หน้าหลัก
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 140 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก


ค่ายยุวสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 11 พิมพ์
Wednesday, 21 March 2012

ชมภาพจาก

ค่ายยุวสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 11


undefinedFacebook ยส.undefined

 

 undefinedคลิกชมภาพกันเลยundefined


undefined เว็บบอร์ด : ฝากข้อความถึงเพื่อนร่วมค่ายฯ undefined

(สมัคร สมาชิกด้วยนะ)

 


 

"ค่ายยุวสิทธิมนุษยชน คนท่าแร่"


ค่ายยุวสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 11
จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ที่ศูนย์อภิบาลอัครสังฆมณฑลท่าแร่ -หนองแสง บ้านท่าแร่ ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ให้กับนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลายจำนวน 42 คน จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟ ท่าแร่ 37 คน และโรงเรียนท่าแร่ศึกษา 5 คน (ผู้ชาย 13 คน / ผู้หญิง 29 คน)

การจัดค่ายครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการนำเสนอ ค่ายยุวสิทธิมนุษยชนครั้งที่ 9 ที่ศูนย์คณะพระมหาไถ่ พัทยา ผ่านรายการแสงธรรม ของสื่อมวลชนคาทอลิก โดยออกอากาศทางช่อง 9 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2554 รวมทั้งเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ http://catholicmedia.cbct.net/ เป็นผลให้ผู้ที่รับชมรายการเกิดความสนใจและเห็นความสำคัญของการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนให้กับเยาวชนกลุ่มเป้าหมายของตน เช่นนี้แล้ว ยส. ก็ต้องขอขอบคุณคณะทีมงานสื่อมวลชนคาทอลิกมา ณ โอกาสนี้ด้วย ที่ท่านได้ให้ความสำคัญและอุทิศเวลาในการถ่ายทำรายการในครานั้น ซึ่งเป็นผลให้คุณอดุลย์ ตระกูลมา เจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาฯ ท่าแร่ฯ ร่วมกับคุณพ่อบัญชา ไชยรา หัวหน้าแผนกยุติธรรมและสันติ อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง เกิดความสนใจและมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้เกิดกิจกรรมค่ายฯ เพื่อให้การศึกษาเรียนรู้สิทธิมนุษยชนแก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดสกลนคร โดยได้ประสานร่วมมือกับ ยส. และก่อเกิดเป็นค่ายยุวสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ขึ้น

และเช่นทุกครั้ง การจัดค่ายยุวสิทธิมนุษยชน ของ ยส. นอกเหนือจากการให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และการส่งเสริมสันติภาพแล้ว การพาเยาวชนลงพื้นที่สัมผัสความเป็นจริงของชีวิต จากการศึกษาปัญหาชุมชน ก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ ยส. ได้กำหนดไว้ในการจัดค่ายทุกครั้ง โดยครั้งนี้ได้เลือกประเด็น "สิทธิชุมชน" กรณีหนองหาร เป็นที่มาหลักของเนื้อหาและกระบวนการค่าย ด้วยเห็นว่าบรรดาเยาวชนที่มาเข้าค่ายต่างก็เป็นลูกหลานของชาวท่าแร่ ผู้อยู่อาศัยในบริเวณพื้นที่หนองหาร แหล่งน้ำจืดที่สำคัญของจังหวัดสกลนคร ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาหลายประการ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงปลอดภัยในแหล่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยมุ่งหวังที่จะกระตุ้นจิตสำนึกของเยาวชนให้ตระหนักถึงบทบาทของตนในการเป็นพลังขับเคลื่อนดูแลปกป้องชุมชนต่อไป

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 เริ่มกิจกรรมในเช้าแรก ด้วยการที่พวกเราชาวค่ายฯ ประกอบด้วยพี่ทีมงาน 8 ชีวิต (แผนกยุติธรรมและสันติ (ยส.)) และเจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาท่าแร่ ทั้ง 4 คน ต่างหน้าชื่นตาบานในการเตรียมต้อนรับเด็กๆ จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟท่าแร่ และท่าแร่ศึกษา จำนวน 42 ชีวิต

คนแรกที่จับสองแถวมาแต่เช้าตรู่คือ น้องเคส จากโรงเรียนท่าแร่ศึกษา เรียกว่าเตรียมพร้อมเต็มที่ไม่ยอมกินข้าวกินปลาเลยทีเดียว สำหรับเยาวชนจากเซนต์โยเซฟ ท่าแร่ มากันพร้อมหน้าเต็มคันรถบัสใหญ่สีเหลืองอร่ามของโรงเรียน นำทีมโดยมาเซอร์ริต้า ยิ่งสมสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน ท่านได้ให้เกียรติมาส่งมอบลูกศิษย์เพื่อเข้าร่วมค่ายฯ ด้วยตัวของท่านเอง พร้อมกับส่งคุณครูพงษ์พิพัฒน์ เข้าเป็นทีมงานวิทยากรค่ายฯ  ด้วย หลังจากลงทะเบียนเก็บของเข้าที่พักแล้ว เยาวชนได้ทำความรู้จักกันด้วยการเล่นสันทนาการ และปฐมนิเทศโดยพี่อดุลย์ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดค่ายครั้งนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร กิจกรรมที่จะได้เรียนรู้ตลอด 3 วัน 2 คืนมีอะไรบ้าง ต่อด้วยประเมินความคาดหวังของน้องๆ ในการมาร่วมค่ายครั้งนี้ ตามด้วยการตกลงกติกาการอยู่ร่วมกัน ซึ่งน้องๆก็เห็นพ้องต้องกันในการมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรม การตั้งใจฟังพี่วิทยากร ปิดเครื่องมือสื่อสารในระหว่างทำกิจกรรม ฯลฯ

เข้าสู่เนื้อหากิจกรรมช่วงแรกคือช่วง ศักดิ์ศรีและสิทธิความเป็นมนุษย์ นำโดยพี่อัจฉรา (ผู้อำนวยการ ยส.) เริ่มด้วยการให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมายืนข้างหน้าห้อง แล้วให้เพื่อนๆ ช่วยกันบอกว่า คนที่มายืนนั้นมีความแตกต่างกันในเรื่องใดบ้าง น้องๆ ทุกกลุ่มก็ได้ช่วยกันตอบอย่างหลากหลาย เช่น เพศ อายุ สีผิว รูปร่างหน้าตา บุคลิกภาพ พฤติกรรม สุขภาพ ภาษา ศาสนา ฐานะ การศึกษา อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด สติปัญญา พรสวรรค์ ความสามารถ ความถนัด โดยพี่อัจได้ชี้ให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เพื่อนทั้ง 10 คนมีอยู่แตกต่างกันออกไป โดยสรุปคือมนุษย์แต่ละคนอาจมีลักษณะทั้งภายนอกและภายในที่แตกต่างกันมากมาย แต่สิ่งที่มนุษย์ทุกคนมีเหมือนกันคือ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน มีสิทธิตามธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเหมือนกันทุกคน เราจึงต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของกันและกัน แม้ผู้ใหญ่ก็ต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของเด็กเช่นกัน ในระหว่างเพื่อนก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน โดยสามารถปฏิบัติอย่างง่ายๆ ตัวอย่างเช่น ไม่นำปมด้อยของเพื่อนมาล้อเลียน เพราะจะเป็นการทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเพื่อน

จากนั้นตามด้วยกิจกรรม กล้วยของฉันหายไปไหน เป็นกิจกรรมกลุ่ม โดยให้แต่ละกลุ่มเลือกกล้วยไข่จากถาดขึ้นมาคนละ 1 ใบ ดูลักษณะรูปร่าง ตำหนิที่เปลือกกล้วยและจำเอาไว้ ใส่กล้วยคืนลงในถาดของกลุ่ม แล้วพี่ๆทีมงานก็นำไปคละสลับที่กัน และนำมาให้เลือกอีกครั้งหนึ่ง รอบนี้น้องส่วนใหญ่จะจำกล้วยของตนเองได้ รอบต่อมาก็ให้แต่ละคนปลอกเปลือกกล้วยของตน แล้วนำไปรวมไว้ในถาด พี่ๆนำไปคละกันเหมือนเดิม แล้วก็เอาถาดมาให้น้องเลือกกล้วยของตัวเองอีกครั้ง และให้พิจารณาว่าการเลือกกล้วยรอบที่มีเปลือก กับกล้วยรอบที่ปอกเปลือกแล้ว มีความยากหรือง่ายแตกต่างกันอย่างไร โดยนำไปสู่การอธิบายเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกัน เช่น เพศ สีผิว รูปร่างหน้าตา เชื้อชาติ บุคลิกภาพ ภาษา สุขภาพ ฐานะความเป็นอยู่ เปรียบเสมือนรอยตำหนิที่เปลือกของกล้วย แต่เมื่อดูเนื้อในของกล้วยแล้วจะมีลักษณะที่เหมือนกัน มีสีขาว มีกลิ่นหอมเหมือนกัน เช่นเดียวกับความเป็นมนุษย์ แม้มีร่างกายหรือสภาพภายนอกที่แตกต่างกัน แต่โดยเนื้อแท้ภายในแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนมีคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เหมือนกัน แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยสายตาก็ตาม ฉะนั้นเราจึงควรเคารพในความเป็นมนุษย์ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจนอย่างไร หรือเป็นคนพิการก็ตาม รวมทั้งเราไม่ควรตัดสินผู้อื่นเพียงลักษณะภายนอกที่เห็นเท่านั้น แต่ควรปฏิบัติต่อกันและกัน ให้สมกับที่เขาก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกันกับเรา

จากนั้นก็เข้าสู่กิจกรรม ความจำเป็นหรือความต้องการ โดยให้น้องๆ แต่ละกลุ่มช่วยกันระดมความคิดว่า อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิต ทำให้เรามีชีวิตรอดในสังคม กลุ่มละ 15 คำตอบ น้องๆ ก็ได้ระดมความคิดและนำเสนอออกมา ซึ่งทุกกลุ่มก็จะบอกถึงสิ่งต่างๆ ที่ตรงกันหลายอย่าง เช่น อาหาร อากาศ น้ำ ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค เสื้อผ้า อาชีพการงาน ทรัพย์สินเงินทอง ครอบครัว การศึกษา กฎหมาย สุขภาพที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดี สติปัญญา ความเชื่อ ความหวัง ความสามัคคี ฯลฯ ในสิ่งต่างๆ ที่น้องบอกมานี้หลายสิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการมีชีวิตรอด บางสิ่งเป็นเพียงสิ่งที่ต้องการ โดยสรุปกิจกรรมนี้สอนให้รู้ว่าสิ่งจำเป็นที่มนุษย์ทุกคนจะต้องได้รับในฐานะที่เป็นมนุษย์ เพื่อให้อยู่รอดได้ไม่ว่าจะเป็นใคร มีเชื้อชาติศาสนาใด หรือเกิดในดินแดนไหนก็ตาม สิ่งจำเป็นที่ว่าก็ตั้งแต่ด้านกายภาพ เช่น ปัจจัยสี่ ไปจนถึงด้านสังคม เช่น ครอบครัว การศึกษา อิสรภาพ ฯลฯ ก็คือ สิทธิมนุษยชน นั่นเอง นอกจากนี้สิทธิมนุษยชนยังเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ไม่มีใครสามารถแย่งชิงไปจากใครได้

 

ในช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมเข้าฐาน Walk Rally ที่ชื่อว่า "เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชน" เป็นกิจกรรมที่ให้การเรียนรู้เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ แบ่งเป็น 4 ฐาน ได้แก่ ฐานภาพลวงตา : เป็นเกมส์ที่ต้องแบ่งน้องออกเป็น 2 ทีม และให้แต่ละทีมแข่งกันหากระดาษตัวอักษรที่ซ่อนอยู่ตามพุ่มไม้ โดยที่สีของกระดาษจะแตกต่างกัน และขนาดของคำที่ยาวสั้นไม่เท่ากัน ซึ่งกระดาษที่มีสีโดดเด่นก็จะหาได้ง่ายกว่า เปรียบได้กับคนที่มีเงิน มีอำนาจ มากกว่าก็จะเข้าถึงโอกาสต่างๆ ในชีวิตได้มากกว่า ฐานนี้ให้ข้อคิดในเรื่องความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันในสังคม ฐานเรือมนุษย์ : เป็นฐานที่มีสถานการณ์จำลองให้น้องๆ แต่ละคนได้สวมบทบาทสมมุติ โดยมีตัวละคร 10 ตัว ได้แก่ พระภิกษุ รัฐมนตรี แรงงานพม่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เด็ก คนชรา ผู้หญิงท้องแก่ คนมุสลิม นักโทษ และเพศที่สาม เรื่องราวก็มีอยู่ว่าทุกคนได้โดยสารไปกับเรือลำหนึ่ง ต่อมาเรือลำนั้นไปชนหินโสโครกและกำลังจะจมลง ในเรือมีแพยางหนึ่งอัน ซึ่งสามารถรับน้ำหนักได้เพียง 8 คน แล้วก็ให้น้องๆ ช่วยกันแก้ปัญหานี้ ซึ่งฐานนี้ทำให้ได้เรียนรู้ว่า มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีและสิทธิของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานพม่า ผู้ติดเชื้อ หรือนักโทษ ทุกคนสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเทียมกัน จะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และไม่มีใครมีสิทธิที่จะตัดสินชีวิตของใครได้ ฐานบันไดชีวิต... สิทธิของฉัน : เป็นฐานที่ได้เรียนรู้เรื่องสิทธิต่างๆ ในชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งๆ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของแม่คลอดออกมา เข้าโรงเรียน ทำงาน มีคู่ครอง จนกระทั่งจบชีวิตลง เช่น สิทธิในด้านการศึกษา สิทธิในการทำงาน สิทธิในเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สิทธิในความเชื่อ การแสดงความคิดเห็น การได้รับข้อมูลข่าวสาร สิทธิในเรื่องวัฒนธรรม ฯลฯ ฐานช่องว่างระหว่างชนชั้น: เรียนรู้เรื่องความเหลื่อมล้ำและความแตกต่างทางสถานะของคนในสังคม ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายประการ ทั้งชาติกำเนิด สัญชาติ แหล่งที่อยู่อาศัย สภาพร่างกาย ฐานะความเป็นอยู่ อาชีพการงานของพ่อแม่ ซึ่งก่อให้เกิดการเข้าถึงโอกาสต่างๆ ในชีวิตที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้คนเรามีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันมากขึ้น และก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างชนชั้นที่ถ่างห่างออกจากกันมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วให้น้องๆ ช่วยกันคิดว่าเราจะมีส่วนช่วยเหลือ หรือทำให้ช่องว่างเหล่านั้นลดลงได้อย่างไร และสุดท้ายเป็นกิจกรรมที่ชื่อว่า สีแห่งความสามัคคี : เป็นกิจกรรมที่ต้องเล่นเป็นกลุ่มใหญ่ ที่สอนให้รู้ว่า แม้คนเราจะมาจากต่างกลุ่มต่างพวก ต่างสีหรือมีความแตกต่างกันอย่างไร ถ้าเรามีความสามัคคีกันช่วยเหลือกัน ปัญหาอุปสรรคใดๆ ก็สามารถผ่านพ้นไปได้ และยังสอนในเรื่องการไม่กีดกันหรือเลือกปฏิบัติต่อคนที่มีความแตกต่างจากเราออกไป แต่ควรยอมรับซึ่งกันและกัน

ค่ำคืนแรก ค่ายของเราได้จัดให้น้องๆ ได้รับชมภาพยนตร์ เรื่อง อีริน บรอคโควิช ซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม เนื้อหาในหนังเป็นเรื่องของคุณแม่ลูกสามคนหนึ่ง ที่ใช้ความเพียรพยายามในการทำงานกับสำนักงานกฎหมายต่อสู้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้มาซึ่งค่าชดเชยความเจ็บป่วยของคนในชุมชนที่เกิดจากมลพิษของโรงงาน โดยน้องๆ บอกว่าได้เรียนรู้ในเรื่อง สิทธิในการมีชีวิตอยู่และมีความมั่นคงของคนในชุมชน สิทธิผู้บริโภคคือ สิทธิในการใช้ทรัพยากรน้ำที่ปลอดภัย ไม่มีสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม สิทธิชุมชนและการเรียกร้องความยุติธรรมเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล การมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง สิทธิในอาชีพการงานและได้รับสวัสดิการในการทำงาน สิทธิเด็กที่จะได้รับการดูแลจากครอบครัว และได้เรียนรู้ในเรื่องความเพียรพยายาม ความอดทน ความมุ่งมั่นในการทำงานด้วยความหวังอยู่เสมอ

เช้าวันที่สอง ก่อนเข้าสู่เนื้อหากิจกรรมหลัก บราเดอร์คม, บราเดอร์เตง และบราเดอร์โจ ก็ได้นำน้องๆ เล่นกิจกรรมสันทนาการแบบสนุกสุดเหวี่ยง เช่น เต้นท่าฮิปโปอันแสนน่ารักของน้องเจเจ ต่อด้วยเกมส์สนุกๆ อีกมากมาย

จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาในภาคเช้าด้วยกิจกรรม การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยพี่อัจฉราได้ให้น้องแต่ละคนบอกลักษณะเด่นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ซึ่งน้องๆ ก็ได้บอกมาอย่างหลากหลาย เช่น เป็นคนอารมณ์ดี มีวิสัยทัศน์ดี เป็นคนบ้าๆ บอๆ ชอบเล่นดนตรี ตลก อารมณ์ดี เข้ากับเพื่อนง่าย พูดเก่ง ร่าเริงแจ่มใส ชอบช่วยเหลือคนอื่น โกรธง่ายหายเร็ว มีโลกส่วนตัว เงียบๆ ไม่ค่อยพูด ชอบใช้กำลัง โดยกิจกรรมนี้สอนในเรื่องการยอมรับความแตกต่างของแต่ละคน ด้วยการเรียนรู้และตระหนักในตัวตนของตนเอง รวมทั้งเข้าใจและยอมรับในตัวตนของผู้อื่น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างสันติ จากนั้นก็ให้น้องๆ ได้ทำความเข้าใจต่อความหมายของคำว่าสันติภาพและความขัดแย้ง โดยคำว่าสันติภาพ น้องๆได้ให้ความหมายว่า คือ การแบ่งปัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความสามัคคี การร่วมมือร่วมใจ ความรัก มิตรภาพ ความเข้าใจ การให้อภัยกัน การรับฟังและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น การไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามกัน เคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ความยุติธรรม การไม่แบ่งแยกชนชั้น

ส่วนคำว่าความขัดแย้ง น้องๆ ได้ให้ความหมายว่า คือ ความคิดเห็นไม่ตรงกัน การไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ความเห็นแก่ตัว การคิดถึงแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน การละเมิดสิทธิของผู้อื่น ขาดความสามัคคี การแบ่งพรรคแบ่งพวก ไม่มีความยุติธรรม ความขัดแย้งทางสังคมและทางการเมือง การมีทิฐิ มีอคติต่อผู้อื่น การใช้กำลัง ใช้อารมณ์ การใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา และความวุ่นวาย

จากนั้นก็เป็นกิจกรรม เห็นด้วย / ไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยตรวจสอบทัศนคติของตนเองและฟังความคิดเห็นของผู้อื่นต่อประเด็นทางสังคม เช่นคำถามว่า เห็นด้วยหรือไม่ที่มนุษย์เกิดมาพร้อมกับความรุนแรง เห็นด้วยหรือไม่ที่ผู้หญิงขยันทำงานกว่าผู้ชาย เห็นด้วยหรือไม่ที่คนบนดอยมีสิทธิเท่าเทียมกันกับคนในเมือง ซึ่งน้องหลายคนก็แสดงความคิดเห็นเป็นเหตุเป็นผลได้อย่างน่าชื่นชมทีเดียว และปิดท้ายของช่วงนี้ด้วยการวิเคราะห์ถึงมุมมองที่แตกต่างกันของตนและเพื่อน ด้วยการดูภาพที่อาจตีความได้แตกต่างกันตามแต่มุมมองของแต่ละคน ทำให้เรียนรู้ว่าการยอมรับความแตกต่างหลากหลายของกันและกันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสังคม

กิจกรรมช่วงบ่ายของวันที่สองอยู่ในช่วงที่ชื่อว่า สิทธิมนุษยชนในชีวิตของเรา เป็นกิจกรรมที่ได้เรียนรู้ถึงที่มาของขบวนการสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งมีความเป็นมาตั้งแต่เริ่มต้นอารยธรรมของมนุษย์ จนกระทั่งมีความชัดเจนเด่นชัดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติและการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยน้องๆได้เรียนรู้ถึงสิทธิในชีวิตของมนุษย์ทุกคนที่ได้รับความคุ้มครองตามปฏิญญาดังกล่าว เช่น สิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัว สิทธิในเรื่องสัญชาติ สิทธิในการศึกษา สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในการชุมชุมและมีส่วนร่วมทางการเมือง

จากนั้นก็เข้าสู่กิจกรรมการเรียนรู้ สิทธิชุมชน โดยการให้น้องแต่ละกลุ่มได้ใช้จินตนาการวาดภาพ ชุมชนในฝัน โดยสามารถจัดวางผังเมืองได้ตามที่ต้องการ โดยได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า ชุมชนนี้ได้รับการรับรองสิทธิของชุมชนไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 66 และ 67 ซึ่งแต่ละกลุ่มก็บรรจงวาดชุมชนของตนอย่างสวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย มีทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน แหล่งชุมชน โรงพยาบาล แหล่งอารยธรรมโบราณ แหล่งน้ำและป่าไม้ ฯลฯ หลังจากนั้นพี่ๆ ก็ได้มาดึงสมาชิก 2 คนของแต่ละกลุ่มออกไป และให้สถานการณ์จำลองว่า ให้สองคนนี้กลับเข้ามาในชุมชนอีกครั้ง โดยสวมบทบาทเป็นนายทุนที่ต้องการเข้ามาสร้างความเจริญให้ชุมชน ด้วยการสร้างห้างสรรพสินค้าตรงแหล่งประวัติศาสตร์ของชุมชน สถานบันเทิงครบวงจรข้างๆ วัด โรงงานหลอมพลาสติกแทนที่ศูนย์ราชการ สนามกอล์ฟข้างโรงพยาบาล โรงงานผลิตสีทาบ้านติดกับแหล่งน้ำ โดยให้โจทก์แก่นายทุนว่าต้องพยายามโน้มน้าวใจคนในชุมชนเพื่อให้บรรลุความต้องการของตน ในขณะที่ชุมชนเองก็มีความหวงแหนทรัพยากรและตระหนักในสิทธิของชุมชน จึงปกป้องชุมชนของตนอย่างเต็มที่ โดยให้ทั้งสองฝ่ายพยายามหาทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติ หลังจากเจรจาถกเถียงกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดแล้ว ผลที่ออกกมาคือ เกือบทุกกลุ่มไม่ยอมให้นายทุนเข้ามาสร้างสิ่งเหล่านั้นในชุมชน เพราะความเป็นห่วงเรื่องวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน มลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน มีเพียงกลุ่มเดียวที่ยินยอมให้นายทุนเข้ามาสร้างได้ คือกลุ่มที่จะมาสร้างสนามกอล์ฟใกล้โรงพยาบาล โดยฝ่ายนายทุนยอมย้ายสถานที่ออกไปตั้งในอีกด้านหนึ่งของชุมชน โดยไปอยู่ใกล้โรงเรียนแทน โดยคนในชุมชนยินยอมเพราะคิดว่าจะได้รับผลประโยชน์ในเรื่องการจ้างแรงงาน และหวังให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ช่วงท้ายของกิจกรรม น้องๆ สรุปว่าได้เรียนรู้ในเรื่องความรักและหวงแหนชุมชน เงินและความมั่งคั่งไม่ใช่คำตอบของชุมชนเสมอไป เรียนรู้ว่าความสามัคคีของคนในชุมชนจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เรียนรู้การมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อการพัฒนาชุมชน การใช้หลักเสียงส่วนใหญ่ในการตัดสินความขัดแย้ง การเจรจารับฟังกันและพูดคุยกันด้วยหลักสันติ จะทำให้พบทางออกของปัญหา

ข้อคิดจากกิจกรรมชุมชนในฝัน : สำหรับกลุ่มที่ยินยอมแบ่งพื้นที่ให้นายทุนทำสนามกอล์ฟใกล้ๆ โรงเรียนได้ โดยหวังว่าจะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจนั้น อยากให้น้องๆ ได้ทบทวนว่า ใครที่จะเป็นผู้ใช้สนามกอล์ฟ ใช่คนส่วนใหญ่ในชุมชนหรือไม่ ความเขียวขจีของหญ้าและความอุดมสมบูรณ์ของสนามกอล์ฟจำเป็นต้องใช้น้ำและพื้นที่มหาศาล จะส่งผลต่อการใช้น้ำของชุมชนหรือไม่ (ทุนเยอะกว่าสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรได้มากกว่าหรือไม่) ตัวอย่างเช่น ระหว่างทางที่พวกเรานั่งรถไปบ้านจอมแจ้ง สังเกตเห็นว่า มีท่อส่งน้ำสีฟ้าๆ วางตามทุ่งนา แลเห็นทุ่งนาฝั่งนั้นมีต้นข้าวเขียวขจี ในขณะที่แปลงนาที่ติดกัน กลับมองเห็นแต่ความแห้งแล้ง บ่งบอกถึงความไร้ซึ่งอำนาจเงินที่จะสามารถจ่ายค่าน้ำเป็นชั่วโมงๆ เพื่อผันน้ำเข้านาได้ นั่นหมายถึง มือใครยาวสาวได้สาวเอา ใครมีทุนเยอะก็สามารถสนองตอบความต้องการได้มากกว่า ที่สุดแล้ว ถ้ามีสนามกอล์ฟ จะแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากชาวนาด้วยเพราะอำนาจเงินเขามากกว่าหรือไม่

เช้าวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555 วันสุดท้ายของค่าย เราเริ่มกิจกรรมสัมผัสชีวิต ด้วยการเข้าร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ที่วัดแม่พระราชินีแห่งสายประคำ บ้านจอมแจ้ง ร่วมกับผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจอมแจ้ง เนื่องจากเยาวชนส่วนใหญ่ที่มาค่ายฯ นับถือศาสนาคริสต์ (คาทอลิก) จากนั้นจึงเริ่มต้นศึกษาความเป็นจริงของชุมชนด้วยการรับฟังประสบการณ์ของผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านอีก 4 คน ซึ่งสัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นในการศึกษาข้อมูลอย่างจริงจังเพื่อรักษาแผ่นดินเกิดไว้ให้ลูกหลาน เพราะผืนแผ่นดินที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่าบุกรุกที่สาธารณะนั้น แท้จริงเป็นพื้นที่ที่บรรพบุรุษของพวกเขาเป็นผู้จับมีดพร้าบุกเบิกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย แต่ที่สุดทางราชการกลับบอกว่า พวกเขาได้บุกรุกที่ดินสาธารณะ จากการที่รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดินทำกินในพื้นที่จังหวัดสกลนคร รอบหนองหาร เมื่อปี พ.ศ.2484 โดยมีความประสงค์เพื่อหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าในเขตพระราชกฤษฎีกาเพื่อประโยชน์ในการบำรุงพันธุ์สัตว์น้ำ ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหักร้าง จัดทำหรือปลูกสร้างด้วยประการใดๆ ในที่ดินหวงห้าม แต่ปรากฏว่าภายในเขตหวงห้ามตามแผนที่แนบท้ายกฤษฎีกา ปรากฏมีชุมชนอยู่ 35 หมู่บ้าน ซึ่งมีหลักฐานการตั้งรกรากของชุมชนรอบหนองหารที่มีมาก่อน พ.ศ. 2400 (ปัจจุบันขยายเป็น 50 หมู่บ้าน) รวมถึงกรณีการกำหนดแนวเขต นสล. (หนังสือสำคัญที่หลวง) กำหนดเขตหนองหารรุกล้ำขึ้นไปบนบกทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของราษฎร (เขตรอบหนองหารรอบใน) ชาวบ้านจึงไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินของตนเองและได้รับความเดือดร้อนคือ ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ไม่สามารถแบ่งที่ดินให้ลูกหลานได้

จากการร่วมพูดคุยกับชาวบ้าน ทำให้เห็นถึงความมั่นใจในการขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกิน ด้วยข้อมูลที่ชัดเจนหนักแน่นของผู้อาวุโสเหล่านี้ สิ่งที่เห็นและถือเป็นสิ่งสำคัญในการเคลื่อนไหวให้เกิดผลสำเร็จ คือ "ทุนทางสังคม" ของชุมชน โดยมีวัดเป็นแหล่งหลอมรวมจิตใจของคนในชุมชน รวมถึงการมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งและมีคนที่รักผืนดินทำกิน ด้วยหวังเพียงความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้กับลูกหลานในอนาคต เมื่อถึงวันที่พวกผู้เฒ่าเหล่านี้ไม่อยู่แล้วในภายภาคหน้า

เสร็จจากการพูดคุยกับชาวบ้านแล้ว ชาวค่ายก็ได้ไปดูประตูระบายน้ำระหว่างหนองหารกับลำน้ำก่ำ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงชื่อประตู "สุรัสวดี" สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2535 ด้านข้างมีบันไดปลาโจนเพื่อให้ปลาจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ได้

หลังกลับจากการไปเรียนรู้ศึกษาชุมชนที่บ้านจอมแจ้งแล้ว น้องๆ ก็กลับมาทำการไตร่ตรองประสบการณ์ต่อในค่าย ในช่วง บทบาทการมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยเยาวชนได้สะท้อนความรู้สึกว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องทรัพยากรแหล่งน้ำ จากการกักเก็บน้ำของประตูน้ำก่ำ ทำให้น้ำเน่าเสีย เกิดมลพิษทางน้ำ จำนวนปลาในหนองหารลดน้อยลง และปลาบางชนิดสูญพันธุ์ มีความรู้สึกเห็นใจและอยากช่วยเหลือชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เขาควรจะได้ เยาวชนได้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับตนเองเพราะตนก็เป็นลูกหลานของคนในชุมชนหนองหารเช่นกัน และเห็นถึงสิ่งที่สามารถทำได้ในการมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ในฐานะที่ตนเป็นเยาวชนชาวท่าแร่ คือ การรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรแหล่งน้ำให้อุดมสมบูรณ์ ไม่จับสัตว์น้ำในฤดูวางไข่ ช่วยกันรักษาพันธุ์ปลา เป็นแนวร่วมในการเรียกร้องความเป็นธรรม ช่วยเป็นกำลังใจให้ชาวบ้าน ช่วยรณรงค์บอกต่อกับผู้ปกครองและเพื่อนๆ นอกจากนี้ยังมีเยาวชนบางคนบอกว่าเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำงานช่วยเหลือชาวบ้านอย่างจริงจังคือ ในอนาคตจะเลือกเรียนต่อด้านกฎหมายเพื่อจะกลับมาช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชน

ค่ายครั้งนี้ก็จบลงด้วยความอบอุ่นและประทับใจของน้องพี่ชาวค่าย ยส. โดยเฉพาะน้องๆ เยาวชนชาวท่าแร่ ที่จะเป็นพลังสำคัญในการปกป้องรักษาชุมชนของตน ดังคำมั่นที่น้องๆ ได้ให้ไว้ว่าจะนำความรู้และประสบการณ์กลับไปใช้ในชีวิตประจำวัน จะแบ่งปันความรู้ที่ได้รับให้แก่เพื่อนๆ พี่น้องคนอื่นๆ จะนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาชุมชน ไปช่วยเหลือญาติพี่น้อง จะช่วยเหลือคนที่ถูกละเมิดสิทธิ จะให้เกียรติและเคารพในสิทธิของเพื่อนมนุษย์ทุกคน จะให้ความยุติธรรมและปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกชนชั้น และจะปฏิบัติตัวเองให้เป็นผู้นำในการสร้างสันติสุขในสังคมต่อไป

ทีมงาน ยส. รายงาน

ความคิดเห็น
เขียนโดย ยินดี เปิด 2012-04-01 18:00:18
ยินดี ดีใจที่ ยส.เกิดค่ายที่สกล 
แต่เสียดายที่ไม่ทราบข่าว 
จะได้ไปร่วมงาน  
คิดถึงพี่ๆ ยส. 
พี่อดุล และทีมงานที่ท่าเเร่ 
 

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

ถัดไป >