ่อพิเชฐกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า "เราเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตไม่ได้ เราจะเปลี่ยนสิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนได้ และค่อยๆ ทำไปทีละเล็กทีละน้อย ทำไปเรื่อยๆ อย่างช้าๆ แต่ต้องเริ่มทำ เพราะเป็นสิ่งจำเป็น"

 

------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙๙
วัฒนธรรม ทิ้งขว้าง : Throwaway Culture

เว็บ 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >