หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 151 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


พื้นที่เกษตรกลางใจคน "สุข" ได้ไม่ต้อง "ซื้อ" พิมพ์
Wednesday, 04 November 2015

Image

 

 

 พื้นที่เกษตรกลางใจคน

"สุข" ได้ไม่ต้อง "ซื้อ"

 


วรพจน์ สิงหา
เรื่อง/ภาพ

 

จากปากซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท ๕๕ ย่านที่ผู้คนพลุกพล่าน ห้อมล้อมด้วยตึกสูง และที่ดินราคาแพง แต่ลึกเข้าไปไม่ไกลนัก ที่ดินผืนหนึ่งติดถนนใหญ่ ข้างสถาบันปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ปัจจุบันได้กลายเป็นแปลงปลูกผัก แปลงสาธิตการปลูกข้าว เลี้ยงแพะ เลี้ยงไก่ไข่ บ่อปลา โรงเพาะเห็ด รวมถึงลานพูดคุยเสวนา พบปะสังสรรค์ จัดกิจกรรม และแสดงดนตรี โดยใช้ชื่อว่า "Root Garden"

ซึ่งการชักชวนคนเมืองมาดูแลรดน้ำผัก เลี้ยงสัตว์ พูดคุยกัน มีความสุขได้โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อหา สิ่งเหล่านี้นับวันจะหาได้ยากในสังคมเมืองอย่าง กรุงเทพมหานคร

 


จากพื้นที่รกร้างกลายเป็น "พื้นที่มีชีวิต"

Imageก่อนที่จะมาเป็นสวนผัก Root Garden อย่างที่เห็น ที่ดินผืนนี้เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง ซึ่ง "ครูองุ่น มาลิก" เจ้าของที่ดินได้มอบให้แก่มูลนิธิไชยวนา ด้วยเจตนารมณ์ให้ใช้ที่ดินเพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ท่ามกลางความเจริญของตึก คอนโดฯ ร้านอาหาร และสถานบันเทิงในย่านทองหล่อ ที่บริเวณนี้มีมูลค่าประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท

สวนผัก Root Garden ได้พลิกฟื้นจากพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่เกษตรกลางเมือง โดยมีคนรุ่นใหม่มาร่วมกันทำการเกษตร ปลูกผัก เลี้ยงไก่ ที่สำคัญคือเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะ สำหรับเรียนรู้ร่วมกันสำหรับทุกคนในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกษตร อาหาร หรือปัญหาที่ดิน ซึ่งถือเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วอีกปัญหาหนึ่งของสังคมไทย

คุณจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ของ OXFAM หรือ องค์กรต่อสู้ความยากจน เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของสวนผัก Root Garden ว่าเริ่มจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องที่ดิน ซึ่งคนจำนวนเพียง ๒๐% ถือครองที่ดินไว้มากถึง ๘๐% ของที่ดินทั้งหมด และหากพิจารณาในเมือง จะมีที่ดินจำนวนมากที่ถูกทิ้งร้างไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

Image"ประเทศไทยมีการกระจุกตัวของที่ดินสูงมากๆ คนประมาณ ๒๐% ถือครองที่ดินประมาณ ๘๐% ของประเทศ คนอีก ๘๐% ที่เหลือถือครองที่ดินไม่เกิน ๒๐% ของประเทศ ทำให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นประเด็นที่เราคิดว่าต้องแก้ไข จึงเกิดองค์กรภาคีร่วมไม้ร่วมมือกัน ก็มีทั้ง OXFAM มีขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีทั้งมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มีมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และอื่นๆ มาร่วมมือกันคิดว่าเราควรหาทางที่จะเสนอทางแก้ไขปัญหาแบบนี้ จึงนำไปสู่การคิดว่าควรที่จะต้องมีกฎหมายที่จะช่วยคลี่คลายเรื่องของที่ดิน หลายคนอาจจะเคยได้ยินเรื่องกฎหมาย ๔ ฉบับ เพื่อคนไทยเท่ากัน หรือกฎหมาย ๔ ฉบับเพื่อคนจน กฎหมาย ๔ ฉบับนี้คืออะไร ก็คือกฎหมายที่ประกอบด้วย ยกตัวอย่าง ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า เพื่อนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ที่สูงขึ้น กฎหมายเรื่องของโฉนดชุมชน เปิดโอกาสให้ชุมชนคนยากจนสามารถรวมตัวกันและเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น กฎหมายเรื่องของกองทุนยุติธรรม เอื้ออำนวยให้คนจนที่มีปัญหาเรื่องที่ดินสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้จริง หรือว่ากฎหมายธนาคารที่ดินซึ่งจะทำให้เอื้อประโยชน์ให้เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินของคนยากคนจนในการที่จะเข้าถึงที่ดิน"

"ประเด็นคือว่าถ้ามาคุยแบบนี้อยู่ทุกวันคงน่าเบื่อแย่เลย เราจึงคิดว่าต้องมีวิธีการ ต้องมีกระบวนการ เราจะต้องมีพื้นที่ที่จะมาคุยกัน เจอกัน ทำกิจกรรมขึ้นมา แต่ประเด็นที่เราพบว่าประเทศไทยเรามีการกระจุกตัวสูงมากในการถือครองที่ดิน คนที่มีที่ดินมากๆ พอมีที่ดินมากๆ คุณใช้ไม่หมด คุณก็ปล่อยเอาไว้ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ปล่อยรกร้างว่างเปล่า แค่ซอยทองหล่อถ้าเลิกงานแล้ว เดินไป มีแปลงที่ดินที่รกร้าง มีสังกะสีมุงอยู่เต็มไปหมด"

Image"เราก็เลยมีความคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราเริ่มต้นเป็นเมล็ดพันธุ์ทางความคิด เข้ามาขอใช้ที่ดินหนึ่งแห่ง เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าแม้เพียง ๑ ปี ที่ดินที่รกร้าง ถ้าเจ้าของที่เปลี่ยนความคิดเพียงนิดเดียว ตกลงให้ใช้พื้นที่ได้ พื้นที่ที่รกร้างจะกลายเป็นพื้นที่ที่มีชีวิต และไม่ได้มีชีวิตในตัวมันเอง แต่มีชีวิตสำหรับชุมชนรอบข้าง พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งรายได้ให้กับเมือง คนไร้บ้านเข้ามาทำงานสร้างรายได้ ขณะเดียวกันเป็นแหล่งอาหารที่ปลอดภัย เป็นแหล่งที่เพิ่มพื้นที่ทางสังคม พื้นที่ทางวัฒนธรรมให้แก่ชุมชน และแสดงให้เห็นว่าพื้นที่แบบนี้สามารถฝังตัวอยู่ในชุมชนกลางเมืองได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย และถ้าพื้นที่แบบนี้เกิดขึ้นหลายๆ แห่งในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นความสุขมากๆ ของคนที่ร่วมโครงการ

เพราะฉะนั้น นี่คือที่มาว่า ๑ ปี แห่งสวนผักทองหล่อ เราจะชวนคนกรุงเทพฯ มาพูดคุยกัน ทุกวันที่ ๔ ของเดือน เวลาบ่าย ๓ โมง เราจะมีวงพูดคุยกันอย่างสบายๆ เนื้อหาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทุกวันอาทิตย์ที่ ๒ เราจะมีเวิร์คช็อป สอนปลูกผัก ทำน้ำสลัด ทำสบู่ คุยกัน และจะมีตลาดชุมชน มาเปิดในพื้นที่ตรงนี้ ร้านอาหารแถวนี้ก็รับผักจากเรา รับไข่จากเรา และต่อไปก็จะเปิดระบบสมาชิกมีจักรยานส่งผัก ส่งไข่ ส่งเห็ด ในชุมชนเหล่านี้ นี่คือที่ไปที่มา และเราหวังว่าใน ๑ ปี คนกรุงเทพฯ เพื่อนๆ เราจะหันมามองที่ดินในมุมที่แตกต่างไปจากเดิม เมื่อเห็นที่ดินรกร้างครั้งต่อไป คุณจะรู้สึกหงุดหงิด คุณจะรู้สึกว่าปล่อยทิ้งไว้อย่างนี้ทำไม ทำไมเราไม่พลิกมัน ให้ชีวิตกับมัน แม้ว่าเราไม่จำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของ เราไม่จำเป็นจะต้องไปเก็งกำไร มันจะมีความหมายกับชุมชน อันนี้คือความสำเร็จระดับที่หนึ่ง ระดับที่สอง เราอยากจะให้ฐานตรงนี้เป็นฐานในการผลักดันเชิงนโยบายต่อไป รัฐบาล ผู้แทนราษฎร หรือใครที่มาจากการเลือกตั้ง ภายหลังจากที่เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นความสำคัญว่าต่อไปนี้เรื่องของที่ดินต้องเป็นเรื่องเอาจริงเอาจัง และคนกรุงเทพฯ ก็จะเข้าใจคนชนบท คนชนบทก็จะเข้าใจคนกรุงเทพฯ และมองเรื่องของที่ดินเป็นประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งสังคมไทย ไม่ใช่เพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น อันนี้คือความมุ่งหวังที่เป็นทั้งนามธรรมและรูปธรรม"

Image"ตั้งแต่เราเปิดขึ้นมา เราอยากให้ตรงนี้เป็นพื้นที่ของทุกคน อยากให้คนเข้ามาแล้วรู้สึกเหมือนเราว่าผืนดินมีความหมาย ผืนดินแม้ไม่ใหญ่ ถ้าเราตั้งใจกับมัน ถ้าเราเข้าถึงมันได้ มันจะสามารถแปรเป็นความสุข แปรเป็นประโยชน์ แปรเป็นสวัสดิการของคนที่อยู่บริเวณใกล้เคียง และคนในระยะไกลออกไปได้มาก นั่นก็คือเป้าหมายของเรา ถึงที่สุด เราอยากสื่อสารว่าคำว่าปฏิรูปที่ดิน ไม่ใช่คำที่แปลกปลอม ไม่ใช่คำที่น่ากลัวสำหรับคน ไม่ว่าจะส่วนใดของสังคม คนมีตังค์ คนชั้นกลาง คนมีฐานะในเมือง เรื่องปฏิรูปที่ดินก็เป็นประโยชน์สำหรับเขา สิ่งที่เราทำคือรูปธรรมที่แท้จริงของการปฏิรูปที่ดิน ลองดูว่าใครได้ประโยชน์ เด็กๆ ลูกคนมีตังค์แถวนี้ คนทองหล่อ คนเอกมัย ได้ประโยชน์ ปฏิรูปที่ดินไม่ใช่แค่เพื่อคนจน ปฏิรูปที่ดินสำหรับทุกๆ คน ปฏิรูปที่ดินคือการเอาที่ดินที่ถูกปล่อยรกร้างว่างเปล่า ที่ดินที่คนกว้านซื้อให้เก็งกำไร ปล่อยไว้อยู่เฉยๆ เอามาทำให้มีชีวิต เอามาทำให้มันเป็นประโยชน์ นี่คือแก่นสารของการปฏิรูปที่ดิน เราเลยคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะหาเครื่องมือสื่อสารที่จะทำให้คนเข้าใจคำว่าปฏิรูปที่ดิน ก็ทำให้เห็นเลยแล้วกัน ขอที่ดินผืนหนึ่ง เราปฏิรูปให้ดูหนึ่งปี นี่คือรูปธรรมของการปฏิรูปที่ดิน"

Image"ส่วนหนึ่งเราอยากจะให้คนมีความสามารถในการพึ่งตนเองที่มากขึ้น ถอยห่างออกจากตลาดได้มากขึ้น เรื่องของผักกระถาง โครงการของเราทำให้เห็นว่าทุกคนสามารถที่จะมา แล้วปลูกผักของตัวเองได้ คุณมีพื้นที่ มีกำแพงนี้ เราจะแขวนตามกำแพงอย่างนี้ คุณมีกำแพงบ้านก็สร้างความมั่นคงทางอาหารของคุณได้ คนยากจน คนจนเมืองก็สามารถเข้าถึงแบบนี้ได้ และเราก็ใช้พื้นที่ตรงนี้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน คือเราคงหลีกหนีทุนนิยมไม่ได้ เพียงแต่เราจะไม่ฝากชีวิตไว้กับมันทั้งหมด จะทำอย่างไร เหมือนทุกอย่างในชีวิต เราอยากจะสร้างความหลากหลาย หรือแม้ในฐานะการพักผ่อนหย่อนใจ นี่ไม่ใช่โรงหนัง ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าที่เป็นลักษณะทุนนิยมเต็มตัว แต่เป็นที่ๆ คนมีความสุขจากการได้คุยกัน จากการที่ไม่ต้องมาจ่ายเงินเพื่อจะมีความสุข ไม่ใช่ต้องไปช็อปปิ้ง แต่คุยกันแล้วมีความสุข แลกเปลี่ยนกัน ดูแลผัก ช่วยกันเก็บผัก ให้อาหารไก่ ให้อาหารแพะแล้วมีความสุข ของแบบนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของเงิน แต่กลับกัน ของแบบนี้ไม่ใช่ซื้อ แต่คือการให้ ให้แล้วมีความสุข ที่ตรงนี้เราอยากให้เห็นว่าคุณให้ ให้เวลา ให้มิตรภาพกับคนอื่น บางทีอาจจะบริจาค หรือให้อะไรก็ได้ ทุกอย่างคือให้แล้วมีความสุข ไม่ใช่เป็นการซื้อแล้วมีความสุข เป็นการกลับตรรกะกัน คนจนเมืองก็มีรายได้ เราได้รับเงินบริจาค มาดูแลสัตว์พวกนี้ เราก็ให้อาชีพเขา เขาเก็บหญ้าตามพื้นที่รกร้างเอามาให้เรา พื้นที่แบบนี้ฝังตัวอยู่ในเมือง และคนจนเมือง อย่างช่างที่มาทำงาน เป็นคนจากสลัมทั้งนั้น พวกนี้คือคนไร้บ้าน เขาก็มาทำงานกับเรา ได้รายได้เป็นรายวัน"

คุณจักรชัยพาครอบครัว โดยเฉพาะลูกชายและลูกสาวตัวน้อย วัยกำลังจดจำและเรียนรู้สิ่งต่างๆ มาที่สวนผักแห่งนี้ เด็กทั้งสองคนดูสนุกสนานและมีกิจกรรมต่างๆ มากมายให้เขาได้เรียนรู้ไม่จบสิ้น

"เรื่องการสอนลูกไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ไม่ฟัง ให้เขาเรียนรู้ด้วยการกระทำ อย่างอยู่บ้านเราสอนด้วยวาจา ด้วยการพูด เราให้ดูสารคดี ดูทีวีก็ไม่เข้าใจ แต่ตั้งแต่มาที่นี่ เขาเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง เราอยากให้เขาดูแลตัวเอง โดยที่เราไม่ต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไชว่าห้ามทำนั่นทำนี่ อยู่ที่นี่เราแค่คอยมองๆ เขาก็อยู่ได้นาน เด็กอยู่ที่นี่ได้นานกว่าผู้ใหญ่มาก ผมงงมาก ความสามารถของเด็กในการอยู่ที่นี่ อยู่ไปเรื่อยๆ เขาก็รดน้ำผัก ไปเล่นไปดูสัตว์"

 


สุขได้ไม่ต้องใช้เงินซื้อ

ทุกวันนี้ ลัทธิบริโภคนิยมทำให้คนเราพึ่งตัวเองได้น้อยลง ทำให้เราเชื่อว่าความสุขขึ้นอยู่กับการซื้อหาสิ่งของ แต่หลายครั้งเรากลับพบว่าแม้เราจะมีวัตถุห้อมล้อมรอบกาย แต่ความสุขสงบในชีวิตกลับลดน้อยลง

ท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองหลวง บรรยากาศในสวนผัก Root Garden เรียบง่ายสบายๆ เหมือนภาพตัดกันระหว่างความเร่งรีบเร่งร้อนของชีวิตเมือง กับความเรียบง่ายผ่อนคลายของพื้นที่เกษตรสีเขียวๆ... บางทีใครหลายคนหลังจากได้มาเยี่ยมชมที่นี่ อาจ "ค้นพบ" อะไรบางอย่างในชีวิตจากการได้มาสัมผัสความเรียบง่ายของที่แห่งนี้

Imageคุณสันติสุข โสภณสิริ กรรมการมูลนิธิปรีดี พนมยงค์, กรรมการมูลนิธิไชยวนา และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หนึ่งในผู้เข้าร่วมแบ่งปันความคิดในวงเสวนาในวันเปิดสวนผัก Root Garden บอกไว้ว่า โครงการสวนผัก Root Garden เป็นตัวอย่างของการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ พื้นที่แห่งนี้เป็นของทุกคน เป็นการแลกเปลี่ยนกันและกัน สนับสนุนส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเราทุกคนสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องใช้เงินซื้อ

หลังจากเวทีเสวนาในวันเปิดสวนผัก เราได้นัดพูดคุยกันอีกครั้ง ซึ่งความคิด มุมมอง และประสบการณ์ที่หลากหลายของคุณโสภณล้วนเต็มไปด้วยความน่าสนใจทั้งเรื่องศาสนาในยุคปัจจุบัน ลัทธิบริโภคนิยม การทำเกษตร และวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน

คุณโสภณบอกว่าทุกสิ่งมันมีความเชื่อมโยง การพึ่งตัวเองคือใจเราจะต้องไม่ไปข้องไปติด เช่น เราปลูกข้าวไม่ได้ เราก็ต้องไปหาเครือข่ายที่เขาไม่สามารถสู้กับตลาดใหญ่ๆ ได้ "อย่างทุกวันนี้ผมไปรับข้าวที่เป็นข้าวปลอดสารพิษ ถ้าเป็นตลาดทั่วไป เราไปซื้อที่ตลาดเลย เราได้มาเลย โรงสีขนาดใหญ่ผลิตอย่างไรเราไม่รู้ อาจใช้ยาฆ่าแมลง ใช้สารกำจัดศัตรูพืช เราก็ไม่รู้ แต่แบบที่เราซื้อ เรารู้ เราเองก็ต้องมีหน้าที่หย่อนบัตรเลือกตั้งให้เขา ด้วยการที่เราซื้อ สนับสนุนเขา อันนี้คือการที่เราประยุกต์ เราเลือกที่จะซื้อเพื่อให้การผลิตที่สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เอาผลผลิตจากผืนดินมา โดยที่เราไม่ไปทำลายแมลง ไม่ทำลายดิน เราก็มีส่วนในการผลักดัน ใครทำอยู่ เราก็ไปสนับสนุน นอกจากสนับสนุนแล้ว ตอนนี้จริงๆ ก็ผลิตสมุนไพรเองอยู่ เพราะเป็นผู้ประกอบการด้านผลิตสมุนไพร ยังมีขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร พวกนี้ กินยาสมุนไพร ถึงที่สุดบริโภคนิยม เขาจะผูกขาดทั้งหมด ดูภายนอกเหมือนกับว่าเราเลือกได้ทุกยี่ห้อ เขามาในคำว่าเสรี จริงๆ แล้วผูกขาด แต่ให้เรามีหลายยี่ห้อ เขาซื้อแบรนด์ทุกแบรนด์ไว้หมดเลย เหมือนจะมีทางเลือกเยอะ แต่ไม่ใช่ มันมาในนามของคำว่าเสรีภาพในการบริโภค"

Image"ถ้าเราเชื่อว่ากินอะไรก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเรากินของที่ไม่รู้ว่ามาจากอะไร เนื้อแดงๆ อาจจะเกิดจากสารอะไรที่ก่อมะเร็ง หรือทำให้เราเป็นหืดหอบถาวร และมียาปฏิชีวนะเต็มไปหมด จนกระทั่งว่าเวลาเราป่วย ยาปฏิชีวนะที่เราใช้สำหรับรักษาโรคไม่ได้ผล เพราะมันดื้อยา เนื่องจากว่ามันมีอยู่ในเนื้อที่เรากิน เราไม่มีโอกาสรู้เลย นอกจากการโฆษณาว่าไม่มี ซึ่งจริงหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ หรือผักปลอดสารพิษที่ติดป้าย ไม่รู้จริงไหม ผู้บริโภคต้องไม่สนับสนุนการผูกขาดการผลิตอาหาร แต่สนับสนุนการกระจายอำนาจในเรื่องของการผลิตอาหาร และจะเป็นการใช้ที่ดินที่มีประโยชน์"

คุณโสภณพูดไว้น่าคิดว่า "เราไม่ได้หยุด มีสติคิด คือถูกดึงพัดพาไปตามกระแสคลื่นของโลกาภิวัตน์ที่มีทั้งข้อดีข้อเสีย แต่ส่วนใหญ่ถูกดึงไปในทางที่ต่ำลง ไม่ได้กลั่นกรองโดยสติปัญญา ตอนนี้โครงสร้างสังคมเรา พูดตามตรงว่าศาสนาไม่ได้มีความหมายแล้ว คำว่าไม่มีความหมายคือ สิ่งที่เรียกว่าเป็นคุณค่าของศาสนาที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตของผู้คนไม่มีแล้ว ทุกอย่างกลับไปเป็นตัวหนังสือในคัมภีร์หมด ทุกวันนี้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้คน เด็กหรือเยาวชนก็คือลัทธิบริโภคนิยมที่มันมากับลัทธิทางการค้าขายแสวงหากำไร อุดมคติสูงสุดคือการหากำไรสูงสุด ต้องการให้เราบริโภคมากที่สุด"

"เราจะบริโภคแค่ไหน ตัวคุณค่าศาสนาไม่ได้มีอิทธิพลต่อความเป็นอยู่ ต่อชีวิต อย่างสมัยก่อนชาวบ้านขนาดจะจับปลา เขาจะจับตัวพอดีๆ ตัวใหญ่เขาปล่อยไป เพื่อให้ไปออกแม่แผ่ลูก เขาจะบอกอย่างนี้เลย หรือบางทีไปเก็บอะไรสักอย่างในป่า ก็เก็บแค่พออยู่พอกิน คนอื่นจะได้แบ่งบ้าง เวลาไปวัดทุกวันนี้ยังทำเหมือนเดิม ชาวบ้านเวลากรวดน้ำเสร็จบอก ขอให้ปัจจัยที่เราทำบุญ ไปสู่นิพพาน อย่าไปติดยึดกิเลส ให้เราสละออกไป เราสบายใจที่ได้ให้คนอื่น นี่ก็มีอยู่ในวัฒนธรรม อยู่ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน คือการแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อ มาใช้แรงงานร่วมกัน ปัจจุบันคุณค่าแบบนี้ไม่เหลืออยู่ ไม่เหลืออยู่ในรูปประเพณีด้วยซ้ำไป"

"พูดง่ายๆ ว่าตอนนี้ถามว่าเรานับถือศาสนาบริโภคนิยม นับถือศาสนาแต่ในทะเบียน สมาทานลัทธิบริโภคนิยม เราคิดว่าเป็นแค่การกินอยู่ใช้สอย ซึ่งบางทีมันเกินพอดี อย่างต้องการโทรศัพท์เพื่อโทรศัพท์ ก็แค่นั้น ใช้สื่อสาร แต่ตอนนี้มีออกมาใหม่ๆ ตลอดเวลา มันทำให้เกิดความสุขที่อาจจะเกิดจากวัตถุ แต่เมื่อเกิดจากวัตถุจะเป็นความสุขที่ทำให้เรารู้สึกเคลิ้ม เป็นค่านิยมว่ามีมือถือก็เท่แล้ว"

Image"บริโภคนิยมเขาก็มีประกาศกของเขา ประกาศกของเขาคือระบบการโฆษณาที่เป็นระบบมาก เช่น เราจะรักแม่ ก็ต้องเอาเครื่องดื่มไปให้ เมื่อก่อนบ้านไหนมีลูกได้บวชก็มีคนชื่นชม แต่เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนั้น กลายเป็นตอนนี้ใครมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ล้ำยุคที่สุด เหมือนกับการแข่งกันเข้าถึงบริโภคนิยม ซึ่งกระแสนี้มันแรง"

"ทุกวันนี้ คนที่ทำงานด้านศาสนธรรม ประเพณีพิธีกรรมนั้นยังอยู่ การสวดมนต์ยังอยู่ เหมือนกับศาสนายังอยู่ แต่แก่นแท้ของศาสนาไม่ได้อยู่ในใจคน ทุนนิยมคือมีเงินก็ไปซื้อของ จับจ่ายใช้สอยทุกอย่าง ในขณะที่ศาสนาทุกศาสนาไม่ได้ไปติดตรงนั้นอยู่แล้ว คุณไม่ต้องมีเงินก็สามารถเข้าถึงความสุขสูงสุดของชีวิตได้ เข้าถึงคุณค่าของชีวิตได้ แต่ถ้าเป็นบริโภคนิยม ถ้าคุณไม่มีไอโฟน เข้าถึงคุณค่าสูงสุดของชีวิตไม่ได้ คุณต่ำต้อย ต้องตะเกียกตะกายหา คนไม่มีก็ต้องการสิ่งเหล่านี้ ไต่เต้าไปเพื่อที่จะให้ตัวเองมี จึงต้องแสวงหาทุน ทุนนิยมมีบรรทัดฐานคือหาเงิน พอมีเงินเพื่อจะเข้าถึงสิ่งต่างๆ โทรศัพท์ รถ ยี่ห้อของรถ ระดับต่างๆ ไม่ใช่บริโภคเพื่อความจำเป็นของชีวิต แสวงหาความสุขจากวัตถุเหล่านี้ให้มากที่สุด ตรงนี้ก็ไม่ง่ายสำหรับคนที่ทำงานด้านศาสนาจะดึงกลับมา"

"เด็กสมัยนี้เราต้องสอนโดยการทำให้เขาดู เราต้องเป็นตัวอย่าง ที่บ้านก็มีแปลงผักอยู่ ให้ลูกเขาช่วยทำ ตอนหลังก็เหลือแต่กล้วย กล้วยนี่ได้กินตลอด มีข่า มีขิง ตอนนี้ทำเป็นผักไทยแบบไม้ยืนต้น ผักที่เป็นไม้ล้มลุก กะว่าจะปลูกเพิ่มเหมือนกัน ปลูกรางจืดไว้ขับพิษ และพวกไพร ขมิ้น เอื้องไม้นาที่เป็นไม้ประดับ แก้โรคตับได้ดี คือเราทำโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเองมานาน ตอนนี้ก็ร่วมๆ จะ ๓๐ ปี โครงการนี้ก็ยังอยู่ มูลนิธิฯ ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๓ แต่โครงการตั้งแต่เมื่อปี ๒๕๒๐ พัฒนาไปเป็นเกษตรธรรมชาติ ก็ถือว่าเป็นต้นแบบ ตอนหลังก็มีคนทำตาม เราก็ดีใจ"

 


พื้นที่แห่งความสุข พื้นที่แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน

ขณะที่เดินอยู่ในสวนผัก Root Garden ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ทั้งไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาปลูกผัก ป้อนนมแพะ โดยเฉพาะแพะดูจะเป็นตัวเอกที่เด็กๆ ทุกคนล้วนสนใจ เด็กๆ ดูจะตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ได้เห็นได้สัมผัส ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต่างอยากให้บุตรหลานใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติมากที่สุด

Imageคุณยุวดี ภัทรบูรณ์โชติ และคุณศิรินทรา จัลยานนท์ พาน้องแคสซี่ และน้องแพรวา มาชมสวนผักเพราะรับทราบจากเพื่อน ซึ่งคุณยุวดีบอกว่า "จุดที่สนใจจริงๆ คือเป็นเรื่องที่หายากในสังคมเมือง อยากให้เด็กได้เห็นการใช้ชีวิตแบบธรรมชาติ รู้สึกว่าเป็นไอเดียที่ดีมาก และมาอยู่ตรงกลางเมืองด้วย ถ้าผ่านไปผ่านมา เจอใครก็อยากจะแนะนำ เพราะรู้สึกเหมือนหลายๆ คนต้องการสัมผัสสิ่งแบบนี้ แต่มันไม่มีในระยะใกล้ๆ แบบนี้"

"เราอยู่ในสังคมเมือง เหมือนกับสิ่งแวดล้อมก็เห็นอย่างที่เราเข้าใจ หลายๆ อย่างก็มองเป็นบริโภคนิยม อยากให้ลูกเขาได้สัมผัสธรรมชาติ Back to the basic ให้ได้ ให้อยู่แบบธรรมชาติ บนความเป็นจริง ก็จะสอนเขาในแนวนั้น อย่างโครงการที่นี่ชอบมาก เพราะมีพื้นที่ปลูกผัก ที่บ้านก็ลงใบโหระพา ลงมะนาวไว้ เราพยายามสอนลูกให้นึกถึงเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้สิ่งของต่างๆ บางเรื่องที่เราสอน ให้เขามีหลักคิดพิจารณา แต่ถ้าเกิดบางเรื่องที่มันดูเหมือนเป็นความต้องการส่วนตัวจริงๆ เราก็จะไม่สปอยล์ เช่น เรื่องที่เขาต้องการ เขาก็ต้องเก็บเงินซื้อเอง ในทำนองนี้ คือถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ กลับกลายเป็นรู้สึกว่าเดี๋ยวลูกฉันไม่เท่าทันสังคม และไม่ให้เด็กเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต"

คุณศิรินทราซึ่งมาตามคำชวนของคุณยุวดี บอกว่า "ชวนกันมา เห็นบอกว่ามีแพะ มีแกะ เป็นธรรมชาติอยู่ในตัวเมือง เลยสนใจอยากให้เด็กๆ มาดูด้วย อยากให้ลูกสัมผัสกับธรรมชาติ ให้เขาเห็นชีวิตอีกด้านหนึ่ง ความเจริญด้านหนึ่ง ความเป็นธรรมชาติอีกด้านหนึ่ง นำสิ่งที่เป็นธรรมชาติมาประยุกต์ใช้กับที่เจริญแล้วก็ได้ ลูกก็ตื่นตาตื่นใจ ได้เห็นอะไรที่เป็นธรรมชาติ เห็นไก่ เห็นแพะ ซึ่งการเลี้ยงลูกในยุคนี้ ต้องบอกสอนเขาให้รอบด้าน ต้องอธิบายด้วยเหตุผล"

น้องแคสซี่ อายุ ๑๐ ขวบ บอกว่า "แม่ชวนก็อยากมา พอมา ก็ชอบ ชอบสัตว์ แพะ ไก่" ส่วนน้องแพรวา อายุ ๑๐ ขวบ บอกว่า "ชอบที่เป็นธรรมชาติดี อยากลองมาว่าเป็นยังไง ชอบที่นั่งที่เป็นฟาง ที่อื่นไม่มีอย่างนี้" ทั้งน้องแคสซี่และน้องแพรวาได้ลองปลูกผักกวางตุ้งในกระถางเป็นของตัวเอง

 

Imageคุณศนันท์ญา บัวขำ พาลูกชายคือ น้องมาร์ค วัย ๗ ขวบ มาชมสวนผักโดยติดตามจากทางเฟซบุ๊ค "พอดีเห็นเขามีเลี้ยงสัตว์และปลูกต้นไม้ คือชอบ อยากให้ลูกเขามาอยู่กับธรรมชาติ และรู้สึกว่าที่นี่เป็นที่ในเมือง แต่มีที่อย่างนี้ ทำให้เราไม่ต้องไปไกล ได้เห็นจากเฟซบุ๊ค พอเห็นก็เลยดูเขามาเรื่อยๆ พอดีวันอาทิตย์ต้องมาเรียนเต้น ก็เลยแวะมาก่อน พาลูกมาสัมผัสนิดหนึ่ง ที่โรงเรียน ลูกชายเขาก็ชอบปลูกข้าว คุณครูสอนให้ปลูกข้าว สอนตั้งแต่การขุดดิน กระทั่งล่าสุดเป็นโครงงานและเป็นตัวแทนพรีเซนต์เรื่องข้าวเอง และเราพยายามปลูกฝังให้เขาฟังเรื่อยๆ อย่างบ้านเพื่อนมีสวนก็พาเขาไป ได้ไปจับไส้เดือน จากที่กลัวๆ หลังจากนั้นกลายเป็นชอบเลย นี่ยังอยากพาไปที่จังหวัดปทุมธานี ที่เขาบอกว่ามีการดำนา แต่จองไม่ได้สักที คืออยากให้ลูกเป็นคนติดดิน" ส่วนน้องมาร์คได้ลองปลูกผักลงในกระถาง ดูมีความสุขเวลาได้จับดินปลูกผักอย่างเห็นได้ชัดโดยไม่กลัวที่จะเปื้อนดินแต่อย่างใด

สำหรับเด็กๆ หรือคนที่ปลูกผัก สวนผัก Root Garden จะให้ผู้ปลูกผักได้เขียนชื่อของตัวเองเอาไว้ให้ชัดเจน เพื่อว่าครั้งต่อไปที่มาเยี่ยมชม จะได้เห็นว่าผักที่เราปลูกเติบโตขึ้นมากน้อยเพียงใด ซึ่งคนเราจะได้รับรู้ถึงความสุขเล็กๆ และความภาคภูมิใจที่ได้เห็นสิ่งที่เราปลูกด้วยมือเราเองเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ ตามวัยวันในอนาคต

ภาพเด็กๆ ถือกระถางผักที่มีชื่อของตัวเอง ทำให้นึกเปรียบเทียบในใจว่า พืชผักและเด็กๆ คงคล้ายคลึงกัน เราต้องดูแลเอาใจใส่ รดน้ำพรวนดินพวกเขาสม่ำเสมอ พวกเขาจึงจะเติบโตได้ดี พืชผักที่เราปลูก ลูกหลานที่เราเลี้ยง ผู้ใหญ่อย่างเราๆ คงอยากเห็นพวกเขาเติบโตอย่างมั่นคงและมีความสุข... นี่ใช่ไหมที่คนปลูกผักและผู้ใหญ่ทุกท่านต่างสุขใจและภาคภูมิใจอยู่ลึกๆ

หลังจากสัมผัสกับบรรยากาศของที่นี่ รู้สึกว่าความเป็นเด็กกับธรรมชาติเป็นสิ่งคู่กัน เด็กหลายคนยิ้มร่าเริงมีความสุขเมื่อได้วิ่งเล่น ปลูกผัก เล่นดิน เล่นฟาง สังเกตเห็นว่าเด็กๆ น้อยคนที่จะจดจ่ออยู่กับโทรศัพท์มือถือ... รู้สึกว่ายิ่งเด็กๆ ใกล้ชิดธรรมชาติมากเท่าใด วัตถุและเทคโนโลยีล้ำสมัยกลับดึงดูดใจพวกเขาน้อยลงเท่านั้น

...ที่สวนผักแห่งนี้เด็กๆ "เงยหน้า" มองสิ่งรอบตัว วิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน มากกว่า "ก้มหน้า" อยู่กับตัวเองและเทคโนโลยีอย่างเห็นได้ชัด

 

Imageวรุตม์ บุณฑริก ผู้จัดการสวนผัก Root Garden บอกว่าแต่ละวันจะมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กทั้งไทยและคนต่างชาติเข้ามาชมสวนผักจำนวนมาก "เราเปิดที่นี่เหมือนการสื่อสารกับคนที่เข้ามา ได้เรียนรู้เรื่องการปลูกผัก มาชมธรรมชาติ มานั่งคุยกัน เด็กๆ จะชอบดูสัตว์ดูแพะมาก"

วรุตม์ยังสะท้อนความคิดในยุคบริโภคนิยมไว้อย่างน่าสนใจว่า "เราต้องยอมรับว่าเราหนีระบบทุนนิยมหรือบริโภคนิยมไม่พ้น กลุ่มทุนใหญ่จะมีอำนาจต่อรองมาก เพิ่มข่ายธุรกิจให้มากขึ้น กลืนเข้าไปให้มากขึ้น ก็เลยทำให้รายย่อยแย่ลง หรืออย่างเครือข่ายมือถือ เราก็จะเห็นได้ชัดมาก เราหนีไปไหนไม่ได้เลย ผมคิดว่าถ้าเราอยู่บนโลกนี้ ยังไงก็ไม่พ้นทุนนิยม ซึ่งทุนนิยมก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือมันช่วยให้เกิดการแข่งขันเพื่อพัฒนาให้มากขึ้น แต่ข้อเสียก็คือการแข่งขันนั้นบางทีอาจจะมากเกินไป อย่างผมทำเรื่องการเกษตร ก็จะเป็นเรื่อง GMO แบบนี้ หรือการใช้ปุ๋ยเคมีเร่งการผลิต โดยไม่รับผิดชอบ"

"เราจะต้านกระแสทุนนิยมยังไง ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมชอบขี่จักรยาน อย่างน้อยผมว่ามันช่วยโลก สะดวก ประหยัด ไม่เสียค่าเดินทาง เสียค่าซ่อมบำรุงจักรยานบ้าง รถไม่ติด อาจจะร้อนหน่อย แต่ผมว่าสนุกดี ผมพยายามชวนเพื่อนๆ มาปั่นจักรยานในเมือง ตอนนี้ริเริ่มตั้งกลุ่มปั่นจักรยาน ใครว่างก็มาปั่นด้วยกัน อาจจะนานๆ ที ไม่ได้บ่อย แต่ส่วนตัวผมจะปั่นจักรยานมาทำงานทุกวันอยู่แล้ว ผมอยู่ห้วยขวาง ประมาณ ๙ ก.ม. ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ใช้ในชีวิตประจำวัน มือถือก็ใช้นานๆ เปลี่ยน เป็นคนติดเทคโนโลยีเหมือนกัน แต่ว่าถ้ายังไม่ถึงขั้นต้องเปลี่ยน ก็จะไม่เปลี่ยน ยังใช้ได้ ก็ใช้ การแต่งตัวเน้นเรียบง่ายเป็นหลัก"


Image
ศักรินทร์ อินสุวรรณ
หรือ "แน๊ค" ผู้ดูแลผักของสวน Root Garden หน้าที่หลักของแน๊คคือดูแลผัก ทำมา ๒ เดือนกว่า "ที่อยากทำเพราะคิดว่าถ้าเราทำอะไรได้ ก็อยากทำ เป็นการช่วยเบื้องหลัง ตอนแรกเริ่มจากไม่รู้อะไรเลย มาศึกษากันที่นี่ ทำกันจากพื้นที่ที่รกร้างและไม่มีอะไรเลย ทำกันเอง มาครั้งแรกตกใจ จะปลูกต้นไม้ยังไง เราเริ่มที่จะศึกษา เริ่มที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาด การที่เราทำผักออร์แกนิก ช่วยให้เราได้รับสารเคมีลดน้อยลง เหมือนกับว่าเราทำให้ร่างกายเราไม่เจอกับสารเคมีมากเกินไป ไม่ไปสะสมในร่างกาย เราไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เราจะมีกระบวนการทำของเรา ซึ่งเรียนรู้มาจากเครือข่ายสวนผักคนเมือง ผักพวกนี้สามารถเอามาทำอาหารได้เลย"

แน๊คจะเป็นคนคอยดูแลและคอยบอกเด็กๆ น้องๆ ที่อยากทดลองปลูกผัก แน๊คพูดแนะนำเด็กๆ อย่างไม่เหน็ดเหนื่อยทุกวัน และดูมีความสุขในสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่


Imageสวนผัก Root Garden เปิดวันอังคารถึงวันอาทิตย์ โดยวันอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือน จะมีเสวนาสาธารณะและดนตรี ส่วนอาทิตย์ที่ ๔ ของเดือน จะมีเวิร์คชอปปลูกผักและกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

การเดินเข้ามาในสวนผัก Root Garden อาจทำให้มุมมองในการดำเนินชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป สีเขียวของพืชผัก ที่นั่งคือกองฟาง ความเรียบง่ายของสถานที่ บรรยากาศสบายๆ ใจกลางเมือง การนั่งพักผ่อนพูดคุยกันอย่างเป็นกันเอง ชีวิตไม่ต้องเร่งรีบเร่งร้อน ซึ่งการเขียนบรรยายด้วยตัวอักษรคงเป็นเหมือนการโฆษณามากกว่า มีเพียงต้องไปสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้นจึงจะรับรู้ถึงความรู้สึกที่ได้รับ ซึ่งอาจทำให้เราค้นพบความสุขที่เรียบง่ายโดยไม่ต้องใช้เงินซื้อหา

หลังจากไปเยี่ยมชมมาสองครั้ง บอกได้แต่เพียงว่า Root Garden พื้นที่เกษตรเล็กๆ แห่งนี้ ไม่ใช่เพียงสวนผักกลางใจเมืองเท่านั้น ...หากแต่เป็น "สวนผักกลางใจคน" ควบคู่กันไปด้วย

---------

Oxfam เป็นสหพันธ์ที่ประกอบด้วยองค์กร ๑๕ แห่ง ที่ทำงานร่วมกันในกว่า ๙๐ ประเทศทั่วโลก มีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้กับปัญหาความยากจนและความอยุติธรรมในสังคมให้แก่ประชาชนระดับรากหญ้า โดยอาศัยกลไกการทำงานทั้งการร่วมมือกับ NGO ท้องถิ่น และหน่วยงานระดับชาติผู้กำหนดนโยบาย 

 

------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙๗
ไม่มีทาสอีกต่อไป หญิงชายทั้งผองพี่น้องกัน



เว็บ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >