หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 77 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


สิทธิการศึกษาของเด็กพม่า กับ"อคติ"ของสังคมไทย : วรพจน์ สิงหา พิมพ์
Wednesday, 23 September 2015

สิทธิการศึกษาของเด็กพม่า

กับ "อคติ" ของสังคมไทย

วรพจน์ สิงหา เรื่อง/ สัมภาษณ์

Image"เคเคอู" เด็กหญิงพม่าวัย ๑๒ ปี เรียนชั้น ป.๕ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดพังงา ขณะนั่งกินอาหารกลางวันกับเพื่อนๆ ตามปกติ มีเด็กชายไทยเดินถือมีดคัตเตอร์โดยเปิดใบมีดเข้ามาหา และทำท่าว่าจะกรีดที่ปากของเธอ โชคดีที่เธอหลบทัน เหตุการณ์ร้ายแรงมากกว่านั้นจึงไม่เกิดขึ้น

"เขาเข้ามาหาเรื่องก่อนค่ะ ตอนพักกลางวัน หนูกินข้าวอยู่ เขาเอาคัตเตอร์ทำท่าจะมากรีดที่ปาก หนูหลบทัน หนูก็ไปบอกครูว่าเขามาทำแบบนี้ แต่ครูก็ไม่ว่าอะไร ครูก็ไปเลย"

เคเคอูเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นจากกลุ่มเด็กผู้ชายไทยและพม่าทะเลาะกันเรื่องเล่นฟุตบอลซึ่งการกลั่นแกล้งเด็กพม่าไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นในกรณีนี้ แต่มีมานาน "ตั้งแต่ไปเรียนอาทิตย์แรกก็โดนแกล้ง"

หากจะบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กๆ ก็คงไม่ใช่ เพราะคงไม่เหมาะนักหากจะใช้มีดคัตเตอร์เดินเข้าหาคนอื่นในแบบที่เกิดขึ้นยิ่งเด็กชายไทยคนนั้นไม่ได้สนิทกัน ไม่ได้เรียนชั้นเดียวกัน ยิ่งบ่งบอกอะไรหลายอย่างมากกว่านั้น

หลายคนอาจจะมองว่าเด็กชายไทยทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นการกลั่นแกล้งและทะเลาะกันแบบเด็กๆแต่คำถามสำคัญก็คือทำไมครูไทยซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่รับรู้เหตุการณ์ในวันนั้นกลับทำวางเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น?...อย่างน้อยก็ควรเรียกเด็กชายไทยมาตักเตือนว่าสิ่งที่ทำไปนั้นไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือพม่า ...หรือว่าครูไทยไม่อยากรับรู้รับฟังและเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น "เรื่องปกติ" หรือคิดว่าสิ่งที่เกิดกับ "เด็กพม่า" เป็นสิ่งที่สมควรและเหมาะสม?

Image...ใช่ไหมว่า บางทีการวางเฉยในสิ่งที่เลวร้าย ก็เหมือนการรู้เห็นเป็นใจในสิ่งที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ เคเคอู ไม่ใช่เพียงกรณีเดียวที่เกิดขึ้นกับเด็กพม่า "ชอสุทัว" เด็กหญิงชาวพม่า วัย ๑๑ ปี เพื่อนสนิทของ เคเคอู ก็โดนกลั่นแกล้งไม่ต่างกัน

ชอสุทัว โดนเด็กชายไทยอีกคนเอากระดูกไก่ที่กินแล้วโยนใส่จานข้าว "เขาขว้างกระดูกไก่มาจากอีกโต๊ะ โดนแกล้งทุกวันเขาเอากระดูกไก่ขว้างใส่จานข้าว"

นอกจากนี้ ในทุกวันศุกร์ เด็กพม่ามีเวรทำความสะอาดโรงอาหาร จะมีเด็กไทยมาคอยกลั่นแกล้งโดยเอาข้าวโรยที่พื้น "เขาใช้ช้อนตักข้าวแล้วทิ้งลงพื้น ให้ทำความสะอาด"

ในกรณีของ ชอสุทัว เธอเป็นเด็กเรียนเก่งและตั้งใจเรียนมาตลอด แต่มีหลายเรื่องที่เธอไม่เข้าใจจนถึงทุกวันนี้ "เมื่อปี ๒๕๕๖ ตอนนั้นหนูไม่สบาย ต้องหยุดเรียน ๒ วัน พอดีครูให้สอบคณิต พอหนูไปเรียน หนูไปบอกครูว่าขอสอบ ครูบอกว่าหมดสิทธิ์สอบแล้ว ถ้าเป็นคนไทยเขาให้สอบ"

หลายครั้งที่ ชอสุทัว สมควรจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันทางด้านวิชาการ เพราะเธอเรียนเก่ง ขยัน และได้คะแนนดีกว่าคนอื่น "แต่ครูเขาไม่ส่ง เขาส่งคนอื่นไปแทน อีกปีหนึ่งหนูได้ไปแข่งเล่านิทาน ครูก็ไม่ส่ง เขาส่งคนอื่นไปแทน" น้ำเสียงและแววตาของ ชอสุทัว ทั้งน้อยใจและเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น

เรื่องราวของ "เคเคอู" และ "ชอสุทัว" เกิดขึ้นเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา และเป็นเหตุการณ์ที่สังคมไทยไม่เคยรับรู้ มีเพียงคนทำงานในพื้นที่เท่านั้นที่รับรู้ถึง "อคติ" ที่เกิดขึ้น


เอาชนะ "อคติ" ด้วยการสร้างความเข้าใจ

Imageแม้จะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กระบุว่าเด็กทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม และถึงแม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ให้มีการจัดการศึกษาให้แก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย โดยเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับประเภทหรือพื้นที่การศึกษา หรือให้มีการจัดการศึกษาแก่เด็กซึ่งเป็นบุตรของผู้อพยพแต่กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรกับ "อคติ" ของสังคมในหลายพื้นที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

แต่โลกใบนี้มีสองด้านเสมอ ในความลำเอียงของคนจำนวนหนึ่ง ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่พยายามสร้างความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ซึ่งเคเคอู และชอสุทัว เป็นเด็กพม่าในจำนวนเด็กหลายร้อยคนที่ได้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล โดยการผลักดันและสนับสนุนจากศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี

ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ หลายฝ่ายก็ต้องเผชิญกับคำถามมากมายในพื้นที่ ต้องทำความเข้าใจกับโรงเรียน ชุมชน และผู้คนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โดยศูนย์สังคมพัฒนา มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี สนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กพม่าให้ได้รับการศึกษาในจังหวัดพังงารวมทั้งสิ้น ๗๕๑ คน ใน ๑๓โรงเรียนโดยโครงการนี้เริ่มต้นมาได้ประมาณ ๕ ปีถึงปัจจุบัน

คุณพ่อสุวัฒน์ เหลืองสอาด ผู้อำนวยการศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี (มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี)เล่าให้ฟังว่า "คำถามที่ถูกถามก็คือทำไมต้องช่วยเด็กพม่า เด็กไทยยากจนเยอะแยะ ทำไมไม่ช่วย เราก็บอกว่าเราช่วยหมด เด็กไทยก็ช่วย แต่เด็กพม่าก็ควรจะได้เรียน"

"ประมาณ ๕-๖ ปีที่แล้ว โรงเรียนไม่รับเด็กพม่าเลย อาจจะเป็นเพราะ หนึ่ง ไม่รู้ สอง เรื่องของทัศนคติ และ สาม มุมมองที่บอกว่าเด็กไทยลำบากเยอะแยะ ทำไมไม่ช่วย ในช่วงแรกมีเรื่องทัศนคติของผู้ปกครองที่ไม่ค่อยยอมรับเด็กพม่า บอกว่าคนพม่าสกปรก ไม่สะอาด มุมมองในเชิงประวัติศาสตร์ก็ค่อนข้างจะมีผล เขามองว่าพม่าจะมายึดเมืองไทยบ้างอะไรบ้าง ซึ่งเหมือนสิ่งเหล่านี้ฝังเข้าไปอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทย คือเราถูกสอนให้เกลียดเพื่อนบ้าน ช่วงแรกๆ เราต้องตอบคำถามแบบนี้ตลอด"

"สิ่งที่เราอธิบายกับเขาในตอนนั้นก็คือว่า หนึ่ง เด็กพม่าควรได้รับการศึกษา สอง ถ้าเราบอกว่าเด็กพวกนี้สกปรก ถ้าอยู่อย่างนี้ เขาก็จะสกปรกเหมือนเดิม ทำไมไม่ช่วยให้เขาสะอาดขึ้น สาม ถ้าเราไม่ให้การศึกษาเขา เด็กพวกนี้ไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาไทย จะมาปล้นคุณ ทำร้ายคุณเหมือนเดิม สิ่งที่เราทำไม่ใช่ว่าเรารักคนพม่ามากกว่าคุณ แต่เรารักสังคมไทย เรารักชุมชนไทย เราอยากให้คนพม่าที่อยู่ที่นี่ เขารู้สึกว่าคนไทยรักเขาดูแลเขา และเขาจะตอบแทนแผ่นดินหรือชุมชนที่เขาอยู่อย่างดี ซึ่งเรื่องทัศนคติต้องใช้เวลานาน บางชุมชนตอนนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องทัศนคติอยู่"

Imageคุณพ่อสุวัฒน์กล่าวถึงหลายกรณีที่ยังมีอคติกับเด็กพม่าว่า "เรื่องที่เกิดขึ้นกับเด็กพม่าในบางโรงเรียน เป็นการละเมิดสิทธิเด็กตรงๆ และคนไทยไม่รู้เรื่อง ทำให้พ่อเข้าใจว่าคนไทยไม่เข้าใจเรื่องสิทธิ คนไทยเข้าใจเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์น้อยมาก เราถูกอบรมเรื่องอัตลักษณ์หรือความเป็นชาติไทย ชาตินิยม แต่เราละเลยเรื่องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความคิดชาตินิยม ความเป็นไทย ที่จริงเป็นความคิดที่ล้าสมัยแล้ว เพราะเรากำลังพูดถึงประชาคมอาเซียน เราพูดถึงโลกที่เป็นหมู่บ้านเดียวกัน เพราะฉะนั้นเราเป็นคนไทย แต่เราก็ต้องมองคนอื่นให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ไม่ว่าชาติพันธุ์ไหน ก็เป็นคนเหมือนกัน แต่ตรงนี้คนไทยเราไม่ได้ปลูกฝังเด็กไทยเราเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นมันส่งผลกระทบ เราเห็นชัดเลย สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กพม่าเป็นผลสะท้อนจากผู้ใหญ่ที่เขาโตขึ้นมาในบริบทที่เขารู้สึกว่าเขาต้องรักษาความเป็นคนไทยไว้"

"เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และสังคมไทยไม่เคยเข้าใจ ในเรื่องที่เราต้องเคารพสิทธิของคนอื่น แรงงานพม่าเข้ามาทำงานในประเทศไทย เราก็มองเขาว่าเขามาแย่งชิงทรัพยากร เขามาแย่งงานเรา เขาสกปรก แต่คนไทยก็เลือกงาน ไม่ทำ นอกจากเราไม่ทำงานตรงนี้แล้ว เราก็ไม่สำนึกในบุญคุณของแรงงานเหล่านี้ที่มาทำงานให้เรา คนเหล่านี้เป็นเหมือนกระดูกสันหลังในเชิงเศรษฐกิจของภาคใต้ อุตสาหกรรมประมง ก่อสร้าง ร้านอาหารบริการ ทุกอย่างตอนนี้ ๘๐-๙๐% เป็นแรงงานข้ามชาติหมด ในภาคใต้มีแรงงานพม่า ๘๐% ที่เหลือเป็นแรงงานลาว กัมพูชา ที่จับกุ้ง จับปู จับปลาให้เรากิน ที่ไปกรีดยาง สร้างตึกให้เราอยู่ เราไม่ได้สำนึก เรากลับใช้เขา ดูถูกเขา และเราก็ไม่ช่วยเหลือให้เขาได้รับสวัสดิการที่เหมาะสม นี่เป็นสิ่งที่พ่อรู้สึกว่าทำไมเราไม่เริ่ม ถ้าเริ่มจากเด็กๆ เป็นจุดที่ดีที่สุด เพราะสุดท้าย อีก ๑๐ ปีข้างหน้า เด็กเหล่านี้โตขึ้น เด็กไทยและเด็กพม่าที่เรียนด้วยกันในโรงเรียนเขาก็โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจะเติบโตขึ้นด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีของกันและกัน ในโรงเรียนที่มีเด็กพม่าเด็กไทยเด็กต่างชาติพันธุ์ พวกเขาจะเรียนรู้ที่จะเคารพกันและกัน"

คุณพ่อสุวัฒน์บอกว่าการสู้กับทัศนคติในเชิงลบของคนเป็นเรื่องยากที่สุด "คือเราไปลบทัศนคติของเขาไม่ได้และเราต้องยอมรับว่าไม่ใช่ครูทุกคนที่จะรักเด็กพม่า หลายชุมชนถูกฝังหัวมานานว่า เรากับพม่าเป็นศัตรูกัน ซึ่งทำไมเราต้องปลูกฝังกันแบบนี้ แล้วหลักสูตรยังเป็นแบบนี้ เราไม่ได้สอนประวัติศาสตร์เพื่อส่งเสริมชาตินิยมอีกต่อไปแล้ว เราต้องสอนประวัติศาสตร์ให้คนเข้าใจถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราต้องเรียนรู้ที่จะเคารพกันและกัน โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องแสวงหามิตรมากกว่าศัตรู"

Imageสุคนธ์ รักแก้ว หรือ "แอ๊ด" เจ้าหน้าที่ประสานงานภาคสนาม ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี สาขาตะกั่วป่า ทำงานด้านการศึกษาและการสร้างเครือข่ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดพังงา เป็นหนึ่งในผู้ที่ติดต่อประสานงานกับโรงเรียนรัฐบาลและชุมชนมาตั้งแต่เริ่มโครงการ เล่าให้ฟังว่า "เริ่มทำงานนี้มาตั้งแต่เริ่มโครงการ ทุกอย่างไม่พร้อม ทั้งเรื่องอุปกรณ์ ทัศนคติของคนในพื้นที่ที่ไม่ยอมรับ เราต้องคุยตั้งแต่โรงเรียน ชุมชน ต้องอธิบายกับคนเยอะมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ช่วงแรกๆ เด็กพม่าไม่ได้รับการยอมรับ จนทุกวันนี้ผู้ปกครองคนไทยยอมรับมากขึ้น เด็กไทยเด็กพม่าเป็นเพื่อนกัน แต่อาจมีบางแห่งบางคนที่ยังไม่ยอมรับ"

แอ๊ดทำงานในพื้นที่มายาวนาน มองเห็นปัญหาและรู้ในหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกโรงเรียนและชุมชน "แรกๆ ผู้ปกครองนักเรียนคนไทยไม่ยอมรับ เขากลัวคนพม่าจะนำโรคติดต่อมาให้ กลัวมีปัญหา มีคำถามเยอะว่าทำไมต้องช่วยเด็กพม่า เด็กไทยลำบากอีกตั้งเยอะ ทำไมไม่ช่วย เราก็บอกว่าเด็กถ้าอยู่แต่ในชุมชน ไม่ได้เรียน จะเกิดอะไรขึ้น เกิดการลักขโมย สื่อสารกันไม่เข้าใจ เพราะเด็กไม่ได้เรียน ถ้าเด็กกลุ่มนี้ได้เข้ามาเรียน ก็สามารถสื่อสาร รู้วัฒนธรรมประเพณี กฎระเบียบต่างๆพอผ่านไปสักปีสองปี เขาก็เห็นว่ามันเกิดผลดี สัมผัสได้ว่าเด็กเรียบร้อยน่ารัก ซึ่งเด็กพม่าส่วนใหญ่จะตั้งใจเรียน ถ่อมตน เพราะเขาขาดโอกาสตรงนี้อยู่ เขาได้โอกาสตรงนี้เขาก็อยากทำให้ดีที่สุด เด็กพม่าหลายคนเรียนเก่งกว่าเด็กไทย ครูก็บอกว่าเด็กขยัน มารยาทดี ผู้ปกครองคนไทยก็เห็นว่าไม่ได้เกิดปัญหาที่เขากังวล เพราะเรื่องสุขภาพ ทางอนามัยก็มาตรวจให้ เหมือนเด็กทุกคน เขาเริ่มเปิดกว้าง จากโรงเรียนที่ปฏิเสธ ก็ยอมรับมากขึ้น"

"ส่วนใหญ่เราจะให้การสนับสนุนในเรื่องค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์ ค่าเดินทางมาโรงเรียน ปัญหาหลักๆ ก็คือค่าเดินทางค่อนข้างจะเยอะมาก ปีหนึ่ง ๑๐๐ ทุน เราทำไป ๑๗๐ กว่าทุน เพราะเราเฉลี่ยให้ หลังจากนั้นเราก็มีการเยี่ยมบ้านเด็ก พอไปเยี่ยมเราก็เจอปัญหาเศรษฐกิจบ้าง สังคม สุขภาพบ้าง เพราะสภาพที่เขาอยู่จะเป็นแบบห้องแถว หรือไม่ก็บ้านอยู่ในสวนยางเป็นส่วนใหญ่"

แอ๊ดบอกว่าในพื้นที่ยังคงมีอคติกับเด็กพม่าอยู่บ้างในบางชุมชน รวมถึงการไม่รับเด็กพม่าเข้าแข่งขันในด้านต่างๆ เพราะมีเหตุผลเพียงว่าไม่ใช่เด็กไทย "ความเป็นคนก็เหมือนกัน ทำไมต้องปิดกั้นด้วยว่าเป็นเชื้อชาติไหน เราต้องทำยังไงให้เป็นนโยบาย ให้กฎหมายกับสิทธิมนุษยชนสอดคล้องกัน เพราะหลายเรื่องสิ่งที่ปฏิบัติกับกฎหมายขัดแย้งกัน มีผลกระทบกับเด็ก ละเมิดสิทธิในหลายเรื่องที่เราเห็นอยู่ เรากำลังติดตามว่านโยบายของรัฐเอง เพราะเหตุใดถึงมีข้อจำกัดกับเด็กกลุ่มนี้ อยากรับรู้ข้อมูลตรงนี้ อยากเข้าเขตพื้นที่ ขอเอกสารยืนยันว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าแข่งขันในระดับจังหวัด มีหลักเกณฑ์เพราะอะไร เผื่อจะมีแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขบางส่วนให้มันสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่"


โรงเรียนบ้านบางครั่ง

ต่อสู้กับ "อคติ" เพื่อสิทธิการศึกษาของเด็กพม่า

Imageการรับเด็กพม่าเข้าเรียนในโรงเรียนไทยไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ อย่างที่หลายคนคิด เพราะมีคำถามมากมายจากผู้ปกครองหลายคนที่ยังไม่เข้าใจ บรรดาครูและผู้นำท้องถิ่นต้องชี้แจงอธิบายทำความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น

"โรงเรียนบ้านบางครั่ง" นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในการประสานความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน ชุมชน และผู้ปกครอง มีผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีผู้นำท้องถิ่นและประธานกรรมการโรงเรียนที่ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้องต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งนับเป็น "โมเดล" ที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง

แม้จะมีความไม่เข้าใจอยู่บ้างในระยะเริ่มต้น ก็คงเป็นเรื่องปกติในทุกแห่ง ซึ่งในปัจจุบันที่โรงเรียนบ้านบางครั่งแทบจะไม่มีปัญหาเรื่องอคติต่อเด็กพม่าหลงเหลือให้เห็น โดยในปัจจุบันโรงเรียนบ้านบางครั่งมีเด็กพม่าประมาณ ๙๐ คน จากเด็กนักเรียนทั้งหมด ๒๑๕ คน

บุญศิริ ชูพงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางครั่งเล่าให้ฟังว่าเริ่มรับเด็กพม่าเข้ามาเรียนในโรงเรียน ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๒ "ตอนนั้นท่านผู้อำนวยการคนเก่าท่านรับไว้ และท่านประธานคณะกรรมการสถานศึกษา ส่วน ผอ.เองเพิ่งย้ายมารับตำแหน่งเมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๓ ภาคเรียนที่ ๒มาสานงานต่อจากท่าน ผอ. คนเก่าโดยช่วงเริ่มแรกเป็นศูนย์การเรียนรู้มีเด็กพม่าประมาณ ๓๐ คน พอเรียนปรับพื้นฐานเด็กพม่าและเด็กไทยมาเข้าเรียนร่วมกันเมื่อปีการศึกษา ๒๕๕๔ ระดับอนุบาลขึ้นชั้น ป.๑"

"แรกๆ ในการจัดการศึกษาให้เด็กพม่า ผู้ปกครองบางคนไม่ยอมรับ ไม่ยอมให้ลูกเข้าเรียนร่วมกับเด็กพม่า เขาบอกว่าไม่อยากให้เรียนร่วม ทางโรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษาก็ประชุมร่วมกัน คือเราต้องการให้เด็กไทยกับเด็กพม่าได้เรียนร่วมกัน เพื่อนำเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคต เราก็นำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาพูดให้เขาฟังในที่ประชุมว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็เข้าใจ เราก็บอกว่าการที่เราได้อยู่ร่วมกันกับชาวต่างชาติ จะทำให้ลูกๆ ของเขามีโอกาสในหลายเรื่อง เช่น ภาษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ได้เรียนรู้ ได้อยู่ร่วมกันกับคนอื่น"

"คนที่ผลักดันมากที่สุดคือท่านประธานคณะกรรมการสถานศึกษา คือท่านนายก อบต. ทรงวุฒิ ไปศึกษาดูงานที่อื่นๆ และมาประชุมผู้ปกครองหลายครั้ง อธิบายจนเขาเข้าใจ ปีนี้เราอยากให้เด็กที่โรงเรียนบ้านบางครั่งพูดภาษาพม่าได้ด้วย เรียนภาษาพม่าด้วย ที่นี่ยอมรับ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีที่จะไม่ยอมรับแรงงานข้ามชาติ"

Image"ในส่วนของโรงเรียน ตัว ผอ.เองจะบอกครูทุกคนให้รักเด็กพม่าเหมือนเด็กไทย เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนที่จะศึกษา เพราะฉะนั้นครูทุกคนจะต้องสอนเด็กอย่างเท่าเทียมกัน ให้ความเสมอภาคในการเรียนรู้ ครูที่นี่เป็นครูที่ดี มีความเป็นครู มีจรรยาบรรณความเป็นครูสูงมาก เราจะไม่แบ่งแยกเด็กพม่าหรือเด็กไทย เราสอนเท่ากันหมด ให้โอกาสเขา บางครั้งเด็กไทยเราก็ก้าวร้าว เพราะเด็กพม่าเขาเข้ามาอยู่ตรงนี้ส่วนใหญ่จะเจียมตัว เขากลัวเหมือนกัน เพราะเรื่องประวัติศาสตร์ เราก็อธิบายว่ามันคืออดีตไปแล้ว ไม่ใช่แล้ว เด็กพม่าฟังแล้วก็คิด เราก็บอกไม่ใช่หรอกลูก"

"ในส่วนของโรงเรียน ให้การศึกษา ให้การอบรม ว่าเด็กไทยเด็กพม่าเราอยู่ด้วยกัน เป็นคนเหมือนกัน เราจะอบรมตลอดเวลา เช้าเที่ยง วันศุกร์ ขณะที่เรียนที่สอนก็อบรมเรื่องการอยู่ด้วยกันเราอยู่กันด้วยความรักความอบอุ่น"

อย่างไรก็ตามแม้ทางโรงเรียนหรือชุมชนจะยอมรับและเปิดกว้างต่อเด็กพม่า แต่ในหลายภาคส่วนยังไม่เปิดกว้างเพียงพอที่จะยอมรับเด็กพม่าให้ร่วมการแข่งขันทั้งในด้านวิชาการและด้านกีฬา

ผอ.บุญศิริบอกว่า "เด็กพม่าเรียนเก่ง ขยัน มีหลายคนที่ไปแข่งหลายรายการและได้รางวัล โรงเรียนเราไม่จำกัดเด็กว่าต้องเด็กไทยเท่านั้นที่เข้าแข่งขัน พอไปแข่งแล้ว บางอย่างทางส่วนกลางเขาไม่ยอมรับเด็กพม่า อย่างแข่งกีฬานี่เขาไม่ให้เลย อย่างระดับอำเภอแข่งได้ แต่พอไประดับจังหวัดเขาไม่ให้เข้าแข่ง ตรงนี้เป็นปัญหา ไม่ได้รับการสนับสนุน เขาบอกว่าเป็นเด็กต่างด้าว ไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยัน คือเขาอยากให้เป็นคนไทยสัญชาติไทย ทำให้เด็กขาดโอกาส"

"ทุกๆ รายการที่ไปแข่งขันที่ถูกปฏิเสธ ทั้งกีฬาและการแข่งขันศิลปหัตถกรรม ก็แข่งไม่ได้ เป็นตัวแทนจังหวัดไม่ได้ สมมุติว่าเป็นตัวแทนระดับอำเภอ แต่ส่งในระดับจังหวัดไม่ได้ ต้องให้เด็กไทยไปแทน คือไม่ให้สิทธิคนต่างด้าว เด็กพม่าไปได้แต่รายการที่ไม่ต้องต่อยอด อย่างเช่น งานวันวิสาขบูชา ไปตอบปัญหาเรื่องศาสนาพุทธ ครูจะเลือกเด็กที่มีความตั้งใจ มีความรู้ ไประดับนี้ได้ แต่ถ้าเป็นรางวัลใหญ่ๆ ไม่ได้ เหมือนอย่างทาง อบต.จัดเรื่องยาเสพติด แข่งขันการเขียนเรียงความแต่งกลอนเรื่องโทษของยาเสพติด เขาก็ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนไป เพราะเขาเก่งกว่าเด็กไทย"

"ตัวเด็กเองก็สงสัย เราก็สงสาร พอเด็กไปแข่งไม่ได้ ครูก็ต้องคัดเด็กที่ด้อยกว่าเขาลงมา โรงเรียนก็ไม่สามารถไปแข่งกับเขาได้ เพราะคนเก่งเราไม่ได้ไป โรงเรียนก็เสียโอกาสในเรื่องของรางวัลมากมายที่จะนำมาเป็นเกียรติยศของโรงเรียนเรา อย่างปีนี้เรื่องกีฬาเราไม่ติดอะไรเลย เพราะว่าจะนำเด็กพม่าไปแข่ง เขาก็ไม่ให้เข้าร่วม จะวิ่ง ๑๐๐ เมตรระดับอำเภอก็ไม่ได้ เพราะกติกาคือต้องนำบัตรประชาชนไปให้กรรมการตรวจสอบ ดูหน้าดูชื่อดูสัญชาติ ดูหมายเลข ๑๓ หลัก แต่เด็กพวกนี้ไม่มี เขาเลยไม่ให้เข้าแข่งขัน แค่เด็กไปวิ่ง ๕๐เมตร ๘๐ เมตร ระดับอนุบาลต่างๆ เข้าไม่ได้แล้ว นี่คือปัญหา"

Imageที่โรงเรียนบ้านบางครั่ง เด็กพม่าหลายคนถึงแม้จะเรียนเก่งกว่า ขยันกว่า และมุ่งมั่นตั้งใจมากกว่า แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีความหมายอันใดหากพวกเขาไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีบัตรประชาชน น้องๆ หลายคนจึงถูกปิดกั้นโอกาสที่จะได้เข้าร่วมการแข่งขันทางด้านกีฬาและวิชาการที่สูงขึ้นไปกว่าระดับอำเภอ

"คายเซียงเอ้" หรือ "ษา" เด็กหญิงชาวพม่า วัย ๙ ปี เรียนชั้น ป.๔ โรงเรียนบ้านบางครั่ง เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันภาษาอังกฤษและภาษาไทย

"ตอน ป.๓ หนูแข่งภาษาไทยได้ที่ ๓ ที่โรงเรียนคุระบุรี ตอน ป.๔ ไปแข่งภาษาอังกฤษ ตอนแข่งภาษาไทย แข่งเขียนคำคล้องจองเกี่ยวกับยาเสพติด ให้เขียนลงบนกระดาษ ครูให้กระดาษมา ๑ แผ่น และลอกลงบนกระดาษอีกแผ่นที่เขาให้"

คายเซียงเอ้ เรียนที่โรงเรียนบ้านบางครั่งมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล ได้เป็นตัวแทนของโรงเรียนบ้านบางครั่งในการแข่งขันทักษะทางวิชาการ เธอเรียนภาษาไทยเก่งมาก ประกวดเขียนเรียงความ แต่งกลอนต่อต้านยาเสพติด และได้ที่หนึ่งในระดับอำเภอ

แต่สำหรับการแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นไปกว่าระดับอำเภอ เธอไม่มีสิทธิเข้าแข่งขันคัดเลือก เพียงเพราะเธอ...ไม่ใช่ "คนไทย"

"ปุ๊กกี้" เด็กชายชาวพม่า วัย ๑๒ ปี เรียนชั้น ป.๔ โรงเรียนบ้านบางครั่ง ได้เข้าแข่งขัน "คณิตคิดเร็ว" หรือ "อาวนายถ้วย" เด็กชายชาวพม่า วัย ๑๒ ปี เรียนชั้น ป.๕ เข้าแข่งขันผูกเงื่อนลูกเสือ ตอนชั้น ป.๒ ได้ชนะเลิศระดับอำเภอ หรือเด็กพม่าอีกหลายคนที่เก่งเรื่องกีฬา แต่ไม่มีเวทีที่จะไปแข่งขันได้ พวกน้องๆ เหล่านี้ถูกปิดกั้นโอกาสในการแข่งขัน...เพียงเพราะว่าพวกเขาไม่ใช่ "เด็กไทย"...

Imageทางด้านคุณทรงวุฒิ อินทรสวัสดิ์ นายก อบต.บ้านบางวันซึ่งต้องถือว่าเป็นคนสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งที่ทำให้เด็กพม่าได้รับการยอมรับจากชุมชนและผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า "ช่วงแรกเราโดนด่าว่าช่วยทำไมคนพม่าเด็กพม่า เราใช้เวลา ๒ ปีต่อสู้กับเรื่องทัศนคติของชุมชนที่ยังไม่เข้าใจเพียงพอ มีบางคนที่ไม่เห็นด้วย พยายามที่จะเอาลูกออกจากโรงเรียน ทางเรา ทางท่าน ผอ.โรงเรียนพยายามจะชี้แจงทำความเข้าใจว่าถึงจะพาไปเรียนที่อื่น แต่กฎหมายก็กำหนดไว้ว่าโรงเรียนอื่นก็ต้องเปิดรับเด็กพม่าเข้าเรียน เพราะเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนทางด้านการศึกษาที่ต้องเท่าเทียมกัน เราประชุมทำความเข้าใจในพื้นที่ นำคนที่ยังไม่เข้าใจมาคุยเรื่องนี้ หลังจากนั้นปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ เริ่มที่จะเห็นคุณค่า"

"วันนี้ถ้าชุมชนไม่ตื่นขึ้นมาและมาช่วยเรื่องการศึกษา ถ้าเราไม่พร้อม อนาคตข้างหน้าจะเป็นปัญหาสำหรับเรา และสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นก็คือ ทางแรงงานพม่าเองก็ได้เข้ามาช่วยทางโรงเรียน โรงเรียนจัดกิจกรรมประจำปีทุกครั้งก็จะมีทีมงานเข้ามาช่วย พอมาช่วย ผลที่เกิดขึ้นก็คือการได้งบประมาณมา ได้ค่าจ้างครู ชุมชนก็เห็นความสำคัญมากขึ้นว่า มันเกิดประโยชน์ ทัศนคติเชิงลบก็เลยลดลง จนถึงวันนี้อาจมีนิดหน่อย แต่ก็มีน้อยมาก"

นายก อบต.บ้านบางวันกล่าวว่า "เราสนับสนุนให้มีอาสาสมัครที่เป็นแรงงานข้ามชาติใน อบต.บางวัน ซึ่งไม่มี อบต.ที่ไหนทำ อาสาสมัครจะเข้ามาร่วมทำงานใน อบต. ในเรื่องการศึกษา ทุกคนต้องไปดูว่าลูกหลานของตัวเองคนไหนที่ยังไม่มีที่เรียน คนไหนที่ยังมีปัญหา ส่วนเรื่องสาธารณสุข พม่าเองก็ต้องจัดการเรื่องขยะ เรื่องสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ อบต.บางวัน ทุกวันที่ ๒๐จะมีการประชุมคณะทำงานทั้งหมดร่วมกัน และมีสอนภาษาพม่าที่ อบต.ด้วย และจะมีการปรึกษาเรื่องกฎหมาย ถ้าคนพม่ามีปัญหาเรื่องกฎหมาย ก็จะมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เราทำตรงนี้เพื่อประโยชน์ของชุมชน การพัฒนาปัจจุบันนี้มาจากฐานข้อมูล ไม่ใช่ผมคนเดียว ทุกคนร่วมกันคิด ปัญหาหลายแห่งที่ไม่สำเร็จมาจากผู้บริหาร ครู คณะกรรมการ ไม่ร่วมมือกัน ที่นี่ทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ทำงานด้วยกัน ทำให้วันนี้ตรงนี้ยืนอยู่ได้"


โรงเรียนบ้านบางวัน

ทัศนคติที่เปิดกว้างของโรงเรียนขนาดเล็ก

Imageนอกจากโรงเรียนบ้านบางครั่ง ยังมีอีกหลายโรงเรียนในจังหวัดพังงาที่ยอมรับเด็กพม่าเข้าเรียนร่วมกับเด็กไทย "โรงเรียนบ้านบางวัน" เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่เปิดกว้างเสมอไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือเด็กพม่าโดยปัจจุบันโรงเรียนบ้านบางวันมีเด็กนักเรียนทั้งหมด ๑๐๖คน เป็นเด็กพม่า ๒๒ คน

...ขณะที่เดินถ่ายรูปน้องๆ ทั้งเด็กไทยและเด็กพม่าในโรงเรียน จึงได้รู้ว่าพื้นที่ขนาดเล็กของโรงเรียนไม่ได้สำคัญอันใด เพราะสิ่งที่สำคัญของโรงเรียนบ้านบางวันคือ "ทัศนคติอันเปิดกว้าง" ของผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งนี้

รัศมี ภู่เจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบางวัน เล่าให้ฟังว่าตัวท่านเองคุ้นเคยกับเด็กๆ และคนพม่ามาตั้งแต่อยู่โรงเรียนเก่า ท่านบอกว่า "ทัศนคติของครูเป็นสิ่งสำคัญที่สุด อย่ามองเด็กอย่างแบ่งแยกว่าเป็นชนชาติใด"

"เด็กพม่าที่มาเรียน ทั้งนิสัยใจคอ วัฒนธรรมต่างๆ ก็ไม่แตกต่าง กลมกลืนกันได้ดี เด็กไม่แตกต่างกันเด็กพม่าอ่อนน้อม รู้จักช่วยเหลือ มีน้ำใจ ตัวครูเองไม่รู้สึกถึงความแตกต่างว่าเป็นเด็กไทยหรือเด็กพม่า คิดว่าเขาคือนักเรียนในโรงเรียนของเรา ถ้ามีอะไร ครูจะพิจารณาทุกอย่างเหมือนๆ กัน"

"ที่โรงเรียนเก่าเด็กจะเรียนรวมกัน โดยมีครูไทย เด็กพม่าบางคนเข้ามาวันแรกพูดไทยไม่ได้เลย แต่มีเด็กมีรุ่นพี่ที่เรียนอยู่แล้ว จะมาช่วยสื่อสารบ้าง แต่ที่นี่มีครูพม่า เรียนรวมเหมือนกัน ชั้นอนุบาลจะมีจำนวนเยอะหน่อย ทางมูลนิธิคาทอลิกฯ ส่งครูพม่ามาช่วย ๑ คน เด็กเล็กๆ ยังสื่อสารไม่ได้ ครูจะช่วย ที่นี่ช่วงเย็นๆ ครูชาวพม่าเมื่อหมดเวลาเรียนภาษาไทย จะพาแยกไปเรียนภาษาพม่า ครูเขาเก่งมาก รักเด็กมาก"

"ถ้าโรงเรียนเข้าใจ โรงเรียนจะสามารถประสานกับผู้ปกครองได้ ถ้ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เราเรียกพูดคุยได้ อย่างเสมอภาค ผู้ปกครองคุยกับผู้ปกครอง ไม่ใช่คนไทยกับคนพม่าคุยกัน เราไม่ได้คิดอย่างนั้น เราต้องเปิดกว้าง เพราะอีกหน่อยเราก็เข้าสู่ประชาคมอาเซียน"

"เวลาอยู่ในห้องเรียน เรามองไม่ออกว่าเด็กเป็นชาติไหน เด็กก็คือเด็ก ควรได้เรียนได้รับการศึกษา เราอาจจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็กด้วย การทำงานการสื่อสารต่างๆ จึงง่าย นักเรียนจำนวนไม่มาก ดูแลได้ทั่วถึง เวลามีปัญหาอะไรเล็กๆ น้อยๆ เราก็แก้ไขได้ในระดับโรงเรียน จะไม่มีปัญหามากมาย"

Imageในมุมมองของ ผอ.รัศมี มองว่าคนพม่าเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนเราทุกคน ไม่ควรมองแบบแบ่งแยกหรือใช้ความแตกต่างทางเชื้อชาติมาทำให้คนเรามีอคติที่ไม่ดีต่อกัน "แรงงานข้ามชาติมาช่วยงานเรา เราต้องอยู่ร่วมกัน หลีกหนีกันไม่ได้ เราให้เขาเรียนร่วมกันกับเรา รู้เขารู้เราดีกว่า หลายคนอาจต้องใช้เวลาเพราะไปติดกับภาพเชิงลบของเขา คือเราต้องยอมรับว่าทุกสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี สังคมไทยเราก็เหมือนกัน อยู่ที่ทัศนคติของเรา คนที่มาทำงานบ้านเรา เขาต้องการทำมาหากิน เขาเสี่ยงภัยอันตรายจากบ้านจากเมืองมา เพราะต้องการจะมาทำงาน เขาไม่ได้มาแบมือขอเงินเรา เพียงเราเปิดโอกาสให้เขา เขาสามารถพัฒนาตัวเองและช่วยเหลือบ้านเมืองเราได้"

สังคมไทยโดยภาพรวมรับรู้ข้อมูลของพี่น้องแรงงานข้ามชาติโดยผ่านสื่อมวลชนไทย โดยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ในการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเป็นไปในเชิงลบทั้งสิ้นซึ่งพี่น้องแรงงานข้ามชาติก็เหมือนคนในทุกสังคม ที่มีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกัน

การทำงานของหลายฝ่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะศูนย์สังคมพัฒนา สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี (มูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี) โรงเรียนรัฐหลายแห่ง รวมถึงความเข้มแข็งของผู้นำท้องถิ่น นับเป็นสิ่งที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง ทุกท่านเหล่านี้พยายามสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเพื่อนมนุษย์ แม้หลายครั้งจะต้องเผชิญกับ "อคติ" ในสังคมไทยไม่แตกต่างกัน แต่ทุกท่านพยายามอธิบายชี้แจงทำความเข้าใจอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เพียงเพราะอยากให้เพื่อนมนุษย์ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและพัฒนาประเทศไปด้วยกัน

..."อคติ" ในทุกสังคมอาจไม่มีวันหมดสิ้นไป แต่อย่างน้อยขอเพียงให้มีคนที่สร้างความเข้าใจระหว่างกัน อคติที่มีอยู่ก็เป็นไปได้ที่จะลดน้อยถอยลง

 

------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๕ ฉบับที่ ๙๖
"สิทธิ คุณค่า ศักดิ์ศรี" สิ่งที่มนุษย์พึงมีเท่าเทียมกัน



เว็บ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >