หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 100 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


คนหนุ่มสาว ความใฝ่ฝัน กับร้านหนังสือ : ภู เชียงดาว พิมพ์
Wednesday, 02 September 2015

ปลายทางเส้นนี้มีดอกไม้

ภู เชียงดาว

   

คนหนุ่มสาว ความใฝ่ฝัน กับร้านหนังสือ

 


     

"ทำไมถึงอยากทำร้านหนังสือ....." "สมัยนี้ มีแต่คนเล่นไอแพด เล่นแชท อ่านหนังสือบนเว็บไซต์กันหมดแล้ว เขาบ่อ่านหนังสือกันละมั๊ง" "เมืองเล็กๆ อย่างนี้ จะมีคนมาอ่านหนังสือ มาซื้อหนังสือกี่คนกัน"

นั่นเป็นน้ำเสียง ถ้อยคำที่ใครหลายคนเอ่ยถาม ตั้งคำถามกับผมเมื่อหลายเดือนก่อน ก่อนที่ผมจะตัดสินใจลงมือทำร้านหนังสือเล็กๆ ที่บ้านเกิด ในนาม "ร้านหนังสือเชียงดาว"

แน่นอน ในห้วงเวลานั้น ผมไม่อาจตอบคำถาม หรืออธิบายบอกใครๆ ได้เลย แต่เก็บคำถามนั้นไว้ในใจตลอดมา และทำให้ผมรู้สึกว่า บางวิถีของคนเรา ไม่สามารถอธิบายอะไรให้มันชัดเจนหรือเป็นวิทยาศาสตร์ได้เลย แต่มันเริ่มต้นจากข้างในจริงๆ

ใช่แล้ว ผมรู้ว่า บางสิ่งบางอย่าง มันเริ่มจากฝัน แล้วลงมือทำด้วยใจมากกว่า ผมพยายามคิดใคร่ครวญอยู่อย่างนั้น แล้วทำให้ผมนึกถึงภาพเก่าๆ ในวัยเด็กของตนเองขึ้นมาอีกครั้ง...

อาจเป็นเพราะว่าผมชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เล็กๆ จำได้ว่า ในวัยเด็ก ผมเกิดอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา นาน ๆ ที ถึงจะมีโอกาสได้หยิบอ่านหนังสือใหม่ๆ สักเล่มหนึ่ง นานๆ ครั้ง จะมีโอกาสได้ออกจากบ้านป่ามาดูโลกภายนอก ในตัวอำเภอกับเขาบ้าง จำได้ว่า ตอนนั้น แม่จะตื่นตั้งแต่ตีสาม แต่งตัว ถือตะกร้า แล้วเดินไปดักรอ รถกระบะสองแถวยี่ห้อดัทสันสีเหลือง ไฟกลม ของจ่าสม ครูตชด.ซึ่งมาเป็นครูในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ต่อมา แกเลยปักหลักสร้างครอบครัว เปิดร้านขายของชำ และแกมีรถยนต์คันเดียวของหมู่บ้าน ทุกเช้ามืด เสียงแตรรถจะดังไปทั่วหมู่บ้านในหุบเขา เป็นที่รับรู้กันว่า ได้เวลาไปจ่ายตลาดสดเชียงดาวกันแล้ว

เสียงแตรรถ ปลุกให้ผมงัวเงียตื่น และลุกไปอ้อนขอไปตลาดกับแม่ เป้าหมายของผมตอนนั้นน่ะหรือ นอกจากได้กินขนมแล้ว ยังได้ไปซื้อการ์ตูนขายหัวเราะมาอ่านด้วย นั่นคือบทเริ่มต้นการรักการอ่านของผม

พอเข้าสู่วัยรุ่น หนังสือ "วัยหวาน" กลายเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ผมหลงใหลการอ่านมากขึ้น จนกระทั่งขยับไปอ่านนวนิยาย เรื่อง "เสือใบ-เสือดำ" ของ ป.อินทรปาลิต จนติดงอมแงม

ชีวิตผมเปลี่ยน...ก็เมื่อครั้งได้ขึ้นไปเป็นครูดอยอยู่ในแถบชายแดนอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ผมจำได้ว่า ทุกครั้งก่อนขึ้นดอย ผมชอบไปขลุกอยู่ในร้านหนังสือเก่าแถวตลาดธานินทร์ กับร้านหนังสือเก่าตรงข้ามกับร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ ค้นหาหนังสือสารคดีและวรรณกรรมดีๆ ที่เรียนรู้และค้นหาด้วยตนเอง แล้วซื้อใส่เป้แบกขึ้นดอยไปนั่งอ่านนอนอ่าน ในยามว่างจากการสอนหนังสือ ช่วงเวลานั้น ผมมีโอกาสดื่มด่ำกับงานวรรณกรรมดีๆ มากมายทั้งนักเขียนไทย เช่น เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, มาลา คำจันทร์, พิบูลศักดิ์ ละครพล, พจนา จันทรสันติ, 'รงค์ วงษ์สวรรค์, ราช รังรอง, มนัส จรรยงค์ ฯลฯ นอกจากนั้น ผมยังมีโอกาสได้อ่านงานวรรณกรรมดีๆ ของนักเขียนต่างชาติ เช่น แม็กซิม กอร์กี้, อันตัน เชคอฟ, เฮมมิ่งเวย์, จอห์นสไตน์เบ็ค, นากิบ มาห์ฟูซ, อ็องตวน เดอ แซ็งแตกซูว์เปรี, วิลเลียม ซาโรยัน ฯลฯ

Imageทุกวันนี้ งานเขียนหนังสือและการอ่านหนังสือนั้นคือความสุขของชีวิต ดังนั้น ความฝันของผมจึงวนเวียนกับหนังสือมาโดยตลอด ผมบอกกับตัวเองว่า ถ้าเป็นไปได้จึงอยากมีร้านหนังสือเล็กๆ และได้ทำห้องสมุดเล็กๆ ให้กับบ้านเกิด

จนกระทั่งมา เจอคุณ ‘ปราย พันแสง ในเฟซบุ๊ค และได้เข้าร่วมในกลุ่มลับ คือ THAI readers network founder หรือเครือข่ายนักอ่านไทย เป็นการเฟ้นหาคนอ่าน คนรักหนังสือ ที่มีหัวใจ มีมุมมองความคิดคล้ายๆ กัน มาแลกเปลี่ยนความคิดความฝันร่วมกัน จนกลายเกิดโครงการห้องสมุดบนรถโฟล์ค เกิดขึ้นครั้งแรกที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นก็เกิดแนวคิด การทำร้านหนังสือเล็กๆ ที่บ้านเกิด ตามมา...ระหว่างนั้น ผมเริ่มคิดฝัน ด้วยการขับรถวนหาทำเลที่ตั้งร้านหนังสือในฝันที่เชียงดาว หลายที่ก็ไม่ลงตัว จนมาเจอบ้านเก่าหลังหนึ่ง ที่ก่อนหน้านั้นเปิดให้คนอื่นเช่าเป็นร้านกาแฟโบราณ พอดี ผู้เช่าคนก่อน ได้ย้ายเข้าไปในเมืองเชียงใหม่ เราจึงตัดสินใจเช่าต่อ และวางแผนปรับปรุงบ้านเก่าหลังนี้ จนกลายเป็นร้านหนังสือเชียงดาว ในวันนี้

เสน่ห์บรรยากาศของร้านหนังสือเชียงดาว ก็คือ ความเป็นบ้านไม้เก่า ความเป็นกันเอง อบอุ่นด้วยมิตรภาพ ทุกคนที่แวะเวียนมา เหมือนเป็นบ้านของตัวเอง สามารถนั่งๆ นอนๆ อ่านหนังสือกันได้ นอกจากนั้น ยังเป็นเหมือนจุดพักระหว่างทางของนักเดินทางอีกแห่งหนึ่งของเชียงดาวด้วย

ผมไม่รู้ว่าทำไม ผู้คนจึงสนใจร้านหนังสือเล็กๆ นี้มากขึ้น อาจเป็นเพราะว่า เราพูดย้ำกันอยู่เสมอว่า เริ่มจากฝัน ลงมือทำด้วยใจ แล้วทำพื้นที่บรรยากาศให้เป็นเหมือนกับบ้าน อบอุ่น ด้วยน้ำมิตร น้ำจิตน้ำใจ

ทุกวันนี้ ผมพยายามทำร้านหนังสือให้สอดคล้องกับวิถีท้องถิ่นให้มากที่สุด ตอนนี้ นักท่องเที่ยว นักเดินทาง มาเชียงดาว ส่วนใหญ่จะแวะมานั่งพักที่ร้าน โดยเรามีชาหอมๆ กาแฟดีๆ ซึ่งผลิตจากไร่สงบงามตั้งใกล้ๆ เชิงดอยเชียงดาว นำมาคั่ว บดให้ชิมกัน นอกจากนั้น เรายังทำอาหาร เครื่องดื่มน้ำผลไม้ที่ปลูกในพื้นที่เชียงดาว เช่น อะโวคาโดปั่น หรือสมูตตี้เสาวรส ที่เก็บมาในสวนหุบผาแดง รวมไปถึงขนมโฮมเมด หอมกรุ่นจากเตา ที่เราลงมือทำกันเองไว้บริการลูกค้าอีกด้วย

Imageอีกความฝันหนึ่ง ที่เรากำลังทำกันอยู่ในขณะนี้ คือ "โครงการห้องสมุดชุมชน เมืองดาว" คือผมตั้งใจจะใช้พื้นที่ใต้ถุนร้านหนังสือเชียงดาว ทำเป็นห้องสมุดเล็กๆ ให้กับบ้านเกิด เป็นการเปิดพื้นที่ไว้ให้น้องๆ เยาวชน คนเชียงดาว และผู้มาเยือน ได้เข้าไปนั่งอ่านหนังสือดีๆ ทีเราคัดสรรเอาไว้ ให้อ่านกันฟรีๆ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้พื้นที่ห้องสมุด ไว้ทำกิจกรรมสร้างเสริมปัญญา เช่น วงเสวนา ดูหนังสั้น วงเล่านิทาน กลุ่มนักอ่านวิจารณ์หนังสือ เป็นต้น

นี่กระมัง ที่เขาเรียกกันว่า ธุรกิจเพื่อสังคม ที่เราอยากทำให้กับท้องถิ่นบ้านเกิดตามกำลังที่มีอยู่

หากใครอยากมีส่วนร่วมปั้นฝัน กับโครงการห้องสมุดชุมชนเมืองดาว ก็สามารถร่วมสมทบทุนปัจจัย หรือร่วมบริจาคหนังสือดีๆ มาที่เราได้ โดยส่งมาที่ ร้านหนังสือเชียงดาว (เพื่อโครงการห้องสมุดเมืองดาว) ๑๙๐/๔ ม.๔ ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ๕๐๑๗๐ หรือติดต่อผ่านเฟซบุ๊ค ร้านหนังสือเชียงดาว https://www.facebook.com/ChiangDaoBookshop

มาถึงตอนนี้ ผมพอจะตอบคำถามที่ใครหลายคนเคยตั้งคำถามไว้ได้บ้างแล้วว่า "ทำไมถึงอยากทำร้านหนังสือ....."

แต่ถ้าหากถามว่า คนหนุ่มสาวยุคนี้ เขามีความสนใจการอ่านหนังสือมากน้อยเพียงใด และอย่างที่รู้กันว่ามีการสำรวจกันว่า คนไทยอ่านหนังสือปีละ ๘ บรรทัดบ้าง โดยเฉพาะผลวิจัยล่าสุดของทาง UNESCO ก็ออกมาบอกว่า คนไทยอ่านหนังสือกันปีละแค่ ๔ บรรทัด สาเหตุเพราะว่าความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั่นเอง เช่น การอ่านข้อความสั้นๆ บน Twitter หรือ Facebook หรือที่อาจจะเห็นกันว่าบางคนอ่านแต่พาดหัวข่าว แต่ไม่อ่านเนื้อหาข่าว แล้วแสดงความคิดเห็นโดยไม่ได้พิจารณาก่อน รวมถึงความเป็นส่วนตัวของคนยุคใหม่ ที่ทำให้สื่อสารกันน้อยลงนั้น ทำเอาผมรู้สึกอึ้งเหมือนกัน ว่าอาจมีส่วนและเป็นไปได้

Imageกระนั้น ผมยังคงเชื่อมั่นว่า ที่สุดแล้วทางออก หรือทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็คือเราต้องยอมรับความจริง ว่าสังคมทุกวันนี้เป็นยุคเทคโนโลยี เราหนีหรือสลัดมันไปไม่พ้นอยู่แล้ว

ยกตัวอย่าง วันหนึ่ง หญิงสาวคนหนึ่ง เดินเข้ามาในร้านหนังสือของเรา พร้อมกับรอยยิ้ม เริงร่า เหมือนได้มาเจอเพื่อนเก่าที่ห่างหายกันไปนานแล้ว เธอบอกผมว่า ดีใจที่มีร้านหนังสือที่เชียงดาว เพราะก่อนหน้านั้น เธอเป็นหนอนหนังสือคนหนึ่ง ชอบอ่านหนังสือเป็นชีวิตจิตใจ แต่ทุกวันนี้ เธอยอมรับว่าติดแชท ติดอินเตอร์เน็ต โซเชียลมีเดียมาก

"ดีจังเลย ต่อจากนี้ น้องจะมาบำบัดโรคติดแชท ที่ร้านหนังสือนี้เป็นประจำเลย" เธอบอกด้วยน้ำเสียงจริงจัง หลังจากนั้น เมื่อเธอว่าง เธอจะแวะมานั่งอ่านหนังสืออยู่เกือบทั้งวัน

"ยังดีนะที่ไหวตัวทัน อยู่ในยุคนี้ เราต้องรู้เท่าทันมันละนะ" ผมแหย่เธอ

"แล้วถ้ากลุ่มน้องๆ เยาวชนไหวตัวไม่ทัน และกำลังติดกันงอมแงมล่ะ เราจะทำยังไงกันดี" หลายคนคงแอบตั้งคำถามกันแบบนี้

ผมคิดว่า เราควรหันมาช่วยกันกระตุ้นให้เมืองไทยเป็นสังคมแห่งการอ่านอย่างแท้จริงกันดีกว่า ที่สำคัญ อยากให้ทุกคนเริ่มต้นทำในสิ่งเล็กๆ และเริ่มต้นทำในท้องถิ่นของตนเอง โดยไม่ต้องไปสนใจทำในเรื่องใหญ่เกินจริง อย่างเช่น การสร้างกระแสปีแห่งการอ่านหนังสือ หรือเอากรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือโลกของไทยอย่างที่ผ่านมา ผมว่า บางทีมันก็เป็นเหมือนแฟชั่น หรือไฟไหม้ฟาง แต่ข้างในยังคงกลวงเปล่าเสียมากกว่า

Imageผมยังเชื่อว่า การอ่านต้องเริ่มจากพ่อแม่ ที่บ้าน และครูบาอาจารย์ที่โรงเรียน

เราลองมองไปตามครอบครัว และโรงเรียนดูสิ หลายพื้นที่ยังคงว่างโหวงและขาดพื้นที่สร้างเสริมทางปัญญากันอยู่... บรรยากาศในบ้าน พ่อทำงาน แม่เล่นแชท ลูกเล่นเกม ไม่ต้องถามว่า มีพ่อแม่กี่คน ที่นอนอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนบ้าง และที่สำคัญ สถาบันการศึกษาของไทยยังคลำไม่ถูกทาง ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการอ่านกันสักเท่าใด

ถ้าเราออกมาเดินดูตามชนบท หรือชุมชนท้องถิ่นรอบนอกดูสิ ยกตัวอย่างง่ายๆ ห้องสมุดประชาชนอำเภอ หนังสือดีๆ หายาก คนเข้าไปอ่านน้อย แต่พอเอาคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตไปวางไว้ ห้องสมุดก็กลายเป็นสถานที่เล่นเกมของเด็กๆ ไปเสีย หรือห้องสมุดโรงเรียนขนาดเล็กตามชนบท ครูยังคงหวงพื้นที่ห้องสมุด หวงหนังสือกลัวฉีกขาด ไม่ให้เด็กๆ ยืมหนังสือไปอ่าน หนำซ้ำบางแห่ง ถึงขึ้นปิดประตูลั่นดาลกุญแจเอาไว้ จนหลายคนเหน็บแนมกันว่า กลัวเด็กมันจะฉลาดเกินไป หรือห้องสมุดมีเอาไว้เปิดโชว์เจ้านายที่มานิเทศตรวจงานเท่านั้นเอง

ยังไม่ต้องพูดถึงว่า ทุกวันนี้ครูหลายๆ คนนั้นอ่านหนังสือกันกี่บรรทัด

ผมมองว่า จุดเล็กๆ เหล่านี้ มันส่งผลสะท้อนไปถึงตัวเด็กๆ เยาวชน และสังคม ประเทศชาติในอนาคตได้อย่างชัดแจ้ง

ผมมองว่า การสร้างพื้นที่ สร้างบรรยากาศการอ่าน เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องทำ และหันมาตีโจทย์นี้กันให้แตก ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือ หรือห้องสมุด เราต้องสร้างบรรยากาศแห่งการอ่าน ให้ผู้คนหันมามองและสนใจเข้ามานั่งอ่านหนังสือกันให้ได้

ใช่ครับ ผมยังมีความหวัง และยังเชื่อในพลังของการอ่าน คุณค่าของหนังสือ ว่าจะช่วยกระตุ้นเปลี่ยนแปลงความคิดของคนเราให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

ในร้านหนังสือเชียงดาว เราจึงพยายามสร้างบรรยากาศการอ่านเป็นลำดับแรก

เราจึงรู้สึกดี เมื่อมองเห็นภาพ แม่จูงมือลูกวัยอนุบาลเข้ามาในร้านหนังสือกันมากขึ้น แม่ให้ลูกเลือกนิทาน แล้วให้นั่งอ่านนิทานให้ลูกฟัง ในขณะน้องๆ นักเรียนมัธยมท้องถิ่นของอำเภอพากันเลือกดูหนังสือ พลิกอ่านหนังสือกันอย่างตื่นเต้น

Imageหรืออย่าง น้องฟ้า กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.๓ ร.ร.ศีลรวี ตอนนี้กลายเป็นนักอ่านประจำร้านของเราไปแล้ว เธอเป็นลูกหลานของร้านศรียนต์ อยู่ติดกับร้านหนังสือเชียงดาว บางวัน เธอเดินสะพายกระเป๋าใบเล็กมาในร้านคนเดียว เดินดูหนังสือนิทานดีๆ ที่เราคัดสรรวางไว้บนชั้นหนังสือ ไปนั่งอ่านเงียบๆ แถมยังควักตังค์เลือกซื้อนิทานดีไปอ่านที่บ้านอีกสองเล่ม

บางค่ำคืน คุณแม่ขับรถพาลูกสาวคนเดียวมานั่งอ่านหนังสือกันอยู่เงียบๆ ลูกสาวเป็นนักศึกษา เรียนฝังเข็ม อยู่ที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียว เป็นอีกหนึ่งภาพน่ารักๆ ที่คนเฝ้าร้านหนังสือรู้สึกชื่นชม เพราะไม่ค่อยมีให้เห็นกันบ่อยนักในยุคสมัยนี้

เหมือนกับพี่น้องคู่นี้ เดินมาร้านหนังสือเชียงดาวในช่วงหัวค่ำ เราจำหน้าได้ เพราะร้านเราอยู่ใกล้ๆ กัน เธอเป็นลูกสาวเจ้าของร้านขายของชำในตลาดวังจ๊อม คนพี่บอกว่า ตื่นเต้น ดีใจที่มีร้านหนังสือดีๆ แบบนี้

"ชอบจัง ความสุขและสงบในมุมเล็กๆ ของเชียงดาว โลกที่วุ่นวาย ก็ยังมีมุมสงบที่ร้านหนังสือเชียงดาว"

ส่วนน้องสาว ไม่พูด ได้แต่ยิ้ม แล้วก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสืออย่างเดียว เหมือนกำลังโหยหามานาน

และผมรู้สึกตื่นเต้น แปลกใจ ดีใจ เมื่อรู้ว่า ลูกค้าบางคนบางกลุ่มนั้นเป็นนักอ่านและเดินทางมาจากสถานที่ไกลๆ อย่างกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา นครศรีธรรมราช กระบี่ เลย พะเยา เชียงราย ฯลฯ ขับรถเดินทางไกลเพื่อมาสัมผัสบรรยากาศของร้านหนังสือเชียงดาวกัน

Imageรวมไปถึงอาจารย์ และน้องๆ นักศึกษาจากหลายๆ สถาบัน แวะเวียนมาเยือนร้านหนังสือเชียงดาว แล้วได้หนังสือดีๆ ติดตัวกลับไปอ่านกัน น้องๆ นักศึกษาบางคน ถึงขั้นขับมอเตอร์ไซค์มาร้านหนังสือของเราเป็นสถานที่ติวสอบกันเลย

ดังนั้น ถ้าถามผมว่า ตื่นเต้น แปลกใจ ตกใจไหม...ที่ทางยูเนสโกออกมาพูดถึงผลวิจัยล่าสุดว่า "คนไทยอ่านหนังสือน้อยลงอีก แค่ปีละ ๔ บรรทัด" เช่น อ่านเฉพาะพาดหัวข่าวแต่ไม่อ่านเนื้อข่าว และมีสาเหตุมากจากทุกวันนี้คนไทย อ่านเฟซบุ๊ค อ่านทวิตเตอร์ อ่านสารพัดโซเชียลมีเดีย เรียกว่าเป็นผู้บริโภคสื่อประเภทนี้เป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงบางคนต้องการ "ความเป็นส่วนตัวสูง " หรือ Hight Privacy ทำให้สื่อสารในโลกความเป็นจริงน้อยลงนั้น

ผมรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ตื่นเต้น เพราะลำพังตัวผมเองสัมผัสกับเรื่องเหล่านี้มานานแล้ว และไม่แปลกใจด้วยซ้ำ แต่ผมมองว่า นี่เป็นสิ่งดี ที่จะทำให้หลายๆ ฝ่ายได้หันมาทบทวน และยอมรับความเป็นจริงที่ซุกซ่อนอยู่ข้างในตัวเรา แล้วเผยมันออกมา เพื่อจะแก้ปัญหากันให้ตรงจุด

ในขณะโลกแห่งเทคโนโลยีนั้น ผมมองว่า ไม่มีใครสามารถจะไปหยุดยั้งมันได้อยู่แล้ว แต่ทำอย่างไร เราจะใช้มันให้เป็นเท่านั้นเอง.


-----------------------------

ภู เชียงดาว เป็นนามปากกาของ องอาจ เดชา อดีตครูดอยที่ผันตัวเองมาเป็นนักข่าวสำนักข่าวออนไลน์ที่ชื่อ ประชาไท ปัจจุบันเขาลาออกจากงานประจำ กลับไปใช้ชีวิตในสวนหุบผาแดง อำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ อันเป็นถิ่นฐานบ้านเกิด


------------------------------

จาก วารสารผู้ไถ่ ปีที่ ๓๔ ฉบับที่ ๙๓
ต่าง Gen ไม่ต่างใจ



เว็บ 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >