หน้าหลัก arrow ข่าวย้อนหลัง arrow เฉลิมฉลอง ๔๐ ปี สาร "ความยุติธรรมในโลก" และเสวนา "ประชาชน ความยุติธรรม ความเท่าเทียม"
หน้าหลัก
รู้จักยส
อยู่กับปวงประชา
ข่าวย้อนหลัง
เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
ผู้ไถ่ : รายงานสถานการณ์
การศึกษาเพื่อสิทธิ&สันติภาพ
สื่อสิ่งพิมพ์ ยส.
มุมมองสิทธิฯ ในหนัง
กิจกรรม ยส.
คลังภาพ ยส.
เว็บบอร์ด ยส.
เว็บเพื่อนบ้าน
Facebook ยส.

ยส. (ยุติธรรมและสันติ)

จำนวนผู้เข้าชม
ขณะนี้มี 73 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

คลิก เขียนสมุดเยี่ยมคลิก เขียนสมุดเยี่ยม
ขอบคุณทุกท่าน
ที่แวะเข้ามาค่ะ

แนะนำสื่อ ฉบับล่าสุด


วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123: ชีวิต การต่อสู้ เพื่อความดีของกันและกัน กำลังใจ ความรัก และความหวัง
 วารสารผู้ไถ่
ฉบับที่ 123


วันสันติสากล 1 มกราคม 2024
 สารวันสันติสากล
1 มกราคม 2024
ปัญญาประดิษฐ์
และสันติภาพ


น้ำแห่งชีวิต (Aqua fons vitae)
 น้ำแห่งชีวิต
(Aqua fons vitae)
สมณกระทรวงเพื่อ
ส่งเสริมการพัฒนา
มนุษย์แบบองค์รวม


สมณลิขิตเตือนใจ...แอมะซอนที่รัก (QUERIDA AMAZONIA)
 แอมะซอนที่รัก
(QUERIDA AMAZONIA)
สมณลิขิตเตือนใจ...
ของสมเด็จ-
พระสันตะปาปาฟรังซิส


จงสรรเสริญพระเจ้า... การก้าวออกไปอย่างต่อเนื่องของเอเชีย
หนังสือแปล
จงสรรเสริญพระเจ้า...
การก้าวออกไป
อย่างต่อเนื่องของเอเชีย


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 2 และ3
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร
ภาคที่ 2 และ3
 


ประมวลหลักคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคที่ 1
หนังสือแปล
Compendium...
ประมวลหลักคำสอน
ด้านสังคมของ
พระศาสนจักร ภาคที่ 1



หนังสือ Jesus CEO :  พระเยซูเจ้า นักบริหารชั้นนำ
หนังสือแปล
Jesus CEO :
พระเยซูเจ้า
นักบริหารชั้นนำ



หนังสือ เส้นทางสู่สิทธิมนุษยชนศึกษา
หนังสือ เส้นทางสู่
สิทธิมนุษยชนศึกษา


พระสมณสาสน์ความรักในความจริง : Caritas in Veritate
หนังสือแปล
Caritas in Veritate :

พระสมณสาสน์
ความรักในความจริง



โปสเตอร์ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2532
โปสเตอร์
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
แห่งสหประชาชาติ
พ.ศ.2532


เว็บเพื่อนบ้าน

แวดวงต่างประเทศ

Pax Christi International - PCI

ACPP - Hotline Asia


ดูเว็บอื่นๆ ในหมวด

เว็บน่าสนใจ

เว็บด้านสิทธิฯ

ข่าวสาร/บันเทิง

หน่วยงานองค์กรคาทอลิก

บทความล่าสุด

   อนึ่ง บทความ หรือข้อเขียนทั้งหมดที่นำลงเว็บไซต์ jpthai.org เป็นทัศนะเฉพาะของผู้เขียน
และไม่ผูกพันกับคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อความยุติธรรมและสันติ

ทางเว็บไซต์ jpthai อนุญาตให้คัดลอกบทความ/ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้
แต่กรุณาระบุชื่อผู้เขียน และแหล่งที่มาด้วย ขอบคุณค่ะ

 

Donation / สนับสนุนการดำเนินงาน

  • โอนเข้าบัญชี ในนาม
    คณะกรรมการคาทอลิกฯ แผนกยุติธรรมและสันติ 
    ธนาคารกสิกรไทย สาขาห้วยขวาง บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 084-2-07639-2
    (กรุณา
    ส่งสำเนาการโอนเงินทางอีเมล์ ccjpthai@gmail.com)
    (หรือ ส่งสำเนามาที่ LINE:
    https://lin.ee/LdMulwv)

  • ทางธนาณัติ สั่งจ่ายในนาม “ปริญดา วาปีกัง” ตู้ ปณ. สุทธิสาร (10321)
    114 (2492) ถ.ประชาสงเคราะห์ ซอย 24 ดินแดง กรุงเทพฯ 10400

เฉลิมฉลอง ๔๐ ปี สาร "ความยุติธรรมในโลก" และเสวนา "ประชาชน ความยุติธรรม ความเท่าเทียม" พิมพ์
Wednesday, 01 February 2012

เฉลิมฉลอง ๔๐ ปี สาร "ความยุติธรรมในโลก" (Justice in the World)
และเสวนา "ประชาชน ความยุติธรรม ความเท่าเทียม"

วันพุธที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔
ที่ห้องประชุมชั้น ๘ ฝ่ายการศึกษาในโรงเรียนของอัครสังฆมณฑล กรุงเทพฯ
อาคารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์


ศึกษาสาร "ความยุติธรรมในโลก" (Justice in the World)
โดย คุณพ่อพิชาญ ใจเสรี ผู้อำนวยการศูนย์คณะพระมหาไถ่พัทยา, จิตตาธิการ ยส.

เสวนาในหัวข้อ "ประชาชน ความยุติธรรม ความเท่าเทียม"

ร่วมเสวนาโดย
ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
อดีตคณะกรรมการปฏิรูป
คุณจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และผู้ร่วมก่อตั้ง โรงงานผลิตชุดชั้นใน Try Arm
ดำเนินการเสวนาโดย คุณจักรชัย โฉมทองดี นักวิจัยโครงการศึกษาและ ปฏิบัติการงานพัฒนา และ คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม

Image 

ศึกษาสาร "ความยุติธรรมในโลก"
คุณพ่อพิชาญ ใจเสรี

สารเรื่อง "ความยุติธรรมในโลก" ออกมาในปี ๑๙๗๑ ครบ ๔๐ ปีในปีนี้ (๒๐๑๑) จึงเป็นเรื่องของการมาทบทวนสารที่มีความสำคัญเกี่ยวกับคำสอนของพระศาสนจักรด้านสังคม ความยุติธรรมในโลกที่สารพูดไว้นั้นในทุกวันนี้ยังไม่เป็นความจริง เพราะ ความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้น ซ้ำร้ายยังมีความซับซ้อนของความอยุติธรรมมากขึ้นไปอีก สารนี้ออกในสมัย พระสันตะปาปาเปาโลที่ ๖ สารนี้ไม่ได้มาจากพระสันตะปาปาคนเดียว แต่เป็นการรวบรวมความคิดของบรรดาพระสังฆราชทั่วโลก พระสันตะปาปาเปาโลที่ ๖ เป็นมันสมองของพระสันตะปาปาองค์ก่อนคือ พระสันตะปาปา ยอห์นที่ ๒๓ พระสันตะปาปายอห์นที่ ๒๓ ทรงเรียกให้มีการทำสังคายนาวาติกันที่สองในปี ๑๙๖๒ ดำเนินการประชุมได้เพียงปีเดียวท่านก็สิ้นพระชนม์ หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสันตะปาปาเปาโลที่ ๖ ท่านประกาศให้มีการประชุมสังคายนาวาติกันที่สองต่อไป โดยใช้เวลาอีกสองปี

ในสารนี้พูดชัดเจนในเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนเป็นลูกของพระเป็นเจ้า ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด หัวข้อที่ ๑ พูดว่า "พันธกิจของประชากรของพระเป็นเจ้าคือ การทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นต่อไปในโลก" บทขยายความคือ เราคริสตชนจะต้องมีความรักและรับใช้ต่อเพื่อนพี่น้อง ซึ่งทำให้ความยุติธรรมสมบูรณ์ (ข้อ ๓๓) และในข้อ ๓๔ ที่เขียนไว้ว่า "ความรักของคริสตชนต่อเพื่อนบ้านและความยุติธรรม ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้" ความรักจะต้องมีความยุติธรรมอยู่ร่วมด้วย หมายความว่า เราจะต้องให้เกียรติ ศักดิ์ศรีและสิทธิ์กับเพื่อนพี่น้องของเรา ในข้อ ๓๔ บอกว่า ความยุติธรรมจะแสดงออกถึงความรักในตัวเอง เรายุติธรรมและเต็มไปด้วยความรัก เราซึ่งเป็นคริสตชนจะต้องปกป้องและสนับสนุนเรื่องของศักดิ์ศรีของมนุษย์ คือสิทธิที่จะมีชีวิตของมนุษย์

Image 

ช่วงเสวนา "ประชาชน ความยุติธรรม ความเท่าเทียม"
คุณจักรชัย โฉมทองดี

ความไม่เป็นธรรมกินความกว้างไกลกว่ามิติทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีนี้ มิติความไม่เป็นธรรมถูกหยิบยกขึ้นมาในสังคม เป็นความขัดแย้งทางการเมือง ดิ่งลึกลงไปถึงความไม่ลงรอย ความขัดแย้งกันทางสังคมซึ่งก็ยังดำรงอยู่ หลายคนหวังว่าวิกฤติน้ำท่วมที่เป็นความบอบช้ำของสังคมไทย จะช่วยเกลี่ยสิ่งเหล่านี้ออกไป แล้วให้สังคมไทยเดินต่อไปได้ แต่น้ำเริ่มลด เรายิ่งเห็นว่าความไม่เป็นธรรมสะท้อนอยู่ในระดับน้ำที่ไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เกษตร พื้นที่เมืองชั้นใน เมืองชั้นนอก มีดัชนีชี้บอกอยู่หลายอย่าง

วิทยากรทั้งสองท่านเป็นทั้งผู้นำทางความคิด และผู้นำในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในสังคมไทย ท่านแรก ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ท่านมีหลายบทบาทที่ผ่านมาในภาคประชาสังคม ตั้งแต่การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม ในเรื่องพรบ.ป่าชุมชน การจัดการลุ่มน้ำในมิติต่างๆ การใช้ที่ดิน และเมื่อปีที่แล้วได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูป นำเสนอข้อเสนอในหลายๆ เรื่อง ท่านที่สอง คุณจิตรา คชเดช เป็นผู้ต่อสู้มานาน และมีนวัตกรรมใหม่ๆ ในการต่อสู้ การต่อสู้ของคุณจิตราตรงกับสิ่งที่เราคุยในวันนี้ ในเรื่องสิทธิแรงงาน การเลิกจ้าง การรวมกลุ่มเพื่อการต่อรอง จาก Triumph มาสู่ Try Arm ไทร์อัมพ์แปลว่าชัยชนะ "ธราย อาร์ม" เป็นชัยชนะที่มากกว่าจุดกำเนิดของกลุ่มแรงงานเหล่านี้ด้วยซ้ำ นอกจากการต่อสู้ทางด้านสิทธิแรงงาน หลายท่านที่ติดตามข่าวสารก็ทราบดีว่า คุณจิตราเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถ้าพูดถึงมิติความเท่าเทียม ผมก็ขอพูดว่าเป็นความเท่าเทียมทางการเมือง และคุณจิตรามีความสามารถประดิษฐ์วลี หรือวาทกรรมทางการเมืองที่หลายคนนำมาไปใช้ต่อ บางคนอาจไม่รู้จักคุณจิตรา แต่ได้ยินคำว่า "ดีแต่พูด"

อ.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
เมืองไทยยังมีโอกาส มีช่องทางที่จะพัฒนาเป็นเมืองที่มีความศิวิไลซ์ได้ ถ้าแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ ผมเริ่มสนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น นอกจากสนใจในเรื่องความไม่เป็นธรรมในเรื่องของที่ดิน แต่ก่อนแค่คิดว่าถ้าไม่เป็นธรรมก็แก้ให้เป็นธรรม ต่อมาจึงเข้าใจว่าปัญหาเชื่อมโยงในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปเป็นคณะกรรมการปฏิรูปที่ คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ทำให้ผมได้เรียนรู้การทำงานกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้อาวุโสหลายท่านที่มีประสบการณ์ยาวนาน ผมขออนุญาตเสนอข้อมูลที่ผมพูดคุยกันในคณะกรรรมการปฏิรูป และความคิดเห็นเพิ่มเติมของผม เพื่อชี้ให้เห็นว่าเราใช้เวลา ๘-๙ เดือน เพื่อทำข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม

เวลาพูดถึงการปฏิรูปเป็นการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงโครงสร้าง ต้องเปลี่ยนแปลงไปที่รากเหง้า ไม่ได้มองในเรื่องปลีกย่อยหรือเรื่องที่อยู่ไกล เราวิเคราะห์แล้วว่า สังคมไทยแม้จะเปลี่ยนรัฐบาลกี่รัฐบาล แต่เราไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเท่าไรนัก มีแต่การแก้ปัญหาที่ฉาบฉวยและเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่โชคดีที่เรายังมีฐานทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งทำให้เมืองไทยยืนอยู่และเป็นที่ต้องการของนักลงทุนนานาชาติ ที่มาร่วมลงทุนในประเทศไทย ทำให้เศรษฐกิจบางอย่างเติบโตไปได้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งขยายช่องว่างมากขึ้นด้วย

ผมมองความเหลื่อมล้ำว่าเป็นเรื่องปรกติ เรื่องธรรมชาติ เหมือนเรามองนิ้วเรา ความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นได้ แต่ความเหลื่อมล้ำที่เราพูด เราวิเคราะห์กันทุกวันนี้ เป็นความเหลื่อมล้ำที่มาก มีความแตกต่างกันมากและมีผลกระทบต่อความอยู่ดีมีสุขของสังคม เหมือนในแอฟริกาใต้ที่คน ๑๐ % ของประเทศ แม้จะมีเงินมหาศาลแต่ก็ไม่มีความสุข เพราะชีวิตเขาแขวนอยู่บนเส้นด้าย ถ้าเขาพลาดก็โดนจี้ โดนอุ้ม นี้คือฤทธิ์เดชของความเหลื่อมล้ำที่ผลกระทบรุนแรง และไม่ได้มีผลกระทบต่อตัวเรา ครอบครัวเราเท่านั้นแต่มีผลกระทบทางสังคม

ความเหลื่อมล้ำในห้ามิติสำคัญ ได้แก่ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ / อำนาจ / โอกาส / สิทธิ / รายได้ ทั้งห้ามิติมีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด เรื่องของสิทธิและโอกาสเป็นประเด็นแรกๆ ที่เราพูดคุยกัน คือ เข้าไม่ถึงสิทธิก็เข้าไม่ถึงโอกาส ก็กระทบไปถึงเรื่องรายได้ คือไม่มีงานทำหรือทำงานที่มีค่าตอบแทนน้อย เมื่อรายได้ต่ำ การศึกษาก็เข้าไม่ถึง อาชีพก็เข้าไม่ถึง การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมก็กลายเป็นคน ไร้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เมื่อประสบปัญหาหรือต้องมีประเด็นเพื่อต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ก็พลอยไร้อำนาจต่อรองไปด้วย ขณะนี้ความเหลื่อมล้ำของเมืองไทยอยู่ในลำดับที่ ๕-๖ ของโลก ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้เอง

มีสามตัวเป็นตัวชี้ว่าคุณเป็นคนจน คนด้อยโอกาส หรือเป็นคนรวยที่มีโอกาสมากกว่าผู้อื่น ได้แก่ รายได้ การถือครองทรัพย์สิน และ การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ถ้าคนจนหรือคนที่มีรายได้น้อยมีแค่ ๒-๓ % หรือไม่เกิน ๑๐% ประเทศก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเราช่วยกันพาสังคมไปรอด แต่ขณะนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เกษตรกร ๕.๘ ล้านครอบครัว หรือประมาณ ๒๐ ล้านคน มีรายได้เพียงปีละ ๕-๖ หมื่นบาท หรือตกเดือนละ ๓-๔ พันบาท ซึ่งเป็นประชากรหนึ่งในสามของประเทศ ซึ่งไม่ใช่น้อยๆ เลย ตัวเลขที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือนักวิจัยทั้งหลายทำมา ระหว่างรายได้สูงสุดกับต่ำสุด บางปีห่างกันอยู่ ๑๒ เท่า บางปีก็ขึ้นไปถึง ๑๔-๑๕ เท่า ที่น่าสนใจคือช่องว่างห่างอยู่แล้ว แต่รายได้ของคนที่อยู่ในฐานต่ำสุด กลับไม่เพิ่มหรือเพิ่มในอัตราถดถอย คืออัตราเงินเฟ้อสูงกว่าค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น คือยิ่งทำก็ยิ่งจนลงไปทุกวัน

คนจนหรือใกล้ความจน มีรายได้เพียง ๒,๗๐๐ บาท/เดือน มีอยู่ถึง ๑๙.๙ ล้านคน
เกษตรกร ๕.๘ ล้านครัวเรือน เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบเป็นล้านล้านบาท และมีหนี้เพิ่มขึ้นปีละเกือบแสนล้านบาท แต่สามบริษัทใหญ่ทางการเกษตร จากข้อมูลปี ๒๕๕๒ มีกำไรถึง ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท เกษตรกร ๒๐ กว่าล้านคน ทำนากันปีละ ๒-๓ ครั้ง แต่สุดท้าย แทบจะไม่เหลืออะไรติดกระเป๋า นี่คือความเหลื่อมล้ำ ทำให้รายได้กระจุกไม่กระจาย ส่วนแบ่งรายได้ต้องเป็นธรรม สังคมถึงจะอยู่ได้ ผมไม่อยากเห็นเมืองไทยเป็นสังคมแบบ "อยู่ร้อน นอนทุกข์"

ในเรื่องที่ดินเชื่ออยู่อย่างว่าจะมีจะจนอย่างไรก็แล้วแต่ ขอให้มีที่ดิน โดยเฉพาะประเทศเราที่อยู่ในเขตร้อน เขตมรสุม รับรองว่ายังไงเราก็ไม่จนถ้ามีที่ดิน ตัวเลขเรื่องที่ดิน เกษตรกรภาคกลาง ๗๐ % เช่าที่ดินเพื่อทำเกษตร เมื่อน้ำท่วมภาคกลาง พวกเขาได้รับผลกระทบ เกษตรกรเป็นฐานสำคัญที่สร้างรากฐานให้กับประเทศ ผัก ผลไม้ของเรารสชาติเยี่ยมเป็นแนวหน้าของโลก แต่สภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกร ไปเทียบกับชาติไหนไม่ได้เลย ได้แต่ยืนห่างๆ เขา เกษตรกรถูกขูดรีด ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ทำไมสังคมไทยจึงกลายเป็นสังคมที่เอารัดเอาเปรียบกันมาก ทำไมเปิดโอกาสให้คนมีอำนาจ เข้าไปละเมิดสิทธิของคนอื่นมากมาย ปลายปีที่แล้ว ชาวนาโทรมาหาผมบอกว่าขายข้าวไม่ได้ ที่ประกันราคาเกวียนละ ๙,๐๐๐ กว่าบาท แต่ขายจริงได้แค่ ๖,๐๐๐ กว่าบาท เพราะข้าวจากเขมรราคาแค่ ๔,๐๐๐ กว่าบาท โรงสีซื้อข้าวเขมรมาตุนไว้ แล้วมาปลอมเป็นข้าวไทยขาย ไม่ยอมซื้อข้าวชาวนาไทย โดยอ้างสารพัดว่าคุณภาพไม่ดี มีความชื้นอะไรต่างๆ นี้คือความเห็นแก่ตัว ไม่เห็นแก่หัวอกชาวนาที่ขายข้าวปีหนึ่งได้ครั้งเดียว

สำหรับในเรื่องระบบความยุติธรรม ดร.คณิต ณ นคร กล่าวไว้ว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำ ๒๔๐,๐๐๐ คน เป็นคนจนเกือบทั้งหมด เพราะคนมีเงินไม่ติดคุก หลุดตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นฟ้อง ชั้นตัดสิน หลุดได้ทุกชั้น เป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรมกับคนจน มีเกษตรกรถูกคุมขังกรณีพิพาทปัญหาที่ดินทำกินเป็นพันราย ผมเองไปเยี่ยมเขาเมื่อปลายปีที่แล้ว เอกสารสิทธิ์ไม่มี แต่เขาทำกินมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เอกสารสิทธิ์เพิ่งมาออกมายุคหลังๆ แต่วันดีคืนดีมีนายทุนด้วยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ มาออกเอกสารที่ดินให้ ที่ของชาวบ้านจึงตกเป็นที่ของนายทุน นายทุนก็ขายต่อไป คนที่ซื้อมือปลายๆ จะมาเอาที่จากเกษตรกรก็ต้องมาฟ้องร้อง เจ้าหน้าที่บังคับคดีก็มาจับชาวบ้านไปติดคุก ผมเห็นแล้วเศร้า ที่เกษตรกรทำมาหากินในที่ดินปู่ย่าตายาย แล้ววันดีคืนดีมาถูกจับเพราะทำกินในข้อหาบุกรุก

การศึกษาก็ไม่เอื้อให้คน คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น มีแต่การแข่งขันจนคนหลุดออกไปจากลู่การแข่งขัน ทำให้เขาขาดโอกาสไปซะทุกอย่าง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกระทำต่างๆ นานา สุดท้ายลืมตาอ้าปากไม่ได้ สังคมที่เราต้องการ อุดมการณ์ที่เราต้องการ ได้แก่

๑) ชีวิตที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันในฐานะความเป็นมนุษย์
เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต้องเท่าเทียมกันเป็นเรื่องสำคัญ จะมีเงินหรือไม่ ไม่สำคัญ

๒) มีความสงบสุขตามวิถีแห่งวัฒนธรรมสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามจากผู้อื่น
แต่ขณะนี้หลายคนถูกคุกคามให้ออกจากที่อยู่อาศัย มีคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าถึงล้านกว่าครอบครัว ชีวิตเขาอยู่ภายใต้การคุกคาม ถูกจำกัดการพัฒนา
สังคมไทยต้องมีเป้าหมายเชิงอุดมคติ เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่ GDP ๖ % ๗ % เรายอมรับว่าความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมชาติ แต่ถ้าปล่อยให้ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากและทำให้คนส่วนใหญ่ด้อยโอกาส ด้อยสิทธิ์ จะกระทบต่อความสงบสุข ฉะนั้นจะทำให้ความเหลื่อมล้ำอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์สังคมอย่างไร ระดับไหนที่เราจะยอมรับได้ ผมมองว่ามีสองแนวทางที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำคือ อันดับแรก แก้ในเชิงโครงสร้างที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ สอง เรื่องการศึกษาเรียนรู้ สาม กระบวนการพัฒนา

เราต้องปฏิรูปโครงสร้างอำนาจเพราะโครงสร้างอำนาจในสังคมเราไม่สมดุล กระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มเดียว คนกลุ่มนี้มีอยู่ไม่กี่คน หมุนเปลี่ยนเวียนกันมาครองอำนาจ เป็นเหตุให้การจัดสรรทรัพยากรไม่เท่ากัน นานขึ้นๆ ยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้น การกระจุกตัวของอำนาจเป็นต้นเหตุของความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิ เรื่องโอกาส รายได้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปคือ เมื่ออำนาจรวมศูนย์ เราก็ต้องกระจายออกไป โครงสร้างอำนาจไม่สมดุลก็ต้องทำให้สมดุล สิ่งที่ขาดไปทำให้ไม่สมดุลคือ ประชาชน ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาอยู่ในโครงสร้างอำนาจ ในกระบวนการตัดสินใจ คำว่า "ท้องถิ่น" จะมีบทบาทในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่อไป ถ้าเราเชื่อมั่นในหลักการกระจายอำนาจ คำว่าท้องถิ่นไม่ใช่แค่ อบต. หรือ อบจ. แต่มีประชาชน องค์กรชุมชน องค์กรประชาสังคม รวมถึงองค์กรทางศาสนา องค์กรพัฒนาต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องประกอบกันจะช่วยให้เกิดการคานอำนาจจากรัฐบาลส่วนกลาง

ช่วงหลังผมเริ่มให้ความสนใจกับมิติทางศาสนามากขึ้น ผมทำงานกับลุ่มน้ำสายบุรี ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันก็เคลื่อนไหวไปในทุกพื้นที่ ทางภาคเหนือกับพี่น้องชนเผ่า กับปกาเกอะญอ ผมเชื่อว่ารากเหง้าของปัญหาความเหลื่อมล้ำเกิดจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่สมดุล ไม่เป็นธรรม แต่ เบื้องหลังโครงสร้างอำนาจที่ไม่สมดุล ไม่เป็นธรรม คือ ความเห็นแก่ตัว ความละโมบ การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เขียนกฎหมายออกมากี่ฉบับก็แก้ไม่ได้ จะแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ไม่ได้ เราจะแก้กิเลส ความเห็นแก่ตัวของคนก็แก้ไม่ได้ มองว่ามิติเดียวที่จะแก้ได้คือการศึกษา แต่ไม่ใช่การศึกษาเพื่อการแข่งขัน หรือการศึกษาเพื่อจะชนะโลก แต่เป็นการศึกษาเพื่อรับใช้มวลชน รับใช้ประชาชน การศึกษาต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตวิญญาณ สอนให้คนทำความดี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน (moral based education) ซึ่งศาสนาคริสต์มีบทบาทมากในเรื่องการศึกษา

ImageImage 

ผมอยากเห็นศาสนจักรขับเคลื่อนเรื่องการศึกษา สร้างคนดี มีศีลธรรม คนที่รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มากกว่านักเรียนที่เรียนเก่งได้ติดบอร์ด แข่งขันกันแต่ทางวิชาการ เพราะไม่มีองค์กรอะไรอีกแล้วที่จะทำงานในมิติเหล่านี้ ถ้าการศึกษาของเราขับเคลื่อนไปบนฐานของศีลธรรม ฐานของจริยธรรม ผมเชื่อว่าสังคมนี้จะดีขึ้น เพราะความเหลื่อมล้ำแก้ยังไงก็แก้ไม่ได้ ถ้าภายในคนไม่ได้รับการแก้ไข สอง เรื่องการพัฒนาที่มุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าเราน่าจะมาแข่งขันกันทำความดี แข่งกันเสียสละให้มากขึ้น ไม่ใช่แข่งกันร่ำรวย เชื่อว่าสังคมเราจะดีขึ้น ผมก็ปฏิบัติด้วยตัวเอง อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่ง ผมจะอดข้าวสองมื้อ มื้อหนึ่งนำไปบริจาคอาหารกลางวันให้เด็ก อีกมื้อหนึ่งไปให้ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และพยายามจะทำอย่างนี้ให้มากขึ้น ผมเชื่อว่าสังคมเราเป็นสังคมที่น่าอยู่ได้ถ้าทุกคนช่วยกัน ผมให้ความหวังกับการศึกษาและให้ความหวังกับองค์กรทางศาสนาจะช่วยถ่วงดุลมิติทางการศึกษา ไม่ให้เน้นการแข่งขันเพื่อคะแนน เพื่อยกระดับชนชั้นในสังคม แต่มารับใช้สังคมให้มากขึ้น

คุณจักรชัย เราเห็นปรากฏการณ์ภาพของความไม่เท่าเทียม เห็นตัวเลข โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ การถือครองทรัพย์สิน บางเรื่องเราอาจรับรู้อยู่แล้ว แต่วันนี้เรามาเห็นกันชัดๆ เป็นภาพปรากฏการณ์ ประการสำคัญที่สุดมาขมวดตรงว่า ที่มาของความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ทางทรัพย์สิน ทางโอกาส ทางความยุติธรรมทั้งหมด มีรากเหง้ามาจากการกระจุกตัวของอำนาจของกลุ่มคน ทางแก้คือต้องมีการกระจายอำนาจ ใช้กลไกเชิงท้องถิ่น กลไกประชาธิปไตย และเป็นกลไกท้องถิ่นและประชาธิปไตยที่มีจริยธรรมกำกับ จะทำให้สังคมมีความคลี่คลายในเรื่องความไม่เป็นธรรม

Image 

คุณจิตรา เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะมาพูดกันเรื่อง ความยุติธรรมและความเท่าเทียม เพราะว่าตัวดิฉันเองเคยเป็นคนงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในโรงงานของบริษัทไทรอัมพ์ ในโรงงานมีคนงานถึง ๔,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ปัญหาแรกๆ ที่เราเจอคือ บางคนตาเขียวมาทำงาน ถามเขาว่าโดนอะไรมา ก็บอกว่านั่งมอเตอร์ไซค์แล้วหินดีดใส่ แต่จริงๆ แล้วถูกสามีทุบตี ชกต่อย แต่ไม่กล้าบอกเพราะสังคมชอบมองว่า เมื่อไรผู้หญิงถูกทุบตีแสดงว่าผู้หญิงคนนั้นทำตัวไม่ดี ถึงได้ถูกทำร้าย หรือเวลาพ่อแม่เสียชีวิตก็ไม่มีเงินจัดงานศพ ต้องมาขอเรี่ยไรเงินกัน ปัญหาหนี้สิน เจ้าหนี้นอกระบบมาดักรอหน้าโรงงานเพื่อทวงหนี้ เป็นปัญหาที่วนเวียนไม่รู้จะแก้อย่างไร คนงานเองบางวันยังไม่มีเงินกินข้าวกลางวันเลย หลายคนตอนพักกลางวันไปนั่งรวมกลุ่มกัน ถามว่าทำไมไม่กินข้าว เขาบอกว่าอยากลดน้ำหนัก แต่จริงๆ แล้วไม่มีเงิน

เรามาตั้งคำถามกันว่าที่ค่าจ้างไม่พอกับค่าใช้จ่ายเพราะอะไร บางคนบอกว่าใช้เงินเกินตัว จะไปอยากมีทำไมทีวี ตู้เย็น มอเตอร์ไซค์ หรือขี้เกียจละซิ เวลาเขาให้ทำโอทีก็ขยันหน่อย คนที่ไม่เข้าใจมักจะพูดแบบนี้ รวมถึงสื่อต่างๆ มักตอกย้ำในเรื่อง "จน เครียด กินเหล้า" บอกว่าพวกนี้จนอยู่แล้วยังไปกินเหล้าอีก ต้อง "เลิกเหล้า เลิกจน" แต่หลายคนไม่เห็นกินเหล้าเลยแต่ก็ยังจน มาดูว่าปัญหาจริงๆ เกิดจากอะไร เกิดจากรากเหง้าของพวกเราคนงานที่ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตร เรามีหนี้สินติดตัวมาอยู่แล้วจากพ่อแม่ของเราไปกู้หนี้ ธกส. มา

สมัยก่อนคนส่วนใหญ่มีที่เป็นของตัวเองเพราะเป็นที่ซึ่งใครถางที่ได้เยอะก็เป็นของตัวเองไป แต่ทำไมยิ่งทำนายิ่งจน ที่ดินยิ่งหาย ดิฉันเห็นคุณปู่ทำนา เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จก็ไปขายให้เถ้าแก่ เขาเอาข้าวมาบดๆ แล้วก็เป่า บอกว่าข้าวนี่ต้องตากอีกแดดหนึ่งเพราะยังชื้นอยู่ เราหอบข้าวไปตากอีกแดด กลับมาอีกวันหนึ่ง เขาบอกว่าแย่จังเลยความชื้นหายไป ราคาต้องลดลง นี่เป็นเทคนิคง่ายๆ ของเถ้าแก่โรงสี คนทำนาจึงไม่มีวันรวย จากใช้ควายมาเป็นรถไถนา ต้องเอาที่ดินไปให้เถ้าแก่ เพื่อได้รถไถนา ท่อสูบน้ำออกมา ตอนหลังมีธกส. คนก็บอกว่ากู้ ธกส.ง่ายกว่าก็เป็นหนี้ธกส. ภาคเกษตรล้มเหลวเพราะไม่มีคนช่วยว่าจะให้ยั่งยืนอย่างไร โดยเฉพาะช่วงปี ๒๕๓๔ สมัยนายกฯ ชาติชาย (ชุณหวัน) ที่ดินราคาสูงก็ขายที่ดินกัน หรือบางคนถูกยึดที่ จากนั้นเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ยังจำได้ว่าตอนแรกที่มาทำโรงงาน แม่บอกว่าไปเถอะ ถึงฝนตกแดดออกเรายังได้เงิน อยู่บ้านเราสุพรรณฯ น้ำก็ท่วมทุกปี จะมาทำนาให้ปลิงเกาะอยู่ทำไม

เมื่อมาทำงานในโรงงาน ปัญหาที่พวกเราเห็นคือ หนึ่ง คนงานในโรงงานมีหนี้มาจากภาคเกษตร ต้องส่งเงินกลับบ้าน วิธีการส่งเงินกลับบ้านคือเล่นแชร์ สิ้นปีจะได้เปียแชร์เพื่อไปใช้หนี้ธกส. คนงานเป็นเหมือนแรงงานอพยพ โรงงานไม่มีที่พักให้ ต้องเช่าหอพักอยู่ ค่าเช่าหอพักทุกวันนี้คิดเป็นเงินถึง ๕๐ % ของค่าจ่างขั้นต่ำ รวมไปถึงค่าอาหารการกิน สิ่งที่คุณจะต้องทำเพื่อให้เหลือเงินพอคือ ต้องทำโอที คนงานเวลาไปสมัครงานสิ่งที่มองหาไม่ได้มองว่าค่าจ้างสูงหรือเปล่า แต่ดูว่าโรงงานนั้นมีโอทีไหม เมื่อทำงานล่วงเวลา ก็ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว ดูแลลูก หรือเมื่อมีลูกก็ส่งกลับต่างจังหวัดให้พ่อแม่ดูแล

เป็นปัญหาทั้งระบบ จากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม มาอยู่ในชุมชนแออัด ชุมชนเมืองที่ยากจน อยู่ในวังวนแบบนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดคือ หนึ่ง ค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยรัฐ เวลา BOI (Board of Investment - คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ไปโฆษณาที่ต่างประเทศจะบอกว่า เรามีแรงงานราคาถูกไว้ให้นักลงทุน เขาไม่สนใจว่าจะให้สิทธิ์คนในประเทศอย่างไร แต่จะให้สิทธิ์นายทุนข้ามชาติเข้ามา ค่าจ้างขั้นต่ำจึงถูกกำหนดโดยรัฐ ถ้าคุณอยากมีค่าจ้างมากกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ หรือสวัสดิการดีกว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงาน คุณจะต้องมีสหภาพแรงงาน กฎหมายให้มีสหภาพแรงงานได้ แต่พอมีสหภาพฯ ก็ถูกทำลาย ถูกเลิกจ้าง ถูกให้ออก เมื่อคุณเดินขบวนเรียกร้องก็มีสิทธิถูกจับ ติดคุก หรือโดนมาเฟียตีหัว หรือโดนอุ้มหายไปเลย

เมื่อคุณทำงานหนัก โอกาสที่จะป่วยจากการทำงานก็เป็นไปได้สูง ทำงานวันละแปดชั่วโมง ถ้าทำงานเกินกว่านั้นก็จะมีปัญหากระดูกทับเส้นประสาท ถ้าอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม มีโอกาสจะเป็นโรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย อยู่ในโรงงานอีเลกโทรนิกส์ก็มีโอกาสเป็นโรคที่ได้รับจากพิษสารตะกั่ว อยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ มีโอกาสถูกเครื่องมือหนักทับแขนขา โรงงานอะไรก็แล้วแต่ คุณมีภาวะเสี่ยงทั้งนั้นที่จะป่วยจากการทำงาน และจะถูกเลิกจ้างให้ออก ต้องไปพิสูจน์เอาเองว่าป่วยจากการทำงานหรือเปล่า บางคนอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมอีเลกโทรนิกส์มีอาการเหมือนผีเข้า บ้าๆ บอๆ ถูกเอาไปรดน้ำมนต์ กว่าจะรู้ว่าเป็นโรคจากพิษสารตะกั่วขึ้นสมอง ก็ออกจากโรงงานไปแล้ว

ส่วนบริษัทเองพยายามไม่ให้มีคนป่วยจากการทำงาน เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือการที่บริษัทเขาจะได้รับรางวัลต่างๆ เขาจะบอกว่าเมื่อโรงงานคุณไม่มีคนป่วยจากการทำงาน คุณก็จะได้รางวัล อย่างเช่นบริษัทรถยนต์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เมื่อมีคนงานตกลงมาจากที่สูง สิ่งที่บริษัททำคือรีบไปที่โรงพยาบาลแล้วบอกว่าคุณช่วยลาออก แล้วเราจะจ่ายเงินก้อนหนึ่งให้คุณทันที เพื่อเราจะได้ไม่มีสถิติว่ามีคนงานป่วยจากการทำงาน

ImageImage 

การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำทุกวันนี้ ถ้าเป็นวันหยุด คุณจะไม่ได้รับค่าจ้าง ฉะนั้นในหนึ่งเดือน คุณจะได้รับค่าจ้าง ๒๖ วัน จากค่าจ้างขั้นต่ำวันละ ๒๑๕ บาท แต่คุณต้องจ่ายค่าประกันสังคม ค่าเช่าบ้าน ต้องมีการทำบุญ ใส่ซองงานต่างๆ ค่าจ้างเดือนหนึ่งก็หมดไป ความหวังของคนจนก็อยู่ที่การเล่นหวย เผื่อจะถูกสักงวด หรือเล่นแชร์ ไปกู้เงินนอกระบบ เพราะเราไม่มีโอกาสเข้าถึงการกู้เงินของธนาคารที่ดอกเบี้ยถูก เมื่อคุณเป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้บัตรเงินกู้ต่างๆ บริษัทเหล่านี้ถ้าคุณไม่ชำระหนี้เขา เขาจะฟ้องคุณ โทรมาทวง มาขู่ มาด่า แต่ถ้าคุณเป็นนายทุน เป็นหนี้ในระบบ ถ้าไม่มีเงินมาใช้หนี้ รัฐก็บอกว่าเป็นหนี้เสีย หนี้เน่าก็ลอยตัวได้

ทางออกคือ ต้องให้มีรัฐสวัสดิการ ค่าจ้างแม้จะเหลื่อมล้ำกันกี่เท่าก็ตาม แต่ถ้ามีสวัสดิการให้กับประชาชนทุกคน ค่ารักษาพยาบาล เรียนฟรี ค่าโดยสารในการเดินทางราคาถูก โดยนำเงินจัดสวัสดิการมาจากการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เช่น จากการปฏิรูปที่ดิน ใครมีที่ดินเยอะๆ ไม่ได้ทำประโยชน์ก็ต้องจ่ายภาษีเยอะๆ เก็บภาษีนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในเมืองไทย และจากภาวะน้ำท่วมก็เห็นว่ารัฐบาลจะเลื่อนปรับค่าจ้าง ๓๐๐ บาทต่อวัน ไปเป็นเดือนเมษายน ปี ๒๕๕๕ แต่จะลดภาษีให้นักลงทุนถึงแปดปี

และเราต้องมีพรรคการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของจริงๆ ต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่ใช่พรรคการเมืองที่มีเจ้าของอยู่ สอง สามคน แล้วสมชิกพรรคไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร เราต้องการหัวหน้าพรรคเป็นใคร ต้องการนโยบายพรรคอย่างไร ก็ต้องมีสิทธิ์เลือก ไม่ใช่ให้ใครก็ตามเอาเงินมาใส่ แล้วมีเสียงมากกว่าใคร เราต้องปฏิรูปกองทัพและระบบศาล ระบบศาลไม่มีความยุติธรรมเลยสำหรับคนจน กระบวนการยุติธรรมต้องยุติธรรมจริงๆ และกองทัพต้องตรวจสอบได้ การใช้อาวุธ การใช้กำลังต้องตรวจสอบได้ สิทธิมนุษยชนจะมีได้ประเทศนั้นต้องเป็นประชาธิปไตย ในเมืองไทยยังมีการละเมิดสิทธิ์เยอะมาก ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม กรรมกร สิทธิทางการเมือง และเรายังมีองค์กรต่างๆ ในประเทศนี้ ที่เราไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงได้ เมื่อไรที่คุณตรวจสอบไม่ได้ เราก็ไม่รู้ว่าคุณเป็นคนดีจริงหรือเปล่า ถ้าคุณเป็นคนดีจริง คุณต้องตรวจสอบได้ เราต้องเรียกร้องระบบที่ตรวจสอบได้ คิดว่าข้อเสนอเหล่านี้จะลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยุติธรรมได้ และเราจะมีความเท่าเทียมที่เกิดจากการตรวจสอบ

 

ความคิดเห็น

เขียนความคิดเห็น
ชื่อ:
หัวเรื่อง:
BBCode:Web AddressEmail AddressBold TextItalic TextUnderlined TextQuoteCodeOpen ListList ItemClose List
ความคิดเห็น:



รหัส:* Code

Powered by AkoComment 2.0!

< ก่อนหน้า   ถัดไป >