หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 275 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สันติภาพ เริ่มจาก "ใจ" ของเรา พิมพ์
Wednesday, 30 September 2015

สันติภาพ เริ่มจาก "ใจ" ของเรา

ด้วย กระบวนการอบรม ยุวชน : พลังสร้างสันติ

"บ่มเพาะ แตกหน่อ ต่อยอด เมล็ดพันธุ์สันติภาพ"

ฝ่ายเผยแพร่เพื่อการมีส่วนร่วม ยส.

 

   Image   
                      ภาพ : เยาวชนศูนย์ฟ้าใส                     

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้เลื่องชื่อ เคยกล่าวไว้ว่า "สันติภาพไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการใช้กำลัง แต่ด้วยความเข้าอกเข้าใจกันเท่านั้น" (Peace cannot be kept by force. It can only be achieved by understanding.)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง ดูจะเป็นปัญหาที่เราต้องพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผ่านข่าวสารที่เราเสพผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวระดับโลกหรือข่าวในประเทศ หรือใกล้ตัวเราเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของคนรอบข้างที่เราอาจต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา หรือเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ ข่าวความขัดแย้งและความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละวัน สั่งสมเข้ามาจนเราเริ่มคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ จนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตไปแล้ว จะเป็นอย่างไรกัน หากสังคมเต็มไปด้วยผู้คนที่มองเห็นความขัดแย้งและความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเราต่างละเลย เพิกเฉย มองไม่เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่เราต่างมีและเป็น

กลับมาดูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งยังคงประสบปัญหาความรุนแรงรายวันโดยกลุ่มก่อความไม่สงบที่ไม่ยอมให้ใครมาช่วงชิงพื้นที่ข่าวของสามจังหวัดชายแดนใต้ให้หายไปจากการรับรู้ของสังคมไทยและสังคมโลกไปได้ ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นในการรับรู้ของผู้คนที่อยู่นอกพื้นที่โดยการเสพข่าวสารที่ปรากฏตามสื่อกระแสหลักที่เริ่มกลายเป็นกระแสรองเมื่อโลกโซเชียลมีเดียกลับขึ้นมามีอิทธิพลแทน

ที่จังหวัดยะลา พื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม มีกลุ่มคนที่ทำงานพัฒนาศักยภาพเยาวชน และงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม ในเขตพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชื่อ ศูนย์ฟ้าใส เครือข่ายเยาวชน จ.ยะลา พวกเขาเห็นถึงความสำคัญในการที่จะช่วยให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง และเข้าใจในเอกลักษณ์ หรืออัตลักษณ์ของตน ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมที่แตกต่างหลากหลายนี้ด้วยการสร้างความเป็นพี่น้องและเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ การสร้างความเข้าใจถึงการสร้างสันติบนพื้นฐานของการเข้าใจเหตุแห่งความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการวางรากฐานของชีวิตเยาวชนเหล่านี้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสันติในหัวใจ และพร้อมที่จะเข้าใจและยอมรับผู้คนที่แตกต่างจากตน

โครงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ยุวชน : พลังสร้างสันติ "บ่มเพาะ แตกหน่อ ต่อยอด เมล็ดพันธุ์สันติภาพ" จึงถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๙-๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ ณ คุรุสภาเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต ๒ อ.เมือง จ.ยะลา โดย ศูนย์ฟ้าใส เครือข่ายเยาวชน จ.ยะลา ร่วมกับ แผนกยุติธรรมและสันติ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม (ยส.) จากกรุงเทพฯ

Imageมาเรียม ชัยสันทนะ หรือ พี่มาเรียม ผู้อำนวยการศูนย์ฟ้าใส ศูนย์รวมของเยาวชนในเขตพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มาร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมชายแดนใต้เป็นระยะเวลากว่า ๑๐ ปีแล้ว พี่มาเรียมซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งด้านความคิดระหว่างคนในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ จึงเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีการอบรม "พลังสร้างสันติ" ให้กับเยาวชนในจังหวัดยะลา พี่มาเรียมบอกว่า

"มันต้องเริ่มจากเยาวชนเลย โดยเฉพาะเริ่มตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆ เพราะเด็กๆ จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่รถถัง ทหารถือปืน เขาก็ซึมซับพวกนี้เข้าไป ถ้าเราไม่มีการพูดคุยเรื่องสันติภาพและความขัดแย้งอย่างที่ ยส. สอน เรื่องนิดเดียวก็ไปใหญ่เลย เช่น เคยมีน้องมาบอก พี่ๆ ทหารเอาเหล้าเข้าไปกินในมัสยิดเรา คือไม่เห็นไง แต่มันก็บ่มเพาะความแตกแยกเพิ่มขึ้นๆ มันก็มีปัญหาระหว่างไทยพุทธกับมุสลิมซึ่งความจริงไม่เป็นปัญหานะ ไทยพุทธกับมุสลิมเขาอยู่กันได้ แต่เสียงสะท้อนเสียงเล่าสะสมไปหมดเลย แค่ได้ยิน"

สำหรับกระบวนการและเนื้อหาในการอบรมในช่วง ๒ วัน มีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้น้องๆ เยาวชนได้ฝึกทักษะของการอยู่ร่วมกันในสังคม และได้เรียนรู้ถึงกระบวนการสร้างสันติภาพโดยเริ่มจากตัวเราเองก่อน ผ่านกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ โดยมี คุณอัจฉรา สมแสงสรวง ผู้อำนวยการ แผนกยุติธรรมและสันติ คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม (ยส.) เป็นวิทยากรกระบวนการ เริ่มตั้งแต่ กิจกรรม รู้จักตนเอง และให้เพื่อนรู้ โดยให้เยาวชนแต่ละคนแนะนำตัวและบอกคุณสมบัติที่ดีของตนเองหนึ่งอย่าง ซึ่งกิจกรรมนี้ช่วยให้เยาวชนได้เข้าใจตนเองมากขึ้น เพราะบ่อยครั้งเมื่อเราไม่พยายามเข้าใจและรู้จักตนเอง เวลาที่คนอื่นมาบอกว่าเราเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงเราในแง่ลบ เราจึงไม่ชอบ ต่อมาเป็นกิจกรรม ความแตกต่างและสิ่งที่เหมือนกัน ผ่านอุปกรณ์คือ "กล้วย" โดยให้เยาวชนเลือกกล้วยคนละ ๑ ผล และให้จดจำตำหนิบนผิวกล้วยของตนเองให้ได้เมื่อให้ทำการหยิบกล้วยอีกครั้ง หลังจากนั้นให้ทุกคนปอกเปลือกกล้วยของตน กิจกรรมนี้มีแนวคิดว่า แม้ทุกคนจะมีความแตกต่างกันด้วยเชื้อชาติ ศาสนา หรือสถานะทางสังคม แต่ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน

Imageกิจกรรม ความคิดพื้นฐานเรื่องสันติภาพ และความขัดแย้ง โดยให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดว่าสันติภาพคืออะไร ความขัดแย้งคืออะไร ถือเป็นการเริ่มต้นทำความเข้าใจเรื่องสันติภาพและความขัดแย้ง โดยไม่มีความเห็นใดผิดหรือถูก ต่อจากนั้นให้เยาวชนทุกคนได้ลองฝึกภาคปฏิบัติกับแบบฝึกหัดเส้นแถบสี : เห็นด้วย, ไม่เห็นด้วย โดยวิทยากรถามคำถาม เช่น "แต่ละคนเกิดมาเท่าเทียมกัน ไม่ว่าหญิงหรือชาย" - "ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่เกิดในมนุษย์ทุกคน" - "ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความรุนแรงไม่ใช่เช่นนั้น"... "น้องๆ เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย" แล้วให้เยาวชนเลือกเดินไปยืนอยู่ในพื้นที่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย หรือไม่แน่ใจ (ตรงกลาง) พร้อมถามความคิดเห็นแต่ละคนถึงเหตุผลที่เลือกยืนในตำแหน่งต่างๆ จากคำถามแต่ละข้อ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นบทสะท้อนเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่าง ที่มาจากเงื่อนไข หรืออิทธิพลที่มีทัศนคติ และการรับรู้ของแต่ละคน ที่ต้องพร้อมจะรับฟังและยอมรับกันและกัน

กิจกรรม เห็นต่าง คิดต่าง มีที่มา วิทยากรถามผู้เข้าร่วมว่ามีประสบการณ์การรับรู้เรื่องอะไรบ้าง มีการรับรู้ใดที่คิดว่าเป็นเหตุต่อความขัดแย้งไหม แล้วให้ดูภาพ ๒ มิติ ภาพต่างๆ และถามความคิดเห็นว่า ผู้เข้าร่วมเห็นอะไรในภาพเหล่านั้น สำหรับกิจกรรมนี้อธิบายว่าการรับรู้ของเรามาจากประสาทสัมผัสทั้งห้า นั่นคือ การเห็น ได้ยิน ดมกลิ่น ลิ้มรส สัมผัส การรับรู้เป็นเสมือนตัวกรองภายในตัวเอง / ตัวกรองความคิดของเรา การรับรู้ยังมาจากองค์ประกอบต่างๆ เงื่อนไขทางธรรมชาติ, วัฒนธรรม, ภูมิหลัง, อาชีพการงาน, เพศสภาพ และวัย

Imageกิจกรรม สื่อสารหรือบิดเบือน ให้ดูคลิปโฆษณา และถามว่าสังเกตเห็นอะไร คำอธิบายคือ เรามักจะตัดสินภาพที่เราเห็น มากกว่าที่จะบอกว่าเราสังเกตเห็นอะไร ซึ่งการตีความนี้ สัมพันธ์กับการรับรู้ที่อยู่ภายในตัวเรา หรือในความคิดของเรานั้นเอง และการตีความจากการรับรู้เช่นนี้ ก็เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งได้ การรับรู้จากการได้ยินเรื่องเล่าปากต่อปากของคนกลุ่มใหญ่ ก็นำไปสู่ความขัดแย้งในสังคม หรืออคติในสังคมได้ รวมทั้งการศึกษา เช่น ประวัติศาสตร์ ก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติได้ ทั้งสองฝ่ายที่รับรู้ต่างกัน หากพร้อมที่เปิดรับฟังความคิดเห็น คำแนะนำของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็จะนำไปสู่การแก้ไขการรับรู้ได้

กิจกรรม ดูหนังฟังสาระจากภาพยนตร์ ‘Freedom Writer' เนื้อหาเกี่ยวกับครูสาวผู้อุทิศชีวิตให้กับการสอน โดยได้นำแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยแนวทางแห่งสันติ การให้อภัยและการคืนดี มาใช้กับนักเรียนของตน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียนซึ่งมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ และมีความขัดแย้งกันระหว่างเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในเขตที่เต็มไปด้วยการอาชญากรรม ความรุนแรง และสงครามระหว่างแก๊งค์

Imageกิจกรรม ฝึกแก้ไขความขัดแย้ง วิเคราะห์ความขัดแย้งโดยใช้เครื่องมือ "ต้นไม้แห่งความขัดแย้ง" โดยแบ่งกลุ่มให้เยาวชนได้วิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมในบ้านเกิดของพวกเขา อาทิ ปัญหา Stop Teen Mom การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรที่เกิดขึ้นกับเยาวชนในจังหวัดยะลา เยาวชนได้นำเสนอว่า ปัญหานี้เกิดจากบางครอบครัวเลี้ยงลูกด้วยเงิน ลูกขาดความอบอุ่น ปัญหาจากเพื่อนและสังคม อารมณ์ชั่ววูบ การอยู่กับเพศตรงข้ามสองต่อสอง การดื่มสุรา การไม่ป้องกันเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และจากการขาดการศึกษา ไม่ศึกษาหาความรู้จึงไม่ป้องกัน ทำให้เกิดผลกระทบคือ ครอบครัว พ่อแม่เสียใจ และเมื่อเด็กเกิดมาจากแม่วัยเด็กที่ยังไม่พร้อม ยังเรียนไม่จบ ไม่มีความรู้ จึงไม่สามารถนำไปสอนลูกได้ ผลตามมาคือ เรียนไม่จบ ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ถูกดูถูก ส่งผลต่อจิตใจของแม่และเด็ก นอกจากนี้เยาวชนกลุ่มอื่นๆ ได้นำเสนอประเด็นปัญหายาเสพติดของวัยรุ่น และปัญหาเด็กในแง่มุมที่น่าสนใจ สะท้อนถึงความเข้าใจของเยาวชนต่อประเด็นปัญหาที่ตนนำเสนอได้เป็นอย่างดี

แม้กระบวนการอบรมพลังยุวชน สร้างสันติ เพียง ๒ วัน ไม่อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ความขัดแย้งและความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในสังคมโดยรวม ลดน้อยถอยลงได้ภายในเร็ววัน แต่อย่างน้อยเยาวชนเหล่านี้ได้เริ่มเข้าใจถึงการสร้างสันติโดยเริ่มจากตัวพวกเขาเอง ก่อนที่จะส่งต่อไปยังคนรอบข้างและไปสู่สังคม เพื่อร่วมกันสร้างสันติให้กระจายออกไปในทุกพื้นที่ให้เป็นสังคมที่มีสันติสุข ดังที่ พี่มาเรียม พูดถึงกระบวนการอบรมนี้ว่า "มันอาจมองดูว่ามันเป็นนามธรรม แต่ถ้าเราสามารถทำให้เขาเข้าใจ เขาเริ่มเรียนรู้ สามารถนำไปใช้เริ่มจากในครอบครัวเขาได้ ไม่ทะเลาะกัน ความขัดแย้งในบ้านก็ไม่มี เขาก็จะไม่ไปมีความขัดแย้งกับเพื่อน เป็นเรื่องที่ดี น่าจะทำให้เยอะๆ หลายๆ รุ่น แล้วติดตามดูพฤติกรรมความเปลี่ยนแปลงของพวกเขา มันช่วยได้เรื่องการฝึกอบรมบ่อยๆ"

เพราะมนุษย์มีความแตกต่างหลากหลาย การอยู่ร่วมกันในสังคมจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่มีความขัดแย้ง เท่ากับว่า ความขัดแย้งเห็นต่างเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ แต่ในความขัดแย้งนั้นต้องไม่นำไปสู่ความรุนแรง และการที่สังคมไม่ตกอยู่ในความรุนแรง เกิดได้จากการที่คนในสังคมให้ความเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน หมายรวมถึงมนุษย์ทุกๆ คนที่เกิดมาบนโลกใบนี้ เพราะทุกคนต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมเสมอเหมือนกัน แม้ในแต่ละคนจะแตกต่างหลากหลายเท่าใดก็ตาม แต่ถ้าเราได้ปรับตัวเข้าหากัน เคารพ เข้าใจ และยึดหลัก "เอาใจเขามาใส่ใจเรา" มาปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน สังคมก็จะน่าอยู่ มีแต่ความสงบ และสันติจะเกิดขึ้นได้ ก็เกิดที่ใจของเราเองแต่ละคน


เสียงแห่งสันติภาพ ...จากเยาวชนกลุ่มฟ้าใส

นายกรกมล จันทร์งาม (ปาล์ม) อายุ ๑๗ ปี ม.๖ ร.ร.คณะราษฎร์บำรุง ๒ - น.ส.ตะวันแก้ว หวั่นเส้ง (จุยเจีย) ร.ร.สตรียะลา ม.๔ - น.ส.สุภัคชนา สีชมภู (พลอย) ร.ร.สตรียะลา ม.๔ - น.ส.มูนีเราะ วาโด (มุนี) ร.ร.ดารุลฮูดาห์วิทยา (รามัน) ม.๕ และ น.ส.ไซนับ มาสยี (นัท) ร.ร.ดารุลฮูดาห์วิทยา (รามัน) ม.๕


ได้อะไรจากกิจกรรมสันติภาพกับความขัดแย้ง


ปาล์ม :
คือ คำว่าสันติ ในใจทุกคนมันก็มีความหมายอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่มีโอกาสได้พูดออกมา ในงานกลุ่มก็ได้แสดงทัศนะว่า ใครคิดอย่างไร แล้วเราก็มาประมวลผลโดยรวมว่าจะทำอย่างไรให้คำว่า สันติ บังเกิดขึ้น กิจกรรมที่ชอบ คือ กิจกรรมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ทำให้ได้รู้ทัศนคติความคิดของแต่ละคนว่า คิดอย่างไร เด็กๆ จะโตขึ้นมาเป็นอย่างไรก็อยู่ที่สังคมรอบข้าง สังคมเมืองกับสังคมชนบทจะต่างกัน สังคมเมืองจะเห็นแก่ตัว เด็กที่โตมาก็จะซึมซับเอาลักษณะนิสัยใจคอมา ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คนรอบนอก เหมือนเห็นแก่ตัว ถ้าสังคมชนบท เราอยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน ไปเก็บผักบ้านโน้นเอามาแกงเสร็จก็เอาไปให้บ้านที่มีผัก แบ่งปันเผื่อแผ่กัน เด็กก็ซึมซับว่าการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกันเป็นเรื่องธรรมดาในชุมชน เป็นกิจวัตร ก็ซึมซับตั้งแต่เด็ก มันก็สะสมมา

 

 จุยเจีย : ก่อนที่คนเราจะรู้จักคำว่า "สันติภาพ" ก็ต้องมีคำว่า "ขัดแย้ง" ขึ้นมาก่อน ว่าทำไมถึงขัดแย้ง การที่คนเรามีปัญหาก็เพราะต่างพ่อต่างแม่กัน ความไม่เข้าใจกันก็เป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครสมบูรณ์ทุกอย่าง ก็ต้องค่อยๆ ปรับเข้าหากัน ถ้าเราปรับเข้าหากันแล้วก็จะรู้ว่าสันติภาพคืออะไร สันติภาพก็คือ สันติสุข คือความสามัคคีกัน ถึงจะอยู่ต่างศาสนากัน เราก็เป็นเพื่อนกันได้ อย่างในห้องหนูก็มีมุสลิมเหมือนกัน ไม่ได้มีแต่ไทยพุทธ เราก็อยู่ด้วยกัน เวลาเรียนวิชาศาสนา ถ้าไม่มีเพื่อนอิสลามเราก็จะไม่รู้ว่าเขาต้องทำอะไรกันบ้าง ทำข้อสอบ เวลาทำงานต้องแลกเปลี่ยนความรู้กัน

 


พลอย :
ได้เรียนรู้ว่าคนทุกคนมีความคิดความเห็นที่แตกต่างกัน ถ้าเราเปิดใจรับฟังยอมรับสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เราคิด แล้วเรามาจูนกัน มาปรับความเข้าใจกันว่า ทำไมเราไม่เอาความคิดของคนนั้นคนนี้มาปรับร่วมกัน อยู่ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวก็นำไปสู่สันติภาพได้ นำไปสู่ความสงบสุขในสังคมได้

 


มุนี :
คือ สันติกับขัดแย้งมันอยู่ตรงข้ามกันใช่ไหมคะ เวลาที่เขาให้แข่งว่า "สันติ" มีอะไรบ้าง กลุ่มของหนูก็สามารถบอกได้หลายข้อมาก แต่ว่าความขัดแย้งก็บอกได้ไม่กี่ข้อเอง ก็เลยไม่รู้ว่าทำไมเดี๋ยวนี้ถึงมีความขัดแย้งมากกว่าสันติอีก หนูก็เลยกลับไปคิดดู ก็รู้สึกว่าน่าจะนำไปใช้ในชีวิตได้ค่ะ เราก็ต้องมองในด้านดีก่อนที่จะมองในด้านที่ขัดแย้งกัน

 


นัท :
ได้ข้อคิดว่า การจะเกิดสันติภาพ เกิดจากความขัดแย้งก่อน ความขัดแย้งเราไม่สามารถแก้ไขได้เองคนเดียว ดังนั้นเราต้องเข้าหากัน ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไรโดยใช้เหตุผลในการแสดงความคิดเห็น หรือใช้สติปัญญาความรู้ที่เรามี สามารถแชร์ความคิดเห็นของเราได้

 

เราจะเอาเรื่องนี้ไปใช้ได้อย่างไรบ้าง

  Image  
                       ภาพ : เยาวชนศูนย์ฟ้าใส                    

จุยเจีย : ก่อนอื่นก็ต้องใช้กับตัวเองก่อน เอาที่ได้มาปรับใช้กับตัวเองว่า เรายังมีข้อบกพร่องตรงไหน พอเราเข้าใจดีแล้ว เราปฏิบัติได้ เราก็สามารถไปบอกคนอื่นได้ดี บอกในทางที่ดี ไม่ใช่ว่าเรายังไม่เข้าใจ เราไปบอกเขา อาจจะเป็นในทางที่ผิดก็ได้ เราก็เริ่มจากเพื่อนในกลุ่มก่อน ทำให้กลุ่มของเรามีสันติภาพคือรักสามัคคีกันดี แล้วเราค่อยขยายไปเรื่อยๆ เพราะเราคนหนึ่งก็รู้จักหลายๆ คน เหมือนแก็งค์หนูมี ๔ คน คนหนึ่งก็ไม่ได้รู้จักคนเดียวก็แตกออกไปได้อีก ต่อไปสันติภาพก็กระจายไปเรื่อยๆ

พลอย : อย่างกิจกรรมสื่อสารกับบิดเบือน ทำให้เข้าใจว่า ข่าวบางข่าวที่เราได้ยิน คนหนึ่งเล่าแบบนี้ อีกคนเล่าแบบนี้ เล่าไม่เหมือนกัน เราก็สงสัยว่า แล้วที่มา แล้วความจริงเป็นอย่างไร ทำไมบิดเบือน ก็เป็นส่วนหนึ่ง เพราะว่าหลายคนก็ใส่อคติ ใส่ออกรสออกชาติ ให้สนุกปาก แต่คนที่โดนบอกต่อคนในเรื่องเขาก็ได้รับความเสียหาย คนก็มองในทางไม่ดี เสียหาย ถ้าพูดความจริงก็ไม่มีอคติ หนูก็เป็นนะ ทุกคนมีจินตนาการ เราก็คิดไปไกลเลย เรามองข้ามความจริง ก็ทำให้เรามองและคิดว่ามองด้วยความจริงไปเลยว่าเป็นอย่างไร โฟกัสไปที่ความจริง แต่อย่าไปสนสิ่งที่เป็นเอ็ฟเฟ็คท์ ไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้เลย อย่างสื่อสารจุดที่สำคัญ เก็บรายละเอียดให้มากที่สุดให้ถูกต้องที่สุด คนที่ได้รับสารได้ข้อความจากเรา เขาก็จะได้ความจริงที่ถูกต้อง ไม่มีสิ่งผิดพลาด ไม่มีสิ่งบิดเบือน ส่วนสันติภาพ เราก็ใช้ชีวิตโดยเอาไปประยุกต์ใช้ให้อยู่ร่วมกันได้ มีความเชื่อทางศาสนาเพราะทุกศาสนาก็สอนให้เป็นคนดี นี่คือสิ่งที่เหมือนกันของทุกศาสนา แล้วเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

นัท : กิจกรรมเหล่านี้ เราสามารถเอาไปใช้เมื่อเราอยู่กับผู้อื่น อยู่กันในสังคม หรืออยู่กับครอบครัว เราก็สามารถนำมาใช้ได้ อย่างเช่น การสื่อความ การที่เราจะพูดกับคนอื่น การอยู่ในสังคมที่เราจะพูดอย่างไร การสื่อให้คนอื่นเข้าใจ ได้รู้ความจริงที่ได้มาตั้งแต่แรก ไม่ใช่ได้ข้อมูลมาแล้วเอาอะไรเติมไปบ้าง ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้ง


เราเยาวชนอยู่ในพื้นที่ความรุนแรง เราอยากสะท้อนอะไรให้ภายนอกรับรู้

  Image  
                       ภาพ : เยาวชนศูนย์ฟ้าใส                    

ปาล์ม : เมื่อก่อนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปมาหาสู่ ไปบ้านนู้นทะลุบ้านนี้ แต่เดี๋ยวนี้ทำรั้วกั้นระหว่างหมู่บ้านไทยพุทธกับมุสลิม แยกกันอยู่ ผมไปเห็นที่อำเภอรามัญ บ้านโกตาบาลู คนหนึ่งสร้างวัด คนหนึ่งสร้างมัสยิด สองคนเป็นเพื่อนกัน ไทยพุทธกับมุสลิม วัดกับมัสยิดประตูติดกันเลย เวลาไปมาหาสู่ก็คือ จะชนกัน คนหนึ่งไปมัสยิด คนหนึ่งไปวัด พอตกเย็นพระสวดมนต์ อิสลามละหมาด มันก็ซึมซับ ผมว่ามันมีความสุข เพราะจะได้รู้เขารู้เรา พอโตขึ้นมีเหตุการณ์อะไรแบบนี้ ไทยพุทธกับมุสลิมก็จะไม่ค่อยรู้เรื่องของกันแล้ว ถ้าไม่ศึกษากันจริงจะไม่รู้เลย ว่าอิสลามละหมาดกันกี่เวลา ใช้หลักอะไร ไม่รับประทานอะไร

พลอย : หนูว่าเรื่องระเบิดไม่ได้มีทุกวัน ไม่ได้มีทุกพื้นที่ มันจะมีบางอำเภอที่เกิด หนูคิดว่ามันเกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่หนูไม่รู้นะว่าเขาต้องการอะไร ทำไปเพื่ออะไร แต่หนูคิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่ากลัว เราจะมาทำร้ายกันไปทำไม ให้มองที่ชีวิตของตัวเราดีกว่า คนไทยเหมือนกัน ทำไมเขาไม่ลองเปลี่ยนมุมมองว่า รักกันไว้ พัฒนาจังหวัดพัฒนาประเทศให้ดีไปเลย ดีกว่าจะมาเข่นฆ่ากัน มันมีแต่เสียกับเสีย ถ้าช่วงที่ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้มันก็สงบสุข สบายใจ เพราะคนยะลามีรอยยิ้มให้กัน เขาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอยู่แล้ว มันเป็นสังคมที่ยิ้มให้กันตลอด เป็นสังคมที่ดี อยู่กันเป็นครอบครัว หนูว่าทางออกน่ะ ปัญหาเกิดจากกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่เขาทำ แต่ทีนี้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีส่วนรู้เห็น เราช่วยพูดคุย ถ้าเราอยู่กันด้วยดี มีสายสัมพันธ์ที่ดี ข่าวที่เราดีกันอย่างนี้มันก็ซึมซับเข้าไปในคนกลุ่มนั้นบ้าง แล้วถ้ากลุ่มนั้นเขาเลือกที่จะเปิดใจที่จะยอมรับบ้างก็จะดีขึ้น

จุยเจีย : หนูว่าข่าวที่คนไม่มาภาคใต้ ไม่ค่อยมาเที่ยว บางทีข่าวเขาพาดหัวข่าวแบบอยากจะขายหนังสือพิมพ์น่ะ พาดหัวข่าวไม่คิดว่าจังหวัดยะลาจะไม่มีคนมาเยี่ยมนะ คือจังหวัดยะลาผังเมืองสวยที่สุดในประเทศนะ อำเภอเบตงอากาศก็ดี มีทะเลหมอกเหมือนเชียงใหม่เลย มีดอกไม้สวย มีบ่อน้ำร้อน แต่คนใส่ข่าวใส่ไข่ว่ามีคาร์บอมบ์ มีระเบิด คนก็หวาดกลัว คนที่นี่สองสามวันเขาก็กลับมาขายของ คนที่นี่เขาก็เหมือนชิน เขาก็ปรับตัว มันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น ใครจะลงมายะลา แทบจะไม่ต้องคิด ตอบได้เลย ไม่ไป หนูเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่า มีเหตุการณ์ก็ต้องบอกข่าว แต่ถ้าใส่ไข่ใส่ข่าว บางทีมันแรงเกินไปใช้คำที่ดูเวอร์จนเหมือนหนูอยู่ในอิรักที่เขาจะยิงฆ่าเรา แต่เรายังอยู่สบาย เดินมาตอนเช้าเขาก็นั่งกินน้ำชากันตามปกติ คือมันไม่บ่อยนะ เหตุการณ์มันก็ซาๆ ไปแล้ว มีช่วงแรกๆ ที่มีฟันมีฆ่า เหมือนเขาอยู่ว่างๆ ๓-๔ เดือนก็คาร์บอมบ์ซะทีหนึ่ง มาเป็นระยะๆ สร้างกระแสสักทีหนึ่ง กลัวเขาจะไม่รู้จักยะลาเหรอ (หัวเราะ)

มุนี : ความขัดแย้งในจังหวัดยะลา รู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องที่จะแบ่งว่าใครเป็นพวกใคร ใครเป็นอย่างไร เธอเป็นพวกนั้น ฉันเป็นพวกนี้ เมื่อเราอยู่ในพื้นที่เดียวกันก็ควรจะสามัคคีร่วมกันพัฒนาพื้นที่เราให้เจริญยิ่งขึ้นดีกว่าทำให้มีแต่เหตุการณ์ระเบิด หรือการยิงกัน ก็จะยิ่งทำให้พื้นที่ของเราเกิดความสูญเสีย แล้วคนภายนอกก็จะมองว่าพื้นที่ของเรามีแต่ความรุนแรงเขาก็ไม่กล้าเข้ามา

นัท : ที่คนภายนอกมองว่ามุสลิมเป็นพวกหัวรุนแรงก็รู้สึกว่าเสียใจเหมือนกันในส่วนหนึ่ง แต่เราก็พร้อมจะปรับปรุงก็พยายามจะทำให้เกิดสันติภาพ ให้คนอื่นเข้าใจว่าไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด เราก็ไม่ได้สรุปว่าเราเป็นคนที่เลวเป็นคนหัวรุนแรง แต่เราก็ไม่สามารถหาต้นเหตุของปัญหาได้ พอเกิดเรื่องแล้วยังมีอีกว่าโทษคนนั้นคนนี้ โทษคนที่แตกต่างจากเรา ความเชื่อของแต่ละคนที่จะมองว่าคนนั้นผิดหรือคนนี้ผิด อยากเห็นยะลาเป็นเมืองที่น่าอยู่ มีทั้งคนไทยพุทธและไทยมุสลิมอยู่ด้วยกัน การมาเยือนของคนต่างชาติเมื่อเข้าสู่อาเซียน เราก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ต้อนรับ เรามีวัฒนธรรมการอยู่วิถีชีวิตของคนชายแดนภาคใต้


ในฐานะเยาวชน พลังเยาวชนจะไปช่วยแก้ไขหรือลดปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ได้อย่างไร

  Image  
                       ภาพ : เยาวชนศูนย์ฟ้าใส                    

ปาล์ม : คนเดียวมันเริ่มไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเริ่มจากคนเดียวไปหาคนอื่นไปหาเครือข่ายเพิ่มทั้งไทยพุทธและมุสลิม เรามาทำความเข้าใจกันว่าเรามีจุดประสงค์ไปทางเดียวกันไหม แล้วมาร่วมมือกัน เหมือนกับสร้างปลูกฝังน้องๆ มาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ยาเสพติดเป็นหนทางแห่งการก่อความไม่สงบ เรามานั่งคุยกันและทำกิจกรรมที่น่าจะเป็นประโยชน์ อนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณี และลดความขัดแย้งในพื้นที่ของเรา แล้วมุ่งไปทางนั้น แล้วดูซิว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่ประสบความสำเร็จเราก็ลองทำกันใหม่ แต่เราจะไม่แยกจากกัน เราจะมารวมตัวกันใหม่ และดูว่าทางที่เราทำมันมีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วเอามาประมวลว่าเราจะไปทางไหนต่อกันอีกที่จะทำให้บ้านเราเกิดสันติภาพขึ้นมา

จุยเจีย : หนูคิดว่าเริ่มที่เยาวชนมันเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดเพราะว่าการปลูกฝังตั้งแต่เด็กเป็นสิ่งที่ดี ปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก และเยาวชนเหมือนผ้าขาว ถ้าเราซึมซับสิ่งที่ดีเข้าไปมันก็ดี เริ่มตั้งแต่เยาวชนซึ่งเป็นจุดเล็กๆ เมื่อปลูกฝังให้เขาเป็นคนดีแล้ว พ่อแม่เห็นว่าเด็กเป็นคนดีก็ภูมิใจ อย่างหนูดูในโฆษณาครอบครัวที่พ่อเลิกเหล้า คือลูกเขาก็เป็นแรงบันดาลใจให้พ่อแม่ แล้วเด็กคนหนึ่งเป็นเยาวชนก็เป็นพลังเล็กๆ และเยาวชนมีอยู่เยอะ จากจุดเล็กๆ ให้มารวมตัวกันก็เกิดพลังมากขึ้น เหมือนเรื่องสันติภาพ ถ้าหนูรู้อยู่คนเดียวก็บอกได้ไม่ทั่วถึง แต่ถ้าเรามารวมกันเป็นกลุ่มทำงานเป็นทีมมันก็มีพลังมากขึ้น

พลอย : ก็ต้องเริ่มจากเด็กเยาวชนยุคใหม่ ถ้าเด็กโดนปลูกฝังให้มีความรุนแรง ก็จะมีความรุนแรงในจิตใจ ก็ไปใช้ความรุนแรงกับคนอื่น แต่ถ้าเราพูดกันด้วยความประนีประนอมก็จะไม่เกิดความรุนแรง และจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตไปด้วยกันพร้อมๆ กันอย่างมีความสุข หนูว่าถ้าเป็นอย่างนั้นได้จะเป็นสังคมที่น่าอยู่มากเลย

มุนี : เยาวชนเป็นคนรุ่นใหม่ที่สามารถจะขับเคลื่อนพื้นที่ของเราให้มีความสามัคคีมากกว่ากลุ่มที่จะแบ่งพรรคแบ่งพวก คงจะให้ความเข้าใจแก่คนในพื้นที่ของเราว่า เราต่างศาสนาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร อยากให้มองแต่ละศาสนาด้วยความเข้าใจว่า ถึงแม้จะแตกต่าง แต่เขาก็ไม่ได้คิดจะแบ่งแยกกับเรา

นัท : เราก็อยู่ในช่วงวัยรุ่น เราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปบอกต่อ สร้างกิจกรรม ร่วมกิจกรรมต่างๆ ให้คนอื่นเขาได้รับรู้ว่าเราก็สามารถเปลี่ยนแปลงในส่วนอื่นได้ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มากแต่ก็เป็นการเริ่มต้นก่อนที่คนอื่นจะยื่นมือเข้ามาร่วมด้วย อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสันติภาพ หรือเราอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เกิดสันติภาพขึ้นในพื้นที่ของเรา เพราะไม่มีใครหรอกที่อยากให้พื้นที่ของเราเกิดความไม่สงบ

 

------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๙๖
"สิทธิ คุณค่า ศักดิ์ศรี" สิ่งที่มนุษย์พึงมีเท่าเทียมกัน



เว็บ 

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >