หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 94 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ค่ายพัฒนาผู้นำเยาวชนนักสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4 พิมพ์
Thursday, 09 May 2013

 

ชมภาพจาก

ค่ายพัฒนาผู้นำเยาวชนนักสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4


undefinedFacebook ยส.undefined

 

 undefinedคลิกชมภาพกันเลยundefined


undefined เว็บบอร์ด : ฝากข้อความถึงเพื่อนร่วมค่ายฯ undefined

(สมัคร สมาชิกด้วยนะ)


Image

 

  

 

เยาวชนค่ายยุวสิทธิฯ จากสกลนคร

ศึกษาปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ร้อยเอ็ด

 

ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ต.เหนือเมือง จ.ร้อยเอ็ด สะท้อนผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้คนในหมู่บ้านเป็นโรคทางเดินหายใจ ต่อมทอนซิลโต ตาอักเสบ เกิดตุ่มคันตามตัว ดื่มน้ำฝนไม่ได้ต้องซื้อน้ำดื่ม เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้เปื้อนฝุ่นดำจากแกลบ ต้องปิดประตูหน้าต่างบ้าน และมีเสียงดังจากเครื่องจักร ส่งผลต่อความเครียด ชาวบ้านขอให้โรงไฟฟ้าที่นี่เป็นบทเรียน หากจะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อื่นให้แก้ไขที่ ต.เหนือเมืองก่อน

เอ็นจีโอแนะค้านสร้างโรงไฟฟ้าด้วยวิธีประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยคนในชุมชน ก่อนสร้างนายทุนจะชี้ให้เห็นชูแต่ข้อดี เลี่ยงไม่กล่าวถึงผลกระทบ ด้านเยาวชนประทับใจน้ำใจของชาวบ้านที่ต้อนรับดูแลเอาใจใส่อย่างดี สะเทือนใจผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับ จะนำประสบการณ์ที่ได้ถ่ายทอดให้กับหมู่บ้านในสกลนครที่อยู่ใกล้โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าที่กำลังจะสร้าง และให้ข้อมูลเรื่องนี้ทางโซเชียล เน็ตเวิร์ก

คณะกรรมการคาทอลิกเพื่อการพัฒนาสังคม แผนกความยุติธรรมและสันติ (ยส.) ร่วมกับ ศูนย์สังคมพัฒนา อัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง และแผนกยุติธรรมและสันติ อัครสังฆมณฑลท่าแร่ - หนองแสง จัดค่ายพัฒนาผู้นำเยาวชนนักสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 4 ที่บ้านหนองม่วง ต.เหนือเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 19 - 22 มีนาคม 2556 โดยมีเยาวชนจาก จ.สกลนคร ที่ผ่านการเข้าค่ายยุวสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 11 และ 14 เข้าร่วมค่ายครั้งนี้ จำนวน 12 คน น้องๆ เยาวชน และเจ้าหน้าที่ทีมงาน เข้าพักกับชาวบ้านในหมู่บ้านหนองม่วง บ้านละ 3 -4 คน ซึ่งค่ายนี้เป็นค่ายต่อเนื่องจากค่ายยุวสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 14 ที่ได้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 40 เมกะวัตต์ ที่ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร

 

วันที่ 19 มี.ค.เมื่อทีมงาน ยส.และเยาวชนจาก จ.สกลนครเดินทางมาถึงบ้านหนองม่วง ชาวบ้านและเยาวชนรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน คุณภูริธน นามลักษณ์ รองประธานสภา อบต.เหนือเมือง และประธานเครือข่ายชมรมเฝ้าระวังผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ต.เหนือเมือง แนะนำผู้นำชุมชนที่ร่วมกันต่อสู้เรียกร้องกรณีชาวบ้าน ต.เหนือเมือง ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล จากนั้นชาวบ้านและเยาวชนเดินทางเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าชีวมวลร้อยเอ็ด กรีน โดยมีคุณไชยยันต์ เหล่าจุมพล ผู้จัดการโรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน จำกัด บรรยายสถานการณ์พลังงานว่า "การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่คือใช้ถึง 72 % แต่มีแนวโน้มที่จะใช้พลังงานทางเลือกอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ โดยประเทศไทยมีการตั้งเป้าพลังงานทดแทนไว้ที่ 25 % แต่ขณะนี้ทำได้แค่ 3 %

โรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้พลังงานจากแกลบผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 8.8 เมกะวัตต์ ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำหรับการป้องกันฝุ่นที่เกิดขึ้น มีอุปกรณ์มัลติไซโคลนกักฝุ่นได้ 60% ฝุ่นที่เหลือก็ไปสู่เครื่องดักฝุ่นระบบไฟฟ้าสถิต ซึ่งมีลวดทำหน้าที่จ่ายประจุลบให้กับฝุ่น ส่วนที่เป็นแผ่นทำหน้าที่เป็นประจุบวก เมื่อฝุ่นเป็นประจุลบก็จะวิ่งไปติดที่แผ่น สามารถดักฝุ่นได้ 97 % เมื่อรวมกับเครื่องแยกฝุ่นอันแรก ก็เหลือฝุ่นที่ปลิวจากโรงงานไปสู่ชุมชน 1.3 %

เนื่องจากโรงงานอยู่ร่วมกับชุมชน จำเป็นต้องรักษามาตรฐานทั้งตามกฎหมายและมาตรฐานของโรงงาน สำหรับที่นี่ (โรงไฟฟ้าร้อยเอ็ด กรีน จำกัด) มีผลกระทบกับชุมชนแต่ยังไม่ถึงขั้นรุนแรง โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานเปิดคือเปิดประตูอยู่ตลอดเวลา ถ้าเกิดปัญหาขึ้นผู้นำชุมชนเข้ามาคุยกับเราได้ หรือ ถ้าเกิดผลกระทบขึ้นจะไม่เดินเครื่องต่อ และเราไม่ได้เดินเครื่องตลอด มีเวลาหยุดพักเครื่องด้วย เช่น บางเดือนจะหยุด 2-3 วัน เพื่อทำความสะอาดเตา

เราใช้เชื้อเพลิง 250 ตันแกลบต่อวัน ใช้น้ำวันละ 1,000 คิว ที่ต้องใช้น้ำเยอะเพื่อระบายความร้อน ความร้อนออกไป ก็ต้องระบายน้ำออกไปด้วย เราพยายามจะเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด สุดท้ายก็มีหลุดออกไปบ้าง แต่เรามีบ่อดักน้ำที่บำบัดแล้ว ก่อนปล่อยไปสู่ชุมชน"

 

ช่วงเช้าของวันพุธที่ 20 มี.ค. พี่เลี้ยงและน้องๆ เยาวชน ไปรับฟังข้อมูลผลกระทบที่โรงเรียนได้รับจาก ผอ.ชูศักดิ์ ไชยโคตร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองนาสร้าง (ศิริราษฎร์บูรณะ) เล่าว่า "โรงเรียนเรารับผิดชอบการศึกษาระดับอนุบาลถึงป.6 มีนักเรียนร้อยกว่าคน ที่นี่เป็นเขตรอยต่อระหว่างเมืองกับชนบท เขตบริการของเราคือหมู่ที่ 10 บ้านหนองนาสร้าง ถัดไปคือหมู่ 12 บ้านหนองม่วง และหมู่ 13 บ้านหนองบัวทอง ทั้งสามหมู่บ้านได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงเรียนถ้าเดินลัดทุ่งไป 300 เมตรก็ถึงโรงงานแล้ว จะได้รับผลกระทบมากในช่วงหน้าหนาวที่ลมพัดเข้าโรงเรียนโดยตรง ฝุ่นดำเข้ามามากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เวลาเรียนต้องปิดหน้าต่างตลอด แนะนำนักเรียนในเรื่องการดูแลสุขภาพ ให้ออกกำลังกาย มีนักเรียนป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ข้อมูลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ระบุว่ามีการเบิกยาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมากกว่าที่อื่น มีคนป่วยทั้งนักเรียนและคนในชุมชน เวลาซักเสื้อผ้าตากไว้ที่บ้าน แกลบดำก็จะมาติดจนผ้าดำ ล้างจานชามก็ต้องครอบเอาไว้ การทำความสะอาดห้องเรียนก็ต้องทำกันวันละหลายๆ รอบ ครูเองก็ช่วยนักเรียนทำด้วย ก็มีทั้งกลิ่น แกลบ ขี้เถ้า แล้วก็เสียง มลพิษมาด้วยกันทั้งสามอย่าง

ผู้นำชุมชมทั้งสามหมู่บ้านร่วมกันต่อสู้ ทางโรงเรียนก็ร่วมต่อสู้ด้วย เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านและนักเรียนไปชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด เอาแกลบดำไปโชว์ให้เห็น หรือเวลาสื่อมวลชนช่องต่างๆ มาสัมภาษณ์ เราก็พาเขาไปดูถึงหลังโรงงาน ไปเห็นสภาพจริงก็น่ากลัวมาก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าบัวสมหมาย ที่ไม่ได้ทำให้เป็นมาตรฐาน

โรงไฟฟ้าเขาก็ช่วยอุปถัมภ์ทั้งชุมชน โรงเรียน วัด เขาก็บริจาคให้เป็นระยะๆ ส่วนเรื่องการต่อสู้ เดินขบวนเราก็สู้ไป แต่เรื่องความสัมพันธ์ที่ดีเราก็อยากให้เกิดขึ้น อะไรก็น่าจะดีขึ้น"

ผอ. ฝากถึงน้องๆ เยาวชนว่า "พวกเราต้องพัฒนาวิธีการที่จะช่วยเหลือสังคม ถ้าพวกเรานิ่งเมื่อไร จบเลยประเทศชาติบ้านเมือง เราเป็นอนาคตของสังคม อย่าไปอ่อนข้อให้ทุนนิยมง่ายๆ หรือเห็นแก่ผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ที่เขาจะมาช่วย ซึ่งเทียบไม่ได้กับผลเสียระยะยาวที่จะตามมา ดูว่าถ้าเขามาสร้างโรงงานจะส่งผลกระทบกับชุมชนระยะสั้น ระยะยาวอย่างไร จะย้ายไปสร้างที่อื่นที่ไม่ส่งผลกระทบกับชุมชนได้ไหม สำหรับที่นี่ต้องต่อสู้กันเป็นหนังชีวิต จะย้ายคนออกจากหมู่บ้าน ย้ายโรงเรียนหนีก็เป็นไปไม่ได้"

 

หลังจากนั้นช่วงบ่าย พี่ๆ และน้องเยาวชนได้แยกย้ายไปคุยกับชาวบ้านตามบ้านต่างๆ โดยชาวบ้านท่านหนึ่งเล่าถึงผลกระทบจากโรงไฟฟ้าว่า มีฝุ่น ควัน มีผลต่อการหายใจ และทำให้คันตามเนื้อตามตัว เกิดตุ่มด้วย แต่เดิมที่ดื่มน้ำฝนได้ก็ต้องซื้อน้ำกินซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่ค่อนข้างสูง คนที่มีรายได้น้อยก็ต้องดื่มน้ำประปาแทน

ช่วงค่ำของวันนั้น คุณภูริธนให้น้องๆ ชมสารคดีที่สะท้อนให้เห็นว่าในทุกภาคของประเทศ ประชาชนต่างได้รับผลกระทบจากการพัฒนาประเทศที่มุ่งแต่ด้านวัตถุเงินทอง หรือเน้นแต่ภาคอุตสาหกรรม จนส่งผลต่อวิถีชีวิต การทำมาหากินของชาวบ้าน และได้เล่าถึงการต่อสู้ของชาวบ้าน ต.เหนือเมืองว่า "เราต่อสู้มา 10 กว่าปีแล้ว ร้องเรียนไปถึงผู้ว่าฯ อุตสาหกรรมจังหวัด กำกับกิจการพลังงาน นายก อบต. จนไปเดินขบวนเอาฝุ่นแกลบไปเทหน้าศาลากลางจังหวัด เราตั้งคำถามทางหน่วยราชการ โดยเฉพาะผู้ว่าฯ ว่าเขาทำอะไรอยู่ ทำไมไม่จัดการ จากนั้นทางราชการก็มีคำสั่งให้ทุกฝ่ายเข้าไปตรวจสอบโรงไฟฟ้าชีวมวลของบัวสมหมาย เจ้าหน้าที่จากกรมมลพิษท่านหนึ่ง แนะนำให้ติดเครื่องวัดที่ปล่องควันของโรงไฟฟ้า ถ้าฝุ่นควันเกินมาตรฐานเสียงไซเรนจะดังขึ้นทันที แต่ทางบัวสมหมายก็ปฏิเสธเครื่องมือนี้"

 

วันพฤหัสบดีที่ 21 ช่วงเช้าได้เชิญ คุณวิจิตรา ชูสกุล จากมูลนิธิพัฒนาอีสาน จ.สุรินทร์ และเครือข่ายพลังงานยั่งยืนมาแบ่งปันประสบการณ์ในการคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.สุรินทร์ "ที่สุรินทร์มีโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์ ถึง 4 โรง และอีกหนึ่งโรงจะสร้างแต่ชาวบ้านออกมาคัดค้าน ผลกระทบของโรงไฟฟ้าชีวมวลแต่ละพื้นที่คล้ายๆ กันคือมีฝุ่นที่ส่งผลกระทบต่อระบบหายใจ น้ำดื่มไม่ได้ ยิ่งถ้าเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้อ้อยเป็นพลังงานก็จะมีความเหนียวเพิ่มเข้ามาและมีเรื่องกลิ่นด้วยเพราะใกล้โรงน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลต้องใช้น้ำปริมาณมาก บางโรงงานก็ขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลมาใช้

ข้อดีของโรงไฟฟ้าฯ ตามคำโฆษณาของผู้ประกอบการคือเป็นการสร้างรายได้ เป็นแหล่งรับซื้อผลผลิต ทำให้มีงานทำ มีภาษีให้กับท้องถิ่น แต่ส่วนที่เป็นผลกระทบเขาไม่ค่อยพูดหรือบอกว่าสามารถป้องกันได้ ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมก็มีกฎข้อบังคับต่างๆ แต่ผู้ประกอบการมักไม่ทำตามเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ได้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ฉะนั้นในกรณีที่มีโรงงานเกิดขึ้นแล้วเราจึงต้องติดตามตรวจสอบอยู่เสมอ

ตามกฎหมายระบุว่าโรงไฟฟ้าที่ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ไม่ต้องทำ EIA (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) การต่อสู้ของเราจึงต้องใช้ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการศึกษาผลกระทบโดยวิธีการ CHIA (Community Health Impact Assessment) หรือการประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยให้คนในชุมชนจัดทำข้อมูลชุมชนด้วยตนเอง สามารถยื่นต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติว่าพี่น้องประชาชนต้องการศึกษาผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทบัวสมหมายจะไปสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ จ.อุบลราชธานี ประชาชนก็ใช้เครื่องมือนี้ในการต่อสู้ไม่ให้สร้าง

สำหรับในท้องถิ่นถ้าจะมีโรงงานเกิดขึ้น จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ อปท.หรือเทศบาล ส่วนที่ 2 คือกรมโรงงานหรืออุตสาหกรรมจังหวัด และสุดท้ายคือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการพลังงานได้ เมื่อโรงงานเกิดผลกระทบกับชาวบ้าน ก็มักจะโยนกันไปโยนกันมาระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรมกับกำกับกิจการพลังงาน สำหรับโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้สร้าง ก็ต้องขึ้นอยู่กับชุมชนที่จะลุกขึ้นมาแสดงความเห็นว่า ต้องการจะให้สร้างหรือไม่ โดยใช้วิธีประชาคม"

 

 

ในช่วงบ่ายวันนั้น พวกเราไปที่รพ.สต. พบกับ คุณไชยรันต์ มูลมณี ผอ.รพ.สต.ให้ข้อมูลว่า "รพ.สต.ของเราเปิดมาตั้งแต่ปี 2552 จากการเก็บสถิติพบว่าชาวบ้านมีปัญหาเรื่องฝุ่นแกลบเข้าตา และเป็นโรคระบบทางเดินหายใจค่อนข้างมาก และจากการลงพื้นที่ของเราตรวจทั้งเด็กและผู้ใหญ่พบว่าเป็นต่อมทอนซิลโตกันค่อนข้างมาก เพราะต่อมทอนซิลทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบหายใจ ทำหน้าที่กรองเชื้อโรค ในส่วนของเราก็เน้นให้ชาวบ้านป้องกันตัวเอง ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง"

พวกเรามีโอกาสพูดคุยกับผู้นำชุมชนอีกสองท่านคือ ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองม่วง คุณแสงจันทร์ ประทุมดี เผยความรู้สึกว่า "เมื่อโรงงานเกิดขึ้นก็ส่งผลกระทบถึงลูกถึงหลานของเราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป ก่อนสร้างก็บอกว่าไม่เป็นไร บอกจะสร้างอาคาร ไม่ได้สร้างโรงไฟฟ้า สำหรับที่อื่นถ้าโรงไฟฟ้ายังไม่ได้สร้าง เราต้องใช้มวลชนร่วมกันต้านอย่าให้สร้าง ถ้าเกิดแล้วยากที่จะไปคัดค้าน เราก็ต่อสู้กันไปถึงศาลปกครองที่ จ.อุบลราชธานี แต่ทำไมประชาชนถึงแพ้โรงงาน เราแพ้เงิน แพ้อำนาจ เวลามีหน่วยงานต่างๆ มาตรวจสอบ หรือมีคณะต่างๆ มาศึกษาปัญหา เขาจะปล่อยฝุ่นออกมาไม่มาก คณะต่างๆ กลับไปก็ปล่อยเหมือนเดิม อย่างน้อยก็ให้หมู่บ้านของเราเป็นบทเรียนที่จะไม่ให้เกิดปัญหาจากโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นที่หมู่บ้านอื่น"

คุณบุญฉลอง สนั่นก้อง สมาชิก อบต. ต.เหนือเมือง เล่าว่า "ต่อสู้กันมากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ระดับจังหวัด ร้องเรียนผู้ว่าฯ ไปกระทรวงอุตสาหกรรม กรมทรัพยากรฯ ทำเนียบรัฐบาลก็ไป ร้องเรียนที่ไหน เขาก็สั่งมาที่จังหวัดให้แก้ไข โรงไฟฟ้าสมหมายก็บอกว่าทำการซ่อมแซมแล้ว จากนั้นเขาก็เปิดดำเนินการเหมือนเดิม ก็เหมือนกับเราพายเรือในอ่าง จริงๆ ไม่ต้องไปตรวจอะไรให้มันยุ่งยาก แค่ฝุ่นรำคาญที่ลงมามากตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน แก้ไขให้ได้ก่อน ตั้งแต่มีโรงไฟฟ้า ความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนไปมาก เครียดมากขึ้น ตัวเลขการใช้ยาของชาวบ้านที่ รพ.สต.ก็เยอะขึ้นมาก แต่ละบ้านไม่ค่อยพูดคุยไปมาหาสู่กันเหมือนก่อน ไม่เปิดหน้าต่างเพราะไม่อยากออกมาเจอฝุ่น ถ้าจะมาเห็นสภาพจริงๆ ต้องมาเดือนพฤศจิกายน ที่ฝุ่นนี่ขนาดกระดาษขาวแผ่นหนึ่งวางไว้ครึ่งชั่วโมงก็ดำแล้ว

ถ้าจะเกิดโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ไหนอีก ต้องมาขอดูที่ร้อยเอ็ดก่อน ถ้าที่ร้อยเอ็ดแก้ไขได้เรียบร้อยดี ไม่มีผลกระทบต่อชาวบ้านมาก ก็ไปเปิดโรงไฟฟ้าที่อื่นได้เลยทั่วประเทศ ให้ที่นี่เป็นกรณีศึกษา เป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับทุกที่ ในพื้นที่ที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ชาวบ้านอย่าเพิ่งไปเชื่อผู้ประกอบการ ที่เขาจะมาหว่านล้อมทุกวิถีทาง บอกว่าทุกอย่างดีหมด ชูแต่เรื่องดีๆ เรื่องผลกระทบจะพูดถึงน้อยมาก ชาวบ้านก็หลงเชื่อเพราะไม่มีบทเรียน ที่นี่ เขาบอกว่าถ้าสร้างโรงไฟฟ้าแล้วแกลบจะหมดไป จะเผาทิ้งหมด ชาวบ้านจะมีงานทำเป็นร้อยๆ คน ไม่ต้องไปกรุงเทพฯ ที่ไหนได้ชาวบ้านไม่ได้ทำงานสักคน เพราะชาวบ้านเราก็ไม่ได้เรียนจบสูง ก็มีแต่งานกรรมกรแบกหาม แต่เข้าไปทำก็อยู่ไม่ได้

โรงไฟฟ้าอย่างน้อยต้องห่างจากชุมชน 5 กม. และไม่เจาะน้ำบาดาล ถ้าขุดบ่อลึกก็จะมีปัญหาในการแย่งน้ำของชาวบ้าน ถ้าจะไม่ต่อสู้ก็ง่ายนิดเดียวคือสำนึกของผู้ประกอบการ คือถึงเดือนพฤศจิกายนก็ให้ผ่อนเครื่องลงเหลือสัก 6 เมกะวัตต์ก็ยังดี หรือเดือนละครั้งก็ให้หยุดเครื่องเพื่อบำรุงซ่อมแซมเครื่องจักร สำหรับชาวบ้านที่พอจะมีฐานะก็จำเป็นต้องติดเครื่องปรับอากาศ ไม่งั้นก็อยู่ไม่ได้ หน้าต่างประตูบ้านก็ต้องปิดไม่งั้นขี้เถ้าก็จะมาเต็มๆ หนุ่มสาวก็เข้าไปทำงานในเมือง คนที่ขายที่หรือกำลังประกาศขายก็มีเพราะเขารำคาญ ที่ใกล้โรงสีเขาก็บีบให้ขายเพราะมีน้ำจากโรงงานไหลเข้ามา ที่รอบโรงงานเขาก็ซื้อไปเกือบหมดแล้ว ทั้งที่เราก็อยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิด พ่อแม่เราก็อยู่ที่นี่ ไม่รู้กี่ร้อยปีแล้ว หน้าหนาวก็มีกลิ่นจากขยะ คนจากกรุงเทพฯ ที่มาได้แฟนในหมู่บ้าน เขาก็นึกว่าจะได้อากาศดีๆ กลับเจอหนักกว่าที่กรุงเทพฯ อีก พวกผมอย่างมากก็อยู่ได้อีก 30 ปี แต่เด็กๆ ลูกๆ หลานๆ เราล่ะ ก็ต้องต่อสู้เพื่อพวกเขา ถ้าหมดหนทางจริงๆ คงต้องประกาศขายหมู่บ้าน"

 


น้องๆ เยาวชนแบ่งปันและไตร่ตรองประสบการณ์ร่วมกัน เล่าถึงสภาพความเป็นอยู่และความประทับใจในน้ำใจการตอบรับอย่างอบอุ่น ความเป็นกันเองของบ้านที่ไปพัก ทั้งอาหารการกิน ที่พัก "รู้สึกดีที่ได้มาสัมผัส ได้รับประสบการณ์และจะนำกลับไปแก้ไขป้องกันที่จะมีการสร้างโรงงานเช่นนี้ที่บ้านของเรา ซึ่งจะเกิดผลกระทบขึ้นแน่ สภาพความเป็นจริงของชุมชนมีปัญหาน้ำไม่ค่อยเพียงพอ ฝุ่นแกลบมีมาก ส่งผลต่อการทำเกษตรด้วย ที่ดินใกล้โรงงานแห้งแล้ง ทำเกษตรกรรมไม่ได้ มีการประท้วงโรงไฟฟ้าแต่ไม่ค่อยได้ผลนัก ชาวบ้านรายได้น้อยแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้น ฝุ่นจากโรงงานทำให้ชาวบ้านติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ และเป็นเยื่อบุตาอักเสบ

ประทับใจชาวบ้านที่เป็นแกนนำในการต่อสู้เรียกร้องกับโรงงาน เพราะมีอุดมการณ์ มุ่งมั่นตั้งใจ ซื่อสัตย์ สมถะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ให้คำปรึกษาดี พูดมีหลักการ ความใฝ่ฝันของชาวบ้าน อยากให้โรงงานมีการปรับปรุงมากกว่านี้ ชาวบ้านมีการประชุมหารือเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงงาน แม้บางครั้งจะท้อแท้บ้าง พวกเขารักถิ่นฐานบ้านเกิดเพราะอยู่ที่นี่กันมาตั้งแต่เกิด

สิ่งที่ได้รับจากค่ายครั้งนี้คือทำให้มีภาวะผู้นำสูงขึ้น พร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีที่จะเข้ามา เช่นเรื่องของวัตถุนิยมที่จะเข้ามาในชุมชน ถ้าแต่ละชุมชมเข้มแข็งประเทศของเราก็จะเจริญ สะเทือนใจมลพิษทางอากาศที่ชาวบ้านได้รับทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ความรู้เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลและจะนำไปเผยแพร่ต่อที่สกลนคร เช่นไปให้ความรู้เรื่องนี้กับชาวบ้านที่อยู่ใกล้กับสถานที่สร้างโรงไฟฟ้า"

 

 

คุณอัจฉรา สมแสงสรวง ผอ.ยส. กล่าวกับน้องเยาวชนว่า "เราได้มาร่วมทุกข์ยากกับชาวบ้านที่นี่ ที่ได้รับความทุกข์ยากจากปัญหาโรงไฟฟ้าชีวมวล วัตถุประสงค์ที่มาค่ายนี้เพื่อมาเรียนรู้ความเป็นจริง แล้วนำประสบการณ์ที่เราได้รับถ่ายทอดจากผู้นำหมู่บ้านและชาวบ้าน เพื่อไปเตรียมตัวตั้งรับโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะเกิดขึ้นที่ ต.อุ่มจาน จ.สกลนคร และนำแนวทางการต่อสู้ของเขาไปใช้ในชุมชนของเรา

ข้อเรียกร้องของชาวบ้านคืออยากให้โรงไฟฟ้าแสดงความรับผิดชอบ แต่ก็ไม่ถึงกับไปปิดโรงงาน สะท้อนถึงวิธีคิดของชาวบ้านที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ เรามาศึกษาที่นี่เป็นการเข้ามาเห็น เพื่อจะได้เข้าใจอะไรชัดเจนมากขึ้น มีความตระหนักต่อผลกระทบของโรงไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้น และกลับไปห่วงใยถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในชุมชนบ้านของเรา โดยเฉพาะที่บ้านสนามบินและบ้านโคกสะอาด รวมไปถึงน้องๆ ที่อยู่ห่างออกมาที่ท่าแร่ ซึ่งจะได้รับผลกระทบเช่นกัน"

คุณอดุลย์ ตระกูลมา ผู้จัดการศูนย์สังคมพัฒนา อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง กล่าวเสริมว่า "การมาค่ายครั้งนี้อยากจะให้พวกเราเข้าใจว่ากระแสโลกาภิวัตน์ กระแสการพัฒนาเศรษฐกิจมันเคลื่อนไปตลอดเวลา บางอย่างทำให้เราตกเป็นทาส ตกเป็นเครื่องมือของกระแสทุนนิยมไปโดยปริยาย ถ้าเยาวชนของเราจะตามกระแสไปโดยไม่มีการวิเคราะห์ ไม่มีการตระหนัก แล้วเราจะฝากอนาคตข้างหน้าของสังคมเราไว้กับใครได้"

ค่ายครั้งนี้จบลงด้วยความประทับใจและภาคภูมิใจของน้องๆ เยาวชนที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในชุมชนตำบลเหนือเมือง เพื่อนำไปสู่แนวทางป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ของตน โดยเน้นการรณรงค์ให้คนในตำบล อุ่มจาน ได้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่จะตามมาหากมีโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นในชุมชน และร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อแสวงหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >