หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 43 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


'ครูปาด' แก้โจทย์การศึกษา : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ พิมพ์
Wednesday, 05 June 2013

Life Style

วันที่ 28 พฤษภาคม 2556

'ครูปาด' แก้โจทย์การศึกษา

โดย : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ

 

หากพูดถึงการศึกษาที่เป็นปัญหาระดับชาติ เราจะพัฒนาเด็กอย่างไรให้เท่าทันโลกและมีคุณธรรม นักการศึกษาทางเลือกคนนี้มีคำตอบในแบบของเขา

เป็นครูก็ต้องรู้ว่า ครูต้องทำหน้าที่อย่างไร การสร้างคนจึงเป็นภาระกิจอย่างหนึ่งของคนอาชีพนี้ แต่จะสร้างอย่างไรให้เด็กๆ มีทั้งความรู้ ความสามารถ มีความเป็นมนุษย์ เป็นแบบอย่างในสังคม และมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล

ครูปาด -ศีลวัต ศุษิลวรณ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเพลินพัฒนา และผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนทางเลือกแห่งนี้มานานกว่า 10 ปี เขาเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดอนุกรรมการสภาการศึกษาด้านการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทางเลือก

เขาบอกชัดถ้อยชัดคำว่า การศึกษาต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต และอยู่ในวิถีชีวิต ดังนั้นเรื่องใดที่ถกกันในแวดวงการศึกษา นักการศึกษาทางเลือกคนนี้มีคำอธิบาย...ไม่ว่าเรื่องการยุบโรงเรียน, ทำไมเด็กไทยยิ่งเรียน ยิ่งโง่ หรือแม้กระทั่้งวิสัยทัศน์ของคนระดับผู้บริหารของประเทศนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ทำได้แค่นโยบาย แต่ไม่เคยนำไปสู่การปฏิบัติ

เขาเองยอมรับว่า ตัวเขาเป็นผลผลิตของการศึกษาแบบเก่า....เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอยากสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพในโรงเรียนเล็กๆ ที่ร่วมกันก่อตั้ง

ถ้าระบบการศึกษาจะสร้างคนให้ก้าวทันศตวรรษที่ 21 จะต้องทำอย่างไร เยาวชนเหล่านั้นต้องเรียนรู้อย่างไร การพัฒนาครูที่มากกว่าการอบรม ดูงาน โค้ชชิ่ง จะต้องทำอย่างไร และอีกมากมายที่นักการศึกษาคนนี้เชื่อว่า ถ้าคนเข้าใจการศึกษาทางเลือกก็สามารถเป็นการศึกษาทางหลักได้ และเรื่องการศึกษา ควรเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องรีบแก้ไข นั่นเป็นที่มาของการสนทนาในครั้งนี้...

คิดเห็นในเรื่องการยุบโรงเรียนขนาดเล็กอย่างไร
การยุบควบรวม ก็เป็นการบำบัดเยียวยาปัญหาลักษณะหนึ่ง แต่วิธีที่ใช้แบบปูพรม ไม่ได้ศึกษาความเหมาะสมจะมีผลเสียมากกว่าผลได้ ผมมองว่าไม่ได้แก้ปัญหาที่รากเหง้า มันเป็นการแก้ปัญหาภายในของกระทรวงศึกษาฯ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาของชาติ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาฯอ้างว่า คือ ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและคุณภาพ ในเรื่องหลังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนเลยว่า ยุบแล้วจะดีขึ้นอย่างไร เพราะคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนมันเสื่อมหมด ไม่ว่าขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ บางโรงเรียนอาจเป็นข้อยกเว้น สิ่งที่ผมพูดคือภาพใหญ่ การยุบรวมกัน ก็เหมือนการยุบเอาความล้มเหลวควบรวมกับความล้มเหลว

จริงๆ แล้วสิ่งที่ต้องทำคือ ปฏิรูปทั้งหมด ส่วนเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ก็มองไม่เห็น วิธีการนี้ไม่เหมือนการบริหารบริษัทที่ต้องมองหาความคุ้มค่าจุดใหม่ ถ้าเป็นบริษัท การควบรวม ต้องค้นหาทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง แล้วหาวิธีสนธิสร้างโครงสร้างใหม่ มันก็สามารถปรับความคุ้มค่าได้ แต่ในกรณีนี้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนและครู รวมถึงค่าบำรุงรักษาโรงเรียนก็ยังอยู่ ทั้งหมดมันไม่มีหลักการที่จะบอกเราเลยว่าจะดีขึ้น เมื่อไม่มีคุณภาพที่แน่นอน ก็ต้องมามองเรื่องผลกระทบ ข้อ 1. เด็กนักเรียนต้องเดินทางไกลมาเรียนมากขึ้น 2. การควบรวมมีความยุ่งยากทั้งครู เด็ก และความต่างวัฒนธรรม รวมถึงพื้นความรู้ต่างๆ

การยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ไม่มีความชัดเจนในเรื่องใด
ไม่ได้มีการชี้แจงให้ชัดเจนในเรื่องการปรับคุณภาพทั้งหมด นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 ที่เริ่มมีกระแสการปฏิรูป และตั้งสำนักงานปฎิรูปการศึกษา มาถึงวันนี้ นโยบายการปฏิรูปทั้งหมดแทบผลักไม่ออก การกระจายอำนาจก็ไม่เกิด กลายเป็นกระจายแขนขาของส่วนกลาง ยิ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการควบคุมจากส่วนกลาง ดังนั้นปฏิรูปการเรียนรู้ในเรื่องการขับเคลื่อนผู้เรียนเป็นสำคัญ ก็ไม่เกิด ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมาก็ไม่เคลื่อน แล้วจะอธิบายอะไรที่มีเหตุผลมากกว่านี้ มันไม่ได้

สาเหตุที่ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้ ครูปาดคิดว่ามีเหตุปัจจัยอะไร
ผมพูดแบบคนนอกนะ ไม่รู้รายละเอียดชัด จากที่เราเกี่ยวข้องบ่อยๆ กลไกข้างในกระทรวงศึกษาฯประสิทธิภาพไม่ดี และกลไกในการแปลงนโยบายมาสู่การปฏิบัติ ผมสามารถวิจารณ์ได้เต็มที่ การปฏิรูปไม่ว่าครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง เราจะเห็นว่านโยบายปฏิรูปการศึกษา สิ่งที่ติดตามมาคือ พระราชบัญญัติการศึกษา ก็ค่อนข้างตอบสนองนโยบายได้ดี และในรัฐธรรมนูญปี 2540 ถ้าดูในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จะเห็นว่ามีการพูดถึงการศึกษาทางเลือก การพัฒนามนุษย์ ส่วนที่เป็นนโยบายเราจะเห็นว่ามีการตอบสนองต่อกัน แต่เมื่อลงมาถึงระดับจัดการโครงสร้างหรือการจัดการกระทรวง นั่นไม่ใช่แล้ว สิ่งที่ผมสัมผัสได้ชัดเจนในฐานะคนทำโรงเรียน โดยเฉพาะหลักสูตรปฏิรูปการศึกษาปี 2544 มีการตอบสนองนโยบายการกระจายอำนาจ โดยให้สถานศึกษาสร้างหลักสูตรได้ มันก็เลยเกิดคำว่า หลักสูตรแกนกลาง โครงสร้างใหญ่ทั้งส่งเสริมและควบคุมให้เกิดหลักสูตรสถานศึกษา แม้จะมีสถานศึกษาร้องเรียนว่ายังไม่พร้อม

ตอนนั้นหลักสูตรปฎิรูปการศึกษาปี 2544 ออกคู่มือละเอียดมาก โดยใช้คำว่า ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ทุกวันนี้คือมาตรฐานและตัวชี้วัด แต่มันอยู่นอกหลักสูตร ส่วนคณะทำหลักสูตรปฎิรูปการศึกษาปี 2551 พูดไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยบอกว่า หลักสูตรมีความกระชับขึ้นในเรื่องผลการเรียนที่คาดหวัง ทำให้หลักสูตรปี 2551 วิจิตรขึ้นทันที เมื่อโครงการนี้มีผลบังคับใช้ ถ้าโรงเรียนไม่ทำตาม ก็ผิดกฎหมาย

เพราะฉะนั้นการปฏิรูปหลักสูตรปี 2551 เป็นปัญหาหนัก ทำให้การสร้างหลักสูตรสถานศึกษาเป็นไปอย่างลำบาก เพราะบังคับจำนวนเวลาเรียน รายละเอียดในการเรียนการสอน และประเมินทุกตัวชี้วัด สิ่งเหล่านี้ทำให้การปฏิรูปการศึกษาทำได้ยาก ถ้าจะร่างหลักสูตรใหม่ก็มีปัญหา และผมเกรงว่า คนที่ร่างหลักสูตรใหม่จะไม่ได้ศึกษาหลักสูตรปฎิรูปการศึกษาปี 2551 ซึ่งจำเป็นมากที่เราต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของนโยบายการปฏิรูปปี 2540 และเข้าใจเจตนารมณ์ของการปฏิรูปหลักสูตรปี 2544 เข้าใจความผิดพลาดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 และเข้าใจปัญหาของชาติ รวมถึงการมองไปไกลถึงศตวรรษที่ 21 ผมไม่แน่ใจว่าคณะที่ทำได้ศึกษาประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน

กลุ่มเครือข่ายการศึกษาทางเลือกไม่เห็นด้วย แล้วให้เหตุผลอย่างไร
พวกเราไม่เห็นด้วย เพราะเสียดายโอกาส แต่ไม่ได้หมายความว่า เสียดายทุกโรงเรียน เพราะโรงเรียนขนาดเล็กก็เหมือนโรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ บางแห่งมีสภาพเสียหาย จนยากจะเยียวยา ซึ่งตรงนั้นจะแก้ด้วยวิธีไหน ยุบหรือไม่ยุบค่อยว่ากัน แต่เราเสียดายโรงเรียนเล็กๆ หลายแห่งที่มีโอกาส คนในชุมชนเข้าไปดูแลกันได้ เราเสียดายโอกาสที่จะกระจายอำนาจตามพระราชบัญญัติการศึกษา

ลองยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรมสักนิด ?
โรงเรียนท่าสะท้อน จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมชนเข้าไปจัดหลักสูตรกันเอง โดยขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเด็ก ตอนหลังกลุ่มการศึกษาทางเลือกเข้าไปดูแลหลายเรื่อง เขามีหลักสูตรชุมชนที่ทำได้ดีมาก เพราะส่วนกลางไม่เคยให้ครูที่เพียงพอสำหรับโรงเรียน เขาก็มีครูชุมชน และชุมชนดูแลกันได้ เมื่อหลายปีกลุ่มการศึกษาทางเลือกเข้าไปจัดเวที เรื่องยุบโรงเรียนก็เงียบไป แต่เมื่อเร็วๆนี้ทำท่าจะยุบโรงเรียนนี้อีก

นั่นหมายถึงโรงเรียนขนาดเล็กบางแห่งมีศักยภาพในการเรียนการสอน แต่ถ้ายุบก็ขาดโอกาส แล้วจะทำอย่างไร
เพราะไม่ได้ดูว่า โรงเรียนแบบนั้นสร้างโอกาสให้เด็กในสังคม ผมอยากยกตัวอย่างโครงการ LLEN ทำงานเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นการทำงานร่วมระหว่างทีมอุดมศึกษาและโรงเรียนขนาดเล็ก ผู้รับผิดชอบคือ ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ เป็นผู้ใหญ่ที่รู้ว่าจะฟื้นฟูเยียวยาอย่างไร ผมคิดว่า ถ้าจะทำโรงเรียนขนาดเล็กทั้งประเทศ ต้องเอาคนที่เกี่ยวข้องมาช่วยกันคิด โรงเรียนไหน ควรฟื้นฟูอย่างไร ถ้าไปรอดต้องมาดูว่าจะยุบหรือไม่ยุบ ไม่ใช่สักแต่ว่ายุบ สิ่งที่ติดตามมาหลังจากยุบต่างหาก คืออะไร เพราะสังคมไทยไม่ถนัดทำเรื่องยากๆ นิยมทำง่ายๆ เข้าไว้ ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะสังคมเรามีความซับซ้อน

แสดงว่า ขาดความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ ?
ไม่พยายามสร้างการเรียนรู้ ผมมองว่า ไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่มีความสามารถเพียงพอทั้งการประเมินสถานการณ์ กำหนดนโยบาย และนำไปสู่การปฎิบัติที่ถูกต้อง สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเปิดโอกาสให้เป็นวาระแห่งชาติให้ทุกฝ่ายในสังคมช่วยกันคิดอย่างเป็นระเบียบ ไม่ใช่เริ่มต้น ก็ประชาพิจารณ์ทั้งประเทศ

ถ้าเป็นวาระแห่งชาติ จะต้องแก้ปัญหาอย่างไร
อำนาจทั้งหมดอยู่ที่กระทรวงศึกษาฯ แต่ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ากระทรวงฯ ทำไม่ได้ งานนี้เป็นงานของชาติ ต้องระดมคนทั้งชาติ แล้วเอาคนทำจริง รู้จริงแต่ละส่วนมาทำเป็นสภา เพราะก่อนหน้านี้ก็เหมือนจะทำ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อสำนักงานปฏิรูปยุบลง ก็เหมือนว่าเรื่องทั้งหมดกลับไปสู่กระทรวงศึกษาฯ จึงเหมือนถูกดูดไปสู่ถุงดำอีกครั้ง

ในเรื่องหลักสูตรต้องทำอย่างไร
ระดมนักวิชาการและผู้รู้ เพื่อจะดูว่าในช่วง 30-50 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลก เรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องทำ คือ ปัญหาสิ่งแวดล้อมทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งมีทฤษฎีงานวิจัยเกี่ยวกับอนาคตศาสตร์ไม่น้อย มีข้อมูลเพียงพอที่จะระดมสิ่งเหล่านี้มาใช้ ในเรื่องการศึกษา เราต้องวิเคราะห์หลักสูตรประเทศชั้นนำให้ได้ แล้วกลับมาศึกษาสังคมไทย ดูสิว่าจะเอาสิ่งที่ดีที่สุดในประเทศชั้นนำมาใช้อย่างไร

ตอนที่ลงมือเขียนหลักสูตรต้องกลับไปดูว่า การปฏิรูปที่ได้ร่วมกันระดมสมองทั้งประเทศ เมื่อปี 2540 วางแนวทางไว้อย่างไร มีหลายอย่างต้องปรับและหลายอย่างใช้ได้ รวมทั้งหลักสูตรปี 2544 ศึกษาเจตนารมณ์ที่วางไว้ แล้วประเมินข้อดีข้อเสีย กลับไปมองความผิดพลาดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 เราต้องเห็นกระบวนการทั้งหมด แล้วประยุกต์ตั้งคณะกรรมการหลักสูตร ซึ่งต้องมาจากหลายฝ่าย ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร และกลุ่มที่ทำการทดลองปฎิรูปไปแล้ว โรงเรียนทั้งหมดซึ่งเดินหน้าไปแล้วทั้งประเทศ ต้องดึงข้อมูลพวกนี้กลับมาให้หมด ต้องทำเป็นวาระระดับชาติ

จริงไหมที่มีคนบอกว่า เด็กไทยไม่ค่อยพัฒนาทั้งเรื่องอีคิวและไอคิว
ปัญหาของเด็กมาถึงจุดเลวร้ายแล้ว ไม่ใช่แค่ความเสียหายของโรงเรียนอย่างเดียว แต่รวมทั้งสังคม น่าเป็นห่วงมาก จากข้อมูลสำรวจวิจัยเรื่องไอคิวเด็กที่ทำมาหลายครั้ง หน่วยราชการพยายามไม่ให้ข้อมูลออกไปมาก เพราะเกรงว่าจะทำให้คนตกใจ ต้องบอกก่อนว่า ไอคิวเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เปลี่ยนแปลงยากมาก ถ้าไอคิวเปลี่ยนแปลงแปลว่ามีปัจจัยครบวงจรสมบูรณ์ เด็กโตขึ้น ไอคิวดีขึ้น เพราะมีปัจจัยล้อมรอบที่สมบูรณ์มาก ในทางกลับกันถ้าไอคิวถอยหลัง เพราะมีปัจจัยที่สมบูรณ์มากที่นำไปสู่ความเสื่อมในการรู้จักคิด รวมถึงปัญหาในเรื่องครอบครัว สังคม สภาพแวดล้อม สื่อมวลชน ค่านิยมโดยรวม สังเกตว่า สมัยนี้ต้องง่าย เร็ว ไม่รอ ไม่คิด ไม่ชั่งน้ำหนัก

แล้วยังมีค่านิยมมุมมืดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น ยาเสพติด เรื่องทางเพศ ซึ่งเติบโตด้วยอัตราเร่ง ประกอบกับความสามารถในการดูแลเด็ก เพราะครอบครัวยุคนี้เป็นครอบครัวเดี่ยว ความสามารถในการเลี้ยงลูกถดถอยลง ความสามารถในการอยู่กันเองยังลำบาก ผมเองก็ดูแลเด็กในโรงเรียน หรือเวลาที่มีคนต้องการความช่วยเหลือ เพื่อให้เราเข้าไปดูแลเด็ก เราพบว่า สังคมไทยมีครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย มีปัญหาซ่อนเร้นที่มองไม่เห็น ไม่ใช่ว่าเด็กมาถึงโรงเรียนแล้ว เราจะเข้าใจปัญหาได้ง่ายๆ ภาพทั้งหมดที่ผมเห็น ผมอยากจะยืนยันว่า ปัจจัยแห่งความเสื่อม มันได้ก่อตั้งขึ้นเป็นระบบนิเวศน์แล้ว

ถ้าจะบอกว่า ปัญหาส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยจะได้ไหม ?
แน่นอนครับ เพราะความเสื่อมมหาศาลขนาดนี้ ความสามารถในการเข้าไปจัดการกับความเสื่อม เทียบไม่ได้เลย มันเห็นชัดๆ ว่า มันแพ้แบบไม่มีประตูสู้ ผมมองทางออกเดียวคือ ระดมทั้งประเทศ ถ้าจะให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งทำ ไปไม่รอดครับ ถ้ามองกันตั้งแต่ความเป็นมนุษย์ แก่นคุณค่า คุณความดี อุดมคติ อุปนิสัยหรือพูดง่ายๆ แก่นสันดานของการเป็นคน ในแต่ละโรงเรียนไม่ได้โฟกัสเรื่องนี้จริงจัง มีบางโรงเรียนทำ แต่ถ้ามองภาพใหญ่หายไปแล้ว เพราะเด็กๆ ต้องวิ่งไล่ระบบการเรียนการสอบแบบโอเน็ต

ส่วนเรื่องความสามารถการเรียนรู้ เรื่องแรก แรงขับภายในของผู้เรียน ซึ่งประกอบไปด้วยเจตคติ ความเป็นเจ้าของ ความรับผิดชอบ ตรงนี้จะบอกว่าผู้เรียนสำคัญ ต้องสร้างการเรียนรู้ในตัวเด็กให้ได้ ตรงนี้แหละเราไม่ได้โฟกัส ลองไปอ่านความรู้ที่มีอยู่ในโลกนี้ มันมีอยู่ แต่เราไม่ได้พูดถึง

เรื่องที่สองคือ ความสามารถในการกำกับดูแลประเมินพัฒนาการเรียนรู้ของตนได้ อันนี้สำคัญมาก เพราะชีวิตคนเราเหมือนมีอีกคนในตัว ก็คือ การไตร่ตรองมองย้อนสะท้อนกลับ บางแห่งใช้คำว่า thinking about thinking คือ คิดเรื่องการคิด คือรากฐานการปฎิรูปตั้งแต่ปี 2540 ประเทศที่ประสบความสำเร็จจะโฟกัสเรื่องนี้ ในหลักสูตรของนิวซีแลนด์บอกว่า ผู้เรียนต้องเรียนเรื่องการคิด และประเมินการคิดของตัวเองได้ หลักสูตรญี่ปุ่น ผมดูจากวิดีโอการจัดการเรียนรู้ในชั่วโมงคณิตศาสตร์ สอนให้เด็กมองเห็นกระบวนการคิดของตัวเองและเพื่อน แล้วแลกเปลี่ยนกัน เพื่อหาจุดอ่อนจุดแข็งหาข้อสรุปใหม่ รวมทั้งบันทึกกระบวนการคิดของเด็กๆ

หัวใจของการเรียนรู้ตลอดชีวิต คือหลักสำคัญของการศึกษา คราวนี้ผมจะฟันธงให้เห็นว่า หลักสูตรปฏิรูปการศึกษาปี 2544 พูดถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่โครงการจบแค่ในกระดาษ ไม่มีการขยายความ เพราะเราไม่ได้ทำการบ้านต่อว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตทำอย่างไร ต้องมาจากสองเรื่องคือ แรงขับภายในของผู้เรียน และความสามารถในการไตร่ตรองมองย้อนสะท้อนกลับ ประเมินและพัฒนาตน เราต้องฟันธงก่อนว่า สองเรื่องนี้ต้องปักเสาเข็ม ดังนั้นการสร้างแรงบันดาลใจหรือการให้ข้อมูลสะท้อนกลับต่อเด็ก เราไม่มีกลไกสนับสนุนครูอย่างเพียงพอ ในแผนกล่าวแค่ว่า ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ไม่ได้ตามมาด้วยหลักคิด หลักปฏิบัติการเรียนรู้

นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนทางเลือกนำกระบวนการการเรียนรู้ตลอดชีวิตมาใช้ แล้วเจอปัญหาอุปสรรคอย่างไร
เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายทำให้พวกเราในกลุ่มโรงเรียนทางเลือกต้องแลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่เรื่อยๆ เพราะที่ผ่านมา เราไม่มีอะไรสะสมในสังคมไทย เราไม่มีตัวช่วย ไม่มีความรู้เชิงปฏิบัติการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เรามีแต่ความรู้และการปฏิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

เมื่อนำมาใช้กับเด็กๆ เป็นอย่างไรบ้าง
เด็กที่จบจากโรงเรียนเรา เมื่อไปอยู่โรงเรียนอื่น ส่วนใหญ่เป็นนักกิจกรรม เป็นแกนนำในโครงงาน เพราะพวกเขาเรียนและทำโครงการไปด้วย ซึ่งต่างจากระบบการศึกษาทั่วไป ทุกๆ เทอมเด็กๆ ต้องประมวลการเรียนรู้ของเขา แล้วนำเสนอ เราเรียกว่า โครงการชื่นใจได้เรียนรู้ ช่วง 3 ปีหลัง เรามีบันทึกและมีผู้ปกครองสะท้อนว่า โครงการของเด็กๆ ดีขึ้นทุกปี ถ้าเด็กเรียนมาแบบท่องจำ เวลานำเสนอจะไม่มีความชัดเจน ถ้าเรียนมาแบบปฏิบัติทำไปด้วย ตอนท้ายๆ จะมีโครงการนำเสนอว่าทำอะไรไปบ้าง

หากจะนำแนวทางการศึกษาทางเลือกมาเป็นแนวทางหลัก จะเป็นไปได้ไหม
จริงๆ แล้วควรทำอย่างนั้น เพราะนโยบายปฎิรูปการศึกษา ปี 2544 วางไว้อย่างนั้น เราก็ไม่ได้ทำอะไรแหกคอกพิสดาร เราเพียงแค่คืนการเรียนรู้ให้กับเด็กและนำการเรียนรู้กับการทำงานผสมผสานเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเพิ่มให้เด็กเรียนรู้จากกันและกัน สิ่งที่พวกเราทำคือสิ่งที่สำนักปฏิรูปการศึกษาปี 2544 ต้องการ ถ้าระบบการศึกษาทั้งหมดปฎิรูปแบบนี้ เราก็ไม่เป็นทางเลือกแล้ว เพราะเรากำลังทำสิ่งที่พรบ.การศึกษารองรับอยู่

นโยบายที่บอกว่า เด็กไทยไม่ควรเรียนเกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี ครูปาดคิดว่า เวลาเรียนแค่ไหนเหมาะสม
มีคำขวัญของสิงคโปร์บอกว่า ให้ครูสอนน้อยลง แต่เด็กเรียนมากขึ้น ผมไม่ได้มองไปที่การลดเวลาเรียน หมายความว่าในชั่วโมงเรียน ครูที่เป็นผู้นำในการสอน ต้องลดบทบาทลง แล้วคืนบทบาทการเรียนรู้ให้เด็ก หน้าที่ของครูคือ การสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก และอีกกรณี ถ้าลดชั่วโมงเรียน ก็ให้มีเวลาทำกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมากขึ้น คือ โรงเรียนในเมืองไทย ชั่วโมงเรียนสูงมาก แต่ผลที่เกิดกับเด็กต่ำมาก มีงานวิจัยออกมาแล้ว เช่นเดียวกัน เราพบหลายแห่งในโลก โรงเรียนที่อัดชั่วโมงเรียนเยอะ แต่ผลออกมาไม่มาก ในด้านกลับกัน ประเทศที่มีผลการเรียนรู้ของเด็กอยู่เกณฑ์สูง เช่น ฟินแลนด์ และญี่ปุ่น ชั่วโมงเรียนไม่มาก อันนี้มันบอกเราว่า การจัดการเรียนรู้ภายในเวลาที่จำกัด มันมีประสิทธิภาพสูงมาก แต่ต้องมีกระบวนการการเรียนรู้ แม้เด็กจะพ้นออกไปจากชั่วโมงเรียน แต่อุปนิสัยการเรียนรู้จะติดไปกับเด็ก

สิ่งเหล่านี้เป็นหัวเชื้อของความรู้ที่สำคัญ เพื่อให้ความรู้งอกเงยต่อไปนอกห้องเรียน เมื่อเด็กกลับเข้าห้องเรียนก็ได้รับอีก เวลาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน มันตอบโต้กันเชิงบวก ถ้าไปลดชั่วโมงเรียนล้วนๆ โดยไม่เข้าใจว่าควรทำอะไรในชั่วโมงที่มีอยู่ ไม่เข้าใจว่าเด็กออกจากห้องไปแล้ว อะไรควรอยู่ในตัวเด็ก ถ้าเราขาดความเข้าใจ ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แบบเดียวกับการยุบโรงเรียน ถ้าเราไม่เข้าใจกลไกการพัฒนาทั้งหมดที่เกิดขึ้น หรือไม่เข้าใจการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น

ปัญหาเด็กนักเรียนต้องทำการบ้านเยอะ ครูปาดคิดเห็นอย่างไร
การบ้านสมัยก่อนที่ครูให้คือ การฝึกสิ่งที่เราเรียนในห้องเรียน ทำซ้ำด้วยทักษะเดิม ซึ่งการบ้านแบบนี้ให้ประโยชน์น้อย ปัจจุบันการบ้านเด็กในประเทศที่ประสบความสำเร็จเปลี่ยนไปเยอะ สิ่งที่ควรทำคือ การบ้านไม่ควรมีเยอะข้อ แต่ควรเป็นการบ้านที่เจาะลึก ให้เด็กสร้างความรู้เอง แล้วความรู้ที่เกิดจากการบ้าน ต้องไม่ใช่ความรู้เดียวกับผู้เรียน แต่เป็นความรู้ที่สัมพันธ์กัน ถ้าเป็นอย่างนี้เด็กจะคุ้นชินกับการเรียนรู้ข้างนอก

ต้องแก้ที่มาตรฐานการศึกษา ?
ที่เราพูดถึงคือ มาตรฐานผู้บริหาร เพราะส่วนใหญ่เอาแต่เปลือกของงานวิจัยมาใช้ เมื่อเห็นว่า ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา แม้จะเรียนน้อยแต่เด็กได้ดี ก็เลยคิดแบบกำปั้นทุบดินว่า ฉันจะให้เด็กเรียนน้อยลง น่าจะได้ผลแบบนั้น เพราะไปเห็นปรากฏร่วมที่เป็นเหตุเป็นผล แต่เหตุปัจจัยไม่เหมือนกัน

ในฐานะนักการศึกษา อยากให้ครูปาดสะท้อนถึงหัวใจหลักในการพัฒนาคน ?
เราลองมาหลายแบบ ไม่ว่าการพัฒนาครู ทั้งอบรม ดูงาน ศึกษาต่อ นิเทศน์ โค้ชชิ่ง สิ่งที่เขาทำกันทั่วไป เราทำมาหมด ผมจะอุปมาดังนี้ครับ ยิ่งเราเพิ่มการอบรมมากเท่าไหร่ เหมือนการเติมหัวก๊อกให้ใหญ่ขึ้น แต่ถ้าภาชนะรั่วเมื่อไหร่ เราปิดก็อก แล้วเปิดน้ำก็จะค่อยๆลดลง ถ้ามองให้เป็นรูปธรรม เมื่อไหร่ก็ตามที่เริ่มลดการอบรม ดูงาน คุณภาพมันจะเริ่มลดลง เหตุผลคือ ข้อหนึ่ง..ถ้ามองในแง่ปัจเจกคือ ตัวครูเองไม่มีการเรียนรู้อยู่ในวิถีชีวิต ข้อสอง...ถ้ามองในแง่ทีม ก็ไม่มีการเรียนรู้ในกระบวนการของทีม และข้อสาม ตัวองค์กรหรือโรงเรียน ไม่มีการเรียนรู้อยู่ในกระบวนของการทำงาน เมื่อไม่มีสามสิ่ง ก็เหมือนภาชนะก้นรั่ว

แต่ถ้าเราทำให้ตัวครู มีการเรียนรู้อยู่ในวิถีชีวิตของเขา ทีมมีการเรียนรู้อยู่ในกระบวนการ และทำให้โรงเรียนเป็นองค์กรเรียนรู้ ถ้าทำอย่างนั้นได้ เราไม่จำเป็นต้องอบรมมาก มันอบรมตัวเองได้ แต่ถ้ามีกระบวนการเรียนรู้ถูกต้อง ก็จะเร็วขึ้น กระบวนการที่เรานำมาใช้มีชื่อว่า ชุมชนเรียนรู้ร่วมวิชาชีพ เรื่องนี้ถูกระบุในหนังสือการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ว่าด้วยการพัฒนาครูและองค์กรในอนาคต ตอนนี้เราคิดว่าเรื่องนี้เรื่องใหญ่จริงๆ ผมอยากชี้ว่า นี่เป็นกุญแจความสำเร็จที่สำคัญที่สุด
ผมอยากยกตัวอย่าง เมื่อ 150 ปีที่แล้ว ญี่ปุ่นปฎิรูปประเทศพร้อมๆ กับเรา รวมทั้งปฎิรูปการศึกษา เคยส่งคนมาดูงานที่เมืองไทย แต่ตอนนี้ญี่ปุ่นมีระบบการพัฒนาครูและคุณภาพการจัดการเรียนรู้ที่เข้มแข็งที่สุดในโลก สิ่งหนึ่งที่ญี่ปุ่นต่างกับเรามากคือ เรายังคงพัฒนาครูด้วยการใช้ผู้ที่รู้มากกว่ามาให้ความรู้ แต่ญี่ปุ่นสร้างทีม พวกเขาทำแนวทางการเรียนรู้ที่เรียกว่า Lesson study (โครงการวิจัยและพัฒนารูปแบบการพัฒนาการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนด้วยวิธีการศึกษาชั้นเรียน) คนที่ทำงานกับระบบนี้ลึกซึ้งมากคือ ผศ.ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น . เพราะไปเรียนมาจากสำนักที่เรียกว่าใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ซึ่งอาจารย์แนะนำระบบนี้ให้พวกเรา ก่อนหน้านี้พวกเราสนใจแนวคิดตะวันตก แต่เรารู้สึกว่าความทรงพลังที่เป็นรากหญ้าหายไป จนกระทั่งอาจารย์ไมตรีแนะนำกระบวนการเหล่านี้ให้พวกเรา

ถ้ามองเรื่องการสังเกตในระบบของญี่ปุ่นที่กล่าวมา ในชั่วโมงคณิตศาสตร์ แม้กระทั่งรอยลบขีดฆ่าในการทำคณิตศาสตร์ วิธีที่เด็กทำผิดหรือลังเล เขาไปถ่ายรูปมาเลย หลังจากเลิกชั้นเรียน เขามานั่งถามกันเลยว่า ทำไมเด็กคนนี้ถึงเข้าใจ แล้วเด็กอีกคนไม่เข้าใจ เราเคยสังเกตขนาดนี้ไหม ลองคิดดูวิธีการแบบนี้ ฝึกอะไรให้กับครู เราอยากให้เด็กเป็นอย่างไร ตัวครูหรือองค์กรก็ต้องเป็นอย่างนั้นด้วย

จากที่ทำโรงเรียนทางเลือกมานานกว่า 10 ปี ครูปาดมองว่า นี่เป็นแนวทางการพัฒนาเด็กที่ดีรูปแบบหนึ่ง ?
เอาเป็นว่าผมมั่นใจว่า มันตอบโจทย์การศึกษาของชาติได้

แล้วครูที่โรงเรียนเพลินพัฒนามีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง
สมัยก่อนเวลาปรับแผนการเรียนรู้ ครูจะรู้สึกเหนื่อย และรู้สึกว่าทำได้ยาก แต่ตอนนี้พวกเขาทำเรื่องที่ยากขึ้น อย่างเรื่องการสอนเศษส่วนในชั่วโมงคณิตศาสตร์ พวกเขาคิดต่อว่า มันสัมพันธ์กับอัตราส่วนและสัดส่วนอย่างไร โดยไม่ต้องแยกเป็นชิ้นๆ การเชื่อมโยงเรื่องพวกนี้ ผมมองว่า ครูหลายโรงเรียน คงไม่อยากทำ แต่ครูที่นี่เริ่มแก้โจทย์พวกนี้แล้ว ตอนนี้ผมให้พวกเขาศึกษาแนวทางการสอนของญี่ปุ่นด้วย เมื่อก่อนเวลาครูอ่านคู่มือ พวกเขาก็อ่านแบบธรรมดา แต่เดี๋ยวนี้เริ่มอ่านระหว่างบรรทัด เพื่อค้นหานัยยะที่ซ่อนอยู่ พวกเขาอยากทำแผนของเขาเอง โดยไม่ลอกหนังสือ ซึ่งเรื่องนี้ยากมากที่จะทำให้กิจกรรมแทรกเข้าไปในสิ่งที่หนังสือไม่มี โดยรักษาเอกลักษณ์ของหนังสือเอาไว้

เด็กจำนวนมากไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาทางเลือก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง เรื่องนี้ครูปาดมีคำตอบอย่างไร ?
จริงๆ แล้วการศึกษาทั้งหมดไม่มีอะไรถูก เราไม่สามารถทำให้ถูก เพราะเราต้องทุ่มเท ทำให้ดีที่สุด ถ้าเรามีทรัพย์ทางสังคมสูง แล้วมีความรู้ทางการศึกษามากพอ เราอาจลดค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง แต่คงเป็น 10-20 ปีข้างหน้า จนกว่าเราจะมีทรัพย์ที่เพียงพอ มีความรู้ที่ชัดเจนตั้งแต่การจัดการหลักสูตรจนถึงการประเมิน มีหน่วยงานที่สนับสนุนตั้งแต่หัวยันหาง และมีหน่วยงานที่ผลิตครูที่มีคุณภาพมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้โรงเรียนแนวนี้อาจลดค่าใช้จ่ายลงมา

เพราะการศึกษาไม่ใช่ถูก หลายรัฐบาลทำผิดมาก คือ ฟรี...แม้การให้ฟรีจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำแบบรวบหัวรวบหาง ทุกคนจะเข้าใจว่ามันถูก การศึกษามันแพงเสมอ เหมือนของที่เลอเลิศ หัวใจอยู่ที่ว่า มันเป็นของแพงแต่ต้องทำให้ทั่วถึง ถ้าเราดึงภาษีจากคนรวยมาช่วย และประชาชนต้องเข้าใจด้วยว่า สิ่งที่เขาจ่ายถูกหรือไม่ต้องจ่าย จริงๆ แล้วการศึกษาแพงมาก วิธีการของผมคือ บอกราคาไปเลย แต่ให้ทุนการศึกษากับเด็กยากจน การศึกษาทำให้ทั่วถึงได้ เพราะการศึกษาเป็นสิ่งเลอค่าที่สุดที่มนุษย์ชาติพึ่งมี

สิบกว่าปีที่ทำโรงเรียนทางเลือก เรื่องที่ยากที่สุดคือเรื่องอะไร
การพัฒนาครูยากที่สุด เพราะเด็กๆมีความพร้อมในการเรียน แต่พวกเราทั้งหมดถูกสิ่งที่เราไม่ปรารถนาสร้างมา หลายประเทศดิ้นรนจนหลุด ถ้าเราสู้ต่อไป คง 10-20 ปีข้างหน้า

เป็นความหวังในการพัฒนาการศึกษา ?
ผมอยากเห็นเป็นวาระของชาติ อยากให้สังคมช่วยกันพัฒนาการศึกษาอย่างมีระเบียบ ผมอยากเห็นความร่วมมือกันทั้งชาติ

 

 ----------------------

ที่มา...กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >