หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 37 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


วัฒนธรรมทิ้งขว้าง มนุษย์ทิ้งขว้างอะไรบ้าง? พิมพ์
Wednesday, 27 January 2016

วัฒนธรรมทิ้งขว้าง

มนุษย์ทิ้งขว้างอะไรบ้าง?

โดย ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม ยส.

 Image 
                        ภาพ: www.slideshare.net                           

ในอดีตกาลนานมา ตั้งแต่ยุคเกษตรกรรม มนุษย์เรายังต้องใช้แรงงานจากคนและจากสัตว์เป็นหลัก ในยุคสมัยนั้น ยังไม่มีสิ่งประดิษฐ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จะช่วยผ่อนแรงหรืออำนวยความสะดวกอะไรมากนัก  การผลิตก็เป็นไปเพื่อยังชีพ ยุคนั้นทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ที่ให้ไม้มีค่านานาพรรณ ภูเขาที่เป็นแหล่งแร่ธาตุประเภทต่างๆ ทั้ง ทองคำ เหล็ก ดีบุก ทองแดง และแร่มีค่าอื่นๆ ตลอดจนน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจากใต้ท้องทะเลและพื้นพิภพ  รวมถึงสัตว์และพืชพรรณต่างๆ นั้นมีอยู่มากมายราวกับว่ามนุษย์เราจะใช้อย่างไรก็ไม่มีวันหมดสิ้น

 

   Image   
      ภาพ: www.slideshare.net        

กระทั่งเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เมื่อมนุษย์สามารถประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรกลรวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ  และเมื่อเครื่องจักรถูกใช้แทนแรงงานมนุษย์ ด้วยประสิทธิภาพของมันที่สามารถผลิตข้าวของเครื่องใช้อุปโภคบริโภคต่างๆ ออกมาตามปริมาณที่ต้องการได้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ถูกผลิตขึ้นมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องดูดฝุ่น และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น รวมถึงเรื่องอาหารการกินที่มีการผลิตแบบอุตสาหกรรมครบวงจร และมีการเกิดขึ้นของซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าที่มีสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคให้ผู้คนได้เลือกซื้อหากันอย่างจุใจ

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เมื่อทั้งโลกเข้าสู่ยุคทุนนิยมบริโภคนิยมอย่างสมบูรณ์ ประชาชนถูกบัญญัติคำใหม่โดยบรรดานายทุนนักอุตสาหกรรมที่เรียกเราว่า "ผู้บริโภค" เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต ให้ผู้บริโภคทั้งหลายกระหน่ำซื้อ ซื้อ แล้วก็ซื้อ แล้วทุนนิยมก็กระตุ้นให้เราบริโภคมากขึ้นๆ ไปอีกเพื่อให้วงจรการผลิตของเครื่องจักรอุตสาหกรรมทำงานไปอย่างไม่มีวันหยุด

 ขณะเดียวกันทรัพยากรธรรมชาติก็ร่อยหรอลงเพราะถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตสิ่งของอุปโภคบริโภคที่มากจนจะล้นโลก เมื่อวัตถุดิบจากธรรมชาติมีราคาแพงขึ้น เพราะหายากและใกล้จะหมดสิ้นลง มนุษย์ก็คิดค้นผลิตภัณฑ์ และวัสดุเลียนแบบเพื่อใช้แทน รวมไปถึงการผลิตสารสังเคราะห์ขึ้นมา โดยเฉพาะ พลาสติก และโฟม ที่ไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ สุดท้ายแล้วสังคมทุนนิยม วัฒนธรรมบริโภคนิยมนี่เองที่ทำให้เราสร้างขยะให้แก่โลก ทั้งขยะอาหาร ขยะของเหลือใช้ ขยะจากข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ผุพังเสียหายใช้การไม่ได้ รวมถึงขยะอิเล็คทรอนิคส์ที่นับวันมีแต่จะทำให้เกิดผลกระทบที่ยากจะแก้ไขจัดการ

 

เมื่อโลกเต็มไปด้วย "ขยะ"

ขยะในทะเลทั่วโลกมีมากถึง ๑๖๖ ล้านชิ้น "บุหรี่" พบมากที่สุด

   Image   
                                           ภาพ: oknation.net                                                

จากรายงานของ Coordinating Body on the Seas of East Asia (COBSEA) ระบุว่า มีปริมาณขยะในทะเลมากถึง ๖.๔ ล้านตันต่อปี โดยขยะจำนวน ๑,๘๐๐ ตัน ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทุกวัน ส่วนบุหรี่และก้นบุหรี่อยู่ในอันดับ ๗ จากทั้งหมด ๑๐ อันดับ [๑]

         ขณะที่องค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) รายงานชนิดขยะในทะเล ๑๐ อันดับแรกที่เก็บรวบรวมได้มากที่สุดจากชายหาดทั่วโลกระหว่างปี พ.ศ.๒๕๓๒ - ๒๕๕๕ ซึ่งหากพิจารณาเป็นจำนวนชิ้น พบว่า มีขยะในทะเลทั่วโลกที่เก็บได้มากถึง ๑๖๖,๑๔๔,๔๒๐ ชิ้น โดยในจำนวนนี้กว่าร้อยละ ๘๐ หรือราวๆ ๑๓๒ ล้านชิ้น แบ่งเป็นขยะประเภทบุหรี่และก้นกรองบุหรี่ จำนวน ๕๒.๙ ล้านชิ้น รองลงมาคือ ฝาและจุกขวด ๑๔.๗ ล้านชิ้น ภาชนะบรรจุอาหาร ๑๓.๕ ล้านชิ้น ถุงกระดาษและพลาสติก ๑๐.๑ ล้านชิ้น ถ้วย จาน ช้อน ส้อม มีด ๙.๕ ล้านชิ้น ขวดเครื่องดื่มพลาสติก ๗ ล้านชิ้น ขวดเครื่องดื่มแก้ว ๗ ล้านชิ้น กระป๋องเครื่องดื่ม ๖.๗ ล้านชิ้น หลอดและแท่งคนเครื่องดื่ม ๖.๒ ล้านชิ้น และเชือก ๓.๒ ล้านชิ้น ตามลำดับ

ไทยติดอันดับประเทศสร้างขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดของโลก

สำหรับขยะในทะเลของประเทศไทย ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๒ - ๒๕๕๗ มีปริมาณสะสมสูงถึง ๓๒๕,๐๘๔ ชิ้น น้ำหนักขยะที่เก็บได้ ๕๐,๒๐๕ กิโลกรัม หรือกว่า ๕๐ ตัน แบ่งเป็นขยะประเภท ถุงพลาสติก ๔๙,๒๑๓ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๑๕.๑๔ รองลงมา คือ ฝาและจุก ๓๑,๕๙๑ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๙.๗๒ เชือก ๒๘,๓๓๘ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๘.๗๒ ขยะอื่นๆ ๒๘,๑๘๓ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๘.๖๗ หลอดหรือที่คนเครื่องดื่ม ๒๐,๓๓๕ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๖.๒๖  ขวดเครื่องดื่มแก้ว ๑๘,๒๘๘ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๕.๖๓ บุหรี่และก้นกรองบุหรี่ ๑๗,๔๒๖ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๕.๓๖ กระดาษ หนังสือพิมพ์ และใบปลิว ๑๗,๓๑๐ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๕.๓๒ ถ้วย จาน ช้อน ส้อม มีด ๑๔,๔๕๗ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๔.๔๕ และขวดเครื่องดื่มพลาสติก ๑๐,๕๑๖ ชิ้น คิดเป็นร้อยละ ๓.๒๓ ตามลำดับ

๕ ประเทศกำลังพัฒนา (ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์) รวมกันสร้างขยะพลาสติกเกินครึ่งหนึ่งของทั้งโลก

นิตยสาร Fortune รายงานว่าปัญหาขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลกำลังเข้าขั้นวิกฤติในระดับโลก ปัจจุบันมีขยะพลาสติกในทะเลอยู่ถึง ๕.๒๕ ล้านล้านชิ้น และถูกทิ้งลงทะเลเพิ่มในแต่ละปีอีกไม่ต่ำกว่า ๘ ล้านตัน สถาบัน Ocean Conservancy รายงานว่า ภายในปี ค.ศ.๒๐๒๕ เราจะพบขยะพลาสติกทุก ๑ ตัน ต่อปลา ๓ ตัน ในทะเล [๒]

นอกจากขยะพลาสติกกำลังส่งผลร้ายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลทุกขนาดตั้งแต่แพลงตอนไปยังปลาวาฬที่กินพลาสติกเข้าไปแล้ว ยังสร้างความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อาหารทะเลที่มาสู่มนุษย์ให้ร่อยหรอลงเรื่อยๆ ด้วย นักวิชาการเสนอแนะว่า ควรมุ่งแก้ปัญหานี้ไปที่ ๕ ประเทศหลัก ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพราะ ๕ ประเทศนี้รวมกันได้สร้างขยะพลาสติกเกินครึ่งหนึ่งของทั้งโลก ประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่มีแผนการจัดการขยะที่รองรับได้ทัน และมีการจัดเก็บขยะเพียงแค่ ๔๐% ของขยะทั้งหมด บางประเทศแม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดการขยะ แต่การฝังกลบ การขนส่งที่ไม่เหมาะสม และการลักลอบทิ้งขยะที่ผิดกฎหมายก็ยังสร้างปัญหาขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเล

 

ปัญหาขยะในประเทศไทย

ขยะเมืองกรุงพุ่งเกือบหนึ่งหมื่นตันต่อวัน[๓]

เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาขยะในบ้านเรา ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี ๒๕๕๖ ขยะมูลฝอยมีปริมาณ ๒๖.๗๗ ล้านตัน ซึ่งมีขยะอาหารเป็นสัดส่วนถึง ๖๔% แต่เรามีความสามารถในการกำจัดขยะไม่ถึง ๗๐% ของขยะที่เกิดขึ้น ทำให้มีขยะมูลฝอยตกค้าง โดยเฉพาะปริมาณขยะในกรุงเทพมหานคร ซึ่งคนกรุงเทพฯ ช่วยกันสร้างขึ้นมาอยู่ที่ ๕๓๔.๘ กิโลกรัม/คน/ปี กรุงเทพมหานครต้องจัดเก็บและกำจัดขยะ ถึง ๓.๕ ล้านตัน หรือ ๙,๙๖๐ ตันต่อวัน ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ ๒๒ ของขยะทั้งประเทศที่มีประมาณ ๑๕ ล้านตัน[๔]

 

ปริมาณขยะในไทย พบสะสม ๑๙.๙ ล้านตัน เท่าตึกใบหยก ๑๓๙ ตึก

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานสถานการณ์มลพิษในรอบปี ๒๕๕๖ ระบุว่า ปริมาณขยะในประเทศไทยนั้น สูงถึง ๒๖.๗๗ ล้านตัน เพิ่มขึ้นจำนวน ๒ ล้านตันในปี ๒๕๕๕ และมีการสะสมของขยะ ๑๙.๙ ล้านตัน สูงเทียบเท่าตึกใบหยก ๒ ที่มีความสูงกว่า ๓๐๐ เมตร จำนวน ๑๓๙ ตึกนำมาต่อเรียงกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าคนไทยผลิตขยะเฉลี่ย ๑.๑๕ กิโลกรัม/คน/วัน[๕]สูงกว่าปี ๒๕๕๑ ที่เฉลี่ย ๑.๐๓ กิโลกรัม/คน/วัน แซงหน้าคนญี่ปุ่นที่ผลิตขยะเพียง ๑  กิโลกรัม/คน/วันเท่านั้น

 

กรุงเทพฯ ครองแชมป์มีปริมาณขยะมากเป็นอันดับ ๔  จาก ๒๒ เมืองใหญ่ในทวีปเอเชีย[๖]

สำหรับค่าเฉลี่ยของการเกิดขยะจากทั้ง ๒๒ เมืองใหญ่ในเอเชีย มีค่า ๓๗๕.๒ กิโลกรัม/คน/ปี  มีเพียง ๖๒.๙% ของขยะที่เกิดขึ้นถูกจัดเก็บและนำไปกำจัด ประเภทของขยะทั่วไปในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เศษอาหาร พลาสติก โฟม และกระดาษ คิดเป็น ๓๔.๒%, ๒๐.๘% และ ๑๓.๖% ตามลําดับ

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตอกย้ำวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งขว้าง ในสังคมบริโภคนิยม

สหรัฐอเมริกาสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลก

คาดอีก ๒ ปี ขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก สูงเท่าตึกเอ็มไพร์สเตต ๒๐๐ ตึก

หรือเท่ากับพีรามิดกีซา ๑๑ พีรามิด[๗]

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติเปิดเผยตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่คนอเมริกันสร้างขึ้นในปี ค.ศ.๒๐๑๒ ระบุว่ามีขยะอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้นถึง ๙.๔ ล้านเมตริกตัน นับเป็นประเทศที่สร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุดในโลก  หากคิดเป็นสัดส่วนต่อปริมาณขยะต่อคนแล้ว ชาวอเมริกันหนึ่งคนจะสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง ๓๐ กิโลกรัม  ในขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่เพียง ๗ กิโลกรัมต่อคน ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญยังได้คาดการณ์ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วทั้งโลกจะเพิ่มจาก ๔๘.๙ ล้านเมตริกตันในปี ๒๐๑๒เป็น ๖๕.๔ ล้านเมตริกตันในปี ๒๐๑๗  ซึ่งมีปริมาตรเทียบเท่าตึก Empire State ๒๐๐ หลัง หรือเท่ากับมหาพีระมิดแห่งกีซาจำนวน ๑๑ พีรามิด

 

ขยะอิเล็กทรอนิกส์วิกฤติเพิ่มร้อยละ ๑๐ ต่อปี โทรศัพท์มือถือแชมป์ขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งปี สธ.หวั่น ทำลายสิ่งแวดล้อม - สุขภาพคนไทย

จุฬาฯ - กรมควบคุมมลพิษเตือน ไม่มีกฎหมายรองรับ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ล้นเมืองแน่นอน[๘]

 

   Image   
             ภาพ: นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับ ๑๕๓                  

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste หมายถึง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายที่เสียหรือหมดอายุการใช้งาน หรือไม่มีคนต้องการแล้ว ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นซีดี ดีวีดี โทรศัพท์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องรับส่งโทรสาร พริ้นเตอร์ เครื่องเสียง เครื่องดูดฝุ่น เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หลอดไฟ เครื่องมือเครื่องใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

ทุกวันนี้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคนิยมเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ บ่อยขึ้นเรื่อยๆ  ในยุโรปมีรายงานถึงปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าขยะประเภทอื่นๆ ถึง ๓ เท่าตัว และคาดการณ์กันว่าประเทศกำลังพัฒนาจะผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอีกถึง ๓ เท่า ภายใน ๕ ปีข้างหน้า 

ข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ปี ๒๕๕๖ มีการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศสูงกว่า ๒๐ ล้านเครื่อง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๑๐ ต่อปี โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือมากเป็นอันดับหนึ่ง คือมีปริมาณสูงถึง ๙.๒ ล้านเครื่อง รองลงมาคือ อุปกรณ์เล่นภาพ/เสียง ๓.๓ ล้านเครื่อง โทรทัศน์ ๒.๕ ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ ๒ ล้านเครื่อง เครื่องพิมพ์/โทรสาร ๑.๕ ล้านเครื่อง กล้องถ่ายภาพวิดีโอ ๗ แสนเครื่อง เครื่องปรับอากาศ ๗ แสนเครื่อง และตู้เย็น ๘ แสนเครื่อง

ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังเป็นที่วิตกกังวลในเรื่องของการจัดการขยะประเภทนี้ซึ่งก่อปัญหามลพิษ เนื่องจากชิ้นส่วนในอุปกรณ์เหล่านั้นมีส่วนประกอบของสารเคมีซึ่งไม่สามารถกำจัดได้ง่าย มลพิษที่พบในขยะอิเล็กทรอนิกส์ส่วนมากจะเป็นโลหะหนัก ที่พบมาก ได้แก่ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม สารหนู กำมะถัน และสารเคมีอีกเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้

ขณะที่ปัจจุบัน โรงงานในประเทศที่มีกระบวนการคัดแยกและบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนน้อย สวนทางกับปริมาณซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัญหาที่ตามมาก็คือ มีการลักลอบขนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อย โดยมีการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ไปยังชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านนำไปคัดแยก ถอดชิ้นส่วน เพื่อนำโลหะไปขาย เศษที่เหลือของขยะอิเล็กทรอนิกส์จะนำไปทำลายโดยการเผาหรือฝังกลบ ซึ่งการเผาและทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ถูกสุขลักษณะเช่นนี้ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และต่อสุขภาพ รวมทั้งความปลอดภัยในการประกอบอาชีพของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง

 

วัฒนธรรมบริโภคนิยม ก่อวิกฤติขยะอาหาร ปัญหาระดับโลกที่มนุษย์ต้องเร่งแก้ไข

   Image   
                 ภาพ: www.cmdiocese.org                     



 "วัฒนธรรมขยะ ทำให้เราไม่รู้สึกรู้สากับอาหารที่เหลือทิ้ง และการกำจัดอาหาร และยิ่งน่ารังเกียจมากขึ้นไปอีก เมื่อทั่วทั้งโลกยังมีคนหรือครอบครัวจำนวนมากที่ต้องเผชิญสภาพความหิวโหย และขาดอาหาร"

"เมื่อครั้งที่ปู่ย่าของเรามีความระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ทิ้งขว้างอาหารที่เหลือ แต่การบริโภคนิยมทำให้พวกเรารับประทานกันอย่างไม่บันยะบันยังและทิ้งขว้างอาหารกันรายวัน ไม่มีเวลาแม้แต่จะให้คุณค่าของมันด้วยซ้ำ และการทิ้งขว้างอาหารก็เหมือนกับการไปขโมยเอามาจากโต๊ะอาหารของคนยากจนและหิวโหย"

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส องค์ประมุขแห่งศาสนาจักรนิกายโรมันคาทอลิก

            ทรงเทศน์สั่งสอนคริสตชนให้สนใจปัญหาการบริโภคแบบกินทิ้งกินขว้าง[๙]

 

 

มีเด็กมากกว่า ๒๐,๐๐๐  คนทั่วโลกเสียชีวิตจากการอดอาหาร เป็นเวลาเดียวกันกับที่คนบนโลกอีกส่วนหนึ่งกำลังกินทิ้งกินขว้าง  ซึ่งหากนำมารวมกันทั้งปีจะสร้างปริมาณขยะกองรวมกันสูงถึง ๑,๓๐๐ ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับน้ำหนักช้าง ๓๐๐,๐๐๐ เชือก เพียงแค่เรากินข้าวเหลือคนละ ๑ ช้อน ต่อ ๑ มื้อ ถ้า ๑ ล้านคน สูญเสียน้ำเทียบเท่าปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำ ๒๐ สระ เทียบกับปริมาณไฟฟ้าที่เสียไป เท่ากับเปิดทีวี ๘๓,๐๐๐ เครื่องพร้อมกัน

ถ้าเรากินข้าวเหลือเป็นภูเขาขยะ ถ้านำไปฝังลงดิน ดินก็สูญเสียแร่ธาตุ ถ้าเผาก็สร้างควันพิษทำลายส่งผลให้โลกร้อนมากขึ้น อนาคตก็จะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ ถ้ากินอาหารเหลือ ๑๐๐ กรัม ๑ ปีจะมีขยะจากเศษอาหาร ๒,๑๙๐ ล้านกิโลกรัม ( ๒ ล้าน ๑ แสน ๙ หมื่นตัน) ทั้งโลกจะมีขยะ ๒๕๕,๕๐๐ ล้านกิโลกรัม (๒๕๕ ล้าน ๕ แสนตัน) ขยะเพียงไม่มากก็ใช้เวลาย่อยสลายกว่า ๖ เดือน[๑๐]

 

คนมั่งมีกินทิ้งกินขว้าง จนขยะอาหารล้นโลก! ล้นเมือง! 

ส่วนคนยากจนทั่วทุกมุมโลกยังอดอยากหิวโหย

ประชาชนหลายพันล้านคนในประเทศยากจนยังคงอดอยากหิวโหย ในขณะที่ประเทศร่ำรวยมีกินจนล้นเหลือ กินทิ้งกินขว้าง ทั้งที่อาหารเหลือทิ้งเหล่านี้มีปริมาณมากเพียงพอจะนำไปเลี้ยงคนทั่วโลกได้

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (UN FAO) ได้ทำการศึกษาวิจัยผลกระทบพฤติกรรมเรื่องวิกฤติขยะอาหาร ภายใต้หัวข้อ "Food Wastage Footprint : Impacts on Natural Resources" "อาหารเหลือทิ้ง กับผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ"[๑๑] จากการเก็บสถิติในปี ๒๕๕๓ พบว่า อาหารที่ผลิตได้ในโลกกลายเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งถึง ๑ ใน ๓ หรือประมาณ ๑,๓๐๐ ล้านตัน ในขณะที่ทุกวันนี้ มีประชากรทั่วโลกต้องเผชิญความหิวโหยถึง ๘๗๐ ล้านคน

ทั้งนี้ ประชากรที่หิวโหยเกินครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทยด้วย (๕๕๒ ล้านคน จาก ๘๗๐ ล้านคน) คนยากจนเหล่านี้มีอาหารไม่พอกิน เด็กๆ ส่วนใหญ่จึงหิวโหยเจ็บป่วยและไม่สามารถไปเรียนได้ ซึ่ง ๑ ใน ๔ ของเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี มีร่างกายแคระแกร็น บรรดาประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียมีการกินทิ้งกินขว้างประมาณ ๑๑ กิโลกรัม/คน/ปี ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย มีการกินทิ้งกินขว้างสูงกว่าถึง ๘ เท่า คือ ๘๐ กิโลกรัม/คน/ปี

พฤติกรรมการกินทิ้งกินขว้างยังทำให้เกิดขยะอาหาร ซึ่งกำลังเป็นปัญหาวิกฤติระดับโลก ขยะอาหารสามารถเกิดได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ช่วงการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ขนส่ง จนถึงร้านค้า และถึงมือผู้บริโภค ทุกขั้นตอนล้วนมีการสูญเสียและต้องทิ้งขว้างอาหาร นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้เพาะปลูกอาหาร คือ ดิน น้ำ และพลังงาน โดยไม่จำเป็น ขยะอาหารจึงส่งผลกระทบมากมายทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม  

แต่ละปีชาวโลกกินทิ้งกินขว้างอาหารคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว ๑ ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๓๑ ล้านล้านบาท การกินทิ้งกินขว้างยังเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะอาหารเน่าเสียในถังขยะจะส่งกลิ่นเหม็นทำให้อากาศเสีย และขยะอาหารก่อเกิดก๊าซทำลายชั้นบรรยากาศโลกหรือทำให้โลกร้อนมากขึ้นเฉลี่ยปีละ ๓,๓๐๐ ล้านตัน ขยะอาหารจึงเป็นปัญหาระดับโลกที่ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนากำลังเผชิญอยู่

ในญี่ปุ่น ผู้คนนิยมกินอาหารสดใหม่ทำให้มีการทิ้งอาหารแต่ละปีไปนับล้านตัน อาหารในร้านสะดวกซื้อเหลือทิ้งทุกวัน วันละ ๓๐% นั่นหมายถึงว่า ถ้ามีอาหารเหลือ ๑๐๐ ชิ้น ต้องทิ้ง ๓๐ ชิ้น จากกฎเหล็กคุมเข้มเรื่องความปลอดภัยในอาหาร ทั้งๆ ที่อาหารที่แช่เย็นเหล่านั้นสามารถกินต่อได้อีกสัก  ๕- ๗ วัน แต่จำต้องเทลงถังขยะ

ส่วนในยุโรป บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารต่างๆ ต้องนำอาหารที่ยังมีสภาพดีไปทิ้งถังขยะ หากขายไม่หมด เพียงเพราะเหตุผลทางการตลาด นั่นคือ ถ้านำไปบริจาคจะทำให้คนไม่ยอมซื้อสินค้าของตนเพราะจะรอรับบริจาค อีกทั้งไม่ยอมลดราคาเพราะเกรงว่าต่อไปคนจะรอซื้อแค่ช่วงลดราคา แล้วการทิ้งอาหารเหลือขายลงถังขยะ ต้องแกะห่อหรือกล่องเพื่อให้อาหารสกปรก กินไม่ได้ เพราะเกรงว่าคนคุ้ยขยะจะนำไปกิน บางรายถึงกับใส่กุญแจถังขยะกันเลยทีเดียว

ยิ่งกว่านั้น บรรดาซูเปอร์มาร์เก็ตต่างทำสัญญาผูกขาดกับเกษตรกรโดยกำหนดรับซื้อเฉพาะพืชผัก ผลไม้ ที่มีขนาดและรูปทรงสวยงาม ทำให้เกษตรกรต้องนำผลผลิตที่ไม่เข้าเกณฑ์ไปฝังกลบทิ้งเนื่องจากซูเปอร์มาร์เก็ตห้ามไม่ให้นำผลผลิตเหล่านั้นไปขายในราคาถูกให้แก่ผู้ซื้อรายอื่น

ส่วนทางด้านผู้บริโภคก็ทิ้งขว้างอาหารด้วยนิสัยการจับจ่ายและการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่นการซื้ออาหารปริมาณครั้งละมากๆ แต่ไม่มีการวางแผนบริโภคและเก็บรักษาที่ดีพอ นอกจากนี้ หลายๆ ประเทศยังมีวัฒนธรรมกินให้เหลือไว้ในจานอีกด้วย การกินทิ้งกินขว้างจึงทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรและเรี่ยวแรงของทั้งเกษตรกร คนขายอาหาร พ่อครัวแม่ครัว รวมถึงทุกคนที่ช่วยในการผลิตและเตรียมอาหารเหล่านี้

เห็นได้ว่าในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาผลิตอาหารให้คนทั่วโลกมีกิน แต่ประเทศพัฒนาแล้ว และผู้มีอันจะกินทั้งหลายกลับกินทิ้งขว้างสร้างขยะ เป็นความเหลื่อมล้ำที่โลกต้องกลับมาตระหนักกันแล้วหรือยัง?

 

...............................................................................................

 

มนุษย์ทิ้งขว้างอะไรอีก?

เมื่อมนุษย์ทิ้งมนุษย์ด้วยกัน

"ต้องมีการป้องกันอย่างเร่งด่วนต่อระบบเศรษฐกิจในยุคนี้ที่ให้เงินเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง การทำธุรกิจแบบนี้กลายเป็นว่าเราบูชาพระเจ้าแห่งเงินตรา และพระเจ้าแห่งเงินตรานี้เองที่ทำลายทุกสิ่ง และทำให้เกิดวัฒนธรรมทิ้งขว้าง มันทอดทิ้งเด็กทารกเพราะพวกเขาเป็นภาระ มันทอดทิ้งผู้สูงอายุ เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ มันไม่สนใจเยาวชน ทำให้เยาวชนจำนวนมากต้องตกงาน" [๑๒]

สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงกล่าวในโอกาสครบรอบ ๗๐ ปี

แห่งการก่อตั้งสมาคมผู้ใช้แรงงานคาทอลิกแห่งอิตาลี

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ปี ค.ศ.๒๐๑๓ พระสันตะปาปาฟรังซิส ทรงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่คนยากคนจนทั่วโลกที่ยังคงอดอยากหิวโหย ทรงเรียกร้องให้ชาวคาทอลิกทั่วโลก ๑,๒๐๐ ล้านคน ทำอะไรให้มากขึ้นในการป้องกันความยากจน และหัดประหยัดให้เป็นนิสัย รวมถึงทรงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเงินโลกด้วย ดังที่ทรงตรัสว่า

"เวลาหุ้นในตลาดหุ้นตกไป ๑๐ จุด กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโศกนาฏกรรม ในขณะที่ประชาชนที่ไร้ที่อยู่อาศัยกำลังอดตายบนท้องถนน กลับไม่มีโอกาสเป็นข่าว"    

 

เมื่อเด็กๆ ของโลกถูกทิ้งขว้าง

เด็กพลัดถิ่น (Migrant children) และเด็กถูกทอดทิ้ง สูงขึ้นทั่วโลก[๑๓]

ภัยพิบัติธรรมชาติกระทบเด็กโดยตรง

จลาจลการเมือง สร้างเด็กกำพร้า

พ่อแม่พึ่งเทคโนโลยี ทิ้งลูกโดดเดี่ยว 

ทุก ๑ นาที บนโลกจะมีเด็กเกิดใหม่ ๑๔๐ คน[๑๔] ท่ามกลางประชากรโลกที่มีอยู่มากกว่า ๗,๐๐๐ ล้านคน แต่เด็กที่ลืมตาขึ้นมาดูโลกนั้น พวกเขาจะโชคดีได้เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น สมบูรณ์พูนสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ได้เล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ อยู่ในประเทศนอร์เวย์ หรือจะเกิดมาในครอบครัวที่ยากจน อดมื้อกินมื้อ ต้องออกมาคุ้ยหาอาหารในถังขยะ อยู่ในประเทศอินเดีย  หรือเป็นเด็กกำพร้าชาวอัฟกานิสถานที่พ่อแม่เสียชีวิตจากภัยสงคราม ต้องเข้ามาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเขตชายแดนประเทศปากีสถาน หรือเป็นเด็กในครอบครัวชาวเคิร์ด ประเทศซีเรีย ที่ถูกกลุ่มติดอาวุธไอเอสคุกคามจนต้องอพยพด้วยเรือลำเล็กที่แออัดเบียดเสียดเพื่อจะไปยังประเทศกรีซ กระทั่งเรืออับปาง จมน้ำ และถูกคลื่นซัดเข้ามาที่ชายฝั่งประเทศตุรกี ไม่มีโอกาสได้มีชีวิตรอด ได้ใช้ชีวิตบนโลกอีกต่อไป...

ปัญหาความยากจนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เด็กๆ ของโลกถูกทอดทิ้ง ถูกทิ้งขว้าง เด็กๆ เหล่านี้จึงต้องเผชิญปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย จากรายงานสถานการณ์เด็กทั่วโลกในปี ค.ศ.๒๐๑๒ ซึ่งจัดทำโดย คุณสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ได้ประมวลวิกฤติปัญหาเด็กทั่วโลกไว้ดังนี้

ปัญหาเด็กพลัดถิ่น (Migrant Children) ที่มีจำนวนสูงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากโลกาภิวัตน์ โลกไร้พรมแดน ช่องว่างจากการลดการปิดกั้นการเข้าออกประเทศต่างๆ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากรที่แสวงหาโอกาสและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในประเทศอื่น ผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจต่างแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจและการค้า และแน่นอนว่าเมื่อครอบครัวอพยพย้ายถิ่น ย่อมมีเด็กๆ ลูกหลานของแรงงานเหล่านี้อพยพตามผู้ปกครองไปด้วย เด็กที่ย้ายถิ่นไปด้วยตนเอง หรือตามผู้ปกครองไปจึงไม่มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการและบริการต่างๆ จากรัฐปลายทาง หรือได้รับไม่ทั่วถึง ส่วนเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้พาไปด้วยจะเกิดสภาพเหมือนเป็นเด็กกำพร้าและเด็กที่ถูกทอดทิ้งไปโดยปริยาย

จากการรายงานของรัฐภาคีที่ส่งให้คณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติพบว่า ประเทศที่มีสถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้มีแผนงานในการป้องกันแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด เพียงให้การช่วยเหลือแบบขอไปที ทั้งนี้ประเทศต้นทางที่ว่ามักจะมีปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว อีกทั้งยังต้องการเงินตราต่างประเทศเข้าไปค้ำจุนระบบเศรษฐกิจของตน ประเทศเหล่านี้จึงมักจะส่งเสริมกลายๆ ให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองออกไปทำงานนอกประเทศ นอกจากนี้ยังจะเกิดประเด็นของการค้าเด็กข้ามชาติเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หากรัฐบาลที่เกี่ยวข้องไม่ติดตามดูแล

ภัยพิบัติธรรมชาติกระทบเด็กโดยตรง การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศโลก จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเด็กไม่ว่าจะอยู่ในรูปของภัยทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ พายุไต้ฝุ่น หรืออื่นๆ นอกจากนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ทุพภิกขภัยถึงขั้นอดตาย (Famine) หากติดตามประเด็นนี้จะพบว่าเกิดปัญหาการค้าเด็กข้ามชาติเพื่อเป็นบุตรบุญธรรมอย่างผิดกฎหมาย หรือ Illegal Adoption มักจะตามมา โดยแทรกซึมเข้าไปพร้อมกับการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

จลาจลการเมือง สร้างเด็กกำพร้า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมก่อให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นในทุกภูมิภาค เพราะผู้ที่ได้เปรียบซึ่งเป็นคนส่วนน้อย คือราว ๒๐% ของประชากรโลก เป็นผู้ใช้ทรัพยากรของโลกมากถึงประมาณ ๘๐% แต่ไม่ยอมปรับตัวใช้ทรัพยากรของโลกให้น้อยลง เช่น ในบางประเทศที่พลเมืองใช้น้ำเฉลี่ยวันละ ๑๐๐ - ๑๕๐ ลิตร/คน/วัน (คิดรวมกับการใช้น้ำเฉลี่ยสำหรับธุรกิจบริการด้วย เช่น สนามกอล์ฟ สระว่ายน้ำ บริการอบอาบนวด เป็นต้น) ในขณะที่บางประเทศใช้น้ำเพียง ๑ ลิตรต่อวัน

สถานการณ์เช่นนี้ย่อมสร้างความขัดแย้งในสังคมระดับโลกและระดับประเทศ จนมีผลกระทบทางลบต่อเด็กที่รุนแรงขึ้น เช่น ก่อการจลาจล ทำสงครามกลางเมือง ทำให้เด็กกลายเป็นเด็กกำพร้า หรือ พ่อแม่ผู้ปกครองถูกจับกุมคุมขัง หรือสูญเสียความสามารถในการเลี้ยงดูปกป้องเด็กจากเหตุการณ์การปะทะทางการเมือง แต่มักดึงเด็กเข้าไปเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ เด็กจึงตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง เป็นอันตรายแก่ชีวิต และความเครียดยังส่งผลลบต่อการพัฒนาสมองและจิตใจของเด็กด้วย

พ่อแม่หมกมุ่นกับเทคโนโลยี ทิ้งลูกโดดเดี่ยว เด็กถูกเลี้ยงดูอย่างปล่อยปละละเลยมากขึ้นเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองมัวแต่สนใจเรื่องของตนเอง เราจะพบว่ามีเด็กอายุเพียง ๒-๓ ขวบ หายตัวไป บาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตจากการถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพัง พ่อแม่อาจใช้ความรุนแรงต่อกันให้ลูกเห็นเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีแห่งโลกโซเชียล สมาร์ทโฟนที่ดึงความสนใจของพ่อแม่ผู้ปกครองไปหมด รวมทั้งตัวเด็กเองก็กระโดดเข้าหาเทคโนโลยีเพราะพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจตนเช่นกัน ความรักผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวจึงลดลง และอยู่ด้วยกันเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจมากกว่า

ประชากรโลกในศตวรรษหน้า : เสื่อมและทรุด จากสถานการณ์ข้างต้น แนวโน้มสังคมโลกจะมีอารยธรรมที่ถดถอยลง ความรับผิดชอบทางสังคม และศีลธรรมจะลดลงในทุกๆ ด้าน ทำให้เด็กซึ่งจะเป็นพลโลกรุ่นถัดไปมีความเสื่อมทรุดยิ่งขึ้นไปอีกในทุกด้าน เด็กๆ จึงมีปัญหาด้านการพัฒนาทางสังคม อารมณ์ และการพัฒนาองค์ความรู้ (Socio-Emotional Development and Cognitive Development)  มากยิ่งขึ้น ซึ่งย่อมเป็นที่น่ากังวลยิ่งนักต่อโฉมหน้าของประชากรโลกในศตวรรษหน้า!

สถานการณ์เด็กไทย : ถูกทารุณกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี ปี พ.ศ.๒๕๕๓ เฉพาะที่มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กหน่วยงานเดียว ให้ความช่วยเหลือเด็กๆ ที่ถูกกระทำทารุณกรรม ถึง ๕๙๔ ราย เด็กถูกทุบตีทำร้ายร่างกายมากที่สุด รองลงมาคือ ถูกข่มขืน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทารุณทางจิตใจ ถูกทอดทิ้ง และถูกล่อลวง แสวงหาผลประโยชน์ นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงซึ่งอายุต่ำกว่า ๕ ขวบ มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี

ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา มูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือคุ้มครองเด็กที่ถูกทารุณกรรมเฉลี่ยแล้ว เดือนละ ๑๐๐ - ๑๒๐ คน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าปัญหาการละเมิดสิทธิเด็ก และการเลี้ยงดูเด็กอย่างไม่เหมาะสมเพราะพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ตระหนักและใส่ใจเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพ ยังมีอยู่มากในสังคมไทย หากเด็กและเยาวชนยังตกอยู่ในสภาพนี้ คาดว่าในอนาคตสถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นและรุนแรงยิ่งขึ้น

เร่งพัฒนาครอบครัว โรงเรียน ชุมชนให้ปกป้องเด็ก แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ยังได้เสนอแนะแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาวิกฤติต่อเด็กว่า แนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาให้ครอบครัว ชุมชน และโรงเรียน ปกป้องเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพ สอดรับกับการพัฒนาของเด็กให้ได้ ปัญหาข้างต้นย่อมลดความรุนแรงลง เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนจะทำให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่คิดเอารัดเอาเปรียบคนอื่น ไม่ผลาญทรัพยากรของโลกเพื่อชีวิตที่ฟุ่มเฟือยของตน อีกทั้งยังช่วยเหลือเกื้อกูลคนที่อยู่ในสภาพเลวร้ายกว่าตน
 

**********************************************************

 

เมื่อสังคมทิ้งขว้างคนแก่

 "สลด ลูกทิ้งแม่วัย ๗๑ กุข่าวแม่ตาย หวังเงินค่าทำศพ"

ข่าวจาก sanook.com วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๗

 

   Image   
                    ภาพ: ASTVsouth.com                         

          หญิงชราถูกนำมาปล่อยทิ้งไว้ที่บ้านพักคนชราจังหวัดอุดรธานี จากการสอบถามทราบว่า เดิมอยู่กับลูกสาว แต่เมื่อลูกสาวซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเสียชีวิต ลูกชายจึงรับไปอยู่ด้วยที่อพาร์ตเมนท์แห่งหนึ่ง ลูกชายซื้ออาหารมาทิ้งไว้ให้ แล้วลูกชายก็หายไปประมาณ ๑ เดือน ไม่กลับมาอีกเลย เจ้าของอพาร์ตเมนท์จึงพามาส่งที่บ้านพักคนชรา แต่ยังไม่สามารถเข้าอยู่ได้ เนื่องจากไม่มีบุคคลมารับรองตามกฎระเบียบ ผู้ดูแลบ้านพักคนชราจึงเดินทางไปตามหาลูกของหญิงชราที่บ้านเพื่อให้มาลงนามรับรอง เมื่อสอบถามชาวบ้านละแวกนั้นจึงทราบว่าบุตรชายของหญิงชราได้บอกชาวบ้านเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่าแม่เสียชีวิตแล้ว พร้อมขอบริจาคเงินเพื่อไปฌาปนกิจศพแม่ เนื่องจากไม่มีเงินทำศพ

"ช่วยคุณตาวัย ๘๑ ปี ถูกทิ้ง จากวัดสู่บ้านพักคนชรา"

ข่าวจาก ไทยรัฐออนไลน์ เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘

 

   Image   
                ภาพ: th.pattayadailynew.com                    

          ชายชราวัย ๘๑ ปี ถูกหลานสาวจ้างรถตุ๊กๆ นำมาทิ้งไว้ให้เผชิญชะตากรรมเพียงลำพังภายในวัดเทพปราสาท อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งต่อมาได้เข้ามาอยู่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบางละมุง คุณตาไม่มีอะไรจะตอบแทนได้แต่ร้องเพลงที่ตัวเองชอบให้ฟังแทนคำขอบคุณก่อนจะเดินทางไปอยู่บ้านหลังใหม่ ส่วนสาเหตุทราบว่ามาจากความยากจนของครอบครัวทำให้ลูกหลานตัดช่องน้อยแต่พอตัว ทอดทิ้งบุพการี จนเป็นภาระต่อสังคม

 

"ท้องถิ่นห่วงคนแก่ถูกทอดทิ้งแนวโน้มสูงขึ้น

ชี้สาเหตุเปลี่ยนไปไม่ใช่ทอดทิ้งเพราะต้องไปหากินไกล แต่เป็นเพราะเนรคุณ

 เผยบางคนปลูกบ้านใหญ่โตแต่ให้พ่อแม่ไปอยู่ในกระท่อมไม้เก่าๆ ห่างไปแค่ไม่กี่ถนน"

ข่าวจาก เดลินิวส์ วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

          นายกเทศมนตรีตำบลพระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกกังวลต่อปัญหาการทอดทิ้งผู้สูงอายุที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ในเขตเทศบาลตำบลพระลับ มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งกว่า ๑๐๐ ราย และที่สำคัญไม่ใช่ทอดทิ้งเพราะไปทำงานในเมืองห่างไกล แต่เป็นเพราะลูกหลานไม่กตัญญู บางคนเอาชื่อพ่อแม่มาอยู่ในทะเบียนบ้านเพื่อหวังเบี้ยยังชีพคนชรา แต่เอาพ่อแม่ไปทิ้งไว้ที่อื่น ทำให้ผู้สูงอายุบางรายไม่ได้อาบน้ำเป็นเดือนๆ เพราะไม่มีคนดูแล

 

ตายายถูกทอดทิ้งในบ้านพักคนชราบุรีรัมย์ เฝ้ารอลูกหลานมาเยี่ยมให้กำลังใจเนื่องในวันแม่

พบร้อยละ ๕๐ ไม่มีลูกหลานมาเยี่ยม ขณะ ผอ.บ้านพักคนชราเผยสถิติผู้สูงอายุถูกทิ้งเข้ามาอยู่ในศูนย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วอนลูกหลานเอาใจใส่พ่อแม่อย่าทอดทิ้งให้เป็นภาระสังคม[๑๕]

ผู้อำนวยการศูนย์การจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์ ยอมรับว่า สถิติผู้สูงอายุที่แจ้งความประสงค์ หรือได้รับการประสานส่งเข้ามาอยู่ในศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ทางศูนย์ฯ สามารถรับดูแลได้เพียง ๑๐๐ คนเท่านั้น โดยสาเหตุที่มีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งเพิ่มขึ้นมีหลายปัจจัย ทั้งปัญหาครอบครัว เศรษฐกิจ ทำให้บุตรหลานไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เท่าที่ควร จนทำให้เป็นภาระแก่หน่วยงาน หรือสังคม

 

จากสถิติข้อมูลของศูนย์ประชาบดี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ได้รับแจ้งผ่านสายด่วน ๑๓๐๐ ให้ไปช่วยเหลือคนแก่ที่ถูกทอดทิ้งไม่เว้นแต่ละวันเพียงแต่ไม่เป็นข่าว[๑๖] คนแก่ที่ได้รับการช่วยเหลือส่วนใหญ่มักช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต มีอาการหลงๆ ลืมๆ พูดจาไม่รู้เรื่อง ซึ่งมักถูกลูกหลานนำมาปล่อยทิ้งไว้ตามสะพานลอย ข้างถนน วัด และสถานที่สาธารณะอื่นๆ มีไม่น้อยที่หลงออกจากบ้านตัวเอง และมีจำนวนไม่น้อยที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ให้อยู่ตามลำพังในที่พักพิง มีเพียงสุนัขเป็นเสมือนลูกและเพื่อนที่แสนดี

 

นี่ย่อมเป็นภาพสะท้อนสภาพสังคมไทยปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ด้วยเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเสรี และวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่กระตุ้นให้เราต้องดิ้นรนหาเงินเพื่อมาตอบสนองความต้องการทางวัตถุที่ไม่จบสิ้น หนุ่มสาววัยแรงงานต้องเข้ามาหางานในเมือง ครอบครัวขยายที่ลูกหลานเหลนโหลนอาศัยอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน กลับหดแคบลงจนกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่มีแค่พ่อ แม่ และลูก

วิถีชีวิตและครอบครัวที่เคยอยู่กันอย่างอบอุ่น มีความเอื้ออาทรและเอาใจใส่กัน กลับกลายมาเป็นวิถีชีวิตแบบสังคมเมือง ต่างคนต่างอยู่ จนมองข้ามความสัมพันธ์ภายในครอบครัว โดยเฉพาะความสำคัญของผู้สูงอายุที่ลดน้อยถอยลง ดังที่เวทีประชุมทางวิชาการได้เปิดเผยผลสำรวจ[๑๗]ว่า "ครอบครัวไทยเปราะบาง มีพฤติกรรมเสี่ยง ข้องแวะกับอบายมุข แบกหนี้สิน แถมผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง โดยครอบครัวไทยร้อยละ ๕๓ มีการทอดทิ้งให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังเป็นประจำ"

ในขณะที่สถานการณ์ผู้สูงอายุระดับโลกนั้น สังคมกำลังจะเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุครองโลก โดยในอีก ๔๐ ปีข้างหน้าจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่คนเกิดน้อยลงและคนอายุยืนมากขึ้น ทำให้ประชากรทั่วโลกมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้นอย่างน้อย ๙ ปี และประชากรทั่วโลกที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป จะมีจำนวน ๒,๐๐๐ กว่าล้านคน คิดเป็น ๑ ใน ๕ หรือ ร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งโลก[๑๘]

   Image   
                                       ภาพ: Thai publica                                          

องค์การสหประชาชาติได้ประเมินสถานการณ์ว่า อีก ๓๒ ปีข้างหน้า (ค.ศ.๒๐๔๗) จะเป็นครั้งแรกของโลกที่จำนวนประชากรอายุ ๖๐ ปี มีมากกว่าประชากรเด็ก หรือเรียกได้ว่าจะเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ[๑๙] โดยประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากรรวมทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าประชากรผู้สูงอายุเหล่านี้จะมีฐานะยากจน นี่ย่อมเป็นประเด็นท้าทายทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศจะต้องมีแผนรองรับ ส่วนประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่าไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ แล้ว (ค.ศ.๒๐๐๕) โดยมีประชากรผู้สูงอายุ ร้อยละ ๑๐.๔ ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี ๒๕๖๗ - ๒๕๖๘

ในสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุทั้งในด้านสวัสดิการรายได้สำหรับผู้สูงอายุใช้เลี้ยงชีพในบั้นปลายชีวิต และด้านคุณภาพชีวิตที่จะมีสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคต่างๆ รองรับแก่ผู้สูงอายุ สามารถดำเนินชีวิตในวัยที่เรี่ยวแรงถดถอยได้อย่างสะดวกและมีคุณภาพดี รวมถึงหลักประกันด้านสุขภาพที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างไม่ต้องห่วงกังวลต่อค่าใช้จ่ายที่จะตามมา

 ดังที่ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา  และเยอรมัน ได้รับการยอมรับถึงความเป็นประเทศที่มีสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุดีเยี่ยม ขณะที่ประเทศจีน รัสเซีย อินเดีย ยังอยู่ในอันดับรั้งท้าย แม้จะเป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจนเติบโตอย่างรวดเร็วตลอดหลายปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีการเตรียมพร้อมในเรื่องนี้ ไม่ต่างจากกลุ่มประเทศอาเซียนอย่าง ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

 เห็นได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาในโลกที่สามซึ่งประชากรส่วนใหญ่ล้วนยากจนด้วยกันทั้งนั้น ลำพังรายได้ยังแทบไม่พอเลี้ยงชีพ คงไม่ต้องถามหาถึงคุณภาพชีวิตที่ดี หรือสวัสดิการและหลักประกันด้านสุขภาพที่จะมีให้แก่ผู้สูงอายุที่ยากจนเหล่านั้นเลย  การเตรียมพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุของรัฐบาลประเทศนั้นๆ ยังเป็นฝันที่เลื่อนลอย จึงขึ้นอยู่กับสังคมที่ผู้คนด้วยกันจะโอบอุ้มดูแลคนแก่ บุคคลผู้มีคุณค่าในครอบครัว ไม่ปล่อยให้ปัญหาคนแก่ถูกทิ้งขว้างราวกับเป็นขยะที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป

 

และทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของวัฒนธรรมทิ้งขว้างในโลกสมัยใหม่ ภายใต้สังคมทุนนิยมบริโภคนิยม เมื่อนิยามของคำว่า "ขยะ" และ "การทิ้งขว้าง" กว้างไกลเกินขอบเขตการรับรู้แบบเดิมๆ ...ยังมีเรื่องราวของผู้คนบนโลกใบเดียวกันนี้อีกมากมายที่ชีวิตของพวกเขาถูกทิ้งขว้างไม่ต่างจากขยะ ไม่ว่าจะเป็น คนชายขอบ คนไร้บ้าน เด็กทารกที่ถูกทำแท้งไม่มีโอกาสได้ลืมตามาดูโลก เด็กข้างถนน คนจนในประเทศด้อยพัฒนาที่ต้องขายอวัยวะให้คนรวย เพื่อความอยู่รอด...

อย่างไรก็ตาม แม้แต่ขยะบางประเภทยังมีประโยชน์ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แล้วชีวิตของมนุษย์ที่ถูกทิ้งขว้างล่ะ หากมนุษย์ด้วยกันหยิบยื่นโอกาส ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และให้ความเท่าเทียมแก่พวกเขา ศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถพัฒนาได้ ย่อมนำประโยชน์มาสู่สังคมและโลกได้ต่อไปเช่นกัน

__________________________________________________________________

[๑] http://www.oknation.net/blog/LittleLee/2014/09/22/entry-1   ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗

[๒] อ้างอิงจาก Sal Forest - ป่าสาละ  ที่มา :  http://fortune.com/2015/10/01/ocean-plastic-pollution/

[๓] http://www.dailynews.co.th/bangkok/190465

[๔] ปัญหาขยะล้นเมืองแก้ได้ด้วยการคัดแยกขยะ  http://iam.hunsa.com/hubbiz/article/180197

[๕] http://www.posttoday.com/social/env/284402

[๖] ที่มา: Economist Intelligence Unit. 2011. Asian Green City Index: Assessing the environmental performance of Asia's major cities.  ๒๒ เมืองใหญ่ในทวีปเอเชีย ได้แก่ ๑.ปักกิ่ง  ๒.บังกะลอร์  ๓.เดลี   ๔.กวางโจว  ๕.ฮานอย  ๖.ฮ่องกง  ๗.จาการ์ต้า  ๘.การาจี         ๙.กัลกัตตา   ๑๐.กัวลาลัมเปอร์   ๑๑.มะนิลา  ๑๒.มุมไบ  ๑๓.นานกิง   ๑๔.โอซาก้า  ๑๕.โซล  ๑๖.เซี่ยงไฮ้  ๑๗.สิงคโปร์  ๑๘.ไทเป    ๑๙.โตเกียว   ๒๐.หวู่ฮั่น   ๒๑.โยโกฮาม่า   ๒๒.กรุงเทพฯ

[๗] ที่มา : http://hitech.sanook.com/1388021/  อ้างอิงจาก  USNews

[๘] วิกฤติ! ขยะอิเล็กทรอนิกส์เมืองไทยที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๗

[๙] ทรงเทศน์สั่งสอนรายสัปดาห์ที่จตุรัสเซนต์ปีเตอร์ และครั้งล่าสุดซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลกของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๖   ที่มา : popereport.com 

[๑๐] ข้อมูลจาก รายการวิตามินข่าว ตอนปัญหาสิ่งแวดล้อม # กินข้าวให้หมดจาน  Vitaminnewssuperjeew

[๑๑] ที่มา: สัมมนาเรื่อง "วิกฤติขยะอาหาร ลดการสูญเสีย เพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อโลกมีพอกิน" (Save Food For A Better World) โดย UNFAO  อ้างอิงจาก เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗   และจาก  http://www.bangkokbiznews.com

[๑๒] ช่วงสายวันเสาร์ที่ ๒๓ พฤษภาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงต้อนรับสมาคมผู้ใช้แรงงานคาทอลิกแห่งอิตาลีที่มาเข้าเฝ้าในหอประชุมเปาโล ที่ ๖ นครรัฐวาติกัน โอกาสครบรอบ ๗๐ ปีแห่งการก่อตั้งสมาคม      ที่มา :popereport.com 

[๑๓] แนวโน้มสถานการณ์เด็กทั่วโลกในปี ค.ศ.๒๐๑๒  http://www.thaichildrights.org/movement/report/186

[๑๔] อ้างอิงจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ

[๑๕] http://region2.prd.go.th  วันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๗

[๑๖] จาก คมชัดลึก ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐

[๑๗] นักวิชาการห่วงสังคมไทย "ตัวใครตัวมัน-ทิ้งผู้สูงอายุ" วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖  http://www.isranews.org

[๑๘] แนวโน้มโลก ๒๐๕๐ สังคมโลก...สังคมผู้สูงอายุ โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์  เจริญวงศ์ศักดิ์  วันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/611956   

[๑๙] ๒๕๔๔ - ๒๖๔๓ โลกเข้าสู่ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ  http://www.hfocus.org/content/2015/04/9734   วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๘

------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙๙
วัฒนธรรม ทิ้งขว้าง : Throwaway Culture

เว็บ 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >