หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 95 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ช่วยกันสร้างโลกาภิวัตน์แห่งภราดรภาพ ไม่ใช่ระบบทาส หรือการเพิกเฉย พิมพ์
Wednesday, 28 October 2015

"ช่วยกันสร้างโลกาภิวัตน์แห่งภราดรภาพ ไม่ใช่ระบบทาส หรือการเพิกเฉย"

บ้านสุขสันต์ และองค์กรเครือข่าย

กับ งานช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม ยส.

 
              ภาพ: redusala.blogspot.com          
                       ภาพ: www.tnews.co.th                      


"สถานการณ์ของบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าเสียใจ ข้าพเจ้าปรารถนาให้เราฟังเสียงของพระเจ้าที่ทรงถามเราทุกคนว่า "พี่น้องของเจ้าอยู่ที่ไหน"
(ปฐก ๔:๙)

พระสมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส


สถานการณ์การค้ามนุษย์ นับเป็นปัญหาใหญ่ที่ร้ายแรงและเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งยังถูกจัดว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมข้ามชาติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และเป็นปัญหาบั่นทอนความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมของประเทศและของประชาคมโลก ในปี ๒๕๕๕ ประชากรราว ๒๗ ล้านคน จาก ๑๘๕ ประเทศทั่วโลก ตกเป็นเหยื่อการใช้งานเยี่ยงทาส รวมถึงถูกทำร้ายร่างกาย กักขัง หน่วงเหนี่ยว และถูกบังคับให้ทำงานหนักอย่างต่อเนื่องโดยไม่จ่ายค่าแรง

Image  
                                ภาพ: www.sakhononline.com    

จากสารวันสันติสากลปี ๒๕๕๘ ของพระสันตะปาปาฟรังซิส ในหัวข้อ "ไม่มีทาสอีกต่อไป หญิงชายทั้งผองพี่น้องกัน" โป๊บฟรังซิสทรงให้ความสำคัญต่อปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก ทรงกล่าวว่า "ทุกวันนี้ จากความสำนึกของเราที่มีมากขึ้น ระบบทาสที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจึงถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการทั่วโลก สิทธิที่แต่ละคนจะไม่ตกอยู่ในสภาพทาสหรือการทำงานเยี่ยงทาส ได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศว่า เป็นสิทธิที่ไม่สามารถล่วงละเมิดได้ แม้ประชาคมระหว่างประเทศได้รับรองข้อตกลงจำนวนมากที่มุ่งยุติระบบทาสในทุกรูปแบบ และได้กำหนดยุทธศาสตร์ต่างๆ เพื่อต่อสู้กับปรากฏการณ์นี้ แต่ในปัจจุบัน เสรีภาพของคนเรือนล้าน ทั้งเด็ก สตรี และผู้ชาย ทุกช่วงวัย ต่างได้รับการกีดกัน และถูกบีบบังคับให้ดำเนินชีวิตในเงื่อนไขที่คล้ายกับการเป็นทาส"

ในประเทศไทยเอง แม้จะมี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ บังคับใช้มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ แล้วก็ตาม แต่สถานการณ์การค้ามนุษย์ในไทยยังคงมีความรุนแรงและยิ่งทวีความซับซ้อนมากขึ้น กระทั่งมีรายงานระดับโลกว่าด้วยการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาได้ประเมินและจัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ๓ ปีติดกัน คือ ปี ๒๕๕๓ - ๒๕๕๕ โดยรัฐบาลไทยถูกเตือนว่ายังไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลขั้นต่ำว่าด้วยการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะการจับกุมคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ยังเป็นปัญหาหนักหน่วงอยู่ และล่าสุดเมื่อปลายปี ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา ไทยถูกลดอันดับไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด


ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุด

   Image
                                       ภาพ: www.thairath.co.th  

จากรายงานประจำปีเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ ปี ๒๐๑๔ (Trafficking in Persons Report2014 หรือ TIP Report) ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้ลดอันดับประเทศไทยจากบัญชีกลุ่มที่ ๒ ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ลงมาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ ๓ (Tier3) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีสถานการณ์ค้ามนุษย์ระดับเลวร้ายที่สุดเนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีความพยายามเพียงพอที่จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาในการขจัดการค้ามนุษย์ รายงานดังกล่าวระบุว่า ไทยเป็นประเทศต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านของกระบวนการการค้ามนุษย์ การค้าประเวณี การบังคับใช้แรงงาน และการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานประมง

ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ ๔ เรื่อง คือ ๑.การคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ยังดำเนินการไม่เพียงพอ และเมื่อคัดแยกแล้วไม่ได้ส่งตัวผู้เสียหายเข้ารับการคุ้มครอง ๒.การค้ามนุษย์ด้านแรงงานในภาคประมง ไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับเจ้าของเรือหรือไต้ก๋งที่บังคับใช้แรงงาน ๓.กรณีชาวโรฮิงญาระบุว่าไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในข้อหาการค้ามนุษย์ และ ๔.การทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่มีการรายงานผลการสอบสวนและดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์

Image
                                 ภาพ: www.oknation.net/blog  

ในรายงานดังกล่าวระบุถึงประมาณการณ์จำนวนแรงงานข้ามชาติในไทยมี ๒ -๓ ล้านคน ซึ่งมาจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา แรงงานจากประเทศพม่าถือว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในไทย และจากการประมาณการณ์ขั้นต่ำ แรงงานข้ามชาติหลายหมื่นคนที่เข้ามาในไทยถูกบังคับ ขู่เข็ญ หลอกลวงให้เข้าสู่การใช้แรงงาน หรือถูกกดขี่ในอุตสาหกรรมทางเพศ ในธุรกิจประมงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง กิจการสิ่งทอระดับล่าง โรงงาน และการทำงานบ้าน รวมถึงการถูกบังคับให้เป็นขอทานข้างถนน

นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุอีกว่า มีชาวโรฮิงญาซึ่งมาจากประเทศพม่าและบังคลาเทศที่ต้องการเดินทางผ่านประเทศไทย โดยมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ถูกขายเป็นแรงงานในเรือประมง โดยมีข้าราชการไทยและเจ้าหน้าที่ในกองทัพเรือได้รับผลประโยชน์จากการลักลอบขนย้ายชาวโรฮิงญาโดยเปลี่ยนเส้นทางเรือ ขนถ่ายชาวโรฮิงญาบางส่วนไปยังคนลักพาและนายหน้าที่จะขายคนเหล่านี้ไปเป็นแรงงานบังคับทำงานในเรือประมง หรือถูกบังคับให้ทำงานในครัว เป็นยามในค่าย ถูกขายให้ไปเป็นแรงงานบังคับในภาคการเกษตร และบริษัทขนส่งทางเรือ


ความจริงจากปากคำลูกเรือชาวกัมพูชาและชาวพม่าที่รอดชีวิต

สำหรับกระบวนการค้ามนุษย์ในภาคประมงนั้น รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ปี ๒๐๑๔ ได้ระบุว่า ชายชาวพม่า กัมพูชา และไทย ที่เข้าประเทศไทยมาอย่างผิดกฎหมายโดยมีการร่วมกันทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่แต่ละฝ่ายของประเทศตามแนวชายแดน ช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกให้แก่การเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่มีเอกสารประจำตัว แรงงานข้ามชาติเหล่านี้จึงง่ายต่อการถูกหลอกลวงและถูกบังคับให้ทำงานในเรือประมงสัญชาติไทยในน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากล ทุกวันนี้จึงมีแรงงานชาวกัมพูชาและชาวพม่าจำนวนมากขึ้นที่ไม่ต้องการทำงานในเรือประมงไทยเนื่องจากอันตรายและสภาพการทำงานที่ลำบาก ถูกกดขี่ใช้งานหนัก ลูกเรือประมงบางคนอยู่ในทะเลเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และได้รับค่าแรงน้อยนิด ทั้งยังต้องทำงานถึงวันละ ๑๘- ๒๐ ชั่วโมงต่อวันตลอดทั้งสัปดาห์ ซ้ำบางคนยังถูกข่มขู่และทุบตี

และนี่เป็นกรณีของลูกเรือประมงที่รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่ออันโอชะของฝูงปลากลางทะเล (หากว่าเขาเสียชีวิตด้วยสาเหตุใดก็ตาม ร่างของเขาก็จะถูกโยนลงทะเล) และรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ที่มุ่งแสวงหาประโยชน์บนหยาดเหงื่อและแรงกายของมนุษย์ด้วยกัน


ลูกเรือประมงชาวเขมร...แม้รอดพ้นจากการถูกทารุณ

แต่บาดแผลในใจต้องใช้เวลาเยียวยา

ลูกเรือประมงชาวเขมรคนนี้ถูกกระบวนการค้ามนุษย์แสวงหาประโยชน์ โดยมีนายหน้าหลอกลวงให้ไปเป็นลูกเรือประมงทางภาคใต้ของไทย และถูกกระทำทารุณกรรมโดยไต้ก๋งเรือซึ่งเป็นชาวเวียดนาม ผลจากการถูกทุบตีอย่างหนักทำให้สมองได้รับความกระทบกระเทือนจนกระทั่งความจำบางส่วนของเขาลบเลือนไป รวมถึงสภาพจิตใจที่ยังคงตกอยู่ในสภาวะตื่นตกใจง่าย มีความหวาดระแวง และยังไม่กล้าที่จะกลับไปเริ่มต้นทำงานอีกครั้งเพราะกลัวการถูกทุบตี ทุกวันนี้เขาอยู่ในความดูแลของบ้านสุขสันต์ หรือ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล จ.สงขลา

Imageนายรัง หล่ง ชาวเขมร อายุ ๓๓ ปี มาจากจังหวัดกำปงจาม ประเทศกัมพูชา เขาตั้งใจเข้ามาทำงานรับจ้างในกิจการก่อสร้างตามที่มีคนแนะนำ รัง เล่าถึงความเป็นมาของเขาเท่าที่ยังจำได้ ตั้งแต่ออกจากบ้านที่กัมพูชา จนกระทั่งปัจจุบันซึ่งอยู่ในความดูแลของบ้านสุขสันต์ ผ่าน ลาย สรุน เจ้าหน้าที่ล่ามของบ้านสุขสันต์ รัง เล่าว่า "มาเป็นกรรมกรก่อสร้างได้ค่าแรงประมาณ ๒๗๐ บาทต่อวัน มีหน้าที่คอยถอดไม้แบบออกหลังจากปูนแห้ง ทำงานได้ประมาณ ๒ เดือน หรือนานเท่าไร จำไม่ค่อยได้ หลายเดือนมาแล้วหลังออกจากงานก่อสร้าง นั่งรถแท็กซี่จากนนทบุรีไปหมอชิต ตั้งใจจะไปหาเพื่อนที่อยู่โคราช มีเงินติดตัวประมาณ ๔,๐๐๐ บาท แต่โดนคนขับแท็กซี่ มี ๒ คนช่วยกันจับตัวผม แล้วค้นตัวเอาเงินไปหมด พอเงินหมดแล้ว ไม่รู้จะไปไหน ก็เลยนั่งอยู่แถวๆ หมอชิต แล้วก็มีคนพม่ามาชวนให้ไปทำงาน ตอนนั้นเข้าใจว่าเขาจะพากลับบ้าน อีกอย่างคนนั้นบอกให้ไปทำงานกับเขา ไปทำงานที่เรือ งานเบา ยกของเล็กๆ น้อยๆ แต่ได้เงินเยอะ ก็เลยไป ไม่คิดว่าจะออกเรือประมงกลางทะเล ต้องลงเรือเล็ก แล้วส่งจากเรือเล็กให้ไปขึ้นเรือลำใหญ่ แล้วก็ต่อไปอีกลำหนึ่ง"

รัง ยังเล่าถึงชีวิตลูกเรือประมงที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กลางทะเลนานนับเดือนนับปี ต้องอดทนทำงานหนัก ยากลำบาก และเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต "ทำงานในเรือ เวลาได้ปลาขึ้นมา ผมจะเป็นคนคัดปลา ระหว่างวางอวนลงในทะเล เขาถึงจะให้พัก แล้วเวลาลงอวนปลาที่อยู่บนเรือ เราต้องคัดแยกปลา ใส่น้ำแข็งให้เสร็จ ถ้ายังไม่เสร็จก็ไม่ได้พัก แต่พอใกล้เสร็จก็ถึงเวลาดึงอวนขึ้นอีก ทำงานทั้งวันทั้งคืน เวลาพักผ่อนไม่ค่อยมี ต้องทำงานให้เสร็จก่อนถึงจะได้กินข้าว เวลานอนก็ไม่ค่อยได้นอน ตอนอยู่ในเรือก็เคยตกน้ำ คนบนเรือก็โยนเชือกให้ แล้วก็ดึงกลับมา พอทำงานไม่ไหว ผมนอน ก็โดนไต๋ทุบตีให้ลุกมาทำงานต่อ โดนตีหัว ตีข้อมือ ตีขา ตีสุดแรงเลย ตลอดวัน โดนทุกวัน เวลาทำงานไม่ไหวก็จะโดน คนอื่นก็โดนเหมือนกัน"

รัง เล่าเหตุการณ์ที่เขาพยายามกระโดดน้ำหนีจากเรือประมง ซึ่งทำให้เขาถูกกระทำทารุณกรรมกระทั่งมีผลต่อสมองและความทรงจำของเขาในวันนี้ "อยู่บนเรือกี่วันจำไม่ได้ อยู่นานประมาณเกือบปี คิดหนีเพราะมีเรือลำใหญ่ที่ไปรับปลา ก็เลยพยายามจะกระโดดจากเรือที่ทำงานอยู่ เพื่อให้เรือลำนั้นช่วย แต่ไต๋เห็นเสียก่อน เลยถูกถีบที่หน้าอก ๒ ที แล้วถูกจับไปล่ามโซ่ ๒ วัน พอล่ามโซ่แล้วไต๋ก็ให้พวกลูกเรือฉีดน้ำเค็มใส่ หลังจากนั้นก็จำอะไรไม่ได้"

Imageลาย สรุน เจ้าหน้าที่ล่ามชาวเขมรของบ้านสุขสันต์ ซึ่งทำงานช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงการช่วยชีวิตนายรังให้พ้นจากการถูกทารุณ "แกนนำ (อาสาสมัคร) ของเราซึ่งเป็นลูกเรือประมงออกเรือไปเจอและรู้ว่าเขาถูกทำร้ายและถูกล่ามอยู่ จึงไปเจรจากับไต๋ ไต๋ถามว่ามีเงินหรือมีอะไรแลกเปลี่ยน เราจึงเอาเงินไถ่ตัวเขามา ๒๐,๐๐๐ บาท แต่ตัวเขาไม่รู้ว่าทางเราช่วยประสานงานเพื่อช่วยเขาออกมา"

นายรัง นึกย้อนทบทวนเหตุการณ์ครั้งนี้และบอกว่า "ไม่คิดว่าจะมีชีวิตรอด ไม่มีหวังแล้ว ตอนนั้นคิดว่าจะไม่มีโอกาสมีชีวิตรอดมานั่งที่นี่แล้ว เพราะถูกทุบตีทุกวัน คิดว่าถูกทำร้ายใกล้จะตายแล้วล่ะ เขาถึงยอมปล่อยมา ไม่รู้ว่าทางบ้านสุขสันต์ประสานเพื่อช่วยผม ลูกเรือมี ๙ คน ที่โดนเหมือนกัน มีทั้ง พม่า เวียดนาม และมีญี่ปุ่นด้วย หลังจากนั้นก็ลืมหมด จำอะไรไม่ได้เลย ความจำไม่ค่อยดี บางครั้งก็จำได้ บางครั้งก็ลืม จำได้ว่า มีพี่น้อง ๙ คน พ่อชื่อ ตุ๊หล่อง แม่ชื่อ อำเคง พ่อบวชเป็นพระ แม่เป็นแม่ชี ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร อยากกลับบ้าน แต่ถ้าให้ทำงานที่นี่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไร ถ้าทำผิด ทำไม่ถูก เดี๋ยวถูกทุบตีอีก ยังทำงานอะไรไม่ได้ มือจะสั่น ขี้ตกใจ ยังหวาดระแวงอยู่ หมอบอกให้กินยาไปเรื่อยๆ นอนไม่ค่อยหลับ ในสมองมันร้อน บางครั้งเวลาหลับก็หลับเลย แต่บางครั้งก็นอนไม่หลับ สมองมันจะร้อน"

"ตอนนี้มาอยู่ที่บ้านสุขสันต์ รู้สึกดีใจ สบายใจ และขอขอบคุณทุกคนที่ช่วยให้ได้ขึ้นจากเรือ ขอให้คนที่ช่วยเหลือมีความสุขทุกๆ คน"

ทุกวันนี้ นายรังยังคงอยู่ในการดูแลของบ้านสุขสันต์เนื่องจากสุขภาพจิตของเขายังไม่เป็นปกติดีนัก ยังต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจและติดตามผลการรักษาต่อไป

ลาย เจ้าหน้าที่ล่ามของบ้านสุขสันต์ กล่าวถึงกรณีการดำเนินการติดตามและส่งกลับนายรังว่า "ตอนนี้เขาร่างกายแข็งแรง แต่สมองไม่ค่อยแข็งแรง ความจำเขาไม่ค่อยดี บางครั้งก็จำได้ บางครั้งก็ลืม ยังต้องพาเขาไปหาหมอนัดตามนัดหมายทุกเดือน เดือนละครั้ง เรื่องเกี่ยวกับตัวเขา ตอนที่เขามาที่นี่ ผมพยายามค้นดูว่ามีอะไรเพื่อจะได้ติดต่อไปทางครอบครัวเขา แต่ไม่พบว่ามีหลักฐานหรือเอกสารอะไรเลย ถ้าจะทำบัตรให้เขาถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีนายจ้างด้วยถึงจะทำได้ คือนายจ้างต้องมีกิจการ เป็นสถานประกอบการของเขา เป็นประมง หรือว่าเป็นบริษัทถึงจะทำได้ กรณีที่เขามีสภาพแบบนี้ก็ยังทำงานไม่ได้ เขาอยากกลับบ้าน แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าบ้านเขาอยู่ไหน ผมก็พยายามตามหา จุดที่เขาบอกมาว่าอยู่ตรงไหน ให้ทางกัมพูชาติดต่อดูอยู่ มีชาวกัมพูชาที่เพิ่งกลับไปประมาณ ๑-๒ เดือน อยู่อำเภอและจังหวัดเดียวกับเขา เราให้ชื่อและรูปถ่าย รวมทั้งเบอร์โทรของผมฝากเขาไปด้วย เพื่อให้ช่วยตามหา แต่ยังไม่มีใครติดต่อกลับมาเลย ก็ต้องอยู่ที่บ้านสุขสันต์ไปเรื่อยๆ"


ลูกเรือประมงชาวพม่า...ตลอด ๖ ปีที่เป็นลูกเรือ

ถูกนายหน้าหลอกลวง เบี้ยวค่าจ้าง และเกือบตายจากอุบัติเหตุขณะทำงาน

กรณีนี้เป็นลูกเรือประมงสัญชาติพม่าที่ได้รับการช่วยเหลือจากบ้านสุขสันต์ นายชิอันทู ตาโส่เท อายุ ๓๒ ปี มาจากอำเภออาเปาโจ๋ยชา จังหวัดมน ประเทศพม่า เขาเล่าผ่าน ซัง ซาร์ ทิน เจ้าหน้าที่ล่ามชาวกะเหรี่ยงของบ้านสุขสันต์ที่ช่วยสื่อสารภาษาพม่าให้ "ตั้งใจจะไปทำงานประมงที่จังหวัดปัตตานี มีเพื่อนที่พม่าแนะนำให้มาไทย บอกว่าต้องใช้เงินไทย ๑๔,๐๐๐ บาท จ่ายให้นายหน้าผู้หญิงพม่าชื่อ ‘มะและแม' ช่วยขั้นตอนเข้าไทย จากนั้นจึงได้ไปทำงานกับเรือประมงที่ปัตตานี ไปกับเรือประมงไทยชื่อเรือ ‘สะติโบ' นานครึ่งเดือน ต้องออกเรือและกลับเข้าฝั่ง ๑๕ วันครั้งหนึ่ง อยู่เรือ ๘ เดือนไม่ได้เงินเลย นายหน้าเอาเงินไป แล้วก็ต้องเข้าประเทศมาเลเซียด้วยเรือหมายเลย ๒๑๑ ไปเรื่อยๆ ๖ เดือนครั้งหนึ่ง เรือลำนั้นไปมาเลย์-ปัตตานี-ปีนังด้วย ได้เงินครั้งแรก ๗,๕๐๐ บาท ออกเรือไปเรื่อยๆ ในน่านน้ำ โดนหลอกบ่อยๆ ว่ารอก่อน เงินยังไม่ได้ ขอเจ้านายไม่ให้ คนเรือบอกว่าต้องออกเรืออีกรอบถึงจะได้ แต่ก็มีหนีอยู่ครั้งหนึ่ง"

Imageชิอันทู เป็นลูกเรือของเรือประมงไทยที่หาปลาในเขตน่านน้ำไทยและน่านน้ำสากล กระทั่งเรือที่เขาทำงานด้วยไปอยู่ในเขตอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ซึ่งติดกับรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย เขาจึงตั้งใจว่าจะไม่ออกเรืออีกแล้ว แต่ก็มีผู้หญิงชาวมอญหลอกลวงเขาโดยบอกให้เขาออกเรือไปอีก ๑๕ วัน เมื่อกลับเข้าฝั่งแล้วเขาจะได้รับเงินค่าจ้าง เขาจึงถูกหลอกให้ออกเรือนานถึง ๙ เดือน ๑๐ วัน แต่เมื่อกลับมา ก็ไม่ได้รับเงิน จึงเห็นได้ว่านายหน้าในกระบวนการค้ามนุษย์ภาคประมงนั้น มีจำนวนหลายคน ลูกเรือรายหนึ่งๆ จึงอาจถูกนายหน้าหลอกขายกันเป็นทอดๆ ต่อๆ ไปได้อีก

ชิอันทูเล่าถึงความยากลำบากและภัยอันตรายต่อชีวิตลูกเรือประมงว่า "เรือไม่ใหญ่นะ เรือลากลำเล็ก เจ้าของเรืออยู่สงขลา ผมจำเรือได้เรือสีฟ้าขาว ลูกเรือมี ๖ คน งานหนัก พอหาปลาได้ ต้องแช่น้ำแข็ง ต้องตีน้ำแข็งเป็นก้อนๆ ตลอด คนไทยไม่ทำ ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย รู้สึกเครียด อยู่ในเรือมีหลายอย่างไม่ปลอดภัยเลย มีอะไรก็ฆ่าทิ้ง ลูกเรือฆ่ากันเอง ไต๋เรือเป็นคนไทย คนที่นิสัยดี ขยัน อดทน เขาก็ชอบนะ พม่าอดทนไง ส่วนคนที่ไม่ขยันหรือคนที่เขาไม่ชอบ เขาก็จะฆ่าทิ้ง ผมก็ถูกบังคับให้ฆ่าชาวเขมรคนหนึ่ง เพราะถ้าไม่ทำก็จะถูกไต๋ตี ทำร้าย ผมก็โดนผีหลอกบ้าง เพราะไม่เคยทำบุญให้เขา คนที่โดนตีก็จะถูกแช่น้ำ ๓ วัน เราเข้าไปช่วยไม่ได้ เพราะถ้าช่วยเราก็จะโดนด้วย ให้ทรมาน"

สำหรับชิอันทู แม้จะโดนหลอกเงินค่าจ้างมาตลอด ๖ ปีที่ทำงาน แต่เขาก็ยังต้องทนทำงานต่อไปเพราะไม่สามารถหางานอื่นทำได้ ประกอบกับความเป็นคนซื่อและมีจิตใจเมตตาต่อผู้ที่ทุกข์ยากลำบากเช่นเดียวกับเขา จึงทำให้เขาต้องยอมทำอาชีพนี้เพราะมีความหวังว่าจะได้เงินค่าจ้าง "ผมถนัดทำประมงและหวังว่าเขาจะให้เงิน หัวหน้าเรือบอกว่าจะให้เงินสองหมื่นกว่า ถ้าไม่ออกเรือก็จะไม่ได้เงิน เลยต้องไปอีก มีครั้งหนึ่งไปกับคนพม่าด้วยกันจึงได้เงิน แล้วผมไปเจอเด็กถูกไฟไหม้ สงสารเขา จึงไปยืมเงินมาหมื่นห้า แล้วให้เด็กไปแปดพัน ที่เหลือเก็บไว้ใช้ มีคนขอเงินก็ช่วยไปอีกสามพัน ที่เหลือก็ซื้อโทรศัพท์"

กระทั่งเกิดอุบัติเหตุขณะทำงานอยู่บนเรือประมง ชิอันทูโดนเครื่องมือที่ใช้จับปลากระแทกขาเขาอย่างแรงจนเขาสลบไป เมื่อฟื้นขึ้นมาจึงรู้ว่าเขาขาหักนอนอยู่โรงพยาบาล และต่อมาได้มาอยู่ที่บ้านสุขสันต์ซึ่งช่วยเหลือและจัดการเรื่องค่ารักษาพยาบาลให้ ซึ่งในเรื่องนี้ คุณสุชาติ จันทลักขณา ผู้จัดการบ้านสุขสันต์ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า "ทางโรงพยาบาลโทรมาให้เราช่วยเหลือ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล คนไข้ไม่มีบัตรอะไรเลย โรงพยาบาลจึงให้ช่วยซื้อบัตรประกันสุขภาพเพื่อให้เขาได้สิทธิรักษาพยาบาล"

ส่วนชิอันทู เล่าถึงอุบัติเหตุครั้งนี้ว่า "ลูกเรือที่เป็นคนไทย ๒ คน อุ้มผมข้ามเรือ แล้วเอารถไปส่งที่โรงพยาบาลสงขลา ลูกเรือคนไทยชื่อ ‘ยาว' มาดูแลซื้อขนมและให้เงินไว้ ๕๐๐ บาท จากนั้นไม่มีใครมาหาอีกเลย ตอนนั้นคิดว่าคงจะตาย สลบนานเลย จนถึงโรงพยาบาล อยู่โรงพยาบาล ๒๗ วัน ตอนนี้ใช้เหล็กดามอยู่ กระดูกยังไม่สมานกันดี รออีก ๑๖ วัน ก็ตัดเอาเฝือกออกได้"

เพราะมีหลักศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว ชิอันทู จึงมองว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมจึงทำให้เขาต้องมาพบเจอกับความทุกข์ยากลำบากและเกือบเอาชีวิตไม่รอด ถือเป็นบทเรียนชีวิตครั้งสำคัญของเขา ต่อจากนี้ไปเขาบอกถึงความหวังของเขา หากได้กลับบ้าน "อยากกลับบ้านไปบวช คิดว่าเป็นทางที่ดีที่สุดแล้ว คงเป็นหนทางที่ช่วยให้รอดมาจนทุกวันนี้ ไม่เอาแล้ว ไม่อยู่ไทยแล้ว ร้องไห้ทุกวัน เสียใจที่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้ ได้บทเรียนแล้ว แต่โทษใครไม่ได้หรอก ก็จะอโหสิกรรมให้คนที่ขายผม คนที่ทำร้ายผม แต่ผมไม่เคยทำร้ายใคร เกือบตาย ๔ ครั้งแล้ว รอดชีวิตจากการจมน้ำเพราะมีคนมาช่วย เจออะไรเลวร้ายมากมาย เพื่อนถูกฆ่าก็เสียใจที่เพื่อนตายต่อหน้าต่อตา ผมไม่มีอคติกับใครเลย เพราะก็มีคนที่ดีกับผมอยู่บ้าง ส่วนคนที่โกงก็จะอภัยให้ คิดว่าเป็นเวรกรรมของผมเอง จิตใจจะได้สงบ คิดว่ามีความดีอยู่บ้างถึงได้รอดตายมาได้"

Imageนอกจากนี้ยังมีกรณีลูกเรือประมงอีกหลายคนที่ได้รับความช่วยเหลือจากบ้านสุขสันต์ ผ่านการเล่าของ มาริโอ หรือ เนวิน นาย ล่ามอาสาสมัครชาวพม่าของบ้านสุขสันต์อีกคนหนึ่ง

"ปกติลงเรือไป ๕๐ คน กลับมา ๑๐ คนนี่ก็ถือว่ามากแล้ว เพราะตอนออกทะเลถ้าทำงานไม่ไหวเขาก็จะตี หรือเอาปืนยิงทิ้งลงทะเล ถ้าเจอไต๋เรือดีๆ ก็ได้กลับมา มีกรณีที่ถือว่ารุนแรงคือ ไต๋เรือเอาน้ำร้อนราดตัว เราก็ถามเขาว่าจะเอาเรื่องไหม เขาไม่กล้า ไม่อยากมีเรื่องด้วย เราก็ช่วยเขาไม่ได้ และมีกรณีที่นายจ้างขายลูกเรือไปโดยบอกว่าออกทะเลแค่สองเดือน แต่จริงๆ เขาต้องอยู่ ๒ ปีพอเรือที่เขาทำอยู่เสีย เขาก็จะถูกย้ายไปเรืออีกลำหนึ่ง ไม่ได้เข้าฝั่งเลย เขาไม่ได้ค่าจ้าง ก็มีคนแอบหนีกลับมาได้แล้วติดต่อมา เราก็พาเขามาที่ศูนย์ฯ แล้วเราก็ติดต่อทหารเรือ ทหารเรือก็จะมาสอบถามแล้วเรียกเจ้าของเรือมาคุยตกลงค่าจ้างว่าจะจ่ายเท่าไหร่ หรือจะขึ้นศาล ถ้าลูกเรือไม่พอใจก็ขึ้นศาล แล้วก็ส่งกลับบ้านไปหลายกรณี"


บ้านสุขสันต์ กับงานช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

บ้านสุขสันต์ หรือ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล จ.สงขลา ในการกำกับดูแลของสังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี ภายใต้สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ทำงานช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ และมีส่วนในการผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ปี พ.ศ.๒๕๕๑

Imageคุณสุชาติ จันทลักขณา ผู้จัดการบ้านสุขสันต์ กล่าวถึงการทำงานของบ้านสุขสันต์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐว่า "ทางปลัด พมจ. เขาเข้ามาประเมินเคสในพื้นที่แต่ละพื้นที่ และพยายามผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.นี้ และมีการปรับปรุง พ.ร.บ.มาเรื่อยๆ มีการทำงานร่วมกันหลายๆ ฝ่าย ตั้งแต่มี พ.ร.บ.ขึ้นมา บ้านสุขสันต์ก็เป็นอนุกรรมการในระดับจังหวัดเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องการช่วยเหลือเคสการค้ามนุษย์ที่เราเจอมาตั้งแต่เริ่มแรกเมื่อปี ๒๕๔๐ ว่ากระบวนการค้ามนุษย์มีพัฒนาการอย่างไร เราพยายามให้เขารับทราบข้อมูลความเคลื่อนไหวว่ากระบวนการค้ามนุษย์มีรูปแบบต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และเรามีการช่วยเหลือรูปแบบไหน"

คุณสุชาติเล่าถึงพัฒนาการรูปแบบการค้ามนุษย์ในจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานของบ้านสุขสันต์ จากอดีตถึงปัจจุบัน และการทำงานของบ้านสุขสันต์ในการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ว่า "ช่วงแรกๆ ที่เราทำงานกับกลุ่มลูกเรือประมง เมื่อก่อนประเทศไทย ในอ่าวไทยหรือฝั่งอันดามันของไทยค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำ เรือต่างๆ จับปลาได้เยอะ คนจึงอยากทำงานประมง เพราะเรือออกไปจับปลาครั้งหนึ่ง พอตัดบัญชีค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วก็จะได้เงินจำนวนมาก ขณะนั้นจะเป็นคนจากภาคอีสานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อาจมีภาคเหนือ ภาคกลางมาปะปนบ้างนิดหน่อย ตอนแรกๆ ศูนย์ฯ ของเราก็จะเป็นที่พักผ่อน จะมีลูกเรือที่เป็นคนอีสานเข้ามาเล่นสนุ๊กเกอร์ ดูทีวี เล่นฟุตบอล อ่านหนังสือ คุยกันเรื่องสุขภาพ บ้านสุขสันต์จึงช่วยเรื่องสุขภาพเป็นประเด็นหลัก"

พอเกิดวิกฤติที่เป็นตัวแปรสำคัญคือ พายุเกย์เข้ามาในปี ๒๕๓๒ ทำให้เรือประมงจำนวนหนึ่งจมหายไปในทะเล คนทางภาคอีสานหลายพันคนต้องสูญหายไปกลางทะเล พวกเขาจึงไม่อยากมาทำงานเรือ ประกอบกับทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยที่ลดน้อยลง หลังจากวิกฤตินี้ อาชีพภาคประมงเริ่มขาดแคลนแรงงานจึงทำให้ต้องหลอกลวงแรงงานมาทำงานในเรือประมง

Image 
                                     ภาพ: www.newsplus.co.th   

"ขณะนั้นที่ผมจำได้ ที่สงขลาเอง หลังจากพายุเกย์ผ่านไป เริ่มมีการหลอกลวงกันในพื้นที่แล้ว หลอกลวงโดยการชักชวนเพื่อนๆ หรือลูกเรือลำอื่นไปนั่งดื่มกันในร้านอาหาร แล้วโดนมอมยาในแก้วน้ำ บางทีก็ไปฟื้นกลางทะเล จึงต้องจำยอมทำงานเป็นลูกเรือ เมื่อหลอกกันในสงขลา แต่แรงงานก็ยังไม่พอ ก็ไปหลอกคนทางภาคอีสานมา หลอกกันเป็นหมู่บ้าน แล้วบางทีก็นำมากักขังไว้ที่ร้านคาราโอเกะในสงขลา หรือนำมาขังไว้ในห้องแคบๆ แล้วมีคนเฝ้า ทางเราก็มีส่วนในการพาตำรวจไปทลายกระบวนการนี้ในช่วงนั้น ตอนนั้นยังไม่มี พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ เราก็ประสานขอความช่วยเหลือจากทางตำรวจว่ามีการกักขังอยู่ตลอด บางทีก็นำไปขังในป่ายาง แล้วค่อยพามาลงเรือ ทุกปีจะเห็น มีการกระชากลงเรือ"

หลังจากนั้นเริ่มมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มจากแรงงานพม่า มีกระบวนการหลอกลวงกันเป็นทอดๆ โดยมีนายหน้าจากประเทศพม่าติดต่อกับนายหน้าชาวพม่าที่อยู่ในประเทศไทย แล้วมาติดต่อนายหน้าคนไทย หลังจากนั้นจึงส่งคนมาลงเรือประมง กระบวนการส่งต่อแรงงานก็มีหลายรูปแบบ คือ นำไปกักขังไว้ที่หนึ่งแล้วทยอยปล่อยลงเรือตามออเดอร์ของเรือว่าต้องการกี่คน หรือการขนชาวพม่าจากทางมหาชัยมาที่สงขลา ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้ก็ยังมีอยู่ในปัจจุบัน ทุกวันนี้มีการหลอกลวงทุกกลุ่ม ทั้งกัมพูชา พม่า และคนไทย ประเด็นหลักก็คือเรื่องการขาดแคลนแรงงานภาคประมงอีกจำนวนกว่าแสนคน "ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าแรงงานที่ออกนอกน่านน้ำจะเป็นแรงงานที่ถูกหลอกประมาณ ๗๐-๘๐ เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่กลางทะเล" คุณสุชาติกล่าว

ส่วนสาเหตุที่คนไทยยังถูกหลอกลวงให้มาเป็นแรงงานภาคประมงนั้น คุณสุชาติบอกว่าเพราะคนเหล่านี้มีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น พวกนายหน้าจึงใช้จุดอ่อนของคนต่างจังหวัดที่มาแสวงหางานในกรุงเทพฯ "พวกนายหน้าย่อมรู้จุดอ่อนของคนด้วย จึงไปอยู่ที่หัวลำโพง หมอชิต สนามหลวงเพราะว่าตรงนั้นเป็นแหล่งของคนที่จะมาหางาน อย่างแรงงานทางภาคอีสานมาทำงานในกรุงเทพฯ ก็จะมาชวนตรงจุดเหล่านี้ที่เป็นจุดหลอกลวงได้ง่าย คือวงการนายหน้าต้องการหลอกลวงอย่างเดียวเลย แม้แต่คนไทยมีบัตรยังโดนหลอกเลย ไม่ใช่แค่แรงงานข้ามชาติอย่างเดียว ส่วนแรงงานข้ามชาติถึงไม่ใช่แรงงานเถื่อนก็ถูกหลอกได้ ตัวอย่าง สมมุติว่ามีนาย จ เป็นชาวพม่า มีบัตรถูกต้องตามกฎหมาย ทำงานอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม บังเอิญมีคนๆ หนึ่งมาชวนว่าไปทำงานเรือดีกว่า รายได้ดีกว่าโรงงานนี้เยอะ ทั้งๆ ที่เขามีบัตร เขาก็โดนหลอกได้ ถูกส่งลงเรือไป แต่นาย จ ไม่รู้ว่าเขาถูกขายไปแล้ว จนเป็นสาเหตุให้บางคนกระโดดน้ำหนี"

Imageคุณสุชาติยังเล่าถึงกรณีลูกเรือกระโดดน้ำหนีจากเรือประมงที่ทำงานอยู่ เมื่อเจอเรือของตำรวจน้ำที่ออกไปตรวจเรือประมง "แต่กรณีนี้มีน้อยครับ คือใครอยากจะทำอาชีพนี้เพราะออกไปอยู่กลางทะเลเป็นปี ไม่ได้กลับเข้าฝั่งใครจะอยู่ได้ คิดถึงบ้าน เวลาพักผ่อนเพียงพอไหม สวัสดิการดีหรือเปล่า พอเห็นตำรวจน้ำก็กวักมือเรียก ตรงนี้เป็นปัญหาของลูกเรือ กรณีอย่างนี้เป็นประเด็นให้หน่วยงานภาครัฐต้องคิดเหมือนกันว่าทำไมอยู่ๆ คนเต็มใจลงเรือออกทะเลถึงกวักมือเรียกให้ช่วยขึ้นฝั่ง"

ในฐานะที่ทำงานช่วยเหลือลูกเรือประมงในกระบวนการค้ามนุษย์มานาน คุณสุชาติให้ความเห็นต่อแนวทางแก้ปัญหาภาคประมงขาดแคลนแรงงานและปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาแบบผิดกฎหมายว่า "ถ้าจริงใจแก้ไขก็น่าจะทำได้เพราะปัญหาตรงๆ ทั้งนั้นเลย แรงงานประมงขาดแคลนเพราะอะไร สวัสดิการดีไหม แรงงานข้ามชาติเข้ามาเพื่ออะไร เขาต้องการทำงานเพราะไม่มีงานไหนที่เขาเข้าถึงได้ ถ้าเงินดี สวัสดิการดี ใครก็อยากทำ สิ่งที่เราทำได้แต่เราไม่ยอมทำ อย่างเรือขนาดใหญ่ของจีนออกทะเล ๒ ปี พอถึงกำหนดจะกลับเข้าฝั่ง เขาก็จะให้สวัสดิการพักผ่อนกี่เดือน เอาเรือไปรับ แล้วเขาก็จะเปลี่ยนคนใหม่มาแทน เรือไทยมันไม่ใช่ ยังไม่ถึงเวลา ก็ขายเขาต่อไปเรื่อยๆ ไม่ให้ค่าแรงงานเขา หมดหนี้แล้วขายต่อกันกลางทะเลเลย"

"มีหลายกรณีน่าหดหู่มาก บางรายเขาหนีขึ้นมา แอบมากับเรือรับส่งปลา คือบางทีชีวิตคนหนึ่งคนขึ้นอยู่ความพอใจของไต๋คนเดียว ไม่มีอะไรที่จะคุ้มครอง ถ้าไต๋บอกว่าหมดหนี้แล้วจะไปไหนก็ไป ถ้าทำตัวดีก็ได้กลับบ้าน แต่ถ้าทำตัวไม่ดีจะขายต่อหรือยังไงก็ได้ มีอีกเยอะที่เราไม่เห็น กลางทะเลมีอีกไม่รู้เท่าไหร่ เพราะแรงงานที่เข้ามาหาเราแต่ละคนก็บอกให้ไปช่วยเพื่อนเขาที่ถูกขาย เรือแต่ละลำ ครึ่งลำคือคนที่ถูกขายทั้งนั้นเลย ตายอีกไม่รู้เท่าไหร่ ทรมานอยู่กลางทะเลอีกมากมาย ภาครัฐพยายามถามเราว่าคุณรู้ได้อย่างไร คุณไม่เคยออกทะเลเลย แต่ผมแน่ใจกับคำพูดของคนที่ผมได้ช่วยเหลือครับ"

"ถ้าจัดการในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานได้ ปัญหาเรื่องนายหน้าก็คงจะหมดไป จะทำอย่างไรที่จะทำให้แรงงานอยากมาทำงานประมง ความต้องการที่จะทำงานประมงคือ สวัสดิการต้องดีอะไรต้องดี อย่างนี้แล้วระบบนายหน้าก็จะหายไปเอง ต่อไปใครก็ไม่ต้องการแรงงานเพิ่มอีกแล้ว เพราะแรงงานต้องการที่จะทำงานเอง แต่ที่มีนายหน้าเพราะแรงงานไม่ต้องการทำงาน ถ้าแรงงานเต็มใจทำงานมันจะเป็นระบบของมันโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องแก้ที่ไหน แก้ที่ระบบสวัสดิการลูกเรือ แก้ที่ผู้ประกอบการนี่แหละ ที่ผ่านมาคือผู้ประกอบการต้องการแรงงานจึงสั่งให้นายหน้าหาแรงงานให้ แต่นายหน้าไปหลอกแรงงานมาขายให้กับผู้ประกอบการ คือแรงงานประมง ถ้าแรงงานขาด เขาก็ทำอะไรไม่ได้ ฉะนั้นแรงงานราคาสูงเท่าไหร่ก็ต้องซื้อ เพราะฉะนั้นเขาจึงไม่คำนึงว่าคุณจะได้แรงงานมาอย่างไร ขอให้ทำงานให้เขาได้เท่านั้นเอง จะหลอกลวงมาก็ไม่สนใจ จะใช้แรงงานอย่างเดียว"


บ้านแห่งความสุขสันต์ ...ที่พักพิงและทางออกแก่ผู้ที่มืดมน

บ้านสุขสันต์ หรือ ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเล จ.สงขลา เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเขตจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง ว่าเป็นศูนย์ที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานทุกประเภทที่ได้รับผลกระทบจากการจ้างงาน หรือถูกละเมิดสิทธิ และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

Imageมีกรณีแรงงานชาวพม่า ๒ คน เข้ามาที่บ้านสุขสันต์เพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกผู้รับเหมาก่อสร้างเบี้ยวค่าแรง คุณสุชาติได้สอบถามรายละเอียดเพื่อเป็นบันทึกเบื้องต้น และติดต่อนายจ้างเจ้าของไซต์ก่อสร้างเพื่อติดตามการจ่ายค่าแรงให้ตามกฎหมายแรงงาน

"เคสนี้เขาทำงานกัน ๑๐ คน ทำงานมา ๓ เดือน แต่จ่ายค่าแรงไม่ครบ จ่ายแค่บางส่วน ยังเหลือคงค้างอีก ๕๐,๐๐๐ - ๖๐,๐๐๐ บาท ของ ๑๐ คนนี้ เขาต้องการใช้เงิน แต่คนรับเหมาช่วงต่อปิดโทรศัพท์หนีไป ผมก็คุยกับทางบริษัทให้ช่วยติดตาม เขาก็บอกว่าเขาจะพยายามติดตามให้มาเคลียร์ให้ เคสนี้ถ้าเขาไม่ยอม ผมก็จะรวบรวมหลักฐานแล้วส่งเรื่องร้องเรียนไปถึงสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้เข้าไปตรวจสอบบริษัทนั้น แต่พอดีทางบริษัทเขารับปากจะทวงเงินให้ก่อน เราก็รอคำตอบว่าเขาดำเนินการไปแค่ไหน คนที่มาร้องเรียนเขาก็พอใจ เขาบอกว่าจะรอคำตอบจากผู้จัดการบริษัท"

คุณสุชาติบอกว่า การทำงานช่วยเหลือเป็นปากเป็นเสียงแทนแรงงานที่ถูกละเมิดสิทธิเช่นนี้ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้แก่นายจ้างหรือบริษัทที่ไม่ต้องการจะรับผิดชอบต่อแรงงานเหล่านี้ ทำให้เจ้าหน้าที่บ้านสุขสันต์และตัวคุณสุชาติเองต่างก็มีความเสี่ยงต่อภัยอันตรายที่จะมาถึงตัวได้

"เคสแบบนี้มีบ่อย ส่วนใหญ่เราช่วยจัดการให้บริษัทหรือเจ้าของเขาคืนเงินให้ได้ บางทีอาจช้าหน่อย คือ พยายามประนีประนอมกับนายจ้าง ให้นายจ้างช่วยเคลียร์ให้ เราใช้ข้อกฎหมายบอกเขาด้วยว่า ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งก็มีความเสี่ยงอยู่ด้วย ทางบริษัทอาจไม่พอใจเรา แรงงานก่อสร้างมีปัญหาเยอะ เรื่องถูกโกงค่าแรง ยึดบัตร ยึดพาสปอร์ต บางเคสนายจ้างยึดพาสปอร์ต เราก็ทำเรื่องไปถึงผู้กำกับการตำรวจที่หาดใหญ่ ขอตำรวจเข้าไปกับเราหน่อย ไปคุยกับนายจ้าง อาศัยเขา ไม่ใช่ว่าเราไม่กลัว เราก็กลัว แต่ทำยังไงได้"

Imageในแต่ละปี บ้านสุขสันต์ต้องรับเรื่องร้องเรียนจากแรงงานที่มาขอความช่วยเหลือประมาณ ๕๐ ราย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงาน ถูกกระทำจากนายจ้าง รวมถึงการขอคำปรึกษาเรื่องสิทธิในการทำงานของพวกเขา "ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้เรื่องสิทธิ ส่วนมากแต่ละเดือนก็จะมีที่ถูกนายจ้างกระทำ เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแล้วนายจ้างเลิกจ้าง ไม่รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล ส่วนใหญ่เราจะประสานให้เขาเข้าถึงหน่วยงานของรัฐให้เข้ามาช่วย โดยเจ้าหน้าที่ล่ามของบ้านสุขสันต์จะช่วยประสานทำงานกับหน่วยงานภาครัฐในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นเมื่อตำรวจสอบปากคำ ส่งต่อ พมจ. หรือ ตม. และศาล เพื่อให้แรงงานเหล่านี้ได้รับความยุติธรรม"

สำหรับกรณีลูกเรือประมงชาวเขมรที่สมองได้รับความกระทบกระเทือนจากการถูกทำร้ายและชาวพม่าที่เกิดอุบัติเหตุขาหักนั้น ทางบ้านสุขสันต์ก็จะช่วยดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายและค่าแรงที่พวกเขาไม่ได้รับ ตลอดจนติดตามการส่งกลับไปยังประเทศบ้านเกิดของพวกเขาให้ตลอดรอดฝั่งสำเร็จลุล่วงทุกรายไป

"เราพยายามติดต่อกับทาง ตม. ถ้าเคสไหนต้องการกลับบ้าน เราก็ส่งให้ตม.ช่วยส่งที่ชายแดน ถ้าเคสอุบัติเหตุเราก็จะไปส่งเองเพราะในการเดินทางกับ ตม. ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อเคส เพราะเขาต้องไปทีละจำนวนมาก บางทีก็เบียดเสียดกันแน่น ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนป่วย เราก็พยายามหางบประมาณเพื่อจะส่งเคสเหล่านี้เอง พยายามติดต่อกับองค์กรที่อยู่ในประเทศนั้นๆ เพื่อจะส่งเคสไป ให้ถึงชายแดน หรือให้เขาถึงบ้านของเขาที่พม่า"

ในการทำงานของบ้านสุขสันต์ จึงเป็นทั้งเพื่อนคู่คิดที่ให้คำปรึกษาแก่แรงงานในจังหวัดสงขลาที่ถูกละเมิดสิทธิ และยังเป็นสถานที่พักพิงและให้ทางออกแก่ผู้มืดมนซึ่งก็คือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์นั่นเอง


ช่วยกันสร้างโลกาภิวัตน์แห่งภราดรภาพ ไม่ใช่ระบบทาส หรือการเพิกเฉย

งานต่อต้านการค้ามนุษย์ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

คุณสุชาติ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ว่า "เราไม่ค่อยปฏิเสธใคร ใครมาขอให้ช่วยเหลือ เราก็จะช่วยเหลือทุกๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลเขามีข้อจำกัดเวลาเขาจำหน่ายเคส เขาไม่รู้จะพาไปไหน จะทิ้งไว้ที่หน้าโรงพยาบาลก็ไม่ได้ จะส่งกลับบ้านก็ไม่มีงบประมาณ เพราะฉะนั้นที่แรกที่เขานึกถึงก่อนคือ บ้านสุขสันต์ เมื่อก่อนทัณฑสถาน หรือ พมจ. ไม่มีบ้านพักสำหรับผู้ชาย เวลามีเคสลูกเรือประมงที่ถูกค้า ถูกหลอกลวง เขาจึงมาฝากไว้ที่เรา เพราะฉะนั้นจึงได้ทำงานร่วมกัน"

"เมื่อก่อนเคสการค้ามนุษย์ มีบ้านสุขสันต์รับอยู่ที่เดียว ที่อื่นไม่รับ เราจึงพยายามผลักดันให้เกิดบ้านพักชาย เพื่อช่วยเหลือแรงงานจากกระบวนการค้ามนุษย์ที่เป็นผู้ชายโดยเฉพาะ เนื่องจากหน่วยราชการมีแต่บ้านพักเด็ก บ้านพักสตรี แต่บ้านพักชายไม่มี หลังจากนั้นก็เกิดบ้านพักชายขึ้นมาในหลายจังหวัดเพราะมีความเดือดร้อนตรงนี้ ส่วนใหญ่เคสที่ไปอยู่บ้านพักชายเป็นเคสการค้ามนุษย์โดยตรง หรือเคสผู้อพยพอย่างโรฮิงญาที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองหรือผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่เราก็รู้ว่าเป็นกระบวนการการค้ามนุษย์เข้ามาในประเทศไทย คนเหล่านี้ก็ได้รับความช่วยเหลือจากบ้านพักชายรับไปดูแล รวมถึงชาวอุยกูร์ ด้วย"

สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นสถานที่รองรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ อย่าง สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จ.สงขลา สังกัดสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๕๒ เพื่อรองรับการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.๒๕๕๑

Imageคุณอาทิตย์ รักทอง ผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ(ชาย) จ.สงขลา กล่าวถึงภารกิจหน้าที่ของบ้านพักชายแห่งนี้ว่า "ที่นี่ดูแลตั้งแต่เบื้องต้นคือ เมื่อรับเข้ามาเราก็แจ้งสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายที่เขาควรจะได้รับในฐานะผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และดูแลเรื่องปัจจัยสี่ อาหาร ที่หลับที่นอน เสื้อผ้า ทุกอย่าง รวมถึงการบำบัด ฟื้นฟูสภาพจิตใจ เนื่องจากคนเหล่านี้เขาถูกกระทำมาเยอะ เราก็ต้องบำบัดฟื้นฟู มีนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยาให้คำปรึกษา แต่เราไม่มีพยาบาล เราจึงต้องประสานกับทางโรงพยาบาล ถ้าถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนในเรื่องของคดีก็พาไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ทางด้านกฎหมายก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม เป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การร้องทุกข์แจ้งความซึ่งเป็นหน้าที่ของตำรวจ แต่เราก็ช่วยจนถึงขั้นตอนการตัดสินคดี ถ้าเป็นคนไทยเราก็ช่วยประสานหน่วยงานในพื้นที่ให้ติดตามเยี่ยมบ้าน ให้เขาพูดคุยกับที่บ้าน แล้วเราก็หาข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ ของเขาที่บ้าน เพื่อเตรียมพร้อมในการส่งกลับด้วย ขณะอยู่ที่นี่ก็มีกิจกรรมนันทนาการต่างๆ ไม่ให้เขาเบื่อหรือเครียด หางานให้เขาทำ ทั้งไทยและต่างชาติ"

บ้านพักชาย จ.สงขลา แห่งนี้จึงเป็นเสมือนที่พักพิงอีกแห่งหนึ่งสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ก่อนที่พวกเขาจะถูกส่งตัวกลับประเทศ สมาชิกที่นี่จึงมีหลากหลายเชื้อชาติ ผอ.อาทิตย์ให้รายละเอียดว่า "มีชาวบังคลาเทศ พม่า ลาว และไทย จำนวนทั้งหมด ๔๘ คน ชาติที่มีจำนวนมากคือ พม่า หลังๆ ระยะ ๑ - ๒ เดือน หรือปีนี้ ชาวบังคลาเทศค่อนข้างเยอะ มาจากประเทศต้นทาง ทั้งโดนหลอกมา บางคนก็สมัครใจมาเอง ถ้าเป็นพม่า และโรฮิงญา ส่วนมากสมัครใจมาจากประเทศเขา แล้วมาโดนหลอกที่นี่ สำหรับกรณีชาวบังคลาเทศ และโรฮิงญา มีขั้นตอนคือ ในส่วนของการดูแล เบื้องต้นต้องตรวจสุขภาพซึ่งต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อจะได้ทราบถึงสภาวะการเจ็บป่วย หรือพบว่าเขามีโรคติดต่ออะไรบ้าง หลังจากนั้นก็ให้สิ่งของจำเป็น เช่น แปรงสีฟัน เสื้อผ้า ฯลฯ ส่วนการดำเนินการที่จะส่งกลับประเทศ ถ้าเป็นชาวพม่าจะประสานกับกรมสวัสดิการสังคมของพม่า หรือกรณีของลาวก็มีหน่วยงานราชการ และ NGOs รวมถึงหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น IOM ๑๐ , UNHCR ๑๑ ซึ่งประสานงานและทำงานร่วมกันอยู่เป็นประจำเพราะมี (MOU) มีบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์"

อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาในการสื่อสารกับบรรดาแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอยู่ที่บ้านพักชาย ขั้นตอนในการดำเนินการต่างๆ นั้น ทางบ้านพักชายจึงต้องขอความร่วมมือจากบ้านสุขสันต์ให้เจ้าหน้าที่ล่ามชาวพม่าช่วยแปลภาษา ช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับเคสชาวพม่า และการทำรายงานกรณีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เหล่านี้ "ประเด็นสำคัญก็คือ เรายังต้องอาศัยล่ามของคนอื่น ก็อาศัยคุณสุชาติช่วยเรื่องการประสาน บางทีก็ให้คุยโทรศัพท์กับพวกล่าม เมื่อก่อนอยู่ใกล้คุณสุชาติ คุณสุชาติกับเราทำงานร่วมกัน เมื่อก่อนนี้ก็ช่วยเรื่องที่พักตอนที่เรายังไม่มีบ้านพักชายนี้"

นับได้ว่า บ้านสุขสันต์เป็นที่เชื่อถือของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการมีเจ้าหน้าที่ล่ามช่วยสื่อสารช่วยเหลือเคสต่างๆ มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากเพราะเป็นเสมือนตัวกลางในการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

คุณสุชาติบอกว่า "ตอนนี้เรามีล่ามอยู่ ๑๐ คน เป็นกัมพูชา ๕ คน พม่า ๕ คน ซึ่งเป็นแกนนำของเรามาก่อน แล้วพัฒนาขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่ หรือโดยการแนะนำของเจ้าหน้าที่กันเอง แล้วพัฒนาอบรมเขา ทุกคนที่นี่ส่วนมากจะได้รับการร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องการค้ามนุษย์ รวมถึงด้านสาธารณสุข เวลาจะอบรมด้านสุขภาพให้กับแรงงานก็จะอาศัยล่ามของเราไปด้วยเพื่อจะสื่อสารกับแรงงาน จนเกิดคณะทำงานร่วมกันในจังหวัด ถ้าเป็นในรูปแบบของการค้ามนุษย์ เราเป็นอนุกรรมการการค้ามนุษย์ในจังหวัดสงขลาก็จะแลกเปลี่ยนให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติและสะท้อนปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ อีกอย่างคือไม่มีองค์กรเอ็นจีโอไหนที่ทำงานเช่นนี้ด้วย มีเพียงเราหน่วยงานเดียว บางครั้งเอ็นจีโอด้วยกันก็จะมาขอล่ามเราไปช่วยเขา เพราะเรามีศักยภาพมีบุคลากรมากกว่าเขา"

ผอ.อาทิตย์ ยังกล่าวถึงกรณีของชาวโรฮิงญาที่เข้ามาอยู่ในความดูแลของบ้านพักชายว่า "ชาวโรฮิงญาที่มาอยู่ที่นี่ เขาโดนกระทำมาตั้งแต่ประเทศต้นทาง มาแบบอ่อนเพลีย หมดสภาพ เราก็ดูแลจนแข็งแรง เคสชาวโรฮิงญา ประเทศพม่าเขาไม่รับกลับ ส่งกลับก็ไม่ได้ ดีว่ามีองค์กรระหว่างประเทศอย่าง UNHCR และ IOM เข้ามาช่วย เพื่อส่งต่อไปยังประเทศที่สาม ระหว่างนี้ก็ให้พักอยู่ที่นี่ แต่ก็ไม่ได้ไปทุกคน บางคนก็ไม่ต้องการไป คือส่วนมากเขาต้องการไปมาเลเซีย เขาก็ยินดีรับการช่วยเหลือ ก็เหมือนลูกเรือประมง เขาเหมือนกับตกนรกมา ไม่มีความหวังในชีวิตแล้ว พอได้ขึ้นฝั่ง เปรียบได้กับเจอขอนไม้ ก็เกาะขอนไม้ทันที มาเจอเราก็เหมือนกับรอดตาย"

Imageผอ.อาทิตย์ ได้แนะนำกรณีตัวอย่าง หนุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ชื่อ ซาลิด วัย ๑๕ ปี ซาลิดมาอยู่ในความดูแลของบ้านพักชายแห่งนี้ได้ประมาณ ๔-๕ เดือน โดยความช่วยเหลือของ UNHCR และที่โชคดีไปกว่านั้นก็คือ ซาลิดจะได้เดินทางไปยังประเทศที่สาม คือ สหรัฐอเมริกา ซาลิดเดินทางมาจากรัฐอาระกัน (หรือยะไข่) ประเทศพม่า เนื่องจากสภาพชีวิตครอบครัวที่ยากลำบากและต้องอดอยากอยู่ในบ้านเกิด พ่อของเขาถูกชาวพม่าฆ่าตาย ส่วนแม่ไม่สบายและต่อมาตาบอด เขาจึงตั้งใจจะไปหางานทำที่ประเทศมาเลเซียเพื่อหาเงินส่งกลับไปช่วยแม่และน้อง แต่ต้องมาถูกตำรวจจับและถูกส่งไปที่ ตม.ปาดังเบซาร์ ก่อนที่จะถูกส่งตัวมาอยู่ที่บ้านพักชายในสภาพร่างกายที่บอบช้ำอ่อนแอ มีร่องรอยบาดแผลที่แขนและขา เดินไม่ค่อยได้เนื่องจากติดอยู่ในสถานที่คับแคบนานถึง ๒๐ วัน

หนุ่มน้อยคนนี้เล่าถึงสิ่งที่ยังติดอยู่ในความทรงจำของเขาระหว่างอยู่ในคุกของ ตม.ว่า "พูดไม่ได้ เขาไม่ให้พูด ถูกตี มีคนตายด้วย เขาให้กินข้าวนิดเดียว น้ำไม่ได้กิน" เมื่อถามถึงการเตรียมเดินทางไปสหรัฐอเมริกา สีหน้าและแววตาของซาลิดดูมีประกายขึ้น เขายิ้มและบอกว่า "ดีใจ ซาลิดโทรคุยกับแม่ แม่ถามว่าอยู่เมืองไทยได้ตังค์ไหม ไปอยู่อเมริกา จะได้ไปทำงานส่งเงินไปให้แม่"

เมื่อถามถึงแนวทางจัดการแก้ไขปัญหานี้ ผอ.อาทิตย์ กล่าวว่า "ตอนผมรับเคสโรฮิงญาครั้งแรกๆ ทูตพม่าเข้ามาเยี่ยม ก็ถามว่าพม่าจัดการอย่างไรกับปัญหานี้ เขาก็บอกว่า เหมือนกับเวลาเรือแวะเข้าฝั่ง เขาก็ให้เสบียง แล้วก็ผลักออกไป หลายๆ ประเทศก็ปฏิบัติอย่างนี้ พม่าไม่ยอมรับโรฮิงญาอยู่แล้ว มันเรื่องเดิม คือเรื่องประวัติศาสตร์ คือถ้าเล่นแต่ตามกฎหมาย มันก็จะแข็งไป เหมือนกับที่นักปกครองบอกคือ ต้องใช้ทั้งด้านกฎหมาย ด้านรัฐศาสตร์ และด้านมนุษยธรรมด้วย เพราะมีกฎกติกาสากลอยู่ ที่สำคัญคือ ความเป็นคน เป็นมนุษย์ แม้แต่สัตว์เดี๋ยวนี้ยังมีกฎหมายคุ้มครอง สิ่งมีชีวิตน่ะ ชีวิตหนึ่งชีวิต ต้องมองให้ขาดว่า คุณจะยึดถืออะไร เพราะเขาก็มีศักดิ์ศรี มีอะไรเท่าเทียมกัน เป็นคนที่มีชีวิตจิตใจ"

สำหรับการทำงานที่ดูเหมือนเป็นปลายทางของปัญหาอย่างสถานคุ้มครองฯ แห่งนี้ ผอ.อาทิตย์ กล่าวว่า "ตัวชี้วัดของเรา คือทำอย่างไรไม่ให้เขากลับมาเป็นเหยื่อซ้ำ คือเราต้องให้ความรู้ ในเมืองไทยมีเบอร์ ๑๓๐๐ ศูนย์ประชาบดีของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) คือ ไม่ว่าคุณไปตกระกำลำบากอยู่ที่ไหน ไม่ว่าเรื่องอะไร ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องค้ามนุษย์ก็โทรไปที่เบอร์นี้ได้ เพราะมีหน่วยงานอยู่ทุกจังหวัด เขาจะไปช่วยเหลือทันที"

"เวลาที่เราทำงานตรงนี้เห็นผลสำเร็จแล้วรู้สึกดีมาก คือได้ช่วยคนที่ถูกกดขี่ ช่วยคนเดือดร้อน บางคนที่บ้านเขาทำบุญ กรวดน้ำ เพราะคิดว่าตายไปแล้ว พอได้เจอกัน ก็ร้องไห้ ยินดี แล้วถ้าไม่มีเราก็ไปไม่ถูกเลย ขึ้นมาจากทะเล เดินบนฝั่งก็ไม่ค่อยถูก มาอยู่ตั้งหลัก เจ้าหน้าที่ก็ให้คำปรึกษา แนะนำ อยู่เหมือนบ้านตัวเอง มีเงินค่ารถกลับบ้าน" และนี่คือคำตอบในการทำงานของนักพัฒนาสังคมท่านนี้

อีกหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐที่ช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ภาคประมงด้วย ก็คือ ‘ตำรวจน้ำ' สถานีตำรวจน้ำ ๑ กองกำกับการ ๙ กองบังคับการตำรวจน้ำ จ.สงขลา มีภารกิจหลักในการปกป้องสถาบัน ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการทั้งจังหวัด ในเขตน้ำ และอาณาเขตทะเลต่อเนื่อง เช่น ดำน้ำหาของกลาง ช่วยจับผู้ต้องหา จับกุมโจรสลัด และกรณีใดๆ ก็ตามที่ได้รับการร้องขอมา

Imageพ.ต.ท.อัศรายุทธ ทองลอง สารวัตรตำรวจน้ำ และ ร.ท.ประยูร ทีปรักษพันธุ์ รองสารวัตร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ได้กล่าวถึงการทำงานของตำรวจน้ำในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ภาคประมงในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

พ.ต.ท.อัศรายุทธ กล่าวถึงการดำเนินการของตำรวจน้ำที่เน้นมาตรการจับกุมและปราบปรามอย่างเข้มงวดมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยคำนึงถึงมนุษยธรรม

"หลังจากที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมาย ในช่วงปี ๒๕๕๑ เป็นต้นมา มีกรณีถูกหลอกขึ้นเรือเยอะมาก หลังจากที่ทำการจับกุมและมีมาตรการเข้มงวด ทำให้เราสามารถจับพวกที่หลอกลวงมาได้ประมาณ ๒๓ ราย ทำให้พวกที่จะหลอกลวง พวกนายหน้าเถื่อน ไม่กล้าเข้ามาที่ จ.สงขลา เพราะที่นี่ค่อนข้างเข้มงวดมาก จนกระทั่งตอนนี้ จาก ๑๐ จะเห็นสัก ๑ เคส ยังยากเลย มันเบาบางลงมากเพราะเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญเรื่องนี้ รวมถึงผู้ประกอบการที่เราจับกันไม่เว้นหน้า ไม่ว่าจะเป็น สส. หรือที่อ้าง สส. เราไม่สนใจ เราจับ ปราบปราม โดยเราเน้นว่าช่วยเหลือเพราะเห็นแก่ครอบครัว คนที่ถูกทรมาน ถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส ถูกทุบตี เราเป็นเจ้าหน้าที่ เราก็ต้องช่วยเหลือ ต้องทำงานกันให้เต็มที่ ถ้าเรามัวเกรงกลัวเพราะมีอิทธิพลข้างบน มันก็ไม่หมดไปซักที รวมถึงผู้ประกอบการที่เราจับ และทำการประชาสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงให้เข้าใจว่าทำไมประเด็นการค้ามนุษย์จึงมีความสำคัญมาก ถ้าหากทาง EU ๑๒ หรือทางสหรัฐฯ เขากีดกันสินค้าอาหารทะเล โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากแรงงานที่ถูกบังคับ หรือเข้าข่ายการค้ามนุษย์ ที่ทางต่างประเทศจะมองว่า การทำงานในเรือประมงของประเทศไทย ยังมีการใช้แรงงานเยี่ยงทาส"

พ.ต.ท.อัศรายุทธ ให้ทัศนะต่อแนวทางแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ว่า "ในวิธีการที่จะดำเนินการจริงๆ คือ ทางภาครัฐ ตอนนี้ถึงแม้จะมีการทำ MOU แต่ MOU ของบ้านเรามีการดำเนินการที่ค่อนข้างจะช้า ต้องพูดว่า ทำไมไม่ทำเหมือนอย่างคนไทยไปทำงานที่ไต้หวัน ญี่ปุ่น หรือดูไบ คือ ต้องการแรงงานเท่านี้ ผลักให้เป็นหน้าที่ของประเทศเพื่อนบ้านในการตรวจสอบอะไรต่างๆ และแรงงานต้องเป็นแรงงานที่มีฝีมือ มีการันตี เขาต้องรู้ด้วยว่ามาทำงานในแรงงานประมงเป็นระยะเวลา ๑ ปี จะทำไหวไหม เราต้องตั้งมาตรฐานของอัตราค่าจ้างในเรือประมงด้วย และต้องเพิ่มโทษผู้ที่ทำการสนับสนุน หรือร่วมขบวนการในการค้ามนุษย์ให้มีโทษสูงขึ้น รวมถึงกระบวนการในชั้นศาลต้องมีความรวดเร็วมากกว่านี้ เพราะไม่อย่างนั้นนานาชาติก็จะไม่ยอมรับ"

    Image   
ภาพ: www.manager.co.th 

 

ดังที่ พระสันตะปาปาฟรังซิส ได้กล่าวถึงการทำงานของบรรดาผู้ที่ทำงานช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ "เพื่อทำลายสายโซ่ที่มองไม่เห็น" ที่ผูกมัดเหยื่อกับนักค้ามนุษย์และผู้เอารัดเอาเปรียบ สายโซ่เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยเส้นสายโยงใยที่แต่ละข้อประกอบไปด้วยวิธีการทางจิตวิทยาอันชาญฉลาดที่ทำให้เหยื่อต้องพึ่งพาต่อผู้เอารัดเอาเปรียบตน ดังนั้น "หน้าที่อันยิ่งใหญ่ซึ่งเรียกร้องให้มีความกล้าหาญ ความอดทน และความพากเพียรนี้ สมควรจะได้รับความชื่นชมจากพระศาสนจักรและสังคมโดยรวม"

และทั้งหมดนี้ คือ "บ้านสุขสันต์" ในนิยามที่คุณสุชาติกล่าวว่า "เป็นบ้านที่พร้อมสำหรับทุกคน เข้ามาแล้วมีความสุขสันต์ และมีทางออกสำหรับผู้ที่มืดมน เราต้องพร้อมเสมอสำหรับผู้เดือดร้อนทุกข์ทน" รวมถึงทุกภาคส่วนที่กำลังช่วยกันสร้างโลกาภิวัตน์แห่งภราดรภาพ ไม่ใช่ระบบทาส หรือการเพิกเฉย ตามที่โป๊บฟรังซิสทรงกล่าวไว้

-------------------------

รายงานสิทธิมนุษยชนและการค้ามนุษย์ประจำปี จัดทำและเผยแพร่โดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา http://www.thairath.co.th/content/oversea/269929

Trafficking in Persons Report 2014,http://www.state.gov/j/tip/rls/tiprpt/2014/index.htm
เป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา จัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปีตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) เพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกา

Tier 2 หมายถึงประเทศที่มีรายงานเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์

Tier3 หมายถึงประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา และไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหา

พมจ. หรือ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด

คสช.ปลดล็อกแรงงานต่างด้าว อสังหา-เกษตร-ประมง เฮ! http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1403529699

ตม. ย่อจาก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ชาย) จ.สงขลา

กลุ่มชาติพันธุ์อุยกูร์ มีจำนวน ๔๕ % จากประชากรทั้งหมด ๑๙,๖๓๐,๐๐๐ คน ซึ่งอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีขนาดประมาณ ๑/๖ ของพื้นที่ทั้งประเทศ นับเป็นพื้นที่เขตปกครองที่ใหญ่ที่สุดของจีน

๑๐ IOM ชื่อย่อของ International Organization for Migration องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน

๑๑ UNHCR United Nations High Commissioner for Refugees ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

๑๒ สหภาพยุโรป (European Union) เป็นสหภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง ประกอบด้วยรัฐสมาชิก ๒๘ ประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป 

 

------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๙๗
ไม่มีทาสอีกต่อไป หญิงชายทั้งผองพี่น้องกัน



เว็บ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >