หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เรียนรู้เรื่อง "ยุติธรรมและสันติ" กับพี่น้องผองเพื่อนชาวเอเชีย
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 273 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เรียนรู้เรื่อง "ยุติธรรมและสันติ" กับพี่น้องผองเพื่อนชาวเอเชีย พิมพ์
Thursday, 26 April 2012

เรียนรู้เรื่อง "ยุติธรรมและสันติ"

กับพี่น้องผองเพื่อนชาวเอเชีย

Image 


มีโอกาสเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ "Justice in the World" Today - Towards a revitalized justice and peace work in Asia จัดโดย ACPP (Asian Center for the Progress of Peoples) ระหว่างวันที่ 20- 24 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ศูนย์อภิบาลคามิล เลียน ลาดกระบัง กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมอบรมที่ทำงานด้านยุติธรรมและสันติของพระศาสนจักรในเอเชียร่วมอบรม 18 คน ได้แก่ คุณพ่อ ซิสเตอร์ ฆราวาส จากหลายประเทศในเอเชีย คือ อินเดีย (จากนิวเดลี, มุมไบ,เคราล่า) ปากีสถาน ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และไทย และทีมงานของ ACPP ได้แก่ เจมส์ ตัน ชาวมาเลเซีย, พี่แคท - กัทลี สิขรางกูร ผู้ประสานงาน ACPP ได้แก่ Terence Osorio (ฟิลิปปินส์) Wan Yu (ฮ่องกง) และวิทยากรอีกสองท่านคือ Vincent Cheng (สิงคโปร์) และ Kenneth Tsao (ฮ่องกง)

วันแรก เจมส์ให้ข้อคิดว่าการอบรมครั้งนี้ไม่ได้เน้นที่การบรรยาย แล้วให้ผู้ร่วมนั่งฟังเฉยๆ แต่ทุกคนจะได้แบ่งปัน รับฟังซึ่งกันและกัน ตลอดจนไตร่ตรองในเรื่องต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันและไปด้วยกัน และเชื้อเชิญให้ผู้เข้าอบรมใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด เพราะเป็นโอกาสดีที่คนทำงานด้านยุติธรรมและสันติ จะได้ทำความรู้จักกัน และแบ่งปันประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกัน

จากนั้นเริ่มด้วยภาวนาเปิดการอบรม แล้วจึงประเมินความคาดหวัง โดยให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนเขียนว่า อะไรคือปัญหาสำคัญที่สุดสำหรับการทำงานด้านยุติธรรมและสันติในประเทศตน ที่คิดว่าการอบรมครั้งนี้จะช่วยตอบคำถามให้ได้ แล้วให้ผู้เข้าร่วมนำมาติดบนบอร์ด กิจกรรมต่อไปคือ เมื่อพูดถึงคำว่า justice and peace แล้วคิดถึงภาพอะไร ให้วาดรูปใส่กระดาษ และเขียนอธิบายว่าภาพนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาความยุติธรรมและสันติในประเทศของตนอย่างไร แล้วแบ่งกลุ่มย่อย ผมได้อยู่กลุ่มเดียวกับเพื่อนจาก อินเดีย ปากีสถาน ไต้หวัน และสิงคโปร์ แต่ละคนแบ่งปันปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศตน เช่น ผู้ก่อการร้ายลอบวางระเบิด ปัญหาความขัดแย้งระหว่างศาสนา การคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ความรุนแรงในครอบครัวกับผู้หญิงและเด็ก และที่ค่อนข้างกระทบใจคือการแบ่งปันของพี่ผู้หญิงจากสิงคโปร์ (Bee Leng) ซึ่งถูกรัฐบาลสิงคโปร์ควบคุมตัวอยู่ช่วงหนึ่ง ในการจับกุมคนที่คิดว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ที่เรียกว่า Operation Spectrum พี่เขาบอกว่า สิ่งสำคัญหลังเหตุการณ์ในครั้งนั้นแล้วเราจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร เหมือนกำลังเดินในทะเลทรายแล้วจะหาทางให้ชีวิตรอดได้อย่างไร ทั้งยังดำรงในสิ่งที่เราคิด เชื่อ และความฝันต่อไป จากนั้นให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มออกมาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ฟัง

ImageImage 

ช่วงต่อมา วินเซนต์ เช็ง ได้มาแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต เขาผ่านการอบรมในบ้านเณร จนเกือบจะได้บวชเป็นพระสงฆ์ ต่อมาทำงานด้านสังคมของพระศาสนจักร ช่วงที่ไปฟิลิปปินส์ได้เห็นความท้าทายที่เห็นพระสงฆ์ ซิสเตอร์ที่ทำงานกับคนยากคนจน และตระหนักว่าในเรื่องความยุติธรรม ไม่ใช่เรื่องสังคมสงเคราะห์เท่านั้น เขาเคยเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติของสิงคโปร์ เมื่อ 25 ปีก่อน ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ในขณะนั้น ได้ออกปฏิบัติการ Operation Spectrum ภายใต้กฎหมายเพื่อความมั่นคงภายใน (Internal Security Act) วันที่ 21 พ.ค. 1987 คนที่ทำงานด้านสังคมของพระศาสนจักรสิงคโปร์ถูกจับกุมตัวไปหลายคน และถูกทรมานเพื่อให้รับสารภาพว่าได้ทำผิด มีความคิดนิยมมาร์กซิสต์ เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ วินเซนต์ต้องติดคุกอยู่ถึงสามปี โดยไม่มีการไต่สวนคดีแต่อย่างใด เขาถูกกักขังนานกว่าทุกคน

รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ต้องการให้พระศาสนจักรเข้าไปยุ่งเรื่องการเมือง โดยรัฐบาลเห็นว่าแค่วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลก็ถือว่ายุ่งเรื่องการเมืองแล้ว และมีความหวาดกลัวพลังของประชาชน โดยเฉพาะบทบาทของศาสนจักรคาทอลิก ที่มีส่วนสำคัญในการโค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ เมื่อปี 1986 ปัจจุบันวินเซนต์อยากให้พระศาสนจักรสิงคโปร์เปิดเผยความเป็นจริงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เขาและผู้ที่ถูกจับกุมส่วนหนึ่ง ได้เขียนหนังสือถ่ายทอดประสบการณ์ในขณะที่ถูกกักขังออกมาหนึ่งเล่มชื่อว่า "that we may dream again"

ในช่วงเย็นมีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ระหว่างมิสซาเปิดโอกาสให้ทุกคนได้สวดภาวนาสำหรับการอบรมครั้งนี้ และภาวนาให้กันและกัน หลังอาหารค่ำมีการประชุมทำความเข้าใจถึงกิจกรรมสัมผัสชีวิต (Exposure) ที่เรียกว่า "See Exercise" โดยแบ่งผู้เข้าอบรมออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีประมาณ 5-6 คน โดยมีคนไทยหนึ่งคนคอยช่วยเหลือเพื่อนต่างชาติในกลุ่ม ได้แก่ พี่แคท, พี่อีฟ (ธัญญาณี นวลักษณกวี) พี่อาร์ท (ธัญลักษณ์ นวลักษณกวี) จากยส. และตัวผมเองซึ่งได้อยู่กลุ่มเดียวกับที่แบ่งไว้ตอนกลางวัน กิจกรรมนี้จะให้ผู้เข้าร่วมอบรมไปสัมผัสชีวิตย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเฉพาะโรงพยาบาลบริเวณนั้น แต่ละกลุ่มได้จุดเริ่มต้นกิจกรรมต่างกันไปสี่จุด ได้แก่ 1. สวนสันติภาพ 2. โรงพยาบาลราชวิถี 3. โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 4. บริเวณจอดรถตู้ใต้ทางด่วน อนุสาวรีย์ชัยฯ ทางผู้จัดอบรมได้กำหนดสถานีหรือจุดที่อยากให้ไปเห็นทั้งหมด 7 จุดด้วยกัน นอกจากจุดเริ่มต้น 4 จุดที่ว่าแล้ว ก็ยังมีโรงพยาบาลเด็กที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลราชวิถี, บริเวณป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาลราชวิถี ที่ช่วงเย็นๆ จะมีร้านขายของ ขายอาหารมากมาย และบริเวณตลาดประตูน้ำ ซึ่งจะต้องผ่านก่อนที่จะกลับมาขึ้นรถไฟแอร์พอร์ท ลิงก์ ที่สถานีราชปรารภ


"คุณเห็นอะไรบ้าง" ที่ใจกลางกรุงเทพฯ

พี่แคทแนะนำว่าควรออกเดินทางจากศูนย์คามิลเลียนตั้งแต่หกโมงเช้าวันอังคารที่ 21 ก.พ. ผมจึงต้องตื่นตั้งแต่ 5.30 น. ยืนรอหน้าศูนย์สักพักเพราะกลุ่มเรายังขาดอีกคน โชคดีที่เดินออกมาเจอกับกลุ่มพี่แคทยังรอรถสองแถวอยู่เช่นกัน ก็เลยร่วมกลุ่มไปขึ้นรถไฟแอร์พอร์ท ลิงค์กับพี่เขาด้วย เพราะถึงผมจะอยู่กรุงเทพฯ แต่ก็ไม่เคยขึ้นรถไฟสายใหม่นี้ กลัวว่าจะพาเพื่อนๆ หลงตั้งแต่เริ่มเดินทาง ยามเช้าอากาศกำลังเย็นสบาย และเป็นย่านชานเมืองมีธรรมชาติให้สัมผัส นั่งรถผ่านตลาดหัวตะเข้ไปสักพัก จนมาถึงสี่แยกลาดกระบัง จากนั้นข้ามถนนมาฝั่งตรงข้ามแล้วเดินต่อไปประมาณ 10 นาที เพื่อขึ้นรถไฟแอร์พอร์ท ลิงก์ สถานีตั้งอยู่ที่เดียวกับรถไฟธรรมดา จากลาดกระบังไปถึงสถานีราชปรารภ ค่าตั๋วคนละ 35 บาท ตั๋วเป็นเหรียญพลาสติก ขนาดประมาณเหรียญห้าบาท ถ้าเก็บไม่ดีตอนขาลงมีสิทธิ์หาไม่เจอเหมือนกัน

เช้าวันนั้นนึกไม่ถึงว่าจะมีคนใช้บริการรถไฟมากทีเดียว น่าจะเพราะเป็นวันทำงานของชั่วโมงเร่งด่วนที่ชาวกรุงต้องรีบไปเรียน ไปทำงาน ยืนรอกันสักพัก เพื่อนๆ ถ่ายรูปที่ระลึกกับป้ายสถานีกันไป เรานั่งรถไฟมาลงที่สถานีราชปรารภแล้วเดินมาเพื่อมารอรถเมล์ตรงป้ายศูนย์การค้าอินทรา ประตูน้ำ กลุ่มผมได้รับมอบหมายให้ไปเริ่มต้นจุดแรกที่ โรงพยาบาลราชวิถี เห็นมินิบัสสาย 14 ก็ชวนเพื่อนๆ ในกลุ่มขึ้นรถกัน เพื่อความสะดวกผมอาสาออกค่ารถให้พวกเขาก่อน แล้วค่อยไปตามเก็บทีเดียว กว่าจะหลุดอนุสาวรีย์ชัย ฯ ก็ใช้เวลานานพอควรทีเดียว ดีเหมือนกัน เพื่อนๆ จะได้เห็นสภาพความเป็นจริงของกรุงเทพฯ ขณะที่ลงจากรถเพื่อเดินเข้าไปในโรงพยาบาลราชวิถี เป็นเวลา 8 โมงตรงพอดี เมื่อเสียงเพลงชาติดังขึ้น ทุกคนยืนตรงเคารพธงชาติกัน เพื่อนในกลุ่มหลายคนงุนงงว่าคนไทยเป็นอะไรกัน อยู่ดีๆ ทำไมหยุดเดิน ภายหลังเพื่อนต่างชาติเล่าว่า ในประเทศเขาไม่มีธรรมเนียมเคารพธงชาติแบบนี้ จากนั้นพาพวกเขาตรงไปยังตึกผู้ป่วยนอกทันที ตอนเช้าๆ เช่นนี้มีคนมารอรับการรักษามากมายกว่าที่คิดไว้ เห็นการรอคอยแล้วเหนื่อยแทน ถ้าเป็นเราจะอดทนรอนานๆ ขนาดนี้ กับสภาพที่แออัดแบบนี้ได้หรือ ? จากนั้นพวกเรากินอาหารเช้ากันที่โรงอาหารของโรงพยาบาล เสร็จแล้วขึ้นไปเดินดูที่ชั้นสอง มีแผนกผู้ป่วยที่มารักษาโรคต้อตา ส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโส มาอีกแผนกเห็นพยาบาลกำลังนำคนที่มารอรักษา ออกกำลังแบบง่ายๆ เป็นเรื่องดีมากที่มีกิจกรรมให้ทำระหว่างรอ จะได้คลายเครียดลงได้ และคิดว่าคนที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐเช่นนี้ต้องมีความอดทนมากทีเดียว ผมแค่เข้ามาไม่กี่นาทีก็อยากจะออกไปให้ได้ ผมแวะเข้าห้องน้ำ เปิดเข้าไปมีห้องน้ำเพียงห้องเดียวและไม่ว่าง โถสำหรับปัสสาวะมีสองโถ ซ้ำร้ายโถหนึ่งใช้ไม่ได้ มีคุณลุงเข้าห้องน้ำมาก็เลยได้คุยกันนิดหน่อย แกบอกว่ามารักษาอาการเจ็บขา กลัวเพื่อนรอนานเลยถอยออกมาก่อน

ImageImage 

จากนั้นลงมาชั้น 1 แล้วเดินผ่านลานจอดรถเพื่อทะลุไปยังโรงพยาบาลเด็ก สองข้างทางมีร้านขายของกินของใช้เต็มไปหมด ผมไม่เคยมาโรงพยาบาลเด็กและข้างหน้าโรงพยาบาลก็กำลังก่อสร้างอยู่ด้วย ไม่รู้ว่าทางเข้าอยู่ทางไหนแน่ จึงไปดูโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าก่อน เป็นตึกใหญ่โอ่โถงมาก ด้านล่างเป็นที่ตั้งของร้านอาหารเอสแอนด์พี และร้านแม็คโดนัลด์ จะว่าไปแล้ว โรงพยาบาลกับฟาสต์ฟู้ด ไม่น่าจะเข้ากันได้ แต่ฟาสต์ ฟู้ดหลายแห่งก็เข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าห่างจากโรงพยาบาลราชวิถีน่าจะสัก 500 เมตรได้ แต่สภาพแตกต่างกันอย่างยิ่ง ที่นี่สภาพไม่ต่างจากโรงพยาบาลเอกชน ห้องน้ำก็สะอาด มีหลายห้อง และเพราะเป็นโรงพยาบาลทหาร ด้านขวามือจึงมีห้องอำนวยความสะดวกเฉพาะสำหรับผู้ใช้บริการที่เป็นนายพล กับทหารสัญญาบัตร

จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เราเดินย้อนกลับเพื่อจะไปทางอนุสาวรีย์ชัยฯ ลองมองป้ายโรงพยาบาลเด็กอีกครั้ง ตัดสินใจข้ามถนนไปหาทางเข้าให้เจอ ปรากฏว่าต้องเดินจากตึกที่กำลังก่อสร้างอยู่เข้าไป ข้างหน้าโรงพยาบาลเด็ก มีแม่พาลูกๆ มารักษามากพอสมควร สภาพสังคมปัจจุบันน่าจะมีส่วนทำให้เด็กป่วยกันมากขึ้น เพื่อนๆ อยากขึ้นไปเห็นภาพของเด็กที่นอนรักษาตัวอยู่ ผมก็เลยปล่อยให้พวกเขาขึ้นลิฟท์กันไป แล้วไปซื้อกล้วยหักมุกปิ้งมากินรอเพื่อนๆ อยู่หน้าโรงพยาบาล เราไปครบทั้งสามโรงพยาบาลแล้ว เป้าหมายต่อไปคือจุดจอดรถตู้ แถวหน้าบ้านเซเวียร์ก็มีคิวรถตู้ เลยได้โอกาสพาพวกเขาไปนั่งพักในบ้านเซเวียร์ เพื่อนๆ เข้าไปเยี่ยมชมในวัดด้วย พี่บีหลิงชมว่าวัดนี้สถาปัตยกรรมสวยงาม แนวโมเดิร์นดี จากนั้นเรามาสังเกตการณ์ตรงคิวรถตู้ที่มีป้ายบอกว่าไปที่ไหนบ้าง ช่วงนั้นเก้าโมงกว่าแล้ว ผู้คนจึงไม่มากนัก ถ้าจะให้เห็นภาพชัดเจนต้องเป็นตอนเช้าและตอนเย็นที่มีคนเข้าคิวขึ้นรถตู้กันเป็นแถวยาว

ยังพอมีเวลาเหลือผมพาเพื่อนๆ ไปโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ไม่ไกลนัก คือ โรงพยาบาลพญาไท 2 บรรยากาศแตกต่างจากโรงพยาบาลรัฐมากมายเหลือเกิน ช่วงนั้นเพิ่งผ่านวันวาเลนไทน์มาไม่นาน ทางโรงพยาบาลตกแต่งซุ้มวาเลนไทน์ไว้ด้วย จากนั้นข้ามถนนไปรอรถเมล์เพื่อนั่งไปลงประตูน้ำ ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้ายก่อนกลับ แต่รถทางที่จะเข้าไปอนุสาวรีย์ค่อนข้างติด ผมก็เลยชวนพวกเขาขึ้นรถไฟฟ้า BTS เพื่อนๆ จะได้มีประสบการณ์เดินทางในกรุงเทพฯ หลายรูปแบบ จากสถานีสนามเป้าไปลงสถานีพญาไท จากนั้นเดินตรงไปแล้วเลี้ยวซ้ายเพื่อเดินต่อไปยังประตูน้ำ ไปจนถึงสถานีราชปรารภ แถวประตูน้ำเริ่มมีของวางขายกันแล้ว เพื่อนบางคนก็แวะดูของกันบ้าง เราเดินกันมาเรื่อยๆ จนมาถึงชานชาลารถไฟ พบกับกลุ่มพี่แคทและพี่อาร์ทพอดี ถึงศูนย์ ฯ เที่ยงกว่า ทันกินข้าวพอดี

 

หลังกินข้าวเที่ยงให้เวลาพักผ่อนและกลับไปไตร่ตรองสิ่งที่ไปเห็นมา นัดพบกันตอน 15.30 น. โดยให้ทำงานเป็นกลุ่มอีกครั้ง มีคำถามหลังจากไปเห็นกรุงเทพฯ บางส่วนดังนี้ 1. ให้เล่าการเดินทางของกลุ่มตามลำดับเวลา 2. ให้แต่ละคนแบ่งปันความรู้สึกในสิ่งที่ตัวเองเห็นมา 3. ให้แต่ละคนเขียนในสิ่งที่ตนเห็น เป็นประโยคสั้นๆ ลงในสมุด 4. หลังจากนั้นให้แบ่งปันสิ่งที่ตนเห็น แล้วดูว่าทุกคนในกลุ่มเห็นเหมือนกันไหม แต่ละกลุ่มได้แบ่งปันสิ่งที่เห็นจากมุมมองของคนต่างชาติ ซึ่งหลายคนเพิ่งมากรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก บางคนเห็นว่าผู้หญิงไทยขยันทำงานกันมาก ทั้งเป็นแม่ค้าและทำงานออฟฟิศ บางคนเห็นว่ากรุงเทพฯ มีร้านแม็คโดนัลด์มากเหลือเกิน เห็นคนป่วยที่ยากจนที่โรงพยาบาล เห็นคนไทยชอบใส่ยูนิฟอร์ม

จากนั้นเจมส์ตั้งคำถามว่า คุณคิดว่าคนไทยเป็นคนอย่างไร ? แล้วถามเราคนไทยสามคนว่า เห็นด้วยไหมกับสิ่งที่ผู้เข้าร่วมอบรมคิด ซึ่งส่วนใหญ่จะมองคนไทยในด้านบวก เป็นคนยิ้มแย้มอัธยาศัยดี แต่หลายคนเห็นว่าคนไทยตอนอยู่บนรถไฟหรือรถเมล์ก็มีโลกส่วนตัว อยู่กับโทรศัพท์โดยไม่สนใจอย่างอื่น เจมส์ตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้ปรับปรุงการเห็นของเราให้ดีขึ้น ชัดเจนขึ้น ผู้เข้าร่วมสัมมนาช่วยกันระดมความคิดเห็น ที่มีประโยชน์หลายข้อได้แก่

- อย่ามองโดยอาศัยวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ของตนเอง (delink fact from cultural baggage / own identity) หรือให้เห็นด้วยมุมมองของคนท้องถิ่น

- การรู้ / การเรียนรู้ ทำให้เราเข้าใจ

- ประสาทสัมผัสการรับรู้ของเราต้องตื่นตัว ต้องพร้อม เช่น ไม่หิว ไม่ง่วง ไม่ป่วย

- เปิดใจเพื่อจะได้เห็น

- ตรวจสอบข้อเท็จจริง

- ควบคุมการเห็นของตัวเอง ไม่ใช่ของคนอื่น

- สวดภาวนา

หลังจบการไตร่ตรองในกิจกรรมนี้ เจมส์เชื้อเชิญให้ผู้เข้ารับการอบรม มาขอบคุณพวกเราคนไทยทั้งสี่คนที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้แต่ละกลุ่มด้วย


ฝึกวิเคราะห์ด้วยต้นไม้และ But, Why ?

ต่อจากนั้นเป็นการฝึกวิเคราะห์แบบต้นไม้ (Tree Analysis) เพื่อฝึกแยกแยะว่าอะไรคือแก่นของปัญหา อะไรคือรากเหง้าของปัญหา และอะไรคือผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยวินเซนต์มาเขียนเหตุการณ์ 5 ข้อเกี่ยวกับตัวเขาตอนที่ถูกกักขัง แล้วให้พวกเราวิเคราะห์ว่า ข้อไหนเป็นแก่นปัญหา รากเหง้าปัญหา หรือผลที่เกิดขึ้น ได้แก่ 1.ฉันรู้สึกหวาดกลัว หดหู่และโกรธ 2. รัฐบาลกลั่นแกล้ง ทำร้ายฉัน 3. พระศาสนจักร (สิงคโปร์) ละทิ้งฉัน 4. ครอบครัวและเพื่อนๆ ให้การสนับสนุนฉัน 5. ฉันต้องหาวิธีที่จะมีชีวิตรอดในคุกให้ได้ด้วยตัวเอง กิจกรรมนี้แบ่งกลุ่มใหม่ โดยผมอยู่กลุ่มเดียวกับเพื่อนจากพม่าและมาเลเซีย

ImageImage 

จากนั้นฝึกการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมืออีกแบบที่เรียกว่า "But, Why ?" โดยให้โจทย์ว่า The Church in Singapore in 1987 does not live or promote the catholic social teaching. (พระศาสนจักรในสิงคโปร์เมื่อปี 1987 ไม่ได้ปฏิบัติหรือส่งเสริมคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร) โดยให้ในกลุ่มช่วยกันวิเคราะห์ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น โดยพยายามให้มีความเป็นกลางมากที่สุด มีอคติน้อยที่สุด และต้องไม่ลืมว่าเรากำลังวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน ไม่ใช่ในตอนนี้ เมื่อวิเคราะห์ข้อหนึ่งได้แล้ว ให้ถามต่อไปว่าแล้วทำไมๆ ไปเรื่อยๆ และถ้าพบข้อไหนที่มีความเชื่อมโยงกันได้ก็ให้ลากเส้นและลูกศรเชื่อมโยงกัน และจากการวิเคราะห์ที่ทำออกมา ในฐานะที่เราเป็นผู้ที่ทำงานด้านยุติธรรมและสันติ มีส่วนไหนบ้างที่เราน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ และตรงไหนที่ทำอะไรไม่ได้แล้ว ซึ่งเราควรให้ความสนใจในส่วนที่เราทำได้มากกว่า ปัญหาที่พบในขณะทำการวิเคราะห์คือ เราอาจไม่มีความรู้ประวัติศาสตร์ช่วงนั้นดีพอ เพราะโจทย์กำหนดให้วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 1987 ถ้าตรงไหนยังสงสัยก็ให้สอบถามจากวินเซนต์ได้

กิจกรรมในวันต่อมาให้เรากลับไปที่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับความยุติธรรมและสันติที่เราเขียนเอาไว้ในวันแรก แล้วลองมาฝึกวิเคราะห์แบบต้นไม้ จากนั้นในกลุ่มย่อยให้เราแบ่งปันถึงการวิเคราะห์ของเราให้เพื่อนๆ ช่วยดูว่า เข้าใจการวิเคราะห์ของเราไหม จากนั้นนำปัญหาของเรามาวิเคราะห์แบบ But, Why ? ดูว่าตรงจุดไหนที่เราน่าจะช่วยแก้ไขได้ ปัญหาบางอย่างต้องแก้ไขเฉพาะหน้า บางอย่างต้องใช้เวลาในการแก้ไข เพราะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นโครงสร้างสังคม บางอย่างแก้ได้ที่ตัวบุคคลเลย แต่บางอย่างก็ต้องอาศัยคนที่มีอำนาจหน้าที่ไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วยการผลักดันของเรา

เจมส์ให้ข้อสังเกตในการใช้เครื่องมือ But, Why ? ว่า

- เราต้องมีความรู้ในเรื่องที่ทำการวิเคราะห์

- เราสามารถเห็นจุดเชื่อมโยงระหว่างการวิเคราะห์ในแต่ละขั้นของเรา

- ต้องมีการทบทวน ตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่เราวิเคราะห์ บางอย่างก็ต้องสอบถามจากผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ

- อย่านำเครื่องมือนี้ไปใช้วิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้น ให้ใช้วิเคราะห์รากของปัญหา


นอกจากนี้ยังมีการจำลองสถานการณ์แบบง่ายๆ โดยให้พี่แคทแสดงเป็นหญิงชราหลังค่อม ถือข้าวของพะรุงพะรังยืนอยู่ที่โบกี้รถไฟฟ้า แต่ไม่มีที่นั่งว่างเลย ชายหนุ่มที่นั่งอยู่แกล้งทำไม่เห็น อ่านหนังสือพิมพ์ต่อไป เจมส์ถามผู้ร่วมอบรมว่า ถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์เช่นนี้ เราจะมีปฏิกิริยาอย่างไร จากสถานการณ์นี้เราแก้ปัญหาระยะสั้นได้ เช่นพยายามทำให้คนที่นั่งอยู่เกิดความละอาย เช่น ไปจ้องมอง สะกิดให้เขารู้ตัว หรือไปบอกกับเจ้าหน้าที่ ในระยะยาวก็เช่น ทำจดหมายถึงบริษัทรถไฟฟ้า ให้มีการรณรงค์ในเรื่องนี้ หรือทำป้ายเตือนในเรื่องนี้ติดไว้ในโบกี้รถ เขาบอกว่าเคยเห็นด้วยตัวเอง มีผู้ชายนั่งอ่านไบเบิ้ลบนรถไฟ โดยไม่สนใจที่จะลุกให้หญิงชรานั่ง ซึ่งการทำงานด้านยุติธรรมและสันติ เราสามารถทำได้ตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน

กิจกรรมสุดท้ายให้เราตอบคำถามที่เราได้เขียนไว้ในวันแรก หลังจากเราได้ฝึกปฏิบัติต่างๆ แล้วเรามีความชัดเจนกับปัญหาที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และให้เราแบ่งปันกับผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยเจมส์มีของที่ระลึกเล็กๆ น้อยๆ ให้แต่ละคนเช่นกล่องใส่ของ และให้กำลังใจในการทำงานยุติธรรมและสันติกันต่อไป จากนั้นจับมือกันเป็นวงกลม และวินเซนต์ร้องเพลงที่เขาเขียนตอนที่เขาถูกกักขัง เนื้อเพลงเท่าที่ฟังออกคือ เราต้องมีความหวัง เป็นเปลวเทียนลุกโชติช่วง ไม่ดับลงเสียก่อน บรรยากาศซึ้งทีเดียว บางคนก็ร้องไห้ ซิสเตอร์จากฟิลิปปินส์เข้าไปจับมือกับวินเซนต์พูดว่า Power to people


จากกันด้วยความรักและมิตรภาพ

คืนวันสุดท้ายของการอบรมคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีสังสรรค์กันเล็กน้อย เรียกว่า solidarity night ด้วยขนม น้ำอัดลม บางคนนำขนมจากประเทศของตนมาแบ่งปันเพื่อนๆ ด้วย โดยมีสตีเฟ่นเพื่อนชาวมาเลเซีย รับหน้าที่เป็นพิธีกร ทุกคนมีการแสดงง่ายๆ เพื่อสนุกสนานร่วมกัน และจดจำภาพแห่งความทรงจำครั้งนี้ เพื่อนจาก อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา เต้นร่วมกันด้วยสเต็ปที่สวยงาม พี่จากอินเดียร้องเพลง ซิสเตอร์จากฟิลิปปินส์และพี่อีกคนจากประเทศเดียวกันก็มีการเต้นคล้ายๆ ลาวกระทบไม้ ส่วนพี่จากสิงคโปร์ บอกว่าร้องเพลงลอยกระทงได้ ก็เลยให้ผมและพี่แคทออกไปรำวง และชวนทุกคนออกมารำวงร่วมกัน พี่จากฟิลิปปินส์จะขอตัวกลับก่อน ชาวฟิลิปปินส์สามท่านจึงร้องเพลงให้พวกเราฟัง ทราบในภายหลังว่าชื่อเพลง Bayan Ko (My Country) เป็นเพลงตั้งแต่การต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศ เป็นเพลงที่มีพลังมาก เพื่อนจากญี่ปุ่น มาเลเซีย ฮ่องกงก็ร้องเพลง สุดท้ายสตีเฟ่นสร้างบรรยากาศชวนซึ้งว่า เรามาจากที่ต่างๆ กัน มาพบกัน รู้จักกัน เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน รู้สึกเศร้าเหมือนกันที่ต้องจากกันไปแล้ว จากนั้นสวดภาวนาร่วมกันเป็นครั้งสุดท้าย ขอบคุณพระที่อวยพรตลอดการอบรม และขอพละกำลังสำหรับการทำงานต่อไป จากนั้นทุกคนสวมกอดอำลากัน และร้องเพลง Heal the World ของ ไมเคิล แจ๊คสัน พร้อมกัน ซึ่งพวกเราอาจหลงลืมไปแล้วว่าเป็นเพลงที่มีเนื้อหาดีมากๆ

ImageImage 

คืนนั้นบางคนที่มีเพื่อนอยู่กรุงเทพฯ เดินทางออกจากศูนย์ไปก่อน ซาอิดจากปากีสถานมาถามว่า อยากไปซื้อของที่ประตูน้ำ ผมก็แนะนำว่าไม่ลองไปตลาดนัดจตุจักร เพราะเป็นวันเสาร์ด้วย เช้าวันที่ 25 ก็มีเพื่อนจากญี่ปุ่น พม่าและวินเซนต์ ร่วมเดินทางไปจตุจักรด้วยกัน เรานั่งสองแถวมาต่อรถไฟแอร์พอร์ท ลิงค์ ไปลงสถานีพญาไท แล้วต่อบีทีเอสลงสถานีจตุจักร ปรากฏว่าคนเยอะมาก ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยว อากาศก็ร้อนมากๆ เราก็แยกย้ายกันเดิน โดยนัดแนะให้มาเจอกันตรงทางขึ้นรถไฟฟ้าเวลา 13.00 น. มาวันนี้ก็ทำให้ได้คุยกับวินเซนต์มากขึ้น ขากลับแวะกินข้าวที่ตลาดลาดกระบัง วินเซนต์กินก๋วยเตี๋ยวหมู ส่วนซันเดย์จากพม่ากับซาอิดกินกระเพราไก่ ไข่ดาว อาหารยอดฮิตของคนไทย กลับมาถึงศูนย์ บ่ายสามโมงกว่าได้ ก่อนกลับบ้านก็ได้สัมผัสถึงความน่ารักของวินเซนต์ แม้เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่สุด เขาก็ชวนทุกคนขอบคุณผมที่พาทุกคนไปสวนจตุจักรในวันนี้ เสียดายที่วันนั้นมีเวลาน้อย ที่จริงผมอยากจะพาเขาไปสวนโมกข์ฯ กรุงเทพฯ ที่อยู่ในสวนรถไฟ หรือพาไปเดินตรงที่มีขายหนังสือมือสอง เพราะที่จตุจักรเขาไม่ได้ซื้ออะไรเลย พักเหนื่อยสักครู่ผมก็ลงไปเตะบอล ตีแบดกับเด็กที่ศูนย์ต่อ เกือบห้าโมงเย็นจึงได้กลับบ้านด้วยความเหน็ดเหนื่อยแต่ก็มีความสุขดี กับความรู้ ประสบการณ์ที่ได้รับและมิตรภาพจากพี่ๆ เพื่อนๆหลายชาติในเอเชียซึ่งเรามีให้กัน .

ภูมินทร์ พงษ์ไกรกิตติ : รายงาน

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >