หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow ด้วยรักและสันติภาพ 'ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ': ชุติมา ซุ้นเจริญ
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 179 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

ด้วยรักและสันติภาพ 'ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ': ชุติมา ซุ้นเจริญ พิมพ์
Wednesday, 29 February 2012

Life Style

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2555


ด้วยรักและสันติภาพ 'ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ'

โดย : ชุติมา ซุ้นเจริญ , ภาพ : อนันต์ จันทรสูตร์



ไม่มีดอกไม้ ช็อกโกแลต หรือคำหวานให้ชุ่มฉ่ำหัวใจ เพราะ 'ความรัก' ของผู้หญิงคนนี้มีไว้เพื่อแบ่งปันกับเพื่อนร่วมทุกข์ของเธอ

แสงไฟจากฝ้าเพดานส่องผ่านผ้าคลุมศีรษะตามแบบผู้หญิงมุสลิม เงาของฮิญาบเหมือนจะอำพรางความรู้สึกบางอย่างเอาไว้ ทว่าไม่อาจซ่อนน้ำตาที่รื้นขึ้นมาทุกครั้งที่พูดถึง "ครอบครัวเปาะอิแตดาโอะ"

ในภาพของนักเครื่องไหว ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงและสันติภาพ (We Peace) คือผู้หญิงแกร่งแห่งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้ต่อสู้เพื่อปกป้องผู้หญิงจากความรุนแรงทั้งในครอบครัวและสังคม จนทำให้เธอได้รับรางวัล "บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม-ปกป้อง-คุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2554" จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

แต่ในฐานะน้องคนเล็ก เธอคือผู้สูญเสีย ศพแรกคือพี่คนโตซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดยะลา อีกสองปีถัดมาพี่ชายคนที่สองก็ถูกยิงเสียชีวิต จากนั้นก็เป็นพี่เขย ตามมาด้วยพี่สาวเจ้าของรางวัลสตรีดีเด่นประจำปี 2552 (ลัยลา เปาะอิแตดาโอะ) รวมถึงการถูกปองร้ายของคนในครอบครัวครั้งแล้วครั้งเล่า

หลังคำพิพากษาของมัจจุราชที่มองไม่เห็น แม้สิ่งที่ถูกทิ้งไว้จะมีเพียงความบอบช้ำและคำถามที่ไม่เคยมีคำตอบ แต่นั่นก็ไม่อาจหยุดหัวใจที่รักความเป็นธรรม และความปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพเบ่งบานในบ้านเกิดของเธอได้


กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพเริ่มต้นอย่างไรคะ

กลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพเกิดจากการรวมตัวของผู้หญิงที่ทำกิจกรรมทางสังคม เริ่มต้นหลังจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งนักกิจกรรมทางกรุงเทพฯ และในพื้นที่ได้มารวมตัวกันเพื่อประเมินผลกระทบและปัญหาที่ผู้หญิงในพื้นที่ประสบ แล้วหลังจากที่เราได้ลงไปพูดคุยถึงผลกระทบของคนที่เป็นแม่ เป็นลูกสาว เป็นภรรยา กลับกลายเป็นว่าผู้หญิงเหล่านี้กลายเป็นผู้ที่ต้องติดคดีแทนสามี แทนลูกชาย แทนพ่อ ต้องไปขึ้นโรงขึ้นศาล ที่นี้ปัญหาก็คือ บางคนตั้งแต่เกิดมาจนอายุ 50-60 ปีแล้วยังไม่เคยไปศาลเลย แม้แต่ในตัวเมืองถ้าไม่มีธุระจริง ๆ ก็ไม่ไป อันนี้เป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับเขา

คือนอกจากจะไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมายแล้ว สภาพจิตใจก็ยังย่ำแย่จากการที่สังคมทั่วประเทศพากันประณามว่าเป็นครอบครัวโจร เราก็เลยพาผู้หญิงกลุ่มนี้ไปเยี่ยมศาลว่าขั้นตอนการเข้าไปที่ศาลแต่ละครั้งต้องมีอะไรบ้าง ให้ข้อมูลในเรื่องของกฎหมายสำหรับผู้หญิง หลังจากนั้นก็ทำในเรื่องฟื้นฟูอาชีพ ช่วยเหลือหลังจากที่ต้องสูญเสียครอบครัวไป เราทำในเรื่องของส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็ก ให้กับลูกของคนที่สูญเสีย ถือเป็นจุดเริ่มแรกในการที่ทำงาน


แรงจูงใจในการทำงานเรื่องนี้มาจากความสูญเสีย?

คือพื้นฐานเราก็เป็นคนที่ได้รับผลกระทบ เลยรู้ว่าเมื่อไรก็ตามที่เราไม่ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง ไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง เราจะรอการช่วยเหลือจากข้างนอกไม่ได้ คือการช่วยเหลือมันต้องเริ่มจากคนข้างในช่วยเหลือตัวเองก่อน แล้วค่อยอาศัยคนข้างนอกมาช่วยพยุงเราให้ลุกขึ้น ก็เลยมารวมตัวกันกับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบที่เคยทำงานด้วย จัดตั้งเป็นกลุ่มผู้หญิงกับสันติภาพ

กิจกรรมแรกคือการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงใน 3 จังหวัด เป็นกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อน เริ่มจากการไม่มีเงิน เราอาศัยคนที่ได้รับผลกระทบที่ฟื้นฟูสภาพจิตใจจนมั่นคงแล้ว พอรู้ข่าวว่าวันนี้มีครอบครัวนี้สูญเสียสามีหรือลูกไป เราก็ช่วยกันลงขันค่าเดินทาง แล้วซื้อของไปเยี่ยม ไปให้กำลังใจครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นรายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งข้อหนึ่งที่เราตระหนักคือทุกคนที่สูญเสียมักพูดเป็นคำเดียวกันว่า "คุณไม่สูญเสียคุณไม่รู้หรอกว่าการสูญเสียมันเจ็บปวดขนาดไหน"

ทีนี้พอเราให้คนที่สูญเสียมาแล้วไปให้กำลังใจคนที่เพิ่งสูญเสีย พูดได้อย่างเต็มปากว่า อารมณ์นี้เราผ่านมาแล้ว เรายืนด้วยลำแข้งของตัวเองได้จนถึงทุกวันนี้ มันทำให้เขามีกำลังใจขึ้นมาเยอะ แล้วก็รู้สึกว่ามีเพื่อนคอยช่วยเหลืออยู่รายรอบเขาซึ่งมันก็เห็นได้ชัดว่าเราไม่ได้ทอดทิ้งคนที่ประสบปัญหา

หลังจากนั้นก็เริ่มมีเสียงสะท้อนจากผู้หญิงคนอื่นๆ ว่า ฉันสามีไม่ได้เสียชีวิต แต่ฉันเดือดร้อน ฉันถูกกระทำความรุนแรง ฉันถูกข่มขืน ฉันจะไปขอความช่วยเหลือได้จากไหน เราก็รู้สึกว่าประเด็นเหล่านี้มันเป็นสถิติที่สูงมากในสามจังหวัด เราก็เลยทำในเรื่องของการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ ปัญหาอะไรก็ตามที่เป็นความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นสิ่งที่เราต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน ก็จะเป็นในส่วนของกิจกรรมการปกป้องผู้หญิง แล้วก็ใช้บ้านที่เราอยู่นี่แหละ ข้างล่างเป็นสำนักงาน ข้างบนเป็นบ้านพักชั่วคราวกรณีที่ผู้หญิงต้องการที่พักชั่วคราวที่ปลอดภัย

อีกส่วนหนึ่งเราได้ไปจัดรายการวิทยุชื่อรายการผู้หญิงสร้างสันติภาพ ก็จะเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผู้หญิง หรือเวลาผู้หญิงมีปัญหาความรุนแรงผู้หญิงจะโทรไปปรึกษาใคร มีหน่วยงานไหนบ้างที่ช่วยเหลือผู้หญิง รวมถึงการที่ลงไปเปิดวงคุยตามหมู่บ้าน คือเราไม่ได้กำหนดว่าวันนี้เราจะลงไปพื้นที่ไหน ไม่ได้นัดแนะชาวบ้านล่วงหน้า แต่ลงไปพื้นที่นี้ มีชาวบ้านผู้หญิงที่รวมกลุ่มกันอยู่ 2-3 คน เราก็ไปตั้งวงคุยกัน มันก็จะได้บรรยากาศของความเป็นผู้หญิง ความเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

เชื่อมั้ยคะว่าปัญหาจริงๆ แล้วสถิติความรุนแรงจากสถานการณ์มันก็สูงขึ้น แต่ความรุนแรงในครอบครัว การถูกกระทำในครอบครัวมันสูงมากกว่าความรุนแรงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีก แต่ประเด็นเหล่านี้ทั้งรัฐเองหรือใครก็ตามไม่เคยให้ความสำคัญเลย คือสังคมก็พากันรุมมองเรื่องความรุนแรงจากสถานการณ์อย่างเดียว ผู้หญิงเหล่านี้ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากที่ไหนเลย มีหมู่บ้านหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดยะลา มีกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวถึง 200 คน แค่หมู่บ้านเดียวนะคะ

กลุ่มผู้หญิงเหล่านี้เขารู้สึกกดดัน อยากระบาย อยากปลดปล่อยมาก พอเราไปทีไรเขาก็พร้อมที่จะบอก เนี่ยฉันประสบอยู่ ไม่เคยมีพื้นที่ที่จะให้ฉันพูดคุยเรื่องของฉันเลย ฉันถูกกระทำความรุนแรงมาโดยตลอด หรือบางคนก็อยู่ในภาวะการเรียกร้องการหย่า ก็รู้สึกว่าอันนี้เป็นประเด็นที่ผู้หญิงควรจะมีการรวมตัวกันขึ้นมา และส่วนหนึ่งเราก็ทำหน้าที่ในการเชื่อมความเข้าใจระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐเวลามีปัญหาด้วย


การพูดคุยเรื่องความรุนแรงในครอบครัวซึ่งโยงใยทั้งวัฒนธรรมและศาสนา มีแรงต้านมากน้อยแค่ไหนคะ

แน่นอนค่ะ อะไรก็ตามที่มันจะเกิดความเปลี่ยนแปลง ก็จะมีผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ที่เสียประโยชน์ ผู้ที่เสียประโยชน์ก็มักจะลุกขึ้นมาต่อต้านอยู่แล้ว ยิ่งเราทำงานในเรื่องความเสมอภาคของผู้หญิงในพื้นที่ เปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้สะท้อนเรื่องราวของตัวเอง มันก็มีมุมมองของนักวิชาการหรือคนในพื้นที่ที่มองว่า กลุ่มนี้เป็นกลุ่มปลุกระดมผู้หญิงให้ลุกขึ้นมามีปากมีเสียงต่อต้านผู้ชาย มีฟีดแบ็คที่เยอะมาก

บางคนก็จะบอกว่า สิทธิมนุษยชนในพื้นที่พูดได้ แต่สิทธิสตรีห้ามพูด ในหลักการอิสลามมันไม่มี ผู้หญิงไม่มีพื้นที่ในการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้ผู้ชาย ซึ่งเรารู้สึกว่าบางครั้งมันอาจจะแย้งกับหลักการศาสนาซึ่งเราไม่รู้ข้อเท็จจริง แต่เราคิดว่าทุกศาสนาต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกสถานภาพ ทุกเพศ และเรื่องนี้ก็มักเป็นประเด็นที่คนไม่รู้จะตกเป็นเหยื่อของคนที่รู้ในการเอามาอ้างอิง ซึ่งในพื้นที่ก็เยอะมาก


เสียงตอบรับจากผู้หญิงเป็นอย่างไรบ้าง

เยอะค่ะ (ยิ้ม) คือเมื่อก่อนผู้หญิงก็กลัว ๆ กล้าๆ ที่ผ่านมาเราเคยทำคู่มือประเด็นการให้คำปรึกษาเรื่องความรุนแรงในครอบครัวในบริบทของสามจังหวัดภาคใต้ ไม่มีผู้รู้คนไหนที่กล้าให้ทัศนะเรื่องความรุนแรงในครอบครัว อาจจะเป็นเพราะว่าแนวทางอิสลามมีหลายมุมมอง แล้วมันเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เราก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากท่าน ดร.วิสุทธิ์ บินลาเต๊ะ ให้มาช่วยแสดงทัศนะ ปรากฏว่าหนังสือเราตีพิมพ์ 3 ครั้งแล้ว มีการนำไปแจกโต๊ะอิหม่ามเกือบทุกมัสยิดที่สงขลา ยะลา ปัตตานี อันนี้มันก็ทำให้เกิดความกระจ่าง และสามารถช่วยผู้หญิงได้มาก โดยเฉพาะในเรื่องของการหย่าซึ่งแต่เดิมต้องให้ผู้ชายบอกเลิกก่อน ซึ่งผู้หญิงหลายคนในพื้นที่ต้องยอมจ่ายเงิน 2-3 แสนบาทเพื่อแลกกับอิสรภาพ ให้ผู้ชายบอกเลิก เพื่อให้โต๊ะอิหม่าม หรือคณะกรรมการอิสลามสามารถให้ไปหย่าได้


ตรงนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งปี 54 ด้านสิทธิมนุษยชน?

จริงๆ แล้ว เราไม่ได้หวังที่จะได้รับรางวัล แต่ก็ต้องขอขอบคุณคณะกรรมการสิทธิฯ ที่มองเห็นความสำคัญของกลุ่มผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ถึงแม้ว่าเราไม่มีพื้นที่ทางสังคมมากนัก แต่เราก็พยายามทำเต็มความสามารถ เคลื่อนไหวทุกอย่างที่ทำให้มีพื้นที่สำหรับผู้หญิงในภาคใต้ ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณอาสาสมัคร เรามีอาสาสมัครอยู่ประมาณ 871 คนใน 3 จังหวัด ทุกคนลุกขึ้นมาทำงานด้วยใจที่บริสุทธิ์ เราไม่มีค่าเดินทาง เงินตอบแทนที่จะให้ แต่ทุกคนพร้อม ทุกครั้งที่เราร้องขอกลุ่มคนเหล่านี้จะรีบเข้าไปช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งมันเป็นบทบาทหน้าที่ของมนุษย์ ที่เมื่อไรก็ตามคนที่เป็นเพศเดียวกับเราหรือคนที่อยู่ในสภาวะเดียวกับเราต้องถูกกดทับด้วยบริบททางสังคมหรือวัฒนธรรม เราควรจะเข้าไปช่วยเหลือโดยไม่จำเป็นต้องคิดว่าทำไมหน่วยงานโน้นยังไม่ช่วย คนนี้ยังไม่ช่วย แต่มันเป็นหน้าที่ของเรา หน้าที่ของคนในสังคม

แล้วส่วนหนึ่งครอบครัวเคยบอกตลอดเวลาว่า "ถ้าเราไม่ใช่ทางออกของปัญหา เราก็คือตัวปัญหาซะเอง" เพราะฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เราพร้อมจะช่วยเหลือคนอื่นๆ เราก็เป็นทางออกของการแก้ปัญหา


การทำงานกับกลุ่มผู้หญิงสามารถช่วยลดปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้บ้างหรือไม่

เชื่อมั่น 100 เปอร์เซ็นต์ค่ะว่าการทำงานกับกลุ่มผู้หญิงสามารถลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ กล้าพูดอย่างเต็มปากเพราะว่าเวลาที่เราไปทำกิจกรรม คนที่มีจิตอาสามากกว่าก็คือผู้หญิง เวลารวมตัวกันหรืออะไรก็ตาม แม้กระทั่งกรณีของคนที่เสียชีวิต ถูกจับ คนตาย คนที่ลุกขึ้นมาประสานงานช่วยเหลือก็จะเป็นผู้หญิงทั้งหมด แล้วความเป็นเพศหญิงใช้ความนุ่มนวลอ่อนหวานในการเจรจาต่อรอง มีหลักเหตุผลมากกว่าอารมณ์ ทำให้สามารถที่จะคุยกับลูก คุยกับสามี คุยกับคนในสังคมได้ เราคิดว่าการเคลื่อนไหวถึงแม้จะเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการรวมพลังขึ้นมาก็จะสามารถทลายกำแพงความรุนแรงได้


ถึงวันนี้มองว่าสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้คลี่คลายลงบ้างมั้ย

เท่าที่เราคุยกันกับกลุ่มผู้หญิง เรารู้สึกว่ามันคลี่คลายลง เพียงแต่การใช้รูปแบบความรุนแรงแต่ละครั้งมันรุนแรงขึ้น ที่ผ่านมาคนโดนยิงตายที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น เกือบทุกวัน แต่ตอนนี้บางครั้งสองเดือนมีระเบิดตูมหนึ่งคนเสียชีวิตบาดเจ็บเยอะขึ้น เนื่องจากอาวุธที่ใช้มันแรง แต่มันก็ทำให้กลุ่มผู้หญิงในพื้นที่เริ่มรวมตัว เริ่มพูดคุยปัญหาเหล่านี้เยอะขึ้น จากที่เมื่อก่อนอาจจะรู้สึกว่าช่างเถอะมันเป็นปัญหาของคนอื่นเขา ไม่เกี่ยวกับเรา แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มคุยแล้วว่าจะหารูปแบบของการคลี่คลายปัญหาหรือการแก้ปัญหาของคนในชุมชนอย่างไร โดยเริ่มจากตัวเรา แล้วให้รัฐเป็นตัวเสริมสนับสนุนการช่วยเหลือ

เรารู้สึกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องรอให้คนในพื้นที่ลุกขึ้นมาแก้ มันถึงจะประสบความสำเร็จ ตอนนี้เสียงของคนในหลายๆ พื้นที่ คือฉันพร้อมที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในทุกระดับแล้ว เพียงแต่ขอให้รัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วม


ในฐานะคนพื้นที่พอจะมองออกมั้ยคะว่าใครที่ตัวการขับเคลื่อนความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้

อันนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก มันแปลกตรงที่สามจังหวัดนี้มองไม่ออกเลยว่าใครกันแน่ มองไม่ออกเลยว่าเราจะไปแก้กับใคร จนทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนที่ไปทำงานด้วยเราไม่รู้เลยว่าเป็นพวกไหนกันแน่ ประชาชนคือแนวร่วมหรือเปล่า คือรัฐหรือเปล่า ดังนั้นในการทำงานต้องทำงานกับทุกคน เพื่อที่จะได้รู้สึกว่านี่แหละคือปัญหาที่เราต้องลุกมาแก้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าพวกเราจะไปคุยกับพวกแนวร่วม เพราะเราก็ไม่รู้ว่าคนนี้แนวร่วมหรือเปล่า ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร


ถ้าอย่างนั้นในกรณีคนที่ทำร้ายครอบครัวเปาะอิแตดาโอะ มีเบาะแสบ้างหรือเปล่า

จนถึงวินาทีนี้เราก็ยังไม่ได้คำตอบจากใครเลยว่าครอบครัวเราสูญเสียจากฝีมือใครกันแน่ ซึ่งทุกวินาทีเราก็ต้องการคำตอบตลอดเวลา ต้องบอกว่าเกือบ 9 ปีแล้วที่เหตุการณ์มันเกิดขึ้น แต่รัฐเองหรือใครก็ตามไม่เคยให้คำตอบ หรือไม่เคยจับคนร้ายได้ สิ่งเหล่านี้มันก็เลยไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับเราว่าในพื้นที่มันปลอดภัยสำหรับเรา ส่วนหนึ่งมันก็เป็นแรงผลักดันให้เราต้องลุกมาประกาศตัวชัดเจน เราอยู่ในที่สว่าง ส่วนคนที่พร้อมจะทำร้ายเราเขาอยู่ในที่มืดโดยที่เราไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่เรามีจุดยืนชัดเจนว่าเราไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เราเข้าข้างความเป็นธรรม ถ้ารัฐทำผิด คุณก็ต้องยอมรับ ไม่ใช่มาโยนความผิดให้คนใดคนหนึ่ง หรือคนที่เห็นด้วยเห็นต่าง คุณควรที่จะมีพื้นที่ในการเจรจาการพูดคุย ไม่ใช่ใช้คนบริสุทธิ์เป็นเครื่องมือเป็นเหยื่อของการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันก็เลยทำให้เราต้องเหนื่อยมากขึ้นเป็นหลายสิบเท่ากับการดิ้นรนเพื่อการอยู่รอด


เลือกที่จะสู้แทนที่จะหนี?

เริ่มแรกปี 47 ตอนนั้นเป็นครูอยู่ เราสูญเสียพี่ชาย รู้สึกว่าการสูญเสียมันเจ็บปวดอยู่แล้ว แต่มันเป็นประเด็นที่ไม่เกี่ยวกับเรา จนเริ่มมีกลุ่มคนทำงานชวนไปคุยในฐานะผู้สูญเสีย จากเวทีครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 ทำให้รู้สึกว่าเราจะอยู่แบบนี้ไม่ได้แล้ว เราจะนิ่งเฉยกับสถานการณ์นี้ไม่ได้แล้วนะ เราต้องลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ไม่อย่างนั้นครอบครัวเราก็ต้องสูญเสียไปตลอด หรือคนอื่นๆ ก็จะต้องสูญเสียไปตลอด คิดว่าเมื่อไรล่ะที่จะมีคนเริ่ม ถ้าเราไม่เริ่มจากตัวเอง ก็เลยตัดสินใจลาออกจากการเป็นครูมาเป็นนักเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว ซึ่งเราก็รู้สึกว่าเป็นการทำเพื่อครอบครัวด้วย ทำเพื่อตัวเองด้วย
ทุกวันนี้ที่เราลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว บ้านเราก็ยังมี ศพที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 รวมถึงผู้บาดเจ็บ แล้วชีวิตเราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่มันจะอยู่หรือไป แต่การลุกขึ้นมาประกาศตัวชัดเจนว่าเราพร้อมที่จะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเราเองก็อยู่ไม่ได้แล้วในสถานการณ์ที่ถูกรังแกตลอดเวลา เราขอความเป็นธรรมทางสังคม คิดว่าคนอื่นๆ ก็อยากลุกขึ้นมาเหมือนกับเรา เพียงแต่มันต้องมีพื้นที่ให้คนที่อยากออกมาพูดถึงผลกระทบ

แล้วอีกส่วนหนึ่งเราก็รู้สึกว่าชีวิตจะได้ไม่เสียเปล่า แทนที่จะมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เราได้ลุกขึ้นมาทำงานสุดความสามารถของเราแล้ว ถ้าสมมติพรุ่งนี้เราตายไปก็นอนตายตาหลับ ในเมื่อเราได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่าที่สุดแล้ว เราเองก็พร้อมที่จะไปตอบคำถามกับพระเจ้าว่าในความเป็นมนุษย์ของคุณได้ทำงานช่วยเหลือคนอื่นๆ รวมถึงครอบครัวคุณหรือยัง แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าหน้าที่ทางสังคมหรือแม้กระทั่งหน้าที่ทางศาสนา เราได้ทำแล้ว เราได้ลุกขึ้นมาช่วยเหลือคนอื่นๆ รวมถึงการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยมากขึ้นให้กับตัวเราและคนในสังคมแล้ว


เคยถูกข่มขู่บ้างมั้ย

มีค่ะ ครั้งหนึ่งระหว่างทางกลับบ้านเขาก็ขับมอเตอร์ไซค์ตามมาประชิด แล้วก็เอาอาวุธปืนออกมาพร้อมที่จะยิง ตอนนั้นเราขับเร็วมาก ตัดสินใจเบรกกะทันหัน แล้วเลี้ยวรถกลับ เขาเบรกไม่ทัน รู้สึกเลยว่าทุกวินาทีที่เรามีชีวิตอยู่ในพื้นที่เนี่ยมันมีค่ามาก แล้วก็มีความเสี่ยงมากสำหรับเราด้วย ทุกวันนี้ถามว่าคิดถึงแม่มั้ย คิดถึง แต่ผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องดิ้นรนเพื่อที่จะมีลมหายใจสำหรับพรุ่งนี้ เราต้องออกมาหาบ้านเช่า จะกลับบ้านก็ไม่ได้ จะใช้ชีวิตเหมือนชาวบ้านทั่วไปก็ไม่ได้ ด้วยความเสี่ยงหลายๆ ด้าน กลับไปหาแม่ แม่ก็จะร้องไห้ บอกว่าแม่คิดถึงลูกใจแทบขาด แม่อยากตายก่อนลูก ไม่อยากมาอาบน้ำละหมาดศพลูก ไม่อยากให้มีศพต่อไปเกิดขึ้นในครอบครัวนี้แล้ว

เราก็เลยรู้สึกว่าบางครั้งบทบาทหน้าที่ทางสังคมกับบทบาทหน้าที่ของความเป็นลูกมันลำบาก เราอยากชวนแม่ออกมาอยู่ในเมือง แม่ก็ยังยืนยันว่า แม่เกิดที่นี่ โตที่นี่ แล้วก็จะตายที่นี่ ทุกวันนี้รู้สึกสงสารพ่อกับแม่มาก เรานึกถึงท่านตลอดเวลาแล้วเราก็รู้สึกว่าท่านพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างเราตลอด ตอนที่รับรางวัลตั้งใจมากว่าอยากพาแม่มารับรางวัล นี่คือสิ่งที่ลูกทำมา ลูกไม่ได้ทำเพื่อตัวลูกเอง แต่ลูกทำเพื่อปกป้องคนในครอบครัวและคนอื่นๆ ด้วย อยากให้แม่ภาคภูมิใจในการทำงานของลูก แต่แม่ล้ม แม่ไม่สามารถเดินได้ พอกลับไปแล้วเอารางวัลไปให้ แม่ยิ้มพร้อมน้ำตา แม่บอกว่าแม่ภาคภูมิใจในตัวลูกมาก การสูญเสียลูกที่ผ่านมามันไม่ได้สูญเปล่า มันทำให้คนตระหนักมากขึ้น ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะชอบในการกระทำของเรา บางคนอาจจะไม่ชอบในกิจกรรมของเราก็ตาม


เคยคิดจะพาครอบครัวย้ายออกนอกพื้นที่บ้างรึเปล่า

ไม่ค่ะ ถึงแม้ว่าจะร้องไห้ทุกวันหลังทำงาน เพราะเจอแรงกดดันเยอะ คือจริงๆ ในบริบทพื้นที่มันก็มีความขัดแย้งอยู่แล้ว เราเจอแรงกดดันทุกด้าน มันไม่มีทางออก ไม่รู้จะทำยังไง วิธีคลี่คลายปัญหาได้ดีที่สุดคือ ร้องไห้ เก็บความรู้สึกอยู่กับตัวเองตลอดเวลา มันไม่มีพื้นที่ให้เราไประบายความรู้สึกว่าเราคิดยังไง

เราอยากเรียกร้องให้สังคมเห็นใจเราบ้าง เพราะชีวิตครอบครัวเราถูกกระทำมาเยอะแล้ว ที่ผ่านมาไม่เคยนอนหลับสนิทแม้แต่คืนเดียว ทั้งตัวเราเองและครอบครัว ทุกครั้งที่พ่อกับแม่เห็นหน้าลูก พ่อกับแม่ก็ต้องร้องไห้ตลอดเวลา คนในสังคมไม่รู้หรอกว่ามันเจ็บปวดขนาดไหนกับการกระทำที่ไม่ทราบฝ่าย แต่ที่เราดิ้นรนทุกวันนี้แม้แต่วินาทีเดียวก็ไม่มีเวลาได้พักผ่อนเต็มที่ เพื่อความอยู่รอดของชีวิตๆ หนึ่ง การต่อลมหายใจของชีวิตๆ หนึ่ง เราอยากให้สังคมหยุดการกระทำเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม แล้วก็ขอพื้นที่ที่มันสงบและปลอดภัยสำหรับครอบครัวเราด้วย


อะไรทำให้คนในครอบครัวนี้เข้มแข็งคะ

กำลังใจและการสูญเสียมันผลักดันให้เราต้องเข้มแข็ง แล้วที่สำคัญที่สุดการมีชีวิตรอดของวันนี้และพรุ่งนี้คือแรงผลักดันให้เราต้องสู้ จริงๆ แล้วมันเหนื่อย เหนื่อยมาก คือเราต้องสู้ทุกวินาทีไม่มีเวลาหยุดพัก เพื่อชีวิตรอดของตัวเรา คนที่บ้าน ญาติพี่น้องที่เหลืออยู่ มันก็เลยจำเป็นที่จะต้องทำตรงนี้


ภาวนาทุกนาทีว่าอยากให้สถานการณ์มันจบเร็วๆ เราอยากนอนหลับสนิทสักคืนหนึ่ง อยากหายใจด้วยความรู้สึกปลอดภัยสักวินาทีหนึ่ง แค่นี้ก็พอแล้วสำหรับตระกูลเปาะอิแตดาโอะค่ะ

 

----------------------

ที่มา...กรุงเทพธุรกิจ : http://www.bangkokbiznews.com

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >