หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 120 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ความเปลี่ยนแปลงที่"บ้านหมันขาว"...พี่น้องชาติพันธุ์ หลังได้รับสัญชาติไทย : วรพจน์ สิงหา พิมพ์
Wednesday, 18 November 2015

ความเปลี่ยนแปลงที่ "บ้านหมันขาว"

พี่น้องชาติพันธุ์ "ถิ่น" และ "ลัวะ" หลังได้รับสัญชาติไทย

วรพจน์ สิงหา เรื่อง/สัมภาษณ์

แม้การเดินทางบนภูสูงจะไม่สะดวกสบายเท่าใดนัก แต่ความเย็นสบายของอากาศบนภูดอยระหว่างเส้นทางรอยต่อจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดเลย ความสวยงามของทิวทัศน์รอบทิศทางทำให้คนเดินทางรู้สึกสุขสงบกับภาพธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่อยู่เบื้องหน้า

ท่ามกลางความสวยงามของทิวทัศน์ระหว่างทาง เป็นภาพตัดกันของการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิที่เท่าเทียมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่สวยงามเหมือนสองข้างทางที่พบเห็น

ขณะเดินทางไต่เลาะไปบนเทือกเขาสูง รู้สึกขึ้นมาในใจว่า การเดินทางอันยาวนานและยากลำบากบนภูดอย คงเหมือนกับการเดินทางที่ยาวนานและยากลำบากของพี่น้องชนเผ่าถิ่นและเผ่าลัวะที่ "บ้านหมันขาว" อ.ด่านซ้าย จ.เลย ปัญหาอุปสรรคไม่ได้อยู่ที่ระยะทางอันห่างไกลหรือความสูงชันของภูเขา แต่อยู่ที่เงื่อนไขแวดล้อมของสังคมไทยมากกว่าที่จะเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้มากน้อยเพียงใด


เหตุการณ์ที่ "บ้านหมันขาว"

ก่อนที่พี่น้องเผ่าถิ่นและเผ่าลัวะจะมาอยู่ที่หมู่บ้านหมันขาว หมู่ที่ ๔ ตําบลกกสะทอน อําเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในปัจจุบัน พวกเขาต้องอพยพและเดินทางโยกย้ายไปยังที่ต่างๆ มายาวนานตลอดหลายสิบปี ชาวบ้านหมันขาวมี ๒ เผ่า คือเผ่าลัวะ และเผ่าถิ่น เดิมชนเผ่านี้เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย บริเวณภาคเหนือ อําเภอบ่อเกลือใต้ จังหวัดน่าน อพยพหลบหนีภัยสงครามจากการปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ในช่วงประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๕ - ๒๕๑๕ ได้เข้าไปอาศัยอยู่และทํามาหากินบริเวณเขตรอยต่อชายแดนเมืองเพียง แขวงไชยบุรี ประเทศลาว

ปี ๒๕๑๘ ประเทศลาวได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงได้อพยพเข้าประเทศไทยทางจังหวัดน่าน ทางราชการได้นํากลุ่มอพยพไปไว้ที่ศูนย์ต้อนรับผู้อพยพบ้านน้ำยาว อําเภอปัว จังหวัดน่าน ภายใต้การดูแลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในปี ๒๕๒๗-๒๕๒๘ ทางราชการคัดแยกบุคคลที่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทย เพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติไทย ในขณะนั้นมีบุคคลที่พิสูจน์สัญชาติไทยประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ คน ทางราชการได้หาที่ตั้งหมู่บ้านให้ ที่อําเภอบ่อเกลือใต้ จังหวัดน่าน ในปี ๒๕๓๓ กลุ่มที่รอพิสูจน์สัญชาติ ทางราชการกระทรวงมหาดไทยให้อพยพไปอยู่ที่ศูนย์อพยพ บ้านนาโพธิ์ จังหวัดนครพนม เพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติไทย ในปี ๒๕๓๖ ทางราชการโดยกระทรวงมหาดไทย อนุญาตให้เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบ และออกเอกสารสิทธิ์คือ หนังสือสำคัญคนต่างด้าว และหนังสือถิ่นที่อยู่ถาวรให้เพื่อรอการพิจารณาแปลงสัญชาติไทย

ในช่วงปลายปี ๒๕๓๖ กระทรวงมหาดไทยให้อพยพไปพักอาศัยที่ศูนย์บ้านนาแก จังหวัดพะเยา อยู่ในการดูแลของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา จังหวัดน่าน ในปี ๒๕๓๘ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ได้สํารวจพื้นที่นิคมชาวเขาในเขตจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๓๘ ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ย้ายกลุ่มดังกล่าว ไปไว้ในพื้นที่บริเวณลําน้ำหมันขาว ซึ่งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๔ บ้านหมากแข้ง ตําบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ในปี ๒๕๔๖ กลุ่มผู้นําชุมชนหมันขาว ได้ดําเนินการร้องขอการแปลงสัญชาติไทยกับส่วนราชการ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ส่งคณะคณาจารย์และเจ้าหน้าที่กรมการปกครอง จากส่วนกลาง ตํารวจสันติบาล ตํารวจภูธรอําเภอด่านซ้าย คณะสภาความมั่นคงแห่งชาติ นายอําเภอด่านซ้าย สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มาวิจัยภาคสนามที่บ้านหมันขาว เพื่อการแปลงสัญชาติไทยให้แก่ราษฎร และให้เกิดสิทธิเสรีภาพในการเป็นพลเมืองไทยทุกคน

ปี ๒๕๔๙ ชุมชนบ้านหมันขาวได้รับสัญชาติรุ่นแรก ๑๑๓ คน หลังจากนั้นรอบสองปลายปี ๒๕๔๙ ก็ได้สัญชาติไทยเกือบทั้งหมด มีตกหล่นบ้างเพียงไม่กี่คนในปัจจุบัน กระทั่งเกือบ ๑๐ ปีหลังจากได้รับสัญชาติไทย มีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในชุมชน

Imageคุณพุด รัมจิตร อดีตผู้นำชุมชนบ้านหมันขาว อายุ ๔๖ ปี เป็นผู้หนึ่งที่อพยพมาจากฝั่งลาวเข้ามาประเทศไทย เล่าว่า "เราเป็นผู้แปลงสัญชาติ สิทธิต่างๆ เรามี แต่สิทธิด้านการปกครอง เขาไม่ให้ นี่คือปัญหา แต่ทำไมเราต้องเป็นทหาร เป็นตำรวจ ก็แปลก แต่พอสมัครผู้ใหญ่บ้าน สมัครกำนัน สมัคร อบต. กลับไม่ให้"

"การมาอยู่ตรงนี้ ทีแรกทางรัฐบอกว่าจะจัดสรรที่ดินให้ครัวเรือนละ ๑๕ ไร่ ที่อยู่อีก ๑ งาน พอมาเข้าจริงๆ ไม่มี เขาสัญญาว่าจะให้ แต่ให้แค่ที่ปลูกบ้าน ๑๐ คูณ ๑๐ ตารางเมตร และแจกอุปกรณ์การสร้างบ้านให้ เป็นไม้ สังกะสี ตามที่เราดูงบประมาณก็มีมาก แต่พอได้รับมาก็ไม่มาก เท่าที่มี"

"ในเรื่องสัญชาติตอนนี้มี ๓ ราย ยังไม่ได้รับสัญชาติ เพราะว่าช่วงที่ทำเรื่องสัญชาติ เขาไม่อยู่ ไปทำนาอยู่ต่างจังหวัด เพราะตอนทำสัญชาติ คนทำสัญชาติจะต้องอยู่ ไม่ให้ไปไหน ตอนนี้ยังทำเรื่องขึ้นทะเบียนอยู่ ขอสถานะบุคคลให้"

"เรื่องเกี่ยวกับสัญชาติ ตอนนี้ถือว่า ๙๗% ได้สัญชาติแล้ว ก็ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ปัญหาหนักคือหมู่บ้านของเรายังไม่ได้เป็นเอกเทศ กระทรวงประกาศแล้วแต่ยังรองบประมาณ ผมประสานงานกับภาครัฐแล้ว ภาครัฐก็ยังนิ่ง สมัยก่อนก็เป็นแบบนี้ ถ้าเป็นหน่วยงานมาช่วยจะเร็วมาก ถ้าเราเป็นชาวบ้านไปเรียกร้องก็แบบนี้"

ผู้ใหญ่พุดเล่าให้ฟังว่าชุมชนบ้านหมันขาวหลังได้รับสัญชาติไทยมีหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเรื่องประเพณีและวัฒนธรรมประจำเผ่า "ปัญหาชุมชนเรา ทุกคนดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น แต่ผมก็เป็นห่วง การดิ้นรนเกิน จนลืมวัฒนธรรมประเพณี เงินทองซึมซับเข้ามาในจิตใจจนลืมประเพณีวัฒนธรรมเก่าๆ การพูดการจา การให้ความเคารพผู้สูงอายุ ไม่ค่อยมี การเชื่อฟัง ยากขึ้น สมัยก่อนผู้อาวุโสบอกวันนี้ให้ช่วยกันทำงาน มีคนเต็มไปหมด แต่เดี๋ยวนี้ เปลี่ยนไป"

"มีสิ่งที่ไม่ดีเข้ามา แต่ก่อนไม่มีเรื่องยาเสพติด วัยรุ่นเริ่มใช้ บางคนไปติดจากข้างนอกมา หรือเรื่องการหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตนเอง"

"หลังจากได้บัตร หลายคนไปทำงานข้างนอก มีอิสระมากขึ้น แต่ในหมู่บ้านเราไปทำงานข้างนอกจะมีน้อย นับได้ไม่ถึง ๑๐ คน อยู่ที่นี่มีงานทำที่บ้าน"

Imageทุกวันนี้ ชาวบ้านบ้านหมันขาวอยากให้หมู่บ้านของตนเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นกับหมู่อื่น "ผมอยากให้หมู่บ้านเราเป็นเอกเทศ ไม่ขึ้นกับหมู่อื่น ถ้าเป็นเอกเทศจะทำอะไรก็ง่ายขึ้น เช่น มี อบต. ของเราเอง"

ผู้ใหญ่พุดเป็นผู้หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าถ้าอยากจะมีสิทธิ ชาวบ้านต้องเรียกร้องเพื่อให้ได้สิทธินั้น เพราะหลายครั้งหน่วยงานราชการจะไม่ดำเนินการใดๆ หากประชาชนนิ่งเฉยไม่เรียกร้องสิทธิให้ตนเอง

ผู้ใหญ่พุดบอกว่า "ในการพัฒนาชุมชนของเรา ผมมองไปที่การศึกษาของเด็ก เพราะว่าตอนนี้ก็มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเข้ามาช่วย ทุกปีจะมีให้เด็กสอบทุนของพระเทพฯ หลังจากเด็กสอบทุนแล้ว ถ้าจบ ม.๖ จะให้เด็กเป็นครูที่นี่ ให้เด็กรู้ปัญหาหมู่บ้าน และให้เด็กกระตุ้นเรื่องนี้ ในอนาคตก็คิดอย่างนี้ ที่ผ่านมา ผมก็เริ่มให้มีศูนย์ ศสมช. ในหมู่บ้านเรา และจ้างเด็กที่เรียนจบในหมู่บ้านเรามาทำงานตรงนี้ และครูอนุบาลก็จ้างในหมู่บ้านเรา"

"เรื่องที่ต้องระวังคือ การเอารัดเอาเปรียบ กระแสการเมือง เขาซื้อของแจกชาวบ้าน ก็ได้เปรียบคนอื่น เด็กเดี๋ยวนี้เปลี่ยนจากเมื่อก่อน เยาวชน ต้องร่วมมือกันทั้งชุมชน ไม่ใช่เรื่องของผู้นำ แต่เป็นทุกคนในชุมชนร่วมมือกัน ต้องเป็นเครือข่ายช่วยกัน"


รื้อฟื้นประเพณีความเชื่อคืนกลับมา

ชุมชนทุกแห่งคงไม่เฉพาะที่บ้านหมันขาวที่ต้องปรับตัวและตั้งมั่นรับกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ผู้ใหญ่หลายท่านที่บ้านหมันขาว ทั้งผู้นำชุมชน และผู้นำด้านศาสนาและจิตวิญญาณ พยายามร่วมมือกันเพื่อรักษาวัฒนธรรมของชนเผ่าเอาไว้ ไม่ให้ถูกกลืนไปในยุคสมัยที่พยายามกลบกลืนอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์

Imageคุณพ่อทศพร นารินรักษ์ เจ้าอาวาสวัดครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ บ้านหมันขาว ผู้ดูแลกลุ่มคริสตชนชนเผ่าถิ่นและเผ่าลัวะ และดูแลวัดคาทอลิกอีก ๕ แห่งบนดอยสูง ซึ่งคุณพ่อทศพรหลังจากได้รับตำแหน่งในปี ๒๕๕๔ ให้มาดูแลวัดเขตนี้ได้พัฒนาทั้งในด้านสิ่งปลูกสร้างและจิตวิญญาณของชาวบ้าน

"พ่อเห็นว่าวิถีชีวิตชาวบ้านเริ่มเปลี่ยนไป ลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตัวเอง จึงเริ่มรื้อฟื้นเอกลักษณ์ของเขาให้กลับมา ชาวบ้านมาร่วมกัน"

"วิถีชีวิตชาวบ้านเมื่อมาอยู่ที่นี่ ศูนย์อพยพได้ทำลายวัฒนธรรมของเขาทั้งหมด เพราะเป็นเวลายาวนานที่เขาอยู่ในศูนย์อพยพ ทั้งเสื้อผ้า การแต่งกายแบบชนเผ่า ไม่เหลือเลย สิ่งแรกที่พ่อถามเขาตอนมารับผิดชอบงาน ถามเขาว่าจำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับตัวเอง ชาวบ้านบอกว่างานปีใหม่ มีพิธีไปเยี่ยมเยียน แสดงความดีใจ เหมือนปีใหม่ไทย เล่นน้ำดำหัว เราจึงเริ่มรื้อฟื้นงานปีใหม่ของชาวถิ่น รดน้ำดำหัวที่เขามีเหมือนกัน เรื่องที่สองคือ ประเพณีบุญข้าวใหม่ ซึ่งตรงกับปีใหม่ไทยสากล พ่อก็เลยรื้อฟื้นธรรมเนียมลัวะ จัดประเพณีบุญกองข้าวขึ้นมา ชาวลัวะก็เข้ามาร่วมเต้นรำรอบวง รื้อฟื้นธรรมเนียมชาวถิ่น เชิญ อบต. เข้ามาร่วม ชาวลัวะยังมีประเพณีบุญดอกแดง เหมือนดอกไม้สีแดงเกิดแล้ว เขาจัดเป็นงานบุญ เป็นเหมือนกับการกินข้าวใหม่ของเขา ไปเรื่อยๆ ตามบ้าน ถือโอกาสเลี้ยงเพื่อนพี่น้องทั้งหมด"

"ชนเผ่าถิ่นสมัยก่อนเขามีพิธีเอาขวัญข้าวขึ้นมา เราก็มีพิธีสู่ขวัญข้าวด้วย ชาวลัวะก็ตีเกิ่ง ซึ่งเป็นดนตรีประจำเผ่าถิ่น ตีรอบๆ กองข้าวไป ชาวถิ่นทำพิธีสู่ขวัญข้าว เอาฝ้าย เอาเหล้า เอาเผือก เอาอะไรมา เอาข้าวมาทำเหล้า และก็แห่เหล้า วัฒนธรรมเขาเริ่มกลับมา เขาจะเชิญผู้เฒ่ามาชุมนุมกัน มาทำพิธีร่วมกัน กินเหล้า กินข้าวด้วยกัน พ่อและทางวัดพยายามช่วยเขาตลอด ตั้งกลุ่มเมตตาจิต ใครป่วยเราไปช่วย มีกลุ่มออกไปเยี่ยมชาวบ้าน"

คุณพ่อทศพรเล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ เยาวชนบนดอยไม่ได้แตกต่างจากที่อื่นๆ ของประเทศในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี "ปัญหาเรื่องเยาวชน เยาวชนตอนนี้เขารับเทคโนโลยีมากขึ้น เราพยายามสอนเขาให้เลือกสิ่งที่ดี เพราะว่าหลายคนถูกหลอกลวง มีผลต่อชีวิตของพวกเขา"

"พ่ออยากให้เขาเรียนหนังสือ ได้ไปในโรงเรียนที่ดี แต่เขาก็ไปติดกับสิ่งที่ไม่ดีของคนเมือง คนบนดอยลงมา ทำตัวเหมือนคนเมือง เด็กหลายคนกลับมาย้อมสีผม เงินไม่มี พ่อแม่ทำไร่ เด็กจะไปเรียนหรือไม่ พ่อแม่ไม่ได้ติดตาม คบกับใครก็ได้"

"ปัญหาเยาวชนมีเยอะ ทั้งเรื่องพฤติกรรมตามยุคสมัย ค่านิยม รับส่วนที่ไม่ดีมา พ่ออยากปลูกฝังเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ อยากเห็นพวกเขามีการศึกษาที่ดี ให้เขารักและมั่นใจในวัฒนธรรมของตัวเอง พูดภาษาของเขาเอง เขาอายที่จะพูดภาษาของเขาเอง เพราะอนาคตถ้าไม่รักษาไว้ ทุกอย่างสำหรับเขาก็จะสูญหายไป เขาไม่มั่นใจว่าเขาเป็นอะไรแน่"

"สำหรับเยาวชน พ่อหวังให้เขารักษาเอกลักษณ์ของชนเผ่าไว้ รู้จักตัวเอง มั่นใจในตัวเอง เวลาเทศน์สอนก็บอกเขาตลอดทุกครั้ง ย้ำว่าเขาเป็นใคร หนทางของเขาเป็นอะไร อีกมุมหนึ่ง คนไทยทั่วไปก็แสวงหาผลประโยชน์จากพวกชาวเขา อย่างในหมู่บ้านเขามี ๓๐๐ เสียง เป็นผลประโยชน์ เป็นฐานเสียงทางการเมืองได้ ชาวเขาเป็นเหยื่อ เห็นเขาแค่เป็นฐานเสียงทางการเมือง บ้านหมันขาวกลายเป็นจุดขาย อยู่ในป่าในเขา เป็นชนเผ่าที่ยากจน หมันขาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีรอยเท้าไดโนเสาร์ มีทากตัวใหญ่ๆ ความอุดมสมบูรณ์ การฟื้นตัวของสภาพแวดล้อมของน้ำตกหมันแดง เมื่อก่อนบ้านหมันขาวมีแจกของทุกอาทิตย์ เพราะเป็นหมู่บ้านยากจน ชาวบ้านก็ไปรอ พ่อบอกให้เลิกรอรับของแจกได้แล้ว คนเคยอยู่ในศูนย์อพยพ รอรับของแจกอย่างเดียว รอเขามาช่วย เรามีแรง มีศักดิ์ศรี เราไม่ต้องการเสื้อผ้าที่ใช้ไม่ได้กับเรา ไม่ได้ต้องการขนม เราอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้วตอนนี้ มาแจกผ้าห่ม ผ้าห่มเต็มบ้านแล้ว"

Image"ประมาณ ๒ ปีที่มีไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ความเจริญเริ่มมากขึ้น เมื่อไฟฟ้าเข้ามา ถนนสะดวก ทุกอย่างก็เข้ามา โทรทัศน์ ตู้เย็น จานดาวเทียม เด็กเริ่มไม่มาเรียนคำสอน เริ่มไม่สนใจศาสนา เราจัดสอนเฉพาะวันเสาร์ มี ๑๐ กว่าคนที่เป็นเด็กคาทอลิก จากเมื่อก่อนประมาณ ๓๐-๔๐ คน มาร่วมกิจกรรมทั้งหมู่บ้าน ที่เด็กไม่มาเรียนคำสอน ไม่มาวัด เพราะอยู่บ้านดูโทรทัศน์ ดูการ์ตูน บางทีมาแค่ ๕ คน ตอนนี้เราจัดให้มีเรียนคำสอนอย่างน้อยครึ่งวันในวันเสาร์ วันอาทิตย์ต้องมาวัด บอกครูคำสอนว่าเราต้องปรับตัว หาสิ่งที่เขาสนใจ"

"ปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องที่ดินทำกิน ชาวบ้านไม่มีที่ดินทำกิน รัฐบาลสัญญาว่าจะให้เขาครอบครัวละ ๑๕ ไร่ แต่เขาไม่ได้ ที่ดินเป็นของชาวม้งหมดเลย คนถิ่นก็ต้องเป็นลูกจ้างปลูกกะหล่ำ เป็นปัญหาที่ติดล็อค เพราะที่ที่จะแบ่งให้ทุกคนไม่มีแล้ว ต้องเลือกอาชีพอื่น ทางออกคือจะรับจ้างตลอดไปได้ไหม"

"ชาวบ้านที่ดินก็ไม่มี การศึกษาก็ไม่มี จะทำอย่างไร ที่บ้านหมันขาวเริ่มจากกลุ่มคาทอลิกไม่ถึง ๔๐ คน สวดภาวนาร่วมกันดี ตอนนี้ในทะเบียนมีอยู่ประมาณ ๓๐๐ คน มาวัดประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ คน แต่ส่วนใหญ่เขาออกไปทำงานที่อื่น ลงมาทำงานพื้นราบประมาณ ๑๐๐ กว่าคน เหลือที่บ้านประมาณ ๒๐๐ คน มาวัดแค่ ๑๕๐ คน หมู่บ้านมีคนแก่เยอะกว่า คนแก่มีประมาณ ๔๘ คน นอกนั้นเป็นคนวัยกลางคน คนหนุ่มสาววัยทำงานจะไปทำงานที่อื่น แต่เขามีธรรมเนียมการดูแลผู้สูงอายุดีเหมือนกัน มีคนดูแล ไม่ได้ทิ้ง ถ้าไม่มีลูกหลานก็ไปอยู่กับญาติ"

ปัจจุบัน คุณพ่อทศพรพยายามหาโครงการมาช่วยเหลือชาวบ้านบ้านหมันขาว เช่น รณรงค์เรื่องการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต มีการตั้งกองทุนปุ๋ยชีวภาพ และตั้งชมรมผลิตไม้กวาด เพื่อใช้วัสดุในท้องถิ่นให้เป็นรายได้ พยายามรื้อฟื้นกองทุนธนาคารข้าว และฟื้นฟูกลุ่มเยาวชน ฯลฯ


ร่วมกันแก้ปัญหาชุมชน คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ชนเผ่า

ผู้ใหญ่หลายท่านที่บ้านหมันขาวสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงลบที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านมาหลายปีแล้ว เช่น การแพร่ระบาดของยาเสพติดในช่วง ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เอกลักษณ์ชนเผ่าที่กำลังเลือนหายไป ซึ่งหลายท่านพยายามพูดคุยปรึกษาหาทางออกร่วมกันเพื่อความยั่งยืนของชุมชน

Imageคุณเพชร ใจปิง วัย ๔๓ ปี ผู้ใหญ่บ้านบ้านหมันขาวคนปัจจุบัน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าความสามัคคีและเป็นหนึ่งเดียวของชุมชนจางหายไปตามยุคสมัย "ผมอยากให้ความเป็นหนึ่งเดียวกัน สามัคคีกันเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งมันลดหายไปตามยุคสมัย"

"ตอนไม่มีบัตรเราก็อยากได้บัตร หลังจากได้บัตร สิทธิมีเยอะขึ้น ตอนแรกเราไม่มีบัตร เราคิดว่าทุกอย่าง ถ้าได้บัตรมันจะดีพร้อม แต่ทีนี้ไม่ใช่ เพราะว่ายังเหมือนเดิม แม้ว่ามีบัตรเราก็ยังทำอะไรไม่ได้ เหมือนกับว่าสิทธิเรายังไม่เต็มที่ เนื่องจากหมู่บ้านเรายังไม่เป็นทางการ"

"เริ่มแรกที่เราอยู่ศูนย์อพยพ ก็มีใบต่างด้าว เราไปที่ไหน ทำงานอะไรก็มีปัญหา แต่ตอนนี้พอมีสัญชาติ เราไปทำงานไม่มีปัญหาแล้ว แต่ส่วนที่พัฒนาหมู่บ้านยังมีปัญหา เพราะยังไม่เป็นทางการ เราไปพูดที่ตำบล อำเภอ เขาก็พูดว่าเรายังไม่ได้เต็มที่ ต้องขึ้นอยู่กับที่อำเภอหมากแข้ง"

คุณเพชร ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันบอกว่า สาเหตุหนึ่งที่มีชาวบ้านออกไปทำงานข้างนอกชุมชน เพราะไม่มีที่ดินทำกิน จึงมีหลายคนต้องออกไปทำงาน แม้จะไม่ได้อยากออกไปก็ตาม "คนที่ไปทำงานข้างนอกยังไม่เยอะเท่าไหร่ ชาวหมู่บ้านหมันขาวทำงานรับจ้างทั่วไป ยกร่องขิงบ้าง ตัดกะหล่ำบ้าง พอเขาทำงานเสร็จตอนเย็นก็กลับมาที่บ้าน"

"ส่วนในเรื่องสัญชาติ ตอนนี้ชาวบ้านได้สัญชาติเกือบทุกคนแล้ว เหลืออยู่ประมาณ ๖ คน ที่ยังตกหล่นอยู่ ได้ทำเรื่องแล้ว ผมทำแค่ติดตามเรื่อง คิดว่าเดือนกรกฎาคมปีนี้จะไปติดตามที่อำเภออีกครั้ง"

ผู้ใหญ่เพชรตั้งใจไว้ว่าจะพยายามสร้างบ้านหมันขาวให้เจริญก้าวหน้าในทุกด้านและจะปรึกษาร่วมกันกับทุกคนในหมู่บ้าน "อยากให้หมู่บ้านหมันขาวรักสามัคคี เป็นหนึ่งเดียว ช่วยเหลือกัน หมันขาวน่าอยู่ ปลอดจากยาเสพติดและสิ่งผิดกฎหมาย ถ้าทุกคนร่วมกัน ทั้งผู้นำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ และเยาวชน และรักษาประเพณีดั้งเดิมให้คงอยู่ต่อไป"

Imageคุณบุญสี คำรอง ชาติพันธุ์เผ่าถิ่น วัย ๓๖ ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านหมันขาว เกิดที่ศูนย์อพยพบ้านน้ำยาว อ.ปัว จ.น่าน เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในชุมชน "ชุมชนเรามีปัญหารอบด้าน เรื่องความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สมัยก่อนตอนยังไม่ได้บัตร อยากได้บัตร แต่เวลาได้บัตรแล้ว บางครั้งก็ออกไปทำงาน ทำอะไรต่างๆ การรวมตัวกันน้อยลง แต่ทางศาสนาเรายังรวมกันอยู่ การรวมกัน เช่น การลงแขก การไปไร่ เริ่มลดน้อยถอยลงไป"

"สมัยก่อนเวลาไปทำงาน ช่วยกันทำไร่ เกือบทั้งหมู่บ้านไปช่วยกันหมด เวลาคนนั้นเสร็จ เจ้าอื่นยังไม่เสร็จ ก็ไปช่วยให้เสร็จ ทำอย่างนี้ตลอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม ทำมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันก็ยังทำอยู่ การลงแขกคือการไปช่วยเขา สมมุติวันนี้เราช่วยเจ้านู้น วันที่ผมปลูก เจ้านั้นก็ต้องมาช่วย สมัยก่อนเวลาเราไป เราไม่ไปเอาแรงกันแบบนี้ ไปช่วยก็ช่วยเลย ก็แตกต่างกันออกไปนิดหนึ่ง"

Imageคุณบุญสีเล่าให้ฟังว่าประเพณีเริ่มถูกลดความสำคัญลง ปัญหาเยาวชนกับยาเสพติดมีเพิ่มขึ้น "สมัยก่อนๆ เยาวชนไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ว่าตอนนี้รู้สึกเปลี่ยนแปลงไป เริ่มมียาเสพติดเข้ามาในหมู่บ้านประมาณ ๓-๔ ปีที่ผ่านมา เยาวชนบางคนไปทำงานข้างนอก ไปเห็นแสงสี เวลากลับมา เขาก็เปลี่ยนไป การแต่งตัวแต่งกาย วัยรุ่นบางคนก็ย้อมสีผม"

"ผมห่วงเรื่องวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อของเรา สมัยก่อน เวลาผูกแขน ความเชื่อของเรา คือการอวยพรให้แก่คนๆ นั้น และเขาก็จะมาบอกครูคำสอนให้มาสวดภาวนาให้ด้วย แต่ปัจจุบันก็ลดลง การผูกแขน เขาจะบอกครูคำสอนก็ได้ ไม่บอกก็ได้ ก็แล้วแต่เขา"

"วัฒนธรรมของคนถิ่นส่วนมากจะไม่ค่อยมี สมัยก่อน อย่างมีประเพณีที่เรียกว่า "สะโตง" ประเพณีปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ทำรูปต่างๆ รูปวัว จะเป็นของคนแก่ที่เขานับถือบรรพบุรุษมาแต่ก่อน ทำรูปคนด้วย ทำจากดิน ปั้นเป็นรูปวัวรูปอะไรต่างๆ สมมุติปีนี้เป็นปีเก่า จะต้อนรับปีใหม่ ถ้าใครมีเสื้อผ้าเก่าๆ หรืออะไรต่างๆ ที่อยากจะมาร่วม เขาก็จะเอามารวมกัน ปล่อยสิ่งที่ไม่ดีออกไป และก็แห่ และทำข้าวต้ม ขนมหวาน อะไรต่างๆ อันนี้ก็เริ่มลดลงไป"

Image"ในชุมชน มีพี่น้องที่นับถือพุทธ คริสต์ นับถือบรรพบุรุษ ทางศาสนาอยู่ร่วมกันได้อย่างดี ร่วมมือกันอย่างดี อย่างคาทอลิกทุกอาทิตย์มีคนมาวัด ล้นวัดทุกอาทิตย์ ความเชื่อทางศาสนายังมั่นคง"

คุณบุญสีบอกว่า ห่วงเรื่องเยาวชนเป็นพิเศษ และพยายามรื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมให้คืนกลับมา "อย่างเช่นประเพณีล่องปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เวลาสงกรานต์ไปขอพรพ่อแม่ผู้หลักผู้ใหญ่ พยายามนำวัฒนธรรมดั้งเดิมกลับมา ไม่อย่างนั้นประเพณีวัฒนธรรมของเราอาจจะหายไปเลย เด็กปัจจุบันถ้าพ่อแม่ไม่พาไป เขาก็จะไม่รู้เลย"

"อยากให้มีการร่วมไม้ร่วมมือกัน ทางวัด หมู่บ้าน ร่วมมือกันแก้ปัญหา วางแผนในสิ่งต่างๆ ร่วมกัน สิ่งไหนดีหรือไม่ดี ตอนนี้คุยกันแต่ระดับของใครของมัน ยังไม่ได้คุยร่วมกัน เพราะชุมชนเดียวกัน จะมีประชุมหมู่บ้าน คุยร่วมกัน ปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ ในหมู่บ้าน"


ความหวังของ "บ้านหมันขาว"

ไม่เพียงผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านหมันขาวเท่านั้นที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน กลุ่มเยาวชนก็เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน และกลุ่มเยาวชนคือความหวังของบ้านหมันขาวแห่งนี้ในอนาคต

Imageคุณชิต กองพัน วัย ๓๐ ปี ประธานกลุ่มเยาวชนคาทอลิก วัดครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ บ้านหมันขาว ยอมรับว่าเยาวชนในหมู่บ้าน การรวมกลุ่มอาจจะน้อยลงไปบ้าง เพราะต่างคนต่างต้องทำงานที่รับผิดชอบ "ช่วงก่อนๆ ในหมู่บ้านจะมีกิจกรรมด้านกีฬา เยาวชนมาเล่นฟุตบอล แต่ห่างมาหลายปีแล้วที่ไม่มี เพราะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ กีฬาภายในหมู่บ้าน กีฬาทาง อบต. ก็ไม่มี"

ชิตเคยเป็นตัวแทนของจังหวัดเลย ไปแข่งขันกีฬาชาวเขาประมาณ ๒-๓ ครั้ง "โดยเฉพาะบ้านเราก็ไปเล่นฟุตบอล จะเป็นกีฬาแห่งชาติของชาวดอย เคยไปจังหวัดน่าน พิษณุโลก เลย เป็นตัวแทนของ อบต. ช่วงนั้นไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติดมากมาย มีมาช่วง ๒-๓ ปีหลัง ที่มันรุนแรง เยาวชนถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ จาก ๑๐๐% น่าจะเหลือ ๓๐% บางคนลองแล้วเลิกก็มี เมื่อก่อนแม้แต่บุหรี่ ก็ยังไม่ค่อยสูบกัน"

ชิตพยายามเตือนน้องๆ เยาวชนคาทอลิกซึ่งมีประมาณ ๒๐ กว่าคน ในเรื่องโทษภัยของยาเสพติด "เคยคุยกับเขา เคยเตือน เคยบอก ว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย ขนาดเหล้าที่เป็นของถูกกฎหมาย ผมยังไม่แนะนำให้กิน บอกน้องๆ ว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แถวนี้ชนเผ่ามันเยอะ มาจากหลายที่ มาง่าย เพราะเป็นทางผ่าน ยาเสพติดเข้ามาได้ทุกทาง มันสุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ เยาวชนยังติดโทรศัพท์ เทคโนโลยี เด็กที่ไปข้างนอกก็มีปัญหาเรื่องแบบนี้ อยู่ที่ผู้ปกครองพ่อแม่ด้วย"

Imageชิตถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังก้าวขึ้นมารับผิดชอบแทนผู้ใหญ่และเป็นความหวังหนึ่งของบ้านหมันขาว เขาเป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งที่สังเกตเห็นว่าประเพณีดั้งเดิมของเผ่าถิ่นได้จางหายไป "ประเพณีดูเหมือนว่าอ่อนลงบ้าง อาจจะไม่ได้หายไป ผู้เฒ่าผู้แก่ก็บอกว่ามันห่างๆ ไป ไม่เข้มแข็งเหมือนแต่ก่อน คนหนุ่มสาวไม่ค่อยสนใจ ผู้ใหญ่ต้องแนะนำปลูกฝัง ต้องทำให้เยาวชนเห็น ต้องดึงเข้าไปร่วมกัน อย่างงานบุญปีใหม่ สงกรานต์ เอาแรงกัน ให้คงไว้ เป็นสิ่งที่ดี ช่วยกันดี งานศพก็ร่วมกันดี งานแต่ง อยากให้มีอย่างนี้ต่อไป งานบุญปีใหม่ ให้น้ำอบน้ำหอมผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ คล้ายวันรวมญาติ ทุกคนจะมา ช่วงเมษายน ตรงกับปีใหม่ คล้ายสงกรานต์ไทย แตกต่างไม่มาก เอาแรง ลงแขก อันนี้ยังดีอยู่ ไร่ใครก็ไปช่วยกัน ไม่เปลี่ยนไป"

ชิตตั้งใจไว้ว่าอยากจัดกิจกรรมกีฬาและดนตรีให้เยาวชนในหมู่บ้าน และอยากคงไว้ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่าตัวเอง ซึ่งก่อนจบการพูดคุยบริเวณชายเขาที่ชิตกำลังช่วยลงแรงในไร่ของเพื่อนบ้าน ชิตพูดทิ้งท้ายไว้น่าคิดว่า "ผมห่วงว่าถ้าพัฒนาไป ทุกอย่างจะเหมือนเดิมหรือเปล่า ทั้งเรื่องประเพณีวัฒนธรรมของเรา สิ่งที่ดีหายไปไหน พอพัฒนาไปแล้วคนห่างกันไหม บางคนก็ออกจากหมู่บ้าน ออกไปทำงานที่อื่น พัฒนาแล้วเจริญด้านไหน จิตใจคนเจริญจริงไหม?"

"บ้านหมันขาว" เป็นตัวอย่างของชุมชนที่ต้องปรับตัวท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย แม้จะมีปัญหาอุปสรรคมากมายที่ทุกคนในหมู่บ้านต้องช่วยกันแก้ไข แต่ชาวบ้านทุกคนทุกวัยไม่ได้นิ่งดูดายหรือเฉยเมยกับสิ่งที่เกิดขึ้น ...บ้านหมันขาวทำให้เราเห็นว่าไม่มีชุมชนใดที่ไร้อุปสรรคและปัญหา ทุกชุมชนต้องมีการเคลื่อนไหวและปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพียงขึ้นอยู่กับคนในชุมชนว่าจะสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใดเท่านั้นเอง

-------
ศสมช. ย่อมาจาก ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน

 

------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙๘
คุณค่า ศักดิ์ศรี และสิทธิ
ของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ ท่ามกลางพหุวัฒนธรรม



เว็บ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >