หน้าหลัก arrow หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 117 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เจอทุกข์อย่างไร ใจไม่ทุกข์ : พระไพศาล วิสาโล พิมพ์
Wednesday, 19 December 2012

 
 
 
 
เจอทุกข์อย่างไร ใจไม่ทุกข์
 
โดยพระไพศาล วิสาโล

จากหนังสือ ใจดีมีสุข
สำนักพิมพ์ BOOKSmile
พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๕๕


มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสามศรีพี่น้อง คนโตชื่ออำภา คนรองชื่ออาภรณ์ คนเล็กชื่ออรชุมา

วันหนึ่งอำภาไปหาหมอดู เขาลือกันว่าเป็นหมอดูที่ทำนายอนาคตได้แม่นยำ หมอดูดูดวงของอำภาแล้วก็บอกว่า "คุณจะมีสุขภาพไม่ค่อยดี เงินทองจะฝืดเคือง การงานจะไม่ราบรื่น หมอว่า คุณจะลำบากไป ๕ ปี" อำภาได้ยินเช่นนั้นจึงถามหมอว่า "หลังจาก ๕ ปีแล้วฉันจะสบายใช่ไหม?" อำภาถาม "เปล่า หลังจากนั้นคุณก็จะชินไปเอง" หมอตอบ

ต่อมาเป็นเรื่องของอาภรณ์ อาภรณ์มีลูกสองคน วันหนึ่งขณะที่อาภรณ์ทำครัวอยู่ ก็พบว่าน้ำปลาหมด จึงให้ลูกชายคนโตไปซื้อน้ำปลามาหนึ่งขวด ลูกไปที่ร้านชำได้น้ำปลามาก็รีบเดินกลับบ้านเพราะแม่คอยอยู่ ระหว่างทางเดินสะดุดหิน หกล้ม ขวดน้ำปลาหลุดมือ กว่าจะคว้ามาได้ น้ำปลาก็หายไปครึ่งขวด พอกลับถึงบ้านก็บอกแม่ด้วยหน้าตาเศร้าสร้อยว่า "แย่จัง ผมทำน้ำปลาหกไปตั้งครึ่งขวด" อาภรณ์ไม่ว่าอะไร ได้แต่บอกลูกว่า ต่อไปให้ระมัดระวัง อย่าเผลอไผล

อาทิตย์ต่อมาขณะทำครัวน้ำปลาก็หมดอีก จึงให้ลูกคนเล็กไปซื้อบ้าง ลูกไปซื้อน้ำปลาที่ร้านเดิม ได้มาก็รีบเดินกลับมาบ้าน ปรากฏว่าเดินสะดุดหลุม ขวดน้ำปลาหลุดมือ กว่าจะคว้ามาได้น้ำปลาก็หกไปครึ่งหนึ่ง คล้ายกับอาทิตย์ก่อนเลย พอไปถึงบ้านก็ เล่าให้แม่ฟังว่า "เมื่อกี้ผมหกล้ม แต่โชคดีที่คว้าเอาไว้ได้ทัน มีน้ำปลาเหลือตั้งครึ่งขวดแน่ะ"

ลูกสองคนของอาภรณ์เจอเหตุการณ์คล้ายกัน คนแรกบอกว่าแย่จังน้ำปลาหกไปครึ่งขวด แต่คนที่สองบอกว่า โชคดีที่น้ำปลาเหลือตั้งครึ่งขวด สองคนเจอเหตุการณ์เดียวกัน แต่ว่ามองไม่เหมือนกัน คนหนึ่งบอกว่า แย่จัง ส่วนอีกคนบอกว่าโชคดี

เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของอรชุมา วันหนึ่งอรชุมาได้ทราบว่าหลวงปู่ท่านหนึ่งจะมาฉันเพลที่บ้านเพื่อน หลวงปู่ท่านนี้คือหลวงปู่บุดดา ถาวโร ท่านมรณภาพไปนานยี่สิบกว่าปีแล้ว แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว อรชุมาก็ไปร่วมทำบุญถวายเพลให้กับหลวงปู่บุดดาด้วย หลวงปู่ฉันเพลเสร็จทีแรกก็จะกลับวัดที่สิงห์บุรีเลย แต่เจ้าของบ้านบอกว่า อยากจะให้ท่านพักสักหน่อย เพราะว่าท่านแก่แล้ว ตอนนั้นท่านอายุ ๗๐-๘๐ ปีแล้ว อยากให้ท่านพักก่อนที่จะกลับวัด ก็เลยจัดห้องให้ท่านเอนหลัง ระหว่างนั้นมีลูกศิษย์ลูกหา ๔-๕ คนมานั่งเป็นเพื่อน ทุกคนอยากให้ท่านได้พัก เวลาพูดคุยกันจึงกระซิบกระซาบ ไม่ส่งเสียงดัง แต่ว่าบังเอิญห้องที่ติดกันนั้นเป็นร้านชำ เจ้าของเป็นอาซิ้ม คนจีนสมัยก่อนสวมเกี๊ยะไม้ เวลาเดินขึ้นเดินลงบันไดจึงส่งเสียงดัง เสียงเข้ามาถึงห้องที่หลวงปู่บุดดาจำวัดอยู่ อรชุมได้ยินก็บ่นว่า "เดินเสียงดังจัง" หลวงปู่บุดดาที่จริงไม่ได้หลับ ท่านเพียงแต่ปิดตา พอได้ยินเช่นนี้ท่านก็เปรยขึ้นมาเบาๆ ว่า "เขาเดินของเขาอยู่ดีๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง"

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของพี่น้องสามใบเถา อำภา อาภรณ์และอรชุมา ฟังแล้วได้แง่คิดไหม ทั้งสามคนล้วนประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ เจอปัญหาไปคนละแบบ แต่ละปัญหาก็มีวิธีการรับมือแตกต่างกันไป ขอเริ่มที่เรื่องของอำภาก่อน หมอบอกว่าเธอจะลำบากสัก ๕ ปี เพราะมีปัญหาสุขภาพ การเงินติดขัด การงานไม่ราบรื่น แต่หลังจากนั้นก็จะหายลำบาก ไม่ใช่เพราะทุกอย่างดีขึ้น แต่เพราะเธอจะชินไปเอง

ทุกข์คลายเมื่อใจเคยชิน

ความเคยชินเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราหายทุกข์ เวลาเราเจอปัญหาใหม่ๆ เราอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ทนได้ยาก ทุรนทุราย หรือหงุดหงิดงุ่นง่าน แต่พอเราเจอบ่อยๆ หรือเจอไปนานๆ ความทุกข์ก็จะลดลงหรือหายไปเลย ที่หายทุกข์ไม่ใช่เพราะปัญหามันหมดไป แต่เป็นเพราะเราคุ้นเคยหรือเราชินกับมัน พอเราชินกับมัน หรือเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเราอีกต่อไป

มนุษย์เรามีความสามารถในการปรับตัวสูงมาก เวลาเราเข้าไปในร้านขายสี ทีแรกเราจะรู้สึกว่าเหม็น แต่ถ้าเราอยู่ที่นั่นนานๆ ก็จะรู้สึกว่าหายเหม็นแล้ว ที่จริงสีก็ยังส่งกลิ่นอยู่ แต่เราไม่รู้สึกว่ามันเหม็นแล้ว เพราะว่าเราชินกับมัน ในทำนองเดียวกันเวลาเราไปปั๊มน้ำมัน เราจะได้กลิ่นเหม็นของน้ำมัน บางทีอดสงสัยไม่ได้ว่าผู้คนทำงานที่นั่นได้อย่างไร แต่ว่าเด็กปั๊มเขาทำงานที่นั่นได้สบาย โดยไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะว่าเขาชินเสียแล้วก็เลยไม่รู้สึกเหม็น ทั้งๆ ที่กลิ่นเหม็นยังมีอยู่

ดังนั้นการที่เราเจอปัญหา เจออุปสรรคบ่อยๆ ก็มีข้อดีนะ มันช่วยทำให้เราคุ้นเคยหรือปรับตัวได้ คนที่เจอก่อนกับคนที่เจอหลัง ความรู้สึกจะต่างกัน คนที่เจอก่อนเขาจะรู้สึกเป็นทุกข์น้อย คนที่เจอทีหลังจะรู้สึกเป็นทุกข์มากกว่า เคยมีการทดลองโดยให้อาสาสมัครใส่หูฟัง แต่สิ่งที่ฟังไม่ใช่เป็นเพลงนะ เสียงที่ได้ยินคือเสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงดังมากเลย กลุ่มแรกให้ฟัง ๔๕ วินาที กลุ่มที่สองฟัง ๕วินาที จากนั้นก็ถามทั้งสองกลุ่มว่า ช่วง ๕ วินาทีสุดท้ายรู้สึกอย่างไร เราคงคิดว่าว่ากลุ่มแรกซึ่งฟังนาน ๔๕ วินาทีคงจะรู้สึกหงุดหงิด รำคาญมากกว่า แต่ผลที่ออกมาตรงข้าม กลุ่มที่รู้สึกรำคาญมากกว่าคือกลุ่มหลัง ซึ่งได้ฟังแค่ ๕ วินาที แปลกไหม กลุ่มแรกซึ่งฟังนานกว่า คือฟัง ๔๕ วินาที ทำไมเขาจึงรู้สึกรำคาญน้อยกว่าในช่วง ๕ วินาทีสุดท้าย คำตอบก็คือ ในเมื่อเขาฟังมาก่อนแล้ว ๔๐ วินาที พอถึง ๕ วินาทีสุดท้ายเขาก็เลยชินกับเสียงดัง ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งฟังแค่ ๕ วินาที ดูเหมือนจะโชคดีกว่ากลุ่มแรกเพราะได้ฟังน้อยกว่า แต่เขากลับทุกข์มากกว่า รำคาญมากกว่า เพราะว่าเขาเพิ่งฟัง ยังไม่คุ้นเคย ยังปรับตัวไม่ได้ ก็เลยหงุดหงิดรำคาญ

จะเห็นได้ว่าคนที่เจอปัญหาหรืออุปสรรคมาก่อน หรือเจอมานานๆ จะเรียกว่าโชคดีก็ได้นะ เพราะว่าเขามีโอกาสคุ้นเคยหรือปรับตัวกับมันจนรู้สึกธรรมดา เพราะฉะนั้นเวลาเจออุปสรรคหรือเจอปัญหา อย่าเพิ่งบ่นว่าเราเคราะห์ร้าย บางทีเราอาจโชคดีเพราะว่าเราได้เจอก่อน พอเราเจอก่อน เราก็มีเวลาปรับตัวจนคุ้นเคยกับมัน เด็กที่พ่อแม่ยากจนหรือเติบโตมาอย่างลำบาก มองในแง่หนึ่งเขาได้เปรียบ เพราะว่าเขาจะไม่กลัวความยากลำบาก เวลาเจอความลำบากเขาจะไม่ทุกข์ร้อนมากนัก เพราะเขาเคยเจอมาแล้ว ตรงข้ามกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบสบาย ชีวิตประสบความสำเร็จแต่เนิ่นๆ ชีวิตราบรื่นไปหมด อย่างนี้จะเรียกว่าเสียเปรียบก็ได้เพราะว่า ถ้าต่อไปเขาเจอปัญหา เจอความผิดหวัง เจอความยากลำบากขึ้นมา เขาจะเป็นทุกข์มากเลย เพราะเขาไม่เคยเจอมาก่อน จะเรียกว่าเขาไม่มีภูมิคุ้มกันก็ได้

อาตมารู้จักชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาเรียนเก่งมาก ประสบความสำเร็จมาตลอด ต่อมาได้ทำปริญญาเอกเรื่องตำรวจไทย เขาคงไม่คิดว่าตำรวจไทยจะเป็นเรื่องซับซ้อนมาก ปรากฏว่าทำมาหลายปีแล้วไม่จบเสียที เครียดมาก รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว สุดท้ายก็เลยแขวนคอตาย ที่จริงการเรียนไม่จบปริญญาเอก ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ถึงไม่จบปริญญาเอกก็ยังมีปริญญาโท ยังได้เปรียบกับคนอีกมากมาย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีแม้แต่ปริญญาตรีด้วยซ้ำ คนที่เรียนไม่เก่ง สอบตกอยู่บ่อยๆ เขาจะรู้สึกว่าธรรมดามากเลยนะหากเรียนไม่จบ แต่คนที่เรียนเก่งไม่เคยประสบความล้มเหลวในเรื่องการเรียน พอการเรียนมีปัญหาก็ทำใจไม่ได้ เพราะไม่เคยเจอมาก่อน เรียกว่าไม่มีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง

คนเราต้องมีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง ถ้าไม่มีชีวิตก็อาจจะเสียศูนย์ได้ง่าย มีวัยรุ่นคนหนึ่งเป็นเด็กเรียนดี ชีวิตราบรื่น พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างเอาใจใส่เหมือนกับไข่ในหิน อยากได้อะไรก็หามาให้ พอเรียนมัธยมราวๆ ม.๔ ม.๕ เกิดไปชอบผู้หญิงคนหนึ่ง ปรากฏว่าครอบครัวฝ่ายผู้หญิงไม่เห็นดีด้วยเพราะว่ายังอยู่ในวัยเรียนทั้งคู่ก็เลยขัดขวาง ผู้หญิงนั้นเชื่อฟังพ่อแม่ ก็เลยตีตัวออกห่าง หนุ่มคนนี้รู้สึกผิดหวังมาก ไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อน ทั้งเสียใจทั้งโกรธแค้น วันหนึ่งจึงเอาปืนของพ่อไปตามไล่ยิงผู้หญิงถึงในบ้านของเธอ ปรากฏว่าผู้หญิงหลบทัน ลุงของผู้หญิงเข้าขวางก็เลยถูกยิงตาย กลายเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็มีคำถามว่าทำไมเด็กเรียนดี โรงเรียนดี มีชื่อ ถึงทำแบบนี้ ก็อาจอธิบายได้ว่า เป็นเพราะเขาไม่เคยเจอความผิดหวังมาก่อน ชีวิตเขาราบรื่นมาตลอด ไม่มีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง พอเจอความไม่สมหวังก็เลยคลั่ง เสียผู้เสียคน สุดท้ายก็ลืมตัวตามฆ่าคนรัก เพื่อดับความแค้นดับความกลุ้ม กลายเป็นว่าอนาคตดับวูบไปเลย อันนี้เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง เนื่องจากไม่ค่อยเจอความผิดหวัง

ดังนั้นเวลาเลี้ยงลูก ควรให้ลูกได้เจอความไม่สมหวังหรือความลำบากบ้าง จะได้มีภูมิคุ้มกัน มันก็เหมือนกับเชื้อโรค ร่างกายจะมีสุขภาพดีได้ก็ต้องมีภูมิคุ้มกันโรค ภูมิคุ้มกันโรคจะมาจากไหนก็มาจากเชื้อโรคนั่นเอง เช่นฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกาย วัคซีนก็คือเชื้อโรคอ่อนๆ หรือเชื้อโรคที่ตายแล้ว พอมันเข้าไปในร่างกายก็จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออหิวาต์ ไทฟอยด์ โปลิโอหรือแม้แต่หวัด ภูมิคุ้มกันโรคล้วนเกิดจากการที่เราได้รับเชื้อเข้าไป ใหม่ๆ ก็อาจจะป่วยหรือเป็นไข้นิดหน่อย แต่ต่อไปร่างกายก็จะแข็งแรง บางทีภูมิคุ้มกันก็มาจากดิน จากน้ำที่ค่อยไม่สะอาดเท่าไร เด็กที่เล่นกับดินจะมีภูมิคุ้มกัน เขาจะไม่ค่อยแพ้โน่นแพ้นี่เท่าไร แต่เด็กที่ถูกเลี้ยงแบบอนามัยจัดไม่ใช่เรื่องดีนะ ถ้าเจอแต่ความสะอาดเขาจะเสียเปรียบ เพราะว่าเขาไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ร่างกายจะอ่อนแอ เดี๋ยวเป็นนั่นเป็นนี่ เดี๋ยวนี้เด็กเป็นโรคภูมิแพ้มาก รวมทั้ง โรคมือเท้าปาก อันนี้เพราะว่าขาดภูมิคุ้มกัน เพราะว่าชีวิตเจอความสะอาดมากไป เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาแนะนำให้ลูกเล่นกับดิน จะได้มีภูมิคุ้มกัน เขามีปัญหาว่าเด็กสะอาดมากเกินไปจึงเป็นโรคแพ้หลายอย่าง รวมทั้งหืดหอบด้วย เพราะฉะนั้นการที่คนเราเจอความทุกข์ความยากลำบากควรถือว่าเป็นข้อดี มันทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน

เมื่อสักสองปีก่อน รายการคน ค้น คน ทำเรื่องราวของคุณยายคนหนึ่ง ชื่อย่ายิ้ม ย่ายิ้มอายุ ๘๓ ปี อยู่จังหวัดพิษณุโลก เป็นคนที่มีความสุขมาก ยิ้มตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ผิวหนังเหี่ยวย่น แต่ยิ้มหวาน ชีวิตแกแปลกนะ แกอยู่คนเดียวบนเขา หาเผือกหามัน ทุกวันพระแกจะเดินลงจากเขาเข้าไปในเมืองระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตร มาถือศีล เสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นก็จะเดินขึ้นเขากลับบ้าน บางวันก็ขนข้าวสารขึ้นไป ระยะทาง ๘ กิโลเมตรสำหรับคนแก่อายุ ๘๐ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ถ้าฝนตกก็ลำบาก บางทีก็มีคนช่วยขับรถขนขึ้นไปให้ แต่บ่อยครั้งก็ต้องขนเองเพราะรถขึ้นไปไม่ได้ บ้านแกไม่มีไฟฟ้า ต้องช่วยตัวเองทุกอย่าง แต่แกมีความสุขมาก เคยมีคนถามว่า ย่าเดินลงเขาไปวัดไม่เหนื่อยหรือ ทางก็ยากลำบาก ไกลก็ไกล แกตอบว่า "ก็มันเคยเสียแล้วหนา" พอมีคนถามว่าเวลาฝนตกหนักลงมาเอาข้าวสารไม่ได้ ต้องขุดหัวกลอยมากิน อย่างนี้จะอิ่มหรือ ย่ายิ้มตอบว่า "ก็มันเคยแล้วหนา" แล้วหม้อหุงใบเก่าที่ย่ายิ้มใช้นานจนรั่วจนต้องตะแคงหุง หุงแบบนี้ไม่ลำบากหรือ ย่ายิ้มก็ตอบว่า "ก็มันเคยเสียแล้วหนา"

ทั้งๆ ที่ชีวิตของย่ายิ้มเต็มไปด้วยความลำบาก ไม่สะดวกสบาย แต่ย่ายิ้มไม่มีความทุกข์เลย เป็นเพราะย่ายิ้มชินเสียแล้วกับความยากลำบาก เพราะฉะนั้นการที่คนเราเจอความลำบากบ้างหรือเจอบ่อยๆ ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่าจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความทุกข์ ทำให้เรามีความคุ้นชินกับความยากลำบาก อันนี้เป็นเรื่องของอำภา

มองแง่บวก

ส่วนเรื่องของอาภรณ์นั้น ลูกชายสองคน เจอเหตุการณ์คล้ายกัน คนหนึ่งสะดุดหิน อีกคนสะดุดหลุม คนหนึ่งบอกว่า แย่จังน้ำปลาหกไปครึ่งขวด แต่อีกคนบอกว่าโชคดีที่คว้าได้ทันน้ำปลาเหลือตั้งครึ่งขวด สองคนนี้ต่างกันยังไง ทั้งที่เจอเหตุการณ์เหมือนกัน ต่างกันที่มุมมอง คนแรกมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี ส่วนคนที่สองมองว่าโชคดี จะเรียกว่ามองแง่บวกก็ได้ ถ้าเกิดเงินหาย คนแรกจะบอกว่าโชคไม่ดีเงินหายไปสองร้อย แต่คนที่สองบอกว่าโชคดี โชคดียังไง โชคดีที่หายแค่สองร้อย ในกระเป๋ามีตั้งหนึ่งพัน ถ้าหายหมดคงแย่เลย หรือโชคดีที่หายแค่เงิน แต่โทรศัพท์ไม่หาย อย่างอื่นยังอยู่ครบ เราเคยมองแบบนี้บ้างไหม เจออะไรก็ตาม ดีทั้งนั้น ดีอย่างไร ดีที่ไม่แย่ไปกว่านี้
เวลาป่วย ก็อย่ามัวบ่นตีโพยตีพายว่า ทำไมถึงเคราะห์ร้าย ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ลองมองใหม่ว่า โชคดีที่ไม่เป็นหนักกว่านี้ มีเด็กอายุ ๑๔ คนหนึ่งเป็นมะเร็งสมอง แต่เธอยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อมีคนมาคุยด้วย เธอก็บอกว่า "หนูโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งมดลูก มีญาติคนหนึ่งเป็นมะเร็งมดลูก ปวดมากเลย หนูโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง" นี่เรียกว่ามองแง่บวก

ทำนองเดียวกัน มีชายหนุ่มคนหนึ่งพานักศึกษาไปช่วยชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารที่แม่ฮ่องสอน ขากลับรถเกิดพลัดตกจากเขา ทุกคนปลอดภัยแต่เขาพิการตั้งแต่เอวลงไป เพื่อนที่มาเยี่ยมพูดเหมือนตัดพ้อว่า ทำไมทำความดีแล้วจึงโชคร้ายอย่างนี้ แต่เขากลับตอบว่า "เพราะไปทำบุญนะซิถึงรอดมาได้ขนาดนี้" คือรอดมาได้ครึ่งตัว นี่เป็นการมองแง่บวกเหมือนลูกคนเล็กของอาภรณ์

เวลาเราเจอเหตุร้ายหรือเจออุปสรรคให้เรามองแบบนี้บ้าง ไม่ใช่มองเพื่อจะละเลยปัญหานะ แต่มองเพื่อให้ใจไม่ทุกข์ จะได้มีความพร้อมในการแก้ปัญหา ดีกว่ามัวตีโพยตีพายกลุ้มอกกลุ้มใจ เพราะการทำเช่นนั้น นอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ตัวเองทุกข์มากขึ้น เป็นการซ้ำเติมตัวเอง เวลาเจ็บป่วย ถ้าป่วยกายแล้วยังป่วยใจหรือทุกข์ใจเข้าไปอีก มันเป็นทุกข์สองชั้น เป็นการซ้ำเติมตัวเอง แต่ถ้าเราป่วยกายแต่ใจไม่ป่วย เราก็จะมีความพร้อมในการใช้สติปัญญาพิจารณาว่าจะรักษาอย่างไร ไม่ใช่เอาแต่ซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ หลายคนเป็นมะเร็งแล้วไม่ทำอะไรเลย ซึมเศร้าไม่กินไม่นอน ไม่ยอมรักษาตัว หมดอาลัยตายอยาก งานการไม่ทำ มีแม่คนหนึ่งพอรู้ว่าเป็นมะเร็ง ก็ซึมเศร้า ซังกะตาย ไม่เป็นอันทำอะไร ไม่สนใจแม้กระทั่งสารรูปตัวเอง แต่งตัวมอซอ ลูกสาวทนไม่ได้ก็เลยพูดกับแม่ว่า "แม่เป็นมะเร็งหนูยังพอทนไหวนะ แต่ถ้าแม่หมดอาลัยตายอยากแบบนี้หนูทนไม่ไหวนะ" ได้ยินเช่นนี้ แม่ก็เลยได้สติ หันมาดูแลรักษาตัวเอง จนตอนนี้ก็เป็นปกติดีแล้ว

เวลารู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ถ้ามีสติก็จะได้คิด เกิดความกระตือรือร้น เพราะไม่แน่ใจว่าชีวิตเราอยู่ได้นานแค่ไหน ดังนั้นจึงต้องเร่งรีบทำความดี ทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด อะไรที่ควรทำกับลูก กับสามีภรรยา และพ่อแม่ ก็รีบทำ รวมทั้งรีบเข้าหาธรรมะ ปฏิบัติธรรม ขณะเดียวกันก็หาทางรักษาตัวบรรเทาความเจ็บป่วยให้ดีที่สุด ถ้าเอาแต่ซึมเศร้า หมดอาลัยตายอยาก ตีโพยตีพาย อย่างนี้เรียกว่าป่วยทั้งกายป่วยทั้งใจ ในเมื่อเราป่วยแล้วก็ขอให้ป่วยอย่างเดียวคือป่วยกายแต่ใจยังปกติอยู่ เราจะได้ ใช้เวลาที่มีอยู่ รวมทั้งใช้สติปัญญาให้ดีที่สุดเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ การมองแง่บวกช่วยทำให้เรากลับมาตั้งหลักใหม่ ทำให้เราไม่ทุกข์ใจไปกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น

ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อพระปุณณะ วันหนึ่งมาทูลลาพระพุทธเจ้าว่าจะไปเมืองสุนาปรันตะ พระพุทธเจ้าท้วงว่าคนสุนาปรันตะโหดร้ายนะ ถ้าเขาด่าว่าท่านท่านจะคิดอย่างไร พระปุณณะตอบว่า เขาด่าว่าก็ดีกว่าเขาทุบตี พระพุทธองค์ถามต่อว่า ถ้าเขาทุบตีท่านท่านจะคิดอย่างไร พระปุณณะก็ตอบว่าเขาทุบตีก็ดีกว่าเขาเอาก้อนหินมาขว้าง แล้วถ้าเขาเอาก้อนหินมาขว้างท่านล่ะ ท่านจะคิดอย่างไร พระพุทธเจ้าถาม พระปุณณะตอบว่า เขาเอาก้อนหินมาขว้างก็ดีกว่าเขาเอาไม้มาฟาด แล้วถ้าเขาเอาไม้มาฟาดล่ะ ท่านจะคิดอย่างไร พระปุณณะตอบว่าเขาเอาไม้มาฟาดก็ดีกว่าเขาเอาของแหลมมาแทง พระพุทธเจ้าถามต่อว่า ถ้าเขาเอาของแหลมมาแทงท่านจะว่าอย่างไร คำตอบของพระปุณณะก็คือ เขาเอาของแหลมมาแทงก็ดีกว่าเขาฆ่าให้ตาย คราวนี้พระพุทธเจ้าถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า แล้วถ้าเขาฆ่าท่านตาย ท่านจะว่าอย่างไร พระปุณณะตอบว่า คนบางคนอยากตายก็ต้องไปหามีดหาอาวุธ หรือไม่ก็ต้องจ้างคนมาฆ่า แต่ถ้ามีคนมาฆ่าข้าพระองค์จนตายก็ดีเหมือนกัน คือไม่เหนื่อย พระพุทธเจ้าก็อนุโมทนาว่า ถ้าอย่างนั้นท่านไปเถอะ เพราะเชื่อว่าพระปุณณะจะรับมือกับเหตุร้ายได้ ปรากฏว่าในที่สุดท่านก็ปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนให้ชาวสุนาปรันตะมานับถือพระรัตนตรัยได้ กลายเป็นคนที่มีเมตตาและมีศีลมีธรรม

พระปุณณะท่านใช้หลักอะไร ท่านใช้หลักมองแง่บวก คือมองว่า อะไรเกิดขึ้นก็ดีทั้งนั้น ดีที่ไม่แย่กว่านี้ เด็กคนที่เป็นมะเร็งสมองแล้วบอกว่าโชคดีนั้น เขาตามรอยพระพุทธเจ้าเลยนะ แต่ที่จริงเขาไม่ได้เป็นพุทธเขาเป็นมุสลิม แต่เขาคิดแบบเดียวกับพระปุณณะ คือมองว่าโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง ไม่ได้เป็นมะเร็งมดลูก พวกเราเป็นชาวพุทธต้องทำให้ได้แบบนี้นะ

มีนักธุรกิจคนหนึ่ง เป็นผู้บริหารเครือข่ายร้านสุกี้ที่มีชื่อมาก เมื่อสองปีก่อนเกิดเหตุการณ์ไมสงบในกรุงเทพ เราคงทราบดีว่ามีการเผาห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ร้านสุกี้ของนักธุรกิจคนนี้โดนลูกหลงไป ๔ สาขา เสียหายไปหลายสิบล้าน ผู้จัดการสาขาก็มารายงานด้วยความเสียใจ แต่นักธุรกิจคนนี้กลับปลอบใจลูกน้อง ปลอบใจว่าอย่างไร ปลอบใจว่า "ร้านของเราถูกเผาแค่ ๔ สาขา แต่เรามีตั้ง ๓๒๐ สาขา" คือมองว่ายังดีที่เจอแค่นี้ แต่เรายังมีเหลืออีกมาก

เวลาเราเจออุปสรรค เจอความสำบาก เจอปัญหา ลองใช้วิธีนี้ดูบ้าง เงินหาย เจ็บป่วย หรือแม้แต่ถูกต่อว่า ก็ถือว่าดีนะ เจ้าของเมืองโบราณซึ่งบัดนี้เสียชีวิตไปแล้ว พูดไว้เป็นคติดีมาก บอกว่า "วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล" บางคนถูกตำหนิจะรู้สึกว่าซวย แต่แกบอกว่าวันนั้นเป็นมงคลแล้ว ตรงข้ามวันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล เพราะว่าคำตำหนิทำให้ได้แง่คิด เป็นการเตือนสติไม่ให้หลงตัวลืมตน เพราะว่าคนที่เป็นผู้นำหรือคนรวยมักจะมีแต่คนประจบประแจงทำให้เหลิง หรือหลงตัวได้ง่าย แต่ถ้ามีใครมาตำหนิก็ทำให้ไม่ลืมตัว อันนี้ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้มองผู้ที่ตำหนิเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ เราเคยคิดแบบนี้บ้างไหม ใครที่ตำหนิเราโดยเฉพาะครูบาอาจารย์หรือผู้ที่มีสติปัญญาให้ถือว่าเขาเป็นเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการฝึกฝนพัฒนาตนมาก ใครที่พบช่องทางในการฝึกฝนพัฒนาตนก็ถือว่าได้พบขุมทรัพย์ คำตักเตือนหรือตำหนิเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นข้อบกพร่องของตน ทำให้เกิดการปรับปรุงตน

นี้เป็นประเด็นสืบเนื่องจากเรื่องของอาภรณ์ ที่จริงลืมพูดไปอย่างหนึ่งว่า ลูกคนที่สองที่บอกว่าโชคดีที่คว้าขวดน้ำปลามาได้ทัน หลังจากที่สะดุดหลุมแล้ว วันต่อมาแกก็ไปกลบหลุมนั้น ไม่ให้มันเป็นปัญหากับตัวเองหรือคนอื่นอีก ไม่ใช่ว่ามองแง่บวกแล้วก็ทิ้งปัญหาเอาไว้ ปัญหามีก็ต้องแก้ด้วย เหมือนกับเวลาเจ็บป่วยเราก็ไม่ทุกข์ใจเพราะมองแง่บวกว่าโชคดีที่ไม่เป็นหนักกว่านี้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรักษาด้วย เพื่อไม่ให้ทุกข์กาย การมองแง่บวกนั้นช่วยไม่ให้ทุกข์ใจ ส่วนทุกข์กายก็ยังต้องลงมือจัดการแก้ไข

สติรักษาใจ

ต่อมาเป็นเรื่องอรชุมา อรชุมาได้ยินเสียงเกี๊ยะจากห้องข้างๆ จึงไม่พอใจ แต่หลวงปู่บุดดาพูดเตือนว่า อย่าเอาหูไปรองเกี๊ยะ ถ้าเอาหูไปรองเกี๊ยะเมื่อไหร่ ก็จะเป็นทุกข์ทันที ท่านกำลังสอนให้มีสติ รักษาใจให้เป็นปกติเวลามีอะไรมากระทบ ที่จริงเสียงเกี๊ยะหรือเสียงดังไม่เป็นปัญหา แต่ใจที่ไม่มีสติต่างหากที่ก่อปัญหา เวลาหูได้ยินเสียงอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีสติ ก็จะกลายเป็นหูหาเรื่อง ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา ขยายความก็คือ เวลาได้ยินเสียงดัง ถ้าไม่มีสติ ใจจะรู้สึกต่อต้านเสียงนั้น เกิดโทสะไม่พอใจ ถ้าไม่มีสติรู้ทันอารมณ์เหล่านั้น ความโกรธ ความไม่พอใจก็จะลุกลาม ทำให้จิตใจเร่าร้อนมากขึ้น

เวลามีเสียงรถยนต์ดังมาจากข้างนอก หรือ เสียงโทรศัพท์ดังในศาลา ถ้าเรามีสติ เราจะไม่ทุกข์ เพราะไม่ยินร้ายกับเสียงนั้น หรือถึงแม้ว่าได้ยินทีแรกใจเราจะกระเพื่อม เกิดความยินร้ายขึ้น แต่ถ้าเรารู้ทันอาการยินร้าย เห็นใจที่กระเพื่อม ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ เป็นกลางต่อเสียงนั้น เวลาเสียงดังเราเคยสังเกตใจของตัวเองไหม ใจมันเป็นอย่างไร ใจมันกระเพื่อม ใจมันไหว ใจมันเกิดโทสะหรือเปล่า ส่วนใหญ่เราไม่ทันสังเกต ไม่รู้ว่าใจเป็นอย่างไรตอนนั้น เพราะเรามัวจดจ่อหรือเพ่งอยู่ที่ต้นเสียง เราลืมมองดูใจก็เลยไม่เห็นความโกรธ ความไม่พอใจที่กำลังครอบงำจิต เผาลนใจ ถ้าเราเห็น ก็จะวางหรือถอนจิตออกจากอารมณ์นั้น ทำให้ใจกลับมาเป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่เราไม่เห็น เพราะลืมตัว มัวโกรธรถที่เสียงดัง มัวโกรธเพื่อนที่เปิดโทรศัพท์ค้างเอาไว้ เราไม่เห็นใจตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ ถ้ามีสติเราจะเห็นความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ พอเห็นแล้วก็จะวางมันลง ไม่ยึดหรือแบกมันเอาไว้ เสียงก็ยังดังอยู่ แต่ว่าใจปกติแล้ว

สติเป็นเครื่องรักษาใจที่สำคัญมากโดยเฉพาะเวลามีอะไรมากระทบ สติเกิดขึ้นเมื่อเราหันมารับรู้ดูใจของตัว ที่จริงรับรู้ดูทั้งกายและใจด้วย อย่างเวลาเราเดินก็มีสติรู้กายว่ากำลังเคลื่อนไหว ถ้าใจเผลอคิดนึกก็รู้ทันอาการนั้น คนเราทุกข์ส่วนใหญ่ก็เพราะปล่อยใจไปตามอารมณ์ หรือเผลอคิดนึกถึงอดีตและอนาคต หรือยึดติดถือมั่นกับสิ่งที่ไม่พึงพอใจ ที่จริงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา มันไม่ทำให้เราทุกข์ได้หากวางใจเป็น อย่างเช่นหนี้สิน หนี้สินไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะใจไปยึดติดถือมั่นกับมัน มัวแต่แบกมันเอาไว้จนหนักอกหนักใจ ที่จริงถ้าไม่คิดก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าคิดเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น เพราะคิดแล้วก็ยึดไว้ไม่ยอมวาง แล้วทำไมถึงคิดหรือยึดเอาไว้ ทั้งๆ ที่ยึดแล้วก็เป็นทุกข์ ก็เพราะเผลอ เพราะลืมตัว ถามว่าเผลอหรือลืมตัวเพราะอะไร ก็เพราะไม่มีสติ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีสติ อะไรเกิดขึ้นก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ไม่ได้ ทำให้เรามีปัญญาที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่ไม่เที่ยง หรือสามารถมองมันไปในแง่บวกได้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน เป็นพระผู้ใหญ่ที่ได้รับการเคารพสักการะมาก ท่านมรณภาพไปหลายปีแล้ว มีเรื่องเล่าว่าตอนที่ท่านยังหนุ่ม ท่านเคยไปจำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี วันหนึ่งท่านเดินไปบิณฑบาตอยู่ เห็นผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกชายวัย ๕ ขวบยืนรอใส่บาตร ท่านจึงเดินไปรับบาตร ปรากฏว่าเด็กคนนั้นจู่ๆ ก็พูดขึ้นมาว่า "มึงบ่แม่นพระดอก มึงบ่แม่นพระดอก" พอท่านได้ยินก็รู้สึกไม่พอใจขึ้นมาทันที เพราะไม่เคยมีใครพูดกับท่านแบบนั้น แต่แล้วท่านก็ได้สติ เห็นความโกรธขึ้นมาในใจ พอเห็นปุ๊บท่านได้คิดเลยนะ ท่านได้คิดว่าอย่างไร ท่านได้คิดว่า "เออ จริงของมัน เราไม่ใช่พระหรอก ถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธสิ" พอคิดได้เช่นนั้น ความโกรธหายเลย แล้วท่านก็เดินไปรับบาตรด้วยจิตใจปกติ นอกจากจะไม่โกรธเด็กแล้ว ท่านยังถือว่าเด็กคนนั้นคือ "อาจารย์" ของท่าน คงคล้ายๆ กับเศรษฐีเมืองโบราณที่มองว่า การถูกตำหนิเป็นมงคลอย่างหนึ่ง สำหรับหลวงพ่อพุธ การที่เด็กพูดอย่างนั้นก็เป็นการฝึกสติและเตือนตนท่าน ทำให้ท่านได้เห็นใจของตัวเอง

คนเราถ้ามีสติ เจออะไรจิตใจก็ไม่หวั่นไหว ปัญหายังมีอยู่ แต่ว่าใจไม่ทุกข์ เช่นเวลาเงินหาย ถ้าใจไปนึกถึงเงินที่หาย เกาะเกี่ยวอยู่กับเงินก้อนนั้น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติแล้ว ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ถ้ารู้ว่าใจเผลอคิดไป พอมีสติรู้ พาใจกลับมาอยู่ปัจจุบัน ก็ไม่รู้สึกทุกข์ ที่คนเราทุกข์เพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน มีคนหนึ่งพูดไว้ดีมากเขาบอกว่า เมื่อเราเสียใจ นั่นเป็นเพราะเราปล่อยใจไปอยู่กับอดีต เมื่อเรากังวลนั่นเป็นเพราะเราปล่อยใจไปอยู่กับอนาคต แต่ถ้าใจอยู่กับปัจจุบันเราจะพบกับความสงบสุข จริงไหมลองพิจารณาดู เวลาเราเสียใจให้รู้ว่าเป็นเพราะใจไปอยู่กับอดีตแล้ว มัวนึกถึงเงินที่หาย นึกถึงสมบัติที่ถูกโกงไป นึกถึงคนรักที่จากไป นึกถึงการกระทำผิดที่เราเคยทำกับพ่อกับแม่ นี่เรียกว่าเสียใจเพราะปล่อยใจไปอยู่กับอดีต แล้วที่เรากังวลล่ะเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะปล่อยใจไปอยู่กับอนาคต นึกถึงหนี้สินที่ยังไม่ได้จ่าย บ้านที่ยังไม่ได้ผ่อน สิ้นเดือนนี้ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนบ้าน หรือกังวลว่าจะเกิดภัยพิบัติ ภัยพิบัติยังไม่เกิดเลยแต่ใจก็เป็นทุกข์เสียแล้ว เหมือนกับหลายคนในช่วงน้ำท่วมปีที่แล้ว น้ำยังไม่ทันท่วมบ้านเลย ทุกข์เสียแล้ว ทุกข์เพราะกังวล นี่เพราะไม่มีสติ ถ้ามีสติก็จะรู้ใจว่ากำลังกังวลปรุงแต่งกับเรื่องที่ยังไม่เกิด พอรู้แล้วใจจะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาเป็นปกติ

การเจริญสติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้เราฉลาดในการรู้ใจของตัว ว่องไวในการรู้ทันอารมณ์ ช่วยให้เรามีปัญญาในการแก้ทุกข์ คนส่วนใหญ่คิดแต่การแก้ไขข้างนอก ถ้าใครต่อว่าฉัน ฉันต้องไปสั่งสอนให้หยุดต่อว่า แดดร้อนก็ต้องติดแอร์ให้อากาศหายร้อน น้ำท่วมก็ต้องหาทางป้องกัน ทำทางระบายน้ำหรือว่าสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ เราคิดแต่การแก้ข้างนอก ซึ่งบางครั้งก็จำเป็น แต่เราลืมไปว่าบางอย่างแม้จะพยายามแค่ไหนก็ใช่ว่าจะแก้ได้ทุกเรื่อง น้ำท่วมจะป้องกันอย่างไรก็คงป้องกันไม่ได้ตลอด สุขภาพของเรา เราจะดูแลให้ดีแค่ไหนก็ตาม สักวันหนึ่งก็ต้องเจ็บต้องป่วย ความทุกข์ไม่ว่าเราจะพยายามป้องกันอย่างไรก็ต้องมาถึงตัวเราจนได้

ประเด็นก็คือทำอย่างไรให้มันมาถึงแค่ตัวแต่ไม่ถึงใจ คือทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจ เราทำได้นะ ความทุกข์มาถึงแค่ตัวแค่กาย แต่ไม่กระเทือนไปถึงใจ ป่วยแต่กายใจไม่ป่วย เราทำดีแค่ไหนก็ต้องมีคนต่อว่าเรา ตำหนิเราจนได้ ถึงอย่างไรเสียงด่าเสียงว่าก็ต้องดังมาถึงหูเราจนได้ แต่ทำอย่างไรใจเราจะไม่ทุกข์ ให้เสียงมาหยุดแค่หู แต่ไม่ทะลุไปถึงใจ อันนี้ต้องอาศัยธรรมะ ต้องอาศัยสติ ต้องอาศัยปัญญา

ไม่แบกก็ไม่ทุกข์

เคยฟังเรื่องราวหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรไหม ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำยายปริก เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี วัดถ้ำยายปริกเดิมเป็นวัดร้าง ตอนที่ท่านไปบุกเบิกใหม่ๆ มีปัญหาเยอะมาก น้ำประปาก็ขาดแคลน แต่ที่หนักที่สุดคือนักเลงท้องถิ่น ไม่อยากให้พระมาอยู่วัดนี้ เพราะอยากจะฮุบที่วัด จึงหาทางกลั่นแกล้งพระ บางทีพระเดินบิณฑบาตอยู่ก็แกล้งมาเดินชนจนบาตรตก หรือไม่ก็ด่าว่าท่านหยาบๆ คายๆ แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อ ทีแรกก็คิดจะหนีแต่พอนึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่พระ เณร แม่ชี และญาติโยม ท่านก็เลยไม่ถอย แต่ก็ไม่ด่าตอบนะ ท่านมีวิธีของท่าน ซึ่งต้องใช้ทั้งความอดทนคือขันติ และใช้สติ ปัญญา รวมทั้งเมตตาด้วย

มีคราวหนึ่งท่านเดินผ่านหน้าบ้านของนักเลงท้องถิ่น เขาเห็นเป็นโอกาสก็ด่าท่านเสียๆ หายๆ ปกติเวลาเจอแบบนี้เรามีทางเลือกสองทางก็คือ ทำเป็นหูทวนลม ไม่ได้ยินเดินผ่านไปเลย อีกวิธีหนึ่งก็คือว่า ด่ากลับ แต่หลวงพ่อประสิทธิ์ไม่ทำทั้งสองอย่าง ท่านกลับเดินเข้าไปจับแขนนักเลงคนนั้นเขย่า แล้วถามว่า "มึงด่าใคร" นักเลงคนนั้นตอบว่า "ก็ด่ามึงนะซิ" ท่านได้ยินเช่นนั้น ก็ตอบว่า "อ้อ แล้วไปที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้วอย่าด่ากูก็แล้วกัน" ชายผู้นั้นงงเลย ว่าตกลงกูด่าใครกันแน่วะ

คนที่จะทำอย่างหลวงพ่อประสิทธิ์ได้ต้องมีสตินะ จิตไม่กระเพื่อม ไม่รู้สึกหวั่นไหวกับคำด่า ขณะเดียวกันก็ใช้ปัญญา ไม่เอาตัวตนออกรับ หรือไม่เอาคำด่ามาเป็นของตน ถ้าเราไม่รับคำด่า คำด่านั้นจะเป็นของใคร เวลามีใครมาด่าเรา เราทุกข์เพราะเรารับคำด่าใช่ไหม เมื่อเรารับคำด่าเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเราไม่รับล่ะ หลวงพ่อประสิทธิ์ท่านไม่รับ ท่านบอกว่า ด่ามึง ไม่ใช่ด่ากู จะทุกข์ไปทำไม

เรื่องนี้ก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์คนนี้เกลียดพระพุทธเจ้ามากเพราะศิษย์ของเขาไปศรัทธานับถือพระพุทธเจ้ากันหมด พราหมณ์คนนี้ทั้งเสียหน้าทั้งเกลียดพระองค์ เมื่อพบพระองค์จึงด่าว่าอย่างเสียๆ หายๆ พระองค์ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร ปล่อยให้เขาว่าไปจนพอใจ หลังจากนั้นพระองค์ก็ถามพราหมณ์ ท่านเคยมีแขกมาเยี่ยมบ้านหรือไม่ พราหมณ์ตอบว่า มีสิ พระพุทธเจ้าถามต่อว่า เวลามีแขกมาเยี่ยมบ้าน ท่านทำอย่างไร พราหมณ์ตอบว่า เราก็เอาน้ำดื่มและของขบเคี้ยวมาต้อนรับสิ พระพุทธเจ้าถามต่อว่า แล้วถ้าแขกไม่กินไม่ดื่มของต้อนรับเหล่านั้น ของเหล่านั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ตอบว่า ก็ตกเป็นของข้าพเจ้าน่ะซิ พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า เช่นเดียวกัน เมื่อท่านด่าเรา เราไม่รับคำด่านั้น คำด่านั้นก็ตกเป็นของท่านน่ะสิ พราหมณ์ได้ยินก็นิ่งอึ้งเลย

คำด่าว่าทำให้เราทุกข์ก็เพราะเรารับมาเป็นของเรา รับเสร็จก็ยึดเอาไว้ไม่ยอมปล่อยไม่ยอมวาง เขาด่าเราเมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ยังเอามานึกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกับเปิดเทป หรือยิ่งกว่าเปิดเทป เพราะนึกทีไรก็เหมือนกับเอามีดมาทิ่มแทงใจของตัวเอง ที่จริงคนด่าลืมไปแล้ว แต่เรายังไม่ลืม ยังยึดยังติดเอาไว้ ไม่ปล่อยไม่วาง ถามว่านึกถึงคำด่าของเขาแล้วทุกข์ไหม ทุกข์แล้วทำไมยังนึก เรากำลังทำร้ายตัวเองใช่หรือเปล่า นี่เพราะไม่มีสติ ไม่มีสติก็เลยทำร้ายตัวเองด้วยการนึกถึงคำด่าของเขาอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามีสติ รู้ว่าเผลอคิดไป ก็จะวาง ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

พระนันทิยะเป็นพระสาวกคนหนึ่งของพระพุทธเจ้า วันหนึ่งพระองคุลิมาลได้พบพระนันทิยะ จึงถามว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรท่าน พระนันทิยะ ตอบว่า "พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ปล่อยวาง ทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง มิให้ติดอยู่ในอารมณ์อันเป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน อารมณ์ที่พอใจหรือไม่น่าพอใจอันใดเกิดขึ้น จงปล่อยจงวางให้เป็นกองๆ ไว้ ณ ที่นั้น อย่านำมาเก็บไว้แบกไว้ เขาด่าว่าเราบนบก จงกองคำด่าวั้นไว้บนบก อย่านำติดไปในน้ำด้วย เขาด่าว่าเราในน้ำ จงกองคำด่าว่านั้นไว้ในน้ำ อย่านำติดตัวมาบนบก เขาด่าว่าในเมือง จงกองไว้ในเมือง อย่านำติดตัวมาถึงเชตวนารามนี้"

เขาด่าว่าเราตรงไหนก็กองไว้ตรงนั้นแหละเราเคยทำอย่างนี้ไหม เวลาเขาด่าว่าเราที่บ้าน มาถึงวัดก็ยังแบกเอาไว้ ด่าว่าเราเมื่อเดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังแบกไว้ ไม่ยอมวาง อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ คิดดูก็แปลกนะ อะไรก็ตามที่เราเกลียดชังเรากลับชอบคิดถึง อะไรที่เราไม่ชอบเราจะพัวพันหมกมุ่นอยู่กับมัน คนที่เราเกลียด เรามักคิดถึงเขาบ่อยๆ บางทีคิดถึงมากกว่าพ่อแม่ของเราเสียอีก สังเกตไหม เวลามือเราถูกของเหม็นเช่นถูกปลาร้า หรือขี้หมา มันเหม็นใช่ไหม เราทำอย่างไร เราก็ล้างมือ ล้างนิ้ว ล้างเสร็จทำอย่างไร เอามือข้างนั้นมาดมใช่ไหม เราไม่ชอบกลิ่นเหม็น แต่ทำไมเราดม ล้างเสร็จก็ดมอีก ยิ่งเหม็นก็ยิ่งดม ทั้งๆ ที่เราไม่ชอบ แต่เรากลับชอบดม อันนี้แสดงว่าเรายึดติดสิ่งที่เกลียด เสร็จแล้วมันก็ทำร้ายเรา ทำให้เราทุกข์ ไม่ต่างจากลิง ลิงไม่ชอบกะปิ เวลามือมันถูกกะปิมันจะเอามือขัดถูกับหินหรือต้นไม้ เพื่อขจัดกลิ่นกะปิ เสร็จแล้วก็เอามาดม ถ้ายังได้กลิ่นอยู่ก็จะขัดอีก แล้วเอามาดม ถ้ายังมีกลิ่นก็ถูแล้วถูกอีก จนหนังถลอกเป็นแผล มันก็ยังไม่เลิกจนเลือดไหล คำถามคือว่าที่ลิงมีแผลจนเลือดไหลเป็นเพราะอะไร บางคนตอบว่าเป็นเพราะกะปิ ที่จริงไม่ใช่นะ กะปิไม่ทำให้มีแผลจนเลือดไหลได้ พูดให้ถูกคือเป็นเพราะความเกลียดกะปิต่างหาก เพราะความยึดติดถือมั่นในกะปิ กะปิไม่ทำให้ทุกข์ ไม่ทำให้เป็นแผล แต่เพราะความเกลียดและยึดมั่นถือมั่นกับกะปิต่างหาก จึงทำให้ทุกข์ ยิ่งเกลียดกะปิเท่าไรก็ยิ่งไถยิ่งถู ยิ่งเกลียดใครก็ยิ่งคิดถึงคนนั้น นี่เพราะไม่มีสติ ก็เลยไม่รู้ทันใจที่เกลียด ไม่รู้ทันใจที่ยึดติดถือมั่น เลยลืมตัวทำร้ายตัวเอง

เรื่องของอำภา อาภรณ์ และอรชุมา สอนให้เราเห็นถึงการรับมือกับปัญหาหรือความทุกข์ด้วยวิธีการที่ต่างกัน ๓ วิธี วิธีแรกคือ การสร้างความคุ้นเคย จนมีภูมิคุ้มกันความทุกข์ วิธีที่สองคือการมองแง่บวก วิธีที่สามคือการมีสติ คนทั่วไปนั้นมักจะรู้จักแต่วิธีแรก คือเจออะไรก็กัดฟันทนหรือทนไปก่อน ไม่นานก็คุ้นชินไปเองหรือเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น มีความฉลาดเฉลียวในเรื่องจิตใจมากขึ้น ก็จะใช้วิธีที่สองและวิธีที่สามควบคู่ไปด้วยหรือใช้เป็นหลัก

อันที่จริงมีอีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ทุกข์ อาตมาได้พูดแทรกไว้บ้างแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือ การมีปัญญา หมายถึงความเข้าใจในความจริงของชีวิต จนเห็นว่าทุกข์ทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่า ความเจ็บ ความแก่ ความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความตาย เพราะสังขารทั้งหลายเป็นเช่นนั้นเอง ตกอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยง ขัดแย้งข้องขัดเป็นนิจ บกพร่องไม่สมบูรณ์ คนที่มีปัญญาเห็นความจริงเช่นนี้ ย่อมไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งปวง รวมทั้งร่างกายและจิตใจว่าจะต้องเที่ยงแท้ เป็นสุข หรือเป็นดั่งใจ ดังนั้นเมื่อเกิดความผันผวนปรวนแปรไปก็ไม่ทุกข์ใจ ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย เสียแต่ทรัพย์แต่ใจไม่เสียด้วย ปัญญาอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีสติฟูมฟัก ช่วยให้เห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เห็นตามอคติที่เคลือบคลุมใจ การใคร่ครวญหรือหมั่นพิจารณาชีวิตทั้งกายและใจ ตลอดจนความเป็นไปของโลกอย่างมีสติอยู่เสมอ จะทำให้เราตระหนักชัดว่าสิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จึงวางใจเป็นกลางต่อทุกสิ่ง ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใดๆ แต่รู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ ตามเหตุตามปัจจัย โดยไม่เป็นทุกข์เพราะมัน

สรุปก็คือ ทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมานี้ แม้ยังมีไม่ถึงขั้นสมบูรณ์ แต่ถ้าใช้วิธีใดวิธีหนึ่งให้เป็น ความทุกข์ก็ลดลงไปได้มาก ยิ่งถ้ามีทั้งสี่อย่างนี้เราก็จะอยู่ได้ด้วยจิตใจที่ผ่องใส แม้จะมีเหตุร้ายมากระทบตามธรรมดาโลก แต่ว่าใจไม่ทุกข์ เรียกว่าเจอทุกข์แต่ใจไม่ทุกข์ ทำให้เราสามารถอยู่กับความทุกข์ได้ด้วยใจที่เป็นปกติ

 

------------------------------

จาก เว็บ

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >